การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

– ๒ –
ทางออกจากอารยธรรมที่ไม่ยั่งยืน

ถึงแม้ยังถูกระบบผลประโยชน์ครอบงำ
ก็ต้องให้การได้ถูกดุลด้วยการให้

ในยุคปัจจุบันนี้ เรื่องสำคัญๆ หนีไม่พ้นปัญหาเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญ การดำรงอยู่ของมนุษย์ ต้องอาศัยปัจจัยสี่ ปัจจัยสี่เป็นเรื่องพื้นฐานของเศรษฐกิจ มนุษย์จะอยู่ได้ดี ต้องปฏิบัติหรือจัดการเรื่องนี้ให้ถูกต้อง

ปัญหาเศรษฐกิจเวลานี้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับระบบว่าขณะนี้เราถูกระบบเศรษฐกิจแบบไหนเข้ามาครอบงำอยู่ หรือเราไปยอมรับระบบเศรษฐกิจแบบไหน ระบบเศรษฐกิจที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบันซึ่งเป็นที่ทราบกันดีก็คือ เศรษฐกิจแบบ "ทุนนิยม" ซึ่งถือเรื่องผลประโยชน์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะทุนนิยมแบบปัจจุบันมีหัวใจสำคัญคือการแข่งขัน

นับถอยหลังไป ๑๐ ปี เป็นระยะที่มีการแข่งอำนาจกันระหว่างระบบเศรษฐกิจ ๒ แบบ ซึ่งควบคู่กับระบบการเมืองด้วย คือ ระบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย กับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ระบบการปกครอง ๒ แบบนี้มีระบบเศรษฐกิจพ่วงมาด้วย จนกระทั่งบางทีพูดควบกันไปเหมือนกับว่า ระบบเศรษฐกิจอันหนึ่งก็เป็นการปกครองแบบหนึ่ง ซึ่งความจริงยังแยกกันได้ แต่เขาพูดปนๆ กันไปว่าระบบเศรษฐกิจแบบ "ทุนนิยม" ซึ่งมากับการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย และระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็ไปคู่กับระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า "คอมมิวนิสม์"

ระบบการเมืองการปกครองที่ยึดถือเศรษฐกิจ ๒ ระบบนี้ได้ต่อสู้แข่งอำนาจกันมาจนกระทั่งเกิดเป็นสงครามเย็น เริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พอตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นมาแล้วก็มีปัญหานี้มาตลอด จนกระทั่งเมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว ฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้สลายตัวลง โดยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ต่อจากนั้นเราก็เห็นการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยแพร่หลายขยายตัวยิ่งขึ้น เหมือนกับว่าได้ชัยชนะ และระบบเศรษฐกิจแบบ "ทุนนิยม" หรือ "ตลาดเสรี" ก็เหมือนกับชนะไปด้วย ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ก็เลยครอบงำไปทั่ว ประเทศไทยของเราก็มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ระบบนี้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบการแข่งขันแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งครอบงำและส่งอิทธิพลไปทั่ว

ในการที่จะอยู่ในระบบเศรษฐกิจนี้ เราจะปฏิบัติต่อมันอย่างไรดี หรือแม้แต่ว่าเราควรจะอยู่ในระบบนี้หรือไม่ นี่ก็เป็นปัญหาของการศึกษาเหมือนกัน การศึกษาไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ไปได้ ในการที่จะปฏิบัติต่อเรื่องนี้ได้ถูกต้อง เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมันอย่างเพียงพอ อย่างน้อยก็ต้องรู้คุณโทษ

ถ้าหันไปมองในประเทศที่เจริญแล้ว จะเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจแบบนี้เป็นตัวการที่นำมาสู่ปัญหาของโลกในปัจจุบัน ตลอดยุคที่ผ่านมา ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายของการพัฒนา แล้วมนุษย์ก็ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ความเจริญนั้น แต่แล้วในที่สุดก็ปรากฏว่า ความเจริญแบบนี้ได้สร้างปัญหาแก่โลกอย่างร้ายแรง ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอและธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม มีมลภาวะสูง จนกระทั่งยอมรับกันเป็นมติของโลกว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน (unsustainable development) จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่

พร้อมกันนั้น การแข่งขันกันในการหาผลประโยชน์ ก็ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคล กลุ่มชน และประเทศต่างๆ จนกลายเป็นการแข่งอำนาจกันในเวทีโลก ซึ่งนำไปสู่การเบียดเบียน การเอาเปรียบกัน ตลอดจนเกิดสงคราม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสังคมที่พันกันนุงนังกับปัญหาทางด้านชีวิตจิตใจ คนที่อยู่ในสภาพสังคมแบบนี้ซึ่งมีการแข่งขันสูง ก็จะมีสภาพการดำเนินชีวิตแบบ "ตัวใครตัวมัน" ซึ่งทำให้มีความเครียดมาก จิตใจเร่าร้อนกระวนกระวายในการแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพจิตและสุขภาพกายตามมา กลายเป็นว่า เศรษฐกิจแบบนี้ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ ทั้งชีวิตมนุษย์ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม

มองในแง่หนึ่ง เมื่อโลกหรือประเทศทั้งหลายเจริญมาในแนวทางนี้แล้ว ทั้งๆ ที่มองเห็นโทษ รู้ว่าเสียหาย แต่ก็กลับตัวไม่ได้ เพราะปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในด้านสถานภาพผลักดัน เช่น ในการแข่งอำนาจกัน เมื่อกลัวจะสูญเสียสถานะความยิ่งใหญ่ แม้จะเกิดมลภาวะก็ไม่อาจจะแก้ไขได้ ทั้งที่รู้และพูดกันปาวๆ มีการประชุมระดับโลกที่ประชุมกันไปว่าจะต้องแก้ไขปัญหาการพัฒนาให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ไม่ให้การพัฒนาเศรษฐกิจทำลายสภาพแวดล้อม แต่ในทางปฏิบัติระหว่างประเทศก็ยังมีการครอบงำเอารัดเอาเปรียบกันจนกระทั่งในเรื่องเหล่านี้ ทำได้แค่เพียงแต่จะกันปัญหาออกไปให้ไกลตัวที่สุด

อย่างเวลานี้ประเทศที่เจริญด้านอุตสาหกรรมในอดีตได้กลายเป็นประเทศที่พัฒนานำหน้าไปแล้ว จนผ่านจากอุตสาหกรรมหนักมาสู่ไฮเทค ประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้น ทั้งๆ ที่รู้โทษของอุตสาหกรรมในด้านทำลายสภาพแวดล้อม ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเป็นปัญหาของโลกที่ถึงกันหมด แต่เพราะจะต้องปกป้องและแสวงหาผลประโยชน์ของประเทศของตัว ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรนอกจากจะกันปัญหาให้ไกลตัวที่สุด จึงหาทางให้อุตสาหกรรมหนักถูกระบายไปอยู่นอกประเทศ ไปใช้ประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นถิ่นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม

ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนา เมื่อตัวเองไปรับเอาระบบเศรษฐกิจแบบนี้เข้ามา และต้องการความเจริญแบบนี้อย่างเขา ในแง่หนึ่งตัวเองก็ดูเหมือนว่าเจริญขึ้น แต่ขณะเดียวกันตัวเองนั้นก็เป็นเหยื่อเขาไปโดยไม่รู้ตัว คือต้องการผลประโยชน์แต่ต้องรับโทษไปด้วย เช่นต้องรับภัยอันตรายจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ในการที่รับให้เขามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ประเทศของตัว และในการเอาทรัพยากรธรรมชาติในประเทศของตนมาป้อนประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นต้น ฝ่ายประเทศที่เจริญแล้วก็ดีใจที่ได้ระบายอุตสาหกรรมหนักที่มีมลภาวะสูงออกไป ฝ่ายประเทศที่กำลังพัฒนาก็ดีใจว่าเศรษฐกิจของประเทศตัวเองจะได้เจริญ จึงไปรับเอาของเขามาพร้อมกับผลร้ายเหล่านั้นด้วย นี่เป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งมนุษย์ติดคากันอยู่

สภาพที่ว่ามานี้เป็นปัญหาของการศึกษาด้วย การศึกษาจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้น เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาสังคมแต่เป็นปัญหาระดับโลกทีเดียวว่า โลกจะหาทางออกได้อย่างไร มันมีโทษร้ายแรงมาก เรามีทางออกหรือไม่ นอกจากการแข่งขันแสวงหาผลประโยชน์ระหว่างประเทศจะเป็นปัญหาใหญ่อยู่แล้ว คนในประเทศที่กำลังพัฒนาบางพวกเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเองที่เป็นบุคคล ก็ยอมทำลายผลประโยชน์ของสังคมของประเทศชาติไปด้วย เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองที่จะได้เงินได้ทองจากประเทศที่เจริญ ส่วนสังคมของตัวเองจะเป็นอย่างไร ก็ค่อยมาว่ากันอีกทีหนึ่ง ระบบผลประโยชน์ จึงก่อปัญหาทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก ทั้งปัญหาสังคม ทั้งปัญหาสภาพชีวิตจิตใจ และมาลงที่ปัญหาจริยธรรม ยุ่งไปหมด และระบบผลประโยชน์นั้นก็เป็นอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่ขวางกั้นการแก้ปัญหาด้วย ดูกันไปแล้วกระแสโลกาภิวัตน์อันนี้ก็คือปัญหาที่มนุษย์แทบจะไม่มีทางออก เหมือนกับว่าจะต้องยอมรับภัยพิบัติของมนุษยชาติ เรื่องนี้จะทำอย่างไร มนุษย์มีทางออกหรือไม่

มองลึกลงไปอีกในด้านสภาพจิต คนที่อยู่ในสภาพสังคมแบบนี้มักจะถูกผลักดันให้เกิดสภาพจิตแบบหนึ่งขึ้นมา คือ ในสังคมที่มุ่งผลประโยชน์ คนจะมีพื้นฐานของแนวความคิดที่ทางพระเรียกว่า "ทิฏฐิ" ในทางเศรษฐกิจ คือการถือว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ และแนวความคิดนี้ก็เป็นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย

เมื่อความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุ ก็หมายความว่า เราจะต้องมีวัตถุให้มากที่สุด พรั่งพร้อมที่สุดแล้วเราจะได้เสพให้มากที่สุดและจะได้มีความสุขมากที่สุด มนุษย์มีความหวังในการพัฒนาความเจริญแบบนี้ โดยมีอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญ เพราะถ้าอุตสาหกรรมเจริญ เศรษฐกิจก็จะรุ่งเรือง ทำให้มีสิ่งบริโภคพร้อมบริบูรณ์แล้วมนุษย์ก็จะมีความสุขสูงสุด เพราะฉะนั้น การถือว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ ยิ่งเสพมากที่สุดยิ่งสุขมากที่สุด ก็กลายเป็นคติของสังคมขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว และคนก็ยึดถือกันมา

เมื่อต้องการจะเสพให้มากที่สุด และความสุขอยู่ที่วัตถุเหล่านั้น จึงต้องแสวงหามาให้ได้มาก ในระยะยาว ความมุ่งหวังเช่นนี้ก็หล่อหลอมสภาพจิตของคน ทำให้มนุษย์มองในแง่จะได้จะเอาวัตถุ สภาพจิตนี้เป็นสภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับวัตถุในแง่จะ "ได้" จะ "เอา" แล้วต่อมานานเข้าก็กลายเป็นแนวความคิด ซึ่งทางพระเรียกว่า "ทิฏฐิ" เป็นความคิดความเชื่อที่ฝังในจิตใจ คิดที่จะเอาจะได้อย่างไร ถือว่า "การได้" "การเอา" เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อมนุษย์สร้างสภาพจิตนี้ขึ้นมาแล้ว สภาพจิตนั้นก็จะเป็นตัวผลักดันให้การมองเพื่อนมนุษย์มีความหมายไปในลักษณะหนึ่ง

เมื่อมนุษย์เกิดความตั้งใจคิดจะได้จะเอาวัตถุ จิตของเขาก็จะมุ่งไปหาวัตถุ จึงทำให้เขามีความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์ ในแง่ที่ระแวงและมองเพื่อนมนุษย์เป็น "คู่แข่ง" ซึ่งเป็นท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ ชนิดหนึ่ง ถ้าก้าวไปอีกขั้นหนึ่งก็เปลี่ยนจากการมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง มาเป็น "เหยื่อ" ขอให้สังเกตดูว่า เป็นอย่างนี้หรือไม่

เวลานี้สังคมของเรากำลังนำมนุษย์ไปสู่สภาพจิตอันนี้ คือสภาพจิตที่มองเพื่อนมนุษย์เป็น "คู่แข่ง" และเป็น "เหยื่อ" เราจะคิดแต่ว่า ถ้าเราไปหาไปพบหรือไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนนั้นๆ เราจะได้เงินจากเขาอย่างไร เราจะเอาเขาเป็นวิถีทางที่จะได้ผลประโยชน์อย่างไร และในสังคมเช่นนี้คนจะมีความจริงใจต่อกันน้อย อันนี้คือความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลมาสู่สภาพจิตใจ ตลอดจนวัฒนธรรมและจริยธรรม ไปด้วยกันทั้งหมด ฉะนั้นระบบเศรษฐกิจจึงมีอิทธิพลสำคัญมาก เมื่อสภาพสังคมเป็นอย่างนี้แล้ว การแก้ปัญหาจริยธรรมก็ทำได้ยาก นี้เป็นจุดที่การศึกษาต้องหาทางแก้ไข

บทบาทของการศึกษาที่จะมาแก้ไขปัญหา คือ

๑. การศึกษาจะต้องพิจารณาตั้งแต่ฐานขึ้นไปทีเดียวว่า ระบบเศรษฐกิจนี้จะดี คือเป็นทางออกนำมนุษยชาติไปสู่ความรุ่งเรืองโดยแท้จริงได้หรือไม่ ในระยะยาวเราควรจะอยู่ในระบบนี้หรือหาทางแก้ไขไปสู่ระบบที่ดีกว่า

๒. ระหว่างที่อยู่ในระบบนั้น การศึกษาจะต้องพัฒนามนุษย์ให้มีดุลยภาพในการสัมพันธ์กับวัตถุ

ในเมื่อกระแสระบบเศรษฐกิจทุนนิยมนี้มีกำลังแรง และตัวเราเองจำเป็นต้องอยู่ในระบบสังคมแบบนี้ เราต้องยอมรับความจริงนั้น และคิดว่าเราจะอยู่กับมันอย่างไรได้ดีที่สุด ให้มีผลเสียน้อยที่สุด นั่นคือ การรู้เท่าทันถึงเนื้อแท้ของระบบนี้ และจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้มนุษย์ด้วยการพัฒนามนุษย์

เราจะต้องให้มนุษย์มีการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ เมื่อคนมุ่งแต่จะได้จะเอา เขาก็จะพัฒนาความสามารถที่จะได้จะเอา คือความสามารถในการแสวงหา ตลอดจนแย่งชิง ถ้าการศึกษาไม่รู้ตัว การศึกษาก็จะคอยสนองความต้องการอันนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการสนองระบบเศรษฐกิจแบบนี้ และการศึกษาก็จะมีความหมายอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือการศึกษากลายเป็นการพัฒนาความสามารถของมนุษย์ในการหาสิ่งเสพสิ่งบริโภคมาบำเรอความสุข ถ้าเราไม่ระวังตัวก็จะเป็นอย่างนี้ แต่การศึกษาไม่ได้มีความหมายแค่นี้ ถ้าการศึกษาทำได้แค่นี้มนุษย์จะเสียดุลยภาพ

ดุลยภาพอย่างง่ายๆ ก็คือ ในการที่มนุษย์อยู่ในโลกนั้น ต้องยอมรับความจริงโดยธรรมชาติว่า มนุษย์ต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุก่อน เพราะเป็นเรื่องของความเป็นอยู่ของชีวิต เช่นปัจจัยสี่ เมื่อมนุษย์ต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุเป็นเรื่องแรก และต้องกินต้องเสพต้องบริโภค มนุษย์ย่อมต้องการได้ต้องการเอา นี่เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ถ้ากระแสเศรษฐกิจมาช่วยย้ำก็พุ่งไปเต็มที่ มนุษย์ก็จะยิ่งวุ่นวาย การสัมพันธ์กับวัตถุด้วยท่าทีของการที่มุ่งจะได้จะเอาอย่างเดียว ก็จะทำให้มนุษย์เสียดุลยภาพและสังคมก็เสียดุลยภาพด้วย เพราะเมื่อมนุษย์แต่ละคนจะเอาแต่ได้อย่างเดียว และจะเอาให้มากที่สุด ก็จะทำให้เกิดการแข่งขัน การแย่งชิง การเอารัดเอาเปรียบ ความเดือดร้อนก็ย่อมเกิดขึ้นในสังคมแก่หมู่มนุษย์เอง ทำให้อยู่กันไม่เป็นสุข

ในการที่มนุษย์จะสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุอย่างมีดุลยภาพนั้น ก็ต้องมีสิ่งที่คู่กับ "การได้" คือ "การให้" ถ้าเรามองแบบฝืนใจ สิ่งที่คู่กับ "การได้" ก็คือ "การเสีย" แต่ถ้าเราใช้ปัญญาแล้วเต็มใจทำการเสียที่เป็นไปอย่างชอบธรรมและเกิดประโยชน์ "การเสีย" ก็จะกลายเป็น "การให้"

ถ้ามนุษย์จะอยู่ดี เขาจะต้องมีดุลยภาพในการสัมพันธ์กับวัตถุ โดยที่ "การได้" มี "การให้" มาเข้าคู่ด้วย แต่เป็นการให้ที่ไม่ใช่การเสีย เนื่องจากการให้ กับ การเสีย มันเฉียดกันอยู่ ถ้าสละระบายออกไปไม่เป็น ก็จะกลายเป็นการเสีย แต่ถ้าสละระบายออกเป็น ก็จะเป็นการให้

การศึกษาจะต้องพัฒนามนุษย์ให้มีดุลยภาพในการสัมพันธ์กับวัตถุ คือคู่กับ "การได้" ต้องมี "การให้" ด้วย นับเป็นจุดเบื้องต้นในการพัฒนามนุษย์ จะเห็นได้ว่าในหลักทางพุทธศาสนา ข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่สุดได้แก่ "ทาน" คือการให้นั่นเอง พอเรามี "การให้" ด้วย ชีวิตของเราก็มีดุลยภาพ แล้วก็ทำให้สังคมมีดุลยภาพด้วย การเบียดเบียนซึ่งกันและกันก็น้อยลง เนื่องจากคนที่ด้อยโอกาส คนที่อ่อนแอ และคนที่ขาดแคลนก็มีทางที่จะอยู่รอดได้ในสังคมนี้ และคนก็จะมีความสัมพันธ์ด้วยความรู้สึกและท่าทีที่ดีต่อกัน ทำให้สังคมมีบรรยากาศแห่งความจริงใจและไมตรี โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ระบบแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์กำลังมีอิทธิพลแรงเข้มครอบงำสังคม สภาพจิตของคนจะมุ่งไปในการได้การเอาอย่างแรงโดยไม่รู้ตัว เราจึงจะต้องเน้นการสร้างดุลยภาพด้วยการให้การศึกษาที่ทำให้มนุษย์รู้จักการให้

จะเห็นได้ว่า ธรรมชาติแวดล้อมที่ปรากฏอยู่ทั่วไป เช่น ต้นไม้ ต้นหญ้า มันได้ปุ๋ย ได้ดิน ได้น้ำ ได้อากาศ มาบำรุงตัวของมันให้งอกงาม แต่ขณะเดียวกันมันก็ให้ตลอดเวลาด้วย มันให้ความชุ่มฉ่ำหรือชุ่มชื้น มันช่วยรักษาดิน รักษาน้ำ รักษาอากาศ ต้นไม้ใหญ่ก็ให้แก่ต้นไม้เล็ก ต้นไม้เล็กก็ให้แก่ต้นไม้ใหญ่ สัตว์ก็ให้แก่พืช พืชก็ให้แก่สัตว์ มันจึงอยู่ได้ ชีวิตที่งอกงามอยู่ในธรรมชาติมี "การได้" คู่กับ "การให้" ตลอดเวลา เมื่อมนุษย์ให้ก็คือการปฏิบัติที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติอย่างถูกต้อง เราจะต้องไม่ยอมตกเป็นทาสของระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเอาแต่ "ได้" อย่างเดียว

การศึกษามีวิธีการหลายอย่างที่จะช่วยให้มนุษย์พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขขึ้นมาสมดุลกับความสามารถที่จะแสวงหาสิ่งเสพบำเรอความสุข การ"ฝึกให้"เป็นวิธีการเบื้องต้น อย่างหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขขึ้นภายในตัวคนอย่างเป็นอิสระ โดยไม่ต้องขึ้นต่อการเสพวัตถุ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.