ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สังคมไทยได้เปรียบสังคมอเมริกัน ในการจัดจริยศึกษาที่มีเอกภาพ

๔. ความคิดและความพยายามที่จะสร้างจริยธรรมสากล เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษแห่ง ค.ศ. ๑๘๘๐ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๐) และพัฒนาอย่างค่อนข้างเต็มรูป ก่อน ค.ศ. ๑๙๔๐ (ราว พ.ศ. ๒๔๘๐) และได้ถูกนำมาใช้เป็นระบบวิธีทางจริยศึกษา ในการปลูกฝังจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนในประเทศสหรัฐอเมริกา มาเป็นเวลายาวนาน

สภาพปัญหาทางจิตใจ และความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของสังคมอเมริกันในปัจจุบัน ย่อมถือเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ระบบจริยศึกษาแบบจริยธรรมสากลนั้น ถ้าแม้มิได้เป็นเหตุให้สังคมอเมริกันประสบความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม อย่างน้อยมันก็มิได้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาจริยธรรม หรือในการที่จะช่วยให้สังคมอเมริกันมีจริยธรรมและสภาพจิตใจที่ดีขึ้น หรือแม้แต่จะรักษาสถานภาพทางจริยธรรมให้คงอยู่ในระดับเดิมได้

เดิมที ในสังคมอเมริกันนั้นเอง ก่อนสงครามกลางเมือง (พ.ศ. ๒๔๐๔-๒๔๐๘) การสอนจริยธรรมในระบบการศึกษาของชาติ ก็ใช้หลักคำสอนของศาสนาโดยจะต้องได้รับความเห็นชอบหรือการรับรองจากทางฝ่ายศาสนาด้วย

แต่ต่อมา เนื่องจากประชากรอเมริกันซึ่งประกอบด้วยผู้คนหลายชาติอพยพเข้ามา มีความแตกต่างกันมากในด้านความเชื่อถือทางศาสนา แม้ว่าพลเมืองส่วนใหญ่จะนับถือคริสตศาสนา แต่ก็แยกกันเป็นคนละนิกาย คือ โรมันคาทอลิก กับโปรเตสแตนต์ ซึ่งไม่อาจจะเรียนวิชาศาสนาอย่างเดียวกันได้ เช่น ตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้คัมภีร์ไบเบิลฉบับไหน

และยิ่งกว่านั้น ในนิกายที่เป็นฝ่ายข้างมากเอง คือ โปรเตสแตนต์ (ที่ว่าเป็นข้างมากก็เพียงประมาณร้อยละ ๖๐) ก็สอนต่างกันในเรื่องเดียวกัน ทำให้ขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรง จนบางพวกก็แยกไปตั้งโรงเรียนสอนศาสนาของตนต่างหากออกไป จนในที่สุดจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างจริยธรรมสากลหรือจริยธรรมที่ยอมรับร่วมกันได้ขึ้นมาดังกล่าวข้างต้น1

สังคมไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน ไม่ได้มีปัญหาแตกแยกกันอย่างในสังคมอเมริกัน แม้จะมีความแตกต่างหลากหลาย ก็เป็นความแตกต่างในระดับของพัฒนาการทางจิตปัญญา ส่วนหลักความเชื่อและหลักคำสอนทั่วไปลงตัวเป็นแบบเดียวกัน จึงน่าจะใช้ความได้เปรียบคือความมีเอกภาพทางศาสนานี้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งในแง่การศึกษาและในแง่สังคม คือฉวยโอกาสเอาพุทธศาสนา ที่ประชาชนแทบทั้งหมดนับถือเป็นอย่างเดียวกันนั้น เป็นช่องทางจัดจริยศึกษาได้พร้อมทีเดียวทั่วสังคมทั้งหมดในทันที พร้อมทั้งเป็นการเสริมสร้างรักษาเอกภาพของสังคม หรือความสามัคคีของคนในชาติไปด้วยในตัว

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ แต่ไปทำตามอย่างการศึกษาของอเมริกัน จะกลายเป็นว่า ทั้งที่ตัวเองไม่มีปัญหา แต่กลับไปทำตามอย่างคนที่เขามีปัญหา และทั้งที่ตนมีโอกาสดี กลับไม่ใช้โอกาสนั้น จะเรียกว่าเป็นปฏิบัติการที่ฉลาดได้อย่างไร

ในการศึกษาของอเมริกัน เขาจัดสอนจริยธรรมสากล เพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกที่มีอยู่แล้ว แต่ถ้าการศึกษาของไทยทำอย่างนั้นจะมีผลในทางตรงข้าม คือ แทนที่จะเป็นการฉวยโอกาสเสริมสามัคคีด้วยเอกภาพที่มีอยู่แล้ว ก็กลับกลายเป็นการวางรากฐานที่จะนำไปสู่ความแตกแยก นับว่าเป็นการสูญเสียทีเดียวสองชั้น

1Gerald Grant, "Bringing the 'Moral' Back In," NEA Today, 1989, pp. 54-59.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.