อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สภาพการศึกษา: ดัชนีชี้ชัดของปัญหาการพัฒนา

ที่ว่าทางฝ่ายรัฐไม่รู้กิจการทางฝ่ายวัดนั้น เป็นไปอย่างหนักถึงขั้นที่ว่า รัฐไม่รู้แม้แต่กิจการในความรับผิดชอบของตัวเองที่ไปตกอยู่ในมือของวัด อะไรคือกิจการบางอย่างของรัฐที่ไปตกอยู่ในมือของวัด ก็ขอยกเรื่องการศึกษาอีกนั่นแหละ เมื่อกี้นี้ได้พูดว่า เมื่อรัฐได้รับโอนการศึกษาจากวัดมาจัดเองแล้ว ก็ปรากฏว่า ถึงแม้เวลาจะผ่านไปๆ หลายสิบปี รัฐก็ยังไม่สามารถกระจายการศึกษาสำหรับมวลชนให้ทั่วถึงได้ รัฐได้ตั้งเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญว่า จะต้องกระจายการศึกษาออกไปให้ทั่วถึงทุกชุมชน ให้ประชาชนมีความเสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษา แต่ทำไปทำมานานก็ยังไม่สำเร็จ กลายเป็นว่า โดยมากคนในเมืองในกรุงและคนมีฐานะดีจึงจะเข้าถึงการศึกษาของรัฐ แต่คนที่อยู่ในชนบทเป็นลูกชาวนาชาวไร่ ยากจนห่างไกล ก็เข้าไม่ถึง ในเมื่อชาวชนบท ลูกชาวนายากจนเข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐไม่ได้ จะทำอย่างไร เมื่ออยากเรียน ก็ต้องหาทางอย่างใดอย่างหนึ่ง พอดีมีประเพณีเก่าที่ว่าวัดเคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของชุมชนอยู่แล้ว ชาวบ้านก็เลยเอาลูกไปฝากพระ ให้ไปอยู่วัด บวชเณรบวชพระ เรียนหนังสือ เพราะเหตุที่เมืองไทยเมื่อพัฒนามา คนก็มีค่านิยมในการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือหรือช่องทางเลื่อนสถานภาพในทางสังคมเข้าด้วย ชาวบ้านก็เลยอยากจะเลื่อนสถานะในสังคมเหมือนกัน เมื่อไม่มีทางไหน จะอาศัยการศึกษาของรัฐก็ไม่ได้ ก็เลยมาอาศัยการศึกษาของวัด พอเวลาผ่านไปๆ วัดก็เลยกลายเป็นช่องทางการศึกษา และช่องทางเลื่อนสถานภาพทางสังคมของพลเมืองผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะชาวนาชาวไร่ยากจนในชนบทห่างไกล จนปรากฏผลในปัจจุบันนี้ว่า วัดในเมืองในกรุงกลายเป็นชุมชนชนบทกลางกรุง ลองไปตามดูเถิด ในกรุงเทพฯนี้ พระประจำวัดราว ๙๗% เป็นชาวชนบท ที่จะเป็นชาวกรุงก็เฉพาะพระที่ลางานลาราชการไปบวช ๑-๒-๓ เดือน ตลอดจน ๑-๒ อาทิตย์ แต่พระอยู่ประจำวัดจริงๆ ที่ว่า ๙๗% นั้น นอกจากเป็นชาวชนบทแล้ว ก็เป็นลูกชาวไร่ชาวนาเป็นส่วนใหญ่ รัฐไม่รู้ว่ามีสภาพเช่นนี้อยู่ ก็เลยไม่ได้เอาใจใส่องค์ประกอบส่วนนี้ของสังคมในแง่ของการศึกษา อันนี้ก็เป็นโทษอย่างหนึ่งของการพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืน เมื่อมองในทางการศึกษานี้ก็เป็นอันว่า การพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืน ได้ทำให้เกิดภาวะไม่เสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษา โดยที่โอกาสในการศึกษาที่จะได้รับจากรัฐนั้น ขึ้นอยู่กับการอยู่ในกรุงในเมืองในตลาดและการมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ถ้าอยู่ในถิ่นห่างไกลยากจนก็หมดโอกาส ต้องไปหาวัด จนทำให้วัดกลายเป็นสถาบันที่ผ่อนเบาปัญหาความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษาของรัฐ ชนิดที่รัฐไม่รับรู้ไม่เอาใจใส่ เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ และพร้อมกันนั้น วัดก็มีสภาพเป็นเพียงทางผ่านทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นธรรมดาที่ว่า แม้จะได้ทำประโยชน์แก่สังคม แต่ตัวเองก็จะต้องเสื่อมโทรมลงไป

สภาพที่พูดถึงข้างต้นนี้ มีตัวเลขฟ้องอยู่อย่างชัดเจน ทางด้านการศึกษาของรัฐ ก็เหมือนกับที่ได้ยกตัวอย่างเมื่อกี้นี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยมีการสำรวจในปีหนึ่ง ดูว่ามีชาวชนบทมาเรียนอยู่สักเท่าไร ก็ปรากฏว่า มีลูกชาวนาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ถึง ๖% แล้วยังสำทับไว้อีกชั้นหนึ่งว่า ชาวไร่ชาวนาไม่ถึง ๖% ที่ว่านั้นยังเป็นชาวนาชาวไร่ระดับมีอันจะกินด้วย หมายความว่า ชาวไร่ชาวนาระดับจนคงแทบจะไม่มีเลย ทีนี้ ในเมื่อชาวนาที่เป็นคนยากจนเหล่านี้มาหาวัดแล้ว ผลที่สุดเป็นอย่างไร ผลก็มาโผล่ที่การศึกษาของคณะสงฆ์ อย่างที่เห็นได้ชัดเจนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันนี้ เมื่อสำรวจปรากฏว่า พระเณรที่เรียนเป็นชาวชนบท ๙๙% เช่นที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อาตมาเคยสำรวจด้วยมือเองในตึกใหญ่ มีเกิดกรุงเทพฯ องค์เดียวเท่านั้นใน ๖๗๘ รูป และเป็นลูกชาวนาเกิน ๙๕% นี้เป็นตัวอย่างของสภาพการพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืนที่ปรากฏผลให้เห็น แล้วเราก็ยังไม่ค่อยตระหนักถึงปัญหาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เรื่องนี้ได้พูดย้ำแล้วย้ำอีกมาหลายปี เพื่อให้รู้เข้าใจและเอาใจใส่คิดแก้ไขว่า ควรจะจัดการอย่างไรกับปัญหาแบบนี้

ต่อไปในทางการศึกษาอีกนั่นแหละ เมื่อเราเร่งรัดพัฒนาประเทศแบบนั้น เราก็ให้ความสำคัญแก่วิชาชีพชั้นสูงที่เกี่ยวกับการทำประเทศให้ทันสมัย ให้เติบโตในทางเศรษฐกิจ วิชาประเภทนี้ก็รุดหน้าก้าวไปไกล อย่างที่ว่าแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น วิชาการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ การพาณิชย์ อะไรพวกนี้ แต่วิชาการประเภทความคิด คุณธรรม ตลอดจนวัฒนธรรมไทย ภูมิธรรมภูมิปัญญาไทย ก็ถูกปล่อยปละละเลย หรือให้ความเอาใจใส่น้อย ดังปรากฏว่า วิชาการประเภทความคิดและคุณธรรม เพิ่งจะมาเริ่มมีการจัดสอนในมหาวิทยาลัยไทยในภายหลัง ต่างจากในประเทศตะวันตก วิชาประเภทศาสนาและปรัชญานี่เขามีมาแต่เดิม เมื่อเขาตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาก็มีคณะพวกนี้แต่ต้น บางทีนักบวชหรือบาทหลวงก็อาจจะเป็นผู้จัดเริ่มการศึกษาขึ้นมา แล้วจึงมีวิชาการประเภทอื่น แต่ในเมืองไทยเรา เพราะจะต้องเร่งรัดพัฒนาวัตถุ เราจึงเริ่มต้นด้วยการจัดสอนวิชาการที่จะทำประเทศให้ทันสมัยก่อน จัดกันมาตั้งเกือบ ๑๐๐ ปี เราจึงเริ่มมีวิชาศาสนาปรัชญาขึ้นในมหาวิทยาลัยไทย โดยเพิ่งจัดเข้าในหลักสูตรได้สัก ๒๐ กว่าปีนี้เอง ฉะนั้น ที่ผ่านมา เราจึงให้ความสำคัญแก่วิชาทางความคิดน้อย ยิ่งกว่านั้น ถึงแม้จัดขึ้นมาก็แคบอีก คำว่าปรัชญามักหมายถึงปรัชญาตะวันตก ปรัชญาพื้นฐานที่ศึกษากัน ก็คือความคิดแบบตะวันตก ไม่ให้ความสำคัญแก่ความคิดแบบไทย ปรัชญาตะวันออกก็ไปเป็นส่วนประกอบ โดยอาจจะเป็นวิชาเลือกภายหลัง

ต่อไปในระดับชุมชน สถานศึกษาปัจจุบันเราเรียกว่าโรงเรียน โรงเรียนนี้ก็ได้เจริญล้ำหน้า แยกตัวออกมาจากสถาบันอื่นที่เป็นองค์ประกอบของชุมชนเดียวกัน ในชุมชนชนบททั่วไปนั้น โดยปกติ เราถือว่า มีโรงเรียน บ้าน วัด เป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ในการเร่งรัดพัฒนานี้ โรงเรียนก็เจริญล้ำหน้าสถาบันครอบครัวหรือบ้านและสถาบันวัด แล้วก็เหินห่างกันออกไป เหินห่างจากวัฒนธรรมพื้นบ้าน โรงเรียนในชนบทแม้จะตั้งอยู่ในวัด ก็มักเรียนเนื้อหาวิชาที่ไม่เกี่ยวกับชุมชน หรือเรื่องที่จะใช้ประโยชน์ในชุมชน ตัวนักเรียนเองและชุมชนในโรงเรียนนั้น ก็มีชีวิตและกิจกรรมทางสังคมคนละแบบกับวัดและชุมชนของตนเอง ซึ่งเป็นสภาพที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เมื่อเป็นอย่างนี้ เด็กนักเรียนซึ่งก็หมายถึงนักศึกษาด้วย เมื่อเข้าเรียนในโรงเรียนหรือระบบการศึกษาสมัยใหม่ นับแต่วันที่เข้าเรียนเป็นต้นไป ก็ยิ่งห่างเหินและแปลกแยกออกไปจากวิถีชีวิตของท้องถิ่นทุกที ยิ่งเรียนนานไปนานไปก็ยิ่งเหินห่างออกไป เข้ากับชุมชนไม่ค่อยได้ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตามุ่งออกจากท้องถิ่นไป ยิ่งเรามีการศึกษาในความหมายว่าเป็นเครื่องมือ หรือเป็นช่องทางเลื่อนสถานภาพในสังคมด้วย เราก็เลยมีวิถีทางเดินของการศึกษาว่า เด็กนักเรียนเรียนแล้ว ต้องออกจากท้องถิ่นไปเข้าเมืองเข้ากรุง ออกไปหาความเจริญก้าวหน้าในระบบราชการและระบบอุตสาหกรรมในเมือง เมื่อเวลาผ่านไป คนที่มีคุณภาพก็มาออมาคั่งกันอยู่ในกรุง ส่วนชนบทก็สูญเสียทรัพยากรคน เมื่อสูญเสียทรัพยากรคน ชุมชน ชนบทก็ยิ่งเสื่อมโทรมทรุดลงไปมากขึ้น นี่คือสภาพที่เป็นมาช้านาน

ถึงบัดนี้ก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาว่า คนที่เข้ามาเรียนในระบบการศึกษาสมัยใหม่ ที่มุ่งเข้าเมืองเข้ากรุงมาสู่ระบบราชการและระบบอุตสาหกรรมนั้น ต่อมาก็จบการเล่าเรียนกันเป็นจำนวนมากขึ้นๆ จนเกิดภาวะคนล้นงาน พอเกิดภาวะคนล้นงาน เราก็เลยประสบปัญหาบัณฑิตว่างงานกันมากมาย ทีนี้บัณฑิตเหล่านี้ออกจากชนบทมาแล้ว และการศึกษาก็ได้ทำให้เขามีวิถีชีวิตแบบเมือง แบบกรุง แบบสมัยใหม่ เข้ากับชุมชนท้องถิ่นไม่ได้ แต่ในเมืองที่เขาต้องการเข้าสู่ระบบราชการ และระบบอุตสาหกรรม ก็เข้าไม่ได้อีก เพราะล้นเสียแล้ว ตัวเองจะอยู่ในกรุงก็เป็นคนว่างงาน มีปัญหามาก ครั้นจะกลับไปชนบทก็ขัดข้อง เข้ากับท้องถิ่นไม่ได้ และไม่รู้จะไปทำอะไรในท้องถิ่น เพราะไม่ได้เตรียมตัวที่จะทำงานในท้องถิ่น ก็เลยสูญเสียทั้ง ๒ ทาง อยู่ในชนบทก็ไม่ได้ อยู่ในเมืองก็หมดทางไป กลายเป็นปัญหาไปหมด อันนี้ก็เป็นเรื่องที่กำลังเกิดเป็นปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืน

ในแง่ของค่านิยมและพฤติกรรมของคนในสังคม คนก็แข่งขันกันเพื่อความเจริญก้าวหน้าในทางวัตถุ ให้มีฐานะ มียศตำแหน่ง มีความพรั่งพร้อมทางวัตถุ มีรายได้ดี เมื่อเน้นการพัฒนาวัตถุมาก การพัฒนาทางจิตใจก็ตามไม่ทัน ทำให้เกิดปัญหาว่า คนเรานี้มุ่งเอาแต่เกียรติฐานะและทรัพย์สิน จนกระทั่งไม่คำนึงถึงคุณธรรมหรือจริยธรรม การให้เกียรติคนแทนที่จะให้ทางคุณธรรม ก็เปลี่ยนมาเป็นการให้เกียรติทางฐานะ ตำแหน่ง ยศ และทรัพย์สินรายได้

ต่อไปคือสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วๆ ไปในทางเศรษฐกิจก็ปรากฏว่า ชนส่วนน้อยที่รวยก็รวยยิ่งขึ้น คนส่วนมากที่ยากจนก็ยิ่งจนลง ฐานะก็ห่างจากกัน ช่องว่างทางเศรษฐกิจก็กว้างออกไปทุกที อันนี้ก็เป็นปัญหาด้านหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.