ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การพัฒนาจริยธรรม เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย
ที่สัมพันธ์กันทั้งระบบเป็นองค์รวม

ได้กล่าวแล้วว่า ทฤษฎีของโกลเบอร์กได้ช่วยให้ความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมของตะวันตกก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือ การย้ำถึงความสำคัญของปัญญาในฐานะเป็นปัจจัยเอกของกระบวนการพัฒนาทางจริยธรรม ซึ่งเท่ากับเป็นการมองว่า พัฒนาการทางจริยธรรมเป็นเรื่องของความเป็นเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ และภายในระบบเหตุปัจจัยนี้ องค์ประกอบภายในของบุคคล คือปัญญา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางจริยธรรมนั้น การพัฒนาจริยธรรมไม่ใช่เป็นเพียงการทำให้เด็กยึดถือตามกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมที่กำหนดวางเป็นบัญญัติของสังคมไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้เห็นว่า ความคิดเชิงระบบของโกลเบอร์กยังไม่ชัดเจนทีเดียวนัก และโกลเบอร์กมองปัจจัยในกระบวนการพัฒนาจริยธรรมนั้นจำกัดแคบเกินไป โดยเห็นปัจจัยอย่างเดียวและทางเดียว คือ เห็นแต่ปัญญาอย่างเดียวและเป็นปัจจัยข้างเดียว พูดให้ถึงฐานก็คือ โกลเบอร์กยังมองไม่เห็นว่าการพัฒนาจริยธรรม เป็นองค์รวมแห่งระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่เป็นปัจจัยแก่กันหลายอย่างหลายด้าน และยังมองความหมายของจริยธรรมเป็นเพียงพฤติกรรมทางสังคมที่ถูกต้องดีงาม ไม่มองเห็นว่าจริยธรรมคือระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงามทั้งหมด

องค์ประกอบสำคัญที่โกลเบอร์กไม่พูดถึง ซึ่งเป็นปัจจัยในการพัฒนาจริยธรรมด้วย ก็คือ องค์ประกอบด้านจิตใจ (ภาษาไทยปัจจุบันเรียกว่าด้านอารมณ์) สภาพจิตใจ ทั้งคุณภาพจิต สมรรถภาพจิต และสุขภาพจิต เช่น ความสุขสดชื่นร่าเริงเบิกบานใจ หรือความทุกข์ความเศร้าหม่นหมองคับแค้นใจ ความสนใจ พอใจ ความอดทน ความมีสติ ไม่ประมาท เป็นต้น โดยเฉพาะการฝึกความเข้มแข็งของจิตใจ ที่จะทำได้ตามเหตุผลที่มองเห็นด้วยปัญญา และความเข้มแข็งทางจริยธรรม ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมทางจริยธรรม ทั้งโดยตรง และโดยส่งผลผ่านทางปัญญา

คนที่มีความสุขย่อมมองสถานการณ์ที่เป็นปัญหาด้วยความคิดอย่างหนึ่ง ส่วนคนที่ถูกความทุกข์ครอบงำ เช่นมีความผิดหวัง หรือคับแค้นใจ ก็อาจจะถูกสภาพจิตใจเช่นนั้นหันเหให้มองและคิดต่อสถานการณ์นั้นไปอีกอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาจริยธรรม จะมองแต่ในด้านที่จะพัฒนาความคิดเหตุผลอย่างเดียว ไม่เพียงพอ พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากจริยธรรมบางครั้งก็คือ ปฏิบัติการในการระบายทุกข์ในจิตใจของบุคคล

พระพุทธศาสนามองการพัฒนาจริยธรรมว่าเป็นการปฏิบัติต่อองค์รวมแห่งระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นปัจจัยแก่กันและกัน แม้ว่าปัญญาจะเป็นปัจจัยเอก โดยเป็นตัวตัดสินขั้นสุดท้าย แต่ก็ต้องมองความสัมพันธ์ทั้งระบบว่า การควบคุมพฤติกรรมภายนอกด้วยวินัยและการทำเป็นนิสัยก็ดี การฝึกอบรมจิตใจก็ดี การฝึกความคิดและใช้ปัญญาก็ดี ต่างก็เป็นปัจจัยที่มีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการพัฒนาจริยธรรม และปัจจัยแต่ละอย่างก็ส่งผลมีอิทธิพลหนุนเสริมต่อกันให้ต่างก็พัฒนาไปด้วยกัน และผลรวมการพัฒนาขององค์ประกอบเหล่านี้ นั่นแหละคือการพัฒนาจริยธรรม

ในวงการการศึกษา และจิตวิทยาการศึกษาของตะวันตก ได้มีความนิยมจัดแบ่งขอบเขตที่การศึกษาจะเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือแบ่งชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของบุคคลออกเป็นด้านๆ หรือเป็นแดนๆ ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ เช่นที่นิยมแบ่งพัฒนาการของบุคคล เป็น ๔ ด้าน คือ

  1. พัฒนาการทางร่างกาย (physical development)
  2. พัฒนาการทางสังคม (social development)
  3. พัฒนาการทางอารมณ์ (emotional development)
  4. พัฒนาการทางปัญญา (intellectual development)

หรือแบ่งคล้ายๆ กันอย่างนี้เป็น ๔ เหมือนกัน คือ พัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการทางปัญญา พัฒนาการทางบุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม

หรืออย่างที่เบนจามิน เอส. บลูม (Benjamin S. Bloom) แบ่งเป็น ๓ แดน คือ

  1. พุทธิพิสัย (cognitive domain) แดนความรู้ และความคิด
  2. เจตพิสัย (affective domain) แดนความรู้สึก อารมณ์ และทัศนคติ
  3. ทักษพิสัย (psychomotor domain) แดนประสานงานจิตขับเคลื่อนกาย

ปรากฏว่า การแบ่งด้านแบ่งแดนอย่างนี้ มีความใกล้เคียงอย่างยิ่งกับการจำแนกที่มีอยู่ก่อนนานแล้วในพระพุทธศาสนา ถ้าดูเพียงแค่ตามตัวอักษรก็แทบจะไม่แตกต่างกันเลย กับการที่พระพุทธศาสนาจำแนกภาวนา คือการพัฒนาเป็น ๔ ด้าน ได้แก่ กายภาวนา (การพัฒนากาย) ศีลภาวนา (การพัฒนาพฤติกรรมที่แสดงออกต่อสภาพแวดล้อม) จิตตภาวนา (การพัฒนาจิตใจ) และปัญญาภาวนา (การพัฒนาปัญญา) และจำแนกการศึกษาหรือสิกขาเป็น ๓ ส่วนคือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา หรือ ศีล สมาธิ และปัญญา แต่เมื่อตรวจดูเนื้อหาสาระก็มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร ในแง่ของขอบเขตและจุดที่เน้นย้ำ

ที่สำคัญที่สุดก็คือ การแบ่งแยกในวงการศึกษาสมัยใหม่แบบตะวันตกมุ่งประโยชน์ในแง่ของการใช้เป็นขอบเขต เป็นด้านเป็นแดน สำหรับทำการสังเกต ตรวจสอบ วัดผล ประเมินผลในทางการศึกษาเป็นสำคัญ และไม่ได้เน้นมากในแง่ของความสัมพันธ์ส่งผลต่อกันระหว่างด้านหรือแดนเหล่านั้นในกระบวนการของการศึกษา

แต่ในทางพระพุทธศาสนา ด้านแดนหรือส่วนจำแนกเหล่านี้ นอกจากเป็นเครื่องตรวจสอบหรือวัดผลการศึกษาแล้ว สาระสำคัญอยู่ที่การเอามาใช้เป็นองค์ประกอบ และขั้นตอนในกระบวนการของการศึกษาหรือพัฒนาคน หรือพูดให้ตรงแท้ว่า เป็นส่วนต่างๆ ของกระบวนการศึกษาหรือพัฒนาคนนั้นทีเดียว และจุดเน้นที่นับว่าเป็นหัวใจของระบบทีเดียวก็คือ ความสัมพันธ์อย่างอิงอาศัยเป็นปัจจัยต่อกัน ระหว่างส่วนต่างๆ ของการศึกษาเหล่านั้น

ข้อที่น่าสังเกตมากทีเดียวก็คือ ในวงการศึกษาสมัยใหม่ พัฒนาการ ๔ ด้าน และพิสัย ๓ แดนนี้ ถือว่าเป็นเรื่องในระดับของการศึกษาทั้งหมดเป็นส่วนรวม ซึ่งจริยศึกษาจะต้องแบ่งแยกย่อยออกมาจากส่วนรวมนั้นอีกทีหนึ่ง แต่ในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าพัฒนาการ ๔ ด้าน และพิสัย ๓ แดนก็ตาม หรือภาวนา ๔ และสิกขา ๓ ก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องของจริยศึกษาทั้งสิ้น หรือว่าจริยศึกษาครอบคลุมส่วนแบ่งจำแนกเหล่านี้ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะว่า ในความหมายของพระพุทธศาสนา จริยธรรมคือการดำเนินชีวิตทั้งหมด การศึกษาก็คือการฝึกฝนพัฒนาให้คนดำเนินชีวิตได้อย่างดีงาม ดังนั้น การศึกษา ก็เพื่อจริยะ และจริยะ ก็จึงเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งหมด

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.