กระแสธรรม กระแสไท

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

อำนวยพร ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยศรีปทุม พร้อมด้วยท่านกรรมการสภา และคณะผู้บริหาร มีท่านอธิการบดีเป็นผู้นำ กับทั้งท่านที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคณาจารย์ พร้อมทั้งญาติโยมสาธุชนทุกท่าน

เบื้องแรก ขอขอบพระคุณพระเถรานุเถระทุกท่าน โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ได้มีเมตตาไมตรีธรรมมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้

ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุมนำปริญญาบัตรมาถวายในวันนี้ นับว่าเป็นความมีน้ำใจอย่างสูง เป็นการที่ทางมหาวิทยาลัยได้ให้เกียรติ หรือในแง่หนึ่งคือ ให้ความสำคัญแก่อาตมภาพ ถ้ามองในแง่ของอาตมภาพเอง นอกจากอนุโมทนาในน้ำใจของท่านเป็นอย่างยิ่งแล้ว ก็รู้สึกเกรงใจเป็นที่สุด

ที่เกรงใจก็เพราะว่า ท่านอาจารย์เริ่มแต่ท่านนายกสภาเป็นต้นมา เป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ ทั้งที่มีภารกิจมาก ท่านก็ได้กรุณาสละเวลามา รวมทั้งได้เตรียมการต่างๆ เพื่อให้มีพิธีในวันนี้

แต่เมื่อมองอีกแง่หนึ่ง มานึกถึงว่า การที่มหาวิทยาลัยจัดให้มีกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นนั้น เป็นเรื่องของการคำนึงถึงประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม หรือความเจริญของประเทศชาติ โดยเฉพาะในทางการศึกษา เมื่อมองอย่างนี้ก็ค่อยเบาใจ คือมองในแง่ว่า นี่เป็นกิจกรรมของการร่วมมือกัน

อย่างน้อยก็เป็นการบอกให้รู้ว่า เป็นการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของสถาบันอุดมศึกษา ในการที่จะสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ และพัฒนาปัญญาของสังคมไทยเรา เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติต่อไป เท่ากับเป็นสัญญาณบอกว่า ให้เรามาสามัคคีกัน ร่วมมือกันทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ

 

กระแสธรรม กระแสไท1

โลกบัดนี้ มีอารยธรรมจริงหรือไม่?

เวลานี้ยิ่งเห็นชัดว่า สังคมกำลังต้องการความร่วมมือกันในการที่จะแก้ปัญหา และในการสร้างสรรค์ต่างๆ

มีเสียงพูดบ่นกันมากเหลือเกิน แค่อ่านหนังสือพิมพ์แต่ละวันๆ ก็ชัดว่า เวลานี้คนทั่วไปเห็นกันว่า สังคมของเรามีความเสื่อมโทรม หรือตกต่ำเป็นอย่างมาก มองกว้างออกไปทั่วโลก สถานการณ์ก็ไม่น่าไว้วางใจ ไม่รู้ว่าจะเกิดสงครามใหญ่ กลายเป็นความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากมายขึ้นเมื่อใด

เรื่องนี้เป็นปัญหาร่วมกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกคน ทั้งเป็นเรื่องที่มีผลระยะยาว กระทบต่ออารยธรรมของมนุษย์ ในแง่หนึ่ง ก็เหมือนกับเป็นเครื่องตรวจสอบไปด้วยว่า อารยธรรมของเราที่สร้างกันขึ้นมานี้ นำมาซึ่งสันติสุขแท้จริงหรือเปล่า หรือแม้กระทั่งว่า เป็นอารยธรรมจริงหรือไม่

อาจจะต้องถึงกับไปตรวจสอบความหมายของคำว่า “อารยธรรม” กันอีกว่า อารยธรรมที่แท้นั้นคืออะไร เพราะว่าแม้แต่คำไทยกับคำภาษาอังกฤษ ก็มีความหมายไม่ตรงกันแล้ว

“อารยธรรม” แปลว่า ธรรมของอารยชน คือ คุณสมบัติของผู้เจริญ ถ้าพูดให้ตรงตามศัพท์ทางพระพุทธศาสนาแท้ๆ อารยะ ก็คืออริยะ ซึ่งแปลว่าผู้ไกลจากกิเลส เพราะฉะนั้น อารยธรรม ก็คือ ธรรมของผู้ไกลจากกิเลส

แต่เมื่อมองดูอารยธรรมปัจจุบันนี้ ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า อารยธรรมนั้นเป็นคุณสมบัติ เป็นกิจกรรม และเป็นผลงานด้านต่างๆ ของผู้ที่ไกลจากกิเลสหรือไม่ หรือจะเอาตามความหมายของฝรั่ง ก็อาจจะมองอารยธรรมแค่เป็นเรื่องของคนเมือง ถ้ามุ่งหมายเพียงแค่นั้น ก็แล้วไป

แต่ว่าโดยรวม เราคงไม่ดูเพียงความหมายตามตัวอักษร

เมื่อว่าตามความหมายโดยสาระหรือโดยอรรถ แน่นอนว่า การที่มนุษย์สร้างสรรค์ความเจริญที่เรียกว่าอารยธรรมขึ้นมา ก็เพื่อความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ทั้งหลาย แต่สภาพที่มนุษย์อยู่กันอย่างที่เป็นอยู่นี้ เป็นความอยู่ดีมีสุขหรือยัง เราพูดถึงคำต่างๆ เช่น สันติภาพ และสันติสุข เป็นต้น แต่แล้วเราก็บอกว่า จนถึงเวลานี้มนุษย์ก็ไปไม่ถึงสักที พบแต่ปัญหากันอยู่เรื่อย เท่ากับบอกว่า อารยธรรมนั้น ยังไม่บรรลุผลสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น

สังคมไทย มีส่วนร่วมสร้างอารยธรรมหรือไม่?

ว่าถึงสังคมในวงแคบเข้ามา คือสังคมไทยของเรา ซึ่งในฐานะที่เป็นส่วนร่วมอยู่ในโลกนี้ ควรจะได้ทำหน้าที่ของตนในการสร้างสรรค์อารยธรรม ในความหมายที่แท้จริง เพื่อให้มนุษย์อยู่ดีมีสุข ก็ต้องถามว่าสังคมไทยของเรานี้ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อย่างนั้นหรือเปล่า

ถ้าไม่ได้มีส่วนร่วม ก็กลายเป็นว่า เราอาจจะเป็นเพียงผู้คอยรับผลของอารยธรรม ถ้าเพียงคอยรับผล ก็คือไม่ได้ทำอะไร ยิ่งถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็อาจจะไปถึงขั้นที่ว่า ถ้ากระแสไม่ดี เราก็เลยไปพลอยร่วมทำลายอารยธรรมกับเขาด้วย

ความจริง สังคมแต่ละสังคม และแม้แต่บุคคลแต่ละคน ควรจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรม เราคงจะต้องถามว่า สังคมของเราได้ทำหน้าที่นี้บ้างหรือเปล่า

โดยเฉพาะการที่จะทำหน้าที่นี้ได้ก็แน่นอนว่า ปัจจัยพื้นฐานก็อยู่ที่การศึกษานั่นเอง อย่างที่เราบอกว่าการศึกษานั้น สร้างคน สร้างมนุษย์ ให้มีคุณภาพ ทำให้เป็นคนซึ่งพร้อมที่จะมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ดีมีสันติสุข อย่างน้อยก็ให้ชีวิตของตัวเองเป็นชีวิตที่ดีงามมีความสุข

การศึกษาที่มีหน้าที่อย่างนี้ นับว่าเป็นการมีหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ เพราะเมื่อการศึกษาสร้างคนแล้ว คนนั้นจึงไปทำการสร้างสิ่งอื่นๆ

ในการสร้างอารยธรรม การศึกษาสำคัญอย่างไร?

เรื่องการสร้างนั้นสำคัญมาก อย่างสถาปนิกออกแบบอาคาร กุฏิ วิหาร ตลอดจนสะพาน แล้ววิศวกรก็มาคำนวณ เป็นต้น ถ้าสถาปนิกก็ดี วิศวกรก็ดี ไม่มีความรู้จริง หรือมีเจตนาไม่สุจริต หรือทำหน้าที่ไม่ดี ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ขาดความรอบคอบ เป็นต้น เมื่อสร้างไปแล้วสะพานนั้นอาจจะหัก หรืออาคาร บ้านเรือน อาจจะพังทะลาย แล้วก็เป็นภัยอันตราย เรื่องอย่างนี้เป็นสิ่งที่มองเห็นกันอยู่

การก่อสร้างวัตถุนั้นเห็นง่าย แต่การก่อสร้างในทางนามธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ของการศึกษานี้ มองไม่ค่อยเห็น ทั้งที่แท้จริงนั้นมันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก

ถ้าเรามองว่า การสร้างวัตถุอย่างอาคารบ้านเรือนนี้ยังเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งต้องมีความระมัดระวังรอบคอบ มิฉะนั้นจะเกิดภัยอันตรายมากมายมหาศาล ทีนี้เมื่อเป็นการสร้างคน หรือสร้างมนุษย์ ก็ยิ่งสำคัญขึ้นไปอีกมากมาย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาจึงมีภารกิจอันสำคัญอย่างยิ่ง เป็นผู้ซึ่งกำลังทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ เราจึงพูดแสดงความสำคัญกันต่างๆ เช่นว่า สร้างอนาคตของเด็กและเยาวชน หรือสร้างคน ซึ่งก็คือสร้างทั้งสังคม สร้างทั้งชาติ ตลอดจนสร้างทั้งโลก แล้วก็สร้างอารยธรรม

การศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการสร้างอารยธรรม ฉะนั้นทำอย่างไรจะให้การศึกษาทำหน้าที่นี้ได้ดี ก็คือต้องตระหนักกันว่า ผู้ที่สร้างคนนี้ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะว่าแม้แต่สถาปนิกและวิศวกรที่ไปทำหน้าที่ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญที่ไปสร้างผลงานทางเทคโนโลยีทุกอย่าง ก็ล้วนได้รับการสร้างไปจากการศึกษาทั้งนั้น

การศึกษาสร้างสถาปนิก สร้างวิศวกรที่ดีมีคุณภาพ สร้างผู้เชี่ยวชาญชำนาญการต่างๆ ที่มีสติปัญญา มีเจตจำนงในทางสร้างสรรค์ มีคุณธรรม แล้วท่านเหล่านี้ก็ไปทำหน้าที่ของตนช่วยกันสร้างสรรค์ สร้างวัตถุต่างๆ ทำให้เกิดความเจริญงอกงาม ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นฐานของการสร้างสรรค์ทั้งหมด

เมื่อการศึกษามีความสำคัญอย่างนี้ เราก็ต้องมาวางฐานของสังคมด้วยการศึกษา คือมาสร้างคนและสร้างสังคมกันด้วยการศึกษาให้ดีที่สุด

ในกระแสอารยธรรมที่ไหลไป สังคมไทยมีบทบาทอะไร?

หันมาดูสังคมไทยของเรานี้ ตรวจดูซิว่า เราอยู่ในภาวะอย่างไร การที่สังคมมีปัญหาต่างๆ มากมายอย่างนี้ เมื่อดูกว้างๆ ก็เหมือนกับว่าสังคมของเราอยู่ในกระแสอันหนึ่งของโลก จะเรียกว่ากระแสอารยธรรมปัจจุบันก็ได้

กระแสนี้ไหลไปๆ แต่เมื่อมองให้ชัดก็เห็นว่ากระแสนั้นมีต้นแหล่งที่ไหลมา ไทยเรานี้เป็นฝ่ายที่รับกระแส

ดูต่อไปอีก เมื่อกระแสมาถึง ปรากฏว่าสังคมไทยเรานี้เป็นสังคมที่ไหลไปตามกระแส

การที่ไหลไปตามกระแสนั้น อาจจะเป็นด้วยตัวเองไปนิยมชมชอบ จึงตามเขาไป หรืออาจจะถูกพัดพา หมายความว่าถูกเขาครอบงำ เพราะตนไม่มีกำลังทรงตัว หรือไม่มีความสามารถที่จะรักษาตัวไว้ แต่ทั้งสองอย่างนั้นก็คือการขาดอิสรภาพ ไม่มีความเป็นอิสระ ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง

ท่ามกลางสภาพทั้งหมดนี้ ข้อที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ ไม่ว่าเราจะเต็มใจไหลไปตามกระแส หรือถูกกระแสพัดพาไปก็ตาม ความจริงก็คือเราไม่ได้มีส่วนร่วมในการที่จะปฏิบัติต่อกระแส ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระแส หันเบนกระแส หรือปรับปรุงแก้ไขกระแส เราไม่ได้ทำทั้งนั้น เราได้แค่ไปตาม หรือถูกพัดพา

ถ้าอย่างนี้ก็เท่ากับฟ้องว่า สังคมของเราไม่ได้มีส่วนในการสร้างสรรค์อารยธรรมเลย

ยิ่งกว่านั้น ถ้ากระแสนี้ไหลผิดทาง เมื่อเราไปตาม หรือถูกพัดพา เราก็อาจจะไปลงเหวกับเขาด้วย นั่นก็คือเสื่อมโทรมหรือเสื่อมสลายนั่นเอง

คนไทยรู้หรือไม่ ว่าตัวไหลไปกับเขาในกระแสอะไร?

ข้อสำคัญที่จะให้เป็นอย่างนี้ นอกจากการที่ไม่ได้คิดจะเป็นผู้สร้างสรรค์ หรือมีส่วนร่วมแล้ว ก็เกิดจากความไม่รู้ด้วย เช่นไม่รู้ว่ากระแสนี้เป็นอย่างไร มาจากไหน มันมีคุณมีโทษอย่างไร สักแต่ว่าชื่นชอบบ้าง หรือถูกเขาครอบงำบ้าง ก็ไหลตามเรื่อยไป

ทีนี้องค์ประกอบสำคัญก็คือความรู้ เบื้องแรกก่อนที่จะแก้ไขปัญหาได้ การที่จะทำตัวให้ก้าวขึ้นมาสู่สถานะแห่งการมีความสามารถในการร่วมสร้างสรรค์ จะต้องรู้จักกระแสนี้ก่อน

เรารู้ไหมว่ากระแสที่พัดพาไหลมาถึงเรา แล้วเราพลอยไปกับเขาด้วยนี่ มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร มันมาอย่างไร มันเคลื่อนไหวอย่างไร ต้นตอของมันอยู่ที่ไหน มันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องรู้

นี่คือปัญญา ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้เกิดอิสรภาพ ถ้าไม่มีปัญญาก็หมดอิสรภาพ ปัญญา คือความรู้ ความเข้าใจ รู้เรื่องราว รู้คิด รู้ทำ จึงต้องสร้างคนให้มีปัญญา

เวลานี้สังคมของเราเมื่อดูไปๆ ในที่สุดก็จะมองเห็นว่า เหตุปัจจัยตัวสำคัญ ที่ทำให้เราไม่สามารถยืนผงาดขึ้นมาเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์เป็นต้น แต่กลับกลายเป็นผู้ถูกครอบงำหรืออย่างเบาไปตามเขา ทั้งหมดนี้ ตัวสำคัญอยู่ที่ปัญญา คือการที่เราขาดความเข้มแข็งทางปัญญา

เมื่อขาดความเข้มแข็งทางปัญญา คนก็ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เมื่อไม่มีความมั่นใจก็ขาดความเข้มแข็งทางใจ เมื่อขาดความเข้มแข็งทางจิตใจ พฤติกรรมที่ออกมาก็อ่อนแอหวั่นไหว และไม่มีจุดหมายชัดเจน จึงสักแต่ว่าไหลไปตามกระแสค่านิยมเป็นต้น เมื่อพฤติกรรมก็ไม่เข้มแข็ง ก็เป็นอันว่าอ่อนแอไปแล้วทั้งหมด

ฉะนั้น จะต้องมาช่วยกันในเรื่องของการพัฒนาปัญญา ทำสังคมไทยให้มีปัญญาที่เข้มแข็ง ซึ่งไปๆ มาๆ ก็คือหน้าที่ของการศึกษานั่นเอง

คนไทยที่นิยมอเมริกา รู้หรือไม่ว่าเปลือกของอเมริกาเป็นอย่างไร?

ปัญญาเป็นเรื่องของความรู้เข้าใจที่ชัดเจน สังคมไทยเราก็ต้องการความรู้ และเราก็บอกกันว่าเรากำลังสร้างปัญญากัน แต่มีอันหนึ่งที่น่าสังเกต คือความไม่ชัด เรารู้ไม่ชัด ไม่ว่าเรื่องอะไรๆ ก็เต็มไปด้วยความไม่ชัด และรู้ไม่ชัด อะไรไปมาเป็นมาอย่างไรก็ไม่ชัด แม้แต่จะไปชื่นชมนิยมอะไรก็ไม่รู้จักมันชัด

อย่างที่เดี๋ยวนี้ไปนิยมชมชอบอเมริกา คนไทยก็ไม่รู้จักอเมริกาชัดเจน ทำตามเขาไปอย่างฉาบฉวยผิวเผิน ที่ว่าฉาบฉวยผิวเผินนั้น ถ้าพูดอีกภาษาหนึ่ง ก็คือไปเอาแค่เปลือก ฉาบฉวยผิวเผินก็คือเปลือก แล้วพอดูกันจริงๆ แม้แต่เปลือกของเขาเราก็ดูไม่ทั่ว แม้แต่เปลือกของเขาก็เห็นไม่ทั่วไม่ตลอด ไม่รอบด้าน ต้องย้ำว่าแม้แต่เปลือกก็ยังรู้จักเขาไม่จริงเลย ไปเห็นเปลือกบางส่วนแล้วก็ว่าตามๆ ไปอย่างนั้นเอง

การที่จะรู้ชัด เราจะต้องไม่รู้แค่เปลือก นอกจากมองเห็นเปลือกทั่วแล้ว ต้องรู้เนื้อในด้วย พอปอกเปลือกดูเนื้อในแล้วก็ลงไปถึงแก่นถึงแกน และลงไปถึงรากถึงฐาน ถึงเหตุปัจจัยที่สร้างสรรค์สังคมของเขามา

สังคมอเมริกันมีรากฐาน มีความเป็นมา มีภูมิหลัง มีเหตุปัจจัยอย่างไร เรื่องนี้พอถามกันขึ้นมาเราก็ไม่ค่อยจะรู้ และเมื่อว่าไปถึงเหตุปัจจัย ภูมิหลัง และรากฐานนั้น มันก็มีหลายด้าน เช่น ในด้านพลัง หรือกำลังด้านต่างๆ ก็มีทั้งกำลังทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการเมือง เป็นต้น ทุกด้านเป็นอย่างไรจะต้องรู้ แล้วก็ลงไปถึงเรื่องของสภาพจิตใจ ตลอดจนความต้องการ

เราควรศึกษาให้รู้เข้าใจว่า ความต้องการของสังคมอเมริกันเป็นอย่างไร ให้เห็นตลอดลงไปจนกระทั่งถึงแนวคิดความเชื่อว่า สังคมอเมริกันเจริญขึ้นมาโดยมีฐานทางความคิด มีแนวคิดความเชื่ออย่างไร อันไหนเป็นตัวกำกับ หรือเป็นตัวกำหนดสังคมของเขา ถ้าเราจะนิยมตามเขา ก็ต้องรู้เข้าใจเขา ถ้าเขาผิด เราก็ต้องแก้ไข ถ้าแก้ไขเขาไม่ได้ ก็ไม่ตามเขา แต่แก้ไขตัวเรานั่นแหละ ถ้าแก้ไขได้ก็คือการแก้ปัญหาร่วมกันของทั้งโลก ซึ่งในระยะยาวจะต้องพยายามแก้ไขให้ได้

วิชาการและข่าวสารที่ไหลเวียนมากมาย คนไทยรู้เข้าใจชัดเจนหรือไม่?

เรื่องความรู้ชัดนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก น่าจะต้องย้ำกันในสังคมไทย เพราะว่าเราแสดงออกทำนองว่าชื่นชมนิยมกันในเรื่องความรู้และวิชาการ ภูมิใจกันนักว่าได้อยู่กับเขาในโลกยุคข่าวสารข้อมูล แต่ก็รู้อะไรไม่ชัดสักเรื่อง

การหาความรู้ให้ชัดเจนถ่องแท้นี่เป็นเรื่องสำคัญ ถ้ารู้ไม่ชัดแล้วอะไรๆ ก็ไม่ชัดไปหมด พอรู้ไม่ชัดก็คิดไม่ชัด เราบอกกันว่าต้องคิดให้ชัด แต่ถ้าจะคิดให้ชัดก็ต้องรู้ชัด เมื่อรู้ชัดก็มีทางคิดชัด คิดให้ชัดแล้วก็มาพูดให้ชัด สามารถแสดงความเห็น หรือสื่อสารอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ชัดเจน ให้เห็นถ่องแท้กันไปเลย แล้วต่อไปก็ทำชัดอีก การที่จะทำได้ชัดก็เป็นผลมาจากต้องมีอื่นชัดมาทั้งหมด เริ่มแต่ต้องรู้ชัด แล้วก็คิดชัด จึงจะทำชัดได้

ที่ว่ารู้ชัดนั้น รวมทั้งต้องชัดในหลักการและชัดในจุดหมายด้วยว่า จะไปไหน จะเอาอะไร ต้องมีจุดหมายแน่ชัด จะได้มุ่งมั่นเดินหน้าไป

สังคมไทยนี่มีลักษณะที่เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือ ไม่มีจุดหมายร่วมกันของสังคม ทำให้กระจัดกระจายกันไปหมด จนกลายเป็นแต่ละคนเอาแต่ตัว ในเมื่อสังคมของเราไม่มีความชัดเจนในตัวเอง มันก็เลยหาจุดหมายไม่ได้

ตอนนี้หลักการก็ต้องชัด จุดหมายที่จะไปก็ต้องชัด เมื่อได้จุดหมายชัดก็ต้องต่อด้วยมีวิธีการที่ชัด แล้ววิธีการที่ชัดเจนก็จะนำไปสู่จุดหมายได้จริง ทั้งหลักการ-จุดหมาย-วิธีการ นี่เป็นปัญหาของสังคมไทย ซึ่งรวมอยู่ในเรื่องความชัด

ที่จริง คำว่า “ชัด” นี้เป็นความหมายของปัญญา เพราะปัญญา แปลว่า รู้ทั่วชัด ถ้าไม่รู้ทั่วชัด ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นปัญญาได้อย่างไร จะเป็นปัญญาก็ต้องชัดเจนขึ้นมา เพราะว่าองค์ประกอบของจิตใจ ตัวอื่นมันก็รู้ อย่างที่ทางพระบอกว่าวิญญาณก็รู้ แต่มันไม่ชัดอย่างปัญญา

เมื่อเรารับรู้อะไรต่างๆ เช่นเราเห็น เราได้ยินนั้น วิญญาณเกิดขึ้นทันที แต่มันยังไม่เป็นปัญญา จะเป็นปัญญาต่อเมื่อรู้เข้าใจชัดเจน และชัดขึ้นไปหลายๆ ชั้น ชัดในการแยกแยะวิเคราะห์องค์ประกอบว่ามีอะไรเป็นอย่างไร ชัดในเหตุปัจจัย สืบสาวได้ว่ามันเป็นมาอย่างไร เพราะอะไรจึงเป็นอย่างนี้ มันมีคุณมีโทษอย่างไร เป็นต้น ต้องให้มันชัดๆๆๆ กันไปตลอดทั้งหมด ถ้ามันชัดทุกส่วนทุกขั้น ปัญญาก็พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ

รวมความว่า อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ว่าสังคมไทยตอนนี้กำลังขาดความชัด ฉะนั้นจะต้องให้มันชัด และที่รู้ชัดก็คือปัญญา แล้วต่อไปจะได้คิดชัด พูดชัด ทำชัด แล้วอะไรต่ออะไรมันก็จะเดินหน้าไปด้วยดี อย่างเข้มแข็ง

คนที่รู้อะไรชัดเจนย่อมมั่นใจและเข้มแข็งแน่นอน เมื่อทำอะไรโดยมองเห็นชัดเจนก็มั่นใจ แล้วจึงจะเดินหน้าไปได้จริง เริ่มตั้งแต่เจอกับกระแสของโลกเวลานี้ เราไปตาม แต่ก็ไปเรื่อยเปื่อยอย่างที่ว่า ทั้งที่อยู่ในกระแสของเขา เราก็ไม่รู้จักกระแสนั้นเลย

เลิกคิดแยกส่วนที่กระจัดกระจาย จะเอาแค่องค์รวมที่พร่ามัว ใช่หรือไม่?

กระแสต่างๆ ในโลกปัจจุบันที่เราเกี่ยวข้อง มีหลายอย่าง กระแสสำคัญที่ท้าทายปัญญาอย่างยิ่งก็คือ กระแสความคิด โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นมาจนถึงเวลานี้ เรากำลังมีกระแสความคิดที่ว่า เออ เลิกกันเถอะนะแนวคิดแยกส่วน และชวนกันให้หันมาหาแนวคิดองค์รวม บอกว่าต้องมองแบบองค์รวม ให้เป็น holism หรือ holistic view

แต่เรื่อง holistic view อะไรนี่ก็น่าสังเกตอีกนั่นแหละ

คงจะต้องคอยติงๆ กันว่า จะเป็นเรื่องอะไรก็ตามต้องให้ชัด เพราะว่าในการหันมานิยมเรื่ององค์รวมนี่ก็เป็นการที่ว่าเขากำลังจะผละออกไปจากความคิดแยกส่วน แต่ในความคิดแยกส่วนนั้น มีหลักการสำคัญอย่างหนึ่งคือ การวิเคราะห์

การวิเคราะห์นั้น เป็นการแยกแยะจำแนกออกไปให้เห็นชัด ซึ่งในแง่หนึ่งก็เข้าทีอยู่ เพราะว่าการวิเคราะห์ที่แยกแยะทำให้เห็นชัดนั้นก็เป็นเรื่องของปัญญา ฉะนั้นอย่าไปเลิกเสียทีเดียว ระวังว่าบางทีเราจะไปสุดโต่ง

กระแสของโลกนั้นเขามีความโน้มเอียงอย่างหนึ่ง คือชอบไปสุดโต่ง ฝรั่งนี่ก็เถอะ ชอบไปสุดโต่ง เมื่อไปสุดทางโน้นแล้วหันกลับมาก็ไปสุดทางนี้ พอไปสุดทางหนึ่งก็ผละ บอกว่าไม่เอาแล้ว ก็หันกลับเต็มที่ไปอีกทางหนึ่ง

เมื่อจะเลิกกระแสความคิดแยกส่วนก็ว่า โอ๊ย ! ที่แล้วมา วิทยาศาสตร์นี่เป็นตัวการทำให้มนุษย์เรานำพาอารยธรรมไปในแนวทางของความคิดแยกส่วน ไม่ดี ไม่ถูก ต้องเลิกคิดแยกส่วน ต้องหันมาคิดแบบองค์รวม แต่แล้วองค์รวมที่ว่านั้นบางทีก็ไม่ชัด ถ้าเป็นองค์รวมพร่าๆ มัวๆ จะยิ่งร้ายใหญ่

องค์รวมนี้ เมื่อมองให้ตลอด ที่จริงมันอันเดียวกันกับวิเคราะห์หรือแยกแยะ ในทางพุทธศาสนาท่านให้ความสำคัญกับเรื่องการวิเคราะห์ เรียกว่า “วิภัชชะ” พุทธศาสนามีชื่อหนึ่งว่า “วิภัชชวาท” แปลว่าหลักการแห่งการจำแนกแยกแยะ อย่างในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ จะสอบพระ ก็ใช้หลักนี้ว่า พระพุทธเจ้าเป็น “วิภัชชวาที” ถ้าพระองค์ไหนไม่รู้ก็จับสึกเลย

หลักการวิเคราะห์นี่เป็นเรื่องสำคัญ อย่าด่วนไปดูถูก เดี๋ยวจะบอกว่าไม่ได้ความแล้ว เราเลิกแล้วความคิดแยกส่วน ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าแยกให้มันถูก วิเคราะห์ให้มันชัดๆๆๆ ไปเลย อย่าไปอยู่กับชัดเดียว ถ้าอยู่กับชัดเดียวก็หมายความว่าแยกแยะกระจายออกไป แล้วฉันก็ดูอยู่กับเรื่องของฉันอันเดียวนี่แหละ ไม่มองอื่นไหนอีก ก็เลยทำให้ยุ่ง

ถ้าแยกส่วนโดยเห็นความสัมพันธ์ของทุกองค์ร่วม ก็จะเห็นองค์รวมชัดขึ้นมาด้วย ใช่ไหม?

ในการวิเคราะห์ที่แท้นั้นจุดสำคัญคือต้องไม่ลืมองค์รวมที่เราวิเคราะห์ อะไรที่ทำให้ไม่ลืมองค์รวมหรือทำให้องค์รวมไม่หายไป ก็คือความสัมพันธ์

ในเวลาที่วิเคราะห์ออกไปนั้น จะต้องมองความสัมพันธ์ไปด้วยตลอดเวลา พอวิเคราะห์อันนี้แยกออกไปปั๊บ ก็มองเลยว่า อันนี้มันสัมพันธ์กับอันโน้นที่อยู่รอบตัวมันอย่างไร

ถ้าทำอย่างนี้ การวิเคราะห์หรือแยกแยะจำแนกแยกส่วนก็ไม่เสีย เพราะว่ายิ่งแยกไปก็ยิ่งเห็นความสัมพันธ์ เมื่อยิ่งเห็นความสัมพันธ์ มันก็เห็นองค์รวม ถ้าเราแยกแยะให้เห็นความสัมพันธ์ องค์รวมจะไม่หายเลย เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องความสัมพันธ์

ในอภิธรรม คัมภีร์สุดท้าย ที่เรียกว่าปัฏฐาน มี ๖ เล่ม ทั้งคัมภีร์ว่าด้วยลักษณะแห่งความสัมพันธ์แบบต่างๆ ๒๔ แบบ สิ่งทั้งหลายเมื่อจำแนกแยกแยะออกไปเราต้องรู้ความสัมพันธ์ ถ้าแยกอย่างเดียวมันก็กระจายหายไป แต่ถ้าแยกโดยเห็นความสัมพันธ์มันก็ไม่แยกกระจัดกระจาย เพราะว่าความสัมพันธ์เป็นตัวโยงกันอยู่ แล้วเราก็จะเห็นภาพรวม

ยิ่งกว่านั้น ภาพรวมที่ชัด ย่อมเกิดจากมองเห็นองค์ร่วมชัดทั่วกัน เมื่อองค์ร่วมไม่ชัด องค์รวมก็ไม่ชัด เมื่อเห็นความสัมพันธ์ขององค์ร่วมชัด ก็คือ การเห็นองค์รวมชัดนั่นเอง ดังนั้นองค์รวมกับองค์ร่วมนี่ต้องไปด้วยกัน

ปัญญาองค์รวมนั้น เอาอย่างง่ายๆ ก็คล้ายกับคนขึ้นไปบนอาคารสูงสัก ๗ ชั้น มองลงมาบนสนามหรือบริเวณมีเนื้อที่สัก ๒-๓ ไร่ ที่คนทั้งหลายทำกิจกรรมกันอยู่ ก็เห็นชัดว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร ทำอะไรกับใคร อะไรไปมาถูกทางผิดทาง และกิจกรรมทั้งหมดดำเนินไปอย่างไร อย่างที่ทางพระเรียกว่า ขึ้นสู่ “ปัญญาปราสาท” หรือ “ปราสาทแห่งปัญญา” (ไม่ใช่หอคอยงาช้าง)

แต่ถ้าแยกเอาออกไปดูเพียงคนหนึ่งสองคนจนเห็นชัดแต่อยู่แค่นั้น หรือไปอยู่ไกลตั้งโยชน์มองมาเห็นทั้งสนามทั้งบริเวณเหมือนกัน แต่ก็เห็นมัวๆ ไปหมดไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร

เวลานี้กำลังจะกลายเป็นว่า หรือบางทีเหมือนกับว่า จะเอาข้างเดียว จะเลิกแยกส่วนแล้วจะเอาองค์รวม พอเอาองค์รวมก็เป็นองค์รวมที่พร่าที่มัวที่คลุมเครือ ก็จะไปไม่รอดอีก แต่จะกลายเป็นสุดโต่ง

คนสมัยก่อนเขาก็องค์รวมมาแล้ว บางทีเราก็ไปติเขาว่า เขาองค์รวมแบบพร่าๆ มัวๆ จึงเป็นเหตุให้ต้องมาวิเคราะห์ แต่พอวิเคราะห์ไปๆ ก็ลืมตัว เลยแยกส่วนกระจายหายไปในด้านของตนๆ ก็เลยไม่ได้องค์รวมอีก

ทีนี้ถ้าจะให้พอดีก็คือ ต้องไปด้วยกันทั้งองค์ร่วมและองค์รวม ทั้งแยกทั้งโยง ทั้งวิเคราะห์ทั้งสังเคราะห์ ถ้าสังเคราะห์ก็ไปอีกขั้นหนึ่ง หมายความว่า เราเห็นองค์ร่วมและองค์รวมชัดแล้ว ทีนี้เราจะสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ เราก็ทำได้ เพราะว่าเมื่อเราเห็นองค์ร่วมชัด เราจะจัดสรร จะทำอะไรต่ออะไร มันก็ได้ผลขึ้นมา

เป็นอันว่า ไม่เอาทั้งนั้น ทั้งองค์รวมที่พร่ามัวคลุมเครือ ทั้งแยกส่วนที่กระจัดกระจาย แต่เอาแยกส่วน จนเห็นองค์ร่วมแต่ละอย่างปรุโปร่ง ว่ามันมาประสานกันเกิดเป็นองค์รวมที่เป็นระบบสัมพันธ์อันชัดเจนอย่างไร

คนไทยมีศักยภาพพอไหม ที่จะก้าวออกไปนำกระแสใหม่?

เรื่องที่พูดมานั้นก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่า แม้แต่ความคิดซึ่งเป็นเรื่องของกระแสทางปัญญาโดยตรงนี่ เราก็ยังติดปัญหากันอยู่ จึงต้องคิดว่าเราจะต้องเป็นตัวของตัวเอง

สังคมไทยจะต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ไม่ใช่จะต้องไปตามกระแส แต่จะต้องรู้จักกระแส และต้องรู้จักกระแสนั้นให้ชัดเจน แล้วก็มีส่วนร่วมในการปรับในการแก้กระแส หรือถ้าเก่งจริง ก็ไปนำกระแสด้วย

คนไทยน่าจะมีความสามารถนำกระแสให้ดีได้ ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่ากระแสปัจจุบันนี่เป็นกระแสที่ผิดพลาด เป็นกระแสที่มีปัญหามาก

เวลานี้เราพูดกันถึงกระแสแนวคิดทุนนิยม เรื่องระบบธุรกิจหาผลประโยชน์ และการมุ่งทำกำไรสูงสุด อันนี้ก็ไปสุดโต่งแบบหนึ่ง ส่วนลึกลงไปด้านกระแสความคิดในเชิงปัญญา ก็อย่างเรื่ององค์รวมที่ว่าเมื่อกี้

กระแสความคิดอะไรต่างๆ เหล่านี้ ในเมื่อมันมีปัญหาก็ต้องแก้ไข แต่ถ้าเราจะแก้ไข เราก็ต้องมีอะไรที่ชัดเจนของเรา ถ้าเรามีปัญญาจริง ก็จะเกิดความมั่นใจ แล้วเราก็จะสามารถขึ้นไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรม หรือแม้กระทั่งว่า ถ้าเขาไปกันผิดทาง ก็อาจจะต้องนำเขา

คนไทยเราน่าจะพัฒนาศักยภาพขึ้นมา เราจึงต้องดูตัวเราเองว่า เรามีข้อดีอะไรบ้าง ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า นอกจากไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักสังคมของคนอื่น ไม่รู้จักกระแสภายนอกที่เราตามแล้ว แม้แต่ตัวเองเราก็ไม่รู้จัก สังคมไทยของเราเป็นอย่างไร เรามีดีอะไรเราก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ

ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของความไม่ชัดทั้งหลายที่จะต้องแก้ไข เราจะต้องมาพัฒนาปัญญา โดยเน้นเรื่องความรู้ชัด คือรู้อะไรก็ต้องรู้ให้จริง ให้ถ่องแท้ ต้องค้นคว้าสืบสาวตรวจสอบกันอย่างจริงจัง

จริงไหมที่ว่า แค่เรียนภาษาอังกฤษ คนไทยก็ไม่มีจุดหมายชัดเจนว่าเรียนไปเพื่ออะไร

อย่างจะเรียนภาษาอังกฤษ ก็ควรจะชัดต่อความมุ่งหมายว่าจะเรียนไปทำไม มองอย่างง่ายๆ ก็พูดกันว่าให้รู้ภาษาอังกฤษเพราะเป็นภาษาที่สำคัญ ที่กำลังขยายใช้กันไปทั่วโลก เป็นภาษาอินเทอร์เนต เป็นภาษาของระบบคอมพิวเตอร์ เป็นภาษาในไซเบอร์สเปซ ภาษาอังกฤษกำลังจะเป็นภาษาสากล

เอาละ เป็นอันว่าจะต้องรู้ จึงจะเรียนภาษาอังกฤษ แต่ที่ว่าจะต้องรู้นั้นจะต้องรู้กันขนาดไหน จะรู้แค่สำหรับไปซื้อสินค้ามาบริโภค หรือจะรู้ขั้นไปเป็นนักค้นคว้า อันนี้ก็ต้องถามกันแล้ว

ถ้ารู้แค่ไปซื้อสินค้ามาเสพ ก็เห็นจะไม่ค่อยได้เรื่องอะไร เขาก็ขายสินค้าของเขา เราก็เป็นนักซื้ออยู่แล้ว ก็เลยรู้ภาษาอังกฤษแค่พอไปซื้อสินค้า เอาเงินให้เขาเพื่อเอาของมาเสพได้

ถ้าให้ดีก็ต้องรู้ถึงขั้นเป็นนักค้นคว้า การค้นคว้านั้นด้านหนึ่งก็คือ ค้นคว้าหาความรู้ที่จะมาผลิตสินค้าเสียเอง แทนที่จะจบแค่ไปซื้อสินค้า ก็รู้ถึงขั้นผลิต เช่นไปเรียนให้รู้วิธีในการผลิต แล้วก็ผลิตสินค้านั้นเองเลย ถ้ารู้แบบที่สองคือขั้นค้นคว้าหาความรู้มาผลิตสินค้าได้เอง ตอนนี้แหละจะเก่ง

แต่บางทีเราอาจไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญมากในแนวเดียวดิ่งไป เพราะภาษาอังกฤษนี่ถึงจะเป็นประโยชน์ แต่ก็มีความสำคัญในขอบเขตหนึ่ง เราควรให้ความสำคัญแต่พอดี ว่ากันไปเราก็คงต้องแยกดูเป็นขั้นๆ

อย่างเวลานี้เรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องใหญ่ เราบอกว่าต้องการความเจริญทางเทคโนโลยี เราก็บอกว่าจะต้องรู้ภาษาทางเทคโนโลยี ภาษาไอทีก็เป็นภาษาอังกฤษ แล้วเราก็เลยจะไปตามอเมริกัน ว่าต้องรู้ภาษาอังกฤษ เป็นต้น

แต่มองอีกที เราก็น่าจะดูประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ ที่เขาเจริญทางเทคโนโลยีด้วย ตัวอย่างง่ายๆ อย่าง ญี่ปุ่นก็ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ แต่ก็เจริญทางเทคโนโลยี จนกระทั่งบางที บางด้าน บางเรื่อง ก็นำอเมริกาด้วยซ้ำ ญี่ปุ่นไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่ทำไมมีความรู้ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างดี

เราต้องดูญี่ปุ่นด้วยว่าเขาสร้างสรรค์ความเจริญ เขาพัฒนาปัญญาคนของเขาอย่างไร เขามีแง่ปฏิบัติต่อเรื่องเทคโนโลยีอย่างไร ทำไมตำรับตำราอเมริกันออกมาปั๊บไม่นานเท่าไร ตำราญี่ปุ่นในเรื่องนั้น แม้แต่เรื่องเทคโนโลยีก็ออกมาเป็นภาษาญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นรู้ทันฝรั่ง ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยรู้ภาษาอังกฤษ ทำไมเขาทำได้

ถ้าเราเอาแต่จะให้นักเรียนไทยรู้ภาษาอังกฤษ เสร็จแล้วแต่ละคนรู้เป็นเป็ดไปหมดทั้งประเทศ จะเป็นอย่างไร ก็เลยไม่ได้เรื่องสักคน บางประเทศเขามีนโยบายและแนวทางชัด เท่าที่ทราบ อย่างญี่ปุ่นนี่เขามุ่งให้คนกลุ่มเดียวรู้ภาษาอังกฤษ แต่ให้ รู้จริงรู้แท้ รู้ชัดรู้จัดเจน รู้ชนิดใช้ทำงานได้แน่นอน แล้วให้มีหน้าที่โดยตรง ตำราฝรั่งอะไรออกมา กลุ่มคนที่รู้ภาษาอังกฤษอย่างดีนี้ก็แปลออกมาทันทีทันควัน เดี๋ยวเดียวคนญี่ปุ่นก็รู้ทันความคิดและวิทยาการที่เจริญก้าวหน้าของฝรั่งด้วยภาษาญี่ปุ่นนั่นแหละ

ทีนี้ ถ้าเราจะให้คนของเราทั้งประเทศ ไปรู้ทันวิทยาการของฝรั่งกันทั้งหมดนี่เราจะหนักเหลือเกิน และคงทำไม่สำเร็จ อันนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณา คงจะต้องมาคิดแยกแยะกัน

จริงไหมว่า อารยธรรมมนุษย์ไม่ถึงจุดหมาย เพราะมัวก้าวสุดโต่งไปสุดโต่งมา?

รวมความก็คือ เป็นเรื่องของกระแสต่างๆ ที่เข้ามา ที่เราจะต้องรู้เท่าทัน จุดสำคัญเริ่มแรกก็คือความรู้ชัด แล้วความรู้ชัดนี่มันหนีไม่ได้จากการรู้จักวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบ และสืบสาวเหตุปัจจัย เป็นต้น

ฉะนั้น แม้จะมาสู่กระแสความคิดแบบองค์รวมแล้ว ก็จะทิ้งเรื่องการวิเคราะห์ไม่ได้ เป็นแต่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้แนวคิดแยกส่วนกับแนวคิดองค์รวมนี่ ประสานกันเป็นความคิดที่พอดี ถ้าแยกเป็นสองอย่างแล้วเลือกเอาอย่างเดียวก็คือเป็นสุดโต่ง

ที่จริงในธรรมชาติเอง สิ่งทั้งหลายไม่ได้แยกขาดจากกัน เมื่อเราวิเคราะห์ออกไป มันก็สัมพันธ์กันอยู่ ยิ่งเราไปเห็นองค์ประกอบย่อยแล้ว ตามมองมันดูไป เราก็จะเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับองค์ประกอบอื่น โดยที่องค์ประกอบอันเดียวอาจจะไปสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นอีกตั้งเป็นร้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษากันมากมาย

ทีนี้ถ้าเราไปวิเคราะห์ โดยพยายามรู้จักเฉพาะสิ่งนั้นๆ อย่างเดียว โดยไม่ได้มองความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ก็จะทำให้ความเป็นองค์รวมหายไป แต่ถ้าเราแยกแยะมันโดยมองตามความสัมพันธ์ไป ก็จะเห็นองค์รวมไปด้วยในตัวเสร็จ

เพราะฉะนั้น ความคิดวิเคราะห์จำแนกแยกส่วนกับความคิดองค์รวมนี่ ในที่สุดก็เป็นอันเดียวกัน คืออันเดียวกันนั่นแหละ ถ้าทำถูกต้องก็จะรู้ชัดไปด้วยกัน และที่จริงต้องรู้ชัดไปด้วยกันจึงจะรู้แต่ละด้านนั้นจริง จึงไม่น่าจะมีปัญหา

จะต้องระวังแต่เรื่องความไปสุดโต่ง เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาแล้ว สังคมได้พัฒนาอารยธรรมแบบสุดโต่งมาแล้ว อย่างในสังคมยุโรปสุดโต่งทางจิต ไปทาง spiritual มาตลอดสมัยกลางเป็นพันปี เสร็จแล้วก็ผละมาทางวัตถุไปเอา material วิทยาศาสตร์บอกไม่เอาแล้วทางจิตใจ ไม่ได้เรื่อง ไม่จริง ก็เลยหันมาทางวัตถุจนกลายเป็นสุดโต่งทางวัตถุ เต็มที่

วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ในความหมายที่ใช้กันตามที่ฝรั่งวางไว้ ก็หมายถึงวิทยาศาสตร์ทางวัตถุนั่นเอง ซึ่งที่จริงไม่ใช่วิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่ครบถ้วน ถ้าจะให้เป็นวิทยาศาสตร์ที่ครบเต็มธรรมชาติทั้งหมด ก็ต้องมีทั้งด้านวัตถุ ทั้งด้านจิตใจหรือนามธรรม ฝรั่งบอกว่าของเขาเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แต่ที่จริงเป็นวิทยาศาสตร์วัตถุเท่านั้น ฝรั่งก็ว่าไปเต็มที่ทางวัตถุอย่างเดียว จนสุดโต่ง

มาถึงตอนนี้ เอาอีกแล้ว เกิดปัญหาเริ่มมีคนปฏิเสธวิทยาศาสตร์ พวกนี้ก็หันไปทางจิตใจ ไปค้นคว้าทางจิตกัน มีขบวนการต่างๆ เกิดขึ้นในตะวันตกเป็นระยะๆ เริ่มแต่ราว ค.ศ. ๑๙๕๐ เรื่อยมา พวกกระแสใหม่ๆ อย่างนี้ ก็ต้องระวัง จะไปสุดโต่งอีก

องค์รวมพื้นฐาน คือองค์รวมแห่งการดำเนินชีวิตของทุกๆ คน เราเริ่มต้นกันหรือยัง?

รวมแล้วก็คือ เราควรตามดูอย่างรู้เท่าทันว่าสังคมตะวันตกเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะต้องไปชื่นชมนิยมตาม

ความรู้เท่าทันนี่สำคัญ ต้องทันสังคมตะวันตกว่า อเมริกันเป็นอย่างไร พร้อมกับที่เจริญก้าวหน้ามานั้น เขาพลาดอย่างไร เขาเผลอด้านไหน เขาขาดอะไร เขาออกนอกทางไปอย่างไร สุดโต่งอย่างไร เมื่อรู้เขา เราก็จะเป็นตัวของเราเอง

ความรู้ชัดจะทำให้เราเกิดอิสรภาพ เพราะว่าอิสรภาพจะได้มาด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา อิสรภาพก็ไม่เกิดขึ้น

ปัญญาเป็นตัวปลดปล่อย เวลานี้เราชอบใช้คำว่า “ปลดปล่อย” เราไปปลดปล่อยทางสังคม ปลดปล่อยอะไรต่ออะไรกันเยอะ แต่จะปลดปล่อยตัวเองให้พ้นจากอำนาจกิเลส จากอวิชชา จากความมืดบอดได้ ก็ต้องเอาปัญญามาปลดปล่อย ปัญญาจะเป็นตัวปลดปล่อยจิตใจด้วย ทำให้คนหลุดพ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ได้

ตกลงก็เอาปัญญานี่มาเป็นองค์ประกอบร่วม ซึ่งก็อยู่ในองค์รวมแห่งระบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั่นเอง ซึ่งมี

หนึ่ง ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งทางวัตถุธรรมชาติ และทางสังคม ด้วยกาย วาจา และด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เรียกว่าอินทรีย์ ซึ่งก็สัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา เป็นชีวิตด้านที่มองเห็นกันทั่วไป

สอง แล้วเบื้องหลังความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ที่แสดงออกมาด้วยพฤติกรรมและการสื่อสารทางอินทรีย์นั้น ก็มีจิตใจ เป็นเจ้าของบทบาทและเป็นนายงาน ซึ่งประมวลเอาคุณสมบัติของมัน แสดงออกมาผ่านเจตนาหรือเจตจำนง แล้วเจตจำนงนี้ก็เป็นตัวนำพฤติกรรมที่จะสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมว่าจะเอาอย่างไร จะสัมพันธ์ในทางที่เป็นบวก หรือเป็นลบ ในทางที่เป็นความเกื้อกูลหรือเป็นการทำลาย หรืออย่างไรๆ ทั้งหมดนั้นก็อยู่ที่เจตจำนง

สาม เบื้องหลังเจตจำนงนี้ก็มีทิฐิ คือ ความรู้เข้าใจแนวคิดความเชื่อคอยปรุงแต่งชี้นำกำกับ โดยบอกจุดหมายและทิศทางให้แก่เจตนา ทั้งนี้ภายใต้การส่องทางของปัญญา โดยที่ปัญญาจะมาขยายเบิกช่องทาง ปรับแก้ และทำให้ผ่านพ้นความติดขัดต่างๆ แก้ปัญหาไปได้อย่างแท้จริง

นี่คือหลักองค์รวมของการดำเนินชีวิต ที่มีองค์ประกอบ ๓ ด้าน ซึ่งใช้เป็นหลักแห่งการศึกษาพัฒนามนุษย์ คือ

๑. ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ และทางสังคม ด้วยกาย วาจา และอินทรีย์ เมื่อมีการพัฒนาก็เป็นการศึกษาด้าน “ศีล”

๒. เรื่องของจิตใจที่ออกมาทางเจตจำนงหรือเจตนากำกับบัญชาพฤติกรรม แล้วก็นำความเป็นไปของโลก โดยเฉพาะสังคมมนุษย์นี้ ให้เป็นไปตามกรรมของมนุษย์ คือการกระทำ คำพูด ความคิด ทั้งหมดนี้ เมื่อมีการพัฒนา ก็เรียกสั้นๆ ว่า เป็นการศึกษาด้าน “สมาธิ”

๓. การพัฒนาปัญญา ที่เป็นตัวรู้ เป็นตัวจัดปรับแก้ไข ขยายขอบเขตของพฤติกรรม และจิตใจทั้งหมด ตลอดจนปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ เป็นการศึกษาด้าน “ปัญญา”

คนเราก็อยู่กันแค่นี้ ถ้าจับหลักได้ก็มองเห็น ๓ ส่วน ซึ่งเป็นเนื้อตัวแห่งชีวิตของเรา ถ้าเราจัดการกับองค์ประกอบเหล่านี้ได้ถูกต้อง เราก็ดำเนินชีวิตได้ดี และปฏิบัติเกี่ยวข้องสัมพันธ์ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ผลดี สามารถออกไปร่วมแก้ไขปัญหาสังคม สร้างสรรค์ ตลอดจนนำสังคมได้ทุกระดับ จนถึงสังคมวงกว้าง คือโลกทั้งหมด

องค์รวมแห่งระบบการศึกษาพัฒนาชีวิตนี้ เป็นองค์รวมพื้นฐาน ถ้าแค่องค์รวมแห่งระบบชีวิตของตัวเอง ก็ยังไม่รู้เข้าใจ และจัดการให้ถูกให้ดีไม่ได้ จะไปพูดอะไรกันในเรื่ององค์รวมอื่นๆ ที่คลุมเครือ

ทำองค์ร่วมให้พรั่งพร้อมถึงจุดพอดี องค์รวมก็สำเร็จเองทันที จริงไหม?

ถ้ามีปัญญารู้ชัดเจน แล้วทำการทั้งหลายด้วยเจตนาที่ดีงามมุ่งสู่จุดหมายที่เป็นกุศล อารยธรรมที่แท้จริงก็มีทางที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องประสานกันตั้งแต่การรู้ชีวิตของตัวเอง ไปจนถึงรู้โลกทั้งหมด

ถึงจะออกไปรู้โลกกว้างขวาง แต่ถ้าไม่รู้จักตัวเอง ในที่สุดก็ไปไม่รอด จึงจะต้องประสานความรู้ที่ชัดเจนทั่วตลอดเป็นองค์รวมให้ได้

องค์รวมแท้ ที่องค์ร่วมทุกอย่างสัมพันธ์กัน โยงกันถูกที่ถูกทาง พอเหมาะพอดี จะเป็นความสมบูรณ์ของการดำเนินชีวิตและกิจการทั้งหลายที่ดำเนินไปอย่างถูกต้อง

เป็นอันว่า ก็มาลงที่คำว่า “ชัดเจน” เมื่อทุกอย่างชัดเจนแล้วก็ทำแต่ละอย่างนั้นให้สุกงอม เมื่อแต่ละอย่างสุกงอมแล้วก็ประมวลกันให้เกิดความพรั่งพร้อม

จุดนี้ต้องเน้นมาก เพราะว่าถ้าปัจจัยไม่พรั่งพร้อมแล้ว เราจะทำเหตุไปเท่าไร ผลก็ไม่เกิด ใครบอกว่าทำเหตุแล้วได้ผลนั้นไม่จริง เรียกว่าพูดไม่ครบ ต้องพูดว่าปัจจัยพรั่งพร้อมจึงจะเกิดผล

เหตุอย่างเดียวยังไม่พอที่จะให้ผลที่ต้องการ ผลน่ะเกิดแน่ แต่มันเกิดผลอย่างอื่น ไม่เกิดผลที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นต้องให้ปัจจัยพรั่งพร้อม พอปัจจัยพรั่งพร้อมจริง ก็เรียกว่าถึงที่ เป็นความพอดีที่ว่า จากเหตุก็เกิดผลขึ้นมาตรงตามที่มุ่งหมาย

ต้องมี ชัดเจน สุกงอม พรั่งพร้อม แล้วก็ ถึงที่ คราวนี้แหละ พอถึงที่ได้จุดแล้ว ทีนี้ก็พอดี พอองค์ประกอบทุกส่วนลงตัวพอดี นี่คือ องค์รวมที่แท้ ซึ่งองค์ร่วมทั้งหลายเข้ามาประสานกันพอดี เกิดมี harmony ขึ้นมา ไม่ใช่ compromise ไม่ใช่แค่ประนีประนอม พอประสานกัน ลงตัวพอดีเป็นมัชฌิมา ก็ได้ผลทันที เพราะฉะนั้นจึงลงท้ายที่พอดี ซึ่งเป็นมัชฌิมา

พอเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เรียกสั้นๆ ว่า “มัชฌิมา” เข้าหลักที่ว่า ทุกส่วนที่เป็นองค์ประกอบหรือองค์ร่วมขององค์รวมนั้นมาประสานและเกื้อกูลกัน ก็จะทำให้ปัจจัยต่างๆ ทำงานกันอย่างกลมกลืน แล้วผลที่ต้องการก็เกิดขึ้นจนบรรลุจุดหมาย ชีวิตก็เป็นชีวิตที่ดี พ้นจากปัญหา พ้นจากความทุกข์ สังคมก็ก้าวหน้าเจริญไปด้วยดี อารยธรรมของโลกก็มีทางที่จะบรรลุผลสำเร็จ

มนุษย์จึงไม่ได้สิ้นหวังแต่อย่างใดทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงเดินทางให้ถูกต้องเท่านั้นเอง

เมื่อใดอารยธรรมเป็นกระแสแห่งความเจริญที่เป็นธรรมสมตามชื่อของมัน เมื่อนั้นอารยธรรมก็จะนำมนุษยชาติไปสู่ความเป็นไท ให้มีความเป็นอิสระที่แท้จริง โลกจึงต้องการกระแสอารยธรรมใหม่ ที่นำมนุษย์ไปสู่ความเป็นไท

ต้อนรับปีใหม่ ต้องรับการท้าทายของมันด้วย

วันนี้ อาตมภาพขออนุโมทนาท่านนายกสภามหาวิทยาลัยศรีปทุม พร้อมด้วยท่านอธิการบดี กับทั้งคณะกรรมการสภาฯ คณะผู้บริหาร รวมทั้งท่านที่ปรึกษา และคณาจารย์ทุกท่าน ตลอดจนนักศึกษาถ้าจะมีมาด้วย ขยายไปถึงญาติโยมสาธุชน

โดยเฉพาะขอขอบพระคุณท่านพระเถรานุเถระที่ได้มาในวันนี้ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการมาให้ความสำคัญแก่ตัวกระผมเอง ซึ่งในแง่นี้แม้จะขอบคุณ แต่ก็คงจะอึดอัดด้วย เพราะรู้สึกว่าเกรงใจเป็นที่สุดอย่างที่กล่าวแล้ว

แต่ความอึดอัดเกรงใจนั้นก็พอจะคลายลงไป เมื่อมองในแง่ว่า เอาละเรามาแสดงออกให้เห็นว่าจะร่วมกันทำกิจกรรมอันหนึ่ง ที่จะให้วัตถุประสงค์ของสังคมนี้เคลื่อนไป โดยเฉพาะคือทำวัตถุประสงค์ในทางการศึกษาให้คืบหน้าไปสู่จุดหมาย คือการที่เราจะร่วมกันสร้างสรรค์สังคม เริ่มตั้งแต่สังคมไทยของเรานี้ให้ก้าวหน้า พ้นจากปัญหา ไปสู่ความเจริญงอกงาม

โดยเฉพาะก็จะถึงปีใหม่ในอีกไม่กี่วันแล้ว นอกจากอวยชัยให้พร แสดงความปรารถนาดีต่อทุกท่านในแง่ที่มาเยี่ยมเยียน และมาถวายปริญญาแล้ว ก็เลยอวยพรปีใหม่ด้วย

เมื่อถึงปีใหม่ ก็ผ่านพ้นปีเก่า ในปีเก่าที่จะผ่านไปมีอะไรที่ไม่ดีก็ยกเลิกไป และแก้ไขให้หมดสิ้น ส่วนอะไรดีก็ส่งเสริมต่อไป

ปีใหม่กำลังมา ต้องพูดว่าปีใหม่ต้อนรับเรา และเราก็ต้อนรับปีใหม่ โดยมีจิตใจสดใสเบิกบาน เมื่อเป็นจิตใจที่ดีงาม ก็เป็นบุญเป็นกุศล

แต่มองอีกแง่หนึ่งก็ต้องย้ำว่า ปีใหม่มันท้าทายเราด้วย เพราะว่าปีใหม่ก็คือหนทางข้างหน้าที่เรายังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร มีอะไรอยู่ข้างหน้า เราจะเผชิญ จะเจออะไร เรายังไม่รู้ ในเมื่อเรายังไม่รู้ มันก็ท้าทาย

ไม่ว่าจะมีอุปสรรค มีปัญหา มีภารกิจอะไรรอหน้าอยู่ เราจะต้องทำ เราต้องมีกำลังใจที่จะเดินหน้า ไปเผชิญ ทั้งจัดการแก้ไข และสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ให้สำเร็จลุล่วงไป เรียกว่าใจสู้นั่นเอง คือมีวิริยะ ไม่กลัว ไม่ท้อถอย ถ้าได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเราพร้อมที่จะต้อนรับปีใหม่ ไม่ว่าจะมาในแง่ดีแง่ร้าย เราสู้ได้ทั้งนั้น และเราจะพยายามทำให้มันดีที่สุดด้วย

อารยธรรมเปิดช่องไว้ ถ้าไทยเก่งจริงต้องก้าวไปนำ

ฉะนั้น ในโอกาสนี้ จึงขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศล โดยเฉพาะคือกุศลเจตนาของท่านอาจารย์ทุกท่าน ที่ได้มีเมตตาไมตรีธรรม และมีเจตนาที่เป็นบุญ มุ่งหวังประโยชน์สุขแก่สังคม โดยเริ่มจากฐานคือการศึกษานี้ ที่ทำให้เรามาร่วมกันในการที่จะสร้างสรรค์สังคม ด้วยการพัฒนาปัญญาเป็นต้น ให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งที่จะเดินหน้าต่อไป

อย่างน้อยเราจะให้สังคมไทยได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ไหล ผู้ตาม ผู้ถูกครอบงำ แต่มีกำลังที่จะไปร่วมสร้างสรรค์ ถ้าเก่งจริงก็ไปนำ แล้วก็พาโลกนี้ไปสู่สันติสุขที่แท้จริง ซึ่งเป็นความหวังที่ผู้นำอารยธรรมปัจจุบันนี้ยังไม่มี เพราะเขายังไม่เห็นชัดในความหวัง เท่ากับเปิดช่องไว้ให้ไทยเราเป็นผู้นำได้ อย่างน้อยนำในความหวังก่อน แล้วนำที่จะทำให้เป็นจริงต่อไป

ขอให้ทุกท่าน พร้อมทั้งครอบครัว ญาติมิตร และประชาชนชาวไทย ตลอดจนชาวโลกทั้งปวง เจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังความสามัคคี ที่จะดำเนินชีวิตและกิจการงานให้ก้าวหน้า บรรลุผลสมหมาย ยังประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต แก่ครอบครัว แก่สังคม ประเทศชาติ และแก่โลกนี้ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ตลอดปีใหม่ ๒๕๔๖ และตลอดไปทุกเมื่อ

1สัมโมทนียกถา ของ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมถวายปริญญา ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารองค์การ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๕ ณ อุโบสถวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง