การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

มนุษย์พัฒนาโลกวัตถุให้ถึงกันหมดเป็นหนึ่งได้
แต่ยังข้ามไม่พ้นสิ่งกีดขวางการรวมใจให้เป็นสากล

ทุกวันนี้โลกแคบเข้ามาถึงกันหมดแล้ว จนกระทั่งฝรั่งเรียกว่า global village เป็น "หมู่บ้านโลก" มนุษย์อยู่ร่วมกันในโลกที่แคบเข้ามานี้ จะต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดซึ่งกันและกัน แล้วจะอยู่กันอย่างไรดี ปัญหาของมนุษย์ก็คือ จะอยู่ร่วมโลกกันอย่างไรจึงจะมีสันติสุข ไม่ขัดแย้ง ไม่แตกแยก ไม่ทะเลาะวิวาทกัน ทุกวันนี้มนุษย์ทั่วโลกอยู่ร่วมกันทางวัตถุ เนื่องจากวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้รวมโลกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในเวลาเดียวกันนั้นในทางสังคมตัวมนุษย์เองกลับยิ่งขัดแย้งแบ่งแยกกันมากขึ้น นับเป็นการสวนทางกันในการพัฒนา แสดงว่าการพัฒนามนุษย์ไม่ได้สัดส่วน ไม่มีดุลยภาพกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

เราพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางวัตถุจนกระทั่งรวมโลกเป็นอันเดียวกัน แต่ตัวมนุษย์กลับยิ่งทะเลาะวิวาท รบราฆ่าฟัน ทำสงครามกัน มีการแบ่งแยกกันโดยเชื้อชาติ ผิวพรรณ และลัทธิศาสนา เวลานี้ทั่วโลกยิ่งรบกันหนัก ระหว่างเชื้อชาติ ระหว่าง ศาสนา ทำไมเป็นอย่างนี้ สภาพเช่นนี้เป็นเครื่องฟ้องว่า การศึกษาไม่ได้ผล หรือว่าการพัฒนามนุษย์ไม่ได้ผลเท่าที่ควร มนุษย์พัฒนาไม่ทันสภาพแวดล้อม เพราะฉะนั้นการศึกษาจะต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ว่า ทำอย่างไรจะให้มนุษย์ที่อยู่ร่วมโลกเดียวกัน มีสภาพแวดล้อมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ มีชีวิตอยู่ร่วมกันโดยสันติได้ด้วย

แม้แต่วัฒนธรรมที่มีต่างๆ กัน มนุษย์ก็มองเป็นเครื่องแบ่งแยก ทำไมเราไม่มองวัฒนธรรมเป็นเครื่องรวมมนุษย์ วิถีของการมองมี ๒ แบบ

แบบที่ ๑ ถือเอาสิ่งที่รวมมนุษย์เป็นกลุ่ม เป็นเครื่องแบ่งแยกกลุ่มย่อยออกจากส่วนรวม

แบบที่ ๒ ถือเอาสิ่งที่รวมมนุษย์เข้าเป็นกลุ่มนั้น เป็นขั้นตอนของการที่จะไปรวมกันทั้งโลก

ถ้าถือแบบที่ ๑ มนุษย์จะยิ่งแบ่งแยก และทะเลาะวิวาท สวนทางกับสภาพทางวัตถุของโลกยิ่งขึ้น แต่ถ้าถือแบบที่ ๒ ก็จะเป็นการประสานกลมกลืนสู่ทางแห่งสันติสุข

ทำอย่างไร จะให้คนทั้งโลกมีแนวคิดอย่างที่ ๒ ได้ นี่คือสิ่งที่ท้าทายการศึกษา

มนุษย์ได้รวมกันเป็นกลุ่มด้วยวัฒนธรรม ด้วยเชื้อชาติ ด้วยศาสนา ซึ่งทำให้คนในกลุ่มนั้นมีความสามัคคี รวมกำลังกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความเกื้อกูลกัน แต่พอเขารวมเป็นกลุ่มหนึ่งได้ เขาก็แยกจากกลุ่มอื่น แล้วก็ทะเลาะวิวาทกัน สภาพเช่นนี้เป็นเรื่องของมนุษย์ในสมัยโบราณที่ควรจะผ่านยุคสมัยไปได้แล้ว

ในสมัยก่อนโน้น เพื่อความอยู่รอดของแต่ละกลุ่ม มนุษย์จะต้องปกป้องกลุ่มของตนเอง นับว่ามนุษย์เจริญมาขั้นหนึ่ง คือ เจริญจากการแบ่งแยกระหว่างบุคคลมาสู่การรวมเข้าเป็นกลุ่มแล้วแบ่งแยกระหว่างกลุ่ม แต่เวลานี้มนุษยชาติพัฒนามาจนถึงขั้นทำให้สิ่งแวดล้อมรวมได้เป็นอันเดียวแล้ว ชีวิตจิตใจของมนุษย์ จะต้องพัฒนาตามไปให้สอดคล้องกันด้วย กล่าวคือ เมื่อรวมจากบุคคลมาเป็นกลุ่มได้แล้ว ขั้นต่อไป ก็รวมจากกลุ่มมาเป็นสังคมใหญ่ มาเป็นโลกทั้งโลก ให้ถือว่าปัจจัยเครื่องรวมมนุษย์ในระดับกลุ่มนั้น คือขั้นตอนที่จะเชื่อมต่อให้เขามารวมกันทั้งหมดได้ต่อไป นี่คือสิ่งที่ท้าทายการศึกษาอย่างหนึ่ง เพราะความสำเร็จของอารยธรรมมนุษย์อยู่ที่จุดนี้ด้วย

มนุษย์จะทำลายมนุษยชาติด้วยปัจจัยสำคัญ ๒ อย่าง คือ

๑. การก่อความเสื่อมโทรมแก่สิ่งแวดล้อม ซึ่งนำมาสู่จุดติดตันว่า เขาจะแก้ปัญหาธรรมชาติได้สำเร็จหรือไม่ และ

๒. การแบ่งแยกระหว่างมนุษย์ ซึ่งนำมาสู่จุดติดตันว่า เขาจะแก้ปัญหาสังคมได้หรือไม่

เวลานี้สังคมที่พัฒนาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำของโลก กำลังประสบปัญหานี้เป็นจุดติดตันอยู่ ไม่รู้จะไปรอดหรือไม่ จะดูตัวอย่างได้จากสังคมอเมริกัน ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่เห็นทางออกที่จะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะการรวมมนุษย์ให้เป็นอันเดียวกันที่เขาเคยภูมิใจว่ารวมได้ดีพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ แต่ครั้นถึงเวลานี้กลับกลายเป็นแตกแยกยิ่งขึ้น จนหนังสือใหม่ๆ ที่ออกมาบอกว่าไม่มีความหวัง มีแต่จะแตกแยกกระจัดกระจายยิ่งขึ้น จนเป็นที่ชัดเจนว่าเราจะหวังจากอเมริกาไม่ได้ มนุษย์ที่อยู่ในสังคมอื่นอาจจะเป็นผู้ที่มีอะไรดีที่จะไปช่วยเสริมในเรื่องนี้

ความจริง สังคมไทยมีดีที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือความสามารถหรือศักยภาพในการที่จะสมานเพื่อนมนุษย์ให้รวมเข้าเป็นอันเดียวกัน เราอาจจะช่วยประชาคมโลกได้ในเรื่องนี้ สังคมอเมริกันเคยภูมิใจว่า ตนเป็นเบ้าหลอมมนุษย์ที่มาจากเชื้อชาติต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ในประเทศของตน แต่ในขณะนี้ สังคมอเมริกันเจอปัญหาอย่างหนักในเรื่องการแบ่งแยก ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับปัญหาระดับโลกทีเดียว

จะเห็นได้ว่า สังคมอเมริกันได้พัฒนามาถึงจุดหนึ่งที่เจริญมาก แต่ก็กลับประสบปัญหาเรื่องนี้ จึงนับว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายอารยธรรมของมนุษยชาติ ท้าทายการพัฒนามนุษย์ และท้าทายการศึกษาว่า เราจะพัฒนามนุษย์ได้สำเร็จหรือไม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตั้งเป็นมาตรฐานวัดการศึกษาว่า เราจะพัฒนามนุษย์ให้สามารถมีจิตใจรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้หรือไม่

ในพระพุทธศาสนาท่านสอนเรื่องนี้ไว้มาก เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาตามธรรมชาติที่ว่ามนุษย์ที่พัฒนาแล้วย่อมจะรวมกันได้ เพราะการพัฒนานั้น หมายถึงการที่มนุษย์จะค่อยๆ หมด "มัจฉริยะ" คือ ความตระหนี่ หรือความหวงแหนกีดกัน ๕ ประการไปจนสิ้นเชิง คือ

๑. ความหวงแหนถิ่นที่อยู่ รวมทั้งประเทศชาติของตัวเอง เมื่อถึงยุคโลกาภิวัตน์เราจะต้องปรับมนุษย์ให้รักชาติ โดยต้อง "รักเป็น" คือรักในแบบที่ไม่ให้แบ่งแยกและเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

๒. ความหวงแหนครอบครัว พวกพ้อง วงศ์ตระกูล รังเกียจพงศ์เผ่า ความหวงแหนนี้มีมากจนกระทั่งแต่งงานระหว่างชนต่างเผ่าไม่ได้

๓. ความหวงแหนลาภ หวงแหนผลประโยชน์

๔. ความหวงแหนวรรณะ แบ่งผิว แบ่งชนชั้น รังเกียจกัน

๕. ความหวงแหนความสำเร็จ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ไม่อยากให้คนอื่นบรรลุความสำเร็จอย่างตน

การศึกษาจะต้องพัฒนาคนให้ลดละมัจฉริยะ ๕ ประการนี้ให้สำเร็จ ถ้าสำเร็จ มนุษย์จะอยู่รวมกันได้ทั้งโลก เวลานี้หมดสมัยแล้วที่มนุษย์จะแบ่งแยกแบบเก่า และการแบ่งแยกแบบนั้นจะนำมนุษย์ไปสู่สงครามแน่นอนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ในหลายส่วนของโลก ถึงขนาดตามล้างเผ่าพันธุ์กัน

ถ้ามนุษย์ไม่ยึดติดในทิฏฐิที่บัญญัติกันขึ้น และมองอะไรไปตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ก็จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่มนุษย์ให้หมดไปได้ ซึ่งก็หมายถึงการที่จะต้องพัฒนาคนจนมองเห็นความจริงที่เป็นสากล และมีความรู้นึกคิดประพฤติปฏิบัติสอดคล้องกับความจริงที่เป็นสากลนั้น ถ้ามนุษย์พัฒนาเข้าถึงความเป็นสากลนั้น ปัญหาความขัดแย้งซึ่งลัทธิศาสนาเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งตลอดมา ก็จะหมดไปได้ ดังนั้น ในกระบวนการพัฒนามนุษย์ การแก้ไขความขัดแย้งแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ จึงหมายถึงการเข้าถึงความเป็นสากลนี้ด้วย

เนื่องจากการยึดติดในลัทธิศาสนาเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาความแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ จึงควรพูดย้ำไว้ด้วยว่า ถ้าศาสนาทั้งหลายจะช่วยให้โลกมีสันติสุขได้ โดยศาสนาไม่เป็นตัวเหตุเสียเองที่จะทำให้คนแบ่งแยกรบราฆ่าฟันทำสงครามกัน ศาสนาทุกศาสนาจะต้องถือหลักหรือยอมรับความเป็นสากล ๓ ประการต่อไปนี้ คือ

๑. ความจริงที่เป็นสากล เช่น เมื่อสอนว่า การทำดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ การทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก ก็ต้องเป็นจริงสำหรับมนุษย์ทุกคนทุกหนแห่ง ไม่ว่านับถือลัทธิศาสนาใด ไม่ใช่จริงสำหรับผู้นับถือศาสนานี้ แต่ไม่จริงสำหรับผู้นับถือศาสนาอื่น

๒. ความเป็นมนุษย์ที่สากล คือ ถือว่ามนุษย์ทุกคนทุกหนทุกแห่งไม่ว่านับถือศาสนาไหน ก็เป็นมนุษย์เสมอกัน การฆ่ามนุษย์เป็นบาป ไม่ดีทั้งนั้น ไม่ใช่สอนว่า มนุษย์ที่นับถืออย่างนี้เป็นมนุษย์ของฉัน ห้ามฆ่า แต่มนุษย์ที่ไม่นับถืออย่างฉัน ฆ่าได้ไม่บาป

๓. เมตตาที่เป็นสากล คือจะต้องสอนให้รักใคร่มีไมตรีต่อมนุษย์ทุกคนโดยไม่จำกัดว่าเป็นกลุ่มไหนพวกใด นับถือศาสนาใด ไม่ใช่ให้เมตตารักคนพวกนี้ กลุ่มนี้ นับถือศาสนานี้ แต่ให้เกลียดชังคนพวกอื่น นับถืออย่างอื่น

ถ้าศาสนาทุกศาสนายอมรับหลักสากล ๓ ประการนี้ไม่ได้ โลกไม่มีทางสงบจากความขัดแย้งและสงคราม

ปัจจุบันนี้ แม้แต่จะพูดกันตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยในเรื่องเหล่านี้ ก็พูดกันไม่ได้ ต้องหลบเลี่ยงอ้อมแอ้มๆ กันไปว่า ทุกศาสนาก็สอนให้เป็นคนดีเหมือนกัน เมื่อไม่ซื่อตรงต่อความเป็นจริงกันอย่างนี้ มัวแต่หลบปัญหากันอยู่ ก็แก้ปัญหาไม่ได้

ศาสนาที่ถือหลักการตรงไปตรงมาตามธรรมดาของธรรมชาติ ย่อมสอนหลักสากล ๓ ประการนี้ เป็นหลักพื้นฐานสามัญเป็นปกติธรรมดา

สรุปว่า มาตรฐานในการวัดความสำเร็จของการศึกษา คือ ความสามารถในการพัฒนามนุษย์ให้ทำลายความหวงแหนกีดกั้นแบ่งแยกกันด้วยสาเหตุ ๕ ประการที่เรียกว่า มัจฉริยะ ๕ นั้น และการยอมรับความเป็นสากลทั้ง ๓ ประการดังที่ได้กล่าวมา ถ้าทำได้สำเร็จ มนุษย์ในโลกนี้ก็จะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.