มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทำไมความต่างศรัทธา จึงขยายเป็นสงครามศาสนา

อหิงสานั้น ฝรั่งแปลว่า nonviolence แต่คำนี้ฝรั่งเพิ่งใช้มาได้ประมาณ ๘๐ ปี (เริ่มใช้ราว ค.ศ.1920) และเพราะเหตุที่เขารู้จักคำนี้จากเรื่องขบวนการกู้เอกราชของมหาตมคานธีในอินเดีย ฝรั่งก็จึงมักใช้คำนี้ในแง่เป็นอุดมการณ์หรือขบวนการทางการเมือง

ส่วนการอยู่ร่วมกันได้กับคนพวกอื่นที่ต่างเชื้อชาติ ต่างลัทธิศาสนาเป็นต้นนั้น ฝรั่งมีคำของเขาที่ใช้กันมา คือ tolerance (=ขันติธรรม) ที่เคยพูดถึงแล้วข้างต้น (หน้า ๒๘-๒๙)

เมื่อพูดถึง tolerance คือ ความยอมทนกันได้ หรือความยอมทนเห็นทนได้ยินคนอื่นที่เขาเชื่อถือหรือมีศาสนาต่างจากตนได้ หรือแปลให้ไพเราะขึ้นอีกว่า ความมีใจกว้างแล้ว ก็ควรพูดถึงถ้อยคำที่ตรงข้ามกันด้วย

ภาวะที่ตรงข้ามกับ tolerance ก็คือ intolerance ได้แก่ ความทนไม่ได้ หรือยอมไม่ได้ที่จะให้คนอื่นเชื่อถือต่างไปจากตน หมายความว่า เห็นหรือได้ยินคนอื่นพวกอื่นมีความเชื่อถือหรือนับถือต่างไปจากตนแล้ว ทนดูทนฟังไม่ได้ อยู่ร่วมด้วยไม่ได้ ตลอดจนปล่อยไว้ไม่ได้

(มีคำใกล้เคียงคือ bigotry แปลว่า ความเชื่อรั้นฝังหัว ความมีใจคับแคบยึดเอาแต่ทิฏฐิหรือลัทธิของตน และ religious fanaticism แปลว่า ความคลั่งศาสนา)

คำตรงข้ามกับ tolerance ไม่จบแค่นี้ เพราะว่า เมื่อยอมไม่ได้ หรือทนไม่ได้แล้ว ก็มักจะต้องแสดงหรือทำอะไรออกมาในทางที่เป็นการขัดแย้งหรือรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง

ถ้าตนเองมีกำลังอำนาจหรือมีพวกมากกว่า ความยอมไม่ได้ทนไม่ได้ คือ intolerance นั้น ก็มักแสดงออกเป็นการกระทำที่ฝรั่งเรียกว่า persecution ซึ่งแปลว่า การบีบคั้นข่มเหง การกำจัดกวาดล้าง หรือการห้ำหั่นบีฑา เช่น ไล่ฆ่าฟัน หรือจับเอาไปฆ่าหรือทำทารุณกรรม เมื่อเป็นการห้ำหั่นบีฑาด้วยเรื่องทางศาสนาก็เรียกว่า religious persecution

ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีกำลังพอจะต่อสู้กัน หรือฝ่ายที่ถูกรังแกลุกขึ้นสู้ ก็กลายเป็นการรบราฆ่าฟันกัน ซึ่งมีมากมายที่กลายเป็นสงครามที่เรียกว่าสงครามศาสนา ตามคำฝรั่งที่เรียกว่า religious war

สงครามศาสนานี้ อาจจะเป็นสงครามเพื่อศาสนา ที่ในบางศาสนายอมรับหรือสนับสนุน ดังที่ฝรั่งมีคำเรียกว่า holy war ซึ่งอาจจะแปลว่า สงครามศักดิ์สิทธิ์ หรือสงครามเพื่อพระเป็นเจ้า

สงครามศาสนาที่โป๊ปทรงรับรองหรืออนุมัติ มีชื่อเรียกพิเศษว่า ครูเสด (crusade)

holy war นี้ฝรั่งว่าชาวมุสลิมก็มีเรียกว่า ญิฮาด (ฝรั่งเขียน jihad) ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่เลยทีเดียว ฝรั่งบางทีถึงกับเรียกอิสลามว่าเป็นศาสนาที่เผยแพร่ด้วยคมดาบ แต่ชาวมุสลิมแย้งว่าชาวตะวันตกเข้าใจความหมายของญิฮาดผิดไปมาก

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความขัดแย้ง ตลอดจนสงครามที่เกี่ยวข้องกับศาสนานั้น จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเพื่อกันความสับสน โดยแยกเป็น ๒ อย่าง

๑. การสู้รบหรือสงครามเพราะไม่ยอมให้นับถือศาสนาต่างกัน (หรือแม้แต่ศาสนาเดียวกัน แต่ต่างนิกายกัน) ตรงกับความหมายที่กล่าวข้างต้นว่า เห็นคนอื่นเชื่อถือหรือนับถือต่างไปจากตนแล้ว ทนหรือยอมปล่อยไว้ไม่ได้ ไม่ให้โอกาสแก่เขาที่จะเชื่อถือหรือนับถืออย่างอื่น เป็นการขัดแย้งหรือสงครามที่เกิดจากศาสนา หรือเพราะปรารภความต่างศาสนาโดยตรง

๒. การสู้รบหรือสงครามระหว่างคนต่างพวก ที่นับถือศาสนาต่างกัน หมายความว่า คนเหล่านั้นมีพื้นเดิมที่แบ่งแยกกันเป็นคนละพวกอยู่แล้ว โดยที่สาเหตุให้แบ่งแยกอาจจะเกิดจากความต่างเชื้อชาติต่างเผ่าต่างผิวเป็นต้น แล้วความต่างศาสนาก็ไปประกอบเข้าด้วย เมื่อมีเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้น ความยึดถือในความเป็นพวกเขาพวกเรา หรือของเขาของเรา ก็ทำให้เกิดการขัดแย้งสู้รบกันขึ้น

พูดง่ายๆ ให้เห็นจุดแยกก็คือ

อย่างแรก เป็นการสู้รบเพราะ ความต่างศาสนา

อย่างที่สอง เป็นการสู้รบเพราะ ความต่างพวก

จะเห็นว่าตัวเหตุไม่เหมือนกัน คืออยู่ที่ความต่างศาสนาหรือความต่างพวก

มีบ่อยครั้งมากที่คนพวกเดียวกัน เช่น เชื้อชาติ ผิว เผ่าพันธุ์ หรือแม้แต่วงศ์ตระกูล หรือครอบครัวเดียวกัน ได้หันมารบราฆ่าฟันกันเพราะหันไปนับถือลัทธิศาสนาหรือนิกายศาสนาต่างกัน

จะเห็นว่า การเบียดเบียนสู้รบกันแบบที่ ๑ เป็นเรื่องที่เกิดจากศาสนาโดยตรง หรือเกิดขึ้นโดยปรารภศาสนา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีวัตถุประสงค์ต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง คือ

ก. เพื่อเผยแพร่ศาสนาของตน หรือให้เขายอมรับศาสนาของตน ด้วยการใช้กำลังบังคับ

ข. เพื่อกำจัดกวาดล้างศาสนาหรือลัทธิความเชื่อถืออย่างอื่น ซึ่งตนถือว่าเป็นบาป เป็นความชั่วร้าย ตลอดจนกำจัดคนที่เชื่อถือหรือประพฤติปฏิบัติอย่างอื่นที่ตนถือว่าเป็นบาป

การห้ำหั่นบีฑาและการทำสงครามแบบนี้ จึงจะตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า religious persecution และ religious war ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วมากมายในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในโลกซีกตะวันตก

ตามปกติ การเบียดเบียนและการสู้รบแบบนี้ จะต้องมีฐานอยู่ที่หลักการหรือคำสอนของศาสนานั้นๆ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม กล่าวคือ

๑) มีคำสอนในคัมภีร์ ที่ส่งเสริมหรือยอมรับการที่จะไปบังคับคนอื่นให้มาเชื่ออย่างตนหรือนับถือศาสนาของตน

๒) มีคำสอนหรือหลักการที่ให้ยกไปอ้างได้ว่า การรบหรือการฆ่าฟันสังหารกันในกรณีอย่างนั้น เป็นบุญ หรือเป็นความถูกต้องดีงาม

๓) หลักการหรือคำสอนของศาสนานั้นเป็นข้อปรารภในการก่อการเบียดเบียนหรือทำสงคราม อย่างที่เรียกว่า สงครามเพื่อเผยแพร่ศาสนา หรือสงครามในนามของศาสนา

๔) การมีความเห็นความเข้าใจหรือตีความคำสอนแตกต่างกัน ไม่อาจยุติหรือให้เป็นไปด้วยวิธีการแห่งปัญญาตามทางของการพูดจาด้วยเหตุผล แต่กลายเป็นเหตุให้ใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน ทำให้หมู่ชนแม้แต่ที่เป็นชาติเดียวกันนับถือศาสนาเดียวกัน ก็ต้องทำสงครามกัน

๕) สถาบันหรือองค์กรที่เป็นตัวแทนของศาสนา ให้การรับรองหรือสนับสนุนการกำจัดหรือการทำสงครามนั้น โดยอ้างหลักการหรือข้อปรารภตามหลักศาสนา

ยกตัวอย่างเช่น ทั้งที่คนทั้งหลายไม่ได้เป็นศัตรูกันเลย แต่องค์กรศาสนาอาจป่าวประกาศเชิญชวนว่าให้ไปช่วยกันปราบปรามกำจัดศัตรูของพระผู้เป็นเจ้า แล้วก็อาจจะเกิดสงครามที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการสู้รบกับศัตรูของมนุษย์เอง ดังในกรณีของสงครามครูเสด เป็นต้น

เมื่อว่าโดยสาระสำคัญ สาเหตุพื้นฐานของความทนเห็นทนได้ยินทนอยู่ด้วยไม่ได้ จะต้องไปกำจัดกวาดล้างหรือทำสงครามทางศาสนา ก็เนื่องจากการขาดความเป็นสากล ๓ อย่างที่พูดมาแล้ว คือ

๑. ความจริงที่เป็นสากล เช่นว่า การทำความดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ การทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก

แต่แทนที่จะถือเป็นกลางๆ อย่างนี้ ก็กลับมีการจำกัดว่า ต้องเป็นการทำดีที่ท่านผู้นั้นผู้นี้โปรดปรานยอมรับจึงจะทำให้ไปสวรรค์ได้ หรือแม้จะทำชั่ว ถ้าท่านผู้นั้นผู้นี้ยกโทษให้ ก็ไม่ต้องไปนรก ใครเป็นเจ้าของสวรรค์ ใครจะตัดสินให้ไปสวรรค์ได้หรือไม่ได้ เป็นต้น

๒. ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล เช่นว่า การทำลายชีวิตมนุษย์เป็นบาปหรือเป็นความไม่ดี ไม่สมควร(ทั้งนั้น)

แต่แทนที่จะถือเป็นกลางๆ อย่างนี้ ก็มีการจำกัดว่า ฆ่ามนุษย์พวกนี้จึงจะเป็นบาป ฆ่ามนุษย์พวกนั้นอยู่นอกศาสนา ไม่เป็นบาป แต่กลับได้บุญ เป็นต้น

๓. เมตตาที่เป็นสากล คือ ให้ทุกคนแผ่ความรู้สึกรักใคร่ไมตรีต่อเพื่อนมนุษย์ทั่วไป โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นกลุ่มไหนพวกใด นับถือลัทธิศาสนาใด

แต่แทนที่จะตั้งความรู้สึกเป็นกลางๆ อย่างนี้ ก็มีการจำกัดให้มีเมตตาต่อคนกลุ่มนี้นับถือศาสนานี้ แล้วให้เกลียดชังคนพวกโน้น หรือคนนอกศาสนาของตน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.