ธรรมกับการพัฒนาชีวิต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พัฒนาชีวิต คือศึกษาตลอดชีวิต

การพัฒนาชีวิตคืออะไร เป็นคำถามเบื้องต้นที่สุด ที่ตั้งขึ้นสอดคล้องกับหัวข้อของปาฐกถา ถ้าจะพูดให้ง่ายที่สุด การพัฒนาชีวิต คือ การทำให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นไป อันนี้เป็นการแปลความหมายอย่างง่ายๆ แต่เมื่อบอกว่าให้เจริญงอกงามขึ้นไปนี้ บางทีก็ทำให้รู้สึกว่ามีความเลื่อนลอย คือ ที่ว่าเจริญงอกงามนั้น เจริญงอกงามอย่างไร เจริญงอกงามไปไหน ถ้าเจริญไปเจริญไปเรื่อยๆ บางทีก็เป็นปัญหาได้เหมือนกัน เหมือนกับบ้านเมืองของเราเวลานี้ เราพัฒนากันมา เราทำให้เจริญขึ้นๆ เติบโตขึ้น แล้วถึงตอนนี้เราก็พูดกันมากว่า บ้านเมืองของเรามีปัญหามาก บางทีก็ถึงกับสงสัยกันว่า การพัฒนานี้ เป็นการพัฒนาให้เกิดความสุขความเจริญที่แท้จริง หรือทำให้เกิดปัญหากันแน่ เพราะฉะนั้น การพูดแต่เพียงว่า พัฒนาคือทำให้เจริญขึ้นไปๆ นั้น ดูเหมือนจะยังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเลื่อนลอย ไม่น่าจะจำกัดความหมายเพียงเท่านี้

ทีนี้ ถ้าจะทำให้มีความแจ่มชัดยิ่งขึ้น ก็อาจจะพูดต่อไปโดยให้ความหมายของการพัฒนาชีวิตว่า เป็นการทำให้เจริญขึ้น โดยมีคุณภาพเพิ่มขึ้น อันนี้ก็รู้สึกว่าจะมีความชัดเจน คือมีขอบเขตที่จำกัดขึ้นมาบ้าง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังไม่รู้ว่าคุณภาพที่ต้องการนั้นเป็นคุณภาพอย่างไร นับว่ายังไม่ชัดเจนแท้ จึงจะขอพูดถึงความหมายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายที่สัมพันธ์กับจุดมุ่งหมาย คือ การกระทำต่างๆ นั้น ตามปกติต้องมีจุดมุ่งหมาย ถ้าเราพูดถึงความหมายโดยโยงไปถึงจุดมุ่งหมายแล้ว ก็ดูเหมือนจะเป็นการจำกัดขอบเขตที่ชัดเจน เพราะฉะนั้น ถ้าพูดโดยนัยทางธรรม คือตามความเป็นเหตุเป็นผล ก็อาจจะพูดในทำนองว่า การพัฒนาชีวิต คือการทำให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นไปจนเข้าถึงจุดมุ่งหมายของมัน จุดมุ่งหมายของชีวิตคืออะไร ถ้าตอบตามนัยของพระพุทธศาสนาก็อาจจะพูดว่า จุดมุ่งหมายของชีวิต คืออิสรภาพ หรือภาวะไร้ปัญหา ไร้ทุกข์ ความเต็มอิ่มที่ชีวิตไม่มีความพร่อง ไม่มีความขาดแคลน เป็นชีวิตที่มีความเต็มในตัวของมันเอง ถ้ามองในความหมายอย่างนี้ การพัฒนาชีวิตก็คือการทำชีวิตให้เจริญงอกงามขึ้นไปจนกว่าจะถึงจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นอิสระ ไร้ปัญหา ไร้ทุกข์ นี้เป็นการให้คำจำกัดความซึ่งแม้จะยังไม่ชัดเจนทีเดียว แต่ก็ยังให้เห็นขอบเขตขึ้นมาได้

เมื่อตั้งหัวข้อว่า ธรรมกับการพัฒนาชีวิต ก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่โยงถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับการพัฒนาชีวิตว่า ธรรมจะมาช่วยในการทำชีวิตให้เจริญงอกงามเข้าสู่จุดมุ่งหมายนั้นได้อย่างไร อย่างไรก็ดี เมื่อพูดอย่างนี้ก็ทำให้มีข้อที่น่าแคลงใจหน่อยหนึ่ง คือ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ธรรมก็เป็นอย่างหนึ่ง การพัฒนาชีวิตก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง กลายเป็นว่า ธรรมนั้นเป็นอะไรอย่างหนึ่งที่ดีงาม เป็นเครื่องมือหรือของข้างนอกที่จะนำมาใช้เพื่อดำเนินการพัฒนาชีวิต แต่ถ้ามองกันให้ลึกซึ้งแล้ว ความจริงนั้นธรรมไม่ใช่เรื่องต่างหากจากการพัฒนาชีวิตเลย เพราะว่าการพัฒนาชีวิตให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องนั่นแหละเป็นธรรมอยู่ในตัว เมื่อใดเรามีการพัฒนาชีวิต เมื่อนั้นเราก็มีการปฏิบัติสิ่งที่เรียกว่าธรรม เราอาจจะพูดได้ว่า การปฏิบัติธรรมก็คือการพัฒนาชีวิต หรือการพัฒนาชีวิตก็คือการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น การพัฒนาชีวิตจึงนำเอาธรรมมาใช้อยู่แล้ว หรือเป็นตัวการปฏิบัติธรรมนั้นเอง

ในทางพระพุทธศาสนานั้น การพัฒนาชีวิตอย่างถูกต้องก็คือการทำให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องที่จะนำเข้าสู่จุดมุ่งหมายอย่างที่กล่าวแล้ว วิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามนั้นเราเรียกกันว่า มรรค ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะ มรรค คือ วิถีชีวิตที่ถูกต้อง ดีงาม ซึ่งนำไปสู่จุดมุ่งหมายได้ มรรคนี้เป็นของคู่กันกับหลักการอีกอย่างหนึ่งคือ สิกขา มรรคนั้นเป็นวิถีชีวิตที่ดีงาม แต่ทำอย่างไรจะให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ดีงามนั้นได้ ก็ต้องมีการฝึกฝนหรือฝึกหัด การฝึกหัดฝึกฝนให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องดีงามนั้น ท่านเรียกว่า สิกขา ซึ่งเป็นภาษาบาลี ภาษาไทยเราเรียกว่า ศึกษา เพราะฉะนั้น การศึกษา ก็คือการฝึกฝนให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องดีงาม ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงใช้คำว่ามรรคคู่กับคำว่า ศึกษา คำทั้งสองนี้มีความหมายแทบจะเป็นคำเดียวกัน มรรคเป็นวิถีชีวิตที่ดีงามถูกต้องหรือตัวการดำเนินชีวิต ส่วนการศึกษาเป็นการทำให้เกิดการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง หรือการฝึกฝนคนให้เข้าสู่วิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามนั่นเอง ไปๆ มาๆ การพัฒนาก็คือการฝึกฝนนั่นเอง การพัฒนาที่ว่าทำให้เจริญนั้น เป็นความหมายอย่างหนึ่งของการฝึกฝน การที่จะทำให้คนเจริญขึ้นไปนั้นตามปกติเราต้องมีการฝึกฝน เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาก็เลยใช้การฝึกฝนนี้ในความหมายอย่างเดียวกับการพัฒนา และการศึกษาหรือสิกขานี้ตัวมันเองก็แปลว่าการฝึกฝน ไปๆ มาๆ การพัฒนาชีวิตก็คือการศึกษานั่นเอง เพราะฉะนั้น การศึกษาก็คือการพัฒนาชีวิต ผลที่สุด หัวข้อที่ตั้งไว้ก็เป็นเรื่องของการศึกษานี่เอง ไม่ได้ห่างไกลไปไหนเลย

ในเมื่อการศึกษาเป็นการฝึกฝนพัฒนาคน ให้ดำเนินไปในวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ความหมายจึงตามมาว่า ตราบใดชีวิตของเรายังไม่สมบูรณ์ ยังมีความพร่อง ยังมีความไม่เต็ม ยังมีทุกข์ ยังมีปัญหา ตราบนั้นเราก็ยังต้องพัฒนาชีวิตกันเรื่อยไป ในเมื่อเรายังต้องพัฒนาชีวิตกันเรื่อยไป ก็หมายความว่า เรายังต้องมีการศึกษากันเรื่อยไป คือว่าเราจะต้องมีการศึกษาตลอดชีวิต หรือมีการพัฒนาชีวิตกันตลอดชีวิตนั้น จนกว่าจะถึงจุดหมายดังกล่าวมาแล้ว อันนี้เป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องธรรมกับการพัฒนาชีวิต ถ้ามีความเข้าใจเบื้องต้นเป็นฐานอย่างนี้แล้ว เราก็ก้าวกันต่อไปสู่หลักการที่จะพัฒนาชีวิตนั้น

หลักการใหญ่ในการพัฒนาชีวิต

การพัฒนานั้น เป็นศัพท์ที่นิยมใช้ในสมัยปัจจุบัน ความจริงเป็นคำที่มาจากพระพุทธศาสนา แต่เดิมท่านใช้ว่า วัฒน หรือ วัฒนา สมัยก่อนเวลาให้พรกัน เรานิยมพูดว่า ขอให้วัฒนาสถาพร วัฒนาก็คือ เจริญ ตอนนั้นไม่นิยมใช้คำว่าพัฒนา จนกระทั่งเมื่อ ๓๐ ปี มาแล้ว จึงเริ่มมีการนิยมใช้คำว่าพัฒนา และนำคำว่าพัฒนานั้นมาใช้ในวงการต่างๆ โดยเฉพาะในการสร้างความเจริญแก่ประเทศชาติ ซึ่งดูจะเน้นในทางวัตถุมาก เช่น การสร้างถนนหนทาง การสร้างตึกรามบ้านช่อง การทำให้มีบริการไฟฟ้า น้ำประปา ขยายกว้างขวางออกไป มีเครื่องอุปโภคบริโภค บริการสาธารณูปโภค ที่ใช้กันได้ทั่วไป ตลอดจนความบริบูรณ์พรั่งพร้อม สะดวกสบายทางวัตถุทุกอย่างที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ อันนี้เรามักเรียกว่าการพัฒนา

การพัฒนาในแง่นี้เน้นด้านวัตถุ แต่แท้จริงแล้วการพัฒนานั้น ไม่ใช่มีความหมายเพียงแค่การทำให้วัตถุเจริญเติบโตอย่างเดียว แต่หมายถึงการสร้างความเจริญงอกงามในทางนามธรรมด้วย ในทางนามธรรมนั้นสิ่งสำคัญก็คือ ชีวิตของเรานี้เอง ชีวิตของเรานี้เป็นที่ประมวลของรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายไว้ และส่วนที่สำคัญยิ่งของชีวิตนั้นก็คือ จิตใจที่เป็นนามธรรม

ในเมื่อคำว่าพัฒนามีความหมายกว้าง เป็นศัพท์ที่ใช้แบบคลุมๆ ในทางพระพุทธศาสนามีคำที่มีความหมายว่าทำให้เจริญงอกงาม หรือฝึกฝนให้เจริญยิ่งขึ้นไป ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับพัฒนานี้หลายคำ เราจึงควรเลือกเอาคำที่มีความหมายกระชับจำเพาะที่จำกัดขอบเขต ตรงกับที่เราต้องการ คำสำคัญที่ใช้กับการทำชีวิตให้เจริญงอกงาม ได้แก่คำว่า ภาวนา คือ การพัฒนาที่ใช้กับชีวิตนั้น ใช้คำว่าภาวนา ภาวนาในที่นี้อย่าเอาไปสับสนกับคำว่า ภาวนา ที่แปลว่าท่องบ่นสวดมนต์ อันนั้นเป็นความหมายหนึ่ง ซึ่งเลือนไปจากความหมายเดิมที่แปลว่าการทำให้ชีวิตเจริญงอกงามนี้ เมื่อได้ศัพท์เฉพาะสำหรับการพัฒนาชีวิตแล้ว เราก็แยกการใช้ถ้อยคำกันออกไปให้ชัดเจนได้ ไม่สับสน คือ ถ้าพัฒนาสิ่งที่เป็นรูปธรรมภายนอก เช่น พัฒนาวัตถุ พัฒนาสังคม พัฒนาบ้านเมือง พัฒนากิจการต่างๆ ก็ใช้คำว่า พัฒนา ถ้าพัฒนาชีวิต หรือพัฒนาคน พัฒนามนุษย์ ก็ใช้คำว่า ภาวนา

ตอนแรกนี้ ก่อนจะพูดต่อไปถึงรายละเอียด อยากจะพูดถึงหลักการทั่วไปของการพัฒนาชีวิต ที่เรียกว่าภาวนานี้ ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านแสดง ภาวนา หรือ การพัฒนา ชีวิต ไว้ ๔ อย่างด้วยกัน ขอเอาหลักวิชามาแสดงไว้ก่อน คือ

๑. กายภาวนา แปลว่า การทำกายให้เจริญ หรือพูดอย่างภาษาปัจจุบัน คือ การพัฒนากาย พัฒนากายอย่างไร จะได้พูดกันต่อไป

๒. ศีลภาวนา แปลว่า การพัฒนาศีล ศีลเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในสังคม การพัฒนาศีล ก็คือ การพัฒนาในด้านการมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม

๓. จิตภาวนา การพัฒนาจิตใจ หรือการทำจิตใจให้เจริญงอกงาม และ

๔. ปัญญาภาวนา การทำปัญญาให้เจริญงอกงาม หรือ พัฒนาปัญญา

นี้คือหลัก ๔ ประการในการพัฒนาชีวิต ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา ถ้าเอาหลักนี้มาตั้งเป็นหัวข้อ ก็ถือว่าครบหมดแล้ว เรื่องของการพัฒนาชีวิตก็มีอยู่ ๔ ข้อนี้เท่านั้น ต่อไปนี้อยากจะแสดงความหมายย่อๆ ว่าหลัก ๔ อย่างนี้เป็นอย่างไร เอาหลักก่อน ต่อจากหลักจึงจะแยกแยะไปหารายละเอียด

พัฒนากายเน้นที่พัฒนาอินทรีย์

ข้อที่ ๑ กายภาวนา การพัฒนากาย หรือ ทำกายให้เจริญงอกงามนั้นทำอย่างไร ในความหมายที่ง่ายที่สุด คนทั่วไปก็จะนึกถึงการทำให้ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรง หรือการมีสุขภาพกายที่ดี อันนี้เป็นความคิดเบื้องแรก พอได้ยินศัพท์นี้คนทั่วไปก็มักจะนึกถึงความหมายในแง่นี้ก่อน แต่นั่นเป็นความหมายในแง่หนึ่งด้านเดียว ซึ่งไม่ใช่จุดที่เน้นในพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ บางท่านก็อาจจะนึกต่อไปว่า นอกจากการทำกายให้เจริญเติบโตแข็งแรงมีสุขภาพดีแล้ว การพัฒนากายนี้ก็จะหมายถึงการพัฒนาทักษะ การฝึกฝนการใช้ร่างกาย การใช้มือ ใช้อวัยวะ ให้มีความคล่องแคล่วชำนาญในการที่จะประกอบการต่างๆ ซึ่งมุ่งหมายไปในทางอาชีพ แต่นี่ก็ยังไม่ถึงความหมายของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง การพัฒนากายในพุทธศาสนานี้ ท่านหมายถึงข้อต่อไปซึ่งคลุมความหมายแม้แต่การพัฒนาทักษะด้วย

ขั้นที่สาม ซึ่งเป็นการพัฒนากาย ในความหมายที่แท้จริง ก็คือการพัฒนาอินทรีย์ อินทรีย์ของเรานี้ก็มี ตา หู จมูก ลิ้นและกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับสัมพันธ์กับโลกภายนอก เป็นช่องทางที่เราสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางวัตถุ และทางธรรมชาติทั้งหมด การฝึกฝนพัฒนาอินทรีย์นั้นมีความหมายคลุมไปถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรา กับสภาพแวดล้อมทั้งหมด ทั้งทางธรรมชาติ และวัตถุต่างๆ เนื่องจากการใช้อินทรีย์ทั้งหลายนั่นเอง คนเราจึงสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ เราจะใช้อินทรีย์ต่างๆ ไปสัมพันธ์กับโลกภายนอกให้ได้ผลดี ก็ต้องมีการพัฒนาอินทรีย์ หรือพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น การฝึกฝนพัฒนาอินทรีย์หรืออินทรียภาวนานั้นมี ๒ แง่ ด้วยกัน คือ

๑. ฝึกฝนในแง่การใช้งาน คือ ทำให้อินทรีย์เหล่านี้มีความเฉียบคม มีความละเอียดอ่อน มีความไว มีความคล่อง มีความจัดเจน เหล่านี้เป็นการฝึกในแง่การใช้งาน คล้ายกับที่พูดว่า ฝึกทักษะ

๒. ฝึกในแง่การทำให้รู้จักเลือกรับเอาสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์เข้ามาให้แก่ชีวิต ป้องกันไม่ให้รับเอาสิ่งที่ไม่ดีหรือเป็นโทษเข้ามา

แง่ที่สองนี้ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่สำคัญมาก เราเอาอินทรีย์ของเราไปสัมพันธ์กับโลก เราใช้ตาของเราสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย โดยใช้ตาดูสิ่งต่างๆ เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ซึ่งเรียกว่าเป็นประสบการณ์ หรือทางพระเรียกว่าอารมณ์ที่รับเข้ามา ในการรับเข้ามาซึ่งอารมณ์ หรือประสบการณ์ต่างๆ นั้น เราสามารถรับทั้งในแง่ที่เป็นคุณและในแง่ที่เป็นโทษแก่ชีวิต ถ้ารับไม่เป็นเพราะไม่เคยพัฒนาอินทรีย์เลย เราก็อาจจะรับเข้ามาในลักษณะที่เป็นโทษแก่ชีวิต อย่างที่ทางพระเรียกว่าทำให้อกุศลธรรมเจริญงอกงาม ถ้ารับเป็นคือรับเข้ามาในลักษณะที่ถูกต้องเป็นคุณประโยชน์แก่ชีวิต ก็เรียกว่าทำให้กุศลธรรมเจริญงอกงาม คือรับแล้วได้คุณภาพชีวิต หมายความว่า ถ้าดูอะไรก็ต้องรู้จักดู ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนอย่างเด็กดูโทรทัศน์ ถ้ารู้จักใช้อินทรีย์ดู ดูเป็นก็ได้คุณประโยชน์ ได้ความรู้ ได้สิ่งที่เป็นสาระ ถ้าดูไม่เป็น ไม่รู้จักเลือกดู ก็จะได้สิ่งที่เป็นโทษ ให้เกิดผลเสียแก่ชีวิต แม้แต่การรับประทานอาหาร ที่เรียกว่าใช้ลิ้น ถ้าใช้ลิ้นเป็น รับประทานอาหารเป็น ก็ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต ทำให้ได้คุณค่าของอาหาร ถ้ารับประทานอาหารไม่เป็น มุ่งแต่อร่อย ก็ทำให้เสียคุณภาพชีวิต อาจจะเกิดท้องเสีย อาจจะเกิดความเสื่อมเสียสุขภาพไปได้ต่างๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการใช้อินทรีย์ในทางที่ว่า จะรับเอาคุณหรือโทษเข้ามาจากสิ่งที่เราไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทั้งหมดนั้น

ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องของการพัฒนาอินทรีย์ หรือการพัฒนากาย ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งโดยสรุปก็คือ การที่เราพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรา หรืออินทรีย์ของเรากับวัตถุ สิ่งเสพสิ่งบริโภคต่างๆ เริ่มตั้งแต่ปัจจัย ๔ เป็นต้นไป ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาให้มีความสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ถ้าสัมพันธ์อย่างถูกต้องก็เรียกว่าเป็นการพัฒนากาย แต่ถ้าสัมพันธ์ไม่ถูกต้อง รับสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นโทษ เช่น กินอาหารก็ไม่เป็น ดูโทรทัศน์ก็ไม่เป็น ฟังวิทยุก็ไม่เป็น แม้แต่ฟังเสียงคนพูดก็รับอารมณ์เข้ามาในแง่ที่ทำให้เกิดโทษ เกิดโทสะ ไม่รู้จักรับเข้ามาในทางที่จะทำให้เกิดปัญญา อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้พัฒนากาย

ในทางพระพุทธศาสนาให้ความหมายของการพัฒนากายในแง่ที่ว่ามานี้ คือ พัฒนาความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ให้เป็นไปในทางที่เกิดประโยชน์แก่ชีวิต โดยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับวัตถุ สิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ปัจจัย ๔ จนถึงความสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมโดยทั่วไป ธรรมชาติแวดล้อมโดยทั่วไป ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน เราจะสัมพันธ์อย่างไร จึงจะอยู่กับธรรมชาติด้วยดี ให้มีความเกื้อกูลกันระหว่างชีวิตของเรากับธรรมชาตินั้น ทำอย่างไรให้ชีวิตของเราได้รับความดีงาม ได้รับความงอกงามเข้ามาจากธรรมชาติแวดล้อม ถ้าเรารู้จักรับความงามของธรรมชาติ รู้จักรับความสดชื่นของธรรมชาติ เป็นสุขที่จะอยู่กับธรรมชาติ และในทางกลับกัน เราก็รักและรู้จักรักษาธรรมชาติไว้ ทำให้ธรรมชาติอยู่ในสภาพที่ดี มีความสวยสดงดงาม มีความร่มรื่น เป็นต้น อย่างนี้ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ดีกับธรรมชาติแวดล้อม

ท้ายที่สุดก็คือ สิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวเด่นมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องทางด้านกายภาพ เป็นเรื่องของวัตถุเช่นเดียวกัน ได้แก่ความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ตอนนี้ขอพูดไว้แต่เพียงหลักก่อน ถ้ามีเวลาจะพูดถึงความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาในด้านกายอย่างหนึ่ง

กายวาจา จุดเชื่อมต่อการพัฒนาทางสังคมกับทางจิตใจ

ข้อที่ ๒ ศีลภาวนา หรือการพัฒนาศีล ศีลนั้นใกล้กับวินัย ศีลต่างจากวินัยอย่างไร ในแง่หนึ่ง ศีลเป็นสภาพหรือคุณสมบัติของตัวบุคคล วินัยเป็นกิจกรรมที่เป็นไปในสังคม ศีลเป็นเรื่องของการที่บุคคลนั้นมีระเบียบในการดำเนินชีวิตและในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี ความมีระเบียบหรือประพฤติตนอยู่ในระเบียบอย่างนี้เรียกว่า ศีล ส่วนวินัยนั้นเป็นการจัดระเบียบ ทั้งการจัดระเบียบชีวิตของตนและการจัดระเบียบในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนการจัดระบบสังคมทั้งหมด ศีลกับวินัย จึงเป็นของคู่กัน คือ วินัยทำให้เกิดศีล ถ้าเรารักษาวินัยเราก็เป็นผู้มีศีล ทางพระตามปกติจะเรียกคนว่าเป็นผู้มีศีล เราไม่ใช้คำว่ามีวินัย แต่ในภาษาไทยเรานิยมใช้คำว่า มีวินัย

ที่จริง สองคำนี้เป็นคู่กัน วินัยนั้นเนื่องอยู่กับสังคม โดยทั่วไป วินัยจะเป็นบัญญัติ คือ กำหนดวางขึ้นมาเพื่อเป็นแบบแผนสำหรับการประพฤติที่ดีงามของบุคคล และเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมซึ่งเป็นเรื่องสมมุติ เช่นการที่จะขับรถชิดซ้าย ชิดขวา เป็นต้น คือจัดอย่างไรก็ตามให้สังคมมีระเบียบได้ เราก็เรียกว่าเป็นวินัย ตกลงว่า วินัยนั้นเป็นการจัดสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา ให้คนมีระเบียบในการดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกันให้ดี ศีลก็คือการที่คนนั้นเขามีระเบียบชีวิตอย่างนั้นหรือประพฤติตนอยู่ในระเบียบอย่างนั้น ซึ่งเขาได้รักษาไว้อย่างดีแล้ว เราเรียกคนที่รักษาวินัยว่าเป็นคนมีศีล

เป็นอันว่า ในเรื่องศีลภาวนานี้ เราต้องการพัฒนาคนให้มีระเบียบในการดำเนินชีวิต และในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทีนี้เรื่องของศีล ที่เป็นเรื่องของความมีระเบียบในการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันในระบบสังคมนั้น ถ้าเราแยกคร่าวๆ ก็จะเห็นได้หลายระดับเหมือนกัน

ระดับต้นที่เป็นพื้นฐาน ก็คือ ความมีระเบียบระบบในการเป็นอยู่ ในการดำเนินชีวิต โดยที่ไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน จะเห็นว่า หลักศีลขั้นแรกทีเดียวก็มุ่งที่การไม่เบียดเบียน ศีลที่เราเรียกกันง่าย คือศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลพื้นฐาน จะเห็นว่า เป็นเรื่องของการไม่เบียดเบียนกันทั้งนั้น กล่าวคือ ไม่เบียดเบียนต่อกันในทางชีวิตร่างกาย ในทางทรัพย์สิน ในทางคู่ครอง ในการใช้วาจา ตลอดจนไม่เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตนเอง เริ่มต้นศีลจึงเป็นเรื่องของการมีระเบียบในระดับของการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เมื่อไม่เบียดเบียนกันแล้ว ความหมายก็ขยายออกไปถึงความสุจริต

ต่อจากนั้นขึ้นไป เมื่อเราดำรงชีวิตอยู่ในสังคม อยู่ร่วมกับคนอื่น โดยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การประพฤติตนอย่างนั้นก็อยู่ในขั้นของศีลด้วย แต่เป็นศีลที่ขึ้นมาสู่ระดับที่เป็นบวก เลยจากขั้นเบียดเบียนไปแล้ว ต่อจากนั้นก็มีอีกระดับหนึ่ง คือ การฝึกฝนควบคุมตนในทางกายวาจา เพื่อเป็นพื้นฐานของการฝึกจิตใจ หรือเป็นพื้นฐานในการพัฒนาจิตใจ จะเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าศีลบางอย่าง เช่น ศีลของพระ ศีลของอุบาสกที่ไปรักษาศีลอุโบสถ เป็นศีลที่ต้องมีการฝึกกาย วาจา เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาจิตใจ เช่น ต้องรู้จักควบคุมบังคับใจตัวเองให้ดีขึ้น การที่จะบังคับใจตัวเองได้ดีขึ้น ก็ฝึกด้วยการบังคับควบคุมตัวเองด้านร่างกายก่อน การที่จะควบคุมบังคับตัวเองในทางร่างกายได้นั้น ก็จะต้องทำการบังคับควบคุมจิตใจของตัวเองไปด้วยในตัว ศีลในขั้นนี้ จึงเป็นการประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือข้อกำหนดที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อจะฝึกฝนตนเองในการที่จะเจริญขึ้นในคุณธรรมต่างๆ ในทางจิตใจยิ่งๆ ขึ้นไป โดยสัมพันธ์กับการพัฒนาข้อต่อไปที่เรียกว่าเป็นการพัฒนาจิตใจ อันนี้เป็นหลักในข้อที่เรียกว่าการ พัฒนาศีล

ข้อที่ ๓ จิตภาวนา หรือการพัฒนาจิตใจ การพัฒนาจิตใจนี้เป็นเรื่องที่กว้างขวางมาก เพื่อความสะดวกขอรวบรัดแบ่งเป็น ๓ ด้าน คือ

ด้านที่ ๑ การพัฒนาคุณภาพจิต จิตของเรานี้ ควรเป็นจิตใจที่มีคุณภาพ เริ่มแต่มีคุณธรรมต่างๆ ที่ทำให้จิตใจ ประณีตดีงาม เช่น มีเมตตากรุณา มีศรัทธา มีความกตัญญูกตเวที เป็นต้น

ด้านที่ ๒ การพัฒนาสมรรถภาพจิตหรือสมรรถภาพของจิตใจ หมายถึงความสามารถของจิตใจ ซึ่งมีความเข้มแข็งที่จะเอาไปใช้งานได้ดี จิตของเราเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องนำไปใช้งาน เราจะทำงานได้เก่ง เราก็ต้องมีจิตที่มีสมรรถภาพเป็นพื้นฐานก่อน เราจะใช้ปัญญาคิดค้นอะไรต่างๆ ให้ได้ผล ตลอดจนจะก้าวหน้าไปด้วยดีในการพัฒนาชีวิต จิตของเราก็ต้องมีสมรรถภาพเช่นเดียวกัน สมรรถภาพของจิตนี้เน้นที่ตัวสมาธิ คือจิตจะต้องมีสมาธิจึงจะทำงานได้ผลดี นอกเหนือจากสมาธิแล้ว จะต้องมีสติ จะต้องมีวิริยะ คือความเพียรพยายาม ความกล้าสู้ ความเอาใจใส่ รับผิดชอบ ความเข้มแข็งของจิตใจ ความอดทน เป็นต้น อันนี้เป็นเรื่องของสมรรถภาพจิต

ด้านที่ ๓ การพัฒนาสุขภาพจิต นอกจากมีคุณธรรม มีคุณภาพจิต และนอกจากมีสมรรถภาพจิตเข้มแข็งแล้ว ก็ต้องมีสุขภาพจิตด้วย คือ จิตใจนั้นมีความสุข เป็นจิตใจที่มีความเบิกบาน มีปีติ มีความอิ่มใจ มีปราโมทย์ มีความร่าเริงบันเทิงใจ เป็นต้น ลักษณะต่างๆ ของจิตใจที่มีความสุขนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ย้ำมากในพระพุทธศาสนา เวลาพูดถึงการพัฒนาจิต เรามักจะนึกถึงแต่ในด้านสมรรถภาพจิต ดูเหมือนจะเน้นแง่นั้นมากหน่อย บางทีก็ขาดสุขภาพจิตไปเลย การขาดสุขภาพจิตเป็นปัญหาสำคัญของสังคมในยุคปัจจุบัน จึงจะต้องเน้นเรื่องสุขภาพจิตกันไว้ให้มากด้วย

นี้ก็เป็นการกล่าวโดยย่อ ในเรื่องจิตภาวนา หรือการพัฒนาจิตใจ ไม่ว่าจะไปบำเพ็ญสมาธิ ไปทำกรรมฐานหรือ อะไรต่างๆ ก็อยู่ในการพัฒนาจิตหรือจิตภาวนา ๓ ด้านเหล่านี้

อิสรภาพทางปัญญา และปัญญาที่นำสู่อิสรภาพ

ข้อที่ ๔ ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา การพัฒนาปัญญานี้มีหลายระดับ ถ้ามองง่ายๆ ทั่วไปก็คงจะนึกถึงเรื่องของการเรียนรู้วิชาการต่างๆ ก่อน หรืออย่างน้อยก็นึกถึงการที่เราไปพบเห็นประสบสิ่งใดก็ตาม แล้วให้มีความเข้าใจในสิ่งนั้น ไม่ใช่รับรู้อย่างที่ว่าโง่ๆ เซ่อๆ แต่รับรู้โดยมีความรู้ความเข้าใจ อย่างนี้ก็เรียกว่ามีปัญญา อะไรก็ตามที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง จะต้องจัด ต้องทำ ก็ต้องรู้ต้องเข้าใจในสิ่งนั้น ตลอดถึงการเรียนรู้วิชาการต่างๆ ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในวิชาการเหล่านั้น รวมทั้งความรู้เหตุรู้ผลอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของการพัฒนาปัญญา ในระดับหนึ่ง

การที่เราจะเกิดปัญญาในระดับต่างๆ ได้นั้น สิ่งที่เราจะต้องเกี่ยวข้องเบื้องแรกก็คือ ประสบการณ์ที่เข้ามา ไม่ว่าวิชาการต่างๆ หรืออะไรก็ตาม ก่อนที่จะเกิดเป็นปัญญาได้ เราต้องรับรู้เข้ามาเป็นประสบการณ์ แต่การรับรู้ประสบการณ์นี้ จะให้เกิดปัญญาที่แท้จริงได้ จะต้องมีวิธีการฝึก เราจะรับรู้ประสบการณ์อย่างไร จึงจะเกิดปัญญา ท่านว่าจะต้องรับรู้ประสบการณ์นั้นตรงตามสภาพของมัน การรับรู้ตรงตามสภาพของมัน หรือทางพระเรียกว่า รับรู้ตามความเป็นจริงนี้เป็นสิ่งสำคัญ ลักษณะที่ตรงข้ามกับการรับรู้ประสบการณ์อย่างตรงตามสภาพ ก็คือ การรับรู้โดยประกอบด้วยความชอบและชัง คือ คนเราพอเจอประสบการณ์ต่างๆ จะต้องมีปฏิกิริยา ถ้าเป็นปุถุชนคือคนที่ยังไม่ได้เรียนรู้ ยังไม่มีการศึกษา พอรับรู้เข้ามา สิ่งใดถูกใจก็ชอบใจ สิ่งใดไม่ถูกใจก็ไม่ชอบใจ เรียกว่าชอบกับชัง หรือยินดีกับยินร้าย พอยินดียินร้ายแล้วก็มองสิ่งเหล่านั้นบิดเบือนไป ถ้าสิ่งใดยินดีตัวเองชอบ ก็มองไปในทางที่ดี ให้สอดคล้องกับความชอบใจ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจ พอไม่ชอบใจแล้ว ก็มองไปอีกอย่างหนึ่ง ในทางที่สอดคล้องกับความไม่ชอบใจหรือความชังนั้น เรียกว่าเกิดความยินดียินร้าย แล้วก็คิดปรุงแต่ง ต่อจากนั้นไปภาพของสิ่งนั้นก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติสิ่งสำคัญในตอนแรก ก็คือ ทำอย่างไรจะให้มีการรับรู้ที่ตรงตามสภาพที่มันเป็น โดยไม่เกิดการชอบชัง ยินดียินร้ายขึ้นมาบิดเบือนภาพของสิ่งที่ถูกรับรู้นั้น ถ้าปฏิบัติถูกต้องในตอนนี้ก็จะได้ความรู้ที่ถูกต้อง จากฐานของข้อมูลที่รับเข้ามาอย่างถูกต้องนี้ การคิดการพิจารณาก็จะดำเนินไปอย่างถูกต้องได้

ต่อจากขั้นที่รับรู้เข้ามาแล้ว ก็คือ ขั้นของการคิดการวินิจฉัยหรือวางแผนต่างๆ ซึ่งก็จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเช่นเดียวกัน เมื่อได้ข้อมูลที่รับเข้ามาตรงตามสภาพโดยบริสุทธิ์แล้ว ก็ต้องมีการใช้ปัญญาคิดพิจารณา วินิจฉัย การคิดพิจารณาวินิจฉัยของคนนั้น ถ้าไม่ได้ฝึกอบรมปัญญาไว้ ปัญญาจะไม่เป็นอิสระ ปัญญาจะไม่บริสุทธิ์ ปัญญาที่ไม่เป็นอิสระ ไม่บริสุทธิ์นั้นเป็นอย่างไร ก็คือจะเป็นปัญญาที่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของอคติ คือ มีฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบใจ โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง เพราะไม่ชอบใจ โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง หรือภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว หรือไม่อย่างนั้นก็ถูกชักจูงด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าตัวเองอยากได้ก็คิดวางแผน คิดวินิจฉัย ตามความโลภความอยากได้ของตัว หรือตามความเห็นแก่ตัวคือจะให้ตัวได้ หรือจะเอาให้ได้ ถ้ามีโทสะ เกิดความไม่ชอบใจ มีความเกลียดชังคิดทำลาย ก็คิดวางแผนไปอีกแบบหนึ่ง การคิดแบบนี้เรียกว่าเป็นปัญญาที่ไม่เป็นอิสระ เพราะตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำและถูกชักจูงโดยโลภะ โทสะ โมหะ จึงต้องมีการฝึกฝนว่า ทำอย่างไรจะให้ความคิด การพิจารณาวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ตลอดจนการวางแผนทุกอย่าง ดำเนินไปด้วยปัญญาที่เป็นอิสระ ท่านใช้คำว่าปัญญาเป็นอิสระ ปัญญาก็รู้จักเป็นอิสระเหมือนกัน เพราะว่าปัญญาที่ไม่เป็นอิสระก็ถูกครอบงำโดยโลภะ โทสะ โมหะ หรืออคติต่างๆ อย่างที่กล่าวมา เป็นอันว่าจะต้องสามารถคิดวินิจฉัยสิ่งต่างๆ และวางแผนการทั้งหลายด้วยปัญญาที่เป็นอิสระซึ่งเป็นปัญญาที่บริสุทธิ์

ปัญญาในขั้นต่อจากนั้น ก็คือ ความสามารถที่จะนำความรู้มาใช้จัดแจง จัดทำ ดำเนินการต่างๆ ให้สำเร็จผลตามที่ต้องการ อันนี้ก็เป็นปัญญาอีกเหมือนกัน ปัญญาในการที่จะจัดทำดำเนินการให้สำเร็จผล โดยเฉพาะในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จนี้สำคัญมาก บางคนมีความรู้แล้ว มีข้อมูลที่รับเข้ามาโดยถูกต้องแล้ว แต่ไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหา ไม่มีความสามารถในการใช้ ก็ไม่ได้ผลสำเร็จตามที่ประสงค์ ฉะนั้น จะต้องมีปัญญาในระดับของการเอามาใช้ คือ ใช้แก้ปัญหา ใช้จัดทำดำเนินการให้สำเร็จผลด้วย และยังมีปัญญาสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เชื่อมโยงในเรื่องนี้ คือ ความสามารถในการที่จะสืบค้นเหตุปัจจัย และแยกแยะ วิเคราะห์สิ่งต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวเอื้ออำนวยในการที่จะแก้ปัญหา และทำกิจการให้สำเร็จผลได้

ต่อจากนั้น ปัญญาในขั้นสุดท้ายก็คือความรู้เท่าทันโลกและชีวิตตามเป็นจริง ซึ่งจะส่งผลย้อนกลับมาช่วยจิตใจ ทำให้จิตใจเป็นอิสระ คนเรานี้เมื่อยังไม่มีปัญญา ไม่รู้จักโลกและชีวิตตามเป็นจริง ก็หลงวิ่งไปตามอำนาจชักจูงของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏแก่ตนซึ่งเข้ามากระทบจากโลกภายนอก ด้วยความยินดียินร้ายต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ แล้วก็เกิดทุกข์กับปัญหาต่างๆ มีความยึดติดในสิ่งต่างๆ อย่างน้อยก็คอยสร้างตัวตนขึ้นมารับกระทบกระแทกจากอารมณ์ และความคิดปรุงแต่งต่างๆ ก่อปัญหาแก่ตนเอง ไม่สามารถจัดการดำเนินการกับสิ่งเหล่านั้นด้วยปัญญาที่แท้จริง เพราะจะเอาแต่ความปรารถนาของตัวเองเป็นหลัก หรือเป็นตัวกำหนด คือจะให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามความอยาก ความปรารถนาของตน เอาความอยากของตนเป็นตัวกำหนด ให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามความต้องการ แต่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ได้เป็นไปตามความอยากความปรารถนาของเรา เมื่อเราจะให้มันเป็นไปทางหนึ่งตามความอยากของเรา แต่มันกลับเป็นไปเสียอีกทางหนึ่งตามเหตุปัจจัยของมัน ใจที่อยากของเราก็ถูกขัด ถูกฝืน เกิดความขัดแย้ง ตัวเราก็เกิดความบีบคั้น เกิดปัญหา เป็นทุกข์ แต่พอมีปัญญา รู้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ก็จะไปถึงขั้นสุดท้าย คือ เป็นปัญญาที่ทำให้จิตใจเป็นอิสระออกมาจากสิ่งต่างๆ ในภายนอกได้ คือไม่ยึดติดถือมั่นในโลก หมายความว่า สิ่งอะไรเข้ามา เราก็รับรู้ตามเป็นจริง ปฏิบัติต่อมันตามเหตุผล ด้วยความรู้เท่าทันต่อเหตุปัจจัย แต่ไม่มีความยึดติดถือมั่นที่จะมาบีบคั้นตัวเอง เรียกว่าไม่ทำให้เกิดความทุกข์ โยงมาแต่ขั้นต้นทีเดียว คือถ้าคนมีปัญญาถึงขั้นทำให้จิตใจเป็นอิสระ การรับรู้ต่างๆ ก็บริสุทธิ์ไปด้วย การรับรู้สิ่งที่เข้ามาก็จะตรงตามสภาพที่เป็นจริง

ทั้งหมดนี้เป็นปัญญาในระดับต่างๆ ซึ่งจะเห็นว่า ในทางพระพุทธศาสนาต้องมีการพัฒนาปัญญานี้หลายขั้นหลายตอน จนกว่าจะบรรลุจุดหมายสุดท้ายคือมีปัญญาที่รู้เท่าทันโลกและชีวิต ซึ่งส่งผลให้จิตใจเป็นอิสระ จุดนี้ก็สำคัญเหมือนกัน คือเราจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างหลักการพัฒนานี้ว่า เมื่อปัญญาเจริญอย่างถูกต้องก็จะส่งผลแก่จิตใจ ทำให้จิตใจดีงาม มีความสุข เป็นอิสระและเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิตด้วย รวมความว่า การพัฒนามีหลักใหญ่ ๔ ประการ คือ

  1. กายภาวนา พัฒนาทางกาย
  2. ศีลภาวนา พัฒนาทางศีลคือระเบียบชีวิต และการอยู่ร่วมในสังคม
  3. จิตภาวนา พัฒนาทางจิตใจ
  4. ปัญญาภาวนา พัฒนาทางปัญญา

เมื่อใดมีภาวนาครบ ๔ ประการนี้โดยสมบูรณ์ ท่านเรียกว่าเป็นพระอรหันต์ คือบุคคลที่ได้พัฒนาสี่ด้านนี้ครบถ้วนบริบูรณ์ อันนี้เป็นคำจำกัดความอย่างหนึ่งของพระอรหันต์ คำว่า กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนานี้ เป็นคำนาม เมื่อเปลี่ยนรูปเป็นคุณศัพท์จะเปลี่ยนเป็นคำแสดงคุณสมบัติของพระอรหันต์ กล่าวคือ

  1. ภาวิตกาย มีกายที่ภาวนา คือ พัฒนาแล้ว
  2. ภาวิตศีล มีศีลที่พัฒนาแล้ว
  3. ภาวิตจิต มีจิตใจที่พัฒนาแล้ว
  4. ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว

เรียกว่า เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ซึ่งเข้าถึงจุดหมายของการพัฒนาชีวิตอย่างแท้จริง ตกลงว่าการพัฒนาชีวิตก็มาถึงจุดหมาย เท่ากับจบไปทีหนึ่ง

เทคโนโลยี เครื่องทดสอบการพัฒนากาย

ทีนี้การที่จะพัฒนาชีวิตให้ได้ผลดี เราจะต้องนึกถึงสภาพที่เป็นจริงของชีวิตและสังคมในเวลานั้น เป็นธรรมดาว่า การจะทำอะไรให้ได้ผลดีก็ต้องคำนึงถึงสภาพที่เป็นจริงในขณะนั้น อาจจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เราต้องพิจารณาการพัฒนาชีวิต ในบริบทแห่งชีวิตและสังคมที่เป็นจริงในกาละและเทศะนั้น คือต้องโยงหลักการพัฒนาชีวิตนี้มาใช้กับสภาพสังคมและการดำเนินชีวิตที่เป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ก็จึงต้องมามองดูหลักการพัฒนาทั้ง ๔ ด้านนี้ว่า ในแต่ละเรื่องนั้น มีข้อที่เราจะพิจารณาโดยสัมพันธ์กับสภาพชีวิตและสังคมปัจจุบันอย่างไร จะขอพูดตามลำดับทีละเรื่องๆ พอเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อมีปัญหาอย่างนี้แล้ว มองในแง่ของหลักการภาวนาทั้งสี่นี้จะทำอย่างไร

๑. กายภาวนา พัฒนาทางกาย ได้กล่าวแล้วว่า การพัฒนากายเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ของตัวเรา หรือชีวิตของเราทางด้านกายภาพกับสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย สิ่งที่เราเข้าไปสัมพันธ์นั้นมีมากมาย แต่สิ่งหนึ่งซึ่งพูดไว้เมื่อกี้ที่สำคัญคือเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันนี้มีความหมายต่อชีวิตและสังคมของมนุษย์เป็นอย่างมาก บางทีก็ถึงกับเรียกยุคสมัยปัจจุบันนี้ว่าเป็นยุคแห่งเทคโนโลยี จะถือเอาเทคโนโลยีนี้เป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญของยุคสมัยก็ว่าได้ มนุษย์เราปัจจุบันนี้ ที่พูดกันว่าโลกเจริญนั้น เจริญด้วยอะไร มองไปมองมาก็จะเห็นว่า เทคโนโลยีเป็นตัวแกนสำคัญที่ทำให้เกิดความเจริญเช่นนั้น แต่ว่ากันไปแล้ว เมื่อพิจารณาอีกแง่หนึ่ง การมองอย่างนี้เป็นการมองที่เน้นวัตถุ คือ เป็นการมองการพัฒนาหรือความเจริญเติบโตที่เน้นในด้านวัตถุอย่างเดียว เลยเอาเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องหมายของการพัฒนา ถ้ามองอย่างนี้ก็จะขาดความสมบูรณ์ คือมองปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ทั่วถึง ไม่ครบถ้วนรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้เราจะพูดถึงเรื่องความเจริญหรือการพัฒนาที่สัมพันธ์กับเทคโนโลยี เทคโนโลยีนี้ ถ้าเรามองในแง่ของความเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญ เราก็บอกว่ามันนำมาซึ่งความเจริญแก่มนุษย์ แต่ถ้ามองให้ดีก็ต้องบอกว่าไม่แน่ บางทีเทคโนโลยีก็นำความเสื่อมมาให้มนุษย์ ปัจจุบันเริ่มมีคนคิดถึงปัญหานี้กันมากขึ้นว่า เทคโนโลยีนำความเสื่อมมาให้แก่มนุษย์ไม่น้อยกว่านำความเจริญมาให้ แต่ถ้าพูดกันอีกสำนวนหนึ่ง เราอาจจะไม่บอกว่าเทคโนโลยีนำมาซึ่งความเสื่อมแก่มนุษย์ แต่เป็นการที่มนุษย์ปฏิบัติต่อเทคโนโลยีอย่างไม่ถูกต้องเอง จึงทำให้มนุษย์เป็นผู้เสื่อม

มนุษย์ปฏิบัติต่อเทคโนโลยีไม่ถูกต้อง มีความสัมพันธ์ไม่ถูกต้องกับเทคโนโลยีอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาหลายด้าน มนุษย์ต้องการได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อทำให้ตนเจริญมากขึ้น แต่ในการกระทำตามความต้องการนั้น มนุษย์อาจจะทำความเสื่อมให้กับตนเองก็ได้ ทีนี้สาระสำคัญของกายภาวนา คือการพัฒนาอินทรีย์ ถ้าหากว่ามนุษย์ไม่ลืมหลักการนี้ และยังพัฒนาอินทรีย์อยู่ตามหลักการและแนวทางที่ได้บรรยายมาแล้ว มนุษย์ก็จะยังมีความเจริญด้านกายอย่างถูกต้อง และก็จะช่วยเสริมให้การพัฒนาในด้านอื่นๆ ได้ผลดีตามไปด้วย แต่ปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่อเทคโนโลยีเกิดขึ้นและเจริญมากขึ้น มาช่วยสนองความต้องการของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์มีความพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตนได้สะดวกขึ้น แต่ปรากฏว่ามันกลับทำให้มนุษย์ไม่ฝึกฝนอินทรีย์ และกลายเป็นละเลยการฝึกฝนอินทรีย์ไปเสีย โทษจึงเกิดจากตัวมนุษย์เอง

ความจริงนั้น เทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ อินทรีย์ของมนุษย์นั้นมีวิสัยจำกัด เรามีตา แต่ตาของเราก็ดูอะไรได้จำกัด เห็นก็ไม่ไกล ดูสิ่งเล็กจัดก็ไม่ได้ ละเอียดนักก็ดูไม่เห็น แต่พอเรามีกล้องจุลทรรศน์ ก็สามารถเห็นได้แม้แต่จุลชีพ แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ละเอียดอย่างยิ่ง เรามีกล้องส่องทางไกล มีกล้องโทรทรรศน์ (คำพูดนี้อาจจะทำให้สับสน ตอนที่มีทีวีเกิดขึ้นใหม่ จำได้ว่าให้เรียกว่าโทรภาพ แต่ต่อมา เมื่อมีการนำเอาคำว่า โทรทัศน์ มาใช้กับทีวีก็เลยชักสับสน) แต่ในที่นี้จะขอเรียกว่ากล้องโทรทรรศน์ก็แล้วกัน คือกล้องที่สามารถส่องเห็นดาวที่ไกลๆ ซึ่งตาธรรมดามองไม่เห็นเลย เทคโนโลยีได้เข้ามาในฐานะเป็นเครื่องขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์สามารถใช้อินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้มนุษย์มีความสะดวกสบาย หรืออย่างเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต เป็นตัวแทนของมือ ก็ขยายวิสัยแห่งการทำงานของมือ แทนที่ว่ามือจะทำงานได้เท่านี้ พอมีเทคโนโลยีเข้ามา มือก็ทำงานได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ทำงานได้แม่นยำขึ้น ทำให้มนุษย์มีความสะดวกสบายด้วยประการต่างๆ

ทีนี้ มนุษย์นั้น เมื่อมีความสะดวกสบาย ก็มักจะมีปัญหาอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาทางจริยธรรม คือ พอมีความสะดวกสบายเราก็มักจะเพลิดเพลิน แล้วก็ปล่อยปละละเลย ไม่ฝึกฝนอินทรีย์ของตัวเอง ก็เลยตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่ามีความประมาท ความประมาทเกิดขึ้นก็ทำให้มนุษย์ไม่ฝึกฝนอินทรีย์ของตนเอง ละเลยทอดทิ้งการภาวนา เมื่ออินทรีย์ไม่ได้รับการพัฒนา มนุษย์ก็มีปัญหากับตนเอง ดังที่เราจะเห็นว่า

เริ่มแรก ถ้าเราปฏิบัติต่อเทคโนโลยีไม่ถูกต้อง มันก็จะทำให้เกิดปัญหา คือ เมื่อมนุษย์ขาดการฝึกฝนอินทรีย์ เพราะ ละเลยด้วยความประมาทเห็นไปว่า ตนมีเทคโนโลยีมาทำงานให้แล้ว อินทรีย์ของมนุษย์นี้เมื่อไม่ได้รับการฝึกฝนพัฒนาก็จะไม่ค่อยมีความไว ไม่ค่อยมีความเฉียบคม ไม่ค่อยมีความละเอียดลออ

แต่ก่อนนี้ เราจะทำอะไรก็ต้องใช้อินทรีย์ของเราเอง เมื่อใช้ไม่ค่อยได้ผล ก็ต้องอดทนและพยายามใช้ให้ได้ผลมากที่สุด ทำให้เราต้องฝึกฝนอินทรีย์ของตนอยู่เสมอ อย่างแพทย์ตรวจคนไข้ หมั่นฝึกฝนพากเพียรใช้อินทรีย์จนแก่กล้าชำนิชำนาญจนถึงขนาดที่ว่า บางท่านนั้น พอมองคนไข้เดินเข้ามา เห็นหน้าตาท่าทางก็แทบจะบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร ช่างเครื่องยนต์หรือวิศวกรบางท่านมีความชำนาญมากในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์ จนกระทั่งว่าแม้แต่ได้ยินเสียงนิดเดียวก็บอกได้เลยว่าเครื่องเสียตรงไหน อะไรเสีย สัมผัสของคนเรานี้มีความละเอียดอ่อนมาก บางคนใช้สัมผัสนิดเดียวรู้อะไรต่ออะไรได้ มีความชำนาญมาก อินทรีย์ของมนุษย์นั้นมีวิสัยในการฝึกเป็นอย่างยิ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่

แต่เมื่อมีเทคโนโลยีมาช่วยทำงานให้แล้ว มนุษย์จะต้องเข้มแข็ง ควบคุมใจตนเองได้ และไม่ประมาท เทคโนโลยีบางอย่างช่วยในการฝึกอินทรีย์ บางอย่างก็แล้วแต่จะใช้ คือถ้ารู้จักใช้ก็ยิ่งช่วยในการฝึกอินทรีย์ให้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ก็กลายเป็นปล่อยให้เทคโนโลยีทำงานแทนให้อย่างเดียว จึงจะต้องพยายามใช้เทคโนโลยี ในทางที่เอื้อต่อการฝึกอินทรีย์ของตน แต่ถ้าหลงเพลินประมาท ก็จะเกิดปัญหา มนุษย์เห็นว่าเรามีเทคโนโลยีแล้ว มันทำงานให้เราแล้ว เราก็ไม่ต้องทำ เมื่อไม่ต้องทำ มนุษย์ก็ไม่ได้ฝึกตนในการใช้อินทรีย์เหล่านั้น อินทรีย์ของเขาก็สูญเสียความเฉียบคม สูญเสียความไว สูญเสียความละเอียดอ่อน แล้วต่อไปจะเป็นโทษ กล่าวคือ มนุษย์จะไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่มีเทคโนโลยี ชีวิตจะขึ้นกับเทคโนโลยีมากขึ้น เป็นทาสต่อเทคโนโลยีมากขึ้น ทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีเทคโนโลยี

ว่ากันไปในสมัยนี้ ก็ชักจะเริ่มเป็นปัญหาในวงการแพทย์ มีการบ่นกันแล้วว่าแพทย์สมัยปัจจุบันนี้อาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น และชักจะตรวจวินิจฉัยด้วยตนเองไม่ค่อยได้ กลายเป็นว่ามีอะไรๆ ขึ้นมาก็ต้องเทคโนโลยี ในแง่หนึ่งจริงละ เทคโนโลยีให้คุณประโยชน์มาก มีความแม่นยำ เราสามารถใช้คอมพิวเตอร์เอกซเรย์สมองเพิ่มประสิทธิภาพมากมายในการตรวจรักษา ยิ่งปัจจุบันมี M.R.I. ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก ก็ยิ่งมีคุณภาพประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้นไปอีก แต่แล้วมันก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ว่า แพทย์พอมีคนไข้เข้ามา ก็เขียนใบสั่งส่งเข้าคอมพิวเตอร์ ส่งเข้า M.R.I. ส่งเข้าเครื่องตรวจโน่น ส่งเข้าเครื่องตรวจนี่ ไปๆ มาๆ แพทย์สมัยใหม่ถ้าเผลอประมาท ไม่สำรวมระวัง ไม่ตระหนักในปัญหานี้ ก็จะขาดการฝึกฝนอินทรีย์ แล้วจะตรวจอะไร จะวินิจฉัยโรคอะไรก็ทำไม่ค่อยได้ด้วยตนเอง สู้แพทย์สมัยก่อนไม่ได้ นับว่าเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับยุคต่อไป

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านี้ เมื่อมนุษย์ไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง ต้องคอยพึ่งเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่ได้มาเปล่าๆ โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่พัฒนาหรือกำลังพัฒนานี้ จะยิ่งมีปัญหามากกว่าประเทศพัฒนา แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วเองก็มีปัญหาการตรวจการรักษาจะมีราคาแพงยิ่งขึ้น เพราะต้องอาศัยเทคโนโลยี เรื่องนี้ก็เลยโยงไปหาปัญหาทางเศรษฐกิจ ในเมืองไทยคนทั่วไปก็ไม่ใช่ว่าร่ำรวย ทรัพย์สินก็ไม่ค่อยมี ชาวบ้านก็ไม่มีเงินไม่มีทองจับจ่ายมากนัก คนจนก็มาก พอคนไข้มาถึงหมอ หมอก็ส่งเรื่อย ส่งเข้าเครื่องโน่นเครื่องนี่ ล้วนแต่เป็นเงินทุกอย่าง ตกลงคนไข้เอาเงินที่ไหน ตัวไม่มีเงินจ่าย ฐานะก็ลำบาก แย่ลงไปทุกที ที่หนักหน่อยก็เป็นหนี้เป็นสินไปกันใหญ่ นี้ก็เป็นเรื่องของการละเลยการฝึกฝนอินทรีย์

ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของความเฉียบไว และความละเอียดอ่อนของอินทรีย์มนุษย์ ซึ่งจะต้องมีการฝึกฝนปฏิบัติ ซึ่งถ้าปล่อยปละละเลยมัวเพลินเสีย ก็จะไม่ได้ความมีประสิทธิภาพ แล้วก็จะต้องเป็นทาสขึ้นกับเทคโนโลยี และอาจมีผลเสียทางเศรษฐกิจตามมา โดยเฉพาะประเทศที่ด้อยพัฒนาจะเป็นปัญหาอย่างมาก ทีนี้ในระดับของประเทศทั้งหมด ถ้าประเทศนั้นไม่รู้จักผลิตเทคโนโลยีด้วยตนเอง ก็จะทำให้ประเทศทั้งประเทศกลายเป็นทาสของประเทศอื่น ที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีไปเสีย ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ตัวตระหนักถึงปัญหานี้ แล้วก็ระวังไว้ คือ มีการพัฒนาทางกายในด้านความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีให้ถูกต้อง ไม่ละเลยการฝึกฝนอินทรีย์ แล้วพยายามที่จะใช้อินทรีย์ของเราให้เป็นประโยชน์ ให้มีความเฉียบคมและคล่องไวอยู่เสมอ แม้เทคโนโลยีพัฒนาไปก็ยิ่งได้ผลดี มีเทคโนโลยีก็ยิ่งสะดวกสมบูรณ์ แต่ถึงมีเหตุให้เทคโนโลยีขาดหายก็ยังทำงานอยู่กันไปได้ดี เชื่อไหมว่า เทคโนโลยีหลายอย่างที่ทำกันขึ้นนี้ ยังสู้อินทรีย์ของมนุษย์ไม่ได้ก็มี แต่รวมความว่า ถ้าเราละเลยแล้ว จะเกิดผลเสียขึ้น ขอผ่านไป

เทคโนโลยียิ่งก้าวหน้า ยิ่งต้องพัฒนาคน

นอกจากนั้น ปัญหาต่อไปก็คือความเพลิดเพลิน ความสะดวกสบาย ความหลงมัวเมาในความสุขจากเทคโนโลยีมักจะทำให้ประมาทหลงลืมตน ความประมาทนำมาซึ่งความมักง่าย ความขาดสติรอบคอบ คนในยุคเทคโนโลยีนี้ ถ้าไม่ระวังตัว ไม่มีการพัฒนาตนอยู่เสมอ ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคนมักง่ายได้มาก เพราะว่าอะไรๆ ก็เทคโนโลยีทำให้หมด คนเรานั้นถ้าจะให้มีสติรอบคอบ มีความไม่ประมาท มีความละเอียดลออ ไม่มักง่าย ก็ต้องมีการฝึก การฝึกคนนั้น ต้องทำกันอยู่เสมอ เช่น ฝึกคนในการทำงาน ฝึกคนในความเป็นอยู่ ยิ่งการทำในสิ่งที่ทำได้ยาก ก็ยิ่งต้องมีการฝึกฝนให้มาก ต้องฝึกทำให้คนไม่มักง่าย ให้มีสติรอบคอบ ถ้าหากเทคโนโลยีมาทำแทนคนได้หมด และถ้าคนเราไปฝากความหวังไว้กับเทคโนโลยี คอยอาศัยเทคโนโลยี เราก็ไม่ได้ฝึกตนในเรื่องของความขยันอดทน ความมีสติรอบคอบอะไรเหล่านี้ และก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา แล้วปัญหานี้ก็จะย้อนกลับไปเป็นโทษในทาง เทคโนโลยีเอง คือ คนที่มีความมักง่าย ประมาท ไม่ละเอียดรอบคอบ เมื่อไปทำงานกับเทคโนโลยีก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางเทคโนโลยี

ปัจจุบันนี้ ในประเทศที่พัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแล้วอย่างสูง กำลังหวนกลับมาประสบปัญหานี้ คือการที่การพัฒนาคนบกพร่องไป คนไม่ได้พัฒนาอินทรีย์ ไม่ได้ฝึกฝนในคุณธรรม ก็เกิดเป็นปัญหาทางจริยธรรม คือการที่คนขาดสติรอบคอบ มีความประมาท มักง่าย เมื่อคนเหล่านี้ไปใช้เทคโนโลยี เกิดความพลาดพลั้งก็เป็นโทษขึ้นมาปรากฏว่าอุบัติเหตุจากเทคโนโลยีสมัยปัจจุบันมีมากขึ้นๆ และเมื่อเทคโนโลยีมีความละเอียดลออซับซ้อนยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น อุบัติเหตุทางเทคโนโลยีก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นด้วยแล้ว ความมักง่ายนั้น ก็ทำให้เกิดโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้นตามกัน เพราะฉะนั้น การพัฒนาคนจะทอดทิ้งไม่ได้ในยุคเทคโนโลยี กลายกลับเป็นตรงข้ามว่า ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาเจริญมากเท่าไร การพัฒนาคนก็ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น ขอย้ำอีกทีว่า ขณะนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังประสบปัญหามากขึ้นจากอุบัติเหตุทางเทคโนโลยี แม้กระทั่งระบบการป้องกันภัยทางอากาศของอเมริกัน ที่ใช้คอมพิวเตอร์ ก็เคยมีอุบัติเหตุที่ว่าเครื่องบอกผิด ทำให้คิดว่ารัสเซียปล่อยจรวด ปล่อยขีปนาวุธมาแล้ว อเมริกันก็รีบเอาเครื่องบินขึ้นไป แต่เมื่อตรวจสอบเทคโนโลยี ปรากฏว่าเทคโนโลยีทำงานผิดพลาด สาเหตุก็อาจจะเกี่ยวโยงกับความผิดพลาดไม่ละเอียดรอบคอบของคนบ้าง แต่บางเรื่องนั้นเกิดจากสาเหตุนี้โดยตรง เช่น อุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล อุบัติเหตุของโรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์แม้แต่ที่เกาะทรีไมล์ของอเมริกาเอง ตลอดจนการระเบิดของกระสวยอวกาศ ที่เป็นข่าวใหญ่ไม่นานนี้ ก็เกิดจากความประมาทของมนุษย์ เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่จะเกิดขึ้น โดยเป็นความเสื่อมที่เกิดจากมนุษย์ปฏิบัติตนไม่ถูกต้องต่อเทคโนโลยี

ต่อไป ในแง่ของความสุขความทุกข์ก็จะมีปัญหาเหมือนกัน เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าได้รับความสุขมากขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น ทำอะไรได้อย่างใจมากขึ้น และนอกจากว่าปริมาณของความสุขดูเหมือนจะมากขึ้นแล้ว ขีดระดับของความสุขก็ดูเหมือนจะสูงขึ้นด้วย เรามีเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน มาปลุกเร้าประสาทสัมผัส ทำให้มีการสนองความต้องการของประสาทสัมผัสอย่างแรง ทำให้มีความตื่นเต้นอย่างถึงขนาด ซึ่งเราเรียกว่าเป็นความสุขมากขึ้น ระบบเสียงดนตรีที่ออกจากเครื่องเสียงต่างๆ ที่ซับซ้อน มีทั้งแบบปลุกเร้า ทั้งแบบนุ่มนวลละเมียดละไม สนองความต้องการได้เต็มที่ถึงขีดสุด ทำให้คนรู้สึกว่ามีความสุขมาก อันนี้เป็นด้านที่เรามองในแง่ดี แต่ในเวลาเดียวกันถ้ามองกว้างออกไปให้เห็นสภาพความจริงตลอดสาย ก็จะพบว่าขณะนี้กำลังเกิดปัญหา คือ คนเรากำลังมีความสุขยากขึ้น เพราะเมื่อมีเทคโนโลยีสนองความต้องการมากขึ้น และอย่างรุนแรงมากขึ้น คนก็กลายเป็นเคยชินกับการปลุกเร้าและการสนองในปริมาณและขีดระดับนั้น ทำให้มีความต้องการในขั้นที่ว่าจะต้องได้อย่างนั้นและขนาดนั้นเท่านั้นจึงจะมีความสุข ถ้าไม่ได้อย่างนั้นและขนาดนั้นแล้ว ก็ไม่อาจมีความสุขได้ และกลายเป็นมีความรู้สึกขาดแคลนบกพร่องเป็นทุกข์ แต่ก่อนเคยได้เท่านี้ก็สุข แต่เดี๋ยวนี้สุขไม่ได้กลายเป็นทุกข์ เหมือนกับการมีเครื่องเสียง แต่ก่อนนี้เรามีเครื่องเสียงระดับหนึ่ง เช่น วิทยุ เสียงก็ไม่ชัดเจนเท่าใด เรียกว่าชัดเจนพอสมควร เสียงดนตรีก็พอสมควรหรือพอฟังได้ พอเปิดฟังวิทยุนั้น เราก็มีความสุข ต่อมามีเครื่องเสียงที่ละเมียดละไมยิ่งขึ้นเข้ามา ทำให้คนรู้สึกว่ามีความสุขมากขึ้น แต่พอสมมุติว่าเขาไม่ได้เครื่องเสียงชนิดนั้น ระดับนั้น กลับมาฟังเครื่องเสียงธรรมดาที่เคยฟังแล้วมีความสุขสมัยก่อน คราวนี้กลับกลายเป็นรำคาญ ไม่มีความสุข กลายเป็นความทุกข์ ดิ้นรนกระวนกระวายอยู่ไม่ได้ ไม่สามารถมีความสุขด้วยเทคโนโลยีเก่าที่ระดับต่ำกว่า และด้วยสภาพชีวิตที่สามัญธรรมดาเขาก็มีความสุขไม่ได้

เพราะฉะนั้น คนในสังคมเทคโนโลยี ถ้าไม่ฝึกตัวเองไว้ให้ดี จะกลายเป็นคนที่มีความสุขได้ยาก และมีความทุกข์ได้ง่ายด้วย เพราะเคยชินกับความสะดวกสบายและการสนองเร้าอย่างนั้นแล้ว พอขาดเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกปั๊บ ก็กระวนกระวายเดือดร้อนไปหมด สมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ไม่เห็นเป็นไร อยู่ได้ มีความสุข เดี๋ยวนี้อยู่ไม่ได้ ไม่มีความสุขแล้ว เป็นอันว่า เทคโนโลยีได้เลื่อนขีดระดับของการที่จะเป็นสุขให้สูงขึ้นไป บุคคลก็จะต้องพยายามก้าวขึ้นไป หรือไขว่คว้าให้ถึงขีดระดับนั้นจึงจะมีความสุขได้ ถ้าไม่ถึงระดับนั้นก็ไม่มีความสุข ยิ่งกว่านั้น แม้แต่ขีดของความสุขที่เลื่อนขึ้นไปแล้ว อยู่ไปก็ชินชา กลายเป็นว่าถึงขนาดนั้นก็ไม่พอที่จะให้มีความสุข ต้องเลื่อนขีดระดับของการที่จะเป็นสุขขึ้นไปอีกเรื่อยๆ นี้คือปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกิดในสังคมเทคโนโลยี ซึ่งเราจะต้องแก้ด้วยการพัฒนาคนอยู่ตลอดเวลา ให้คนมีความสำนึกในความหมายที่แท้จริง และขอบเขตของเทคโนโลยี และใช้อย่างรู้เท่าทัน รู้จักประมาณ และรู้จักคุณและโทษของมัน แล้วฝึกตนอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้มีผลที่กลายเป็นว่า ถ้าเราฝึกตนแล้วในแง่ความสุข ถ้ามีเทคโนโลยีช่วย ก็ดีไป แต่ถึงจะไม่มีเทคโนโลยี ฉันก็มีความสุขได้ ฉันเคยมีความสุขอย่างไร ฉันก็ยังมีความสุขได้อย่างนั้น ถ้ามีเทคโนโลยีฉันก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้น แต่เทคโนโลยีอันไหนถ้าเข้ามาแล้ว จะทำให้เกิดโทษเป็นทุกข์แก่สังคมแก่ชีวิตระยะยาว ฉันก็ไม่เอานะ ต้องมีหลักมีเหตุผลของตนเองแล้วสามารถปฏิเสธอย่างนี้ด้วย จึงจะเป็นการปฏิบัติต่อเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง นี้เป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการพัฒนาทางด้านกาย

เป็นอันว่า ยิ่งเทคโนโลยีเจริญเราก็ต้องยิ่งระวัง เราจะยิ่งต้องฝึกตน ฝึกอินทรีย์ของเราไว้ให้เต็มที่ ทั้งฝึกอินทรีย์ทางด้านการใช้งาน และฝึกอินทรีย์ในด้านการรับสิ่งที่ดีงามเข้ามา ไม่รับสิ่งที่เป็นโทษเข้ามา หรือแม้รับรู้เข้ามาแล้ว ก็สามารถหันเหเบนกระแสความคิด ความรู้สึกไปในทางที่ดีงามเป็นคุณประโยชน์ไร้โทษ เท่ากับพูดว่า การพัฒนาคนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะละเว้นหรือหยุดยั้งได้ ในยุคไหนเรายิ่งมีความเจริญขึ้นเท่าใด การพัฒนาคนก็จะยิ่งมีความจำเป็นและสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ที่พูดมาเป็นเพียงตัวอย่าง

กินพอดี ใช้พอดี คือศีลแห่งยุคสมัย

๒. ศีลภาวนา การพัฒนาด้านศีล ด้านระเบียบชีวิต และระบบสังคม คือการดำเนินชีวิตของเราที่ไปสัมพันธ์กับโลกหรือสังคม ในฐานะที่อยู่ท่ามกลางโลกหรือสังคมนั้น ปัจจุบันนี้โลกมาถึงยุคสมัยหนึ่งที่มีความโน้มเอียง ในลักษณะที่เป็นสุดโต่ง ดูเหมือนว่าจะเป็นลักษณะของชีวิตมนุษย์โดยทั่วไปที่โน้มไปสู่ความสุดโต่ง สมัยหนึ่งสุดโต่งทางวัตถุ ต่อมาอีกสมัยหนึ่งก็จะสุดโต่งทางจิต แม้ในยุคเดียวกัน มนุษย์ก็มักมีลักษณะการดำรงชีวิตที่เป็นปฏิกิริยาต่อกันในทำนองนี้ คือจะมีมนุษย์พวกหนึ่งสุดโต่งทางวัตถุ และพร้อมกันนั้นก็จะมีมนุษย์อีกพวกหนึ่งซึ่งมีปฏิกิริยาไปสุดโต่งทางจิต สภาพเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวังเหมือนกัน ในพระพุทธศาสนาเรื่องนี้ก็เป็นข้อที่เราควรจะต้องยกขึ้นมาคิดพิจารณาด้วย เพราะถ้าไม่พิจารณาและไม่ระวังให้ดีแล้ว เราอาจจะพาเอาพระพุทธศาสนาไปอยู่ในฝ่ายสุดโต่งเหล่านี้ด้วย

มนุษย์นั้นพวกหนึ่งสมัยหนึ่งก็ปล่อยตัวเต็มที่ อีกพวกหนึ่งสมัยหนึ่งก็เข้มงวดกับตัวเองสุดขีด หรือสมัยหนึ่งระเริงหลงมัวเมาในสิ่งต่างๆ เต็มที่ อีกสมัยหนึ่งก็หันมาบีบคั้นตนเอง ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดในยุคพุทธกาล ดังที่พระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงปฏิบัติมาก่อนที่จะตรัสรู้ พระองค์ผ่านมาทั้งสองข้างหมดแล้ว ตอนแรกทรงอยู่ในสุดโต่งทางด้านความมัวเมาในวัตถุที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ต่อมาออกบวชและก็ได้ทำตามนิยมตามแบบของนักบวชสมัยนั้น กล่าวคือนักบวชสมัยนั้น มีความสุดโต่งในการบำเพ็ญตบะทรมานตนเองด้วยประการต่างๆ พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงไปทดลองดูแล้ว ในที่สุดพระองค์ก็เห็นตระหนักว่า เป็นวิถีทางปฏิบัติต่อชีวิตที่ผิดพลาด แล้วจึงได้ทรงพิจารณาเลือกหาและดำเนินทางใหม่ คือทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทาซึ่งเป็นทางที่มีดุลยภาพ มีสมดุล ซึ่งได้ถือเป็นตัวกำหนดลักษณะสำคัญขั้นพื้นฐานของพระพุทธศาสนาตลอดมา ดังนั้น การดำเนินชีวิตและการปฏิบัติต่างๆ ในพระพุทธศาสนาจึงมีลักษณะแห่งความพอดีอยู่เสมอ

ในพระพุทธศาสนามีคำศัพท์สำคัญหลายคำ ที่แสดงลักษณะของความพอดี มัชฌิมา ก็แปลว่าพอดี สมตา ก็แปล ว่าพอดี มัตตัญญุตา ก็แปลว่ารู้จักพอดี ลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนาก็คือความพอดี ที่ว่าไม่สุดโต่ง การไปสุดโต่งนั้นเป็นปฏิกิริยาที่ตรงข้ามกัน คือ ด้านหนึ่งก็พองตัวปูดโป่งออกไป เมื่อพองตัวเกินไปก็ระเบิด อีกด้านหนึ่งก็บีบกด อัดตัวแน่นเข้ามา เมื่อบีบกดเข้ามาถึงที่สุดก็จะเกิดปฏิกิริยาจนระเบิดเหมือนกัน หรือไม่เมื่อบีบกดมากด้านนี้ก็ทะเล็ดออกไปด้านโน้น บีบกดด้านโน้นก็ทะเล็ดออกมาด้านนี้ มันไม่พอดี ถ้าจะให้ได้ผลสมบูรณ์ก็ต้องมีความพอดี เพราะฉะนั้น หลักพระพุทธศาสนาจึงเป็นหลักของความพอดี ถึงกับมีภาษิตบทหนึ่งว่า ความรู้จักพอดีให้ผลดีทุกเมื่อ เขียนเป็นภาษาบาลีว่า “มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ” รู้จักพอดีแล้วให้ผลดีทุกเมื่อ

ความพอดีเป็นหลักการสำคัญ เช่นในการบริโภค พระพุทธศาสนาก็เน้นย้ำหลักการสำคัญว่าจะต้องบริโภคแต่พอดี จึงมีหลักธรรมสำคัญข้อหนึ่งเรียกว่า ‘โภชเนมัตตัญญุตา’ แปลว่า ความรู้จักประมาณในการบริโภค คือ กินพอดี และ ‘สมชีวิตา’ เป็นอยู่พอดี คือกินใช้พอดี ให้ผลดีแก่ชีวิต กินพอดี ใช้พอดี เป็นหลักธรรมที่แสดงลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะกินพอดีนั้นเน้นบ่อยมาก จริงอยู่ ในบางแห่งก็มีการสอนในลักษณะที่ว่า ให้กินน้อยใช้น้อยบ้างเหมือนกัน แต่การกินน้อยใช้น้อยนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง คือ เป็นข้อปฏิบัติพิเศษ ไม่ใช่หลักกลางหรือหลักทั่วไป บางครั้งท่านยกย่องหรือยอมให้ในแง่ที่เป็นอุบายฝึกตน ท่านจึงเรียกว่าเป็นวัตร ถึงตอนนี้จะต้องให้สังเกตความแตกต่างระหว่าง ศีล กับ วัตร การกินพอดีใช้พอดี เป็นศีล การกินน้อยใช้น้อย เป็นวัตร เช่น โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณหรือรู้จักพอดีในการบริโภค เป็นปัจจัยสันนิสิตศีล เอกาสนิกังคะ การถือกินมื้อเดียว เป็นธุดงควัตร การกินน้อยโดยตรงได้แก่ อัปปาหารตา ท่านยกย่องเหมือนกัน แต่ขยายความว่าหมายถึงไม่เห็นแก่ปากท้องหรือไม่เห็นแก่กิน มุ่งให้ภิกษุตัดกังวลในเรื่องอาหาร และให้เป็นผู้ที่ชาวบ้านเลี้ยงง่าย แต่ต้องไม่ผิดหลักความรู้จักพอดี คือถือในลักษณะที่สนับสนุน มัตตัญญุตา และไม่เป็นเกณฑ์ในการตัดสินคุณพิเศษ โดยเฉพาะสำหรับคฤหัสถ์ ไม่ปรากฏเลยว่าพระพุทธเจ้าสอน ให้ปฏิบัติหลักอัปปาหารตาหรือกินน้อยนี้ ทรงสอนแต่สมชีวิตา คือการกินอยู่พอดี

วัตรคืออะไร? วัตร คือข้อปฏิบัติพิเศษ ที่ถือในกรณีพิเศษเป็นเฉพาะเรื่องๆ หรือสมัครใจถือเป็นพิเศษ เพื่อฝึกฝน ขัดเกลาตนเองเป็นพิเศษ วัตรนี้ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติเสมอกัน หรือว่าทุกที่ทุกเวลา เป็นข้อปฏิบัติที่เหมาะในบางโอกาสบางเวลาเพื่อประโยชน์เฉพาะอย่าง หรือเป็นข้อปฏิบัติที่เหมาะสำหรับบางคน เพื่อใช้ในการฝึกฝนขัดเกลาตัวเขาเองในสภาพชีวิตของเขาที่แตกต่างจากคนอื่น เช่น บางคนมีความมัวเมา มีความฟุ้งเฟ้อมามาก สำนึกได้ อยากจะฝึกตนให้มาก ก็อาจจะไปขอถือปฏิบัติสิ่งที่พระเรียกว่า ธุดงค์ ธุดงค์ คือข้อปฏิบัติในการขัดเกลาหรือขูดเกลา เช่นถืออยู่ป่า ใช้ผ้าที่เขาทิ้ง กินมื้อเดียว เป็นต้น การฝึกตนแบบนั้นมีหลักว่า ถ้าฝึกไปแล้วกุศลธรรมเพิ่มพูน ก็ควรถือ ถ้าฝึกไปแล้วอกุศลธรรมเพิ่มขึ้น ก็ไม่ควรถือ อันนี้เป็นหลักทั่วไป

สำหรับคนทั่วไป หลักที่จะช่วยได้ ซึ่งแปลเป็นภาษาง่ายๆ ชัดเจนกว่านั้น ขอให้ดูจากตัวอย่าง เช่นว่า กินพอดีคือกินอย่างไร ใช้พอดีคือใช้อย่างไร จะเอากินพอดีเป็นตัวอย่างก่อน เมื่อกี้บอกแล้วว่า เป็นการยากที่จะกำหนดว่าตรงไหนหรือแค่ไหนพอดี หลักในพระพุทธศาสนานั้นบอกไว้ชัดเจน การกินพอดี ก็คือจะต้องให้ได้คุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้น โดยทำให้เกิดผลที่เรียกในภาษาปัจจุบันว่า เกิดคุณภาพชีวิต ในการกินอาหารนี้ กินแค่ไหนจึงจะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตเท่าที่ชีวิตต้องการ เราก็เรียกว่าแค่นั้นพอดี การกินอย่างนี้ตรงกันข้ามกับกินอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกว่ากินเพื่อเอร็ดอร่อย การกินแบบเอร็ดอร่อยนี่ไม่มีจุดพอดี แล้วก็เกิดโทษแก่ชีวิต แต่ถ้ากินเพื่อคุณภาพชีวิตแล้วก็มีจุดพอดี การที่จะเกิดคุณภาพชีวิต ก็คือ การได้คุณค่าแท้ของสิ่งต่างๆ

พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ โดยพิจารณาคุณค่าแท้ของสิ่งนั้นๆ ซึ่งจัดเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น ดังเช่นพระที่บวชเข้ามาใหม่ เบื้องแรกที่สุดก็จะได้รับการสั่งสอนแนะนำว่า เมื่อจะบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ ให้พิจารณา ปฏิสังขาโย (= ปฏิสงฺขา โยนิโส) คือพิจารณาโดยแยบคายว่า ที่เรารับประทานอาหารนี้มิใช่เพื่อสนุกสนานมัวเมา เพื่ออวดโก้ แสดงฐานะ เป็นต้น แต่รับประทานเพื่อให้ร่างกายดำรงชีวิตอยู่ได้ มีสุขภาพดี เป็นอยู่ผาสุก อันนี้เรียกว่ากินโดยเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของมัน คือเข้าใจคุณค่าแท้แล้วทำให้เกิดคุณภาพชีวิต เพราะฉะนั้น ที่เรียกว่ากินพอดีก็คือ พอดีที่จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิต เรียกว่าเป็นการกินด้วยปัญญา คนที่จะรู้จักคุณภาพชีวิตต้องมีปัญญา จึงต้องฝึกกันขึ้นมา คือเป็นเรื่องที่ต้องให้การศึกษา ต้องพัฒนาทั้งนั้น พัฒนาคนให้มีปัญญา ให้รู้จักพิจารณาว่าคุณค่าแท้ของสิ่งต่างๆ คืออะไร คุณภาพชีวิตของเราคืออะไร อะไรคือผลดีที่ชีวิตของเราต้องการ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงความอยากของเราเท่านั้น แล้วกิน ใช้ บริโภค และปฏิบัติให้ได้คุณภาพชีวิตนั้น นี้เรียกว่าเป็นการปฏิบัติที่พอดี ถูกต้อง เรียกได้ว่า กินเป็น ใช้เป็น บริโภคเป็น ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นการบริโภค เป็นการกินการใช้อย่างที่ท่านเรียกว่า สนองตัณหา คือกิน ใช้เพียงเพื่อเอร็ดอร่อย สนุกสนาน มัวเมา โก้เก๋ อวดกัน เป็นต้น ถ้ากินด้วยความรู้เข้าใจเพื่อคุณค่าแท้ เพื่อคุณภาพชีวิต ท่านเรียกว่ากินด้วยปัญญา หรือ สนองฉันทะ แยกกันระหว่างตัณหากับฉันทะ

ในการศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนาคนนั้น เราต้องการฝึกให้เขามีฉันทะเพิ่มขึ้น ให้รู้จักที่จะทำอะไรๆ ได้ด้วยความรู้เข้า ใจสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ โดยไม่ต้องปล่อยตัวไปตามตัณหา หรือว่าใช้ตัณหาให้น้อยลง และใช้ฉันทะเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งมีปัญญาที่จะทำด้วยฉันทะและด้วยปัญญาแท้ๆ โดยสมบูรณ์ นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการฝึกฝนพัฒนาคนในระดับศีล เป็นตัวอย่างที่สัมพันธ์กับชีวิตในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเราควรจะทำให้ถูกต้อง

ปัญญายุคพัฒนา แก้ปัญหาจิตใจไม่ได้
ทำไมคนมีการศึกษา จึงหลงใหลงมงาย

๓. จิตภาวนา หรือการพัฒนาด้านจิตใจ ปัจจุบันนี้ปัญหาที่เด่นของยุคสมัยก็คือ ในสังคมของมนุษย์เรานี้มีปัญหาทางด้านจิตใจมาก ปรากฏว่าวัตถุยิ่งเจริญมาก เทคโนโลยีเจริญมาก แต่คนกลับยิ่งมีปัญหาจิตใจมาก ที่เราบอกว่าการพัฒนามีปัญหานั้น นอกจากปัญหาทางสังคม เช่น มีอาชญากรรมมาก มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากศีลธรรมในโลกในสังคมมากแล้ว ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งก็คือคนเรามีปัญหาทางจิตใจมาก มีความทุกข์มาก มีความเครียดมาก มีความกระวนกระวายมาก เป็นโรคประสาทมาก จนกระทั่งเป็นโรคจิตมาก ดังปรากฏว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วคนเป็นโรคจิตมากขึ้นๆ มากกว่าคนในประเทศที่ด้อยพัฒนา แล้วยังส่งผลต่อขึ้นไปอีก ทำให้มีการฆ่าตัวตายมาก ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น ปรากฏว่าคนฆ่าตัวตายกันมากขึ้น และฆ่าตัวตายระบาดลงมาจนกระทั่งถึงเด็กวัยรุ่น ซึ่งไม่น่าจะฆ่าตัวตาย ในสังคมสมัยก่อนนี้เราไม่เคยเห็นว่าเด็กคิดฆ่าตัวตาย แต่สมัยนี้เด็กวัยรุ่นในประเทศที่เจริญก้าวหน้าคิดฆ่าตัวตายกันมากขึ้น เป็นปัญหาที่มากับความเจริญของสังคม

เป็นอันว่า ในสังคมที่พัฒนามากแล้วปรากฏว่า คนมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้น และเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วคนก็ไขว่คว้าหาทางออก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่ามีความเชื่อในทางศาสนา หรือการแสวงหาคุณค่าทางจิตใจกันมากขึ้น ลัทธิศาสนาต่างๆ กลับฟื้นตัวเฟื่องฟูขึ้นมาบ้าง เกิดขึ้นใหม่บ้าง จนกระทั่งกล่าวได้ว่า ในยุคที่เจริญด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือในยุคอุตสาหกรรมช่วงปลายนี้ พร้อมกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์นั้นเอง ก็ปรากฏว่า ลัทธิศาสนาต่างๆ ก็เพื่องฟูมากขึ้นด้วย มองดูในแง่หนึ่งคล้ายกับว่าของ ๒ สิ่งนี้ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ วิทยาศาสตร์เป็นความเจริญทางด้านความรู้ความเข้าใจในเหตุผล และมนุษย์ก็ภูมิใจในตนเองว่าเป็นผู้เจริญด้วยวิทยาศาสตร์ แต่ในยุคเดียวกันนี้เอง โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญมาก จนกระทั่งถึงขีดที่เรียกว่าเกือบสุดแล้ว ปรากฏว่าเกิดการหวนกลับ มนุษย์หันไปหาคำตอบทางจิตใจ เกิดมีความเชื่อถือทางศาสนาแบบต่างๆ ผุดโผล่ขึ้นมามากเหลือเกิน แม้แต่ความเชื่อในแบบที่ว่างมงายไร้สาระ จำพวกลัทธิไสยศาสตร์ก็กลับเฟื่องฟูมากในสมัยนี้ เรื่องนี้จะอธิบายอย่างไรก็เป็นข้อที่น่าพิจารณา

มนุษย์บอกว่าเรามีปัญญามากขึ้น เจริญมากขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น แต่ทำไมลัทธิความเชื่อถือเหล่านี้มากขึ้น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ปรากฏว่าสภาพเช่นนี้ชัดเจนมากเหลือเกิน คนในอเมริกาปัจจุบันกำลังแสวงหาคำตอบหรือสิ่งสนองความต้องการทางด้านจิตใจ กำลังหันมาสนใจลัทธิศาสนากันมาก ศาสนาใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะศาสนาจากตะวันออกเข้าไปมากมาย

ในเมืองฝรั่งเองก็ได้มีผู้ตั้งคำถามขึ้นมา ชื่อนายแอลวิน ทอฟเฟลอร์ เขาสำรวจตรวจตราสังคมของเขาแล้วก็ตั้งข้อสงสัยขึ้นมาว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเจริญอย่างสูงด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำไมคนฉลาดๆ ที่มีสติปัญญา จึงปล่อยตัวไปหลงใหลในลัทธิศาสนาต่างๆ มากมาย ที่ผุดโผล่ขึ้นมาในยุคปัจจุบันนี้เป็นคำถามของเขา ทำไมไม่ใช่เฉพาะคนที่ไม่มีการศึกษาเท่านั้น ที่หลงใหลไปอย่างนั้น ถ้าเป็นคนที่ไม่มีการศึกษา ไม่มีปัญญาก็ไปอย่าง นี่คนที่เราเรียกว่ามีปัญญา มีการศึกษาดี ก็ปรากฏว่าไปเชื่อถือในสิ่งเหลวไหลกันมากในยุคปัจจุบัน เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เด่นในอเมริกาก่อน แล้วในปัจจุบันนี้ประเทศไทยก็มีสิ่งส่อแสดงว่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน เพราะว่าเราพัฒนาตามเขา จึงทำท่าทำทางออกมาว่าเราก็มีความโน้มเอียงที่จะประสบปัญหาอย่างเดียวกับเขานี้ด้วย เมื่อตั้งคำถามขึ้นมาแล้ว ก็ต้องพยายามตอบกันให้ได้

คำตอบที่ ๑ บอกว่า ปรากฏการณ์และปัญหาที่ว่ามานี้ เกิดจากภาวะแปลกแยกระหว่างจิตใจกับปัญญา ทำไมปัญญากับจิตใจจึงแปลกแยกกัน ปัจจุบันนี้เราให้ความหมายของคนมีสติปัญญา หรือแม้แต่ปัญญาชน หรือคนมีการศึกษาอย่างไร ถ้าพิจารณาตรวจสอบดูจะเห็นว่า เรามองดูคนมีปัญญาหรือมีการศึกษา ในแง่ความหมายว่า เขาได้ศึกษาเล่าเรียน หรือฝึกฝนมาให้มีความรู้เชี่ยวชาญในวิชาการบางอย่าง โดยบางทีก็เป็นเรื่องเฉพาะทิศเฉพาะทาง มีความจัดเจนเฉพาะเรื่องเฉพาะด้าน สามารถกระทำการในเรื่องนั้นๆ โดยที่ปัญญานั้นไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางจิตใจเลย เมื่อมีปัญหาทางจิตใจขึ้นมา ความรู้ความเฉลียวฉลาดในวิชาการต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งเป็นเฉพาะด้าน สำหรับประกอบการหรือทำอาชีพเป็นต้น ก็ไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาจิตใจ ปัญญาก็กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่โดดเดี่ยวไปจากจิตใจ ประจวบพอดีกับที่สังคมปัจจุบันนี้ ซึ่งมีความไม่พร้อมหรือไม่เติบโตทางจิตใจ และได้สะสมเหตุปัจจัยของปัญหาทางจิตใจมาเรื่อยๆ จนถึงยุคนี้ เหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ประทุขึ้นมาปรากฏเป็นผลคือภาวะที่มีปัญหาทางจิตใจมาก ลักษณะสำคัญของการมีปัญหาทางจิตใจในยุคนี้ ก็คือ การมีความพร่องทางจิตใจ มีความต้องการทางจิตใจ มีความขาดแคลนทางจิตใจ ที่ปัญญาของเขาเองไม่สามารถตอบสนอง ซึ่งความรู้ทางวิชาการและความจัดเจนเฉพาะเรื่องเฉพาะด้านไม่สามารถจะแก้ไข เมื่อมีลัทธิหรือขบวนการอะไรขึ้นมา ซึ่งเสนอตัวที่จะสนองความต้องการ ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า จะทำให้หมดความขาดแคลนทางจิตใจนั้นไป หรือมาขจัดความขาดแคลนทางจิตใจของเขาได้ เขาก็จะมีความรู้สึกพอใจ แล้วก็จะมีความยึดติดโดยง่าย และเพราะเหตุที่ว่าปัญญาของเขานั้น ไม่ใช่ปัญญาที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาชีวิตจิตใจได้ เขาก็เลยไม่สามารถที่จะพิจารณาอย่างถูกต้องถ่องแท้ ต่อสิ่งที่จะรับเอามาสนองความต้องการทางจิตใจของตน คือ ในด้านปัญญา วิชาการที่เขาเล่าเรียนมา ก็ไม่สามารถใช้วิเคราะห์พิจารณาสิ่งเหล่านี้ได้ ในด้านจิตใจ เมื่อขาดแคลนอยู่แล้ว พอได้รับการสนองเข้าบ้าง ก็เข้าเกาะติดพึ่งพาจนถึงหลงใหลไปเลย เอาแค่ว่าช่วยเติมแก้ความพร่อง ความขาดแคลนทางจิตใจลงไปได้บ้างก็แล้วกัน ภาวะของคนที่เรียกว่ามีการศึกษาเหล่านี้ จึงไม่ค่อยต่างอะไรกับคนที่ไม่ค่อยมีการศึกษา ที่ไปงมงายกับลัทธิไสยศาสตร์ต่างๆ ทั้งหลาย นี้ก็เป็นคำตอบอันหนึ่ง เป็นอาการที่เกิดจากภาวะแปลกแยกทางด้านจิตใจกับปัญญา

ถ้าเป็นปัญญาในความหมายที่แท้ ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ปัญญากับจิตใจจะต้องเชื่อมโยงเอื้อผลต่อกันตลอดเวลา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็คือการที่คนจะมีจิตใจที่เป็นอิสระและมีความสุขได้มากขึ้น เมื่อจิตใจเจริญงอกงามขึ้น ก็คือ การที่คนมีปัญญามากขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น และจึงรู้จักที่จะปฏิบัติต่อชีวิตคือดำเนินชีวิตได้ถูกต้องยิ่งขึ้น พร้อมทั้งปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายที่แวดล้อมในโลกได้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะว่าการมีจิตใจที่ดีงาม มีชีวิตที่ดีงาม ก็คือ การที่จะต้องมีปัญญารู้จักว่าจะปฏิบัติต่อชีวิต และต่อสิ่งทั้งหลายอย่างไรนั่นเอง เมื่อเรารู้จักปฏิบัติต่อชีวิตได้ถูกต้อง ชีวิตของเรารู้จักที่จะมีความสุข ก็ไม่มีปัญหา ก็แก้ทุกข์ได้ แต่ปัญญาที่เราพูดถึงกันในปัจจุบันนี้ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือเป็นเพียงความรู้ ความเชี่ยวชาญจัดเจนในวิชาการบางอย่าง มีทักษะในการทำอะไรบางอย่าง ซึ่งไม่ทำให้รู้จักว่าจะปฏิบัติต่อชีวิตของตนอย่างไร เราเคยสอนไหมว่าให้มีปัญญา คือ รู้จักปฏิบัติต่อชีวิตของตน เมื่อไม่รู้จักปฏิบัติต่อชีวิตจิตใจของตน ถึงจะเรียนมาเท่าไร ก็แก้ปัญหาของจิตใจไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จึงต้องไปไขว่คว้าและพึ่งพาสิ่งที่ให้ความหวัง ที่จะสนองความขาดแคลนทางจิตใจจากภายนอก อย่างที่กล่าวมาแล้ว โดยที่มีอะไรก็ตามซึ่งอาจจะมาในรูปของความตื่นเต้น มาในรูปของการสนองแก้ไขความว้าเหว่ ความอ้างว้างอะไรต่างๆ แม้แต่ชั่วคราว ก็ทำให้คนเหล่านี้เกาะติดได้ง่าย ความเชื่อถือและการปฏิบัติของเขา จึงมีลักษณะของการพึ่งพาหรือหลงใหลหรือถึงกับคลั่งไคล้ เป็นภาวะของการพึ่งตนเองไม่ได้ในทางจิตใจและในทางปัญญา นี้เป็นคำตอบที่หนึ่ง

เมื่อเสรีชนปรารถนาสยบยอม
สละเสรีภาพ – เลือกเอาความภักดี

ต่อจากคำตอบที่ ๑ ก็มีคำตอบที่ ๒ ขึ้นมาอีก กล่าวคือ มองไปอีกด้านหนึ่งจะเห็นว่า ปัญหาจิตใจอย่างนี้เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาทางสังคม เป็นเรื่องเกี่ยวพันเชื่อมโยงอยู่กับความเป็นไปหรือความเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่เรียกกันในชื่อว่าเป็นความเจริญของสังคม ความเจริญทางสังคมนี้เป็นปัจจัยสำคัญ เราก็เลยต้องวิเคราะห์ปัญหาทางสังคม ที่มีความสัมพันธ์กับจิตใจด้วย จะเห็นว่า ในกรณีนี้ปัญหาจิตใจกับสังคมสัมพันธ์กันหลายด้าน เมื่อกี้นี้ได้บอกว่า เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างปัญญากับจิตใจ แต่คราวนี้บอกว่า เป็นปัญหาระหว่างจิตใจกับสังคมด้วย เพราะว่าปัญหาทางสังคมก็ทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจ ในแง่ของปัญหาจิตใจที่สัมพันธ์กับปัญหาทางสังคมนี้ ฝรั่งคนที่เอ่ยชื่อมาแล้วข้างต้นก็ได้วิเคราะห์ไว้ จึงขอนำมาเล่าให้ฟัง เผื่อว่าบางท่านยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้ลองพิจารณาดูว่า การวิเคราะห์แนวนี้จะเข้ากับแบบที่ว่ามาแล้วไหม คือ เหตุปัจจัยในแง่ของความแปลกแยกระหว่างจิตใจกับปัญญา

แนวความคิดที่นายแอลวิน ทอฟเฟลอร์ได้วิเคราะห์ไว้คือ เขาบอกว่า ในสังคมปัจจุบันนี้ ความเจริญได้เป็นไปในลักษณะที่ทำให้คนไม่สามารถปรับตัวปรับใจได้ มีความสับสนวุ่นวายมาก แล้วก็ทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกที่เป็นความต้องการ ๓ อย่างซึ่งเป็นปัญหาทางจิตใจ ความรู้สึกที่เป็นปัญหาทางจิตใจ ๓ อย่างนี้ เป็นสิ่งที่เด่น จนเป็นลักษณะสำคัญของชีวิตคนในสังคมปัจจุบัน กล่าวคือ

ประการที่ ๑ คือ ความว้าเหว่ หรือ โดดเดี่ยว ในสังคมปัจจุบันนี้ แม้ว่าจำนวนคนจะมากขึ้น แต่คนเหล่านั้นแต่ละคนโดดเดี่ยวมากขึ้น สมัยก่อนคนน้อย แต่คนไม่โดดเดี่ยว คนยังมีน้อย แต่รู้สึกว่าอบอุ่น มีความสัมพันธ์กันมาก แต่เดี๋ยวนี้คนมากกลับโดดเดี่ยวหนักขึ้น มันกลับกันชอบกล คนในสังคมที่มากขึ้นๆ ประชากรมากขึ้น ผู้คนแต่ละคนมีความรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น ก็ทำให้เกิดความเหงาความว้าเหว่ เป็นสภาพจิตใจที่เป็นปัญหาในทางสังคมประการที่หนึ่ง เมื่อมันมากขึ้นๆ จนกลายเป็นบรรยากาศของสังคมปัจจุบันไปแล้ว คนก็จะพากันหาทางสนอง เขาจะสนองกันอย่างไรก็ดูกันต่อไป

ประการที่ ๒ จากความว้าเหว่หรือความโดดเดี่ยว ก็มีความอ้างว้าง อ้างว้างนี้ไม่เหมือนกับว้าเหว่นะ ต่างกันนิดหนึ่ง อ้างว้างอย่างไร อ้างว้างเป็นอาการของความไม่มีหลักยึดเหนี่ยว โดดเดี่ยวนั้นเขาไม่มีเพื่อน ไม่มีความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความอบอุ่นในสังคม หรือในหมู่มนุษย์ด้วยกัน แต่ตอนนี้อ้างว้างเพราะไม่มีหลักยึดเหนี่ยว ไร้กฎ ไร้เกณฑ์ โดยเฉพาะในสังคมที่เรียกว่าสังคมเสรีอย่างอเมริกัน เขาฝึกกันมาสั่งสมอบรมกันมาให้มีเสรีภาพมาก แต่ความหมายของเสรีภาพนั้นไปเน้นทางสังคม ไม่เน้นเสรีภาพทางจิตใจด้วย ปรากฏว่า คนในสังคมที่นิยมความเป็นเสรีมากนั้น ไปๆ มาๆ เพลินกับเสรีภาพมากเข้า จนชักจะมีลักษณะที่กลายเป็นการทำอะไรได้ตามใจชอบ พอมาถึงตอนนี้ ก็กลับมีความรู้สึกที่เรียกว่าเกิดความอ้างว้างขึ้นมา มีความรู้สึกว่าพวกตนเป็นอยู่อย่างไร้กฎไร้เกณฑ์ ไม่มีหลักยึดเหนี่ยว ไม่มีเครื่องควบคุม ปล่อยให้ทำอะไรได้ตามชอบใจ ไปๆ มาๆ ไม่รู้จะทำอะไรดี มันเวิ้งว้างไปหมด ไม่มีใครมาช่วยชี้นำหรือช่วยบอกว่าจะไปทิศไหนทางไหน จะทำอะไรอย่างไรดี ต้องคอยเลือกคอยคิดเองทุกอย่าง ไปๆ มาๆ ชักเมื่อยล้าขี้เกียจจะคิด ชักอยากให้มีคนมาช่วยคิดให้ หรือมีคำสั่งสำเร็จว่าจะต้องทำอะไร เลยชักอยากจะมีกฎมีเกณฑ์มีหลักมีกรอบ มีเครื่องควบคุมบังคับ มีคนมาบอก มาสั่ง มาชี้ให้ว่าจะให้ทำอะไร หรือไปทิศไหนทางไหน เป็นอันว่ามนุษย์นี้ชอบกล ดูคล้ายกับว่าพอสบายมากไปก็อยากจะทุกข์บ้าง พอไม่มีกฎไม่มีเกณฑ์ทำอะไรสบายหนักเข้า ไม่รู้จะทำอะไร ก็อยากให้มีคนมาสั่ง มาบังคับ มาชี้ให้ทำโน่นทำนี่ อันนี้เป็นเรื่องทางจิตวิทยา เป็นความรู้สึกประการที่ ๒ คือ ความอ้างว้าง ความรู้สึกไร้หลักยึดเหนี่ยว ไม่มีกฎมีเกณฑ์ ขาดผู้ชี้นำ

ประการที่ ๓ เกิดความรู้สึกเลื่อนลอย คือ รู้สึกว่าชีวิตของเราไม่มีความหมาย ชีวิตไร้จุดหมาย อยู่ในสังคมนี้กว้างเหลือเกิน เจริญเหลือเกิน มองไม่ถูกว่าอะไรอยู่ที่ไหนตำแหน่งไหน จนกระทั่งชีวิตของตัวเองก็หมดความหมายไปเลย ในสังคมที่เจริญแล้ว คนจะไปภูมิใจกับความเจริญที่ปรากฏอยู่รอบตัว แต่พอมองกลับหันเข้ามายังชีวิตของตนเอง ก็ปรากฏว่าชีวิตของตัวเองหมดความหมายไปเสียแล้วท่ามกลางความเจริญนั้น พอชีวิตหมดความหมาย ท่ามกลางความเจริญ ก็เป็นชีวิตที่เลื่อนลอย แล้วก็ไม่มีจุดหมายว่าจะไปทางไหน เป็นความรู้สึกที่เด่นอีกอย่างหนึ่งของจิตใจของมนุษย์ในสังคมปัจจุบันนี้

คำว่า เลื่อนลอย มีความหมายตรงกับคำไทยในปัจจุบัน คือคำว่า ‘เซ็ง’ หรือเปล่า อาจจะใกล้กัน จิตใจของคนปัจจุบันนี้มีลักษณะที่เซ็งบ่อยๆ จนกระทั่งมีบางคนเข้ามาในมหาวิทยาลัยแล้ว ได้เขียนหนังสือบอกไว้ว่า ‘ฉันมาหาความหมาย’ อาจจะแสดงว่าแม้แต่ในมหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งการศึกษา ก็ไม่สามารถให้ความหมายแก่ชีวิตได้ ชีวิตนี้เลื่อนลอย แต่ละคนอยู่ไปอย่างปราศจากจุดหมายที่ชัดเจนในชีวิต มาเรียนแล้ว ศึกษาแล้ว ก็ไม่พบแก่นสารชัดเจน มองไปข้างหน้าถ้าจบการศึกษาไป ก็ยังไม่เห็นว่าชีวิตมีจุดหมายอย่างไร จึงเป็นปัญหาน่าสงสัยว่าการศึกษาของเราอาจจะไม่ช่วยกระมัง ที่จะแก้ปัญหาจิตใจเหล่านี้ พอมีความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมามันก็เกิดความต้องการ เรื่องจึงเกิดตามมาว่า

๑) เมื่อเกิดความรู้สึกว้าเหว่ โดดเดี่ยว ก็ต้องการการรวมกลุ่ม การมีหมู่ การที่จะได้มีสังกัด มีส่วนร่วม รวมกลุ่มกันเป็นหมู่เป็นคณะที่มีใจเดียวกันร่วมสุขร่วมทุกข์กันขึ้น เป็นเรื่องของ sense of belonging สมัยปัจจุบันมีความรู้สึกเกิดความต้องการอันนี้กันมาก เรียกว่า need for community คือ ความต้องการที่จะมีหมู่ มีคณะ มีชุมชน เป็นความต้องการที่สนองความรู้สึกข้อที่หนึ่ง คืออยากมีสถาบันมีกลุ่มมีหมู่ที่ตนเองจะเข้าสังกัด มีส่วนร่วม แล้วก็จงรักภักดี

๒) เมื่อเกิดความรู้สึกอ้างว้าง ไม่มีหลักยึดเหนี่ยว เขาก็ต้องการสิ่งที่เรียกว่าระเบียบและกฎเกณฑ์ ต้องการจะมีบทบาทที่ชัดเจนแน่นอน ต้องการเห็นสถานะของตนในสังคมที่ชัดเจนลงไป และต้องการจะเห็นว่าตัวเองจะต้องทำอะไร เพราะขณะนี้ไม่รู้จะทำอะไร มีทางเลือกเต็มไปหมด จะทำอะไรก็ได้ตามชอบใจหรือไม่ทำก็ได้ตามชอบใจ แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไร อยากจะรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร เรียกง่ายๆ คือ ต้องการมีระเบียบและกฎเกณฑ์

๓) เมื่อมีความรู้สึกเลื่อนลอย หรือความรู้สึกไม่มีความหมาย ไร้จุดหมาย ก็นำไปสู่ความต้องการสิ่งที่เรียกว่าความหมายหรือจุดหมายในชีวิต ข้อนี้มีคู่ตรงกันอยู่แล้ว คนจำนวนมากในสังคมขณะนี้มองไปรอบตัวเห็นสังคมวุ่นวายมาก และบางทีถึงกับมีความระส่ำระสาย มีความไม่ชัดเจนในเรื่องต่างๆ ก็ต้องการความชัดเจน คือ เขามองไปในสังคมที่เป็นอย่างนี้แล้ว รู้สึกเหมือนว่าตนเองเลื่อนลอยไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลังที่จะไปทำอะไรได้เลย เมื่อไม่มีกำลังไม่มีอำนาจที่จะทำอะไร ก็เลยขาดความหมายและไม่มีจุดหมาย ซึ่งจะต้องแก้ด้วยการสร้างสิ่งที่จะให้ความหมายขึ้นมา

ในท่ามกลางสังคมที่มีสภาพอย่างนี้ จึงได้มีลัทธิศาสนาต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อสนองความต้องการเหล่านี้ เขาวิเคราะห์ว่า ถ้าลัทธิศาสนาหรือความเชื่อถือต่างๆ กลุ่มไหนพวกไหนมาสนองความต้องการ ๓ อย่างนี้ให้แล้ว คนในสังคมปัจจุบันนี้ส่วนหนึ่งก็จะไปเข้าร่วม โดยยอมอุทิศตน และมีความจงรักภักดี ยอมเชื่อ แม้กระทั่งว่ายอมมอบกายถวายตัวสยบยอมโดยไม่ต้องคิดพิจารณาเลย นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ขอตั้งเป็นข้อสังเกต เป็นสภาพที่ได้เกิดขึ้นแล้วในสังคมอเมริกัน เป็นอันว่า ลัทธิศาสนาที่จะไปได้ดีในสังคมยุคปัจจุบันนี้ จะต้องมาช่วยทำอะไรๆ ที่เป็นการสนองความต้องการ ๓ อย่างของยุคสมัย คือ

๑. จะต้องสร้าง community ให้มีกลุ่ม มีหมู่ มีคณะ มีชุมชน ซึ่งเป็นที่ที่เขาจะไปรวมกลุ่มได้ ไปร่วมสังกัดให้รู้สึกว่าอบอุ่น มีพวกและให้จิตใจที่กำลังต้องการพึ่งพาได้จงรักภักดี

๒. ให้ความรู้สึกมีหลัก มีกฎเกณฑ์ มีที่ยึดเหนี่ยว ให้รู้สึกชัดแก่ตนเองว่าจะต้องทำอะไร แม้แต่จะมีคนหรือมีคำสั่งที่มาบอกมาสั่งมาชี้ว่าต้องทำอะไร ก็พร้อมที่จะรับและสยบยอม จะได้สบายใจ จะได้มีทิศมีทางว่าวันหนึ่งๆ เราจะต้องทำอะไรบ้าง แม้จะเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับ หรือระเบียบวินัยอย่างเข้มงวดก็เอา

๓. ในขณะที่คนมีความรู้สึกเลื่อนลอย ไม่ชัดเจน และกำลังมีความต้องการในความหมาย และจุดหมายกันอยู่นั้น สังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยข่าวสารข้อมูล ก็มีข่าวสารข้อมูลท่วมท้นมากมายจนกระทั่งคนรับไม่ไหวและเกิดความรู้สึกสับสนยิ่งขึ้น ทำให้เขาต้องการอะไรสักอย่างที่ชัดเจน ที่จะทำให้มองเห็นความหมาย ลัทธิศาสนาบางกลุ่ม ก็เข้ามาสนองความต้องการนั้น ด้วยการนำเอาคำสอนบางอย่างที่เป็นหลักตายตัวแบบเดียวอย่างเดียว มาคอยกรอกหูให้แก่สมาชิกของตนทุกวันทุกคืนตลอดเวลา ซึ่งปรากฏว่าได้ผลจนกระทั่งทำให้สมาชิกในหมู่นั้นคิดไปตามแบบนั้นทางเดียว แม้แต่ถ้อยคำสำนวนก็พากันใช้ตามแบบนั้น กลายเป็นแบบเดียวอย่างเดียวกันไปหมด

อันนี้เป็นคำอธิบายของนายแอลวิน ทอฟเฟลอร์ ที่ได้วิเคราะห์สังคมซึ่งพัฒนาแล้วอย่างสูง คือสังคมอเมริกันของเขาเอง ถ้าใครต้องการจะอ่านรายละเอียดให้ไปอ่านในหนังสือ The Third Wave คลื่นลูกที่ ๓

เป็นอันว่า คนในสภาพปัจจุบันนี้ มีปัญหาในด้านจิตใจดังที่กล่าวมา และมีความต้องการเกิดขึ้นที่จะต้องสนอง ถ้าหากว่าลัทธิความเชื่ออะไรมาสนองความต้องการอย่างนี้ได้ ก็จะดำเนินงานได้ผลมาก จนกระทั่งว่าสาวกจะยอมอุทิศตัว ยอมอุทิศทรัพย์สิน อุทิศอะไรๆ ทุกอย่างให้ จนถึงขั้นที่ว่ามอบกายถวายชีวิตกันทีเดียว ดังเช่นในกรณีของนายจิมโจนส์ ซึ่งสามารถพาคนมีสติปัญญาจำนวน ๙๐๐ กว่าคน ไปชุมนุมกันที่เกาะแห่งหนึ่งแล้วก็สั่งให้กินยาพิษตายไปเกือบ ๑๐๐๐ คน นับว่าเป็นปรากฏการณ์อัศจรรย์ในสังคมที่พัฒนาแล้ว ซึ่งยังไม่มีในสังคมที่ด้อยพัฒนา เป็นเรื่องที่แปลกมากว่าคนเป็นอะไรไป นี่แหละคือสภาพจิตใจที่แปลกแยกจากปัญญาไปแล้ว แต่ฝรั่งอธิบายในแง่สังคมอย่างที่ว่ามานี้ อาตมภาพเห็นว่าคำอธิบายของฝรั่งนี้ก็เข้าที น่าจะโยงเข้ามาประกอบกันกับคำอธิบายแบบที่หนึ่ง ซึ่งก็สำคัญเหมือนกัน คือ ความแปลกแยกระหว่างปัญญากับจิตใจ ถ้าพูดรวบรัดอีกอย่างหนึ่งก็ต้องว่า สาเหตุเกิดจากการที่คนเรา ได้แต่พัฒนา ไม่ได้ภาวนา หมายความว่า พัฒนาแต่ด้านวัตถุ และเรื่องอื่นๆ นอกตัว ไม่ได้พัฒนาชีวิตของตนเอง

คุณแอลวิน ทอฟเฟลอร์ สรุปไว้ตอนหนึ่งว่า ในสังคมของเขาคือสังคมอเมริกันนั้น คนมีทางเลือกมากมายที่จะคิด จะพูดจะทำอะไรอย่างไรก็ได้ เพราะเป็นสังคมที่เสรี แต่ทางเลือกนั้นมีมากมายเสียจนคนไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองอย่างได้ผล จึงต้องการให้คนอื่นมาช่วยตัดสินใจให้ โดยเขาพร้อมที่จะปฏิบัติตาม นี้คือคำสรุปในแง่ของความต้องการที่จะมีหลักยึดเหนี่ยว ต้องการความมีกฎมีเกณฑ์ เพราะเสรีเสียจนไม่รู้ว่าจะทำอะไร เลยต้องการให้มีคนมาบอกว่าเธอต้องทำอันนี้ แล้วก็พร้อมที่จะทำตาม นี้เป็นสภาพอย่างหนึ่งซึ่งสังคมของเราก็กำลังพัฒนาไปในแบบเดียวกันนี้ เราได้เตรียมรับสถานการณ์นี้กันบ้างหรือเปล่า นี้เป็นตัวอย่างในด้านการพัฒนาจิตใจ ขอจบเท่านี้และผ่านไปก่อน

ปัญญาที่ต้องการ ในยุคข่าวสารข้อมูล

๔. ปัญญาภาวนา หรือการพัฒนาปัญญา การพัฒนาปัญญานี้ปัจจุบันกำลังสำคัญยิ่งขึ้น เพราะเรากำลังเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งที่จะสร้างเสริมสติปัญญาหรือเอื้อต่อการพัฒนาปัญญา แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าคนปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อข่าวสารข้อมูล คนก็ไม่ได้ปัญญาเหมือนกัน อย่าได้ประมาทว่ามีข่าวสารข้อมูลมากแล้วคนจะมีปัญญา เพราะความจริงปรากฏว่า คนในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ต้องพบกับปัญหาที่ว่า จะรับความรู้ และเชื่อมโยงอย่างไรให้ข่าวสารข้อมูลนำไปสู่การเกิดขึ้นแห่งปัญญา อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก และเรากำลังมีปัญหากันในยุคปัจจุบัน เพราะคนเราไม่พัฒนาความสัมพันธ์กับข่าวสารข้อมูลหรือไม่ได้พัฒนาการปฏิบัติตนต่อข่าวสารข้อมูลอย่างถูกต้อง ถึงแม้จะมีข่าวสารมากมายก็ไม่ได้ผล ไม่ได้ปัญญา

ในทางพระพุทธศาสนา ท่านเรียกข่าวสารข้อมูลว่า สุตะ สุตะ แปลว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ในสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องอุปกรณ์มาก เราก็ได้ข่าวสารข้อมูลจากการได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น ศัพท์ที่ใช้สำหรับข่าวสารข้อมูลจึงได้แก่ สุตะ จนกระทั่งเมื่อมนุษย์เจริญขึ้น และได้พัฒนาแหล่งและรูปแบบของข่าวสารข้อมูลออกไปต่างๆ ความหมายของสุตะ ก็ขยายออกไป ความรู้ที่ได้เล่าเรียน ได้อ่าน ได้ดู ก็เป็นสุตะไปหมด พูดสั้นๆ สุตะก็คือข่าวสารข้อมูลนั่นเอง

ข่าวสารข้อมูลเหล่านี้ในยุคปัจจุบัน กำลังเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และมีปริมาณมาก จึงทำให้เกิดปัญหาว่าคนที่พัฒนาปัญญาไม่ทันจะยิ่งมีความสับสนมากขึ้น และไม่สามารถปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลเหล่านี้โดยถูกต้อง คือ สุตะมาก แต่ไม่มีความชัดเจนในสุตะเหล่านั้น และไม่สามารถถือเอาประโยชน์จากสุตะเหล่านั้นได้ สุตะที่เข้ามากลายเป็นสิ่งที่เลื่อนลอยพร่าไปหมด ในการปฏิบัติที่ถูกต้องที่จะเป็นการพัฒนาปัญญานั้น เริ่มแรกเราจะต้องให้คนมีความชัดเจน เมื่อรับสุตะอะไรมาก็ต้องชัดเจนในสุตะนั้น ต้องจัดแยกได้เป็นเรื่องๆ คนยุคปัจจุบันมีสุตะผ่านเข้ามามากมายนับไม่ทัน ก็เลยพร่าไปหมด เมื่อพร่าไปหมดแล้วความคิดก็ไม่ชัดเจน เมื่อคิดไม่ชัดเจนก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ดี จะวินิจฉัยก็ผิดพลาด เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญหามาก นอกจากนั้น คนที่มีสุตะไม่ชัดเจนนี้จะถูกหลอกได้ง่าย ใครมาหลอกโดยปลุกเร้าทางอารมณ์ก็ดี หรือมาสนองความต้องการด้านอื่นบางอย่าง หรือใช้ถ้อยคำพลิกแพลงหน่อย คนที่มีสุตะมาก แต่ไม่ชัดเจน และพร่าสับสนเหล่านี้ จะถูกหลอกให้หลงไปเลย กลายเป็นคล้อยตามเขาไป ไม่เห็นจริงในเรื่องนั้นๆ สภาพอย่างนี้ก็คือการที่ปัญญาไม่เกิดขึ้น โยงไปถึงการมองไม่เป็น คิดไม่เป็น ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงข้อต่อไป นี้เป็นการพูดกว้างๆ เป็นอันว่า เมื่อไม่รู้จักปฏิบัติต่อข้อมูลให้ถูกต้อง พอข้อมูลเข้ามามากก็พร่า ไม่ชัดเจน ไม่เกิดปัญญา แต่กลายเป็นเกิดความผิดพลาด ถูกหลอกลวง หลงผิดไป

ประการที่สอง ได้บอกเมื่อกี้ว่า ในการปฏิบัติต่อสุตะนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางปัญญา จะต้องมีการแยกเป็นเรื่องๆ ให้ชัดเจน การฝึกฝนพัฒนาปัญญาในกรณีนี้ก็คือ การทำให้คนเกิดความชัดเจนในแต่ละเรื่องนั้น แล้วรู้จักแยกเอาขยะของข้อมูลออกไปทิ้ง กล่าวคือข้อมูลที่เข้ามามากๆ นี่ มันมีทั้งส่วนที่เป็นข้อมูลแท้ ทั้งข้อมูลเท็จ ทั้งขยะข้อมูล ถ้าเราไม่รู้จักแยก ไม่รู้จักเลือก เราอาจจะเก็บเอาขยะเข้ามาเต็มหมด เมื่อเอาขยะข้อมูลมาก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ปัญญาก็ไม่เกิด และไม่พัฒนา เพราะฉะนั้นจะต้องสะสาง เริ่มแต่การพัฒนาปัญญาในชั้นต้นๆ คือการสอนให้รู้จักเลือกคัดสุตะ รู้จักเลือกคัดข้อมูล แล้วมุ่งไปในการทำสุตะนั้นให้ชัดเจนเป็นเรื่องๆ แต่ละเรื่องที่เข้ามานั้นต้องทำให้ชัดเจนก่อน พอแต่ละเรื่องชัดเจนแล้ว ต่อจากนั้นก็โยง ซึ่งหมายถึงว่าปัญญาจะต้องพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือนอกจากชัดในแต่ละเรื่องแล้วก็ต้องโยงเข้าหากันได้ พอจับโยงความสัมพันธ์แล้วก็จะได้ภาพรวมที่ชัดเจน การมองก็ชัดเจน แล้วต่อจากนั้นการคิดก็จะชัดเจนด้วย คิดชัดเจนอย่างไร คือ คิดแล้วเกิดปัญญาสามารถนำเอาความรู้ข่าวสารข้อมูลหรือสุตะนั้นไปใช้ให้เกิดผลสำเร็จประโยชน์ได้ ถ้าเรามองเห็นเรื่องราวชัดเจนแล้ว เวลาโยงก็จะมีความชัดเจนในการคิดวิธีการด้วย จึงสามารถใช้ข้อมูลความรู้นั้นให้เกิดผลสำเร็จตามต้องการได้ ดังนั้นจึงต้องมีความชัดเจนในสุตะแต่ละเรื่อง แล้วก็โยงเรื่องเหล่านั้น เข้ามาสัมพันธ์กัน แล้วก็คิดจัดการเพื่อจัดทำกับเรื่องเหล่านั้น ก็ชัดเจนตลอดสาย แต่ถ้ามองในแต่ละเรื่องไม่ชัดเจน แต่ละเรื่องพร่าอยู่แล้ว พอจับโยง ก็โยงไม่ได้ ก็เสียหมดเลย นี่ก็เป็นเรื่องของการพัฒนาปัญญาอีกด้านหนึ่งที่สำคัญสำหรับสมัยปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีความเท่าทัน ชัดเจน สามารถทั้งในเชิงวิเคราะห์ และสังเคราะห์

อีกด้านหนึ่ง ปัญหาที่เกิดจากความร่ำรวยของข้อมูลและความไหลผ่านไปอย่างรวดเร็วนี้ ก็คือสภาพล้า จะเรียกว่าจิตใจล้าหรือสมองล้าก็แล้วแต่ หมายความว่า เมื่อข่าวสารข้อมูลผ่านเข้ามามากมายท่วมท้น คนก็จะมีความรู้สึกล้า ล้าแล้วก็ไม่อยากคิด ในยุคปัจจุบัน คนตกอยู่ในสภาพนี้มากขึ้น คือความล้าและความอ่อนแรงทางปัญญาที่ไม่ปรารถนาจะคิด จะพิจารณาสิ่งต่างๆ ในยุคที่ข้อมูลและข่าวสารผ่านเข้ามาอย่างท่วมท้นนี้ เมื่อไม่สามารถคิดเองอย่างชัดเจน และไม่ปรารถนาจะคิด ก็รอให้คนอื่นช่วยคิดให้ เลยกลายเป็นปัญหาซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง คือไม่รู้จักคิดเองเป็น ทำให้เกิดปัญหาซึ่งขัดกับหลักพระศาสนา เพราะคนที่รอให้คนอื่นคิดและตัดสินใจให้นั้น ก็จะไม่พัฒนาปัญญาของตนและพึ่งตนเองไม่ได้

ตามหลักพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมหมวดหนึ่งที่ควรจะนำมาพูดกัน เน้นกันให้มากในยุคข่าวสารข้อมูล คือ หลักปัญญาแตกฉาน ๔ ประการ

ข้อที่ ๑. เมื่ออ่าน ฟัง ได้ยินอะไร ก็เข้าใจความหมายของสิ่งที่เขาพูด และเข้าใจความมุ่งหมาย พร้อมที่จะขยายความออกไปจากสิ่งนั้น หมายความว่า เมื่อมีคนพูดถึงหลักการอะไรสักอย่าง หรือพูดอะไรขึ้นมาสั้นๆ ก็สามารถเข้าใจความหมายและสามารถคิดขยายความออกไปได้อย่างถูกต้อง

ข้อที่ ๒. เมื่อรับฟังข่าวสารข้อมูล หรือแม้แต่คำพูดของคนอื่นแล้ว เช่นฟังปาฐกถานี้แล้ว จับประเด็นได้ถูกต้อง จับสาระได้ รู้ชัดว่าตัวเรื่องอยู่ตรงไหน เป็นปัญหาที่จุดไหนในแง่ใด ประเด็นคืออะไร

ข้อที่หนึ่ง กับข้อที่สองนี้กลับกัน คือข้อที่สอง คนพูดอะไรมาเยอะแยะ เราอ่านเราฟังแล้วจับประเด็นได้ แต่ข้อที่หนึ่ง เขาพูดมาสั้นๆ เป็นหลักเป็นใจความ เราก็สามารถเข้าใจความหมาย และสามารถคิดขยายความออกไปได้

ข้อที่ ๓. ต่อจากความสามารถขยายความ คือ ขยายความในใจของตัวเองได้แล้วก็ยังไม่พอ ต้องสามารถถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ หรือสิ่งที่ตนมุ่งหมายออกไปให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตรงกับที่ตนเองต้องการด้วย ข้อนี้เป็นความสามารถในเชิงภาษา คือสามารถใช้ถ้อยคำสื่อสารความคิดความเข้าใจความต้องการของตนให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างชัดเจน

ข้อที่ ๔. สามารถเชื่อมโยงความรู้เก่าที่มีอยู่แล้ว เอามาสังเคราะห์ขึ้นเป็นความรู้ใหม่ ที่ใช้แก้ปัญหาหรือทำประโยชน์ให้สำเร็จได้เหมาะเจาะสอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ ตามธรรมดานั้น คนเราทุกคนก็มีความรู้กันอยู่แล้วไม่มากก็น้อย มีมากบ้างน้อยบ้าง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จะสามารถเชื่อมโยงความรู้นั้นมาสร้างเป็นความรู้ใหม่ ที่จะใช้ประโยชน์ ใช้แก้ปัญหาเป็นต้นได้หรือไม่ และถูกต้องเหมาะสมกับเหตุการณ์สถานการณ์หรือไม่ การที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่ เอามาปรุงเป็นความรู้ใหม่ เพื่อใช้การหรือแก้ปัญหาได้ทันการ เหมาะสมกับเหตุการณ์สถานการณ์นี้ เป็นปัญญาในข้อที่ ๔

หลักการชุดนี้ให้แนววิธีปฏิบัติที่สำคัญมาก ในการสัมพันธ์กับข่าวสารข้อมูล โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ จึงน่าจะมีการเน้นกันให้มาก หมวดธรรมที่ว่านี้เรียกว่า ปฏิสัมภิทา ๔

๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ในความหมาย ในความมุ่งหมาย เขาพูดอะไรมาแม้แต่สั้นๆ ก็เข้าใจ และพร้อมที่จะขยายความได้ (รู้ความหมาย)

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานหรือแจ้งเจนในตัวธรรมหรือตัวหลัก คือประเด็นหรือสภาวะ เขาพูดมายืดยาว ก็จับสาระจับประเด็นได้ โยงเข้าหาหลักได้ (จับประเด็นได้)

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษาและถ้อยคำ ใช้ถ้อยคำเป็น พูดเป็น พูดให้คนอื่นเข้าใจได้ สื่อสารถ่ายทอดความรู้ความต้องการได้ชัดเจนและได้ผล (สื่อสารถ่ายทอดเป็น)

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ สามารถเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่เอามาสังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ ใช้แก้ปัญหาหรือตอบสนองสถานการณ์ได้สบเหมาะทันการ (ใช้ความรู้ได้ถูกเรื่องทันการ)

ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นปัญญาที่ต้องการมากในยุคปัจจุบัน สำหรับพัฒนาคนให้ทันกับยุคข่าวสารข้อมูล ที่เรากำลังจะเข้าถึง โดยเฉพาะสังคมไทยนี้มีความสับสนมากอยู่ ในแง่ที่ว่าสังคมรับเอาความเจริญของตะวันตกเข้ามา ทั้งๆ ที่ว่าความเจริญหลายอย่างนั้นตนเองยังไม่สามารถสร้างขึ้น แต่สามารถใช้ได้ จากการที่สามารถใช้โดยไม่ต้องสร้าง หรือโดยที่ยังสร้างไม่ได้ ก็ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีกหลายอย่างหลายประการ เช่นทำให้กลายเป็นนักบริโภค ไม่เป็นนักผลิต แล้วเกิดปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมอะไรต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เราจึงจะต้องพัฒนาคนในแง่ที่จะให้มาเป็นผู้สร้างพร้อมกับการเป็นผู้ใช้ ทั้งสร้างสำหรับใช้เองและสร้างให้คนอื่นใช้ได้

ที่ว่าเป็นผู้สร้างได้ นี้ก็คือถอยกลับไปเป็นลักษณะเด่นของยุคอุตสาหกรรม ยุคอุตสาหกรรมนั้นเป็นยุคที่ตะวันตกกำลังผ่านไปแล้ว แต่เรายังไม่เข้าถึง เพราะโดยสภาพที่เป็นจริงของประชาชนส่วนใหญ่ สังคมของเรายังอยู่ในยุคเกษตรกรรม เรายังไม่สามารถเข้าถึงยุคอุตสาหกรรมได้จริง ในระยะที่ผ่านมาเราก็เลยไม่เป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิต แต่เป็นผู้ใช้หรือผู้บริโภค ปัจจุบันนี้ยุคข่าวสารข้อมูลก็เข้ามาถึงอีก เราจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะพัฒนาคนของเราให้รับมือกับยุคทั้งสามได้พร้อมกัน คือคนไทยจะต้องมีการศึกษาชนิดที่พร้อมจะอยู่ได้อย่างดีในสังคมเกษตรกรรม ในสังคมอุตสาหกรรม และในสังคมข่าวสารข้อมูล หรือในยุคเกษตรกรรม ในยุคอุตสาหกรรม และในยุคข่าวสารข้อมูลพร้อมกันทั้งหมด

นี่เป็นตัวอย่างในแง่มุมต่างๆ ที่ยกขึ้นมาพูดเพื่อให้เห็นว่า เราจะใช้หลักการพัฒนา ๔ ประการนั้น ในสภาพชีวิตสังคมที่เป็นอยู่จริงนี้อย่างไร โดยยกเอาบริบทของสภาพชีวิตและสังคมในกาละเทศะปัจจุบันนี้เป็นหลักพิจารณา ก็ขอผ่านไป

พัฒนาสู่อิสรภาพ คือทำให้พึ่งตนได้

ทีนี้ ขอพูดถึงลักษณะทั่วไปของการพัฒนาชีวิตที่ถูกต้อง เมื่อเราพัฒนาไปพัฒนาไป เราก็บอกว่าพัฒนาตามหลักทั้ง ๔ ประการนี้แหละ คือ พัฒนาทางด้านกาย พัฒนาทางด้านศีล พัฒนาทางด้านจิต และพัฒนาทางด้านปัญญา แต่ในระหว่างนี้จะมีหลักมีเกณฑ์อะไรไหม ที่จะตรวจสอบว่าเป็นการพัฒนาที่ถูกต้อง ถูกทางหรือไม่ ลักษณะของการพัฒนาชีวิตที่ถูกต้องก็มีอยู่ จะขอยกตัวอย่างมาให้ดู

ลักษณะที่ ๑ คือ การพัฒนาชีวิตนั้นเป็นไปในแนวทางที่จะทำให้พึ่งตนเองได้ มีตัวอย่างปรากฏให้เห็นอยู่เหมือนกันว่า ในหลายกรณีคนเราสร้างความเจริญไปๆ แต่กลายเป็นการทำตนเองให้ขึ้นต่อสิ่งอื่นมากขึ้น เป็นทาสมากขึ้น อยู่ด้วยตนเองไม่ได้มากขึ้น อาจจะพึ่งเทคโนโลยี พึ่งคนอื่น พึ่งสังคม หรือพึ่งอะไรก็ตาม จนกระทั่งสูญเสียอิสรภาพ การพัฒนาที่แท้นั้น ก็ดังที่ได้บอกแล้วแต่ต้นว่า ในทางธรรมหมายถึงการพัฒนาให้มีอิสรภาพ ความมีอิสรภาพคือการบรรลุภาวะไร้ปัญหา ไร้ทุกข์ ลักษณะหนึ่งของความเป็นอิสระก็คือ ไร้ คำว่าอิสระนี้ คือ ไร้ หมายถึงไร้สิ่งที่ไม่ดี ไร้ปัญหา ไร้ทุกข์ ซึ่งทำให้มีความเต็มอยู่ในตัว ดังนั้น เมื่อเราพัฒนาคนไปแล้ว คนนั้นจึงจะต้องมีอิสรภาพมากขึ้น ทั้งทางกาย ทางศีล ทางจิต และทางปัญญา ความมีอิสรภาพก็วัดได้ ๔ ด้านนั้นแหละ คือทางกายมีอิสรภาพมากขึ้น ทางศีลมีอิสรภาพมากขึ้น ทางจิตมีอิสรภาพมากขึ้น และทางปัญญาก็มีอิสรภาพมากขึ้น หลักอิสรภาพนี้จะเป็นเครื่องวัดว่าการพัฒนาถูกทางไหม ถ้าเรามีอิสรภาพก็หมายความว่าเราพึ่งตนเองได้ คนที่พึ่งตนเองไม่ได้ก็คือคนที่ไม่มีอิสรภาพ ฉะนั้น การพัฒนาที่เดินไปสู่ความมีอิสรภาพ จะมีลักษณะอย่างหนึ่งคือพึ่งตนเองได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้แต่การมีอิสรภาพในทางปัญญานี้ก็เป็นคำที่มีปัญหาอย่างหนึ่ง คนจำนวนมากในยุคปัจจุบันมักมองอิสรภาพทางปัญญาในแง่ของสังคม คือมองในแง่ของการที่สามารถแสดงความคิดเห็นอะไรต่างๆ อย่างอิสระเสรี แต่มองให้ลึกลงไปถึงอิสรภาพทางปัญญาที่แท้จริง ก็คือ ในชีวิตจิตใจของตนเองมีอิสรภาพทางปัญญาหรือเปล่า คือมีปัญญาที่เป็นอิสระจากความครอบงำของอคติ จากการครอบงำชักจูงของโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ตลอดจนการที่ต้องคอยอาศัยปัญญาของผู้อื่นช่วยคิดวินิจฉัย คอยรอให้เขาตัดสินใจให้ คิดเองไม่เป็น อันนี้เรียกว่าไม่มีอิสรภาพทางปัญญา

รวมความว่า การพึ่งตนเองได้ เป็นลักษณะของการพัฒนาชีวิตที่ถูกต้อง ข้อที่หนึ่ง

ความหลากหลายภายในระบบชีวิตของการพัฒนา

ลักษณะที่ ๒ คือ การพัฒนาชีวิตในทางธรรม หรือในความเป็นจริง ย่อมมีลักษณะแห่งความหลากหลายของชีวิตที่ดีงาม ความหลากหลายนี้เป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นไปตามธรรมดา แต่ต้องเป็นความหลากหลายที่อยู่ในเอกภาพ คือความหลากหลายในความเป็นหนึ่ง หมายความว่า มีจุดมุ่งหมายและแนวทางอันเดียวกัน คือเดินไปสู่อิสรภาพ และจึงมีหลักการพัฒนาอย่างเดียวกันคือภาวนา ๔ ประการนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกาะกุมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในระหว่างการพัฒนานั้น คนจะมีความหลากหลายได้มาก ถ้าเรายอมรับความจริง เราจะต้องยอมรับสภาพหลากหลายนี้

ในทางพุทธศาสนานี้เรายอมรับคนได้มาก คือเมื่อใดเขาเริ่มต้นพัฒนาชีวิต เมื่อใดเขาเริ่มต้นพัฒนาตนเองแล้ว เมื่อนั้นพระพุทธศาสนารับเข้าหมด ตามหลักนี้จึงถือว่าการเข้าสู่ชุมชนพุทธ คือนับตั้งแต่การที่บุคคลเริ่มพัฒนาตนเอง ฉะนั้น เราจึงไม่จำกัดแคบว่าจะต้องมีชีวิตอย่างเดียว แบบเดียว หรือทำอะไรอย่างเดียวกันหมด หรือว่าต้องอย่างนี้เท่านั้นจึงจะเป็นพุทธ พุทธศาสนามีเพียงเกณฑ์อย่างต่ำ หมายความว่า ถ้าต่ำกว่านี้แล้วไม่ไหว คือถ้านิ่งเฉย ไม่ยอมพัฒนาตัวเองเลย ก็ยอมรับไม่ได้ แต่ถ้าเริ่มพัฒนาขึ้นมา มีภาวนาขึ้นบ้างแล้ว ต่อแต่นั้นไปก็นับเข้าในชุมชนพุทธ คืออยู่ในวิถีแห่งการพัฒนา เดินหน้าเข้าสู่มรรคแล้วก็เดินไปในมรรค เกณฑ์ตัดสินสำคัญก็คือ ขอให้ท่านพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา คือต้องมีภาวนา ฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาที่จะต้องมีความหลากหลายในระดับของการพัฒนา เพราะคนเราเริ่มต้นพัฒนาไม่พร้อมกัน และพัฒนาไปได้ไม่เท่ากัน เมื่อเรามองภาพชีวิตในสังคมขณะหนึ่งขณะใดก็ตาม ในขณะนั้นคนย่อมอยู่ในระดับของการพัฒนาที่ต่างกัน อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา เราจึงจะไปหวังให้ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน และเป็นอย่างเดียวกันไม่ได้ เราต้องยอมรับสภาพนี้ เพียงแต่ว่าข้อสำคัญ คืออย่าลืม อย่าหลง อย่าประมาท อย่าปล่อยปละละเลย จะต้องมีการพัฒนาตนเอง มีการก้าวหน้าไปไม่หยุดอยู่กับที่ ตกลงว่า นี้เป็นแง่ที่หนึ่ง คือมีความหลากหลายในระดับของการพัฒนา จนกระทั่งจบการภาวนาทั้งสี่ ก็เป็นพระอรหันต์

แง่ที่สองคือมีความหลากหลายในด้านความถนัด คนเรานั้นแม้จะพัฒนาอยู่ในระดับเดียวกัน แต่ก็มีความถนัดมีความโน้มเอียงต่างกันได้ แม้แต่พระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งมีระดับของการพัฒนาระดับเดียวกัน คือทุกท่านพัฒนาตนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วด้วยกัน ก็มีความหลากหลายในการดำเนินชีวิต พระมหากัสสปะอยู่ป่าตลอดชีวิต พระสารีบุตรอยู่เมืองตลอดชีวิต ทำงานคนละแบบ แต่ว่าเสริมกัน ไม่ได้เสียหาย มีขอบเขตที่เป็นเกณฑ์อย่างต่ำในทางพระพุทธศาสนาว่า ทุกคนจะแยกตัวโดดเดี่ยวอยู่ในป่าไม่เกี่ยวข้องกับใครโดยสิ้นเชิงไม่ได้ แต่จะคลุกคลีกับสังคมเกินจุดอันหนึ่งก็ไม่ควร แต่ในระหว่างจุดเขตแดนสองด้านนั้นเลือกเอาได้ เช่นจะมีความสัมพันธ์ทางสังคมพอประมาณ ตามความถนัด อัธยาศัยอย่างนี้เป็นต้น

เนื่องจากการพัฒนาชีวิต โดยเนื้อแท้ของมัน เป็นงานที่ทุกชีวิตหรือทุกคนต้องทำให้แก่ตนเอง และการที่แต่ละคนจะทำได้แค่ไหนเพียงไร ก็ต้องอาศัยความพร้อมของเขา ต้องเป็นไปด้วยปัญญาของเขาเอง คนอื่นทำให้ไม่ได้ และจะบังคับกันให้เป็นก็ไม่ได้ ดังนั้น ระบบชีวิตและสังคมแห่งการพัฒนาแบบนี้ จึงต้องมีความหลากหลายเป็นธรรมดา จะให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนกันหมด คือจะให้เป็นอย่างใจของใคร เหมือนระบบที่เป็นการบังคับกันไม่ได้ หรือแม้แต่จะเรียบเป็นกรอบเดียวอย่างระบบศรัทธาก็ไม่ได้ แต่มันก็เป็นระบบที่เป็นไปตามธรรม สอดคล้องกับกฎธรรมชาติอย่างแท้จริง ซึ่งจะเห็นว่าระบบประชาธิปไตยก็ตั้งอยู่บนฐานนี้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบการพัฒนาชีวิตอย่างนี้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นระบบประชาธิปไตยนั่นเอง การปกครองระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็มีหลักการพัฒนาชีวิตแบบนี้

มีผู้กล่าวว่า เราไม่พูดว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุด แต่พูดว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่มีความชั่วร้ายน้อยที่สุด คำกล่าวนี้ย่อมสอดคล้องกับระบบแห่งการพัฒนาชีวิตที่เป็นไปตามธรรม มันเป็นธรรมดาของความเป็นจริงแห่งชีวิต และสังคมมนุษย์ที่จะจัดสรรได้ดีที่สุด ตรงตามธรรม หรือเป็นธรรมที่สุด สอดคล้องกับสัจธรรมที่สุด ได้อย่างนี้ และนี้ก็คือหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้ชุมชนชาวพุทธมีลักษณะแห่งความหลากหลาย ภายในมีความผิดแผกแตกต่างกันได้มากๆ จะเอาอย่างใจใคร ให้ชาวพุทธมีชีวิตความเป็นอยู่เป็นแบบเดียวกันหมดไม่ได้ เพราะเขาอยู่ในระดับต่างกันของการพัฒนา มีปัญญาต่างกัน และเราไม่ใช้วิธีบังคับ แม้แต่ด้วยการบังคับความเชื่อ บางทีข้อนี้จะดูเป็นความอ่อนแอของพระพุทธศาสนา เหมือนกับว่าปล่อยหรือเสรีเกินไป แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะมันเป็นไปตามธรรม สอดคล้องกับสัจธรรมอย่างนี้ จะต้องเปิดใจกว้าง ยอมรับความจริงว่า ประชาธิปไตยอาศัยปัญญา จะให้เป็นอย่างเผด็จการด้วยศรัทธาย่อมไม่ได้ สิ่งที่จะทำได้เพื่อกำกับไว้ ไม่ให้เคลื่อนคลาดออกไปเสียจากระบบการพัฒนาชีวิตอย่างนี้ ก็คือ การถือหลักการว่า แต่ละคนทุกๆ คนจะต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเขาจะอยู่ในระดับใดของการพัฒนาก็ตาม ก็ต้องพยายามก้าวหน้าไปในวิถีแห่งการพัฒนานั้น ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ นี่คือมาตรฐานวัดความเป็นชาวพุทธ และเพื่อช่วยส่งเสริมบรรยากาศแห่งการพัฒนานี้ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ คอยเป็นกัลยาณมิตรให้แก่กัน และเร่งรัดกันให้เร่งรัดตัวในการพัฒนานั้น ตามหลักแห่งความไม่ประมาท

พัฒนาเพื่อความสุข หรือพัฒนาด้วยความสุข

ลักษณะที่ ๓ คือ ในการพัฒนาคนนี้ ย่อมมีปฏิบัติการต่างๆ มากมายที่เป็นกิจกรรมในการพัฒนา ซึ่งทั้งหมดทุกอย่างก็มุ่งเพื่อให้เข้าถึงจุดหมายที่เรียกว่าอิสรภาพ จุดหมายนั้น มองในแง่หนึ่งก็คือความสุขนั่นเอง เพราะอิสรภาพหรือความไร้ทุกข์ไร้ปัญหานั้น ในความหมายหนึ่งก็คือความสุข อย่างที่เรียกว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ความสุขจึงเป็นจุดหมายของชีวิต และก็เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา แต่กระนั้นเราก็มักเลี่ยงการใช้คำนี้ เพราะเป็นคำที่มีปัญหาได้ง่าย คือเป็นคำที่มีความหมายไม่เด็ดขาด มีนัยที่เป็นสัมพัทธ์มาก เรามักจะเรียกว่าภาวะที่หมดปัญหาหรือภาวะไร้ทุกข์มากกว่า แต่ในบางเวลาก็เรียกว่าสุข

เมื่อตอนที่พระพุทธเจ้าจะทรงหันมาปฏิบัติดำเนินในทางที่ถูกต้อง ก่อนที่จะละทิ้งทุกกรกิริยา เลิกบำเพ็ญตบะมาดำเนินในทางสายกลางนั้น พระองค์ได้ปรารภเรื่องนี้ คือพระองค์ได้เห็นว่า คนจำนวนมากยังมองเห็นว่า ความสุขจะต้องบรรลุถึงได้ด้วยความทุกข์ เพราะฉะนั้น เขาก็เลยต้องบำเพ็ญตบะทรมานตนเอง ลัทธินิครนถ์เป็นตัวอย่างของการถือหลักการนี้ เคยมีพวกนิครนถ์บางคนมาสนทนากับพระพุทธเจ้า เขาบอกว่า เขาเชื่อว่าความสุขจะบรรลุได้ด้วยความทุกข์ เพราะฉะนั้น วิธีปฏิบัติของเขาจึงใช้วิธีบำเพ็ญตบะ พระพุทธเจ้าก็เคยบำเพ็ญตบะมาแล้ว พระองค์ตรัสว่า วิธีการที่จะเข้าถึงความสุขด้วยความทุกข์นี้ไม่ถูกต้อง และพระองค์ก็ทรงพิจารณาถึงประสบการณ์ของพระองค์เอง แล้วตรัสเล่าไว้ว่า ทรงได้เคยประสบความสุขด้วยการปฏิบัติทางจิต แล้วพระองค์ยังถามพระองค์เองว่า เรากลัวความสุขนั้นหรือ พระองค์ก็ตอบว่า เราไม่ต้องกลัวความสุขนั้น ความสุขที่ไม่มีโทษใช้ได้ หมายความว่าต้องมีเงื่อนไข คือเป็นความสุขที่ไม่มีโทษ

ความสุขที่ไม่มีโทษ นี้ก็มาเป็นข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่สอนว่าความสุขจะต้องบรรลุถึงด้วยความทุกข์ แต่ความสุขสามารถบรรลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติที่เป็นสุข หมายความว่า เราต้องการจุดหมายคือความสุข และในระหว่างปฏิบัติเราก็ควรมีความสุขด้วย คือมีการปฏิบัติที่เป็นสุข และการปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยมากจะวินิจฉัยด้วยการมีความสุข หลักทั่วไปก็คือ เมื่อปฏิบัติถูกต้องก็จะมีความสุข และผู้ปฏิบัตินั้นก็ไม่ต้องปรารถนาความสุข เพราะความสุขอยู่ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวกับการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น สำหรับการบรรลุสุขด้วยทุกข์นั้น บางครั้งพระองค์ยอมให้บ้างในแง่เป็นเทคนิคหรือเป็นกลวิธี ให้เราใช้สิ่งที่เรียกว่าเป็นทุกข์เป็นความลำบาก แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าความบีบคั้น เป็นเครื่องฝึกตน แต่ต้องเข้าใจตระหนักไว้ว่าเป็นวิธีการในการฝึกฝนอบรมตน หรือในการขัดเกลาตน เรื่องนี้ต้องมองให้ถูกต้อง แม้แต่วัตรปฏิบัติต่างๆ ที่เคร่งครัดทั้งหลายก็ต้องมีความมุ่งหมายในแง่นี้

ในการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น พระพุทธศาสนาจะกล่าวไว้เสมอว่า เมื่อปฏิบัติไปถูกต้องแล้วจะเกิดภาวะจิตที่ดีงาม เกื้อกูลเป็นกุศล อย่างที่หนึ่ง คือเกิดปราโมทย์ ปราโมทย์ คือความร่าเริงเบิกบานใจ คนที่มาถึงระดับแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาแล้ว จะมีความรู้สึกที่เรียกว่าความร่าเริงเบิกบานใจนี้เกิดขึ้น พอมีปราโมทย์ มีความร่าเริงเบิกบานใจแล้ว ก็จะตามมาด้วยภาวะจิตอย่างที่สองคือ ปีติ ความอิ่มใจ ต่อจากปีติความอิ่มใจแล้ว ก็มีภาวะแห่งความผ่อนคลายไม่เครียด เรียกว่าปัสสัทธิ

ปัสสัทธิ คือ ความผ่อนคลายไม่เครียดนี้ เป็นสภาพจิตที่สำคัญมากอย่างหนึ่งสำหรับคนในยุคพัฒนานี้ ทำไมมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ ทั้งที่ว่าเจริญมากแต่กลับมีปัญหามาก ปัญหาใหญ่ของยุคปัจจุบันคือความเครียด ในพระพุทธศาสนานั้นสอนว่า ถ้าปฏิบัติถูกต้องจะไม่มีความเครียด เพราะหลักธรรมต่างๆ ที่บำเพ็ญล้วนแต่เป็นข้อปฏิบัติที่ทำลายความเครียดเสียในระหว่างของการปฏิบัตินั้น คือว่า แม้แต่การปฏิบัติเองก็เป็นตัวทำลายความเครียดเสียแล้ว โดยเฉพาะปัสสัทธิ ความผ่อนคลายไม่เครียด หรือภาวะจิตที่สงบเย็นนี้ก็คือสภาพจิตที่ตรงข้ามกับปัญหาโดยตรงทีเดียว การที่คนยุคปัจจุบันเป็นโรคเครียดมากนั้น อาจจะสืบเนื่องมาจากสภาพจิตของยุคอุตสาหกรรม เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ความเจริญแบบอุตสาหกรรมนั้นมาจากตะวันตก อุตสาหกรรมเจริญเพราะการทำงาน แต่วัฒนธรรมตะวันตกถือว่า งานหรือ work เป็นเรื่องของความหนัก ความเคร่งเครียด ไม่สบาย จึงต้องมีการพักผ่อนบันเทิง หรือ leisure ไว้เป็นคู่กัน สำหรับแก้ ตามวัฒนธรรมแบบนี้ คนที่ทำงาน เหมือนกับตั้งความรู้สึกไว้ก่อนทีเดียวว่า จะต้องทำด้วยความฝืนใจด้วยความหนักความเหนื่อย เมื่อตั้งใจทำไปจิตก็เครียด ไม่มีความสุขในการทำงาน หวังแต่ความสุขจากการพักผ่อนบันเทิงว่า หลังจากเสร็จงานแล้วจะได้หยุดพักหาความสุข แต่ทางพุทธศาสนาบอกว่า การทำงานหนักกับความสุขในจิตใจ เป็นสิ่งที่ไปกันได้ แต่ต้องทำใจให้ถูกต้อง ต้องมีฉันทะในงานและวางใจอย่างรู้เท่าทัน แล้วจะมีความสุขในการทำงาน หรือทำงานด้วยความสุข ในการทำงานที่ถูกต้อง ก็จะมีการปฏิบัติธรรมไปในตัว เมื่อเป็นการปฏิบัติธรรม ก็จึงมีสภาพจิตที่มีปราโมทย์ร่าเริงเบิกบาน มีปีติอิ่มใจ มีปัสสัทธิ ผ่อนคลาย สงบเย็น ไม่เครียด และมีความสุข ตามหลักที่ว่ามานี้ เมื่อทำงานอย่างถูกต้อง จึงได้ทั้งผลงาน คือประโยชน์สุขที่เป็นวัตถุประสงค์ของงานนั้น และได้ทั้งผลการปฏิบัติธรรม คือภาวะจิตที่ดีงาม เป็นสุข ซึ่งแสดงถึงความเจริญงอกงามตามหลักของการพัฒนาชีวิตนี้ด้วย

หลักแสดงไว้ต่อไปว่า มีปัสสัทธิไม่เครียด มีความผ่อนคลายแล้ว ความสุขก็จะเกิดขึ้น พอมีความสุขแล้วสมาธิก็เกิด ตามกฏมีอยู่ว่า ถ้ามีความทุกข์จิตไม่สามารถตั้งแน่วได้ดีในสมาธิ สมาธิเกิดแก่คนมีความสุข และสมาธิเกิดก็ทำให้ยิ่งมีความสุข อย่างไรก็ตาม เมื่อสมาธิทำให้เกิดความสุขแล้ว ถ้าติดในความสุขนั้น ก็ผิดอีก จึงต้องระวัง แต่ว่าโดยหลักทั่วไปก็บอกอย่างนี้ว่า มีความสุขแล้วก็จะมีสมาธิ พอมีสมาธิ จิตก็ควรแก่การใช้งาน หรือเหมาะแก่งาน เราก็เอาจิตนี้ไปใช้งาน จะใช้ทำการทำงานทั่วไปหรือจะใช้คิดพินิจพิจารณาอะไรก็ใช้ได้ผลดี เป็นอันว่า การปฏิบัติที่ถูกต้องดำเนินไปอย่างนี้นี่ เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการพัฒนาชีวิตตามหลักการของพระพุทธศาสนา คือ เป็นกระบวนการที่เจริญงอกงามก้าวหน้าไปพร้อมด้วยความเป็นสุข

รวมความว่า เราต้องการให้คนมีการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วมีภาวะจิตที่ดีงามเป็นสุขเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ เป็นต้นไป สอดคล้องกับหลักที่ว่า ปาโมชฺชพหุโล ทุกฺขสฺสตํ กริสฺสติ บุคคลที่มากด้วยปราโมทย์ คือความร่าเริงเบิกบานใจ จักกระทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้ ฉะนั้น ทุกคนควรเอาหลักนี้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน สร้างความร่าเริงเบิกบานให้เกิดขึ้นในใจเสมออย่างน้อยวันละครั้งสองครั้งตามหลักที่บอกว่า พึงทำวันเวลาไม่ให้ผ่านไปเปล่า จะมากหรือน้อยก็ให้ได้อะไรบ้าง คือให้ได้บ้างไม่มากก็น้อย หลักนี้ก็เอามาใช้กับจิตใจ โดยหมั่นพิจารณาว่า วันนี้เราได้ปราโมทย์บ้างไหม เรามีความร่าเริงเบิกบานใจบ้างไหม ถ้าอย่างนี้ก็จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่ขอเตือนไว้อันหนึ่งคือต้องให้เป็นปราโมทย์ที่ถูกต้อง ให้เป็นปราโมทย์ที่เกิดจากการปฏิบัติของตนเอง เช่นมีความเพียรพยายามหรือได้ปฏิบัติธรรม ดำเนินไปถูกทาง อะไรๆ เข้าที่ตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ก็เกิดความปราโมทย์เบิกบานใจ แต่ถ้าเมื่อไรเกิดความรู้สึกกระหยิ่มใจว่าเรานี่เก่ง เรานี่แน่กว่าคนอื่น เหนือคนอื่น ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา ผิดทันที กลายเป็นมานะ เป็นกิเลสขึ้นมาเลย เรียกว่าปฏิบัติผิด จึงต้องระวัง มีสติเตือน ระลึกเสมอว่า การปฏิบัติธรรมพัฒนาชีวิตมีโอกาสเขวได้เรื่อย จะต้องตรวจสอบให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง

เอาเป็นหลักการว่า ตามแนวการปฏิบัติที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา บุคคลสามารถบรรลุความสุขด้วยความสุข อันนี้เป็นคำตอบที่ว่า ทำไมคนที่เข้ามาสัมผัสพระพุทธศาสนาพวกหนึ่ง เช่นหนังสือหลายเล่มที่เขียนเกี่ยวกับหลักเบื้องต้น หรือหลักทั่วไปของพระพุทธศาสนา บอกว่าพระพุทธศาสนาสอนอริยสัจจ์ข้อแรกคือ ทุกข์ ว่าชีวิตเป็นทุกข์ ขันธ์ห้าเป็นทุกข์ คนที่อ่านก็บอกว่าพุทธศาสนามองโลกในแง่ร้าย แต่อีกพวกหนึ่งไม่ได้อ่านคำสอนเลย พอเข้ามาในเมืองไทยเจอชาวพุทธยิ้มแย้มแจ่มใส ก็แปลกใจว่า เอ! ชาวพุทธนี่ใจดี มองโลกในแง่ดี ทำไมเป็นอย่างนี้ นี่คือคำตอบ หมายความว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ในแง่ของสภาวะ โดยสอนให้รู้เท่าทันสิ่งที่เป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริง อะไรเป็นปัญหาก็ให้ยอมรับและสู้หน้ามัน แต่ในแง่ของการปฏิบัติก็เป็นเรื่องของความสุข หรือการที่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงความไร้ทุกข์โดยสิ้นเชิง ฉะนั้นจึงขอให้แยกแง่มุมนี้ให้ถูกต้องด้วย รวมความว่า การพัฒนาชีวิตที่ถูกต้องจะมีลักษณะของการที่มีความสุข เริ่มแต่เกิดปราโมทย์ดังได้กล่าวมา

การพัฒนาชีวิต อยู่ในกิจกรรมทุกเวลา

ลักษณะที่ ๔ ของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเป็นอย่างไร คนเราที่ว่าพัฒนาชีวิตนี่ จะต้องทำหรือปฏิบัติกิจกรรมบางอย่างโดยเฉพาะ หรือว่าจะเอากิจกรรมอะไรบางอย่างมาพัฒนาชีวิต หรือว่าต้องมีกิจกรรมพิเศษโดยเฉพาะที่เรียกว่าเป็นการพัฒนาชีวิตหรืออย่างไร ตอบว่าไม่จำเป็น เราต้องมองว่า กิจกรรมทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเรานี้ เป็นกิจกรรมในการพัฒนาชีวิตได้ทั้งสิ้น เช่น กิจกรรมในทางเศรษฐกิจ ในชีวิตของคนปัจจุบันนี้ กิจกรรมที่ครองเวลาส่วนใหญ่ของเราก็คือ กิจกรรมในทางเศรษฐกิจ การทำงานทำการประกอบอาชีพ การผลิต การบริโภค อะไรต่างๆ นี้เป็นกิจกรรมในทางเศรษฐกิจ กิจกรรมเหล่านี้ถ้าใช้ให้ถูกต้องหรือทำเป็น ก็เป็นกิจกรรมในการพัฒนาชีวิตทั้งหมด เมื่อท่านบริโภคอาหาร ถ้าท่านบริโภคโดยรู้จักพอดีตามหลักโภชเนมัตตัญญุตา คือกินพอดีด้วยความรู้เข้าใจในคุณค่าของอาหาร เข้าใจวัตถุประสงค์ในการกินอาหาร กินเพื่อคุณค่าแท้ กินเพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิต กิจกรรมของท่านเวลานั้นก็เป็นกิจกรรมในการพัฒนาชีวิตทันที การทำงานทุกอย่างก็เป็นกิจกรรมในการพัฒนาชีวิต เพราะฉะนั้น กิจกรรมทุกอย่างให้เรามองเป็นกิจกรรมในการพัฒนาชีวิต

เมื่อเราเดินทางไปในท้องถนน รถติด เราอยู่ในรถก็สามารถใช้กิจกรรมต่างๆ ที่ทำหรือที่เป็นไปในระหว่างที่รถติดนั้นเป็นกิจกรรมพัฒนาชีวิตได้ เรามองการที่รถติดต้องอยู่นิ่งอย่างนั้นด้วยความรู้เท่าทันเหตุปัจจัย และทำใจให้ถูกต้อง เราพิจารณาว่าทั้งที่มันน่าร้อนรนกระวนกระวายใจ เราอาจจะไปทำงานไม่ทัน แต่ถึงเรากระวนกระวายไปมันก็ไม่ทันอยู่ดี มันก็ทุกข์เปล่าๆ ฉะนั้นยอมรับความจริงแล้วก็ทำใจให้ถูกต้อง ทำใจสบายเป็นอิสระและทำมันให้ดีที่สุดไปตามที่จะทำได้ ตามที่ควรจะทำ แล้วก็สบายใจ พอทำแค่นี้ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมพัฒนาชีวิตแล้ว ถ้าไม่ทำใจอย่างนี้ อาจเกิดโทสะ เกิดความโกรธเคือง เกิดกิเลสขึ้นมา ก็ไม่ได้พัฒนาชีวิตแล้ว และนอกจากเกิดกิเลสก็จะเกิดความทุกข์ด้วย ไม่สบายใจด้วย เพราะฉะนั้น เราสามารถทำกิจกรรมทุกอย่างให้เป็นกิจกรรมในการพัฒนาชีวิต และกิจกรรมบางอย่างในปัจจุบันนี้ ถ้าเรายังไม่สามารถจะทำให้เป็นกิจกรรมในการพัฒนาชีวิตได้ ก็พยายามหันเหกิจกรรมเหล่านั้นมาในความหมายที่เป็นการพัฒนาชีวิตให้ได้ ถ้าเมื่อไรเราสามารถมองกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตประจำวัน และทำให้มันเป็นกิจกรรมในการพัฒนาชีวิตได้ นั้นก็คือการพัฒนาชีวิตที่แท้จริงจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมทุกเวลา

ชีวิตที่ดี พัฒนาในท่ามกลางความสมดุล

ลักษณะที่ ๕ คือ ลักษณะที่เรียกว่าความมีสมดุล หรือมีดุลยภาพ การพัฒนาชีวิตจะต้องเป็นการพัฒนาอย่างมีสมดุล สมดุลคือความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างกลมกลืนพอดี ระหว่างองค์ประกอบทั้งหลาย ที่มีส่วนรวมอยู่ในการดำเนินชีวิตของเรา อะไรบ้างมีส่วนร่วมในการดำเนินชีวิตและการพัฒนาชีวิตของเรา มองกว้างออกไป ก็มี

๑. ตัวเราเอง หรือชีวิตของเรา ซึ่งเมื่อแยกออกไปก็มีกายกับใจ

๒. มองไปภายนอก เรามีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน เราก็เกี่ยวข้องกับสังคม สังคมจึงเป็นองค์ประกอบที่สอง

๓. ธรรมชาติแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ชีวิตของเราต้องเกี่ยวข้องพึ่งพาอาศัย

เป็นอันว่า องค์ประกอบใหญ่ๆ สามประการนี้เราจะต้องมีความเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิต และในการพัฒนาชีวิตสมดุลหรือดุลยภาพ เป็นภาวะของความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้องค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้ดำรงอยู่ด้วยดี และเกื้อกูลกัน ถ้าเราจะพัฒนาชีวิตให้ถูกต้อง ก็ต้องรักษาสมดุลในความสัมพันธ์กันระหว่างองค์ประกอบสามอย่างนี้ เริ่มแต่บริหารกายกับใจของเรานี้ให้มีความสมดุล ให้ส่วนที่เป็นความเจริญทางด้านกายของเราสอดคล้องเกื้อกูลมีผลดีต่อจิตใจด้วย และให้ส่วนที่เป็นความเจริญทางจิตใจก็เกื้อกูลมีผลดีต่อกายด้วย ให้มันเกื้อกูลประสานสอดคล้องซึ่งกันและกัน เหมือนตัวอย่างที่ว่ารับประทานอาหารเมื่อกี้ รับประทานอาหารเอาแต่กายสบาย แต่เสร็จแล้วก็มีปัญหาทางใจขึ้นมา หรือบางทีก็ปล่อยให้ปัญหาทางใจมาบีบคั้นกายเกินไป เช่น ไม่สบายใจแล้วเลยเบื่อหน่ายไม่ยอมกินอาหาร ในแง่สังคมก็เหมือนกัน บางทีคิดแต่จะทำเพื่อชีวิตของเรา แต่ไม่เกื้อกูลสังคมทำให้เกิดความเดือดร้อนเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ผลเสียก็ย้อนกลับมาหาเราด้วย ธรรมชาติแวดล้อมก็เหมือนกันเราก็ต้องอยู่อย่างเกื้อกูลกับมัน เราได้รับประโยชน์จากธรรมชาติ ก็ต้องรู้จักถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติ คือรู้จักรักษาธรรมชาติให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ จะได้เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราได้ต่อไป ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการพัฒนาไปอย่างมีดุลยภาพ หรืออย่างสมดุล นี้เป็นการมองอย่างกว้างที่สุด

ถ้ามองดูแคบเข้ามา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ปัจจุบัน มองดูเฉพาะการพัฒนาในส่วนของกายกับใจ หรือทางด้านวัตถุกับทางจิตใจ การพัฒนาในยุคปัจจุบันก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นการพัฒนาที่เน้นทางด้านวัตถุ การพัฒนาที่เน้นทางด้านวัตถุ ก็คือการพัฒนาที่เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่พร้อมกันนั้นการพัฒนาอีกด้านหนึ่งที่เราขาดแคลนไปมาก ก็คือการพัฒนาทางจิตใจ และคุณค่าทางนามธรรม ซึ่งอาจใช้ศัพท์รวมๆ ว่า วัฒนธรรม การพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม และด้วยวัฒนธรรม ได้ขาดแคลนไปในการพัฒนาที่ผ่านมา ปัจจุบันได้มีการหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาพิจารณา และได้ยอมรับกันว่า สาเหตุที่ทำให้การพัฒนาปัจจุบันนี้มีปัญหาเกิดความผิดพลาด ก็เพราะว่าขาดองค์ประกอบทางด้านวัฒนธรรม เพราะไปเน้นแต่ทางด้านวัตถุโดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งแต่ความขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น ปัจจุบันก็เลยหันมาบอกว่า จะต้องพัฒนาโดยถือจิตใจและคุณค่าทางนามธรรม ที่เรียกว่าวัฒนธรรมเป็นหลัก ถึงกับองค์การสหประชาชาติประกาศทศวรรษนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๑ ไปถึง พ.ศ. ๒๕๔๐ ว่าเป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรม เพราะได้เห็นปัญหาแล้วว่า การพัฒนาของโลกที่ผ่านมานี้ขาดองค์ประกอบและปัจจัยสำคัญด้านวัฒนธรรมไป เป็นอันว่า เราจะต้องให้มีสมดุลหรือดุลยภาพระหว่างการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ที่มุ่งความขยายตัวทางเศรษฐกิจ กับการพัฒนาด้วยวัฒนธรรม ที่มุ่งความเจริญงอกงามของชีวิต อันนี้ก็เป็นลักษณะหนึ่ง คือความประสานสัมพันธ์เกื้อกูลและการรักษาดุลยภาพระหว่างองค์ประกอบ ๓ ประการ แห่งระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ เรื่องลักษณะของการพัฒนาชีวิตที่ถูกต้องก็ขอผ่านเพียงเท่านี้

ตัวนำวิถีของการพัฒนาชีวิต

อีกข้อหนึ่งที่ขอพูดเป็นเรื่องสุดท้าย คือ ตัวองค์ประกอบของกระบวนการพัฒนาชีวิต อันนี้คือตัวแท้ตัวจริงของมันเลย เมื่อกี้เราพูดอ้อมไปอ้อมมา พูดแวดล้อมอยู่วงนอก ทีนี้จะพูดถึงตัวการพัฒนาเองว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง ได้พูดแต่ต้นแล้วว่า การพัฒนาชีวิต ก็คือการทำให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง วิถีชีวิตที่ถูกต้องเราเรียกว่ามรรค การทำให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีโดยวิธีที่ถูกต้องเรียกว่า สิกขาหรือการศึกษา การศึกษาหรือสิกขาก็ดี มรรคก็ดี จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องมีตัวนำ ตัวนำนี้ก็คือตัวที่นำให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องและเป็นตัวนำให้เกิดการพัฒนาชีวิต หรือพัฒนาคนให้มีวิถีชีวิตที่ถูกต้อง เรียกเป็นคำศัพท์ว่าบุพนิมิตของวิถีชีวิตที่ดี หรือเรียกง่ายๆ ว่า บุพนิมิตของชีวิตที่ดี

บุพนิมิต มาจาก นิมิต ที่แปลว่า ลาง เครื่องหมาย หรือเครื่องส่อแสดง ต่อเข้ากับ บุพ ซึ่งแปลว่า ก่อน บุพนิมิต จึงแปลว่า เครื่องหมายที่ส่อแสดงล่วงหน้า หมายถึงเครื่องหมายที่ส่อแสดงล่วงหน้าของวิถีชีวิตที่ดีงามถูกต้อง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รุ่งอรุณของการศึกษา เพราะมันเป็นบุพนิมิตของชีวิตที่ดี มันก็เลยมาเป็นรุ่งอรุณของการศึกษาด้วย ถ้ารุ่งอรุณของการศึกษามาแล้ว การศึกษาก็ต้องตามมาเอง โดยไม่ต้องไปเพียรพยายาม ท่านบอกว่าอย่างนั้นคือ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เหมือนกับเมื่อดวงอาทิตย์จะขึ้นสู่ท้องฟ้า ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนฉันใด ชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น ก็มีองค์ประกอบคือธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนฉันนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงเรียกองค์ประกอบเหล่านี้ว่า รุ่งอรุณของการศึกษา

รุ่งอรุณของการศึกษา ก็เป็นรุ่งอรุณของการพัฒนาชีวิตด้วย โดยเฉพาะมันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะนำเข้าสู่วิถีของการพัฒนาชีวิต หลักธรรมชุดนี้มี ๗ ประการด้วยกัน โดยทั่วไปเรามักจะพูดถึงแต่มรรคกับไตรสิกขา แต่ไม่พูดถึงบุพนิมิต และรุ่งอรุณของมัน แสดงว่าเรามองธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ทั่วถึง เราลืมไปหรือมองข้ามไปว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ถึงสิ่งที่จะต้องทำหรือควรจะทำ ควรจะมีก่อนมรรค และเป็นเบื้องต้นของการศึกษา การที่เราจะก้าวปุ๊บไปสู่ตัวมรรค ก้าวปั๊บไปสู่ตัวการศึกษานั้น บางทีอาจจะไม่สำเร็จก็ได้ ถ้าเราไม่ทำสิ่งที่เป็นต้นทางของมันเสียก่อน รุ่งอรุณของการศึกษา หรือบุพนิมิตของชีวิตที่ดีมี ๗ ประการ ขอกล่าวโดยย่อ

๑. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี ปัญญาเป็นแกนนำของการพัฒนาชีวิต ดังนั้น คนเราจะเดินหน้าในการพัฒนาก็ต้องรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ เริ่มตั้งแต่รู้จักเลือกคบคน ซึ่งไม่ใช่เป็นแหล่งความรู้เท่านั้นแต่เป็นแหล่งของความดีงามด้วย โดยเฉพาะเด็กๆ นั้น มักจะคอยตามแบบอย่าง เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำให้เด็กรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีงาม ถ้าเด็กเริ่มรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และเลือกคบคน รู้จักนิยมแบบอย่างที่ดี รู้จักเลือกว่าควรดูโทรทัศน์เรื่องไหนรายการใดจึงจะได้ความรู้เป็นประโยชน์ และนักเรียนนักศึกษารู้จักคิด รู้จักพิจารณาเลือกหาว่าเรื่องนี้เราควรปรึกษาใคร ควรจะค้นหนังสืออะไรเป็นต้น ก็เป็นบุพนิมิตสำคัญข้อที่หนึ่งของการที่การศึกษาและการพัฒนาชีวิตจะดำเนินก้าวหน้าต่อไป บุพนิมิต ข้อนี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร)

ผู้บริหารและจัดการศึกษา ตลอดจนผู้บริหารประเทศ พ่อแม่ผู้ปกครอง สื่อมวลชน และผู้ใหญ่ทั่วไป มีหน้าที่จัดสรรแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งมีหน้าที่ที่จะทำตนหรือปฏิบัติตนให้เป็นเช่นนั้น แต่ในการทำหน้าที่เช่นนั้นจะต้องรู้ตระหนักว่า การจัดสรรแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กและประชาชน แม้จะสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงบริการและเป็นส่วนประกอบ เป้าหมายที่แท้ของหลักธรรมข้อนี้ต้องให้ถึงขั้นที่ว่าตัวเด็กตัวเยาวชน ตลอดจนชาวบ้านจะต้องรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีงาม ถึงแม้จัดสรรแหล่งความรู้และแบบอย่างให้พร้อม แต่เด็กยังไม่รู้จักเลือกหา การศึกษาที่แท้จริงก็ยังไม่เริ่ม เมื่อใดเด็กรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี เมื่อนั้นแหละคือการศึกษาได้เริ่มต้นอย่างแท้จริง และนั่นคือรุ่งอรุณของการศึกษา พูดอย่างง่ายๆ ว่า การที่ผู้ใหญ่จัดสรรและเป็นกัลยาณมิตรให้ แม้จะสำคัญก็ยังไม่ถึงจุดเริ่มของการศึกษา เมื่อใดเด็กรู้จักเลือกหากัลยาณมิตรนั่นแหละ การศึกษาจะเริ่มต้นแล้วอย่างแท้จริง

๒. มีชีวิตและอยู่ร่วมสังคมเป็นระเบียบด้วยวินัย คือ รู้จักจัดระเบียบชีวิต และการอยู่ร่วมในสังคมให้เป็นไปโดยเรียบร้อยด้วยดี ถ้าชีวิตไม่มีระเบียบ และการอยู่ร่วมในสังคมไม่เรียบร้อย ก็จะเกิดความวุ่นวายสับสน คนเราจะทำอะไรไม่ได้เลยหรือไม่สะดวกเพราะไม่มีช่องที่จะทำ ชีวิตที่จะทำอะไรได้จะต้องมีช่องมีโอกาส โอกาสนั้นเกิดจากการจัดระเบียบ ฉะนั้น จะต้องมีการจัดระเบียบชีวิตและการจัดระเบียบการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมให้เรียบร้อย พูดง่ายๆ ว่าต้องเตรียมพื้นที่ให้ดี หรือจัดที่ทำงานให้เรียบร้อยก่อน แล้วจะเป็นจุดเริ่มที่อำนวย เกื้อกูลต่อกระบวนการศึกษา และกระบวนการพัฒนาชีวิตที่จะเดินหน้าต่อไป พอเรามีระเบียบในการดำเนินชีวิต และมีระเบียบในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นแล้ว กระบวนการพัฒนาก็ดำเนินไปได้ง่าย บุพนิมิตข้อนี้เรียกว่า สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล)

๓. พร้อมด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ คือมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ได้แก่ความใฝ่รู้และใฝ่ดีที่เรียกว่าใฝ่ธรรม หรือฉันทะนั่นเอง ธรรมแปลว่าความจริง และความดีงาม ความจริงเข้าถึงได้ด้วยความรู้ก็ต้องใฝ่รู้ ใฝ่ความจริงก็ต้องใฝ่ความรู้ ใฝ่ความดีงามก็คือใฝ่สร้างสรรค์ทำความดีงามให้เกิดขึ้น มีแรงจูงใจที่ถูกต้องคือใฝ่รู้ใฝ่ดีแล้ว จึงจะสามารถก้าวไปในการศึกษาพัฒนาชีวิต ตลอดจนในการสร้างสรรค์ผลิตสิ่งต่างๆ และทำให้พ้นปัญหาที่จะเกิดจากความใฝ่เสพใฝ่บริโภคตลอดจนค่านิยมบริโภค บุพนิมิตข้อนี้เรียกว่า ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ)

๔. มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ หลักบอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีศักยภาพสูงสุด ท่านใช้คำว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้และฝึกแล้วประเสริฐสุด แต่ละคนก็มีศักยภาพของตน ถ้ามัวนิ่งเฉยศักยภาพนั้นก็ไม่ปรากฏออกมา ทั้งๆ ที่เราสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ เป็นพระอรหันต์ได้ เป็นพระอริยะได้ แต่ไม่พัฒนาศักยภาพ ก็เป็นไม่ได้ จึงต้องมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตน และมีจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาตนอยู่เสมอ โดยมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพให้เต็มที่ บุพนิมิตข้อนี้ เรียกว่า อัตตสัมปทา (การทำตนให้ถึงพร้อม)

๕. ปรับทัศนคติและค่านิยมให้สมแนวเหตุผล เริ่มด้วยมีท่าทีถูกต้องต่อประสบการณ์ต่างๆ และมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย พูดง่ายๆ คือมีทัศนคติและค่านิยมที่ถูกต้อง ท่าทีที่ถูกต้องต่อประสบการณ์ต่างๆ คือ ไม่ใช่ท่าทีของการยินดียินร้ายชอบชัง แต่เป็นท่าทีของการเรียนรู้ และไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างเลื่อนลอยหลงเพลิดเพลินงมงาย แต่มองตามเหตุปัจจัย อันนี้เป็นคำสอนเบื้องต้นที่สุดและสำคัญยิ่ง คนทั้งหลายที่ประสบปัญหาก็เพราะไม่มีหลักในการมอง จึงมองสิ่งทั้งหลายไปตามความหลง แล้วก็มองไปตามความเพลิดเพลิน จึงถูกสิ่งนั้นชักจูงเตลิดไป แต่เมื่อมีท่าทีแห่งการเรียนรู้และมองตามเหตุปัจจัย ก็จะเกิดการคิดวิเคราะห์แยกแยะสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความรู้จริง ทำให้ปัญญางอกงาม และทำให้มีค่านิยมตามแนวเหตุผล ซึ่งสอดคล้องกับเจตคติที่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย แล้วก็จะมีค่านิยมที่ดีงาม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาและการมีชีวิตที่ดีงาม บุพนิมิตข้อนี้เรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา (การทำความเห็นความเข้าใจให้ถึงพร้อม)

๖. มีสติกระตือรือร้นตื่นตัวทุกเวลา ความหมายสำคัญในข้อนี้ คือ มีจิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง พระพุทธศาสนาสอนหลักอนิจจัง ซึ่งเราแปลความหมายแบบง่ายๆ ว่าความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ความเปลี่ยนแปลงนี้สัมพันธ์กับกาลเวลา ในเมื่อเราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เราก็เห็นความสำคัญของกาลเวลาด้วย แล้วก็ทำให้เกิดความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าสอนหลักเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อให้คนมีความไม่ประมาท ซึ่งหมายถึงว่า เราจะต้องมีความตื่นตัวต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ทุกอย่าง ซึ่งผูกพันอาศัยอยู่กับกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงนั้น นอกจากนี้จะต้องรู้ตระหนักตามหลักการที่ท่านแสดงไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ฉะนั้น สิ่งทั้งหลายจะเจริญหรือจะเสื่อมก็ขึ้นอยู่ที่เหตุปัจจัย เราจึงต้องตื่นตัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า สิ่งนั้นๆ จะเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม หรือเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ ถ้าเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม ก็รีบป้องกันแก้ไข ถ้าเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเจริญ ก็รีบสร้างสรรค์ขึ้น ความตื่นตัวกระตือรือร้นที่เรียกว่าความไม่ประมาท เป็นตัวเร่งที่โยงเข้าไปหาการศึกษาเหตุปัจจัย และการกระทำการให้ตรงเหตุปัจจัย และทำให้เราต้องมีการพัฒนาชีวิตอยู่ตลอดเวลา บุพนิมิตข้อนี้เรียกว่า อัปปมาทสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท)

๗. แก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด คือต้องรู้จักคิดรู้จักพิจารณา คิดเองเป็น โดยคิดตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ การคิดเองเป็นและรู้จักคิดตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย เป็นหลักสำคัญที่ทำให้แก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง และเป็นวิธีการสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญญา และพัฒนาปัญญาให้งอกงามยิ่งขึ้นไป ฉะนั้น หลักการรู้จักคิดและคิดเป็น จึงเป็นจุดย้ำเน้นในพระพุทธศาสนา และเป็นหลักที่ทำให้คนพึ่งตนเองได้ ถ้าเด็กยังไม่มีโยนิโสมนสิการ ยังไม่รู้จักคิดเองเป็น เขาก็ยังจะต้องอาศัยกัลยาณมิตรอยู่ต่อไป หรือมิฉะนั้น ก็อาจก้าวถลำออกนอกทางของการศึกษาหรือการพัฒนาชีวิต อย่างน้อยก็หยุดนิ่งเฉื่อยชา ไม่ก้าวหน้าไปในกระบวนการพัฒนาชีวิตนั้น แต่เมื่อใดเด็กคิดเองเป็น เด็กก็อาศัยกัลยาณมิตรน้อยลง สามารถพึ่งตนเองได้ แก้ปัญหาเองได้ แล้วก็รู้จักใช้ประโยชน์จากกัลยาณมิตรได้ดีด้วย บุพนิมิตข้อสุดท้ายคือข้อที่ ๗ นี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ)

เป็นอันว่าจบหลัก ๗ ประการ ที่เรียกว่าบุพนิมิตของชีวิตที่ดีงาม หรือรุ่งอรุณของการศึกษา เวลาก็หมดแล้ว ก่อนจบขอย้ำความเข้าใจบางอย่าง หลักสำคัญก็คือ การที่เราจะต้องสร้างองค์ประกอบที่เรียกว่ารุ่งอรุณของการศึกษาให้เกิดขึ้น การที่จะสร้างเช่นนั้นได้ ในกระบวนการศึกษาก็มีบุคคลสำคัญที่เรียกว่าครูอาจารย์เข้ามามีบทบาท ครู อาจารย์จะต้องทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นชักจูงให้องค์ประกอบ ๗ ประการนี้เกิดขึ้นในเด็กหรือตัวผู้เรียนให้ได้ เมื่อทำหน้าที่อย่างนี้ ตัวครูอาจารย์ก็กลายเป็นกัลยาณมิตร ตอนแรกเด็กมีกัลยาณมิตรโดยเราจัดสรรให้ แต่ต่อไปกัลยาณมิตรนั้นจะต้องสอนแนะนำให้เด็กรู้จักเลือกหากัลยาณมิตรเอง ตลอดจนให้เจริญในองค์ประกอบข้ออื่นๆ ทั้งหมด

ขอย้ำว่า กัลยาณมิตรสามารถช่วยชี้แนะและกระตุ้นเร้าให้เด็กหรือผู้เรียน เกิดมีองค์ประกอบที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษาขึ้นครบทั้ง ๗ ประการ และก็เป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตรที่ควรจะต้องทำเช่นนั้น แต่สิ่งที่ขอย้ำเป็นพิเศษ ก็คือ จะต้องพยายามให้องค์ประกอบเหล่านั้นเกิดขึ้นครบถึงข้อสุดท้าย คือถึงโยนิโสมนสิการ เพราะข้อสุดท้ายนั่นแหละเป็นตัวตัดสิน เนื่องจากเป็นตัวที่นำไปสู่ปัญญา ซึ่งเป็นแกนนำของการศึกษาหรือการพัฒนาชีวิต การก้าวไปให้ถึงความสมบูรณ์ของการพัฒนาชีวิต ซึ่งหมายถึงการพึ่งตนเองได้ ถึงอิสรภาพอย่างแท้จริง จะต้องอาศัยองค์ประกอบข้อสุดท้ายนี้ ดังนั้น ในกรณีที่พูดถึงปัจจัยตัวเด่นที่ยืนเป็นหลัก บางทีท่านกล่าวถึงองค์ประกอบในชุดนี้เพียง ๒ อย่าง คือ กัลยาณมิตร กับ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นข้อต้นกับข้อสุดท้าย ควบหัวควบหาง เป็นองค์ประกอบคู่กัน เรียกข้อต้น คือ กัลยาณมิตร ว่าเป็นปัจจัยภายนอก และเรียกข้อท้าย คือ โยนิโสมนสิการ ว่าเป็นปัจจัยภายใน โดยจัดเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ คือแนวความคิดที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นองค์ข้อแรกของมรรคหรือวิถีชีวิตที่ดีงาม หรือวิถีแห่งการพัฒนาชีวิตนั้น ด้วยเหตุนี้ ในกระบวนการศึกษาหรือพัฒนาชีวิต จึงต้องเน้นองค์ประกอบ ๒ อย่างนี้เป็นพิเศษ

แท้จริงนั้น ถ้าใครมีโยนิโสมนสิการแล้ว กัลยาณมิตรก็ไม่จำเป็นด้วยซ้ำ แต่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักใช้โยนิโสมนสิการ จึงต้องอาศัยกัลยาณมิตรมาช่วยชี้แนะนำทางให้ เพื่อให้รู้จักใช้โยนิโสมนสิการมากขึ้นๆ ถึงแม้จะมีกัลยาณมิตร แต่ถ้าไม่สามารถช่วยให้เด็กหรือผู้เรียนรู้จักใช้โยนิโสมนสิการ การก้าวหน้าในการศึกษาหรือพัฒนาชีวิต ก็ไม่สามารถดำเนินไปได้ตลอดลุล่วง ความสำเร็จแห่งผลที่หมาย จึงอยู่ที่ว่ากัลยาณมิตรจะต้องมาทำหน้าที่ปัจจัยภายนอก ที่จะชักนำให้ปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการ เกิดมีขึ้นในเด็กหรือผู้เรียนให้ได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพูดถึงองค์ประกอบครบชุดทั้ง ๗ ข้อ จึงต้องกล่าวว่า กัลยาณมิตรจะต้องพยายามทำหน้าที่เกื้อหนุนแนะนำให้องค์ประกอบแห่งรุ่งอรุณของการศึกษาเกิดขึ้นครบ ถึงข้อสุดท้าย คือ โยนิโสมนสิการ

ถ้าเมื่อใดเด็กเกิดมีองค์ประกอบคือรุ่งอรุณของการศึกษา ๗ ประการนี้ขึ้นมาครบถ้วนจนถึงข้อสุดท้ายที่เป็นตัวตัดสินแล้ว จะโดยครูอาจารย์กระตุ้นก็ตาม โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล ซึ่งทำให้เขาพัฒนาหรือภาวนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาก็ตาม แล้วการศึกษาก็จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปเรียกร้องหา เหมือนกับว่า เมื่อแสงอรุณขึ้นมาแล้วเราไม่ต้องไปขอร้องให้พระอาทิตย์ขึ้นมาอีก พระอาทิตย์ก็จะขึ้นมาเอง ถ้าเด็กมีคุณสมบัติคือองค์ประกอบ ๗ ประการนี้แล้ว การศึกษาจะตามมาเอง โดยไม่ต้องทำอะไร พูดอีกนัยหนึ่งว่า ชีวิตที่ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ จะเป็นชีวิตที่มีการพัฒนาเอง การพัฒนาชีวิตจะตามมาเอง ชีวิตจะพัฒนาไปได้เอง ด้วยอาศัยองค์ประกอบ ๗ ประการที่ได้กล่าวมานี้

บัดนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว อาตมภาพขอเสนอธรรมที่ได้กล่าวมานี้ เป็นเครื่องประกอบการพิจารณา หากว่ามีประโยชน์บ้าง ก็ขออนุโมทนา อย่างน้อยก็ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านอาจารย์ทุกท่าน ที่ได้มาร่วมฟังในที่ประชุมนี้ และขอให้กุศลเจตนาของทุกท่าน นำมาซึ่งความเจริญงอกงามและสันติสุข ในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ.

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง