ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ฝรั่งว่าอย่างไร ก็ฟังให้รู้ไว้
แต่ต้องวิเคราะห์วิจัยให้เลยจากที่ฝรั่งติดตันออกไป

ชาวตะวันตกโดยเฉพาะคนอเมริกันถือว่า ระบบแข่งขันเป็นพลังยิ่งใหญ่ที่สร้างความสำเร็จให้กับสังคมของเขา หมายความว่าเขาถือลัทธิปัจเจกชนนิยม ที่เน้นการหาผลประโยชน์ส่วนตัว โดยถือว่าเมื่อแต่ละคนพยายามพากเพียรหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองให้มากแล้ว โดยส่วนรวมสังคมก็จะเจริญเอง แต่นี่เป็นผลข้างปลาย เราจะต้องมองลึกลงไปว่าเหตุปัจจัยอะไรที่อยู่เบื้องหลังความเจริญของชาวตะวันตก ซึ่งแฝงลึกอยู่ในภูมิหลังตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นร้อยๆ ปี ภูมิหลังนี้จะเห็นได้ในวัฒนธรรมที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่น วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม อันนี้ต่างหากที่เป็นพลังพื้นฐานอันแท้จริง

จะเห็นว่าชาวตะวันตก โดยเฉพาะคนอเมริกันนั้น มีความภูมิใจในจริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic) ซึ่งหมายถึงความขยันขันแข็งเพียรพยายามสู้ความยากลำบาก มุ่งหน้าทำงาน ทั้งอดทั้งออม ไม่ท้อถอย อันนี้ต่างหากที่เป็นแกนขับดันให้ลัทธิผลประโยชน์เป็นไปในทางที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าได้ ถ้าไม่มีภูมิหลังอันนี้ที่ลึกซึ้งซ้อนอยู่ชาวตะวันตกก็ไปไม่รอด เพราะลัทธิมุ่งผลประโยชน์ระบบตัวใครตัวมันแข่งขันกันนี้ ถ้าขาดภูมิหลังดังกล่าวมาเป็นฐานให้แล้ว ก็จะมีแต่การหาทางเอาเปรียบกัน

ปัจจุบันนี้สังคมตะวันตกก็กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เสียงบ่นว่ากันเองหนาหูว่า จริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic) ของคนอเมริกันเสื่อมหาย คนรุ่นใหม่สำรวยเห็นแก่ความสะดวกสบาย และอีกด้านหนึ่ง การหาผลประโยชน์ก็เบนไปในทางที่จะเอาให้ง่าย อย่างไม่ซื่อ เช่น เอากฎหมายมาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ โดยหาเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเพื่อนบ้าน ฟ้องแพทย์ที่รักษาพยาบาลผิดพลาด เรียกค่าเสียหายมากๆ เป็นต้น

ปัจจุบันมีชาวตะวันตกบางคนเขียนหนังสือว่าลัทธิปัจเจกชนนิยม (individualism) ที่เขาภูมิใจว่าเป็นตัวสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่สังคมของเขาด้วยการหนุนระบบแข่งขันนั้น ไม่ใช่เป็นวิธีเดียวที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้า เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น จะเห็นว่าลัทธิทุนนิยมแบบอเมริกันกับแบบญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน วิธีทำงานของญี่ปุ่นกับอเมริกันก็ไม่เหมือนกัน ญี่ปุ่นนั้น แทนที่จะเป็นปัจเจกชนนิยม กลับมีความจงรักภักดีต่อส่วนรวม อุทิศตนเพื่อส่วนรวม ร่วมมือกัน ไม่ทอดทิ้งกัน ถ้าใครทอดทิ้งพวกจะถูกประณาม ไม่มีใครรับเข้าทำงานอีก อเมริกันคิดว่าวิธีสร้างความเจริญแบบสังคมของตนนั้นดี แต่เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นก็ชักจะเกิดความไม่แน่ใจขึ้นมา

แท้จริงนั้น สังคมอเมริกันเจริญได้เพราะมีปัจจัยภูมิหลัง คือจริยธรรมในการทำงานดังกล่าวแล้วพ่วงอยู่ ซึ่งทำให้ลัทธิปัจเจกชนนิยมออกผลมาในทางบวก เวลามองเหตุปัจจัย ต้องสืบสาวให้ได้ครบ อย่าตกไปอยู่ใต้ลัทธิเหตุเดียวผลเดียว

ปัจจัยอย่างหนึ่งไปประสานกับปัจจัยตัวหนึ่ง ทำให้เกิดผลบวก แต่ปัจจัยตัวเดียวกันนั้นเองไปประกอบเข้ากับปัจจัยอีกตัวหนึ่ง กลับทำให้เกิดผลลบ เหมือนอย่างในสังคมไทย ถ้าวัฒนธรรมน้ำใจไปพ่วงกับลัทธิหวังพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอก ก็จะทำให้สังคมไทยอ่อนแอ แต่ถ้าวัฒนธรรมน้ำใจนั้นไปประสานกับนิสัยสู้ปัญหา ก็จะทำให้เกิดความสามัคคีร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ความก้าวหน้า ซึ่งจะช่วยให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งขึ้น

ชาวตะวันตกมีแนวคิดหนักไปในทางที่เป็นลัทธิเหตุเดียวผลเดียว คือไปมองว่าผลนี้เกิดจากเหตุนั้น แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นระบบแห่งเหตุปัจจัย คือผลมาจากเหตุพร้อมทั้งปัจจัยต่างๆ ที่พร้อมถึงที่ เช่น ต้นมะม่วงต้นหนึ่งจะงอกงามขึ้นมาได้ ไม่ใช่เกิดจากเมล็ดมะม่วงแต่เพียงอย่างเดียว เมล็ดมะม่วงเป็นเหตุ แต่มีเพียงเมล็ดมะม่วงต้นมะม่วงจะงอกไม่ได้ จะต้องมี ดิน น้ำ ปุ๋ย ออกซิเจน อุณหภูมิที่พอเหมาะ เป็นต้น เมื่อเหตุปัจจัยพรั่งพร้อมแล้วต้นมะม่วงจึงงอกงามขึ้นมาได้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.