มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ในประเพณีพุทธ การคุ้มครองศาสนา
คือให้ปฏิบัติการที่ตรงไปตรงมา ว่าตนนับถืออย่างไร

พูดสั้นๆ ว่า ตามคติของตะวันตก การที่ศาสนาหรือลัทธินิกายใดขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ ก็คือ การที่จะต้องเลิกอย่างอื่นมาเอาลัทธิศาสนาหรือนิกายนั้นไว้อย่างเดียว

แต่ตามคติของกษัตริย์ชาวพุทธ การที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หมายถึงการยอมรับที่จะนำเอาหลักพุทธธรรมแห่งการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนมาปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ให้เกิดผลแก่ประเทศชาติทั่วทั้งหมด

ขอให้สังเกตเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงไว้อย่างหนึ่ง คือ ในหลักคำสอนของพุทธศาสนาว่าด้วยหน้าที่ของกษัตริย์หรือผู้ปกครอง ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและนักบวช จะใช้คำกลางๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะพุทธศาสนาและพระภิกษุในพุทธศาสนา

ตัวอย่าง เช่น ในจักรวรรดิวัตร คือการบำเพ็ญราชกิจของจักรพรรดิราช ก็จะกล่าวถึงแต่หลักการ คือ “ธรรม” และกล่าวถึงนักบวชว่า “สมณพราหมณ์” ซึ่งเป็นคำกลางๆ หมายถึงนักบวชทุกประเภทในชมพูทวีป ดังข้อความว่า

ท่านจงอาศัยธรรม เคารพนับถือบูชาธรรม . . . ถือธรรมเป็นใหญ่ จงจัดความดูแลคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม . . . แก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย . . .

สมณพราหมณ์เหล่าใด ในแว่นแคว้น ที่เว้นจากความมัวเมาประมาท . . . ท่านจงเข้าไปหาและปรึกษาสอบถามสมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยสม่ำเสมอ ว่าอะไรดี อะไรชั่ว . . .”

(ที.ปา.๑๑/๓๕)

แม้แต่ข้อปฏิบัติหรือกิจหน้าที่ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั่วไป ในการอยู่ร่วมสังคม เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ด้านศาสนา คำสอนในพุทธศาสนาก็ให้ชาวบ้านอุปถัมภ์บำรุง “สมณพราหมณ์” อย่างเป็นกลางๆ โดยกล่าวว่า

“กุลบุตรพึงบำรุงสมณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบนโดยฐานะ ๕ . . .”

(ที.ปา.๑๑/๒๐๔)

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า หลักการของพุทธศาสนาเปิดกว้างอยู่ในตัวเอง ที่ทำให้ชาวพุทธ เมื่อนับถือพุทธศาสนาแล้ว แทนที่จะจำกัดตัวแคบเข้ามา กลับยิ่งเปิดตัวเปิดใจและเปิดปัญญากว้างออกไป

ว่าที่จริง เดิมทีเดียว ในคริสต์ศาสนาเอง เมื่อเริ่มต้นเผยแพร่ ยังไม่มีกำลัง และยังเป็นฝ่ายถูกกำจัดกวาดล้างอยู่ การถือนอกรีต (heresy) มีโทษเพียงถูกขับออกจากศาสนจักร หรือตัดออกจากความเป็นศาสนิก (excommunication, บางทีแปลกันว่า “การคว่ำบาตร” ซึ่งมีความหมายไม่ตรงกันแท้)

แต่ต่อมา เมื่อองค์กรศาสนาคริสต์เข้าไปมีอำนาจในการเมือง ตั้งแต่หลัง ค.ศ.300 เป็นต้นมา การลงโทษและกำจัดกวาดล้างคนนอกรีตก็เป็นไปอย่างรุนแรง ถึงขั้นเผาทั้งเป็น (ดู หน้า ๖๓-๗๗ เป็นต้น)

ในพุทธศาสนา การลงโทษเนื่องจากการถือนอกรีต (heresy) ที่เหมือนอย่างของตะวันตกแท้ๆ ไม่มี

เรื่องที่อาจยกมาเทียบเคียงได้บ้าง คือ เมื่อมีผู้กล่าวร้ายอย่างที่เรียกว่า จ้วงจาบต่อพระพุทธศาสนา (เรียกตามคำบาลีว่า ปรัปวาท) วิธีปฏิบัติก็คือ ชี้แจงอธิบาย หรือแสดงความจริงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

การลงโทษอาจมีได้ในกรณีที่บุคคลผู้เป็นพุทธศาสนิกชนเอง คือ อุบาสกอุบาสิกา กระทำการกลั่นแกล้ง ตัดรอน ด่าว่า ยุยงภิกษุทั้งหลาย หรือกล่าวติเตียนพระรัตนตรัย สงฆ์อาจประชุมกันลงมติคว่ำบาตร คือไม่คบหาบุคคลผู้นั้น

อย่างไรก็ดี ในพระพุทธศาสนามีชุมชนพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งคือ สังฆะ หรือสงฆ์ สำหรับผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาแล้ว และมีคุณสมบัติพร้อม จะสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก เรียกว่าบวชเป็นภิกษุ (หรือภิกษุณี) เพื่อดำเนินชีวิต และประพฤติปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้

ผู้ที่บวชเข้ามา ก็คือผู้ที่ได้ยอมรับหลักการของพระพุทธศาสนา(แบบนั้น)แล้ว และแสดงความสมัครใจที่จะปฏิบัติตามกฎกติกา คือวินัยของสังฆะ ดังนั้น ถ้าทำความผิดร้ายแรงละเมิดกฎที่วางไว้ หรือออกนอกหลักการไปถือลัทธิอื่น (เรียกว่าไปเข้ารีตเดียรถีย์) สงฆ์สามารถลงโทษโดยให้สึก คือสละเพศภิกษุเสีย

การให้สึก หรือสละเพศนี้ ถือว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรงที่สุดในพระพุทธศาสนา

ว่าที่จริง การให้สึกหรือสละเพศนี้ ไม่ใช่เป็นการลงโทษด้วยซ้ำ แต่เป็นปฏิบัติการที่ตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริง

หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นไม่ยอมรับหลักการของพระพุทธศาสนา หรือไม่ยอมรับสังฆะนั้นแล้ว หรือละเมิดกติกาที่ทำให้หมดสิทธิที่จะอยู่ร่วมสังฆะนั้นแล้ว เขาก็ย่อมจะต้องสละออกนอกสังฆะนั้นไปเป็นธรรมดา

ดังนั้น การสึก หรือสละเพศ ก็คือการแสดงความซื่อสัตย์ปฏิบัติให้ตรงตามความเป็นจริง และเป็นปฏิบัติการที่ยุติธรรมต่อชุมชนที่ตนไม่มีสิทธิ หรือไม่สมัครใจจะอยู่ร่วมด้วยแล้วนั่นเอง เป็นการไม่เอาเปรียบ หรือถือโอกาสเอารูปแบบของชุมชนนั้นมาใช้สนองผลประโยชน์ส่วนตัว

จะเป็นเรื่องแปลกประหลาด ที่บุคคลผู้ไม่ยอมรับหลักการของสังฆะนั้น หรือไม่ยอมรับสังฆะนั้นแล้ว จะยังบอกว่าตนอยู่ในสังฆะนั้น ซึ่งจะต้องถือว่าเป็นการแอบแฝง หรือหลอกลวง

ยิ่งถ้าอ้างเสรีภาพทางศาสนา ก็ยิ่งแปลกประหลาดหนักเข้าไปอีก เพราะถ้าอ้าง ก็ไม่ใช่เสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่กลายเป็นเสรีภาพในการทำลายศาสนา

จุดสำคัญในเรื่องนี้ คือ แม้แต่การให้สึก ที่พูดกันว่าเป็นการลงโทษที่ร้ายแรงที่สุดในพระพุทธศาสนา ก็เป็นเพียง

๑. การมีเสรีภาพอันแท้จริง ที่จะปฏิบัติให้ตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง

๒. ไม่มีการลงโทษใดๆ ในพุทธศาสนา ที่กระทบกระเทือนถึงชีวิต หรือแม้แต่ทำให้เจ็บช้ำร่างกาย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.