มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถึงโลกจะพัฒนา
แต่มนุษย์ยังล้าหลังไกลในวิถีทางแห่งสันติภาพ

ดังได้กล่าวแล้วว่า เรื่องการขัดแย้งสู้รบที่เกี่ยวข้องกับศาสนานั้นจะต้องแยกทำความเข้าใจให้ชัด

ขอย้อนกลับไปพูดถึงความขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๒ ข้างต้น คือ การขัดแย้งสู้รบของคนต่างพวกที่นับถือศาสนาต่างกัน ซึ่งสาระอยู่ที่ความต่างพวกหรือถือพวก คือยึดถือในพวกของตน หรือสิ่งที่เป็นของพวกตน แล้วสู้รบเพื่อปกป้องสิ่งที่ยึดถือเป็นของตน

การขัดแย้งสู้รบแบบนี้ไม่เป็นการห้ำหั่นบีฑาหรือการทำสงครามศาสนา แต่มีสาเหตุที่ลึกลงไปอีก หรือเป็นพื้นฐานมากกว่า กล่าวคือ เป็นเรื่องของสัญชาตญาณในการยึดถือพวกของตนและของของตน

เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ปุถุชนที่ยังไม่ได้พัฒนา หรือยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ซึ่งย่อมจะมีความยึดถือในหมู่พวก และในสิ่งทั้งหลายที่ยึดถือว่าเป็นของตน ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เช่น วงศ์ตระกูล ถิ่นที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น

การยึดถือผูกพันนี้มีประโยชน์ ที่ช่วยกลุ่มชนตลอดจนสังคมประเทศชาติให้มีความรักสามัคคี มีเอกภาพ เกิดความเข้มแข็ง และเป็นแรงจูงใจให้ทำการสร้างสรรค์เพื่อท้องถิ่น เพื่อชุมชน หรือเพื่อสังคมของตน

แต่พร้อมกับที่ให้คุณด้านหนึ่ง เมื่อมนุษย์เรายังพัฒนาไม่สมบูรณ์ มันก็มักก่อให้เกิดโทษหรือปัญหาอีกด้านหนึ่ง คือการขัดแย้งทะเลาะวิวาทตลอดจนสงคราม กับคนพวกอื่น การรังเกียจเดียดฉันท์ดูถูกดูแคลนสิ่งที่เป็นของคนพวกอื่น

ตามความหมายในแง่นี้ เมื่อคนกลุ่มหนึ่งเชื่อหรือนับถือศาสนาใด และได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา เขาก็จะมีความยึดถือผูกพันหวงแหนต่อศาสนานั้น ทำนองเดียวกับสิ่งทั้งหลายอื่นที่เขายึดถือเป็นของเขา และในความหมายนี้ การยึดมั่นนับถือศาสนาของเขาก็มีทั้งคุณในทางที่ทำให้เกิดกำลังสามัคคีเป็นปึกแผ่นมีเรี่ยวแรงสร้างสรรค์ และทั้งโทษในการที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทะเลาะวิวาทกับคนพวกอื่นได้เช่นเดียวกัน

การขัดแย้งในกรณีนี้ เป็นคนละอย่างกัน และเกิดจากสาเหตุคนละอย่างกับการขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๑ ที่สาเหตุเกิดจากตัวศาสนาหรืออย่างน้อยจากสถาบันศาสนาโดยตรง

ฉะนั้น คำว่าการห้ำหั่นบีฑา และสงครามศาสนา คือ religious persecution และ religious war จึงใช้กับความขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๑ มิใช่หมายถึงการขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๒

ความไม่รู้จักแยกหรือความไม่ชัดเจนในเรื่องที่ว่ามานี้ เป็นปัญหามากแม้ในยุคปัจจุบัน และเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเอาใจใส่แก้ไข เพราะความไม่เข้าใจไม่รู้จักแยกให้ชัดเจนนั้น นอกจากทำให้เกิดความสับสนในทางปัญญาและวางท่าทีต่อกรณีและสถานการณ์ไม่ถูกต้องแล้ว ที่สำคัญยิ่งก็คือทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะจับจุดของปัญหาไม่ถูก อีกทั้งยังไม่รู้ตระหนักด้วยว่าสองอย่างนี้เป็นปัญหาคนละระดับ และต้องใช้วิธีแก้ไขที่ต่างกัน

เมื่อเกิดความขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๒ (แบบถือความต่างพวก หรือยึดถือพวกกูของกู) ตามสัญชาตญาณของปุถุชนแล้ว ศาสนาก็อาจจะเข้ามามีบทบาทโดยช่วยผ่อนคลายปัญหา ทำให้การขัดแย้งเบาลง

อย่างน้อยถ้าหลักการของศาสนาไม่เอื้อ และสถาบันของศาสนาไม่หนุน คนก็จะไม่สามารถยกข้ออ้างจากศาสนามารับรองเสริมเติมหรือขยายการขัดแย้งสู้รบของตน

แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีหลักการหรือคำสอนของศาสนาให้อ้าง หรือสถาบันศาสนาเข้ามาหนุน การขัดแย้งสู้รบนั้นก็จะขยายใหญ่โตรุนแรงมากขึ้น และก็อาจจะกลายเป็นการขัดแย้งสู้รบหรือสงครามที่เป็นทั้งแบบที่ ๒ และแบบที่ ๑ ปนพร้อมไปด้วยกัน

คนอย่างน้อยจำนวนหนึ่ง ได้พยายามแสวงหาวิถีทางที่จะทำให้มนุษย์ที่เชื่อถือนับถือลัทธิศาสนาหรือนิกายศาสนาที่ต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ และแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีเจรจาประนีประนอม แต่เท่าที่เป็นมาถึงบัดนี้ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ สาเหตุอย่างหนึ่งอาจจะเกิดจากการที่ไม่ได้พบวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง

พูดให้ตรงจุดว่า มนุษย์ยังไม่พัฒนาเพียงพอที่จะอยู่กันด้วยคุณธรรม โดยเฉพาะเมตตาหรือไมตรีชนิดที่เปิดใจเต็มที่ โดยมีปัญญาที่รู้เข้าใจแจ่มชัดเป็นฐาน

เมื่อขาดเมตตาหรือไมตรีที่มากับปัญญาอันเปิดโล่ง ความจริงใจเปิดใจแท้จริงไม่มี บางทีเขาก็ชวนกันให้แก้ปัญหาด้วยการเอาอกเอาใจกัน โดยให้ปิดตาไม่มองข้อแตกต่างและกลบเกลื่อนปัญหา

วิธีเช่นนี้ไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง เป็นการหลีกเลี่ยงความจริงและพรางตาตัวเอง ซึ่งแฝงซ่อนเชื้อปัญหาให้บ่มฟักตัวของมันขึ้นได้ต่อไป

ดังได้กล่าวแล้ว และขอย้ำว่า การแก้ปัญหาที่แท้จริงจะต้องเกิดจากความมีเมตตาหรือไมตรี ชนิดที่เปิดใจเต็มที่ โดยมีปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงเป็นฐาน ท่าทีอย่างนี้จึงจะทำให้การแก้ปัญหาสำเร็จได้จริงและยั่งยืน

เพื่อให้ชัดขอแยกว่า

๑. การพิจารณาและตัดสินใจด้วยเมตตาหรือไมตรีนั้น ตั้งอยู่บนฐานของการรู้เข้าใจความจริง และพูดความจริงกันได้โดยเหตุผล เช่นรู้เข้าใจภูมิหลังกันชัดเจน ไม่ใช่หลบเลี่ยงปัญหาหรือทำเพียงแบบเอาอกเอาใจกัน อันจะไม่จิรังยั่งยืน

๒. การรู้เข้าใจความจริงแม้ที่ปวดร้าว แล้วยอมรับความผิดพลาดในอดีต ยอมรับผู้ผิดพลาด และให้อภัยกันได้นั่นแหละ จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะเกิดจากไมตรีที่สดใสชำระล้างความกินแหนงเคลือบแคลงได้แล้ว จึงเป็นคุณธรรมที่แท้จริง และยั่งยืน

จุดอับจนหรือติดตันอยู่ที่ว่า แม้โลกจะพัฒนามาถึงขั้นที่บอกว่าเป็นโลกาภิวัตน์แล้ว แต่มนุษย์ก็ยังมีจิตใจที่ล้าหลังห่างไกล ไม่สามารถเข้าหากันด้วยการพูดความจริง ไม่สามารถมีเมตตาหรือไมตรีที่มาพร้อมกับความเปิดใจต่อการใช้วิธีการแห่งปัญญา และแม้กระทั่งยังยึดมั่นในการแบ่งแยก เขาจึงไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้ และยังคงไม่มีความหวังอันชัดเจนมั่นใจที่จะมองเห็นทางแก้ปัญหานั้น

การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาในระดับโลก เท่าที่มนุษย์ทำได้อย่างดีที่สุด คือใช้วิธีคานอำนาจกัน หรือใช้ความกลัวต่อภัยพินาศที่ยิ่งใหญ่กว่าเป็นเครื่องยับยั้งกัน ดังกรณีที่เห็นชัดในยุคสงครามเย็น

ตลอดเวลายาวนาน โลกสองค่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (ไม่มีสงครามใหญ่ภายนอก แต่จิตใจเร่าร้อนหามีสันติไม่) โดยมีอาวุธนิวเคลียร์และความกลัวต่อการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์นั้น เป็นเครื่องยับยั้งสงคราม ดังที่เรียกกันโก้ว่า nuclear deterrence

เพื่อให้แนวคิดนี้สัมฤทธิ์ผล สองค่ายจึงต้องเร่งผลิตและสะสมอาวุธร้ายให้มากอย่างทันกัน ซึ่งก็กลายเป็นสงครามในยามสันติ คือ สงครามเย็น ที่ทำลายมนุษยชาติอย่างเลือดเย็น

กล่าวโดยรวม มนุษยชาติยังก้าวไปได้น้อยมาก ในวิถีทางแห่งการสร้างสรรค์สันติภาพ ชนิดที่มั่นใจในการแก้ไขกำจัดความขัดแย้งระหว่างกัน และอยู่กันด้วยไมตรีอย่างเปิดใจ โดยมีปัญญาเป็นฐานให้เกิดความเข้าใจ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.