การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก
แต่ต้องให้เด็กเอาดีได้จากสิ่งที่เลวที่สุด

ขอแทรกตรงนี้หน่อยว่า การศึกษาขั้นต้น ตามหลักพระพุทธศาสนา ท่านให้ความสำคัญแก่การพัฒนากาย หรือพัฒนาการทางกาย ที่เรียกว่ากายภาวนานี้มาก (ความหมายไม่เหมือนกับที่เราใช้กันในปัจจุบัน) และ กายภาวนา ที่ท่านเน้นตอนต้นนี้มี ๒ อย่างคือ

๑. การรู้จักใช้อินทรีย์ หรืออินทรียสังวร โดยรับรู้ให้เกิดคุณไม่เกิดโทษ เช่น ดูเป็น ฟังเป็น ให้ได้คุณภาพชีวิต เช่น ปัญญา และคุณธรรม อย่างน้อยได้แบบอย่างที่ดี อย่างที่พูดมาแล้ว

๒. การบริโภคพอดี หรือความรู้จักประมาณในการบริโภค ที่เรียกเป็นภาษาพระว่า โภชเนมัตตัญญุตา หมายถึงการกินด้วยปัญญา คือ กินด้วยความรู้เข้าใจความมุ่งหมายของการกินว่ากินเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี จะได้เกื้อหนุนการมีชีวิตที่ดีงาม ไม่ใช่กินเพียงเพื่อบำรุงบำเรอให้อร่อยลิ้น การกินด้วยปัญญาที่รู้ความมุ่งหมายหรือประโยชน์ที่แท้ของการกิน จะทำให้กินได้ปริมาณที่พอดีแก่ความต้องการของร่างกาย ไม่มากหรือน้อยเกินไป และเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ไม่เป็นโทษ

การบริโภคพอดี คือบริโภคด้วยปัญญานี้ ขยายออกไปถึงการใช้ปัจจัย ๔ อย่างอื่น ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย และเทคโนโลยีทั้งหลาย ทำให้เป็นการกินการใช้การซื้อหาด้วยสติปัญญาที่รู้เข้าใจมุ่งเพื่อคุณค่าและประโยชน์ที่แท้จริงของมัน ไม่ใช่มุ่งเพียงเพื่อความสวยงามโก้เก๋ และการตกเป็นทาสของค่านิยมผิดๆ เป็นต้น ทำให้การเสพการใช้บริโภควัตถุเป็นไปในทางส่งเสริมคุณภาพชีวิต ลดการเบียดเบียนในสังคม และไม่สิ้นเปลื้องทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่สมควร

การพัฒนาทางกาย หรือกายภาวนาทั้ง ๒ ข้อนี้ นอกจากเป็นการฝึกหรือพัฒนาชีวิตในทางที่เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตโดยตรงแล้ว ยังเป็นมาตรการขั้นแรกสุดในการรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ด้วย การศึกษาที่ขาดการพัฒนากายใน ๒ ข้อนี้ จะเป็นการศึกษาที่ฐานเสีย คือเป็นการศึกษาที่ผิดพลาดตั้งแต่พื้นฐานทีเดียว และจะนำมนุษยชาติไปสู่อิสรภาพและสันติสุขไม่ได้

ที่ว่ามานี้เป็นเรื่อง “ดูเป็น” “ฟังเป็น” เป็นต้น ต่อไปเป็นเรื่องของการ “คิดเป็น” ข่าวสารข้อมูลนอกจากต้องดูเป็น ฟังเป็น แล้วต้องคิดเป็นด้วย การศึกษาจะต้องพัฒนาเด็กให้มีความสามารถนี้มากขึ้น จนถึงจุดหนึ่งที่ว่า เด็กสามารถสรรประโยชน์สูงสุดได้จากสิ่งแวดล้อมที่เลวที่สุด เช่น จากข่าวสารข้อมูลที่เลวร้ายที่สุด การที่จะอยู่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ให้ได้ผลดี จะต้องมีความสามารถถึงขั้นนี้

ด้วยเหตุนี้ ในแง่นี้ เราจึงมองการศึกษา เป็น ๒ ด้าน ที่เหมือนกับตรงกันข้าม แต่ย้อนมาบรรจบกัน คือ

ด้านที่ ๑ (จากข้างนอกเข้ามา) เราจัดการศึกษาโดยจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาของเด็ก แม้แต่ตัวครูเองก็เป็นการจัดสิ่งแวดล้อมแบบหนึ่ง คือเป็นระบบการศึกษาที่ให้ครูเป็นสิ่งแวดล้อมที่จะมาช่วยเกื้อหนุนต่อการศึกษา หรือการพัฒนาของเด็ก ตัวครูเองก็เป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งด้วย และครูนั้นก็มาจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตของเด็กอีก ในการจัดสภาพแวดล้อมนี้ เราถือหลักการว่า ต้องจัดให้ดีที่สุด ให้เด็กมีครูที่ดีที่สุด ให้เด็กมีกัลยาณมิตรที่ดีที่สุด มีแบบอย่าง มีสิ่งแวดล้อม มีห้องสมุด มีข่าวสารข้อมูล มีแหล่งความรู้ อะไรต่างๆ ที่ดีที่สุด

ด้านที่ ๒ (จากข้างในออกไป) เราจัดการศึกษาโดยพัฒนาเด็กให้มีความสามารถที่จะอยู่ได้ดีที่สุดในสิ่งแวดล้อมที่เลวที่สุด และสามารถเอาประโยชน์ได้จากสิ่งแวดล้อม ข่าวสารข้อมูล และประสบการณ์ทั้งหลาย ที่เลวที่สุดด้วย

นี่เป็นการมอง ๒ ด้านพร้อมๆ กัน เราจะมองเฉพาะด้านการจัดสภาพแวดล้อมอย่างเดียวไม่ได้ ในสังคมอเมริกันปัจจุบัน ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่า กำลังเขว จะได้ยินมากทีเดียวว่า ในด้านการศึกษา อเมริกันพยายามจะหาทางให้เด็กได้รับสิ่งที่น่าสนใจ สนุกสนาน ทำบทเรียนให้สนุก น่าสนใจ เขาจะเน้นเรื่องนี้มาก เปิดฟังข่าวก็จะได้ยินอย่างนี้ ครูและนักการศึกษาพยายามจะหาทางทำให้ชั้นเรียนและบทเรียนเป็นที่น่าสนใจแก่เด็ก และถือว่านี่จะเป็นความสำเร็จของการศึกษา แต่ทำไปทำมาก็เอียงสุดจนกลายเป็นการเอาใจเด็ก หาทางทำให้เด็กชอบใจ จนกระทั่งว่าเด็กชอบใจก็เรียน ไม่ชอบใจก็ไม่เรียน อันนี้ก็คือสภาพสูงสุดของการตามใจเด็กนั่นเอง เด็กจะขาดความเข้มแข็ง และขาดประสิทธิภาพไปถึงจุดหนึ่งที่ว่า ถ้าไม่มีบทเรียนและสภาพแวดล้อมที่จูงใจและถูกใจตัว เด็กก็จะไม่เอาเลย

ขณะเดียวกัน เด็กในบางสังคมได้รับการฝึกที่ตรงกันข้าม คือ เขาจะทำให้เด็กมีใจสู้ อยากจะเรียนรู้ มีความเข้มแข็ง สู้ในสิ่งที่ยาก พยายามเรียนรู้ให้ได้ผลให้มากที่สุด ปรากฏว่า ขณะนี้สังคมที่กำลังประสบความสำเร็จ คือสังคมประเภทหลัง ที่ฝึกเด็กให้สู้บทเรียนยาก ไม่ว่าอะไรแค่ไหนเข้ามาสามารถรับได้เต็มที่ สู้ได้หมด แต่ก็มีความเครียดไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าเตือนใจอยู่ว่า วิธีการจัดการศึกษาทั้ง ๒ วิธีดังกล่าวนั้นไม่ใช่วิธีการแห่ง“ปัญญา” เพราะวิธีแรก เป็นวิธี “ตามใจเด็ก” เด็กจะเอาอย่างไร ก็ต้องหาทางตามใจให้เขาได้ในสิ่งที่ปรารถนา ถ้าเขาพอใจอยากจะเรียน ก็เรียน ถ้าเขาไม่พอใจที่จะเรียนก็ไม่เรียน เราก็ต้องหาทางให้เขาพอใจให้ได้ ส่วนอีกวิธีหนึ่งเป็นการ “ตามใจครู” ฉันให้เรียนอะไรอย่างไร ก็ต้องเรียนอันนั้นอย่างนั้นตามใจฉัน ฉันเป็นคนสอน เธอต้องเรียน ทั้ง ๒ วิธีล้วนแต่ใช้ “ความพอใจ” ทั้งคู่ ไม่ได้ใช้ “ปัญญา”

วิธีที่แท้ต้องใช้ “ปัญญา” คือ ต้องรู้ว่า การจะสร้างความสนใจ สร้างแรงจูงใจให้แก่เด็ก เช่น การทำบทเรียนให้น่าสนใจนั้น เป็นเพียงสื่อในการชักนำเบื้องต้น เป็นอุบายวิธีนำเด็กเข้าสู่บทเรียนเท่านั้น แต่เป้าหมายหลักก็คือทำให้เด็กมีความใฝ่รู้ และมีความเข้มแข็ง มีใจสู้ มีจิตมุ่งมั่นในการแสวงหาความรู้อย่างแท้จริง จะต้องสร้างอันนี้ให้สำเร็จ ถ้าเรายังอยู่ในขั้นของการสร้างสิ่งแวดล้อมให้น่าสนใจ ก็ถือว่าเป็นเพียงการช่วยชักนำเข้าสู่การศึกษาเท่านั้น ความสำเร็จอยู่ที่การที่เด็กเกิดความมุ่งมั่นใฝ่รู้ขึ้นมา เป็นคุณสมบัติในตัวของเขาต่างหาก การศึกษาแท้จริงอยู่ที่นี่

สังคมอเมริกันมีทุนดีที่คนมีความใฝ่รู้และสู้สิ่งยากมาก่อน ซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมและเหตุปัจจัยในอดีตเช่นการถูกบีบคั้นมานาน และการที่ได้ผ่านภูมิหลังแห่งการเป็นสังคมของนักผลิตบนฐานแห่งวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันนี้เป็นสังคมที่ตามใจเด็กแล้วจึงจะเสื่อม และกำลังเสื่อมด้วย ดังที่ปัจจุบันก็แพ้แล้ว เวลานี้การศึกษาของอเมริกัน เมื่อมีการทดสอบระหว่างประเทศก็แพ้ญี่ปุ่น และแพ้ประเทศอื่นหลายประเทศ

อเมริกันกลัวสูญเสียความยิ่งใหญ่และความเป็นผู้นำมาก และเขาก็รู้ตัวว่าการศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ดังนั้น เมื่ออเมริกาแย่ลงอเมริกาก็จึงพยายามเอาประเทศอื่นมาเป็นเครื่องช่วย หรือจะถือว่าเขาใช้ประเทศอื่นเป็นเครื่องมือก็ได้ ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นประโยชน์ หมายความว่า มีการทดสอบความรู้โดยเป็นการแข่งขันระหว่างชาติ เช่น ทดสอบวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ระหว่างนักเรียนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งปรากฏว่าอเมริกันร้องคร่ำครวญว่า เด็กของตัวมีสัมฤทธิผลต่ำอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เช่น คราวหนึ่งมีการแข่งขันทดสอบ ๑๔ ประเทศ อเมริกาได้ลำดับที่ ๑๓ ลำดับที่ ๑๔ คือไทย ดังนี้เป็นต้น

นี้เป็นเรื่องของการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระหว่างประเทศ ก็ลองใช้ดูกันเถอะ ตอนนี้ก็มีกันบ่อยๆ ประเทศไทยเองก็เข้าไปร่วมวงด้วย มีการส่งเด็กเข้าแข่งขันการทดสอบวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เราต้องรู้ทันนะว่า อเมริกาเขาใช้กิจการนี้เป็นเครื่องมือ เพื่อเป็นประโยชน์ของเขาเอง เป็นเรื่องของเราเองที่จะต้องรู้ทันและใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง เป็นเรื่องของการอยู่ในเวทีโลก ซึ่งนำโดยประเทศอเมริกาที่ถือระบบแข่งขันเป็นหัวใจของการสร้างสรรค์ความเจริญ และพยายามกู้สถานะสังคมของตนด้วยการฟื้นฟูกระตุ้นความพร้อมที่จะแข่งขัน (competitiveness)

หันกลับมาเรื่องเก่า เป็นอันว่า ในเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดข่าวสารข้อมูล การศึกษาจะต้องมอง ๒ ด้าน คือ ในฐานะ “ผู้จัด” เราต้องจัดสภาพแวดล้อมและข่าวสารข้อมูลที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก เพื่อเกื้อกูลต่อการเรียนรู้ของเขา และพร้อมกันนั้นในแง่ของการพัฒนาตัวบุคคลของเด็กในฐานะ “ผู้ศึกษา” เราจะต้องพัฒนาเขาให้เป็นผู้มีความสามารถที่จะอยู่ได้อย่างดีที่สุด และใช้ประโยชน์ได้ดีที่สุดแม้จากสภาพแวดล้อมรวมทั้งข่าวสารข้อมูลที่เลวที่สุด จนกระทั่งไม่ว่าจะดูโทรทัศน์รายการที่เลวร้ายอย่างไรก็ตาม เด็กก็สามารถถือเอาประโยชน์ได้หมด นี่คือ ความสำเร็จในการศึกษา แต่ทั้งนี้ไม่ใช่หมายความว่า อยู่ๆ ครูจะไปเอารายการโทรทัศน์เลวๆ มาให้เด็กเลย อย่างนี้ก็แย่

ตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ คือการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่น โดยเฉพาะที่สังคมของเราและโดยเฉพาะเด็กของเราชื่นชอบมาก ซึ่งเราก็จะต้องสนใจและมุ่งเน้นไปที่นั่น ดังที่ทราบกันอยู่ว่าคนของเราชอบมองไปที่วัฒนธรรมตะวันตกหรือประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย แล้วก็ชอบเลียนแบบและเอาตามอย่างเขา “ลัทธิตามอย่าง” ก็เกิดแพร่หลายมาก

การตามอย่างนั้น แม้จะทำได้ดีก็เป็นการยอมรับถึงความด้อยของตัวเอง คือ เป็นการยอมรับว่าเขาเจริญกว่า และเราด้อยกว่าเขา แต่ที่สำคัญก็คือ เมื่อเลียนแบบเขา ตัวเราก็ไม่ได้อะไรจริงจัง ได้แต่เปลือกหุ้ม เพราะการที่จะได้อะไรจริง จะต้องปรับย่อยเข้าเป็นเนื้อให้ตัวเจริญเติบโตขึ้นไป เพราะฉะนั้น ในขณะที่เราจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมแก่เด็กให้ดีที่สุด แต่เมื่อเขาต้องเจอกับกระแสวัฒนธรรมแวดล้อมที่เลวร้าย เราก็ต้องช่วยให้เขาพัฒนาความสามารถในตัวเขาที่จะเอาประโยชน์ให้ได้จากสิ่งที่เลวร้ายที่สุด อันนี้คือการมองกลับกัน ๒ ด้าน ที่บรรจบกันเป็นความสมบูรณ์

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.