มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สมัยกลางของยุโรป ฝรั่งเรียกว่ายุคมืด
เพราะศาสนาคริสต์ครอบงำ ทำให้แสงแห่งปัญญาดับหาย

แม้แต่ชื่อเรียกยุคสมัยต่างๆ แห่งประวัติศาสตร์ของตะวันตก ก็เป็นถ้อยคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา ตั้งขึ้นโดยปรารภความเป็นไปที่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา หรือแม้แต่เป็นคำเรียกเหตุการณ์ในคริสต์ศาสนาโดยตรง กล่าวคือ

๑. Middle Ages หรือ สมัยกลาง (แห่งยุโรป) ค.ศ.476-1453 เป็นระยะเวลา ๑ พันปีที่คริสต์ศาสนามีกำลังและอิทธิพลเป็นเอกอันเดียวในยุโรป วัฒนธรรมมีแหล่งกำเนิดจากคริสต์ศาสนาแผ่ครอบคลุมชีวิตทุกด้านของสังคม รวมทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร

แต่ในสมัยกลางเองนั้น คำว่า “สมัยกลาง” หรือ “Middle Ages” ยังไม่เกิดขึ้น

ต่อมา เมื่อชาวยุโรปหลุดพ้นออกมาจากยุคสมัยนี้ พวกนักปราชญ์ตะวันตกผู้มองเห็นว่ายุโรปมีโอกาสหวนกลับคืนสู่ศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณอีกครั้งหนึ่ง จึงเรียกชื่อยุคสมัยที่ผ่านมา นั้นว่า “Middle Ages” (“สมัยกลาง”) ในความหมายว่าเป็นช่วงเวลาท่ามกลางระหว่างการเสื่อมสลายของศิลปวิทยาของกรีกและโรมันโบราณ จนกระทั่งศิลปวิทยานั้นกลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่อีกในยุคของพวกตน ที่เรียกว่า Renaissance

อนึ่ง ในระยะที่หลุดพ้นออกมาใหม่ๆ นั้น (จนถึงยุค Enlightenment ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘) ความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาต่อสภาพของสมัยกลางนั้นยังเด่นแรงอยู่ คนยุโรปจึงเรียกชื่อสมัยกลางนั้นอีกอย่างหนึ่งว่า Dark Ages แปลว่า ยุคมืด หมายถึงช่วงเวลาอันยาวนาน ที่อารยธรรมคลาสสิกอันอุดมด้วยศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณได้เลือนลับไป ทำให้ยุโรปตกอยู่ในความมืดมนอับปัญญา

พวกนักมนุษยนิยม (humanists) ที่คิดศัพท์ Middle Ages ขึ้นมาใช้ มองช่วงเวลาที่ล่วงผ่านไปก่อนยุคของพวกเขาว่า เป็นพันปีแห่งความมืดมัวและโมหะ (a thousand-year period of darkness and ignorance; บางทีก็เรียกสั้นๆว่า the age of ignorance หรือ a period of intellectual darkness and barbarity คือ ยุคแห่งความโหดและโฉดเขลา หรือยุคเฉาโฉดโหดเหี้ยม) จึงเรียกว่าเป็น Dark Ages

(บางทีนักประวัติศาสตร์ก็จำกัดช่วงเวลาให้จำเพาะลงไปอีกว่า Dark Ages เป็นช่วงต้นๆ ของสมัยกลางนั้น คือ ราว ค.ศ. 500-1000 และบางทีก็จำกัดสั้นลงไปอีกเป็น ค.ศ.476-800)

ต่อมา คนสมัยหลังที่ห่างเหตุการณ์มานาน มีความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาต่อสภาพของยุคสมัยนั้นเบาบางลง ก็เริ่มกลับไปเห็นคุณค่าบางอย่างของความเป็นไปในสมัยกลางนั้น เช่นว่า ถึงอย่างไรสมัยกลาง หรือยุคมืดนั้น ก็เป็นรากฐานที่ช่วยให้เกิด Renaissance

โดยเฉพาะที่สำคัญยิ่ง คือการที่ศาสนจักรคริสต์ได้เผชิญและผจญกับศาสนาอิสลาม ในสงครามครูเสดเป็นต้น ในหลายแห่งที่ฝ่ายคริสต์ชนะ ก็พลอยได้ตำรับตำราวิชาการต่างๆ ของกรีกและโรมันโบราณ ที่ชาวมุสลิมนำไปเก็บรักษา ถ่ายทอดและพัฒนาสืบมา

ตำรับตำราเหล่านี้ นักบวชคริสต์ได้คัดลอก เก็บรักษา หรือไม่ก็แปลกลับจากภาษาอาหรับเป็นภาษาละติน ซึ่งกลายมาเป็นแหล่งความรู้ให้แก่ยุค Renaissance (ยุคคืนชีพ)

ต่อมา ปราชญ์ชาวตะวันตกยุคหลังๆ จึงเห็นว่า ในสมัยกลางนั้น ประทีปแห่งวิทยาการยังส่องแสงอยู่บ้าง แม้จะริบหรี่ แต่ก็ไม่ถึงกับดับมืดเสียทีเดียว

ดังนั้น บัดนี้คำว่า Dark Ages จึงไม่เป็นที่นิยมใช้กันอีก (บางท่านแปลคำว่า ยุคมืด/Dark Ages นั้นให้หมายความว่าเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่เรารู้เรื่องกันน้อย)

ในสมัยกลางนี้ ผู้ที่จะเป็นจักรพรรดิก็ต้องให้องค์สันตะปาปา (Pope) สวมมงกุฏให้ จักรวรรดิโรมันที่เจ้าเยอรมันรื้อฟื้นตั้งขึ้นใหม่ ก็มาเรียกโดยเติมคำว่า “holy” เข้าข้างหน้า เป็น the Holy Roman Empire (ช่วง ค.ศ.962-1806)

การที่ศาสนาคริสต์มีอำนาจยิ่งใหญ่ครอบคลุมอย่างนี้ ก็ทำให้เกิดมีความคิดที่ให้ถือยุโรป(ตะวันตก) เป็นศาสนรัฐที่กว้างใหญ่อันหนึ่งอันเดียว เรียกว่า “Christendom” (แปลได้ว่า “คริสต์จักร” หรือ “คริสต์อาณาจักร”)

Christendom นี้ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการ ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายศาสนาธิการ (sacerdotium) ซึ่งองค์สันตะปาปา (Pope) มีอำนาจสูงสุด กับฝ่ายรัฏฐาธิการ (imperium) ซึ่งมีจักรพรรดิ (Emperor) ทรงอำนาจสูงสุด โดยทั้งสองฝ่ายปฏิบัติงานเสริมซึ่งกันและกัน (นี้เป็นเพียงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติสองฝ่ายได้ขัดแย้งแย่งชิงอำนาจกันมาตลอด)

ในสมัยกลางนี้เช่นกัน ที่คริสต์ศาสนจักรได้รวมพลังกษัตริย์ ขุนพล และพลเมืองของประเทศทั้งหลายทั่วยุโรป ทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ หรือสงครามเพื่อพระผู้เป็นเจ้า (holy war) เพื่อปลดปล่อยดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land คือ เมืองเยรูซาเลม) จากการยึดครองของพวกมุสลิมเตอร์กส์ อันมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ครูเสด” (Crusades) ซึ่งเป็นสงครามกับมุสลิมที่ยืดเยื้อยาวนานประมาณ ๒๐๐ ปี (ค.ศ.1096-1270) นับเป็นครูเสดครั้งใหญ่ทั้งหมด ๘ ครั้ง กับครูเสดเด็กอีก ๒ ครั้ง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.