ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษาจบสมบูรณ์ เมื่อประโยชน์ตนถึงที่หมาย
กลายเป็นประโยชน์สุขของสังคม

มนุษย์เมื่ออยู่ในสังคมก็มีความจำเป็นต้องเลี้ยงชีวิตของตนให้อยู่รอด เขาจึงต้องแสวงหาปัจจัย 4 มาบริโภค แต่เมื่อต้องครุ่นคิด มัววุ่นกับการเสพบริโภคอยู่ตลอดเวลา ต่อไปก็จะเคยชิน ใจหมกมุ่นกับการเสพ ถ้าไม่ตระหนักรู้ในวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเสพบริโภค ก็จะไม่พัฒนาตัวเอง และจะกลายเป็นนักเสพวัตถุ พร้อมกันนั้นก็จะเกิดความโน้มเอียงของจิตใจและความคิดในทางที่มุ่งจะได้จะเอาเพื่อตัว แล้วสังคมก็จะเสียดุล เกิดการแย่งชิงเบียดเบียนกัน ฉะนั้นการศึกษาจะต้องเข้ามาแก้ไขสร้างดุลยภาพขึ้น คือการศึกษาทำให้มนุษย์รู้ตระหนักว่า ชีวิตที่ดีมิใช่มีแต่การที่มุ่งจะได้จะเอาอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักให้ด้วย โลกจึงจะมีดุลยภาพทรงตัวอยู่ได้

การศึกษาในแง่นี้ เป็นการพัฒนาคนไม่ให้คิดจะเอาหรือหวังแต่จะได้เพียงอย่างเดียว แต่ทำให้คิดถึงการให้ด้วย เมื่อคนรู้จักที่จะให้ ก็จะมีการฝึกการให้ และความสุขจากการให้ก็จะเกิดขึ้น คนเราฝึกเรื่องอะไรก็จะได้ความสุขจากเรื่องนั้น ฝึกเรียนรู้หรือศึกษาก็ได้ความสุขจากการศึกษา ฝึกสร้างสรรค์ก็จะได้ความสุขจากการสร้างสรรค์ ฝึกการให้ก็จะได้ความสุขจากการให้ ซึ่งเป็นความสุขที่ประณีตมาก

เมื่อฝึกให้แล้ว ต่อไปก็จะเป็นนักให้ที่ชอบให้ความสุขแก่ผู้อื่น โดยจะไม่เป็นนักขอ หรือนักรอรับ คนเรานั้นถ้าเป็นนักขอหรือนักรอรับก็จะเป็นคนอ่อนแอ ถ้าเป็นนักเอานักได้ก็จะทำให้สังคมเบียดเบียนกันเกิดความเดือดร้อน แต่ถ้าเป็นนักให้ก็จะเป็นคนเข้มแข็ง เพราะก่อนให้จะต้องมีอะไรที่จะให้ ซึ่งจะต้องสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ก่อน

ความพร้อมที่จะให้หรือช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นพัฒนาการสำคัญขั้นหนึ่งในการศึกษา ซึ่งจะเกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาคนที่ดำเนินไปอย่างประสานกลมกลืน ซึ่งในที่นี้หมายถึงการพัฒนาความต้องการใหม่ อันได้แก่ ความต้องการให้คนอื่นมีความสุข (ที่เรียกว่าเมตตา) และการให้หรือการช่วยเหลือเกื้อกูล ก็คือการสนองความต้องการที่ว่านั่นเอง

เมื่อการให้หรือการช่วยคนอื่นเป็นการสนองความต้องการของตน การให้หรือการช่วยเหลือนั้นก็ทำให้เกิดความสุข เมื่อคนพัฒนาถึงขั้นนี้ก็จึงมีความสุขชนิดใหม่ คือความสุขจากการให้หรือทำให้ผู้อื่นเป็นสุข

เมื่อการศึกษาดำเนินมาถึงขั้นนี้ ก็จะเริ่มมีการประสานกลมกลืนและเกื้อหนุนกัน ระหว่างประโยชน์ของตนกับประโยชน์ของผู้อื่น ซึ่งหมายถึงพัฒนาการของความสุขที่มาประสานกันด้วยการศึกษา ซึ่งหมายถึงการช่วยให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้มีสันติสุข

การศึกษาจะเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ไม่ได้ ถ้ายังไม่ช่วยให้มนุษย์สามารถพัฒนาประโยชน์ตนกับประโยชน์ของสังคมให้พ้นจากความขัดแย้งกัน เข้ามาสู่ความประสานเกื้อหนุนกัน

การศึกษาที่แท้ทำให้คนพัฒนาต่อไปอีก โดยเปลี่ยนคนจากผู้แสวงหาความสุขมาเป็นผู้มีความสุข จนกระทั่งความสุขกลายเป็นคุณสมบัติประจำตัวของเขา ที่มีอยู่ภายในตัวตลอดเวลา เมื่อถึงตอนนี้บุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่เราเรียกว่า “ผู้ไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป” คนที่พัฒนามาถึงขั้นนี้ จึงเรียกว่าเป็นผู้บรรลุจุดหมายของการศึกษา หรือจบการศึกษา

คนที่จบการศึกษาหรือพัฒนาตนสมบูรณ์ ผู้มีความสุขเป็นคุณสมบัติอยู่ในตัวเองนี้แหละ คือผู้ที่จะปฏิบัติตามอุดมคติแห่งโลกานุกัมปะที่กล่าวแล้วข้างต้นได้อย่างแท้จริง คือผู้บรรลุจุดหมายแห่งชีวิตของตน ที่มีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่พหูชน ด้วยน้ำใจเกื้อกูลแก่โลกทั้งหมด ตามคติของพระอรหันต์ที่ว่า “พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ” และนี้แหละคือสัมฤทธิ์ผลของการศึกษาที่แท้จริง

สรุปการศึกษาพื้นฐานสำคัญ ที่เป็นจุดสังเกตการเริ่มต้นของการศึกษา 5 ประการ คือ

1. ฝึกดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เริ่มแต่ฝึกบริโภคหรือกินด้วยปัญญา เพื่อสร้างความมั่นใจและความถูกต้องชอบธรรมขั้นพื้นฐาน

2. ฝึกการใช้อินทรีย์เพื่อเรียนรู้หรือเพื่อศึกษา ซึ่งจะทำให้เป็นนักศึกษาที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นนักศึกษาแต่เพียงชื่อหรือแค่รูปแบบ ซึ่งแท้ที่จริงเป็นเพียงนักเสพหรือนักบริโภค

3. ฝึกการใช้มือและสมองเพื่อการสร้างสรรค์ ไม่ใช่เพื่อการแย่งชิงและเบียดเบียนทำลายกัน

4. ฝึกใช้ความรู้หรือปัญญามาจัดสรรจัดการระบบระเบียบการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า วินัย

5. ฝึกเป็นนักให้ ผู้รู้จักหาความสุขจากการให้ เป็นผู้ให้ความสุข และสร้างสรรค์โลกนี้ให้มีความสุข ที่จะก้าวไปสู่การประสานประโยชน์สุขของบุคคลและสังคมให้กลมกลืนและเกื้อหนุนกัน

การศึกษาที่ถูกต้องจะทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามและสังคมดีมีสันติสุข พร้อมกันนั้นธรรมชาติแวดล้อมก็จะอยู่ได้ด้วยดี ซึ่งจะสำเร็จได้ต่อเมื่อมนุษย์พัฒนามาถึงขั้นที่สามารถประสานประโยชน์ตนกับประโยชน์ของสังคมเข้ามาให้เกื้อหนุนกันได้ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

แน่นอนว่าในระดับของพัฒนาการขั้นนี้ มนุษย์จะไม่เป็นเพียงนักเสพนักบริโภคที่ลุ่มหลงมัวเมา ผู้แย่งชิงเบียดเบียนกันเองในสังคม พร้อมทั้งทำลายทรัพยากรธรรมชาติและก่อให้เกิดมลภาวะมากมาย

มนุษย์ผู้มีการศึกษาจะสร้างสรรค์ระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ให้ดีพร้อมทั้ง 3 ประการ คือ ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษา

วันนี้อาตมาได้ใช้เวลาของที่ประชุมมามากแล้ว ขอยุติการบรรยายพิเศษเรื่อง “ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน” ไว้เพียงเท่านี้

ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรที่ได้มาร่วมพิธีครั้งนี้ด้วยน้ำใจศรัทธามาร่วมส่งเสริมกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ เพื่อสนองวัตถุประสงค์ที่กว้างขวาง คือเพื่อความดีงาม ความร่มเย็นเป็นสุขของชีวิตและสังคม ทั้งสังคมไทย และสังคมโลก คือมนุษยชาติทั้งหมด ในโอกาสนี้ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยอวยชัยให้พรแก่ทุกท่าน โดยเฉพาะในวันขึ้นปีใหม่ 2540 ที่กำลังจะมาถึง ขอให้ทุกท่านเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณธนสารสมบัติทุกประการ จงดำเนินชีวิตประกอบกิจหน้าที่การงานให้บรรลุความก้าวหน้าและความสำเร็จ เพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ชีวิตของตนเองและสังคมส่วนรวม มีความร่มเย็นเป็นสุขในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.