มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๓. โลกทัศน์ที่นำสู่โลกาภิวัตน์

 

วิทยาศาสตร์ก้าวขึ้นมานำหน้า
สู่โลกทัศน์ใหม่ ที่ศาสนาหันมาแอบอิง

ขอย้อนกลับไปสู่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กระแสนิยมวิทยาศาสตร์กำลังขึ้นสูง สืบเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ยุคคืนชีพ

ครั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ขึ้นแล้ว เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มากับยุคอุตสาหกรรม ได้ทำให้ผู้คนมีชีวิตที่พรั่งพร้อมสะดวกสบาย และมีอำนาจจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย รวมทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบอาณานิคม อย่างที่กล่าวแล้ว

แต่มิใช่แค่นั้น การมองเห็นความหวังที่จะนำเอาความรู้วิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการสร้างความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม ได้ทำให้ประชาชนทั่วไปเพิ่มความสนใจใฝ่นิยมวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้นไปอีก

ความนิยมและตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้คริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้ชื่อว่าเป็นยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment) หรือยุคแห่งเหตุผล (Age of Reason) และพร้อมกันนั้น คนทั้งหลายก็พากันคิดว่าวิทยาศาสตร์นั้นจะนำพามนุษย์ไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจะเป็นความก้าวหน้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

นับแต่นั้นมา คติแห่งความก้าวหน้า (idea of progress) หรือคติแห่งความก้าวหน้าที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ (idea of inevitable progress) ก็เด่นขึ้นมา จนกลายเป็นแนวคิดนำที่ครอบงำอยู่เหนือกระแสการพัฒนาอารยธรรมตะวันตกเรื่อยมา จนถึงยุคปัจจุบัน โดยมีแนวคิดที่มุ่งพิชิตธรรมชาติ (conquest of nature หรือ dominion over nature หรือ mastery of/over nature) แฝงหนุนเป็นคู่แฝดกันมาโดยตลอด

ในวงวิชาการ กระแสนิยมวิทยาศาสตร์ได้ทำให้วิชาการต่างๆ พยายามปรับตัวให้ได้รับความเชื่อถือ โดยนำเอาวิธีวิทยาศาสตร์ (scientific method) เข้าไปใช้ และในศตวรรษที่ 18 นี้เอง วิชาสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยา ก็ได้เริ่มถือกำเนิดขึ้น

ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ได้ก่อให้เกิดผลสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำให้มนุษย์ชาวตะวันตกมองโลกและชีวิตหรือมองสิ่งทั้งหลายด้วยความเข้าใจอย่างใหม่ โดยมีโลกทัศน์แบบจักรกล (mechanistic view)

โลกทัศน์แบบจักรกลนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 จากอิทธิพลความคิดของเดคาร์ตส์ (Descartes, 1596-1650) และปรับแก้ใหม่ตามแนวคิดของนิวตัน (Newton, 1642-1727)

นิวตันนี้ได้เป็นต้นสายความคิดแบบแบ่งซอยหรือแยกส่วน ที่เรียกว่า reductionist view หรือเรียกสั้นๆ ว่า reductionism ด้วย

โลกทัศน์วิทยาศาสตร์แบบจักรกล และแนวคิดแยกส่วนนี้ มองโลกหรือสิ่งทั้งหลาย ตลอดจนแม้แต่ชีวิตจิตใจมนุษย์ ในเชิงวัตถุ และแบบคณิตศาสตร์ โดยเห็นว่า สิ่งทั้งหลายและความเป็นไปหรือปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดจากองค์ประกอบ หรือชิ้นส่วนทางวัตถุเล็กน้อยย่อยลงไปๆ เข้ามาสัมพันธ์กันอย่างมีกฎเกณฑ์ในเชิงเหตุผลอย่างเป็นระเบียบ

โลกทัศน์แบบจักรกล และแนวคิดแยกส่วนนี้ ได้เป็นสายความคิดหลักที่ครอบงำอารยธรรมตะวันตก และแผ่ไปครอบงำโลกมายาวนานเกือบ ๓๐๐ ปี

ในยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment) แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 นี้ ความขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาคริสต์ได้ผ่อนเบาลงบ้าง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญ โดยเฉพาะนิวตันเป็นคนมีศรัทธาในศาสนาคริสต์ และได้อธิบายความคิดทางวิทยาศาสตร์ของเขา ในเชิงประสานสังเคราะห์ โดยแสดงความจริงทางวิทยาศาสตร์ ชนิดที่เปิดช่องให้องค์พระเป็นเจ้าสามารถมีบทบาทได้ (“...a new synthesis in which truth is revealed and God was preserved.”- “The History of Science,” Britannica, 1997)

ภาวการณ์นี้ มีผู้เรียกว่าเป็นการพักรบกับฝ่ายศาสนา (a truce with men of religion - “European History and Culture,” Britannica, 1997)

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายศาสนาคริสต์ก็มิได้พอใจจริง เพราะเมื่อว่าโดยสาระ แนวคิดวิทยาศาสตร์นี้ก็นำไปสู่วัตถุนิยมและลัทธิอเทวนิยม ความขัดแย้งจึงดำเนินต่อมา

โดยเฉพาะเมื่อ ดาร์วิน (Charles Darwin) ประกาศทฤษฎีวิวัฒนาการ (Theory of Evolution) ใน ค.ศ.1858 ได้ก่อความกระทบกระเทือนแก่ศาสนาคริสต์เป็นอย่างยิ่ง

วิทยาศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าแตกสาขาออกไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการที่ศาสนาคริสต์เสื่อมอิทธิพลลงโดยทั่วไป

เมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นีทเช่ นักปรัชญาชาวเยอรมัน (Friedrich Nietzsche, 1844-1900) ก็ได้ประกาศว่า “พระเจ้าตายแล้ว” (“God is dead.”- เช่นคำ “Philosophical Anthropology” และ “Friedrich Nietzsche,” Britannica, 1997)

ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์กับวิทยาศาสตร์ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (เช่น “Religion,” Infopedia, 1994) และเนื่องจากวิทยาศาสตร์กำลังเฟื่องฟูก้าวหน้ามาก ผู้คนก็ยิ่งเหินห่างออกไปจากศาสนาคริสต์ จนในประเทศตะวันตกเอง ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลเหลือน้อยอย่างยิ่ง และไม่ได้รับความสนใจ

ต่อมาเหตุการณ์ได้กลับกลายเป็นว่า วงการศาสนาคริสต์ได้หันมาตีความคำสอนของตนให้เข้ากับวิทยาศาสตร์ หรือปรับความหมายให้สอดคล้องกับศาสตร์สมัยใหม่ (เช่น หนุนแนวคิดพิชิตธรรมชาติ และแนวคิดดาร์วินเชิงสังคม เป็นต้น) ตลอดจนนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้และไปอ้างในการดำเนินงานเผยแผ่ศาสนาคริสต์ (เช่น การอ้างเรื่องสุริยคราสในภาคเหนือของประเทศไทย และการใช้ความรู้และเครื่องมือทางแพทย์สมัยใหม่มารักษาคนเจ็บไข้ในประเทศที่ล้าหลังเป็นต้น)

นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ประสานตัวเข้ากับแนวทางของยุคใหม่ แม้กระทั่งอาศัยแหล่งทุนจากประเทศของตนซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมที่ร่ำรวยกว่า มาให้ความช่วยเหลือทางด้านทรัพย์สินเงินทองและความเป็นอยู่แก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนที่ยากจน เป็นเครื่องชักจูงให้หันไปนับถือศาสนาคริสต์ จนเป็นที่น่าสงสัยว่า คนหันไปยอมรับนับถือเพราะเลื่อมใสเครื่องมือเครื่องใช้ทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ตลอดจนผลประโยชน์ มากกว่าจะเลื่อมใสคำสอนของศาสนา

(การใช้ผลประโยชน์หรืออามิสเป็นเครื่องจูงใจให้คนหันมานับถือศาสนานี้ ตามหลักการถือว่าไม่ชอบธรรม และในบางประเทศถือว่าเป็นความผิดด้วย)

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.