ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ภาค ๑
ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา?

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับวิชาพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา
ในหลักสูตรการศึกษาของชาติ

ระยะนี้ ได้มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรประถมและมัธยมศึกษาว่าควรจะจัดอย่างไรและมากน้อยเพียงไร

ข้อปรารภ คือ การที่กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรชั้นประถมและมัธยมศึกษา และในการปรับปรุงนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาด้วย

มีผู้สังเกตเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทางลบ คือมองเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ตัดทอนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรดังกล่าวให้ลดน้อยลง ทั้งในด้านเนื้อหาและเวลาเรียน

ยิ่งกว่านั้น เมื่อตรวจดูใกล้ชิดเข้ามาอีก โดยมองย้อนหลังต่อไป ก็พบว่าการตัดทอนวิชาพระพุทธศาสนาจากหลักสูตรการศึกษาของชาตินี้ ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับ โดยที่ในการปรับปรุงหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแต่ละครั้ง วิชาพระพุทธศาสนาดูเหมือนจะลดน้อยลงไปทุกที เมื่อเทียบหลักสูตรที่ปรับปรุงห่างครั้งกัน จะยิ่งเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน จนทำให้รู้สึกว่าในหลักสูตรฉบับปัจจุบันนี้ วิชาพระพุทธศาสนาอยู่ในสภาพที่ใกล้จะหมดสิ้นไป

เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็ได้มีการชักนำและเชิญชวนประชาชนเพื่อร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ใหม่ และให้ส่งเสริมการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา ให้มีการเรียนการสอนมากขึ้นอย่างเหมาะสมกับที่ควรจะเป็น

ได้มีความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถึงขั้นที่จัดเป็นข่าวใหญ่ได้ข่าวหนึ่ง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับความตื่นเต้นของคนทั่วไปต่อข่าวครึกโครมทางศาสนา ที่เกิดขึ้นในระยะใกล้กันนี้แล้ว ก็นับว่าประชาชนได้ให้ความสนใจใส่ใจต่อเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนานี้น้อยเกินไป

เหตุการณ์ร้ายๆ อย่างเรื่องนิกร-อรปวีณา ซึ่งเป็นกรณีเฉพาะ เป็นเรื่องทางลบ และเป็นเรื่องของผลเบื้องปลาย แต่ปรากฏว่าคนสนใจกันมาก และสนใจแต่เพียงในแง่ที่จะตื่นเต้นและติเตียนกัน มากกว่าจะสนใจในแง่ที่เป็นปัญหาของส่วนรวมที่จะต้องช่วยกันรับผิดชอบ และหาทางแก้ไขปรับปรุงเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องร้ายอย่างนั้นเกิดขึ้นอีก

ส่วนปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตร วิชาพระพุทธศาสนานี้เป็นเรื่องของการศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจหลักในทางสร้างสรรค์ของสังคม ที่มีผลลึกซึ้งและยาวไกล พร้อมกันนั้นก็เป็นเรื่องของการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานและเป็นรากเหง้าที่ยึดเหนี่ยวสังคมไว้ และทำให้สังคมไทยมีลักษณะที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง แต่คนกลับเอาใจใส่น้อย ไม่มีจิตสำนึกที่จะเห็นความสำคัญ

สำหรับเรื่องสำคัญระดับพื้นฐาน ที่มีส่วนกำหนดอนาคตของชาติ และตัดสินโชคชะตาของสังคมอย่างนี้ ทั้งประชาชนและรัฐบาลควรจะเอาใจใส่ และตั้งใจคิดพิจารณาอย่างจริงจัง

ในที่นี้ จะไม่พูดถึงการกระทำของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล ว่าได้ทำอะไรอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่จะเสนอข้อพิจารณาเกี่ยวกับเหตุผลต่างๆ ที่ทำให้พูดได้ว่าคนไทยควรเรียนรู้พระพุทธศาสนาให้เพียงพอ

ในทางการศึกษานั้น เมื่อมองโดยภาพรวม พระพุทธศาสนาถูกจัดเป็นวิชาสำหรับเรียนรู้ โดยสถานะหลัก ๒ อย่างคือ ในฐานะที่เป็นระบบจริยธรรมสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ หรือเป็นแหล่งคำสอนจริยธรรมของประชากรแทบทั้งหมดของประเทศ และในฐานะที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมไทย ทั้งในด้านวัตถุธรรมและในด้านนามธรรม ซึ่งมีอิทธิพลครอบคลุมมากที่สุดอย่างหนึ่งในวิถีชีวิตของสังคม เป็นมาตรฐานการดำเนินชีวิตสำหรับผู้นับถือ และเป็นสภาพแวดล้อมอันกว้างใหญ่ทางสังคม สำหรับผู้มิได้นับถือ

เหตุผลที่คนไทยเรียนรู้พระพุทธศาสนา เมื่อว่าโดยย่อ ขอตั้งเป็นหัวข้อสำหรับจะได้พิจารณาถกเถียงหรือขยายความกันต่อไป ดังนี้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.