พระพุทธศาสนากับการศึกษาในอดีต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พระพุทธศาสนา
กับการศึกษาในอดีต

หัวข้อคำบรรยายเรื่องนี้ จำกัดเฉพาะขอบเขตของกาละว่า เป็นส่วนอดีต แต่ไม่กำจัดขอบเขตของเทศะว่า เป็นการศึกษาในประเทศหนึ่งประเทศใดโดยเฉพาะ แม้ในฝ่ายกาละที่เป็นส่วนอดีตนั้น ก็มิได้จำกัดระยะเวลาว่าจะย้อนหลังลงไปเพียงใด แต่โดยเหตุผล เมื่อพิจารณาจากชื่อของการประชุมใหญ่ตลอดสามวัน ที่การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ซึ่งมีชื่อรวมเรียกว่า การประชุมทางวิชาการเรื่องพระพุทธศาสนากับการศึกษาในประเทศไทย ก็ทำให้เห็นว่า ทางฝ่ายท่านผู้จัดการประชุม คงมุ่งหมายให้บรรยายเรื่องพระพุทธศาสนากับการศึกษาในประเทศไทยเป็นสำคัญและให้บรรยายเรื่องราว ตั้งแต่พระพุทธศาสนาเริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาของชนชาติไทยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ผู้บรรยายเห็นว่า มีเหตุผลสมควรที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ นับแต่สมัยที่พระพุทธศาสนาแรกอุบัติในประเทศอินเดียเป็นต้นมา เพราะเป็นส่วนต้นตอแสดงถึงพื้นฐานความคิด เป็นเรื่องเนื่องถึงกัน และเกี่ยวด้วยการเปรียบเทียบ อันจะทำให้เกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

คณะสงฆ์เป็นสถาบันสังคมตัวอย่าง

เมื่อพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นนั้น ความเป็นอยู่ของประชาชนในชมพูทวีป ถูกกำหนดด้วยระบบความเชื่อถือและคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ในทางสังคม มนุษย์ถูกแบ่งออกเป็นวรรณะต่างๆ ๔ วรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร นอกจากนี้ ยังมีพวกนอกวรรณะซึ่งต่ำลงไปกว่าศูทรอีก เช่น พวกจัณฑาล และปุกกุสะเป็นต้น ฐานะ อาชีพ การงานและสิทธิทางสังคมของประชาชนแตกต่างกันไปตามวรรณะของตน ซึ่งถือเอากำเนิดเป็นเกณฑ์ สามวรรณะแรกเรียกพวกตนว่าเป็น “อารยะ” ส่วนพวกศูทรและพวกนอกวรรณะ เป็นคนชั้นต่ำ ได้รับความดูถูกเหยียดหยาม ถูกจำกัดและกีดกันจากสิทธิต่างๆ ในทางสังคมเป็นอันมาก โดยนัยนี้ ความเจริญก้าวหน้าของชีวิตจึงขึ้นต่อชาติกำเนิด บุคคลเกิดมาจึงมีสิทธิและโอกาสในการพัฒนาและแสดงออกซึ่งความสามารถ ไม่เท่าเทียมกัน กล่าวเฉพาะในด้านการศึกษา คนชั้นต่ำคือศูทร และพวกนอกวรรณะ จะไม่มีโอกาสได้เรียนคัมภีร์พระเวท ที่ถือเป็นความรู้สูงสุดในสมัยนั้นด้วยประการใดๆ เลย ขอยกความในกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ของพวกอารยะมาแสดง เช่น ในอาปัสตัมภะ ๑๒/๔-๕-๖ ว่า:-

“แลถ้ามัน (ศูทร) มีเจตนาฟังคำสาธยายพระเวท ให้เอาครั่งหรือตะกั่วหลอมกรอกหูมัน ถ้ามันสาธยายพระเวท ให้ตัดลิ้นมันเสีย ถ้ามันทรงจำความในพระเวทได้ ให้ผ่าร่างของมันออกเป็น ๒ ซีก”1

ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ก็มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ศึกษาพระเวท แล้วสาธยายพระเวทในที่มีคนวรรณะศูทรอยู่ด้วย2

ในชาดก มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชายหนุ่มจัณฑาล ๒ คน อยากศึกษาศิลปวิทยา ถึงกับปลอมตัวเป็นคนวรรณะพราหมณ์ ไปศึกษาอยู่ที่ตักกสิลา แต่ภายหลังถูกจับได้จึงถูกขับไล่ออกมา3

ความที่ยกมาอ้างเป็นตัวอย่างนี้ แสดงถึงสภาพความเป็นอยู่ สิทธิและโอกาสในชีวิตที่เหลื่อมล้ำต่ำสูงกว่ากัน เนื่องมาแต่ชาติกำเนิด ซึ่งไม่มีทางแก้ไขได้ในสังคมสมัยนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติแล้ว พระองค์ได้ทรงประกาศคำสอนใหม่ ซึ่งเป็นการปฏิวัติต่อคำสอนของพราหมณ์ ทรงกำจัดความเชื่อถือเรื่องวรรณะ ไม่ให้ถือชาติกำเนิดเป็นเครื่องแบ่งแยกความสูงต่ำและสิทธิของมนุษย์ ให้ถือว่าคนทุกวรรณะเกิดมามีความเสมอภาคกัน จะดีชั่ว ประเสริฐ หรือต่ำทราม เพราะการกระทำ และความประพฤติของตนเอง จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล หรือปุกกุสะก็ตาม ทำดีก็ได้ผลเหมือนกัน ทำชั่วก็ได้ผลเหมือนกัน ประพฤติชั่วก็เลวทรามเหมือนกัน ประพฤติดีก็ประเสริฐเหมือนกัน4 คนใดปฏิบัติธรรม ก็ได้ความสงบจิต มีความก้าวหน้า ถึงจุดหมายของศาสนาได้เหมือนกัน ชาติกำเนิดไม่สำคัญ สำคัญที่การฝึกฝนอบรม5 และได้ทรงบัญญัติความหมายใหม่ให้แก่คำว่า พราหมณ์ คำว่า อริยะ หรือ อารยะ เป็นต้น ว่าทุกคนแม้เป็นศูทร เป็นจัณฑาล หรือเป็นใครๆ ก็เป็นพราหมณ์ได้ เป็นอริยะหรืออารยะได้ ด้วยการกระทำการประพฤติปฏิบัติ แม้ผู้เป็นพราหมณ์เป็นอารยะโดยชาติกำเนิด ก็ให้ถือว่าเป็นคนต่ำทราม ถ้าประพฤติชั่ว กระทำไม่ดี6

นอกจากทรงประกาศคำสอน เพื่อให้เกิดผลในทางความเชื่อถืออย่างใหม่ของประชาชนแล้ว พระพุทธเจ้ายังได้ทรงนำหลักการนี้มาปฏิบัติ ให้เกิดผลในรูปสถาบันด้วย โดยได้ทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้น คณะสงฆ์นี้ เปิดรับบุคคลจากทุกวรรณะและนอกวรรณะ ทุกคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกของสถาบันนี้แล้ว มีสิทธิเสมอกันในทางการปกครองและชีวิตทางสังคม มีข้อกำหนดเพียงให้แสดงความเคารพกันตามลำดับอายุสมาชิกภาพ และมีโอกาสเท่ากันในการที่จะได้รับการศึกษาอบรม ตลอดจนปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่ชีวิตในสงฆ์จะให้เข้าถึงได้ ดังพุทธพจน์ว่า:-

“วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย นับว่าเป็นสมณศากยบุตรทั้งสิ้น”7

“บรรดาวรรณะทั้งสี่นี้ ผู้ใดเป็นภิกษุสิ้นกิเลสาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ตนจะต้องทำสำเร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว ลุถึงประโยชน์ตนแล้ว หมดเครื่องผูกมัดไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ผู้นั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นผู้เลิศกว่าวรรณะเหล่านั้น (นี่ก็) เพราะธรรมแท้ๆ หาใช่เพราะสิ่งที่มิใช่ธรรมไม่ ด้วยว่าธรรมเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้งในปัจจุบัน และภายหน้า”8

พิจารณาจากประวัติการประดิษฐานพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าคณะสงฆ์ในความหมายที่แท้นั้น พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นเป็นสังคมตัวอย่างที่มีการจัดระบบต่างๆ ทั้งในทางการปกครอง การเลี้ยงชีพ ชีวิตทางสังคม ตลอดจนการศึกษาอบรมทุกอย่าง โดยให้สมาชิกทุกคนมีสิทธิและมีส่วนร่วมในกิจการ และผลประโยชน์ต่างๆ ของสถาบันโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน เคารพในคุณค่าของกันและกัน อยู่ด้วยความกลมกลืนประสานกัน เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความปลอดโปร่งเป็นอิสระทั้งทางกาย ทางวาจา และความคิด มีโอกาส พร้อมบริบูรณ์ที่จะให้ความสามารถ และคุณสมบัติต่างๆ ของตนๆ ได้รับการฝึกอบรมเจริญก้าวหน้าโดยเต็มที่ถึงขีดสุด เท่าที่ตนจะทำได้ ในมรรคาแห่งการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระศาสนา คือให้ทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการปกครองสถาบันของตน มีปัจจัย ๔ พอเหมาะพอดีแก่การที่จะให้ชีวิตดำรงอยู่ด้วยความสะดวกสบายพอสมควร และช่วยให้การปฏิบัติหน้าที่ได้ผลดี สมาชิกทุกคนอยู่ร่วมกัน โดยให้ความเคารพนับถือกันฉันพี่น้อง9 ช่วยเหลือกันและให้โอกาสแก่กันในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้จบการศึกษาอบรมแล้ว หรือศึกษาอบรมอยู่ในระดับสูงกว่า ถ้าสามารถ ต้องช่วยให้การศึกษาอบรมแก่ผู้เริ่มต้นศึกษา หรือศึกษาต่ำกว่า ผู้รับการศึกษาจะต้องฝึกฝนอบรมตน ด้วยตั้งใจจริงเต็มหน้าที่และความสามารถของตน กล่าวสั้นๆ ในแง่ภายนอกตน และภายในตน คือ ภายนอก เป็นการจัดสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่จะอำนวยให้สมาชิกทุกคนได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ ความสามารถ และลงมือกระทำการต่างๆ เพื่อเข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่ชีวิตควรเข้าถึงได้ โดยเท่าเทียมกัน ส่วนในด้านภายใน แต่ละบุคคล นอกจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาสถาบันให้เป็นสิ่งแวดล้อม ที่มีสภาพอันอำนวยโอกาสดังกล่าวแล้ว ย่อมมีความรับผิดชอบโดยตรง ที่จะต้องฝึกฝนอบรมตนเองอย่างดีที่สุด และลงมือทำการต่างๆ เพื่อบรรลุถึงจุดหมายที่ควรเข้าถึงนั้นด้วยตนเอง โดยอาศัยสิ่งแวดล้อมที่อำนวยโอกาสนั้น เป็นเครื่องสนับสนุน

หลักพระพุทธศาสนาส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษา

จากข้อความที่กล่าวมานี้ จะมองเห็นต่อไปอีกว่า งานหลักหรือภารกิจสำคัญของสถาบันสงฆ์ ก็คือการศึกษา ระบบการต่างๆ ที่จัดขึ้นในทางการปกครองก็ดี ทางการเลี้ยงชีพก็ดี ทางชีวิตสังคมก็ดี ล้วนมุ่งให้เป็นเครื่องส่งเสริมสนับสนุนระบบการศึกษาอบรมทั้งนั้น กล่าวได้ว่า การศึกษาเป็นความหมายหรือเป็นตัวแท้ของชีวิตพรหมจรรย์ คำสอนและบทบัญญัติต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนา มีสาระสำคัญที่ส่งเสริมการศึกษาอบรม หลักฐานสำหรับยืนยันหรือสนับสนุนความข้อนี้ จะเห็นได้ทั้งในทางธรรม และทางวินัย

ในทางธรรม พึงเห็นได้ดังนี้:-

๑. จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือ นิพพาน แล แม้คุณพิเศษอื่นๆ ที่มนุษย์ต้องการ จะสำเร็จเพียงด้วยความปรารถนา หรือด้วยการร้องขออ้อนวอนให้อำนาจวิเศษใดๆ บันดาลให้ไม่ได้ บุคคลจะต้องเข้าถึงโดยประจักษ์แก่ตนเอง ด้วยความสามารถ ความสนใจ ใส่ใจ และการลงมือกระทำ ซึ่งรวมเรียกว่ากรรมของตนเอง พระศาสดา ครู อาจารย์ ผู้แนะนำสั่งสอน ช่วยเหลือ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น เป็นเพียงสิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนการกระทำนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีระบบการฝึกหัดอบรม เพื่อให้บุคคลได้พัฒนาคุณสมบัติและความสามารถต่างๆ ตลอดจนลงมือกระทำการต่างๆ ด้วยวิธีการอันถูกต้องเพื่อเข้าถึงจุดหมายหรือบรรลุสิ่งที่ต้องการนั้น คือ ต้องมีการศึกษานั่นเอง

๒. ตามหลักพระพุทธศาสนา อวิชชา คือความไม่รู้ (หมายถึง ไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น) เป็นรากเหง้า เป็นต้นตอ ของความชั่วและความทุกข์ทั้งปวง การกำจัดความชั่วและความทุกข์ กระทำได้โดยฝึกอบรมให้ปัญญาเพิ่มพูนขึ้น ให้วิชชาเกิดขึ้น เมื่อรู้สภาพของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงแล้ว ก็กำจัดความชั่วได้หมดสิ้น หลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นอิสระโดยสมบูรณ์10 การสร้างความรู้ ปัญญา หรือวิชชา จึงเป็นสิ่งจำเป็น

๓. การประพฤติพรหมจรรย์ หรือหลักความประพฤติปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เรียกสั้นๆ ก็คือ สิกขา หรือ การศึกษา สิกขาคือ ระบบการฝึกหัดอบรมบุคคล ซึ่งมีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เรียกง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นพื้นสมาธิเป็นตัวยึด ปัญญาเป็นตัวกระทำการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ระบบการฝึกอบรมจึงเพ่งเล็งไปที่ตัวปัญญา มุ่งสร้าง เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้นไปโดยลำดับ ด้วยอาศัยศีลและสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุน จนกว่าจะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ โดยนัยนี้ พระพุทธศาสนาในทางปฏิบัติก็คือการศึกษา และปัญญาเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบการศึกษานี้

๔. พระพุทธศาสนา เน้นความสำคัญของปัญญาอย่างมาก กำหนดปัญญาไว้ในคำสอนทั่วทุกแห่ง เช่น ในที่ทุกแห่งที่สอนศรัทธา จะต้องสอนปัญญาด้วย ปัญญาเป็นทั้งเบื้องต้นและที่สุดของการปฏิบัติธรรม และกล่าวถึงปัญญาที่ได้รับการอบรมเพิ่มพูน ขึ้นตามลำดับการปฏิบัตินั้น ในชื่อต่างๆ กัน ปัญญามีไวพจน์เป็นอันมาก เช่น ญาณ วิชชา วิปัสสนา ปริญญา อภิญญา อัญญา ปฏิสัมภิทา สัมปชัญญะ ทัสสนะ อโมหะ สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น แสดงถึงความหมายในแง่ต่างๆ และขั้นต่างๆ ของปัญญา โดยเฉพาะในการปฏิบัติชั้นสูง ปัญญาที่กล่าวถึงบ่อย ก็คือความหยั่งรู้ที่เรียกว่าญาณ อันเป็นความรู้ที่อาศัยความรู้ทางประสาทสัมผัส แต่เกิดขึ้นเมื่อระงับการรับรู้ทางประสาทสัมผัสแล้ว และมีชื่อแยกย่อยออกไปอีกตามระดับต่างๆ เป็นอันมาก พระพุทธศาสนาถือว่า ความรู้ที่แท้จริงนั้น เป็นความรู้ประจักษ์ เข้าไม่ถึงด้วยตรรกหรือการเก็งความจริงทางปรัชญา วิธีการคิดที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเน้นหนัก คือ โยนิโสมนสิการ แปลกันว่า การใส่ใจโดยแยบคาย หมายถึง การใช้ความคิดสืบสาวตลอดสาย การคิดอย่างมีระเบียบ การพิจารณาด้วยอุบาย ถือว่าการใช้ความคิดแบบนี้ เป็นวิธีสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีพุทธพจน์แสดงความสำคัญของโยนิโสมนสิการว่า “สำหรับภิกษุ ผู้เสขะ ... เรามองไม่เห็นองค์ประกอบภายในอื่นใดมีประโยชน์มากเท่าโยนิโสมนสิการเลย”11 (ขอให้เทียบกับองค์ประกอบภายนอกในข้อถัดไป) นี้แสดงถึงความสำคัญของการศึกษาในแง่ การฝึกการใช้ความคิด

๕. มีพุทธพจน์ว่า “สำหรับภิกษุผู้เสขะ ... เรามองไม่เห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นใด มีประโยชน์มากเท่าความมีกัลยาณมิตรเลย”12 “ความมีกัลยาณมิตร เป็นเบื้องต้น เป็นบุพนิมิตของอริยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนแสงเงินแสงทอง เป็นเบื้องต้น เป็นบุพนิมิต เมื่อดวงอาทิตย์จะอุทัย ฉะนั้น”13 “อานนท์ ความมีกัลยาณมิตรนี้ เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว”14 คำว่า “กัลยาณมิตร” มิได้หมายถึงเพื่อนสามัญในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป ในทางธรรม กัลยาณมิตร หมายถึงบุคคลที่มีคุณธรรม ผู้จะสั่งสอน แนะนำ ชักจูง ช่วยเหลือ ชี้ช่องทางให้ดำเนินไปในมรรคาแห่งการฝึกอบรมอย่างถูกต้อง ตามคัมภีร์แสดงว่า ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ครู อาจารย์ และท่านผู้เป็นพหูสูต ทรงภูมิปัญญาที่จะสั่งสอนแนะนำได้ แม้อ่อนวัยกว่า15

คำสอนที่เน้นความสำคัญของกัลยาณมิตร คือผู้นำการฝึกอบรมนี้ก็ดี คำสอนที่แยกคนเป็น ๔ ประเภทตามภูมิธรรม อันเปรียบเหมือนบัว ๔ เหล่า16 และแยกคนเป็น ๖ ประเภท ตามความถนัด ความโน้มเอียง ที่เรียกว่าจริต17 อันแสดงถึง การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลก็ดี คำสอนเรื่องทศพลญาณ18 เป็นต้นก็ดี เรื่องสัปปายะ ๗ อสัปปายะ ๗19 และปฏิรูปเทศ20 เป็นต้น ก็ดี ล้วนเป็นหลักฐานยืนยันว่า แม้พระพุทธศาสนาจะถือว่าจุดหมายหรือผลสำเร็จที่ต้องการ บุคคลจะต้องเข้าถึงด้วยตนเอง ด้วยการลงมือทำลงมือปฏิบัติเองก็ตาม แต่พระพุทธศาสนาก็มองเห็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของผู้สอน และความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นต้น ในฐานะเป็นสิ่งแวดล้อมและเป็นองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้การฝึกอบรมตนของบุคคลนั้นเป็นผลสำเร็จอย่างดี หลักการข้อนี้แสดงถึงความสำคัญของการศึกษา ในแง่ของการมีหลักการสอนและวิธีสอนที่ดี เริ่มแต่คุณสมบัติของผู้สอน สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม กลวิธีสอน ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะน้อมนำความสนใจ สอดคล้องกับอุปนิสัย ส่งเสริมความถนัดและความสามารถ ช่วยให้การศึกษาสัมฤทธิ์ผลด้วยดี

๖. พาหุสัจจะ คือ ความเป็นพหูสูต ความเป็นผู้คงแก่เรียน หรือได้เรียนรู้มาก เป็นคุณธรรมสำคัญมากอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนอยู่เสมอ โดยเฉพาะในฐานะเป็นคุณสมบัติสำหรับพระภิกษุ ผู้จะปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวด้วยประโยชน์ผู้อื่น เป็นที่พึ่งอาศัย หรือเป็นผู้ควรเคารพนับถือในทางธรรม21 เป็นผู้ควรได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายหน้าที่ในทางวินัย22 บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรมข้อนี้ได้รับความยกย่องสรรเสริญอย่างสูงในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงนับว่าเป็นเหตุกระตุ้น หรือแรงจูงใจสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะให้นิยมการศึกษาและการให้การศึกษา

อย่างไรก็ดี พาหุสัจจะ อันเป็นความรู้ประเภทสั่งสมข้อควรรู้นี้ แต่ลำพังอย่างเดียวย่อมให้ผลสำเร็จได้ไม่สมบูรณ์และไม่สามารถทำให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่ชีวิตควรเข้าถึงได้ จึงมีคุณค่าต่ำกว่าปัญญา อันเป็นความรู้ประเภทเข้าใจสภาวะ รู้วินิจฉัย และรู้ที่จะจัดการ ด้วยเหตุนี้ ในที่ใดสอนพาหุสัจจะไว้ จึงมักสอนปัญญากำกับไว้ด้วย เพื่อให้ผลที่ต้องการสำเร็จด้วยดี และปัญญาจึงเป็นจุดรวมความสนใจ ในระบบการศึกษาอบรมของพระพุทธศาสนา หลักการข้อนี้ แสดงว่า การศึกษามิได้หมายความเพียงการสั่งสมสุตะ การประมวลหรือรวบรวมสิ่งอันจะพึงรู้ ทำตนให้เป็นคลังเก็บความรู้เท่านั้น แต่หมายถึง การฝึกฝนความคิด อบรมปัญญา ให้เกิดความเข้าใจสภาวะ ความรู้วินิจฉัย และความรู้ที่จะจัดการโดยถูกต้องถึงที่สุดด้วย

๗. บุคคลในอุดมคติของพระพุทธศาสนา ก็คือผู้ที่ปฏิบัติกิจหน้าที่ของตนครบถ้วนสมบูรณ์ มีจิตใจบริสุทธิ์เป็นอิสระ มองสิ่งทั้งหลายด้วยความเข้าใจตามที่เป็นจริง มีความปลอดโปร่ง ปราศจากเงื่อนปมภายในที่จะเป็นเหตุสร้างปัญหาชีวิตให้แก่ตนและผู้อื่น มีชีวิตอยู่ด้วยความสุข เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินชีวิตที่ส่งเสริมความราบรื่น กลมกลืน ความสงบสุขของสังคม และพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น บุคคลเช่นนี้ไม่อาจสร้างขึ้นมาได้ด้วยวิธีอื่น นอกจากเป็นผลแห่งการศึกษาอบรมที่ถูกต้อง ซึ่งมีองค์ประกอบพร้อมทั้งฝ่าย วิชชา และฝ่าย จรณะ คือ มีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา

ในทางพระวินัย มีบทบัญญัติที่ส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาดังตัวอย่างต่อไปนี้:-

๑. ในพระวินัย มีบทบัญญัติกำหนดไว้ ให้ผู้อุปสมบทใหม่ ต้องถือ นิสัย คืออยู่รับการฝึกอบรมจากอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ จนกว่าจะมีความรู้ความสามารถปกครองตนเองได้ เป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด ๕ ปี บทบัญญัตินี้เป็นเหตุให้สมาชิกทุกคนของคณะสงฆ์ ได้รับการศึกษาอบรมอย่างที่เรียกได้ว่า เป็นหลักสูตรเดียวกัน เป็นการศึกษาที่มีลักษณะน้อมไปในทางเป็นแบบแผน และมีชีวิตแบบนักศึกษาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในเมื่อมีนิสิตร่วมอุปัชฌาย์หรืออาจารย์เดียวกันหลายรูป นิสิตได้รับการถ่ายทอดทั้งความรู้ในธรรมวินัย การฝึกอบรมความประพฤติและมีส่วนร่วมในชีวิตสังคม23

๒. คณะสงฆ์มีสภาพเป็นหลักฐานมั่นคงขึ้น เพราะมีวัดเป็นเครื่องกำหนด วัดเป็นหน่วยสังคมตัวอย่าง พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติกฎข้อบังคับต่างๆ ไว้โดยละเอียด เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์อยู่ร่วมกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยในหน่วยสังคมคือวัดนั้น ชีวิตสังคมของพระภิกษุสงฆ์นอกจากผูกพันอยู่กับอุปัชฌาย์อาจารย์ และนิสิตร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์อันเป็นหน่วยย่อยแล้ว ยังต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลในหน่วยย่อยอื่นๆ ในวัดเดียวกันนั้นอีก อย่างน้อยก็ในสังฆกรรมต่างๆ ที่จะต้องไปประชุมร่วมกันในโรงอุโบสถเดียวกัน และโดยที่ชีวิตของพระภิกษุสงฆ์ เป็นชีวิตที่มุ่งต่อการฝึกอบรมและการให้การศึกษาอบรม ดังนั้น ชีวิตสังคมของพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น จึงมากไปด้วยกิจกรรมทางด้านการศึกษา ในวัดตามพุทธานุญาตเดิมนั้น สถานที่พระสงฆ์พบพร้อมเพรียงกัน หรือเป็นจำนวนมากๆ นอกจากโรงอุโบสถแล้ว ก็คือ อุปัฏฐานศาลา ซึ่งเป็นทั้งโรงฉัน และหอประชุม เมื่อพระภิกษุสงฆ์ว่างจากการศึกษาปฏิบัติส่วนตนแล้ว เวลาบ่ายก็อาจมานั่งประชุมแสดงธรรม สนทนา สากัจฉา อภิปราย ตอบปัญหาธรรมกัน มีเรื่องปรากฏบันทึกไว้ในพระสูตรหลายแห่ง24 และการแสดงธรรม การฟังธรรม การสนทนาธรรม การสากัจฉา อภิปราย เช่นนี้เป็นกิจกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสนับสนุนมากด้วย25

การศึกษาขยายตัว

อาศัยองค์ประกอบทั้งทางคำสอน และการปฏิบัติในพระธรรมวินัยมาเกื้อหนุนเช่นนี้ การศึกษาในพระพุทธศาสนาก็ขยายตัวเป็นกิจการกว้างขวางยิ่งขึ้น ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ว่า คณะสงฆ์ได้ทำให้เกิดระบบการศึกษาแบบใหม่ขึ้นในชมพูทวีปสมัยนั้น เดิมการศึกษาตามระบบของศาสนาพราหมณ์ เป็นการศึกษาแบบครัวเรือน บ้านอาจารย์แต่ละคนนั่นเองเป็นโรงเรียน ศิษย์ไปสมัครเรียนและอยู่รับใช้อาจารย์ที่บ้าน แต่เมื่อคณะสงฆ์เกิดขึ้นแล้ว วัดได้เป็นแหล่งการศึกษาใหญ่ ประกอบด้วยกลุ่มอาจารย์และศิษย์ กลุ่มต่างๆ หลายๆ กลุ่มรวมเข้าด้วยกัน และมีระบบการบริหารรวมกันทั้งหมดอีกชั้นหนึ่ง เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายมากขึ้น มีวัดเกิดมากขึ้น ก็นับว่าการศึกษาได้ก้าวหน้าขึ้นอีกขั้นหนึ่ง คือขยายตัวจากระบบการศึกษาในครัวเรือนแบบพราหมณ์ มาเป็นระบบการศึกษาในวัดแบบพุทธศาสนา อันเป็นกิจการแบบสหพันธ์26 และเป็นการศึกษาแบบให้เปล่าโดยสิ้นเชิง

มีองค์ประกอบสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การศึกษาในพระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้าอย่างมาก กล่าวคือพระพุทธศาสนามิได้มีความมุ่งหมายที่จะให้การศึกษาอบรมและการปฏิบัติธรรม จำกัดอยู่ในวงสมาชิกของสถาบันคือในวัดเท่านั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศหลักการของพระองค์ไว้ ตั้งแต่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเมื่อคราวส่งพระสาวกออกประกาศพระศาสนาว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”27 พูดง่ายๆ ว่า พระพุทธศาสนามีวัตถุประสงค์ในการที่จะเผยแพร่ศาสนธรรมอย่างกว้างขวาง วงการของพระพุทธศาสนานั้น ครอบคลุมทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ คือ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่ในพระพุทธศาสนาด้วยทั้งหมด โดยแยกประเภทพุทธศาสนิกชนออกเป็นบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รวมเป็นประเภทใหญ่ได้ ๒ พวก คือ บรรพชิตกับคฤหัสถ์ และผูกพันชีวิตบุคคลทั้ง ๒ ประเภทนี้เข้าไว้ด้วยกัน โดยให้บรรพชิตต้องอาศัยดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัย ๔ ที่คฤหัสถ์ถวาย และตอบสนองด้วยการสั่งสอนธรรม โดยเหตุนี้ พระสงฆ์ นอกจากมีชีวิตผูกพันอยู่ในสังคมพระสงฆ์เองแล้ว ยังต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมชาวโลกอีกด้วย ทั้งโดยบทบัญญัติในการเลี้ยงชีพ ทางฝ่ายวินัย และหน้าที่ในทางธรรม จะอยู่ตัดขาดจากสังคมเด็ดขาดอย่างฤๅษีชีไพรไม่ได้

กล่าวเฉพาะในด้านการศึกษาอบรม การศึกษาที่จัดเป็นระบบการแท้ๆ นี้ มีเฉพาะในคณะสงฆ์ คือ ในวัดเท่านั้น และในระยะแรกเป็นการศึกษาที่มุ่งปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ เพราะผู้ที่ต้องการบรรลุถึงจุดหมายนี้ ก็ต้องสละเพศมาบวชเข้าอยู่ในคณะสงฆ์ และโดยปกติท่านเหล่านั้นย่อมได้ศึกษาความรู้อย่างอื่นมาเพียงพอหรือไม่ต้องการความรู้อย่างอื่นแล้ว ส่วนพุทธศาสนิกชนผู้ยังไม่พร้อมที่จะสละเพศบวช ก็มาวัดฟังธรรม สนทนาธรรม ตามโอกาส และฝึกอบรมบุตรหลาน ปฏิบัติธรรมไปตามกำลังความสามารถของตน พระภิกษุสงฆ์ก็เพียงสั่งสอนธรรมสำหรับการครองชีวิตในสังคมคฤหัสถ์ และหลักธรรมสำหรับการปฏิบัติสูงต่ำตามระดับจิตใจของคฤหัสถ์เหล่านั้น ไม่มีหน้าที่ที่จะให้การศึกษาศิลปวิทยาต่างๆ ในด้านการหาเลี้ยงชีวิตแก่คนเหล่านั้น เพียงแต่สั่งสอนหน้าที่ทางธรรมที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน เช่น สอนว่าเป็นหน้าที่ของบิดามารดา ที่จะต้องให้บุตรศึกษาศิลปวิทยา ให้ครูอาจารย์ตั้งใจสั่งสอนศิลปวิทยาแก่ศิษย์ไม่อำพราง และให้ศิษย์เอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น28 เพียงกำหนดให้เป็นหน้าที่ ส่วนจะศึกษาศิลปวิทยาการอาชีพใดก็สุดแต่สังคม ชุมชน และกาลสมัยนั้น เพราะศิลปวิทยาการหาเลี้ยงชีวิตของชาวโลกย่อมเปลี่ยนแปลงแตกต่างออกไปไม่มีที่สิ้นสุด หายุติเป็นแนวเดียวอย่างการปฏิบัติธรรมไม่

หลักการสำคัญในด้านการดำรงพระศาสนา ที่ส่งเสริมให้การศึกษาในพระพุทธศาสนา เจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก ไม่จำกัดเฉพาะในหมู่พระสงฆ์ แต่ทั่วถึงชาวบ้านด้วย ปรากฏในพุทธพจน์สำคัญ ซึ่งกระจายอยู่ในคัมภีร์หลายแห่ง มีความว่า:-

“ตราบใด ภิกษุสาวก ภิกษุณีสาวิกา อุบาสกสาวก อุบาสิกาสาวิกาของเรา ยังไม่มีความรู้หลักแหลม ยังไม่เป็นผู้ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างดี ยังไม่แกล้วกล้าอาจหาญ ยังไม่บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ยังไม่เป็นพหูสูต ยังไม่ทรงธรรม ยังไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ยังไม่ปฏิบัติชอบ ดำเนินตามครรลองธรรม ยังมิได้ร่ำเรียนอาจริยวาทของตน จนนำมาบอก แสดงบัญญัติ วางหลัก ชี้แจง แยกแยะทำให้เข้าใจได้ง่าย ยังไม่ (สามารถ) แสดงธรรมให้เห็นผลจริงจังกำราบปรัปวาท (ลัทธิที่ขัดแย้งหรือวาทะฝ่ายตรงข้าม) ที่เกิดขึ้น ให้สำเร็จเรียบร้อยโดยถูกต้องตามหลักธรรม ตราบนั้นเราจักยังไม่ปรินิพพาน”29

และอีกแห่งหนึ่งตรัสว่า พรหมจรรย์ (คือพุทธศาสนา) จะยังไม่ชื่อว่า แพร่หลายบริบูรณ์ จนกว่าบริษัท ๔ จะมีความสามารถดังกล่าวแล้วนั้น30

พุทธพจน์นี้ แสดงให้เห็นว่าพุทธบริษัทผู้จะสืบอายุพระพุทธศาสนา บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลกได้นั้น นอกจากมีคุณธรรม ความประพฤติปฏิบัติอันเป็นคุณสมบัติภายในตนอย่างดีแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติอีก ๒ ประการคือ รู้เชี่ยวชาญในหลักคำสอนฝ่ายของตนจนสอนคนอื่นได้ดีอย่างหนึ่ง และสามารถเอาชนะการรุกรานทางหลักธรรมจากลัทธิศาสนาอื่นๆ ได้อย่างหนึ่ง คุณสมบัติข้อหลังนี้ เป็นปัจจัยให้พระสาวกต้องมีความรู้ความชำนาญในหลักลัทธิศาสนาและวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เมื่อมิได้ศึกษามาก่อนบรรพชา ก็จะต้องมาศึกษาเพิ่มเติมภายหลัง และข้อนี้เองคงเป็นเหตุให้การศึกษาทางพระพุทธศาสนาขยายตัวยิ่งๆ ขึ้น จนเกิดมีสถาบันอันนับได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก

พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ในถิ่นเดิม คือประเทศอินเดียเป็นเวลาทั้งหมดประมาณ ๑,๗๐๐ ปี จึงสูญสิ้นไปจากประเทศนั้น ในระยะเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๑๘) เป็นต้นมา พระพุทธศาสนาได้มีความเจริญรุ่งเรืองไม่เฉพาะในประเทศอินเดียเท่านั้น แต่ยังได้แพร่หลายไปในประเทศอื่นๆ เป็นอันมาก และได้เป็นรากฐานแห่งวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ ที่อยู่ในดินแดนเหล่านั้นอย่างสำคัญ แม้ที่ไม่สามารถดำรงตัวอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน ก็ทิ้งซากไว้ให้เห็นในศิลปกรรมต่างๆ อันแสดงถึงความรุ่งเรืองในอดีตตลอดระยะเวลาเหล่านี้ การศึกษาทางพระพุทธศาสนาคงจะได้เจริญเป็นอย่างมากด้วย เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานของการเผยแผ่ และมีข้อควรสังเกตอย่างหนึ่งว่าสาเหตุสำคัญของการเสื่อมสูญของพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ รวมทั้งอินเดียเองนั้น เป็นเพราะการทำลายล้างด้วยกำลัง โดยผู้ปกครองที่นับถือศาสนาอื่น เมื่อชาวพุทธปกครองก็ย่อมให้เสรีภาพแก่ทุกศาสนา แต่ถึงคราวถูกปกครองบ้างก็มักถูกบีบคั้นกำจัดเสีย เฉพาะในประเทศอินเดีย มีหลักฐานว่าพุทธศาสนาถูกผู้ปกครองต่างศาสนาทำลายล้างครั้งสำคัญ ๒ ครั้ง คือครั้งที่ ๑ ราว พ.ศ. ๑๐๗๒ กษัตริย์มิหิรกุละผู้นับถือนิกายไศวะ ได้ทำลายสถูปและสังฆารามจำนวนมากมาย เฉพาะในแคว้นคันธาระแห่งเดียวนับได้ ๑,๖๐๐ แห่ง และคราวต่อมาราว พ.ศ. ๑๗๐๐ ชนเตอร์กมุสลิม ซึ่งรุกรานเข้ามาในอินเดีย ได้ทำลายมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทั้งหมดทุกแห่ง ทำให้พุทธศาสนาหมดกำลัง และน่าจะนับเป็นเหตุสำคัญให้พุทธศาสนาสูญสิ้นจากประเทศอินเดีย31

บทบาทสำคัญของพระพุทธศาสนา ในประวัติการศึกษาตอนนี้ คงสรุปได้เป็น ๓ ประการ คือ ให้สิทธิเสรีภาพในการศึกษา ทำให้บุคคลทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการได้รับการศึกษา เกิดการศึกษามวลชน ประการหนึ่ง ทำให้เกิดการศึกษาแบบให้เปล่า ประการหนึ่ง และทำให้การศึกษาขยายตัวขึ้นเป็นรูปสถาบัน ประการหนึ่ง

เกิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก

หันมากล่าวถึงการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ในประเทศ อินเดีย มีระยะสำคัญที่ควรสนใจเป็นพิเศษอยู่ตอนหนึ่ง คือ ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๐๐๐ เศษ เป็นต้นมา เมื่อมีสัญญาณว่าพระพุทธศาสนาเริ่มเสื่อมแล้ว และศาสนาพราหมณ์กำลังมีกำลังมากขึ้น ข้อนี้คงเป็นเหตุบีบคั้นให้พระสงฆ์ต้องศึกษาลัทธิศาสนา และวิชาการต่างๆ กว้างขวางยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุให้วัดซึ่งเป็นแหล่งการศึกษาอยู่แต่เดิมแล้ว ขยายกิจการจนเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ เรียกได้ว่ามหาวิทยาลัย สถาบันที่ควรเรียกว่าเป็นมหาวิทยาแห่งแรกของโลก และสำคัญที่สุดในยุคเดียวกัน คือมหาวิทยานาลันทา และที่มีความรุ่งเรืองในระยะใกล้เคียงเป็นคู่กัน คือ มหาวิทยาลัยวลภี

นาลันทานั้น เท่าที่พอสืบค้นหลักฐานได้ มีประวัติมาแต่ราว พ.ศ. ๑๐๐๐ เรื่องราวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ส่วนมากทราบจากจดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจัง เป็นต้น ที่เดินทางมาในระยะประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐ เป็นต้นมา ในระยะรุ่งเรือง ประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐ เศษนี้ พอสรุปเรื่องได้ว่า นาลันทา เป็นมหาวิหาร คือวัดใหญ่ ประกอบด้วยวัดต่างๆ รวมอยู่ด้วยกันในกำแพงใหญ่ ๖ วัด มีอาจารย์ ๑,๕๐๐ คน ศิษย์ ๘,๕๐๐ คน มีการบรรยาย ๑๐๐ แห่ง วิชาที่ศึกษา เริ่มด้วยมหายานเป็นวิชาบังคับ จากนั้นมีหีนยาน ๑๘ นิกาย วิชาสามัญมี ศัพทวิทยา (= ไวยากรณ์และนิรุกติศาสตร์) เหตุวิทยา (ปัจจุบันเรียกตรรกวิทยา หรือตรรกศาสตร์) อัธยาตมวิทยา (ปัจจุบันเรียกกันว่าอภิปรัชญา) จิกิตสาวิทยา (= แพทยศาสตร์) ศิลปกรรมวิทยา นอกจากนี้มี ไตรเพท อถรรพเวท สางขยะและวิชาเบ็ดเตล็ดอื่นๆ นักศึกษามีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทั้งมหายาน หีนยาน ทั้งชาวพุทธ และไม่ใช่พุทธ ทั้งชาวอินเดีย และชาวต่างประเทศ คฤหัสถ์นั้นมี ๒ ประเภท คือ มาณพ ได้แก่ผู้มาเรียนคัมภีร์พุทธศาสนาและจะอุปสมบทต่อไป กับพรหมจารี ได้แก่ผู้มาเรียนวิชาทางโลกอย่างเดียว ผู้เริ่มเรียนอายุประมาณ ๒๐ ปี และจะต้องผ่านการสอบเข้าที่ยากได้ราว ๒-๓ ใน ๑๐ คน ห้องสมุดเป็นอาคารใหญ่ ๓ หลัง ชื่อรัตนสาคร รัตโนทธิ และรัตนรัญชกะ (เฉพาะรัตนสาคร ว่าสูง ๙ ชั้น) สิ่งก่อสร้างต่างๆ ใหญ่โต ประณีต และวิจิตรด้วยศิลปกรรมอันเป็นแบบอย่าง แม้เพียงซากที่พบ ก็มีผู้เขียนไว้ว่า:-

“งานก่อสร้างด้วยอิฐ ทำได้อย่างน่าทึ่งมาก ยอดเยี่ยมกว่างานก่อสร้างด้วยอิฐสมัยปัจจุบัน ไม่ว่าแห่งใดที่ข้าพเจ้าได้พบในชั่วปีใกล้ๆ นี้”32

การบริหารงานเป็นแบบประชาธิปไตย ตราสถาบันที่ขุดค้นพบใช้ว่า “ศรีนาลันทามหาวิหารอารยภิกษุสังฆัสยะ” ตำแหน่งหัวหน้าสถาบันเรียกกุลบดี ถัดมาเป็นตำแหน่งหัวหน้าแต่ละวัด เรียก บัณฑิต กิจวัตรประจำวัน กำหนดด้วยนาฬิกาน้ำ เริ่มต้นด้วยพิธีสวดมนต์ร่วมกันแล้วแยกย้ายไปศึกษาเป็นหน่วยๆ ตามวิชาเฉพาะของตนๆ กิจการศึกษาทั้งหมดอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะ (วัดแต่ละวัดในมหาวิทยาลัยนี้ กษัตริย์ราชวงศ์นี้ทรงสร้างต่อๆ กันมา) และวงศ์ปาละในสมัยต่อมา

มหาวิทยาลัยที่รุ่งเรืองอยู่ในสมัยเดียวกัน ได้แก่ วลภี เป็นมหาวิหารที่กษัตริย์ไมตระกะสร้าง อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เช่นกัน มีชื่อเสียงว่าเป็นคู่แข่งกับนาลันทา นาลันทาอยู่ฝ่ายตะวันออก และมีชื่อเสียงเด่นทางฝ่ายมหายาน ส่วนวลภีอยู่ฝ่ายตะวันตก และมีชื่อเสียงเด่นทางฝ่ายหีนยาน ผู้ศึกษามีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตเช่นกัน วิชาอื่นๆ มีธรรม (ศาสตร์) นีติ (ศาสตร์) และ จิกิตสาศาสตร์ เป็นต้น

ผู้ได้เข้าศึกษาในสถาบันทั้ง ๒ นี้ มีเกียรติได้รับยกย่องอย่างสูง สำเร็จการศึกษาแล้ว แม้อยากสมัครเข้ารับราชการ ก็ เลือกงานได้อย่างใจและได้ตำแหน่งสูง ปราชญ์ใดในชมพูทวีปต้องการเผยแพร่เกียรติคุณของตนก็ต้องเดินทางมาอภิปรายแสดงภูมิปัญญาที่นี่ จึงจะปรากฏเกียรติยศ ได้รับยกย่อง

วลภี หรือ ทุฑฑา นี้ ถูกทำลายจนสิ้นซากเมื่อราว พ.ศ. ๑๓๐๐ นับว่าก่อนกว่านาลันทา เพราะอยู่ทางตะวันตก เป็นทางผ่านก่อน ส่วนนาลันทา ยังคงรุ่งเรืองต่อมา แต่ระยะหลัง คือระหว่างราว พ.ศ. ๑๔๐๐-๑๗๐๐ เป็นระยะเสื่อมลง เพราะพระพุทธศาสนาลัทธิตันตระ หรือนิกายวัชรยานเกิดและรุ่งเรืองขึ้น การศึกษาก็แคบเข้า มุ่งเฉพาะลัทธิตันตระนี้เป็นสำคัญ

ในระยะหลังเมื่อนาลันทาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์วงศ์ปาละ กษัตริย์ปาละได้สร้างสถาบันที่เรียกได้ว่า มหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ขึ้นอีกอย่างน้อย ๓-๔ แห่ง คือ โอทันตปุระ วิกรมศิลา ชคัททละ หรือ วเรนทรี และโสมปุระ เฉพาะที่วิกรมศิลา ได้หลักฐานว่าให้ปริญญา เรียกชื่อว่าบัณฑิต หรือ มหาบัณฑิต โดยพระราชาเป็นผู้ทรงพระราชทาน บัณฑิต หรือมหาบัณฑิตที่มีชื่อเสียงเด่น จะได้รับเกียรติติดภาพไว้ที่ผนัง มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีระบบการประสานงานเนื่องถึงกันหมด (มีการย้ายเรียน ย้ายสอน ย้ายผู้บริหาร เป็นต้น)

มหาวิทยาลัยนาลันทา และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่สร้างในยุคหลังๆ นี้ ถูกทำลายในเวลาใกล้เคียงกันระยะ พ.ศ. ๑๗๐๐ โดยมากเป็นการทำลายแบบสิ้นซาก พระสงฆ์ถ้าไม่ถูกฆ่า ก็หนีไปที่อื่น เช่น ไปอยู่ในจีน และทิเบต เป็นต้น อย่างที่โอทันตปุระ มีบันทึกของผู้เห็นเหตุการณ์ว่า “ผู้พำนักอาศัยอยู่ที่นี่เป็นพราหมณ์ศีรษะโล้น ได้ถูกสังหารหมด ได้พบหนังสือจำนวนมากมาย เมื่อพวก (ทหาร) มุสลิมเห็นหนังสือเหล่านั้น จึงให้เรียกหาคนมาชี้แจงว่าเป็นเรื่องอะไร แต่คนเหล่านั้นถูกฆ่าตายเสียหมดแล้ว”33 และที่วิกรมศิลาว่า “พวกทหารตุรุษกะเมื่อได้ขุดโค่นมัน (คือวิกรมศิลา) ลงจนเตียนแล้ว ก็ได้โยนหินรากอาคารลงแม่น้ำคงคาไปเสียด้วย”34

เรื่องราวของสถาบันเหล่านี้ เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาได้เป็นเหตุให้การศึกษาเจริญก้าวหน้าอย่างมากมาย สถาบันที่กล่าวมานอกจากเป็นศูนย์กลางการศึกษาแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางที่สร้างสรรค์และเผยแพร่วัฒนธรรมด้วย เท่าที่ปรากฏหลักฐาน ชาวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยได้มาศึกษาที่สถาบันเหล่านี้ ที่แน่นอนที่สุด คือพระสงฆ์จีนหลายรูป พระทิเบตจำนวนมาก และน่าจะมีชาวสุมาตราด้วย ได้มาศึกษา ณ สถาบันเหล่านี้ แล้วนำพุทธศาสนาพร้อมทั้งวัฒนธรรมไปเผยแพร่ในประเทศของตน และพระสงฆ์อินเดียที่เป็นผู้ทรงความรู้จำนวนไม่น้อย ก็ได้เดินทางไปยังประเทศเหล่านี้ คงจะกล่าวได้ว่าสถาบันเหล่านี้มีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก ในการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา อย่างน้อยในประเทศจีน ทิเบต เกาหลี และญี่ปุ่น และมีส่วนในการเสริมสร้างวัฒนธรรมของประเทศเหล่านั้น ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศอินเดียเอง เมื่อพระพุทธศาสนาถูกทำลายจนเกือบสิ้นซากก็ได้มีผู้พยายามที่จะฟื้นฟูสร้างวัดวาอารามขึ้นมาอีก แต่คงจะเป็นด้วยถูกทำลายเสียจนหมดกำลัง เปลี้ยเกินกว่าจะฟื้นตัว และกำลังที่ช่วยพยุงอุ้มชูไม่มากพอ และสาเหตุอื่นๆ เข้าประกอบ จึงไม่สามารถคืนสู่สภาพเดิมได้ และถูกกลืนหายไปในที่สุด35 แต่การถูกกลืนหายนี้ มิใช่การสูญสิ้นหมดไปทีเดียว เพราะได้ไปเป็นพลัง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงขึ้นในระบบที่กลืนนั้นเอง มีปราชญ์ให้ความเห็นว่า ระบบการที่จัดรูปหมู่คณะของตนขึ้นเป็นรูปสถาบัน ของฮินดูสมัยหลังๆ อย่างของศังกราจารย์ ก็ดี สวามีวิเวกานันทะ ก็ดี เป็นการดำเนินตามแบบอย่างของคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ส่วนในด้านการศึกษา เมื่อมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาถูกทำลายลงแล้ว ก็เป็นโอกาสให้พราหมณ์รื้อฟื้นการศึกษาของตน ทำให้การศึกษาของพราหมณ์รุ่งเรืองขึ้น มีสถาบันพราหมณ์ ๒ แห่ง ที่จัดว่าเป็นมหาวิทยาลัย คือ มิถิลา ซึ่งรุ่งเรืองในระยะพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐-๒๑ และเนเดีย ซึ่งเจริญล้ำหน้ามิถิลา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ สถาบัน ๒ แห่งนี้น่าจะได้แนวความคิดในการจัดระบบการศึกษาสืบเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา แต่ก็มีเรื่องราวปรากฏว่ามีการผูกขาดหวงแหนความรู้และการสั่งสอน หันกลับไปใช้ระบบการเรียนการสอนแบบท่องจำ และก็ไม่ปรากฏว่าได้มีบทบาทในทางวัฒนธรรมสำคัญ เหมือนอย่างมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ที่กล่าวมาแล้วเลย36

ก่อนจบตอนนี้ เห็นควรนำข้อความในตำราของฝ่ายตะวันตก ที่กล่าวถึงมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเหล่านี้มาแสดงไว้บ้างเป็นตัวอย่าง พอให้เห็นว่าปราชญ์ฝ่ายตะวันตกมีความรู้ความเห็นเกี่ยวกับสถาบันเหล่านี้อย่างไร

สารานุกรมฉบับหนึ่ง เขียนไว้ว่า :-

“นาลันทานี้ ได้ชื่อว่าเป็น “The Oxford of India” เซอร์ อเลกซานเดอร์ คันนิงแฮม กล่าวว่า ได้เห็นปฏิมากรรมที่ประณีตงดงามที่สุดของอินเดียที่นาลันทานี้ งานขุดค้นซึ่งเริ่มทำแต่ ค.ศ. ๑๙๑๖ (พ.ศ. ๒๔๕๙) ทำให้ได้พบ “วิหาร” (วัด) จำนวนมาก สลับทับซ้อนกันอยู่ถึงเจ็ดชั้น เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยต่างๆ ถึง ๙ สมัย อนึ่ง ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ถึง ๑๒ เมืองพิหาร ได้เป็นที่ตั้งของพุทธ “วิหาร” อีกแห่งหนึ่ง37 ซึ่งเป็นที่มาแห่งชื่อของเมืองนี้38

ตำราประวัติศาสตร์เล่มหนึ่งเขียนว่า :-

“มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ซึ่งคงจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก มีส่วนสำคัญในประวัติการณ์ทางด้านสติปัญญาของชาวอินเดีย อยู่ในสมัยคุปตะและสมัยต่อๆ มาจนถึงประมาณ ค.ศ. ๑๒๐๐ มหาวิทยาลัยเหล่านี้รับเฉพาะนักศึกษาชั้นหัวกะทิเท่านั้น (สมัคร ๑๐ คน จะรับเข้าสัก ๒ หรือ ๓ คน) และแม้ผู้ที่เข้าได้แล้วยังถูกไล่ออกก่อนเรียนจบหลักสูตรเสียก็มาก นักศึกษาได้เล่าเรียน กินอยู่ โดยไม่ต้องเสียเงินเลย แต่ต้องเป็นคนไม่ฟุ้งเฟ้อสำรวย”

“มหาวิทยาลัยต่างๆ ตั้งอยู่ทั่วประเทศ บางแห่งก็มีชื่อเสียง ปรากฏว่าชำนาญพิเศษในวิชาเฉพาะเป็นสาขาๆ ไป โดยนัยนี้ มหาวิทยาลัยอุชเชนีก็มีชื่อเสียงเด่นในวิชาดาราศาสตร์ ส่วนมหาวิทยาลัยอชันตะ ก็เป็นแหล่งดึงดูดนักศึกษาที่สนใจทางศิลปะ พาราณสี ก็มีชื่อในการสอนหลักลัทธิดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์ และยังเป็นศูนย์กลางให้นักปรัชญาผู้มีทฤษฎีใหม่ๆ มาบ่มตัวอีกด้วย แต่ที่เยี่ยมยอดกว่ามหาวิทยาลัยทั้งปวง ก็คือนาลันทา ซึ่งอยู่กึ่งทางระหว่างปัตนะกับคยาปัจจุบัน ครั้งหนึ่ง นาลันทาเคยมีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หลายต่อหลายมหาวิทยาลัยให้การสอนและอำนวยความสะดวกในการค้นคว้าวิจัย ในวิชาศาสนา ปรัชญา (โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา) ศิลปะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ โรงเรียนเกษตรกรรมนั้น ถึงกับมีฟาร์มโคนมด้วยซ้ำ บริเวณเนื้อที่ของนาลันทานั้น มีหอสมุดใหญ่ หอดูดาว ห้องบรรยายจำนวนมากมาย และหอพักสูง ๔ ชั้น39 น่าเสียดายที่มหาวิทยาลัยนี้ ถูกเผาเสียราบเรียบ เมื่อ ค.ศ. ๑๑๙๗ (พ.ศ. ๑๗๔๐) คัมภีร์พุทธศาสนาและฮินดูที่เขียนกันไว้อันประมาณค่ามิได้ ถูกทำลายไปเสียเป็นจำนวนมากมายเหลือประมาณ”40

ในประวัติการศึกษา ก็มีเรื่องเล่าว่า :-

“บรรดามหาวิทยาลัยโบราณเท่าที่รู้จักกันในขณะนี้นั้น แห่งแรกที่สุดได้แก่ ตักกสิลา41 อยู่ทางปลายภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เป็นสถานที่เล่าเรียนตั้งแต่ศตวรรษที่ ๗ ถึงศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสต์ศักราช ศิลปศาสตร์ที่สอนกันที่นี่มีกว่า ๖๐ ประเภท อาจารย์ที่สอนล้วนเชี่ยวชาญ มีศิษย์ที่สามารถเป็นผู้ช่วย “มหาวิทยาลัยโบราณ” ชั้นนำแห่งอื่นๆ ก็มีพาราณสี ซึ่งเมื่อตักกสิลาสลายตัวไปแล้ว จึงมีชื่อเสียงเด่นขึ้นมา ว่าเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของการศึกษาศาสนาพราหมณ์ และภาษาสันสกฤต และที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยโบราณทั้งปวงก็คือ นาลันทา ในแคว้นพิหาร นาลันทานี้เดิมตั้งขึ้นมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๖ แล้วก็เจริญเรื่อยมา ตลอดระยะเวลา ๘๐๐ ปี จนกลายเป็นมหาสถานอันเนื่องแน่นด้วยห้องสมุด หอพัก และห้องประชุมฟังคำบรรยาย ซึ่งนักศึกษาพากันหลั่งไหลมาจากทั่วทุกภาคของทวีปอาเซีย”42

ตำราประวัติศาสตร์อีกเล่มหนึ่งเขียนพาดพิงถึงมหาวิทยาลัยนาลันทาและความเจริญก้าวหน้าของการศึกษาในอินเดียยุคนั้นไว้ ดังนี้ :-

“นิทานอินเดียจำนวนมากมาถึงกระทั่งยุโรป โดยชาวมุสลิมเป็นผู้นำมา นิทานเรื่องที่มีชื่อที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องซินด์แบด ซึ่งได้เข้าไปรวมอยู่ในนิยายอาหรับราตรีด้วย โบะกาจโจก็ดี ชอเซอร์ก็ดี ลาฟอนเตนก็ดี กริมม์ก็ดี คิปลิงก็ดี ล้วนได้อาศัยนิทานปรัมปราของอินเดียทั้งนั้น”

“ในสมัยคุปตะ ความรอบรู้และวิทยาการได้เจริญก้าวหน้าถึงระดับสูงยิ่ง นักศึกษาจากทุกถิ่นทั่วทวีปอาเซียเดินทางมาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งยอดเยี่ยมของอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ที่นาลันทา นักวิชาการที่มีชื่อเสียงที่สุด ได้แก่นักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ ชื่อ อารยภัฏ ผู้มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ท่านผู้นี้แต่งความแก้เรื่องสมการสองชั้น ค่าของ π กรานติ์และวิษุวัต สัณฐานของโลก และการหมุนของโลก โดยว่าเป็นฉันท์ทีเดียว ส่วนนักดาราศาสตร์อินเดียคนอื่นๆ ก็สามารถทำนายสุริยคราส จันทรคราสได้อย่างแม่นยำ คำนวณเส้นผ่าศูนย์กลางพระจันทร์ได้ และแถลงความรู้ในเรื่องความดึงดูดของโลกได้”

“ในทางดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ (ยกเว้นเรขาคณิต) นับว่าพวกอินเดียไปได้ไกลกว่าที่ชนชาติอื่นใดในสมัยโบราณทำได้ เลขอาหรับ (อาระบิค) และระบบทศนิยมที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้นั้น ปรากฏว่าเดิมทีเดียวมาจากอินเดียก่อน แม้แต่เลขศูนย์ก็น่าจะมาจากอินเดียมากกว่ามาจากอาหรับ”

“ถึงในด้านวิชาเคมี พวกอินเดียก็ก้าวหน้าไปไกลเอาการ การทำสบู่และซีเมนต์ก็เป็นของที่พวกอินเดียค้นพบ พวกอินเดียเป็นนักตีเหล็กที่เก่งที่สุดในโลก อุตสาหกรรมอินเดียมีชื่อว่าทำสีได้ยอดเยี่ยม และทำเส้นใยได้ละเอียด วิธีการผลิตเหล่านี้พวกอาหรับมารับเอาไป แล้วชาวยุโรปก็รับต่อไปอีกทอดหนึ่ง พวกอาหรับเรียกผ้าอินเดียชนิดหนึ่งว่า ควิททัน (quitton) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า cotton (ฝ้าย) ผ้าฝ้าย calico ก็มาจากชื่อเมือง Calicut ในอินเดีย และผ้าขนสัตว์ cashmere ก็มาจากถิ่นที่มีชื่ออย่างนั้นคือกัษมีระ (แคชเมียร์) ผ้าพิมพ์ดอก (chintz) และผ้าพันคอ (bandanna) เดิมทีก็มาจากอินเดียเช่นกัน”

“แพทย์สมัยคุปตะบางคนมีเทคนิคที่ทันสมัยจนน่าสนเท่ห์ในการผ่าตัด เขามีการเตรียมการอย่างละเอียดลออและฆ่าเชื้อที่แผลด้วยวิธีรมควัน การทำคลอดด้วยวิธีผ่าท้องก็ดี การจัดกระดูกก็ดี การผ่าตัดตบแต่งก็ดี ชาวอินเดียพยายามทำกันมาแล้วทั้งนั้น ชาวอินเดียยังรู้จักใช้เครื่องยาอีกตั้งหลายอย่างที่ยังไม่รู้จักกันในยุโรปครั้งนั้น ในการรักษาโรคเรื้อน เขาก็รู้จักใช้น้ำมันกระเบาซึ่งเป็นยาที่ยังใช้กันอยู่จนบัดนี้ และได้ก้าวหน้าไปมาก ในด้านการค้นพบยาแก้พิษงู อย่างไรก็ดีหลังจากสมัยคุปตะแล้ว วิชาการแพทย์ของอินเดียก้าวหน้ามาน้อยเหลือเกิน เว้นแต่ที่ได้ต่อมาจากพวกอาหรับ”43

ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเจริญ และความเสื่อมของการศึกษาในอินเดีย

ในหัวข้อเรื่องประวัติการศึกษาของสารานุกรมบริแตนนิกา ได้เขียนสรุปเกี่ยวกับความเป็นมา และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศอินเดีย มีข้อความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอีกตอนหนึ่ง เห็นว่าน่าสนใจ จึงขอแปลมาดู ดังนี้ :-

“เดิมนั้น การศึกษาของอินเดีย เป็นแบบก้าวหน้า และเสรี วิชาสามัญ เช่น คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และเคมี เป็นวิชาที่สนใจกันพอๆ กับวิชาศาสนวิทยา และกระบวนพิธีกรรมต่างๆ ตอนนั้น ระบบวรรณะยังไม่ตึงจัด สมาชิกในชุมชนอารยันยุคแรกทุกคน (ไม่เฉพาะพราหมณ์อย่างเดียว) มีสิทธิได้รับการศึกษาทั้งหญิงและชาย (ต่อมา เกิดมีความนิยมให้แต่งงานกันแต่วัยเด็ก44 และห้ามสตรีศึกษาพระเวท) ก่อนระยะที่เกิดความเสื่อมโทรมเช่นนี้ สถิติคนรู้หนังสือของอินเดีย สูงถึงร้อยละ ๖๐45 เมื่อดูจากข้อเท็จจริงที่ว่าตอนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สถิติคนรู้หนังสือของอินเดีย ต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ ก็จะเห็นได้ว่าการศึกษาของอินเดีย ได้เสื่อมทรามลงมากเพียงใด”

“การศึกษาแบบพุทธศาสนา เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการศึกษาระบบวรรณะ และการผูกขาดของพราหมณ์ สาระสำคัญของการศึกษาแบบพุทธศาสนา คือวรรณคดีพุทธศาสนา หาใช่พระเวทไม่ และการศึกษาแบบพุทธนี้ เปิดโอกาสให้แก่ประชาชนทุกคน ไม่ต้องคำนึงถึงวรรณะ โรงเรียนของพุทธศาสนาก็คือวัด แม้ว่าเยาวชนอินเดียส่วนใหญ่จะยังไม่อาจได้เล่าเรียนวิชาทางศาสนาและสามัญศึกษาทั่วถึงกัน แต่เด็กที่มีความสามารถเป็นพิเศษ ถึงจะเกิดในกำเนิดต่ำ ก็มาเล่าเรียนที่วัดได้ ระบบการเรียนแบบอันเตวาสิกที่มีระเบียบรัดกุม อยู่ในควบคุมของกลุ่มอาชีพที่มีการจัดรูปงานไว้อย่างดี ช่วยให้ลูกหลานของพวกช่างฝีมือ ได้รับการฝึกอบรมในวิชาชีพและช่วยรักษาระดับฝีมืออันชำนิชำนาญให้คงอยู่ สำนักภิกษุณี ก็ช่วยเป็นเครื่องเร้าใจให้สตรีได้รับการศึกษา ตลอดระยะเวลาที่พระพุทธศาสนายังมีกำลังรุ่งเรืองอยู่นี้ มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทั้งหลายมีนาลันทาเป็นต้น จัดว่าอยู่ในประเภทศูนย์กลางการศึกษาเล่าเรียน ที่ดีเด่นที่สุดในอินเดีย”

“ในสมัยที่มุสลิมเข้าปกครองแล้ว ก็ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนพระคัมภีร์กุรอ่าน และศูนย์กลางการศึกษาชั้นสูงขึ้นในที่ต่างๆ เช่น อัครา ละฮอร์และเดลี ส่วนมหาวิทยาลัยฮินดูและพุทธศาสนานั้น แม้บางแห่งจะถูกทำลายไปแล้ว แต่ก็ยังมีการอุปถัมภ์บำรุงส่วนบุคคลที่ช่วยรักษาระบบการศึกษาแบบฮินดูไว้ได้จนสิ้นยุคโมกุล ชาวยุโรปพวกแรกที่เข้าไปในอินเดีย ได้พบเห็นสถาบันการศึกษาแบบฮินดูและมุสลิม ปะปนกันอยู่มากมายทั่วประเทศ”

“น่าเสียดายว่า การถูกต่างชาติเข้ารุกรานยึดครอง และการถูกระบบวรรณะอันเข้มงวดขีดวงจำกัดไว้ ได้ทำให้แนวโน้มในทางก้าวหน้าและสร้างสรรค์ค่อยๆ หมดไปจนสูญสิ้น อาจเป็นได้ว่า จิตใจที่คิดสร้างสรรค์นี้ ได้ถูกบั่นทอนมาแต่ยุคต้นๆ ที่ใช้วิธีสอนแบบปากเปล่า ทวนซ้ำๆ ซากๆ และท่องจำแล้ว ก็ได้ อย่างไรก็ดี อินเดียในสมัยกลาง46 ได้หลงหมกมุ่นสนใจแคบๆ อยู่แต่เรื่องปรโลกจนละเลยวิชาสามัญ และแม้ในการศึกษาวิชาการทางศาสนานั้นเอง ก็ยึดติดแต่คัมภีร์ เลยทำให้ไม่เกิดความคิดวิจัยวิจารณ์ ไม่ยอมให้คิดผิดเพี้ยนไปจากความเชื่อถือเดิม อีกทั้งการมุ่งแต่ศึกษาภาษาสันสกฤต ไม่ใส่ใจในภาษาท้องถิ่น ก็ยิ่งเป็นการจำกัดการศึกษาให้อยู่ในวงแคบจำเพาะคนจำนวนน้อยหนักเข้าไปอีก”47

น่าสังเกตว่า ข้อความบางตอนในตำราฝ่ายตะวันตกที่ยกมาแสดงนี้ อาจเกิดจากความเข้าใจผิดได้บ้าง เช่นที่ว่า ในนาลันทามีโรงเรียนเกษตรกรรมซึ่งมีฟาร์มโคนม ความข้อนี้ ถ้าพิจารณาจากหลักฐานในตำราอื่นว่า พระราชา ผู้ทรงอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยนี้ ได้พระราชทานหมู่บ้านไว้เลี้ยงมหาวิทยาลัยถึง ๒๐๐ หมู่บ้าน (คงใช้วิธีเก็บส่วยบำรุงและให้รับใช้วัด) ฟาร์มโคนมที่กล่าวนี้ อาจเป็นของหมู่บ้านเหล่านี้ก็ได้ หรือมิฉะนั้นคงเป็นการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่เป็นคฤหัสถ์เท่านั้น48

ข้อสังเกตสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ จากข้อความที่ยกมาแสดงตอนท้าย จะเห็นว่า ระบบการศึกษาของพราหมณ์นั้น นอกจากจำกัดด้วยระบบวรรณะ ระบบการท่อง และการยึดคัมภีร์แล้ว ยังจำกัดด้วยภาษาที่ใช้ให้เป็นภาษาสันสกฤตอย่างเดียวอีกด้วย ส่วนระบบการศึกษาแบบพุทธศาสนานอกจากไม่จำกัดชาติ ชั้น วรรณะ ให้ใช้แบบการฝึกอบรมสุดแต่วิธีใดจะสำเร็จผลตามจุดหมาย และให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว ยังเปิดโอกาสในด้านภาษาให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ด้วย เรื่องนี้ ขอยกความในพระไตรปิฎกตอนนี้ มาแปลไว้ทั้งตอน

“สมัยนั้นแล ภิกษุ ๒ รูป เป็นพี่น้องกัน ชื่อเมฏฐะและโกกุฏฐะ เป็นคนวรรณะพราหมณ์โดยกำเนิด มีถ้อยคำสละสลวย ใช้คำพูดได้ไพเราะ เธอทั้งสองได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วจึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า :

‘พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลาย ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างกำเนิด ต่างตระกูลกัน เข้ามาบวช ทำพุทธพจน์ให้เสียหาย ผิดเพี้ยนไปด้วยภาษาของตน ผิฉะนั้น พวกข้าพระองค์จะขอยกพุทธพจน์ขึ้นโดยฉันท์ (คือเป็นภาษาสันสกฤตอย่างพระเวท)’49

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ‘โมฆบุรุษ ไฉนพวกเธอจึงกล่าวอย่างนี้...’ แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกพุทธพจน์ขึ้นโดยฉันท์ (คือเป็นภาษาสันสกฤตอย่างพระเวท) ภิกษุใดยกขึ้น ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตให้เรียนพุทธพจน์ด้วยภาษาของตน”

ข้อนี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดการศึกษาพระพุทธศาสนา และแสดงถึงเสรีภาพในการศึกษาทางพระพุทธศาสนาอีกประการหนึ่ง แต่ในเวลาเดียวกัน ก็แสดงให้เห็นว่าได้มีผู้คิดรักษาหลักคำสอนไว้ด้วยการหันกลับไปใช้ระบบของพราหมณ์ ซึ่งจะทำให้การศึกษาถูกผูกขาดจำกัดอยู่ในวงแคบอย่างเดิมอีก

การใช้ภาษาสามัญที่ประชาชนทั่วไปใช้กันอยู่เช่นนี้ เป็นโอกาสให้คนทุกชั้นวรรณะ เข้าถึงพระพุทธศาสนาได้เหมือนกันหมดและย่อมเป็นการให้การศึกษาแก่คนเหล่านั้นไปด้วย เรื่องนี้เห็นได้ชัด แม้ในยุคแรกๆ เช่น ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ประมาณ พ.ศ. ๒๑๘-๒๕๕) อันเป็นยุคที่อินเดียเป็นเมืองพุทธศาสนา และมีอำนาจรุ่งเรืองที่สุด พระเจ้าอโศกเมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ได้ทรงใช้นโยบาย “ธรรมวิชัย” คือ เอาชนะด้วยธรรม ทรงปกครองประชาชนโดยธรรม และมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนประพฤติธรรม มีความร่มเย็นเป็นสุขด้วย จึงโปรดให้จารึกพระธรรมและพระราชประสงค์ของพระองค์ เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของประชาราษฎร์ ลงในหลักศิลาบ้าง แผ่นศิลาบ้าง หินผาต่างๆ บ้าง ประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ ทุกหนแห่ง ที่เป็นทางสัญจร ซึ่งประชาชนจะมีโอกาสอ่านได้ง่าย ทั่วมหาอาณาจักรของพระองค์ คำจารึกก็ใช้ภาษาของแต่ละถิ่นๆ นั้นเอง ข้อความที่จารึกก็เป็นหลักธรรมสำหรับการประพฤติปฏิบัติทั่วๆ ไป และพระราชกรณียกิจที่ประชาชนควรรู้เช่น :-

- พระบรมราโชบายที่ทรงถือประโยชน์ และความผาสุกของราษฎรเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทรงห่วงใยราษฎรทั่วถึงกันหมด โดยเฉพาะผู้อยู่ชายแดน ทรงถือว่าราษฎรเป็นลูก ปกครองให้ความสุข เหมือนอย่างที่พ่อผู้หวังดีพึงให้แก่ลูก ทรงตั้งข้าราชการไว้ดูแลทุกข์สุขของประชาชน และให้ถือเหมือนเป็นพี่เลี้ยงของประชาชน

- ทรงออกตรวจเยี่ยมสั่งสอนแก่ประชาชนด้วยพระองค์เอง และส่งข้าราชการออกดูแลทุกข์สุขเป็นประจำ

- ให้เสรีภาพโดยสมบูรณ์แก่ทุกลัทธิศาสนา ให้ความคุ้มครองแก่สมณพราหมณ์ วางข้อกำหนดในการรักษาสามัคคีของคณะสงฆ์

- จัดบริการเภสัชสงเคราะห์และเวชสงเคราะห์ทั้งคนและสัตว์ ปลูกไม้ผล ไม้ให้ร่มเงา ขุดบ่อน้ำ แหล่งน้ำ เป็นระยะๆ ตลอดทางสัญจร ดูแลเอาใจใส่คนชรา คนอนาถา บรรเทาทุกข์ และให้ความคุ้มครองแก่สัตว์

- สอนหลักธรรมต่างๆ ในพระพุทธศาสนา เช่น ความสัตย์ อดทน ซื่อตรง การเคารพ ฯลฯ และหลักปฏิบัติต่อกันในทางสังคมตามคำสอนเรื่องทิศ ๖ โดยเฉพาะเน้นการปฏิบัติดีต่อทาสและคนรับใช้

จารึกบางฉบับมีกำหนดว่าให้นำมาอ่านฟังกันในที่ประชุมแต่ละถิ่นในวันสำคัญ บางฉบับกำหนดให้อุบาสกอ่านรู้ความทุกวันอุโบสถ บางฉบับประกาศกำหนดให้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รู้พระราชประสงค์ของพระองค์ ศิลาจารึกเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนมากน่าจะรู้หนังสือ จึงเที่ยวจารึกไว้ในที่ต่างๆ ทั่วไปเช่นนี้ และผู้รู้หนังสือนั้นคงมีเหมือนกันทั้งหญิงทั้งชาย เพราะคำที่ใช้เป็นกลางๆ พูดถึงทั้งชายทั้งหญิง พิจารณาจากหลักฐานนี้ ก็น่าจะให้เห็นว่า การศึกษาของประชาชนเจริญแพร่หลายมิใช่น้อย และย่อมเนื่องมาแต่พระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ50

เปรียบเทียบมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา กับมหาวิทยาลัยในยุโรป

เรื่องราวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ตามหลักฐานเท่าที่เล่ามาพอจะให้ลงความเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก แต่การที่จะให้เหตุผลในเรื่องนี้ชัดเจนเด่นขึ้นมา เห็นว่าจะต้องเท้าความไปถึงเรื่องมหาวิทยาลัยฝ่ายตะวันตกสักเล็กน้อย เพื่อนำมาเป็นหลักฐาน ยืนยันความเห็น และเพื่อเปรียบเทียบลักษณะบางประการ จะได้เข้าใจเรื่องราวฝ่ายตะวันออกนี้ดีขึ้น

ตามที่ยอมรับกัน ถือว่ามหาวิทยาลัยแห่งแรก (ของตะวันตก) เกิดขึ้นที่ โบโลนยา (Bologna) และที่ปารีส (Paris) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๖๕๐51 คือหลังจากนาลันทาราว ๖ ศตวรรษ

ความจริง ตำราประวัติศาสตร์กล่าวถึงมหาวิทยาลัยฝ่ายตะวันตกที่ตั้งขึ้นก่อนหน้านี้บ้างก็มี แต่ดูไม่หนักแน่น และไม่มีเรื่องราวเป็นหลักฐานมั่นคงต่อเนื่องพอที่จะเห็นว่าเป็นกิจการใหญ่โตจริง อันจะพึงยอมรับได้ เท่าที่พบมี :-

๑. มหาวิทยาลัยแห่งคอนสแตนติโนเปิล บางตำรา52 ว่า ตั้งในรัชกาลกษัตริย์โรมัน ชื่อพระเจ้าธีโอโดสิอุสมหาราช (พ.ศ. ๙๒๒-๙๓๘) บางตำรา53 ว่าตั้งในรัชกาลพระเจ้าจัสติเนียนมหาราช (พ.ศ. ๑๐๗๐-๑๑๐๘) เมื่อตั้งแล้วก็ปรากฏว่ามีกิจการไม่มั่นคง เพราะสงครามกับต่างชาติ และสงครามภายในประเทศ ไม่เป็นอันดำเนินงานจริงจัง จนพระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๙ ต้องทรงตั้งขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๘ แบ่งเป็น ๒ สาขา คือ กฎหมาย กับปรัชญา54 โดยนัยนี้ ก็ต้องนับว่าหลังนาลันทา

๒. มหาวิทยาลัยในเมืองคอร์โดวา (Cordova หรือ Cordoba) นครใหญ่ของสเปนสมัยมุสลิมปกครอง ตั้งในคริสตศตวรรษที่ ๑๐55 คือเกิน พ.ศ. ๑๔๐๐ มาแล้ว ซึ่งก็ต้องนับว่าหลังนาลันทาอีก

ทางฝ่ายตะวันออก ก็มีหลักฐานว่า กษัตริย์คอสโรสที่ ๑ (Chosroes I : พ.ศ. ๑๐๕๖-๑๑๒๒) แห่งเปอร์เซีย ได้ทรงตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์ขึ้นใกล้นครซูซา ต่อมาโรงเรียนนี้ได้ค่อยขยายหลักสูตรกว้างขึ้น จนเป็นมหาวิทยาลัย มีการสอนวิชาปรัชญา วาทศิลป์ ฉันทศาสตร์ ประวัติศาสตร์เปอร์เซีย นิติศาสตร์ และรวบรวมจดหมายเหตุพงศาวดาร56 แต่เทียบแล้วก็นับว่าหลังนาลันทาเช่นกัน

ย้อนกลับไปเล่าเรื่องมหาวิทยาลัยแรกของยุโรป มีโบโลนยาและปารีส เป็นต้น มหาวิทยาลัยเหล่านี้เกิดในสมัยกลางของยุโรป ต้นกำเนิดมาจากโรงเรียนวัดในศาสนาคริสต์ เรื่องย่อๆ มีว่า ในยุคโรมันเรืองอำนาจ ชาวโรมันมีการศึกษาศิลปศาสตร์ ๗ ประการ สืบเนื่องมาแต่สมัยกรีก คือ :-

๑. ตรีบถ ได้แก่ ไวยากรณ์ วาทศิลป์ และตรรกศาสตร์

๒. จตุรบถ ได้แก่ เลขคณิต เรขาคณิต ดาราศาสตร์ และ สังคีตศาสตร์

ต่อมาราว พ.ศ. ๑๐๑๙ มหาอาณาจักรโรมันสลายตัวลง หลังจากนั้นถือว่าเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ เรียกว่าสมัยกลาง (the Middle Ages) โดยเฉพาะระยะต้นๆ ของสมัยกลางนี้เรียกกันว่า ยุคมืด (the Dark Ages) คือเป็นระยะเวลาที่วัฒนธรรมเสื่อมถอย ไม่เกิดความเจริญก้าวหน้า

เมื่อเข้าสู่สมัยกลางแล้ว การศึกษาที่พวกโรมันเคยจัดกันมา เพื่อสร้างเยาวชนของตนให้เป็นผู้พร้อมที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม มีใจรักวรรณคดี ศิลป และปรัชญา ก็เปลี่ยนมือตกมาอยู่ ในความผูกขาดของคณะสงฆ์ในศาสนาคริสต์ โดยสิ้นเชิง การเล่าเรียนก็มาจัดกันที่โรงเรียนในวัด แต่คราวนี้ พระสงฆ์ถือว่า วิชาการฝ่ายโลกอย่างที่เรียนกันสมัยกรีกและโรมันนั้น เป็นความรู้อันไม่สมควร คริสตศาสนิกชนที่ดี ไม่ควรใส่ใจ จึงคิดแต่เพียง ให้เยาวชนได้เล่าเรียนวิชาสำหรับเตรียมบวช ไปอยู่วัด มีศรัทธาหนักแน่นในศาสนา วิชาต่างๆ ในสมัยโรมัน ถ้าจะเอามาเรียนกันบ้าง ก็เลือกเรียนเพียงเท่าที่จะเป็นประโยชน์ในการทำกิจทางศาสนาเท่านั้น เช่น ให้เรียนเลขคณิตเพียงเพื่อให้คำนวณวันสำคัญทางศาสนาได้ เป็นต้น ในระยะนี้การศึกษาวิชาการต่างๆ จึงไม่เจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๑๓๔๓ พระเจ้าชาละเมน คือ ชารลส์มหาราช กษัตริย์แฟรงค์ได้ครองราชย์เป็น จักรพรรดิแห่งยุโรปตะวันตก ทรงใส่พระทัยในการศึกษา โปรดให้บรรดาปราชญ์ในประเทศต่างๆ ที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจมาช่วยราชการฝ่ายการศึกษาในราชสำนัก และได้ทำนุบำรุง ปรับปรุงการศึกษาของพระสงฆ์ศาสนาคริสต์ กล่าวคือโรงเรียนวัดให้เจริญขึ้น ขณะนั้นโรงเรียนวัดมี ๒ ประเภท คือ โรงเรียนวัดสามัญ (monastic school) และโรงเรียนมหาวิหาร (Cathedral school) โรงเรียนอย่างหลังนี้เป็นของใหม่กว่าและช่วยส่งเสริมวิชาการและงานบ้านเมืองได้ดีกว่าอย่างแรก ส่วนพระองค์เองก็ได้ทรงตั้งโรงเรียนวังขึ้นที่เมืองอาเคิน (Aachen) เพื่ออบรมสอนพระราชโอรส บุตรพระญาติ บุตรขุนนาง ข้าราชการ และคนชั้นสูง สำหรับใช้ประโยชน์ในทางราชการ โรงเรียนวังเหล่านี้ เป็นที่ชุมนุมปราชญ์สมัยนั้น และเป็นแหล่งฝึกหัดครูไปด้วย ทำให้วิชาการได้ก้าวหน้าอีกไม่น้อย แต่กาลต่อมา ราชวงศ์ของพระเจ้าชาละเมนก็เสื่อมลง โรงเรียนวัดประเภท สำนักมหาวิหาร (cathedral school) ได้รับช่วงการศึกษาจากโรงเรียนวังนี้ไป ทำให้การศึกษากลับอยู่ในความผูกขาดของศาสนาคริสต์โดยสิ้นเชิงอีกครั้งหนึ่ง

สำนักเรียนมหาวิหาร หรือ คาธีดรัลสคูล เหล่านี้ เจริญเพิ่มจำนวนขึ้นมากมายในระยะ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพราะองค์สันตะปาปามีพระโองการ ให้บิชอบเอาใจใส่ในการฝึกสอนให้ได้ผลดี เพื่อให้ได้พระคณาธิการที่มีความสามารถในการดำเนินงาน สำนักเรียนแบบนี้ บิชอบตั้ง ชานเซลเลอร์เป็นผู้บริหารกิจการ มีอำนาจแต่งตั้งควบคุมครูอาจารย์ ต่อมาสำนักเรียนประเภทนี้หลายแห่งมีชื่อเสียงเด่นมาก จึงมีนักศึกษาหลั่งไหลมาเรียนจากถิ่นฐานต่างๆ ทั่วคริสตจักร จนล้นสำนักเรียน เป็นเหตุให้ชานเซลเลอร์ยอมให้ศิษย์ผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว ออกไปเปิดสอนนักศึกษาได้ในเขตใกล้เคียงนอกสำนักเรียน โดยออกใบอนุญาตทำการสอน (licence) ให้ และต้องอยู่ในความควบคุมของชานเซลเลอร์ โดยนัยนี้ สำนักเรียนบางสำนักจึงขยายใหญ่โต จนได้ฐานะใหม่ เรียกกันว่าเป็น studium generale ซึ่งจะแปลว่า มหาศึกษาสถานก็ได้ สำนักเรียนที่ได้ฐานะเช่นนี้แห่งแรกคือที่โบโลนยา และแห่งที่สองคือที่ปารีส วิวัฒนาการถึงขั้นนี้กำหนดว่าอยู่ในราว พ.ศ. ๑๖๕๐ เป็นต้นมา

เมื่อมีนักศึกษามากเข้า เขตที่เล่าเรียนกว้างขวางขึ้น สถานศึกษาก็กลายเป็นสังคมใหญ่ ที่มีผู้สอนและผู้ศึกษาเป็นสมาชิก มีสภาพความเป็นอยู่แยกต่างหากออกไป ทั้งจากชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป และจากชาววัด คนในสังคมใหม่นี้ คือผู้สอนและผู้เรียน เห็นว่าจำเป็นจะต้องมีวิธีการควบคุมคุณภาพและผลประโยชน์ร่วมกันของพวกตน จึงคิดหาทางจัดระบบการบริหารกลุ่มพวกตนเป็นอิสระ และก็มองเห็นตัวอย่างของพวกสมาคมอาชีพ (guild) ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในสมัยนั้น จึงนำวิธีการนี้มาใช้ พวกครูอาจารย์และนักศึกษาที่ปารีสได้รวมกลุ่มกันตั้งเป็นสมาคมการศึกษา หรือศึกษาสภา เมื่อราว พ.ศ. ๑๗๐๐ จุดมุ่งหมายสำคัญ คือให้พวกตนบริหารงานเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ให้ชานเซลเลอร์มาบีบบังคับมากเกินไป ส่วนที่โบโลนยา นักศึกษาซึ่งส่วนมากเป็น ชาวต่างประเทศก็ได้ตั้งศึกษาสภาขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกตน เช่น ป้องกันไม่ให้พวกพ่อค้าคหบดีชาวเมืองขึ้นราคาค่าที่พักและค่าอาหารเป็นต้น ตามชอบใจ และเป็นผู้กำหนดการดำเนินงานภายในทุกอย่าง เว้นแต่การให้ปริญญาอย่างเดียว ที่ยังยอมให้เป็นสิทธิของฝ่ายครู สมาคมประเภทนี้ บางทีก็เรียกว่า universitas ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับ guild นั่นเอง คือ แปลว่า ชุมนุม หรือชมรม เหมือนกัน ต่อมาราว พ.ศ. ๑๙๐๐ เศษ นิยมใช้คำว่า universitas นี้มากขึ้น จนมีความหมายเต็มตัวแทนคำว่า studium generale เป็นที่มาของคำว่า university อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน

สถานศึกษาอย่างใหม่นี้ มีลักษณะต่างไปจากสำนักเรียนมหาวิหารเดิม ๒ อย่างคือ มีการบริหารงานเป็นอิสระอย่างหนึ่ง และมักมีคณะต่างๆ เกินกว่า ๑ คณะอย่างหนึ่ง เฉพาะ ๒ แห่งแรกนั้น โบโลนยา เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยส่วนมากที่เกิดในยุโรปภาคใต้ มีชื่อเสียงเด่นทางวิชากฎหมาย นักศึกษาอายุค่อนข้างสูงและเป็นผู้ควบคุมการบริหารงาน ตลอดถึงความประพฤติและการปฏิบัติงานของพวกครูอาจารย์ และห่างจากอิทธิพลของสันตะปาปาหน่อย ส่วนปารีสนั้น เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในยุโรปภาคเหนือและภาคตะวันออก มีชื่อเด่นทางวิชาฝ่ายศาสนา นักศึกษาอายุอยู่ข้างเยาว์ ครูอาจารย์เป็นผู้ควบคุมการบริหารงาน และใกล้ชิดกับศาสนจักร แต่ต่อมาได้เกิดขัดแย้งกันขึ้นกับบิชอบ จนกระทั่งองค์สันตะปาปาได้เข้ามาระงับการพิพาท ด้วยการรับรองฐานะของมหาวิทยาลัยให้เป็นกิจการอิสระ เป็นตัวของตัวเอง แยกออกไปต่างหาก และให้กำหนดหลักสูตรของตนเองได้ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและขึ้นกับองค์สันตะปาปาโดยตรง ต่อจากนี้ก็เกิดมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ขึ้นในยุโรปมากขึ้นตามลำดับ จนถึงสิ้นสมัยกลาง (ประมาณ พ.ศ. ๒๐๐๐) มีประมาณ ๗๕ มหาวิทยาลัย

ข้อพึงสังเกตในที่นี้คือ มหาวิทยาลัยยุโรปรุ่นแรกๆ ล้วนเกิดมาจากสำนักเรียนมหาวิหารทั้งนั้น และที่กลายมาเป็นมหาวิทยาลัย ก็เป็นไปโดยวิวัฒนาการ คือมีกิจการใหญ่โตขึ้น จนเป็นที่เชื่อถือยอมรับกันไปเอง นอกจากนี้ เมื่อมีฐานะสูงขึ้น ก็ดึงดูดใจให้ผู้มีอำนาจเข้ามาคุ้มครองให้ความอุปถัมภ์ อย่างที่ปารีส องค์สันตะปาปาก็ทรงเข้ามาคุ้มครอง ออกระเบียบให้สิทธิมหาวิทยาลัยปกครองตนเอง เพราะทางศาสนจักรเล็งเห็นว่า อำนาจและอิทธิพลของตน จะดำรงอยู่ได้ด้วยอาศัยมีการศึกษาทรงวิชาความรู้เหนือกว่าใครๆ และมีอำนาจในการจัดการศึกษานั้นด้วย ส่วนที่โบโลนยา พระจักรพรรดิเฟรเดอริคที่ ๑ ก็ทรงเข้าคุ้มครองให้สิทธิพิเศษเช่นกัน และปรากฏว่าตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๗๖๘ เป็นต้นมา ทั้งองค์สันตะปาปา และพระจักรพรรดิ ต่างก็ได้ทรงสถาปนาและอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยต่างๆ เพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้กิจการมหาวิทยาลัยรุ่งเรืองมาก

สำหรับวิชาการที่สอน เมื่อแรกเกิดเป็นมหาวิทยาลัยก็คงมุ่งเรียนกันแต่เรื่องศิลปศาสตร์ ๗ ประการ ที่กล่าวแล้ว กับวิชาศาสนา ต่อมาจึงค่อยๆ เจริญขึ้น จนปรากฏว่า มหาวิทยาลัยที่เจริญเต็มที่ในสมัยกลางประกอบด้วยคณะ (faculty) ๔ คณะ คือ คณะศิลปศาสตร์ หรืออักษรศาสตร์ (arts) ซึ่งบางทีก็เรียกว่าคณะปรัชญา (philosophy) ๑ คณะเทววิทยาหรือศาสนวิทยา (theology) ๑ คณะนิติศาสตร์ (law) ๑ และคณะแพทยศาสตร์ (medicine) ๑ มหาวิทยาลัยหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกคณะ แต่ปกติจะต้องมีคณะศิลปศาสตร์ยืนพื้นไว้คณะหนึ่งก่อน เรียกกันว่าเป็นคณะต้นหรือคณะต่ำ (inferior หรือ lower faculty) และเรียกอีก ๓ คณะว่าคณะสูง (superior หรือ higher faculties)57

เท่าที่เล่าเรื่องมหาวิทยาลัยฝ่ายยุโรปมา ประสงค์เพียงให้พอจับความมาเทียบเคียงกันได้ ต่อไปนี้ จะขอเปรียบเทียบเรื่องการศึกษาฝ่ายตะวันตกกับตะวันออก เฉพาะจุดที่ควรสนใจดังนี้ :-

๑. มหาวิทยาลัยพุทธศาสนา เกิดประมาณ พ.ศ. ๑๐๐๐ ส่วนมหาวิทยาลัยในยุโรปเกิดประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐ เศษ ภายหลังกันประมาณ ๖๐๐ ปี

๒. ก่อนที่มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นนั้น ระบบการศึกษาของอินเดียได้เปลี่ยนแปลงมานานถึง ๑๐๐๐ ปีแล้ว นับแต่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น ได้ทรงทำลายการผูกขาดการศึกษาของพราหมณ์ เปิดโอกาสให้คนทุกชั้นได้รับการศึกษา และให้การศึกษาด้วยภาษาที่ประชาชนทั่วไปใช้กันอยู่ ไม่จำกัดวงแคบด้วยภาษาสันสกฤต และการศึกษาอบรมในวัดได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบการศึกษาในครัวเรือน มาเป็นการศึกษาแบบสถาบัน เมื่อหลายๆ วัดมารวมเข้าด้วยกันเป็นมหาวิหาร การศึกษาก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาในที่สุด แต่ในเวลาที่มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเกิดขึ้นนี้ ศาสนาพราหมณ์เริ่มกลับมีอิทธิพลมากขึ้น การศึกษาเริ่มกลับแคบเข้าอีก การศึกษาสำหรับสตรีเสื่อมไปแล้ว และพระสงฆ์ก็นิยมศึกษาภาษาสันสกฤต และคำสอนของพราหมณ์มากขึ้นเพื่อประโยชน์ในการโต้วาทะ เป็นต้น

ส่วนทางตะวันตก ก่อนที่มหาวิทยาลัยในยุโรปจะเกิดขึ้น ความรุ่งเรืองทางวิทยาการ และความคิดสร้างสรรค์เสรี ที่สืบเนื่องมาแต่สมัยกรีกได้สิ้นสุดลงแล้วพร้อมกับการพินาศของจักรวรรดิ โรมัน และการศึกษาก็มาตกอยู่ในความผูกขาดของคริสตจักร ซึ่งให้การศึกษาเพียงเพื่อเตรียมคนไว้บวช มหาวิทยาลัยในยุโรปจึงเกิดขึ้นในยุคที่ความคิดสร้างสรรค์หยุดชะงักอยู่ และวิชาการกำลังเสื่อมถอย วิชาการเก่าๆ ถูกนำมาศึกษาเพียงเพื่อสนับสนุนกิจการศาสนา เช่น ศึกษาเลขเพื่อคำนวณวันสำคัญทางศาสนา และศึกษาตรรกศาสตร์ เพื่อนำมาประกอบเหตุผลสนับสนุนเทววิทยาเป็นต้น

๓. การศึกษาในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเริ่มขึ้นในวัด เจริญรุ่งเรืองอยู่ในวัด มีความหมายเป็นอันเดียวกับวัด

การศึกษาในมหาวิทยาลัยฝ่ายยุโรป เริ่มขึ้นจากโรงเรียนในวัด คลี่คลายขยายตัวออกนอกวัด ขัดแย้งกันกับวัดมากขึ้น และในที่สุดเป็นอิสระแยกกันกับวัด แม้ว่าจะยังอยู่ในศาสนจักร แต่ก็มีความหมายเป็นคนละอย่าง

๔. การศึกษาในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา อาจารย์กับศิษย์ มีความสนิทสนม ใกล้ชิดกัน อย่างบิดากับบุตร ศิษย์มีความเคารพครูอาจารย์อย่างดี มีระเบียบวินัย ด้วยอาศัยระบบอันเตวาสิก ไม่เคยปรากฏเหตุเสียหายด้านนี้ตลอดประวัติศาสตร์ของสถาบัน การศึกษาเล่าเรียนอยู่กินทุกอย่างเป็นการให้เปล่า การเรียนการสอนได้รับอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ ฐานะของอาจารย์ไม่มีความหมายในทางรับจ้างเลย และในด้านความเป็นอยู่ก็ชอบเป็นอยู่อย่างง่ายๆ มุ่งแต่ใช้ความคิดศึกษาวิชาการและปฏิบัติกิจหน้าที่

ส่วนการศึกษาในมหาวิทยาลัยฝ่ายยุโรป นักศึกษามาหาวิชาความรู้กันต่างต้องพึ่งตนเอง ต้องเสียค่ากินอยู่ที่พัก สัมพันธ์กับอาจารย์เพียงรับถ่ายทอดความรู้ นักศึกษาปกครองกันเอง ถึงกับร่วมกันตั้งสมาคมควบคุมความประพฤติและการปฏิบัติงานสอนของอาจารย์ก็มี อย่างที่โบโลนยา เป็นต้น มีความเป็นอยู่หนักในทางโลกีย์ นักศึกษามีความประพฤติเสียหายสำมะเลเทเมาก็มาก ปรากฏเรื่องราวบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ อำนาจสูงสุดฝ่ายศาสนจักรก็ดี ฝ่ายอาณาจักรก็ดี ได้เข้ามาโอบอุ้มคุ้มครอง ก็ต่อเมื่อสถาบันเหล่านี้ตั้งตัวได้แล้ว เห็นว่าจะนำมาใช้เป็นเครื่องสนับสนุนเชิดชูอำนาจของตนได้ จึงเข้ามาเกี่ยวข้อง และคงจะคิดใช้เป็นเครื่องมือแข่งอำนาจกันด้วยระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร

๕. ในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา การศึกษาเป็นไปอย่างเสรี ผู้เรียนผู้สอนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ การอภิปรายและโต้วาทะกันเป็นกิจกรรมที่นิยมและแพร่หลายอย่างยิ่ง ทุกศาสนาทุกนิกายต่างใช้สิทธินี้กันโดยเต็มที่ เอาชนะกันด้วยเหตุผลแท้ๆ แต่เมื่อนิยมในด้านนี้มากเกินไป ก็มีผลเสียได้ โดยทำให้สนใจกันแต่ในการที่จะลับและตีฝีปากกันและแสวง เกียรติในทางนี้ วิชาประเภทที่ส่งเสริมการถกเถียงและหาวิธีถกเถียงให้ได้ผล มีทางเจริญมาก พร้อมกับวิชาอื่นอาจด้อยลง

ส่วนทางด้านยุโรป ยุคที่มหาวิทยาลัยเกิดขึ้น ศาสนจักรกำลังมีอำนาจสูงสุด การศึกษาต่างๆ มุ่งนำมาสนับสนุนคำสอนในศาสนาคริสต์เป็นสำคัญ และไม่ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเลย ที่ร้ายแรงคือองค์สันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ ๓ ได้ทรงตั้งศาลสอบสวนศรัทธา (The Inquisition) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๔๖ ศาลนี้มีอำนาจสอบสวนตัดสินโทษบุคคลที่แสดงความคิดเห็น หรือประพฤติปฏิบัตินอกรีต ขัดคำสอนในพระคัมภีร์ หรือโองการขององค์สันตะปาปา ทั่วศาสนจักร คือทั่วยุโรปสมัยกลาง โทษมีต่างๆ จนถึงขั้นประหารชีวิต ศาลประเภทนี้มีอยู่จนตลอดสมัยกลาง กาลิเลโอก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของบุคคลผู้ได้ถูกอำนาจศาลนี้เข้าครอบงำ อย่างไรก็ดี ความกดดันเช่นนี้ ย่อมนำไปสู่ความหลงระเริงใจจนทำความผิดพลาดมากมายของผู้มีอำนาจฝ่ายหนึ่ง และนำไปสู่ความดิ้นรนต่อสู้ของผู้ถูกบีบคั้นฝ่ายหนึ่ง จนถึงความหลุดพ้นในที่สุด ซึ่งเห็นได้ในกรณีของมาร์ติน ลูเธอร์ (พ.ศ. ๒๐๒๖-๒๐๘๙)

๖. การศึกษาในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนานั้นแบ่งได้เป็น ๒ ระยะ ดังกล่าวข้างต้น คือ ระยะแรกราว พ.ศ. ๑๐๐๐ ถึง ๑๔๐๐ เป็นระยะที่มีการศึกษาวิชาต่างๆ กว้างขวาง ทั้งทางวิชาศาสนา และวิชาสามัญ เป็นระยะรุ่งเรือง วิชาการเจริญก้าวหน้าสืบเนื่องต่อกันมา แต่ครั้นถึงระยะหลัง ราว พ.ศ. ๑๔๐๐ เป็นต้นมา (ระยะนี้ มหาวิทยาลัยวลภีถูกทำลายลงแล้ว) การที่พระสงฆ์หันมานิยมศึกษาและใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาวิชาการ ได้กลายเป็นการจำกัดวงการศึกษาให้กลับแคบเข้าอย่างเดิมอีก ที่นาลันทาและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เหลือ ก็ปรากฏว่าพุทธศาสนามหายานได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ นำมาผสมผสานกันมาก จนกลายเป็นนิกายตันตระ หรือ วัชรยานขึ้น และต่อนั้นมาก็มุ่งศึกษากันแต่ตันตระเป็นสำคัญ ทำให้ทอดทิ้งวิชาการอื่นๆ การศึกษาก็แคบลงไปๆ แม้ในฝ่ายพวกพราหมณ์เอง ระยะนี้ ก็หันไปชื่นชมกับผลงานเก่าๆ ของปราชญ์ในอดีต เพราะผลงานเก่าๆ ที่สร้างสะสมกันมานั้น มากมายเหลือเกิน เพียงแต่จะรักษาและทำความเข้าใจก็ยากหนักหนา จึงยินดีเพลิดเพลินอยู่กับการแสดงความสามารถ ในการนำเอาของเก่าออกมาอวด ทำหน้าที่รักษาอธิบาย และชี้แจงผลงานเก่าๆ ของปราชญ์ในอดีต ยุคนี้จึงเป็นระยะของการเขียนอรรถกถา และอรรถาธิบายต่างๆ พร้อมกับมีความรู้สึกหยิ่งลำพองในความรู้ ใจแคบ และลำเอียง เพราะรู้ของตนคิดว่ามาก ไม่รู้ของผู้อื่น จึงคิดว่าเขาไม่รู้ ไม่มีความคิดก้าวหน้าและความคิดใหม่ๆ การติดต่อค้าขายกับประเทศอื่นๆ ที่เคยเป็นกิจการเฟื่องฟูมาในอดีตก็ซบเซาลง นอกจากนี้ความถือวรรณะก็เหมือนจะรุนแรงขึ้น ฐานะของวรรณะแพศย์ลดลงเกือบเท่าศูทร พวกวรรณะสูงๆ เริ่มรังเกียจงานช่างและอุตสาหกรรมศิลปต่างๆ เห็นเป็นของทำให้เสียเกียรติ มัวเพลิดเพลินหลงใหลอยู่กับวรรณคดีคลาสสิกส์ นิยมชมชื่นกับความงดงามไพเราะของคำพูด และจินตนาการต่างๆ จนลืมโลกของธรรมชาติ วิธีการเรียนการสอนก็เป็นแบบแผนประเพณีตายตัว (stereotyped) เมื่อรักษาแต่เก่า ใหม่ไม่เพิ่มก็มีแต่หมด เพราะเป็นธรรมดาของเก่า ก็ย่อมเสื่อม ลดน้อยลงไป จะรักษาอย่างไรๆ ก็ย่อมให้อยู่เท่าเดิมไม่ได้ นอกจากจะนำมาปรับปรุงผสมเสียใหม่ จึงจะยืนยงคงใช้ได้และเจริญต่อไป โดยนัยนี้ การศึกษาในชมพูทวีปก็เสื่อมถอย และยังไม่ทันรู้ตัวที่จะรื้อฟื้นแก้ไข ก็ประสบเหตุให้พินาศเสียก่อน

สาเหตุที่ทำให้พินาศนั้น ก็คือ การเข้ารุกรานยึดครองของต่างชาติ เริ่มด้วยชาวเตอร์กยกทัพเข้ามา และทำลายมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาหมดสิ้น ทำลายวัดส่วนมาก พระสงฆ์ที่ไม่ถูกฆ่าก็หนีไปต่างประเทศ อันเป็นเหตุการณ์ในราว พ.ศ. ๑๗๐๐ ตามปกติการใช้อำนาจเข้ากดขี่บีบคั้น ถ้าไม่ถึงกับทำลายให้สูญสิ้นเสียทีเดียว หรือให้เปลี้ยหมดกำลังจริงๆ แล้ว ย่อมเป็นทางให้เกิดการดิ้นรน ต่อสู้ ให้เกิดความเข้มแข็งและการกลับฟื้นตัวได้ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นแบบทำลายโดยสิ้นเชิง พุทธศาสนาจึงไม่มีโอกาสคืนชีวิตได้อีก ส่วนระบบที่ยังคงเหลืออยู่ คือ ศาสนาพราหมณ์ดั้งเดิม ก็แตกต่างกับระบบที่เข้ามาใหม่ คือ มุสลิม เสียจนไม่สามารถนำมาประยุกต์ผสมผสานกันให้เกิดเป็นพลังสร้างสรรค์ขึ้นได้ หรือถ้าจะให้เกิดพลังใหม่อันสืบเนื่องมาจากความขัดแย้ง ก็ต้องอาศัยกาลเวลายาวนานเกินควรและไม่ทันจะเป็นเช่นนั้น การรุกรานครั้งใหม่ก็เกิดขึ้นอีกคือจักรวรรดิอังกฤษได้เข้าครอบครอง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๐๐ เป็นต้นมา เป็นอันจบสิ้นยุคความเจริญในอดีต

หันมาดูทางด้านมหาวิทยาลัยสมัยกลางในยุโรป ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สมัยกลาง โดยเฉพาะระยะต้นๆ เป็นยุคมืด คือ วิทยาการต่างๆ ไม่ก้าวหน้า วาติกันกำลังเรืองอำนาจ ตัดเสรีภาพในทางความคิด การศึกษาวิชาการต่างๆ ก็เพียงเพื่อสนับสนุนคำสอนในพระคัมภีร์ การเรียนการสอนก็จำต้องใช้ภาษาละติน วิชาการที่ศึกษาก็มุ่งไปแต่ไวยากรณ์ ภาษา วาทศิลป์ และวิพากษศาสตร์ (dialectics) เป็นสำคัญ ดาราศาสตร์ก็ถูกความเชื่อทางโหราศาสตร์เข้าห่อหุ้ม และระวังไม่ให้นอกรีต ขัดพระคัมภีร์ ชีววิทยาก็มากไปด้วยเรื่องเหลวไหล แพทยศาสตร์ก็เขวไปทางไสยศาสตร์เสียเป็นส่วนใหญ่ สภาพเช่นนี้ เทียบได้กับยุคหลังของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่การศึกษาเสื่อมลง แต่ทางฝ่ายยุโรป โชคดีกว่าตรงที่ไม่มีเหตุการณ์มาซ้ำเติมและทำลายลง แต่กลับมีเหตุการณ์ในยุคที่เรียกว่าฟื้นฟู (The Renaissance) และปฏิรูป (The Reformation) มาช่วยแก้ไขให้ฟื้นตัวขึ้นและก้าวหน้าได้อีก เริ่มแต่การติดต่อกับชาวมุสลิม58 เป็นต้น ทำให้เกิดความตื่นตัวใหม่ และหันไปสนใจวิทยาการที่เคยรุ่งเรืองสมัยกรีก แม้กระนั้นในยุคฟื้นฟูเอง การที่ปราชญ์หันไปเพลิดเพลินหลงใหลอยู่กับวรรณคดีคลาสสิกส์ ก็เป็นเหตุถ่วงความเจริญก้าวหน้าไม่น้อย แต่เหตุการณ์อื่นๆ ก็มาช่วยอีก เช่น การเดินทางของมาร์โคโปโล การเดินเรือของวาสโกดากามา การค้นพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัส ทำให้คนสนใจวิชาภูมิศาสตร์ การที่โคเปอร์นิคัสกล้าเสนอความคิดเรื่องโลกไม่เป็นศูนย์กลางจักรวาล ทำให้วิทยาการสมัยใหม่เริ่มเดินหน้าอีก และอิทธิพลศาสนจักรเสื่อมลง จนถึงมาร์ตินลูเธอร์คัดค้านอำนาจของวาติกันและเหตุการณ์อื่นๆ ทำให้คริสตจักรแตกสลาย และอำนาจครอบงำของวาติกันคลอนแคลนจนหมดลง อารยธรรมตะวันตกจึงเริ่มรู้จักเสรีภาพทางศาสนา จนถึงกับถือว่าศาสนาเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล การผูกขาดการเรียนการสอนด้วยภาษาละติน ก็มาหมดสิ้นลงเมื่อราว พ.ศ. ๒๒๐๐ วิทยาการสมัยใหม่ก็ค่อยเจริญขึ้น จนสำเร็จเป็นยุควิทยาศาสตร์ในคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งหมายความว่า วิทยาการสมัยใหม่ของตะวันตกเพิ่งเจริญมาได้สัก ๓๐๐ ปีนี้เอง

เรื่องราวและความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาในอดีต เท่าที่ได้แสดงมาอย่างยึดยาวนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเลย แต่ก็เห็นว่ามีประโยชน์เกี่ยวเนื่องถึงกัน จึงได้นำมากล่าวไว้ ที่ว่ามีประโยชน์เกี่ยวเนื่องกันนั้น มีเหตุผลว่า เป็นการศึกษาในถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนา และได้ดำเนินต่อเนื่องมาแต่เริ่มแรกที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ย่อมเป็นทางให้เข้าใจถึงความหมาย หลักการ จุดหมาย วิธีปฏิบัติ และคุณค่า ของการศึกษาในทัศนะของพระพุทธศาสนาได้ง่าย และใกล้เคียงความจริง จะได้นำมาสำรวจและเทียบเคียงกับบทบาททางการศึกษาของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ที่จะเล่าต่อไป ว่ามีส่วนดีส่วนเสีย ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนจากจุดมุ่งหมายเดิมในประการใดและเพียงใด ทั้งเป็นบทเรียนที่จะให้ได้ความคิด ในการแก้ไขปรับปรุงต่อไปอีกด้วย

ประวัติศาสตร์ชาติไทยในด้านที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะนั้นยังไม่สู้ได้รับความสนใจและศึกษาค้นคว้ากันมากนัก หลักฐานและเอกสารอ้างอิงต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้มีน้อย และหาได้ยาก ยิ่งมาจำกัดจำเพาะในแง่การศึกษาอย่างเดียวก็ดูยิ่งยากขึ้นไปอีก เมื่อต้องมาเขียนในเวลาสั้นๆ เพียง ๑-๒ วันเช่นนี้ จึงยากที่จะให้ละเอียดและแน่นอนได้ ในที่นี้จะขอเพียงเขียนสรุปไว้ โดยแยกเป็น ๒ ภาค คือ ว่าด้วยการศึกษาสมัยเดิมอย่างหนึ่ง และการศึกษาสมัยใหม่อย่างหนึ่ง

พระพุทธศาสนากับการศึกษาสมัยเดิมของไทย

ประวัติการแพร่หลายของพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้นเท่าที่เห็น นิยมถือการแบ่งยุคตามพระนิพนธ์ของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงไว้ในหนังสือตำนานพุทธเจดีย์สยาม ซึ่งได้แบ่งไว้เป็น ๔ ยุค ดังนี้ :-

ยุคที่ ๑ ลัทธิหีนยานอย่างเถรวาท

ยุคที่ ๒ ลัทธิมหายาน

ยุคที่ ๓ ลัทธิหีนยานอย่างพุกาม

ยุคที่ ๔ ลัทธิลังกาวงศ์

ยุคที่ ๑ นั้น หมายถึงพระพุทธศาสนานิกายหีนยานหรือเถรวาทแบบเดิม ที่พระโสณะและพระอุตตระศาสนทูตสายที่ ๒ ใน ๙ สาย ของพระเจ้าอโศกมหาราชนำเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งกำหนดกันว่าเป็นจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยทวาราวดี ในพุทธศตวรรษที่ ๓ เมื่อชนชาติไทยยังมิได้เป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้ พระพุทธศาสนาแบบนี้ได้เจริญรุ่งเรืองอยู่เป็นเวลานาน และมีอิทธิพลสืบเนื่องมา โดยเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทย จนถึงสมัยที่ชนชาติไทยตั้งตนเป็นใหญ่ได้ในสมัยสุโขทัย

ยุคที่ ๒ ประวัติของชนชาติไทย ที่รับนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานนั้น อาจแยกได้เป็น ๒ ตอน คือ การรับนับถือของชนชาติไทยก่อนอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน ตอนหนึ่ง และการรับนับถือในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ตอนหนึ่ง

ตอนที่หนึ่ง คือ ชนชาติไทยในอาณาจักรอ้ายลาว สมัยขุนหลวงเม้าได้รับนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานผ่านทางประเทศจีน สมัยพระเจ้ามิ่งตี่ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๗

ตอนที่สอง แยกเป็น ๒ ระยะ คือ ครั้งแรกในสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรือง ราว พ.ศ. ๑๓๐๐ กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีวิชัย ผู้นับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน มีเมืองหลวงอยู่ที่สุมาตรา ได้แผ่อำนาจเข้ามาถึงแหลมมลายู ได้ดินแดนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปไว้ในครอบครอง พุทธศาสนานิกายมหายาน จึงแผ่เข้ามาในภาคใต้ของประเทศไทย ครั้งที่สอง ในสมัยลพบุรี เมื่อขอมเรืองอำนาจ แผ่อาณาเขตเข้ามาครอบครองประเทศไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางทั้งหมด ในราว พ.ศ. ๑๕๕๐ พุทธศาสนาแบบมหายาน ซึ่งขอมรับมาจากศรีวิชัย อันเจือด้วยศาสนาพราหมณ์ จึงแผ่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ พร้อมด้วยภาษาสันสกฤต และได้เจริญคู่เคียงกับพุทธศาสนาแบบหีนยานที่มีมาแต่เดิม

ยุคที่ ๓ ในราว พ.ศ. ๑๖๐๐ พระเจ้าอนุรุทธมหาราช หรืออโนรธามังช่อเรืองอำนาจ แผ่อาณาจักรพุกามเข้ามา ในอาณาเขตลานนาและลานช้าง พระพุทธศาสนาหีนยานแบบพุกามที่กษัตริย์พระองค์นี้นับถือ จึงแผ่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ด้วย

ยุคที่ ๔ เมื่อชนชาติไทยตั้งตนเป็นอิสระจากขอม ตั้งอาณาจักรสุโขทัยได้แล้ว ครั้นถึง พ.ศ. ๑๘๒๐ พ่อขุนรามคำแหงได้ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงสดับกิตติศัพท์พระสงฆ์ที่ไปศึกษาที่ลังกา กลับมาสั่งสอนอยู่ที่นครศรีธรรมราช รอบรู้พระธรรมวินัยและมีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใส จึงได้ทรงอาราธนาขึ้นมา ตั้งสำนักและเผยแพร่คำสอน ณ กรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนานิกายหีนยานแบบนี้ เรียกชื่อตามแหล่งที่มาว่า ลังกาวงศ์ และเป็นแบบที่เจริญรุ่งเรืองสืบมา เป็นศาสนาประจำชาติไทยถึงทุกวันนี้

เรื่องพระพุทธศาสนากับการศึกษาในประเทศไทยนั้น จะกล่าวถึงเฉพาะยุคที่ ๔ เท่านั้น เพราะเป็นสมัยที่ชนชาติไทยมีประวัติแห่งอิสรภาพต่อเนื่องกันเป็นของตนเอง มีระบบการและผลงานสร้างสรรค์ พร้อมทั้งหลักฐานต่างๆ ที่จะนำมาจำแนกชี้แจงได้เป็นส่วนจำเพาะต่างหากจากชนพวกอื่น แต่ที่เท้าความถึง ๓ ยุคแรกด้วย ก็เพื่อให้เห็นพื้นเพเดิม ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจเรื่องราวได้ดีขึ้น

สำหรับ ๓ ยุคแรกนั้น ขอกล่าวเพียงโดยสรุปว่า อิทธิพลของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และศาสนาพราหมณ์ ยังคงแฝงอยู่ในวัฒนธรรมไทย และได้มีส่วนช่วยปรุงแต่งชีวิตจิตใจของคนไทย สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะภาษาสันสกฤตและวรรณคดีสันสกฤต ที่เข้ามาเป็นส่วนประกอบอยู่ในภาษาไทยและวรรณคดีไทย ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ที่ยังคงยึดถือปฏิบัติกันในสังคมไทยนับแต่ราชพิธีลงมา ตลอดถึงความเชื่อถือในอำนาจลึกลับและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งยังคงสภาพเป็นอิสระอยู่โดยชัดแจ้งบ้าง เข้าซ่อนเร้นแฝงอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และมีอำนาจชักจูงความเข้าใจ หรือตีความหลักธรรมให้ผิดแผกไปจากหลักการเดิมที่แท้จริงบ้าง อิทธิพลเหล่านี้ เมื่อพิจารณาด้วยวิจารณญาณ ก็จะเห็นได้ไม่ยาก

ส่วนในยุคที่ ๔ ซึ่งจะกล่าวเป็นพิเศษ ณ ที่นี้ เมื่อเก็บเฉพาะประวัติส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาโดยเฉพาะออกมากล่าว จะได้เรื่องราวโดยสังเขปตามลำดับสมัยดังนี้ :-

 

๑. สมัยสุโขทัย

ในรัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๑๘๒๐-๑๘๖๐) เมื่อพ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๘๒๐ แล้ว พระองค์ได้แผ่ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าจนเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งของไทย พระองค์ทรงคิดตั้งแบบหนังสือไทยขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ ทรงทำศิลาจารึกพระราชกรณียกิจและเรื่องราวต่างๆ ไว้ อันมีประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ ทรงบำรุงพระศาสนาและการศึกษาโดยอาราธนาพระสงฆ์ลังกาวงศ์ผู้รอบรู้พระไตรปิฎก จากนครศรีธรรมราช มาพำนักในกรุงสุโขทัย59 ดังความปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า

“พ่อขุนรามคำแหง กระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราช ปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรย หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา”60

พระสงฆ์ลังกาวงศ์ที่มาจากนครศรีธรรมราช ชอบความวิเวก จึงโปรดให้อยู่ ณ วัดอรัญญิก นอกเมือง พ่อขุนรามคำแหง ได้เสด็จไปนมัสการท่านเป็นประจำทุกวันกลางเดือนและสิ้นเดือน ดังความในศิลาจารึกว่า

“วันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดลยางเทียร ย่อมทองงา ขวาชื่อรูจาศรี พ่อขุนรามคำแหง ขึ้นขี่ไปนบพระ... อรัญญิกแล้วเข้ามา”61

การเสด็จไปนี้ แน่นอนว่า นอกจากเสด็จเยี่ยมเยียนแล้ว คงจะได้ทรงสนทนาซักถามเกี่ยวกับพระธรรมวินัย และกิจการพระศาสนาต่างๆ ด้วย นอกจากนั้นได้ทรงปลูกดงตาล ให้ประดิษฐานพระแท่นมนังคศิลากลางดงตาลนั้น ในวันธรรมสวนะ โปรดให้มหาเถระขึ้นนั่งแสดงธรรมแก่อุบาสกผู้จำศีล ส่วนในวันอื่นๆ พระองค์เสด็จขึ้นทรงอบรมข้าราชการและประชาชนเอง ดังความในจารึกว่า

“๑๒๑๔ ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันขะดารหินตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้ วันเดือนดับเดือนออกแปดวัน วันเดือนเต็มเดือนบ้างแปดวัน ฝูงปู่ครูเถรมหาเถรขึ้นนั่งเหนือขะดารนี้ สวดธรรมแก่อุบาสกฝูงท่วยจำศีล ผิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ขึ้นนั่งเหนือขะดารหิน ให้ฝูงท่วย ลูกเจ้า ลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมืองกัน”62

ความที่พระองค์ทรงรอบรู้หลักธรรมในพระศาสนา และเอาพระทัยใส่ในการอบรมสั่งสอนพสกนิกรของพระองค์นั้น ยังมีข้อความในศิลาจารึกอื่นๆ ยืนยันอีกว่า

“ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่ง ชื่อพ่อขุนรามราชปราชญ์รู้ธรรม”63 และว่า

“พ่อขุนรามคำแหงนั้นหาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลายให้รู้บุญรู้ธรรมแท้”64

ตามความสันนิษฐานของปราชญ์ส่วนมาก เห็นว่าสุภาษิตพระร่วง ซึ่งจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ รวม ๑๕๘ บท เป็นสุภาษิตของพ่อขุนรามคำแหง ถ้าความสันนิษฐานนี้ถูกต้อง ก็จะเห็นว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงสั่งสอนหลักธรรมสำหรับการครองชีวิตในโลก ซึ่งประชาชนทั่วไปปฏิบัติได้ ข้อความในสุภาษิตก็ชัดเจนกินใจ มีอิทธิพลต่อวรรณคดีรุ่นหลัง เป็นที่นิยมอ้างอิงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ข้อนี้ก็เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็น ปราชญ์ของพระองค์อีกอย่างหนึ่ง

พ่อขุนรามคำแหงมิใช่จะทรงเอาพระทัยใส่แต่ในการอบรมสั่งสอนเท่านั้น แต่ยังทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของประชาราษฎร์โดยทั่วไป ทรงแผ่พระบารมีคุ้มครองอยู่โดยใกล้ชิดตลอดเวลาด้วย ดังความในศิลาจารึกอีกตอนหนึ่งว่า

“ในปากประตูมีกะดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวเถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้ไปลั่นกะดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก เมื่อถามสวนความกับมันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึงชม”65

ความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเมือง และความมีศีลธรรมของประชาชนนั้น ย่อมต้องเริ่มต้นมาแต่ผู้ปกครองประเทศเป็นสำคัญ ในกรณีของพ่อขุนรามคำแหงนั้น จะเห็นได้ชัดจากพระราชจริยาวัตร ตามพระราชดำรัสของพระองค์เองว่า

“เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อ ตัวปลากูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อย กินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงินได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตาย ยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดังบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม”66

สภาพความอยู่ดีกินดี ความผาสุก และมีศีลธรรมของประชาชน ซึ่งเป็นผลจากการปกครองโดยธรรมของพระองค์ พร้อมด้วยการทำนุบำรุงพระศาสนา ตลอดจนการทรงอบรมสั่งสอนประชาชน จะเห็นได้จากความในศิลาจารึกเป็นต้นว่า

“เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ ล้มหายตายกว่า เหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อค้ามัน ช้างขอ ลูกเมีย เยียข้าว ไพร่ฟ้าข้าไทย ป่าหมาก ป่าพลู พ่อเชื้อมันไว้แก่ลูกมันสิ้น ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุน ผิแลผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้ จึงแล่งความแก่ข้าด้วยซื่อ บ่เข้าผู้หลักมักซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด คนใดขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่วยเหนือเฟื้อกู้ มันบ่มีช้างบ่มีม้า บ่มีปั่วบ่มีนาง บ่มีเงินบ่มีทอง ให้แก่มัน ช่วยมันตวงเป็นบ้านเป็นเมือง ได้ข้าเสือกข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี”67

“คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้าท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้า ลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษา กรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว”68

“แต่คนอันมีในเมืองไทย ด้วยรู้ด้วยหลวก ด้วยแกล้วด้วยหาญ ด้วยแคะด้วยแรง หาคนจักเสมอมิได้” 69

“กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีน้ำตระพังโพยสีใสกินดี ดังกินน้ำโขง เมื่อแล้ง...กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม มีปู่ครู...มีเถร มีมหาเถร เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้ มีอรัญญิก...ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันหนึ่ง มนใหญ่สูงงาม แก่กม มีพระอัฏฐารศอันหนึ่ง ลุกยืน เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมาก ป่าพลู มีไร่มีนา มีถิ่นมีถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าม่วง มีป่าขาม ดูงามดังแกล้ง เบื้องตีนนอน เมืองสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน มีพระอัจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากลาง มีไร่มีนา มีถิ่นมีถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎีพิหารปู่ครูอยู่ มิสรีดภงส มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก”70

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๑๘๙๗-๑๙๑๙) แห่งสุโขทัย พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ก็ยิ่งเจริญรุ่งเรือง จนนับได้ว่าถึงขีดสุด พระเจ้าลิไท โอรสของพระเจ้าเลอไท เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๗ ทรงพระนามเมื่อราชาภิเษกว่า “พระเจ้าศรีสุริยพงศราม มหาธรรมราชาธิราช” ทรงศึกษาเชี่ยวชาญวิชาการทั้งทางโลก และทางธรรม ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข บำรุงพระศาสนาด้วยการสร้างเจดีย์วิหารและสังฆาวาส บำรุงการเล่าเรียนพระไตรปิฎก ทรงสร้างปราสาทราชมณเฑียรสถาน แล้วทรงเผดียงสงฆ์ให้เข้าไปเรียนพระไตรปิฎกในบริเวณมหาปราสาทนั้น ทรงรับภาระสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนเพิ่มเข้าในราชกิจด้วย เมื่อเสวยราชย์ได้ ๘ ปี ใน พ.ศ. ๑๙๐๔ ตรัสให้นิมนต์พระมหาสามีสังฆราชเมืองลังกา มาเป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงรับพระไตรสรณาคมน์ บรรพชาที่ในพระราชมณเฑียร แล้วเสด็จออกไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ ณ ป่ามะม่วง ในอรัญญิก

พระปรีชาสามารถของพระองค์ ที่ทรงรอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และวิชาการอื่นๆ เช่น ไตรเพท โหราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นต้น ปรากฏในศิลาจารึกต่างๆ เช่นว่า

“และพระองค์ทรงทราบวิธีวันอัฐมี บุรณมี อามาวสี เพ็ญดับและเดือนอาสาธสำหรับเข้าพรรษา และอธิกมาศ อธิกวาร ซึ่งจะมีมา และปีเป็นปกติก็ดี พระองค์ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงฤดูกาล ที่ไม่ถูกต้องตามลัทธิ พระพุทธศาสนา จึงทรงทำตำราทวาทศมาสเป็นเดิม ไม่มีนักปราชญ์ประเทศใดจะเสมอพระองค์ได้”71

“ทรงอาจเรียนพระไตรปิฎกจบเสร็จ เรียนพระวินัยอภิธรรม โดยโลกาจารย์มีพราหมณะและดาบสเป็นต้น สมเด็จบพิตรทรงพระราชบัญญัติคัมภีร์เพท ศาสตราคม ธรรมนิยายมีโชติศาสตร์ (ตำราโหร) เป็นต้น (ตำรา) พรรษา มาส สุริยคราธ จันทรคราธ ทรงสรรพพิจารณา พระองค์ทรงพระปรีชาโอฬาริก ฝ่ายผาลคุณานุต (คือวันสิ้นเดือนสี่) ... และศักราชที่เกิน ทรงได้แก้ให้สิ้นเบาถูกต้อง พระองค์ทรงพิจารณา อูณ อธิกมาศ ทินวาร นักษัตร ให้ทราบเป็นสังเขป โดยกรรมสิทธิ์ สมเด็จบพิตร อาจถอน อาจลบ อาจเติม ... โดยสิทธิศักดิ์พระกรรม ทุกมาตรา ปรากฏศรีเกียรติยศแท้”72

ในการทรงศึกษาวิชาการเหล่านี้ ปรากฏว่าพระสงฆ์ได้มีส่วนสำคัญในการถวายความรู้แก่พระองค์ด้วย เช่น ในการทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิพระร่วง ก็มีข้อความแถลงไว้ว่า

“และพระธรรมทั้งหลายนี้ เอาออกมาแลแห่งแลน้อยและเอามาผสมกัน จึงสมมติชื่อว่าไตรภูมิกถาแลฯ พระธรรมทั้งหลาย นี้ เจ้าพระญาเลไทย อันเป็นกระษัตรพงษ ดังหรือละมาอาจผูกพระคัมภีร์ไตรภูมิกถานี้ได้ไส้ เพราะเหตุท่านนั้นทรงพระปิฎกไตรธรรม ธะได้ฟังได้เรียนแต่สำนักนิ์ พระสงฆ์เจ้าทั้งหลาย คือว่า มหาเถรมุนี ฟังเป็นอาทิครูมเรียนแต่พระอโนมทัสสี และพระมหาเถรธรรมปาลเจ้าบ้างฯ พระมหาเถรสิทธัฏฐเจ้าบ้างฯ พระ หาเถรพงษะเจ้าบ้างฯ พระมหาเถรปัญญาญาณทันธสฯ เรียนแต่ราชบัณฑิตย์ผู้ ๑ ชื่ออุปเสนราชบัณฑิตย์ผู้ ๑ ชออทราย ราชบัณฑิตย์ เรียนแต่ใกล้ด้วยสารพิไลย แต่พระมหาเถรพุทธโฆสาจารยในเมืองหริภุญไชย”73

ในด้านการศึกษาของพระสงฆ์ มีข้อสังเกตเป็นพิเศษว่า นอกจากจะทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าถึงกับทรงอุทิศถวายพระมหาปราสาทเป็นที่เล่าเรียนแล้ว วิชาที่ศึกษายังมีทั้งสองฝ่าย คือทั้งวิชาการทางธรรมและทางโลก มิใช่จะศึกษาเฉพาะวิชาทางพระศาสนาอย่างเดียว ดังความในศิลาจารึกว่า

“ครั้งนั้นมีพระโองการ สั่งให้มุขอำมาตย์สร้างพระราชคฤหเหมปราสาทนพสูรย์ (คือเก้ายอด) และพระราชมณเฑียรสถาน พระพิมานจัตุรมุข แล้วไปด้วยศิลาและอิฐปูนให้เป็นที่แก่นสารถาวร ประกอบขจิตด้วยสรรพรัตนาเนกโสภาคย์ พิจิตรเสร็จสมพระราชประสงค์ พระองค์นำบาตรเต็มไปด้วยมธุปายาศ ประเคนพระสงฆ์เถรานุเถรในพระมหาปราสาท พระสงฆ์ทำภัตกิจเสร็จแล้ว ทรงอภิเษกสมณพราหมณาจารย์ตปศียติ สงฆ์ทั้งหลายเผดียงให้มาเล่าเรียนพระไตรปิฎกธรรม และศึกษาซึ่งศิลปศาสตร์ วิชาการต่างๆ ในบริเวณมหาปราสาทนั้น”74

ส่วนพระราชจริยาวัตรในด้านการสั่งสอนปกครอง และทำนุบำรุงพสกนิกร อันสัมพันธ์ถึงกันนั้น พึงทราบจากความในคำแปลศิลาจารึกอีกตอนหนึ่งว่า

“มีพระกระมลราชหฤทัยดังน้ำในมหาสมุทร และสาคร พระองค์ทรงพระกรุณาแก่ราษฎรยิ่งกว่าพระราชบุตร มนตรีและประชาราษฎร จะเอาวิญญาณกะทรัพย์ และอวิญญาณกะทรัพย์มาถวายพระองค์ๆ บมิได้รับกลับแนะนำชี้แจงแสดงธรรม ให้เอาไปทำการกุศลเกื้อหนุนในพระศาสนา ฝ่ายชาวเมืองก็มีศรัทธาเลื่อมใส พากันมานั่งฟังคำสั่งสอนของพระองค์ และปรารถนาจะเล่าเรียนวิปัสสนา พระองค์ท่านก็ตั้งพระทัยสั่งสอนสรรพสัตว์ทั่วให้ได้ทุกคน ท่านมิได้ปรารถนายินดีซึ่งอามิศ คิดแต่จะแนะนำสัตว์ที่ต้องทุกข์รับความสุขในปรโลก ถึงกาลในปัตยุบันนั้น ถ้าราษฎรในขอบขัณฑเสมาบางพวก ที่มีความผิดติดอยู่ในเวรจำจองต้องโทษราชทัณฑ์นั้นก็ทรงพระกรุณาบริจาค พระราชทานทรัพย์ช่วยไถ่โทษแผ่นดินให้พ้นทุกข์แล้วก็โปรดให้ไปทำมาหากินตามภูมิ พระองค์เสด็จเถลิงราชสมบัติ รักษาไพร่ฟ้าประชาราษฎร ด้วยพระมหากรุณาปรานีดังนี้ ... ฝนตกต้องตามฤดู จนธัญญาหารและพืชพรรณผลไม้บริบูรณ์ทั่วหน้า ประชาราษฎรเป็นสุขสโมสรประชุมในเมืองนั้น ฝูงราษฎรมิได้เป็นทาสทาสาหามิได้ เป็นไทยพลเรือนทั้งสิ้นเป็นสุโขทั้งเมือง เหตุดังนี้ นามเมืองจึงปรากฏว่าเมืองศุโขทัย (คือไทยเป็นสุข)75

ผลงานอย่างหนึ่งของพระมหาธรรมราชาลิไท ที่ต้องนับว่ามีความสำคัญยิ่งในทางการศึกษา ก็คือหนังสือเตภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง76 พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ นอกจากเป็นหลักฐานยืนยันพระปรีชาสามารถของพระองค์ในทางอักษรศาสตร์ และความแตกฉานในคัมภีร์พุทธศาสนาแล้ว ยังได้มีอิทธิพลอันลึกซึ้งและยืนนานในการอบรมกล่อมเกลาอุปนิสัย และปลูกฝังทัศนคติบางอย่างแก่ชนชาติไทยสืบมาจนถึงสมัยปัจจุบัน อิทธิพลที่กล่าวนี้ คือการสร้างความรู้สึกเกี่ยวกับคุณค่าในทางจริยธรรม แล้วปรุงแต่งความนึกคิดและจินตนาการให้สะท้อนออกมาในส่วนต่างๆ ของวัฒนธรรมไทย มีศิลปกรรม วรรณคดี และแบบแผนความประพฤติเป็นต้น

พระราชประสงค์เดิมของพระมหาธรรมราชาลิไท คงทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ เพื่ออธิบายความในพระอภิธรรม และเพื่อเทศนาโปรดพระราชมารดา ดังความในบานแพนกเดิมของหนังสือว่า

“จึงได้ไตรภูมิ ถามุนใส่เพื่อใด ใส่เพื่อมีอัตถพระอภิธรรม และจะใคร่เทศนาแก่พระมารดาท่าน”77

แต่เมื่อทรงพระราชนิพนธ์ออกมาแล้ว ก็คงจะได้ใช้ในการศึกษาเล่าเรียน และเป็นคู่มือในการอบรมสั่งสอนธรรม เป็นที่นิยมแพร่หลายตลอดมา อย่างที่ว่า “เรื่องไตรภูมิเป็นเรื่องที่นับถือกันแพร่หลายมาแต่โบราณ ถึงคิดขึ้นเป็นรูปภาพเขียนไว้ตามฝาผนังวัด และเขียนจำลองลงไว้ในสมุด มีมาแต่ครั้งกรุงเก่า ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้”78 และคงจะถือเป็นหนังสือสำคัญในหมู่คัมภีร์พระศาสนา มีการคัดลอกสืบต่อกันตลอดมา เช่นอย่างฉบับที่นำมาพิมพ์เผยแพร่ในปัจจุบัน ก็เป็นของจารขึ้นในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี แลเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คงเข้าใจกันว่าหนังสือไตรภูมิของเดิมสาบสูญไปเสียแต่ครั้งกรุงเก่า จึงปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงพระกรุณาให้พระราชาคณะและราชบัณฑิตช่วยกันแต่งหนังสือไตรภูมิขึ้น ๑ จบ และอีก ๑๙ ปีต่อมา ก็ได้โปรดให้พระยาธรรมปรีชาแต่งใหม่อีกครั้งหนึ่ง ความที่ว่ามานี้แสดงให้เห็นความสำคัญของหนังสือไตรภูมิพระร่วง และประวัติอันสืบเนื่องต่อมาของหนังสือนี้ ซึ่งจะได้เห็นข้างหน้าต่อไปอีก

ในทางศิลปะและวรรณคดี ไตรภูมิพระร่วงมีอิทธิพลอย่างไร ขอยกคำของเสฐียรโกเศศมาอ้างดังนี้

“เรื่องไตรภูมิ ส่วนมากย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดและการบันดาลใจ ให้กวีและศิลปินนำไปใช้แต่งเป็นหนังสือ เขียนเป็นภาพและปั้นเป็นรูปขึ้น ตลอดจนคำพูดในภาษาซึ่งเป็นสำนวนเปรียบเทียบ ก็ได้มาจากเรื่องไตรภูมิไม่น้อย ผู้ใดขาดความรู้เรื่องไตรภูมิ ก็ยากที่จะเข้าใจได้ทราบซึ้ง ถึงความงามความไพเราะแห่งกวีนิพนธ์และศิลปกรรมของไทย เป็นทำนองเดียวกับผู้อ่านวรรณคดีภาษาอังกฤษ ถ้าขาดความรู้เรื่องทวยเทพและเรื่องศาสนาของกรีกและโรมัน และเรื่องศาสนาคริสต์ ก็จะไม่สามารถอ่านกวีนิพนธ์ หรือดูศิลปกรรมของฝรั่ง ให้เข้าใจทราบซึ้ง และรู้ค่าอันแท้จริงของกวีนิพนธ์และศิลปกรรมนั้นๆ ได้”

เรื่องไตรภูมิมีแทรกอยู่ในวรรณคดีไทยแทบทุกเรื่อง ยกตัวอย่างที่รู้จักกันแพร่หลาย คือบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนลอบขึ้นไปหานางวันทองซึ่งเดิมเป็นภรรยาของตน แต่ขุนช้างแย่งเอาไป เมื่อขุนแผนขึ้นไปบนเรือนขุนช้าง เห็นม่านที่กั้นอยู่ก็ตกตะลึงดูเพลินใจ หวนคิดถึงความหลัง คิดถึงนางวันทองขึ้นมาทันทีว่า

“ม่านนี้ฝีมือวันทองทำ จำได้ไม่ผิดนัยน์ตาพี่

................................... .................................

ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา

วินันตกอัสกรรณเป็นหลั่นมา การวิกอิสินธรยุคนธร

อากาศคงคาชลาสินธุ์ มุจลินท์ห้าแถวแนวสลอน

ไกรลาสสะอาดเอี่ยมอรชร ฝูงกินนรคนธรรพ์วิทยา

ลงเล่นน้ำดำดั้นอโนดาต ใสสะอาดเยือกเย็นเห็นขอบผา

หมู่มังกรล่อแก้วแพรวพรายตา ทัศนารำลึกถึงวันทอง”79

อิทธิพลที่กล่าวมานี้ ถึงอย่างไรก็คงเป็นแต่อิทธิพลชั้นนอกๆ หรือผลขั้นปลายๆ ต่อจากขั้นในแท้ออกมาอีกทีหนึ่ง ส่วนวัตถุประสงค์พื้นฐานแท้ของหนังสือนี้ ก็คงเป็นการแถลงความรู้และสั่งสอนหลักธรรมในทางพระศาสนา (เฉพาะแง่หนึ่ง หรือตามความเข้าใจแบบหนึ่ง) มุ่งให้เกิดอิทธิพลทางจริยธรรม ที่ประณีตลึกซึ้งถึงแก่นจิตใจ โดยเฉพาะที่เป็นจุดเด่นคือ ให้กลัวนรกจะได้เว้นบาป และให้หวังสวรรค์จะได้ทำแต่บุญ จนถึงขั้นสุดท้าย สร้างสมภารบารมีเพื่อเข้าถึงนิพพาน เป็นอิสระรอดพ้นจากสังสารวัฏสิ้นเชิง

อนึ่ง ควรสังเกตด้วยว่า คำอ้างถึงนิพพานว่ามหานคร อย่างหนึ่ง และข้อความเอ่ยถึงพระศรีอริยเมตไตรย อีกอย่างหนึ่ง ได้มีปรากฏในหนังสือไตรภูมิพระร่วงนี้แล้ว แม้ว่าในข้อความที่เอ่ยถึงพระศรีอาริย์นั้น จะมิได้มีคำพรรณนาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสภาพอันน่าชวนใจต่างๆ เหมือนอย่างวรรณคดีบางเรื่องในสมัยต่อมา แต่ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นเชื้อหรือแนวแห่งความเชื่อถือนี้ที่มีอยู่แล้ว และเป็นข้อสังเกตสำหรับนำมาพิจารณา เปรียบเทียบให้เห็นวิวัฒนาการแห่งระบบค่านิยมของสังคมไทยต่อไป

เหตุการณ์สำคัญของพระศาสนาในรัชกาลนี้ ที่แสดงให้เห็นพระราชศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาถึงระดับสูงสุด และมีผลเกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งของพระองค์เองและของชนชาติไทยต่อมาเป็นอันมาก คือการอาราธนาพระมหาสวามีสังฆราชมาแต่ลังกา และได้เสด็จออกทรงผนวชชั่วคราว ใน พ.ศ. ๑๙๐๔ ดังความในศิลาจารึกว่า

“เสด็จเสวยราชสมบัติ ในศรีสัชนาไลยสุโขทัย ได้ ๒๒ ปี ลุมหาศักราช ๑๓๘๓ ศกฉลู สมเด็จบพิตรตรัสให้ราชบัณฑิต ไปอาราธนามหาสามีสังฆราชอันกอบด้วยศีล ทรงเรียนพระไตรปิฎกจบ อันสถิตอยู่ในลังกาทวีป ซึ่งมีศีลาจาร คล้ายกับขีณาสพครั้งโบราณ (ตรัสให้อาราธนามหาสามี) จากนครพัน แล้วมาถึงครึ่งทาง จึงรับสั่งให้นายช่างปลูกกุฎีวิหารระหว่างป่ามะม่วง อันมีในทิศประจิมเมืองสุโขทัยนี้”80

และในการทรงผนวชต่อมา ก็พึงสังเกตพระราชอัธยาศัย ที่แนบสนิทแน่นแฟ้นในพระศาสนา จากพระราชสัตยาธิษฐานที่ว่า

“แล้วทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า เดชะกุศลแต่หนหลัง และผลบุญที่อาตมบรรพชาอุปสมบทต่อพระบวรพุทธศาสนาคราวนี้ อาตมไม่ปรารถนาสมบัติอินทร์พรหมและจักรพรรดิสมบัติหามิได้ ปรารถนาเป็นองค์พระพุทธเจ้านำสัตว์ข้ามไตรภพนี้เทอญ”81

ก่อนจบสมัยสุโขทัย มีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเว้นกล่าวถึง คือควรระลึกไว้ด้วยว่าสมัยสุโขทัยเป็นยุคที่ศิลปะรุ่งเรืองมากสมัยหนึ่ง และศิลปกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ ได้อาศัยแรงบันดาลใจจากพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่ยอมรับกันว่า เป็นศิลปะด้านนี้ที่เจริญถึงขีดสุด

ข้อสันนิษฐานเชิงวิจารณ์เพิ่มเติม

ข้อความที่กล่าวมานี้ ทำให้สันนิษฐานความในทางการศึกษาได้เป็นอันมาก ซึ่งกล่าวได้สั้นๆ ว่า พระพุทธศาสนา ได้เป็นแหล่งการศึกษาสำคัญในสมัยสุโขทัย เริ่มแต่การศึกษาขององค์พระมหากษัตริย์เป็นต้นไป

ธรรมดาพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ย่อมทรงพิจารณาศึกษาพระจริยาวัตรของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต ว่าอะไรเป็นพระราชประเพณี และผลสำเร็จอันสำคัญที่พึงอนุวัตรตาม หรือนำมาดัดแปลงแก้ไขใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร เมื่อพิจารณาพระราชจริยาวัตรของพ่อขุนรามคำแหง ก็เห็นว่ามีส่วนเทียบเคียงได้กับพระมหาราชในคัมภีร์พุทธศาสนา และผู้ทรงเป็นพุทธศาสนิกชน ๒ พระองค์ คือ ในด้านการทรงสร้างและจัดรูปร่างบรรยากาศของบ้านเมือง พระจริยาวัตรคล้ายกับพระเจ้ามหาสุทัศน์ ในมหาสุทัสสนสูตร ในทีฆนิกายมหาวรรค แห่งพระสุตตันตปิฎก82 และในด้านการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เทียบได้กับพระเจ้าอโศกมหาราช เช่น การที่ได้ทรงแผ่ขยายพระราชอาณาเขตอย่างกว้างขวางในเบื้องต้น แล้วทรงหันมาทำนุบำรุงบ้านเมือง ทรงอบรมสั่งสอนราษฎรด้วยพระองค์เอง ทรงใส่พระทัยในทุกข์สุขของราษฎร83 และวางพระองค์ต่อราษฎรดุจบิดากับบุตร ราษฎรได้ใกล้ชิดเข้าถึงได้ ทรงให้จารึกหลักศิลา84 และบำรุงพระศาสนาเป็นต้น พ่อขุนรามคำแหงทรงสนพระทัยในพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง การที่ได้ทรงศึกษาคัมภีร์ศาสนา และได้สนทนากับพระสงฆ์ผู้ใหญ่ ย่อมทำให้พระองค์ทรงทราบพระจริยาวัตรของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตเหล่านั้น และโดยที่เป็นสิ่งกลมกลืนกับพระอัธยาศัย หรือสอดคล้องกับพระราชดำริของพระองค์อยู่แล้ว จึงช่วยเป็นแรงสนับสนุนพระทัย ในการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเช่นนี้ และข้อนี้ย่อมนับได้ว่าเป็นผลของพุทธศาสนธรรมในทางการศึกษาระดับสูงสุด ซึ่งปรากฏออกมาเป็นความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมของชาติ และความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชน ซึ่งเป็นผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าการได้ปราบปรามมีชัยชนะเหนือดินแดนต่างๆ เสียอีก

พึงสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า การทรงใกล้ชิดกับราษฎร เปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าถึงนี้ นอกจากอาจเป็นเพราะทรงดำเนินตามพระราชจริยาวัตรของกษัตริย์ชนชาติไทย อันสืบมาแต่โบราณแล้ว ยังสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วย และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการขัดกับประเพณีกษัตริย์ผู้ถือศาสนาพราหมณ์ ที่ยกฐานะกษัตริย์เป็นดุจเทพเจ้า หรือการปกครองแบบนายกับบ่าว อย่างของขอมเป็นต้น พ่อขุนรามคำแหงครองราชย์ต่อเนื่องมาจากพ่อเมืองแบบไทย คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงมีอำนาจยิ่งใหญ่ขึ้น แต่ยังคงทรงดำรงพระจริยาวัตรต่อประชาชนแบบพ่อกับลูกไว้ ท่ามกลางอิทธิพลวัฒนธรรมขอม ก็อาจจะเป็นด้วยมีคำสอนฝ่ายเถรวาทสนับสนุนไว้อีกส่วนหนึ่ง

สำหรับพระมหาธรรมราชาลิไทนั้น ยิ่งเห็นได้ชัดถึงพระจริยาวัตรที่ทรงดำเนินตามแบบพระเจ้าอโศกมหาราช85 โดยเฉพาะการเสด็จออกอุปสมบทชั่วคราว การเสด็จออกอุปสมบทครั้งนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ประเทศไทยจะได้มีประเพณีบวชเรียนต่อมา แม้ว่าในสมัยสุโขทัยจะยังไม่เกิดประเพณีนี้ แต่ก็เป็นการริเริ่มที่จะมีผลขึ้นในสมัยอยุธยาต่อไป ส่วนการทรงพระกรุณาให้ใช้พระราชมณเฑียร เป็นสถานที่เล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร ก็แสดงให้เห็นว่าทรงเอาพระทัยใส่สนับสนุนการศาสนศึกษาเพียงใด และการศาสนศึกษาของพระสงฆ์ครั้งนั้น ก็คงต้องเจริญไม่น้อยเป็นแน่ นอกจากนี้ ยังเป็นเหตุให้ประเพณีพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอุปถัมภ์ให้พระสงฆ์เล่าเรียนในวัง ได้สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย

ส่วนการศึกษาสำหรับประชาชน ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่า ทางฝ่ายพระศาสนาได้จัดให้ในรูปโดยตรงหรือเป็นแบบแผนอย่างไร แต่ที่แน่นอนก็คือการอบรมสั่งสอนกล่อมเกลาอุปนิสัยใจคอ และให้ความรู้ทางพระศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี โดยการอบรมสั่งสอนจากองค์พระมหากษัตริย์เองบ้าง จากพระสงฆ์บ้าง เช่นที่พระแท่นมนังคศิลา เป็นต้น และงานสมโภชพิธีกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ผลงานทางศิลปกรรมและงานก่อสร้างต่างๆ ก็แสดงว่า ได้มีการฝึกอบรมในทางวิชาช่างและศิลปะต่างๆ เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม มีข้อแตกต่างอย่างน้อย ๒ ประการ ที่ควรสังเกตระหว่างรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงกับรัชกาลพระมหาธรรมราชาลิไท

ประการแรก เกี่ยวกับอิทธิพลของขอมและศาสนาพราหมณ์ อาณาจักรสุโขทัยเคยอยู่ในอำนาจขอมมาก่อนแล้วตั้งตัวเป็นอิสระ เจริญขึ้นมาในวงล้อมของอิทธิพลวัฒนธรรมขอม แต่ในรัชกาลต้นๆ โดยเฉพาะพ่อขุนรามคำแหง คงจะได้ทรงพยายามกำจัดอิทธิพลขอมลงให้เหลือน้อยที่สุด และเสริมสร้างลักษณะแบบไทยให้เข้มแข็งและมั่นคง เช่น ในทางภาษา ทรงประดิษฐ์ จัดวางระเบียบอักษรไทยขึ้นใหม่ (พ.ศ. ๑๘๒๖) แสดงเป็นตัวอย่างไว้ในศิลาจารึก ในทางศิลปะ ทรงขุดพระบรมธาตุที่เมืองศรีสัชนาลัย ออกให้คนบูชา แล้วก่อพระเจดีย์ทรงสถูปบรรจุแทน (พ.ศ. ๑๘๓๑) และเจดีย์สมัยสุโขทัยก็สร้างแบบสถูปลังกา หรือแบบที่คิดขึ้นใหม่ของไทยเองมาตลอด ครั้นถึงรัชกาลพระมหาธรรมราชาลิไท จะเป็นด้วยอิทธิพลวัฒนธรรมขอมแรงขึ้น จนยั้งไม่ไหว หรือพระ องค์ทรงหันไปนิยมเอง หรือประกอบกันทั้งสองอย่าง หรือเพื่อประสานประโยชน์ก็ตาม การณ์ปรากฏว่า แบบอย่างขอมกลับ เจริญขึ้นในสุโขทัยอีก เริ่มแต่พระนามของพระมหาธรรมราชาลิไทเองที่ปรากฏในศิลาจารึก มีคำนำว่าพระบาทกมรเต็งอัญ ศิลาจารึกก็กลับนำเอาภาษาขอมมาใช้จารึกด้วย เมื่อจะทรงผนวช ก็ทรงสมาทานศีลเป็นดาบสก่อน86 ในทางวิชาการก็ปรากฏในศิลาจารึก ยกเอาการที่พระองค์ได้ทรงศึกษาจบไตรเพท โหราศาสตร์และศาสตราคม ขึ้นเป็นข้อสรรเสริญพระเกียรติคุณส่วนหนึ่งด้วย ดังนี้เป็นต้น

ประการที่สอง เกี่ยวกับธรรมที่ทรงอบรมสั่งสอนประชาชน ข้อนี้สัมพันธ์ต่อเนื่องกับข้อแรกด้วย ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระองค์ทรงสอนหลักธรรมสำหรับชีวิตประจำวัน ที่ประชาชนทั่วไปนำไปใช้ครองชีวิตในสังคมของชาวโลกตามปกติได้เป็นปัจจุบัน และถ้าสุภาษิตพระร่วงเป็นของพระองค์จริง ความที่อ้างนั้นก็ยิ่งชัดเจนหนักแน่นขึ้นอีก แต่ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท พระองค์ทรงสอนธรรมชั้นสูง แสดงหลักอภิธรรม การปฏิบัติกรรมฐาน เน้นในด้านความกลัวและความหวังเกี่ยวกับชีวิตในภพหน้า และมีเค้าคติมหายานเข้าแฝง อันพึงสังเกตได้ในไตรภูมิกถา87 และแม้ในศิลาจารึก

สำหรับกรณีหลังนี้ หากการทรงอบรมสั่งสอนธรรมแก่ประชาชนของพระร่วงทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กับนโยบายธรรมวิชัยของพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว ก็จะต้องเห็นว่า หลักธรรมของพ่อขุนรามคำแหงใกล้เคียงกับพระเจ้าอโศกมหาราชมากกว่าของพระมหาธรรมราชาลิไท เพราะหลักธรรมของพระเจ้าอโศกล้วนเป็นข้อปฏิบัติสำหรับการครองชีวิตในสังคมของชาวโลก หรือหลักความประพฤติในปัจจุบันทั้งสิ้น อันนี้เป็นปฏิปทาที่พระมหาธรรมราชาลิไท แตกต่างจากพระเจ้าอโศกมหาราชอย่างหนึ่ง

เรื่องที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงประพฤติตามแบบอย่างของพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ มีพระมติของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่น่าสนใจ และเห็นว่าเกี่ยวข้องในด้านการศึกษา จึงขอคัดมาไว้เป็นการสรุปจบท้ายสมัยสุโขทัย ดังนี้

“ความวรรคหลัง (ของพระนามเมื่อราชาภิเษก) แสดงพระเกียรติยศว่าเป็น “พระมหาธรรมราชาธิราช” แปลกกับพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนและเป็นครั้งแรกที่จะใช้พระเกียรติยศเช่นนั้นในพระเจ้าแผ่นดินไทย คงเป็นเพราะพระเจ้าลือไทย ได้ทรงศึกษาในสำนักพระเถระชาวลังกา ซึ่งมาเป็นครูบาอาจารย์สอนกุลบุตรอยู่ในพระนครสุโขทัย ทรงทราบคติที่นับถือกันในลังกาทวีปแต่โบราณมาว่า พระเจ้าแผ่นดินอาจจะมีพระเกียรติยศถึงสูงสุด ด้วยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์อย่าง ๑ หรือเป็นพระเจ้าธรรมราชาอย่าง ๑ (ซึ่งไทยเรียกย่อว่าเป็น “พระยาจักร” หรือ “พระยาธรรม”) และอ้างพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นตัวอย่าง ว่าเดิมทรงบำเพ็ญพระบารมีตามจักรวรรดิวัตรจนได้เป็นพระเจ้าราชาธิราชแล้ว เมื่อทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนาเกิดสังเวชว่า การที่บำเพ็ญจักรวรรดิวัตรนั้นต้องรบพุ่งฆ่าฟันผู้คนให้ล้มตายเป็นบาปกรรม แต่นั้นก็เลิกรบพุ่งหันมาทรงบำเพ็ญพระบารมีโดยทางธรรมด้วยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชน ทำนุบำรุงพระราชอาณาเขตให้เจริญรุ่งเรืองด้วยประการต่างๆ จนได้พระนามว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศก” ทรงพระเกียรติเป็นพระเจ้าธรรมราชาปรากฏสืบมา พระเจ้าลือไทยคงทรงเลื่อมใสในคติเช่นว่านั้น มาตั้งแต่ก่อนแล้ว ครั้นได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต้องทรงพระราชดำริถึงทางที่จะบำเพ็ญพระบารมี เห็นว่ากรุงสุโขทัยเสื่อมอานุภาพมาแต่ในรัชกาลพระเจ้าเลอไทย ถ้าบำเพ็ญจักรวรรดิวัตรเหมือนอย่างเมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหง ก็จำต้องรบพุ่งตีบ้านเมืองเอากลับมาเป็นราชอาณาเขตดังแต่ก่อน ถ้าไม่สำเร็จก็ยิ่งซ้ำร้าย จึงหันไปบำเพ็ญพระบารมีเป็นพระเจ้าธรรมราชา ด้วยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและทำนุบำรุงบ้านเมืองในพระราชอาณาเขต ให้เจริญรุ่งเรืองโดยทางสันติภาพตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช จึงประกาศพระเกียรติยศเป็นพระเจ้าธรรมราชามาแต่แรกเสวยราชย์ ก็ได้พระนามเรียกในพงศาวดารว่า “พระมหาธรรมราชา” เป็นพระองค์ที่ ๑ ในพระเจ้าแผ่นดินที่ครองกรุงสุโขทัยสืบมา”

“ลักษณะการต่างๆ ที่พระเจ้าลือไทยทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ปรากฏในศิลาจารึก ก็เห็นได้ว่าเอาแบบพระเจ้าอโศกมหาราชมาทำตาม เป็นต้นแต่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยสร้างพระเจดีย์วิหารและสังฆาวาส ทั้งบำรุงการเล่าเรียนพระไตรปิฎก แม้จนประทานอนุญาตให้ใช้ราชมนเทียร เป็นที่พระภิกษุสามเณรเล่าเรียนที่ในพระราชวัง อาจเป็นต้นแบบอย่างที่มีจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ส่วนพระองค์ก็ทรงรับภาระสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนเพิ่มเข้าในราชกิจด้วย แต่เพียงนั้นยังไม่พอแก่พระราชศรัทธา ถึง พ.ศ. ๑๙๐๕88 เมื่อเสวยราชย์ได้ ๕ ปี89 ตรัสให้ไปนิมนต์พระมหาสามีสังฆราช เมืองลังกามาเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่คราวหนึ่งตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช”

ในด้านอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่เพิ่มมากขึ้น ความทรงเป็นปราชญ์ และผลการทำนุบำรุงบ้านเมือง ทรงมีมติดังนี้

“ในส่วนวิชาไสยศาสตร์นั้น สังเกตในศิลาจารึกครั้งพระเจ้ารามคำแหงยังเป็นแต่นับถือผี90 มาถึงพระเจ้าลือไทยจึงทรงบำรุงศาสนาพราหมณ์ เช่น ให้หล่อเทวรูปและสร้างเทวาลัย ทั้งจัดระเบียบพิธีพราหมณ์ ซึ่งบางที่จะเป็นโครงของลักษณะพิธีทวาทศมาส ที่เอาขยายแต่งเป็นคำของนางนพมาศในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แม้รูปพระอิศวรกับรูปพระนารายณ์องค์ใหญ่ทั้งคู่ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถาน ฯ ในกรุงเทพ ฯ บัดนี้ ก็เห็นจะสร้างเมื่อครั้งพระเจ้าลือไทย แม้อุบายที่ประสานพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ ด้วยถือเป็นคติว่าเทวดาในศาสนาพราหมณ์เป็นสัมมาทิฐิ ช่วยรักษาพระพุทธศาสนา ก็น่าจะเกิดขึ้นแต่ครั้งนั้น ส่วนโหราศาสตร์นั้น ในศิลาจารึกสรรเสริญพระคุณวิเศษของพระเจ้าลือไทย ว่าทรงสามารถจะทำปฏิทิน และถอดลบเดือนปี ข้อนี้ก็ตรงกับที่กล่าวกันในชั้นหลังว่า “พระร่วงลบศักราช” เป็นแต่อ้างผิดพระองค์ไป ข้อที่ว่าทรงชำนาญอักษรศาสตร์นั้น ก็เป็นธรรมดาของผู้เล่าเรียนคัมภีร์พระไตรปิฎก นอกจากนั้นยังสังเกตได้ที่ศิลาจารึกครั้งพระเจ้าลือไทย ได้แก้ไขทั้งรูปตัวพยัญชนะและที่วางสระ เปลี่ยนแปลงจากแบบของพระเจ้ารามคำแหง ให้อ่านเขียนสะดวกขึ้น ทั้งภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกครั้งพระเจ้าลือไทย ก็เพริศพริ้งยิ่งกว่าแต่ก่อน ตามหลักฐานที่กล่าวมา สมควรจะนับถือว่าพระเจ้าลือไทยเป็นนักปราชญ์ได้ทุกสถาน”

“พระเกียรติที่ทรงรอบรู้พระไตรปิฎก คงเลื่องลือแพร่หลาย จึงเรียกพระนามเฉลิมพระเกียรติอีกพระนาม ๑ ว่า “พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก” แต่ผู้แต่งหนังสือพงศาวดารเหนือหลงเอาไปอ้างว่าเป็นพระเจ้าเชียงแสน อันมิได้มีในเรื่องพงศาวดารของเมืองนั้นเอง หรือเมืองใดๆ นอกจากที่กรุงสุโขทัย”

“...แม้จะไม่สามารถขยายราชอาณาเขต ให้กว้างขวางใหญ่ได้เหมือนเมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหง บ้านเมืองในสมัยพระเจ้าลือไทย ก็คงสมบูรณ์พูนสุขยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนทั่วพระราชอาณาเขต เพราะเช่นนั้นชาวกรุงสุโขทัยจึงนับถือพระเจ้าลือไทย เป็นพระเจ้ามหาราชเช่นเดียวกับพระเจ้ารามคำแหงอีกพระองค์หนึ่ง ถึงรัชกาลภายหลังให้เอางาช้างเผือกทำพระรูปขึ้นไว้บูชาในเทวาลัยเป็นคู่กันทั้งสองพระองค์ แต่คนชั้นหลังเรียกกันว่ารูป “พระร่วง” กับ “พระลือ”91

 

๒. สมัยอาณาจักรลานนาไทย

อาณาจักรลานนาไทย เป็นอาณาจักรไทยอีกแห่งหนึ่ง ที่ตั้งตนขึ้นและรุ่งเรืองอยู่ในสมัยเดียวกับอาณาจักรสุโขทัย แต่ได้เจริญอยู่ต่อมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ถ้ากำหนดเอาพิธีปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ที่นครลำพูนของพระเจ้าเม็งรายเป็นเริ่มต้น และถือเอาการที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ส่งราชบุตรไปครองเมืองเชียงใหม่เป็นสิ้นสุด ก็จะได้สมัยอาณาจักรลานนาไทย สำหรับศึกษาในที่นี้ แต่ พ.ศ. ๑๘๒๔ ถึง ๒๑๒๑92 เนื่องจากประวัติของอาณาจักรนี้เป็นไปในสมัยเดียวกับอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น ทั้งมีเหตุการณ์เกี่ยวข้องถึงกัน จึงควรทราบความสัมพันธ์ในด้านกาลสมัยระหว่างอาณาจักรเหล่านี้ไว้ด้วย เพื่อในเวลาศึกษาจะได้นึกเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ตอนแรกนี้ จึงขอแสดงลำดับรัชกาลในอาณาจักรทั้งสามนี้ไว้เปรียบเทียบกันก่อน

ลานนาไทย สุโขทัย
เม็งราย ๑๘๐๕-๑๘๕๔93 รัชกาล ๑-๒ ๑๘๐๐-๑๘๒๐
ชัยสงคราม ๑๘๕๕-๑๘๕๕94 รามคำแหง ๑๘๒๐-๑๘๖๐
แสนภู ๑๘๕๕-๑๘๗๘ เลอไท
คำฟู ๑๘๗๘-๑๘๗๙
ผายู ๑๘๘๐-๑๘๙๙ ลิไท ๑๘๙๗-๑๙๑๙
กือนา ๑๘๙๙-๑๙๒๘ ไสยลือไท ๑๙๑๙-๑๙๒๐
อยุธยา
อู่ทอง ๑๘๙๓-๑๙๑๒
แสนเมืองมา ๑๙๒๙-๑๙๔๕ ราเมศวร+บรมราช, ๑๙๑๒-๑๙๓๑
ทองลัน+ราเมศวร ๑๙๓๑-๑๙๓๘
สามฝั่งแกน ๑๙๔๕-๑๙๘๔ รามราชาธิราช ๑๙๓๘-๑๙๕๒
นครอินทราฯ ๑๙๕๒-๑๙๖๗
ติโลกราช ๑๙๘๔-๒๐๓๐ สามพระยา ๑๙๖๗-๑๙๙๑
บรมไตรโลกนาถ  ๑๙๙๑-๒๐๓๑
พระเมืองยอด ๒๐๓๑-๒๐๓๘ บรมราช ๓ ๒๐๓๑-๒๐๓๔
พระเมืองแก้ว ๒๐๓๘-๒๐๖๘ รามาธิบดีที่ ๒ ๒๐๓๔ ๒๐๗๒
บรมราช ๔ +รัษฎาฯ ๒๐๗๒-๒๐๗๖
พระเมืองเกศเกล้า ๒๐๖๘-๒๐๘๘ ชัยราชา+แก้วฟ้า ๒๐๗๗-๒๐๙๑
เจ้าจิรประภา ฯลฯ ๒๐๘๘-๒๑๒๑95 จักรพรรดิ+มหินทร ๒๐๙๑-๒๑๑๒
พระมหาธรรมราชา ๒๑๑๒-๒๑๓๓

 

ในสมัยลานนาไทยนี้ มีเหตุการณ์สำคัญทางพระศาสนา ที่จัดว่าเกี่ยวข้องกับการศึกษา พอสรุปได้ดังนี้

ในรัชกาลพระเจ้ากือนา หรือตื้อนา หรือเรียกตามพระนามที่ได้รับยกย่องว่า พระเจ้ากือนาธรรมิกราช พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงศึกษาศิลปกรรมต่างๆ ชำนาญในโหราศาสตร์ ศัพทศาสตร์ เพทางคศาสตร์ และคชศาสตร์เป็นต้น ทรงทศพิธราชธรรม ประชาชนมีความสงบสุข ครั้งนั้นตรงกับรัชกาลพระยาลิไท แห่งสุโขทัย พระพุทธศาสนากำลังรุ่งเรืองในสุโขทัย พระมหาสวามีสังฆราชได้รับอาราธนามายังสุโขทัย และพระยาลิไทก็ได้ทรงผนวชแล้วแต่ พ.ศ. ๑๙๐๔ พระเจ้ากือนาได้ทรงสดับกิตติคุณของพระสุมนเถรแห่งสุโขทัยและทรงมีพระประสงค์จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาอย่างลังกาวงศ์ ให้แน่นแฟ้นในอาณาจักรของพระองค์ จึงในราว พ.ศ. ๑๙๑๓ พระองค์ได้ทรงส่งทูตมายังอาณาจักรสุโขทัย ขออาราธนาพระสุมนเถรไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในลานนาไทย เมื่อพระสุมนเถรไปเชียงใหม่ครั้งนั้นได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปจากเมืองสุโขทัยด้วยครั้งแรก พระสุมนเถรไปอยู่ ณ วัดพระยืน เมืองหริภุญไชยก่อน ต่อมา พ.ศ. ๑๙๑๕ พระเจ้ากือนาจึงโปรดให้อาราธนามาอยู่ ณ วัดบุบผารามมหาวิหาร (คือวัดสวนดอก) ที่พระองค์โปรดให้สร้าง ณ ที่ที่เคยเป็นพระราชอุทยานมาก่อน และมอบถวายวัดแก่พระสุมนเถร

ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช ซึ่งส่วนใหญ่ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระพุทธศาสนาในอาณาจักรลานนาไทย ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงอย่างมาก จนพระเจ้าติโลกราชได้รับพระนามเฉลิมพระเกียรติว่า “พระเจ้าศรีธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช” มีเหตุการณ์สำคัญอันเกี่ยวถึงการศึกษาดังนี้

ประมาณ พ.ศ. ๑๙๙๐ เศษ พระเจ้าติโลกราชเสด็จออกทรงผนวชชั่วคราว ณ วัดป่าแดง

พ.ศ. ๑๙๙๘ พระสงฆ์คณะหนึ่ง มีพระญาณคัมภีร์ พระเมธังกร พระศีลวงศ์ เป็นต้น ได้รับพระราชูปถัมภ์ไปศึกษาและดูการพระศาสนาในประเทศลังกา และเมื่อกลับ ได้นำต้นศรีมหาโพธิ์มาด้วย พระเจ้าติโลกราชโปรดฯ ให้สร้างอารามถวายชื่อวัดโพธาราม (คือวัดเจ็ดยอด)

พ.ศ. ๒๐๒๐ โปรดฯ ให้อาราธนาพระสงฆ์ประชุมทำสังคายนาพระไตรปิฎก ที่วัดโพธาราม หรือวัดเจ็ดยอดนั้น สิ้นเวลา ๑ ปี นับว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๘ แล้วสร้างหอมณเฑียรธรรมขึ้นไว้เก็บพระไตรปิฎกด้วย

ในรัชกาลพระเจ้าพระเมืองแก้ว ได้มีพระสงฆ์ที่เป็นปราชญ์ แต่งคัมภีร์ภาษาบาลีขึ้นหลายท่าน จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นยุคที่การศึกษาภาษาบาลีในถิ่นนี้เจริญถึงขีดสุด คัมภีร์ภาษาบาลี เท่าที่พบว่าแต่งในลานนาไทยแทบว่าทั้งหมดเป็นของแต่ง (เสร็จ) ในรัชกาลนี้ จะก่อนหลังบ้างก็เพียงไม่กี่ปี ถ้าจะมียกเว้นว่าแต่งก่อนหลังนั้นนานบ้าง ก็เห็นแต่รัตนพิมพวงศ์ คัมภีร์เดียว ซึ่งก็เพียงสันนิษฐานว่าแต่งราว พ.ศ. ๒๒๗๒ (หลังรัชกาลพระเจ้าพระเมืองแก้ว ๒ ศตวรรษ) อาศัยความเจริญรุ่งเรืองทางพระศาสนานี้เอง พระเจ้าพระเมืองแก้วจึงได้รับถวายพระนามเฉลิมพระเกียรติว่า พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช พระสงฆ์ผู้เป็นปราชญ์และคัมภีร์ภาษาบาลีที่ท่านรจนา ที่พอค้นหลักฐานได้ ดังนี้

พระญาณกิตติเถร แต่ง

๑. คันถีทีปนี แก้ภิกขุปาฏิโมกข์ แต่งที่เชียงใหม่ พ.ศ ๒๐๓๖ มี ๒ ผูก

๒. สีมาสังกรวินิจฉัย วินิจฉัยเรื่องสีมาคาบเกี่ยวกัน

๓. สัทธัมมสังคหะ ว่าด้วยสังคีติกาลและปกิณกธรรมต่างๆ มี ๒ ผูก

๔. โยชนาวินัย96 ทั้ง ๕ คัมภีร์ มี ๓๕ ผูก (อา.=๑๗; ปา.=๖; ม.=๕; จุ.-๔; ป.๓ ผูก)

๕. โยชนาอภิธรรม ทั้ง ๗ คัมภีร์ มี ๔๒ ผูก (สํ.=๑๔, วิ.=๑๖; ธา.=๓; ปุ.=๑; ก.=๓; ย.=๑; ป.=๔ ผูก)

๖. โยชนาอภิธัมมัตถวิภาวินี ชื่อ ปัญจิกา97 มี ๕๙ ผูก (บั้น ๑=๑๖, บั้น ๒=๑๖; บั้น ๓=๑๓; บั้น ๔=๑๔ ผูก)

๗. โยชนามูลกัจจายน มี ๑๗ ผูก (บั้นต้น ๙: บั้นปลาย ๘ ผูก)

พระสิริมังคลาจารย์ แต่ง

๑. มงฺคลตฺถทีปนี98 อธิบายความในมงคลสูตร แสดงอรรถแห่งมงคล ๓๘ ประการ แต่งที่เชียงใหม่ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๐๖๗ มี ๒๖ ผูก

๒. เวสฺสนฺตรทีปนี ชี้แจงศัพท์และวิธีแปลคาถาในเรื่องเวสสันดรชาดก แต่งที่เชียงใหม่ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๐๖๐ มี ๕๐ ผูก (บั้นต้น ๔๐; บั้นปลาย ๑๐ ผูก)

๓. จกฺกวาฬทีปนี ว่าด้วยจักรวาลและสรรพสิ่งอันมีในจักรวาล แสดงสัณฐานตลอดถึงความพินาศของโลก แต่งที่เชียงใหม่ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๐๖๓ มี ๑๐ ผูก

๔. สงฺขยาปกาสกฏีกา ชี้แจงเรื่องเครื่องนับเครื่องตวง ๖ ชนิด แต่งที่เชียงใหม่ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๐๖๓ มี ๒ ผูก

พระสิริรัตนปัญญาเถร แต่ง

๑. ชินกาลมาลี99 ระเบียบลำดับกาลเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแสดงพุทธประวัติมาแต่พระชาติที่อธิษฐานบำเพ็ญพุทธบารมี จนถึงปัจจุบันชาติและประวัติศาสนาแต่พุทธปรินิพพานจนถึงการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลานนาไทย สันนิษฐานว่า ท่านแต่งเฉพาะตอนต้น ที่เมืองเชียงราย เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๐๕๙ ส่วนตอนปลายว่าด้วยพงศาวดารเมืองเชียงใหม่จนถึงปีกุน พ.ศ. ๒๐๗๐

๒. วชิรสารัตถสังคหะ100 ประมวลอรรถอันเป็นสาระประดุจเพชร รวบรวมอรรถะอันเป็นสาระจากคัมภีร์ต่างๆ มาแสดง เช่นหัวใจคาถาต่างๆ โดยเฉพาะในแง่ศัพทศาสตร์ แต่งเมื่อแรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๐๗๘ มี ๑ ผูก

๓. มาติกัตถสรูป (แห่งธัมมสังคณี) สรูปอธิบายความเฉพาะมาติกาในคัมภีร์ธัมมสังคณี มี ๑ ผูก

พระโพธิรังสีเถร แต่ง

๑. จามเทวีวํส101 ว่าด้วยพงศาวดารเมืองหริภุญชัย แสดงเรื่องการสร้างเมืองเขลางค์ เมืองหริภุญชัย เมืองลำปาง และการสร้างวัดบรรจุพระธาตุ ในวงศ์ของนางจามเทวี มี ๕ ผูก

๒. สิหิงคนิทาน102 ว่าด้วยความเป็นมาของพระพุทธสิหิงค์

พระนันทาจารย์ แต่ง

๑. สารัตถสังคหะ103 เลือกคัดข้อความในคัมภีร์ต่างๆ ที่เห็นว่ามีสาระมารวมแสดงเป็นหมวดๆ แต่งที่เชียงใหม่ มี ๑๕ ผูก

พระธรรมเสนาบดี แต่ง

๑. ปทกฺกมโยชนาสทฺทตฺถภทจินตา เป็นคัมภีร์ฝ่ายศัพทศาสตร์ แต่งที่เชียงใหม่ มี ๔ ผูก

พระสุวรรณทีปเถร แต่ง

๑. อเผคคุสารัตถทีปนี “คัมภีร์แสดงอรรถอันเป็นสาระ ปราศจากกระพี้”

ส่วนคัมภีร์ที่สันนิษฐานว่าใหม่ แต่งหลังคัมภีร์เหล่านี้ คือ

ปฐมสมโพธิ แสดงพุทธประวัติแต่โดยย่อ

รัตนพิมพวงศ์104 ว่าด้วยตำนานพระแก้วมรกต แต่งโดยพระพรหมราชปัญญา เมื่อปีระกา (สันนิษฐานว่า ประมาณ พ.ศ. ๒๒๗๒)

นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์สำคัญในสมัยลานนาไทยนี้อีกคัมภีร์หนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลมาในวรรณคดีไทยหลายเรื่องคือ ปัญญาสชาดก105 ซึ่งเป็นที่รวบรวมนิทานเก่าแก่ที่เล่ากันในเมืองไทยมาแต่โบราณ ๕๐ เรื่อง (บางฉบับนับจริงได้ ๖๓ เรื่อง) แต่งเป็นภาษาบาลี เลียนแบบอรรถกถาชาดกในฝ่ายนิบาตชาดก ผู้แต่งคงจะมีหลายคน ต่างสำนวนกัน บางท่านว่าเป็นการเกิดจากมีผู้นิยม และเรียนรู้บาลีกันมากขึ้นในถิ่นนั้น จนถึงแต่งประกวดประขันกัน แต่ตามพระมติสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “แต่หนังสือปัญญาสชาดกนี้ เห็นจะแต่งในตอนปลายสมัยที่กล่าวมา เพราะความรู้ภาษามคธดูทรามลงไม่ถึงหนังสือแต่งชั้นก่อน”106

เรื่องในปัญญาสชาดก ได้เป็นที่มาของวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ทั้งนี้จะด้วยเอามาโดยตรง หรือโดยเป็นเรื่องที่เล่ากันแต่โบราณ ต่างฝ่ายต่างรู้และต่างนำไปแต่งด้วยกัน ก็ตาม เช่น สมุททโฆสชาดก (สมุทโฆษคำฉันท์) รถเสนชาดก สุวรรณสังขชาดก (สังข์ทอง) เป็นต้น

คัมภีร์เหล่านี้ แยกโดยประเภทได้ดังนี้

๑. อธิบายพระธรรมวินัย ถือเอาความในบาลี อรรถกถา หรือฎีกาตอนใดตอนหนึ่งเป็นหลัก แก้ความขยายออกไปอีก ได้แก่

ก. สายพระวินัย มีคันถีทีปนี สีมาสังกรวินิจฉัย โยชนาวินัย

ข. พระสูตร มี มังคลัตถทีปนี เวสสันตรทีปนี

ค. พระอภิธรรม มีโยชนา (สัตตัปปกรณ) อภิธรรม โยชนาอภิธัมมัตถวิภาวินี มาติกัตถสรูป

๒. เรื่องแต่งแสดงความคิดเห็น หรือค้นคว้ารวบรวมจากคัมภีร์ต่างๆ ตามแนวที่คิดขึ้นเองเป็นอิสระ มีสัทธัมมสังคหะ สารัตถสังคหะ อเผคคุสารัตถทีปนี จักรวาฬทีปนี (เป็นฝ่ายภูมิศาสตร์) สังขยาปกาสกฎีกา (เป็นฝ่ายคณิตศาสตร์) วชิรสารัตถสังคหะ (ความรู้ทั่วไป เจือด้วยศัพทศาสตร์และอลังการศาสตร์)

๓. ศัพทศาสตร์ มี โยชนามูลกัจจายน ปทักกมโยชนา สัททัตถเภทจินดา

๔. ตำนาน มี ชินกาลมาลี จามเทวีวงศ์ สิหิงคนิทาน รัตนพิมพวงศ์ ปฐมสมโพธิสังเขป และปัญญาสชาดก

น่าสังเกตว่า ความรู้ภาษาบาลีในลานนาไทยเจริญสูงสุด จนมีปราชญ์แต่งคัมภีร์ภาษาบาลีกันได้นี้ มีแต่เพียงระยะสั้นๆ ประมาณกึ่งศตวรรษและเป็นเพียงระยะเดียวนี้เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะความรู้ภาษาบาลีที่เจริญนั้น สืบเนื่องมาจากการติดต่อกับลังกาในระยะต้นๆ ของการประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในประเทศไทย เช่น การที่พระสงฆ์ได้รับราชูปถัมภ์ไปดูการพระศาสนา และศึกษาในลังกาเป็นหมู่เป็นคณะ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช พระสงฆ์เหล่านี้จึงมีความรู้ภาษาบาลีดี ครั้นกลับมาแล้วก็สั่งสอนพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์สืบต่อมา และศิษย์ที่จะมีความรู้ดีก็คงจะได้แต่รุ่นแรกๆ เท่านั้น รุ่นหลังต่อมาความรู้ก็คงเสื่อมทรามลงโดยลำดับ แม้พระสงฆ์ที่ไปศึกษามาเองโดยตรง มีความรู้ดี กลับมาถึงถิ่นของตน กว่าจะได้เริ่มต้นลงมือแต่งคัมภีร์ และกว่าผลงานจะเสร็จนำออกแสดงได้ก็คงต้องใช้เวลาหลายปี ความรุ่งเรืองจึงมาปรากฏให้เห็น แต่ในช่วงเวลาอันสั้นนี้เท่านั้น อีกประการหนึ่ง ว่าโดยการปกครอง ความเจริญของพระพุทธศาสนาที่เป็นมา ต้องอาศัยอุปถัมภ์จากฝ่ายอาณาจักรมาก ระยะที่พระพุทธศาสนาเจริญมากในลานนาไทยนั้น ล้วนเป็นสมัยที่ได้รับราชูปถัมภ์อย่างดีทั้งนั้น ครั้นหลังจากยุคที่กล่าวถึงนี้แล้ว พม่ามาตีได้เชียงใหม่ พม่าปกครองโดยใช้วิธีกลมกลืนทางวัฒนธรรม ให้พระสงฆ์เล่าเรียนโดยใช้ภาษาพม่า และส่งเสริมให้ส่งพระภิกษุผู้มีความรู้ ไปศึกษาอบรมในประเทศพม่า เมื่อ ชาวไทยลานนาหลีกเลี่ยงการเรียนภาษาพม่า ก็เท่ากับต้องหลีกเลี่ยงการศึกษา ตลอดจนหลีกเลี่ยงการบวชเป็นพระภิกษุด้วย ทำให้การศึกษาทางพระพุทธศาสนาเสื่อมลง และเกิดความนิยมบวชเพียงแค่เป็นสามเณร ครั้นต่อมาประเทศไทยมีกำลังเข้มแข็งขึ้น เชียงใหม่ก็ได้เป็นถิ่นสำหรับรบพุ่งแย่งชิงกันไปมาระหว่างพม่ากับไทยเป็นเวลานาน ข้อนี้ก็อาจเป็นสาเหตุประกอบด้วย เพราะบ้านเมืองระส่ำระสายและไม่มีโอกาสทำนุบำรุงอย่างใหญ่เหมือนแต่ก่อน

ในเรื่องที่ความรู้ภาษาบาลีเจริญขึ้นในช่วงสมัยดังกล่าวนั้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีมติว่า

ในลังกาทวีป เมื่อพุทธศักราชใกล้จะถึง ๑๗๐๐ ปี พระเจ้าปรักกมพาหุมหาราช ทรงให้ประชุมสงฆ์ทำสังคายนา (ตำนานสังคายนาของเรานับเป็นมหาสังคายนาครั้งที่ ๗ และว่าทำเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗) “สังฆมณฑลในลังกาทวีปก็กลับรุ่งเรืองขึ้น เมื่อกิตติศัพท์อันนั้นปรากฏมาถึงประเทศนี้ก็มีพระสงฆ์ พม่า มอญ ไทย พากันเลื่อมใสไปศึกษาในลังกาทวีป แล้วรับลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งสังคายนาครั้งพระเจ้าปรักกมพาหุ มาสั่งสอนในประเทศนี้ เมื่อพุทธศักราช ๑๗๑๓ ปี (กล่าวตามจารึกกัลยาณีของพระเจ้าหงสาวดีธรรมเจดีย์ปิฎกธร) แต่นั้นความเลื่อมใสในลัทธิลังกาวงศ์ก็เจริญแพร่หลายในประเทศไทย มอญ พม่า ทั่วไป จนถึงพระเจ้าแผ่นดินให้นิมนต์พระเถระชาวลังกามาเป็นครูบาอาจารย์ และทรงยกย่องพระภิกษุซึ่งได้ไปเล่าเรียนและบวชแปลงเป็นลังกาวงศ์มาแต่ลังกาทวีปให้เป็นสังฆนายกโดยมาก เพราะฉะนั้น จึงมีพระภิกษุไทย มอญ พม่า พากันไปศึกษายังลังกาทวีปไม่ขาดมาช้านาน”

“ก็และการที่พระภิกษุ ไทย มอญ พม่า ไปศึกษาพระธรรม วินัยในลังกาทวีปนั้น ผู้ที่ไปไม่รู้ภาษาสิงหฬ ฝ่ายพระเถระในลังกาทวีปผู้เป็นครูบาอาจารย์ ก็ไม่รู้ภาษาไทย มอญ พม่า จำต้องพูดและสอนกันโดยภาษาบาลี เพราะฉะนั้น การเล่าเรียนภาษาบาลี จึงเป็นการสำคัญ และจำเป็นของพระภิกษุไทย มอญ พม่า ที่ไปศึกษา ทั้งที่จะอ่านหนังสือไตรปิฎกและในการที่จะพูดจากับครูบาอาจารย์ ด้วยเหตุนี้พระภิกษุที่ได้ไปศึกษาในลังกาทวีป จึงเรียนรู้ภาษาบาลีแตกฉานโดยมาก บางองค์ถึงสามารถจะแต่งหนังสือในภาษาบาลีได้ (เช่นเดียวกันกับนักเรียน ไทยที่ไปเล่าเรียนในประเทศยุโรปในชั้นหลังนี้ บางคนก็อาจจะแต่งหนังสือในภาษาฝรั่งโดยทำนองเดียวกัน) ครั้นพระภิกษุเหล่านั้นกลับมาบ้านเมือง ก็เอาวิธีที่ได้เล่าเรียนในลังกาทวีปมาสั่งสอนในประเทศของตน พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระราชศรัทธา ทำนุบำรุงด้วยกันทุกๆ ประเทศ ยกตัวอย่างดังพระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ ถึงทำสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งตำนานของเรานับเป็นมหาสังคายนาครั้งที่ ๘ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๐๒๐ เพราะเหตุฉะนั้น ความรู้ภาษาบาลี จึงมาเจริญขึ้นในประเทศเหล่านี้ จนถึงได้แต่งหนังสือในภาษาบาลีขึ้นหลายคัมภีร์”107

และอีกแห่งหนึ่งทรงมีมติว่า

“แต่ดูเหมือนความรู้ภาษามคธจะรุ่งเรืองอยู่ในสมัยอันเดียว ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๕๐ มาจน พ.ศ. ๒๒๐๐ แล้วก็เสื่อมทรามลงเป็นลำดับมา”108

อย่างไรก็ดี พอสรุปได้ว่า คัมภีร์บาลีสมัยลานนานี้ นอกจากแสดงถึงความเจริญทางอักษรศาสตร์ฝ่ายภาษาบาลีสมัยนั้น และในในถิ่นนั้นแล้ว ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าพระมหากษัตริย์และประชาชน สนใจทำนุบำรุงพระศาสนาเพียงไร ในด้านประชาชนนั้น ก็เป็นธรรมดาที่จะได้รับการศึกษาในรูปการเทศนาสั่งสอน นิทาน นิยาย เรื่องเล่า และประเพณีต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนาเหล่านั้น ทั้งของเดิมและแต่งเพิ่มใหม่ และบรรดาคัมภีร์เหล่านั้น บางคัมภีร์ ก็ได้มีอิทธิพลในการศึกษาภาษาบาลี สืบมาจนทุกวันนี้ (โดยเฉพาะมังคลัตถทีปนี) บางคัมภีร์เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยคณิตศาสตร์ (สังขยาปกาสกฎีกา) และหลายคัมภีร์บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้ เช่น ประวัติพระแก้วมรกต ประวัติพระพุทธสิหิงค์ ประวัติเมืองหริภุญชัย ประวัติพุทธศาสนาในลานนาไทย เป็นต้น ยังเรื่องเล่าสืบๆ กันมา นิทานท้องถิ่นต่างๆ ที่ปรากฏในปัญญาสชาดกอีก จึงนับว่าพระพุทธศาสนายุคนี้ มีส่วนในการศึกษาแก่ประชาชนชาวไทยมิใช่น้อย

(ภาพ) สถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาในภาคเหนือของประเทศ ไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพุกาม

 

๓. สมัยอยุธยา109

ในเวลาที่บ้านเมืองไม่วุ่นวาย ไม่ต้องติดพันในการสงครามกับต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ที่มีพระนามยิ่งใหญ่ ในการทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า ก็ทรงมีพระนามยิ่งใหญ่ในด้านการทำนุบำรุงพระศาสนาด้วยเช่นกัน เพราะพุทธศาสนาเป็นส่วนประกอบสำคัญในชีวิตของชาวไทย ในสมัยอยุธยา ระยะแรก (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๐๓๑) พระมหากษัตริย์ที่มีพระนามยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นอกจากทรงจัดการปกครองบ้านเมือง ให้มีระเบียบเรียบร้อยและเข้มแข็งอย่างดีแล้ว พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาเป็นการใหญ่ โดยดำเนินตามแบบอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช เช่นเดียวกับพระมหาธรรมราชาลิไท เช่น ทรงแต่งมหาชาติคำหลวง ทรงจัดวิธีปกครองบ้านเมือง ทรงถวายที่ในพระราชวังเป็นวัด และสละราชสมบัติออกผนวช ใน พ.ศ. ๒๐๐๘ นอกจากทรงผนวชเองแล้ว ใน พ.ศ. ๒๐๒๗ ยังโปรดให้พระราชโอรส (สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๒) ทรงผนวชเป็นสามเณร พร้อมกับราชนัดดาอีกองค์หนึ่ง “น่าจะเข้าใจว่า ประเพณีที่เจ้านายทรงผนวช และผู้ลากมากดีบวช ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา จึงเป็นธรรมเนียมเมืองสืบมาช้านาน เห็นจะมีขึ้นครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นปฐม”110

ประเพณีการบวชเรียน ที่สืบเนื่องมาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ ต้องนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในด้านประวัติการศึกษาทางพระพุทธศาสนาหรือแม้ในเรื่องพระพุทธศาสนากับการศึกษาของประเทศไทย และคงเป็นเหตุสำคัญให้ประชาชนนิยมสร้างวัดมากขึ้น คือไม่เฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น ผู้ที่มีเงินมีฐานะพอก็มักสร้างวัดไว้ประจำตระกูลไว้เก็บอัฐิบรรพบุรุษ อันเป็นความนิยมมากในสมัยอยุธยา ระยะที่สอง (พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๑๗๓) เป็นต้นมา จนมีคำกล่าวกันมาว่า “เมื่อบ้านเมืองดี เขาสร้างวัดให้ลูกเล่น” และปรากฏในสมัยนี้ด้วยว่าเมื่อสร้างวัดแล้วก็นิยมสร้างโบสถ์ด้วยเป็นสามัญ ส่วนในด้านการศึกษาเล่าเรียน พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์บำรุงอย่างมากเช่นเดิม ดังความปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมซึ่งเสวยราชย์ในระหว่าง พ.ศ. ๒๑๖๓ ถึง พ.ศ. ๒๑๗๑ ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมชำนาญมาแต่ยังทรงผนวช ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระราชศรัทธา เสด็จออกบอกหนังสือพระภิกษุสามเณร ที่พระที่นั่งจอมทองสามหลังเนืองๆ”111 และปรากฏว่าตามปกตินั้นในสมัยอยุธยาโปรดให้ ราชบัณฑิตเป็นอาจารย์บอกหนังสือพระ นี้แสดงว่า นอกจากพระราชทานสถานที่ในวังให้เป็นที่เล่าเรียนแล้ว ยังโปรดดำเนินการในเรื่องการสอนด้วย

ความนิยมในการบวช และการอุปถัมภ์การบวชคงมีเพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ แม้ในสมัยอยุธยา ระยะที่สาม (พ.ศ. ๒๑๗๓-๒๒๗๕) จนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเรื่องราวปรากฏบันทึกในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ว่า พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก พระราชทานพระราชูปถัมภ์แก่ผู้บวชเป็นภิกษุสามเณรเป็นเอนกประการ จนเป็นเหตุให้ราษฎรที่ปรารถนาจะหลบเลี่ยงราชการบ้านเมือง พากันไปบวชเสียเป็นอันมาก เมื่อพระองค์ทรงทราบความจึงดำรัสให้ออกหลวงสรศักดิ์ เป็นแม่กองประชุมสงฆ์สอบความรู้พระภิกษุสามเณร ปรากฏว่า พระภิกษุสามเณรที่หลบลี้ราชการออกไปบวช สอบได้ความชัดว่าไม่มีความรู้ในทางพระศาสนา ถูกบังคับให้ลาสิกขาออกเป็นฆราวาสเป็นอันมาก นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีถือกันด้วยว่า ผู้บวชในศาสนาแล้ว เป็นผู้พ้นราชภัย เป็นต้น จึงปรากฏเรื่องราวในสมัยเดียวกันนั้นว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวร จวนสิ้นพระชนม์ ขณะนั้นพระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์กำลังล้อมวังไว้เตรียมยึดอำนาจ พระองค์เป็นห่วงชาวที่ชาววังว่า เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว คนเหล่านั้นจะถูกสังหารชีวิตหมด จึงโปรด ฯ ให้อาราธนาพระสงฆ์ราชาคณะเข้ามา ประมาณยี่สิบรูป ให้นำคนเหล่านั้นออกไปเพื่ออุปสมบท แต่พระสงฆ์ทูลว่าผู้รักษาประตูจะไม่ยอมให้นำคนออกไป จึงโปรดอนุญาตพระราชอุทิศถวายมหาปราสาททั้งสอง และพระราชวังทั้งหมดเป็นวิสุงคามสีมา พระสงฆ์จึงได้ประกอบสังฆกรรมได้ และได้นำพระภิกษุใหม่กลับไปพระอาราม เรื่องนี้ก็ดี เรื่องที่พระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ถวายพระพรขอชีวิตทหารคราวยุทธหัตถี กับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในสมัยก่อนก็ดี เป็นเครื่องยืนยันถึงอิทธิพล และความสำคัญของพระพุทธศาสนาในชีวิตของประชาชนไทยอย่างถึงที่สุด

ในสมัยอยุธยาระยะที่ ๓ นี้ มีวรรณคดีพุทธศาสนาเหลือมาถึงปัจจุบันจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นของแต่งสมัยพระเจ้าปราสาททอง พระนารายณ์มหาราช และพระเพทราชา แต่ก็เป็นประเภทหนังสือแปล หรือแต่งเป็นภาษาไทย ไม่ปรากฏเป็นคัมภีร์ภาษามคธ

ประเพณีการบวชเรียนปรากฏหลักฐานแสดงความสำคัญให้เห็นชัดอีก ในสมัยอยุธยา ระยะที่สี่ (พ.ศ. ๒๒๗๕-๒๓๑๐) ดังความปรากฏในหนังสือประวัติวัดมหาธาตุว่า :

“ได้ยินมาว่า การที่กุลบุตรออกบรรพชาแลอุปสมบทในครั้งกรุงเก่า แต่ก่อนเป็นแต่เฉพาะผู้ที่มีความศรัทธา พึ่งมาถือเป็นประเพณีเมือง ว่ากุลบุตรทุกๆ คนควรจะต้องบรรพชาแลอุปสมบทเป็นอย่างส่วน ๑ ของการศึกษา ตั้งแต่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ซึ่งเสวยราชย์เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๗๕ นั้นเป็นต้นมา กล่าวกันว่า ในรัชกาลนั้น ผู้ที่จะเป็นขุนนางมียศบรรดาศักดิ์ ต้องเป็นผู้ที่ได้บวชแล้วจึงจะทรงตั้ง เพราะฉะนั้น เจ้านายในพระราชวงศ์ ก็ต้องทรงผนวชทุกพระองค์เหมือนกัน ข้อนี้จะพึงเห็นได้ในพระราชพงศาวดาร เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์สวรรคต เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๐๑ เจ้าฟ้าอุทุมพร พระราชโอรส ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชเสด็จผ่านพิภพในปีพระชันษา พอครบอุปสมบท พอทำพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จเสวยราชย์อยู่ ๓ เดือน แล้วก็ออกทรงผนวชในปีนั้น”

“ราชประเพณีในครั้งกรุงธนบุรีก็ดี ต่อมาในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ดี นิยมตามแบบแผนครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ทุกอย่าง แต่เมื่อเวลาก่อกู้อิสระภาพครั้งกรุงธนบุรี แลรักษาอิสระภาพไว้ในรัชกาลที่ ๑ ต้องทำศึกสงครามไม่ได้ขาด ประเพณีการบวชเรียนจึงประพฤติให้ตรงตามแบบแผนครั้งกรุงเก่าไม่ได้”112

ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์นี้ ยังมีการพระศาสนาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การส่งคณะพระสงฆ์ไทยไปให้อุปสมบทแก่กุลบุตรในประเทศลังกา ใน พ.ศ. ๒๒๙๖ เป็นเหตุให้เกิดอุบาลีวงศ์ หรือสยามวงศ์ขึ้นในลังกา และเป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธศาสนาได้เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้มีวรรณคดีพุทธศาสนาเกิดในรัชกาลนี้หลายเรื่อง เช่น นันโทปนันทสูตร มาลัยคำหลวง ปุณโณวาทคำฉันท์ พระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์ เป็นต้น สำหรับพระราชปุจฉาที่ถามคณะสงฆ์นั้น ก็เป็นพระราชประเพณีอันหนึ่งที่มีความสำคัญในการศึกษา แสดงถึงพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ที่ทรงสนพระทัย และให้ความสำคัญแก่กิจการพระศาสนา และเป็นเครื่องกระตุ้นคณะสงฆ์ให้ต้องเอาใจใส่ในการเช่นนี้

๔. สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ถึงรัชกาลที่ ๔)

สมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์เป็นระยะบ้านเมืองต้องวุ่นวายกับการทำศึกสงคราม กู้อิสรภาพ รักษาอิสรภาพ สร้างบ้านเมืองใหม่ ตลอดจนจัดแจงวางระเบียบการปกครองต่างๆ จึงสนใจในด้านการพระศาสนาได้ไม่เต็มที่ แต่กระนั้นพระมหากษัตริย์ก็ได้ทรงพยายามเอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงกิจการพระศาสนาเท่าที่มีโอกาส ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อทรงสร้างกรุงใหม่แล้ว ก็โปรด ฯ ให้อาราธนาพระสงฆ์ที่มีศีลาจารวัตรมาสำนักในเมืองใหม่ ทรงสร้างวัดเพิ่มเติม และทรงใส่พระทัยศึกษาปฏิบัติพระธรรมด้วยพระองค์เอง ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งรัตนโกสินทร์ ก็มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดมหาธาตุ โปรด ฯ บำรุงการเล่าเรียนปริยัติธรรม ให้ราชบัณฑิตบอกหนังสือพระในพระราชวัง ตามพระราชประเพณีเดิม และแนะนำพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการให้ส่งเสริม จ้างอาจารย์ไปบอกหนังสือพระในท้องพระโรงวังเจ้านาย และตามวัดต่างๆ เป็นต้น ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราชมี ได้ทรงขยายหลักสูตรการเรียนบาลีออกไปจาก ๓ เป็น ๙ ประโยค ในรัชกาลที่ ๓ ทรงส่งเสริมการสร้างวัดเพิ่มมากมาย และอุปถัมภ์พระสงฆ์มาก มีพระสงฆ์บวชมากเป็นพิเศษกว่าสมัยก่อนๆ ทรงส่งเสริมการศึกษาพุทธศาสนา จัดสอบในวัดที่สถิตสมเด็จพระสังฆราชหรือในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานอุปถัมภ์แก่พระภิกษุสามเณรที่สอบได้ ตลอดถึงโยมบิดามารดา ในรัชกาลที่ ๔ แต่สมัยที่ยังผนวช ได้ทรงพยายามในด้านหาทางให้พระภิกษุสามเณรเคร่งครัดในความประพฤติปฏิบัติต่างๆ และได้ทรงพระราชทานอุปถัมภ์ บำรุงกิจการพระศาสนาสืบมาโดยลำดับ และพึงสังเกตว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ การเรียน การสอน การสอบพระปริยัติธรรมอาศัยการจำเป็นสำคัญ การสอบก็ใช้วิธีปากเปล่า113

เท่าที่เล่ามาทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าหลายเรื่องไม่เกี่ยวกับการศึกษาโดยตรง ถึงที่เกี่ยวกับการศึกษา ก็เป็นแต่เรื่องการศึกษาของพระสงฆ์ หรือไม่ก็เรื่องในวัง ไม่ใช่เรื่องการศึกษาของประชาชนโดยตรง ทั้งนี้ เพราะหลักฐานบันทึกต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ของเรา เป็นเรื่องเขียนถึงเหตุการณ์บ้านเมืองที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวม คือยึดเอาเหตุการณ์เกี่ยวด้วยองค์พระมหากษัตริย์ เป็นหลัก

อย่างไรก็ดี เรื่องการศึกษาของประชาชน ก็พึงวินิจฉัยเอาได้จากเรื่องที่เล่ามานั้นเอง และอาศัยประสบการณ์ของปราชญ์บางท่านที่ทำบันทึกเรื่องนี้ไว้ ในที่นี้จึงจะได้ทำข้อสันนิษฐานเหตุผล และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้างดังต่อไปนี้:-

ข้อสังเกต และข้อสรุปบางประการ
เกี่ยวกับพระพุทธศาสนากับการศึกษาสมัยเดิมของไทย

๑. การศึกษาของชาติไทยแต่เดิมมา มีศูนย์กลางที่เป็นแหล่งให้การศึกษา ๒ แหล่ง คือ วัด กับ วัง เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่วังจะต้องเป็นศูนย์รวมใหญ่ เพราะเป็นที่รวบรวมผู้ทรงวิชาความรู้ ศิลปิน และช่างฝีมือ เป็นต้น ไว้ใช้ในราชการ แม้แต่วัดใหญ่ๆ ก็เนื่องกับวัง ถึงพระสงฆ์เองที่ศึกษาชั้นสูง ก็มักมีพระบรมราชูปถัมภ์จัดให้เรียนในวังด้วย แต่วังเป็นสถานศึกษาที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง จึงเป็นสถานศึกษาสงวนสำหรับคนจำนวนน้อย

ส่วนวัดเป็นของมีแพร่หลายทั่วไปทุกท้องถิ่น และเป็นสถานที่เปิดทั่วไปสำหรับทุกคน เป็นศูนย์กลางของชุมชนแต่ละท้องถิ่น และถือว่าเป็นสมบัติร่วมกันของคนในถิ่นนั้นๆ ทั้งหมด วัดจึงเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่ประชาชนส่วนใหญ่ ข้อนี้พึงสังเกตได้ว่า แม้ในสมัยต่อมา เมื่อเริ่มจัดการศึกษาอย่างสมัยใหม่ในรัชกาลที่ ๕ (ดูตอน ๒ ว่าด้วยพุทธศาสนากับการศึกษาสมัยใหม่ของไทย) ทางราชการก็ได้ขอร้อง และมอบหมายให้พระสงฆ์เป็นผู้รับผิดชอบช่วยจัดการศึกษาขึ้นในวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในชั้นมูลศึกษา และชั้นประถมศึกษา

๒. ประเพณีสำคัญ ที่ทำให้วัดเป็นแหล่งการศึกษา ก็คือ การบวชเรียน ชาวบ้านถ้าไม่ได้อาศัยประเพณีบวชเรียนแล้ว ก็เห็นจะไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือตลอดชีวิต และในการบวชเรียนนั้น ไม่ใช่ไปวัดก็บวชเลยอย่างที่มักเป็นในปัจจุบัน ต้องไปอยู่วัด เตรียมบวชก่อนระยะหนึ่ง ระยะนี้จึงเป็นระยะของการได้ศึกษาอบรม ทั้งวิชาหนังสือ ธรรมวินัย และการประพฤติปฏิบัติ กิริยา มารยาท การบวชเรียนนี้ อาจสืบทอดมาจากชีวิตวัยต้นที่วัดก่อนแล้วก็ได้ ตอนนี้ขอยกคำของเสฐียรโกเศศ มาเพื่อพิจารณา

“เด็กผู้ชายลูกชาวบ้านถ้าไม่มีเหตุขัดข้องอย่างไร พ่อแม่มักนำไปฝากเป็นลูกศิษย์พระ เพื่อจะได้มีโอกาสเล่าเรียนเขียนอ่านหนังสือ และศึกษาพระธรรมวินัยเบื้องต้นไปในตัว...ส่วนใหญ่ เด็กเหล่านั้นมักมีความรู้เรื่องหนังสือเป็นอย่างงูๆ ปลาๆ เท่านั้น เพราะโอกาสและสิ่งแวดล้อมไม่อำนวย ทั้งความต้องการเรื่องรู้หนังสือให้ซึ้ง ก็ยังไม่มีความจำเป็นแก่คนทั่วไปที่มีชีวิตอยู่ในหมู่บ้านชาวชนบท”

“ลางที่พ่อแม่ติดธุระเรื่องทำมาหากิน ก็นำบุตรชายไปฝากพระตั้งแต่เล็ก พระท่านก็เอาใจใส่เลี้ยงดูให้ ถ้ายังเล็กอยู่ท่านก็ป้อนข้าว อาบน้ำทาขมิ้นให้ เสมอด้วยลูกหลานของท่าน..”

“ครั้นเด็กนั้นเจริญวัยขึ้นแล้ว ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นต้องกลับไปบ้านเพื่อช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ซึ่งเป็นการฝึกฝนวิชาชีพในสกุลของตนไปในตัว ก็บวชเป็นเณรศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้วก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา ถ้าบวชอยู่นานหน่อยต้องช่วยงานของวัด เช่น ซ่อมแซมเสนาสนะของวัดบ้าง การเสมียนบ้าง การหมอบ้าง ทำจนมีความชำนาญ เมื่อสึกออกมาก็กลายเป็นอาชีพติดตัวไปด้วยก็มี ทั้งชาวบ้านก็นิยมชมชอบ”114

นอกจากนี้ การบวชเป็นเครื่องผูกพันชีวิตของชาวไทยไว้กับวัด กับพระพุทธศาสนาและชุมชนของตน เมื่อบวช บุคคลมีโอกาสร่วมในชีวิตสังคมที่กว้างขวางขึ้น ได้อยู่ร่วมกับผู้บวชด้วยกันที่มาจากตระกูลและฐานะต่างๆ กัน ได้เกี่ยวข้องสมาคมกับผู้ที่มาวัด ซึ่งมีฐานะและวัยต่างๆ กับตน ชนชาวไทยทุกระดับ ตั้งแต่เจ้านาย ซึ่งอาจรวมทั้งองค์พระมหากษัตริย์ด้วย ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน คนทุกประเภท มีโอกาสได้ผ่านการศึกษาอบรมอย่างหนึ่งในชีวิตที่เหมือนๆ กัน ทั้งเป็นโอกาสให้เจ้านายและคนชั้นสูง ได้รู้จักชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วๆ ไป อันเป็นประโยชน์ในการบริหารงานเป็นต้นต่อไป นอกจากนี้ความรู้สึกที่ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของวัดของพระศาสนาและสังคมวัฒนธรรมไทยก็เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์

๓. วงจรชีวิตของคนไทยผูกพันอยู่กับวัดโดยปกติอยู่แล้ว “ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและชาววัดเมื่อก่อนนี้ เป็นชีวิตที่แยกกันไม่ออกเพราะพัวพันอยู่อย่างใกล้ชิด ชาวบ้านย่อมพึ่งวัด และวัดก็ต้องพึ่งชาวบ้าน อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งตายเกี่ยวข้องกันอยู่กับวัดตลอดไป”115 นอกจากการอยู่วัดบวชเรียนแล้ว พิธีกรรมต่างๆ การไปร่วมงาน การชุมนุมทำบุญ งานมหรสพ การไปช่วยงานวัด ไปสนทนาปรึกษาหารือ การฟังเทศน์ฟังธรรมของหญิงสาวและคนชรา ตลอดจนการจำศีล เป็นเรื่องของการศึกษาโดยอ้อม โดยเฉพาะเกี่ยวกับชีวิตสังคม มีการศึกษาอบรมกิริยามารยาท เป็นต้น

๔. วัดเป็นแหล่งสร้างสรรค์ รักษา สืบต่อ พัฒนา และถ่ายทอดศิลปวิทยา นอกจากวิชาหนังสือเบื้องต้น วิชาเลข ภาษาบาลี และพระธรรมวินัยแล้ว วัดยังเป็นแหล่งของศิลปวิทยาอื่นๆ ขอยกคำของเสฐียรโกเศศมาลงไว้อีก

“ขึ้นชื่อว่าศิลปวิทยา ย่อมมีบ่อเกิดจากวัดก่อนเพราะพระท่านมีเวลาว่าง...ที่พระท่านใช้เวลาว่าง ไม่ปล่อยเวลาให้หมดเปลืองไปเปล่าๆ ก็เพราะพระธรรมวินัยในพระศาสนานั่นเอง จะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ใช้เวลาว่างอยู่เปล่าๆ เมื่อมีเวลาว่าง ก็ใช้มันให้เกิดประโยชน์ควบกันไป เช่นสอนหนังสือ สอนศีลธรรม จรรยา สอนวิชาเบื้องต้นให้แก่เด็กๆ ลูกชาวบ้าน แม้ลางท่านจะใช้เวลาว่างบ้าง เป็นลางครั้งลางคราว เพื่อความเพลิน ก็เป็นไปในงานอดิเรก ที่อาจเกิดประโยชน์ทางช่างฝีมือขึ้นได้ เพราะฉะนั้น วัดจึงเป็นผู้สร้างศิลปะและเป็นผู้สืบต่อศิลปะ มากกว่าจะเป็นผู้รับ ที่คนแต่ก่อนรักษาและสืบต่อศิลปวิทยาเอาไว้ได้ ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่พระและที่วัด”116

“คราวนี้ให้เราดูวัดในอีกแง่หนึ่ง คือ แง่ศิลปะ เช่น สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ดุริยางคศิลป์ วรรณคดี และนาฏศิลป์ ในสมัยโบราณสิ่งเหล่านี้อาจจะหาดูได้ ก็แต่ที่วัดเป็นส่วนใหญ่ และบ่อเกิดแห่งศิลปะที่ว่านี้ ก็คือมาจากวัด ทั้งโดยตรงและโดยปริยาย ที่ว่าโดยตรงก็เพราะพระท่านมีเวลาเหลืออยู่บ้าง ไม่ต้องกังวลเรื่องทำมาหากิน ท่านก็ฝึกฝนเรื่องช่าง เรื่องศิลปะไปในตัว เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับวัดเป็นข้อใหญ่ ยกเว้นแต่เรื่องดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์ ถึงแม้จะเล่นเองไม่ได้เพราะขัดต่อพระวินัยก็ตาม แต่ลางวัดท่านก็มีเครื่องปี่พาทย์ไว้ สำหรับหัดเด็กให้เป็นในทางนั้น...แต่วิจิตรศิลป์สองสาขานี้ ส่วนใหญ่ก็มักไปเล่นไปแสดงกันที่วัดเป็นพุทธบูชา...ส่วนวรรณคดีนั้นก็มีบ่อเกิดส่วนใหญ่มาจากวัดเหมือนกัน เมื่อว่ากันตามส่วน ผู้ที่รู้หนังสือ แต่งหนังสือดีกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน ก็คือพระนั่นเองเป็นผู้แต่ง หรือไม่ก็มาจากผู้ที่เคยอยู่ที่วัดมาก่อน”

“อีกอย่างหนึ่ง ถ้าพระคิดประดิษฐ์สร้างอะไรขึ้นเป็นงานอดิเรกของท่านเอง เช่น ทำเครื่องใช้ไม้สอยอะไร ก็ทำเพื่อช่วยเหลือ หรือแจกจ่ายให้ปันแก่ญาติโยมของท่าน”

“...สิ่งลางอย่าง พระท่านทำเล่นของท่านในยามว่าง เช่น คิดทำดอกไม้ไฟสำหรับจุดเป็นพุทธบูชาเวลามีงานเป็นต้น”117

“เท่าที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าวัดและพระมีคุณแก่ชาวบ้านสักเพียงไร ถ้าชาวบ้านไม่รู้เรื่องอย่างนี้ ธุระอะไรจะกระตือรือร้นเรื่องสร้างวัด”118

เรื่องพระภิกษุสามเณรรู้วิชาศิลปะ และการช่างต่างๆ นี้ ที่เลยถึงเป็นช่างทองช่างเงินก็มี อย่างหลักฐานปรากฏในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ความตอนหนึ่งว่า

“ให้พระครูทักษิณคณิสร พระครูอุดรคณารักษ์ พระครูอมรวิไชยเจ้าคณะใหญ่วัดพระเชตุพน มีลิขิตประกาศไปทุกพระอารามในกรุงเทพ ฯ และเมืองขึ้น ซึ่งมีรายชื่อในบัญชี พระราชาคณะ พระครู พระฐานา พระเปรียญ เจ้าอธิการ พระสงฆ์อนุจร สามเณรเปรียญอนุจร ซึ่งเป็นช่างทำทองรูปพรรณต่างๆ และเป็นช่างเงิน ช่างหุงทอง ช่างตีเหล็ก มีเตาสูบ ไม่มีเตาสูบ และมีเตาสูบเล่นแร่แปรธาตุปรอท ต้มน้ำร้อน มาส่งเจ้าพนักงานผู้รับสั่งจงละเอียดลออ ให้จดวัสสายุ สังกัดเจ้านาย กับว่าสักแล้วยังไม่ได้สัก ทั้งนายประกันผู้บอกด้วยให้แน่นอนจงทุกกรม กำหนดให้เอาบาญชีมายื่นพระอารามหลวงนั้น กำหนดเอามาส่งให้เสร็จแต่ในวันเดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก... จะได้ทำบาญชีรายชื่อนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองไว้ ถ้าจะทรงสร้างรูปพระปฏิมากรหรือพระเจดีย์เป็นเครื่องทำทอง แลของที่เป็นพระราชกุศลต่างๆ เมื่อใด ก็จะได้นิมนต์พระสงฆ์สามเณรที่เป็นช่างทองมาช่วยทำฉลองพระเดชพระคุณ กับพวกช่างทองหลวง ให้แล้วโดยเร็วทันพระราชประสงค์ เหมือนอย่างพระสงฆ์สามเณรที่เป็นช่างเขียนช่างปั้น นั้นเล่า แต่ก่อนๆ มาก็เคยนิมนต์มาช่วยช่างหลวงเขียนปั้น พระอุโบสถ วิหาร แล้วมาเป็นหลายพระอารามหลวง จนบาญชีรายชื่อพระช่าง ก็ยังปรากฏมาเท่าทุกวันนี้ นั้นฉันใด พระสงฆ์สามเณรที่เป็นช่างทองนั้นก็จะได้มีบาญชีรายชื่อตำบลวัด และสังกัดเจ้านายให้แน่นอนไว้ในกรมพระธรรมการให้เหมือนกัน อนึ่ง หมายฉบับใหญ่ที่จะว่าให้ละเอียดนั้น เจ้าพนักงานเรียงเสร็จแล้ว จะให้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเมื่อใด จึงจะได้เอาคำประกาศหมายมาให้ทราบต่อครั้งหลัง อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง หมายมา ณ วันศุกร์ เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก”119

ไม่เฉพาะตัวบุคคลในวัดคือพระสงฆ์เท่านั้น ที่เป็นผู้สืบต่อศิลปวิทยาที่กล่าวมา แม้ตัวสถานที่คือตัววัดเอง อันประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง และศิลปวัตถุต่างๆ ก็เป็นอุปกรณ์การศึกษา และเป็นที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และวิทยาการต่างๆ ตลอดจนเป็นพิพิธภัณฑ์รักษาวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งจะให้การศึกษาแก่ผู้คนไปอีกเป็นเวลานาน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ตำรา จารึกต่างๆ ในวัดพระเชตุพน ฯ (วัดโพธิ์) ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตและนายช่างต่างๆ ที่มีความรู้ความชำนาญแต่ละสาขาวิชา จัดทำตำราจารึกไว้ในแผ่นศิลามาประดับไว้ โดยทรงพระราชดำริที่จะให้วัดพระเชตุพน ฯ เป็นสถานที่สำหรับมหาชนได้ศึกษาหาความรู้ เพราะสมัยนั้น การพิมพ์หนังสือให้แพร่หลายยังไม่มี คนที่มีตำรับตำราก็มักจะหวงแหนไม่ยอมเปิดเผย วิชาต่างๆ ที่ จารึกไว้นั้นมีมากมาย มีทั้งอักษรศาสตร์ วิชาฉันทลักษณ์ วิชาแพทย์ ตำรายาต่างๆ วิชาช่างเขียนภาพ เขียนลาย ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างประดับ นิทานสุภาษิต ขนบธรรมเนียมโบราณ ฯลฯ จนวัดโพธิ์ได้สมญาว่าเป็นวัดมหาวิทยาลัย120

๕. การเรียนการสอนในสมัยก่อน ที่จะมีเป็นแบบเป็นแผน เช่น เป็นโรง เป็นชั้นเรียน มีกำหนดเวลาแน่นอนตายตัว เป็นต้น อย่างโรงเรียนในความหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้าจะมีก็คงเฉพาะในวังหรือในวัดใหญ่ๆ เท่านั้น ซึ่งก็ไม่แน่ใจนักด้วย ส่วนมากหรือกล่าวได้เป็นกลางๆ ทั่วไปก็ว่า เป็นการเรียน การสอนอย่างไม่เป็นแบบแผนระบบการ (informal) ขึ้นต่อตัวครูผู้สอน และตามแต่สถานที่สิ่งแวดล้อมอำนวย คือ เด็กหรือผู้เรียนมาอยู่รับใช้เล่าเรียนศึกษาอยู่ด้วย ครูอาจารย์ก็ถ่ายทอดความรู้ให้ไปโดยตั้งใจเป็นงานเป็นการบ้าง ไม่ตั้งใจเลยบ้าง อย่างที่ว่า

“ถ้าว่าโดยสามัญ เด็กๆ ลูกชาวบ้าน เมื่อเรียนอ่านตัวพยัญชนะและแจกลูกถึงแม่เกยแล้ว อาจารย์ก็ให้อ่านหนังสือ เช่น เรื่องพระมาลัย ยังไม่ทันไร ก็ต้องลาพระอาจารย์กลับไปอยู่บ้าน เพื่อช่วยพ่อแม่ทำไร่ ทำนา หรืออาชีพอื่นที่พ่อแม่ทำอยู่ ถ้าพ่อแม่มีกำลังอยู่บ้างก็ให้ลูกเรียนต่อ คราวนี้เป็นเรียนหนังสือขอม จนอายุครบบวชเณรก็บรรพชาเป็นเณรเรียนพระธรรมวินัยต่อไป ในตอนนี้ อาจได้มีโอกาสเรียนเลขธรรมดาหรือหารเลขที่ใช้อยู่ในวิชาโหราศาสตร์ และเรียนเขียนหมายบอกเงินตราเครื่องหมาย บอกขึ้นแรม ตลอดจนเรียนแต่งกลอน หรือเรียนภาษาบาลี แต่ทั้งนี้เป็นไปตามใจสมัคร จะเรียนได้ยิ่งหย่อนอย่างไร ก็แล้วแต่ความรู้ของอาจารย์ หรือถ้าไม่สมัคร เพราะต้องการจะเรียนวิชาชีพเป็นเฉพาะ เช่น โหราศาสตร์ คณิตศาสตร์ แพทย์ ช่าง วาดเขียน หรือช่างอื่นๆ ก็ต้องขวนขวายไปสืบหาอาจารย์เรียน เป็นพิเศษ อาจารย์ที่ว่านี้อาจเป็นสงฆ์อยู่ในวัดเดียวกัน หรือต่างวัดก็ได้...”

“การเรียนวิชาชีพดังกล่าวมาข้างต้นนี้ ถ้าพ่อแม่ต้องการจะให้ลูกได้ศึกษาวิชาไรเป็นเฉพาะ ก็นำไปฝากพระสงฆ์ที่ท่านทรงความรู้ในวิชานั้น เมื่อพระผู้เป็นอาจารย์ทำงานอะไร ก็รับใช้ท่านหรือติดสอยห้อยตามท่านไป โดยมากพระที่มีวิชาความรู้ ชาวบ้านมักวานให้ทำโน่นทำนี่เสมอไม่ใคร่ขาด เป็นโอกาสให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้และจดจำไว้ เมื่อมีเวลาว่าง อาจารย์ท่านก็แนะ หรือบอกให้บ้างเป็นลำดับไป ใครมีปัญญาไวและเอาใจใส่ก็เรียนได้เร็ว เป็นเรียนไปทำไปในตัว เมื่อมีความรู้ขึ้นบ้าง ถ้าชาวบ้านมาไหว้วานอาจารย์ทำโน่นทำนี่ อาจารย์เห็นว่าศิษย์คนไหนมีความรู้พอจะทำได้ ท่านก็ให้ศิษย์คนนั้นไปทำแทน เท่ากับฝึกหัดปฏิบัติงานในวิชาที่เรียนไปในตัว”121

แม้การเรียนแบบต่อหนังสือ จะมีกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ กำหนดเวลาเรียน และระเบียบพิธีบางอย่างพอจะเรียกว่าเป็นระเบียบได้บ้าง แต่ก็เป็นไปตามประเพณีนิยมเป็นสำคัญ หาใช่มีระบบการที่กำหนดวางโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ หรือหลักการอันใดอันหนึ่งเป็นเกณฑ์อันชัดเจนไม่122 ถึงการเรียนของเด็กที่บ้านไม่ว่าหญิงว่าชาย ก็เป็นการฝึกหัดเรียนงานไปตามอาชีพของตน โดยหัดทำไป รู้และเป็นไปเอง123

อย่างไรก็ดี วิธีเรียนแบบนี้ (หมายถึงอย่างที่ทำที่วัดแต่เดิม) ก็ยังมีวิธีปฏิบัติจัดเข้าในระบบอันเตวาสิกได้อยู่ ในข้อที่ศิษย์มาอยู่รับใช้ปฏิบัติอาจารย์โดยใกล้ชิด ซึ่งได้ผลดีในความเคารพรักระหว่างอาจารย์กับศิษย์ และการฝึกอบรมความประพฤติ ตลอดจนกิริยามารยาทต่างๆ

แน่นอนว่าผลการจัดการศึกษา เท่าที่เป็นมาอย่างเดิมนี้ ย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจของบุคคลเป็นอันมาก ผู้มองเทียบผลในด้านความพัฒนาเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ในสังคมของตนกับสังคมอื่นในปัจจุบัน และอาจยกเป็นข้อถามขึ้นได้ต่างๆ เป็นต้นว่า เหตุไรพระพุทธศาสนาจึงไม่ช่วยการศึกษาในอดีตของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า มีสถาบันใหญ่โตอย่างมหาวิทยาลัยนาลันทา และมหาวิทยาลัยในยุโรป เหตุไรจึงไม่ช่วยให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าด้วยวิชาการต่างๆ อย่างโลกตะวันตก ดังนี้เป็นต้น ในที่นี้จะขอเสนอเหตุผล และข้อคิดเห็นบางประการไว้เพื่อประกอบการพิจารณาสำหรับผู้ถามปัญหาเช่นนั้น

๑. สภาพความเป็นอยู่ของประชาชน อันสัมพันธ์กับความหนาแน่นของประชากร ความอุดมสมบูรณ์และการดิ้นรนแข่งขันในการหาเลี้ยงชีพ เมื่อเทียบกันแล้วในอดีตสมัยเดียวกัน ยุโรปมีประชากรหนาแน่นกว่ามากมาย สภาพความเป็นอยู่ทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์น้อยกว่าและมีความบีบคั้นเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศมากกว่า ต้องดิ้นรนต่อสู้ ทั้งแข่งขันกันในหมู่ผู้คนด้วยกัน และดิ้นรนต่อสู้กับธรรมชาติ ความจำเป็นย่อมเป็นเหตุให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น อีกประการหนึ่ง จำนวนผู้คนที่มีมาก ทำให้ประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในทางอุตสาหกรรม หัตถกรรม ซื้อขายแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นได้ ส่วนในประเทศไทย ประชาชนอยู่กันไม่หนาแน่น พื้นแผ่นดินพืชพันธ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องดิ้นรนแข่งขันกัน มีความพึงพอใจในความเป็นอยู่ และตีความคำสอนในศาสนาให้เข้ากับความต้องการของตนได้124 และในด้านความหนาแน่นของประชากร เมื่อมีผู้คนน้อย งานต่างๆ เช่น การช่าง การหัตถกรรมต่างๆ ทำขึ้นมาก็ให้ถึงขั้นเป็นอาชีพไม่ได้ เพราะไม่มีจำนวนงานเพียงพอ ที่ศิลปวิทยารักษาอยู่ได้ก็เพราะพระมีเวลาว่าง และสืบต่อศิลปวิทยาไว้ด้วยใจรักอย่างที่ว่า

“ตามปกติหมู่บ้านที่ยังไม่เจริญ ซึ่งต้องพึ่งตนเองตามสภาพแห่งความเป็นอยู่ เรื่องที่จะมีผู้ประกอบอาชีพที่ได้ไปเรียนมาให้เป็นล่ำเป็นสันในท้องถิ่นจึงไม่มี เพราะจะหากินในอาชีพที่เรียนรู้มาอย่างเดียว ก็ไม่พอเลี้ยงตัว งานการอะไรที่ทำเองไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ ก็ต้องขอแรงกัน ได้แต่ค่ากำนลบูชาครูบ้างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างเขียน ช่างปูน ช่างทำกระเบื้อง หมอผี หมอยา จึงอยู่ที่วัด และงานช่างเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องสร้างวัดมากกว่าอื่น”

“ต่อมาเมื่อหมู่บ้านเจริญขึ้นแล้ว จึงจะมีผู้ประกอบอาชีพอย่างอื่น นอกจากการทำไร่ไถนา เป็นล่ำเป็นสันขึ้นได้ ถ้าเป็นผู้มีฝีมือดี งานการที่ทำก็เจริญ มีคนมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ขอเรียน ขอฝึกหัดในวิชาชีพนั้นๆ ผู้ที่มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ก็เป็นทำนองเดียวกับลูกศิษย์พระ คือไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนอะไร ซ้ำตามปกติกินอยู่กับครูเสียด้วย โดยไม่ต้องเสียค่ากินอยู่อะไร การเรียนก็เป็นอย่างเดียวกับที่วัด จะต่างกันบ้างก็ที่ฝ่ายหนึ่งเป็นชีวิตของชาวบ้าน และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชีวิตของชาววัดเท่านั้น... แต่ตามปกติ การหากินในวิชาช่างโดยเฉพาะอย่างนี้ มักตั้งทำรวมอยู่ในที่แห่งเดียวกัน เพราะสะดวกแก่ผู้มาว่าจ้าง... เกิดเป็นบ้านมีชื่อเรียกไปตามอาชีพ ที่คนในถิ่นนั้นประกอบกันอยู่ เป็นบ้านหม้อ บ้านดอกไม้ บ้านบาตร บ้านพานถม บ้านหล่อ บ้านบุ เป็นต้น”125

แม้วิชาหนังสือเอง ก็ไม่มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้ต้องเรียน ถ้าไม่มีการบวชเรียน การรู้หนังสือจะยิ่งลดน้อย อย่างที่ว่า “เด็กชายลูกชาวบ้านซึ่งมีโอกาสได้เรียนหนังสือที่วัด โดยมากรู้หนังสือเพียงอ่านออกเขียนได้อย่างงูๆ ปลาๆ เท่านั้น... ก็เป็นไปตามความรู้ของพระผู้เป็นอาจารย์และพื้นปัญญาของเด็ก หรือไม่ก็เป็นเพราะเห็นว่ารู้หนังสือแล้ว ไม่รู้จะเอาไปใช้อะไร”126

โดยเหตุนี้ ถ้าไม่ใช่จะเรียนบาลี วรรณคดีศาสนาหรือไปรับราชการที่เกี่ยวกับหนังสือในวังแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะนำไปใช้อะไร เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มการศึกษาแบบใหม่ ขยายการศึกษา ชักชวนราษฎรให้เล่าเรียนหนังสือ ประชาชนยังรู้สึกไปในทำนองจะเอาของอะไรที่เขาไม่จำเป็นต้องใช้ไปยัดเยียดให้เขาด้วยซ้ำ ที่ถึงกับต้องบำรุง คล้ายจ้างเรียนก็มี ผิดกับสมัยนี้ ที่เหตุจำเป็นในการดิ้นรนเลี้ยงชีวิต ทำให้มีแต่ต้องวิ่งแข่งกันหาที่เรียน แม้ในสมัยใกล้ๆ นี้เอง ในชนบทเด็กเรียนหนังสือจบโรงเรียนประชาบาลแล้ว ก็ไม่รู้จะเอาความรู้นั้นไปใช้อะไร ไปประกอบอาชีพทำไร่ไถนา ไม่มีโอกาสใช้หนังสือ นานๆ เข้าก็ลืมหมด แต่การบวชเป็นเหตุบีบบังคับอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บวชได้ใช้หนังสืออีก ได้ทบทวน และเพิ่มพูนความรู้ความจัดเจนในภาษา เช่น การที่จะต้องท่องหนังสือสวดมนต์ ต้องแสดงธรรมให้หมู่ญาติ และประชาชนฟัง การบวชจึงเป็นสิ่งบังคับอย่างหนึ่งให้เรียนรู้และทบทวนความรู้หนังสือ มิฉะนั้น ชาวบ้านจะไม่เอาใจใส่เรื่องหนังสือเลย

๒. โอกาสในการถ่ายเท ถ่ายทอด และกระตุ้นให้เกิดความคิดแปลกใหม่ในระหว่างต่างชนชาติ ต่างอารยธรรม และต่างวัฒนธรรม พร้อมทั้งศูนย์รวมอำนาจขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยทำหน้าที่เก็บรวบรวมรักษาและเผยแพร่วิทยาการนั้นๆ ชนชาติในฝ่ายตะวันตกที่มีมากมายหลายชนชาติ มีขอบเขตความเกี่ยวข้องกันอย่างกว้างขวาง และประสบภัยรุกรานจากชนชาติที่มีอารยธรรมวัฒนธรรมต่างกันมาก จากดินแดนไกลๆ ทำให้เกิดการถ่ายเท ถ่ายทอดความรู้ความคิดต่างๆ และกระตุ้นให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ และการดิ้นรนต่อสู้ปรับปรุงตนเองมาก และในทุกยุคจะมีศูนย์รวมอำนาจแห่งใหญ่ๆ เช่น กรีก โรมัน คริสตจักร เป็นต้น เป็นแหล่งรวบรวมสิ่งสร้างสรรค์ศิลปวิทยาต่างๆ และเป็นแหล่งเผยแพร่ความเจริญก้าวหน้าเหล่านั้น ส่วนในทางตะวันออกก็เช่นเดียวกัน จะเห็นว่ายุคที่วิทยาการเจริญรุ่งเรืองนั้น ก็มีศูนย์รวมอำนาจขนาดใหญ่ ที่รวบรวมศิลปวิทยาการ ช่วยเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนความคิดใหม่ๆ กว้างขวางออกไปในชนชาติใกล้เคียง แต่ในระยะหลังสภาพเช่นนี้ไม่มี และการติดต่อกันไม่มีในปริมาณมากพอ ประเทศไทยกับชนชาติใกล้เคียง มีการติดต่อเกี่ยวข้องและรบราฆ่าฟันทำสงครามระหว่างกัน ก็เป็นไปในหมู่ชนชาติที่มีวัฒนธรรมเหมือนๆ กัน จึงแทบไม่ทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นได้เลย กลับทำให้เสียหายและหยุดชะงักความเจริญไปด้วยซ้ำ

๓. ขาดระบบการบริหารการศึกษา ในอดีต การบริหารการคณะสงฆ์คงจะได้มุ่งเน้นไปในด้านการปกครองเป็นสำคัญ ส่วนในด้านการศึกษานั้น มิได้จัดวางแผนและระบบการบริหารไว้เป็นโครงรูปที่แน่นอน ซึ่งอาจเป็นด้วยถือว่าองค์พระมหากษัตริย์ได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงจัดให้ในวังเห็นว่าเป็นการสูงสุดแล้ว และอาจเป็นด้วยถือว่า เป็นเรื่องของแต่ละวัด แต่ละสำนัก ที่จะรับผิดชอบจัดการเป็นงานภายใน คือเป็นระบบสำนัก เมื่อขาดระบบการบริหารเป็นลำดับชั้น ก็ไม่มีศูนย์รวมที่จะคอยตรวจตราดูแล รักษาและปรับปรุงมาตรฐานการศึกษา หรือรวบรวมผลงาน และจัดสรรกำลังงานทางด้านการศึกษา การศึกษาแต่ละวัดแต่ละสำนัก ย่อมเจริญขึ้น เสื่อมลงหรือสูญหายไปตามตัวบุคคล แม้วิชาการต่างๆ ที่เกิดมีผู้คิดค้นได้ ก็มักสูญหาย หรือไม่แพร่หลายตามสมควร ทั้งไม่มีการควบคุมคุณภาพครูผู้สอนด้วย

๔. ข้อที่สัมพันธ์และสืบเนื่องมาจากข้อ ๓ อย่างหนึ่ง คือ เรื่องคุณภาพของผู้สอนที่ไม่มีระบบการควบคุม และไม่มีระบบการฝึกสร้าง เมื่อครูมีคุณภาพไม่สูง จะหวังให้การศึกษามีคุณภาพดีได้ยาก จะเห็นว่าในชนบทหาพระที่มีความรู้พอสอนก็หายาก

“ชีวิตชาวชนบท...ว่าถึงการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเรียนหนังสือ ก็ยังไม่มีกันแพร่หลาย เพราะฉะนั้น ชาวบ้านจึงเป็นผู้ไม่รู้จักหนังสือ จะมีผู้รู้อยู่บ้าง ก็คือพระสงฆ์ แต่ก็ไม่ทั่วไป คงมีที่รู้แต่บางองค์เท่านั้น แม้กระนั้นหนังสือสำหรับพระที่ไม่ได้เป็นมหาเปรียญ ที่พอจะหาดูได้ ก็มีแต่หนังสือมหาขันธ์ บุพพสิกขา และวินัยแปล และก็ไม่ใคร่มีทั่วไปทุกวัด บางคราวเกิดขัดข้องทางวินัย ก็ต้องรอคอยพระผู้ใหญ่ที่ออกไปจากกรุงเทพ ฯ และใช่ว่าท่านจะออกไปบ่อยๆ เมื่อไร ท่านจะออกไปก็เมื่อมีกิจจำเป็น เช่น ฤดูอุปสมบท ฉะนั้น เมื่อใกล้ฤดูงานอุปสมบท ก็ต้องคอยสืบข่าวว่าที่วัดไหนมีบวชกันบ้าง ครั้นถึงกำหนดก็ไปพร้อมกัน ที่ไปเองไม่ได้ก็ให้พระลูกวัดไปแทน เมื่อได้รับคำชี้แจงจนเป็นที่เข้าใจดีแล้ว เจ้าอาวาสก็นำมาถ่ายทอดและสั่งสอนให้ลูกวัดฟังอีกทีหนึ่ง”127

๕. เหตุประกอบอย่างอื่น อาจมีอีกหลายประการ เช่น บางที่จะไม่ได้ปฏิบัติตามระบบการถือนิสัยอันเตวาสิกกันถูกต้อง ตามความหมายที่แท้จริง การถือความศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับภาษาที่ใช้ เช่น ต้องใช้อักษรขอมเขียนบาลี ก็อาจเป็นอุปสรรคหนึ่งในการเผยแพร่การศึกษา ดังนี้เป็นต้น แต่ข้อสำคัญคงจะได้แก่การไม่มีเหตุบีบบังคับให้ต้องดิ้นรนแสวงหา และไม่มีการกระทบกระทั่งจากภายนอกที่จะกระตุ้นให้เร่งรัดตัวเกิดความคิดใหม่ๆ

การศึกษาส่วนอดีตในประเทศไทย เท่าที่กล่าวมา ถือว่าเป็นอันจบตอนที่ ๑ คือ ที่ว่าด้วยการศึกษาแบบเดิม ส่วนตอนที่ ๒ ที่ว่าด้วยการศึกษาแบบสมัยใหม่ ถือว่าเริ่มแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา เป็นตอนที่มีเรื่องราวมาก เพราะเป็นอดีตส่วนใกล้ และเป็นระยะที่มีการปรับปรุงการศึกษาเป็นการใหญ่ เป็นอันสุดวิสัยจะเล่าให้จบในคราวนี้ได้ เพราะเป็นการจวนเจียนเกินไป จึงยุติไว้แต่เพียงตอนที่ ๑ เท่านี้

อย่างไรก็ดี น่าจะได้คติอย่างหนึ่งจากการศึกษาเรื่องอดีตว่า การที่จะสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าขึ้นนั้น ย่อมหมายถึง สร้างให้แก่ตน หรือสร้างตนนั่นเองขึ้นไป การที่จะสร้างให้แก่ตน หรือสร้างตนขึ้นได้ ก็ต้องรู้พื้นเพของตนก่อนว่า มีอะไรมากอะไรน้อยและขาดแคลนอะไร จะได้แก้ไขต่อเติมได้ถูกต้อง แม้ของใหม่ที่จะต่อเติมนั้น ก็จะต้องทำให้เป็นของตนเองเสียก่อน จึงจะผสมผสานเข้ากันได้ อีกอย่างหนึ่ง จะต้องรู้ฐานว่าตนดำรงอยู่ที่ใดอย่างไร แล้วก่อตนเพิ่มพูนขึ้นไปจากฐานนั้นให้ถูกรูปถูกร่างกัน คือ ต้องมีหลัก มีรูป มีแนวของตนเอง จากภาพในอดีตจะเห็นว่า อารยธรรมใดที่ดีเด่นขึ้นได้นั้น ก็ด้วยอาศัยแรงกระทบกระเทือนภายนอกมาเป็นเหตุสร้างพลังเพิ่มพูนขึ้นในตน คือต้องพยายามดำรงตน รักษาและดัดแปลงคุณค่าต่างๆ เชิดชูตนขึ้นไป ในท่ามกลางความประสานและความขัดแย้งกับอารยธรรมอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น หากไม่มีหลักของตน เห็นเขาเจริญก้าวหน้า คิดจะตามเขาไป ก็จะต้องเป็นผู้ตามอยู่ร่ำไป ไม่มีที่สิ้นสุด และหมดตนในที่สุดด้วย

อนุโมทนา

พ.ท. ทองขาว พ่วงรอดพันธุ์ นายกสมาคมศิษย์เก่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในนามของสมาคมฯ ได้มีกุศลฉันทะ แจ้งความประสงค์ที่จะพิมพ์หนังสือ เรื่อง “พระพุทธศาสนากับการศึกษาในอดีต” เพื่อเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป อาตมภาพขออนุโมทนา และยินดีอนุญาตด้วยความเต็มใจ

หนังสือเรื่อง “พระพุทธศาสนากับการศึกษาในอดีต” นี้ เดิมเป็นคำบรรยายในการประชุมทางวิชาการ เรื่อง พระพุทธศาสนากับการศึกษาในประเทศไทย ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ ในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๑๓ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้พิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่ในวงจำกัดสำหรับผู้ควรสนใจ ครั้งแรกและครั้งที่สอง ใน พ.ศ. ๒๕๑๓ และ พ.ศ. ๒๕๑๙ ตามลำดับ ต่อมา เมื่อสำนักพิมพ์เคล็ดไทย ขออนุญาตรวมบทความของอาตมภาพ พิมพ์ในชื่อว่า “ปรัชญาการศึกษาไทย” ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ก็ได้นำคำบรรยายเรื่องนี้ไปรวมไว้ด้วย โดยจัดเป็นภาคผนวกของหนังสือดังกล่าว การจัดพิมพ์ของสมาคมศิษย์เก่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่คำบรรยายเรื่อง “พระพุทธศาสนากับการศึกษาในอดีต” จะได้รับการเผยแพร่เฉพาะเรื่องอย่างกว้างขวาง

ขออนุโมทนากุศลฉันทะของสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นเผยแพร่ อันเป็นที่หวังว่า จักอำนวยประโยชน์ทางการศึกษา และช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในฐานะสถาบันการศึกษาและสถาบันสังคมของไทย สมตามวัตถุประสงค์ ในการสร้างงานทางวิชาการ และการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นสืบไป

พระเทพเวที
๑ มิถุนายน ๒๕๓๓

1S.B.E, vol. 2, p. 236.
2มนูธรรมศาสตร์ ๔/๙๙ ; S.B.E., Vol. 25, p. 144.
3จิตตสัมภูตชาดก, ชา.อ. ๗/๒๑.
4ที.ปา. ๑๑/๕๑-๗๒/๘๘-๑๐๗. ม.ม. ๑๓/๔๖๔/๔๒๙; ๖๑๕/๕๖o; ๗๐๗/๖๔๓. ม.อุ. ๑๔/๒๓๓/๑๖๕. สํ.นิ. ๑๖/๗๒๔/๓๓๑. ฯลฯ
5ม.มู. ๑๒/๔๘๒/๕๑๗. ม.ม. ๑๓/๕๗๘/๕๒๒. องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๗๙/๒๓๙. ฯลฯ
6ขุ.สุ. ๒๕/๓๘๒/๔๕๑-๔๕๘. ขุ.อิติ. ๒๕/๒๘๔/๓๑๒. ขุ.สุ. ๒๕/๓๗o/๔๓๔. ขุ.ธ. ๒๕/๒๙/๕๑. วินย. ๕/๒๑/๓๔. ฯลฯ
7องฺ.อฏฐก. ๒๓/๑๐๙/๒๐๕.
8ที.ปา. ๑๑/๗๑/๑๐๗.
9หลักการเหล่านี้เรียกอย่างสมัยใหม่ ก็คือ สมภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพนั่นเอง; หลักสมภาพพึงเห็นได้จากเรื่องความไม่มีวรรณะที่กล่าวแล้ว และในเรื่องสังฆกรรมตามความหมายที่แท้ทุกอย่าง, เสรีภาพ พึงเห็นได้จากสังฆกรรมเหล่านั้น และกาลามสูตร (๒๐/๕๐๕/๒๔๓) เป็นต้น, ภราดรภาพ พึ่งเห็นได้จากวินัยบัญญัติต่างๆ ในขันธกะทั้งหลาย จากสาราณียธรรม (เช่น ๒๒/๒๘๒-๓/๓๒๑-๒; ๑๐/๗๕/๙๔) และจากข้อความในคัมภีร์แห่งต่างๆ อันแสดงถึงสภาพความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ เช่น ในธรรมเจติยสูตร (๑๓/๕๖๓/๕๐๙) เป็นต้น.
10ที่มีผู้กล่าวว่า พระพุทธศาสนาถือว่า สมุทัย คือ ตัณหา เป็นเหตุแห่งทุกข์ จึงสอนให้บุคคลกำจัดทุกข์ ด้วยการกดและข่มตัณหาของตนนั้น แสดงถึงความเข้าใจ พุทธศาสนาอย่างผิวเผินผิดพลาด รู้ไม่ตลอดกระบวนความ ว่าตามหลักตัณหาเป็น เหตุให้เกิดทุกข์ การกำจัดตัณหา ซึ่งหมายถึงการกำจัดทุกข์ด้วย ทำได้โดยกำจัด อวิชชาที่เป็นต้นตอของตัณหานั้น ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นการขัดเกลาหรือลด ทอนตัณหานั้น เป็นเพียงวิธีการสร้างสภาพที่ช่วยให้พร้อมหรืออำนวยต่อการสร้าง วิชชา และกำจัดอวิชชาเท่านั้น โดยนัยนี้ จะเห็นความหมาย ๓ แง่ คือ ในระบบ การต่างๆ ที่จะสร้างวิชชา หรือกำจัดอวิชชานั้น ย่อมจะมีการควบคุมขัดเกลา หรือ กำจัดตัณหาอยู่ด้วยตามส่วน ๑ การหมดทุกข์ที่แท้จริงนั้น ทำไม่ได้ด้วยการ ข่มตัณหา แต่ต้องสำเร็จด้วยการกำจัดอวิชชา ๑ และการกดหรือข่มตัณหานั้น ถ้าไม่มีจดหมายที่จะดำเนินการต่อไปถึงขั้นกำจัดอวิชชาด้วยแล้ว จะกลับเป็นผลเสียหาย ซึ่งอาจร้ายแรงก็ได้ ๑
11ขุ. อิติ. ๒๕/๑๙๔/๒๓๖. เทียบ สํ.ม. ๑๙/๕๑๘/๑๔๑.
12ขุ. อิติ. ๒๕/๑๙๕/๒๓๗. เทียบ สํ.ม. ๑๙/๕๒๐/๑๔๒.
13สํ.ม. ๑๙/๑๒๙/๓๖.
14สํ.ม. ๑๙/๕-๑๑/๒-๕.
15ดู วิสุทธิมัคค์ ๑/๑๒๓-๑๒๕.
16องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๓๓/๑๘๓. วินย. ๔/๙/๑๑.
17วิสุทธิ ๑/๑๒๗.
18องฺ. ทสก. ๒๔/๒๑-๒๒/๓๔-๔๑.
19วิสุทธิมัคค์ ๑/๑๖๑.
20ขุ.ขุ. ๒๕/๖/๓.
21ดู องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๒๒/๒๘; ๑๖๐/๑๙๘. องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๘๗/๑๒๙, ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๖๔; ๔๓๘/๓๑๒. ขุ.ธ. ๒๕/๒๕/๔๒. ขุ.อิติ. ๒๕/๒๖๓/๒๙๒. อง. จตุกฺก. ๒๑/๒๐๒/๒๙๙.
22ดู วินย. ๖/๖๗๕/๓๕๓. วินย. ๔/๑๙๐/๒๔๙. วินย. ๗/๖๔๑/๔๐๖.
23นี้กล่าวตามระบบการเดิมตามพุทธบัญญัติ ส่วนในปัจจุบัน บทบัญญัติเหล่านี้มักเหลืออยู่เพียงในรูปพิธีการเท่านั้น
24ดู ม.อุ. ๑๔/๒๙๒/๒๐๓; ๓๕๗/๒๔๖; /๕๓๕/๓๕๒. สํ.นิ. ๑๖/๗๐๖/๓๒๕.
25ดู ขุ.ขุ. ๒๕/๖/๔ เป็นต้น
26ดู R.K. Mookerjee, Ancient Indian Education (1951), pp. 459-460.
27วินย. ๔/๓๒/๓๙
28ดู ที.ปา. ๑๑/๑๙๙-๒๐๐/๒๐๓-๒๐๔.
29ที.ม. ๑๐/๙๕/๑๒๒; ๑๐๒/๑๓๒. สํ.ม. ๑๙/๑๑๒๙/๓๓๔. องฺ.อฏฐก. ๒๓/๑๖๗/๓๑๘. ขุ.อุ. ๒๕/๑๓๐/๑๗๒.
30ที.ปา. ๑๑/๑๐๓/๑๓๕.
31ดู S. Dutt, Buddhist Monks and Monasteries of India (1962), pp.206-210.
32R.K. Mookerjee อ้าง D.B. Spooner in A.S. Report, 1915-16, Eastern Circle, p. 35.
33 S. Dutt อ้าง Elliot and Dawson's History of India as Told by Its Own Historians (1869), Vol. II, p. 306.
34 S. Dutt อ้าง Biography of Dharmasvami, p. 64.
35พระเจ้ากุบไลข่าน (พ.ศ. ๑๘๐๓-๑๘๓๗) เคยหาพระสงฆ์อินเดีย เพื่อไปแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษามงโกเลีย แต่หาไม่ได้เลยแม้แต่รูปเดียว
36เรื่องที่เล่ามาเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาทั้งหมดนี้ให้ดู S. Dut, Buddhist Monks and Monasteries of India (1962), pp. 206-210, 224-232 319-380. และ R.K. Mookerjee, Ancient Indian Education (1957), pp. 55 สำหรับจดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจัง หรือพระถังซัมจัง ซึ่งมีเรื่องราว เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเหล่านี้อยู่บ้าง อาจหาอ่านในพากย์ภาษาไทยได้บางส่วน เพราะเคยมีผู้แปลประวัติพระถังซัมจั๋งไว้บ้างแล้ว เท่าที่ทราบ คือเรื่อง “พระตรีปิฎก” แปลโดย ส. ศิวรักษ์ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระภัทรมุนี (วัดทองนพคุณ) พ.ศ. ๒๕๐๕ (๔๖ หน้า)
37หมายถึงมหาวิทยาลัย “โอทันตปุรมหาวิหาร” คำว่า “วิหาร” เป็นที่มาของคำว่า “พิหาร” อันเป็นชื่อของเมืองและรัฐนี้
38“Patna”, Encyclopaedia Britannica (1965), XVII, 383.
39หลักฐานหลายแห่งกล่าวถึงหอสูงแห่งหนึ่งของวัดว่าสูงกว่า ๓๐๐ ฟุต
40Max Savelle, A History of World Civilization (1957), Vol. 1, p. 331.
41ตักกสิลาก็ดี พาราณสีก็ดี เป็นสถานที่เล่าเรียนตามระบบของพราหมณ์ คือ เป็นระบบการศึกษาในครัวเรือนดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ความหมายในที่นี้ จึงเป็น เพียงเมืองหรือถิ่นที่ครูอาจารย์มาตั้งบ้านเรือนอยู่กันมากแล้วต่างคนต่างก็สอน กันไป ไม่มีความหมายเป็นระบบการศึกษาแบบมหาวิทยาลัยที่แท้จริง
42T.H.C., "Education, History of;" Encyclopaedia Britannica (1965), VII, 1010.
43TW. Wallbank and A.M. Taylor, pp. 273-274.
44ประเพณีนิยมของอินเดียสมัยต่อมา ที่ให้ผู้หญิงแต่งงานแต่เด็กนี้ อาจเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ภิกษุณีสงฆ์สูญสิ้นไป
45หมายถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๑๘ ๒๕๕)
46คือ ปลายยุคมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ถึง ประมาณ พ.ศ. ๒๐๐๐
47 TH.C., p. 10 10.
48แม้ว่าในประวัติศาสตร์ จะปรากฏเรื่องราวว่า คณะสงฆ์จัดการศึกษาอบรมให้แก่คฤหัสถ์อยู่บ่อยครั้ง แต่ตามหลักการแท้จริงแล้วพุทธศาสนาไม่มีนโยบาย เข้าไปผูกขาดการศึกษาของคฤหัสถ์ มีแต่สอนคฤหัสถ์ เช่น บิดามารดา ให้รับ ผิดชอบในการให้บุตรได้รับการศึกษา จึงเป็นภาระของคฤหัสถ์ มีรัฐเป็นต้น ที่จะ ต้ยงจัดการศึกษาฝ่ายโลกกันเอง ซึ่งพระพุทธศาสนาก็ส่งเสริมอย่างแท้จริง แต่ ภารกิจโดยตรงในทางการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็คือการให้การศึกษาแก่พระสงฆ์ ส่วนการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องในการศึกษาของคฤหัสถ์ (นอกเหนือจากการสอน ทางธรรม) หรือไม่เพียงไร ย่อมเป็นไปตามความเหมาะสมของกาลสมัย เป็นต้น อันเป็นลักษณะยืดหยุ่นของพระพุทธศาสนา
49วินย. ๗/๑๘๑/๗๑, พระอรรถกถาจารย์อธิบายความตอนนี้ ว่า สกาย นิรุตฺติยา หมายถึง ภาษามคธ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส (วินย.อ. ๓/๓๕๑) แต่ความกลง กันได้ เพราะในถิ่นที่เรื่องเกิดนั้น เป็นถิ่นที่ประชาชนทั่วไปใช้ภาษามคธ คือ ตรัสตามภาษาของประชาชน (เทียบ สกสมัย ปรสมัย)
50จารึกพระเจ้าอโศก มีผู้รวบรวมแปลกันไว้หลายสำนวน เช่น Radhagovinda Basak, Asokan Inscription (Calcutta : Progressive Publishers, 1959) และฉบับของรัฐบาลอินเดียเป็นต้น
51บางตำราว่า โรงเรียนแพทย์ที่ Salerno เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรก แต่มติสากลไม่ยอมรับว่าสถาบันนี้ได้มีกิจการขยายใหญ่ขึ้นถึงขั้นเป็นมหาวิทยาลัย
52 Max Savelle, Vol. 1, p.246.
53 J. Nehru, Glimpses of World History (2nd ed., 1965), p. 143
54 T.W. Wallbank and A.M. Taylor, Civilization : Past and Present (4th ed., 1960), Vol. I, p. 238.
55 Max Savelle, Vol. I, p. 284.
56 T.W. Wallbank and A.M. Taylor, Vol. I pp. 217-8.
57เรื่องมหาวิทยาลัยยุโรปสมัยกลางทั้งหมดนี้ เล่าตามหนังสือ C.J.H. Hayes, M.W. Baldwin and C.W. Cole, History of Europe (1960), pp. 310-323; Max Savelle, History of World Civilization (1957), Vol. I, pp. 524-525; T.W. Wallbank and A.N Taylor, Civilization : Past and Present (4th ed., 1960), Vol. I, pp. 382-384; และเรื่อง “ปริญญา” ของพระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต (พ.ศ. ๒๕๑๒) หน้า ๓-๑๔ เป็นต้น
58ยุโรปได้ความรู้หลายอย่างเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ แพทยศาสตร์ และดาราศาสตร์ ไปจากมุสลิม ส่วนมุสลิมก็ได้ความรู้ไปจากอินเดียระหว่าง พ.ศ. ๑๓๐๐-๑๕๐๐ ดู Max Savelle, Vol. I, p.322.
59พระมติของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ตั้งเป็นพระสังฆราชและพระครูสอนวิชาความรู้ทั้งคดีธรรมและคดีโลก แก่ประชาชนชาวกรุงสุโขทัย" (ชุมนุมพระนิพนธ์, หน้า ๙๘)
60ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๙.
61ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๙-๑๐.
62ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๙.
63คำอ่านจารึกวัดศรีชุม (หลักที่ ๒), ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๒๘
64ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๑๐.
65ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๘.
66ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๙.
67ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๗-๘.
68ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๘ และ ๑๐.
69ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๘ และ ๑๐.
70ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๘-๙.
71แปลหลักศิลาเมืองศุโขทัยที่ ๒, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑, หน้า ๑๕๔.
72คำแปลจารึกวัดป่ามะม่วง (หลักที่ ๔), ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๕๖.
73บานแพนกเดิม, ไตรภูมิพระร่วง, หน้า (๑๒)
74แปลหลักศิลาเมืองศุโขทัยที่ ๒, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑, หน้า ๑๕๔; ความในจารึกตอนนี้ บางท่านตีความว่าให้พราหมณ์เรียนศิลปศาสตร์ และให้พระสงฆ์เรียนพระไตรปิฎก.
75แปลหลักศิลาเมืองศุโขทัยที่ ๒, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑, หน้า ๑๕๓.
76ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเสวยราชสมบัติ ในนครศรีสัชนาลัยได้ 5 พรรษา แต่จะหมายถึงในคราวดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชในเมืองนั้นหรือเมื่อครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แล้วก็ยังไม่ชัด
77ไตรภูมิพระร่วง, หน้า (๑๑).
78สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, บานแพนก หนังสือไตรภูมิพระร่วง, หน้า (๔); พึงสังเกตว่า เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา พระราชกิจอย่างหนึ่งที่ได้ทรงกระทำก็คือ การโปรดให้สร้างสมุดภาพไตรภูมิอันวิจิตรขนาดใหญ่ คลี่ได้ยาวเกิน ๓๔ เมตร
79เสฐียรโกเศศ, เล่าเรื่องในไตรภูมิ, หน้า ๑๒-๑๔.
80ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑, หน้า ๕๗.
81ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑, หน้า ๑๕๗.
82ที.ม. ๑๐/๑๖๓-๑๘๖/๑๙๘-๒๒๘.
83ในศิลาจารึกพระเจ้าอโศกมีข้อความบ่งว่า ถ้ามีพระราชกรณียกิจอย่างใดเกิดขึ้น ให้กราบทูลพระองค์ได้ทุกกาลเวลาและสถานที่ ส่วนในศิลาจารึกพ่อขุนราม ว่า ราษฎรมีเรื่องราวก็มาสั่นกระดิ่งได้ ทั้งสองกรณีนี้แสดงถึงวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน แต่กระนั้นก็อาจพ้องกันโดยไม่เจตนาก็ได้
84การทำศิลาจารึกนี้ แม้ภายหลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็มีความนิยมทำต่อมา อย่ งในสมัยคุปตะของอินเดีย อันต่อเนื่องมาถึงสมัยอาณาจักรศรีวิชัยและลพบุรี การทำศิลาจารึกในสมัยสุโขทัย จึงถือว่าเป็นอิทธิพลความนิยมที่สืบสายมาตามลำดับ จะถือว่าเป็นการดำเนินตามอย่างพระเจ้าอโศก ก็คงได้แต่โดยอ้อม หรือในฐานเป็นต้นแบบ
85ไตรภูมิพระร่วงเล่าเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราช หรือ พระยาศรีธรรมาโศกราชไว้ยืดยาว (หน้า ๑๔๕-๑๖๘)
86อาจทำเป็นเคล็ด ให้เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทรงประกาศความปรารถนาโพธิญาณครั้งแรกเมื่อเป็นสุเมธดาบส
87เรื่องไตรภูมิกถานี้ บางท่านถือเอาข้อความในบานแพนกเดิม ที่ว่า “เนื้อความในไตรภูมิกถานี้ มีแต่ในปีระกาโพ้น เมื่อศักราชได้ ๒๓ ปี” เป็นเครื่องลงความเห็น ว่าศักราชในที่นี้เป็น จ.ศ. ไตรภูมิกถาจึงเป็นของมีมาเดิมแต่ พ.ศ. ๑๒๐๔ แล้ว ครั้นถึงสมัยพระญาลิไทย “ผู้ใดหากสอดรู้บมิได้ไส้สิ้น” พระองค์จึงทรงรวบรวมแต่งขึ้นใหม่ ถ้าความเห็นนี้ถูกต้อง ก็นำให้เห็นต่อไปว่า คัมภีร์นี้เดิมเป็นของแต่งในคติมหายาน และยิ่งเป็นการย้ำหนักแน่นขึ้นอีกว่า อิทธิพลคติมหายานยังมีอยู่ไม่น้อยในพระญาลิไทย อย่างน้อยก็เป็นพลังบันดาลใจ ในการที่พระองค์จะทรงเริ่มงานนิพนธ์เรื่องนี้ (ดู พุทธานุสรณ์ ตอนตำนานหริภุญชัย หน้า ๓๗)
88น่าจะเป็น พ.ศ. ๑๙๐๔ และ ๘ ปี ตามลำดับ, ฉบับเดิมคงพิมพ์ผิด.
89น่าจะเป็น พ.ศ. ๑๙๐๔ และ ๘ ปี ตามลำดับ, ฉบับเดิมคงพิมพ์ผิด.
90การนับถือผี เป็นคติของคนไทยมาแต่โบราณ ; ความในจารึกหลักที่ ๑ (ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๑ หน้า ๙) ตอนนี้ว่า “เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีพระขะพุงผี เทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่อถูกผีในเขาอันบ่คุ้มเกรง เมืองนี้หาย”
91ชุมนุมพระนิพนธ์, หน้า ๑๐๗-๑๑๙.
92พระเจ้าเม็งรายที่ได้ลำพูน (หริภุญชัย) และปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรลานนา เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๑๘๒๔ และสร้างนครเชียงใหม่เป็นราชธานี ใน พ.ศ. ๑๘๓๙
93นับแต่เมื่อพ่อขุนเม็งรายขึ้นครองราชย์ที่หิรัญนครเงินยาง : บางตำราว่า ๑๘๐๒-๑๘๖๐
94บางตำราว่า ๑๘๖๐-๑๘๖๘ ; รัชกาลต่อๆ มาก็มีแผกกันบ้าง บางพระองค์ครองราชย์ ๒ ครั้ง (เช่นพระเจ้าคำฟู) มีกษัตริย์อื่นแทรกในระหว่าง แต่ในที่นี้จะไม่แสดงรายละเอียดไว้
95เสียเมืองแก่บุเรงนอง พ.ศ. ๒๑๐๑ ในสมัยของพระเมกุฎ
96ปัจจุบันใช้ประกอบการเรียน ป.ธ. ๖-๗ พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก ลิขสิทธิ์มหามกุฎฯ พ.ศ. ๒๔๗๖ แยกเป็น ๒ เล่ม รวมเป็นเนื้อหนังสือทั้งหมดประมาณ ๑๕๔ ยก
97ปัจจุบันใช้ประกอบการเรียน ป.ธ. ๙ พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก ลิขสิทธิ์มหามกุฏฯ แยกเป็น ๓ เล่ม (พ.ศ. ๒๔๗๔, ๒๔๗๖ และ ๒๕๐๕ ตามลำดับ) มีเนื้อหนังสือ รวมประมาณ ๒๖๘ ยก
98ปัจจุบันใช้เป็นหลักสูตรและแบบเรียน ป.ธ. ๔-๕ (วิชาแปลเป็นไทย) และ ป.ธ. ๕-๖ (วิชาแปลเป็นมคธ) พิมพ์แยกเป็น ๒ เล่ม เนื้อหนังสือรวม ๑๑๒ ยก
99กรมศิลปากรมอบให้ศาสตราจารย์ ดร. แสง มนวิทูร แปล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ เนื้อหนังสือ ๒๕ ยกเศษ (ฉบับแปลโดย เสฐียร พันธรังษี ลงพิมพ์ในดวงประทีป ราว พ.ศ. ๒๔๗๕ ครั้งล่าสุดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรณาคาร พ.ศ. ๒๔๙๗)
100นำมาตีพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกมีทั้งตัวบาลีและคำแปล ในงานฉลองหิรัณยบฏและทำบุญอายุ พระวิสุทธิวงศาจารย์ วัดสุทัศนเทพวราราม ใน พ.ศ. ๒๕๑๒ (คำแปลโดย น.อ. แย้ม ประภัศร์ทอง ป.ธ. ๙) เนื้อหนังสือ ๔๐ ยกกิ่ง
101หอสมุดวชิรญาณมอบให้พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ์) และพระญาณวิจิตร (สิทธิ์ โลจนานนท์) แปล พิมพ์ในรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๓
102ไม่มีฉบับในหอสมุดวชิรญาณ
103คำแปลสำนวนเก่ามีมานาน แต่ที่พิมพ์เป็นเล่มในปัจจุบัน ฉบับ ส. ธรรมภักดี พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ แยกเป็น ๓ เล่ม รวมเนื้อหนังสือแปล ๘๗ ยก
104กรมศิลปากรมอบให้ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร แปลเป็นไทยฉบับใหม่ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๐
105คัมภีร์ใบลานฉบับเดิมมี ๕๐ ผูก เฉพาะฉบับแปลได้ทยอยพิมพ์เป็นเล่มออกมาโดยลำดับจนจบ รวมเป็น ๒๘ ภาค ร.พ. ศิลปาบรรณาคาร ได้ขออนุญาตกรมศิลปากรพิมพ์จำหน่ายรวมเข้าด้วยกัน เป็น ๒ เล่มจบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นเนื้อหนังสือแปล ๑๒๖ ยกเศษ
106พระนิพนธ์คำนำของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือปัญญาสชาดก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ
107ชุมนุมพระนิพนธ์, หน้า ๔๙๐-๔๙๓.
108ตำนานพระพุทธเจดีย์, หน้า ๑๑๖.
109การศึกษาในสมัยสุโขทัยและลานนาไทย พิมพ์ตามฉบับที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๑๙ แต่สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ได้ทำไว้เพียงบันทึกเตรียมเพิ่มเติม ยัง ไม่ได้เรียบเรียง จึงต้องพิมพ์ไปตามฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๑๓ ซึ่งเป็นเพียงข้อความ เล่าสรุป เนื้อหาตอนต่อไปนี้จึงสั้นมาก
110พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ.
111พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือประวัติวัดมหาธาตุ นำลงในอนุสรณ์ ๒๕ พุทธศตวรรษ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎี (พ.ศ. ๒๕๐๐) หน้า ๕๒
112อนุสรณ์ ๒๕ พุทธศตวรรษ, หน้า ๓๕-๓๖.
113เรื่องที่เล่ามาแต่สมัยสุโขทัยถึงที่นี้ ได้อาศัยหนังสือต่างๆ ปรึกษาและประกอบต่างเล่ม เช่น ความเป็นมาของพุทธศาสนาในเมืองไทย, ประพัฒน์ ตรีณรงค์ (พ.ศ. ๒๕๐๐); พุทธจักร ฉบับรับการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ (มิถุนายน ๒๕๑๒): (รายชื่อหนังสือค้นคว้าและอ่านประกอบ ขอให้ดในฉบับแก้ไขเพิ่มเต ซึ่งพิมพ์แทรกไม่ทันในคราวนี้)
114เสฐียรโกเศศ, ชีวิตชาวไทยสมัยก่อน (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๑๐), หน้า ๑๓๕-๖.
115ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๓๔-๕.
116ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๔๑.
117ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๓๙-๑๔๐.
118ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๔๒.
119ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔ ๒๔๐๔, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระมหาโพธิวงศาจารย์ อินทโชตเถระ, ๙ พ.ย. ๒๕๑๑, หน้า ๓๗-๓๘.
120ดู หนังสือ ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ ของกาญจนาคพันธุ์ สำนักพิมพ์สาสน์สวรรค์ พ.ศ. ๒๕๐๙, ๘๓๑ หน้า เป็นต้น
121ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๖๔.
122ดู ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๔๘-๑๖๓.
123ดู ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๔๗.
124พึงสังเกตว่า ประชาชนดึงคำสอนในศาสนาให้เข้ากับความต้องการของตน ไม่น้อยกว่าที่ศาสนาสามารถดึงคนเข้าหาคำสอน.
125ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๖๔ ๑๖๖.
126ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๔๙.
127ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๔๕-๑๔๖.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง