อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทางเลือกในการพัฒนา หรือทางเลือกออกจากการพัฒนา

ที่ว่ามานี้คือสภาพของสังคมไทย เราจะต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ ในแง่หนึ่ง การที่เราจะตามเขาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ในขณะที่เขากำลังพ้นยุคอุตสาหกรรม ก็หมายความว่า เราคงจะต้องตามเขาในอดีตเมื่อหลายสิบปีล่วงแล้วไปอีกนาน กว่าจะตามเขาทันในสมัยปัจจุบัน ประการต่อไป ในการตามเขานั้น ส่วนมากเราพยายามมีให้เหมือนเขา โดยไม่คำนึงถึงการที่จะทำให้มีด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้เป็นนักบริโภค ไม่เป็นนักผลิต และทำให้มีลักษณะพึ่งพา ขึ้นต่อผู้อื่น พึ่งตัวเองไม่ได้ นอกจากจะต้องตามเขาเรื่อยไป ไม่มีทางเลื่อนตัวขึ้นไปเป็นผู้นำแล้ว ก็ยังจะยากจนลงด้วยหนี้สินเป็นต้นด้วย ถึงแม้ในบางเรื่องเราจะพยายามทำให้เหมือนเขา เราก็มักทำให้เหมือนเขาเพียงเท่าที่เรามองเห็น คือทำตามเฉพาะส่วนที่ปรากฏชัดออกมาภายนอก จึงมีปัญหาที่เป็นข้อสำคัญว่า เราเห็นเขาแค่ไหน ถ้าเราไม่มองเห็นเขาลึกลงไปถึงเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังภาพที่มองเห็น และไม่ใส่ใจที่จะศึกษาให้เห็น นอกจากการตามนั้นจะเป็นการตามเรื่อยไปแล้ว ก็จะเป็นการตามที่ได้โทษมากกว่าได้คุณ แล้วทีนี้อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ในเมื่อประเทศต่างๆ ที่เขากำลังผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม เขาเคยเป็นประเทศอุตสาหกรรมมาแล้ว เขามีปัญหาอะไรบ้างในการพัฒนาแบบอุตสาหกรรม เมื่อเราจะก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เราได้เรียนรู้ปัญหาของเขาไหม เราเอาบทเรียนจากเขามาใช้ประโยชน์หรือเปล่า หรือเพียงแต่ว่าจะเดินเรื่อยเปื่อยไปตามวิถีทางที่เคยชินหรือตามที่เขาขีดเส้นให้เดินด้วยซ้ำไป ข้อคิดต่อไป ก็คือ ในขณะที่เขาจะก้าวข้ามพ้นยุคอุตสาหกรรมไปเป็นยุคข่าวสารข้อมูล หรือยุคอะไรก็ตาม ถ้ายุคนั้นมันดี เรามีทางไหมที่จะก้าวข้ามขั้นไปสู่ยุคที่สามนั้นเลย ไม่ต้องไปมัวผ่านยุคอุตสาหกรรมกันอีก นี่ก็เป็นข้อคิดในแง่ต่างๆ แต่ลักษณะทั่วไป ก็คือ ประเทศพัฒนาแล้ว ที่เขาเจริญมาตามลำดับนั้น เขามีความเจริญที่เกิดขึ้นในเนื้อตัวของเขาเอง เขาทำแล้วเขาก็ได้รับผลที่เกิดจากประสบการณ์ เป็นความชำนาญความสามารถในตัวของเขาเอง แต่สังคมไทยเราเข้าถึงความเจริญเหล่านั้นในลักษณะที่เหมือนไปรับเอาเครื่องเคราอะไรจากคนอื่นเขา เอามาปะพอกหุ้มห่อตัว ครั้นถึงปัจจุบัน สภาพของการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมนี้ก็จะเป็นแบบรับเอาของใช้ที่ผู้อื่นเขาโยนมาให้อีก แล้วที่ร้ายมากก็คือ จะเป็นของที่เขาเลิกใช้เสียด้วย เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ก็จึงมีสิ่งที่น่าจะถามว่า

๑. เราควรจะยอมเป็นเพียงโรงเก็บของที่เขาเอาของเลิกใช้มาฝากเก็บไว้ เพื่อเขาจะได้ใช้ที่ของเขาทำงานอื่นต่อไปเท่านั้นหรือ หมายความว่า ตอนนี้เขาต้องการใช้ที่ของเขาทำงานอื่นแล้ว เขาก็จะเอาสิ่งที่เขาเลิกใช้แต่เขายังต้องการประโยชน์บางอย่าง เอามาปะมาพะให้เรา เอาที่ของเราใช้ไป เขาจะได้มีที่ว่าง คนงานของเขาจะได้ว่างจากงานนี้ไปทำงานอื่นที่ถือว่าเจริญก้าวหน้ากว่า คนของเราก็ทำงานนี้ไป โดยใช้ที่ของเราและแรงงานของเราผลิตของบางอย่าง ที่เขายังต้องใช้ แต่ไม่ต้องการเสียแรงงานแล้ว ส่งไปให้แก่เขา และที่ร้ายยิ่งก็คือ เป็นการเอาอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษออกจากบ้านเมืองของเขา มาปล่อยให้บ้านเมืองและประชาชนของเราต่อสู้และผจญปัญหาแทนเขาต่อไป

๒. เราควรจะมีวิธีการพัฒนาที่เป็นแบบของเราเองที่เหมาะกับตัวเอง โดยไม่ต้องเดินผ่านตามขั้นตอนอย่างเขาหรือไม่ อย่างที่ว่าเมื่อกี้

๓. เราควรจะพัฒนาตนเองอย่างรู้เท่าทัน โดยได้รับประโยชน์จากบทเรียนในการพัฒนาของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยไม่ต้องไปเดินซ้ำรอย และประสบผลเสียที่เป็นโทษ ที่เขาเคยได้ประสบมาแล้วหรือไม่

พูดอีกอย่างหนึ่ง การพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมามีลักษณะสำคัญ ๒ อย่าง คือ

๑. เป็นการตามอย่างประเทศตะวันตกในแบบที่เราเอาวัฒนธรรมต่างด้าวภายนอก มาสวมทับลงบนวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ใช่เป็นการพัฒนาในเนื้อตัวอย่างแท้จริง จึงไม่กลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว สภาพเช่นนี้แม้แต่พวกคนในประเทศพัฒนาแล้ว เขาก็สังเกตเห็นและว่าอย่างนั้น เขาเรียกว่าเป็น superimposition of an alien culture on the existing one แสดงว่าการพัฒนาอย่างที่ทำกันอยู่นี้ แม้แต่พวกพัฒนาแล้วที่เราพยายามตามอย่างนั่นเอง เขาก็ยังเห็นว่าไม่ดี และมองเราแบบที่ว่ามานั้น

๒. เป็นการเจริญเติบโตอย่างไม่ประสานกลมกลืนกัน ขององค์ประกอบทั้งหลายของสังคมไทย

เป็นอันว่า ตอนนี้ปัญหาของเราก็คือเรื่องที่ค้างเก่ามานั่นแหละ ในการแก้ปัญหาก็ต้องหันกลับไปจัดสรรองค์ประกอบต่างๆ ของสังคมไทย ให้ประสานกลมกลืนกันในลักษณะที่สมดุลและสืบทอดต่อเนื่อง เป็นการกำจัดปัญหาเก่าที่ทิ้งอยู่ แล้วทำให้เจริญจากรากฐานของตนเองต่อไป พร้อมกันนั้นก็ถือเอาประโยชน์จากความรู้เท่าทันวิถีแห่งอารยธรรมของประเทศตะวันตก หรือประโยชน์จากการรู้เท่าทันอารยธรรมของโลก มาใช้ในการพัฒนาสังคมของเราด้วย หมายความว่า เท่าที่ว่ามานี้เป็นการพูดเฉพาะเรื่องของสังคมไทย ให้เห็นว่าสังคมไทยของเรานี้มีปัญหาเฉพาะของตนเองอยู่ คือ การพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืน ซึ่งจะต้องแก้ไข ดังนั้น การจัดสรรองค์ประกอบต่างๆ ของสังคมให้ประสานกลมกลืนกัน ที่พูดว่าจะต้องทำนี้ จึงเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง หรือเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมในขอบเขตหนึ่ง เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการที่จะเข้าถึงชีวิตและสังคมที่ดีงามต่อไป แต่เรื่องไม่จบแค่นี้ เราไม่ควรจะหยุดอยู่แค่นี้ พร้อมกับการแก้ปัญหาติดค้างเฉพาะตัว ด้วยการจัดสรรองค์ประกอบต่างๆ ของสังคมให้กลมกลืนเข้าด้วยกันนั้น เราจะต้องพิจารณาต่อไปว่า สังคมของเรา เมื่อพร้อมแล้ว จะเข้าสู่วิถีชีวิตและความเป็นสังคมที่ดีงามต่อไปอย่างไร อะไรคือชีวิตและสังคมที่ดีงาม อันนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาไม่เฉพาะแก่สังคมไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาแก่ทุกประเทศ ประเทศทุกแบบ ทั้งที่พัฒนาแล้วและยังไม่พัฒนาทั้งหมด ต่างก็ยังมีปัญหานี้ว่า ชีวิตและสังคมที่ดีงามคืออย่างไร อารยธรรมดีงามที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไร สังคมไทยควรจะมีอารยธรรมอะไรที่ดีที่สุด

เป็นอันว่า เราได้พัฒนาประเทศกันมาตั้งนาน แต่ก็ยังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ที่เรียกว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนานั้นก็เป็นศัพท์ที่สุภาพ ความจริงเขาต้องการบอกว่า เป็นประเทศที่ยังไม่พัฒนา และเมื่อพัฒนาก็เป็นการพัฒนาตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ทีนี้ในการตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไปว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว ดีอย่างไร ถ้าเราจะพัฒนาตามเขา เราก็ต้องเห็นว่าเขาดีแล้ว เราจึงจะตามอย่าง แต่เราศึกษาชัดเจนพอหรือยังว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นดีอย่างไร สภาพที่เรียกว่าพัฒนาแล้วนั้นดีจริงหรือไม่ เราควรจะคอยถามตัวเองและไตร่ตรองพิจารณากันให้เพียงพอว่า มันน่าเอาหรือน่าเป็นหรือไม่ ในแง่ไหนๆ เพราะฉะนั้น ก็เลยต้องมาดูกันในเรื่องต่อไป คือ การพัฒนาที่ทำกันอยู่ จนกระทั่งบางประเทศได้ชื่อว่าพัฒนาแล้วนั้นเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี มีคุณมีโทษอย่างไร เป็นการขยายขอบเขตของการพิจารณาออกไป เป็นอันว่า ปัญหาเฉพาะของสังคมไทย จบไปเป็นตอนที่หนึ่ง ต่อไปนี้ ก็มาดูการพัฒนาทั่วไปในโลก โดยเอาประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นแบบ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.