บทบาทพระบรมครู

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สัมโมทนียกถา
ของ
พระราชวรมนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
เนื่องในโอกาสที่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญา)
ณ อุโบสถวัดพระพิเรนทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เวลา ๑๔.๓๐ น.

ขอประทานกราบเรียนพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ องค์ประธานที่คารวะอย่างสูง ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือ ขอเจริญพรท่านสาธุชนท่านทั้งหลาย

วันนี้ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านกรรมการสภากับทั้งฝ่ายบริหาร ซึ่งมีท่านอธิการบดี เป็นประธาน และรักษาการคณบดี คณะศิลปศาสตร์พร้อมด้วยคณะอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีวิทยานุเคราะห์แสดงน้ำใจเกื้อกูล เดินทางมาถวายมอบปริญญาบัตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่อาตมภาพ ถ้าว่าโดยทางส่วนตัวแล้ว ก็นับว่า เป็นข้อที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งในการที่ท่านผู้ใหญ่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งท่านเป็นผู้มีภารกิจมากมาย เวลาของท่านก็มีค่าเป็นอย่างมาก แต่ท่านได้สละเวลานั้นมาเพื่อกิจกรรมจําเพาะในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี การที่ท่านมานั้น อาตมภาพเข้าใจว่า ท่านคงได้หยั่งเห็นความหมายที่กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปกว่าการที่จะมาเพียงในกิจกรรมจําเพาะบุคคลเท่านั้น กล่าวคือท่านมาเพื่อสนองวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งในบรรดาวัตถุประสงค์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัยนั้น ข้อที่สําคัญอย่างหนึ่งก็คือการบํารุงส่งเสริมวิทยาการ ซึ่งมหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาย่อมมีบทบาทในการที่จะบํารุงส่งเสริมวิทยาการให้เจริญกาวหน้า และผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ก็มีภารกิจในการที่จะยังวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ดังที่กล่าวนี้ให้สำเร็จ

เพราะฉะนั้น การที่ท่านได้เดินทางมาในวันนี้ ก็ย่อมมีความหมาย ในทางที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมอันเป็นส่วนรวมด้วย หากว่าบุคคลที่ได้รับปริญญานั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะแก่ฐานะจริงๆ แล้ว ข้อนั้นก็เป็นเครื่องแสดงว่า มหาวิทยาลัยได้กระทําบทบาทของมหาวิทยาลัยได้ด้วยดี และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยก็ได้ยังวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ในการบํารุงส่งเสริมวิทยาการนั้นให้สําเร็จเป็นอย่างดีด้วย ซึ่งข้อนี้หากว่าจะสําเร็จเป็นความจริง ก็เป็นข้อที่ควรแก่อนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง

มองในด้านหนึ่งสําหรับกิจกรรมจําเพาะในวันนี้ ก็อาจจะมองเห็นได้ว่าทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับทางวิชาการ ก็ได้มีสายตากว้างขวางมองไปโดยรอบด้าน คือมองไปทุกด้านของวงวิชาการ มิได้จํากัดอยู่เฉพาะในวงจํากัดอันใดอันหนึ่งซึ่งแม้ในด้านที่เกี่ยวกับพระสงฆ์หรือคณะสงฆ์ ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ละเลยมองข้ามไป อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่บุคคลภายนอกเมื่อมองกิจกรรมของมหาวิทยาลัยแล้วก็อนุโมทนาด้วย

ส่วนในฝ่ายของผู้รับนั้นก็คงจะมิใช่เป็นเรื่องเฉพาะตนเองเท่านั้น คือมิใช่ว่าเป็นการที่ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ในทางส่วนตัว เพราะว่ามหาวิทยาลัยก็คงมิได้มุ่งหมายเช่นนั้น มองในแง่หนึ่ง ผู้ที่ได้รับปริญญา หรือได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเช่นนี้ก็เป็นเสมือนกับสื่อหรือทางผ่าน ให้แก่วัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยในการที่จะบํารุงส่งเสริมวิทยาการ ถ้าหากว่าผู้ได้รับปริญญาหรือเกียรติฐานะเช่นนี้จะได้ปฏิบัติตนในทางที่จะช่วยให้วิทยาการเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปแล้ว อันนั้นก็จะเป็นการยังวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยให้สําเร็จบริบูรณ์ยิ่งขึ้น อาตมภาพเข้าใจว่าทางมหาวิทยาลัยคงจะได้มีความประสงค์ดังที่ได้กล่าวมานี้

สําหรับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์นั้น คําว่าดุษฎีบัณฑิต เราเข้าใจกันดีว่า หมายถึงปริญญาเอก แม้ว่าคําว่าดุษฎีบัณฑิตนี้ จะเป็นคําบัญญัติขึ้นในภาษาไทย แต่ก็มีรากศัพท์ (รากฐาน) มาจากภาษาสันสกฤต ซึ่งโยงไปได้ถึงภาษาบาลี เราจะลองมาหาความหมายจากถ้อยคํากันดูก็ได้

ดุษฎีบัณฑิต อาจจะแปลว่า บัณฑิตผู้นํามาซึ่งความชื่นชมยินดี และพอใจ หรืออาจจะแปลว่า บัณฑิตผู้ประกอบด้วยความชื่นชมยินดีพอใจก็ได้

ในความหมายที่ ๑ ดุษฎีบัณฑิตในฐานะเป็นผู้นํามาซึ่งความชื่นชมยินดี ก็อาจจะมีความหมายทั้งอย่างแคบและอย่างลึกซึ้ง ความหมายอย่างแรกก็อาจจะแสดงว่า ได้เป็นผู้มีผลงานที่ทําให้ผู้พิจารณานั้นเกิดความชื่นชมยินดีหรือพอใจ อันนี้เป็นประการแรกซึ่งเราจะมองเห็นว่าความหมายยังจํากัดอยู่เฉพาะตัวบุคคลนั้น

แต่ในความหมายต่อไป ดุษฎีบัณฑิตน่าจะมีความหมายลึกซึ้ง กว้างขวางออกไปอีกว่า เป็นผู้ที่ได้ทําให้เกิดความชื่นชมยินดีแก่คนทั้งหลาย ด้วยสามารถทําให้เกิดประโยชน์สุขแก่คนเป็นอันมาก หรือแก่สังคม ด้วยอาศัยผลงานที่ตนได้กระทําขึ้น ถ้าหากว่าดุษฎีบัณฑิตสามารถปฏิบัติกิจหน้าที่ได้เช่นนี้ ก็คิดว่าความหมายของความเป็นดุษฎีบัณฑิตนั้น จะสมบูรณ์อย่างแท้จริง

ในความหมายที่ ๒ ดุษฎีบัณฑิตอาจจะแปลว่า บัณฑิตผู้ประกอบด้วยความชื่นชมยินดี หรือประกอบด้วยความพอใจ คําว่าดุษฎีก็ตรงกับ ภาษาสันสกฤตว่า ตุษฺฏิ หรือบาลีว่า ตุฏฺิ หรือตุฏฺี คําว่า ตุฏฺิ หรือ ตุฏฺี นั้น เราจะเห็นได้ว่าคล้ายกับคําที่เป็นศัพท์ธรรมซึ่งเป็นคําเต็มสมบูรณ์ในตัวว่า สนฺตุฏฺี สนฺตุฏฺีก็คือความสันโดษ ซึ่งแปลว่าความพอใจ หรือความยินดีในสิ่งที่เป็นของตน เป็นมงคลอันสูงสุดอย่างหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ ความสันโดษนั้นเป็นหลักธรรมสําหรับบุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาการโดยเฉพาะที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะพระภิกษุนั้นจะมีคําสอนอยู่เสมอให้เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ความหมายของดุษฎีบัณฑิต ในฐานะของผู้ประกอบด้วยความสันโดษ หรือความพอใจยินดี ในที่นี้ก็คือเป็นผู้ประกอบด้วยความพอใจ ความรู้จักอิ่มรู้จักพอ ในปัจจัยเครื่องบํารุงบําเรอทางวัตถุหรือทางกาย แล้วอุทิศเวลาและพลังแรงกาย แรงใจ แรงบัญญาที่มีอยู่ให้แก่การปฏิบัติกิจหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของชนจํานวนมาก เพราะฉะนั้นดุษฎีบัณฑิตในความหมายที่ ๒ นี้ ก็เป็นความหมายที่มีความลึกซึ้งสําคัญเป็นอย่างยิ่ง หากว่าปฏิบัติได้จริงก็เป็นผู้ดําเนินในมรรคาของพระอริยเจ้า หรืออริยชนที่แท้ในความหมายของพระพุทธศาสนา

บัดนี้ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แสดงซึ่งน้ำใจประกอบด้วยเมตตาธรรมต่อท่านผู้ที่ตนเห็นว่าทรงไว้ซึ่งคุณวุฒิ ทรงไว้ซึ่งวิชาการ และได้แสดงออกโดยการกระทํากิจกรรมนี้ มาประกอบพิธีถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตแก่อาตมภาพ ซึ่งอาตมภาพก็เข้าใจว่ามิใช่มีวัตถุประสงค์เพียงเป็นเรื่องจําเพาะบุคคล แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะดําเนินให้เป็นไปตามบทบาทของมหาวิทยาลัยในการที่จะส่งเสริมวิทยาการให้เจริญก้าวหน้า และหากว่าจะพึงเป็นไปด้วยดีแล้วผู้รับปริญญานี้ ก็พึงเป็นทางผ่านที่จะช่วยให้วัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยได้สําเร็จด้วยดียิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งเป็นเครื่องนํามาซึ่งประโยชน์สุขแก่ประชาชนเป็นอันมาก นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งเป็นการแสดงออกอันได้ปรากฏเป็นพิธีกรรม ซึ่งการทําพิธีเช่นนี้เราก็ถือว่าเป็นมงคล

มงคลนั้นที่เป็นส่วนพิธีแสดงออก ก็อย่างหนึ่ง แต่มงคลที่จะยั่งยืนที่แท้จริงนั้นตามหลักคําสอนในพระพุทธศาสนา ก็จะต้องเป็นธรรมมงคล เพราะธรรมมงคลนั้นเป็นมงคลอันเกิดจากการปฏิบัติธรรม เริ่มต้นตั้งแต่การยังธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อสามารถนําธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจได้แล้ว ก็จะเป็นผู้ที่สามารถและมีความซื่อสัตย์สุจริตในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สําเร็จผลด้วยดี เพราะฉะนั้นการประกอบพิธีมงคลในวันนี้ ก็หวังว่าจะเป็นสื่อหรือจะเป็นปัจจัยให้เกิดธรรมมงคล อันมีผลยั่งยืนต่อไป สืบต่อไปชั่วกาลนาน

อีกประการหนึ่ง การที่อาตมภาพได้รับเกียรติจากทางมหาวิทยาลัยนี้ อาจจะเรียกกันได้ว่าได้บรรลุผลสําเร็จอย่างหนึ่ง การที่จะบรรลุผลสําเร็จเช่นนี้ได้ ก็ย่อมอาศัยปัจจัยเครื่องประกอบแวดล้อมมาอํานวยเกื้อหนุนหลายทาง ทั้งทางวิชาการ เช่นว่าครูอาจารย์ที่ได้สั่งสอนมาบ้าง หรือทางวัตถุปัจจัย ๔ เครื่องอุปถัมภ์บํารุงให้ดํารงชีวิตอยู่บ้าง จึงสามารถที่จะมาทําสิ่งที่เรียกกันว่า เป็นผลสําเร็จในบัดนี้ เพราะฉะนั้น ในโอกาสที่ได้ประกอบพิธีในวันนี้ ก็ขอให้เป็นการประกาศถึงการอุปถัมภ์ทั้งหลาย เท่าที่ได้มีมาว่า ได้อาศัยคุณความดีของท่านที่เป็นผู้มาก่อน เป็นบรรพบุรุษ เป็นบุรพาจารย์ ที่ได้อบรมสั่งสอนมา และให้ความเกื้อหนุน ขอสํานึกคุณของท่านเหล่านั้นไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

และกล่าวเฉพาะพิธีนี้เอง ที่จะประสบความสําเร็จขึ้นมาเป็นพิธีได้ ก็ด้วยอาศัยมีบุคคลช่วยกันหลายด้านหลายฝ่าย แม้ว่าโดยความจริงแล้ว จะมีความประสงค์ให้พิธีนี้เป็นพิธีที่เรียบๆ ง่ายๆ แต่เมื่อมีบุคคลหลายบุคคลหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็มักจะมีการขยายงานออกไปให้กว้างยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ก็เป็นไปล้วนด้วยความปรารถนาดีทั้งสิ้น โดยเฉพาะก็เริ่มแต่ทางวัดพระพิเรนทร์นี้ ซึ่งมีท่าน พระครูสังฆรักษ์ประสม กิตฺติาโณ เป็นเจ้าอาวาส พระมหาอุทัย อุทโย ป.ธ. ๙ เป็นรองเจ้าอาวาส พระมหาอินศร จินฺตาปฺโ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส พร้อมด้วยพระภิกษุ สามเณรในวัดพระพิเรนทร์ทั้งหมดทั้งปวง ก็ได้มีน้ำใจช่วยกันจัดสถานที่ ตระเตรียมการต่างๆ โดยมีพระสงฆ์วัดท่าพระหลายท่านมาร่วมแสดงน้ำใจ เกื้อกูล ซึ่งมีความมุ่งหมายประการสําคัญก็คือ จะจัดการต้อนรับให้เหมาะแก่เกียรติของมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นทางมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย ซึ่งมีท่าน พระมหานคร เขมปาลี เลขาธิการ มานั่งอยู่ร่วมในพิธีนี้ด้วย ท่านเจ้าคุณ พระเมธีสุทธิพงศ์ รองเลขาธิการ ฝ่ายวิชาการ และท่าน พระมหาอารีย์ เขมจาโร รองเลขาธิการ ฝ่ายธุรการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อาจารย์ของมหาวิทยาลัย ก็ได้กรุณาเอื้อเฟื้อรับเป็นเจ้าภาพในฝ่ายของพระพิธีผู้เจริญชัยมงคลคาถา และจัดเตรียมหนังสือที่จะมอบเป็นธรรมบรรณาการแด่ท่านที่มาให้เกียรติและมาร่วมในพิธี นอกจากนั้นแล้ว โยมอุบาสกอุบาสิกา มีโยม คุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ เป็นต้น ก็ได้เอื้ออํานวยด้วยประการต่างๆ เช่นนำวิทยาลัยครูสวนดุสิตได้มาช่วยจัดเตรียมในเรื่องเครื่องบูชาพระรัตนตรัย และในเรื่องเกี่ยวกับโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ อาตมภาพก็ขออนุโมทนา และการทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามที่อาตมภาพได้ กล่าวแล้วว่า จะต้องสํานึกอยู่ในวัตถุประสงค์ของพิธีนี้ ที่ว่าเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งที่จะให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ในการที่จะบํารุงส่งเสริมวิทยาการให้เจริญก้าวหน้า การรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ครั้งนี้ คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์มากขึ้น และกว้างขวางยิ่งขึ้น ก็ด้วยถือว่าเป็นผู้ได้รับในฐานะพระภิกษุรูปหนึ่งที่เป็นเหมือนตัวแทนของพระ สงฆ์ทั้งหลาย ถ้าหากว่าผลอันนี้จะเกิดขึ้นแก่พระสงฆ์ โดยทั่วไปเป็นส่วนรวมหรือแก่คณะสงฆ์แล้ว อันนั้นก็จะชื่อว่าเป็นคุณประโยชน์ที่แท้จริง

ในโอกาสนี้ อาตมภาพก็ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันมีท่านนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธาน พร้อมทั้งฝ่ายบริหาร ซึ่งได้มีวิทยานุเคราะห์มาถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ณ โอกาสนี้

ขอให้ทุกท่านที่มาร่วมในพิธีนี้ จงได้เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกําลังกาย กําลังใจพรั่งพร้อมบริบูรณ์ ในการที่จะยังประโยชน์สุขให้สําเร็จตามวัตถุประสงค์ อันเป็นกุศลของสถาบันอุดมศึกษา และมีความเจริญรุ่งเรืองงอกงามในพระธรรมคําสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลนาน กับทั้งขอคารวะขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ในเมตตานุเคราะห์ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี ที่ได้มีเมตตานุเคราะห์มาเป็นประธานในพิธีครั้งนี้ ณ โอกาสนี้ด้วย ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

สัมโมทนียกถา
ของ
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มอบถวายปริญญาศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาหลักสูตรและการสอน)
ณ อุโบสถวัดพระพิเรนทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
วันพุธที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เวลา ๑๕.๐๐ น.

กราบเรียนพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณองค์ประธานสงฆ์ ที่เคารพอย่างสูง ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือ และท่านสาธุชนทั้งหลาย

วันนี้ทางมหาวิทยาลัยศิลปากร อันประกอบด้วยท่านอธิการบดีเป็นประธาน พร้อมด้วยท่านรองอธิการบดี ท่านคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และคณะอาจารย์ได้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเป็นอย่างสูง นําปริญญาศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มาถวายแก่อาตมภาพ การที่ทางมหาวิทยาลัยได้มีมติเห็นชอบในการมอบถวายปริญญาศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ครั้งนี้ ว่าโดยเฉพาะส่วนของการอนุมัตินั้น ก็นับว่าเป็นการแสดงน้ำใจ เอื้อเฟื้อเกื้อกูลเป็นอย่างมากอยู่แล้ว บัดนี้ท่านอธิการบดี พร้อมด้วยท่านผู้บริหารผู้ใหญ่และคณะอาจารย์ยังได้กรุณาสละเวลาอันมีค่าของท่านมาในพิธีครั้งนี้ ถึงสถานที่นี้ คือที่วัดพระพิเรนทร์อีก ก็นับว่าเป็นการแสดงความเอื้อเฟื้ออย่างสูงยิ่ง จริงอยู่ ในแง่หนึ่งการอนุมัติปริญญาบัตรนี้ก็ดี ตลอดจนการเดินทางมาในสถานที่นี้ก็ดี ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นไปสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่จะบํารุงส่งเสริมวิชาการ แต่อย่างไรก็ตาม การบําเพ็ญกิจตามวัตถุประสงค์นั้นได้แผ่มาในวงการคณะสงฆ์ ก็นับว่าเป็นข้อที่ควรแก่การอนุโมทนา นับว่าได้ทําให้กิจการด้านการศึกษาของทางบ้านเมืองนั้น มีส่วนสัมพันธ์กับการพระศาสนากับพระสงฆ์และทางวัด โดยเฉพาะในการมอบถวายปริญญาบัตรครั้งนี้ ก็เป็นการสอดคล้องกับประเพณีในการศึกษาของประเทศไทยอย่างหนึ่ง กล่าวคือการศึกษาของประเทศไทยเรานี้ ตั้งแต่เดิมมาก็มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น ระหว่างบ้านเมืองกับทางคณะสงฆ์ หรือทางบ้านกับทางวัด และในการที่มอบปริญญาครั้งนี้ก็ดี หรือในการศึกษาโดยทั่วไปก็ดี ก็ยังมีหลักฐานมากมายที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันนี้ แม้คําว่าปริญญาเองก็เป็นคําที่แสดงอยู่ในตัวถึงความสัมพันธ์อันนั้น กล่าวคือคำว่า “ปริญญา” นั้นก็เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี ยิ่งกว่านั้นก็ยังเป็นชื่อของหมวดธรรมหมวดหนึ่ง และหมวดธรรมนี้ก็มี ๓ ขั้น ตรงกับการจัดปริญญาสมัยปัจจุบัน

คําว่า “ปริญญา” นั้น แปลได้ว่าความรู้รอบ หรือความรู้โดยทั่วถ้วน ความรู้อย่างทั่วถึง หรือความรู้อย่างทั่วตลอด หรือจะแปลว่าความรู้เบ็ดเสร็จก็ได้ ทีนี้ความรู้ทั่วถึง ทั่วตลอด ทั่วถ้วน หรือความรู้เบ็ดเสร็จนี้ ในทางพระพุทธศาสนาได้จัดแบ่งไว้เป็น ๓ ขั้น เรียกว่า ปริญญา ๓

ปริญญา ๓ นั้น มีชื่อต่างออกไปจากที่เรากําหนดเรียกในปัจจุบัน คือ ปัจจุบันนี้เราแบ่งชั้นเป็นปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ในทางพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมเดิม ท่านก็มีคําใช้โดยเฉพาะ คือ

  1. ญาตปริญญา
  2. ตีรณปริญญา
  3. ปหานปริญญา

ญาตปริญญา แปลอย่างง่ายๆ ว่า รู้จัก หมายถึง การรู้จัก ปรากฏการณ์หรือเรื่องราวจําเพาะอย่างที่เรียกว่า รู้ปัจจัตตลักษณะ คือ รู้ลักษณะจําเพาะ รู้สภาวะของสิ่งนั้นว่าคืออะไร เป็นมาอย่างไร เกิดจากเหตุปัจจัยอะไร เป็นความรู้เฉพาะตัว เฉพาะเรื่องนั้นๆ เฉพาะ ปรากฏการณ์นั้นๆ อย่างในทางพระพุทธศาสนา เช่น ที่เรียกว่า ขันธ์ห้า แบ่งออกเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความรู้ว่ารูปคืออะไร หรือรูปธรรมคืออะไร เวทนาคืออะไร สัญญาคืออะไร สังขารคืออะไร วิญญาณคืออะไร เวทนาคืออะไร เวทนาคือสภาวะที่เสวย อารมณ์ หรือที่รู้สึกสุขทุกข์ ความรู้อย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นญาตปริญญา ตลอดจนกระทั่งรู้ว่าเวทนานี้เกิดจากอะไร เกิดจากผัสสะอย่างนี้เป็นต้น ตลอดจนขบวนการทั้งหมดของการเกิดขึ้นของสิ่งนั้นๆ หรือปรากฏการณ์นั้นๆ ความรู้ในระดับนี้เรียกว่า ญาตปริญญา

ตีรณปริญญา ความรู้ขั้นเห็นแจ้งความจริงที่อยู่เบื้องหลัง ปรากฏการณ์หรือเรื่องราวนั้นๆ ซึ่งทําให้สามารถเชื่อมโยงปรากฏการณ์นั้นๆ กับสิ่งอื่นๆ ได้ หรือเรื่องอื่นๆ ได้ทั้งหมด เช่น ในกรณีของการปฏิบัติธรรม ก็หมายถึงการรู้สามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย ความรู้ใน สามัญลักษณะนี้ก็เรียกว่าเป็นตีรณปริญญา

ปหานปริญญา รู้ในขั้นละกิเลสได้ หมายถึง ความรู้ในขั้นที่ใช้ปฏิบัติการ แก้ไขปัญหาได้สําเร็จเสร็จสิ้น โดยเฉพาะในเรื่องของมนุษย์ก็คือ การแก้ความทุกข์ หรือดับทุกข์ให้สิ้นไป ความรู้ในขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้าย

ทั้งหมดนี้ท่านเรียกว่า โลกิยปริญญา ๓ ประการ แต่เมื่อจบโลกิยปริญญา โลกิยปริญญานี้ก็จะนํามาซึ่งสิ่งที่เป็นโลกุตระ พอจบโลกิยปริญญาข้อที่ ๓ คือ ปหานปริญญา ก็เป็นอันว่าเข้าถึงโลกุตรธรรม ถ้าถือเอาโดยสาระก็ได้ความว่า ปริญญา ๓ ประการ หรือ ๓ ขั้น ใน พระพุทธศาสนานั้น

ขั้นที่ ๑ รู้จักสิ่งนั้นๆ เฉพาะตัว เฉพาะเรื่อง เฉพาะปรากฏการณ์ให้เห็นชัด เข้าใจชัด รู้ความเป็นมาเป็นไป และเหตุปัจจัยของมัน

ครั้งที่ ๒ ก็คือรู้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์และเรื่อง ราวนั้น ๆ ที่เป็นพื้นฐานทําให้เชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ และเรื่องราวปรากฏการณ์อื่นๆ ได้ เข้าใจทั่วถึงทั้งหมด เป็นความรู้ที่ซึมซาบแผ่เข้าไปในทุกสิ่งทุกอย่างกว้างออกไป ออกไปจากความรู้ในเฉพาะเรื่องนั้น

ขั้นที่ ๓ ความรู้ขั้นที่ใช้แก้ปัญหาได้สำเร็จ รู้จักใช้แก้ปัญหาให้สำเร็จ ดับทุกข์ของมนุษย์ได้ อันนี้เรียกว่าเป็นปริญญาขั้นที่ ๓

นี่ก็เป็นเรื่องของปริญญาในพระพุทธศาสนาจําเพาะก็มาตรงกับการแบ่งขั้นของปริญญาในสมัยปัจจุบันและเมื่อได้สําเร็จปริญญา ๓ ประการนี้ ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต และเป็นอริยะหรืออารยชนที่แท้จริง แนวการจัดการศึกษาทํานองนี้ ก็เห็นว่ามีเค้าโครงอย่างเดียวกันกับการศึกษาในสมัยปัจจุบัน เป็นแต่ว่าในส่วนเนื้อหาสาระที่เป็นรายละเอียดนั้น จะต่างกันอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

บัดนี้ ทางมหาวิทยาลัยอันมีท่านอธิการบดีเป็นประธาน ได้มีวิทยานุเคราะห์นำปริญญาบัตรมามอบถวายแก่อาตมภาพ โดยมติความ เห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย อาตมภาพขออนุโมทนาในน้ำใจ ซึ่งคิดว่าทางมหาวิทยาลัยมิได้มุ่งหมายที่จะมอบถวายเฉพาะแก่ตัวอาตมภาพเท่านั้น แต่หมายถึงว่าได้มอบถวายในฐานะพระภิกษุรูปหนึ่ง หรือเป็นบุคคลผู้หนึ่ง โดยเฉพาะในฐานะปัจจุบันก็เป็นผู้ทรงสมณเพศซึ่งได้ทําสิ่งที่เป็นผลอันสอดคล้องกับข้อกําหนดของทางมหาวิทยาลัย ในแง่หนึ่งก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจตามบทบาทของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นความดีความงามของมหาวิทยาลัย เป็นความดีความงามของท่านผู้บริหารและเป็นความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กิจการการศึกษาโดยทั่วไป แม้กิจการนั้นจะเป็นในทางโลกหรือทางธรรมในทางบ้านเมืองหรือทางคณะสงฆ์ก็ดี ก็มีสายตายาวไกลที่มองไปอย่างทั่วถึง และในการที่ทางมหาวิทยาลัยได้บําเพ็ญกิจเช่นนี้ เมื่อท่านผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบแล้ว ก็พลอยมีจิตใจร่วมยินดี มาช่วยกันจัดตระเตรียมการในพิธีครั้งนี้ขึ้น กล่าวคือทางมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอันประกอบด้วย ท่านพระมหานคร เขมปาลี เลขาธิการ ท่านเจ้าคุณพระเมธีสุทธิพงศ์ และ ท่านพระครูอดุลคณาภิบาล รองเลขาธิการ เป็นต้น ก็ได้รับเป็นเจ้าภาพอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญชัย มงคลคาถา ตลอดจนจัดเครื่องไทยธรรมร่วมถวายพระสงฆ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย พร้อมทั้งหนังสือที่ระลึกที่แจกให้แก่ท่านผู้มาร่วมในพิธี ในส่วนวัดพระพิเรนทร์มี ท่านพระครูกิตติญาณปยุต เป็นเจ้าอาวาส พระมหาอุทัย อุทโย เป็นรองเจ้าอาวาส พระมหาอินศร จินฺตาปฺโ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส พร้อมทั้งคณะสงฆ์และศิษย์ของวัดนี้ก็มีน้ำใจช่วยกันจัดเตรียมสถานที่และสิ่งอํานวยความสะดวกต่างๆ ที่จะทําให้พิธีนี้ดําเนินไปด้วยดี และทางฝ่ายโยมก็มีอุบาสกอุบาสิกาหลายท่าน มีโยม คุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ เป็นผู้นําคณะอาจารย์วิทยาลัยครูสวนดุสิต มาจัดดอกไม้บูชาพระรัตนตรัยเป็นต้น ตลอดจนจัดเรื่อง น้ำปานะต่างๆ เป็นการช่วยกัน ซึ่งทําให้พิธีนี้ดําเนินไปด้วยดี การที่ท่านผู้เกื้อกูลทั้งหลายได้จัดพิธีให้พร้อมเพรียงเช่นนี้ขึ้น ก็ด้วยมีความประสงค์อันสําคัญ เพื่อเป็นการต้อนรับให้เหมาะแก่เกียรติของทางมหาวิทยาลัย และเป็นการอนุเคราะห์แก่ตัวอาตมภาพผู้ที่ได้รับมอบถวายปริญญาบัตรครั้งนี้ด้วย

โดยเฉพาะทางฝ่ายมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้น พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และได้เคยเป็นผู้บริหารชั้นผู้ใหญ่ของมหาจุฬาฯ ในอดีตก็ได้มีเมตตานุเคราะห์ กรุณามาเป็นประธานสงฆ์ในที่นี้ด้วย เกล้ากระผมขอกราบขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ ขอขอบพระคุณมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทางวัดพระพิเรนทร์ และทางญาติโยมที่ได้เอื้อเฟื้อในการจัดเตรียมพิธีครั้งนี้

ขออ้างอิงคุณพระศรีรัตนตรัยอํานวยพร รตฺนตฺตยานุภาเวน รตฺนตฺตยเตชสา ด้วยอานุภาพคุณพระพุทธ คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธทั้งหลาย จงอภิบาลรักษาท่านให้เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ขอให้ทางมหาวิทยาลัยศิลปากร เจริญงอกงามรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป ในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อประโยชน์สุขของสังคม ประเทศชาติ และขอให้คณะอาจารย์ เจริญด้วยกําลังกาย กําลังใจ กําลังสติปัญญาในการปฏิบัติภารกิจ ด้านการบริหารก็ดี ทางวิชาการก็ดี ให้สําเร็จลุล่วงไปด้วยดี และขอให้ผู้มาร่วมในพิธีทุกท่าน จงมีความสําเร็จในการดํารงชีวิตและการประกอบอาชีพการงาน บรรลุผลสําเร็จอันพึงปรารถนาและเจริญงอกงามในพระธรรมคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งๆ ขึ้นไป ทั่วทุกท่านเทอญ

สัมโมทนียกถา
ของ
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์-การสอน)
ณ อุโบสถวัดพระพิเรนทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เวลา ๑๔.๓๐ น.

กราบเรียน พระเดชพระคุณองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ที่เคารพอย่างสูง ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือ ขออํานวยพรท่านนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านอธิการบดี ท่านกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้ท่านจะมิได้มาในตําแหน่งนั้น และรวมทั้งท่านผู้ดํารงตําแหน่งชั้นสูงในฝ่ายบริหาร คือรองอธิการบดี ตลอดจนคณบดีคณะต่างๆ โดยเฉพาะท่านคณบดี คณะศึกษาศาสตร์ พร้อมทั้งคณาจารย์ ญาติมิตร ท่านสาธุชนทั้งหลาย

อาตมภาพขออนุโมทนาเป็นอย่างสูง ในการที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีน้ำใจเกื้อกูลอย่างยิ่งแก่อาตมภาพ นอกเหนือจากการที่ ได้อนุมัติปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์-การสอน) ในการประชุมของสภามหาวิทยาลัยแล้ว เฉพาะในโอกาสบัดนี้ท่านยังได้ให้ความสําคัญแก่พิธี โดยได้สละเวลาอันมีค่าของท่านมาประกอบ พิธีถวายปริญญา ณ สถานที่อุโบสถวัดพระพิเรนทร์แห่งนี้ โดยเฉพาะคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งมีท่านคณบดี ดร. ยุพา วีระไวทยะ เป็นหัวหน้า ได้มีความเอาใจใส่ตั้งใจในการที่จะจัดพิธีครั้งนี้อย่างมีน้ำใจเกื้อกูลแท้จริง นอกเหนือจากการตระเตรียมพิธีต่างๆ โดยทั่วไปแล้วก็ยังได้อนุมัติให้ทางวารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งมี ดร.อาภา จันทรสกุล เป็นบรรณาธิการ ได้จัดพิมพ์หนังสือ ทางสายกลางของการศึกษาไทยขึ้น สําหรับโอกาสนี้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเครื่องแสดงถึงน้ำใจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีต่ออาตมภาพ ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็เป็นการเกื้อกูลด้วยน้ำใจต่อส่วนตัว แต่เมื่อมองลึกซึ้งเข้าไปให้เห็นความหมายที่ซ่อนอยู่ สิ่งที่น่าอนุโมทนายิ่งกว่านั้นก็คือ การที่ท่านทั้งหลายมองเห็นคุณค่า และความสําคัญของพระพุทธศาสนา เพราะว่าพิธีนี้อาตมภาพเข้าใจว่าคงจะมิได้มีความมุ่งหมายแสดงออกต่ออาตมภาพเพียงส่วนตัวเท่านั้น แต่มุ่งที่จะแสดงออกต่อพระพุทธศาสนาทั้งหมดด้วย กล่าวคือการที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะคณะศึกษาศาสตร์ มองเห็นคุณค่าและความสําคัญของพระพุทธศาสนา ในด้านการศึกษามองเห็นว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นสามารถจะนํามาใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษา หรือให้หลักเกณฑ์ที่จะใช้เป็นประโยชน์ในการดําเนินการศึกษาในสมัยปัจจุบันได้ นับว่าเป็นการที่มหาวิทยาลัยได้เข้ามาสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาในด้านหนึ่ง ซึ่งความสัมพันธ์นี้อย่างน้อยก็เป็นไปใน ๒ แง่ด้วยกัน

แง่ที่ ๑ คือความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นรากฐานของชีวิตจิตใจและความคิดแบบไทย ซึ่งในแง่นี้การที่ทางมหาวิทยาลัยได้เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ก็เป็นการเชื่อมโยงปัจจุบันเข้ากับอดีตให้มีการสืบทอดได้อย่างต่อเนื่อง

ในแง่ที่ ๒ ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ทางมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะทางคณะศึกษาศาสตร์ได้มองเห็นว่า หลักสัจธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นความจริงอันเป็นอมตะ ซึ่งสามารถจะนํามาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันแห่งสังคมสมัยใหม่ได้ ซึ่งข้อนี้เป็นที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง

พระพุทธศาสนานั้นกล่าวได้ว่าเป็นศาสนาแห่งการศึกษา หรือพูดให้เจาะจงลงไปอีกว่า พระพุทธศาสนาภาคปฏิบัติทั้งหมดรวมอยู่ในการศึกษาทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะหลักปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนานั้นมีชื่อเรียกรวมอย่างเดียวว่า สิกขา ที่เราทั้งหลายรู้จักกันในชื่อว่า ไตรสิกขา คําว่า สิกขา นั้น เป็นคําบาลีตรงกับคําไทยที่เราใช้กันว่า ศึกษา นั่นเอง ในเมื่อไตรสิกขาหรือสิกขา ๓ ประการ เป็นหลักปฏิบัติทั้งหมดของพระพุทธศาสนาก็จึงเป็นศาสนาแห่งการศึกษา แม้แต่บุคคลผู้ปฏิบัติก้าวหน้า ไปในระบบการแห่งพระพุทธศาสนาและได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่าเป็น พระเสขะ ซึ่งแปลว่า บุคคลผู้กําลังศึกษาและยังจะศึกษาต่อไป ส่วนบุคคลที่ได้ศึกษาจนสําเร็จผลบริบูรณ์แล้ว ก็มีชื่อเรียกว่า อเสขะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา ซึ่งบุคคลที่จะไม่ต้องศึกษานี้ก็มีประเภทเดียวเท่านั้นคือ พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นอรหันต์ ตามคติทางพระพุทธศาสนาถือว่า ทุกคนยังต้องศึกษาอยู่ทั้งสิ้น

แม้คําอื่นๆ ที่แสดงหลักปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็ล้วนมีความหมายเกี่ยวกับการศึกษาทั้งสิ้น เช่นคําว่า ทมะ แปลว่าการฝึกฝน ก็เป็นศัพท์สําคัญในทางพระพุทธศาสนาศัพท์หนึ่ง บุคคลที่ได้รับการฝึกฝนดีแล้ว คือมีการศึกษาดีแล้ว ก็เรียกว่า ทนฺต บ้าง สุทนฺต บ้าง แปลว่า ผู้ได้รับการฝึกฝนแล้วหรือผู้ได้ฝึกตนดีแล้ว พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่าง แห่งทนฺตคือบุคคลที่ได้ฝึกตนแล้วเช่นนั้น หรืออีกคําหนึ่งที่เป็นศัพท์สําคัญเช่นเดียวกัน คือคําว่า ภาวนา ภาวนาก็แปลว่าการฝึกอบรม การเจริญหรือการพัฒนา ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาแยกไว้เป็น ๔ ด้าน คือ กายภาวนา การฝึกอบรมหรือเจริญทางด้านกาย ศีลภาวนา การฝึกอบรมหรือเจริญทางด้านศีลหรือความประพฤติในทางสังคม จิตตภาวนา การฝึกอบรมหรือเจริญในด้านจิตใจ และ ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมหรือเจริญหรือพัฒนาในด้านปัญญา บุคคลที่ได้รับการฝึกอบรมหรือพัฒนาตามหลักการนี้แล้ว ท่านเรียกว่า ภาวิตัตตะ แปลว่า ผู้มีตนที่ฝึกอบรมแล้วหรือผู้ได้พัฒนาตนแล้ว

คําว่า ฝึกฝน อบรม พัฒนา เจริญเหล่านี้ เป็นคําที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งสิ้นจึงได้กล่าวในเบื้องต้นว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษา และในกระบวนของการศึกษาทั้งหมด ที่มีการฝึกฝนอบรมพัฒนาในด้านต่างๆ มีการขัดเกลาทําให้มนุษย์เจริญงอกงามมากยิ่งขึ้นในด้านต่างๆ มีการขัดเกลาทําให้มนุษย์เจริญงอกงามมากยิ่งขึ้นในด้านต่างๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น รวมแล้วในขั้นสุดท้ายก็มีความมุ่งหมายในการที่จะกําจัดอวิชชาและสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น การทําลายอวิชชาและสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นนั้นมิใช่เป็นสิ่งที่จะทําให้เกิดขึ้นในฉับพลันทันทีได้เสมอไป โดยเฉพาะสําหรับบุคคลทั่วไปแล้ว ก็จะต้องมีการคืบเคลื่อนหรือคลี่คลายให้เดินทางออกจากอวิชชามาสู่ปัญญาโดยลําดับเป็นขั้นเป็นตอน

ขั้นตอนหนึ่งที่นับว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สําคัญในการที่จะเริ่มเดินทางออกจากอวิชชามาสู่ปัญญา ก็คือ ศรัทธา ศรัทธานี้เป็นหลักการสําคัญอย่างยิ่งในการเริ่มต้นที่จะเริ่มเดินทางออกจากอวิชชา ศรัทธานั้นหมายถึง การที่เรามีความเชื่อความเลื่อมใสในบุคคล ก็ตาม ในหลักการ คําสอน ลัทธิ ศาสนาต่างๆ ก็ตาม ศรัทธานี้เป็นจุดเริ่มแรกหรือเบื้องต้นที่จะทํา ให้มีจิตใจโน้มเอียงไปหาสิ่งนั้นหรือบุคคลนั้น มีจิตใจพุ่งแล่นไป แต่ลักษณะของศรัทธาประการหนึ่งก็คือ การที่ยังฝากความคิด ฝากความเชื่อมอบไว้กับสิ่งนั้น ในเมื่อเรายังฝากความคิด ฝากจิตใจไว้กับสิ่งอื่น กับบุคคลอื่น ก็ยังไม่ปลอดภัย เพราะว่าศรัทธานั้น ยังอยู่ในทางสองแพร่ง คืออาจจะเป็นความเชื่ออย่างผิดๆ หรือเชื่ออย่างถูกต้อง และอาจจะเป็นความเชื่อในแหล่งความรู้ที่ผิด หรือเชื่อในแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง ถ้ามีความเชื่อที่ผิด หรือเชื่อในแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง ถ้ามีความเชื่อที่ผิด หรือเชื่อในแหล่งความรู้ที่ผิดพลาดแทนที่จะทําให้เกิดปัญญา ก็อาจจะทําให้เกิดอวิชชามากขึ้น ศรัทธานั้นก็อาจจะกลายเป็นความงมงายไปก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าศรัทธาไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ศรัทธาก็จะเป็นทางเดินนําไปสู่ปัญญา เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ศรัทธาเป็นตัวชักนํา ให้จิตใจโน้มไปหาบุคคล หรือหลักการ หรือสิ่งนั้นๆ เมื่อจิตใจของเราโน้มเข้าไปหาแล้ว เราก็จะเข้าถึงแหล่งแห่งความรู้นั้น แล้วก็จะมาถึงหลักการประการที่ ๒ หรือขั้นตอนที่ ๒ ของการคืบเคลื่อนออกจากอวิชชา ต่อจากศรัทธา กล่าวคือเมื่อเราได้เข้าถึงแหล่งแห่งความรู้ โดยศรัทธานําเราเข้าไปยังแหล่งแห่งความรู้นั้นแล้ว ต่อจากนั้นแหล่งแห่งความรู้นั้นก็จะถ่ายทอดความรู้มาให้แก่เราในการถ่ายทอดความรู้นี้ มีศัพท์เฉพาะในทางพระศาสนาเรียกความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาว่า สุตะ

สุตะ แปลว่า สิ่งที่ได้สดับตรับฟัง แต่อันนี้เป็นเพียงความหมาย เบื้องต้น คือโดยปกติแล้ว ผู้ที่จะถ่ายทอดความรู้นั้นก็เป็นบุคคล และถ่ายทอดด้วยวาจาคือคําพูด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้รับถ่ายทอดมา จึงเป็นสิ่งที่ได้สดับฟัง (เรียกอย่างปัจจุบันว่า ข่าวสารข้อมูล) แต่ความหมาของศัพท์นั้นมิใช่จํากัดอยู่เพียงแค่สิ่งที่สดับตรับฟังเท่านั้น ยังมีความหมายเลยไปถึงการค้นคว้าศึกษาเล่าเรียนแม้จากหนังสือตํารับตําราเป็นต้น ซึ่งศรัทธาจะเป็นสิ่งสําคัญที่จะนําเราเข้าไปหาแหล่งแห่งความรู้เหล่านี้ เมื่อมาถึงขั้นที่สองคือสุตะแล้ว ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าที่จะเข้าไปหาปัญญาเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เพราะว่าสุตะก็คือสิ่งที่ผ่านออกมาจากแหล่งแห่งความรู้นั้นมายังตัวของเราแล้ว สุตะนั้นมาถึงตัวเรา แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ยังไม่ใช่เป็นของเรา มันยังเป็นความรู้ของผู้อื่น เป็นสิ่งที่ได้รับถ่ายทอดมาจากผู้อื่น แม้จะอยู่ที่เราก็เป็นของผู้อื่น ยังไม่ใช่เป็นของตัวเราที่แท้จริง นี้เป็นประการที่ ๑

ประการที่ ๒ สุตะนั้นสืบเนื่องมาจากศรัทธา เพราะฉะนั้นศรัทธา จึงยังมีอิทธิพลตามมาอีก เราอาจจะเชื่อคล้อยตามไปกับสิ่งที่ได้รับถ่ายทอดมาโดยไม่ได้พินิจพิจารณา ศรัทธาก็เข้าครอบงําเรา อาจจะทําให้เกิดความเชื่อในสุตะ หรือความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดอย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน ว่าข่าวสารข้อมูลต่างๆ อย่างงมงายก็ได้ เพราะฉะนั้นสุตะ ก็ยังไม่ปลอดภัย รวมแล้วทั้ง ๒ ขั้นจะเป็นขั้นศรัทธาก็ตาม เป็นขั้นสุตะก็ตามยังไม่ปลอดภัย เพราะมีลักษณะร่วมกัน คือยังเป็นของที่ขึ้นต่อผู้อื่น จะต้องดําเนินมาสู่อื่น จะต้องดำเนินมาสู่ขั้นที่ ๓

ขั้นที่ ๓ ก็คือขั้นปัญญา คือการใช้ปัญญาพินิจพิจารณาสุตะหรือความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดมานั้นให้ถ่องแท้ถึงความจริง ให้เข้าใจเหตุเข้าใจ ผล มองเห็นเหตุปัจจัยที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสืบทอดกันมาของสิ่งนั้น ตลอดจนมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสุตะ คือความรู้หรือข้อมูลข่าวสารต่างๆ เหล่านั้น จนกระทั่งมองเห็นความรู้ที่ชัดเจนแท้จริง อย่างที่ท่านกล่าวว่า ปญฺา สุตวินิจฺฉินี (ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยสุตะ) อันนี้จึงเรียกว่า ปัญญา เป็นขั้นที่ทําลายอวิชชาได้ และเป็นขั้นที่เป็นความรู้ของตัวเอง ทําให้พึ่งตนเองได้

หลักการของพระพุทธศาสนานั้น แม้จะสอนศรัทธาและส่งเสริมสุตะเป็นอันมาก คนที่มีสุตะมากท่านเรียกว่าเป็น พหูสูต แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ชื่อว่าได้เข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ศรัทธาก็ดี สุตะก็ดี ยังอาจหลอกเราให้หลงผิดได้ ตามปรกตินั้น ในที่ทั่วไป พระพุทธเจ้าตรัสศรัทธาไว้ในที่ใดก็ตรัสปัญญากํากับไว้ด้วยในที่นั้น ตรัสสุตะไว้ในที่ใด ก็ตรัสปัญญากํากับไว้ด้วยในที่นั้น ในทางการศึกษาจําเป็นจะต้องก้าวมาให้ถึงขั้นปัญญาน จึงจะเป็นขั้นที่เกิดความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ที่เรียกว่าเป็นตัวของตัวเอง พึ่งตนเองได้ และถึงขั้นที่หลุดพ้นจากอวิชชา

อวิชชานั้น เป็นรากเหง้าหรือต้นตอของกิเลสทั้งปวง เมื่อกําจัดอวิชชาได้แล้ว กิเลสทั้งหลาย เช่น ความโลภ โกรธ หลง ความอิจฉา ริษยา ความอยากใหญ่ใฝอํานาจ เป็นต้น ที่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนแย่งชิงและทุกข์นานา ก็จะถูกทําลายไปด้วย และเมื่อหลุดพ้นจากอวิชชาแล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นอยู่ด้วยปัญญา อันเป็นปัญญาที่บริสุทธิ์ เป็นอิสระจากการครอบงําของกิเลส เป็นไปพร้อมด้วยความปลอดโปร่งโล่งเบา ความซื่อตรง ความมีเมตตากรุณา ความสะอาดผ่องใส สงบ และความสดชื่นเบิกบาน ผู้ที่ดําเนินชีวิตเช่นนี้ ได้ชื่อว่าเป็น บัณฑิต แปลว่า ผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา

การให้การศึกษาของสถาบันต่างๆ นั้นย่อมมีความมุ่งหมายในการที่จะทําลายอวิชชาและส่งเสริมให้เกิดปัญญาทั้งนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น เป็นสถาบันการศึกษาที่เรียกว่า สมัยใหม่ แต่ก็ย่อมมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันสอดคล้องกับพระพุทธศาสนาในการที่ว่าจะส่งเสริมปัญญาและทําลายอวิชชาดังได้กล่าวมา ในเมื่อมีความสอดคล้องกันแล้ว ทั้งในหลักการและความมุ่งหมาย ถ้าหากได้มีการปฏิบัติถูกต้องแล้วมาร่วมมือกันอย่างสอดคล้องกัน ก็จะทําให้เกิดผลคือความเจริญก้าวหน้าในทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ต่อสังคมนี้

การที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้แสดงออกซึ่งน้ําใจต่ออาตมภาพ ในโอกาสนี้นั้น ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า มิใช่เป็นการแสดงออกต่ออาตมภาพเพียงส่วนตัว แต่เป็นการแสดงออกต่ออาตมภาพในฐานะเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง เมื่อแสดงออกต่ออาตมภาพในฐานะเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง ก็เชื่อว่าเป็นการแสดงออกต่อพระสงฆ์โดยส่วนรวมด้วย และมีความหมายโยงไปถึงการแสดงออกต่อพระพุทธศาสนาทั้งหมด พร้อมทั้งเป็นการแสดงออกต่อวงวิชาการทั้งปวง ซึ่งอาตมภาพขออนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้ เป็นอย่างสูง

อย่างไรก็ตาม กล่าวเฉพาะสําหรับงานนี้ ซึ่งปรากฏพิธีในบัดนี้นั้น นอกจากจะต้องขออนุโมทนาในน้ำใจของสภามหาวิทยาลัย มีท่านนายกสภาเป็นประธานพร้อมทั้งคณาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งหมดแล้ว ก็ยังมีอีกหลายท่านหลายฝ่ายที่ได้ช่วยเหลือให้พิธีครั้งนี้สําเร็จเสร็จสิ้นลงด้วยดี ซึ่งควรจะได้กล่าวถึงไว้ในที่นี้ด้วย เริ่มต้นตั้งแต่ทาง มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันที่อาตมภาพเคยได้รับการศึกษาและเคยปฏิบัติงานทําหน้าที่ในทางการสอนและบริหาร สถาบันแห่งนี้ ไม่ว่าอาตมภาพจะมีงานใดเกิดขึ้น ก็ได้แสดงน้ำใจมาร่วมเป็นเจ้าภาพด้วยทุกครั้งไป สําหรับคราวนี้ทางมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้น มีท่านอธิการบดีเป็นต้น ซึ่งได้มาร่วมในที่ประชุมนี้ด้วย ก็ได้แสดงออกซึ่งน้ำใจเกื้อกูล โดยการจัดหนังสือที่ระลึกสําหรับมอบให้ในพิธีครั้งนี้ กับทั้งได้จัดพิธีในฝ่ายพระสงฆ์มีการอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญชัยมงคลคาถาเป็นต้น ต่อจากนั้นก็คือญาติมิตรท่านสาธุชนทั้งหลายซึ่งก็ได้มีน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลในการตระเตรียมงานโดยเฉพาะ โยมคุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ ซึ่งเป็นอดีตผู้อํานวยการวิทยาลัยครูสวนดุสิต ทั้งอาจารย์และนักศึกษาพากันมาช่วยจัดดอกไม้เครื่องบูชาพระรัตนตรัย พร้อมทั้งจัดสิ่งเครื่องประกอบบริการในพิธี เช่น เครื่องดื่ม เป็นต้น และใกล้เข้ามาจนถึงสถานที่นี้เอง เจ้าถิ่นหรือเจ้าของสถานที่ ก็คือวัดพระพิเรนทร์ ซึ่งมีท่าน พระครูกิตติญาณประยุต เป็นเจ้าอาวาสพร้อมทั้ง พระมหาอุทัย อุทโย เป็นรองเจ้าอาวาส กับทั้งผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดเป็นจํานวนมาก ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลตระเตรียมงานนี้ ด้วยการสละเวลาและสละแรงงานอย่างเต็มกําลังยอมเหน็ดเหนื่อยถึงกับอดหลับอดนอนเป็นอันมาก เพื่อเตรียมให้งานนี้เกิดขึ้นด้วยดี พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือ จากโรงเรียนวัดพระพิเรนทร์ ของกรุงเทพมหานคร จัดนักเรียนมาช่วยบริการต่างๆ ในงานนี้ด้วย นับว่างานนี้สําเร็จลงด้วยอาศัยความสามัคคี ซึ่งสามัคคีธรรมนี้ก็เป็นคุณธรรมอันสําคัญอย่างหนึ่งตามหลักคําสอนในทางพระศาสนา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะทำให้เกิดความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งก็คือ ถ้าหากว่ากิจกรรมครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบเข้า อันนําไปสู่ความสุข ความเจริญ หรือประโยชน์สุขของสังคมนี้ได้ อันนั้นก็จะเป็นข้อที่ควรอนุโมทนายิ่งขึ้น แต่จําเพาะหน้าในบัดนี้ อาตมภาพขอถือโอกาสอนุโมทนาต่อทุกท่านที่ได้กล่าวนามมา ทั้งฝ่ายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดพระพิเรนทร์ ญาติโยม ท่านสาธุชนทั้งหลาย ขออ้างอิงคุณพระรัตนตรัย อํานวยพรให้ทุกท่านจงได้ประสบจตุรพิธพรชัย มีความเจริญก้าวหน้าในการประกอบกิจอาชีพการงานให้บรรลุผลสําเร็จด้วยดี และจงเจริญรุ่งเรืองงอกงามในพระธรรมคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขทั้งส่วนตัวและส่วนรวน โดยทั่วกัน ทุกท่านเทอญ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง