ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ก้าวใหม่ที่ไปไม่พ้นร่องเก่า

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางจริยธรรมขั้นที่ ๖ คือขั้นถือหลักจริยธรรมสากล ซึ่งเป็นขั้นสำคัญที่โกลเบอร์กเองก็ถือว่าสูงสุด เมื่อจัดวางเป็นหลักลงไว้แล้ว ก็ควรจะได้รับการเน้นย้ำ ควรจะถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดจริยศึกษาเพื่อพัฒนาการของเด็ก แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น กลับถูกตัดออกไปเสีย โดยเจ้าตัวโกลเบอร์กเองเป็นผู้ลดออกไป กลายเป็นเหลือพัฒนาการ ๕ ขั้น ทำให้จริยธรรมยังมีความหมายจำกัดอยู่แค่บัญญัติธรรม หรือกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดกันขึ้นมาเหมือนอย่างเดิม แม้จะมีขั้นที่ ๕ ที่แสดงให้เห็นจุดแยก แต่ก็ยังไม่ชัดมากพอที่จะแสดงความหมายในแง่ของจริยธรรมแท้ที่เป็นความจริง

เหตุที่เป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นเพราะโกลเบอร์กเองก็ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับพัฒนาการในขั้นที่ ๖ นี้ เฉพาะอย่างยิ่งไม่ชัดเจนว่าจริยธรรมสากลคืออะไรกันแน่ ที่ว่าสากลในแง่ที่เป็นความจริง ก็ไม่มีอะไรบ่งชัดออกมา เพียงแต่มีทีท่าว่าจะก้าวออกมาจากความหมายในแง่ที่เป็นกลางๆ เท่านั้น เมื่อออกมาแล้วก็เคว้งคว้างลอยอยู่ จริยธรรมสากลที่วินิจฉัยด้วยปัญญานั้น ถ้ายึดความจริงเป็นหลัก ความจริงนั้นมีลักษณะอย่างไร เป็นความจริงตามระบบความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ตามกฎธรรมชาติหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น ความไม่ชัดเจนนี้เปิดช่องให้บางคนตีความว่า ขั้นที่ ๖ นั้นเป็นการวินิจฉัยเลือกตัดสินใจตามความคิดเห็นของตนเอง

อนึ่ง นักวิจารณ์บางท่านให้เหตุผลว่า โกลเบอร์กมองปัญหาจริยธรรมโดยเจาะจงลงไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่เด่นในสังคมอุตสาหกรรมของตะวันตกเท่านั้น แนวคิดของโกลเบอร์กจึงมีลักษณะแคบเกินไปและไม่เพียงพอที่จะเป็นความหมายของจริยธรรม

ยิ่งถ้าพิจารณาจากตัวอย่างคำตอบปัญหาจริยธรรมจากสถานการณ์สมมติ ที่โกลเบอร์กถือว่าเป็นคำตอบของผู้มีพัฒนาการทางจริยธรรมขั้นที่ ๖ ด้วยแล้ว ความหวังที่จะได้เห็นจริยธรรมสากลของปราชญ์ตะวันตกในความหมายที่เป็นความจริงโดยสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ก็ดูจะยิ่งเลือนลางห่างไกลออกไป

ตัวอย่างปัญหาจริยธรรมจากสถานการณ์สมมตินั้นมีว่า หญิงหนึ่งป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง แพทย์ที่รักษาบอกกับสามีของหญิงนั้นว่า มียาซึ่งค้นพบใหม่ที่จะรักษาโรคนั้นได้ แต่แพงมาก และยิ่งแพงขึ้นไปอีกในเมื่อผู้ขายเอากำไรมากถึง ๑๐ เท่า จากราคาต้นทุน ๒๐๐ ดอลล่าร์ เป็น ๒,๐๐๐ ดอลล่าร์ สามีของคนเจ็บพยายามหาเงินอย่างสุดความสามารถก็ได้เพียง ๑,๐๐๐ ดอลล่าร์ จึงขอร้องให้ผู้ขายยาลดราคาให้ ผู้ขายไม่ยอม ในที่สุดสามีของหญิงนั้นตัดสินใจขโมยยามารักษาภรรยา

จากคำตอบต่างๆ ของผู้รับการทดสอบ พร้อมทั้งเหตุผลที่ประกอบกับคำตอบเหล่านั้น โกลเบอร์กได้จัดบุคคลที่ให้คำตอบต่อไปนี้ ว่าเป็นผู้มีพัฒนาการทางจริยธรรมในขั้นที่ ๖ คือ: การขโมยในกรณีนี้ เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพราะเป็นการรักษาชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง

การที่โกลเบอร์กจัดคำตอบนี้เป็นพัฒนาการขั้นที่ ๖ แสดงว่า โกลเบอร์กก็ยังมองจริยธรรมว่าเป็นเพียงคุณค่าที่มนุษย์กำหนดขึ้นเอง มิใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่มีความจริงอยู่ตามสภาพของมัน คือ ไม่มีฐานแห่งความจริงหรือจุดกำหนด ความจริงอยู่ต่างหากจากความคิดของมนุษย์ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่มีส่วนร่วมในฐานะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องของความคิดของมนุษย์ที่จะตีค่า และประเมินเปรียบเทียบเอาเอง

คำตอบที่โกลเบอร์กจัดเป็นขั้นที่ ๖ นี้ มีความพิเศษที่ก้าวหน้าออกไป (ที่จริงอาจไม่ใช่ความพิเศษ หรือก้าวหน้าเลย แต่เป็นเพียงความแตกต่าง) จากคำตอบของคนอื่นในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น เพียงแค่ว่า ได้ย้ายเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมจากบัญญัติของสังคม มาสู่วิจารณญาณของบุคคล หรือจากการถือตามกฎเกณฑ์ของสังคม มาเป็นการถือตามความคิดเห็นอิสระของตนเอง ซึ่งเป็นความก้าวหน้าครึ่งๆ กลางๆ ที่คลุมเครือและเสี่ยงอันตราย เพราะไม่มีหลักที่อ้างอิงสำหรับวิจารณญาณหรือความคิดเห็นส่วนตัวของบุคคล นอกจากการเปรียบเทียบระหว่างคุณค่ากับคุณค่า

หลักการที่โกลเบอร์กวางไว้ดูเป็นหลักฐานดี แต่ตัวอย่างที่เขายกมา (ถ้าเป็นของเขาจริงดังตำราว่า) ทำให้หลักการนั้นสูญเสียความถูกต้อง และกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.