แรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

(แรงจูงใจและความมุ่งหมาย)1

ผู้สัมภาษณ์ : แรงจูงใจในการเขียนคงสรุปได้ว่า ท่านเจ้าคุณพิจารณาเห็นว่า บทบาทของพระสงฆ์ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป นั่นคือแรงจูงใจ ประการหนึ่ง และในช่วงของการเลือกตั้ง เมื่อย้อนกลับไป มีการหาเสียงใช้วาจาโต้ตอบกันระหว่างสองฝ่าย เป็นไปในทางที่ไม่ค่อยจะดีนัก เป็นเหตุจูงใจที่ให้ท่านเจ้าคุณอยากจะระบุให้ตรงประเด็นว่าอะไรเป็นปัญหาแท้จริงที่ต้องแก้ไข จะมีประเด็นที่นอกเหนือจากนี้อีกหรือไม่เจ้าคะ ที่ทำให้ท่านเจ้าคุณเขียนกรณีสันติอโศก

พระเทพเวที : ความมุ่งหมายที่ชัดก็คือ

๑. ทำอย่างไรจะให้คนเข้าใจเรื่องราวให้ชัดเจนว่า ตัวประเด็นอยู่ที่ไหน ปัญหาคืออะไร ซึ่งตอนนั้นประชาชนสับสนมาก และการที่ประชาชนสับสนมากก็เพราะสื่อมวลชน เป็นต้น ตลอดจนผู้ที่ออกหนังสือต่างๆ โต้เถียงวิพากษ์วิจารณ์กันนอกเรื่อง ทำให้ไปยุ่งกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

๒. เนื่องจากในการวิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้กันนั้น มักแสดงอารมณ์ พูดหยาบคายรุนแรง ใช้คำพูดด่ากันให้เสียๆ หายๆ จึงอยากจะชักกลับให้หันมาพูดจาพิจารณาและปฏิบัติต่อเรื่องนี้ด้วยวิธีการของเหตุผล

๓. อีกอย่างหนึ่งที่อาตมากับพระที่ศาลากลางสระปรารภกันอยู่แทบทุกวันก่อนหน้านั้น ในเวลามาทำวัตรบ้าง ฉันอาหารบ้าง ซึ่งเป็นเวลาที่เราจะพบพร้อมๆ กัน ก็คือได้ปรารภกันว่า ทำไมผู้ที่มีหน้าที่จึงไม่ทำหน้าที่ พากันปล่อยปละละเลยเรื่องนี้จนประชาชนสับสนกันมากแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ปัญหาที่ควรแก้ไขก็ไม่แก้ไข เรามีความรู้สึกติเตียนผู้ที่มีหน้าที่แล้วไม่ทำหน้าที่ และในเมื่อผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงไม่ทำหน้าที่ เราพระสงฆ์ทุกองค์ก็มีหน้าที่ตามหลักพระธรรมวินัยอยู่แล้วว่า เมื่อมีเรื่องราวที่กระทบกระเทือนต่อส่วนรวม เป็นอันตรายต่อพระศาสนา จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย จะต้องขวนขวายหาทางช่วยกันแก้ไข ไม่นิ่งดูดาย นี่เป็นหลักซึ่งอาตมาได้บอกไว้ในหนังสือกรณีสันติอโศกนั้นแล้ว ดังที่ได้อ้างหลักอปริหานิยธรรมว่า เมื่อมีอะไรที่เป็นเหตุเสื่อมเสียเกิดขึ้น มีอะไรเป็นปัญหาเกิดขึ้น ต้องร่วมกันแก้ไข แต่ตามปกติเราต้องหวังจากผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงก่อน แต่ถ้าเขาไม่ทำ เราก็ต้องถือเป็นหน้าที่ของเรา แต่การทำหน้าที่ของเราจำกัดอยู่ในขอบเขตเพียงว่า จะสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น พูดกันในปัญหา และว่ากันตรงไปตรงมาให้ชัดเจน เราไม่สามารถทำอะไรเลยไปกว่านั้น คือไม่สามารถไปจัดการอะไรได้ เหตุผลที่ว่า ทำไมอาตมาจึงคิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ และออกในวันที่ ๒๔ ก็ได้เขียนชี้แจงไว้ในหนังสือกรณีสันติอโศกแล้ว เข้าใจว่าอยู่ในคำปรารภ

อาตมาอยากให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือพิจารณาเรื่องนี้ ย้อนกลับไประลึกถึงเหตุการณ์เก่าๆ บางทีเราลืมง่ายว่า ในช่วงก่อนหนังสือกรณีสันติอโศกออกมาโน้น เหตุการณ์ที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้าเราหันกลับไปดู ก็จะเห็นชัดเจนว่า ช่วงเวลานั้น ซึ่งนานเป็นเดือนๆ เป็นระยะเวลาที่เขาออกหาเสียงกัน มีการออกเอกสารและพูดวิพากษ์วิจารณ์ ตอบโต้กันรุนแรงแค่ไหน ตอนนั้นรุนแรงมากอย่างที่อาตมาพูดเมื่อกี้นี้ว่าเหมือนกับจะมีการประหัตประหารกัน อาตมาจึงคิดว่าเราจะต้องชักคนดึงคนเข้าหาเหตุผลและพูดกันในประเด็นความมุ่งหมายในการเขียนนั้น อาจแยกได้เป็นด้านๆ คือ

ในด้านประชาชน นอกจากต้องการให้เข้าใจเรื่องได้ถูกต้องว่าปัญหาคืออะไร ตัวประเด็นอยู่ที่ไหนแล้ว ก็มีข้อที่เป็นผลพลอยได้ ซึ่งไม่ใช่ความคิดเดิม แต่อยากให้มีขึ้นด้วย คือ อยากให้คนในสังคมของเรามีความตระหนักในความรับผิดชอบต่อเรื่องของส่วนรวม โดยเฉพาะชาวพุทธที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อพระศาสนา เอาใจใส่ต่อความเสื่อมความเจริญของพระศาสนา ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ที่คอยดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นแล้วก็เฮกันไป ไม่ได้พิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงให้ชัดเจน และไตร่ตรองด้วยเหตุผลที่แท้จริง แล้วก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วม ทีนี้ ท่าทีของชาวพุทธจำนวนมากในปัจจุบัน มักจะเป็นแบบวางเฉย ไม่เอาเรื่อง ซึ่งควรจะได้หันมาปรับกันใหม่ให้ถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา คือ ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งอาตมาได้ย้ำอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า บุคคลที่เป็นผู้นำของพระศาสนา เป็นพระสงฆ์ พระเถระผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพระอรหันต์ จะต้องรับผิดชอบและเอาใจใส่ ด้วยความไม่ประมาทในเรื่องราวต่างๆ ที่จะเป็นเหตุของความเสื่อมและความเจริญ อะไรที่จะเป็นเหตุของความเสื่อมต้องระมัดระวังช่วยกันป้องกัน อะไรที่เป็นปัญหาต้องช่วยกันแก้ไข อะไรที่จะเป็นเหตุของความเจริญต้องเร่งสร้างเสริมสนับสนุน

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ แต่ไม่ค่อยได้คิดกัน ก็คือ เรื่องของพระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้ใหญ่ ทั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นพระป่า ชอบอยู่วิเวก และสูงอายุมาก เมื่อท่านพบว่ามีเรื่องราวที่กระทบกระเทือน อาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงแก่พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ท่านก็เป็นผู้นำยกเรื่องนั้นมาปรารภและชักชวนให้ทำสังคายนา การสังคายนาก็เกิดขึ้นเพราะความตื่นตัวขวนขวายไม่ประมาทนี้ สังคายนาครั้งต่อมาก็เกิดจากพระอรหันต์ที่ได้เห็นว่ามีการทำอะไรต่างๆ ที่คลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย แล้วก็ยกเรื่องขึ้นมาปรารภ และชวนกันทำสังคายนา การประชุมกัน ทำงานส่วนรวมอย่างนี้ มีมาเรื่อยในประวัติศาสตร์ ถือกันว่าพระอรหันต์เป็นผู้นำในเรื่องความขวนขวายไม่ประมาท และเอาใจใส่เอาธุระในกิจการของส่วนรวม ตามหลักการที่เรียกว่าเป็นการเคารพสงฆ์ ถือสงฆ์คือส่วนรวมเป็นใหญ่ ถ้าพระอรหันต์และพระเถระผู้นำในอดีตไม่ปฏิบัติกันมาอย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็คงไม่เหลืออยู่มาถึงเราในบัดนี้ แต่ในเมืองไทยเป็นเรื่องน่าเสียดาย ระยะหลังนี้เรามีความรู้สึกเหมือนว่า ใครก็ตามที่เมื่อมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นแล้ว ไม่เอาเรื่องเอาราว เฉย ไม่เอาใจใส่ ก็เห็นไปว่าเป็นคนไม่มีกิเลส ความรู้สึกเช่นนี้ เป็นท่าทีที่ผิด ซึ่งจะต้องแก้ไข เมื่อมีท่าทีที่ผิดและถือผิดกันมาก ก็เลยต้องพูดเรื่องนี้บ่อยๆ เมื่อมีเหตุการณ์เกี่ยวกับสันติอโศกนี้เกิดขึ้น ก็เป็นตัวอย่างที่สะท้อนสภาพปัญหาของสังคมไทย และแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของการมีท่าทีเช่นนี้ ซึ่งเราควรจะถือเป็นโอกาสที่จะปรับท่าทีของคนให้มีความรู้สึกว่า จะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ถ้ามองเห็นไปว่าพระดีคือพระที่ไม่เอาเรื่องเอาราว วางเฉย อย่างนี้พระศาสนาก็อยู่ไม่ได้ ตามหลักพระศาสนาถือว่า ปัญหาอย่างนี้เป็นเรื่องของส่วนรวมที่จะต้องช่วยกันแก้ไข เรียกว่าเป็นกิจของสงฆ์ และทางวินัยก็มีศัพท์เฉพาะเรียกว่าเป็นอธิกรณ์ และนี่ก็เป็นผลพลอยได้ คือการที่จะกระตุ้นเตือนให้คนมีท่าทีที่ถูกต้องต่อเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ด้านต่อไปคือผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องโดยตรง หรือผู้ที่ต้องการเกี่ยวข้อง สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสันติอโศก ก็ต้องกลับมามองที่ผู้มีหน้าที่โดยตรงก่อน ซึ่งเราต้องการให้ทำหน้าที่ของตนให้จริงจัง ไม่เลี่ยงหนีเรื่อง ส่วนผู้ที่ถึงแม้จะไม่มีหน้าที่โดยตรงแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น สื่อมวลชนที่หวังดี ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อยากจะช่วยแก้ไข เราก็ต้องการให้เขาทำให้ตรงประเด็นของปัญหา และใช้วิธีการของเหตุผล

ด้านต่อไป ความมุ่งหมายอีกส่วนหนึ่งโยงไปถึงทางสำนักสันติอโศกเอง คือต้องการให้เขาทบทวนว่า ตัวเขาเองได้พิจารณาปัญหาของตนเอง ตรงไปตรงมาและชัดเจนพอหรือเปล่า การพิจารณาก็ขอให้ทำอย่างเป็นเหตุเป็นผล ถ้าพิจารณาเห็นว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะได้แก้ไขโดยวิธีที่ชอบธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เราก็ไม่ได้ไปว่ากล่าวอะไร แต่ให้มองเห็นตามความเป็นจริง

ด้านที่สี่ นักการเมือง ที่จะมาเป็นผู้บริหารบ้านเมืองหลังการเลือกตั้ง สำหรับข้อนี้ได้เขียนบ่งไว้อย่างชัดเจนในคำปรารภของหนังสือ “กรณีสันติอโศก” นั้นว่า “... มุ่งหมายว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการรับผิดชอบต่อชะตากรรมของสังคม และประเทศชาติ ควรจะรู้เข้าใจเรื่องราวที่มีความสำคัญต่อสังคมของตนตามความเป็นจริง เมื่อรู้เข้าใจแล้ว หากมีจิตใจเป็นธรรมและรักความชอบธรรม จักได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงนั้น” (กรณีสันติอโศก หน้า ๒) นักการเมืองและผู้ปกครองบ้านเมืองควรรู้เข้าใจให้ชัดเจนถูกต้อง เพราะเรื่องนี้ได้กลายเป็นจุดสนใจของประชาชน และเป็นปัญหาที่มีผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะนักการเมือง ที่คิดว่าควรสนใจและเข้าใจเรื่องนี้ให้ถูกต้องที่สุด ก็คือ นักการเมืองในพรรคพลังธรรม เพราะเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า พรรคพลังธรรมนั้นก่อตั้งขึ้นมาด้วยการร่วมคิดร่วมสนับสนุนของท่านโพธิรักษ์และสันติอโศก และในช่วงก่อนเลือกตั้งนั้น ก็มีผู้คาดหมายกันมากว่าพรรคนี้จะชนะการเลือกตั้งได้ผู้แทนเข้ามามาก อาจถึงขั้นมีเสียงข้างมากสามารถเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล พรรคพลังธรรมนั้น มีความเกี่ยวข้องกับพระศาสนา ทั้งในแง่ที่ผูกพันโดยตรงกับสำนักสันติอโศกที่เป็นกิจการทางศาสนาโดยตรง และผู้นำของพรรค คือหัวหน้าพรรคก็ได้แสดงตนอยู่ว่าเป็นผู้ใส่ใจในเรื่องศาสนา ถือปฏิบัติเคร่งครัดในทางศาสนา ในกรณีที่จะมาเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง นักการเมืองในพรรคนี้ ย่อมมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะปฏิบัติการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา ซึ่งถ้าปฏิบัติถูกต้องก็จะมีผลดีมาก แต่ถ้าปฏิบัติผิดพลาดไป เช่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จะเป็นโทษอย่างมาก จึงสมควรจะรู้เข้าใจเรื่องนี้ให้ถูกต้องชัดเจนที่สุด เพื่อทำงานได้ถูกต้องไม่ผิดพลาด และงานสร้างความเข้าใจในเรื่องเช่นนี้ ย่อมเป็นหน้าที่ของพระโดยตรง และในเมื่อเราเห็นว่านักการเมืองส่วนมากในหมู่นั้น อาจจะสนใจโดยไม่มีความเข้าใจ หรืออาจจะพลอยร่วมทำอะไรไปโดยไม่มีทั้งความสนใจและความเข้าใจ การสร้างความเข้าใจก็เป็นงานที่ควรเริ่มต้นทำตั้งแต่วาระแรกที่เห็นว่าเขาจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคม และนี่คือด้านหนึ่งของจุดที่พระสงฆ์จะพบกับนักการเมืองได้อย่างชอบธรรม โดยไม่ก้าวลงไปในฐานะผู้เล่นฝ่ายไหนในสนามการเมืองเสียเอง

เหตุผลและความมุ่งหมายทั้งหมดที่พูดมานั้น ในขั้นสุดท้าย ก็มารวมที่ความมุ่งหมาย ข้อสำคัญที่สุด คือ การรักษาธรรมวินัย อย่างที่พิมพ์ไว้ด้านล่างของปกหนังสือว่า “งานรักษาพระธรรมวินัย” ในขณะที่การตีความธรรมวินัยยังเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งขึ้นไป ซึ่งจะต้องพิจารณากันละเอียดยิ่งขึ้นไปนั้น พฤติกรรมต่างๆ ในขั้นต้นๆ ที่แสดงถึงความตรงไปตรงมาหรือไม่ และการมีเจตนาที่ชัดเจนหรือน่าเคลือบแคลงหรือไม่ ย่อมเป็นเครื่องช่วยชี้บ่งอย่างดีว่าการปฏิบัติต่อธรรมวินัย ในขั้นลึกละเอียดลงไปน่าจะเป็นไปในทิศทางใด แรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก เมื่อสรุปให้สั้นก็คือ จุดตัดสินใจที่จะเขียนได้แก่ การที่ได้อ่านหนังสือ “ฟังเสียงกวางน้อยบ้าง” ซึ่งทำให้เห็นว่าท่านโพธิรักษ์มีความสับสนไม่ชัดเจน ในการพิจารณา ในการพูด และในการตีความกฎหมายและเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จนน่าเคลือบแคลงว่า ท่านจะทำด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือมีเจตนาอย่างไร น่าเป็นห่วงว่าคนจำนวนมากที่ได้อ่านจะพลอยสับสนหลงเข้าใจผิดไปด้วย และเห็นว่าควรจะชี้แจงให้เกิดความเข้าใจให้ถูกต้องชัดเจน ส่วนความมุ่งหมายสำคัญขั้นสุดท้าย ก็คือ การดำรงรักษาพระธรรมวินัย ทั้งพระธรรมวินัยที่เป็นรูปแบบ ซึ่งเป็นที่บรรจุของเนื้อหาสาระ และพระธรรมวินัยที่เป็นเนื้อหาสาระ ซึ่งปรากฏออกมาเป็นความเป็นธรรม ชอบธรรม ความมีหลักเกณฑ์ ความจริง ความถูกต้องดีงาม

ผู้สัมภาษณ์ : ที่กราบนมัสการถามเกี่ยวกับการที่ท่านเจ้าคุณเลือกวันที่ ๒๔ กรกฎาคม เพราะอ่านพบว่าสื่อมวลชนมาตีความว่า วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ที่ท่านออกหนังสือนั้นเป็นเพราะว่าครั้งหนึ่งหลังจากสอบได้เปรียญเก้าแล้ว ท่านได้รับการอุปสมบทโดยเป็นนาคหลวงในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม สื่อมวลชนจึงเข้าใจว่า วันที่ ๒๔ กรกฎาคม เป็นวันที่มีความสำคัญต่อท่านเจ้าคุณไป

ขอกราบนมัสการถามอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่ท่านเจ้าคุณชี้แจงให้ทราบถึงห้าประเด็นว่า อยากให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าใจ และเป็นผลพลอยได้เกี่ยวกับท่าทีที่ถูกต้องของชาวพุทธ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือต้องการเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ปฏิบัติด้วยวิธีที่ถูกต้อง ให้สำนักสันติอโศกได้มองดูในแง่แนวปฏิบัติของตนเอง ให้นักการเมืองที่จะมารับผิดชอบสังคม มีความเข้าใจต่อการพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องชัดเจน และประเด็นที่สำคัญคือเพื่อการรักษาพระธรรมวินัย แต่หลังจากที่หนังสือกรณีสันติอโศกเผยแพร่ออกไปแล้ว ท่านเจ้าคุณได้เห็นผลตามความมุ่งหมายที่ท่านเจ้าคุณพูดมานั้นหรือไม่เจ้าคะ

พระเทพเวที : เรื่องวันที่ ๒๔ ที่ออกหนังสือจะเกี่ยวกับวันบวชของอาตมานั้น อาตมาเองไม่ได้นึกถึงเลย อาตมาจำวันบวชของตนเองไม่ได้ด้วยซ้ำไป ถ้าจะมีคนถามเกี่ยวกับวันบวช อาตมาเองก็ยังต้องไปค้น แสดงว่าท่านผู้นั้นจำได้ดีกว่าอาตมา อาตมาไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้และไม่ได้มองเห็นว่า เรื่องนี้จะมีความหมายสำคัญต่อชีวิตการบวชของอาตมา เพียงแต่นึกถึงวันที่เป็นกลางที่สุด ส่วนในเรื่องของเวลาก็เพียงแต่จะให้ออกในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม เท่านั้น เพราะอาตมาอยู่ห่างไกลถึงลำลูกกา จะแจกใครได้สักกี่คน ไม่ได้คิดว่าเวลาจะมีผลอย่างไรถ้าออกมาทันตอนเช้า แต่นี่ก็บังเอิญว่ากว่าจะออกได้ก็เย็น เพราะทำไม่ทัน ไม่ใช่ว่าอาตมาจะมีเจตนาให้ออกเย็น

ทีนี้ ในแง่ผลที่เกิดขึ้น เท่าที่ทราบก็มีผลบ้าง คือได้ฟังบางท่านโทรศัพท์มาว่า หนังสือนี้ได้ทำให้ท่านเกิดความเข้าใจขึ้นว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร หรือเล่าว่าคนอื่นก็เริ่มเข้าใจได้ดีขึ้น บ้างก็เขียนจดหมายมา แต่ก็มีไม่มากเท่าไร ส่วนมากเป็นจดหมายที่แสดงความพอใจ นอกจากฉบับเดียว ที่เป็นบัตรสนเท่ห์ใช้สำนวนเรียกพ่อท่านแบบชาวสันติอโศก แต่พูดจาไม่ไพเราะเลย อีกฉบับหนึ่งมาจากชาวสันติอโศกที่เลื่อมใสมาก แต่ก็บอกว่านับถืออาตมาอยู่ด้วย และปกติก็เคยเขียนมาถามเกี่ยวกับปัญหาธรรมอยู่แล้ว ได้เขียนมาแสดงความคิดเห็นในเชิงขัดแย้งว่า ทางสันติอโศกไม่ผิด เขียนมาโดยสุภาพ อาตมาก็ยังไม่มีเวลาตอบ ว่าจะตอบ แต่ไม่มีเวลาจริงๆ อย่างจดหมายฉบับก่อนที่เขียนมาถามธรรม กว่าอาตมาจะเขียนตอบก็หลายเดือน แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องปฏิกิริยา ไม่มีอะไรมาก ส่วนที่ออกทางหนังสือพิมพ์ก็แสดงความเห็นด้วยหลายครั้ง แต่ก็มีบ้างในบางฉบับ ที่เขียนทำนองว่าไม่เห็นด้วย แต่มักกลายเป็นการแสดงความไม่พอใจ บางรายก็เขียนออกมาจากการจับความหมายผิดๆ

ว่าถึงผลที่อาตมาต้องการ ก็ได้บ้าง ในด้านที่มีผู้พูดหรือบอกมาว่า ทำให้เขาเข้าใจเรื่องราวดีขึ้น และโดยมากคนที่พูดอย่างนี้ ก็อาจจะพอใจในแง่ของความเป็นเหตุเป็นผล ส่วนทางด้านสื่อมวลชน และการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยทั่วไป อาตมายังไม่ค่อยเห็นว่าจะได้ผล ในการปฏิบัติก็ยังเห็นอยู่ว่าเขายังจับประเด็นไม่ค่อยถูก ไม่ชัดเจน และยังสับสนกันอยู่ คล้ายๆ กับเดิมนั่นเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สื่อมวลชน จะเป็นวิทยุก็ตาม โทรทัศน์ก็ตาม รวมทั้งสำนักสันติอโศกเองด้วย มักพูดและเขียนในทำนองสร้างภาพที่ทำให้คนมองเห็นเป็นว่า มีการขัดแย้งกันขึ้นระหว่างกลุ่ม ๒ กลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มสันติอโศกกับพระอื่น อันนี้เป็นภาพที่ผิดมาก เราต้องมองตามเป็นจริงว่า เรื่องมีอยู่ว่า คณะสงฆ์ก็อยู่มาอย่างนี้ มีปัญหาต่างๆ ที่จะต้องแก้ไขมากมาย ซึ่งเราก็มองเห็นว่าจะต้องปรับปรุงอยู่แล้ว แต่ทีนี้ก็เกิดมีเรื่องกรณีสันติอโศกขึ้นมา และมาสัมพันธ์กับการเมือง เลยเป็นเรื่องโด่งดังขึ้นมา เมื่อโด่งดังก็มีการสนใจ เมื่อมีการสนใจและเข้าใจผิด ก็ต้องการการทำความเข้าใจให้ถูกต้อง นี่ก็คือเป็นปัญหาขึ้นมา เมื่อเป็นปัญหาขึ้นมาเป็นกรณีขึ้นแก่สังคมนี้ เราก็ควรจะมาช่วยกันแก้ปัญหา เรื่องก็มีเท่านั้น คือเรื่องสันติอโศกเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว ในสังคมไทยหรือในพระศาสนา เราจะแก้ปัญหาอย่างไร คนที่แก้ปัญหาหรือเสนอวิธีการแก้ปัญหาอาจจะขัดแย้งกันได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่การขัดแย้งนั้นไม่ใช่ตัวปัญหา เป็นเพียงความเห็นขัดแย้งกันในการแก้ปัญหา แต่เขาไปสร้างภาพเป็นว่ามีการขัดแย้งกันขึ้น แล้วเบนความสนใจและความเข้าใจของคนออกไปให้เห็นว่า ตัวกรณีหรือตัวเรื่องหรือตัวปัญหา คือการขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม สร้างภาพแม้กระทั่งว่ามีกลุ่มสันติอโศกกับกลุ่มมหาเถรสมาคม นี้เป็นการสร้างภาพที่ผิด และเมื่อคนได้ภาพผิดไปแล้ว การคิดพิจารณาเรื่องก็ผิด นับว่าเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยามวลชนที่ได้ผล แต่กลายเป็นเรื่องของเล่ห์กล ซึ่งทำให้สงสัยในความสุจริตใจว่าทำไมต้องหาทางเลี่ยง ไม่พิจารณาปัญหากันอย่างตรงไปตรงมา

1ทางเว็บไซต์เป็นผู้จัดแบ่งเนื้อหาเป็นส่วนๆ และตั้งชื่อหัวข้อแต่ละส่วน เพื่อความสะดวกในการนำเสนอบนเว็บ หนังสือต้นฉบับไม่มีการจัดแบ่งหัวข้อแต่อย่างใด
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.