มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วิทยาศาสตร์ - อุตสาหกรรม
มาตรฐานวัดความเจริญก้าวหน้าของโลกยุคใหม่

ดังได้กล่าวแล้วว่า การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (scientific revolution) และยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment) นั้น พ่วงติดมาด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และสำหรับประชาชนทั่วไป ความสนใจใฝ่นิยมวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมากมาย ก็เพราะมองเห็นความหวังที่วิทยาศาสตร์จะมาช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่อุตสาหกรรม

การปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้ทำให้ระบบอาณานิคมก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่ การครอบครองอาณานิคมใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังได้กล่าวแล้ว

ข้อที่สำคัญก็คือ ดินแดนอาณานิคมเหล่านี้ได้ถูกจัดสรรควบคุมให้มาสนองระบบอุตสาหกรรม ด้วยการเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบและอาหาร และเป็นตลาดระบายสินค้าอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่ประเทศตะวันตก และทำให้ประเทศเจ้าอาณานิคมเหล่านั้น สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

พร้อมกันนี้ สังคมเมือง และวัฒนธรรมเมืองก็เจริญเฟื่องฟู มีเมืองน้อยเมืองใหญ่เกิดผุดโผล่แผ่ขยายทั่วไป ซึ่งถือกันว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญของยุคอุตสาหกรรม

ระบบอุตสาหกรรมทำให้ต้องมีการจัดสรรระบบการทำงานด้วยการแบ่งงานกันทำอย่างซอยละเอียด

ความคิดของอาดัม สมิธ (Adam Smith, 1723-1790) ที่เขียนไว้ในหนังสือ The Wealth of Nations ในปี 1776 ได้พัฒนาทฤษฎีการแบ่งงาน (division of labor) และการจำแนกความชำนาญพิเศษในทักษะเฉพาะด้าน (specialization of skills) ซึ่งถือว่าช่วยให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว

เรื่องนี้ปรากฏเป็นผลสำเร็จในทางปฏิบัติ เมื่อนายเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford, 1863-1947) และเทย์เลอร์ (Frederick W. Taylor, 1856-1915) นำความคิดนั้นมาประยุกต์ใช้ให้เป็นการปฏิบัติจริง ในสหรัฐอเมริกา

ควบคู่กับการแบ่งงานและความชำนาญงานเฉพาะด้านในวงการอุตสาหกรรมนั้น เมื่อวิทยาการทั้งหลายเจริญมากขึ้น ก็ได้มีแนวโน้มในการแตกย่อยศาสตร์ต่างๆ ออกไปเป็นสาขาแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน (specialization) มากขึ้นๆ

เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาและรุ่งเรืองเฟื่องฟู วิทยาการต่างๆ แม้ที่เป็นเรื่องทางสังคมและวัฒนธรรม ก็ปรารถนาจะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย จึงนำเอาวิธีวิทยาศาสตร์ไปใช้และได้เกิดมีวิชาจำพวกใหม่ที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อย่างที่กล่าวข้างต้น

ต่อมา วิชาจำพวกมนุษยศาสตร์ (the humanities) ที่ครองความเป็นใหญ่อยู่เดิมก็สูญเสียสถานะไป วิชาจำพวกวิทยาศาสตร์ธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์กายภาพ (natural sciences หรือ physical sciences) และสังคมศาสตร์ (social sciences) ก็ขึ้นมาครองความสำคัญแทนที่สืบมา

วิชาการ ๒ หมวดนี้ เมื่อเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแล้ว ก็แตกสาขาย่อยออกไปเป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านเฉพาะทางอย่างหลากหลาย

พร้อมกันนั้น การศึกษาในมหาวิทยาลัยก็มีการแตกสาขาย่อยของวิชาการที่เล่าเรียนซอยละเอียดออกไป และให้ปริญญาเฉพาะสาขามีชื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย (ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา มีการให้ปริญญาชื่อต่างๆ มากกว่า ๑,๕๐๐ สาขา) จึงยิ่งทำให้วิชาการต่างๆ เจาะลึกดิ่งลงไปในแนวทางของความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น

โดยนัยนี้ก็ได้มีความเชี่ยวชาญศาสตร์เฉพาะด้าน (scientific specialization) และความชำนาญวิชาการเฉพาะสาขา (academic specialization) มาเข้าคู่กับความชำนาญงานเฉพาะทาง (specialization of skilled labor) และความชำนาญเฉพาะด้านทางอุตสาหกรรม (industrial specialization)

ถือกันว่าโลกได้เข้าสู่ยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน (age of specialization) ซึ่งมีการกล่าวเชิงทำนายว่า วิถีชีวิตของประชาชนจะอยู่ใต้กำกับของผู้ชำนาญการ (specialists) และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ (experts) มากขึ้นๆ

ว่าโดยสรุป นับแต่เกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประเทศตะวันตกก็ได้เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (modern age)1 อุตสาหกรรมได้เข้ามาเป็นตัวกำหนดยุคสมัยและเป็นเกณฑ์วัดอารยธรรม ดังที่ถือว่า สังคมสมัยใหม่ (modern society) ก็คือสังคมอุตสาหกรรม (industrial society)

อุตสาหกรรมทำให้เกิดมีเมืองน้อยใหญ่มากมาย และเมืองก็ขยายใหญ่โตอย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตแบบชาวเมืองแพร่ไปทั่ว ความเป็นอยู่ที่ดำเนินตามแบบแผนขนบประเพณียึดถือตามข้อกำหนดของศาสนาก็เปลี่ยนไป ผู้คนมีชีวิตแบบคนห่างศาสนา (secularism)

ตัวกำกับวิถีชีวิตของคนและสังคม เปลี่ยนจากศาสนาคริสต์มาเป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม

เมื่อชาวตะวันตกผู้ถือตนว่าพัฒนาแล้ว มองเทียบตนเองกับประเทศที่ล้าหลัง ก็วัดการพัฒนานั้นด้วยอุตสาหกรรม โดยถือว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed country) ก็คือประเทศอุตสาหกรรม (industrialized country) ส่วนประเทศใดยังไม่เป็นอุตสาหกรรม ก็ถือว่ายังไม่พัฒนา

บทบาทและอิทธิพลของบาทหลวงและศาสนาจารย์แห่งคริสต์ศาสนา แม้จะลางเลือนไปจากสังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมที่พัฒนาแล้วในประเทศตะวันตก ก็ยังมีเวทีที่แสดงในประเทศห่างไกลที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา (underdeveloped or developing countries) โดยทำหน้าที่ของนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ พร้อมทั้งเป็นตัวแทนของประเทศอุตสาหกรรม นำเอาความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ไปให้แก่ผู้คนในประเทศอาณานิคมเป็นต้น

แม้ว่าเจตนาโดยรวมจะมุ่งใช้ความเจริญสมัยใหม่นั้นเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ศาสนาของตน (เอาพระเจ้าสมัยใหม่มาช่วยเป็นพาหะให้พระเจ้าองค์เก่าโดยสารไป) และแม้จะมีปมความพัวพันกับลัทธิอาณานิคม แต่นักเผยแพร่หลายท่านก็ทำงานบำเพ็ญประโยชน์แก่ชนในท้องถิ่นล้าหลังห่างไกล ด้วยศรัทธาและเมตตากรุณาอย่างอุทิศตัว

1ดูเชิงอรรถ หน้า ๙๖ และโยงกับความหน้า ๘๐ ด้วย
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.