อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การพัฒนาอุตสาหกรรม: ความคับแคบของความคิดในการพัฒนา

อนึ่ง การพัฒนาประเทศของเราเท่าที่ผ่านมานี้ มีความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง คือ การที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมตามอย่างประเทศตะวันตก ทีนี้ ในเมื่อเราเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมด้วยวิธีตามอย่างความเจริญ แบบคอยรับเอาผลผลิตของความเจริญจากประเทศเหล่านั้น มาสนองค่านิยมบริโภคของเรา มันก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่อาจจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมได้ นี้ก็เป็นปัญหาหนึ่ง ครั้นมาถึงปัจจุบัน ก็ได้มีการพยายามใหม่ที่จะให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม วิธีใหม่ดูเหมือนว่าจะเป็นการชักชวน และเปิดทางให้นายทุนต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เหมือนกับว่า เมื่อเราทำกันเองไม่ไหว ก็ให้คนอื่นมาทำให้ การให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็เป็นความหวังว่า เราอาจจะมีความเจริญในทางอุตสาหกรรมได้ แรงจูงใจที่จะให้พวกต่างประเทศเข้ามาลงทุนนั้น ก็เช่นว่า ที่ดินของเราราคาถูก เรามีแหล่งวัตถุดิบ มีทรัพยากรราคาถูก และที่สำคัญมากก็คงจะเป็นว่า แรงงานราคาถูก แต่การที่เราจะให้ประเทศเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมด้วยวิธีพึ่งพาคนต่างประเทศ โดยที่ตัวเราเองไม่พร้อมนั้น จะมีปัญหาอย่างไร การที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมได้หรือไม่ ก็ต้องดูว่าคนไทยเรานี้ มีความพร้อมในด้านวิถีชีวิตและลักษณะจิตใจ ที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหรือไม่ เพราะว่า ในการที่สังคมจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมได้

  1. คนจะต้องมีลักษณะจิตใจและค่านิยมแบบอุตสาหกรรมด้วย
  2. ต้องมีความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นฐานที่มั่นคงรองรับอีกด้วย

ในแง่ที่ ๑ ลักษณะจิตใจและค่านิยมแบบอุตสาหกรรม ก็คือ ค่านิยมเป็นผู้ผลิต ผู้สร้าง ผู้ทำ ซึ่งเราจะต้องดูประเทศที่พัฒนาระบบอุตสาหกรรมของตัวเองขึ้นมา ว่าเขาพัฒนามาได้อย่างไร คือ ต้องถอยหลังไปดูเมื่อหลายๆ สิบปีมาแล้ว เมื่อเขาเริ่มยุคอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งเราจะเห็นว่าเขามีลักษณะจิตใจแบบอุตสาหกรรม ที่เรียกกันว่าวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งมีหลักจริยธรรมว่า งานและความสัมฤทธิ์ผลของงานเป็นเป้าหมายหลัก คนจะต้องบังคับควบคุมตนเอง ไม่ยอมตามใจกิเลส ไม่ยอมตามใจความอยากต่างๆ ไม่ยอมแสวงหาความสุขสำราญ แต่ต้องตั้งใจทำงานให้มากที่สุด เมื่อได้ผลจากการทำงานแล้วก็เก็บออมไว้ เพื่อเอาผลที่ได้จากการเก็บออมนั้นมาใช้ในการลงทุนต่อไป การพัฒนาอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินมาโดยมีวัฒนธรรมในการทำงาน เช่น มีจิตใจรักงาน สู้งาน รับผิดชอบ ขยันขันแข็ง อดทน และอดออม เป็นต้นด้วย ถ้าคนในสังคมไทยมีลักษณะที่เด่นด้วยค่านิยมบริโภค ชอบอวดโก้ หรูหรา ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ก็ขัดแย้งอยู่ในตัว กับการที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ฝรั่งเริ่มสร้างยุคอุตสาหกรรมด้วยจริยธรรมแห่งความขยันทำงาน ประสานกับความสันโดษอดออม แต่ไทยเราจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมด้วยการกระตุ้นเร้าให้ใฝ่หาสิ่งบำรุงบำเรอ ความฟุ้งเฟ้อ สุขสำราญ เราเห็นสันโดษเป็นศัตรูของการพัฒนา แทนที่จะปรับความเข้าใจความหมายและใช้สันโดษให้ถูกต้องเป็นประโยชน์ เรากลับชวนกันขับไล่สันโดษออกไป แล้วหันมาส่งเสริมการบริโภค ชวนกันต้อนรับสินค้าฟุ่มเฟือยที่คนอื่นผลิตสำเร็จแล้วส่งเข้ามา เมื่อพัฒนาไปๆ ผลปรากฏในปัจจุบันก็คือ ชาวนากู้ยืมเงินจากแหล่งทุนส่งเสริมการเกษตร ไม่ใช่เพื่อเอาไปเป็นทุนทำนาหรือแก้ปัญหาชีวิตและการงาน แต่เพื่อเอาไปซื้อทีวี มอเตอร์ไซค์ อย่างที่เรียกว่า พาญี่ปุ่นเข้าบ้าน และจัดงานสนุกสนานบันเทิง ที่พาให้จมลงในหนี้สินยิ่งขึ้นไป ถ้าทำนาได้ผล นอกจากซื้อสินค้าโก้หรูหราฟุ่มเฟือยแล้ว ก็หมกมุ่นมัวเมากับเหล้าและการพนัน อย่างนี้ก็เป็นลักษณะที่ไม่ประสานกลมกลืนอีกอย่างหนึ่ง

ในแง่ของความเจริญทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นฐานปัจจุบันนี้เราก็มีความเจริญอยู่บ้าง แต่ก็ไม่อยู่ในระดับที่พอเพียงสำหรับความก้าวหน้าในอุตสาหกรรม บางทีเป็นเพียงเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเท่านั้น เราก็เข้าใจกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์ คนไทยเราจำนวนไม่น้อยเก่งในด้านปฏิบัติการเกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่นั่นก็ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ ยิ่งกว่านั้น พร้อมกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่บ้างนั้น ก็ปรากฏว่า สังคมไทยในปัจจุบันมีไสยศาสตร์ระบาดมากด้วย ไสยศาสตร์ขณะนี้รู้สึกว่าจะเจริญมากในสังคมไทย เจริญแพร่หลายยิ่งกว่าสมัยก่อนเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ทั้งที่บอกว่าสังคมไทยพัฒนาไปมาก แต่ไสยศาสตร์ก็กลับเจริญเฟื่องฟูมากด้วย และดูเหมือนว่า ในถิ่นที่เจริญทันสมัย ไสยศาสตร์ยิ่งระบาดแพร่หลายมาก จนกลายเป็นว่า คนในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ หลงใหลหวังพึ่งไสยศาสตร์ยิ่งกว่าชาวบ้านในชนบท ในการพัฒนา สภาพอย่างนี้ก็จะขัดกัน เราอาจจะหวังว่า เมื่อต่างประเทศเป็นนายทุนเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในไทยแล้ว คนไทยไปทำงานกับเขาก็จะได้ตามอย่างเขา ก็จะพัฒนาลักษณะนิสัยแบบอุตสาหกรรมขึ้นมาได้กระมัง อันนี้เป็นเพียงความหวัง แต่เรื่องที่น่าจะต้องคิดน่าจะต้องพิจารณาก็คือ การพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืนที่เป็นมาแล้ว ได้ทำให้เกิดปัญหาอะไร แล้วการพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืนต่อไปอีก จะเพิ่มอะไรขึ้นมา เป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา เป็นคุณหรือเป็นโทษอย่างไร

เอาเป็นว่า ประเทศไทยที่พัฒนากันมานี้ เราก็พยายามที่จะก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม แต่ในขณะที่ประเทศเราคิดจะก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาก็กำลังจะผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม ดังที่กำลังมีการพูดกันมากว่า เลยจากยุคอุตสาหกรรมไปจะเป็นยุคอะไร บางคนก็เรียกว่ายุคอินฟอร์เมชั่น คือยุคข่าวสารข้อมูล บางคนก็เรียกง่ายๆ ว่ายุคหลังอุตสาหกรรม หรือยุคโพสต์อินดัสเตรียล เขาถือว่าตอนนี้ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกาได้เข้าสู่ยุคใหม่ เลยยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว ในขณะที่เขาจะเลยยุคอุตสาหกรรมกันไปแล้ว เรากลับเพิ่งจะเข้ามาสู่ยุคอุตสาหกรรม แล้วก็ยังมีปัญหาด้วยซ้ำว่าจะเข้าได้สำเร็จหรือไม่

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาสำคัญของเราที่ไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนประเทศเหล่านั้นเลย ก็คือ ประเทศไทยเรานี้เป็นประเทศที่อยู่ในยุคทุกยุคพร้อมกันหมด ประเทศต่างๆ ที่เขาเจริญมา จนเป็นประเทศพัฒนาแล้วนั้น แต่ก่อนเขาก็เคยอยู่ในยุคเกษตรกรรม เขาพัฒนาตัวเองผ่านพ้นยุคเกษตรกรรมมา เสร็จแล้วเขาก็เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม และเจริญมาจนกระทั่งเวลานี้ เขาก็กำลังจะออกจากยุคอุตสาหกรรมไป เขาเจริญมาเป็นขั้นๆ แต่ของไทยเรามีทุกยุคพร้อมกันในเวลาเดียว ขอให้ลองเทียบดู ประเทศอเมริกาเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาผ่านพ้นอุตสาหกรรม ปัจจุบันเขามีคนทำงานในภาคเกษตรกรรมไม่ถึง ๓% แต่ประเทศไทยคนอยู่ในภาคเกษตรกรรมประมาณ ๗๐%-๘๐% ประเทศอเมริกามาถึงตอนนี้ เพราะเขาจะผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไป คนงานในภาคอุตสาหกรรมเหลือประมาณ ๑๒% แล้วคนงานก็มาเพิ่มขึ้นในภาคข่าวสารข้อมูลเป็นประมาณ ๖๕% แต่ในสังคมไทยของเรานี้ คนส่วนมากยังอยู่ในยุคเกษตรกรรม แต่พร้อมกันนั้น เราก็ได้รับผลจากยุคอุตสาหกรรมด้วย และเราก็กำลังจะก้าวเข้าถึงความเจริญในยุคข่าวสารข้อมูลกับเขาด้วย เรามีคอมพิวเตอร์ มีทีวี มีวีดีโอ มีการสื่อสารด้วยดาวเทียม เขามีอะไรเราก็มีกับเขาเหมือนกัน เรามีหมดพร้อมกัน ๓ ยุคเลย เป็นยุคไหนก็ไม่ได้สักยุค แต่เป็นพร้อมกันทั้ง ๓ ยุคเลย สำหรับประเทศอย่างนี้ ย่อมมีลักษณะปัญหาของตนเองโดยเฉพาะ ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้น คนที่จะแก้ปัญหาของประเทศอย่างนี้ จะต้องแก้ปัญหาในแบบของตัวเอง จะเอาแบบของใครไม่ได้ แต่ในแง่หนึ่งก็น่าภูมิใจ คนที่แก้ปัญหาของสังคมแบบนี้ได้ต้องถือว่าเป็นคนที่เก่งที่สุด คนที่แก้ปัญหาในสังคมที่มีแบบเดียวได้ก็ยังไม่เก่งเท่าไร เพราะปัญหาไม่ซับซ้อนมากนัก

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.