เจอวิกฤต จะเลือกวิวัฒน์ หรือจะเอาวิบัติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เจอวิกฤต
จะเลือกวิวัฒน์ หรือจะเอาวิบัติ1

นักศึกษากราบเรียนอาราธนา: - กราบนมัสการท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ได้โปรดเป็นองค์ปาฐก เพื่อเป็นแนวทางในการสัมมนาให้กับพวกเรา ในเรื่องทางรอดของประชากรไทยในยุคไอเอมเอฟ

เจริญพรท่านอาจารย์ และนักศึกษาทุกท่าน อาตมาขออนุโมทนากิจกรรมในการรับนักศึกษาใหม่ปีนี้ ที่ทำอย่างเป็นเรื่องบุญกุศล หรือเรียกอย่างภาษาสมัยใหม่ว่า อย่างเป็นการสร้างสรรค์ และเราก็มาพูดให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่อยู่ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ

ว่า “วิกฤตเป็นโอกาส” แต่เรารู้จักใช้โอกาสนั้นหรือเปล่า

พอพูดถึงคำว่า “วิกฤต” เราก็มีความรู้สึกไม่ดี คือเป็นเรื่องของความทุกข์ เป็นเรื่องของปัญหา แต่ท่ามกลางภาวะวิกฤตนี้ความจริงมีข้อดีหลายอย่าง และข้อดีบางอย่างก็มากจนกระทั่งเราแทบจะพูดได้ว่า ภาวะวิกฤตนี้แหละ ที่จริงเป็นโชคดี

เป็นโชคดีของประเทศไทยที่ได้มาประสบภาวะวิกฤตนี้ ถ้าพูดแบบเล่นๆ ก็อาจจะบอกว่าพวกเรานี่โชคดีที่ได้เจอภาวะพลิกผัน แบบที่คนผู้เกิดในยุคอื่นไม่มีโอกาสจะได้เจอ ที่ว่านี้แม้จะเป็นเพียงการพูดเล่นก็มีความเป็นจริงอยู่ด้วย

ที่เป็นโชคดีแท้ๆ ก็คือความจริงที่ว่า ประเทศไทยเรานี้ ถ้าเปรียบเทียบกับกระแสน้ำ ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งนี้ เราก็เหมือนคนที่เล่นสนุกอยู่ในกระแสน้ำนั้นโดยไม่รู้ตัวว่าความจริงกระแสน้ำนั้นไหลไปลงเหว การที่เกิดวิกฤตนี้ก็เปรียบเหมือนกับกระแสน้ำนั้นพาพวกเราที่กำลังเล่นสนุกอยู่โดยไม่รู้ตัวนั้น มากระทบหรือชนเข้ากับโขดหิน แม้จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บเป็นความทุกข์ แต่ก็ทำให้รู้ตัวก่อนที่จะตกลงไปในเหว

เพราะฉะนั้น ภาวะวิกฤต ก็คือภาวะที่อยู่ในระหว่างความเป็นความตาย คือจุดที่กระทบกับโขดหิน ซึ่งก็เป็นภาวะที่เราอาจจะกลับฟื้นคืนขึ้นมา ถ้าเรารู้ตัวแล้วรีบดิ้นรนขวนขวายตะเกียกตะกายหนีขึ้นไปได้ แต่ถ้าเราไม่มีความสามารถเพียงพอ กระแสน้ำก็จะพาเราไหลต่อจนตกลงไปในเหว ช่วงเวลานี้จึงเป็นขณะที่สำคัญ ซึ่งเป็นการทดสอบความสามารถของเราด้วย และจึงบอกว่าเป็นโชคดีที่ทำให้เรารู้ตัวขึ้นมา มิฉะนั้นเราก็จะหลงเพลิดเพลินกันต่อไป จนตกลงเหวและก็เลยตายไป ไม่มีทางที่จะแก้ไข ฉะนั้นวิกฤตนี้จึงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะที่เราจะได้รีบลุกขึ้นมาขวนขวายเพียรพยายามแก้ไขปัญหา

เป็นธรรมดาว่าเมื่อเกิดวิกฤต อย่างที่ว่ากระทบกับโขดหิน ก็ต้องมีความทุกข์บ้าง แต่ก็ย่อมดีกว่าที่ว่าท่ามกลางความเพลิดเพลินนั้นเราก็ลงเหวไปโดยไม่รู้ตัว

เมืองไทยเราระยะที่ผ่านมานี้ เป็นช่วงที่เราฟุ้งเฟ้อสนุกสนานเพลิดเพลินกันมาก เราอยู่ในภาวะที่เรียกกันว่าบริโภคนิยม ลุ่มหลงมัวเมาในการเสพบริโภค จนกลายเป็นว่าตอนนี้เรามาเสวยวิบากที่เป็นผลจากความเพลิดเพลินลุ่มหลงมัวเมานั้น ต้องประสบความทุกข์ ถ้าเราลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายเพียรพยายามแก้ไข ก็จะกลายเป็นยุคแห่งการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์กันใหม่

เพราะฉะนั้น พูดในแง่หนึ่ง ระยะเวลาที่แล้วมา ตอนที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู จึงเป็นระยะเวลาแห่งการทำลาย ขอให้พิจารณาว่าเป็นความจริงหรือไม่ ยุคที่แล้วมานั้นเป็นยุคทำลาย และยุคต่อไปนี้แหละ(ถ้าตั้งตัวให้ดี) จะเป็นยุคแห่งการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นจึงพูดอย่างที่มีผู้กล่าวบ่อยๆ ว่า วิกฤตเป็นโอกาส

แต่คำว่า “วิกฤตเป็นโอกาส” นี้มีความหมายหลายอย่าง คือเป็นโอกาสในความหมายของคนที่หาผลประโยชน์ก็ได้ หมายความว่า บางคนเวลาเกิดวิกฤตของส่วนรวม ก็ฉวยโอกาสกอบโกยเอาผลประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นโอกาสสำหรับเขาเหมือนกัน แต่ในความหมายที่เราต้องการก็คือ เป็นโอกาสสำหรับสังคมทั้งหมด ซึ่งข้อสำคัญอยู่ที่ว่าจะใช้โอกาสนี้เป็นหรือไม่

ตอนนี้ขอให้เรามองในแง่ที่ว่า ยามประสบทุกข์หรือปัญหานั้น เป็นช่วงเวลาที่เราจะต้องเร่งขวนขวายในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ วิกฤตนี้จะเกิดประโยชน์มากกว่าโทษ ซึ่งความจริงก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อทุกข์ภัยเกิดขึ้น โดยธรรมชาติจะทำให้คนลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย

ถ้าเก่งจริง ต้องเอาประโยชน์จากทุกข์ภัยให้ได้

เป็นธรรมดาของธรรมชาติมนุษย์อย่างหนึ่ง สำหรับปุถุชนซึ่งไม่ได้รับการพัฒนาเพียงพอว่า มนุษย์นั้นจะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายเมื่อมีทุกข์ภัยคุกคาม พอโดนทุกข์บีบคั้นหรือถูกภัยคุกคามก็นิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ นอนไม่ได้ ต้องลุกขึ้นดิ้นรนหาทางแก้ไข ตอนนี้แหละจะเกิดพลัง และคนจะเริ่มเดินหน้าก้าวต่อไปก็ตอนนี้เอง

เวลาที่สุขสบายเสียอีก จะเป็นช่วงเวลาที่คนมักหลงระเริงมัวเมา นอนเสวยความสุข มีอะไรที่ควรทำก็ไม่ทำ ชอบผัดเพี้ยน เพราะกำลังเพลินกับความสุข เลยบอกว่าเอาไว้พรุ่งนี้เถอะ เอาไว้มะรืนก็ได้ ชอบผัดเพี้ยนกันอยู่อย่างนี้ จนความเสื่อมเข้ามาถึงตัว

ตามหลักของความเจริญที่แท้จริงนั้น มนุษย์ที่เรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาท จะต้องรู้จักใช้สถานการณ์ทั้งยามสุขและยามทุกข์ให้เป็นประโยชน์

สุข นั้นแปลว่าคล่อง สะดวก ง่าย ซึ่งมีนัยที่แสดงถึงการกระทำ หมายความว่า ยามสุข ก็คือยามที่เราจะทำอะไรก็ทำได้ง่าย ทำได้สะดวก หรือทำได้คล่อง เพราะเวลานั้นไม่มีอะไรติดขัด ไม่มีอะไรขัดขวาง ถ้าต้องการจะทำก็ทำได้คล่อง สะดวกสบาย ตรงข้ามกับทุกข์ที่แปลว่าติดขัด คับข้อง ยากลำบาก จะทำอะไรก็ไม่สะดวก

อย่างไรก็ตาม ในยามที่มีภาวะคล่องตัว คือสุข จะทำอะไรก็ทำได้ง่ายและสะดวกนั้น คนจะไม่ค่อยทำ แต่จะปล่อยโอกาสให้ล่วงเลยเสียไปเปล่า เอาแต่นอนสบาย หรือไม่ก็หลงระเริงมัวเมา นี้ก็คือประมาท เพราะฉะนั้นจึงเสียโอกาสไป จนถึงยามทุกข์มาถึงตัวเข้าบ้าง คราวนี้ก็เอาละ ดิ้นรนขวนขวายกันใหญ่ ลุกขึ้นมา แล้วก็โวยวายๆ ตอนนี้ถ้าตั้งหลักให้ดี ก็จะกลับเริ่มทำหรือเริ่มสร้างสรรค์กันใหม่

ชีวิตบุคคล ครอบครัว วงศ์ตระกูล ประเทศชาติ อารยธรรมทั้งหมด ขอให้ดูเถอะ จะเริ่มสร้างสรรค์ความเจริญเมื่อยามมีทุกข์มาบีบคั้น ลองสำรวจภูมิหลังของประเทศที่เจริญทั้งหลายในปัจจุบันนี้ จะเห็นจุดเริ่มของความก้าวหน้าว่ามาจากความยากแค้นและความทุกข์ ส่วนประเทศที่มีภูมิหลังสะดวกสบายนั้น ขอให้สำรวจดูเถิด ไม่ค่อยจะไปไหนเท่าไรเลย โดยมากจะเพลิดเพลินหลงระเริงมัวเมา เอาแต่สนุกสนานบันเทิง

ที่ว่ามานี้มิใช่จะเป็นกฎที่ตายตัว ความเป็นจริงมีอยู่อย่างนั้น แม้จะก็มีเงื่อนไขตัวแปรและปัจจัยประกอบหลายอย่าง แต่เมื่อว่ากันตามหลักทั่วไปก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ คือ เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม มนุษย์จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เมื่อสุขสบายก็มีความโน้มเอียงที่จะนอนเสวยความสุข

หลักทั่วไปที่ว่า เมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม คนจะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายนั้น บางทีก็มีเงื่อนไขตัวแปรเข้ามาที่จะทำให้ไม่ดิ้นรนขวนขวาย เช่นอาจจะมีสิ่งกล่อมเข้ามา พอจะดิ้นรนขวนขวายหน่อย เจอสิ่งกล่อมเข้าก็เลยเพลิน สบาย ปลอบใจตัวเอง นอนรอ ตอนนี้ไม่ใช่นอนเสวยสุข แต่นอนด้วยความหวังกรุ่มกริ่มกระหยิ่มใจ รอความช่วยเหลือของอำนาจดลบันดาลจากภายนอก หรือรอโชคช่วย นี้เป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง

ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยจะต้องทำความเข้าใจ เพราะว่ามันกำลังครอบงำสังคมของเราอยู่ ปัญหาสำหรับพวกเราก็คือ เวลานี้ทุกข์ภัยเข้ามาคุกคามสังคมไทยของเราแล้ว สังคมของเราจะได้ประโยชน์จากทุกข์ภัยและความยากแค้นนี้หรือไม่ หมายความว่าเราจะทำทุกข์ภัยนี้ให้เป็นประโยชน์ได้หรือไม่ เมื่อมองในแง่นี้ จะต้องระลึกไว้ให้ดีว่า เราอาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากวิกฤตครั้งนี้ก็ได้ถ้าเราปฏิบัติต่อมันไม่ถูกต้อง จึงต้องมองให้ลึกลงไปอีกว่า วิกฤตเศรษฐกิจเวลานี้ ยังมีสิ่งสำคัญเป็นปัจจัยซ้อนอยู่เบื้องหลังอีกชั้นหนึ่ง

วิกฤตเศรษฐกิจยังไม่เท่าไร
เรื่องใหญ่แท้คือวิกฤตคุณภาพของคน

ขอพูดว่า ประเทศไทยปัจจุบันมิได้มีเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น วิกฤตเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องเบา หรือเป็นเรื่องเล็กกว่า เป็นเรื่องที่ปรากฏให้เห็นบนผิวหน้าเท่านั้น แต่เรามีวิกฤตที่ร้ายแรงยิ่งกว่าอยู่เบื้องหลัง และเราได้เดินเข้าสู่วิกฤตนี้มานานพอสมควรทีเดียว การที่มีวิกฤตเศรษฐกิจนี่แหละเป็นตัวบีบกระแทกที่มาช่วยให้เราตื่นขึ้นมา และจะทำให้เกิดผลดีถ้าเรารู้จักปฏิบัติต่อมันให้ถูก

วิกฤตอะไรที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ขอเรียกว่าวิกฤตคุณภาพมนุษย์ เราอยู่ในภาวะนี้มานานแล้ว ถ้าเราไม่เจาะลึกให้ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจไปถึงวิกฤติคุณภาพคนแล้ว เราจะแก้ปัญหาไม่ได้

วิกฤติคุณภาพคนนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราจะต้องแก้ปัญหาที่คุณภาพคนให้ได้ สังคมไทยนั้นมีปัญหามานานใน ๒ เรื่อง เป็นอย่างน้อย เราเป็นอย่างนั้นมานานแล้วในยุคทำลายนั่นแหละ และเวลานี้มันก็ยังไม่หมดไป สองอย่างคืออะไรบ้าง

  1. ลัทธิบริโภคนิยม
  2. ลัทธิรอผลดลบันดาล

ขอให้สังเกตดู สังคมไทยมีสภาพ ๒ อย่างนี้แพร่หลายครอบคลุมหรือครอบงำทั่วไปหมด

ลัทธิบริโภคนิยมนั้น เป็นโลกาภิวัตน์ คือแผ่ไปครอบคลุมหรือครอบงำทั่วทั้งโลก โดยที่ไทยเรามีส่วนร่วมอยู่ด้วย แต่ลัทธิรอผลดลบันดาล เป็นแค่เทศาภิวัตน์ คือครอบคลุมหรือครอบงำเฉพาะถิ่นเฉพาะประเทศ ดังเช่นประเทศไทยของเรานี้ คงปฏิเสธไม่ได้

ในแง่บริโภคนิยม เราอาจจะเพลินพูดแก้ตัวว่า อ้าว ตอนนี้สังคมทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะอเมริกาเขายังอวดตัวว่าเขาเป็นสังคมบริโภคนิยมเลย เราก็เป็นบริโภคนิยม แสดงว่าเราก็เจริญในทำนองเดียวกัน คล้ายกับอเมริกานั่นแหละ

การมองอย่างนี้เป็นการมองแบบฉาบฉวยผิวเผิน ไม่ได้พิจารณาอะไรลึกลงไป ขอให้มองดูง่ายๆ สังคมอเมริกันที่เรียกตัวว่าเข้าสู่ภาวะเป็นสังคมบริโภคนิยม

  1. พวกเขาพอใจอย่างนั้นหรือเปล่า
  2. สภาพที่เป็นบริโภคนิยมของเขานั้น เทียบกับภูมิหลังของเราเป็นอย่างไร

สังคมอเมริกันนั้น มีภาวะบริโภคนิยมปรากฏเด่นชัดขึ้นมา บนพื้นฐานเดิมที่เป็นสังคมของนักผลิต เนื่องจากภูมิหลังที่มีพื้นเป็นสังคมผลิตนั้น เมื่อภาวะบริโภคนิยมปรากฏขึ้นมาจึงเด่นชัดมาก และจุดเด่นจึงย้ายจากการผลิตมาอยู่ที่การบริโภค ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองได้เปลี่ยนมาเป็นสังคมบริโภคนิยมแล้ว แต่ในความเป็นจริงภูมิหลังหรือพื้นฐานที่รองรับอยู่ก็คือความเป็นนักผลิตที่สืบเนื่องมานาน

สังคมที่เจริญด้วยอุตสาหกรรมมาแต่เดิม ก็คือสังคมนักผลิต เพราะฉะนั้นสังคมอเมริกันจึงมีความเป็นสังคมบริโภคพร้อมอยู่ด้วยกันกับความเป็นสังคมผลิต หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นว่ามีความเป็นสังคมบริโภคซ้อนอยู่บนความเป็นสังคมผลิต ตอนนี้ปัญหาก็อยู่ที่ว่า ความเป็นนักผลิตที่เป็นพื้นฐานมาแต่เดิมในภูมิหลังของอเมริกา จะอ่อนแอลงด้วยอิทธิพลของบริโภคนิยมแค่ไหน ซึ่งก็ปรากฏเหมือนเป็นการต่อสู้กันอยู่ในขณะนี้

คนอเมริกันรุ่นเก่าหน่อย รุ่นอายุ ๔๐–๕๐ ปี มักจะติเตียนคนรุ่นใหม่ว่า คนรุ่นใหม่นี้สำรวย หยิบโหย่ง เกียจคร้าน ไม่สร้างสรรค์ ขาด work ethic คือไม่มีจริยธรรมแห่งการทำงาน เขาร่ำร้องกันว่าในสังคมอเมริกันนี้ work ethic ซึ่งเคยเป็นที่ภูมิใจของเขาหายไปไหน ขอให้สำรวจดูเถอะ หนังสือจำพวก Current Affairs ของอเมริกันเวลานี้จำนวนมากจะพูดถึงเรื่องนี้ บางเล่มทั้งเล่มจะเป็นคล้ายๆ งานวิจัย เพื่อดูว่าเพราะเหตุใดสังคมอเมริกันจึงเสื่อมจาก work ethic เช่น หนังสือเล่มหนึ่งที่ตั้งชื่อว่า Why America Doesn’t Work? (ทำไมอเมริกาจึงไม่เวิร์ค) รวมความว่า การร่ำร้องว่า work ethic หายไปไหนปรากฏทั่วไป

ที่ว่ามานี้ก็คือการที่คนอเมริกันเองเขาไม่พอใจ ในการที่สังคมของเขาได้กลายมาเป็นสังคมบริโภคนิยม และเห็นว่าเป็นการเดินลงสู่ความเสื่อม สิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งเป็นพลังที่ทำให้เขาสร้างสรรค์มา ก็คือความเป็นนักผลิต เพราะฉะนั้นจะต้องรู้ทันต่อความจริงว่า แม้แต่ในขณะที่เขามีความเป็นนักบริโภคที่เพิ่งจะเริ่มมาไม่นานเพียงเท่านี้ เขายังโอดโอยขนาดนี้ เขายังกลัวโดยเห็นว่าเป็นความเสื่อม จึงเห็นได้ชัดว่า คนอเมริกันรู้ว่าเบื้องหลังเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาเจริญ คือความเป็นนักผลิต ไม่ใช่ความเป็นนักบริโภค

หันมามองสังคมของเราบ้าง คนไทยเวลานี้พากันภูมิใจในความเป็นนักบริโภค นี้ก็คือภูมิใจในตัวเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่ความเสื่อม ยิ่งตัวเองไม่มีพื้นฐานของความเป็นนักผลิตมาก่อนด้วย ก็จึงเป็นนักบริโภคอย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็จะต้องเสื่อมอย่างแน่นอน

ถ้าจะเทียบกันง่ายๆ ระหว่างไทยกับอเมริกาที่มาอยู่ในยุคบริโภคนิยมด้วยกันนี้ ของอเมริกาเป็นบริโภคนิยมของนักผลิต แต่ของไทยเป็นบริโภคนิยมของนักบริโภคที่แท้ เมื่อต่างกันอย่างนี้ ใครจะเป็นอย่างไรก็คิดได้เลย

ถ้าเป็นนักบริโภคที่ขาดความเป็นนักผลิต
ถึงแม้เจริญก็เป็นเพียงภาพลวงตา

สิ่งที่สังคมไทยเราขาดอย่างสำคัญคือความเป็นนักผลิต ภูมิหลังในความเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่จะทำให้เป็นนักผลิต เราก็ไม่มี ในภูมิหลังแห่งความเป็นสังคมเกษตรเราก็อยู่กับธรรมชาติที่สบาย เราไม่มีเหตุปัจจัยด้านทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามที่จะทำให้ดิ้นรนขวนขวาย พื้นเพภูมิหลังนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะต้องพิจารณาตัวเอง

แม้แต่ในการมองความเจริญของตะวันตก ที่เราพูดกันว่าเราชอบตามอย่างความเจริญของตะวันตกนั้น ความเป็นผู้ตามก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่ยิ่งกว่านั้น เรายังมองความหมายของความเจริญอย่างตะวันตกที่เราตามนั้นโดยมองแบบนักบริโภคอีกด้วย

เราคิดว่าเราอยากจะเจริญอย่างฝรั่ง การมองความเจริญอย่างฝรั่งนั้นมี ๒ แบบ คือ มองความเจริญแบบนักผลิต กับมองความเจริญแบบนักบริโภค

คนที่มองความเจริญแบบนักบริโภค จะมีภาพอยู่ในใจว่า เจริญอย่างฝรั่งคือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง แต่คนที่มองความเจริญอย่างฝรั่งแบบนักผลิต จะพูดว่า เจริญอย่างฝรั่งคือทำได้อย่างฝรั่ง

สังคมไทยเรามองความหมายของความเจริญอย่างฝรั่งนี้ แบบนักบริโภค หรือแบบนักผลิต ขอให้มองดูความหมายในหัวใจของคนไทยทั่วไป ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในความเป็นผู้ตาม ที่อยากเจริญอย่างฝรั่งนั้น ถ้ามองแบบนักบริโภคก็บอกว่าเจริญอย่างฝรั่งคือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ถ้ามองอย่างนักผลิตก็บอกว่าเจริญอย่างฝรั่งคือทำได้อย่างฝรั่ง แล้วเรามองแบบไหน

จะเห็นว่า คนไทยทั่วไปมองความหมายของการเจริญอย่างฝรั่งแบบมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง คือมองแบบนักบริโภค แต่ถ้าเมื่อไรเรามองแบบนักผลิตละก็ไม่ต้องกลัวหรอก แม้ว่าเวลานี้เราจะเป็นผู้ตาม แต่ไม่ช้าเราจะขึ้นไปเสมอทัดเทียมและแม้แต่นำเขาได้ จึงขอให้มองความเจริญอย่างฝรั่งแบบนักผลิต คือทำให้ได้อย่างฝรั่ง

ปัจจุบันปัญหาเรื่องนี้หนักมาก คือความเป็นนักบริโภคโดยไม่มีความเป็นนักผลิต พื้นฐานเดิมในความเป็นนักผลิตเราก็ไม่มี และก็ไม่สร้างมันขึ้นมาด้วย ถ้าเราอยากจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่ไม่เป็นนักผลิตแล้วเราจะสร้างอุตสาหกรรมได้อย่างไร เราก็จะได้แค่เป็นที่รองรับอุตสาหกรรมแบบ throw-away industry คืออุตสาหกรรมที่เขาเขวี้ยงทิ้ง เช่น อุตสาหกรรมประเภทระบายมลภาวะ เป็นต้น ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วเขาไม่ต้องการเพราะทำให้เกิดปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม เขาจึงระบายอุตสาหกรรมประเภทนี้ไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา และเก็บเอาไว้เฉพาะอุตสาหกรรมพวกไฮเทค อย่างนี้เป็นต้น

คนไทยเราบางทีก็ไปยินดีพอใจอุตสาหกรรมที่เขานำเข้ามา โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นผู้จัดการ ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชา ไม่ได้เป็นผู้นำ ไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งที่อุตสาหกรรมนั้นมาดำเนินการอยู่ในประเทศของเราเอง แต่อำนาจตัดสินใจอยู่ในประเทศอื่นโน่น เขาเพียงแต่มาเอาแรงงานราคาถูกที่ประเทศนี้ พอแรงงานราคาถูกเปลี่ยนไป ชักจะแพงขึ้น เขาก็ย้ายประเทศ ความเป็นนักผลิตที่จะเป็นตัวของตัวเองไม่มี เราก็หลงระเริง ไม่รู้ตัวว่าเราอยู่ในภาวะที่ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองแท้จริงเลย ได้แต่โลดแล่นอยู่กับของยืมของกู้ ความเจริญที่ผ่านมานั้น จึงเป็นของลวงตาทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น การที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ จึงเป็นภาวะที่ดีที่ควรจะทำให้เรารู้ตัวและฟื้นตัวขึ้นมา อย่างน้อยทำให้วิเคราะห์พิจารณาตนเอง แต่จะเป็นที่น่าเสียดายมากถ้าเราไม่รู้จักใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสอย่างที่พูดกันมากๆ เราพูดกันมานานแล้วว่าวิกฤตเป็นโอกาส แต่ในทางปฏิบัติ เราได้ใช้โอกาสนั้น หรือทำวิกฤตให้เป็นโอกาสขึ้นมาได้จริงหรือเปล่า เรื่องที่ว่านี้ยังเป็นที่น่าสงสัย

ถึงจะเป็นนักผลิตขึ้นมาได้ ก็ไม่พอจะสร้างชีวิตและโลกให้ดี

ที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างที่ฟ้องว่าสังคมของเรามีปัญหามากจากบริโภคนิยม แม้แต่ในชีวิตประจำวันก็เห็นชัดๆ ว่า เราหลงใหลกับค่านิยมบริโภค เช่นชอบสนุกสนานอวดโก้กัน เราจะหาซื้อของกินของใช้โดยมองไปในแง่ของความโก้เก๋อวดกันนี้มาก ในขณะที่สังคมอเมริกันที่เป็นต้นแหล่งแห่งความฟุ้งเฟ้อ เป็นสังคมที่ถือกันว่ามั่งคั่งพรั่งพร้อม เขาก็ยังไม่มีค่านิยมถึงขนาดนี้ คนไทยจะซื้อเสื้อผ้าราคาแพงๆ มาใส่ ซื้อกระเป๋าต้องเอายี่ห้อฝรั่งเศส ราคาใบละหลายพันหรือเป็นหมื่น หรืออะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นสภาพที่ประเทศอเมริกาเขาแทบไม่มี

ขอเล่าตัวอย่างนิดหน่อย อาตมาเดินทางไปอเมริกา ได้พบกับครอบครัวคนไทยที่อยู่นั่นมานาน ลูกเขาเกิดที่โน่น เรียนหนังสือที่ประเทศอเมริกานั้น เขาปรารภให้ฟังว่า ญาติพี่น้องของเขามาจากเมืองไทย ได้ทำอะไรที่เขาเห็นว่าแปลก คือไปเที่ยวหาซื้อเสื้อผ้ากระเป๋าอะไรเป็นต้นที่แพงๆ ให้ลูก แต่ลูกของเขาเองอยู่เมืองโน้นไม่เห็นเอาใจใส่เรื่องเหล่านี้เลย เสื้อผ้าก็ใส่ของธรรมดา ให้มีใส่ก็แล้วกัน ว่าไปตามความหมายของเสื้อผ้าคือเป็นเครื่องนุ่งห่ม มีแต่งานที่อาจารย์เขามอบหมายว่าต้องทำนั่นทำนี่ เขามีความรู้สึกต่อการซื้อข้าวของของพี่น้องจากเมืองไทย ว่าเป็นพฤติกรรมที่แปลก นี้คือลักษณะบริโภคนิยมของคนไทยนี่หนักหนากว่าแม้แต่ประเทศที่เราว่ามั่งคั่งพรั่งพร้อมเป็นบริโภคนิยม และพร้อมกันนั้นก็อย่างที่ว่าแล้ว คือขาดฐานของการเป็นนักผลิต มีแต่ความเป็นนักบริโภคอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจะต้องแก้ไขให้คนไทยมาเป็นนักผลิตให้ได้ อย่างน้อยให้มาถ่วงดุลกับความเป็นนักบริโภคไว้บ้าง

ความเป็นนักผลิตก็ยังไม่พอ เพราะการผลิตหมายถึงการสร้างหรือทำขึ้นใหม่ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความหมายจำกัดมาก การมองการสร้างเชิงเศรษฐกิจคือการผลิตนี้เป็นการมองด้านเดียว และการผลิตในทางเศรษฐกิจนั้นอาจจะเกิดผลในทางทำลายได้มาก

การผลิตในทางเศรษฐกิจทุกครั้ง โดยปกติจะต้องทำให้เกิดการทำลายพร้อมไปด้วย สมัยก่อนโน้นถ้าพูดอย่างนี้ก็ไม่ค่อยมีใครยอมรับ แต่เป็นความจริงว่าการผลิตนั้นในความหมายหนึ่งเป็นการทำลายด้วย คือในการผลิตแต่ละครั้งก็มีการทำลายไปด้วย เช่นทำลายทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้น หรือในกระบวนการผลิตนั้นเองมีการส่งของเสียขึ้นไปในอากาศ หรือลงไปในดินในน้ำ ซึ่งก็เป็นการทำลาย การผลิตในทางเศรษฐกิจจึงมากับการทำลาย หรือเป็นการทำลายในความหมายหนึ่ง

เพราะฉะนั้นจะต้องทำการผลิตด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท รอบคอบ และจะต้องพยายามก้าวต่อไปให้เป็นการสร้างสรรค์ เพราะการสร้างสรรค์นั้นหมายถึงการก่อให้เกิดความดีงาม ความเจริญงอกงาม ทำให้เกิดประโยชน์สุข ที่มองอย่างครอบคลุมทั้งหมด ว่าจะทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้นอย่างไร สังคมดีขึ้นอย่างไร โลกที่อยู่อาศัยทั้งหมดดีขึ้นอย่างไร นี้คือการสร้างสรรค์ แต่ถ้าเอาแค่การผลิตก็มองเพียงจะให้เกิดผลในทางเศรษฐกิจ และจบแค่นั้น ถ้าซ้ำร้ายก็จะเอาแต่ผลประโยชน์ตอบแทน อย่างที่เรียกว่าเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด มันจะทำให้เกิดผลเสียอะไรบ้างก็ไม่คำนึง

ในยุคที่ผ่านมานี้ การมองความหมายของการสร้างสรรค์จะมุ่งในทางเศรษฐกิจ และมีความหมายแคบอย่างที่ว่ามาแล้ว ฉะนั้นตอนนี้ประเทศไทยจึงมีปัญหา ๒ ชั้น คือ

  1. การผลิตทางเศรษฐกิจ เราก็ยังไปไม่ถึงไหน
  2. แม้เมื่อผลิตทางเศรษฐกิจ เราก็ไม่ได้คำนึงถึงการสร้างสรรค์ที่แท้จริง ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม และแก่โลกแห่งธรรมชาติแวดล้อมทั้งหมดด้วย

เราจะคิดชั้นเดียวไม่พอ แต่เอาเป็นว่าเฉพาะตอนนี้รวมความก็คือ สังคมของเรานี้เป็นบริโภคนิยมสุดโต่ง และขาดพื้นฐานทางการผลิต จะต้องรีบแก้ไข โดยต้องทำให้คนของเราเป็นนักผลิต ซึ่งก็ยังไม่พอ จะต้องก้าวต่อไปถึงขั้นพัฒนาคนให้เป็นนักสร้างสรรค์ให้ได้

ลุกขึ้นเดินหน้าทำท่าจะไปแล้ว ก็ต้องระวังอย่าไปติดยากล่อม

เมื่อประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอย่างนี้ขึ้นมา ซึ่งได้แก่การเจอปัญหามีทุกข์ภัยมาบีบคั้นคุกคามแล้ว ตามธรรมดาคนเราก็จะต้องลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายหาทางออก จะต้องวิ่งกันละ แต่เอาเข้าจริงคนไทยจะลุกขึ้นวิ่งหรือไม่ ก็ยังไม่แน่ ถ้ามาเจอสิ่งกล่อมก็จะหยุดเสียอีก

สังคมไทยนี้มีสิ่งกล่อมเยอะ อันนี้คือข้อ ๒ ที่บอกเมื่อกี้ คือ ลัทธิรอผลดลบันดาล ซึ่งไม่หวังพึ่งตนเอง แต่จะรอคอยความช่วยเหลือจากภายนอก หรือเพลิดเพลินมัวเมากับอะไรที่เป็นเรื่องเลื่อนลอย หวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก

อำนาจดลบันดาลมี ๒ แบบ คือ

  1. อำนาจดลบันดาลจากมนุษย์ด้วยกันที่ยิ่งใหญ่
  2. อำนาจดลบันดาลจากสิ่งที่มองไม่เห็น

สังคมไทยนี้ จะว่าพูดติเตียนตัวเองก็ต้องยอม มันเป็นอย่างนั้น คือหวังผลดลบันดาลกันมาก ชอบรอคอยว่าจะมีอำนาจภายนอกมาช่วย ชอบไปอ้อนวอนขอผล หรือหวังได้จากสิ่งกล่อมที่ง่ายๆ เช่น การพนัน เวลานี้ก็ไม่เบา เห็นได้ชัดว่าครอบงำไปทั่วหมด ต่างจังหวัดหวยใต้ดินระบาดไปทุกแห่ง ถ้าคนเพลิดเพลินอยู่กับความหวังจากสิ่งกล่อมเหล่านี้แล้วจะสร้างสรรค์อะไรได้ เราจะต้องรีบแก้ปัญหาที่ตัวคนนี่แหละ

สิ่งกล่อม มีหลายระดับ เริ่มแต่สิ่งกล่อมอย่างหยาบ เช่น สุรา ยาเสพติด คนเราจะเพียรพยายามสร้างสรรค์อะไรสักหน่อย พอมาเจอสิ่งกล่อมเหล่านี้ก็หยุด มัวแต่เมา และเสพอยู่นั่น และเพลิดเพลินหมกมุ่น มั่วสุมกัน จนเป็นอันไม่ต้องทำอะไร แม้จะมีทุกข์ก็หลบทุกข์ แต่ไม่ได้แก้ทุกข์ ได้แค่หลบทุกข์ เช่นหลบมาดื่มสุรา มาหายาเสพติด พอให้ผ่านเวลาไป ปิดตาของตัวเองจากทุกข์ภัยที่เข้ามาบีบคั้น เหมือนนกกะเรียนหรือนกอะไรก็ลืมแล้ว ที่ว่ามันหนีภัย วิ่งไปๆ ตัวมันสูงๆ โย่งๆ มันกลัวตาย มันก็เอาหัวไปซุกทราย พอหัวซุกทราย มันก็ปิดตาตัวเองมองไม่เห็นภัยนั้น มันก็สบายใจเหมือนกับว่ามันพ้นภัย แต่ที่ไหนได้ ภัยก็อยู่ที่นั้นแหละ คนที่เสพสุรายาเมาก็กล่อมใจตัวเองเหมือนอย่างนั้น

ต่อมาก็การพนัน นี่ก็สิ่งกล่อมที่สำคัญ เป็นการเพลินหรือปลอบใจตัวอยู่กับความหวังอันเลื่อนลอย หวังว่าฉันจะได้เงินจากการพนันนี้ ก็ฝันไป ไปขูดหาเลขกันบ้าง ไปหาคนใบ้หวยให้บ้าง

เวลานี้สังคมไทยมีอะไรเกิดขึ้นมาแปลกๆ สัตว์ประหลาดบ้างอะไรบ้าง ก็ไปอ้อนวอนขอหวยกัน เอาสิ่งวิปริตเป็นสิ่งวิเศษ เดี๋ยวนี้สิ่งวิปริตกลายเป็นสิ่งวิเศษในสังคมไทยเยอะเหลือเกิน แทนที่จะหาสิ่งวิเศษที่ประเสริฐแท้จริง ที่เกิดจากความสามารถสติปัญญาอย่างแท้จริง กลับไปเอาสิ่งวิปริต เช่น กบเจ็ดขา ปลาสองหาง เป็นผู้วิเศษ ทำไมไม่เอาเด็กที่เกิดวิปริตมาเป็นผู้วิเศษบ้างล่ะ สัตว์วิปริตเรายังเอาเป็นผู้วิเศษได้ เด็กเกิดใหม่ที่พิการก็น่าจะเอาเป็นผู้วิเศษยิ่งกว่านั้น มากราบไหว้เด็กพิการยังดีเสียกว่า และถ้าอยากให้มีเด็กพิการเป็นผู้วิเศษเยอะๆ ก็ไม่ยากด้วย เพียงกินยาทาลิโดไมด์กันมากๆ ก็ได้ผล

ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องที่แสดงว่า สังคมของเราอยู่กับความหวังหรือความกล่อมใจ แล้วก็อ่อนแอ คือ พร้อมกับการที่กล่อมใจตัวเองก็อ่อนแอลงไปๆ ไม่มีความเข้มแข็ง เริ่มตั้งแต่กล่อมใจด้วยสุรายาเสพติด การพนัน แล้วก็กล่อมใจด้วยอำนาจวิเศษเบื้องหลังธรรมชาติ เช่น เจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ไปอ้อนวอนขอผล แม้แต่มาหาสมาธิ บางทีก็ยังใช้เป็นยากล่อมอีก

สมาธินั้น ตามหลักท่านเอามาใช้เพื่อทำให้จิตใจพร้อมที่จะใช้งานได้ดี เรียกว่าทำให้จิตเป็นกัมมนียะ คือเป็นจิตที่เหมาะแก่งาน แต่ผลพลอยได้ของสมาธิคือทำให้ใจสงบสบาย พอใจสงบสบาย ก็ใช้เป็นเครื่องพักผ่อนได้ ทำให้มีความสุข จุดนี้แหละที่อาจจะทำให้คนหลงได้ คือถ้าคนนั้นยังมีกิเลสอยู่ พอได้สุขจากสมาธิก็เพลิน คราวนี้ก็อาจจะใช้สมาธิเป็นยากล่อม เวลามีทุกข์มีปัญหาก็หลบมานั่งสมาธิเสีย ปัญหาก็ไม่แก้ ฉะนั้นต้องระวังกันไว้ ในสังคมไทยมีความโน้มเอียงที่จะใช้สมาธิเป็นยากล่อม จนถึงขั้นติดและหลงทางหรือไม่

ต้องย้ำว่าอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้ามีทุกข์มีปัญหาแล้วมัวมาติดยากล่อมก็ไม่ไปไหน และจะอ่อนแอ วันนี้ที่จริงก็ไม่ได้พูดอะไรมาก ก็ขอพูดเรื่องเก่าๆ ย้ำแล้วย้ำอีก เวลานี้วิกฤตเศรษฐกิจได้เกิดมาครบปีแล้วในเดือนนี้ ควรจะมองดูตัวเองว่าเราได้ก้าวหน้าอะไรกันขึ้นบ้างในวิถีทางของการแก้ปัญหา

ที่น่ากลัวก็คือ พอได้ยินอะไรหน่อย ที่พอเป็นความหวังได้ เราก็เริ่มจะหยุดดิ้น การดิ้นรนขวนขวายของเราก็เลยไม่ยั่งยืน ทำอย่างไรเราจะมีความเพียรพยายามที่ยั่งยืนต่อเนื่องในระยะยาว การสร้างสรรค์ที่แท้จริงต้องทำกันยาวนาน ไม่ใช่เป็นเรื่องชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เราชอบสิ่งที่เป็นเฉพาะหน้ามาก พอทุกข์ขึ้นมาก็โวยวายกันใหญ่ แต่พอรู้สึกว่า เออชักดีขึ้นหน่อย ก็หยุด

เพราะฉะนั้น เราจะต้องมองกว้างมองไกลมองลึกลงไปให้มาก ขอให้ดูตัวอย่างสังคมอื่นๆ ที่เขาโลดแล่นก้าวหน้ามา ซึ่งไม่ใช่หมายความว่าเราจะยอมรับว่าดี เช่น สังคมอเมริกันและสังคมญี่ปุ่นที่ถือกันว่าเจริญก้าวหน้า แต่ขณะนี้ก็ยอบแยบเต็มที อย่างสังคมอเมริกัน ก็เกิดภาวะวิกฤตในทางเศรษฐกิจมาเองเมื่อไม่กี่ปีนี้ ตอนนี้ฟื้นตัวขึ้นมา ก็ไม่ใช่จะยั่งยืนถาวรอะไร ลึกลงไป ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นนั้น สังคมอเมริกันก็มีเชื้อโรคหลายอย่างที่จะบั่นรอนสังคมอย่างหนัก มิใช่จะมีความมั่นคงปลอดภัยอะไร

แต่เอาละ ในด้านหนึ่งนั้นเรานิยมความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและในทางวัตถุของเขา และความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นเราก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็น แต่เป็นเพียงว่าอย่าไปหลงเพลินมัวเมา และก็อย่าเอามาเป็นตัวตัดสินความเจริญทั้งหมด

เบื้องหลังประเทศที่พัฒนา คือประวัติการฟันฝ่าทุกข์ภัย

จุดที่ควรสนใจก็คือ พวกประเทศพัฒนาเหล่านี้เจริญมาได้อย่างไร อย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้ ความเจริญนั้นมาจากภูมิหลังของเขา พูดภาษาพระว่าเป็นผลกรรมของเขานั่นเอง เวลาเรามองสังคมอื่นเรามักจะมองที่ผลโดยไม่มองดูเหตุ การมองผลก็คือมองสภาพที่เขาเป็นอยู่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปัจจุบันว่าเขากินอยู่กันอย่างไร มีกินมีใช้พรั่งพร้อมอย่างไร และนี่ก็คือสภาพความเจริญ แต่ไม่ได้มองว่าตัวเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาเจริญอย่างนั้นเป็นมาอย่างไร

ขอให้ดูตัวอย่างสังคมอเมริกันว่าที่เจริญมาได้อย่างนี้ เขามีภูมิหลังมาเป็นร้อยๆ ปี ต่อเนื่องมาจากยุโรปอย่างไร อารยธรรมตะวันตกมีภูมิหลังอย่างไรจึงมาเป็นอย่างนี้ ปัจจัยสำคัญคือแรงบีบคั้นทุกข์ภัย ทำให้ประเทศเหล่านี้ดิ้นรนขวนขวายแค่ไหน

ไม่ต้องเอามาก แค่มาอเมริกาแล้วเท่านั้นแหละ ไม่ต้องพูดถึงในยุโรปที่แกก็ดิ้นแทบตายมาก่อนแล้ว ถูกภัยคุกคาม มีการฆ่าฟันเข่นฆ่ากันทางการเมืองที่เนื่องจากศาสนา อยู่ประเทศมีหวังตาย ๙๐ หรือ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ต้องลงเรือหนีภัยหนีตาย แม้จะต้องข้ามน้ำข้ามทะเลที่เสี่ยงภัยอันตรายในท้องทะเลอย่างยิ่ง แต่ยังมีทางรอดมากกว่า เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่การเดินทางนั้นแสนจะทุกข์ยาก มองไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็ขอไปตายดาบหน้า แล้วก็หนีมา จนขึ้นฝั่งอเมริกา ที่นิวยอร์ค บอสตัน บัลติมอร์ อะไรพวกนี้

ขึ้นฝั่งอเมริกามาแล้ว มองไปข้างหน้า มีแต่ป่าดงพงไพร แถมยังไปเจออินเดียนแดงที่พวกตนนึกว่าป่าเถื่อน ที่จริงอินเดียนแดงเขาก็มีวัฒนธรรมของเขามากเหมือนกัน พวกผิวขาวก็ไปบุกรุกดินแดนของเขา เมื่อมองไปข้างหน้ามีแต่ดินแดนที่ยังไม่รู้อะไรทั้งนั้น หันไปมองข้างหลังก็เป็นทะเล ถอยไม่ได้ ต้องไปข้างหน้าอย่างเดียว ข้างหน้าก็คือทิศตะวันตก ถิ่นที่อยู่ก็เป็น frontier คือเป็นพรมแดน เลยไปก็เป็นเขตที่ยังไม่ได้บุกเบิก ความหวังอยู่ที่ต้องมุ่งไปข้างหน้า บุกฝ่าไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาร้อยๆ ปีต่อจากนั้น จึงเป็นระยะเวลาแห่งการมุ่งหน้าไปตะวันตกอย่างเดียว จนมีคำพูดแบบอเมริกันว่า “Go West, young man!” เจ้าหนุ่ม จงมุ่งหน้าไปตะวันตก คตินี้เรียกว่า Frontier

Frontier แปลว่าพรมแดน ซึ่งในที่นี้มีความหมายพิเศษ เนื่องด้วยภูมิหลังของสังคมอเมริกัน หมายถึง คติบุกฝ่าพรมแดน คือการที่ต้องมุ่งไปข้างหน้า บุกเบิกฟันฝ่าก้าวข้ามพรมแดนออกไป ไปหาทรัพยากรและความอุดมสมบูรณ์ข้างหน้าอย่างเปี่ยมด้วยความหวัง พร้อมกันนั้นก็เสี่ยงภัยอันตรายที่ทำให้ต้องตื่นตัวตลอดเวลา และต้องขยันขันแข็ง นี่คือภาวะที่ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ที่ทำให้คนตื่นตัว และมุ่งมองไปข้างหน้า พยายามก้าวต่อไป เพราะฉะนั้น คติ frontier นี้จึงอยู่เบื้องหลังความเจริญของอเมริกันที่คนชาตินี้ภูมิใจยิ่งนัก

คติ frontier นี้น่าทำวิทยานิพนธ์ นักประวัติศาสตร์อเมริกันเองก็ทำมาแล้ว นาย Turner เป็นคนชี้ความสำคัญของคติ frontier ให้เห็นว่า อารยธรรมอเมริกันเจริญขึ้นมาจากคติ frontier นี้ ที่เขาต้องบุกตะวันตกเรื่อยไป และต้องเผชิญกับภยันตราย สู้รบทั้งกับพวกหาอาณานิคมด้วยกันเอง ทั้งฝรั่งเศส ทั้งสเปน แล้วยังต้องเจอกับอินเดียนแดงซึ่งรบกันตลอดมา

ภัยอันตรายนี้ ทำให้คนเข้มแข็ง ความทุกข์ทำให้คนต้องตื่นตัว ต้องพยายามแก้ปัญหา เมื่อเจอทุกข์เจอปัญหาก็เป็นธรรมดาที่จะต้องพยายามคิดแก้ไขและต้องใช้ปัญญา ปัญญาก็เจริญงอกงาม ความสามารถก็เกิดมีขึ้น

ชีวิตจะรุ่งเรือง สังคมจะเลิศล้ำ
ต้องหมั่นทำแบบฝึกหัดไม่ว่างเว้น

คนเรานี้จะเจริญขึ้นมาเฉยๆ ได้อย่างไร คนที่อยู่ท่ามกลางความสุขนั้นพัฒนายาก ความสามารถเกิดได้ยาก คนโดยมากพัฒนาจากความทุกข์และปัญหา ปัญหาทำให้คนพัฒนา เราพูดได้ว่า ปัญหาคือเวทีพัฒนาปัญญา คนที่เก่งก็คือคนที่สามารถพลิกปัญหาให้เป็นปัญญา ถ้าเราเปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญาได้ ก็คือความสำเร็จ และปัญหาก็จะจบสิ้นหายไปเมื่อเราเกิดปัญญา

ปัญหากับปัญญานี้เป็นคู่ตรงข้ามกัน เราจะต้องเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา แต่เราจะได้ปัญญาเราต้องเจอปัญหา เพราะฉะนั้น ชีวิตและสังคมที่เจอปัญหาจึงนับว่ามีโชคดีในแง่หนึ่ง

ชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม จะเจริญได้ดี ต้องมีแบบฝึกหัด คนที่มีแต่ความสุขนั้น ชีวิตไม่มีแบบฝึกหัด เมื่อชีวิตไม่มีแบบฝึกหัดก็ไม่ได้ฝึกตนเอง จึงเจริญได้ยาก เพราะฉะนั้นจึงขอให้เราภูมิใจเถิด สังคมไทยตอนนี้อย่าท้อแท้ เจอทุกข์เจอภัยแล้วต้องเข้มแข็ง และมองให้ถูก คือมองอย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่า เราเจอแบบฝึกหัดแล้ว ถ้าเราไม่เจอแบบฝึกหัดเราจะไม่เข้มแข็ง แต่จะอ่อนแอเหมือนก่อนนี้ที่เป็นมา เพราะที่ผ่านมาแต่ก่อนนี้เราอ่อนแอและไม่รู้จักสร้างสรรค์ เพราะเราไม่เจอแบบฝึกหัด ตอนนี้ดีแล้วที่เราได้แบบฝึกหัด ขอให้เรามาช่วยกันทำแบบฝึกหัด โดยตั้งท่าทีต่อสถานการณ์ให้ถูกต้อง เมื่อตั้งท่าทีถูกต้องแล้วจะเกิดกำลังใจ

คนที่มีทุกข์บีบคั้นมีภัยคุกคามนั้น อย่างที่บอกแล้วว่า โดยธรรมชาติก็ควรจะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายอยู่แล้ว แต่การที่จะไม่ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายย่อมเป็นด้วยเหตุ ๒ อย่าง

อย่างที่หนึ่ง คือ ยากล่อม พอจะลุกขึ้นดิ้นสักหน่อย เจอยากล่อมเข้าก็เลยสบาย เพลิน รอความหวัง รอโชค รอการดลบันดาล หรือไม่ก็

อย่างที่สอง คือ มัวแต่ระทดระทวยออดอ้อนคร่ำครวญ ซ้ำเติมตัวเองเสีย เพราะคนที่สุขมานานจนเคยชินกับความสุขนั้น พอเจอทุกข์เข้า บางทีปรับใจไม่ทัน แทนที่จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายก็มัวแต่โอดโอยกอดเข่าเจ่าจุกเสีย

ยิ่งในสภาพวิกฤตอย่างนี้ ทุกข์หรือปัญหาจะมาแบบเงียบและลึก ไม่เห็นชัดเจนตื่นเต้นเหมือนการรบพุ่งสงครามแบบใช้อาวุธที่เรียกว่า hot war ไม่ใช่สงครามร้อน ก็เลยทำให้เรายิ่งนอนใจ ภัยลึกๆ ภัยเงียบๆ ของภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ ไม่ได้รบราใช้อาวุธ จึงทำให้ประมาทได้ง่าย และเมื่อมัวเพลินอยู่ ก็ไม่รู้ตัว

ถ้าเป็นภัยอันตรายแบบสงครามร้อนจะรู้สึกตื่นตระหนกคับขันจวนตัว ถ้ามันมาถึงตัวเราจะต้องตายหรือบาดเจ็บ เมื่อเรากลัวตายก็ต้องลุกขึ้นสู้หรือหนีอย่างแน่นอน แต่ภัยเย็นแบบนี้บางทีก็เลยเย็นตายไปเลย เพราะฉะนั้นตอนนี้จึงถึงเวลาที่จะต้องปลุกใจคนไทยขึ้นมา และจุดแก้ปัญหาก็อยู่ที่คุณภาพมนุษย์นี่แหละ

อยากจะให้สนใจเรื่องวิกฤตคุณภาพมนุษย์ ซึ่งสำคัญกว่าวิกฤตเศรษฐกิจ บางทีเราอาจจะเพลินกับการที่จะแก้วิกฤตเศรษฐกิจโดยหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่น แล้วก็ยิ่งลืมตัวหนักเข้าไปอีก การแก้ปัญหาอย่างนั้นไม่ใช่การสร้างสรรค์ที่แท้จริง ที่เป็นแก่นสารและยั่งยืน การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องเกิดจากการสร้างสรรค์ความเจริญด้วยฝีมือของเราเอง ในสังคมของเรา ซึ่งหนีไม่พ้นจากการที่จะต้องเป็นนักผลิตนักสร้างสรรค์

การที่จะเป็นนักผลิตนักสร้างสรรค์ได้ จะต้องมีความเข้มแข็งและทำจริงทำจัง ด้วยความเพียรพยายามอย่างมั่นคงอดทนระยะยาว ไม่ใช่ทำวูบๆ วาบๆ และมิใช่ว่าได้มาเพียงด้วยความฝัน หรือรอการหยิบยื่นให้ น่าสังเกตว่าเวลานี้สังคมไทยมีนักรอการหยิบยื่นให้มากมายเหลือเกิน

เรื่องเก่าที่พูดบ่อยๆ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องย้ำก็คือ สังคมไทยเวลานี้ถึงจุดสำคัญแล้วที่จะเริ่มสร้างสรรค์ และเป็นกาลเวลาซึ่งมีแง่มองที่ดีหลายอย่าง ดังที่ว่าเมื่อกี้ ระยะที่แล้วมาเป็นช่วงเวลาแห่งการทำลาย ต่อไปนี้จะต้องถึงเวลาแห่งการสร้างสรรค์ แล้วสังคมไทยยุคนี้จะเป็นยุคของการสร้างชาติ ซึ่งจะเป็นการสร้างสรรค์ระยะยาว คนไทยจะต้องมีความเข็มแข็ง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราสะสมแต่ความอ่อนแอ ความเป็นนักบริโภคที่ชอบหาความสุขสำราญก็แสดงลักษณะของความอ่อนแออยู่ในตัวแล้ว ความเป็นนักรอผลดลบันดาลยิ่งซ้ำความอ่อนแอนั้นให้หนักลงไปอีก ทั้งคู่นี้ไม่เป็นนักทำ ถึงตอนนี้จะต้องเปลี่ยนทั้งหมด แต่จะเปลี่ยนไหวหรือเปล่า

ลัทธิรอผลดลบันดาลเวลานี้ครอบคลุมสังคมไทยไปทั่ว และบริโภคนิยมก็ครอบงำไปหมด ขอให้ช่วยกันคิดว่าเราจะแก้ไหวไหม ขนาดมีวิกฤตเศรษฐกิจอย่างนี้ ซึ่งบังคับให้ต้องประหยัด เราก็ประหยัดเพราะจำเป็นจำใจ แทนที่จะประหยัดโดยเป็นนิสัยหรือด้วยปัญญาที่เข้าใจเหตุผล

มีญาติโยมมาเล่าให้ฟังว่า อย่างแถวประชานิเวศน์ ตอนนี้สิ่งบริโภคอะไรต่างๆ ราคาแพง คนต้องทำอาหารกินเองกันมากขึ้น ซื้อของราคาถูกลง ร้านอาหารก็ปิดไปมาก ดูคล้ายๆ ว่าคนเราประหยัดขึ้น โดยทำอาหารเองหรือกินของถูกลง แต่พอมองให้ชัดอีกหน่อย ปรากฏว่า “ผับ” ผุดขึ้นมามาก ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนี่แหละผับเกิดขึ้นเยอะแยะ กลับเพิ่มมากกว่าเก่า กลายเป็นอย่างนั้นไป ความเป็นบริโภคนิยมไม่ได้ลดลงไปกับวิกฤตเศรษฐกิจนี้ แสดงว่า ทุกข์ภัยยังไม่เป็นแบบฝึกหัดสำหรับพวกเราเลย

ถ้าจะแก้ปัญหากันจริง เราจะต้องเอาทุกข์ภัยในวิกฤตมาเป็นแบบฝึกหัดให้ได้ เพื่อฝึกพวกเราให้เก่ง ให้สามารถ ให้พัฒนาตัวเอง ให้มีสติปัญญาความแกล้วกล้าเข้มแข็งเพิ่มขึ้น

การประหยัด คือแบบฝึกหัดแรกที่รอพิสูจน์คนไทย

แม้แต่การประหยัดก็ต้องมีแง่ความหมายว่า การประหยัดที่แท้คืออย่างไร ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปของการประหยัดคือการกินน้อยใช้น้อย ให้สิ้นเปลืองน้อยๆ ซึ่งก็ดีในระดับหนึ่ง แต่อาจจะแคบไป และอาจจะมาพร้อมด้วยการเสียสุขภาพจิตก็เป็นได้

ตัวอย่างเช่น พ่อแม่อาจจะบอกลูกว่า เงินทองเราน้อยลง ต่อไปนี้ลูกจะต้องใช้เงินน้อยๆ หน่อย ลูกบางคนก็อาจจะเห็นเหตุผลและร่วมมือ แต่หลายคนก็อาจจะไม่สบายใจ เคยใช้จ่ายง่ายสะดวก ก็ต้องมายับยั้งตัวเอง คือต้องถูกบีบคั้นนั่นเอง จะกินใช้อะไรก็รู้สึกบีบคั้นไปหมด ใช้เงินใช้ทองก็ไม่ค่อยจะได้ ก็ทุกข์สิ สุขภาพจิตก็เสีย

ฉะนั้นเราจะต้องมีวิธีการประหยัดที่ถูกต้อง คือประหยัดแบบฝึกฝนพัฒนาคน หมายความว่าจะต้องเอาการประหยัดมาเป็นเครื่องฝึกคน

ถ้ามองในแง่การฝึก การประหยัดก็คือการพัฒนาความสามารถ พัฒนาอย่างไร เรามาดูความหมายของการประหยัดกันใหม่

การประหยัดคืออะไร คือการใช้ของน้อยที่สุดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด หนูมีเงินเท่านี้หนูจะสามารถใช้มันให้ได้ประโยชน์มากที่สุดอย่างไร มันจะเป็นเครื่องทดสอบความสามารถของหนูนะ เอ้า ลองคิดดูซิว่า ถ้าเรามีเงิน ๑๐๐ บาท เราจะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร

การประหยัดแบบฝึกนี้ ได้ผลถึง ๓ อย่างพร้อมกัน คือ

๑. ใช้จ่ายน้อย ไม่สิ้นเปลือง

๒. พัฒนาความสามารถของเด็ก ทำให้เด็กต้องคิดว่าเราจะใช้เงินอย่างไร ให้เงินน้อยที่สุดได้ประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะจะพัฒนาด้วยการรู้จักใช้ความคิด รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ ฝึกปัญญาในการวางแผน

๓. สุขภาพจิตดี มีความสุข เพราะเด็กจะภูมิใจว่าเราใช้เงินแค่นี้สามารถทำประโยชน์ได้มาก และภูมิใจที่มีความสามารถนั้น แกก็ดีใจและมีความสุขว่าตัวได้และทำได้ ไม่ใช่เสีย แทนที่จะเสียใจมีความทุกข์เพราะต้องถูกบีบถูกคั้นให้ใช้เงินน้อย ก็กลับตรงข้าม กลายเป็นดีไป

นี่เป็นตัวอย่างของการที่จะใช้วิกฤตเป็นโอกาส และประหยัดให้เป็นประโยชน์ วิกฤตจะฝึกมนุษย์ได้มากมายถ้าเราใช้เป็น แต่ถ้าใช้ไม่เป็นก็มัวแต่มาทุกข์ระทมตรอมตรมซบเซาจับเจ่า หรือไม่ก็รอผลดลบันดาลอย่างที่ว่าแล้ว

นี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เรื่องต่างๆ มีแง่มองให้เป็นประโยชน์ได้ทั้งนั้น แต่เรื่องประหยัดนั้นตรงกับสถานการณ์ขณะนี้ เพราะฉะนั้นจึงขอให้เปลี่ยนความหมายของการประหยัด ที่ว่าเป็นการจำเป็นจำใจใช้น้อยบีบคั้นตัวเอง ต้องลำบากในการใช้เงิน ไม่ได้ของที่อยากได้อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นความทุกข์นี้ เปลี่ยนให้มาเป็นการฝึกความสามารถในการใช้ทรัพยากรที่เป็นการพัฒนามนุษย์

โดยเฉพาะก็คือเด็กหรือเยาวชนนั้นจะต้องเน้นให้มาก ฝึกให้ดีเลยว่าหนูจะใช้ของน้อยนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เด็กก็จะใช้น้อยอย่างมีความสุข พร้อมไปกับการฝึกฝนพัฒนาตัวเอง คือพัฒนาความสามารถ โดยเฉพาะในทางปัญญา เช่นเด็กจะรู้จักวางแผน และมีวินัยในทางความคิด

ขอให้รู้ทันว่าความทุกข์มากมายที่ฝรั่งเจอมาทำให้เขาเป็นนักวางแผน ไม่ใช่ว่าฝรั่งเก่งอะไรพิเศษ แต่เป็นเรื่องของคนเมื่อเจอทุกข์ ประสบปัญหา มีทั้งภัยจากมนุษย์ด้วยกัน และภัยจากธรรมชาติ ล้วนเป็นบทเรียนและแบบฝึกหัดจากชีวิตจริงที่ประสบการณ์มาสอน ทำให้ต้องคิดแก้ปัญหา การแก้ปัญหานั้น ก็มีทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาระยะยาว ทำให้ต้องคิดวางแผน ทั้งวางแผนก็เก่งขึ้น และยอมทำการหนักเหนื่อยที่เป็นเรื่องระยะยาวได้ด้วยความอดทน

คนไทยไม่ค่อยมีอย่างนี้ เราทำอะไรก็ทำกันระยะสั้นๆ แม้แต่จะวางโครงการอะไรสักอย่าง เราก็ไม่ค่อยคิดทำระยะยาว ฝรั่งกว่าจะจัดสัมมนาทีบางทีคิดสองปี วางแผนกันนาน คนไทยเราไปเห็นก็นึกว่าแปลก ทำไมฝรั่งคิดกันนานนัก เขาเคยถูกบีบคั้นมานาน ทุกข์ภัยทำให้เขาต้องหาทางแก้ปัญหา แม้แต่สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ต่างกันมากในฤดูกาลต่างๆ ของแต่ละปี ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นความตาย หรือความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างมาก ก็สอนให้เขาต้องเตรียมการกันอย่างจริงจัง การวางแผนก็เกิดขึ้น

ถ้าเด็กประสบภาวะอย่างนี้แล้วเรามีแบบฝึกหัดให้ทำ แกจะเริ่มรู้จักวางแผน การวางแผนจะมาพร้อมด้วยการใช้ปัญญา และมนุษย์จะพัฒนาในการแก้ปัญหา ตัวอย่างก็คือการประหยัดนี่แหละที่บอกว่า เอ้า…ใช้เงินน้อยให้ได้ประโยชน์มากที่สุด แล้วเด็กก็คิดวางแผนการใช้เงิน พัฒนาความสามารถและสติปัญญา พร้อมกับมีสุขภาพจิตดีไปด้วย

คิดว่าได้พูดมานานจะหมดเวลาแล้ว ก็เอาเท่าที่นึกออกขณะนี้ก็แล้วกัน ที่พูดมานี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้ามีคำถามอะไรก็อาจจะคุยกันนิดหน่อย อาจารย์คงจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาสอบถาม

ตอบนักศึกษา

ถาม - ที่พระคุณเจ้าบอกว่าคนไทยยังไม่มีคุณภาพ สภาพคุณภาพของคนไทยคืออย่างไร

ตอบ - ที่เด่น คือความอ่อนแอ

ถาม - อยากจะทราบว่า ตอนนี้คนไทยได้ตระหนักรู้ถึงภาวะวิกฤตตรงนี้หรือยัง ทั้งในระดับครัวเรือน ในระดับประเทศชาติ และระดับสังคม คนไทยได้ตระหนักหรือยัง

ตอบ - ความรู้ตระหนักนี่น้อยอย่างยิ่ง ทั้ง ๒ ชั้น คือ

๑. ตัวภาวะวิกฤตเองที่เป็นทุกข์อยู่นี่ ก็รู้กันแบบผิวๆ เผินๆ รู้แบบพร่าๆ มัวๆ ไม่ชัด สังคมของเราวิกฤตอย่างไร สภาพปัญหาของเราเป็นอย่างไร คนไทยเห็นไม่ชัดเลย

๒. ตัวเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤต ก็ยิ่งไม่ชัดใหญ่

เพราะฉะนั้นจึงต้องเริ่มด้วยการชี้ให้ชัด อย่างคุณภาพที่ว่าอ่อนแอและไม่เป็นนักสร้างสรรค์ไม่เป็นนักผลิตนี่ เราก็ไม่ตระหนักรู้ตัวเลย ฉะนั้นจึงต้องชี้ปัญหากันด้วย โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศชาตินั้น อยากจะให้กระตุ้นประชาชนให้ไม่ประมาท

เท่าที่ผ่านมารู้สึกว่าคอยจะเอาไรมาปลอบใจกันไว้ การปลอบใจนั้นจะต้องมุ่งในแง่ที่จะทำให้เกิดกำลังใจเท่านั้น ถ้าปลอบใจแล้วทำให้เกิดความนอนใจ เพลิดเพลิน กระหยิ่มใจ แล้วนิ่งเฉย หรือรอคอย ก็ใช้ไม่ได้

คนเราบางครั้ง เมื่อเสียขวัญก็อาจจะต้องมีการปลอบใจบ้าง เพื่อให้ใจผ่อนคลายลงได้ หยุด ได้พักแล้วตั้งสติได้ แต่ถ้าปลอบใจไม่เป็น จะกลายเป็นทำให้เพลิดเพลิน หวังพึ่งพา แล้วก็หยุด หรือมัวนิ่งนอนใจ เพราะฉะนั้นจะต้องปลอบใจแบบทำให้เกิดกำลังใจ ปลอบให้เกิดกำลังสู้ ที่จะเข้มแข็ง ทำการสร้างสรรค์ต่อไป

แต่อย่างที่มีผู้ถามเมื่อกี้ว่า แม้แต่ความรู้ตระหนักในตัวปัญหาก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเราจะต้องจี้สิ่งเหล่านี้ให้ชัดเด่นขึ้นมา เหมือนอย่างเรื่องการเป็นนักบริโภค การเป็นนักรอผลดลบันดาล ก็ให้เห็นว่า มีโทษมีความเสียหายอย่างไร มันจะนำความเสื่อมมาสู่สังคมของเราอย่างไร

สังคมของเรากำลังอยู่ในวิกฤต วิกฤตนี้เป็นจุดเป็นจุดตาย หรือจุดหักเลี้ยวระหว่างวิบัติกับวิวัฒน์ คือมันไม่ถึงกับวิบัติ แต่มันพร้อมที่จะวิบัติ พร้อมกันนั้นถ้าเราแก้ได้มันจะกลับเป็นวิวัฒน์ เพราะฉะนั้น วิกฤตจึงอยู่ระหว่างวิวัฒน์กับวิบัติ ถ้าเราแก้ได้ มันก็เปลี่ยนจากวิกฤตเป็นวิวัฒน์ ถ้าเราไม่สามารถแก้ วิกฤตนั้นก็กลายเป็นวิบัติ

อย่างที่พูดแล้วแต่ต้น เหมือนกับว่าเราอยู่ในกระแสน้ำที่กำลังหลงเล่นน้ำเพลินอยู่ จนกระทั่งน้ำไหลมาใกล้ปากเหว น้ำจึงตื้นลง ในลำน้ำใหญ่ไกลปากเหวนั้นจะลึก จะเล่นกันเพลิดเพลินไม่รู้ตัว แต่พอมาใกล้ปากเหวน้ำจะตื้นมากและจะมีโขดหินเกาะแก่งเยอะ ตอนนี้แหละกระแสน้ำจะพาเราชนเข้ากับโขดหิน นี่คือจุดวิกฤต ซึ่งใกล้ปากเหวแล้ว

วิกฤตก็คือตอนที่อยู่ตรงปากเหว จุดระหว่างว่าจะลงเหวหรือจะก้าวกลับไป ถ้าลงเหวก็เป็นวิบัติ แต่ถ้าตะเกียกตะกายแก้ไขกลับมาได้ ก็นำตัวขึ้นฝั่งหรือย้อนกลับไปในทางที่ปลอดภัย ก็จะกลายเป็นวิวัฒน์ แต่ตอนวิกฤตนี้ต้องเจ็บปวดหน่อยเพราะเจอโขดหินเข้าแล้ว จึงเป็นตอนที่สำคัญ แต่เราอย่าไปเอาวิบัติก็แล้วกัน ต้องบอกคนไทยว่า อย่าเอาเลยวิบัติ เอาวิวัฒน์ดีกว่า แล้ววิกฤตนี่จะเป็นจุดต่อวิวัฒน์ที่สำคัญมาก

ก็อย่างที่ว่าแล้ว ประเทศชาติ หรือสังคมต่างๆ ที่เขาเจริญพัฒนามา เขาก็มาจากทุกข์ มาจากปัญหาทั้งนั้น เราเข้าใจว่าอิสราเอลนี่คนแข็งเก่งเหลือเกินใช่ไหม นั่นเพราะอะไร เห็นชัดๆ ว่าภัยมันล้อมอยู่ จะตายได้ทุกวินาที แทบจะนอนหลับไม่ได้ ต้องตื่นตัวพร้อมตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเขาจึงพูดกันว่า คนอิสราเอลทุกคน ลงเรือต้องขับเรือได้ ขึ้นรถต้องขับรถได้ ขึ้นเครื่องบินต้องขับเครื่องบินได้ ต้องมีคติอย่างนี้เลยนะ หมายความว่าภัยคุกคามบีบเร่งตัวจนกระทั่งว่า ทุกคนต้องพร้อมที่จะทำการทุกอย่างได้ แต่คนที่อยู่ท่ามกลางความสุขมักจะมัวเพลิดเพลินหลงระเริงมัวเมาผัดเพี้ยนอย่างที่ชอบพูดว่า เมื่อไรก็ได้ ไม่เป็นไร

คำว่า “ไม่เป็นไร” ของคนไทยนี่ ฝรั่งเอาไปวิเคราะห์เหมือนกัน เพราะมันมีความหมายหลายอย่าง “ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ก็ได้” ถ้าไม่เป็นไรแบบนี้ก็ประมาทละ คือเท่ากับผัดเพี้ยน

แต่บางที “ไม่เป็นไร” ก็หมายความว่ามีเมตตากรุณา คุณทำร้ายฉัน หรือคุณทำให้ฉันเจ็บ ฉันก็ไม่ว่าอะไร ไม่จองเวร ไม่เป็นไรนี่ความหมายกว้างจนฝรั่งไม่รู้จะหาศัพท์อะไรมาแทน

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องระวังอย่างที่ว่าแล้ว คือเราจะต้องวิเคราะห์สภาพชีวิตและสังคมของเราให้ชัดเจนมากขึ้น อย่างที่ท่านผู้ถามเมื่อกี้ว่าอยู่ในความไม่รู้ตระหนัก ก็คือไม่ชัดเจนนั่นเอง ตัวปัญหาก็ต้องชี้ให้ชัดว่า สภาพคุณภาพของคนไทยขณะนี้เป็นอย่างไร และเหตุปัจจัยต่างๆ ก็ต้องพยายามสืบค้นเอามาว่ากันให้ชัด แล้วก็ปลุกใจคนไทยให้ไม่ประมาท

โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศชาติ จะต้องนำเสนออะไรต่างๆ ที่ปลุกเร้าความไม่ประมาทอยู่เสมอ เงินช่วยเหลือของเขาไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำให้เรามัวมาเพลิดเพลินนอนใจ ที่จริงมันก็มาพร้อมกับภัยอันตรายนั่นแหละ ถึงแม้ไม่มีภัยอันตรายอื่น ความหลงระเริงเพลิดเพลินก็จะเป็นนิสัยเสียของเราต่อไป

ฉะนั้น ต้องให้มีความรู้สึกต่อเงินที่เขาให้ยืมมากู้มาด้วยความรู้สึกจำใจอย่างยิ่ง เมื่อมีความจำใจก็ทำให้เราคิดว่าจะต้องรีบแก้ไขตัวเอง จะต้องสร้างสรรค์เพื่อให้พ้นจากการที่ต้องจำใจอยู่กับเงินกู้เงินยืมนี้ ไม่ใช่ได้เงินกู้เงินยืมมาก็เพลินสบาย เออ มีเงินใช้แล้ว หายทุกข์แล้ว ก็เพลินต่อไป

อ้าว เดี๋ยวจะพูดมากไป จะตอบปัญหานิดเดียวพูดเสียยืดยาว มีอะไรอีกไหม เจริญพร

นักศึกษา - พระเดชพระคุณเจ้าก็ได้เมตตาให้ข้อคิดกับพวกเรา ในเรื่องแนวทางปฏิบัติในยุควิกฤตทางเศรษฐกิจ ว่าเราจะวิวัฒน์อย่างไร ซึ่งเป็นข้อคิดที่เราจะนำไปเป็นหัวข้อของการอภิปรายร่วมกันในช่วงต่อไปค่ะ

1ธรรมกถา แก่คณาจารย์ นักศึกษาปริญญาเอก-ปริญญาโท และเจ้าหน้าที่ ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ณ พุทธมณฑล
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง