มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บุกฝ่าพรมแดน ๓๐๐ ปี จึงได้ครอบครองโลกใหม่
อารยธรรมอเมริกันได้อะไรจากประสบการณ์ผจญภัย

ขอย้อนกลับไปพูดถึงชนชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นชาวประเทศตะวันตก ผู้ตกทุกข์ได้ยากระเหระหนจากดินแดนแห่งความเจริญสมัยใหม่นั้น แต่ได้ไปสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นจากการฝ่าฟันภยันตราย จนกลายเป็นผู้นำของอารยธรรมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

ดังได้กล่าวแล้วว่า ชนชาติใหม่นี้หนีภัยแห่งการบีบคั้นเบียดเบียน ทั้งทางศาสนาและการเมือง จากยุโรป ไปผจญภัยในโลกใหม่ ด้วยความใฝ่ฝันที่จะได้พบกับความเป็นอิสระเสรี และความหวังนี้ก็ได้ฝังลึกในจิตใจและวัฒนธรรม จนกลายเป็นอุดมคติข้อสำคัญของชนชาติอเมริกัน คือ อุดมคติแห่งเสรีภาพ (ideal of freedom)

เมื่อชาวยุโรปผู้ลี้ภัยข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาขึ้นฝั่งโลกใหม่ที่ชายฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะแถบที่เรียกต่อมาว่า “อังกฤษใหม่” (New England) นั้น ข้างหน้าของเขาคือป่าเขาพงไพรถิ่นกันดาร หรือดินแดนรกร้างที่ไม่เคยรู้จัก ซึ่งไม่มีความสุขความเจริญความสะดวกสบายอะไรที่จะหยิบฉวยเอาได้ มีแต่จะต้องบากบั่นอดทนสร้างมันขึ้นมาด้วยตนเอง

นอกจากป่าดงและสัตว์ร้าย ก็ยังมีคนเจ้าถิ่นอินเดียนแดงที่พวกตนมองด้วยสายตาว่าเป็นมนุษย์ป่าเถื่อน เมื่อมองข้างหลังทางทิศตะวันออกก็มีแต่ทะเลใหญ่ ที่ไม่อาจหวนหลังกลับไป และไม่มีทางพึ่งพาญาติมิตรที่จากมาแล้ว

ความอยู่รอดและความหวังมีทางเป็นไปได้อย่างเดียว คือการบุกฝ่าไปข้างหน้าทางทิศตะวันตก และการสร้างขึ้นใหม่ ทุกอย่างต้องทำต้องหา และการทำการหานั้นต้องดำเนินไปท่ามกลางความยากลำบาก และภัยอันตรายรอบตัว

ความอยู่รอดและความสำเร็จเป็นปัญหาที่ทุกคนจะต้องเผชิญและฟันฝ่าร่วมกัน แต่ความลำเค็ญยากลำบากทั้งหมดนั้นก็เป็นความหวังแห่งความสุขสมบูรณ์และความยิ่งใหญ่ภายภาคหน้า ที่จะมากับการเคลื่อนที่ไปในดินแดนข้างหน้าที่ไม่รู้ว่าจะไกลไปถึงไหน ในทิศตะวันตก

บุกฝ่าไปข้างหน้าได้เท่าใด พรมแดนที่กั้นขวาง (frontier) ก็อยู่ตรงนั้น ความสำเร็จคือการที่จะต้องบุกฝ่าขยายพรมแดนออกไป เพราะฉะนั้นกาลเวลาหลายร้อยปี (๓๐๐ ปี) ต่อจากนั้น จึงเป็นยุคแห่งการเคลื่อนย้ายไปตะวันตก (westward movement; “Go West”1) และการบุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier expansion)

สภาพชีวิตตลอดช่วงเวลานานแสนนานนี้ คือการที่ต้องตื่นตัวคอยระแวดระวังภัย การที่ต้องเร่งรัดขวนขวายแก้ปัญหาอย่างไม่อาจผัดเพี้ยน การเผชิญชะตากรรมร่วมกัน การที่ต้องรวมหมู่สู้ภัยจากชนเผ่าท้องถิ่นคืออินเดียนแดง พร้อมทั้งการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์และความสำเร็จในหมู่พวกเดียวกันเอง ท่ามกลางความหวังต่อความสุขสมบูรณ์ด้วยการบุกฝ่าไปในดินแดนข้างหน้า

ภาวะบีบคั้นและการดิ้นรนต่อสู้เช่นนี้ ได้ปลูกฝังบุคลิกลักษณะ อุปนิสัยและจิตสำนึกที่เป็นเอกลักษณ์ ลงในดวงจิตและวิถีชีวิตของชนชาติอเมริกัน ซึ่งเรียกด้วยคำสั้นๆ ว่า สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน (frontier mentality) หรือบางทีก็เรียกว่า อุดมคติหรือคติบุกฝ่าพรมแดน (ideal or myth of frontier)

คติฟรอนเทียร์นี้ คนอเมริกันภูมิใจนักว่าเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความเจริญก้าวหน้าของชาติตน และมักยกขึ้นอ้างในการปลุกจิตสำนึกเพื่อนร่วมชาติ ในการที่จะบุกฝ่าสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าต่อไป

ตัวอย่างเช่น จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) ก้าวขึ้นสู่ความเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยการปลุกเร้าชาวอเมริกัน ให้ก้าวเข้าสู่ยุค “New Frontier” แห่งการบุกฝ่าพรมแดนใหม่ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา สังคม และเศรษฐกิจ ดังปรากฏผลต่อมา ทั้งการแผ่อิทธิพลออกไปในโลกนี้ และการออกสำรวจกว้างไกลบุกฝ่าไปในอวกาศ

แท้จริงนั้น ชนชาติใหม่คืออเมริกันนี้ มิใช่มาต่อสู้ผจญภัยในโลกใหม่อย่างโดดเดี่ยวและยากเข็ญมากนัก เพราะประเทศแม่ของเขาในยุโรปก็ตามมาปกครองเอาพวกเขาไว้ในอาณานิคม

ระหว่างที่เขาบุกฝ่าพรมแดน มุ่งหน้าตะวันตก ล้างป่าแปลงเป็นเมือง และรบอยู่กับอินเดียนแดงนั้น ประเทศเจ้าอาณานิคมจากยุโรป คืออังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน ก็มาทำสงครามแย่งชิงดินแดนกันบนผืนแผ่นดินอเมริกาด้วย

ชนชาติใหม่นี้ นอกจากรบกับอินเดียนแดงแล้ว ก็ได้ร่วมรบในสงครามระหว่างประเทศเจริญที่เป็นเจ้าอาณานิคมด้วย และในที่สุดเขาก็ทำสงครามปฏิวัติ (American Revolution) ประกาศอิสร-ภาพ (ค.ศ.1776) เป็นเอกราชจากประเทศแม่ได้สำเร็จ

จึงเห็นได้ว่า ความเจริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในยุโรปทุกอย่างก็มาถึงชนชาติใหม่นี้ด้วย โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ชนชาติอเมริกันมีเครื่องมือเครื่องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่พรั่งพร้อม มีกำลังอำนาจเหนือกว่าชนเจ้าถิ่นเดิมคืออินเดียนแดงอย่างมากมาย

หลังจากได้อิสรภาพ พ้นจากความเป็นอาณานิคม ตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นได้แล้ว ชาวอเมริกันก็ยังขยายดินแดนบุกฝ่าตะวันตกทำสงครามกับอินเดียนแดง และสู้รบกับประเทศเจ้าอาณานิคม โดยเฉพาะสเปน ต่อมาอีกนาน

จนในที่สุด ใน ค.ศ.1890 อเมริกันก็ทำสงครามครั้งสุดท้ายในการปราบอินเดียนแดงสำเร็จเสร็จสิ้น และในช่วงระยะเวลาใกล้กันนี้สหรัฐอเมริกาได้ครอบครองแผ่นดินขยายพรมแดนทางตะวันตกมาจนสุดแผ่นดินจดฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว (California ได้เป็นรัฐที่ ๓๑ ใน ค.ศ.1850, Oregon ได้เป็นรัฐที่ ๓๓ ใน ค.ศ. 1859, Washington ได้เป็นรัฐที่ ๔๒ ใน ค.ศ.1889)

อเมริกาจึงมาถึงจุดแห่งประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า จบสิ้นพรมแดน (closing of the frontier)

ถ้านับจุดเริ่มจากปีที่ชาวยุโรปตั้งเมืองแรกในแผ่นดินสหรัฐอเมริกา ก็ได้แก่ ค.ศ.1565 (คือเมือง St. Augustine หรือ San Augustin2 ในรัฐฟลอริดา/Florida ซึ่งพวกสเปนตั้งขึ้น)

ถ้านับจากปีที่ชาวอังกฤษตั้งถิ่นฐานถาวรแห่งแรก ก็ได้แก่ ค.ศ.1607 (คือเมือง Jamestown ในรัฐเวอร์จิเนีย/Virginia ซึ่งพวกพ่อค้าและนักล่าอาณานิคมที่รัฐบาลอังกฤษสนับสนุน ได้มาตั้งขึ้น)

ถ้านับจากปีที่ราษฎรอังกฤษหนีภัยทางศาสนามาได้ที่พึ่งพำนักใหม่แห่งแรก ก็ได้แก่ ค.ศ.1620 (คือปีที่พวกพิลกริมส์/ Pilgrims มาขึ้นฝั่งที่ “อังกฤษใหม่” คือ New England)

นับจากจุดเริ่มที่กล่าวนี้ ชนชาติอเมริกันได้บุกฝ่าพรมแดนเป็นระยะทาง ๓,๐๐๐ ไมล์ (เกินกว่า ๔,๘๐๐ กม.) มุ่งหน้าขยายดินแดนออกมาทางตะวันตก โดยเฉลี่ยปีละ ๑๐ ไมล์ จนมาถึงจุดจบพรมแดนนี้ ใช้เวลาประมาณ ๓๐๐ ปี

1“ไปตะวันตก” ใช้เป็นสำนวน มีความหมายด้วยว่า ตาย มลาย หรือหายสาบสูญ
2ที่นี่ พวกฮิวเกนอต (Huguenots) คือ โปรเตสแตนต์ชาวฝรั่งเศส ที่ลี้ภัยมาจากประเทศของตนจำนวนหนึ่ง ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน ในปี 1564 และได้ถูกพวกสเปนกวาดล้างตายแทบหมดในคราวนี้
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.