มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ระบบอาณานิคม - จักรวรรดินิยม
ป้ายชื่อปลดไป เนื้อในยังอยู่?

เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้ว ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมายในระบบการครอบครองอาณานิคม

ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น ประเทศเจ้าอาณานิคมจะมุ่งครอบครองดินแดนที่มีโลหะที่มีค่า และสินค้าท้องถิ่นที่ต้องการตลอดจนทาส คนผิวขาวจึงเข้าตั้งถิ่นฐานอยู่เพียงตามแนวชายทะเล และเกาะเล็กเกาะน้อย พร้อมทั้งสร้างเมืองท่า เมืองป้อม ศูนย์รวมสินค้า และตั้งกองทหารที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของตน

แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว เกิดลัทธิทุนนิยม อุตสาหกรรม (industrial capitalism) ที่มีการผลิตจำนวนมหึมา ซึ่งต้องการวัตถุดิบในปริมาณมหาศาล และตลาดใหญ่ที่จะระบายสินค้า กับทั้งมีอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เพิ่มพลังอำนาจในการควบคุมบังคับและจัดการ วิถีชีวิตและระบบสังคมของอาณานิคมก็เปลี่ยนไป โดยสรุป คือ

  • ประเทศอุตสาหกรรมเป็นผู้ผลิตและขายผลิตภัณฑ์สินค้า
  • ประเทศอาณานิคม (หรือตามเป้าคือโลกส่วนที่เหลือทั้งหมด)

ก) เป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบ และทรัพยากร

ข) เป็นแหล่งจัดส่งสะเบียงอาหาร (สำหรับชุมชนเมืองที่เกิดขึ้นในระบบอุตสาหกรรม)

ค) เป็นตลาดระบายสินค้า (พร้อมกันนั้นก็หาทางปิดกั้นชาวพื้นเมือง หรือชาวอาณานิคม ไม่ให้ผลิตและส่งสินค้าออกมาแข่ง เว้นแต่จะเป็นผู้ผลิตขั้นต้นให้แก่ประเทศเจ้าอาณานิคม)

สภาพเช่นนี้กลายเป็นสาระของความเป็นอาณานิคมสมัยใหม่ ส่วนอำนาจการเมืองและการทหารก็มาเป็นหลักประกันที่จะคุมให้ระบบความสัมพันธ์เช่นนี้ดำเนินไป

พร้อมกันนี้ พลังทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็ได้เป็นหัวใจของการขยายดินแดน โดยทำให้พลเมืองของประเทศเจ้าอาณานิคมสามารถบุกรุกตั้งถิ่นฐานลึกเข้าไปๆ ในผืนแผ่นดิน

กล่าวคือ มีอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่เหนือกว่า ซึ่งสามารถบังคับชนเจ้าถิ่นเดิมที่มีจำนวนมากกว่าให้ต้องยอมจำนนและสนองวัตถุประสงค์ของตน และมีเครื่องมือขนส่งสื่อสารที่ทำให้สามารถแจ้งข่าวและส่งกำลังทหารและสินค้าได้ครั้งละมากมายและรวดเร็ว โดยเฉพาะรถไฟ และเรือกลไฟ

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เข้าสู่ยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมแล้ว การขยายดินแดนผนวกอาณานิคมใหม่ ก็ยิ่งก้าวไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลต่อชนพื้นเมือง ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างผสมกัน คือ

๑. กำจัดกวาดล้างชนพื้นเมืองให้หมดไป เพื่อให้ชนเจ้าอาณานิคมเข้าอยู่แทนที่ โดยฆ่าหรือบังคับให้ออกไปอยู่ในเขตสงวนที่จัดให้

๒. ปราบปรามชนเจ้าถิ่นให้ยอมอยู่ใต้อำนาจ แล้วจัดสรรดัดแปลงสังคมถิ่นเดิมนั้นใหม่ ให้สนองวัตถุประสงค์ของประเทศเจ้าอาณานิคม

สำหรับในทวีปอเมริกาเหนือและใต้นั้น มีข้อสังเกตว่า ในการเข้าไปตั้งถิ่นฐานของฝรั่ง พวกสเปนและโปรตุเกสมักใช้วิธีเข้าอยู่ผสมกลมกลืน และดูดกลืนชนเจ้าถิ่นเข้ามาในสังคมของตน

แต่พวกอังกฤษและฝรั่งเศสมักใช้วิธีตั้งอาณานิคมของพวกตนล้วนๆ โดยกำจัดหรือขับไล่ย้ายคนพื้นเมืองเดิมออกไป

พร้อมกับการขยายดินแดนผนวกอาณานิคมใหม่อย่างขนานใหญ่นี้ ประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลายก็ยิ่งขัดแย้งแข่งขันแย่งชิงอำนาจกันมากขึ้น เพื่อหาวัตถุดิบและตลาดที่ระบายสินค้า

ส่วนการถือว่าคนพื้นเมืองเป็นคนป่า คนอนารยะ เป็นบาร์-เบเรียน หรือคนล้าหลัง ที่จะต้องทำให้ศรีวิไลขึ้นอย่างชาวตะวันตก และการที่จะเปลี่ยนศาสนาให้คนพื้นเมืองหันมานับถือคริสต์นั้น ก็ดำเนินสืบต่อมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะในยุคที่ศาสนากับอำนาจการเมืองรวมอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็อาจจะใช้วิธีบังคับให้นับถือ และมีการลงโทษรุนแรงแก่ผู้ขัดขืน

ขอยกตัวอย่าง เมื่อสเปนเข้ายึดครองนิวเมกซิโก มิชชันนารีได้บังคับให้ชนเจ้าถิ่นเดิม คือ พวกอินเดียนแดงเผ่าพเวบโล (Pueblo Indians) นับถือศาสนาคริสต์แบบคาทอลิก พวกมิชชันนารีได้เผาวัตถุเคารพบูชาเดิมของชนเผ่านี้เสีย ชาวอินเดียนแดง ถูกจับขึ้นศาลสเปน และลงโทษหนัก เช่น แขวนคอ ตัดมือตัดเท้า หรือให้เป็นทาส

พวกพเวบโล ซึ่งตามปกติเป็นเผ่าที่รักสงบ ได้ก่อกำเริบหลายหน จนในที่สุดก็เกิดเป็นการกบฎใหญ่ที่อินเดียนแดงชนะใน ค.ศ.1680 พวกสเปนตายไป ๔๐๐ คน รวมทั้งบาทหลวง ๒๑ คน และที่เหลือต้องหนีออกไป แต่ในที่สุด พวกสเปนก็ตีกลับจนเข้ามาปกครองได้อีกทั้งหมดใน ค.ศ.1696

อย่างไรก็ตาม บาทหลวงและนักสอนศาสนาจำนวนมาก แม้จะเป็นส่วนร่วมในการขยายอาณานิคม และทำการต่างๆ ไปเพราะศรัทธาดิ่งแบบของเขา แต่โดยส่วนตัวก็ได้บำเพ็ญประโยชน์โดยอาศัยวิทยาการใหม่ๆ ของตะวันตก เช่นการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาเป็นเครื่องมือในการชักนำคนพื้นเมืองให้หันมานับถือศาสนาคริสต์

จากการขยายดินแดนผนวกอาณานิคมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคต่อจากปฏิวัติอุตสาหกรรม ตำราฝรั่งเองว่า ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 กลายเป็นยุคจักรวรรดินิยมสมัยใหม่

ในยุคนี้ ดินแดนใหม่ที่ถูกยึดครองได้เพิ่มขึ้นในอัตราความเร็ว ๓ เท่าของยุคก่อน (๗๖ ปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยึดครองดินแดนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ ๘๓,๐๐๐ ตร.ไมล์ แต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1870s ถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ.1918) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ ๒๔๐,๐๐๐ ตร.ไมล์)

ปรากฏว่า ใน ค.ศ.1914 (ปีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑) ดินแดนที่เป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ในโลกนี้ ๘๕ เปอร์เซนต์ และก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประชากร ๑ ใน ๓ ของโลก อยู่ในดินแดนประเภทเมืองขึ้น หรืออาณานิคม

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดแล้วระยะหนึ่ง แม้ว่ายุคแห่งอาณานิคมจะถือว่าสิ้นสุดไปแล้ว และจักรวรรดินิยมยุคใหม่ (new imperialism) จะได้จบไปแล้ว แต่ก็มีผู้ที่เห็นว่า เวลานี้ โลกก็ยังมีระบบการครอบงำกัน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วใช้นโยบายเศรษฐกิจควบคุมประเทศที่กำลังพัฒนา ดังที่ได้เกิดมีคำว่า “จักรวรรดินิยมแบบใหม่” (neo-imperialism)

ใน ค.ศ.1953 วารสาร The Economic History Review ได้ลงพิมพ์บทความที่มีชื่อเสียง ชื่อ “จักรวรรดินิยมแห่งการค้าเสรี” (The imperialism of free trade) ซึ่งมีคำเกิดขึ้นใหม่ว่า “จักรวรรดินิยมอย่างไม่เป็นทางการ” หรือ “จักรวรรดินิยมนอกแบบ” (informal imperialism) เช่น การที่ประเทศใหญ่ดำเนินการควบคุมโดยอ้อมในรูปแบบต่างๆ ต่อสังคมใต้อาณัติของตน ด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจ

ถึงแม้จะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ชัดเจน แต่คำที่ว่านี้ก็ได้รับความนิยมดังขึ้นมาพอสมควร เพราะอาจจะแสดงให้เห็นสภาพความจริงของโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.