บทเรียน ๒๕ ปี คนไทยเรียนรู้หรือยัง?

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปัญหาสังคมไทยปัจจุบัน
และแนวทางแก้ไข1

หัวข้อเรื่องที่นิมนต์ให้พูดนี้2 รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่กินความกว้างมาก บางท่านอาจสงสัยว่าพระมาเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้ด้วย

ความจริงนั้น เรื่องปัญหาสังคมก็ดี เรื่องทางการแพทย์ก็ดี มีความเกี่ยวข้องกับพระอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์นั้นมีบัญญัติไว้ว่าเป็นผู้ให้ธรรมทาน ธรรมทาน คือการให้ธรรม แจงความหมายออกไปว่า เป็นการพยายามชี้แจงแนะนำในเรื่องหลักความดีงาม หรือหลักการที่จะช่วยให้มนุษย์ได้ประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ซึ่งมีความหมายกว้างขวาง เราต้องการให้สังคมประสบสิ่งที่ดีงาม สามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นความทุกข์ ความขัดข้องต่างๆ จึงนับว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธรรมะอยู่ด้วย

สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันใหญ่อย่างหนึ่งในสังคมไทย ในฐานะที่เป็นสถาบันเช่นนี้ ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับสังคมอยู่ในตัว หรือจะว่าเกี่ยวข้องอยู่ตลอดทุกเวลาก็ว่าได้ โดยมีบทบาทในทางสังคมเองบ้าง พฤติกรรม กิจกรรม และกิจการต่างๆ ที่พระสงฆ์กระทำมีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมไปด้วยบ้าง ความเป็นไปในสังคมมีผลต่อสถาบันสงฆ์บ้าง เพราะฉะนั้น จึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่พระศาสนา ไม่ว่าจะเป็นธรรมคำสอนก็ตาม หรือพระสงฆ์ในรูปของสถาบันหรือวัดวาอารามก็ตาม จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับสังคม

ลักษณะทั่วไปของปัญหาสังคมไทย

เรื่องปัญหาสังคมนั้น ในปัจจุบันมีอยู่มากมายและเป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว สังคมไทยในปัจจุบันถูกเรียกว่า เป็นสังคมด้อยพัฒนา หรือพยายามพูดให้ดีขึ้นมาหน่อยก็กำลังพัฒนา หมายความว่ากำลังพยายามทำตัวให้เจริญขึ้น แต่ยังไม่เจริญในรูปที่น่าพอใจ เมื่อเป็นอย่างนั้นก็หมายความว่าสภาพในปัจจุบันนี้เป็นสภาพที่ยังไม่ดี ยังไม่สมปรารถนา เพราะมีปัญหามากมาย เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเรื่องประชากรจะล้นประเทศ การว่างงาน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม บริการทางด้านสุขภาพอนามัย และบริการสังคมอย่างอื่นๆ ไม่ทั่วถึง เป็นต้น อันนี้เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว คิดว่าจะไม่มาแจกแจงเรื่องปัญหาในสังคมไทยว่ากำลังเป็นอย่างไรบ้าง

ปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องซับซ้อน บางปัญหาเป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกัน เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน เช่น ปัญหาความยากจนก็เป็นเหตุปัจจัยให้แก่ปัญหาอาชญากรรม โดยที่คนยากจนอาจจะประกอบอาชญากรรมขึ้น ในเมื่อไม่มีทางออกอย่างอื่นและไม่มีเครื่องยับยั้ง เมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้น ก็ทำให้เกิดความยากจนขึ้นอีก เช่น ผู้ประกอบอาชญากรรมนั้นประกอบอาชญากรรมแล้วถูกจับได้ ติดคุก ลูกเมียก็ลำบาก หรือตนเองไปทำอาชญากรรมแก่ผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นถูกฆ่า หรือได้รับบาดเจ็บทุพพลภาพไป เช่น การปล้นรถแท็กซี่ เป็นต้น เสร็จแล้วลูกเมียของผู้ที่ถูกฆ่าหรือพิกลพิการนั้นก็พลอยได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน พลอยยากจนข้นแค้นลงไปด้วย อันนี้ก็เป็นปัญหาพัวพันกันไป

หรืออย่างในชนบท ปัญหาจากประชาชนไม่รู้ไม่เข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ไม่รู้จักคุณค่าของการสงวนทรัพยากรธรรมชาติ จากความไม่รู้นั้นที่ไปตัดไม้ทำลายป่า ทำให้สูญเสียทรัพยากรของชาติไป ในระยะยาวก็ทำให้เกิดความแห้งแล้งขึ้นมาซ้ำเติมความยากจนลงไปอีก เป็นปัญหาที่วนเวียนพัลวันและจะสะสมปัญหายิ่งขึ้น คือปัญหาหนึ่งก็จะสะท้อนไปอีกปัญหาหนึ่ง แล้วสังคมที่มีปัญหาอย่างนี้ ก็กลายเป็นสังคมที่พอกพูนปัญหาให้ตนเอง และถ้าไม่รีบแก้ไข ไม่หาทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ก็จะเกิดความยุ่งยากซับซ้อนและความเสื่อมโทรมมากขึ้นไปเป็นลำดับ

ลักษณะพิเศษของปัญหาสังคมไทย

ได้บอกแล้วว่าจะไม่พยายามพูดรายละเอียดของปัญหาเหล่านี้ จะพูดแต่เรื่องใหญ่ ที่นับว่าเป็นปัญหาหลัก ซึ่งปัญหาหลักเหล่านี้เป็นสาเหตุของปัญหาอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาอื่นและเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาด้วย ขอย้อนไปสู่ปัญหาหลักที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งหมดนี้ ถ้าลองพยายามสืบสวนค้นหาดูแล้วจะเห็นว่า ข้อสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นนี้ มาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม เริ่มตั้งแต่การที่สังคมไทยที่เราเรียกว่า สังคมแบบไทยๆ เดิม ได้เปลี่ยนแปลงปรับตัวมารับความเจริญสมัยใหม่ หรือความเจริญแบบตะวันตก จากช่วงต่อแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นต้นมา ก็ได้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย รู้สึกว่าช่วงต่อนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุด ในเมื่อมีการปรับตัวที่ไม่พร้อมและปรับตัวที่ไม่ดี ปัญหาต่างๆ ก็เกิดมีเพิ่มพูนขึ้นมา

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่มารับความเจริญแบบสมัยใหม่ มีลักษณะพิเศษส่วนตัวมันเองที่ไม่เหมือนกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมอื่น เช่น เราอาจนึกแต่เพียงว่า สังคมไทยจะเปลี่ยนจากสังคมกสิกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม ปัญหาสะท้อนจากความเปลี่ยนแปลงระหว่างช่วงต่อในสังคมแบบนี้จึงเกิดขึ้นมา การนึกแค่นี้นับว่าไม่พอ เพราะความเจริญในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเจริญสมัยใหม่นี้ ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงเสร็จสิ้นภายในตัวของมันเอง คือไม่ได้เป็นกระบวนการสืบเนื่องที่เกิดขึ้นในเนื้อตัวของมันเอง อย่างที่เกิดมาแล้วในประเทศตะวันตกที่เจริญแล้ว ที่เขาสร้างความเจริญขึ้นมาเอง แม้เขาจะเปลี่ยนแปลงจากสังคมกสิกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงในเนื้อตัวของเขาเองที่เขาทำขึ้นต่อเนื่องมาเป็นลำดับ

แต่สังคมของเราไม่อย่างนั้น เป็นสังคมที่เกิดความเจริญแบบนี้เพราะถูกกระทบจากภายนอก การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เกิดจากเนื้อตัวของตนเอง ก็ทำให้เกิดลักษณะที่ไม่พอดีขึ้น คือมีการข้ามขั้นตอนกันได้มาก หมายความว่าเราอาจได้รับ หรือเสวยผลผลิตของความเจริญสมัยใหม่ที่ตัวเองไม่ได้สร้างขึ้น โดยที่ว่าสภาพของตัวเองนั้น ยังอยู่ห่างจากภาวะที่สร้างความเจริญนั้นตั้งหลายสิบปีก็ได้ คือเราสามารถเสวยหรือบริโภคผลผลิตของความเจริญนั้นได้ ทั้งๆ ที่เรายังไม่สามารถสร้างขึ้นมา อันนี้เป็นเหตุปัจจัยอันหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาพิเศษของสังคมแบบของเรา ซึ่งไม่เหมือนกับสังคมตะวันตก แม้ในสมัยที่เขามีการเปลี่ยนแปลงจากกสิกรรมไปเป็นอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น จะเทียบกันไม่ได้ สังคมของเราต้องมีความซับซ้อนยิ่งกว่า

จากการที่มีความเปลี่ยนแปลงแบบซับซ้อนจึงมีการสับสน มีการก้าวกระโดดผิดขั้นผิดตอน ซึ่งมีผลอย่างมากต่อค่านิยมในการจะรับสิ่งจากภายนอก และการที่จะปรับตัวเข้าสู่ความเจริญ เพราะฉะนั้นอาตมภาพจึงจับจุดว่า สาเหตุของปัญหาสังคมไทยนี้ ข้อสำคัญอยู่ที่ช่วงต่อของความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ถ้าเราปรับตัวได้ดีเรามีความพร้อม มันก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหา หรือมีปัญหาน้อย แต่ถ้าเราไม่พร้อม เราปรับตัวไม่ดี ปัญหาก็เกิดมาก ทีนี้ ปรากฏว่าในระยะเริ่มต้นที่เราจะเปลี่ยนแปลงนั้น รู้สึกว่าเราไม่สู้จะพร้อม และการปรับตัวของเราไม่เป็นไปโดยพร้อมเพรียงกัน

การปรับตัวไม่พร้อมเพรียงกันนั้นเป็นอย่างไร? สังคมของเราต้องอาศัยสถาบันต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมนั้น เป็นผู้ช่วยดำรงรักษาและเป็นผู้ที่จะนำในการเปลี่ยนแปลง หมายความว่า ประชาชนพลเมืองต้องอาศัยสถาบันต่างๆ เป็นหลักยึดเหนี่ยว และเป็นผู้นำทางในการปรับตัว และการปรับตัวที่ได้ผลดีจะต้องเกิดจากทุกสถาบันร่วมกันทำโดยพร้อมเพรียงกัน และประสานสอดคล้องกัน ทีนี้ สถาบันในสังคมไทยในช่วงระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงมาสู่ความเจริญสมัยใหม่นั้น เราไม่ได้ทำการปรับตัวโดยความพร้อมเพรียงกัน และไม่ได้ทำโดยความรู้ร่วมกัน ไม่ประสานกัน เมื่อไม่พร้อมเพรียงกัน ไม่ได้ทำร่วมกัน ต่อมาในระยะยาวนานก็เกิดปัญหาขึ้นมากมาย รวมทั้งปัญหาที่ส่งผลสะท้อนกลับไปกระทบสถาบันนั้นๆ เอง จนกระทั่งว่าสถาบันต่างๆ เหล่านั้นกลายเป็นสถาบันที่ขาดประสิทธิภาพ หรือมองดูเหมือนว่าไร้คุณค่า ไม่มีบทบาทที่จะเป็นประโยชน์แก่สังคมเสียเลย

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสงฆ์

อาตมภาพอยู่ในสถาบันสงฆ์ จะขอพูดถึงเรื่องของสถาบันสงฆ์เอง สถาบันสงฆ์นับว่าเป็นสถาบันสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมไทย และเดิมมาเรายอมรับอย่างนั้น เช่น เรายอมรับว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน วัดมีบทบาทต่างๆ มาก ทีนี้ พอสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป สถาบันสงฆ์ตอนนั้นกับสถาบันฝ่ายบ้านเมืองไม่ได้ร่วมมือกันเต็มที่ ทำท่าจะร่วมแล้วก็มาแยกกันอีก นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เป็นตัวอย่างของความไม่พร้อมในการที่สถาบันจะร่วมมือกันในการปรับตัว

อนึ่ง ในระยะของการเปลี่ยนแปลงนั้น สถาบันสงฆ์อยู่ในสภาพที่ตัวเองก็เสื่อมแล้วด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นสมัยที่เรากำลังจะเปลี่ยนแปลงมาสู่ความเจริญแบบสมัยใหม่ ขณะนั้นการศึกษาของพระสงฆ์อยู่ในสภาพที่อ่อนเปลี้ยเพลียกำลังเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากหลักฐาน เช่น ในพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเสด็จประพาสต่างจังหวัด ทรงมีมาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ว่า พระในต่างจังหวัดเทศน์กันแต่เรื่องนิทาน หาหลักปฏิบัติได้น้อย ขอพระองค์โปรดรวบรวมธรรมะเขียนแบบง่ายๆ สำหรับพระอ่านให้ชาวบ้านฟังรู้เรื่อง3 อย่างนี้เป็นต้น

อันนี้ก็เป็นการชี้ชัดว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นสภาพการศึกษาและสภาพการสั่งสอนประชาชนในชนบทของพระสงฆ์เสื่อมโทรม สถาบันสงฆ์ในขณะนั้นอ่อนกำลังทางด้านการศึกษา พระไม่มีความรู้ในการสั่งสอนประชาชน อันนี้เป็นปัญหา และปัญหาอันนี้ก็มีมาจนกระทั่งปัจจุบัน เพราะฉะนั้น เมื่อสังคมต้องการเปลี่ยนแปลง สถาบันสงฆ์ก็ไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะช่วยนำทางให้ได้ผลดี อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง

เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันก็เกิดความสับสน ขึ้นมา อย่าว่าแต่จะคิดทำการอะไรที่เป็นการนำทางหรือเดินหน้า เลย แม้เพียงจะรู้จักตัวและหน้าที่ของตนเอง สถาบันต่างๆ เช่น สถาบันสงฆ์ก็ยังไม่สามารถกำหนดบทบาทและหน้าที่ของตนได้ว่า ในสังคมนี้สมัยนี้ตนควรทำอะไรอย่างไร

ตัวอย่างเช่น ถ้าจะถามว่า ในปัจจุบันสถาบันสงฆ์มีหน้าที่มีบทบาทอะไรในสังคม ก็คงจะคลุมเครือมากทีเดียว บางทีก็มองในแง่ว่า พระเป็นผู้ทำพิธีกรรมบ้าง เป็นหมอดูบ้าง ให้เช่าพระบ้าง อย่างนี้เป็นต้น อันนี้เป็นเรื่องสับสนในทางบทบาท พร่าจนอาจไม่รู้ก็ได้ว่า พระมีบทบาทอะไรแน่ในทางสังคม บทบาทแท้ๆ ของท่านคืออะไร นี่คือสภาพในปัจจุบัน นี่คือปัญหาใหญ่ ซึ่งเป็นมูลเหตุของปัญหาอื่นๆ4 ไม่เฉพาะแต่สถาบันสงฆ์เท่านั้น สถาบันอื่นก็เช่นเดียวกัน

ปัญหาขั้นพื้นฐานของสังคมไทย
ในช่วงต่อแห่งความเปลี่ยนแปลง

เมื่อเรามีการปรับตัวแบบนี้ คือ สถาบันต่างๆ ที่มีหน้าที่นำสังคมในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่แล้ว ก็หมายความว่า ประชาชนต้องปรับตัวกันเอง ต่างคนต่างทำ ใครทำได้ทำเอา การปรับตัวก็ไม่เป็นระเบียบ เมื่อไม่เป็นระเบียบ สภาพจะเป็นอย่างไร

เท่าที่มองเห็นก็คือ ประชาชนมีความตื่นเต้นที่จะรับความเจริญใหม่ๆ นั้น มีความตื่นเต้นที่จะรับคือ อยากจะเสวยหรือบริโภคผลผลิตของความเจริญใหม่ๆ นั้น แต่ไม่มีความตื่นตัวในการที่จะทำหรือที่จะสร้างสรรค์ คือไม่ตื่นตัวที่จะแก้ไขปรับปรุงตนเพื่อจะเป็นผู้ผลิตหรือเป็นผู้สร้างความเจริญเหล่านั้นเอง หรือแม้แต่เพื่อให้เป็นผู้พร้อมที่จะใช้ผลผลิตนั้น ความเจริญนั้นเราอยากจะรับแน่ เราตื่นเต้นอยากจะเห็น อยากจะเสวย แต่เราไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่จะรับมาเสวยนั้น หรือแม้แต่เพียงสนใจที่จะรู้เนื้อหาสาระของสิ่งที่จะรับนั้นอย่างจริงจัง ไม่ต้องพูดถึงการที่คิดอดทนจะทำให้ได้เองก่อนเสวย จากท่าทีนั้นก็ทำให้เกิดปัญหานี้ และจากปัญหานี้ก็นำไปสู่ปัญหาอื่น

แม้แต่ค่านิยมต่างๆ ก็คิดว่ามีมูลมาจากภาวะนี้ด้วย พอมาถึงนักวิชาการรุ่นหลังก็เกิดปัญหาขึ้นอีก คือไม่สามารถแยกแยะวิเคราะห์ปัญหาของสังคมไทยได้ชัดเจน เช่น ในเรื่องค่านิยม เป็นต้นว่า ค่านิยมอย่างนั้นๆ เกิดในตอนไหนกันแน่ เราสับสน เช่น ในปัจจุบันเราบอกว่า เราไม่สามารถสร้างความเจริญหรือพัฒนาได้ดี เพราะมีปัญหาเรื่องค่านิยมของสังคมไทยที่ไม่ดีไม่งามต่างๆ ขัดขวางถ่วงไว้ แต่ค่านิยมเหล่านี้เป็นค่านิยมที่เกิดตอนไหนแน่ เป็นค่านิยมของสังคมไทยโดยแท้ หรือเป็นค่านิยมที่เกิดขึ้นในช่วงต่อของการเปลี่ยนแปลงที่เราปรับตัวไม่ถูกต้องนั้น อันนี้เราก็ยังไม่รู้แจ่มแจ้ง เราก็ตีขลุมว่านี้เป็นค่านิยมของสังคมไทยเดิมที่ขัดต่อการพัฒนา อย่างนี้เป็นต้น

อาตมภาพว่าเรายังขาดการศึกษาอย่างจริงจัง แล้วไม่เพียงเท่านั้น ค่านิยมอันเดียวกันนั้นบางทีก็แปรผันคลาดเคลื่อน ค่านิยมอันหนึ่งในสังคมไทยปัจจุบัน อาจเป็นอันเดียวกันกับค่านิยมในสังคมนิยมไทยเดิม แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงแล้ว มันเหลืออยู่หรือยังคงมีอยู่ในรูปที่คลาดเคลื่อนไปแล้วจากเดิม ความคลาดเคลื่อนนั้นก็เกิดโทษได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยมเรื่องบุญ เป็นต้น อาตมาว่าเป็นค่านิยมคลาดเคลื่อน คือเป็นค่านิยมในสังคมไทยเดิม แต่ปัจจุบันเรารู้จักในรูปที่คลาดเคลื่อนไปแล้ว หลังจากช่วงต่อของความเปลี่ยนแปลงนั้น นักสังคมจำนวนมากในปัจจุบันก็ติเตียนค่านิยมเรื่องบุญว่าเป็นค่านิยมที่ขัดขวางต่อการพัฒนา5 ทำให้เกิดโทษในทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่เจริญก้าวหน้าเป็นต้น ความเข้าใจในเรื่องนี้ถูกหรือผิดมีเหตุปัจจัยอย่างไร อาจยกมาเป็นปัญหาที่จะพูดกันต่อไป

ตกลงว่าสังคมไทยในระยะที่เราจะปรับตัวเข้าสู่ความเจริญสมัยใหม่ สถาบันต่างๆ ไม่ได้ร่วมมือ ไม่ได้ประสานโดยพร้อมเพรียงกัน และเมื่อเปลี่ยนแปลงโดยความไม่เป็นระเบียบ ก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะคือ การที่มีแต่ตื่นเต้นรับความเจริญมา เอาผลผลิตของความเจริญนั้นมาเสวยบริโภค โดยที่ไม่ได้ตื่นตัวในการที่จะแก้ไขปรับปรุงตนให้เป็นผู้สร้างความเจริญนั้นขึ้นเอง หรือในการที่จะทำตนให้พร้อมที่จะใช้ความเจริญเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์อย่างดีที่สุด นั่นเป็นปัญหาสำคัญ หรือกล่าวได้ว่าเป็นตัวเหตุของปัญหา ก่อนที่จะพูดถึงแนวทางแก้ปัญหา ในตอนนี้ขอให้ยอมรับอันนี้ก่อน ถ้าไม่ยอมรับค่อยค้านกันทีหลัง เมื่อรับว่าอันนี้เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา ก็จะได้ไปสู่แนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป

แนวทางในการแก้ปัญหา

เราจะพิจารณาแก้ปัญหาจากจุดที่พูดไปเมื่อกี้นี้ คือว่า สังคมของไทยเราอยู่ในสภาพที่หลง ตื่นเต้น เคลิบเคลิ้มในการที่จะบริโภคเสวยผลผลิตของความเจริญใหม่ๆ แต่ในเวลาเดียวกัน เรามีความเฉื่อยชา มีความเพลิน ไม่ตื่นตัวในการที่จะแก้ไขปรับปรุงตนเอง สภาวะนี้บ่งถึงวิธีแก้ปัญหาว่าเราต้องทำให้ประชาชนตื่นตัวขึ้นมา ตื่นตัวในทางที่จะปรับปรุงตัวเองให้เป็นผู้คิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นแต่ผู้บริโภค เพราะภาวะนี้ก่อให้เกิดค่านิยมที่เราถือว่าผิดขึ้น คือค่านิยมที่ว่า สังคมไทยมีนิสัยชอบบริโภคมากกว่าชอบผลิต

เราต้องหาทางให้คนตื่นตัวขึ้นมา เพื่อจะได้พร้อมที่จะเป็นผู้ผลิตผู้สร้างความเจริญได้เองบ้าง การที่จะตื่นตัวก็ต้องทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและมีความกระตือรือร้นขึ้นมา ซึ่งวิธีการที่จะทำให้ตื่นตัวมีหลายแบบ แบบหนึ่งคือ แบบรุนแรง ซึ่งอาจจะผนวกเอาความฉับพลันเข้าด้วย อีกแบบหนึ่งคือ แบบสร้างตามลำดับขั้นในระยะยาวอย่างมั่นคง

แบบรุนแรงก็เช่น การให้มีความบีบคั้นกดขี่เกิดขึ้นเหมือนอย่างในบางประเทศ ความบีบคั้นกดขี่ทำให้ประชาชนตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับผู้ที่มาบีบคั้นกดขี่นั้น จึงมีมานะพยายามสร้างตัวเองขึ้นมาให้เข้มแข็ง เพื่อต่อสู้ต้านทาน และทำตนให้เป็นอิสระ เช่นที่ได้มีแล้วในประเทศเพื่อนบ้านของเราบางประเทศ แบบรุนแรงอีกอย่างหนึ่งเข้าใจว่าได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว ซึ่งเหตุการณ์ใหญ่ครั้งที่ผ่านมาแล้วนั้น6 จะถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญของการพยายามปลุกกันขึ้นมาให้เกิดความตื่นตัวก็ได้ จะยังไม่วิเคราะห์หรือวิจารณ์ว่า การตื่นตัวที่เป็นไปแล้วนี้มันดีหรือไม่ดี หรือมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เอาเป็นว่าได้ตื่นตัวแล้ว

การที่คนตื่นตัวแบบนี้มักเป็นการตื่นตัวแบบโครมคราม หรือตื่นตัวแบบตกใจ ที่จริงก็ไม่พร้อมเท่าไร คนที่ตื่นตัวขึ้นมาผลุนผลันโครมคราม ถ้าไม่ดูทิศทางให้ดี อาจจะไปเข้ารกตกเหวก็ได้ อีกอย่างหนึ่งอาจเป็นเพียงว่า เมื่อเห็นเขาวิ่งมา เราก็วิ่งตามไปเฉยๆ โดยไม่รู้ว่าเขาวิ่งไปที่ไหนก็ได้ เพราะเราไม่มีความรู้ในตัวเอง ความตื่นแบบนี้มันก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน คืออย่างน้อยก็ทำให้ลุกขึ้นมา แต่ถ้ายังไม่ตั้งสติให้ดี ต่อไปก็จะมีอันตรายมาก อาจจะพาไปสู่หายนะก็ได้ อาจเกิดเหตุร้ายยิ่งกว่ายังนอนหลับอยู่ด้วยซ้ำไป แต่ถ้าจะรีบตั้งสติแล้วคลำหาทิศทางให้ดีมันก็ไปได้

เพราะฉะนั้น การตื่นตัวแบบนี้ จะถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ได้ แต่ถ้าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วไปเข้าใจผิด จับเอาว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นการแก้ปัญหาที่มั่นคงยั่งยืนแล้วละก็ คงจะทำให้เกิดโทษเกิดภัยแน่ๆ เพราะฉะนั้น จะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้อย่างหนึ่ง การแก้ปัญหาระยะยาวที่มั่นคงอีกอย่างหนึ่ง

การแก้ปัญหาที่มั่นคงระยะยาวเป็นอย่างไร คือการแก้ปัญหาที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจหรือปัญญาที่แท้ ไม่ใช่เพียงว่าตื่นกันขึ้นมาโครมคราม แล้วก็อาจวิ่งตามเขาไปบ้าง หรือวิ่งเองโดยไม่รู้ทิศทางบ้าง การจะแก้ปัญหาระยะยาว ก็ต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจ รู้ว่าทิศไหนไปไหน ควรจะไปทิศไหน เราต้องการอะไร ไปแล้วจะได้อะไร จะไปอย่างไร ทางเป็นอย่างไร สภาพสังคมไทยในปัจจุบันก็มีปัญหาขึ้นอย่างหนึ่ง คือ เต็มไปด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ ผู้ฟังอาจเข้าใจว่ามองไปในแง่ร้าย แต่เชื่อว่าต้องถูกมากทีเดียว

สังคมไทยในปัจจุบันมีสภาพเต็มไปด้วยความไม่รู้ ตั้งต้นตั้งแต่ชาวบ้าน ชาวบ้านไม่รู้ว่าความเจริญสมัยใหม่ที่ตนจะไปเข้าหา ไปรับนั้น มันคืออะไร มันมีโทษมีคุณแค่ไหน แม้สูงขึ้นไปในชั้นนักวิชาการ ปัญญาชน ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้อะไร? ไม่รู้ไม่เข้าใจสภาพสังคมของตนเอง ไม่เข้าใจสังคมที่ตนจะแก้ไขปัญหานั้น ไม่รู้ตั้งต้นตั้งแต่ตัวปัญหาเองจนถึงจุดมุ่งหมาย คือไม่รู้ความมุ่งหมายว่า เราจะแก้ปัญหาสังคมนั้น เราจะนำสังคมไปสู่สภาพอะไร สังคมที่ดีนั้นคือสังคมอย่างไร

ขณะนี้ก็ยังเป็นปัญหาว่า เราจะสร้างความเจริญไปทางไหนกันแน่ จะเอาแบบไหน อันนี้ความมุ่งหมายก็ยังไม่แน่นอน และยังมีความลังเลอยู่มาก เพราะฉะนั้น ในสภาพที่เต็มไปด้วยความไม่รู้นี้ ย่อมทำให้เกิดความไม่แน่ใจ การที่จะทำอะไรโดยไม่มั่นใจตนเองและเกิดความตื่น ทำให้ไม่ดำเนินไปด้วยดีเท่าที่ควร และอาจมีความผิดพลาดได้ง่ายด้วย

ที่ว่าเต็มไปด้วยความไม่รู้นั้นอย่างไร ทำไมจึงมาโทษแม้แต่นักวิชาการซึ่งเป็นปัญญาชน ปัญญาชนซึ่งปัจจุบันนี้ตั้งตัวจะเป็นผู้แก้ปัญหาสังคม จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบมากที่สุด ในการที่จะทำตนให้พร้อมในการที่จะแก้ปัญหาสังคมนั้น แต่ในสายตาของอาตมภาพในฐานะพระสงฆ์เห็นว่า นักวิชาการและปัญญาชนเอง ยังขาดความพร้อมอยู่มาก เราจะแก้ปัญหาอะไร เราแก้ปัญหาสังคม สังคมไหน สังคมไทย

พอพูดถึงสังคมไทยกลับเป็นสังคมที่เราเองยังไม่ค่อยรู้ ขณะนี้เราได้นักวิชาการปัญญาชนที่รู้เรื่องความเจริญของตะวันตกมาก รู้ความเจริญแบบต่างประเทศ (ซึ่งก็รู้ไม่ชัดไม่จริง) เสร็จแล้วเราไม่เข้าใจสังคมของเราอย่างแท้จริง เราก็จะเอาความเจริญอีกแบบหนึ่งมายัดเยียดให้แก่ประเทศไทย7

ถ้ามองไปแง่หนึ่งก็เหมือนกับการจะเอาต้นไม้ของเมืองฝรั่งมาปลูกในแผ่นดินไทย โดยที่ว่าดินฟ้าอากาศก็เป็นของไทย แต่เราจะบังคับให้ดินฟ้าอากาศไทยนี้ รับเอาต้นไม้นั้นมาขึ้นงอกงามให้ได้ โดยไม่ศึกษาองค์ประกอบทุกอย่างของดินฟ้าอากาศไทยให้เข้าใจชัดเจน เพื่อทำการปรับปรุงแก้ไข เราก็จะบังคับขนเอาดินฝรั่งมาใส่ใต้ฟ้าอากาศไทย

ปัญหาจากความไม่รู้ของปัญญาชน

ทำไมจึงว่าปัญญาชนนักวิชาการไทยยังไม่มีความพร้อม ไม่เข้าใจสภาพของไทยเอง เราน่าจะยอมรับอย่างหนึ่งคือ สังคมไทยเราในช่วงที่ผ่านมา คนที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นได้แยกตัวหรือถูกแยกตัวออกมาจากชุมชนของตน เพราะระบบการศึกษา เป็นต้น

เมื่อเราได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่ เราจะเข้าใจเรื่องตะวันตกมากขึ้นโดยลำดับ แล้วเราจะเป็นคนที่แปลกออกไปในสายตาของชุมชนของตน คนไทยในสังคมไทยจะรู้สึกว่าเรานี้เป็นคนอีกพวกหนึ่ง หรือเป็นคนในสังคมอื่น เราเองก็ไม่ค่อยเข้าใจชุมชนไทย ไม่เข้าถึงวัฒนธรรมของตน เสร็จแล้วเมื่อสำเร็จการศึกษาแบบสมัยใหม่แล้วออกไปทำงาน ก็ปรากฏว่าเราไปปรับตัวเข้ากับประชาชนไม่ได้เต็มที่

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในขณะนี้มีปัญหาข้าราชการปรับตัวเข้ากับประชาชนไม่ได้ ก็โทษกันว่าเป็นเพราะติดมาจากระบบเจ้าขุนมูลนาย ไปต่อว่าโน่น ไปโทษระบบศักดินา อันนั้นมีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่อาตมภาพว่าเป็นเพียงส่วนเอื้ออำนวยเท่านั้น คือข้าราชการเอาระบบนั้นมาอำนวยในการที่ตนจะสร้างฐานะปกป้องตนเองและปิดบังปมปัญหาของตน แต่สาเหตุที่สำคัญคือการเข้าไม่ถึงกัน คือการที่ข้าราชการไทยปรับตัวให้เข้าถึงประชาชนไม่ได้

การเข้าถึงประชาชนไม่ได้ ไม่ใช่เพราะระบบศักดินา แต่เพราะขาดความสามารถที่จะเข้าถึง ไม่สามารถเข้าถึงเพราะขาดความเป็นผู้นำที่แท้จริง คือไม่เข้าใจประชาชนจริงและประชาชนไม่วางใจสนิท การที่ไม่สามารถเข้ากันได้นั้นทำให้ต้องมีการรักษาศักดิ์ศรี ข้าราชการก็ต้องรักษาศักดิ์ศรีของตน รักษาฐานะของตน ก็เอาระบบนั้นมาใช้ เพื่อแยกตัวให้มีฐานะมีศักดิ์ศรีพิเศษเด่นออกมา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน นักวิชาการเราไม่เข้าใจ สภาพของสังคมไทยเรา

ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อเราไปพูดกับประชาชน เราไปพูดใช้ศัพท์ภาษาสมัยใหม่ บางทีมีอังกฤษคำ ไทยคำ อะไรนั้น ชาวบ้านย่อมไม่รู้เรื่อง และเข้ากับเราไม่ได้ ชาวบ้านอาจมีความชื่นชม เช่นบอกว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีวิชาการชั้นสูงก็ได้ แต่ไม่สามารถเข้ากันได้สนิท เป็นคนละพวกอยู่นั่นเอง อย่างนี้ก็เป็นการแยกตัวหรือแบ่งฐานะแบบหนึ่ง คือ เป็นคนเจริญกับชาวบ้าน เป็นการแยกตัวโดยที่ไม่ต้องอาศัยระบบเจ้าขุนมูลนายเลยก็ได้8

ถ้าข้าราชการมีความเข้าใจในวัฒนธรรมของตนเอง ปรับตัวเข้ากับชาวบ้านได้ พูดภาษาแบบชาวบ้าน ใช้ธรรมะธัมโมบ้าง เช่น ไปพูดถึงเมตตากรุณา เรื่องกรรม เรื่องอะไรก็ได้ ถ้าเราศึกษาให้ดีก็จะเข้ากันได้กับชาวบ้าน โดยวิธีนี้จะชักนำประชาชนเข้ามาได้ ไม่เช่นนั้นจะตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กัน ทำไมจึงต้องโทษกันอยู่

อย่างนักวิชาการ หรือปัญญาชนปัจจุบัน โทษชาวบ้านว่ามีค่านิยมไม่ถูกต้อง นับถือเรื่องกรรมเรื่องอะไรที่ขัดต่อการพัฒนา นี่เป็นเพราะเราเองก็ไม่เข้าใจเรื่องกรรม เมื่อเห็นว่าชาวบ้านเชื่ออย่างนั้น แล้วเราก็ว่าการเชื่ออย่างนั้นมีผลร้าย ขัดต่อความเจริญ เราก็ต่อว่าเขา ชาวบ้านเห็นว่า เราไปว่าเขาๆ ก็ไม่เข้าใจเราได้ ทางที่ดีที่สุด คือ ประสานเสีย ปัญญาชนนั่นเองเป็นฝ่ายที่ควรศึกษาเรื่องกรรมให้เข้าใจชัด พอศึกษาให้ดีแล้วไปพูดกับชาวบ้านได้ แนะนำชาวบ้านได้ ชาวบ้านเห็นว่าเรารู้ดีกว่าในเรื่องที่เขารู้เขาเชื่ออยู่ ก็เชื่อถือไว้วางใจ แล้วเขากลับจะแก้ไขความเชื่อเรื่องกรรมให้เข้ามาทางเราด้วยซ้ำ

ขณะนี้อาจเรียกได้ว่าเราขาดความเป็นผู้นำนั่นเอง ไม่มีผู้นำที่จะทำให้ประชาชนสนิทใจที่จะชักจูงประชาชนออกมาได้ ก็เลยมีแต่ผู้ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน คนสมัยใหม่ก็ติเตียนคนพื้นบ้านว่า มีค่านิยมผิดๆ หลังจากนั้นก็สืบต่อไปว่า อะไรเป็นเหตุให้ประชาชนมีค่านิยมผิดๆ ก็ว่าศาสนาสิ แล้วก็เลยได้แต่ว่า ได้แต่ติเตียนกันไป ตกลงเข้ากันไม่ได้ และแก้ปัญหาไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหาที่สำคัญมาก คือ การที่เกิดจากความไม่รู้ คือ ไม่รู้ตั้งแต่ชาวบ้านมาถึงปัญญาชน ปัญญาชนเองเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะที่มาตั้งตัวเป็นผู้แก้ปัญหา ก็ต้องรับหนักหน่อย หมายความว่าควรได้รับการโจมตีบ้างว่า เป็นผู้ขาดความรู้ความเข้าใจในการที่จะสร้างความเป็นผู้นำที่จะให้ประชาชนเชื่อถือ และที่จะจูงประชาชนออกมาจากความเข้าใจในเรื่องที่ถือผิดๆ นั้น

ขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง คือ ไปได้ยินนักวิชาการซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ไปพูดในที่สาธารณะบอกว่า พระพุทธศาสนาสอนธรรมะเป็นประชาธิปไตยนั้นไม่จริงหรอก ธรรมะอะไร จะเป็นอปริหานิยธรรม ทศพิธราชธรรม ก็อยู่ในระบบเดียวกัน ระบบเดียวกันหมายถึงสังคมไทยเดิมก็เป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ธรรมที่พระพุทธศาสนาสอนอยู่ในระบบกษัตริย์ จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

อย่างนี้ถ้ามองจากสายตาของผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะ ก็ต้องเห็นว่าเป็นการพูดที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะว่าได้ศึกษาระบบการเมืองแต่ของฝรั่ง รู้แต่ระบบการเมืองของกรีกของโรมัน ว่าเป็นมาอย่างนั้น การปกครองเป็นมาอย่างนั้น ประชาธิปไตยเป็นมาแบบนั้น แต่ในสายวัฒนธรรมของตนเองไม่รู้เลย แล้วก็มาพูดโดยอาจจะนึกภาคภูมิใจด้วยซ้ำไป

ความจริงนั้น ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือแบบกษัตริย์ ทั้ง 2 แบบนั้น มีทั้งในตะวันตกและตะวันออกในยุคเดียวกัน ยุคที่เกิดประชาธิปไตยในกรีก ในอินเดียโบราณก็มีการปกครองแบบประชาธิปไตยและแบบกษัตริย์ควบคู่กันไป ซึ่งในระบบกษัตริย์ก็มีหลักธรรมสำหรับการปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม เป็นต้น และขณะเดียวกันมีระบบการปกครองอีกรูปหนึ่งที่เราเรียกว่าระบบสามัคคีธรรม ซึ่งพวกนี้ใช้หลักอปริหานิยธรรม มีการประชุมพิจารณาตัดสินเรื่องราวต่างๆ การที่พูดอย่างนั้นก็แสดงถึงความที่ไม่ได้ศึกษาอะไรเลย เหมือนอย่างที่เราจะพูดในปัจจุบันว่า จะอยู่ในรัสเซียหรือในอเมริกาก็อยู่ในเมืองฝรั่งเหมือนกัน มันก็เหมือนกันทั้งนั้น อะไรทำนองนี้

นักวิชาการในปัจจุบันไปพูดถึงเรื่องเก่าของไทยเราแล้ว แม้แต่พูดผิดๆ ก็กลายเป็นโก้ไป อย่างนี้เป็นภาพที่เห็นกันอยู่ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราจะแก้ปัญหาสังคมของเรายาก เพราะกลายเป็นว่าผู้ที่จะนำสังคมหรือแก้ปัญหาสังคมนั้น ไม่ได้เข้าใจเรื่องของตัวเอง หรือพูดให้ชัดว่าไม่เข้าใจตัวสิ่งที่เป็นปัญหานั้นเลย อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งขอพูดไว้ในที่นี้ อาจเป็นการโจมตีนักวิชาการหรือปัญญาชนไปหน่อย แต่บางคราวก็ควรโจมตีกันบ้าง มิฉะนั้น จะไม่มีการแก้ไขกันเลย จะหลงคิดว่านักวิชาการเป็นผู้วินิจฉัยและแก้ไขผู้อื่นฝ่ายเดียว9

ปัญหาเกี่ยวกับค่านิยม

ต่อไปในระยะยาวมีการแก้ไขเรื่องหนึ่งซึ่งถือว่าสำคัญมาก เรียกในปัจจุบันก็คือ เรื่องของค่านิยม ค่านิยมเป็นเรื่องสำคัญมาก ในระยะยาวถ้าแก้เรื่องนี้ไม่ได้ละก็ การสร้างความเจริญอะไรต่ออะไรจะเป็นไปได้ยาก

ปัจจุบันเรามีค่านิยมหลายอย่างซึ่งเราถือว่าเสีย ไม่จำเป็นต้องแจกแจงมาก แต่ที่พูดกันมากอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นหลักใหญ่ก็คือ ค่านิยมในการเป็นผู้บริโภคมากกว่าเป็นผู้ผลิต เรื่องนี้รู้สึกเป็นเรื่องใหญ่ที่จะขัดขวางการพัฒนาทั้งหลาย

ค่านิยมนี้ ถ้าหากมองในสายตาของพุทธศาสนาแล้ว พูดได้ว่าสังคมไทยเราเป็นสังคมที่มุ่งสวรรค์ คือมุ่งประโยชน์ของตนเอง หาความสุขความสำราญสำหรับตัวเอง คือเราต้องการผลได้ที่ตอบแทนตัวเราเอง

เมื่อเรามองสภาพปัจจุบัน ตั้งต้นแต่การศึกษาเป็นต้นไป เราจะเล่าเรียนศึกษาอะไร เราก็พิจารณาแง่ที่ว่าเราจะได้เงินเดือนมากๆ โดยเรียนวิชาการใด เรียนวิชาชีพสายไหน เราจึงจะได้ตำแหน่งงานที่ดีๆ อย่างนี้เป็นต้น หรือเรียนไปแล้ว บางทีไม่สมใจ ไปนึกได้ใหม่ตอนหลังอีกว่า เราจะไปทำตามอาชีพที่เราเรียนมานี้ เราจะไม่ได้เงินมาก ก็เปลี่ยนไปทำอีกอาชีพหนึ่ง ทั้งๆ ที่อาชีพนั้นตัวเองไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรง เป็นต้น เวลาทำงานเราก็คิดถึงผลประโยชน์ตอบแทน ว่าเราจะได้เงินมากหรือได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากเพียงใด แทนที่จะนึกถึงผลการสร้างสรรค์ที่เกิดจากงานนั้น ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็จะเป็นปัญหาสังคมไทยตลอดไป เพราะการเล่าเรียนศึกษาก็จะเป็นระบบที่เป็นไปเพื่อใบสำคัญ ใบปริญญาบัตร ใบประกาศนียบัตร ไม่ใช่เพื่อความรู้ หรือการสร้างสรรค์ความเจริญที่แท้จริง

ถ้ามองกันในแง่ที่จะสร้างความเจริญจริงๆ อย่างถูกต้องแล้ว เราจะต้องดูลักษณะแรงจูงใจในการทำงานต่างๆ เช่น ถ้าจะเป็นแพทย์ ก็อยากจะเห็นอยากรู้จักว่าโรคนี้โรคนั้นมันเป็นอย่างไร เป็นเพราะอะไร ทำไมจะแก้ให้มันหายได้ นึกขึ้นมาทีไรก็อยากให้เมืองไทยนี้ไม่มีโรค ไม่มีภัย ไม่มีคนเจ็บคนไข้ จิตใจนึกถึงแต่เรื่องอย่างนี้ เห็นคนไข้มาก็อยากเห็นเขาหายโรค อยากเห็นเขามีสุขภาพสมบูรณ์ ถ้านึกแต่เรื่องอย่างนี้ก็หมายความว่า เป็นแรงจูงใจในการทำงานที่ถูกต้อง และตรงกับหน้าที่ของตน

ถ้าเป็นพระเป็นสงฆ์ก็มานึกแต่ว่าธรรมะทั้งหลายนั้น ข้อไหนมีความหมายอย่างไรกันแน่ ความจริงของโลกมันคืออะไรกันแน่ ทำอย่างไรจะให้ประชาชนเป็นคนดีมีศีลธรรม ใจก็นึกอยู่เสมออย่างนี้ หรือเป็นพนักงานเทศบาลทำความสะอาดกวาดถนน อยากจะเห็นถนนหนทางสวยสะอาดงดงาม เห็นเศษสิ่งของบนถนนแล้วไม่สบายใจ ทนดูอยู่ไม่ได้ นึกถึงแต่ว่า ทำอย่างไรถนนจะสะอาดทั่วไปทั้งหมด เราจะกวาดอย่างไร ใจนึกอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ละก็ไม่เป็นไร เรียกว่า มีแรงจูงใจในการทำงานที่ถูกต้อง มุ่งตรงต่อจุดหมายของงาน หรือมุ่งที่ตัวธรรม คือ ตัวแท้ตัวจริงของสิ่งที่กระทำนั้น เป็นสัจจะตรงไปตรงมา ผลประโยชน์ตอบแทนก็เป็นเพียงเครื่องค้ำจุนในการดำรงชีวิต

แต่ในสภาพสังคมของเรา ปัจจุบันมันตรงกันข้าม คือว่า แรงจูงใจในการทำงานไม่ได้อยู่ที่ผลงาน มันไปอยู่ผลเงิน เพราะเราต้องการเป็นเงินไปหมด จากจุดนี้มันก็เสียตั้งแต่ระบบการศึกษาเป็นต้นไป การศึกษาของเราก็เป็นเพียงสิ่งสนองความต้องการในการที่จะหาทางไต่ไปสู่ผลประโยชน์ เป็นบันไดสวรรค์ที่จะให้บุคคลนั้นได้เงินได้ทองอะไรมากที่สุด อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ขอเรียกสังคมไทยว่าเป็นสังคมที่มุ่งสวรรค์

คำว่า ‘สวรรค์’ หมายความว่าอะไร สวรรค์คืออารมณ์ที่ดี อารมณ์ที่เลิศ หมายความว่า สิ่งที่ให้ความสุข สนองความต้องการทางประสาททั้งห้า สังคมที่มุ่งสวรรค์คือสังคมที่มุ่งหาผลตอบแทนเป็นความสุขความสบายของตนเอง ซึ่งมี 2 ชั้น สังคมไทยเดิมอาตมภาพว่ายังดีกว่า ในแง่ที่มันมุ่งสวรรค์อุดมคติ แต่ปัจจุบันนี้ เรามามุ่งสวรรค์ชั้นต่ำลงมาอีก

เดิมมุ่งสวรรค์อุดมคตินั้นอย่างไร คือ สวรรค์นั้นยังอยู่ในท้องฟ้า อยู่ในชาติหน้า เราก็หาเครื่องค้ำมาวางหลักประกันไว้อีกขั้นว่าทำอย่างไรจะไปถึงนั่นได้ ก็วางข้อกำหนดว่าให้ทำสิ่งที่ดีๆ คนอยากได้สวรรค์ ก็ต้องพยายามสร้างสิ่งที่ดีงามนั้นเป็นบันไดขึ้นไป ข้อดีข้อเสียความถูกต้องผิดพลาดของสวรรค์แบบนี้ อยู่ที่ฐานที่วางบันไดสวรรค์ คืออยู่ที่ว่าจะพาดบันไดไว้ที่ไหน

ในแง่สวรรค์แบบอุดมคตินั้น ข้อผิดพลาดมันอยู่ตอนที่สังคมเปลี่ยนแปลง เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง ถึงช่วงต่อเราไม่เข้าใจ เราก็ไปโทษว่าการมุ่งสวรรค์แบบนั้นทำให้ผิด เพราะว่าทำไงเราจะไปสวรรค์ได้ก็ต้องทำบุญ ทำบุญคือทำอย่างไร ก็ต้องไปสร้างโบสถ์สิ สร้างโบสถ์ที่วัด สร้างโบสถ์เสร็จแล้วก็จะได้บุญและไปสวรรค์

ทีนี้ การสร้างโบสถ์ไม่ได้เป็นประโยชน์จริงจังแก่สังคม มองตามสภาพปัจจุบันก็กลายเป็นว่า คตินิยม หรือค่านิยมเรื่องทำบุญนี้ มันเกิดโทษในทางเศรษฐกิจ หมายความว่า เรามาติดเรื่องบุญนี้เพราะเราอยากไปสวรรค์ เราก็เอาทุนทรัพย์ไปสร้างสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่เกิดประโยชน์แก่สังคมเลย ไปสร้างโบสถ์ที่ปีหนึ่งใช้เพียงน้อยครั้ง แต่เสียเงินนับล้านอะไรทำนองนี้เป็นต้น ก็กลายเป็นการทำลายเศรษฐกิจ คติเรื่องบุญเลยเสียไป นี่เป็นเพราะไม่เข้าใจ

ไม่เข้าใจอย่างไร เกิดจากความไม่รู้ของทุกคน ไม่รู้ว่าในสังคมของเราเองมีวิวัฒนาการของค่านิยมต่างๆ เดิมนั้นชาวบ้านมีค่านิยมเรื่องบุญ ซึ่งมีความหมายสัมพันธ์อยู่กับประโยชน์ส่วนรวม บุญที่ไปสวรรค์เป็นอุดมคติแน่ๆ เดิมเมื่อวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนนั้น การสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนที่สุด ก็คือสร้างสิ่งก่อสร้างในวัด แล้วแต่ก่อนก็ไม่ได้ถือว่าสร้างโบสถ์แล้วจะดีที่สุด แต่สร้างสิ่งก่อสร้างในวัดแล้วเป็นดีที่สุด เพราะเป็นประโยชน์แก่ชุมชนมากที่สุด มันจึงได้บุญมากที่สุด

ต่อมา การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้ความหมายคลาดเคลื่อนไป วัดไม่ได้เป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างเดิม แต่เราก็ยังยึดถือในค่านิยมนี้โดยไม่มีความเข้าใจ มันก็คลาดเคลื่อน สิ่งก่อสร้างในวัด ไม่ได้มีคุณค่าในแง่ประโยชน์แก่ชุมชนเหมือนเดิม แต่ความยึดถือว่า การสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดได้บุญมากยังคงอยู่ เมื่อพูดว่าได้บุญ ความรู้สึกก็ไม่เต็มอิ่ม โดยมีสวรรค์เป็นอุดมคติ ครอบคลุมตลอดถึงประโยชน์ปัจจุบัน เหมือนอย่างที่พูดในสมัยก่อน การไปสวรรค์ก็ถูกดึงลงมาเป็นคุณค่าตอบแทนโดยตรงของบุญ ความหมายของบุญจึงถูกตรึงอยู่กับสวรรค์หรือผลตอบแทนในชาติหน้าอย่างเดียว และต้องมีการย้ำคุณค่านี้ให้เด่นยิ่งขึ้น เพื่อให้ความหมายที่ยึดไว้ดูสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น

ในเวลาเดียวกัน คุณค่าในทางประโยชน์ปัจจุบันที่ชาวบ้านจะจัดแยกความสำคัญของสิ่งก่อสร้างในวัดก็หมดไปแล้ว การวัดคุณค่าของสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น จึงเคลื่อนมาอยู่ที่ความเด่นความวิจิตรพิสดาร และคุณค่าในทางศาสนพิธี เมื่อว่าจะสร้างอะไรดี ก็บอกสร้างโบสถ์ได้บุญที่สุด นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของค่านิยมที่คลาดเคลื่อน

รวมความแล้วก็คือ ตามค่านิยมของสังคมไทย อย่างน้อยในระยะที่มองเห็นนี้ สังคมไทยเป็นสังคมที่มุ่งสวรรค์ ถ้าเก่าหน่อยก็เป็นสวรรค์ในอุดมคติ ปัจจุบันก็เป็นสวรรค์ชั้นต่ำ

สวรรค์ชั้นต่ำหมายความว่า สวรรค์ที่มองเห็นอยู่นี้ ที่มุ่งได้ความสุขทางเนื้อหนัง ได้ทรัพย์สินเงินทองตอบแทนเฉพาะหน้า เอามาบำรุงบำเรอตัว หาความสุขในปัจจุบัน ถ้าแบบนี้ละก็ เห็นท่าจะไปไม่รอด หมายความว่า คนเราก็จะพยายามแสวงหาในทางเห็นแก่ตัวให้มากขึ้น บุญแบบอุดมคติยังดีที่มีเครื่องยับยั้งบ้าง แต่บุญแบบสวรรค์ชั้นต่ำนั้นไม่มีอะไรยับยั้งเลย คือจะเอาแต่ตัวเป็นประมาณ เห็นแก่ตัวไม่มียั้ง

ทางเลือกที่เกี่ยวกับอุดมคติของสังคมไทย

ถ้าจะเอาตามอุดมคติพุทธศาสนาแท้ๆ ก็ต้องเป็นสังคมที่มุ่งนิพพาน สังคมมุ่งนิพพานก็คือสังคมที่ทำการโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน หมายความว่า ทำงานเพื่องาน ถ้าเป็นแพทย์ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ต้องการเห็นว่าคนไทยทั้งประเทศไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ จะทำอย่างไรให้เป็นอย่างนั้นได้ เป็นต้น อันนี้เข้าหลักที่เรียกว่า ‘ฉันทะ’ คนที่จะไปนิพพานนั้นมีฉันทะ คนที่จะไปสวรรค์ก็ต้องมีฉันทะ แต่ฉันทะคนละอย่าง

คนที่ไปสวรรค์นั้น เขามีฉันทะเรียกว่า ‘กามฉันทะ’ คือ ความใฝ่หรือความต้องการจะเอาในสิ่งที่น่าปรารถนา ที่สนองความต้องการทางเนื้อหนัง จะเป็นสวรรค์ในอุดมคติหรือสวรรค์ชั้นต่ำก็ตาม เรียกว่า ‘กามฉันทะ’ ทั้งสิ้น เพราะต้องการผลประโยชน์ตอบแทนที่สนองความสุขทางประสาททั้ง ๕ พวกที่ไปนิพพานนั้นเขามีฉันทะอีกอย่างเรียกว่า ‘ธรรมฉันทะ’ คือ ความต้องการธรรมะหรือสิ่งที่ดีงาม ต้องการให้ดีโดยไม่เอามาสัมพันธ์กับความเห็นแก่ตน

ขอเน้นว่านี้เป็นจุดสำคัญอันหนึ่ง คือ การสร้างค่านิยม ถ้าเราจะสร้างความเจริญก็ต้องกำหนดให้ถูกว่าเราจะให้เป็น สังคมอะไร เราจะเอาสังคมที่มุ่งสวรรค์หรือมุ่งนิพพาน และแม้แต่จะเป็นสังคมที่มุ่งสวรรค์ จะเอาสวรรค์อุดมคติหรือสวรรค์ชั้นต่ำ แต่ปัจจุบันนี้แนวโน้มเป็นไปในรูปของการมุ่งสวรรค์ชั้นต่ำ คือมุ่งสวรรค์เฉพาะหน้าที่เห็นกันอยู่

เป็นอันว่าเราจะต้องมาสร้างค่านิยมอันนี้ให้ได้ แม้แต่ระบบการศึกษาก็ต้องนำไปสู่จุดนี้ คือต้องสร้างคน ถ้าตกลงว่าเป็นสังคมที่มุ่งนิพพาน ก็สร้างคนให้มีฉันทะในการที่จะทำงานเพื่อผลสัมฤทธิ์ของงานนั้น ที่เป็นจุดมุ่งหมายของตัวงานจริงๆ โดยไม่ต้องเอาตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้อง ตัวตนในที่นี้ หมายถึงผลประโยชน์ของตนหรือความเห็นแก่ตน หรือให้มีน้อยที่สุดในฐานะที่เป็นปุถุชน และพยายามที่จะเดินเข้าสู่จุดมุ่งหมายนั้นอย่างที่กล่าวมาแล้ว

ถ้าเราจะเรียนแพทย์ ก็เพราะเรารักที่จะทำงานช่วยเหลือประชาชนให้หายโรคภัยไข้เจ็บ เวลาทำงานจิตใจของเรามีความฝันใฝ่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรคนไทยจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ทำอย่างไรคนไทยจะมีสุขภาพดี ทำอย่างไรคนนี้เขามาหาเรา เราจะทำให้เขาหายโรค ทำอย่างไรจะให้เขามีหน้าตาสดชื่นยิ้มแย้มแจ่มใสได้

ไม่ใช่ว่าพอเห็นคนเดินมาคิดว่า “เอ้อ คนนี้เราจะได้เงินจากเขากี่บาท” อะไรอย่างนี้เป็นต้น ถ้าหากว่าพอเห็นเขาเดินมาก็คิดว่าคนนี้น่ากลัวจะได้สัก ๑๐๐ สัก ๑,๐๐๐ ถ้าอย่างนี้แสดงว่าเรามุ่งสวรรค์ชั้นต่ำ ถ้าเราเห็นคนเดินมาแล้วคนนี้มีทุกข์ เราเกิดมีเมตตากรุณาอยากจะช่วยว่า ทำอย่างไรจะให้เขามีหน้าผ่องใสร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ได้ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่เกี่ยวกับตัวตนของเรา มันก็เป็นค่านิยมที่มุ่งไปทางนิพพาน เป็นธรรมฉันทะได้

หากตกลงว่าปัญหาที่เราจะแก้นั้นสำคัญ คือ ต้องมีความตื่นตัวเสียก่อน ตื่นตัวนั้นอาจด้วยวิธีรุนแรง หรือด้วยการให้ความรู้การศึกษาอย่างจริงจังระยะยาวก็ได้ แต่เมื่อตื่นตัวแล้วในรูปที่รุนแรงก็จะต้องตั้งสติหาทางเดินที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจเช่นเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจนี้ หมายถึงความรู้ความเข้าใจในปัญหาที่ตนจะแก้ เริ่มตั้งแต่สังคมที่ตนจะแก้ปัญหาให้นั้น

ถ้าหากใครตั้งตัวจะเป็นผู้แก้ปัญหา ผู้นั้นก็จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้มากที่สุด ปัจจุบันนี้ เราถือว่าปัญญาชนนักวิชาการต่างๆ เป็นผู้ตั้งตัวที่จะเป็นผู้แก้ปัญหา เพราะฉะนั้น ชนกลุ่มนี้จะต้องรับผิดชอบมากที่สุด จะต้องทำตัวให้พร้อมที่จะเป็นผู้แก้ปัญหา มิฉะนั้นแล้วตนเองนั้นแหละจะเป็นผู้ทำบาปหนัก คือนำสังคมไปสู่ความเสื่อม

เมื่อเริ่มลงมือทำการแก้ปัญหาด้วยความรู้ความเข้าใจจริงแล้ว ขั้นต่อไปในระยะยาวคือการสร้างค่านิยมของสังคม ซึ่งจะทำให้ได้ผลระยะยาว ทำให้เราทำงานสร้างสรรค์กันไปได้ดีจริงๆ ถ้ามีค่านิยมมุ่งสวรรค์ชั้นต่ำ มุ่งแต่ผลประโยชน์แล้ว การพัฒนาอะไรจะเป็นไปด้วยการสะสมปัญหามากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความเสื่อมและความหายนะ จึงต้องมากำหนดกันว่า จะเอาค่านิยมอะไรกันแน่ จะเอาอะไรเป็นอุดมคติของสังคมไทย

ช่วงเวลานี้เป็นระยะที่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย ความเปลี่ยนแปลงนี้มิได้หมายถึงความเปลี่ยนจากสภาพที่เป็นปัญหา ไปเข้าถึงจุดหมายที่ต้องการแต่ประการใด เป็นเพียงการขยับเขยื้อนตัวหันเหไปสู่ทิศทางใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความตื่นเต้นบ้าง ตื่นตัวบ้าง การแล่นเตลิดบ้าง การคลำหาทิศทางบ้าง เป็นช่วงต่อสำคัญที่จะเดินไปสู่วัฒนะหรือหายนะก็ได้ สิ่งที่ต้องการและจำเป็นยิ่งคือการหาความรู้ความเข้าใจ และการกระทำด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะความเข้าใจในเนื้อตัวของตนเองที่จะแก้ไข เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงให้เกิดการปรับตัวอย่างถูกต้อง

ในช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านมาแล้วไม่นานนัก สังคมไทยได้เคยประสบความเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งหนึ่ง ความไม่พร้อมและการปรับตัวที่ไม่เป็นด้วยดีครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ส่งผลมาจนเป็นปัจจัยสำคัญให้มีความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หากครั้งนี้เปลี่ยนแปลงแล้วยังปรับตัวไม่ได้อีก ผลที่เกิดขึ้นก็น่าจะเลวร้ายยิ่งไปกว่าครั้งก่อน เพราะจะหมายถึงการหมักหมมปมปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงครั้งก่อน ซึ่งยังไม่ได้แก้ไข ซ้อนเข้าไว้อีกชั้นหนึ่งด้วย10 แต่ถ้าความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้มีการแก้ปัญหาที่สะสมจากเก่าออกไป โดยที่ตัวเราเองไม่เป็นผู้เติมปัญหาร่วมสะสมเข้าไปอีก ก็มีทางที่จะนำสังคมไทยเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าความเจริญก้าวหน้าได้จริง ปัญหาอยู่ที่ว่าเรารู้หรือยัง แม้แต่ข้อว่าอะไรเป็นตัวปัญหาที่แท้จริง

อาตมภาพคิดว่าได้พูดมามากพอสมควร ต่อไปนี้มาตอบปัญหากัน ถ้าหากจะมีปัญหาอะไร แม้จะเป็นปัญหาที่พาดพิงมาถึงสถาบันสงฆ์ ก็ควรจะตอบ ไม่ควรจะมานิ่งจำกันไว้ ขอเชิญ

บันทึกประกอบคำบรรยาย

เนื้อหาส่วนนี้ ได้รับการจัดพิมพ์ใหม่ เป็นเรื่องเดี่ยว ในชื่อว่า "สถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน" อ่านได้ที่ th/book-reading/423/1

คำนำ

ปาฐกถาเรื่อง “ปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันและแนวทางในการแก้ไข” พร้อมบันทึกประกอบทั้งหมด ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) เป็นเรื่องเก่าตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ครั้งล่าสุดตีพิมพ์เป็นตอนหนึ่งรวมอยู่ในหนังสือ 'สถาบันสงฆ์และสังคมไทย' จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง พ.ศ. 2527

ปาฐกถานี้ แม้จะแสดงมานานถึง 24 ปี แล้ว แต่ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ แม้ในปัจจุบันนี้ ถ้าพิจารณาดูให้ลึกซึ้ง จะเห็นว่า ปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข สังคมไทยจึงยังคงต้องเผชิญอยู่กับปัญหาเดิมๆ ที่หาทางออกไม่ได้

เป็นการน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ปาฐกถาเรื่องนี้ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร อาจเป็นได้ว่า เพราะถูกตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ 'สถาบันสงฆ์และสังคมไทย' ทำให้มีผู้อ่านเป็นจำนวนมากเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องเฉพาะของสถาบันสงฆ์ จึงผ่านเลยไป มิได้ให้ความใส่ใจ

แต่ความเป็นจริงแล้ว ปาฐกถานี้เป็นปาฐกถาที่งดงามด้วยประการทั้งปวง ในหลายแง่ดังนี้

1. เป็นการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เหตุการณ์จริงและปัญหานั้นก็ได้เกิดผลกระทบแล้วต่อสังคมส่วนรวม

2. ประเด็นที่ยกมาวิเคราะห์เป็นแง่มุมที่แปลกออกไป เช่น ปัญหาเกี่ยวกับค่านิยมที่คลาดเคลื่อน ปัญหาเกี่ยวกับการสร้างรากฐานของความเจริญที่แท้ ทางเลือกที่เกี่ยวกับอุดมคติของสังคมไทย ฯลฯ

3. เป็นการวิเคราะห์ที่เจาะลึก ตรงประเด็น พร้อมด้วยตัวอย่างประกอบ เพื่อให้เห็นภาพ ให้ความรู้ความเข้าใจในปัญหาต่างๆ เหล่านั้นอย่างชัดเจน ไม่กำกวม เสริมสร้างสติปัญญาแก่ผู้อ่าน/ผู้ฟัง

4. ถ้อยคำ ภาษา สำนวน ความเปรียบเทียบ ที่เลือกมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ มีน้ำหนัก กระทบความรู้สึกและจิตสำนึกในด้านดี เป็นตัวอย่างของการวิเคราะห์ที่มีเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง มุ่งประโยชน์สุขให้เกิดแก่สังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง โดยปราศจากอัตตาของผู้แสดง สามารถใช้เป็นต้นแบบสำหรับใช้ในการวิเคราะห์เรื่องอื่นๆ

ด้วยแง่มุมที่ดีงามดังกล่าวมาแล้วนี้ ข้าพเจ้าจึงมีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะรื้อฟื้นการพิมพ์ปาฐกถานี้อีกครั้ง โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่ง แจกเป็นธรรมทาน และอีกส่วนหนึ่ง ธรรมสภาจัดพิมพ์จำหน่ายในราคาย่อมเยา เพื่อหนังสือนี้จะได้แพร่หลายไปสู่วงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ จึงได้กราบนมัสการขออนุญาตพระเดชพระคุณพระธรรมปิฎก ตีพิมพ์ปาฐกถานี้อีกครั้ง แยกออกมาเป็นหนังสือเล่มเดียวต่างหาก โดยใช้ชื่อใหม่ว่า 'บทเรียน 25 ปี คนไทยเรียนรู้หรือยัง'

นอกจากจะมีเมตตาอนุญาตให้ตีพิมพ์ได้ตามความประสงค์แล้ว พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณฯ ยังได้ตรวจต้นฉบับ แทรกเพิ่มข้อมูลบางส่วน พร้อมเขียนคำอนุโมทนาให้ด้วย ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกเป็นสิริมงคล และมีความปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพิมพ์ในครั้งนี้ และใคร่กราบนมัสการขอบพระคุณพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก มา ณ โอกาสนี้

ข้าพเจ้าหวังว่า หนังสือ 'บทเรียน 25 ปี คนไทยเรียนรู้หรือยัง' จักได้สำเร็จประโยชน์ทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการแก้ไขปัญหาสังคมไทย ตามสมควรแก่กรณี

พนิตา อังจันทรเพ็ญ และธรรมสภา

อนุโมทนา

คุณพนิตา อังจันทรเพ็ญ มีความตั้งใจมาก ที่จะพิมพ์ปาฐกถาเรื่อง “ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และแนวทางในการแก้ไข" พร้อมทั้งบันทึกประกอบต่อท้ายทั้งหมดออกเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง ได้แจ้งความประสงค์ พร้อมทั้งพิมพ์ต้นฉบับทั้งหมดลงในคอมพิวเตอร์เตรียมไว้พร้อม อาตมภาพขออนุโมทนา

ปาฐกถา พร้อมทั้งบันทึกประกอบที่ขอพิมพ์นั้น เป็นเรื่องเก่าที่ได้พูดและเขียนไว้เพียงครึ่งปีเศษ หลังเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเกิดขึ้นเกือบ ๒๕ ปีมาแล้ว ขณะที่แสดงปาฐกถานั้น เหตุการณ์ดังกล่าวยังเด่นชัดอยู่ในความทรงจำของทุกคนในสังคมไทย และปาฐกถานั้นก็จัดขึ้นโดยปรารภสภาพสังคมไทยในช่วงที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย จึงถือได้ว่า เป็นเรื่องที่พูดและเขียนเพื่อให้ข้อคิดแก่คนไทย ในยุคที่กำลังตื่นตัว โดยมีพลังแห่งการที่จะปฏิรูปและสร้างสรรค์สังคมไทยเป็นอย่างสูง

เรื่องที่พูดและเขียนนั้น เน้นการกระทำด้วยความรู้ความเข้าใจ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ปฏิบัติการบนฐานแห่งปัญญา และเรื่องที่ยกขึ้นพูดเป็นมุมหรือด้านหนึ่งของสังคมไทยที่มักถูกมองข้ามไป แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันหลักอย่างหนึ่งของชาติ ซึ่งในยุคนี้มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับชนบทที่เป็นสังคมส่วนใหญ่ของประเทศไทย และเป็นแหล่งแห่งวัฒนธรรมไทย ซึ่งเกี่ยวกับความรู้จักและเข้าใจตนเองของคนไทย อันมีความหมายสำคัญในแง่ที่ว่า เมื่อเราจะปฏิรูปสิ่งใด เราก็ควรจะรู้จักสิ่งที่เราจะปฏิรูปนั้น และรู้ความมุ่งหมายว่าจะปฏิรูปให้มันเป็นอย่างไร

เรื่องที่พูดและเขียนนี้ ผ่านกาลเวลามา ๒๔ ปีแล้ว และเคยมีการพิมพ์เผยแพร่ ๓ ครั้ง ครั้งล่าสุด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗) การพิมพ์ครั้งนี้ถือได้ว่า เป็นการรื้อฟื้นเรื่องเก่าขึ้นมาทบทวนและตรวจสอบสังคมไทยของเราว่า สังคมไทยของเราได้ก้าวหน้าไปในทางแห่งการรู้จักและเข้าใจตนเองขึ้นบ้างเพียงใด ซึ่งมีความหมายต่อไปด้วยว่า อาจเป็นเครื่องวัดระดับความพร้อมของคนไทยว่า จะสามารถปฏิรูปและสร้างสรรค์สังคมของตนได้หรือไม่

เพื่อให้สัมพันธ์กับยุคสมัย ได้ตั้งชื่อหนังสือนี้ใหม่ว่า “บทเรียน 25 ปีคนไทยเรียนรู้หรือยัง” แม้ชื่อปาฐกถาก็ได้ปรับให้สั้นเข้าว่า "ปัญหาสังคมไทยปัจจุบันและแนวทางแก้ไข” กับทั้งได้สลับลำดับบันทึกใหม่ และตั้งหัวข้อย่อยแทรกเข้ามาในบันทึกบางเรื่อง เพื่อให้อ่านสะดวกยิ่งขึ้น

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)
๑๐ เมษายน ๒๕๔๑

1บรรยายที่คณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๗.
พิมพ์ครั้งแรก ปาจารยสาร ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๑ (ก.ค.-ก.ย.) ๒๕๑๗.
พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปรัชญาการศึกษาไทย สำหรับพิมพ์เคล็ดไทย ๒๕๑๘.
2ชื่อเดิมของปาฐกถานี้ว่า ‘ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และแนวทางในการแก้ไข’
3ความในพระราชหัตถเลขาว่า ‘เทศน์มีเนื้อความเป็นนิทานมาก ข้อปฏิบัติมีแต่เล็กน้อย ไม่เป็นที่เลื่อมใส เห็นว่าการศาสนาในหัวเมืองอยู่ข้างจะเหลวไหลเสื่อมทรามมาก เพราะไม่มีหนังสือแสดงข้อปฏิบัติที่แท้จริงสำหรับเล่าเรียน’
4 ดู บันทึกที่ ๑ ‘ปัญหาเกี่ยวกับคุณค่าของสถาบันสงฆ์ในสังคมปัจจุบัน’ หน้า ๓๒
5ดู บันทึกที่ ๒ ‘ปัญหาเกี่ยวกับค่านิยมคลาดเคลื่อน’ หน้า ๖๔
6หมายถึง เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
7ดู บันทึกที่ ๓ ‘ปัญหาเกี่ยวกับการสร้างสรรค์รากฐานของความเจริญที่แท้’ หน้า ๖๙
8ดู ‘บันทึกที่ ๔ ปัญหาเรื่องระบบศักดินา และการขาดความรู้ความเข้าใจ' หน้า ๙๑
9ดู บันทึกที่ ๔ ‘ปัญหาเรื่องระบบศักดินาและการขาดความรู้ความเข้าใจ' หน้า ๙๑
10 ดู บันทึกที่ ๕ ‘ปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของสถาบันสงฆ์’ หน้า ๑๐๒
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง