มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พอเปิดขุมปัญญาของกรีกโบราณกลับขึ้นมาได้
ฝรั่งดีใจ เรียกว่าเป็นยุคที่ได้เกิดใหม่

๒. Renaissance (ค.ศ.1453-1527; แต่ตำราไม่ลงกันแน่นอน บางทีก็ยืดเป็น ค.ศ.1340-1550, บางทีก็ย่นเป็น ค.ศ. 1480-1520 หรือ ค.ศ.1493-1527) แปลว่า (ยุคแห่ง)”การคืนชีพ” หมายถึงการฟื้นฟูศิลปะและวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณ ที่จมหายลับเลือนไปตลอดเวลาประมาณ ๑,๐๐๐ ปีแห่งสมัยกลางนั้น

ชื่อของยุคนี้ ก็บอกแจ้งความหมายและความรู้สึกของชาวตะวันตกต่อยุคสมัยนี้ชัดเจนอยู่แล้วในตัวว่า คนตะวันตกมองเห็นว่าในสมัยกลางพวกตนถูกปิดกั้นจากการเรียนรู้และขุมปัญญาแห่งอารยธรรมพื้นฐานเดิมของตนในอดีต และรู้สึกกลับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพ้นยุคสมัยแห่งความอับเฉาซบเซานั้นขึ้นมาได้ เป็นยุคเริ่มต้นและช่วงต่อ เพื่อการก้าวไปข้างหน้า

ยุคคืนชีพ หรือยุคเกิดใหม่นี้ มากับแนวคิดสำคัญที่เรียกว่า “มนุษยนิยม” (humanism) ซึ่งเชิดชูคุณค่าความสามารถและความสำคัญของมนุษย์ โดยถือมนุษย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล พร้อมทั้งให้ความสำคัญแก่ตัวบุคคลหรือปัจเจกชน และสนใจในธรรมชาติตามสภาพที่เป็นจริง อันเป็นแนวคิดที่เฟื่องฟูขึ้นจากการศึกษาวรรณคดีของกรีกและโรมันโบราณ (คลาสสิก)

ศาสนจักรคริสต์ในสมัยกลางสอนกันสืบมาว่า ความสุขในโลกนี้แม้ที่สูงสุด ถ้ามิใช่เป็นกับดักของมารร้าย ก็เป็นเพียงเงาลางๆ ของชีวิตในสวรรค์

แต่นักคิดแห่งยุคคืนชีพ เถียงแบบไม่ปฏิเสธหลักศาสนาคริสต์ตรงๆ โดยบอกว่า พวกคนรุ่นเก่านั้นไปมองโลกที่พระเจ้าสร้างแต่ในด้านร้าย แล้วก็ลืมไปว่า มนุษย์ทั้งหลายนี้แหละเป็นภาพฉายที่สะท้อนพระเกียรติคุณของพระผู้เป็นเจ้า (ฉะนั้น ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ในโลกนี้จึงดีงามและสำคัญที่สุด)

พึงสังเกตว่า ตั้งแต่ ค.ศ.636 เป็นต้นมา กองทัพมุสลิมได้เริ่มโจมตีอาณาจักรโรมันตะวันออก ต่อมาศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณก็ถูกชาวมุสลิมรับถ่ายทอดไป

โดยเฉพาะตั้งแต่ ค.ศ.750 เป็นต้นมา ตำรับตำราของกรีกโรมันโบราณถูกแปลเป็นภาษาอาหรับ และชาวมุสลิมก็ได้พัฒนาศิลปวิทยาเหล่านั้นต่อมาตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 9-11 โดยเสริมด้วยความรู้ของตนและศิลปศาสตร์ที่ได้จากอินเดีย

ฉะนั้น เมื่อศิลปวิทยาการเสื่อมทรุดลงในยุโรปสมัยกลาง อาณาจักรมุสลิมจึงเป็นแหล่งบำรุงรักษาศิลปวิทยาการโบราณนั้นไว้

จนกระทั่งต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 จึงเป็นยุคแห่งการที่ยุโรปแปลศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณ พร้อมทั้งวิทยาการของมุสลิมเอง จากภาษาอาหรับมาเป็นภาษาฮิบรูและละติน อันมีผลให้เกิดความตื่นตัวทางปัญญาที่สืบเนื่องมาถึงยุคคืนชีพ (Renaissance) นี้ โดยประจวบพอดีกับที่ในประเทศมุสลิม ศิลปวิทยาการก็กลับซบเซาเสื่อมลง

ต่อมา ตรงกับจุดเริ่มของยุคคืนชีพนี้ทีเดียว ใน ค.ศ.1453 กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ถูกตีแตก เสียแก่พวกออตโตมานเติรกส์ จักรวรรดิบีแซนตีน (Byzantine Empire คือจักรวรรดิโรมันตะวันออก) ล่มสลาย (ถึงจุดกำหนดสิ้นสมัยกลาง) นักปราชญ์และผู้ทรงความรู้จำนวนมากหนีมาอิตาลี และขนเอาตำรับตำราสำคัญมาด้วย เป็นการนำความรู้ที่สืบแต่กรีกโบราณมายังยุโรปอีกระลอกหนึ่ง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.