เพื่ออนาคตของการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษาไทย:
แก้ปัญหา หรือสร้างปัญหาให้สังคม1

ขอเจริญพร ท่านนายกสมาคมฯ2 ท่านประธานที่ประชุม3 ท่านผู้ดำเนินการอภิปราย4 และท่านผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

ก่อนจะมาพูดกันในที่นี้ เมื่อสักครู่หนึ่งนี้ อาตมภาพได้สนทนากับท่านอาจารย์คุณหญิงผู้เป็นนายกสมาคมฯ ท่านได้ปรารภว่า ปัจจุบันนี้ การอภิปรายมักจะมีลักษณะเป็นปาฐกถาหมู่ อาตมาภาพก็รู้สึกอย่างนั้น และก็นึกว่า วันนี้ก็คงจะเป็นอย่างนั้นอีก ถ้าหากว่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ขอให้ถือว่าเป็นไปตามธรรมเนียมของปัจจุบันก็แล้วกัน อีกอย่างหนึ่ง ในความรู้สึกส่วนตัวของอาตมภาพเอง ก็เห็นว่า เวลาที่ให้อภิปรายนี้ค่อนข้างน้อยมากสำหรับเรื่องที่ใหญ่ๆ อย่างนี้ ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าจะต้องเขียนมาอ่านเสียมาก

ตอน ๑ แก้ปัญหา

การศึกษาไทย: เพื่อแก้ปัญหาอะไร?

ก่อนที่จะพูดว่า การศึกษาระบบนี้แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหาให้สังคม เราก็ต้องมาดูว่า การศึกษาแบบนี้เราได้เริ่มต้นจัดขึ้นเพื่อความมุ่งหมายอะไร หมายความว่า เพื่อความมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาอะไรนั่นเอง ถ้าอย่างนี้แล้วก็รู้สึกว่าจะมีความชัดเจน

ปัญหาของประเทศไทย ในขณะเมื่อจะเริ่มต้นจัดการศึกษาแบบนี้ขึ้นนั้น เป็นปัญหาที่เรียกได้ว่าอันเดียว แม้จะมีหลายด้าน คือการคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก ซึ่งพร้อมกับปัญหานี้ก็โยงไปถึงปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ที่ถือได้ว่าเป็นลักษณะอีกด้านหนึ่งของปัญหาเดียวกัน กล่าวคือ ประเทศไทยของเราไม่เจริญก้าวหน้าพอที่จะแข็งข้อต่อต้านประเทศอาณานิคมเหล่านั้น คำว่าไม่เจริญก้าวหน้าในที่นี้ หมายถึงว่า ไม่เจริญก้าวหน้าในทางวัตถุ ในทางวิทยาการและระบบการต่างๆ เมื่อมีปัญหาอย่างนี้ขึ้นก็จะต้องหาทางแก้ ซึ่งผู้นำของประเทศในเวลานั้นก็จะต้องหันมามุ่งที่จะระดมกำลังเข้าแก้ปัญหานี้ ในการที่จะแก้ปัญหานี้ สิ่งที่จะต้องทำก็คือ

๑. รวมกำลังรวมจิตรวมใจคนทั้งชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีจิตสำนึกร่วมกันตลอดจนกระทั่งมีศูนย์อำนาจอันเดียวกัน พุ่งไปทางเดียวกันแน่วแน่ตามผู้นำ แล้วก็คอยเป็นกำลังหนุน เป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพให้กับผู้นำ ในการที่จะแก้ปัญหานั้น หรือในการที่จะต่อสู้กับลัทธิอาณานิคม

๒. จะต้องเร่งรัดปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าทันสมัย ทันเหตุการณ์ ภายในเวลาอันรวดเร็ว

นี้เป็นหลักการสำคัญสองประการ ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้ผลอย่างนี้ก็มีสองอย่าง เอาเฉพาะที่เป็นตัวเอก ก็คือ

ประการที่ ๑ การปกครอง ได้แก่ การจัดแบบแผน ระบบการปกครองให้เข้าสู่ความมุ่งหมายที่ว่า รวมศูนย์อำนาจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมใจคนทั้งชาติ เพื่อให้ระดมกำลังได้เต็มที่ และมุ่งหน้าไปในทางเดียวกัน

ประการที่ ๒ ก็คือ จัดการศึกษาเพื่อเสริมคุณภาพคน หรือสร้างคนที่มีคุณภาพ ที่จะมาเป็นเครื่องมือช่วยในการพัฒนาประเทศชาติหรือสร้างสรรค์ความทันสมัยนั้น และให้การศึกษานั้นเป็นปัจจัยที่จะช่วยเสริมให้การปกครองได้ผลตามที่ต้องการด้วย

ฉะนั้น จึงสรุปสิ่งที่จะต้องทำได้ดังนี้

ก. ทำให้คนรวมเข้าในระบบแบบแผนอันเดียวกัน ด้วยการจัดระบบการปกครอง และลึกลงไปก็คือ ด้วยการจัดระบบการศึกษา ที่จะเป็นฐานให้แก่ระบบการปกครองนั้น

ข. สร้างกำลังคนให้แก่รัฐ โดยเฉพาะในเวลานั้น ข้อสำคัญก็คือ ด้วยการเตรียมคนเข้ารับราชการ เพราะข้าราชการเป็นฐานสำคัญอันดับแรกที่จะรวมกำลังคนได้ เอามาใช้ได้ และเป็นแหล่งแรกที่จะต้องสร้างเสริมคุณภาพ

เมื่อจะทำให้ได้ผลเช่นนี้ ว่าเฉพาะในทางการศึกษาจะต้องทำอะไรบ้าง สิ่งที่จะต้องดำเนินการในด้านการศึกษาก็คือ

๑) จัดระบบการศึกษาแบบรวมศูนย์ ให้เอื้อต่อและสอดคล้องกับระบบแบบแผนการปกครอง และแผ่ระบบรวมศูนย์นี้ไปทั่วประเทศ ให้เป็นเครื่องชักนำคนทั้งชาติ เข้ามาอยู่ในระบบแบบแผนการปกครองอันเดียวกัน โดยอาจจะให้มีความรู้แบบเดียวกัน คิดแบบเดียวกัน พูดแบบเดียวกัน ทำเหมือนกันด้วย ซึ่งก็จะทำให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้เต็มที่

๒) จัดหลักสูตรการศึกษาให้พลเมืองได้เล่าเรียนวิทยาการสมัยใหม่ ที่จำเป็นสำหรับการเร่งรัดปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยโดยเฉพาะจำพวกวิชาชีพชั้นสูงซึ่งในตอนนั้นจะเห็นว่ามีการเน้นบางวิชา อย่างที่เปิดขึ้นก็มีพวกกฎหมาย การปกครอง การพาณิชย์ วิศวกรรม สถาปัตย์ การแพทย์ รวมทั้งการฝึกหัดครู เพื่อเตรียมคนให้มีคุณภาพ แล้วจะได้พัฒนาวิชาการต่างๆ อย่างที่ว่าข้างต้นด้วย

เพื่อให้เป็นอย่างนี้ ก็ได้มีปฏิบัติการในทางการศึกษาที่สำคัญสองประการ

ประการที่หนึ่ง คือ ดำเนินการศึกษาระดับพื้นฐานทั่วประเทศออกไปจากส่วนกลาง

ประการที่สอง คือ จัดการศึกษาระดับสูงในส่วนกลาง ดังจะเห็นได้ว่ามีการตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก หรือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และพัฒนาต่อมาอีกจนกระทั่งเป็นมหาวิทยาลัย คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในที่สุด มหาวิทยาลัยทั้งหลายในปัจจุบันก็พัฒนามาจากการศึกษาแบบนี้

เมื่อมองในขั้นสุดท้าย การศึกษาพื้นฐาน (ประการที่หนึ่ง) ก็ช่วยให้คนได้มาเข้าสู่การศึกษาที่อยู่ในส่วนกลาง (ประการที่สอง) นี้อีกชั้นหนึ่งนั่นเอง ถ้าดูตามสภาพในปัจจุบันก็คือเริ่มจากประถมศึกษาในชนบทจนมาเข้ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้อคำนึงที่จะจัดการศึกษาข้อแรกที่สุดก็คือ การศึกษาระดับพื้นฐานในชนบททั่วประเทศจะทำอย่างไร

พอถึงตอนนี้เรื่องก็เลยโยงไปหาพระ โยงไปหาอย่างไร ก็มองเห็นว่า วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นศูนย์กลางของการศึกษามาแต่สมัยโบราณ พระเป็นผู้นำของชนบทและมีบทบาทสำคัญในการศึกษา เพราะฉะนั้น ก็จะต้องให้พระเป็นผู้นำในเรื่องการศึกษาระดับพื้นฐาน ที่จะดำเนินการขึ้นในชนบททั่วประเทศ และแม้แต่ตัวพระนั้นเองก็จะต้องรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางด้วยเหมือนกัน พูดให้แน่นเข้าอีกว่า พระเป็นผู้นำและเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านอยู่แล้วและพระก็เป็นผู้ให้การศึกษาแก่ชาวบ้านอยู่แล้วด้วย เพราะฉะนั้น ก็เอาการศึกษาแบบรวมศูนย์ไปมอบถวายแก่พระ แล้วก็ให้พระใช้ความเป็นผู้นำที่มีอยู่แล้วนั่นแหละรวมชาวบ้านเข้าสู่ศูนย์กลาง ด้วยการให้การศึกษาแบบรวมศูนย์เสียเลยทีเดียว ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ราษฎร แก่รัฐ และแก่วัดพร้อมไปด้วยกัน

ถึงขั้นนี้ก็เป็นอันได้นโยบายและเห็นทางปฏิบัติ ทางรัฐบาลในสมัยนั้นก็จึงได้ให้พระในฐานะตัวแทนของฝ่ายการศึกษา และกระทรวงมหาดไทยในฐานะตัวแทนของฝ่ายปกครอง มาช่วยกันดำเนินการศึกษา ดังที่ได้ปรากฏชัดเจนว่า ในด้านการศึกษานั้น ในหลวงรัชกาลที่ห้า ได้อาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้เป็นผู้รับผิดชอบจัดดำเนินการศึกษาในชนบททั่วประเทศ แล้วก็โปรดฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยฝ่ายปกครอง เป็นผู้เกื้อหนุนในด้านอุปกรณ์เป็นต้นทุกอย่าง เพื่อให้พระดำเนินการศึกษาไปได้ด้วยดี

เรื่องที่ว่านี้แสดงให้เห็นว่า การศึกษากับการปกครองมาเกื้อหนุนกันอย่างไร หรือว่าการดำเนินการศึกษาพื้นฐานทั่วประเทศนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อให้มาเอื้อต่อการปกครองอย่างไร ดังได้กล่าวแล้วว่า ในเวลานั้น เราจะต้องจัดระบบการปกครองให้ประชาชนทั้งชาติอยู่ในแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน การปกครองนี้หมายถึงการปกครองทั้งฝ่ายบ้านเมืองและพระสงฆ์ และเราก็ได้อาศัยการศึกษามาเป็นตัวช่วยให้วางระเบียบแบบแผนการปกครองเช่นนั้นได้สมประสงค์

เรื่องนี้มีหลักฐานชัดเจน ดังจะแสดงให้เห็นตัวอย่าง กล่าวคือ เมื่อจะวางพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ซึ่งเป็น พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับแรกของประเทศไทยนั้น ได้มีการเตรียมการในทางการศึกษาก่อน ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นได้ชัดจากประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ อาตมภาพจะขอโอกาสอ่านสักหน่อย จะได้เห็นชัดว่าการศึกษาสัมพันธ์กับการปกครองอย่างไร

“มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า ด้วยเมื่อ ร.ศ. ๑๑๗ ได้โปรดให้พระราชาคณะหลายรูปออกไปจัดการศึกษาตามอารามในหัวเมือง และได้ทรงอาราธนาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ที่สมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ ให้ทรงรับภาระธุระอำนวยการนั้นในฝ่ายสมณะ และได้โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงรับหน้าที่อุดหนุนการนั้น ในส่วนหน้าที่เจ้าพนักงานฝ่ายฆราวาส ความแจ้งอยู่ในประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมือง ซึ่งได้ออกเมื่อ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๗ นั้นแล้ว พระสงฆ์เถรานุเถระ และเจ้าพนักงานในฝ่ายฆราวาส ได้ช่วยกันจัดและอำนวยการตามพระราชดำริ ด้วยความสามารถและอุตสาหะ อันเป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้เห็นผลความเจริญในการเล่าเรียน ตลอดจนความเรียบร้อยในการปกครองพุทธมณฑลขึ้น โดยลำดับมา บัดนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรจะตั้งเป็นแบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ให้มั่นคงเรียบร้อยได้แล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ เดือนมิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑”

เอาแค่นี้ก่อน เพียงเท่านี้ก็ชัดแล้วว่า ก่อนที่จะออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น ก็ได้มีการจัดการเล่าเรียนในหัวเมืองแล้ว จนกระทั่งว่า การศึกษานี้ได้ทำให้พระสงฆ์ ตลอดจนประชาชน เข้ามาอยู่ภายในระบบแบบแผนที่จะจัดตั้งเป็นการปกครองอันหนึ่งอันเดียวกันได้ จึงได้ออกพระราชบัญญัตินี้ นับว่าเป็นนโยบายที่เราจะต้องมองรวมทั้งประเทศว่า ดำเนินการเพื่อความมุ่งหมายอะไร ความมุ่งหมายก็เป็นดังที่อาตมภาพกล่าวมาแล้วข้างต้น คือ เมื่อทำอย่างนี้ การศึกษาก็เกื้อหนุนแก่การปกครอง และการปกครองที่จัดก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่กล่าวข้างต้น แล้วเราก็ได้ผลสำเร็จตามนั้น กล่าวคือ ประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จ แก้ปัญหาได้จริงตามที่มุ่งหมาย

๑. เราพ้นจากการครอบครองของลัทธิอาณานิคม

๒. ประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าทันสมัยในทางวัตถุ วิทยาการ และระบบการที่ทันสมัยแบบประเทศตะวันตก

จึงตอบได้ว่า การศึกษาไทยสมัยใหม่นี้ ได้แก้ปัญหาให้แก่สังคมได้แล้ว ฉะนั้น ที่ตั้งคำถามไว้ว่า การศึกษาไทยแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหาให้สังคมไทย เราก็ตอบคำถามนั้นเสร็จไปแล้วเป็นขั้นที่หนึ่ง อันนี้เป็นช่วงที่หนึ่ง ต่อไปก็จะถึงช่วงที่สอง ซึ่งจะมาดูกันในปัจจุบันนี้ว่า การศึกษาไทยได้มีการสร้างปัญหาหรือไม่

ข้อสังเกต เกี่ยวกับการใช้การศึกษาแก้ปัญหาของสังคมไทย

ก่อนที่จะพูดถึงช่วงที่สองว่า การศึกษาไทย แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา ก็อยากจะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่กล่าวข้างต้นนั้นเสียก่อน ข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ปัญหานั้นมีอยู่ประมาณ ๕ อย่าง แต่ตอนแรกนี้จะพูดถึงลักษณะของการแก้ปัญหาก่อน ลักษณะการแก้ปัญหาของเมืองไทยในเวลานั้นมี ๒ ประการ

๑. เรามุ่งเพื่อแก้ปัญหาประเภทที่เรียกได้ว่า เป็นปัญหาเฉพาะหน้า คือการที่ลัทธิอาณานิคมได้เข้ามาคุกคาม และเราจะต้องทำตัวให้หลุดพ้นไปจากการคุกคามนั้น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าย่อมมีลักษณะเป็นเรื่องชั่วคราว หรือเรียกว่า การแก้ปัญหาระยะสั้น

๒. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น ตามปกติจะเป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องเร่งรัดทำจนอาจจะกลายเป็นเรื่องเร่งรีบ หรือบางทีก็รีบร้อนด้วย นี่เป็นลักษณะประการที่สอง

อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้าใจด้วยว่า ความจริง ท่านได้คิดแก้ปัญหาระยะยาวด้วย โดยมุ่งให้การแก้ปัญหาระยะสั้นนั้นเป็นฐานและมีการเตรียมการสร้างสรรค์ระยะยาวแทรกไปด้วย แต่จุดเน้นจุดเด่นหรือการระดมกำลัง มุ่งแก้ปัญหาระยะสั้นที่เผชิญอยู่เฉพาะหน้า หรือสภาพที่มองเห็นโต้งๆ เป็นสำคัญ

รวมความว่า หนึ่ง เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น สอง เป็นการเร่งด่วนหรือรีบร้อน ในเมื่อลักษณะของการแก้ปัญหาเป็นอย่างนี้ ก็จึงมีข้อสังเกตสืบเนื่องต่อไปอีก ซึ่งข้อสังเกตทั้งหมดนี้จะโยงไปถึงปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันทุกอย่าง

ประการที่หนึ่ง ตามธรรมดาของการแก้ปัญหา บางทีก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรีบร้อนหรือจำเป็น บางทีเราต้องยอมเสียอะไรบางอย่าง ต้องยอมสร้างปัญหาบางอย่างขึ้นมาทั้งๆ ที่รู้ด้วยซ้ำ เพื่อจะทำให้วัตถุประสงค์สำคัญในการแก้ปัญหาใหญ่เฉพาะหน้าเป็นผลสำเร็จ และเรื่องนี้ก็เป็นอย่างนั้นด้วย

ประการที่สอง ในการแก้ปัญหาระยะสั้น ถ้าผู้บริหารประเทศที่รับช่วงต่อมาเข้าใจปัญหาและรู้ทันเหตุการณ์ เมื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้นเสร็จ เข้ารูปดีแล้ว ก็จะต้องหันมาตั้งหลักใหม่เพื่อแก้ปัญหาแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างนั้น และวางแนวความคิดในการที่จะสร้างสรรค์พัฒนาระยะยาวต่อไป อันนี้คือข้อสำคัญ

ประการที่สาม ข้อนี้จะสัมพันธ์กับเรื่องปัญหาที่จะพูดถึงต่อไป กล่าวคือ การแก้ปัญหาระยะสั้นและรีบเร่ง แม้จะทำสำเร็จ แต่มักจะมีสภาพแบบให้รอดตัวไปก่อน อย่างที่ว่าทำกันอยู่แค่เปลือกผิวภายนอก ซึ่งปรากฏว่าเราอาจจะมีรูปร่างที่ทันสมัยแต่เนื้อตัวยังไม่พัฒนา ที่เรียกกันว่าทันสมัยแต่ไม่พัฒนา หรือว่าแต่งตัวศิวิไลซ์แต่ข้างในคือคนเดิม หรืออีกอย่างหนึ่งจะขอเทียบเหมือนกับการสร้างเจดีย์ของศรีธนญชัย เข้าใจว่า หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องการสร้างเจดีย์ของศรีธนญชัย

เรื่องมีอยู่สั้นๆ ว่า พวกพม่าได้มาท้าทายเมืองไทยว่าให้สร้างเจดีย์แข่งกัน เป็นการพนันเอาเมืองกันเลย ให้สร้างเจดีย์เสร็จในวันเดียว หนึ่งวันหนึ่งคืน ประเทศไทยก็รับท้า แต่มีความวิตกมาก คิดไม่ตกว่า จะทำอย่างไรดีในที่สุด ศรีธนญชัยก็มาขันอาสาว่าจะสู้ ตกลงว่าจะสร้างเจดีย์แข่งกันที่ชายแดน พอถึงเวลาแข่งขัน ฝ่ายพม่าก็เริ่มการตั้งแต่เช้า ก่ออิฐทำเจดีย์ขึ้นไปๆ เช้าก็แล้ว สายก็แล้ว เย็นก็แล้ว ไม่เห็นไทยเริ่มสักที จนกระทั่งค่ำ พอถึงกลางคืนมืดแล้ว ศรีธนญชัยก็เริ่มเอาไม้มาผูกทำเป็นโครงขึ้นแล้วก็เอาผ้าขาวพันรอบ พอถึงเวลารุ่งสางยังไม่สว่างดี เห็นไม่ชัด พม่ามองมาเห็นเจดีย์ไทยขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ของตัวเองจวนจะเสร็จเหมือนกัน แต่ว่ายังไม่เรียบร้อย เห็นว่าถ้าขืนรออยู่เสียเมืองแน่ พม่าก็เลยถอนกำลังหนีกลับประเทศหมดเลย ปรากฏว่า ประเทศไทยชนะ อย่างน้อยก็เอาตัวรอดมาได้ นี่คือลักษณะของการแก้ปัญหาแบบศรีธนญชัย เอาให้รอดตัวไปก่อน การพัฒนาประเทศของเรานั้นจะมีลักษณะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ขอให้พิจารณาด้วย

ประการที่สี่ การพัฒนาประเทศของเราที่ว่าให้ทันสมัยนั้น ก็เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือการคุกคามของลัทธิอาณานิคม ความมุ่งหมายจึงชัดเจนอยู่แล้ว ในเรื่องนี้ ขอให้พิจารณาว่า การกระทำแต่ละอย่างที่มีความมุ่งหมายนั้น เมื่อความมุ่งหมายของมันสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าการกระทำนั้นยังคงดำเนินอยู่ต่อไป การกระทำนั้นก็จะเกิดอาการที่เรียกว่าเคว้งคว้างเลื่อนลอยไร้จุดหมาย แกว่ง หรือ ระส่ำระสาย ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะต้องทำอย่างไร มีทางที่จะทำได้สองประการกับการกระทำนั้น คือ

๑) ตั้งความมุ่งหมายให้ใหม่แก่การกระทำนั้น

๒) ปรับเปลี่ยนการกระทำนั้นเสียใหม่

ถ้าหากว่าเรามีการตั้งความมุ่งหมายให้ใหม่ และจุดหมายนั้นมีความชัดเจนแล้ว การกระทำนั้นก็เดินหน้าแน่วแน่ต่อไปได้ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ตั้งความมุ่งหมายให้ใหม่ เมื่อความมุ่งหมายเก่าเสร็จสิ้นไป โดยที่การกระทำนั้นยังไม่หยุดเลิกไปด้วย การกระทำนั้นก็จะกลายเป็นการกระทำซึ่งขาดจุดหมายที่ชัดเจน มันก็จะเกิดอาการเคว้งคว้าง แล้วก็อาจจะเกิดความมุ่งหมายที่เลื่อนลอยหรือแทรกซ้อนประเภทไขว้เขวที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาก็ได้

ยกตัวอย่างเช่นว่า เกิดมีข้าศึกหรือโจรผู้ร้ายมา เราก็ระดมกำลังพลในหมู่บ้านในถิ่นในตำบลของเราขึ้นมา จับอาวุธเข้าสู้กับผู้ร้ายเหล่านั้น จนกระทั่งโจรผู้ร้ายแตกพ่ายหนีไปถอยไปแล้ว ก็เสร็จ ทีนี้ สิ่งที่จะต้องทำต่อไปกับกองกำลังที่ระดมขึ้นมาคืออะไร คือ หนึ่ง สลายตัวเสีย หรือสอง ตั้งความมุ่งหมายใหม่ว่าจะเอากำลังพลนั้นไปทำอะไร เช่น ถ้าเราคิดต่อไปว่า เอาละตอนนี้ เรารวมกำลังพลไว้ดีแล้ว โจรผู้ร้ายก็ปราบเสร็จแล้ว เราเอากำลังนี้ไปใช้งานอื่นเถอะ ถ้าเราเป็นประเทศหนึ่ง เราก็อาจจะเอากำลังพลนั้นไปบุกประเทศอื่นต่อไปเลย ก็ได้ แต่ถ้าไม่ทำอะไรลงไปให้ชัดเจน ก็จะต้องมีปัญหาเกิดขึ้น เมื่อกำลังพลนั้นก็ไม่สลายตัวยังจับอาวุธกันอยู่ และเราก็ไม่มีความมุ่งหมายให้ใหม่ ก็เลยเกิดระส่ำระสาย พวกนี้อาจจะหันมารบกันเอง หรืออาจจะเอาอาวุธเอากำลังนั้นไปปล้นไปทำอะไรขึ้นมากลายเป็นอาชญากรรมหรืออะไรๆ ที่ไม่ดีไปก็ได้ แล้วก็จะเกิดผลเสียขึ้นมาได้มากมาย

การกระทำในการพัฒนาประเทศนี้ อาจจะยังคงมีความมุ่งหมายเหมือนอย่างประเทศไทยสมัยเดิม คือ การทำประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันสมัย จนสามารถต้านทาน สู้กับลัทธิอาณานิคม เพื่อให้เอาตัวรอดได้ ซึ่งต่างจากบางประเทศที่เขาอาจจะพัฒนาให้ทันสมัยเจริญก้าวหน้า โดยตั้งความมุ่งหมายว่าเขาจะต้องยิ่งใหญ่กว่าประเทศใดๆ ทั้งหมด แม้แต่ประเทศตะวันตกที่เขาเคยต้องตาม เขาจะต้องยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ญี่ปุ่นอาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของการตั้งจุดมุ่งหมายอย่างนั้น ถ้ามีความมุ่งหมายอย่างนี้อยู่ แม้ว่าการต่อสู้กับลัทธิอาณานิคมจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่จุดหมายก็ยังไม่สำเร็จ การพัฒนาประเทศของเขายังคงมีทิศทางชัดเจนที่จะต้องเดินหน้าแน่วแน่ต่อไป แต่ถ้าไม่มีความมุ่งหมายที่ชัดเจนแล้ว จะเกิดปัญหาขึ้นมา

การกระทำที่เรามุ่งให้คนของเราทันสมัยเพื่อจะสู้กับตะวันตกได้นั้น ในเมื่อตะวันตกนั้นเราเกิดรู้สึกว่าไม่ต้องสู้ หรือเลิกสู้ได้แล้ว เพราะเขาไม่แสดงอาการรุกรานให้เห็นต่อไปอีก ก็เรียกได้ว่าความมุ่งหมายเดิมของการกระทำนั้นหมดไป ทีนี้ เมื่อเรายังมีการกระทำอย่างเดิมคือการสร้างความทันสมัยนั้นต่อไป โดยไม่ได้ตั้งความมุ่งหมายใหม่เข้ามารับช่วงแทน เราก็อาจจะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น คือคนของเราที่พยายามทำตัวให้ทันสมัยให้ทันเขานั้น จะขาดจุดหมายในการพัฒนา แล้วก็เลยเกิดความเลื่อนลอย มีจุดหมายพร่าๆ มัวๆ การพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัยอย่างประเทศตะวันตก เพื่อต่อสู้ต้านทานลัทธิอาณานิคมของตะวันตกได้นั้น ก็จะหดสั้นเข้า เหลือแค่ว่า พัฒนาเพื่อให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยตามอย่างประเทศตะวันตก แล้วจุดหมายที่ค้างอยู่ครึ่งๆ กลางๆ นั้น ก็อาจจะกลายหรือแปรไปในลักษณะที่เกิดไปนิยมชื่นชมเขาแล้วก็เลยเห่อฝรั่ง ตั้งหน้าตั้งตาเลียนแบบ มุ่งแต่ตามเขาอย่างเดียว

ในที่สุด แม้ว่าเราจะรอดพ้นจากความเป็นอาณานิคมทางการเมืองหรือการปกครองของฝรั่งมาได้ แต่เราก็อาจจะกลายเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจ และทางปัญญาของเขาไปโดยสมัครใจ อย่างไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น ความมุ่งหมายจะต้องมีอย่างชัดเจน ถ้าจุดหมายเดิมสำเร็จแล้ว แต่การกระทำยังดำเนินต่อไป ก็ต้องสร้างจุดหมายใหม่ให้เป็นที่กำหนดของจิตสำนึกเอาไว้ มิฉะนั้น ความมุ่งหมายที่ไม่ตั้งให้ชัดก็จะนำมาซึ่งปัญหา

ประการที่ห้า ในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนนั้น เราจะต้องทำสิ่งที่จำเป็นซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาด่วนนั้นก่อน ซึ่งในการทำเช่นนี้ บางส่วนในสังคมของเรานั้นจะเกิดอาการที่เจริญแซงล้ำหน้าส่วนอื่นๆ ที่เคยประสานกลมกลืนกันอยู่ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งทีเดียว กิจกรรมบางส่วนในสังคมของเราหรือในประเทศของเรา ตลอดจนคนบางประเภทในสังคมของเรา ได้เจริญล้ำหน้าคนพวกอื่นหรือกิจการส่วนอื่นที่เคยกลมกลืนประสานกัน จนกระทั่งว่า ส่วนที่เจริญแซงล้ำหน้าไปแล้วนั้นก็ไปแยกตัวโดดเดี่ยวเติบโตใหญ่เกินกว่าส่วนอื่นๆ เป็นสาเหตุนำมาซึ่งปัญหาต่อไป คือการที่สังคมแตกหรือภาวะชุมชนแตก และเกิดช่องว่างในด้านและวงการต่างๆ ตัวอย่างของการแซงล้ำหน้านี้ขอยกมาให้ฟังเช่นว่า

ในระดับประเทศ กรุงก็เจริญพัฒนาล้ำหน้ากว่าชนบท

ฝ่ายบ้านเมืองก็แยกตัวจากศาสนาและก้าวหน้าห่างกันไป

ในระดับชุมชน สถาบันการศึกษาคือโรงเรียนก็ล้ำหน้า และแยกตัวจากสถาบันอื่นที่เป็นองค์ประกอบของชุมชนเดียวกัน คือ ล้ำหน้าสถาบันครอบครัวหรือบ้าน ล้ำหน้าสถาบันวัด แยกตัวออกจากวัฒนธรรมพื้นบ้าน ละทิ้งภูมิธรรมภูมิปัญญาของหมู่บ้านไปเสีย ในทางวิชาการ วิชาชีพชั้นสูงต่างๆ ก็เจริญรุดเลยหน้าวิชาประเภทความคิด และคุณธรรม ในตอนที่เร่งรัดความทันสมัย เราจะไม่คำนึงถึงวิชาจำพวกปรัชญา และศาสนา

ในทางค่านิยมและพฤติกรรมของคนในสังคม คนก็แข่งขันกันเพื่อความเจริญก้าวหน้า โดยแสวงหาความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ตามความเจริญแบบที่ให้ทันสมัยนั้น จนเริดร้างออกไปจากคุณธรรมและจริยธรรม

ในด้านสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ชนส่วนน้อยก็รวยยิ่งขึ้น คนส่วนมากที่จนก็ยิ่งจนลง ฐานะก็ห่างจากกัน ช่องว่างก็กว้างไกล

ตกลงว่า สังคมได้สูญเสียความประสานกลมกลืนอย่างที่ในสมัยใหม่เขาใช้คำว่าระบบบูรณาการ ระบบบูรณาการนี้สูญเสียไป ชุมชนก็แตก เต็มไปด้วยช่องว่างในการดำเนินงานเพื่อการพัฒนา เมื่อความประสานกลมกลืนขององค์ประกอบในสังคมเสียไปแล้ว ก็ยากที่จะพัฒนาให้ได้ผลดี ความจริงปัญหานี้ได้เริ่มปรากฏขึ้นแล้วไม่นานหลังจากเริ่มการศึกษาแบบสมัยใหม่นั้น หรือหลังจากเริ่มความเจริญสมัยใหม่นี้ไม่นานเลย ประมาณ ๑๐-๒๐ ปี ก็ปรากฏแล้ว ซึ่งท่านผู้ดำเนินการรับผิดชอบการศึกษาสมัยนั้น ก็ได้ตระหนักดีถึงปัญหานี้ แต่เราก็ได้ปล่อยให้ปัญหานี้คืบหน้าต่อมาจนปัจจุบัน อาตมภาพจะขออ่านความคิดสมัยนั้นให้ฟัง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงแสดงทัศนะไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ตอนหนึ่ง ว่า

“เมื่อแรกในประเทศอินเดียจับบำรุงการเรียนวิชาขึ้น คนทั้งหลายทุ่มเทกันเรียนแต่วิชา ไม่เอาใจใส่ในการทำมาหากินตามตระกูลของตน เมื่อหาผลเพราะวิชาเรียนไม่ได้ เพราะคนมีมากกว่างานที่จะทำ นักเรียนที่ได้ประโยคสูงสุด ต้องรับจ้างเป็นบ๋อยชักพัดเขาก็มี ครั้นจะกลับไปทำกิจตามประเพณีเดิมก็ไม่ได้ฝึกฝนมาเสียแต่แรก ถึงในกรุงเทพฯ บัดนี้ก็จะลงหาเค้านั้น คนชอบเรียนหนังสือและพอใจเป็นเสมียนมาก ด้วยเห็นว่าง่ายไม่ลำบาก”5

อีก ๕ ปี ต่อมา คือใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงแสดงพระมติ ซึ่งเป็นการทบทวนผลการศึกษาเท่าที่ได้จัดมา ความตอนหนึ่งว่า

“ในชั้นต้น ได้จับบำรุงวิชาหนังสือขึ้นก่อน...ทั้งในราชการก็ยังต้องการคนรู้แต่เพียงวิชาหนังสือเท่านั้นอยู่มาก คนผู้สอบไล่ได้ในชั้นนั้น ก็ได้เข้ารับราชการ ได้ประโยชน์แก่แผ่นดินสมหมาย ทั้งเป็นโอกาสตั้งตนขึ้นได้ด้วย ข้อนี้เป็นเหตุให้คนทั้งหลายนิยมในการเรียนหนังสือมากขึ้น และตั้งใจจะเอาความรู้หนังสือเป็นการงาน เมื่อกาลล่วงไป...เมื่อคนรู้หนังสือมีดาดดื่น โอกาสที่จะขึ้นในราชการก็แคบเข้าทุกที เมื่อเป็นเช่นนี้ คนผู้ไม่ได้ช่องน่าจะต้องหันไปหาการงานเดิมของตระกูล แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเหตุว่า บากหน้ามาทางหนังสือแล้ว ก็หาได้สนใจในการงานนั้นไม่ จึงพาให้แลเห็นสั้นเฉพาะในการที่ตนถนัด จึงบากบั่นไปในทางหนังสือนั้นเอง ที่สุดเป็นแต่เพียงเสมียนคัดลอก ได้ผลน้อยๆ พอเป็นเครื่องเยียวยาชีวิตให้เป็นไปได้ก็มีโดยมาก

“เหตุดังนั้น การศึกษาวิชาหนังสือในชั้นนี้ ของพวกบุตรราษฎร ไม่เป็นอันโยงกับการศึกษาพิเศษสำหรับการงานเดิมของตระกูล กลับเป็นเครื่องเปลี่ยนพื้นเพไปในทางใหม่... โรงเรียนตั้งออกไปถึงไหน ความเปลี่ยนพื้นเพของคนก็มีไปถึงนั่น ในเมืองใกล้เคียง บุตรชาวนาเรียนหนังสือแล้วทำการเสมียนก็มี แลเห็นชัดว่า เมื่อล่วงมารดาบิดาแล้ว คนนั้นคงไม่ทำนาต่อไป ถ้านาเป็นของตระกูลเอง ก็น่าจะขายเสีย ในไม่ช้า ตระกูลผู้เป็นเจ้าของที่ดินเช่นนั้น ก็จะไม่มีอะไรเป็นหลักทรัพย์ กลับจะต้องหาเลี้ยงชีพด้วยกำลังแรง...

“ข้อที่การศึกษาสามัญที่จัดขึ้นไม่เป็นอันโยงกับการศึกษาพิเศษของราษฎรพื้นเมือง กลับเป็นเครื่องเปลี่ยนพื้นเพของเขา เพื่อความเป็นผู้ไม่มีหลักทรัพย์ฉะนี้ สมควรที่จะได้รับความดำริเป็นอย่างมาก…

...คนที่เข้าเรียนแล้ว มีแต่ไม่คิดกลับถิ่นเดิม และบากหน้าไปทางอื่น ข้อนี้นอกจากเปลี่ยนพื้นเพ ยังจะสอนให้รู้จักรักถิ่นฐานบ้านเมืองของชาติตระกูลยากด้วย”6

ทางด้านสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ได้มีรับสั่งชี้แจงในที่ประชุมเทศาภิบาลฝ่ายราชการในหน้าที่กระทรวงธรรมการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ มีความตอนหนึ่งว่า

“การศึกษาซึ่งได้เริ่มจัดตลอดมาแล้วนี้ ก็เพื่อฝึกหัดคนเข้ารับราชการตามความประสงค์ของบ้านเมือง ซึ่งกำลังขยายการงานออกทุกแผนกทุกทาง แต่บัดนี้ราษฎรพากันนิยมการเล่าเรียนมากขึ้นแล้ว เห็นได้โดยที่เปิดโรงเรียนขึ้นที่ไหน ก็มีนักเรียนเข้าเต็มที่นั่น หน้าที่ราชการจะหามีพอแก่ผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับราชการไม่ เมื่อเช่นนี้ผลซึ่งจะปรากฏในภายหน้าก็คือ ผู้เรียนไม่สมหวัง ความทะเยอทะยานอยากเข้าทำการตามวิชาที่เรียนมานี้มีตัวอย่างคือ ผู้ที่บิดามารดาเคยหาเลี้ยงชีพทางทำนาทำสวน บุตรที่ได้เข้าโรงเรียนแล้ว เมื่อออกทำการกลับสู้สมัครข้างรับจ้างเป็นเสมียน รับเงินเดือนแม้แต่เพียงเดือนละ ๒๐ บาท ถ้าชีวิตบิดามารดาหาไม่ บางทีจะเลยขายเรือกสวนไร่นา ละทิ้งถิ่นฐานเดิมของตัวเสียทีเดียวก็เป็นได้ เช่นนี้นับว่าการศึกษาให้โทษ...” 7

เมื่อมองเห็นสภาพเช่นนี้ ทางราชการก็ได้พยายามดำเนินการแก้ไข แต่อีก ๗ ปีต่อมา ปัญหาก็ยังคงปรากฏดังข้อความในประกาศชี้แจง เรื่องรูปโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๕๖ ของเสนาบดี กระทรวงธรรมการ (เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี) ตอนหนึ่งว่า

“...ปรากฏว่านักเรียนผู้ชายที่ได้เข้าเรียนวิชา พอถึงชั้นมัธยมได้ครึ่งๆ กลางๆ ยังมิทันจะจบก็พากันออกหาการทำในทางเสมียนเสียมาก...ความนิยมอันทุ่มเทไปในทางเดียวเช่นนี้ เป็นความเข้าใจผิดของประชาชน จนผู้คนไปล้นเหลืออยู่ในหน้าที่เสมียน ผู้ที่ไม่มีความสามารถพอ ก็ไม่มีใครรับไว้ใช้ คนเหล่านั้นก็ย่อมขาดประโยชน์ โดยหาที่ทำการไม่ได้ ทั้งการหาเลี้ยงชีพที่เหล่าตระกูลของตนเคยทำมาแต่ก่อน ก็ละทิ้งเสีย จะกลับไปทำก็ต่อไม่ติด จึงเกิดความลำบากขึ้น ...”8

ที่ท่านว่านี้เหมือนสภาพปัจจุบันแล้ว แทบไม่ผิดกันเลย มันเป็นมานานแล้ว ไม่ได้เป็นเฉพาะแต่บัดนี้ ต่างแต่ว่า ในปัจจุบัน ถึงเรียนจบสูงถึงอุดมศึกษาก็ยังล้นงาน ส่วนการอาชีพของตระกูลหรือของถิ่น ก็คงต่อไม่ติดเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อสังเกตต่างๆ อาตมภาพยกมาชี้มาอ้างพอให้เห็นในเวลาที่จำกัด

ขอพูดต่อไปเพียงเล็กน้อยว่า ในกรณีนี้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้บริหารประเทศซึ่งคุมนโยบาย จะต้องรู้เท่าทันความเป็นไปทั้งหมด รู้เท่าทันสภาพสังคม รู้เท่าทันสภาวการณ์ เมื่อการแก้ปัญหาหลักเสร็จไปตอนหนึ่ง ก็ต้องหันมาตั้งหลักแก้ปัญหาแทรกซ้อน และทำงานสร้างสรรค์ระยะยาว โดยวางแผนระยะยาวให้ดี เช่น หันมาพัฒนาเนื้อตัวให้สมกับเสื้อผ้าที่ศิวิไลซ์เป็นต้น พร้อมทั้งสร้างสภาพประสานกลมกลืนขององค์ประกอบต่างๆ ในสังคมต่อไป ถ้ารู้ไม่เท่าทันและไม่หันมาทำเช่นนี้ ปัญหาก็จะต้องเกิดท่วมทับทวีขึ้นมา และในเรื่องนี้ ก็อย่าโทษแต่ฝ่ายการศึกษาอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของการพัฒนาประเทศทั้งกระบวนการ จะต้องโทษผู้บริหารประเทศในระดับสูงสุดทีเดียว ที่จะต้องรับผิดชอบเป็นอันดับหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง ต่อมา เมื่อเราไม่ได้รีบแก้ปัญหานี้ คือไม่ได้หันมาตั้งหลักเตรียมตัวใหม่ให้ดีโดยชัดเจน ปัจจัยอื่นก็ตามเข้ามาท่วมทับซ้ำเข้าอีก ปัจจัยอื่นนั้นก็คือ ลัทธิทุนนิยมและระบบอุตสาหกรรม ซึ่งได้พรั่งพรูเข้ามาเป็นตัวหนุน ซึ่งส่งเสริมการแสวงหาวัตถุที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่ามีลักษณะเป็นวัตถุนิยม ทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น หมกมุ่นหลงใหลในวัตถุมากยิ่งขึ้น เพื่อจะให้เกิดความทันสมัยยิ่งขึ้น ทีนี้ ถ้าหากว่าผู้บริหารประเทศและนักการศึกษารู้ไม่เท่าทัน ไม่มีความคิดเข้าใจที่เจาะลึก ก็ยิ่งแก้ปัญหาไม่ทัน ไม่ตรงจุด สับสน แล้วก็พัฒนาแบบตั้งตัวไม่ติด แล้วทีนี้แทนที่จะเป็นผู้นำสังคม การศึกษา โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศ ก็จะต้องเป็นผู้ทำงานแบบตามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่เรื่อยไป ปล่อยให้การศึกษาเป็นตัวสนองตามสังคม แทนที่จะนำสังคม ครูก็เป็นผู้ตามค่านิยมของสังคม ไม่เป็นผู้นำของสังคม เมื่อแนวทางของสังคมเป็นไปในทางก่อให้เกิดปัญหา การศึกษาไทยตามสังคมก็คือ ไปช่วยเพิ่มปัญหา ขยายปัญหาให้มากยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น โดยนัยนี้ การศึกษาไทยที่ดำเนินมาในสายความเจริญแบบที่ว่ามาแต่ต้นนั้น เมื่อก้าวสู่ยุคใหม่ ก็จึงเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้แก้ปัญหา มาสู่ความเป็นตัวการสร้างปัญหา หรือผ่านจากยุคแก้ปัญหามาเป็นยุคก่อปัญหา ตอนนี้คิดว่า ขอเพียงตั้งข้อสังเกตไว้ก่อน ตอนต่อไปจะพูดถึงปัญหาว่ามีอะไรบ้าง แล้วจะแก้กันอย่างไร

ตอน ๒ สร้างปัญหา

ในช่วงนี้ อยากจะพูดถึงเรื่องปัญหาบ้าง ที่พูดมาแล้วช่วงที่หนึ่งก็คือช่วยแก้ปัญหา คราวนี้ช่วงที่สองก็จะเป็นช่วงของการสร้างปัญหา แต่อยากจะเน้นอะไรบางอย่างเสียก่อน คือ

ข้อพึงเน้นในการแก้ปัญหา

อย่างที่พูดแล้วข้างต้นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการศึกษาไทยนี่ เราจะต้องไม่โทษเพียงตัวการศึกษาหรือวงการศึกษาเท่านั้น เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะมองปัญหาในวงแคบเกินไป แล้วก็ทำให้การแก้ปัญหานั้นติดตัน แต่เราจะต้องมองถึงการบริหารประเทศทั้งหมด เริ่มแต่ผู้นำนโยบายในการบริหารประเทศ ซึ่งโยงมาถึงการศึกษา และการศึกษานี้เองก็เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของสังคมที่สัมพันธ์กับกิจกรรมอย่างอื่นทุกอย่าง พูดได้ว่า สังคมไทยเราทั้งหมดนี้ได้มีส่วนร่วมกันในการสร้างปัญหาขึ้น เพราะฉะนั้น แทนที่จะบอกว่าการศึกษาสร้างปัญหา เราอาจจะพูดว่า ปัญหาทางการศึกษาที่เราจะต้องแก้ จะดีกว่า จะทำให้ไม่รู้สึกจำกัดตัวที่จะโทษเฉพาะการศึกษา แล้วก็มองปัญหาการศึกษากันแค่ ในวงการศึกษาเท่านั้น

อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะเน้น ก็คือ เรื่องที่การศึกษาในปัจจุบันไม่ค่อยจะเป็นผู้นำสังคมเสียแล้ว แต่คอยตามสนองความต้องการของสังคมมากกว่า ตามความเป็นจริงนั้น การศึกษาต้องทำทั้งสองหน้าที่ ทั้งตามสนองความต้องการของสังคมและนำสังคม แต่บทบาทที่สำคัญมากกว่าก็คือนำสังคม ทีนี้ ถ้าหากว่าการศึกษาทำหน้าที่ตามสนองความต้องการของสังคมมากไปหรืออย่างเดียว ก็จะเป็นอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ถ้าสังคมเดินผิดทาง ก็เท่ากับว่า การศึกษาไปตามช่วยเพิ่มปัญหาให้สังคม การศึกษาก็จะเสริมขยายปัญหาสังคมและสร้างปัญหาแก่สังคมไปโดยไม่รู้ตัว

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่คนเรานี้มักจะเอียงสุด อย่างที่ท่านอาจารย์รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ท่าน ดร.เอกวิทย์ พูดเมื่อกี้แล้ว คือว่า ไม่ควรจะมองแต่ด้านเสียอย่างเดียว จะเห็นว่า ในระยะนี้เราชักจะนิยมพูดกันถึงเรื่องปัญหาต่างๆ ในทางการศึกษาว่า การศึกษาไม่ดีอย่างนั้นๆ ว่ากันไปๆ เราก็จะมองเห็นแต่แง่ร้าย นั่นคือการไปสุดโต่งข้างหนึ่ง การมองแต่ดีก็ไปสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง ถ้าเรามองแต่สุดโต่งข้างเดียวแล้วก็จะทำให้เป็นการพรางตาตัวเองในการแก้ปัญหา เราอาจจะแก้ปัญหาโดยวิธีที่ไปสุดทางอีกด้านหนึ่ง แล้วต่อไปเราก็จะต้องประสบปัญหาอีกด้านหนึ่ง วนไปวนมา

การศึกษาของเราที่จัดทำกันมานี้ ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นั่นเป็นลักษณะทั่วไป แต่มันก็มีส่วนดีอยู่ในตัวเองบ้างเหมือนกัน แม้แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้นเอง มันก็ยังดำเนินอยู่และต้องทำต่อไป เพราะเงาหรืออิทธิพลของปัญหาเฉพาะหน้านั้นก็ยังไม่หมดไป ฉะนั้น ผลดีของการศึกษาที่สืบมาแต่เดิมนั้นก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งเราก็ต้องมองส่วนดีด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท เราจะต้องพยายามมองสิ่งที่เป็นปัญหาไว้ให้มากสักหน่อย เพื่อว่าเราจะได้เร่งรัดตัวเองในการที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น

อีกประการหนึ่ง ในเรื่องของการมองปัญหา ลักษณะที่ถูกต้องอย่างหนึ่งก็คือการมองปัญหาให้ครอบคลุม มองให้ทั่ว เพราะว่า ปัญหาต่างๆ นั้น โดยปกติแล้วมันสัมพันธ์โยงกันไปหมด บางทีมันแทบจะเป็นปัญหาเดียวกันนั่นเอง แต่ปรากฏออกมาเป็นด้านต่างๆ ของปัญหานั้น ถ้าเราไม่มองปัญหาให้ครอบคลุม มาจำกัดตัวอยู่กับปัญหาอันหนึ่งๆ การแก้ปัญหาก็จะมีลักษณะของการที่แก้พอให้รอดตัวไปครั้งหนึ่งๆ แล้วมันก็จะทำให้ยุ่ง วุ่นวาย สับสนมากขึ้น

สาเหตุของปัญหาก็เช่นเดียวกัน สาเหตุของปัญหานั้นมักจะอิงอาศัยกัน โยงกัน สัมพันธ์กันไปหมด ฉะนั้น เราจะต้องจับตัวปัญหาให้ชัด แล้วก็ดูว่า เหตุปัจจัยของปัญหาอยู่ที่ไหน อะไรบ้าง จับให้ได้ แล้วไล่ดูว่า มันสัมพันธ์อิงอาศัยส่งต่อกันอย่างไร เรื่องนี้ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นกระบวนการอิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท สิ่งทั้งหลายในสังคมนี้ย่อมอิงอาศัยเชื่อมโยง สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะสิ่งที่สัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกันเป็นอย่างยิ่งก็คือ กระบวนการของการก่อปัญหา ฉะนั้น ในการวิเคราะห์ปัญหาจึงจะต้องมองปัญหาให้ครอบคลุมแล้วก็โยงกันให้ได้ แล้วสืบค้นเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันให้พบ แล้วแก้ให้ตรงเหตุตรงปัจจัย มิฉะนั้นแล้ว การแก้ปัญหาจะไม่ตรงจุดแล้วก็ยาก

ปัญหาการศึกษาที่จะต้องแก้

ต่อไปนี้ก็อยากจะพูดถึงปัญหาของสังคมของเราในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา หรือเป็นปัญหาทางการศึกษาที่จะต้องแก้ในเวลาที่สั้นนี้ ก็จะขอพูดแบบสรุปพอให้มองเห็นกว้างๆ ว่า เรามีปัญหาอะไรบ้าง

ข้อที่หนึ่ง ซึ่งสืบเนื่องจากที่พูดมาแล้วก็คือ เรื่องที่ว่า การศึกษาสมัยใหม่ของเรานี้ ได้ทำให้เด็กแปลกแยกจากชุมชน หรือท้องถิ่นของตน เรื่องนี้หลายท่านก็พูดกันอยู่ ซึ่งการแปลกแยกนี้ อาจจะมีลักษณะที่รุนแรงถึงกับทำให้ดูถูกวิถีชีวิตของชุมชน ไม่มีความภูมิใจในถิ่นของตน ในวัฒนธรรมของตน เมื่อไม่ภูมิใจและไปดูถูกเสียแล้ว ก็เลยไม่ยอมรับ ไม่อยากศึกษา เข้าไม่ถึง และเลยไม่รู้จักที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ นอกจากนั้น เมื่อแปลกแยกจากชุมชนท้องถิ่นของตน ก็จะมีลักษณะอีกประการหนึ่งคือ เกิดช่องว่างระหว่างพ่อแม่กับลูก เกิดช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ลูกไม่สืบต่ออาชีพของพ่อแม่ คนรุ่นใหม่เข้ากับชุมชนเดิมไม่ได้ ต่อจากนั้น ในแง่ของวัฒนธรรม ภูมิธรรมภูมิปัญญาของท้องถิ่นก็ถูกละเลยทอดทิ้ง เมื่อถูกละเลย ทอดทิ้ง สิ่งเหล่านั้นก็ค่อยๆ เลือนรางหายไป เหมือนกับถูกทำลายไปเอง ไม่มีผู้สืบต่อ

ผลเสียตามมาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ ทรัพยากรคนของท้องถิ่นถูกดูดสูบขุดออกไป ผลเสียข้อนี้สืบเนื่องจากลักษณะของการศึกษาที่เป็นเครื่องมือเลื่อนสถานภาพทางสังคม ซึ่งทำให้คนเล่าเรียนศึกษาเพื่อไต่เต้า อย่างที่ท่านอาจารย์รองปลัดกระทรวงฯ ท่านพูดบ่อยๆ ว่า ไต่บันไดดารา ทุกคนก็คิดจะเข้ากรุงกัน พยายามที่จะแสวงหาฐานะที่สูงในทางสังคม คนที่ดีที่สุดเก่งที่สุดของท้องถิ่นก็มีทางเป็นไปได้มากที่สุด ที่จะละทิ้งถิ่นฐาน ออกจากชุมชนไป เมื่อละทิ้งถิ่นฐานออกจากชุมชนไป คนดีของชุมชนนั้นก็หมดไป เมื่อไม่มีคนดีมีคุณภาพ ชุมชนชนบทก็ทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ

ข้อที่สอง ต่อจากปัญหานี้ ก็คือ การศึกษาของเรานั้น แต่เดิมมาที่เราจัดขึ้น มีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ การสนองระบบราชการโดยผลิตคนเพื่อเข้ารับราชการ แล้วในปัจจุบันมันก็ขยายมาถึงว่าเพื่อมารับใช้ระบบอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน คือ เป็นการดึงคนจากชนบทเข้าสู่เมืองทั้งนั้น ทีนี้ต่อมา ปัญหาก็มีขึ้นใหม่อีกว่า พอดึงไปดึงมา มากันมากเข้ามากเข้า ในที่สุดงานไม่พอทำ ก็เกิดปัญหาการว่างงานขึ้นในเมือง ทีนี้ทางฝ่ายชนบท คนดีมีคุณภาพออกไปเข้าเมืองหมด ก็เกิดอาการขาดแรงงานที่จะพัฒนาท้องถิ่น และในเวลาเดียวกัน คนที่เราดึงเข้ามาสู่เมืองนั้น ก็กลายเป็นคนที่แปลกแยกจากชุมชนเดิม เข้ามากรุงเทพฯ แล้วกลับไปท้องถิ่นไม่ได้อีก กลายเป็นคนที่ไร้ประโยชน์ จะมาช่วยในเมืองก็ช่วยไม่ได้เพราะว่าเต็มเสียแล้ว จะกลับไปช่วยท้องถิ่นตัวเองก็ไม่รู้จักชุมชนนั้น แปลกแยกเข้ากับเขาไม่ได้ และทำอะไรไม่ได้ ก็อุดตันหมด

ที่ร้ายกว่านั้นอีกคือ เมื่ออยู่ในกรุง ก็ไม่มีงานทำ จะกลับท้องถิ่นก็ไม่ได้ หรือไม่ยอม ก็เลยต้องสร้างปัญหาอยู่ในเมืองนั่นเอง คนก็ติดตันหมดทางไปทั้งในเมืองและในชนบท ปัญหาก็เพิ่มขึ้นทั้งในเมืองและในชนบท นี่เป็นความอับจนของการศึกษาอย่างหนึ่ง อันนี้ก็เป็นปัญหาการศึกษาที่พ่วงมากับลักษณะที่ว่า ได้กลายเป็นเครื่องมือเลื่อนฐานะทางสังคม ซึ่งสืบเนื่องมาจากค่านิยมเจ้าคนนายคน

ต่อไปอีก ข้อที่สาม ก็คือ ปัญหาความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษา การกระจายโอกาสในทางการศึกษาไม่ทั่วถึง หรือไม่สม่ำเสมอ ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากการดำเนินการศึกษาแบบนี้ที่มีความพร้อมไม่เพียงพอ ตั้งแต่รัฐได้เริ่มต้นมาจนตลอดเวลา เท่าที่ผ่านมานี้ เราต้องแก้ปัญหาเรื่องการกระจายโอกาสทางการศึกษากันมาเป็นปัญหาหนักทีเดียว แม้ว่าเราจะประสบผลสำเร็จพอสมควรในระดับประถมศึกษา ซึ่งเดี๋ยวนี้มีความเสมอภาคมากทีเดียว แต่ในระดับมัธยมและอุดมศึกษา เราก็ยังอยู่ห่างไกลจากความสำเร็จ และแม้ในระดับประถมศึกษานั่นเอง กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้มันก็กินเวลาตั้งเท่าไร และระหว่างนั้นมันได้ทำให้มีปัญหาแทรกซ้อนหรือคู่ขนานอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ในเวลาสั้นๆ นี้ จะยกมาสักปัญหาเดียวเป็นตัวอย่าง คือ การที่วัดและคณะสงฆ์ได้กลายเป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม อันนี้เป็นสภาพที่ได้เป็นมานาน จนกระทั่งตัวเลขพระเณรได้กลายเป็นดัชนีชี้สภาพความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และเป็นตัวเลขที่ชัดเจนมาก เราพูดได้ว่า วัดในเมืองในกรุงนี้ ก็คือ ชุมชนชนบทในเมือง วัดทั้งหมดทั่วกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนี้ พระเณรถ้าไม่ใช่ผู้บวชชั่วคราวในพรรษาแล้ว ๙๕% เป็นชาวนา ๙๙% เป็นชาวชนบททั้งสิ้น และเป็นผู้มาเพื่อการศึกษา และเข้ามาเพราะเข้าในระบบของรัฐไม่ได้ เพราะฉะนั้น ตัวเลขของพระเณรเหล่านี้จึงสัมพันธ์กับการจัดการศึกษาของบ้านเมือง พอการศึกษาของบ้าน เมืองขยายไปถึงไหน ตัวเลขเณรก็หมดลงที่นั่น

ขอให้ดูเลยทุกแห่ง ถ้าการศึกษาของรัฐไปถึงไหน ตัวเลขเณรที่จะบวชก็หมดที่นั้น ฉะนั้น เวลานี้จึงมีตัวเลขเณรบวชมากที่สุดแถวๆ ภาคอีสาน และภาคเหนือที่ห่างไกล ถ้าเป็นภาคกลางก็มาจากชุมชนกันดารปลายแดน นี้ก็เป็นตัวอย่าง และเราจะต้องมองปัญหานี้รวมอยู่ในปัญหาการศึกษาของเรา คือของสังคมไทยทั้งหมดด้วย ขอพูดต่อไปก่อน เพราะเรื่องนี้เราอาจจะต้องโยงกลับมาอีกที

ทีนี้ ข้อที่สี่ เป็นปัญหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับการศึกษา ซึ่งปรากฏชัดในปัจจุบันนี้ คือ การที่เราพัฒนาให้ทันสมัย สร้างความเจริญทางวัตถุ แล้วระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเข้ามา เราพยายามที่จะเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมนั้น ถ้าไม่มีสติยับยั้งให้ดี ไม่รอบคอบ แก้ปัญหาไม่เป็นในระดับชาติ และการศึกษาไม่รู้จักนำสังคม ก็ทำให้ระบบวัตถุนิยมเฟื่องฟู ทีนี้ วัตถุนิยมที่เฟื่องฟูในลักษณะที่ไม่มีการนำทาง หรือปราศจากการศึกษาที่ถูกต้อง ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็จะเป็นวัตถุนิยมในลักษณะที่ส่งเสริมให้เกิดค่านิยมบริโภค ซึ่งเป็นวัตถุนิยมในด้านที่ไม่ดี ถ้าเป็นวัตถุนิยมในด้านส่งเสริมการผลิตก็ยังดี แต่น่าเสียใจที่ของเรานี้มันเป็นค่านิยมบริโภค

ขณะนี้ เรากำลังมีปัญหามาก กับการที่คนของเราส่วนมากมีค่านิยมบริโภค แทนที่จะมีค่านิยมในการผลิต แล้วเราก็ต้องมาคิดแก้ปัญหากันอย่างหนักว่า ทำอย่างไรจะให้คนของเรามีค่านิยมในการผลิต เวลานี้คนของเรามุ่งไปแต่ในทางว่ามีอะไรต่ออะไรเพื่อให้โก้เก๋โอ่อ่า วัดเกียรติวัดฐานะกันด้วยยศลาภ มีการแก่งแย่งแข่งขันเอารัดเอาเปรียบกัน เพื่ออำนาจ เพื่อเงินทอง เพื่อความโก้หรูหรา ฟุ้งเฟ้อ ไม่คิดในการที่จะสร้างสรรค์ทำงานผลิต เมื่อมีค่านิยมบริโภค ไม่ชอบผลิตอย่างนี้ แม้แต่การพัฒนาทางวัตถุก็ยากที่จะสำเร็จด้วยดี

ปัญหาต่อไป ข้อที่ห้า ก็คือ เรื่องความเสื่อมของสถาบันครู ครูมีสถานภาพทางสังคมตกต่ำ เสื่อมโทรมลงไป ลดคุณค่าจากความเป็นปูชนียบุคคล ปัจจุบันนี้ แม้แต่ตัวครูเองก็ไม่ค่อยจะยอมเป็นปูชนียบุคคลแล้ว และสังคมก็ไม่ค่อยยอมรับด้วย ฐานะของครูซึ่งเคยเป็นที่เคารพนับถือเดี๋ยวนี้เสื่อมทรามลงมาก นอกจากเสื่อมสถานภาพในทางสังคมแล้ว ก็มีคุณภาพเสื่อมลงด้วย เสื่อมลงเริ่มตั้งแต่การที่เอาคนที่มีสติปัญญาค่อนข้างด้อยมาให้ครุศึกษา เพราะว่าการเข้าสู่อาชีพครูกลายเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อเป็นทางเลือกสุดท้ายก็ไม่มีโอกาสที่จะคัดเลือกคนดีมีคุณภาพ ซ้ำร้ายรัฐเองก็อาจจะไม่ค่อยมีนโยบายส่งเสริมคุณภาพครูด้วย

ต่อไป ข้อที่หก ก็คือ ความเสื่อมโทรมจากคุณธรรม จริยธรรม และมีปัญหาทางจิตใจ เริ่มตั้งแต่ครูสอนจริยธรรม นอกจากครูจะเป็นอาชีพหางแถวแล้ว ลึกลงไปในบรรดาครูด้วยกัน ครูจริยศึกษาเป็นครูหางแถวในบรรดาครูทั้งหมด เพราะฉะนั้น ในเมื่อครูก็แย่อยู่แล้ว ครูจริยศึกษายิ่งแย่ แล้วจริยศึกษาจะไม่แย่ได้อย่างไร มีผู้พูดกันมาอยู่เรื่อยว่า เอาคนที่สอนอะไรไม่ได้ไปสอนศีลธรรม ไปสอนจริยศึกษา ปัจจุบันนี้ สังคมตระหนักถึงปัญหาจริยธรรมมากขึ้นแล้ว เพราะเราประสบปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของสังคมนี้มากมาย เราก็เริ่มตื่นตัว แต่ว่าจริยศึกษาก็ไม่ทันการอยู่นั่นเอง

นอกจากการขาดครูทางด้านจริยศึกษาที่มีคุณภาพแล้ว หันมาดูระบบการศึกษาของเราทั้งหมด อย่างการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนี่ ทั้งๆ ที่เราก็พูดกันปาวๆ ว่า เราจะต้องส่งเสริมจริยศึกษา แต่เวลาสอบคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยนี่เราเอาอะไร เราก็เอาแต่เนื้อหาวิชาเป็นหลักอยู่นั่นแหละ แล้วโรงเรียนมัธยมก็ต้องสนองความต้องการของมหาวิทยาลัย เพราะเรามีค่านิยมในการที่ว่าเรียนเพื่อมุ่งเข้ามหาวิทยาลัย ไต่เต้าให้สูงที่สุด เพราะฉะนั้น โรงเรียนมัธยมก็แข่งขันกัน ในการที่ว่า จะผลิตนักเรียนที่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยให้มากที่สุด เมื่อทางมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียกร้องจริยธรรมแล้ว โรงเรียนมัธยมจะไปสนองทำไม ทางฝ่ายมัธยมก็ให้การศึกษาที่เน้นเนื้อหาวิชาไปตามเดิม

ทีนี้ ต่อไปอีก สุขภาพจิตของคนก็เสื่อมโทรมลงไปเหมือนในประเทศพัฒนาทั้งหลาย มีความเครียด ความกระวนกระวาย โรคจิต ความเห็นแก่ตัว การแก่งแย่งแข่งขัน ไร้น้ำใจ

ต่อไป ข้อที่เจ็ด ก็คือ ความเข้าใจต่อความหมายของการศึกษาเอง ปัญหานี้หยั่งลึกลงไปถึงรากฐานทีเดียว ดังที่พูดแต่แรกว่า เราให้การศึกษากันมาในระบบนี้ โดยเริ่มด้วยการที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อแก้ปัญหานั้นผ่านไปได้แล้ว เราไม่ได้กลับมาตั้งหลักให้ดี การศึกษาเป็นเครื่องมือผลิตคนเข้ารับราชการ และการที่จะก้าวหน้ามีฐานะในสังคม มีลาภยศ มีทรัพย์สมบัติวัตถุบริโภคมาก สนองค่านิยมที่จะเป็นเจ้าคนนายคน และต่อมาก็สนองค่านิยมบริโภคด้วย ต่อมา ชาวบ้านทั่วๆ ไปเขามองการศึกษาในความหมายอย่างไร เขาไม่เข้าใจความหมายของการศึกษาว่า เป็นการพัฒนาความสามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชนของตน แต่เขาเข้าใจการศึกษาว่า คือ เครื่องมือในการเลื่อนสถานะทางสังคม อันนี้ชัดเจนมากทีเดียว ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากการดำเนินการศึกษาอย่างสมัยใหม่ ตั้งแต่ต้นนั่นแหละ

เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยมาเข้ากับเรื่อง คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม และความต้องการแท้ ความต้องการเทียม ชาวบ้านก็มีความต้องการเทียม คือการที่จะแข่งขันวัดฐานะกันในทุกสิ่งทุกอย่าง การศึกษาก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการที่จะวัดฐานะกันด้วย ก็จึงสนองความต้องการนี้ ทีนี้ความต้องการแท้ที่ว่าจะให้มีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาชุมชน ก็เลยถูกละทิ้งมองข้ามไปหมด ชาวบ้านไม่มองเห็นการศึกษาในความหมายอย่างนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เขาจะมาพัฒนาชุมชนของเขาให้ได้ผลได้อย่างไร เพราะเขาไม่มอง ไม่สนับสนุนความหมายของการศึกษาในแง่นั้น

ต่อมา ปัญหาใหม่ก็เกิดซ้อนขึ้นมาบนปัญหาเก่านั้นอีก กล่าวคือ เมื่อลูกหลานของประชาชนเหล่านั้น หรือของชาวบ้านเหล่านั้น ได้รับการศึกษามาแล้ว ไม่สามารถเลื่อนสถานะทางสังคมได้ กลับมาว่างงาน แล้วกลับไปเป็นปัญหาแก่บ้าน ทีนี้ ผลต่อไป คืออะไร ผลก็คือ ประชาชนปัจจุบันกำลังเริ่มหมดศรัทธาในการศึกษา ประชาชนเริ่มไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา เพราะว่าไม่สนองความต้องการของเขา อันนี้ก็เป็นอันตรายยิ่งใหญ่ด้วย

ทีนี้ต่อไปอะไรอีก นอกจากหมดศรัทธาในการศึกษาแล้ว ประชาชนกำลังมีปัญหาตามมาอีกอย่างหนึ่ง คือว่า ชาวบ้านทั่วไปกำลังจะเพิ่มความไม่มั่นใจ ความไม่เชื่อถือในกลไกและระบบงานของรัฐ อันนี้จะเป็นปัญหามากเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐด้วย ในเรื่องนี้ รัฐจะต้องไม่มองเฉพาะรายงานตามสายราชการเท่านั้น ขอให้ฟังเสียงนกเสียงกาด้วย เพราะว่า คนที่อยู่นอกวงราชการนี้ บางทีก็ได้เห็นอะไรที่ชัดๆ เหมือนกัน ฉะนั้น เรื่องนี้อย่าประมาท เพราะถ้าประชาชนหมดความเชื่อถือในกลไกระบบงานของรัฐเสียแล้ว จะเป็นสัญญาณอันตรายที่ร้ายแรง

เอาละ นี่ก็เป็นปัญหาต่างๆ ซึ่งยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ซึ่งเราจะต้องแก้ แต่ได้บอกแล้วว่า ปัญหาเหล่านี้บางทีมันก็เป็นเพียงด้านต่างๆ ของปัญหาเดียวกัน แล้วก็เกิดมาจากเหตุเดียวกัน หรือเหตุปัจจัยกลุ่มเดียวกัน หรือในกระบวนการเดียวกัน เราจะต้องพยายามโยงให้เห็นถึงกัน สาเหตุใหญ่ๆ ของปัญหามีอะไรบ้าง ก็อย่างที่พูดมาแล้ว เช่น หนึ่ง การทำประเทศให้ทันสมัย แต่ต่อมาเมื่อจุดหมายเดิมเสร็จสิ้นแล้ว ไม่ได้ปรับเปลี่ยนการกระทำ และไม่ได้ตั้งเป้าหมายใหม่รับให้พอดี การทำให้ทันสมัยนั้นก็เลยกลายเป็นการตามฝรั่งไป สอง ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การทำให้เด็กแปลกแยกจากชุมชน และชุมชนแตกสลาย ชนบทสูญเสียทรัพยากร ทรุดโทรมอ่อนแอ สาม เรื่องวัตถุนิยมที่มาออกผลในด้านค่านิยมบริโภค แล้วก็ สี่ การไม่รู้จักสังคมไทย นี้เป็นข้อสำคัญมาก ขอเน้นไว้ด้วย ต่อนี้ไปก็อยากจะพูดถึงแนวทางในการแก้ปัญหาสักนิดหน่อย

แนวทางในการแก้ปัญหา

ดังได้กล่าวแล้ว สาเหตุสำคัญของปัญหาการศึกษาไทย ซึ่งเป็นปัญหาไปด้วยในตัว ก็คือ เรื่องสภาพชุมชนแตก และอีกอย่างหนึ่ง คือ การไม่รู้จักสังคมไทย เมื่อไม่รู้จักสังคมไทย ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศก็นำสังคมเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมในลักษณะที่ทำให้ชุมชนรวนเรระส่ำระสาย เราจะเห็นว่า ลักษณะการดำเนินนโยบายของรัฐนี้ คล้ายๆ กับจะให้สังคมไทยเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม แต่ในเวลาเดียวกันนั้น เพราะการไม่รู้จักไม่เข้าใจชุมชนหรือสังคมเพียงพอ ก็ทำให้ชุมชนรวนเรระส่ำระสาย ถ้าหากว่าเราเข้าใจสังคมของเราดี แม้ว่าเราจะมีวัตถุประสงค์ในการเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม เราก็จะมีวิธีการเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมที่แนบเนียนกว่านี้ แม้ว่าการเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมนั้นจะยังเป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์ว่า เราควรจะทำแค่ไหน

ขอพูดต่อไปถึงแนวทางในการแก้ปัญหา การศึกษาเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งของการพัฒนาสังคม และการพัฒนานั้นจะเป็นไปด้วยดี ก็ต่อเมื่อองค์ประกอบทุกส่วนของสังคมพัฒนาไปด้วยกันอย่างประสานกลมกลืน เพราะฉะนั้น แนวทางอย่างหนึ่งในการจัดการพัฒนาประเทศหรือพัฒนาสังคมก็คือ

หนึ่ง จะต้องให้กิจกรรมทุกอย่างในการพัฒนา ทั้งวิทยาการและระบบการทุกอย่าง ทำงานอย่างประสานกลมกลืนและเกื้อกูลแก่กัน การศึกษาจะต้องเข้าร่วมในกระบวนการพัฒนาตามแนวทางนี้

สอง ในแง่ของการศึกษาโดยเฉพาะ จะต้องให้การศึกษาเป็นเครื่องช่วยให้องค์ประกอบทุกส่วนของชุมชน พัฒนาขึ้นไปด้วยกันอย่างประสานกลมกลืน นี้เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งการศึกษาจะช่วยได้ และมีหน้าที่จะต้องช่วย แต่ขณะนี้ ในการจัดการศึกษา เมื่อเรามองไปที่ชุมชนนั้น เรามองไปที่ไหน เรามองไปแต่ที่นักเรียนของเรา หรือมองไปที่โรงเรียนมากไป เราไม่มองว่า ชุมชนนี้มีองค์ประกอบอะไรร่วมอยู่ด้วย และการศึกษาจะไปช่วยพัฒนาองค์ประกอบเหล่านั้นได้อย่างไร นี้เป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สองก็คือ จะต้องให้การศึกษาประสานกลมกลืนกับกิจกรรมอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาของชุมชน และสาม จะต้องให้สถาบันทุกฝ่ายที่เป็นองค์ประกอบของชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษา อันนี้ พูดพันกันไปพันกันมา แต่เป็นสามด้านด้วยกัน

จะยกตัวอย่างข้อเน้นในเรื่องที่ว่า ผู้บริหารประเทศของเรานี่เกรงว่าจะไม่ค่อยรู้จักสังคมไทย ไม่เข้าใจชุมชนไทย ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เคยมีท่านผู้ใหญ่ในวงการศึกษาบางท่านบอกว่า การศึกษาของรัฐ รัฐก็จัด การศึกษาของวัด วัดก็จัด ต่างคนต่างทำ การพูดอย่างนี้ ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง อาจจะเป็นนโยบายของประเทศไทยในอีก ๕๐ ปีข้างหน้าได้ แต่ไม่ใช่ปัจจุบัน เพราะว่านโยบายการศึกษา หรือการจัดการศึกษาของเราสืบเนื่องมาจากเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน เมื่อเราเริ่มจัดการศึกษานั้น วัดกับรัฐนี่ช่วยกันจัด แล้วสภาพนั้นก็ยังสืบทอดมา ยังตัดตอนไม่ได้ เมื่อไปตัดตอนเข้ามันก็เกิดผลเสีย เพราะฉะนั้น อันนี้จะต้องมองให้ชัด

ที่ว่าการพูดอย่างนั้นไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง ก็เพราะเป็นที่ปรากฏชัดอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า การศึกษาของวัด รัฐจัดก็มี และการศึกษาของรัฐ วัดจัดก็มี ที่ว่านั้นจึงไม่ตรงความจริง การศึกษาของวัด รัฐก็จัด ดังเห็นกันอยู่ว่า พระเณรพากันไปเข้าเรียนในโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ นิยมไปเรียนของรัฐมากกว่าของวัดเอง ทีนี้การศึกษาของรัฐ วัดก็จัด ก็คือ คนของรัฐที่เข้าสู่ระบบของรัฐเองไม่ได้ ก็มาเข้าวัด การที่มีพระเณรสองสามแสนรูปนั้น เฉพาะเณรที่เป็นแสนสองแสนนั้นก็คือเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐไม่ได้ แล้วมาใช้วัดเป็นช่องทางการศึกษาแทบทั้งสิ้น ถ้าเราไม่จัดการกับเรื่องนี้ให้ดี ปัญหาสังคมจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เรามองไหมว่า ปัญหาเรื่องอะไรต่างๆ ที่กำลังฉาวโฉ่เกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์นี้ มันสืบเนื่องมาจากการดำเนินการศึกษาที่ตัดแยกกันนี้ด้วย เป็นผลระยะยาว

อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า จำนวนพระเณร คือดัชนีชี้สภาพความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสทางการศึกษาที่มีมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ปัจจุบันนี้ เรามีมหาวิทยาลัยทางโลกและมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในฝ่ายมหาวิทยาลัยทางโลกนี้ ท่านอาจารย์ผู้ดำเนินการอภิปรายได้บอกแล้วว่า มีลูกชาวไร่ชาวนาเข้าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งหมดไม่ถึง ๑๐% ทีนี้ หันไปดูมหาวิทยาลัยสงฆ์ อาตมภาพเคยสำรวจทั้งหมดในตึกเดียว ๖๗๘ รูป มีเกิดในกรุงเทพฯ หนึ่งรูป นอกนั้นเกิดในชนบททั้งสิ้น เป็นลูกชาวนา และกสิกรอื่นๆ ๙๑.๖๙% นับว่าเป็นตัวเลขที่ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น ให้ท่านดูได้เลยว่า ตัวเลขพระเณรคือดัชนีชี้สภาพความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสทางการศึกษา อาจจะเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไปอีกหลายสิบปีก็เป็นได้ ถ้าเราไม่จัดการกับเรื่องนี้ให้ดีแล้ว ผลเสียจะต้องเกิดขึ้นมากมาย ที่ว่ามานี้ในระดับรัฐ

ทีนี้ ในระดับชุมชน เราจะต้องแยกแยะให้ดี จะต้องพิจารณาว่า ชุมชนประกอบด้วยอะไรบ้าง องค์ประกอบหลักของชุมชนคือ สถาบัน บ้าน+วัด+โรงเรียน บ้าน วัด โรงเรียนนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ตลอดมา หน่วยราชการไปทำหน้าที่อะไรต่อชุมชน หน่วยราชการอยู่ในชุมชนได้จริงหรือเปล่า เป็นส่วนประกอบของชุมชนได้ไหม และควรจะไปอยู่ในฐานะอะไร หน่วยราชการอาจจะไปอยู่ในฐานะผู้คอยช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ หรือไปช่วยอุปถัมภ์ให้กำลังเป็นสื่อกลางระหว่างชุมชนกับส่วนกลาง หรือเป็นตัวแทนของส่วนกลางที่คอยเอื้ออำนวยแก่ชุมชน อยู่ในฐานะเป็นคนนอกเสียมากกว่า แล้วตัวชุมชนเองมีใครบ้าง จะต้องดูให้ออกให้หมด ที่แน่นอนก็คือ บ้าน วัด โรงเรียน

แม้วัดจะเลิกให้การศึกษาแก่นักเรียนแล้ว แต่วัดก็ยังให้การศึกษาแก่ชาวบ้านอยู่ ชาวบ้านส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ไปรับการศึกษาจากวัด โดยเป็นแบบระบบนอกโรงเรียน หรือ Informal Education เป็นการศึกษาที่ไม่เป็นทางการ วัดจะให้การศึกษาอยู่เรื่อยไป ถ้าปฏิบัติในเรื่องนี้ถูกต้อง วัดหรือพระก็จะยังคงเป็นหน่วยสำคัญ ที่จะช่วยในการทำให้ลูกกับพ่อแม่เข้ากันได้ หรือผู้ใหญ่เข้ากับเด็กได้ และให้บ้านกับโรงเรียนกลมกลืนกัน เจ้าอาวาสเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของชุมชน และพระก็เป็นคนที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ถ้าเราสามารถทำให้พระมีการศึกษาดี ที่จะนำความคิดถูกต้องแก่ประชาชน ก็จะนำประชาชนไปในทางที่ถูกต้องได้ แต่ถ้าพระคุณภาพต่ำ อาจจะชักชวนชาวบ้านไปสู่ความหายนะก็ได้ ปัจจุบันนี้ คุณภาพของพระเป็นอย่างไร เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณา ถ้าคุณภาพของพระเสื่อมลงแล้วชาวบ้านจะเป็นอย่างไร

ทีนี้ต่อไปก็คือ ผู้นำในหมู่บ้าน ผู้นำในหมู่บ้านนี้เรามักจะมองข้ามไป ไม่เห็นว่าเขามีความสัมพันธ์กับวัดอย่างไร ผู้นำในหมู่บ้านนั้น นับว่าเป็นผู้บริหารวัดด้วยถัดจากเจ้าอาวาส ขอให้ไปดูเถิดในต่างจังหวัดนั้น ผู้นำของชาวบ้านจะไปบริหารวัดด้วย และวัดก็เป็นแหล่งที่ผู้นำของหมู่บ้านเหล่านี้มาพบปะทั้งกับพระและชาวบ้าน ผู้นำของชาวบ้านนี่เขาไปพบกับชาวบ้านที่ไหน โดยมากก็พบที่วัด แล้วเขาก็อาศัยวัดเป็นที่เข้าถึงชุมชน นอกจากเข้าถึงชุมชนแล้ว เขาก็แสวงหาความเป็นผู้นำของชุมชนโดยไปที่วัด แล้วก็ใช้วัดนั้นเป็นที่แสดงหรือใช้ความเป็นผู้นำด้วย รวมความว่า แสวงหาความเป็นผู้นำก็ที่วัด ใช้ความเป็นผู้นำของตนต่อประชาชนก็ที่วัด แม้แต่ครูเองก็ไม่เว้น ครูเอง ก็มักจะใช้ความเป็นผู้นำของตนและแสวงหาความเป็นผู้นำของตนจากที่วัดเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เราจะต้องให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้ด้วย จะต้องไม่ละทิ้งองค์ประกอบสามประการของชุมชน จะต้องให้องค์ประกอบในชุมชนของเขาประสานกลมกลืนกัน ถ้าเรามองเห็นว่าการเจริญเติบโตพัฒนาอย่างประสานกลมกลืนเป็นสิ่งสำคัญแล้ว เราจะละทิ้งองค์ประกอบของชุมชนเหล่านี้ไม่ได้ การวางนโยบายการศึกษาจะต้องครอบคลุมชุมชนทั้งหมดด้วย

แม้มาถึงระดับของรัฐก็เหมือนกัน การที่กระทรวงศึกษาธิการมีทั้งหน่วยงานด้านการศึกษาและมีกรมการศาสนาอยู่ในนั้น ได้เป็นประเพณีมาตั้งแต่รัชกาลที่ห้า ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าท่านเห็นว่า สถาบันศาสนากับชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ ปัจจุบันนี้ ในเมื่อมันยังเป็นอย่างนั้นอยู่ การที่เราจะมองกิจการศาสนากับการศึกษาแยกกันย่อมไม่ถูกต้อง แต่ตามที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทั้งที่อยู่ในกระทรวงเดียวกัน เวลาเรามอง เรามักมองด้วยความรู้สึกเหมือนว่าเป็นกิจการคนละอย่าง ถ้าอย่างนี้แล้วก็จะไม่ประสาน ไม่กลมกลืนกัน ไม่สอดคล้องกับระบบของเราที่มีมาแต่เดิม แล้วก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่กำลังเป็นอยู่ด้วย ฉะนั้น การวางนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะวางโดยเป็นแผนรวมที่ให้การศึกษากับศาสนาเข้ามาประสานสอดคล้องกัน คณะสงฆ์จะต้องมาร่วมด้วย จะต้องพิจารณาว่า ทางคณะสงฆ์จะจัดการศึกษาอย่างไร จึงจะกลมกลืนเอื้อต่อกันกับระบบการศึกษาของรัฐ เป็นต้น และในระดับชุมชน ก็ต้องให้มีความประสานกลมกลืนในการพัฒนา ทั้งของพระสงฆ์ ชาวบ้าน และเด็กนักเรียน

อันนี้ก็เป็นปัญหาต่างๆ ที่จะต้องพิจารณา โดยเฉพาะสภาพชุมชนปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องที่เราน่าจะต้องรีบพิจารณาแก้ไข ขอพูดอย่างสั้นๆ ว่า ในบรรดาสถาบันหรือองค์ประกอบหลักของชุมชนที่มีสาม คือ บ้าน วัด และโรงเรียนนั้น เวลานี้เรามองไปที่โรงเรียน ครูก็จ๋อง เดี๋ยวนี้ครูจ๋องแล้ว โดยตกต่ำทั้งคุณภาพและสถานภาพ ทีนี้ ต่อไป มองมาที่วัด พระก็เจ็บ ตอนนี้พระกำลังป่วยร่อแร่ๆ อยู่ โดยขาดทั้งสมรรถภาพและประสิทธิภาพ ที่จะนำชาวบ้านไปด้วยดี และมีความเสื่อมโทรมอ่อนแอปรากฏขึ้นทั่วไป ทีนี้สาม มองไปที่บ้าน ตาสีก็กำลังโซ ตาสีนี่โซทั้งทรัพย์และโซทั้งสติปัญญา และเมื่อมองหาผู้คนที่จะมาช่วยแก้ปัญหาต่อไป ก็ปรากฏว่าลูกหลานของตาสีตาสาได้พากันออกจากหมู่บ้านไปแทบหมดแล้ว นี่คือสภาพชุมชนของเราในปัจจุบัน เราจะทำอย่างไรก็ต้องรีบช่วยกันแก้ปัญหา และจะช่วยแก้ปัญหาก็ต้องช่วยทั้งชุมชน มองปัญหาทุกอย่างในลักษณะที่เรียกว่า สัมพันธ์โยงซึ่งกันและกัน แล้วก็วางวิธีการแก้ไปตามหลักการที่ว่า เหตุปัจจัยอิงอาศัยซึ่งกันและกัน สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จะต้องทำให้องค์ประกอบทั้งหลายพัฒนาไป โดยมีความประสานกลมกลืนกัน

การแก้ปัญหามิใช่มีเพียงเท่านี้ แต่ในเวลาที่จำกัด ก็ต้องยกมาพูดเน้นให้เด่นชัดเพียงบางเรื่องบางข้อ จากส่วนย่อยในระดับชุมชนนี้ ขอข้ามขึ้นไปถึงส่วนรวมทั้งหมดในระดับชาติเลยทีเดียว เรื่องสำคัญที่พูดไว้แต่ต้น ซึ่งขอย้ำในที่นี้ คือ เรื่องจุดหมายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการศึกษาจะต้องช่วยกำหนดวาง และทำให้คนในสังคมนี้ตระหนักชัด ทำให้เกิดจิตสำนึกร่วมกันของคนในชาติ ได้พูดไว้ข้างต้นว่า เมื่อเริ่มการศึกษาสมัยใหม่ เราพัฒนาประเทศ เพื่อให้เจริญก้าวหน้าทันสมัย เพื่อจะได้สามารถต่อสู้ต้านทานลัทธิอาณานิคม แต่เมื่อจุดหมายนี้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว เราปล่อยให้การพัฒนาเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าทันสมัย ดำเนินไปอย่างเลื่อนลอย ไร้จุดหมายที่ชัดเจน จนกระทั่งการสร้างความเจริญก้าวหน้านั้น จะมีความหมายเพียงเป็นการตามอย่างฝรั่ง หรือตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วไปเรื่อยๆ

เป็นอันว่า เราจะต้องตั้งจุดหมายใหม่ขึ้นมาให้ชัดเจน แต่จะเอาอะไรเป็นจุดหมาย ถ้าจะตั้งให้ได้ผลอย่างญี่ปุ่นว่า จะต้องให้ชาติเรายิ่งใหญ่ที่สุด เจริญที่สุด ก้าวหน้ายิ่งกว่าประเทศใดๆ ก็เห็นว่าไม่น่าสนับสนุน เพราะมีลักษณะคับแคบ เป็นทางก่อปัญหาแก่มนุษย์ร่วมโลกในระยะยาว

ขอเสนอว่า ไหนๆ เราก็ถลำหรือพลาดกันมานานแล้ว ก็ควรจะตั้งจุดหมายที่ดีที่สุดและก้าวหน้าที่สุด เวลานี้กำลังเกิดความสำนึกกันมากขึ้นว่า ความเจริญก้าวหน้าของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย กำลังจะถึงจุดติดตัน วิทยาการต่างๆ กำลังจะถึงที่อับจน อารยธรรมของมนุษย์กำลังจะหลงทิศทาง ในสภาพเช่นนี้ โลกต้องการภูมิปัญญาใหม่ที่จะชี้นำทางให้ สังคมไทยน่าจะพิสูจน์ตนเองว่า มิใช่สามารถแต่เพียงตามอย่างเขาไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะไปสู่วัฒนาหรือหายนะเท่านั้น แต่มีภูมิธรรมภูมิปัญญาที่จะเสนอให้เป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติได้ด้วย จุดหมายที่จะตั้งขึ้นนี้ พึงมุ่งให้เห็นทางออกของอารยธรรมมนุษย์ ชี้นำทิศทางใหม่ของการพัฒนาที่ถูกต้องให้แก่มวลมนุษย์

จุดหมายที่ตั้งขึ้นแล้ว จะเร้าให้เกิดจิตสำนึกและเกิดพลังในการที่จะสร้างสรรค์ความก้าวหน้าของวิทยาการ การจัดวางระบบการต่างๆ ตลอดจนปฏิบัติการทั่วๆ ไปในการพัฒนา ให้มุ่งแน่วแน่ไปในแนวทางที่ร่วมกันอย่างชัดเจน ไม่ใช่เพียงอยู่กันไป และทำกันไปอย่างเปะปะเลื่อนลอย ซึ่งเมื่อไม่รู้ว่าจะทำเพื่ออะไรที่ดีกว่า ก็เลยกลายเป็นเพียงนักบริโภค หันไปเอาดีด้วยการอวดเก่ง อวดโก้ ในหมู่พวกเดียวกันเอง

อย่างไรก็ตาม เรื่องจุดหมายนี้ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องพูดกันอีกมาก ในที่นี้ เพียงให้เห็นว่า จำเป็นต้องมี และเสนอแนวคิดกว้างๆ ว่าควรจะมีลักษณะอย่างไร เมื่อเห็นร่วมกันว่าจะต้องมีแล้ว ก็มาช่วยกันทำให้ชัดเจนต่อไป ซึ่งคงจะต้องพูดกันอีกมาก คราวนี้ขอยกเรื่องตั้งรูปขึ้นมาเพียงเท่านี้ก่อน อาตมภาพก็ขอเสนอไว้ และขออนุโมทนา

ตอบคำถามทั่วไป

ค่านิยมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นตัวกำหนดวิถีของสังคมทั้งหมด และวิถีชีวิตของบุคคลแต่ละคน ที่อาตมภาพพูดมาเมื่อกี้ ก็พูดถึงค่านิยมเพียงชุดเดียว คือ ค่านิยมบริโภค และค่านิยมผลิต การที่จะกำหนดค่านิยมขึ้นมาให้แก่สังคมว่าในช่วงนี้เราควรจะเน้นค่านิยมใด ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องร่วมกันหรือช่วยกัน ใครควรจะช่วยกันบ้าง ในการที่จะวางค่านิยมเหล่านี้ อันนี้เป็นเรื่องที่ว่าต้องทำตลอดสาย ไม่ใช่เพียงส่วนกลางอย่างเดียว แต่หมายถึงชุมชนท้องถิ่นในชนบทด้วย

การที่จะวางค่านิยมเหล่านี้ก็มีอยู่ ๒ ด้าน คือ ด้านบวกกับด้านลบ แต่เริ่มต้นต้องศึกษาปัญหาก่อนว่า เรามีปัญหาอะไรที่เกี่ยวข้องกับค่านิยม ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข อันนี้มองในแง่ลบ แล้วก็แก้ค่านิยมที่มีอยู่แล้วแต่ว่าเป็นด้านลบนั้นเสีย โดยหาค่านิยมบวกที่ตรงกันข้ามมาทดแทน นี้ก็อย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาที่มีอยู่แล้วในด้านค่านิยม เพราะว่าสังคมมีค่านิยมอยู่แล้วตลอดเวลา

ทีนี้ ต่อไป ค่านิยมในทางสร้างสรรค์นอกเหนือจากนั้นเราจะเอาอะไรอีกบ้าง นี้เป็นหลักการทั่วไป แต่จะให้อาตมภาพเสนอว่า มีอะไรบ้าง ก็คงจะได้เพียงเป็นตัวอย่าง แล้วก็สัมพันธ์กับที่พูดมาแล้ว เช่นอย่างว่า เรามีปัญหาค่านิยมบริโภค ก็อาจจะมาเน้นข้อนี้ว่าเราควรจะหาทางแก้ไขเสีย ให้ค่านิยมบริโภคนั้นเปลี่ยนมาเป็นค่านิยมผลิต ทีนี้ทำอย่างไรค่านิยมผลิตจะเกิดขึ้น มันก็ไปสัมพันธ์กับองค์ประกอบ หรือปัจจัยอย่างอื่นในทางการศึกษาอีก โดยเฉพาะสิ่งที่ทางพระเรียกว่า ฉันทะ คือ ความใฝ่ดี ใฝ่ความจริง ใฝ่ดีคือใฝ่ทำดี ใฝ่ความจริงคือใฝ่รู้

ในสังคมไทยมีปัญหาเรื่องการขาดความใฝ่รู้มาก แม้แต่ในทางการศึกษานี้ เราก็เห็นชัดว่าที่เป็นมานี่ระบบต่างๆ มันไปเอื้อในทางที่ทำให้เราต้องการเรียนเพื่อจะเลื่อนสถานะทางสังคม ผู้เรียนก็ไม่ค่อยมีความใฝ่รู้ เรียนไปอย่างนั้นเอง สอบให้ได้ใบมา เพื่อจะไปเข้างานอะไรอย่างนี้ การกระตุ้นความใฝ่รู้ไม่ค่อยมี บางทีความใฝ่รู้เดิมที่มีอยู่บ้างก็เลยถูกบดบังเลือนรางไป กลายเป็นว่า การศึกษาแทนที่จะพัฒนาฉันทะ ก็กลับทำลายฉันทะเสีย การใฝ่รู้ความจริงนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องสร้างขึ้น

ด้านที่สองของฉันทะนี้ ก็คือ ใฝ่เห็นความดีงาม ใฝ่สิ่งที่ดีงาม ต้องการเห็นชนบทของเราสะอาดเรียบร้อย มีความสงบสุข ไม่มีผู้ร้ายโจรขโมย ประชาชนมีสุขภาพดี อะไรพวกนี้ การใฝ่ความดีแบบนี้เราไม่ค่อยสำนึก ไม่ค่อยกระตุ้นย้ำเน้น เวลาเราพัฒนาคนมักจะนึกกันแต่ในแง่ว่า เราจะได้ผลประโยชน์อะไร นอกจากได้เงินเดือนแล้ว ก็มองไปถึงสิ่งบริโภค สิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เครื่องอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบาย มีรถยนต์ ถ้าเป็นชาวบ้านนอก ก็อาจจะมีรถมอเตอร์ไซค์ ไม่ใช่เพียงในความหมายว่าเป็นพาหนะหรอก แต่เอามาแข่งโก้กัน ชาวบ้านนอกจำนวนมากนี่มุ่งจะโก้วัดฐานะกันอวดโก้กันด้วยสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือยว่า ใครมีอะไร ใครไม่มีอะไร ไม่ได้มองในแง่คุณค่าที่แท้จริง นี่จึงมาสัมพันธ์กับเรื่องปัญหาคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม เราแสวงหาสิ่งบริโภคเหล่านั้นมาเพื่อบริโภคคุณค่าเทียม ไม่ใช่เพื่อคุณค่าแท้

สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กันหมด ถ้าเราแก้ได้ให้เขาใฝ่รู้ใฝ่ความจริง ใฝ่ความดีงาม มันก็จะไปแก้ค่านิยมบริโภค แล้วก็ทำให้การที่จะสร้างค่านิยมผลิตพลอยง่ายขึ้นด้วย นี้ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า แม้แต่เรื่องค่านิยมนี่ก็ไปสัมพันธ์โยงกันกับปัจจัยอื่นๆ ที่เราจะต้องมองไปให้ทั่วด้วย

อย่างไรก็ตาม ขอเน้นข้อที่ได้พูดไว้ว่า ปัญหาปัจจุบันของเรา โดยเฉพาะค่านิยมบริโภค ค่านิยมแห่งความโก้เก๋ ที่ทำให้เราคิดจะมีสิ่งบริโภคต่างๆ โดยมุ่งเพื่อความโก้เก๋เป็นสำคัญ อันนี้ เป็นตัวที่ทำให้เกิดอุปสรรคมากมายแก่การพัฒนาประเทศ เราจะต้องแก้อันนี้ นอกจากนั้น ก็วางแนวทางสร้างสรรค์ วางเป้าหมายการพัฒนาของเรา แล้วก็วางค่านิยมที่สอดคล้องกับจุดหมายของเรานั้น อันนี้เป็นเรื่องส่วนรวมที่จะต้องช่วยกันทำ ซึ่งจะโยงไปถึงกิจกรรมอื่นในทางการศึกษา เช่น จริยศึกษา เป็นต้น

จริยศึกษานี่แหละเป็นตัวสำคัญที่จะสร้างค่านิยม ทั้งแก้ค่านิยมที่ผิด และสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง ว่าโดยหลักการทั่วไป อาตมภาพก็เห็นอย่างเดียวกับท่านอาจารย์นายกสมาคมฯ ว่า ครูทุกคนต้องเป็นครูจริยศึกษาข้อนี้แน่นอน แต่ในการแก้ปัญหาของประเทศในปัจจุบันนี้ ในขณะที่เรากำลังประสบปัญหาว่า ครูทั่วไปมักจะมีปัญหาทางจริยธรรมเองด้วย จะมาสอนจริยธรรมได้อย่างไร แม้แต่ครูที่เรากำหนดให้สอนจริยศึกษา เป็นผู้ชำนาญพิเศษในเรื่องจริย ศึกษาเองก็ยังแย่ เราจะค่อยๆ ดำเนินไปสู่การแก้ปัญหาเป็นขั้นตอนหรือค่อยเป็นค่อยไปอย่างไร อาตมภาพก็เลยอยากเสนอทางประนีประนอมว่า ในระหว่างนี้ ซึ่งเรายังไม่สามารถจะทำให้ครูทุกคนเป็นครูจริยศึกษาได้ เราอาจจะใช้ระบบที่มีอยู่นี้ให้เป็นประโยชน์ก่อน โดยวิธีแก้ปัญหาเรื่องการสอนจริยศึกษาและครูสอนจริยศึกษา

หนึ่ง เรื่องครูสอนจริยศึกษา ทำอย่างไรจะเพิ่มพูนคุณภาพของครูจริยศึกษาในทุกวิถีทาง เริ่มแต่ให้ความสำคัญมากขึ้น อย่าให้เป็นทางเลือกสุดท้ายของครู อย่าให้เป็นแบบที่ว่า ครูคนไหนสอนวิชาอื่นไม่ได้แล้วก็เอามาสอนจริยศึกษา และให้มีการส่งเสริมคุณภาพอย่างแท้จริง ให้เป็นครูจริยศึกษาที่มีความรู้จริงๆ แล้วก็คัดเลือกในทางความประพฤติด้วย ต้องยอดครูจึงให้เป็นครูจริยศึกษา

สอง วิธีสอนจริยศึกษาก็ปรับปรุงใหม่ให้เป็นการสอนแบบสนามรวม อาตมภาพขอใช้คำนี้ จริยศึกษานี้เป็นสนามรวมของวิชาการต่างๆ ครูที่สอนจริยศึกษาจะต้องมีความรู้กว้างขวางครอบคลุม อย่างน้อยก็รู้เข้าใจวิชาการทั่วๆ ไป แล้วก็เอามาโยงกันในวิชาจริยศึกษานี้ โดยชี้แนวทางที่จะประสานกลมกลืนวิชาอื่นๆ ทั้งความประสานกลมกลืนระหว่างวิชาเหล่านั้นด้วย และกับวิถีชีวิตของตนและของชุมชนด้วยว่า ทำอย่างไรนักเรียนจะนำเอาวิชาเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเกิดผลดี การใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ชุมชนของเราเป็นอย่างไร เราจะช่วยชุมชนของเราได้อย่างไรเป็นต้น นี่เป็นปัญหาของจริยศึกษาทั้งสิ้น แม้แต่ว่าเทคโนโลยีนี้เราควรจะมีท่าทีปฏิบัติต่อมันอย่างไรจึงจะถูกต้องทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตน ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมของเรา นี่เป็นเรื่องของจริยศึกษาทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่หัวข้อธรรมเป็นอย่างๆ ว่า ให้มีสติ ให้มีขันติ ให้มีเมตตา ให้มีปัญญา แล้วก็เป็นแต่หัวข้อธรรมสำหรับท่องบ่น ไม่ไปสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิต จริยศึกษาที่แท้จริง ก็คือการฝึกฝนพัฒนาให้รู้จักวิธีดำเนินชีวิตที่ดีงาม ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว นี้คือจริยศึกษา ซึ่งจัดโยงเอาวิชาการต่างๆ เข้ามาหากัน นี้เป็นลักษณะของการสอนจริยศึกษา

สาม ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือ เรื่ององค์ประกอบของชุมชน องค์ประกอบของชุมชนที่มีอยู่สามอย่างนี้ ทำอย่างไรจะให้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา ซึ่งเดิมนั้นทั้งสามอย่างก็ต้องมีหน้าที่ในการศึกษาทั้งนั้น บ้านก็ต้องมีหน้าที่ในการศึกษา คือ พ่อแม่ก็ต้องมีหน้าที่ในการศึกษา วัดก็มีหน้าที่ในทางการศึกษามาแต่เดิม แล้วเราจะทำอย่างไรให้องค์ประกอบหรือสถาบันเหล่านี้มามีส่วนร่วมในทางการศึกษาที่เหมาะสมกับหน้าที่ ภาวะ และตำแหน่ง ฐานะของตน อย่างวัดนี่ ตอนนี้ก็ไม่มีบทบาทโดยตรงในระบบการศึกษาแบบที่เรียกว่าระบบโรงเรียน แต่ในชุมชนซึ่งเป็นการศึกษานอกโรงเรียนนั้น เด็กก็ตาม ชาวบ้านก็ตาม มีการศึกษาตลอดเวลา และวัดก็มีบทบาทนี้ ทำอย่างไรเราจะไปส่งเสริม อย่างน้อยให้วัดนี่มีส่วนช่วยส่วนรวมในการให้จริยศึกษาแก่เด็ก และแก่สังคมทั้งหมด

ในการที่จะทำอย่างนี้เราก็จำเป็นจะต้องเอาองค์ประกอบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องนี้ เข้ามาร่วมพิจารณาในการวางนโยบายการศึกษาด้วยว่าจะเอาอย่างไร มิฉะนั้นแล้ว สังคมของเราในปัจจุบัน ซึ่งมีสภาพแบบชุมชนแตกทำลายแล้วนี้ จะประสานกันไม่ติด แล้วก็ไม่เกื้อกูลต่อกัน กระบวนการพัฒนาก็จะไม่ดำเนินไปด้วยดี เพราะฉะนั้น ก็หันกลับมาสู่จุดที่พูดกันเมื่อกี้ว่า ในการที่จะดำเนินการศึกษาต่อไป จะต้องมาวางนโยบายร่วมกัน หรือวางนโยบายให้ครอบคลุมองค์ประกอบทั้งหมดที่มีอยู่ในชุมชน ก็ขอเสนอไว้เท่านี้ก่อน

การจัดประชุมครั้งนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาอยู่ในตัวแล้ว เพราะแสดงถึงการคิดในทางสร้างสรรค์ โดยมีความห่วงใยประเทศชาติ และห่วงใยสังคมนี้เป็นพื้นฐาน การห่วงใยนั้นแสดงออกมา โดยประกอบเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ทำให้เรามาช่วยกันหาทางว่า จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้อย่างไร จะช่วยกันสร้างสรรค์พัฒนากันต่อไปอย่างไร เป็นการมาช่วยกันระดมความคิด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะจบสิ้นในที่นี้ จะต้องทำกันต่อไป และความจริง ก่อนนี้ก็ได้ทำกันมาหลายพักหลายตั้งแล้ว ทำอย่างไรเราจะได้เห็นเป็นจริงเป็นจังกันเสียที แต่ก่อนจะออกสู่ภาคปฏิบัติที่จริงจังนั้น ก็ควรจะมีความชัดเจนในทางความคิดเสียก่อน จึงเป็นการดีที่เราพยายามมาช่วยกันคิด ช่วยกันพิจารณาถกเถียงกัน

เมื่อให้โอกาสอาตมภาพแล้ว ก็ขอพูดแทรกไว้อีกหน่อย เมื่อกี้นี้ ท่านอาจารย์อธิบดีวิรัช กมุทมาท ท่านได้ขอให้อาตมภาพพูดอีกนิดหนึ่ง ท่านพูดถึงเรื่องจริยศึกษาว่า เดี๋ยวนี้ก็ถึงกับมีการจัดห้องสมาธิ ห้องวิปัสสนากันขึ้น เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา แต่ในเวลาเดียวกัน อาตมภาพก็ขอแสดงความรู้สึกที่มาปะทะตัวเองอยู่นิดหนึ่ง คืออย่างที่กล่าวแล้วว่า คนเรานี้มักจะชอบเอียงสุด คือว่า ไปสุดทางนี้แล้วก็ไปสุดทางโน้น ซึ่งรวมไปถึงว่า เอียงสุดทางวัตถุ แล้วก็จะไปเอียงสุดทางจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวัง ในการจัดกิจกรรมเหล่านี้ มีข้อที่อยากจะให้ไม่ประมาทกันไว้อย่างหนึ่ง คือ ควรระวังการเสพติดทางจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องระวังมาก เพื่อมิให้กลายเป็นสภาพเอียงสุด อันนี้ก็ขอพูด เป็นเรื่องสั้นๆ แล้วผ่านไปเลย

ทีนี้ เรื่องเกี่ยวกับการจัดจริยศึกษา ท่านบอกว่า ในชนบทนั้น บ้าน วัด โรงเรียน ก็เป็นคติประจำอยู่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่า ก็คือ ในสังคมเมืองจะทำอย่างไร อันนี้อาตมภาพว่า ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขได้ง่าย ในเมื่อเราได้ปล่อยให้ปัญหานี้ทับถมมานาน มันเป็นเรื่องของการสั่งสมปัญหาระยะยาว จนกระทั่งไปเกี่ยวพันถึงคุณภาพของคนที่จะมาทำงานเหล่านี้ กล่าวคือ ในเมื่อเราปล่อยปละละเลยเรื่องนี้มานาน คนที่จะทำงานเรื่องนี้ได้ ก็ค่อยๆ หมดไปและไม่มีคนใหม่มาสืบต่อ แล้วเวลานี้เราเกิดจะทำขึ้นมา ก็เลยกลับไม่มีคนที่จะมาทำงานนี้ให้ได้ เราจึงจะต้องมาทำงานระยะยาวกันใหม่อีก คือการสร้างสรรค์คนที่จะมาทำงาน ซึ่งไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น ในชนบทก็เช่นเดียวกัน เช่น เราหวังให้พระและพ่อแม่หรือชาวบ้านมาช่วยให้การศึกษาแก่ลูกแก่เด็กด้วย แต่ท่านเหล่านั้น ก็ต้องเป็นผู้ได้รับการศึกษาเสียก่อน แล้วเราได้คิดอะไรบ้างในการที่จะให้การศึกษาแก่พ่อแม่เด็ก ให้การศึกษาแก่พระ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงบอกว่า เราจะต้องช่วยกันคิดพิจารณาว่า จะให้การศึกษาแก่ชุมชนทั้งหมด แก่องค์ประกอบในชุมชนนั้นได้อย่างไร มาถึงในเมืองก็เช่นเดียวกัน สถาบันสงฆ์ก็ต้องการที่จะมีการศึกษา

อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ ขณะนี้ ในการวางแผนนโยบายเกี่ยวกับการศึกษา เรามองเป็นว่า การศึกษาก็เรื่องหนึ่ง ศาสนาก็เรื่องหนึ่ง สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันศาสนา ซึ่งไม่ตรงความจริง เราต้องมองสถาบันศาสนาในฐานะสถาบันสังคมสถาบันหนึ่ง สถาบันสงฆ์นั้นมีความหมายในทางสังคมอยู่มาก แล้วก็เป็นสถาบันการศึกษาด้วย ทำอย่างไรจะให้ท่านมาร่วมคิดร่วมทำด้วยในส่วนที่ท่านเกี่ยวข้อง พระสงฆ์โดยเฉพาะคณะสงฆ์จะต้องหันกลับมาเอาใจใส่ในการศึกษา ขณะนี้ พระสงฆ์ในระดับนโยบายเป็นเหมือนกับว่า ท่านไม่รู้สึกว่าท่านมีหน้าที่ทางการศึกษา แล้วท่านจะเอาเรื่องนี้ไปวางแผนให้เกิดเป็นแนวความคิด และนโยบายในการบริหารและการปกครองอย่างไร ถ้าเราจะให้ท่านมีส่วนร่วมในเรื่องการศึกษา เราจะทำอย่างไร

เรื่องนี้ก็โยงมาถึงการที่จะต้องปรับปรุงแม้แต่กฎหมายเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ขณะนี้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ให้ความสำคัญทางด้านการปกครองอย่างเดียว โดยลืมว่า พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับเดิมๆ อย่างที่อาตมภาพอ่านมา ตั้งต้นแต่ ร.ศ. ๑๒๑ นั้น มันมาจากการศึกษาโดยตรงเลยทีเดียว และ พ.ร.บ. นั้นก็ให้ความสำคัญแก่การศึกษามาก แต่มาถึงปัจจุบันนี้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ให้ความสำคัญเฉพาะแต่ด้านการปกครอง นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในเรื่องที่ว่า เราจะต้องมาช่วยกันคิดแก้ไขอะไรอย่างไร

อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องเฉพาะของสถาบันสงฆ์อย่างเดียวหรอก มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทุกอย่างของสังคม ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ทุกอย่างเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น การประชุมครั้งนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและหาหนทางในการที่จะทำงานที่เป็นการสร้างสรรค์ ให้เจริญงอกงามดียิ่งขึ้นไป เมื่อได้มาร่วมประชุมกันอย่างนี้แล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา ก็ขอให้เราทั้งหลายอย่าได้มีความท้อใจ อย่าท้อใจว่า ปัญหามันมากมายเหลือเกินจะแก้ไม่ไหว เพราะว่าปัญหานั้น คือ อุปสรรคที่จะต้องแก้ไข เป็นสิ่งที่ท้าทาย เราจะต้องมีกำลังใจสู้ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย จนกระทั่งเกิดความเพลินคิดเสียว่า ไม่เป็นไรหรอก อยู่อย่างนี้เป็นอย่างนี้ก็ดีแล้ว แล้วก็เลยตกอยู่ในความประมาท ก็เสียอีก หลักสำคัญในพระพุทธศาสนา ก็คือ ความไม่ประมาท จะต้องเร่งรัดแก้ไขสิ่งที่ควรแก้ กระทำสิ่งที่ควรทำ นั่นคือหลักการทั่วไป เมื่อปฏิบัติตาม ก็จะนำไปสู่การประสบความสำเร็จในกิจการทุกอย่างทุกประการ

อาตมภาพขออนุโมทนา ต่อทางสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ที่ได้มีความดำริอันเป็นกุศล จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น และขออนุโมทนาต่อคณะกรรมการ ต่อคณะท่านผู้ร่วมอภิปราย และต่อท่านผู้ร่วมในการประชุมนี้ทุกท่าน ขอให้เราทั้งหลายจงได้มีกำลังใจ กำลังสติปัญญา ในการที่จะช่วยกันคิดช่วยกันทำงานทุกอย่างทางการศึกษานี้ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป และขออานุภาพคุณพระรัตนตรัย จงอภิบาลรักษาทุกท่าน ขอเจริญพร

1คำอภิปราย ในการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ ของสมาคมนักเรียนทุน รัฐบาลไทย ณ อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน ในสำนักงาน ก.พ. ๒๓ มกราคม ๒๕๓๑
2คุณหญิงอัมพร มีศุข
3ม.ร.ว.จันทร์แรม ศิริโชค จันทรทัต
4ดร.วิชัย ตันศิริ
5วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. ประมวลพระนิพนธ์: ลายพระหัตถ์เกี่ยวกับการศึกษา. (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๔), หน้า ๓๐๙.
6วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. ประมวลพระนิพนธ์: การศึกษา. (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๔), หน้า ๗๓-๘๐
7กระทรวงศึกษาธิการ. ประวัติกระทรวงศึกษาธิการ ๒๔๓๕-๒๕๐๗. (กรุงเทพฯ ร.พ. คุรุสภา, ๒๕๐๗), หน้า ๑๘๔
8เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๒๘
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง