ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จากคติแห่งศาสนศึกษาในอังกฤษ สู่ความคิดหาทางสายกลางของการจัดจริยศึกษา

๑๑. ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐให้แยกอาณาจักรกับศาสนจักรขาดออกจากกัน และไม่ให้มีการสอนจริยธรรมตามหลักศาสนานิกายใดนิกายหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ให้สอนจริยธรรมที่เป็นกลางๆ อย่างที่เรียกว่าศาสนาประชาราษฎร์ เนื่องจากศาสนาคริสต์ต่างนิกายกันตกลงกันไม่ได้ดังกล่าวแล้ว หันไปมองดูประเทศที่พัฒนาแล้วในซีกโลกตะวันตกอีกประเทศหนึ่ง ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือกันว่าเป็นแม่แบบแห่งระบอบประชาธิปไตย กลับถือศาสนาคริสต์นิกายอังกฤษหรือแองกลิคาน (Church of England) เป็นศาสนาประจำชาติ หรือศาสนาของราชการ และตรากฎหมายบังคับ ให้โรงเรียนต้องจัดสอนวิชาศาสนาให้นักเรียนต้องได้เรียนวิชาศาสนาคริสต์ทั่วทุกคน

อาจพูดสั้นๆ ว่า ในประเทศอเมริกา วิชาบังคับที่แท้มีวิชาเดียว คือ วิชาการปกครองของประเทศอเมริกา แต่ในประเทศอังกฤษ วิชาบังคับแท้จริงมีวิชาเดียว คือวิชาศาสนาคริสต์

ในประเทศอังกฤษ พระราชบัญญัติการศึกษา ค.ศ. ๑๙๔๔ (พ.ศ. ๒๔๘๗) กำหนดให้การเรียนวิชาศาสนา เป็นการศึกษาบังคับสำหรับนักเรียนทุกคน จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๓๑ รัฐได้ออกกฎหมายใหม่ เรียกว่าพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษา ค.ศ. ๑๙๘๘ กฎหมายใหม่นี้ ได้กำหนดหลักสูตรพื้นฐานขึ้นมา (basic curriculum) โดยจัดแยกเป็น ๒ ส่วน คือ การศึกษาวิชาศาสนา (religious education) ที่มีมาแต่เก่าก่อนนั้นส่วนหนึ่ง กับส่วนที่เพิ่มเข้ามาใหม่เรียกว่า หลักสูตรแห่งชาติ (National Curriculum) ซึ่งประกอบด้วยวิชาสามัญต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น1

มีข้อแตกต่างที่ควรสังเกตก็คือ วิชาทั้งหลายในส่วนที่สองที่เรียกว่าหลักสูตรแห่งชาตินั้น บังคับเฉพาะเด็กนักเรียนที่มีอายุในเกณฑ์บังคับเท่านั้น แต่วิชาศาสนาซึ่งเป็นส่วนแรก เป็นวิชาบังคับสำหรับนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะมีอายุอยู่ในเกณฑ์บังคับหรือไม่ และในส่วนของวิชาศาสนานี้ กฎหมายใหม่ได้สำทับให้การเล่าเรียนและการปฏิบัติศาสนาคริสต์เป็นไปอย่างหนักแน่นมากขึ้น ในขณะที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเรียนศาสนาอื่นได้ด้วย (คงเป็นเพราะปัจจุบันนี้ ในประเทศอังกฤษมีคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาเข้าไปอยู่อาศัยมากขึ้น)

การศึกษาวิชาศาสนาตามกฎหมายปัจจุบันของอังกฤษ มีข้อสังเกตที่สำคัญอย่างอื่นอีก คือ

  • การศึกษาวิชาศาสนา ถือเป็นเรื่องสำคัญถึงกับกำหนดบังคับไว้ในกฎหมายของรัฐ
  • การศึกษาวิชาศาสนามีฐานะพิเศษ ถึงกับแยกไว้เป็นส่วนหนึ่ง ต่างหากจากหลักสูตรวิชาสามัญทั่วไป โดยมีความสำคัญของตัวเองอย่างเป็นอิสระ
  • การศึกษาวิชาศาสนานี้แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ การศึกษาวิชาศาสนา กับการประชุมประกอบพิธีบูชาประจำวัน (การสวดมนต์ไหว้พระ) และกำหนดไว้ด้วยว่า หลักสูตรจะต้องสะท้อนให้เห็นความจริงว่า ศาสนาที่สืบๆ มาในประเทศอังกฤษ มีศาสนาคริสต์เป็นหลัก และการประกอบพิธีบูชา จะต้องเป็นไปตามแบบของศาสนาคริสต์ทั้งหมดหรือโดยส่วนใหญ่ การเรียนและการประกอบพิธีบูชาตามหลักศาสนาคริสต์นี้ จะได้รับการยกเว้น เฉพาะเด็กนักเรียนที่พ่อแม่ยื่นคำร้องขอให้ยกเว้น
  • ครูที่สอนวิชาศาสนาและครูที่จะนำพิธีประชุมสวดมนต์บูชานั้น ทางการให้ความสำคัญมาก ถึงกับกำหนดไว้ในกฎหมายว่า จะต้องใช้ครูที่มีคุณวุฒิโดยตรง จะใช้ครูที่ไม่มีคุณวุฒิโดยตรงได้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถหาครูที่มีคุณวุฒิได้เท่านั้น ถ้าไม่มีครูที่พร้อมจะนำพิธีสวดมนต์บูชา ครูใหญ่จะต้องรับผิดชอบหาบุคคลที่สามารถมานำพิธีให้ได้ นอกจากนั้น ยังกำหนดกระบวนวิธีให้ผู้บริหารต้องกลั่นกรองอย่างมาก เพื่อจะให้ได้ครูที่มีความสามารถและมีความเหมาะสม ที่จะแต่งตั้งเป็นครูเฉพาะวิชานี้ กับทั้งกำหนดวิธีการให้ดำเนินการปลดครูสอนวิชาศาสนานั้นออกไป ในเมื่อไม่สามารถสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
  • กฎหมายกำหนดให้ถือว่า การฝึกอบรมครูสอนวิชาศาสนานั้นเป็นกิจสำคัญระดับแรกสุดของชาติ (a national priority) อย่างหนึ่ง กำหนดให้มีทั้งการฝึกอบรมครูที่ชำนาญเฉพาะ การฝึกอบรมครูที่ไม่ชำนาญเฉพาะให้เป็นครูชำนาญเฉพาะขึ้นใหม่ และการฝึกอบรมแบบปรับตัวแก่ครูผู้ชำนาญเฉพาะให้เป็นผู้ที่ทันการอยู่เสมอ
  • นอกจากวิชาศาสนาโดยตรงนี้แล้ว เนื้อหาที่ต้องเรียนเกี่ยวกับศาสนายังอาจปรากฏในวิชาอื่นๆ ตามแต่จะเกี่ยวข้องอีกด้วย

ในด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ศาสนา และวัฒนธรรมนั้น ประเทศอังกฤษมีลักษณะคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับประเทศไทย มากกว่าประเทศอเมริกาอย่างแน่นอน ผู้บริหารประเทศและผู้บริหารการศึกษาของไทย จึงน่าจะได้ศึกษาพิจารณาหาคติ จากการจัดการศึกษาของประเทศอังกฤษบ้าง ไม่ควรมองที่จะเอาอย่างแต่อเมริกาสถานเดียว

การบังคับไม่ยอมให้นักเรียนซึ่งมีศาสนาอยู่แล้ว ได้เล่าเรียนทำความรู้จักศาสนาที่ตนนับถือ ก็เป็นสุดโต่งไปข้างหนึ่ง เว้นแต่จะมีเหตุผลขัดข้อง ทำให้ไม่อาจทำได้อย่างในประเทศอเมริกา ส่วนการบังคับให้นักเรียนที่นับถือศาสนาต่างออกไป ต้องเรียนศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ โดยไม่ยอมให้เขาได้มีโอกาสเรียนศาสนาที่เขานับถือ ก็เป็นสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง

ข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง พอดีๆ ก็คือ ให้นักเรียนทั้งหลายได้มีโอกาสเรียนรู้ศาสนาที่ตนนับถือ และให้การศึกษาศาสนานั้น เป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนาคุณภาพประชากร ถ้าประชากรทั้งหมด หรือส่วนใหญ่แทบทั้งหมด นับถือศาสนาเดียวกันตามหลักคำสอนเดียวกันอยู่แล้ว รัฐก็เข้ารับภาระจัดการศึกษาศาสนา สำหรับคนส่วนใหญ่นั้น โดยถือเป็นกิจของประเทศชาติ แต่พร้อมกันนั้นก็เอื้ออำนวยให้คนส่วนน้อยมีโอกาสที่จะได้เล่าเรียนศาสนาของตนๆ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง (เช่น รัฐจะช่วยเอาธุระมากน้อยแค่ไหน ก็พิจารณาตามจำนวนผู้นับถือ เป็นต้น)

1Department of Education and Science. National Curriculum: From Policy to Practice. England: National Curriculum Council, 1989, pp. 1-52.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.