ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถ้าจะมองเขา ก็ควรสืบสาวให้ถึงเหง้าถึงราก

เรื่องความเจริญและความเสื่อมของฝรั่งนี้ อาจยกเอามาเป็นตัวอย่างสำหรับการมองความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในทางจริยธรรมระดับสังคม

ฝรั่งบางคน เมื่อมีใครถามถึงแรงจูงใจที่จะทำให้คนขยันหมั่นเพียร ทำการงาน สร้างตัวสร้างฐานะของตน ตลอดจนสร้างความมั่งคั่งเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคม ก็อาจจะตอบโดยไม่ได้ตั้งสติพิจารณา และไม่ได้คิดให้ลึกซึ้งว่า ความโลภหรือตัณหาเป็นแรงจูงใจให้คนเพียรพยายามสร้างความสำเร็จเช่นนั้น แต่เมื่อผู้ถามโยงคำถามนั้นเข้าไปหาประวัติการสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศตะวันตกที่รุ่งเรืองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ตลอดยุคอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน เขาอาจจะหยุดคิด ตั้งท่าทีใหม่ และเปลี่ยนคำตอบ

พวกฝรั่งที่เติบโตมาในวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของความเป็นนักผลิต มักถือตัวและมีความภูมิใจว่า บรรพชนของพวกเขาได้พัฒนาอุตสาหกรรมมาได้สำเร็จ และสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ อันพรั่งพร้อมด้วยวัตถุและเทคโนโลยีมาได้อย่างที่ปรากฏอยู่นี้ ก็เพราะมีความยึดถือหนักแน่นในจริยธรรมแห่งการทำงาน ที่พวกเขาเรียกว่า work ethic (เดิมทีเรียกว่า the Protestant ethic) และได้ปลูกฝังอบรมถ่ายทอดการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมนี้สืบต่อกันมาจนฝังลึกติดแน่นอยู่ในชีวิตจิตใจ กลายเป็นลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพของคน และเป็นวัฒนธรรมของสังคมของเขา

จริยธรรมแห่งการทำงานมีหลักการสำคัญว่า การทำงานหนักหรือความขยันงาน และความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน เป็นคุณธรรม และเป็นหลักที่พิสูจน์ความเป็นคนมีศีลธรรม คนมีศีลธรรมจะถือว่างานเป็นหลักของชีวิต และความสัมฤทธิ์ผลของงานเป็นเป้าหมายของชีวิตนั้น คนจะต้องรู้จักบังคับควบคุมตนเอง ไม่ยอมตามใจกิเลส ไม่ยอมตามใจความอยาก ไม่ยอมแสวงหาความสุขสำราญ แต่ต้องตั้งใจทำงานให้มากที่สุด ด้วยความขยันหมั่นเพียร ประหยัด อดออม กระเหม็ดกระแหม่ ส่วนผลได้ที่เกิดจากการทำงานนั้น จะต้องสะสมเก็บออมเอามาใช้เป็นทุนในการผลิต และสร้างสมโภคทรัพย์ต่อไป โดยอยู่อย่างขัดเกลาตนและมักน้อยสันโดษแบบชาวบ้าน (worldly asceticism) ไม่เอาทรัพย์ไปใช้ในการแสวงหาความสะดวกสบาย

ฝรั่งถือมาว่า จริยธรรมแห่งการทำงานนี้แหละ ที่ได้ทำให้ลัทธิทุนนิยม และระบบอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตกเจริญก้าวหน้ามาอย่างประสบความสำเร็จดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และจากนี้ก็จะเห็นว่า ทั้งตามทฤษฎีและตามประวัติในเชิงปฏิบัติ หลักฐานยืนยันชัดว่า ความโลภหรือตัณหา มิใช่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเจริญพัฒนาแก่สังคมตะวันตก แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จ ก็คือคุณธรรมที่ตรงข้ามกับโลภะหรือตัณหาทั้งสิ้น กล่าวคือ ความประหยัด อดออม มักน้อย สันโดษ ที่พ่วงมากับความเพียรพยายามและขยันอดทน

ประวัติศาสตร์ของสังคมตะวันตกนั้น เต็มไปด้วยการดิ้นรนต่อสู้กับภัยและอำนาจที่บีบคั้นกดขี่ ทั้งภัยธรรมชาติที่บีบคั้นความดำรงอยู่ด้านกาย และการใช้อำนาจบังคับศรัทธาบีบคั้นปัญญา การบีบคั้นนั้นทำให้เขารู้จักดิ้นรนต่อสู้จนเกิดความเจริญก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและทางวิชาการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยเทคโนโลยี

ทางด้านวัตถุ หรือปัจจัยยังชีพ ในระยะแรกฝรั่งดิ้นรนต่อสู้สร้างสรรค์อุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขเอาชนะความขาดแคลน และพร้อมกับอุตสาหกรรมนั้น วิทยาศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าควบคู่กันมา โดยทำหน้าที่เป็นตัวหนุนหล่อเลี้ยง หรือรับใช้ให้เป้าหมายของอุตสาหกรรมลุความสำเร็จ ระหว่างนั้นเอง แนวความคิดใหม่ได้เกิดขึ้นเบื้องหลังการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ คือ ความเชื่อว่า ความสำเร็จของมนุษย์ หมายถึงการพิชิตธรรมชาติ ด้วยการรู้ความลับของธรรมชาติแล้วนำความรู้นั้นมาจัดการจัดสรรธรรมชาติให้สนองรับใช้ความต้องการของมนุษย์ ความคิด ความเชื่อนี้ได้เข้าประสานกับแนวความคิดอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะต่อๆ มา คือ ความเชื่อว่า ความสุขสมบูรณ์ของมนุษย์อยู่ที่การมีวัตถุปรนเปรออย่างพรั่งพร้อม

หลักจริยธรรมที่ยึดถือปฏิบัติ พร้อมทั้งแนวความคิดและความเชื่อที่กล่าวมานี้ ฝรั่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่อารยธรรมตะวันตก ดังที่มนุษย์ได้เสวยผลความรุ่งเรืองพรั่งพร้อมสะดวกสบายกันสืบมาจนปัจจุบัน แต่อีกด้านหนึ่งเบื้องหลังความเจริญก้าวหน้านี้ มนุษย์ยุคปัจจุบันก็ได้เริ่มรู้ตัวแล้วว่า โลกมนุษย์กำลังประสบภยันตรายและปัญหาที่ร้ายแรงมากมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากวิธีสร้างความเจริญก้าวหน้าในยุคอุตสาหกรรมตามแบบของตะวันตก ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น

และระหว่างเวลาเดียวกันนี้เอง อีกด้านหนึ่ง ท่ามกลางกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอันซับซ้อนทั้งในสังคมและธรรมชาติ สังคมตะวันตกก็ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่แฝงซ่อนความเสื่อมไว้เบื้องหลังสภาพความเจริญรุ่งเรืองของตะวันตก ก็คือ ความเสื่อมลงของจริยธรรมแห่งการทำงาน สังคมอเมริกันได้เปลี่ยนจากความเป็นสังคมของนักผลิตไปเป็นสังคมของนักบริโภค

งานวิจัยของ D.J. Cherrington เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ แสดงผลว่า จริยธรรมแห่งการทำงานในสังคมอเมริกัน เสื่อมถอยลง โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ คนทำงานชาวอเมริกันที่เชื่อในจริยธรรมแห่งการทำงานปัจจุบันลดเหลือเพียง ๑ ใน ๓ ส่วน และปรากฏผลด้วยว่า คนที่ยังเชื่อมั่นในจริยธรรมแห่งการทำงานเป็นผู้สร้างผลผลิตได้มากกว่า และมีความพอใจในการทำงานมากกว่า1

ภาพอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ก็คือ การที่สังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้นำและเป็นตัวแทนความเจริญก้าวหน้าของสังคมตะวันตก ได้พบคู่แข่งทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีท่าทางว่ากำลังจะแซงล้ำหน้าอเมริกา ในความเจริญก้าวหน้าแบบสมัยใหม่นี้

เหตุปัจจัยแห่งความเจริญก้าวหน้าของญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่น่าศึกษา และแน่นอนว่าเหตุปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ ลักษณะทางด้านจริยธรรมของคนและสังคมญี่ปุ่น ซึ่งสะสมมาอย่างยาวนานในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น อันปรากฏในจิตใจและบุคลิกภาพของคนญี่ปุ่น และระบบการร่วมอยู่ร่วมทำงานในสังคม ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ปรารถนาจะทำการด้วยปัญญาควรจะได้ศึกษาสืบค้นวิเคราะห์ออกมา อย่างน้อยปัจจัยตัวหนึ่งทางจริยธรรมของชาวญี่ปุ่นที่พอจะมองเห็นกันอยู่ ก็คือ ความมีชาตินิยมอย่างแรงกล้า ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า จะต้องเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่น

1D.J. Cherrington. The Work Ethic. New York: AMACOM, 1980.

และดูแหล่งความคิดเดิม ใน

Max Weber. The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism. New York: Scribner, 1958.

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.