ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จริยธรรมสากล เข้าหรือขัดกับบูรณาการ

หลักการที่เรียกว่าจริยธรรมสากล (ในประเทศต้นตำรับเอง ก็ยังไม่มีการยอมรับคำนี้) นั้น เมื่อแรกเกิดในประเทศอเมริกา สาเหตุเริ่มต้นก็มาจากการหาทางแก้ปัญหาความแตกแยกในหมู่ชาวคริสต์เอง ที่แบ่งกันเป็นนิกายต่างๆ ซึ่งตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้โรงเรียนสอนศาสนาคริสต์และหลักศีลธรรมของคริสต์ตามแบบของใคร จนกระทั่งต้องไปตั้งโรงเรียนสอนศาสนาและศีลธรรมของตนต่างหากกัน จึงมีการพยายามจัดตั้งหลักคำสอนศีลธรรมที่เป็นกลางๆ ขึ้นมาสำหรับใช้ในโรงเรียน ไม่ให้ขัดกับนิกายไหนๆ

ต่อมาความคิด และความเพียรพยายามด้านนี้ก็มีความเป็นวิชาการมากขึ้น แล้วก็ได้พัฒนาเข้าประสานกับความคิดทางปรัชญา โดยที่จอห์น ดิวอี้ ได้เป็นบุคคลสำคัญในยุคหลังที่คิดแก้ปัญหาความแตกแยกของนิกายศาสนาให้ได้อย่างถาวร ถึงกับพัฒนาหลักศีลธรรมจรรยาตามแนวปรัชญาปฏิบัตินิยมขึ้นมา เป็นฐานรองรับหลักการที่เหมือนตั้งศาสนาขึ้นใหม่ให้เป็นของกลางร่วมกันของอเมริกา ทำนองว่าเป็นศาสนาประชาธิปไตย ซึ่งบางทีก็เรียกว่าศาสนาประชาราษฎร์ (civil religion) เท่ากับว่า คนอเมริกันก็มองจริยธรรมสากลนี้ว่าเป็นศาสนาอีกศาสนาหนึ่งเหมือนกัน1

จริยธรรมสากลนั้น เกิดขึ้นในยุคที่อเมริกากำลังพุ่งแล่นไปในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ เป็นยุคของความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง ซึ่งเป็นความเจริญตามแนวความคิดแบบแบ่งซอยแยกส่วน จริยธรรมจึงถูกมองเป็นข้อปฏิบัติย่อยๆ แต่ละเรื่องแต่ละอย่าง ที่จะเลือกเอามาสั่งสอนปลูกฝังเป็นข้อๆ โดยไม่รู้ตระหนักถึงความสัมพันธ์กันของจริยธรรมต่างๆ ซึ่งจะต้องปลูกฝังด้วยการบูรณาการในระบบของการดำเนินชีวิต

จนกระทั่งไม่นานนี้เอง แนวความคิดแบบบูรณาการได้เริ่มเฟื่องฟูเด่นขึ้น ในวงการการศึกษาก็จึงมีการนำเอาหลักการแบบจริยธรรมสากลนั้นเข้ามาประสานกับแนวความคิดและปฏิบัติการเชิงบูรณาการด้วย แต่ก็ดูจะเน้นกันเพียงแค่การบูรณาการในขอบเขตความหมายที่แคบๆ คือในกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน ในแง่ที่จะบูรณาการเข้าในวิชาทุกวิชา หรือให้ครูทุกคนบูรณาการจริยธรรมเข้าในวิชาของตนๆ ทุกวิชาเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้น ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าเรื่องนี้มีความขัดกันเองอยู่ในตัว กล่าวคือ ในขณะที่หลักจริยธรรมสากลมีสาระสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความคิดแบบแบ่งซอยแยกส่วน ที่ตรงข้ามกับความคิดแบบบูรณาการ คือเมื่อว่าโดยพื้นฐานหรือสาระสำคัญแล้ว จริยธรรมสากลเป็นตัวทำลายบูรณาการ แต่เรากลับไปเอาหลักจริยธรรมสากลนั้นมาใช้กับหลักการแบบบูรณาการ จึงมีลักษณะที่เป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่สอดคล้องกลมกลืน และลงท้ายก็คือไม่สมบูรณ์และไม่ได้ผลดี

(จริงอยู่ ในสมัยเดียวกับจอห์น ดิวอี้ แนวคิดแบบองค์รวมได้เริ่มปรากฏเด่นขึ้นบ้างแล้ว แต่อยู่ในวงของวิชาจิตวิทยา ได้แก่จิตวิทยาเกสตอลท์ แม้จะมีการพยายามแสดงแนวคิดนี้ในแง่ของวิชาการอื่นๆ ด้วย ก็ยังมีเพียงประปรายและไม่เป็นที่สนใจกว้างออกไป และที่สำคัญก็คือยังไม่มาเชื่อมโยงกับเรื่องของบูรณาการ จอห์น ดิวอี้เสียอีกที่ได้แสดงความคิดและเสนอการปฏิบัติแบบบูรณาการบางอย่าง เช่น การบูรณาการโรงเรียนเข้ากับสังคม การบูรณาการปัจเจกชนเข้ากับกลุ่ม การบูรณาการเด็กเข้ากับหลักสูตร เป็นต้น แต่ก็เป็นความคิด และการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะของกาลเทศะเป็นสำคัญ มิใช่เป็นแนวคิดพื้นฐานที่จะให้ภาพรวมของสัจธรรม นอกจากนั้น นักการศึกษาและนักวิชาการต่อๆ มาก็ไม่ได้ให้ความสังเกตและความสนใจพิเศษกับความคิดของเขาในเรื่องนี้)

1เช่น Daniel A. Spiro, "Public Schools and the Road to Religious Neutrality," Phi Delta Kappan, June 1989, pp. 759-763.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.