ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ผู้นำที่ดี ไม่ใช่ผู้ที่คอยช่วยเหลือเขา
แต่ผู้นำที่ดี คือผู้ที่ทำให้เขาพึ่งตนเองได้

เราชอบพูดชอบแนะนำ หรือแม้แต่เรียกร้องให้คนไทยสามัคคี และร่วมมือร่วมใจกัน แต่คำพูดหรือการเรียกร้องนั้นดูจะเลื่อนลอย ถ้าเราไม่ลงลึกไปถึงการแก้ไขเหตุปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่ใส่ใจที่จะสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน เหตุปัจจัยที่ขัดขวางหรือทำให้คนไทยมองข้ามการที่จะสามัคคีและร่วมมือกันนั้นมีหลายอย่าง แต่เหตุปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลหรือความช่วยเหลือจากภายนอกที่ว่ามานี้

นอกจากแก้ไขกำจัดเหตุปัจจัยฝ่ายที่ขัดขวางความสามัคคีแล้ว ก็ควรสร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้คนต้องร่วมมือร่วมใจสามัคคีกันด้วย ถ้าใช้วิธีของพระพุทธเจ้าก็คือ จะต้องจัดตั้งวิถีชีวิตและระบบความเป็นอยู่แห่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งระบบกิจการที่จะต้องร่วมมือกันทำ

การช่วยเหลือจากนอกชุมชนนั้นทำได้ แต่ต้องเป็นความช่วยเหลือที่ทำให้สังคมแข็งแรง ต้องช่วยอย่างมีเหตุผล ไม่ให้ผิดธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม หลักการ กฎกติกา และความเป็นเหตุเป็นผล ถ้าช่วยไม่สมเหตุสมผล ผิดหลักธรรม หรือล่วงละเมิดกติกาของสังคม ก็ไม่ควรช่วยเหลือ เฉพาะอย่างยิ่งต้องระวังอย่าให้การช่วยหลือมาทำให้เกิดนิสัยหวังพึ่งคอยรอการดลบันดาล เพราะนิสัยหวังพึ่งคอยรอการดลบันดาลจะทำให้เป็นคนอ่อนแอ การช่วยเหลือจะสำเร็จผลด้วยการสร้างความเข้มแข็ง จึงต้องช่วยเพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้ ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนว่าจะช่วยเขาแค่ไหน และเขาจะต้องทำเองเท่าใด ปัจจุบันนี้สังคมไทยไม่มีความชัดเจนในเรื่องการช่วยเหลือ อาจเป็นกันตั้งแต่รัฐบาลจนถึงชาวบ้าน ช่วยกันไปช่วยกันมา กลายเป็นว่าไปสร้างนิสัยให้ชาวบ้านเป็นนักรอคอยความช่วยเหลือ

จริงอยู่ ในสังคมต้องมีการช่วยเหลือกัน แต่การช่วยเหลือนั้นต้องชัดเจน เช่นระหว่างรัฐกับประชาชน ว่าจะช่วยในขอบเขตแค่ไหน ใครต้องทำอะไรบ้าง และมุ่งให้ช่วยตัวเองได้ต่อไป มิฉะนั้นก็จะคอยรอหรือตั้งหน้าขอความช่วยเหลืออยู่เรื่อยไป สังคมที่ช่วยเหลือกันเรื่อยเปื่อยแบบนี้ ถึงแม้จะมีทุนดี มีทรัพยากรมาก และมีโอกาสดี ก็จะเป็นสังคมที่ก้าวหน้าได้ยาก กลับจะแพ้สังคมที่ขัดสนทุกข์ยากซึ่งไม่มีใครช่วยเหลือ เมื่อเขาต้องพยายามช่วยตัวเอง เขาก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้นถ้าการช่วยเหลือไม่ชัดเจนก็ไม่ควรด่วนช่วยเหลือ ที่ว่าชัดเจนคือต้องให้เห็นทางที่คนหรือชุมชนนั้นจะมีความเข้มแข็งขึ้นมา และช่วยเหลือตัวเองได้

การช่วยเหลือมี 2 แบบ คือ การช่วยเหลือให้เข้มแข็งขึ้น กับการช่วยเหลือให้อ่อนแอลง สังคมใดคอยแต่จะช่วยเหลือกันอยู่ จนกระทั่งกลายเป็นสภาพปกติของสังคมที่ว่าฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้คอยรับความช่วยเหลือ ถ้าอย่างนี้ ฝ่ายรับความช่วยเหลือก็จะรอความช่วยเหลืออยู่ตลอดไปไม่มีวันสิ้นสุด และจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ให้กับผู้รับความช่วยเหลือ แล้วก็จะถ่วงกันเองให้สังคมหมดแรงหมดกำลัง สังคมที่จะเข้มแข็งได้จะต้องมีความเข้มแข็งทั้งสังคม แล้วเอาแรงกำลังมารวมกัน จึงจะแข่งขันกับสังคมอื่นได้

ว่าโดยสรุป การช่วยเหลือที่ถูกต้อง คือ

1. ช่วยเพื่อให้เขาเข้มแข็งขึ้นมาจนช่วยตัวเองได้

2. ช่วยโดยบอก แนะนำ หรือให้เขาคิดจนรู้ว่าเขาจะต้องทำอะไร และช่วยกันทำ

ถ้าอย่างนี้ จุดไหนที่ใดยังอ่อนแอ จุดนั้นที่นั้นก็จะเข้มแข็งขึ้นมาเช่นเดียวกับที่อื่น แล้วทั้งสังคมก็จะเข้มแข็ง ไม่มาถ่วงกันหรือพะวักพะวงกันอยู่

เรื่องนี้สัมพันธ์กับผู้บริหารด้วย บางครั้งประชาชนชอบอะไร ผู้บริหารก็จะตามไปเอาใจในสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นอาจไม่ถูกต้อง กลายเป็นว่าการไปสนับสนุนตามใจประชาชนในสิ่งที่ประชาชนชอบนั้นเป็นเรื่องของการหาคะแนนนิยมไป ผลก็คือทำให้สังคมอ่อนแอลง

ถ้าผู้บริหารมีความสามารถจริง เป็นผู้นำที่แท้จริง ต้องสามารถนำประชาชนออกไปให้พ้นจากสิ่งผิดที่ประชาชนชอบให้ได้ ถ้าประชาชนติดอยู่กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริหารที่แท้จริงต้องสามารถนำประชาชนออกจากสิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้น ผู้บริหารต้องมีความเข้มแข็ง มีจุดหมายชัดเจน และมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว สังคมไทยกำลังต้องการผู้นำที่เป็นตัวอย่างในความเข้มแข็ง ในการที่ไม่ต้องรอคอยหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลหรือรอความช่วยเหลือจากภายนอก แต่มีความมั่นใจในตัวเองโดยหวังผลจากการกระทำ

จะต้องระลึกไว้ให้มั่นว่า การเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา หมายถึงการนำสังคมให้ก้าวพ้นจากลัทธิขอผลดลบันดาลอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และการรอความช่วยเหลือจากอำนาจโปรดปรานของเทพเจ้า ขึ้นมาสู่การอยู่กับความเป็นจริงของธรรม ที่มนุษย์สามารถสร้างสรรค์ผลที่ต้องการได้ด้วยปัญญาและความเพียรในการกระทำของตน

จะต้องจำไว้ให้แม่นว่า พระพุทธเจ้ามีคุณค่าและความหมาย มิใช่ในฐานะเป็นผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือ หรือนำผลที่ต้องการมาให้แก่ผู้อ้อนวอนปรารถนา แต่เสด็จมาสั่งสอนแนะนำให้เรารู้จักพัฒนาตัวเองให้เป็นที่พึ่งของตนได้ รู้จักใช้ปัญญาและความเพียรทำการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีขึ้นมาให้ได้ด้วยการกระทำของเราเอง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.