ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บทเรียนจากอเมริกา วิชาศาสนาและจริยศึกษาที่เรรวน

๑๒. จริยธรรมสากลนั้น ก็ดังได้เคยกล่าวถึงข้างต้นแล้วว่า ยังมิใช่เป็นคำเรียกชื่อที่ยอมรับกันเป็นทางการ ยังมิใช่เป็นคำที่ใช้กันมาก แม้แต่ในประเทศที่เป็นต้นแหล่งของแนวความคิดแบบนี้เอง จะมีใช้บ้างก็เป็นเพียงคำพูดในเชิงพรรณนาลักษณะอย่างประปราย (เช่นพูดถึง universal creed บ้าง universal values บ้าง)

ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นคิดในการสรรหาจริยธรรมที่เป็นกลางๆ อย่างนี้ เมื่อความคิดและการดำเนินการในเรื่องนี้ ได้ดำเนินมาระยะหนึ่ง พอมีเนื้อหาและหลักปรัชญาชัดเจนขึ้น ก็ได้มีผู้เสนอใช้ชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่า ศาสนาประชาราษฎร์ (civil religion) ดังได้เคยกล่าวถึงแล้วข้างต้น

ประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดให้โรงเรียนสอนจริยธรรมที่เป็นกลางๆ หรือศาสนาประชาราษฎร์นี้ โดยไม่ให้สอนศาสนาหรือลัทธินิกายอันหนึ่งอันใดโดยเฉพาะ เนื่องจากศาสนาคริสต์ที่แบ่งแยกกันเป็นต่างนิกายตกลงกันไม่ได้ว่าจะสอนศาสนาคริสต์นั้นในแบบของใครและอย่างไร ความคิดนี้ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นหลักการ คือการที่จะป้องกันไม่ให้มีการยัดเยียดหรือยัดใส่ความคิดความเชื่อแบบใดแบบหนึ่งหรือที่เป็นรูปสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่งลงในสมองของเด็ก (indoctrination) ซึ่งจะทำให้เด็กไม่มีโอกาสใช้ความคิดพิจารณาและตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง

เมื่อถึงขั้นนี้การไม่สอนศาสนาแบบใดแบบหนึ่งในโรงเรียน นอกจากเป็นเพราะเหตุผลเกี่ยวกับความแตกแยกในทางศาสนาแล้ว ก็กลายเป็นเหตุผลในทางปรัชญาการศึกษา และเป็นเรื่องของหลักการทางการศึกษาไปทีเดียว ประเทศอเมริกาได้ยึดมั่นในหลักการข้อนี้เป็นสำคัญอย่างมาก โดยถือเป็นหลักการของการศึกษาเพื่อประชาธิปไตย และยึดเอาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นที่ยืนยัน

อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นแตกต่าง และการขัดแย้งถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า จะสอนหรือไม่สอนศาสนาอะไรและอย่างไร ก็ได้ดำเนินไปในสังคมอเมริกันอย่างต่อเนื่องตลอดมา เพราะพื้นเดิมก่อนการแตกแยกที่ทำให้สหรัฐต้องเลิกสอนศาสนานิกายหนึ่งใดในโรงเรียนนั้น การศึกษาของอเมริกันตั้งแต่เริ่มตั้งประเทศ ก็ถือการสอนศาสนาและศีลธรรมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง

แม้เมื่อกำหนดไม่ให้สอนศาสนาในโรงเรียนเป็นทางการแล้ว สังคมอเมริกันก็ยังต้องการให้เด็กเรียนรู้ศาสนาของตน ทั้งเพื่อประโยชน์ในทางจริยธรรม และในแง่การสืบทอดมรดกและความมีชีวิตจิตใจแบบอเมริกัน นอกจากการไปเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาที่ตั้งขึ้นต่างหากแล้ว ก็มีการพยายามจัดสอนในรูปลักษณะอื่นๆ ซึ่งได้ปรากฏออกมาเป็นปัญหาให้สังคมและศาลได้ถกเถียงวินิจฉัยกันอยู่เรื่อยๆ เช่น จะไม่สอนศาสนาในอาคารโรงเรียน แต่จะสอนบนพื้นที่ในบริเวณโรงเรียนได้หรือไม่ จะสอนในตัวอาคารโรงเรียน แต่ไม่สอนในเวลาเรียนได้หรือไม่

บางทีรัฐบาลรัฐใช้อำนาจบริหาร กำหนดให้มีการสอนศาสนาและศีลธรรมในโรงเรียนในรัฐของตน บางทีก็ออกกฎหมายบังคับให้ถือข้อปฏิบัติทางศาสนาบางอย่าง เช่น การอ่านไบเบิลประจำวัน หรือคิดทำบทสวดอ้อนวอนพระเจ้าที่เป็นกลาง ให้พวกที่นับถือศาสนาเทวนิยมต่างศาสนากันใช้ร่วมกันได้ แต่แล้วก็มีผู้ทำเป็นคดีขึ้นศาล ศาลตัดสินให้รัฐแพ้ไปก็มี ดังนี้ เป็นต้น1

แม้แต่คำว่า "ศาสนา" (religion) ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็มีปัญหามาตลอดว่าหมายถึงอะไร แค่ไหน ก่อนโน้น (ราว พ.ศ. ๒๔๔๓) ศาลอเมริกันวินิจฉัยให้คำจำกัดความว่า ศาสนา หมายถึงการบูชาเทพสูงสุด และต่อมายังไขความว่า หมายถึงการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าผู้สร้างโลกสร้างมนุษย์ รวมไปถึงการที่จะต้องเคารพเชื่อฟังเทพเจ้าสูงสุดนั้นด้วย ศาลอเมริกันจำกัดความและไขความอย่างนี้ เพราะคนอเมริกันสมัยนั้นรู้จักแต่ศาสนาแบบศรัทธาต่อเทพเจ้าหรือต่อบรมเทพเท่านั้น หารู้จักศาสนาในความหมายอย่างที่ชาวพุทธเข้าใจไม่ เมื่อเขาจำกัดความหมายอย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็ไม่เข้าข่ายที่จะเป็นศาสนาตามบัญญัติของเขา

ต่อมาเมื่ออเมริกันติดต่อกับคนชาติอื่น โดยเฉพาะทางอาเซียมากนั้น และมีคนทางอาเซียเข้าไปในอเมริกามากขึ้น เรื่องนี้ก็เลยเป็นปัญหาอีก ราวๆ พ.ศ. ๒๔๙๐ ศาลอเมริกันก็ต้องเปลี่ยนคำจำกัดความคำว่า "ศาสนา" ใหม่อีก โดยหาทางพูดให้คลุมถึงพระพุทธศาสนาเป็นต้นด้วย แต่เมื่อขยายความหมายออกไปอย่างนั้นแล้ว ปัญหาใหม่ๆ ในแง่อื่นๆ ก็ตามเข้ามาอีก ชักจะเกิดความซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น เช่น ดีไม่ดี ไปๆ มาๆ การปฏิบัติตามคำจำกัดความนั้นก็จะไปขัดแย้งกับตัวหลักการเสียเอง เช่นกลายเป็นการไปปิดกั้นการแสวงปัญญาของผู้เรียนเสียอีก เป็นต้น

ยิ่งมาถึงปัจจุบันนี้ ที่คนอเมริกันกำลังตื่นตระหนกกันว่า สังคมของตนมีความเสื่อมโทรมทางจิตใจและตกต่ำทางจริยธรรมมาก จึงเรียกร้องกันใหญ่ให้เอาศีลธรรมกลับมา เสียงเรียกร้องให้สอนศาสนาและศีลธรรม ตามหลักศาสนาก็มากขึ้น ความขัดแย้งถกเถียงกันในเรื่องนี้ก็จึงหนาหูขึ้นอีก เมื่อแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ คนอเมริกันมีความคิดเห็นแยกเป็น ๒ พวก คือ

๑) พวกยืนหยัดแยก (Separatists) เห็นว่าจะต้องรักษาวิธีปฏิบัติที่ทำกันมาในระบบการศึกษาของอเมริกันไว้ให้มั่น โดยหลีกเลี่ยงอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ไม่ให้มีการสอนศาสนา จะต้องไม่ยอมให้พวกเคร่งคำสอนเดิมเข้ามาครอบงำ แต่พึงสังเกตว่า คำว่า "ศาสนา" ของพวกยืนหยัดแยกนี้ หมายถึง ศาสนาเทวนิยม คือศาสนาที่นับถือเทพเจ้า

๒) พวกเคร่งคำสอนเดิม (Fundamentalists) อ้างว่า วิธีปฏิบัติในระบบการศึกษาที่ทำกันอยู่นี้ เป็นการกีดกันศาสนาเทวนิยม โดยไปส่งเสริมศาสนาแบบมนุษยนิยมที่ไม่นับถือพระเจ้า จึงจะต้องนำศาสนาคริสต์ตามแบบแผนเข้ามาสอน

แต่เวลานี้ ยังมีฝ่ายที่ ๓ ขึ้นมาอีก พวกนี้บอกว่า การศึกษาของอเมริกันที่รัฐจัดอยู่นี้ เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง คือ ในขณะที่รัฐกีดกันศาสนาอื่นๆ ออกไปไม่ให้สอนในโรงเรียนนั้น รัฐกลับดำเนินการจัดสอนและบังคับให้นักเรียนเรียนศาสนาหนึ่งศาสนาเดียวโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า "ศาสนาประชาราษฎร์ของอเมริกา" (American Civil Religion) ซึ่งเป็นปฏิบัติการยัดเยียดลัทธิ หรือยัดใส่ความเชื่อแก่เด็ก (indoctrination) โรงเรียนอเมริกันไม่ได้ตั้งตนเป็นกลางในทางศาสนาเลย แต่กำลังกำหนดให้เรียนเพียงศาสนาหนึ่งเดียว

ฝ่ายที่ ๓ นี้ พูดต่อไปอีกว่า ศาสนาหนึ่งเดียว คือ ศาสนาประชาราษฎร์อเมริกันนี้ มีองค์ประกอบอยู่ ๓ อย่าง ได้แก่ ลัทธิคลั่งวิทยาศาสตร์ (Scientism) ซึ่งหลงใหลในอานุภาพของวิทยาศาสตร์จนเลยเถิด เกินความเป็นจริง ทำให้การแสวงหาสัจธรรมเกิดความคับแคบไม่สมบูรณ์ ลัทธิชาตินิยมอเมริกัน (American Nationalism) ซึ่งมุ่งแต่จะทำเด็กให้เป็นอเมริกันอย่างเดียว จนเกิดความคับแคบในหลายเรื่อง เช่นกลายเป็นการยัดเยียดลัทธิการเมือง ให้รู้แต่ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ไม่รู้จักประชาธิปไตยแบบอื่นซึ่งก็มีอยู่ และศาสนาคริสต์ (Christianity) ซึ่งทำให้เด็กมีความรู้เรื่องศาสนาอย่างคับแคบ จำกัดอยู่แค่เรื่องราวของศาสนาคริสต์ เช่น การฉลองวันสำคัญต่างๆ ฝ่ายที่ ๓ นี้เสนอให้เป็นกลางทางศาสนาอย่างแท้จริง โดยสอนศาสนาต่างๆ ให้เด็กรู้จักแล้วคิดพิจารณาเลือกสัจธรรมเอาเอง

ประเทศอเมริกา อาจจะเก่งกาจชำนิชำนาญในเรื่องต่างๆ มากมายหลายอย่าง แต่ในเรื่องศาสนาและจริยธรรมนี้อเมริกายังสับสนวุ่นวายมาก และในบางแง่ก็อาจเรียกได้ว่ายังเตาะแตะๆ อยู่ จะถือเป็นตัวอย่างได้ก็คงเฉพาะในแง่ที่เป็นบทเรียน แต่จะเป็นแบบอย่างหาได้ไม่

ในเรื่องนี้ ประเทศไทยมีสภาพและประสบการณ์แตกต่างจากอเมริกามาก ศาสนาที่นับถือก็มีลักษณะและหลักการพื้นฐานต่างกันไปคนละทิศคนละทาง จนรัฐธรรมนูญอเมริกัน โดยทางศาลสมัยก่อนมองไม่เห็นพุทธศาสนาอยู่ในคำว่าศาสนา

อีกประการหนึ่ง ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชน ก็ถือหลักคำสอนลงกันได้เป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียว ไม่แตกแยกไปคนละทางอย่างในอเมริกา

และในประการสำคัญ การสอนพุทธศาสนาโดยหลักการก็ไม่อาจจะเป็นการยัดเยียดลัทธิ หรือการยัดใส่ความเชื่อขึ้นมาได้ เพราะดังเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า พระพุทธศาสนาไม่เป็นศาสนาที่บังคับศรัทธา แต่ตรงข้าม เป็นศาสนาแห่งปัญญา ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญขั้นพื้นฐานทีเดียวว่า จะต้องสอนโดยให้ผู้เรียนหรือผู้ฟังรู้จักคิดพิจารณา ใช้วิจารณญาณวินิจฉัย ตรวจสอบ ชั่งตรอง และตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง

การสอนศาสนาแบบยัดเยียด ย่อมขัดต่อหลักการของพระพุทธศาสนา ถ้าใครได้สอนพระพุทธศาสนามาด้วยวิธียัดเยียดลัทธิหรือยัดใส่ความเชื่อ ก็เป็นความผิดพลาดในการสอนของผู้นั้นหรือคนเหล่านั้นเอง ซึ่งจะต้องไปหาทางปรับปรุงคุณภาพของผู้สอนและแก้ไขปรับปรุงวิธีสอนกันเอง เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นปัญหากัน ไม่ใช่เรื่องของตัววิชาพระพุทธศาสนา จะเหมาคลุมเอาไม่ได้ ต้องแยกให้ถูกต้อง

ที่จริงน่าจะคิดในทางตรงข้ามว่า เรานี้โชคดีที่หลักการของพระพุทธศาสนาเอื้ออำนวยอยู่แล้ว ที่จะสอนแบบพัฒนาปัญญา เรายืนอยู่บนฐานที่ดีกว่าและพร้อมกว่าอยู่แล้ว ควรจะเดินหน้าโดยฉวยโอกาสพัฒนาครูและวิธีสอนขึ้นมาให้สอดคล้องรับกันไปเลย

1บางส่วนของเรื่องนี้ ดู Thomas R. Ascik, "The Courts and Education," The World & I, March 1986, pp. 661-675.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.