มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บันทึกของผู้เรียบเรียง

(ในการพิมพ์ครั้งที่ ๓)

 

หนังสือ มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์ นี้ เกิดจากคำบรรยายแก่คณะนักศึกษา ปริญญาโท สาขาศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่วัดญาณเวศกวัน เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๐

ที่จริง หัวข้อเดิมที่คณะนักศึกษาตั้งไว้และนิมนต์ให้พูด ชื่อว่า "ทัศนะของพุทธศาสนาต่อศาสนาอื่น" แต่ผู้บรรยายได้พูดในแง่ว่า ทัศนะต่อศาสนาอื่น หรือความต่างศาสนา ไม่ควรเป็นสาเหตุให้เกิดการเบียดเบียนทำร้ายกัน คือไม่ควรก่อปัญหาแก่สันติภาพ หากควรทำให้คนอยู่ร่วมกันด้วยดี มีเมตตาไมตรีต่อกัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีปัญญาที่รู้ตามเป็นจริง คือรู้ตามที่มันเป็น ไม่ใช่มีแต่ความเห็น โดยไม่หาความรู้ ดังนั้น เมื่อพิมพ์เป็นหนังสือจึงเรียกชื่อใหม่ที่ตรงกับเนื้อหา

หลังบรรยายไม่นาน คุณภาวนีย์ บุญวรรณ ในนามกลุ่มนักศึกษาและผู้สนใจ ประสงค์จะพิมพ์คำบรรยายเป็นเล่มหนังสือ และได้นำบทลอกเทปมามอบให้ตรวจชำระ แต่ผู้บรรยายมีภาระด้านอื่นมาก กว่าจะได้เริ่มงานตรวจชำระ เวลาก็ล่วงไปนาน และแม้เมื่องานเริ่มแล้ว ก็ล่าช้า เพราะได้แทรกเพิ่มเรื่องเกี่ยวข้องที่ควรทราบด้วย จนเนื้อหาหนาขึ้นเกินเท่าตัว

นอกจากนั้น พอถึงปลายปี ๒๕๔๑ เมื่องานใกล้จะเสร็จบริบูรณ์ ก็มีเหตุให้ชะงักต้องหยุดค้างเรื่อยมา จนถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้บรรยายเห็นว่า คณะผู้จะพิมพ์ได้รอมานานแล้ว ถึงจะยังไม่มีโอกาสเขียนต่อให้เสร็จบริบูรณ์ ก็จำเป็นต้องพิมพ์ไปตามที่ค้างอยู่ก่อน

ส่วนที่ค้าง คือตอนว่าด้วยภูมิหลังของอารยธรรมตะวันตก ที่เจริญมาในบรรยากาศแห่งการเบียดเบียนบีฑาและสงครามศาสนา หรือประวัติศาสตร์แห่งการดิ้นรนต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ซึ่งจะเสริมความรู้ความเข้าใจ ช่วยให้คติแก่มนุษย์ในการที่จะแก้ปัญหาด้วยท่าทีแห่งเมตตากรุณา โดยมีปัญญาเป็นเครื่องนำทาง

หลังจากพิมพ์ครั้งแรกแล้วไม่นาน (ส.ค ๒๕๔๒) มูลนิธิพุทธธรรมก็ได้ขอพิมพ์ อันนับเป็นครั้งที่ ๒ แม้จะยังไม่มีเวลาเขียนส่วนที่ค้าง ก็ได้แก้ไขอักษรที่ผิด และปรับแก้แทรกเพิ่มอีกเล็กน้อย ให้ได้สาระมากขึ้น

บัดนี้ คุณอาภรณ์ สุวรรณเทน ในนามแห่ง "คณะ ๑๒ มิตร" แจ้งว่า ได้เห็นคุณค่าของหนังสือนี้ ปรารถนาจะให้พหูชนได้รับประโยชน์ทางธรรมทางบัญญา กับทั้งมีน้ำใจมุทิตาต่อผู้เรียบเรียง ได้ขอพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นใหม่ โดยมีความประสงค์จะแจกให้ทันในพิธีรับหิรัญบัฏ ที่วัดญาณเวศกวัน ณ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ แต่ผู้เรียบเรียงมองเห็นความไม่พร้อมในด้านการพิมพ์ จึงขอโอกาสให้รอไว้พิมพ์แจกตามหลังงาน

อนึ่ง หนังสือนี้ผ่านเวลามานาน จนกลายเป็นงานรุ่นค่อนข้างเก่า ซึ่งพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ (อินศร จินฺตาปญฺโ) ได้ช่วยพิมพ์ข้อมูลเดิมไว้ในระบบ Apple Macintosh แล้วต่อมาในช่วง ๓-๔ ปีนี้ คุณวีระ สันติบูรณ์ โดยการประสานร่วมกับพระครรชิต คุณวโร ได้ช่วยดำเนินการแปลงข้อมูลเป็นระบบ PC พร้อมทั้งได้ตรวจสอบความเรียบร้อยให้ไว้แล้ว เพียงแต่รอการตรวจขั้นสุดท้าย ซึ่งรวมทั้งการจัดวางรูปแบบที่ต้องการจากผู้เรียบเรียง

เหตุดังกล่าว ยิ่งทำให้ไม่พร้อมที่จะพิมพ์ได้ทันที หนังสือจึงจะต้องเสร็จตามหลังงาน แต่ถึงแม้ผู้ศรัทธาให้โอกาสแล้ว ก็ไม่ควรให้ล่าช้าเกินไป

เมื่อถึงวาระนี้ ผู้เรียบเรียงจึงต้องยกเอาข้อมูลชุดใหม่ในระบบ PC นี้ขึ้นมาตรวจ และในการตรวจที่ขยายตัวโตแล้วอ่านตลอดนี้ ก็เลยถือโอกาสปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ ไปด้วย พร้อมกับการจัดปรับด้านรูปแบบ เช่นซอยย่อหน้าเพิ่มขึ้น จนเสร็จโดยมีรูปโฉมเปลี่ยนไปบ้างดังที่ปรากฏเป็นปัจจุบัน

หวังว่า หนังสือนี้จะเป็นส่วนร่วมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ศาสนาและอารยธรรมของมนุษย์ ช่วยผดุงปัญญา นำประโยชน์สุขมาให้แก่ชีวิตและสังคม และขอให้คณะผู้ศรัทธา ที่ร่วมพิมพ์ทุกท่าน ประสบสิริสวัสดิ์และจตุรพิธพรทั่วกัน.

พระพรหมคุณาภรณ์
       (ป. อ. ปยุตฺโต)
      ๑๔ มี.ค. ๒๕๔๘

มองสันติภาพโลก
ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์1

หัวข้อเรื่องตั้งไว้ให้พูดเกี่ยวกับ “ศาสนา” ซึ่งเป็นคำที่กำหนดความหมายกันขึ้นตามสมมติในโลก โดยเฉพาะ “ศาสนา” เป็นคำที่มีการบัญญัติซ้อนกันมาหลายชั้น จนกระทั่งความหมายที่ใช้ขณะนี้ บางทีก็ไม่สื่อไปถึงตัวศัพท์เองเลย อย่างน้อยถ้าไม่พร่าๆ มัวๆ ก็มองไปตามความหมายของคำฝรั่ง (คือ religion) ที่เป็นคนละเรื่อง มากกว่าจะมองตามความหมายของคำของเราเอง

นอกจากนั้น ยังมาเจอกับการแบ่งแยกอีก ว่าเป็นศาสนานั้นศาสนานี้ เหมือนกับติดป้ายให้ แล้วคนก็ติดในป้ายนั้นด้วย เรียกว่าติด ๒ ชั้น

ทีนี้ สำหรับพวกเราที่เป็นนักศึกษา ถ้าจะเข้าใจให้ชัดจึงต้องมอง ๒ ชั้น ทั้งชั้นนอก คือ ชื่อที่เป็นเหมือนป้าย และเป็นรูปแบบ ทั้งชั้นใน คือ เนื้อหาสาระ

ถ้าจะพูดเรื่องนี้ในแง่มุมของพุทธศาสนา อาจจะไม่พูดตามชื่อหัวข้อ เพราะส่วนที่ต้องการคือเนื้อหาสาระ ซึ่งอาจเรียกว่า “ธรรม” หรืออะไรก็แล้วแต่ คือสิ่งที่เป็นความจริง ความถูกต้อง ความดี ความงาม

ยิ่งกว่านั้น ถ้าจะให้เข้าใจชัด และได้ประโยชน์จริง ก็ต้องเรียนศาสนาไม่แยกจากเรื่องอื่นๆ เพราะศาสนานั้นแทรกบ้าง ซึมบ้าง ปนบ้าง แฝงบ้าง ครอบบ้าง คลุมบ้าง ไม่เชิงบวก ก็เชิงลบ ในทุกกิจกรรมและกิจการอื่นของคน ทั้งบุคคล สังคม และโลก

อย่างปัญหาสันติภาพ ที่เด่นเป็นเรื่องใหญ่อยู่นี้ ปัจจุบันก็เห็นปัจจัยด้านศาสนาชัดขึ้นๆ แต่ที่จริงเป็นมาลึกจากภูมิหลังในอดีต ใครที่คิดจะแก้ปัญหาสันติภาพ ถ้าไม่รู้ความเป็นมาเป็นไปของศาสนา ก็ต้องกลายเป็นคนทื่อ

ที่ว่านี้จริงอย่างไร ก็ให้มาดูกัน (พอเห็นแนว)

ภาค ๑
พุทธทัศน์ต่อความต่างศาสนาและสันติภาพโลก

ศาสนาโดยเนื้อหากับโดยรูปแบบ

มนุษย์เรานี้เริ่มต้นก็ดำเนินชีวิตอยู่ในโลก ในสังคม แม้แต่จะดำเนินชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน เริ่มตั้งแต่การที่จะอยู่รอด เราก็อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เราต้องปรับตัว เราต้องมีความสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้น รวมทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วย เมื่อเราดำเนินชีวิตไป เราก็ต้องการอยู่ให้ดี ไม่ใช่ต้องการเพียงแค่อยู่รอด

ในการที่จะอยู่ให้ดีนี้ มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ คือรู้จักใช้ปัญญา จุดเริ่มต้นที่จะใช้ปัญญาในเรื่องนี้ ก็คือการตอบข้อสงสัยที่อยากรู้

เมื่อมองออกไปภายนอก นักปราชญ์บางพวกบอกว่า มนุษย์ถูกสภาพแวดล้อมบีบคั้น เกิดมีภัยอันตราย เช่น ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ลมพายุแรง จากการต้องพยายามดำเนินชีวิตให้รอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมอย่างนี้ มนุษย์ก็คิดคำนึงเกี่ยวกับสิ่งที่ตนต้องประสบนั้น และมีความสงสัยอยากจะรู้ว่าเป็นอะไร เพราะความที่เป็นสัตว์พิเศษรู้จักใช้ปัญญา ก็คิดหาเหตุผลในเรื่องนั้น ศาสนาจึงเกิดขึ้น

มองในแง่นี้ ก็เท่ากับบอกว่า จุดกำเนิดของศาสนา คือ การที่มนุษย์อยากรู้ อยากเข้าใจธรรมชาติรอบตัว ว่าภัยอันตรายที่เกิดขึ้นซึ่งตนต้องเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิต เริ่มตั้งแต่อยู่รอดนั้น คืออะไร เป็นมาอย่างไร เพื่อหาทางแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูให้ลึกลงไป มนุษย์มิได้มองแค่นั้น มนุษย์มีความรู้สึกนึกถึงสิ่งที่เรียกว่าความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นต้นด้วย นั่นคือสิ่งที่มนุษย์แสวงหาตลอดมา

พระพุทธเจ้า เมื่อจะออกผนวช ก็มิได้ทรงสนพระทัยว่า ศาสนาชื่อไหน และก็มิได้ครุ่นคำนึงถึงภัยธรรมชาตินอกตัว แต่ต้องการรู้ว่าความจริงของชีวิตคืออะไร มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามได้อย่างไร อย่างที่เราได้ยินตามพุทธประวัติ พระองค์ได้เห็นสภาพแวดล้อม เช่นคนที่อยู่รอบพระองค์ ว่าคนเกิดแก่เจ็บตาย เมื่อทอดพระเนตรเห็นนิมิต ๔ พระองค์ก็เห็นว่า ผู้คนทั้งหลายมีความทุกข์ครอบงำอยู่ ชีวิตเป็นอย่างนี้ ทำอย่างไรจะพ้นจากความทุกข์ไปได้ ในที่สุดก็นำไปสู่การเสด็จออกบรรพชาหรือการผนวช

เมื่อพระองค์ผนวชนั้น พระพุทธเจ้าได้เล่าถึงการค้นหาความจริงของพระองค์ ทรงใช้คำว่า “เราเป็น กึกุสลคเวสี” แปลว่า ผู้แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล กุศลก็คือสิ่งที่ดี สิ่งที่เอื้อ สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เกื้อหนุนต่อชีวิตที่จะเป็นอยู่อย่างดีงาม พ้นจากทุกข์ภัย มีความสุข นี้คือสิ่งที่พระองค์แสวงหา อันนี้คือสาระที่แท้จริง

ถ้ายุติตรงนี้ ก็จะเห็นว่า การที่เกิดเป็นศาสนาชื่อนั้นชื่อนี้ เป็นเพียงรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม รูปแบบก็เป็นสิ่งสำคัญ รูปแบบมีความสำคัญในแง่ที่จะรักษาเนื้อหาที่เป็นหลักการ หมายความว่า เมื่อมีหลักการขึ้นมาแล้ว เพื่อจะให้หลักการนั้นดำรงอยู่ ก็ต้องมีการจัดตั้ง เมื่อมีการจัดตั้งก็กลายเป็นรูปแบบ เป็นระบบ เป็นกฎเกณฑ์ กติกาขึ้นมา

อนึ่ง รูปแบบนั้น นอกจากเพื่อรักษาหลักการไว้แล้ว ก็เพื่อเป็นสื่อนำหลักการไปเข้าถึงประชาชนหมู่ใหญ่ เพื่อจะให้เนื้อหาสาระนั้นออกไปสำเร็จประโยชน์แก่คนทั้งหลาย และเพื่อให้ได้ผลที่เป็นจุดหมายของหลักการนั้นด้วย เพราะว่ารูปแบบนั้นคนจัดตั้งขึ้นมา เพื่อจัดสภาพแวดล้อมเป็นต้น ให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิต ที่จะเป็นไปเพื่อจุดหมายที่มุ่งประสงค์ตามหลักการนั้น ด้วยเหตุนี้รูปแบบต่างๆ จึงเกิดขึ้นมา แล้วเราก็อาศัยรูปแบบเหล่านี้เพื่อสนองหลักการ

ถ้ามองอย่างนี้ ก็จะไม่มีการยึดติดถือมั่นอะไรมาก แต่จะรู้เข้าใจถึงตัวความมุ่งหมายที่แท้ แม้จะรู้อยู่ว่า รูปแบบนั้นก็สำคัญ และต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อให้เกิดผลที่สนองความมุ่งหมายของหลักการนั่นเอง และหลักการนั้น ว่าโดยแท้จริงก็คือ หลักการเพื่อความดีงามของมนุษย์ ในที่สุดก็ต้องมาลงที่นี่ คือทำอย่างไรจะช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ทั้งของชีวิตส่วนตัวและของสังคม

ทีนี้จุดสำคัญก็อยู่ที่ว่า หลักการนั้นเราเห็นด้วย หรือเห็นว่าอย่างน้อยก็มีเค้าที่จะช่วยให้มนุษย์เรา ได้เข้าถึงสิ่งที่มุ่งประสงค์หรือไม่ ส่วนรูปแบบนั้นเราอาศัยเพียงเป็นสื่อช่วย คือเป็นเครื่องช่วยให้เกิดผลทางปฏิบัติในการเดินหน้าไปสู่จุดมุ่งหมาย ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะไม่เอารูปแบบนั้นมาเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดความแตกแยก

แต่มนุษย์ก็อย่างนี้แหละ พอมีรูปแบบขึ้นมาก็อดไม่ได้ ที่จะไปยึดติด แม้แต่บุคคลคนหนึ่งๆ เราสมมติชื่อเป็น นาย ก. นาย ข. ขึ้นมาแล้ว พอพูดว่า นาย ก. ไม่ดี นาย ก. ก็โกรธ นาย ก. ก็ว่านาย ข.บ้าง นาย ข.ก็โกรธ เมื่อเกิดเป็นชื่อขึ้นมา ก็เกิดการยึดติดถือมั่น

แต่ถ้าเรารู้ตระหนักอยู่ว่า ในการมีรูปแบบขึ้นนั้น ความประสงค์ที่แท้ก็เพื่อให้ชีวิตดีงาม เข้าถึงความจริง โดยอาศัยรูปแบบนั้นมาเป็นสื่อ อย่างที่ว่า รูปแบบเป็นเครื่องนำเราเข้าสู่ความจริง ความดีงาม พอเข้าใจอย่างนี้ เรามองดูรูปแบบด้วยความเข้าใจ ก็ทำให้เราปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง ทั้งได้ผลดีตามความมุ่งหมาย และทั้งไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้วย2

ท่าทีทั่วไปของพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่น

ที่พูดมานี้ ก็เพื่อให้เห็นว่าที่แท้แล้ว พุทธศาสนา อย่างน้อยก็ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา มีความมุ่งหมายอยู่ที่ตัวเนื้อหาสาระ และเราก็เข้าใจรูปแบบที่จัดตั้งขึ้นมาว่ามีขึ้นด้วยความจำเป็น เพื่อห่อหุ้มรักษา เพื่อเป็นสื่อหรือเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการที่จะเข้าถึงหลักการกันต่อไป

ถ้าเข้าใจกันอย่างนี้ เราก็จะไม่ค่อยมองในแง่ว่าเป็นเรื่องของศาสนาโน้นของศาสนานี้ แต่จะมองโดยสัมพันธ์กับเนื้อหา ว่าจะช่วยให้เราเข้าถึงความจริงความดีงามได้อย่างไร ซึ่งในที่สุดมันก็เป็นเรื่องของปัญญา คือเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ต้องการค้นหาตัวความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เพื่อรู้ เพื่อเข้าใจ และเพื่อทำให้เป็นประโยชน์ แล้วก็โยงมาหาชื่อตรงที่ว่าทำอย่างไรจะให้รูปแบบนี้มาเป็นสื่อแก่ปัญญาได้

เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นกันอย่างนี้แล้ว เราก็จะเห็นท่าทีของพุทธศาสนาต่อสิ่งที่เรียกว่า “ศาสนาอื่น” หรืออาจจะเรียกว่า ทัศนะอื่น

ทีนี้ จากพุทธประวัติ หรือตามที่เราดูปฏิปทา หรือพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้า เช่นในเรื่องราวที่มีผู้มาพบพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามพระองค์ในเรื่องธรรม หรือเรื่องความจริงต่างๆ เมื่อพูดถึงทัศนะของผู้นั้น ผู้นี้ ตามปกติพระพุทธเจ้าจะไม่วิจารณ์สิ่งที่เราเรียกกันว่า “ศาสนาอื่น” หรือแม้แต่คนที่ถือศาสนาอื่น

เมื่อคนมาหาพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า “เรื่องนี้คนโน้นว่าอย่างนั้น คนนั้นว่าอย่างนี้ คนไหนจะถูก” พระองค์ก็จะตรัสว่า “เรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ฉันจะพูดธรรมให้คุณฟัง” หมายความว่า ให้เขาฟังสิ่งที่พระองค์ได้เห็น ได้รู้ แล้วก็วินิจฉัยเอาเอง พระองค์ไม่ไปตัดสินใคร

ขอยกตัวอย่างเรื่องในจูฬสาโรปมสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรในพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ ว่า

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถี ที่พระเชตวัน ครั้งนั้นพราหมณ์ชื่อปิงคลโกจฉ์เข้ามาเฝ้า และได้ทูลพระพุทธเจ้าว่า มีสมณพราหมณ์พวกนักบวชต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ผู้มีชื่อเสียง มียศ มีศักดิ์ ได้แก่ ท่านปูรณกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร (ที่เรียกกันว่า ครูทั้ง ๖) ศาสดาทั้ง ๖ ท่านนี้ เป็นผู้ที่ตรัสรู้เข้าถึงความจริงตามปฏิญาณของตนทุกท่าน หรือว่า บางท่านก็รู้จริง บางท่านก็ไม่รู้จริง หรือไม่มีใครรู้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “พราหมณ์ พักไว้ก่อนเถอะ ท่านเหล่านั้นจะรู้จริงตามปฏิญาณของตนทุกท่าน หรือทุกท่านไม่รู้จริง หรือบางท่านรู้ บางท่านไม่รู้ เอาไว้ก่อน เราจะแสดงธรรมแก่ท่าน”

(ม.มู.๑๒/๓๕๓)

นี่ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงต้องการพูดถึงเนื้อหา และเมื่อพระองค์ตรัสแสดงไป พวกเขาก็มีสิทธิใช้ปัญญาพิจารณาเอาเอง และไปวินิจฉัยเอาเอง ว่าคำสอนของพระองค์เป็นอย่างไร และที่ว่าศาสดาโน้นสอนอย่างนี้ ศาสดานี้สอนอย่างนั้น เป็นความจริงอย่างที่สอนหรือไม่ เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าไม่ต้องตัดสิน

นี่ก็เป็นท่าทีที่เป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องของการให้สิทธิในการใช้ปัญญา และเป็นลักษณะหนึ่งของการมีเสรีภาพทางปัญญา การที่ยกพุทธประวัติมาให้ดู เป็นการแสดงถึงท่าทีของพระพุทธเจ้าเอง ส่วนท่าทีทั่วไป เดี๋ยวอาจจะพูดกันอีก

ท่าทีที่พุทธศาสนาให้ทุกคนมีต่อทุกศาสนา
รวมทั้งต่อพุทธศาสนาเองด้วย

ท่าทีแห่งเสรีภาพทางปัญญา ซึ่งเป็นกลางๆ อย่างที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นนั้น จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นอีก ในกาลามสูตร (เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตตสูตร) ซึ่งเป็นสูตรที่สะดุดใจชาวตะวันตกมาก และชาวตะวันตกที่สนใจพุทธศาสนารู้จักกันดี ในขณะที่ชาวพุทธในประเทศไทยเอง แทบไม่รู้จักเลย

กาลามสูตรแสดงทัศนะของพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่นๆ แต่ยิ่งกว่านั้นอีก กาลามสูตรแสดงท่าทีที่คนทุกคนควรมีต่อทุกศาสนา รวมทั้งต่อพุทธศาสนาเองด้วย ตลอดไปจนถึงเรื่องราวที่บอกเล่าถ่ายทอดหรือสืบทอดกันมาทุกอย่าง เป็นการเปิดโอกาสแก่ เสรีภาพทางความคิด อย่างเต็มที่ เพื่อเข้าถึงความจริง ด้วยวิธีการแห่งปัญญาแท้จริง ความในกาลามสูตรนั้นว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า . . . เสด็จถึงเกสปุตตนิคม ถิ่นของชาวกาลามะ (ชนวรรณะกษัตริย์พวกหนึ่ง) พวกกาลามะชาวเกสปุตตนิคมนั้นได้ทราบ . . . จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า . . . กราบทูลว่า

สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มาถึงเกสปุตตนิคมนี้ พูดเชิดชูแต่หลักคำสอนของตน พร้อมกับพูดข่มขี่ดูถูกหลักคำสอนของพวกอื่น ครั้นสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมาถึงเกส ปุตตนิคม . . . (ก็พูดอย่างเดียวกันนั้น) พวกข้าพเจ้าจึงมีความสงสัยคลางแคลงใจว่า ในบรรดาสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านี้ ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า เป็นการสมควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะสงสัยจะแคลงใจ ความสงสัยของท่านทั้งหลายเกิดขึ้นในเหตุที่ควรสงสัย

นี่แน่ะ ท่านผู้เป็นชาวกาลามะทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย
๑. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการฟังตามกันมา
๒. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการถือสืบๆ กันมา
๓. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการเล่าลือ
๔. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการอ้างตำรา
๕. อย่าปลงใจเชื่อ โดยตรรก
๖. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการอนุมาน
๗. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
๘. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
๙. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะท่าทางน่าเชื่อ
๑๐. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เกื้อกูล . . . ใครยึดถือปฏิบัติแล้วจะเป็นไปเพื่อความเสียหาย เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงละเสีย . . . เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นของเกื้อกูล . . . ใครยึดถือปฏิบัติแล้วจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงถือปฏิบัติให้ถึงพร้อม . . .

(องฺ.ติก.๒๐/๕๐๕)

สาระของพระสูตรนี้ ขอให้พิจารณาเอง ในที่นี้จะไม่พูดขยายความ แต่จะขอผ่านไปก่อน

ท่าทีของพุทธศาสนาต่อความจริงหรือต่อสัจธรรม

ว่าถึงหลักการทางพุทธศาสนา เราดูไม่เฉพาะท่าทีที่แสดงออกมาต่อผู้อื่นหรือสิ่งอื่นเท่านั้น แต่ดูท่าทีต่อสิ่งที่ตัวเองแสวงหา หรือสิ่งที่ตัวเองแสดงด้วย คือท่าทีต่อสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม”

เรื่องของศาสนานี้มีสิ่งหนึ่งที่เราต้องการ คือ ความเป็นสากล ทำอย่างไรจะให้เป็นของสากล

คำว่า “สากล” ก็เป็นคำที่กำกวมอยู่ ความหมายหนึ่งว่า สากล คือสิ่งที่คนยอมรับกันมากๆ หรือทั่วไป อย่างเสื้อผ้าชุดสากล เราบอกว่าสากล เหมือนกับว่าเป็นของร่วมกันทั้งโลก แต่ที่จริงเป็นเสื้อผ้าของฝรั่ง แต่เราไปยอมรับฝรั่ง ก็เลยเรียกว่าสากล

ที่เรียกว่าสากลแบบนี้มีมาก มันเป็นเพียงของฝรั่งเท่านั้น และคนก็ไปตื่น ไปยอมรับกัน ความจริงมันเป็นสากลไม่ได้ เพราะมันไม่เหมาะกับภูมิประเทศไปทั่วทุกแห่ง เช่น เสื้อผ้าชุดสากลอาจจะไม่เหมาะกับภูมิอากาศเมืองไทยที่ร้อน นี่คือสากลตามที่คนยอมรับ

ความเป็นสากลอีกอย่างหนึ่ง คือความจริง หมายถึงความจริงที่ไม่เข้าใครออกใคร ไม่ว่าอยู่ที่ไหนมันก็เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นสากล เป็นสากลตามธรรมชาติ ตามธรรมดา เช่น เป็นมนุษย์ก็ต้องกินอาหาร หรือเป็นชีวิตก็ต้องกินอาหาร เป็นต้น หรือเราอาจจะพูดว่า เราต้องมีเครื่องนุ่งห่ม เป็นเครื่องช่วยในการค้ำชูชีวิต การใช้เครื่องนุ่งห่มเป็นของสากลของมนุษย์ แต่ตอนที่ว่ารูปแบบเสื้อผ้าชนิดนี้ ชนิดนั้น เป็นสากลหรือเปล่านี้ แล้วแต่จะยอมรับ

ตกลงว่า สากล มี ๒ อย่าง และที่เราต้องการก็คือความเป็นสากลที่ว่า เป็นของจริง ชนิดที่ไม่เข้าใครออกใคร มันจะอยู่ที่ไหน เมื่อไร ในเทศะไหน หรือแม้แต่ในกาลใด ก็เป็นอย่างนั้น เรื่องหลักการของศาสนา ก็ต้องไปถึงจุดนี้ด้วย

ทีนี้เรามาพูดถึงเรื่องท่าทีของพุทธศาสนาต่อสิ่งที่เรียกว่าศาสนาทั้งหลาย ก็มาเจอท่าทีต่อตัวความจริงนี้ด้วย ว่าพุทธศาสนามีท่าทีต่อความจริงนี้อย่างไร

ท่าทีพื้นฐานที่สุด จะเห็นได้ในคำตรัสของพระพุทธเจ้าเองว่า

“อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ิตาว สา ธาตุ ธมฺมฏฺิตตา ธมฺมนิยามตา . . .”
= ไม่ว่าตถาคตทั้งหลายจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หลักความจริง คือกฎธรรมชาติ ก็คงอยู่อย่างนั้น . . . ตถาคตตรัสรู้ ค้นพบหลักความจริงนั้นแล้ว ก็มาบอก แสดง จัดตั้ง วางหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจได้ง่าย . . . ว่าดังนี้ๆ

(องฺ.ติก.๒๐/๕๗๖)

พุทธพจน์นี้เป็นคำแสดงฐานะของพระศาสดาไปด้วย ให้รู้ว่าความจริงมีอยู่ตามธรรมดาของมัน ไม่ได้ขึ้นต่อองค์พระศาสดา พระศาสดามีฐานะเป็นผู้ค้นพบ และเมื่อค้นพบความจริงด้วยปัญญาแล้ว ก็มาบอก มาเปิดเผยความจริงนั้นแก่มนุษย์ทั้งหลาย เพื่อให้รู้เข้าใจความจริงนั้น แล้วจะได้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้องตามความจริง อันจะทำให้การดำเนินชีวิตและกิจการทั้งหลายของมนุษย์บังเกิดผลดีเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

ด้วยท่าทีพื้นฐานนี้ คือ เมื่อไม่ถือว่าความจริงและหลักการต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ศาสดาจะตั้งเอาเองตามที่พอใจ และความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายดำเนินไปตามกฎธรรมชาติ ไม่มีใครที่จะมาเป็นผู้วินิจฉัย พิพากษาตัดสิน มนุษย์เราจึงต้องรู้เข้าใจความจริงนั้น เพื่อจะปฏิบัติได้ถูกต้อง ดังนั้นท่าทีทั่วไปของพุทธศาสนาจึงเป็นท่าทีแห่งปัญญา

อนึ่ง ในเมื่อปัญญาเป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาขึ้นในตัวมนุษย์แต่ละคน จะจับใส่ ยัดเยียดให้ หรือบังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ พุทธศาสนาจึงมีท่าทีทั่วไปอีกอย่างหนึ่งตามมา คือการเปิดโอกาสแก่ทุกคนในการคิดพิจารณา และเชิญชวนให้ใช้ปัญญา อย่างที่เรียกว่า เสรีภาพทางความคิด

พร้อมกันนั้น ในการกล่าวสอนหรือประกาศแสดงนำเสนอหลักการต่างๆ พุทธศาสนาก็จะมีท่าทีเป็นกลางๆ แบบเสนอให้พิจารณาและให้คิดตัดสินใจด้วยตนเอง

พุทธศาสนาจึงไม่พูดว่า พุทธศาสนาจะเอาอย่างนั้นจะเอาอย่างนี้ แต่จะพูดเป็นกลางๆ ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ๆ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ และเมื่อผลอย่างนี้ๆ จะเกิดขึ้นจากการทำเหตุอย่างนี้ๆ มนุษย์เราควรเลือกเอาหรือควรจะปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ อย่างไร จากความจริงที่เป็นอย่างนี้ ถ้ามนุษย์ต้องการผลดีก็ต้องปฏิบัติอย่างนี้ๆ ถ้าท่านปฏิบัติอย่างนี้ๆ ผลดีก็จะเกิดขึ้น ท่านจะเห็นด้วยและปฏิบัติไหมล่ะ ฯลฯ

ตามหลักการนี้ ก็จะมีแต่ท่าทีต่อตัวความจริง ต่อข้อเสนอ ต่อความคิดเห็นความรู้สึกต่างๆ ไม่มีท่าทีต่อศาสนาที่มีชื่ออย่างนั้นอย่างนี้

ท่าทีของพุทธศาสนาตามหลักการที่เป็นสากล

จากท่าทีพื้นฐานต่อความจริงที่เป็นกลางๆ ดังกล่าวมา พุทธศาสนาก็จะมีท่าทีสืบเนื่องในเชิงจริยธรรม ซึ่งเป็นกลางๆ ด้วย กล่าวคือ

ขั้นที่ ๑ พุทธศาสนามีท่าทีในการแสดงความจริง ซึ่งถือว่า ความจริงเป็นของกลางๆ ไม่เข้าใครออกใคร ดังนั้น พุทธศาสนาจึงพูดเป็นกลางๆ ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นอย่างนี้ เช่นพูดว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ว่ามันจะอยู่ที่ไหนมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือเช่นสอนว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือการทำดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ หรือการทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก ก็จบเท่านั้น คือถือว่าตัวการทำดีและการทำชั่วเป็นเหตุให้ได้รับผลต่างกันโดยตัวของมันเอง เป็นเรื่องธรรมดาของระบบเหตุปัจจัย

เมื่อมีการเปรียบเทียบกันขึ้นมา ก็คือบอกว่า ในทางพุทธศาสนาไม่มีผู้ตัดสิน ไม่มีผู้วินิจฉัยโทษ หมายความว่า คุณจะมีตรา มีชื่อว่านับถือศาสนาไหนก็ตาม ไม่เกี่ยว ผลจะเป็นอย่างไรอยู่ที่การกระทำ เมื่อทำดี การทำดีก็เป็นเหตุให้ไปสวรรค์ เมื่อทำชั่ว การทำชั่วก็เป็นเหตุให้ไปนรก ผลกับเหตุตามกันมาเอง ไม่ขึ้นต่อตรา

เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีคำว่าจะต้องถือศาสนาไหนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะคำนี้มันยืนอยู่เป็นของกลางๆ อย่างที่เรียกว่า ไม่เข้าใครออกใคร แล้วก็ไม่ต้องมีผู้พิพากษา เพราะว่าการทำเหตุก่อให้เกิดผลเอง เหตุทำให้เกิดผล ผลเกิดจากเหตุ ก็จบ ไม่ต้องมาเถียงกันว่าจะเชื่อผู้พิพากษาท่านใด

อนึ่ง หลักการย่อมสัมพันธ์กับท่าทีไปในตัว หลักการเป็นอย่างไร ท่าทีก็เป็นอย่างนั้น อันนี้คือ ความจริงที่เป็นสากล ซึ่งไม่เข้าใครออกใคร ไม่ต้องบอกว่านับถือศาสนาไหน ไม่ขึ้นต่อศาสดาองค์ใด แต่เพราะการทำดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ การทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก โดยไม่ต้องมีใครตัดสินส่งไป เพราะฉะนั้นศาสดาจึงมาสอนว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ถ้าเราต้องการไปสวรรค์ เราก็ต้องทำดี

ศาสดามาแสดงความจริงและแนะนำตามความจริงนั้นเท่านั้น แต่ความจริงก็เป็นของมันอย่างนั้น ไม่ขึ้นต่อศาสดา ไม่ต้องแยกว่าศาสนาไหน ศาสดาใด

ขั้นที่ ๒ ความรู้สึกหรือท่าทีต่อมนุษย์อื่น ตามหลักพุทธศาสนา ก็ตั้งอยู่บนฐานของข้อที่ ๑ คือบอกว่ามนุษย์ก็เป็นชีวิต เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ในแง่นี้มนุษย์ก็มิได้มีอะไรพิเศษ นอกเหนือจากกฎธรรมชาติ เพียงแต่มีคุณสมบัติบางอย่างแตกต่างจากสัตว์อื่น และเมื่อเป็นมนุษย์แล้วก็มีความเป็นมนุษย์เสมอกัน เพราะฉะนั้น มนุษย์ก็เป็นมนุษย์ ไม่มีตราที่จะเอามาแยกเช่นเดียวกัน

ที่ว่านี้หมายความว่า ตราหรือป้ายชื่อว่า คนไทย คนจีน คนแขก คนฝรั่ง ฯลฯ นี้ เป็นเพียงเครื่องหมายรู้เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ ในการที่จะปฏิบัติต่อกันได้ตรงตามความประสงค์ แต่เนื้อหาก็คือ ความเป็นมนุษย์

เมื่อเป็นมนุษย์เสมอเหมือนกัน ก็รักสุขเกลียดทุกข์ และตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาก็จะบอกว่า สัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะเริ่มจากมนุษย์ ล้วนรักสุข เกลียดทุกข์ รักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเบียดเบียนกัน ท่านบอกว่า “น หเนยฺย น ฆาตเย” แปลว่า ไม่พึงฆ่า ไม่พึงให้ฆ่า

เป็นอันว่า มนุษย์ทุกคน

๑. มีธรรมชาติของการรักสุข เกลียดทุกข์ เหมือนกัน ล้วนกลัวภัย กลัวต่อความตายทั้งนั้น

๒. ร่วมกฎธรรมชาติเดียวกัน เสมอกันในกฎธรรมชาติ คือ ทุกคนเกิดมาแล้วก็ตกอยู่ใต้อำนาจของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน คือเป็นเพื่อนร่วมกฎธรรมชาติด้วยกัน

เพราะฉะนั้นเราจึงบอกว่า “สัพเพ สัตตา” สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นจึงพูดเป็นกลางๆ ว่าไม่ควรเบียดเบียนกัน โดยไม่มีชื่อ ไม่มีป้ายใดทั้งสิ้น และการฆ่ามนุษย์ หรือฆ่าชีวิตใดก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้น เราเรียกว่าเป็นบาป โดยเป็นกลางๆ ไม่จำกัดว่าจะติดป้ายไหน นี่คือ ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล

ขั้นที่ ๓ จากการถือความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล ก็ออกไปสู่ท่าทีต่อกัน กล่าวคือ เพราะเหตุที่ว่ามนุษย์แต่ละคนเป็นชีวิตที่รักสุข เกลียดทุกข์ จึงอยากมีความสุข อยากอยู่ด้วยดี เราฉันใด คนอื่นๆ ก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นเราปรารถนาดีต่อตัวเรา เราก็ควรปรารถนาดีต่อผู้อื่น และเพื่อให้มนุษย์อยู่กันด้วยดี ทุกคนก็ควรจะมีเมตตาต่อกัน เป็นเมตตาที่เป็นกลางๆ เสมอกันหมดต่อมนุษย์ทุกคน ต่อทุกชีวิต

อันนี้เรียกว่า เมตตาที่เป็นสากล คือไม่จำกัดพวกนั้น พวกนี้ หรือกลุ่มไหนศาสนาใดทั้งสิ้น

หลักการ ๓ อย่างนี้ เป็นข้อสำคัญในเรื่องทัศนะหรือท่าที หมายความว่า มันเหมือนเป็นฐาน เพราะว่าจากหลักการนี้ ก็จะมีท่าทีตามมา เมื่อยึดถือหลักการอย่างไร ทัศนะและท่าทีการมองก็เป็นไปอย่างนั้น บางทีเราแทบไม่ต้องพูดถึงตัวท่าทีอีกเลย เพราะมันมากับตัวความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าเป็นสัจธรรมอันนี้

นอกจากนั้น หลักการที่พูดมานี้ ยังแสดงถึงความหมายของจริยธรรมในทัศนะของพุทธศาสนาด้วย กล่าวคือ จริยธรรม คือการปฏิบัติที่ถูกต้องของมนุษย์ ต้องตั้งอยู่บนฐานของสัจธรรม หรือสืบเนื่องมาจากความจริงของกฎธรรมชาติ

หมายความว่า เพราะความจริงเป็นอย่างนี้ๆ มนุษย์จึงควรดำเนินชีวิตหรือปฏิบัติอย่างนี้ๆ

จริยธรรม ไม่ใช่ข้อกำหนดของศาสนาหรือบัญญัติของศาสดา แต่เป็นเหมือนข้อเรียกร้องของกฎธรรมชาติต่อการปฏิบัติของมนุษย์ ซึ่งพระศาสดาทรงชี้ให้เห็นหรือนำมาเสนอและแนะนำ

รูปแบบของพุทธศาสนา
สื่อถึงหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์

อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เราจัดตั้งรูปแบบขึ้นมา ก็เพื่อรักษาหลักการ เพื่อจะเป็นสื่อนำหลักการนั้นไปถ่ายทอด และเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการที่จะช่วยผู้ที่จะไปสู่จุดหมายของหลักการนั้น ให้ดำเนินไปได้โดยง่าย ด้วยพื้นความเข้าใจนี้ เราจึงได้มีการจัดตั้งที่เรียกว่า “สังฆะ” ขึ้นมา คณะสงฆ์เป็นรูปแบบจัดตั้งที่มีขึ้นเพื่อสนองหลักการอะไร

หลักการก็คือ พุทธศาสนาบอกว่าตามความจริงของธรรมชาติ มนุษย์นี้เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง แต่เป็นสัตว์พิเศษ พิเศษอย่างไร พิเศษคือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนา และก็ฝึกได้ด้วย คือต้องฝึก และก็ฝึกได้ ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น

สัตว์ชนิดอื่นนั้น แทบจะไม่ต้องฝึกเลย เพราะอยู่ได้โดยสัญชาตญาณ ส่วนมนุษย์นั้นไม่สามารถอยู่ได้เพียงด้วยสัญชาตญาณ สิ่งที่มนุษย์จะนำมาใช้ในการอยู่รอด มนุษย์ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงใช้เวลาเลี้ยงนาน กว่าจะสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง ระหว่างนั้นก็ต้องเรียนโดยอาศัยผู้เลี้ยง มีพ่อแม่เป็นต้น

สัตว์ชนิดอื่นจะอาศัยพ่อแม่นิดเดียว หรือแทบจะไม่ต้องอาศัยเลย พอเกิดมาบางทีก็เดินได้เลย อย่างลูกวัว พอออกมาปั๊บ เดี๋ยวเดินแล้ว และเดี๋ยวก็หากินได้ อยู่รอดได้ และก็มีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่ไม่สามารถอยู่ได้เพียงด้วยสัญชาตญาณ จึงต้องอาศัยการเรียนรู้ การฝึกฝนพัฒนา พระใช้คำว่า “ฝึก” ต้องฝึกทั้งนั้น

กินก็ต้องฝึก นอนก็ต้องฝึก นั่งก็ต้องฝึก ขับถ่ายก็ต้องฝึก เดินก็ต้องฝึก พูดก็ต้องฝึก นี่เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตทั้งนั้น และมนุษย์ก็ต้องฝึกทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงถือเป็นสัตว์พิเศษที่ว่าต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่รอด อยู่ไม่ได้เพียงด้วยสัญชาตญาณ อันนี้คือความพิเศษของมนุษย์

พิเศษมิใช่หมายความว่าต้องดี พิเศษ แปลว่า แปลกพวก วิ แปลว่า แปลก เศษ แปลว่า ที่เหลือ พิเศษ จึงแปลว่าแปลกจากพวกที่เหลือ แปลกจากสัตว์อื่น คือแปลกพวก

มนุษย์ก็พิเศษในแง่นี้ เป็นความพิเศษในทางด้อยคือแพ้สัตว์อื่น ที่ไม่สามารถอยู่ได้เพียงด้วยสัญชาตญาณ แต่ก็กลับมาเป็นข้อดีของมนุษย์ที่ว่า นอกจากมนุษย์ต้องฝึก ต้องเรียนรู้แล้ว เขาก็เรียนรู้ได้ และฝึกได้ด้วย และก็ฝึกได้แทบจะไม่มีขีดจำกัด

ฉะนั้น พอตั้งต้นเรียนรู้ฝึกไป มนุษย์จะเดินหน้าล้ำเลิศกว่าสัตว์ทั้งหลายอื่น สัตว์ทั้งหลายเกิดมาด้วยสัญชาตญาณอย่างไร อยู่ไปจนตายก็แค่สัญชาตญาณอย่างนั้น แต่มนุษย์จากจุดที่เกิดมาอยู่เองไม่ได้ ไม่รอด สัญชาตญาณช่วยไม่ไหว แต่พอฝึกไป เรียนไป กว่าจะตาย ไปลิบ สามารถเป็นสัตว์ประเสริฐกระทั่งบรรลุชีวิตที่สมบูรณ์

เราก็จึงตั้งพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นตัวแบบว่า นี่เป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่ฝึกตนเองดีแล้ว ฝึกได้ขนาดเป็นพุทธ

เราทุกคนสามารถเป็นพุทธได้ทั้งนั้น ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นอย่างนั้น แต่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง

จากความจริงที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก พุทธศาสนาก็ถือเป็นหลักการว่า มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามได้ ต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน หรือพูดว่าเมื่อมนุษย์ต้องการมีชีวิตที่ดี ก็ต้องมีการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา

กับทั้งเพื่อสนองหลักการนั้น เพื่อให้มั่นใจว่ามนุษย์จะได้มีการฝึกฝนพัฒนาตน ก็ต้องมีการจัดตั้งวางระบบหรือรูปแบบขึ้นมา เพื่อให้เกิดมีสภาพความเป็นอยู่ที่เอื้อต่อการที่มนุษย์จะได้ฝึกฝนพัฒนาตน หรือมีการเรียนรู้อย่างดีที่สุด

มนุษย์นั้น แม้จะเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนกันอยู่ แต่เพราะไม่รู้หลักการชัดเจน ก็เรียนไปอย่างนั้นๆ ตามที่ความจำเป็นบีบบังคับ คือ ฝึกพออยู่ได้ ฝึกเดินพอเดินได้ ฝึกพูดพอพูดได้ แต่จะพูดให้ดี ให้เป็น ให้ได้ผลกว่านั้น บางทีก็ไม่ยอมฝึก ทั้งๆ ที่มีศักยภาพ

ทีนี้จะทำอย่างไรให้การฝึกไม่หยุดเพียงแค่พออยู่รอด แต่ฝึกให้มันดีที่สุด ให้เต็มศักยภาพของมนุษย์ เราก็จึงจัดตั้งวางระบบขึ้นมา

การที่พระพุทธเจ้าจัดตั้งระบบขึ้นมาเป็นสังฆะ ก็เพื่อสนองหลักการนี้ คือ เพื่อให้เป็นชุมชนที่จะเอื้ออำนวยให้มนุษย์ได้เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตน

สังฆะจึงเป็นชุมชนที่มีชีวิตแห่งการศึกษา เพราะว่า สังฆะนั้นตั้งขึ้นเพื่อการศึกษา

จะเห็นว่า เวลาพระใหม่บวชเสร็จ อุปัชฌาย์ก็จะบอกว่า ท่านจะต้องอาศัยเลี้ยงชีพด้วยอะไรบ้าง และท่านจะทำอะไรไม่ได้บ้างที่ขัดกับลักษณะชีวิตความเป็นอยู่ของท่าน อันนี้คือนิสัย ๔ และอกรณียกิจ ๔

จากนั้นก็จะบอกตัวเนื้อแท้ของชีวิตพระ คือ ไตรสิกขา ว่า “สีลํ สมฺมทกฺขาตํ, สมาธิ สมฺมทกฺขาโต, ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา” นี่คือชีวิตของท่าน ต่อแต่นี้ไปท่านอยู่กับ ๓ อย่างนี้ คือไตรสิกขา (การศึกษา ๓ ด้าน) ตลอดชีวิต

ในทางพุทธศาสนา ถือว่า ทุกคนต้องศึกษา ๓ ด้านที่เรียกว่า “ไตรสิกขา”นี้ คือพัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา ได้แก่พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา เราจะมีชีวิตที่ประเสริฐด้วยการศึกษาทั้ง ๓ ด้านนี้

เมื่อเราพัฒนาไป ก็จะกลายเป็นคนมีชีวิตดีงาม ที่ท่านเรียกว่าเป็นอริยะ ซึ่งมี ๔ ขั้นคือ เป็น โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี สามขั้นนี้เรียกว่า “เสขะ” หรือ “เสกขะ” ซึ่งมาจากคำว่า สิกขา เป็นผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่ คือผู้ยังอยู่ในไตรสิกขา จนกระทั่งถึงขั้นที่ ๔ เป็นพระอรหันต์ จบการศึกษา เรียกว่าเป็น “อเสขะ" หรือ “อเสกขะ” จึงไม่ต้องศึกษา

จะเห็นว่า ทั้งหมดนี้มีศัพท์สำคัญอยู่ที่คำว่า “สิกขา” คือการศึกษา

เพราะฉะนั้น สังฆะ ก็คือชุมชนที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อจะให้สมาชิกมีโอกาสพัฒนาตนเอง ด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่ เพราะว่าในสังคมมนุษย์ทั่วไปนั้น การจัดตั้งยังเปะปะอยู่ จำเป็นจะต้องมีการมาช่วยเหลือกันโดยอยู่เป็นชุมชนที่ปฏิบัติได้เต็มตามหลักการ แล้วให้กลุ่มขยายออกไป

รวมความว่า การตั้งสังฆะ ก็เพื่อประโยชน์นี้ คือ เพื่อสร้างสภาพเอื้อในการที่จะให้มนุษย์ที่เข้ามา ได้ฝึกฝน เรียนรู้ พัฒนาตนเอง

เมื่อตัวเองมีความรู้ ความเข้าใจ ฝึกฝน พัฒนาตนเองดีแล้ว ก็จะได้ช่วยผู้อื่น โดยเป็นแหล่งที่คนภายนอกได้มาอาศัย ในการที่จะได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในการฝึกฝน พัฒนาตน

นอกจากนั้น ผู้ที่อยู่ในชุมชนนี้ เมื่อศึกษาพัฒนาตนดีแล้ว ก็ออกไปข้างนอก เพื่อนำความรู้ ความเข้าใจ ตามหลักการศึกษานี้ ไปช่วยให้คนอื่นศึกษาต่อไป

เป็นอันว่า พระพุทธศาสนาในทางปฏิบัติก็วนเวียนอยู่ในหลักการนี้เท่านั้นเอง คือเรื่องของไตรสิกขา

จากหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์
โยงไปสู่ท่าทีแห่งการแสดงบทบาทในสังคม

ที่พูดนี้ เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ทำไมจึงมีการจัดตั้งชุมชนขึ้นมา ดังที่เรียกว่าเป็น “สังฆะ” และหลักการนี้ก็อยู่ในเนื้อหาสาระ ซึ่งเป็นความจริงตามธรรมชาติ คือหลักการที่บอกว่า ตถาคตทั้งหลายจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ความจริงก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้น อย่างที่พระสวดเสมอว่า “อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ”

ตถาคตทั้งหลายจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ความจริงมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น แต่มนุษย์นี้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ทั้งๆ ที่มันก็อยู่ต่อหน้าต่อตา จนกระทั่งมีผู้ที่พัฒนาตนเองจนเกิดปัญญารู้แจ้ง มาค้นพบ มารู้ความจริงเข้า

พอรู้ความจริงนี้แล้วก็มาเปิดเผย ชี้แจง แสดง อธิบายให้เข้าใจง่าย ว่าเป็นอย่างนี้ๆ นี่คือ ธรรม แล้วหลักการในธรรมชาติก็กลายเป็นหลักการของมนุษย์ขึ้นมา หลักการนี้เรียกว่าธรรม

เป็นอันว่า หลักการในพุทธศาสนา ก็คือความจริงที่มีในธรรมชาติ พุทธศาสนาไม่มีอะไร ก็คือเรื่องของธรรมชาติ หรือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา

ทีนี้ พอได้หลักการแล้ว เราก็หาทางให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากหลักการ หรือตัวความจริงในธรรมชาตินั้น เพราะความจริงของธรรมชาตินั้นครอบงำชีวิตของมนุษย์อยู่ และเราก็อยู่ในกฎธรรมชาติ ถ้าเราทำถูกต้องตามกฎธรรมชาติ ผลดีก็เกิดแก่ชีวิตของเรา ถ้าเราทำไม่ถูก ผลร้ายก็เกิดขึ้นตามมา

เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากความจริงของธรรมชาตินี้ จะทำอย่างไร ก็ต้องมีการสั่งสอนกัน

ถ้าพระพุทธเจ้าสั่งสอนทีละคนๆ กว่าจะได้ผลก็ช้า และบางทีเขาเดินหน้าไปได้นิดหน่อยก็ถูกกลืนกลับเข้าไปในชุมชนแวดล้อม ก็จึงมีการตั้งสังฆะขึ้น

การตั้งสังฆะ ก็คือการจัดตั้งระบบขึ้นมา เพื่อให้เป็นชุมชนที่มีสภาพเอื้อ หรือเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยคนที่มุ่งทำตามหลักการนี้ และมามีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการที่จะให้เกิดผลสำเร็จตามหลักการ การจัดตั้งนี้ เรียกว่า “วินัย”

ฉะนั้นในพระพุทธศาสนา จึงมีธรรม กับ วินัย เป็นคู่กัน และจึงเรียกพุทธศาสนาในชื่อเดิมว่า “ธรรมวินัย”

ธรรม คือตัวหลักการแห่งความจริงตามธรรมชาติที่ค้นพบ และจะเอามาใช้ประโยชน์

ส่วนวินัย คือ การจัดตั้ง วางระบบ วางรูปแบบ เป็นสังคม เป็นชุมชน เพื่อจะให้หลักการนั้น ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง

เรื่องของหลักการ หรือเนื้อหาสาระกับรูปแบบ ก็มีอย่างนี้ มีเท่านี้ เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ท่าทีของพุทธศาสนาก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องพูดกันมาก

เมื่อหลักการเป็นอย่างนี้ ก็มีจุดหมายที่แน่นอนว่า จะมุ่งเพื่อให้คนที่เข้ามาในชุมชน ได้มีโอกาสฝึกฝนอบรมตนและเรียนรู้อย่างดี ในการพัฒนาชีวิตของตน ที่เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมทั้งนำผู้อื่นในการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญานั้นด้วย

จากหลักการใหญ่นี้ ก็เลยพลอยขยายออกไปสู่หลักการที่ว่าพระพุทธศาสนาจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับระบบผลประโยชน์และเรื่องอำนาจเป็นต้น ในสังคม

อย่างไรก็ตาม ที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เป็นการปลีกตัว แต่เพราะสังฆะไม่ต้องการอำนาจในระบบการเมือง และไม่ต้องการผลประโยชน์ในระบบธุรกิจ สังฆะจึงปลีกตัวในแง่นั้น เพื่อจับเอาบทบาทที่สอดคล้องกับหลักการของตนโดยเฉพาะ สังฆะจึงเน้นการมีฐานะและบทบาทที่สัมพันธ์กับสังคมในแง่การให้การศึกษา เช่นให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองบ้านเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบผลประโยชน์เป็นต้น แต่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่ไปเล่นบทบาทนั้นเอง เพราะสังฆะมีจุดหมายของตน ซึ่งเป็นสาระหรือหลักการที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น ภาพที่ปรากฏออกมาของพระพุทธศาสนา ก็เลยกลายเป็นว่า มีรูปแบบที่เป็นลักษณะพิเศษของตนเองที่ว่า ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นต้น และก็ดูเป็นว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับชีวิตทางโลก ซึ่งบางทีก็แยกยาก แต่ต้องจับให้ได้

ถ้าจับหลักการไม่ถูก ก็จะทำให้ตัวเองยึดถือบทบาทไปตามรูปแบบเฉยๆ โดยไม่เข้าใจ หรืองมงาย และถ้ายึดถือแต่รูปแบบโดยไม่เข้าใจสาระ ก็เป็นอันตรายที่จะเกิดความไขว้เขว และคลาดเคลื่อน ทั้งที่คงรูปแบบนี้อยู่ แต่อาจจะเอาเนื้อหาอย่างอื่นมาใส่แทน

จากหลักการแห่งการศึกษา
โยงไปสู่ท่าทีในการเผยแผ่พุทธศาสนา

แม้ว่าสังฆะจะเป็นชุมชนของผู้ที่ได้อุทิศตัวมุ่งมาสู่การฝึกฝนพัฒนาตน หรือเรียนรู้ ตามหลักไตรสิกขา แต่ในขณะเดียวกันนั้น สังฆะก็เป็นชุมชนของผู้ที่อุทิศตัวเพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุด

ทั้งนี้เพราะว่า ผู้ที่ฝึกฝนพัฒนาตนดีแล้ว สมบูรณ์แล้ว ก็จะไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองต่อไปอีก ดังลักษณะหนึ่งของผู้ที่บรรลุผลของการพัฒนาตน มีการศึกษาที่สมบูรณ์ ท่านเรียกว่าเป็น “อนุปฺปตฺตสทตฺโถ” คือเป็นผู้ที่บรรลุประโยชน์ตนแล้ว

ทั้งนี้เพราะว่า ประโยชน์ที่แท้จริงของมนุษย์ก็คือการมีชีวิตที่ประกอบด้วยพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาที่ได้พัฒนาแล้วโดยสมบูรณ์ จนลุถึงจุดหมายแห่งการมีสันติสุขที่เป็นอิสระ มิใช่หมายถึงผลประโยชน์ข้างนอก

เมื่อทำชีวิตของตนเองให้สมบูรณ์แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีก ต่อจากนั้นก็อุทิศตัวให้แก่การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้เต็มที่ ลักษณะของพระอรหันต์ก็เป็นอย่างนี้

ตอนที่ยังอยู่ในระหว่างฝึกตน ก็มีชีวิตที่เกื้อกูลกัน เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตรแก่กัน ดังนั้นสังคมของพุทธศาสนา ในระหว่างที่ยังอยู่ในไตรสิกขา ก็เป็นสังคมของกัลยาณมิตร คือเอื้อต่อกัน ช่วยเหลือกัน

แต่พอตนเองบรรลุผลการพัฒนาเต็มที่ เป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว คราวนี้สำหรับตัวเอง ไม่มีอะไรต้องทำหรือต้องหาอีก ไม่ว่าความสุข หรือความดีงาม

ต่างจากคนธรรมดาที่ยังต้องหาความสุขอยู่ จึงไม่สามารถทำเพื่อผู้อื่นเต็มที่ เพราะต้องมีอะไรเพื่อตนอยู่

เมื่อบรรลุประโยชน์ตนแล้ว ความสุขมีอยู่ในตัวเอง ไม่ต้องไปหาอีก ชีวิตสมบูรณ์แล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเอง เพราะฉะนั้นชีวิตที่เหลืออยู่จึงอุทิศให้แก่โลกได้เต็มที่ ดังคติของพุทธศาสนา ซึ่งจะเห็นได้ในการส่งพระสาวกออกไปเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน ที่ตรัสว่า

“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” = เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก

(วินย.๔/๓๒)

ตอนนี้เรื่องของตัวไม่มีแล้ว ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว อันนี้ถือเป็นคติของการทำหน้าที่ของพระตลอดมา พระสงฆ์ทำหน้าที่นี้ คือ

ก) ฝึกตนเอง พร้อมไปกับการเกื้อหนุนผู้อื่น และ

ข) เมื่อฝึกตนเองแล้ว ก็ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเต็มที่

หลายคนไม่เข้าใจเรื่องคติพระอรหันต์ และพระโพธิสัตว์ โดยมองคลาดเคลื่อนไปว่า พระโพธิสัตว์อุทิศตัวเพื่อจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ด้วยมหากรุณา ส่วนพระอรหันต์ทำเพื่อตนเอง

นี่ก็คือไม่เข้าใจหลักการ ที่ว่ามนุษย์จะบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นได้เต็มที่ ต่อเมื่อมีปัญญารู้ชัดว่าอะไรเป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ จึงต้องพัฒนาตนเอง ให้มีปัญญาเต็มที่

ก่อนนั้นก็ช่วยได้ แต่ช่วยไปตามที่เชื่อกันมาว่าอย่างนั้นดี อย่างนั้นเป็นประโยชน์แก่เขา ซึ่งอาจจะผิดพลาดได้ ถ้าจะช่วยให้เขาได้ประโยชน์ที่แท้จริงก็ต้องมีปัญญารู้เพียงพอ มหากรุณาจะเป็นของแท้ ก็ต่อเมื่อเป็นไปพร้อมด้วยปัญญาที่ถึงโพธิ

อีกประการหนึ่ง ถ้าตัวเองยังต้องหาความสุขอยู่ หรือยังต้องแสวงหาความดีงามที่สมบูรณ์อยู่ หรือยังต้องฝึกฝนพัฒนาตน ยังต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ ก็จะทำเพื่อผู้อื่นได้ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ หรือไม่พอดี

พระอรหันต์นั้น เพราะตนเองสมบูรณ์แล้ว การกระทำเพื่อผู้อื่นจึงเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะไม่มีอะไรต้องทำหรือต้องหาเพื่อตนเองอีก

ต่างจากพระโพธิสัตว์ที่ต้องทำด้วยปณิธาน คือต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งจุดหมาย เพราะตนเองยังไม่สมบูรณ์ ฉันจะทำเพื่อผู้อื่นเต็มที่ ยอมสละแม้ชีวิตนี้ เสียสละตัวเองให้เต็มที่ ทำอยู่ได้ด้วยปณิธาน และทำเพื่อทำตนเองให้สมบูรณ์

แต่พระอรหันต์ไม่ต้องมีปณิธาน ท่านทำโดยอัตโนมัติ เพราะเป็นชีวิตของท่านอย่างนั้นเอง เป็นไปตามธรรมชาติ เรียกว่าเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ไม่ต้องมาตั้งใจซ้อนขึ้นอีกชั้นหนึ่ง

พุทธศาสนาบอกว่า จงจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ชาวโลก ไม่มีคำว่าจงไปทำให้เขาหันมานับถือ คือ มุ่งไปเพื่อประโยชน์แก่เขาอย่างเดียว

“จงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก” จบเท่านั้น เขาจะนับถือ หรือไม่นับถือ เป็นเรื่องของเขา

การพูดอย่างนี้เป็นท่าทีที่สอดคล้องกับหลักการ เพราะว่าท่าทีย่อมสืบเนื่องมาจากหลักการ ท่าทีเป็นช่วงต่อระหว่างเนื้อหากับรูปแบบ รูปแบบจะออกมาได้ก็ต้องมีเนื้อหาเป็นที่ตั้ง และรูปแบบก็เป็นที่แสดงออกของท่าทีด้วย

แบบอย่างแห่งการให้เสรีภาพทางศาสนาระดับรัฐ

พุทธศาสนาได้ใช้หลักการนี้ตลอดมา ดังจะเห็นว่า ในยุคพระเจ้าอโศก ก็ปรากฏท่าทีแบบพุทธในเชิงปฏิบัติการที่ชัดเจน เพราะออกมาสู่ระดับของรัฐ ว่าเมื่อผู้ปกครองรัฐเป็นชาวพุทธ จะมีท่าทีต่อศาสนาอื่น หรือต่อรูปแบบที่เรียกว่าศาสนาอื่นอย่างไร

พระเจ้าอโศก ซึ่งฝรั่งเรียกว่า เป็น Emperor (พระเจ้าอโศกเองก็มิได้เรียกพระองค์ว่าเป็นจักรพรรดิ คนไทยเราเรียกว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” หรือ “ธรรมาโศก” อโศกผู้ทรงธรรม) ทรงได้รับชื่อเสียงเป็นที่เชิดชูว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย

ดังที่อินเดียได้ยอมรับเอาธรรมจักรบนหัวสิงห์ บนยอดเสาศิลาจารึก มาเป็นตราธงชาติของประเทศอินเดีย และเอาหัวสิงห์ที่อยู่ยอดเสาจารึกของพระเจ้าอโศกนั้นมาเป็นตราแผ่นดิน เพราะเห็นว่า เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดีย

ว่าที่จริง อินเดียลืมพระเจ้าอโศกไปนานแล้ว ฝรั่งอังกฤษ เป็นผู้ค้นพบและรื้อฟื้นเรื่องพระเจ้าอโศกขึ้นมา เพราะพระเจ้าอโศกนั้นจมอยู่ในกองดินกองทรายลึก ไม่มีใครเห็น คนอินเดียไม่รู้จัก จนกระทั่งอังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย

ชาวอังกฤษเป็นคนใฝ่รู้ เป็นนักสำรวจ ก็ไปสำรวจขุดค้นโบราณคดี เจอศิลาจารึกอโศก โบราณสถาน โบราณวัตถุเยอะแยะ เรื่องพระเจ้าอโศกก็เลยปรากฏขึ้นมา

จากจารึกของพระเจ้าอโศก ก็ได้เห็นความยิ่งใหญ่ และนโยบายสำคัญของพระองค์ในการปกครองบ้านเมือง

ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนั้น แสดงถึงสิ่งที่พระองค์ได้กระทำไว้ พร้อมทั้งแนวความคิดของพระองค์ในการปกครองบ้านเมือง ปรากฏว่า พระเจ้าอโศกเป็นกษัตริย์ผู้เดียวที่นักประวัติศาสตร์ หรือนักเขียนสำคัญที่ชื่อ H.G. Wells ยกย่องไว้ (ใน The Outline of History)

H.G. Wells บอกว่า ในประวัติศาสตร์ทั้งตะวันตกและตะวันออก ทั่วทั้งโลก รวมทั้งกษัตริย์ของเขาด้วย ไม่มีกษัตริย์องค์ใดที่เขาจะยกย่องได้เลย นอกจากองค์เดียวคือพระเจ้าอโศกเท่านั้น ฝรั่งอังกฤษนี่แหละที่มายกย่องพระเจ้าอโศก แล้วคนอินเดียสมัยใหม่จึงพลอยรู้จักพระเจ้าอโศกและยกย่องไปด้วย

พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นตัวอย่างของพุทธมามกะที่สำคัญ พระองค์ได้มีท่าทีต่อศาสนาทั้งหลายอย่างไร อาตมาจะอ่านจารึกพระเจ้าอโศกให้ฟัง ให้เห็นตัวอย่างของท่าทีในระดับการปกครองประเทศชาติ

พระเจ้าอโศกได้จารึกไว้ เป็นจารึกศิลาฉบับที่ ๑๒ คือ Rock Edict 12 ลองสังเกตดูว่าแนวความคิดของพระเจ้าอโศกเป็นอย่างไร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงยกย่องนับถือศาสนิกชน แห่งลัทธิศาสนาทั้งปวง ทั้งที่เป็นบรรพชิต และคฤหัสถ์ ด้วยการพระราชทานสิ่งของ และการแสดงความยกย่องนับถืออย่างอื่นๆ

แต่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ (หมายถึงพระเจ้าอโศก) ย่อมไม่ทรงพิจารณาเห็นทาน หรือการบูชาอันใดที่จะเทียบได้กับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นก็คือ การที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรม ในลัทธิศาสนาทั้งปวง

ก็ความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมนี้มีอยู่มากมายหลายประการ แต่ส่วนที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญงอกงามอันนั้น ได้แก่สิ่งนี้คือ การสำรวมระวังวาจา ระวังอย่างไร คือ ไม่พึงมีการยกย่องลัทธิศาสนาของตน และการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่น ในเมื่อมิใช่โอกาสอันควร หรือแม้เมื่อถึงโอกาสอันสมควรอย่างใดอย่างหนึ่ง การยกย่องลัทธิศาสนาของตน และการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่นนั้น ก็พึงมีแต่เพียงเล็กน้อย เพราะว่าลัทธิศาสนาทั้งหลายอื่นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ควรแก่การเคารพบูชาในแง่ใดแง่หนึ่ง

บุคคลผู้กระทำการเคารพบูชาลัทธิศาสนาทั้งหลายอื่นด้วยเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ส่งเสริมลัทธิศาสนาของตนเองให้เจริญขึ้นด้วย และทั้งในเวลาเดียวกันก็เป็นการเอื้อเฟื้อต่อลัทธิศาสนาอื่นด้วย แต่เมื่อกระทำโดยวิธีตรงข้าม ย่อมชื่อว่าเป็นการทำลายลัทธิศาสนาของตนเองด้วย และเป็นการทำร้ายแก่ลัทธิศาสนาของคนอื่นด้วย

อันบุคคลผู้ยกย่องลัทธิศาสนาของตน และกล่าวติเตียนลัทธิศาสนาของผู้อื่นนั้น ย่อมทำการทั้งปวงนั้นลงไป ด้วยความภักดีต่อลัทธิศาสนาของตนนั่นเอง ข้อนั้นอย่างไร คือด้วยความตั้งใจว่า เราจะแสดงความดีเด่นแห่งลัทธิศาสนาของเรา แต่เมื่อเขากระทำลงไปดังนั้น ก็กลับเป็นการทำอันตรายแก่ลัทธิศาสนาของตนหนักลงไปอีก

ด้วยเหตุฉะนั้น การสังสรรค์กลมเกลียวกันนั้นแล เป็นสิ่งดีงามแท้ จะทำอย่างไร คือ จะต้องรับฟังและยินดีรับฟังธรรมของกันและกัน (ขีดเส้นใต้ โดยผู้เรียบเรียง)

ดังนั้นพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ จึงทรงมีความปรารถนาว่า เหล่าศาสนิกชนในลัทธิศาสนาทั้งปวง พึงเป็นผู้มีความรอบรู้ (เป็นพหูสูต) และมีหลักศาสนธรรมที่ดีงาม (กัลยาณาคม)

ชนเหล่าใดก็ตามซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในลัทธิศาสนาต่างๆ กัน ชนเหล่านั้นพึงกล่าวให้รู้กันทั่วไปว่า พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่า ทานหรือการบูชาอันใด จะทัดเทียมกับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้ได้แก่การพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง และความเจริญงอกงามนี้พึงมีเป็นอันมากด้วย

ศิลาจารึกยังไม่จบ เอาเฉพาะจบข้อความที่เกี่ยวข้องเท่านี้ก็พอ นโยบายนี้จะเห็นว่าเป็นแบบอย่างของการปกครอง ที่ปัจจุบันเรียกว่ามี tolerance ซึ่งหาได้ยากในประวัติศาสตร์ แต่ในสมัยพระเจ้าอโศก ศาสนาต่างๆ อยู่กันได้ด้วยดี และได้รับการอุปถัมภ์บำรุงเต็มที่

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า เรื่องของการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนา ฝรั่งมักใช้คำว่า “tolerance” ซึ่งโดยตัวศัพท์ที่แท้แปลว่าอดทน ได้แก่การมีขันติธรรม ถ้าพูดแรงก็ต้องว่า ฝรั่งไปได้แค่นี้เองหรือ ไปได้แค่ต้องอดต้องทน (หรือต้องยอมปล่อย) คือแค่ดีขึ้นกว่าอดไม่ได้ ทนไม่ได้ ทนฟังคนอื่นมิได้ที่เขามีความเห็นต่างไป หรือทนอยู่กับเขาไม่ได้ ต้องไปจัดการบังคับเขาให้หันมาถืออย่างตัว

การทนได้ที่เรียกว่า tolerance นี้ ฝรั่งพยายามขยายความหมายออกไปให้เป็นความใจกว้างและการมีเสรีภาพทางศาสนา ต่างจากคติของพระเจ้าอโศกที่ไม่ใช่แค่ tolerance เพราะใช้คำว่า “สมวายะ” ซึ่งแปลว่าความประสานกลมกลืน ความสามัคคี หรือการอยู่ร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก มนุษย์จะต้องพัฒนามากทีเดียว จึงจะอยู่ด้วยกันได้ดี ทั้งๆ ที่มีความแตกต่าง

แม้จะแตกต่างกัน แต่สามารถอยู่กันอย่างประสานกลมกลืน อันนี้คือเครื่องบ่งชี้การพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นและเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มนุษย์เป็นเหมือนกันหมด

มนุษย์ย่อมมีความแตกต่างกัน แต่ทำอย่างไรจะให้เขาอยู่ได้อย่างดีด้วยกัน ท่ามกลางความแตกต่างนั้น

ความสำเร็จขั้นต้นก็คือ “tolerance” ได้แก่ ทนกันได้ แต่ทำอย่างไรจะให้เหนือกว่านั้น คือให้มี “สมวายะ” มีความประสานกลมกลืน ความปรองดองสามัคคี อันนี้เป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง

ในประวัติศาสตร์ มนุษย์ยังไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะอยู่กันอย่างปรองดองสามัคคี สมัยพระเจ้าอโศกผ่านไป แบบอย่างที่พระองค์จัดวางไว้ ก็ไม่คงอยู่ยั่งยืน อำนาจแห่งราชวงศ์ของพระองค์ก็สิ้นสุดลงด้วยการถูกฆ่าฟัน และมีการเบียดเบียนในทางศาสนา

ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อรัชสมัยของพระเจ้าอโศกผ่านไปแค่ชั่วหลานหรือเหลน ก็ถูกยึดอำนาจโดยอำมาตย์ที่ตั้งราชวงศ์ของพราหมณ์ขึ้นมา และมีการกำจัดพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ และนี่ก็คือประวัติศาสตร์ในแง่หนึ่งที่เป็นบทเรียนสอนมนุษย์

ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ
ที่ท้าทายต่อหลักการของประชาธิปไตย

เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างศาสนามีตัวอย่างอยู่ในอดีต เป็นเวลาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว พระเจ้าอโศกนี้ แค่ ๒๐๐ กว่าปีหลังพุทธกาล เท่ากับ ๒,๓๐๐ ปีแล้ว แต่มนุษย์ไม่สามารถสืบทอดรักษา หรือแพร่ขยายท่าทีนี้ออกไปให้สำเร็จได้

จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์จะต้องมาคิดพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป โดยเฉพาะในยุคนี้เรามีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย จะต้องปฏิบัติให้ได้ตามหลักการนี้ คือทำอย่างไรจะให้คนที่แตกต่างกันอยู่ด้วยกันได้ เวลานี้กลายเป็นเรื่องยากที่สุด

ภัยของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ ที่ใหญ่ที่สุดมี ๒ อย่าง ที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่ได้หรือไม่ได้

๑. ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่มนุษย์ยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งประเทศตะวันตกตื่นตัว กลัวเกรงภัยอันตรายมาก บางทีก็คิดว่าโลกอาจจะไปไม่รอด อาจจะถึงกับพินาศ มีการประชุมระดับโลกเรียกว่า “Earth Summit” ประชุมมา ๒ ครั้งแล้ว ในปี 1972 และ 1992

ในช่วงเวลา ๒๐ ปี ระหว่างครั้งที่ ๑ กับครั้งที่ ๒ นี้ เขาสรุปออกมาว่า ทั้งๆ ที่มนุษย์ตื่นตัว แต่ก็แก้ปัญหาหรือยับยั้งเรื่องความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม หรือภัยอันตรายแก่สิ่งแวดล้อม ไม่ได้ผล คือไม่ดีขึ้นเลย แต่กลับทรุดโทรมหนักลงไป ภัยอันตรายจะครอบงำมนุษย์ต่อไป

๒. ความแตกแยกระหว่างหมู่ชน ที่แบ่งกันไปด้วยเหตุการนับถือลัทธิศาสนา ด้วยเหตุแบ่งผิวชาติชั้นวรรณะ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยผู้นำ ได้ชื่อว่าเป็น “melting pot” คือเบ้าหลอมให้คนรวมเป็นอันเดียวกัน เวลานี้ เบ้าหลอมก็แตกแล้ว

คติประชาธิปไตย มี ๓ ข้อ

๑) เสรีภาพ (liberty)

๒) สมภาพ/สมานภาพ/ความเสมอภาค (equality)

๓) ภราดรภาพ (fraternity)

หลักทั้งสามนี้ว่ากันมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution, ค.ศ.1789/พ.ศ.๒๓๓๒) แต่ตอนหลังๆ นี้ ไม่มีใครพูดถึงภราดรภาพ พูดถึงแต่เสรีภาพกับความเสมอภาค และเสรีภาพก็มิใช่เพื่อจะมาอยู่ร่วมกัน แต่เป็นเสรีภาพเพื่อแก่งแย่งผลประโยชน์กัน

เสรีภาพเพื่อฉันต้องเอาให้ได้เท่าที่ฉันต้องการ เสมอภาคเพื่อจะให้คนอื่นจะต้องได้ไม่มากกว่าฉัน ถ้าแกได้ ๕๐๐ ฉันต้องได้ ๕๐๐ นี้เรียกว่าเสรีภาพและเสมอภาคแบบทุนนิยม คือเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ ที่จริงมันมิใช่ประชาธิปไตยแท้

ในประชาธิปไตยที่แท้ เสรีภาพ คือการที่คนมีโอกาสนำเอาศักยภาพของตน เช่นความรู้ความสามารถและสติปัญญา มาร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม อันนี้คือเสรีภาพในความหมายเดิม

ถ้ามนุษย์ไม่มีเสรีภาพ ทั้งๆ ที่ตัวเองมีความรู้ มีสติปัญญาความสามารถ แต่สติปัญญาความรู้ความสามารถของเขาก็ไม่สามารถแสดงตัวออกมาเป็นประโยชน์แก่สังคมได้ เราจึงให้มีเสรีภาพ ซึ่งในความหมายเดิมเป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์สังคม

ส่วนความเสมอภาคก็คือ การมีโอกาสเท่าๆ กัน โดยเฉพาะการร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน ซึ่งเป็นเชิงสามัคคี และเชิงให้ คือเสรีภาพที่จะให้แก่สังคม และความเสมอภาคที่จะมาประสานอยู่ร่วมกัน อย่างที่ทางพระเรียกว่า “สมานสุขทุกขตา” แปลว่ามีสุขทุกข์เสมอกัน คือร่วมสุขร่วมทุกข์ ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง และไม่เอาเปรียบกัน

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเกิดภราดรภาพ คือความเป็นพี่เป็นน้อง ภราดรภาพ คือความสามัคคี มีเอกภาพ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยให้บุคคลทุกคนใช้เสรีภาพและความเสมอภาคในการร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามมีสันติสุขได้เต็มที่

ภาวะไม่มั่นคงของหลักการแห่งประชาธิปไตย
บ่อนทำลายอารยธรรมปัจจุบันแม้แต่ในประเทศผู้นำ

หลักการของประชาธิปไตย ๓ ข้อนี้ คือ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ตามความหมายที่แท้นั้น กลมกลืนประสานเป็นอันเดียวกัน

แต่ตอนนี้ลัทธิทุนนิยมครอบงำโลก แต่ละคนก็ต้องมุ่งเพื่อผลประโยชน์ของตน เสรีภาพก็เลยถูกใช้เพื่อสนองเป้าหมายของตัวว่า ฉันต้องการฉันต้องได้ ฉันอยากทำอะไรฉันจะต้องทำเพื่อให้ได้ตามที่ฉันต้องการ เป็นเสรีภาพเพื่อเอาผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด จึงต้องยับยั้งด้วยกฎหมาย ในการที่จะมิให้ละเมิดต่อผู้อื่น โดยเอากฎหมายมาเป็นขอบเขต

ความเสมอภาคก็เป็นแบบแก่งแย่งผลประโยชน์ว่า ถ้าคนโน้นได้ ๕๐๐ ฉันต้องได้ ๕๐๐ แกได้ ๑,๐๐๐ ฉันต้องได้ ๑,๐๐๐

เมื่อความหมายของเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นไปในเชิงแบ่งแยก และแก่งแย่ง ภราดรภาพก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ภราดรภาพนั้น สหรัฐอเมริการักษาไว้ในคติ melting pot ในอเมริกาแทบไม่มีการพูดคำว่า “fraternity” แต่ fraternity นิยมใช้เป็นคำเรียกกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย คล้ายๆ คำว่า society หรือ association แต่ fraternity เดิมเป็นหลักการของประชาธิปไตย

ในสังคมอเมริกันมีคติ melting pot ว่าคนอเมริกันมาจากเชื้อชาติภูมิหลังต่างๆ กัน มาอยู่ในสังคมเดียวกันก็รวมกันในเบ้าหลอม กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่าเป็นสังคม melting pot

อเมริกันมีความภูมิใจมากในคติ melting pot ว่าสังคมของเขานั้น พิเศษกว่าสังคมทั้งหลายอื่น ไม่มีสังคมไหนจะกลมกลืน ประสานคนเข้าเป็นอันเดียวกันได้อย่างสังคมอเมริกัน

มากาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีอังกฤษสมัยหนึ่งก็ยกย่องสรรเสริญในที่ประชุมใหญ่ว่า อเมริกาเป็นประเทศที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถหล่อหลอมคนต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรมให้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ คือเป็นชนชาติอเมริกัน นับว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งในสังคมของเขา

ที่ว่ามานี้เท่ากับบอกว่า อเมริกาในอดีตก็มีหลัก fraternity แต่ใช้คำว่า melting pot แทน ซึ่งก็หมายความว่า รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ สามัคคีกันได้ แต่ตอนนี้อเมริกายอมรับแล้วว่าสังคมของตนเลิกเป็น melting pot คตินี้เลิกไปแล้วอย่างรวดเร็ว

เวลานี้ อเมริกาไม่ได้เป็น melting pot ต่อไปแล้ว หนังสือที่ออกมาใหม่ๆ ถือว่าอเมริกานี้ อย่างดีก็เป็นได้แค่ โมเสก (mosaic) หมายความว่า คนในอเมริกามีภูมิหลังเชื้อชาติต่างๆ กัน แต่มาอยู่รวมกันอย่างเป็นระเบียบ อยู่ในกฎกติกาหรือภายใต้ law เดียวกัน เหมือนกับโมเสก คือชิ้นกระเบื้องที่มีสีสันต่างๆ ที่เขาเอามาจัดแต่งประดับ ก็สวยงาม แม้จะต่างสีก็เป็นระเบียบ

อเมริกันตอนนี้อยากเป็น mosaic เพราะเป็น melting pot ไม่ไหว มันหลอมไม่ไหว มันหลอมไม่รวม

ทีนี้ เมื่อหลอมไม่รวม แม้แต่โมเสกตอนนี้ก็เป็นไม่ได้ Mr.Naisbitt เขียนหนังสือบอกว่า อเมริกันเป็นได้แค่จานสลัด (salad bowl) คือยำเลย จึงนุงนังไม่เป็นระเบียบ คลุกเคล้ายุ่งกันไปหมด ตอนนี้อเมริกาได้แค่นั้น

ที่จริงนั้น คติเบ้าหลอม หรือ melting pot นี้ เป็นเพียงแบบหนึ่งของภราดรภาพ มีความหมายไม่ตรงกับภราดรภาพแท้จริง คือเป็นการหลอมรวมหรือกลืนคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมเข้าในวัฒนธรรมหลักของประเทศนั้น

คนอเมริกันยุคปัจจุบันไม่ชอบคติเบ้าหลอมนี้แล้ว แต่(จำนวนไม่น้อย) หันไปนิยม multiculturalism คือ “คติพหุวัฒนธรรม” หรือการมีวัฒนธรรมหลากหลาย ให้คนต่างวัฒนธรรมคงวัฒนธรรมของตนไว้ได้ท่ามกลางการอยู่ร่วมกัน ก็เป็นภราดรภาพอีกแบบหนึ่ง ตามแนวคิดใหม่

แต่เท่าที่เป็นมาถึงปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมหลากลายเหล่านั้นก็หาได้อยู่ร่วมกันด้วยดีมีภราดรภาพไม่ ความแตกแยกรังเกียจเดียดฉันท์ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมอเมริกันต่อไป

ที่พูดมานี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าหัวเราะ แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะมันนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมอเมริกัน และจะนำไปสู่ความหายนะ นำไปสู่แม้แต่ความเสื่อมสลายของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในอเมริกามิใช่จะมั่นคง เพราะว่า

ดูง่ายๆ ความแตกแยกระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ แค่นี้ก็ไปไม่รอดแล้ว อเมริกาพยายามนักหนาที่จะรวมคน ๒ พวกนี้ แต่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ความพยายามที่จะรวมเหมือนจะทำให้แตกแยกยิ่งขึ้น เวลานี้ อเมริกายอมรับว่า ช่องว่างได้กว้างยิ่งขึ้น ไม่ใช่เล็กลง

วิธีการของอเมริกานั้น เป็นการพยายามรวมด้วยกฎหมาย เพราะสังคมอเมริกัน เขาภูมิใจนัก ว่าเขาเป็นสังคม rule of law คือเป็นสังคมที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ ปกครองกันโดยกฎหมาย ปกครองกันโดยกติกา ปกครองกันโดยหลักการ

แต่อย่าลืมว่า ถ้าเป็นหลักการที่แห้งแล้ง ไม่เกิดจากหัวใจที่แท้จริงแล้วก็ไปไม่รอด เพราะความนิยมยึดถือกฎกติกานั้น เกิดมาจากจิตใจเดิม ที่คนอเมริกันรุ่นบรรพบุรุษ ได้มีน้ำใจรักความเป็นระเบียบ รักกฎเกณฑ์กติกา

แต่กฎเกณฑ์กติกาที่สืบมา โดยไม่ได้สืบเนื้อหาสาระทางด้านจิตใจ ก็ได้แต่รูปแบบ ต่อมานานเข้า สาระในจิตใจที่เป็นแกนจืดจางไป รูปแบบก็เพี้ยน

ถึงตอนนั้น สังคม rule of law อาจจะรวมคนได้ แต่รวมใจไม่ได้ เมื่อรวมใจไม่ได้ ก็ไม่รวมกันจริง

เวลานี้ก็มีความระแวงและต้องคอยเอาใจกัน เวลาจะพูดเหตุผลกัน ถ้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องผิว พูดไม่ได้ พูดแล้วสะเทือนใจ ต้องอดทน

ความอดทนอย่างนี้ถูกหรือ อดทนที่ถูกคืออดทนโดยยอมรับฟัง และพูดกันด้วยเหตุผล แต่อดทนที่เก็บไว้ไม่ยอมพูด พูดไม่ได้เพราะกลัว ไม่ใช่ความอดทนที่แท้ ถ้าอยู่กันด้วยความกลัว ประชาธิปไตยก็ไปไม่ไหว ประชาธิปไตยต้องอยู่ด้วยเหตุผล ต้องสามารถพูดจาแสดงออก

เสรีภาพในการพูดเวลานี้เป็นปัญหามากในสังคมอเมริกัน แม้แต่ในมหาวิทยาลัยของอเมริกา การใช้เสรีภาพในการพูดเดี๋ยวนี้ลำบาก บางคนจะพูดออกมาแสดงความคิดเห็นให้เหตุผลแบบเสรี ก็ถูกประณาม ต้องยอมแก่ “political correctness” คือความถูกต้องแบบการเมือง

เดี๋ยวนี้ในสังคมอเมริกัน ศัพท์นี้มีความสำคัญมาก อะไรหลายอย่างพูดไม่ได้ สังคมที่พูดเหตุผลกันไม่ได้อย่างนี้ จะไปรอดได้อย่างไร เรื่องผิวขาวผิวดำก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของเรื่องที่พูดไม่ได้ และเมื่อคนไม่สามารถอยู่กันด้วยเหตุผล ไม่สามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นหรือแสดงเหตุผลกันได้อย่างจริงจัง ประชาธิปไตยจะอยู่ยั่งยืนได้อย่างไร

ยิ่งต้องมีการเอาอกเอาใจ โดยเฉพาะนักการเมือง เช่น ส.ส.ฝ่ายผิวขาวก็อาจจะต้องเอาใจคนผิวดำ เพื่อจะได้คะแนนเสียง โดยมิใช่เป็นไปด้วยการใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลที่แท้จริง ประชาธิปไตยก็เรียกได้ว่า ง่อนแง่นแล้ว

เมื่อมองสังคมอเมริกันด้วยความเข้าใจ ก็จะเห็นว่าประชาธิปไตยอเมริกัน ไม่ได้มีความมั่นคงแท้จริง

การแตกแยกในเรื่องผิวพรรณ เป็นเรื่องใหญ่มาก เวลานี้อเมริกามีคนตั้ง ๕ เผ่า มีผิวขาว ผิวดำ คนเชื้อสายสเปน ซึ่งมีจำนวนมาก (ครั้งหนึ่งเคยจะขอให้ภาษาสแปนิชเป็นภาษาราชการด้วย) ต่อจากนั้นก็มีชาวเอเชียคือคนผิวเหลือง ซึ่งกำลังเข้าไปมาก แล้วก็เนติฟอเมริกัน คือคนอินเดียนแดง ซึ่งเหลืออยู่นิดเดียวในเขต reservation/เขตสงวน

ขออภัยถ้าใช้คำว่าสงวนพันธุ์ เหมือนกับสงวนพันธุ์อินเดียนแดงไว้ คือเหลืออยู่นิดหน่อย ไปรวมอยู่กันเป็นกลุ่มๆ มีการเรียกร้องสิทธิขึ้นมาเป็นครั้งคราว แต่มีกำลังน้อย ก็อยู่กันมาอย่างนี้

สังคมอเมริกันที่เรายึดเอาเป็นแม่แบบประชาธิปไตยในปัจจุบันเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนนี้ถืออังกฤษเป็นแม่แบบ แต่เดี๋ยวนี้ทั้งที่รูปแบบของเรามาจากสายอังกฤษ แต่เราไม่ค่อยถืออังกฤษ เรามักมองไปที่อเมริกา แต่ถ้าสังคมแม่แบบเป็นอย่างนี้แล้วจะไปดีได้อย่างไร เพราะแม้แต่แม่แบบก็ยังแย่ ความแตกแยกอย่างนี้เป็นตัวอย่างของการที่มนุษย์จะไปไม่รอด

มองกว้างออกไปในโลก เวลานี้มนุษย์ก็รบราฆ่าฟันกันด้วยเรื่อง การแบ่งเผ่า แบ่งผิว แบ่งลัทธิศาสนา เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องคิดกันให้หนักว่า เราจะอยู่กันอย่างไรให้สงบสุขได้ มนุษย์จะต้องมองไปที่ท่าที และรูปแบบ โดยโยงไปถึงตัวเนื้อหาสาระเช่นหลักการต่างๆ แล้วอยู่กันด้วยเมตตา ซึ่งเกิดจากปัญญาที่รู้เข้าใจกัน แล้วให้โอกาสแก่กันและกัน จึงจะไปได้จริง

ตอนนี้มีผู้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า The Twilight of Democracy3แปลว่า สนธยาแห่งประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยยามสนธยา หมายความว่า ประชาธิปไตยจะแย่แล้ว มันจะไปไม่รอด

เรื่องประชาธิปไตยและความสงบสุขของสังคมที่พูดมานี้ จะต้องมองให้โยงไปที่ลัทธิศาสนาต่างๆ ด้วย อย่างน้อยก็น่าพิจารณาว่า เท่าที่เป็นมา ศาสนามีบทบาทในทางสร้างสามัคคี หรือก่อความแตกแยก อย่างไหนมากกว่ากัน แล้วเอาจริงเอาจังในการที่จะหาทางแก้ปัญหาให้ถูกต้อง

เป็นอันว่า โลกมนุษย์ในปัจจุบัน มีภัยอันตรายใหญ่อยู่ ๒ ประการ

๑. ความแตกแยกระหว่างมนุษย์ ที่รบราฆ่าฟัน สมานกลมกลืนกันไม่ได้ นับวันจะมากขึ้น ทั้งๆ ที่โลกของสิ่งแวดล้อมและโลกของการสื่อสารรวมกันได้ด้วยโลกาภิวัตน์ เป็น Global Village คือเป็นโลกแคบอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่มนุษย์กลับยิ่งแตกแยก และสภาพแตกแยกนั้นก็กลายเป็นโลกาภิวัตน์

๒. ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโลกาภิวัตน์ แผ่ไปทั่วโลกเช่นเดียวกัน

สองปัญหานี้ มนุษย์จะพัฒนาตัวเองพอที่จะแก้ไขได้หรือไม่ มันอาจจะนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศ บางทีเราก็มัวไปนึกถึงภัยธรรมชาติ หรือนึกถึงนักทำนายอนาคตอย่างนอสตราดามุส หรืออะไรต่ออะไรก็ว่ากันไป แต่ที่จริงกรรมคือการกระทำของมนุษย์นี่เองเป็นตัวร้าย

มนุษย์มักจะมัวไปคิดซัดทอดปัจจัยอื่น แต่ลืมมองตนเอง ปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องของมนุษย์ที่เจริญมาจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่พัฒนาตนเองเท่าไร ทั้งๆ ที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็ยังไม่แสดงถึงลักษณะที่มนุษย์จะพัฒนาไปในแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะว่า ความแตกแยกไม่น้อยลง แต่กลับมากขึ้น ทำอย่างไรเราจะพัฒนามนุษย์ได้สำเร็จ

ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา
และท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา

เรื่องท่าทีต่อกันระหว่างมนุษย์ รวมทั้งท่าทีต่อกันระหว่างศาสนา ก็เป็นเรื่องใหญ่ ต้องดูจุดรวมใหญ่ที่ว่า เราจะอยู่กันอย่างไรด้วยท่าทีที่ถูกต้อง

ท่าทีที่ดี กับ ท่าทีที่ถูกต้อง อาจจะไม่เหมือนกัน

เมื่อพูดถึง “ท่าทีที่ดี” เราอาจจะมองไปในแง่ที่ว่า อ๋อ! เช่นมีเมตตาต่อกัน ต้องมี tolerance ต้องมีการประสานกลมกลืน ประนีประนอมกัน ซึ่งถ้าไม่ระวังให้ดี ก็พลาดเหมือนกัน เพราะมนุษย์นั้น แท้จริงแล้วเขาต้องการรู้ความจริงและความดีงามที่เป็นของธรรมชาติ เขาไม่ใช่แค่อยากรู้ แต่เขาต้องรู้ด้วย

มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามแท้จริงโดยสมบูรณ์ จะต้องรู้ความจริงของธรรมชาติ ทีนี้ความจริงของธรรมชาติ มันไม่เข้าใครออกใคร มันไม่ได้ขึ้นต่อมนุษย์ มันเป็นของมันอย่างนั้น มนุษย์จะเอาอย่างไรก็เรื่องของมนุษย์ แต่มันไม่เป็นไปตามใจมนุษย์ มนุษย์นี่แหละจะต้องไปรู้จักมัน

เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องเข้าไปรู้จักความจริงของธรรมชาติ และปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง

สำหรับความเป็นอยู่ของมนุษย์นี้ เราเห็นอยู่ชัดเจนว่า มนุษย์อยู่กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็น ๒ อย่าง ๒ วง หรือ ๒ ระดับ

๑. สิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน คือสิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่เพื่อนมนุษย์

๒. สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมด ได้แก่ระบบของสรรพสิ่งที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ รวมทั้งตัวมนุษย์เองด้วย

ถ้าเราแยกอย่างนี้ได้ ก็จะเห็นความแตกต่าง ว่าเราจะต้องมีท่าทีต่างกันเป็น ๒ อย่าง ซึ่งถ้าไม่ระวังจะสับสน

ก) ท่าทีต่อคน หรือท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ คือ คนเราอยู่ด้วยกัน ก็ควรรักกัน มีเมตตาต่อกัน นี้เป็นท่าทีที่ดี เพราะว่ามันจะช่วยให้เราไม่เบียดเบียนกัน มีความสามัคคี มีความรักใคร่ปรองดอง ปรารถนาดี ปรารถนาประโยชน์สุขแก่กันและกัน

ข) ท่าทีต่อธรรม (จะเรียกว่า ท่าทีต่อสัจธรรม ก็ได้) คือ พร้อมกับที่อยู่กับคนนั้น มนุษย์ก็อยู่กับความจริงของธรรมชาติ อยู่กับระบบของสรรพสิ่งที่สัมพันธ์กัน (ไม่ใช่หมายถึงธรรมชาติด้านชีวิต เช่นสิงสาราสัตว์ แต่หมายถึงตัวกฎธรรมชาติ) ซึ่งอย่างที่บอกแล้วว่า ไม่เข้าใครออกใคร มนุษย์จะต้องไปรู้จักมัน

ท่าทีต่อความจริงของธรรมชาตินี้จะเอาเมตตาไปใช้ไม่ได้ แต่จะต้องรู้เข้าใจมันด้วยปัญญา และจะต้องปฏิบัติต่อมันโดยใช้ปัญญา

ท่าทีที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์คือมีเมตตา แต่ท่าทีที่ถูกต้องต่อกฎธรรมชาติคือใช้ปัญญา

มนุษย์จะอยู่ด้วยเมตตาต่อกฎธรรมชาติ มันก็ไม่รู้เรื่องด้วย และมันก็ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา แล้วมันก็เมตตาต่อใครไม่เป็น แต่มันก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของมันอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น เราต้องรู้มัน ต้องรู้ความจริงของมัน แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง

มนุษย์เรานั้นแสวงหาสิ่งนี้อยู่แล้ว คือหาความจริง แต่พร้อมกันนั้นมนุษย์ก็ต้องอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งต่างพวกต่างคนก็เห็นความจริงไม่เหมือนกัน ตอนนี้แหละถ้าไม่ระวังให้ดีจะมีท่าทีที่สับสนแล้วก็จะพลาด

ที่ว่านั้น หมายความว่า มนุษย์ที่พยายามอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้น ก็จะบอกว่า เราต้องมีเมตตาต่อกัน แล้วก็จะมาประนีประนอมกัน โดยบอกว่า นี่นะ ไม่เป็นไรหรอก เรามาตกลงกันว่า เราทุกคนทุกฝ่ายก็เห็นความจริงด้วยกันทั้งนั้น

ถ้าอย่างนี้ มนุษย์ที่จะประนีประนอมกันนั้น ก็กลายเป็นว่าไปประนีประนอมกับความจริง หรือเอาสัจธรรมมาประนีประนอมกับตน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และการทำอย่างนั้นก็จะเป็นอุปสรรคแก่ตัวมนุษย์เอง คือทำให้มนุษย์ขัดขวางตัวเองจากความจริง ซึ่งจะทำให้ไม่เข้าถึงความจริงนั้น

เราบอกว่า ความจริงเป็นอย่างที่คนนั้นมองก็ได้ คนนี้ก็เข้าถึงความจริงเหมือนกัน แต่เขาเข้าถึงจริงหรือไม่ เราก็ไม่รู้ กลายเป็นว่าเราพูดเอาเอง เราตัดสินเอง ทั้งที่ตัวเราเองก็ยังไม่รู้ ซึ่งความจริงมันก็ไม่ไปตามเรา และ ความจริงย่อมเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นอย่างใดก็ได้

เคยมีท่านที่พยายามทำอย่างนี้ คือจะประสานกลมกลืนระหว่างศาสนาโดยวิธีพูดประนีประนอมว่า ทุกๆ ศาสนาก็เห็นความจริงเหมือนกันทั้งนั้น

ผู้ที่พูดอย่างนั้น ควรถามตัวเองว่า เรารู้ว่าเป็นอย่างนั้นจริง หรือเราพูดเพื่อเอาใจกัน เราไปพิสูจน์ เราไปตรัสรู้แล้วหรือ ว่าจริง ว่าถึง เราเก่งขนาดไหน จึงไปตัดสินได้ ถ้าเราตัดสินได้ เราก็ต้องรู้ความจริงสมบูรณ์แล้วและรู้ทั่วถึงทุกศาสนา นี่คือ จะต้องมีท่าทีที่พอดีกับความเป็นจริง

ถ้าเราไม่มีความรู้จริงพอที่จะไปวินิจฉัยว่า คนนั้นคนนี้ ท่านผู้นั้นผู้นี้ ศาสนานั้นศาสนานี้ ลัทธินั้นลัทธินี้ เข้าถึงความจริงหรือไม่ เราก็ควรพูดตรงๆ ว่าฉันไม่มีสิทธิวินิจฉัย แต่เราควรอยู่ด้วยกันด้วยเมตตา

ตอนนี้แหละเป็นการพัฒนามนุษย์ในขั้นสำคัญ ที่มนุษย์จะต้องไปถึงให้ได้ คืออยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา โดยที่พร้อมกันนั้น ก็สามารถที่จะให้แต่ละคนแสวงหาสัจธรรมความจริงโดยเปิดใจเต็มที่ด้วย ให้ความแตกต่างมีอยู่ได้ท่ามกลางความประสานกลมกลืน อันนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุด

บางทีมนุษย์ก็หลงไปว่าพวกตนจะต้องมาประนีประนอมกันว่า ศาสนาหรือลัทธิอะไรๆ ก็เข้าถึงความจริงด้วยกันทั้งนั้น ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ กลายเป็นว่า เราไปข้ามขั้น เราไปตัดสินความจริงของธรรมชาติ ซึ่งมันไม่มีทางประนีประนอมหรือยอมตามเรา

การค้นหาความจริงเป็นหน้าที่ที่แต่ละคนต้องทำต่อไป ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรมนุษย์จึงจะรับฟังซึ่งกันและกันได้ ไม่บีบคั้นบังคับหรือข่มเหงกัน ไม่ใช่ว่าเขาพูดแปลกหูออกมา ก็จะจัดการ

ท่าทีโอนอ่อนอย่างมากที่สุดที่มนุษย์จะทำได้ ก็คือการพูดว่า ทั้งศาสนาของคุณ และศาสนาของฉัน อาจจะเข้าถึงความจริงด้วยกันทั้งสองฝ่ายก็ได้ คือในขั้นสุดท้ายตรงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ขอให้เราแสวงหาและพยายามเข้าถึงความจริงกันต่อไป

ตกลงว่าเรามีสิ่งแวดล้อม ๒ อย่างที่จะต้องปฏิบัติด้วยท่าทีที่ถูกต้อง คือ

๑. ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา และ

๒. ท่าทีต่อสัจธรรมหรือกฎธรรมชาติด้วยปัญญา

ให้ไปด้วยกันทั้งคู่ แม้จะยากที่สุด4 แต่มันคือเครื่องวัดการพัฒนาของมนุษย์

ตัวอย่างที่แสดงท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา
และท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา

เรื่องจากสีหสูตรต่อไปนี้ แสดงถึงท่าทีของพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่นได้อย่างชัดเจน อันจะเห็นได้จากพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าเอง และทำให้เห็นว่า การยอมรับด้วยปัญญาต่อหลักคำสอนของศาสนาหนึ่ง พร้อมกับการเกื้อกูลต่อศาสนาอื่นด้วยเมตตา เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง และควรจะต้องเป็นเช่นนั้น ความในสีหสูตรต่อไปนี้มีความชัดเจน ไม่จำเป็นต้องอธิบาย ดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี

โดยสมัยนั้นแล กษัตริย์ลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก ซึ่งนั่งประชุมกันในสันถาคาร (หอประชุมพิจารณากิจการของรัฐ) กำลังกล่าวสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์โดยอเนกปริยาย

สมัยนั้น สีหเสนาบดี ผู้เป็นสาวกของนิครนถ์ ก็นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้น ลำดับนั้น ท่านสีหเสนาบดีได้มีความคิดว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น คงจักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยมิต้องสงสัย กษัตริย์ลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้ ซึ่งประชุมอยู่ในสันถาคาร จึงกล่าวสรรเสริญคุณ . . . ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ . . . เถิด

เมื่อสีหเสนาบดีคิดดังนั้นแล้ว ด้วยความเคารพในนิครนถนาฏบุตรผู้เป็นอาจารย์ จึงเข้าไปบอกแจ้งขอโอกาสก่อนจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านนิครนถนาฏบุตรก็เตือนว่า พระสมณโคดมเป็น อกิริยวาท ทำให้สีหเสนาบดีเลิกความคิดที่จะไปเฝ้า

แต่ต่อมาสีหเสนาบดีก็กลับคิดขึ้นมาอีกว่า การที่กษัตริย์ลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากพากันกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้านั้น คงจะทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมมาพุทธเจ้าจริง ก็เข้าไปบอกแจ้งขอโอกาสกะนิครนถนาฏบุตรอีก ท่านนิครนถนาฏบุตรก็ชี้แจงจนทำให้สีหเสนาบดีเลิกความคิดที่จะไปเฝ้าอีก

จนกระทั่งครั้งที่ ๓ สีหเสนาบดีคิดขึ้นมาอีก แต่คราวนี้ท่านเสนาบดีตัดสินใจไม่ไปบอกแจ้งขอโอกาสจากท่านนิครนถนาฏบุตรก็เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว

เมื่อไปเฝ้าพบกับพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านเสนาบดีก็ทูลว่า ท่านได้ยินได้ฟังมาว่าพระสมณโคดมเป็นอกิริยวาท คำกล่าวนั้นเป็นจริงหรือไม่ พระพุทธเจ้าก็ทรงอธิบายให้ฟัง ในที่สุด สีหเสนาบดีเกิดความเข้าใจชัดเจนแล้วเลื่อมใส ขอประกาศตนเป็นอุบาสก แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนว่า

ท่านสีหะ ท่านจงใคร่ครวญก่อนทำ การใคร่ครวญก่อนทำ เป็นการดีสำหรับคนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน

สีหเสนาบดีได้ฟังดังนั้นแล้ว ยิ่งมีความเลื่อมใส ได้กล่าวยืนยันขอแสดงตนเป็นอุบาสกอีกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อท่านเสนาบดียืนยันเช่นนี้ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสต่อไปว่า

ท่านสีหะ ตระกูลของท่านเป็นเสมือนบ่อน้ำของนิครนถ์ทั้งหลายมานานแล้ว ท่านควรใส่ใจจัดให้อาหารบิณฑบาตแก่นิครนถ์ที่เข้าไป(ดังเดิม)ด้วย

(วินย.๕/๗๘-๘๐; องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๑๐๒)

ได้พูดมาบ้างแล้วถึงการแสดงออกต่อผู้อื่นหรือท่าทีทั่วๆ ไป ทีนี้ หันมาพูดถึงท่าทีของพระพุทธศาสนาต่อผู้อื่นที่มากระทำต่อพุทธศาสนา หรือมาแสดงออกต่อตนเองบ้าง ว่าในกรณีที่ผู้อื่นมาแสดงออกต่อตน จะรู้สึกและปฏิบัติอย่างไร

ขอยกตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เมื่อมีผู้มาติชมพระรัตนตรัย คือ มาติเตียนพระรัตนตรัยบ้าง มาชมพระรัตนตรัยบ้าง หรือมาติเตียนพุทธศาสนาบ้าง มาชมพุทธศาสนาบ้าง คราวนี้ดูซิว่า ท่าทีของชาวพุทธตามที่พระพุทธเจ้าได้แนะนำไว้ เป็นอย่างไร

จะขออ่านข้อความในพระสูตรแรกในพระไตรปิฎกให้ฟัง พระสูตรที่ ๑ เริ่มต้นด้วยเรื่องนี้ คือท่าทีของพุทธศาสนาต่อผู้ที่มีทัศนะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ต่อพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าผู้อื่นจะกล่าวติเตียนเราก็ตาม ติเตียนพระธรรมก็ตาม ติเตียนพระสงฆ์ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่พึงมีความเคียดแค้น ไม่พึงมีความขัดใจ ไม่พึงกระทำความไม่พอใจ

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนอื่นมากล่าวติเตียนเราก็ตาม พระธรรมก็ตาม พระสงฆ์ก็ตาม ถ้าเธอทั้งหลายโกรธขึ้ง ไม่พอใจ ก็จะเป็นอันตราย ต่อตัวเธอเอง

ถ้าเขาติเตียนแล้ว เธอโกรธ หรือไม่พอใจ เธอจะรู้ได้หรือว่า ที่เขาพูดนั้น ถูกหรือผิด เขากล่าวชอบ หรือกล่าวไม่ชอบ เป็นสุภาษิต หรือทุภาษิต ถ้าเขาพูดไม่ถูก เธอก็ควรชี้แจงให้เขาเข้าใจตามความเป็นจริง

ถ้ามีคนอื่นมาสรรเสริญเราก็ตาม สรรเสริญพระธรรมก็ตาม สรรเสริญพระสงฆ์ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่พึงมีความชอบใจ ความปลื้มใจ ความลำพองตัวกระเหิมใจ ถ้าหากว่า เธอทั้งหลายเกิดความชอบใจ พองใจอย่างนั้น ก็จะเกิดอันตรายกับตนเอง ในคำชมนั้น ถ้าเขาพูดถูก เธอก็พึงยอมรับ พึงชี้แจงไปตามที่เป็น

(ที.สี.๙/๑)

นี่คือท่าทีของพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นคำแนะนำของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาเอง นอกจากนี้ก็มีกรณีที่เป็นเรื่องปลีกย่อย เช่นการไปเผยแผ่ศาสนาก็ไปเพื่อประโยชน์แก่เขา อย่างที่พูดไปแล้วข้างต้น

มีกรณีหนึ่ง ที่พระหลายท่านคงเคยได้ยิน คือเรื่องพระปุณณะ ผู้มาจากดินแดนที่ชื่อว่า สุนาปรันตะ ซึ่งเป็นดินแดนที่คนดุร้าย ตอนมาท่านยังไม่รู้จักพุทธศาสนา เมื่อท่านมาพบพระพุทธเจ้าแล้ว ฟังธรรมเกิดความเลื่อมใสก็เลยได้บวชเป็นพระภิกษุ เมื่อบวชแล้วต่อมาได้ขอกลับไปอยู่ถิ่นเดิม คือ สุนาปรันตชนบท โดยมาลาพระพุทธเจ้าเพื่อรับโอวาทจากพระองค์ ก่อนจะเดินทางไป

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ปุณณะ มนุษย์ชาวสุนาปรันตะนั้น ดุร้าย รุนแรง เมื่อท่านไปอยู่ ถ้าเขาจะด่า จะบริภาษท่าน ท่านจะทำอย่างไร (เพราะเป็นพวกแปลกถิ่น แปลกพวกไปแล้ว)

พระปุณณะทูลตอบว่า

ถ้าเขาด่า ข้าพระองค์ก็จะคิดว่า ก็ยังดีที่เขาด่า ไม่ถึงกับเอามือทุบตี

(ม.อุ.๑๔/๗๕๗)

พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปว่า แล้วถ้าเขาทุบถอง จะทำอย่างไร ก็ตอบว่าดีกว่าเขาเอาก้อนดินก้อนหินขว้าง ตรัสถามต่อไปว่า ถ้าเขาเอาก้อนดินก้อนหินขว้างล่ะ ก็ตอบว่า ดีกว่าเอาท่อนไม้มาทุบมาฟาด ถ้าเขาเอาท่อนไม้มาทุบมาฟาดล่ะ ก็ยังดีกว่าเขาเอามีดมาฟันมาฆ่า

พระพุทธเจ้าตรัสถามและพระปุณณะทูลตอบไปตามลำดับอย่างนี้ จนกระทั่งถึงฆ่าเลย หมายความว่ายอมสละชีวิตได้ จะไม่ทำร้ายใคร ถ้าเขาจะทำร้ายก็ทำไป ตายก็ตาย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่างนี้เธออยู่สุนาปรันตะได้ ก็เป็นอันว่า พระปุณณะได้เดินทางไปสุนาปรันตชนบท และได้ประสบความสำเร็จในการสั่งสอนประชาชนให้มีการศึกษา นี้ก็เป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง

ว่าที่จริง ในเรื่องนี้ ตามหลักพุทธศาสนา พระสงฆ์มีระเบียบวินัยที่กันไว้แล้ว คือพระภิกษุนั้น เมื่อฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต แม้แต่มด ปลวก ริ้น ไร ก็เป็นอาบัติ แต่อาบัติเบาหน่อย ถ้าฆ่ามนุษย์ แม้แต่ทำให้แท้ง ก็เป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ โดยไม่มีขีดจำกัดว่าฆ่ามนุษย์ไหน เพราะฉะนั้นก็เป็นกลางๆ พระก็ไปเบียดเบียนใครไม่ได้ นี่เป็นวินัยซึ่งเป็นแบบแผนความประพฤติที่ขีดกั้นไว้

นอกจากนั้นยังมีคำสอนที่เรียกว่า สมณธรรม เรามักได้ยินสมณธรรมในความหมายที่ว่า เป็นข้อปฏิบัติของพระที่บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เข้ากรรมฐาน แต่ความจริงสมณธรรมในบริบทบางแห่งมีความหมายว่า เป็นธรรมของผู้สงบ ไม่เบียดเบียนใคร และมีคำสอนที่เรียกว่า “สมณธรรม” ในพระสูตรหนึ่งที่ตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย เขาด่า ก็ไม่ด่าตอบ เขาเสียดสี ก็ไม่เสียดสีตอบ เขาประหาร ก็ไม่ประหารตอบ อย่างนี้แหละสมณะจึงจะชื่อว่าตั้งอยู่ในสมณธรรม

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๓๒๕)

หลักสมณธรรมนี้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานที่เรียกว่าโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าหัวใจพุทธศาสนา

ในโอวาทปาติโมกข์นี้ มีข้อความท่อนแรกแสดงหลักขันติธรรม นิพพาน และลักษณะของสมณะนักบวช ดังนี้

ขันติ คือ ความอดได้ทนได้ เป็นตบะอย่างยอด นิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

(ที.ม.๑๐/๕๔; ขุ.ธ.๒๕/๒๔)

หลักการนี้จำกัดความหมายของสมณะนักบวชว่า ความเป็นสมณะและนักบวชนั้น ไม่อยู่ที่การมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ การทำพิธี การเป็นสื่อสวรรค์เป็นต้น แต่อยู่ที่การไม่เบียดเบียน หรือเป็นสัญลักษณ์ของความไม่มีภัย ซึ่งรวมถึงความมีขันติธรรมด้วย

ขันติธรรมนั้น ย่อมครอบคลุมความหมายของคำที่นิยมใช้กันในปัจจุบันว่า “อหิงสา” ดังที่ในวงการระหว่างประเทศ ถือว่าพุทธศาสนาเป็นต้นแบบแหล่งหนึ่งของหลักอหิงสา

ท่าทีอหิงสาที่สืบมาในศาสนาของอินเดีย

พึงสังเกตว่า ต่อมาตอนหลัง ฮินดูก็มาถือหลักอหิงสา ทั้งที่ ว่าตามความจริง ฮินดูนั้นมาจากศาสนาพราหมณ์

ศาสนาพราหมณ์เดิมนั้นคงจะเป็นอหิงสาได้ยาก เพราะเป็นศาสนาแห่งการบูชายัญ ตอนหลังฮินดูถึงกับไม่กินเนื้อสัตว์ และถือหลักอหิงสา อย่างท่านมหาตมคานธี เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เมื่อศาสนาพราหมณ์ได้ปรับตัวขึ้นมา และตอนหลังเรียกว่าศาสนาฮินดู

พูดในแง่หนึ่งก็คือการปรับตัวเพื่อแข่งขัน เพราะพระพุทธศาสนา กับศาสนาของเชน หรือศาสดาไชนะ หรือชินะ หรือนิครนถนาฏบุตร ถือหลักอหิงสา ไม่เบียดเบียน ทางฮินดูก็พยายามสู้ด้วยการถืออหิงสาด้วย5

ในสมัยพระเจ้าอโศกนั้น จารึกของพระองค์บอกว่า แต่ก่อนนี้ ในวังฆ่าสัตว์เป็นอาหาร วันละเท่านั้นเท่านี้ ต่อมาตอนนี้เหลืออย่างละ ๑ ตัว คือสัตว์ ๔ เท้าตัวหนึ่ง และสัตว์ปีกตัวหนึ่ง ต่อไปก็จะไม่มีการฆ่าเลย

ตามเรื่องนี้ เราจะเห็นร่องรอยของการไม่ฆ่าสัตว์ทำอาหารในสมัยของพระเจ้าอโศก และก็คงมีการถือกันต่อๆ มา จนกระทั่งทำให้ศาสนาฮินดูก็ต้องแข่ง โดยพยายามถือหลักอหิงสา

ปัจจุบันนี้กลายเป็นว่าคนฮินดูทั่วไปไม่กินเนื้อสัตว์ และมีการถือหลักอหิงสาไปด้วย ทั้งๆ ที่ว่า เดิมนั้นตัวเองมาจากศาสนาบูชายัญ แต่กลับมาถือบางอย่างมากกว่าพุทธศาสนาอีก ในขณะที่ปัจจุบันชาวพุทธจำนวนมากยังกินเนื้อสัตว์กันอยู่ แต่ชาวฮินดูกลับไม่กิน นี่ก็เป็นเกร็ดปลีกย่อย แต่จะให้เห็นว่า ในเรื่องหลักอหิงสา พุทธศาสนามีชื่อเสียงมากมาแต่เดิม คู่กับศาสนานิครนถ์

ศาสนานิครนถ์นั้นถือเข้มงวดมาก พุทธศาสนาถือโดยตัดสินด้วยเจตนา ถ้าไม่ได้เจตนาก็เป็นอันว่าไม่ได้ฆ่า แต่ของนิครนถ์ระมัดระวังมาก นักบวชจะเดินก็กลัวจะไปเหยียบสัตว์ตาย ก็เลยต้องประดิษฐ์ไม้กวาดพิเศษขึ้นมา เดินไปก็ต้องกวาดทางข้างหน้าไป เพื่อไม่ให้เดินไปเหยียบสัตว์ตาย

หายใจก็กลัวว่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยบางอย่างมันจะเข้าจมูกตายในตัวเรา ก็เลยต้องทำผ้าปิดจมูก คล้ายๆ กับคนในสังคมปัจจุบันที่อยู่ในเมืองหลวง ตามถนน เอาผ้าปิดจมูก พวกนิครนถนาฏบุตรเขาปิดมาก่อน แต่นิครนถ์เขาปิดเพื่อกันสัตว์ไม่ให้เข้าจมูก ต่างจากคนเมืองหลวงปัจจุบันนี้ ที่ปิดจมูกกันมลภาวะ กันคนละอย่าง

เวลาอาบน้ำ ก็กลัวว่า น้ำจะไปถูกไปท่วมสัตว์ตาย แม้แต่ที่ตัวเราก็มีสัตว์จะถูกน้ำตาย ก็เลยหลีกเลี่ยงการอาบน้ำ หรือจะจุดไฟ ก็กลัวแมลงบินมาถูกไฟตาย ก็เลยไม่ให้จุดไฟ

นักบวชนิครนถ์ก็เลยมีข้อบัญญัติในการที่จะเป็นอหิงสา ชนิดที่ทางพุทธศาสนาถือว่าสุดโต่งเกินไป แต่หลักการก็คืออหิงสา ไม่เบียดเบียน ทีนี้หลักการเหล่านี้ ก็เป็นท่าทีต่อสรรพสัตว์ทั่วๆ ไปเป็นกลางๆ จึงเอามาเล่าให้กันฟัง

ทำไมความต่างศรัทธา จึงขยายเป็นสงครามศาสนา

อหิงสานั้น ฝรั่งแปลว่า nonviolence แต่คำนี้ฝรั่งเพิ่งใช้มาได้ประมาณ ๘๐ ปี (เริ่มใช้ราว ค.ศ.1920) และเพราะเหตุที่เขารู้จักคำนี้จากเรื่องขบวนการกู้เอกราชของมหาตมคานธีในอินเดีย ฝรั่งก็จึงมักใช้คำนี้ในแง่เป็นอุดมการณ์หรือขบวนการทางการเมือง

ส่วนการอยู่ร่วมกันได้กับคนพวกอื่นที่ต่างเชื้อชาติ ต่างลัทธิศาสนาเป็นต้นนั้น ฝรั่งมีคำของเขาที่ใช้กันมา คือ tolerance (=ขันติธรรม) ที่เคยพูดถึงแล้วข้างต้น (หน้า ๒๘-๒๙)

เมื่อพูดถึง tolerance คือ ความยอมทนกันได้ หรือความยอมทนเห็นทนได้ยินคนอื่นที่เขาเชื่อถือหรือมีศาสนาต่างจากตนได้ หรือแปลให้ไพเราะขึ้นอีกว่า ความมีใจกว้างแล้ว ก็ควรพูดถึงถ้อยคำที่ตรงข้ามกันด้วย

ภาวะที่ตรงข้ามกับ tolerance ก็คือ intolerance ได้แก่ ความทนไม่ได้ หรือยอมไม่ได้ที่จะให้คนอื่นเชื่อถือต่างไปจากตน หมายความว่า เห็นหรือได้ยินคนอื่นพวกอื่นมีความเชื่อถือหรือนับถือต่างไปจากตนแล้ว ทนดูทนฟังไม่ได้ อยู่ร่วมด้วยไม่ได้ ตลอดจนปล่อยไว้ไม่ได้

(มีคำใกล้เคียงคือ bigotry แปลว่า ความเชื่อรั้นฝังหัว ความมีใจคับแคบยึดเอาแต่ทิฏฐิหรือลัทธิของตน และ religious fanaticism แปลว่า ความคลั่งศาสนา)

คำตรงข้ามกับ tolerance ไม่จบแค่นี้ เพราะว่า เมื่อยอมไม่ได้ หรือทนไม่ได้แล้ว ก็มักจะต้องแสดงหรือทำอะไรออกมาในทางที่เป็นการขัดแย้งหรือรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง

ถ้าตนเองมีกำลังอำนาจหรือมีพวกมากกว่า ความยอมไม่ได้ทนไม่ได้ คือ intolerance นั้น ก็มักแสดงออกเป็นการกระทำที่ฝรั่งเรียกว่า persecution ซึ่งแปลว่า การบีบคั้นข่มเหง การกำจัดกวาดล้าง หรือการห้ำหั่นบีฑา เช่น ไล่ฆ่าฟัน หรือจับเอาไปฆ่าหรือทำทารุณกรรม เมื่อเป็นการห้ำหั่นบีฑาด้วยเรื่องทางศาสนาก็เรียกว่า religious persecution

ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีกำลังพอจะต่อสู้กัน หรือฝ่ายที่ถูกรังแกลุกขึ้นสู้ ก็กลายเป็นการรบราฆ่าฟันกัน ซึ่งมีมากมายที่กลายเป็นสงครามที่เรียกว่าสงครามศาสนา ตามคำฝรั่งที่เรียกว่า religious war

สงครามศาสนานี้ อาจจะเป็นสงครามเพื่อศาสนา ที่ในบางศาสนายอมรับหรือสนับสนุน ดังที่ฝรั่งมีคำเรียกว่า holy war ซึ่งอาจจะแปลว่า สงครามศักดิ์สิทธิ์ หรือสงครามเพื่อพระเป็นเจ้า

สงครามศาสนาที่โป๊ปทรงรับรองหรืออนุมัติ มีชื่อเรียกพิเศษว่า ครูเสด (crusade)

holy war นี้ฝรั่งว่าชาวมุสลิมก็มีเรียกว่า ญิฮาด (ฝรั่งเขียน jihad) ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่เลยทีเดียว ฝรั่งบางทีถึงกับเรียกอิสลามว่าเป็นศาสนาที่เผยแพร่ด้วยคมดาบ แต่ชาวมุสลิมแย้งว่าชาวตะวันตกเข้าใจความหมายของญิฮาดผิดไปมาก

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความขัดแย้ง ตลอดจนสงครามที่เกี่ยวข้องกับศาสนานั้น จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเพื่อกันความสับสน โดยแยกเป็น ๒ อย่าง

๑. การสู้รบหรือสงครามเพราะไม่ยอมให้นับถือศาสนาต่างกัน (หรือแม้แต่ศาสนาเดียวกัน แต่ต่างนิกายกัน) ตรงกับความหมายที่กล่าวข้างต้นว่า เห็นคนอื่นเชื่อถือหรือนับถือต่างไปจากตนแล้ว ทนหรือยอมปล่อยไว้ไม่ได้ ไม่ให้โอกาสแก่เขาที่จะเชื่อถือหรือนับถืออย่างอื่น เป็นการขัดแย้งหรือสงครามที่เกิดจากศาสนา หรือเพราะปรารภความต่างศาสนาโดยตรง

๒. การสู้รบหรือสงครามระหว่างคนต่างพวก ที่นับถือศาสนาต่างกัน หมายความว่า คนเหล่านั้นมีพื้นเดิมที่แบ่งแยกกันเป็นคนละพวกอยู่แล้ว โดยที่สาเหตุให้แบ่งแยกอาจจะเกิดจากความต่างเชื้อชาติต่างเผ่าต่างผิวเป็นต้น แล้วความต่างศาสนาก็ไปประกอบเข้าด้วย เมื่อมีเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้น ความยึดถือในความเป็นพวกเขาพวกเรา หรือของเขาของเรา ก็ทำให้เกิดการขัดแย้งสู้รบกันขึ้น

พูดง่ายๆ ให้เห็นจุดแยกก็คือ

อย่างแรก เป็นการสู้รบเพราะ ความต่างศาสนา

อย่างที่สอง เป็นการสู้รบเพราะ ความต่างพวก

จะเห็นว่าตัวเหตุไม่เหมือนกัน คืออยู่ที่ความต่างศาสนาหรือความต่างพวก

มีบ่อยครั้งมากที่คนพวกเดียวกัน เช่น เชื้อชาติ ผิว เผ่าพันธุ์ หรือแม้แต่วงศ์ตระกูล หรือครอบครัวเดียวกัน ได้หันมารบราฆ่าฟันกันเพราะหันไปนับถือลัทธิศาสนาหรือนิกายศาสนาต่างกัน

จะเห็นว่า การเบียดเบียนสู้รบกันแบบที่ ๑ เป็นเรื่องที่เกิดจากศาสนาโดยตรง หรือเกิดขึ้นโดยปรารภศาสนา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีวัตถุประสงค์ต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง คือ

ก. เพื่อเผยแพร่ศาสนาของตน หรือให้เขายอมรับศาสนาของตน ด้วยการใช้กำลังบังคับ

ข. เพื่อกำจัดกวาดล้างศาสนาหรือลัทธิความเชื่อถืออย่างอื่น ซึ่งตนถือว่าเป็นบาป เป็นความชั่วร้าย ตลอดจนกำจัดคนที่เชื่อถือหรือประพฤติปฏิบัติอย่างอื่นที่ตนถือว่าเป็นบาป

การห้ำหั่นบีฑาและการทำสงครามแบบนี้ จึงจะตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า religious persecution และ religious war ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วมากมายในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในโลกซีกตะวันตก

ตามปกติ การเบียดเบียนและการสู้รบแบบนี้ จะต้องมีฐานอยู่ที่หลักการหรือคำสอนของศาสนานั้นๆ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม กล่าวคือ

๑) มีคำสอนในคัมภีร์ ที่ส่งเสริมหรือยอมรับการที่จะไปบังคับคนอื่นให้มาเชื่ออย่างตนหรือนับถือศาสนาของตน

๒) มีคำสอนหรือหลักการที่ให้ยกไปอ้างได้ว่า การรบหรือการฆ่าฟันสังหารกันในกรณีอย่างนั้น เป็นบุญ หรือเป็นความถูกต้องดีงาม

๓) หลักการหรือคำสอนของศาสนานั้นเป็นข้อปรารภในการก่อการเบียดเบียนหรือทำสงคราม อย่างที่เรียกว่า สงครามเพื่อเผยแพร่ศาสนา หรือสงครามในนามของศาสนา

๔) การมีความเห็นความเข้าใจหรือตีความคำสอนแตกต่างกัน ไม่อาจยุติหรือให้เป็นไปด้วยวิธีการแห่งปัญญาตามทางของการพูดจาด้วยเหตุผล แต่กลายเป็นเหตุให้ใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน ทำให้หมู่ชนแม้แต่ที่เป็นชาติเดียวกันนับถือศาสนาเดียวกัน ก็ต้องทำสงครามกัน

๕) สถาบันหรือองค์กรที่เป็นตัวแทนของศาสนา ให้การรับรองหรือสนับสนุนการกำจัดหรือการทำสงครามนั้น โดยอ้างหลักการหรือข้อปรารภตามหลักศาสนา

ยกตัวอย่างเช่น ทั้งที่คนทั้งหลายไม่ได้เป็นศัตรูกันเลย แต่องค์กรศาสนาอาจป่าวประกาศเชิญชวนว่าให้ไปช่วยกันปราบปรามกำจัดศัตรูของพระผู้เป็นเจ้า แล้วก็อาจจะเกิดสงครามที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการสู้รบกับศัตรูของมนุษย์เอง ดังในกรณีของสงครามครูเสด เป็นต้น

เมื่อว่าโดยสาระสำคัญ สาเหตุพื้นฐานของความทนเห็นทนได้ยินทนอยู่ด้วยไม่ได้ จะต้องไปกำจัดกวาดล้างหรือทำสงครามทางศาสนา ก็เนื่องจากการขาดความเป็นสากล ๓ อย่างที่พูดมาแล้ว คือ

๑. ความจริงที่เป็นสากล เช่นว่า การทำความดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ การทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก

แต่แทนที่จะถือเป็นกลางๆ อย่างนี้ ก็กลับมีการจำกัดว่า ต้องเป็นการทำดีที่ท่านผู้นั้นผู้นี้โปรดปรานยอมรับจึงจะทำให้ไปสวรรค์ได้ หรือแม้จะทำชั่ว ถ้าท่านผู้นั้นผู้นี้ยกโทษให้ ก็ไม่ต้องไปนรก ใครเป็นเจ้าของสวรรค์ ใครจะตัดสินให้ไปสวรรค์ได้หรือไม่ได้ เป็นต้น

๒. ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล เช่นว่า การทำลายชีวิตมนุษย์เป็นบาปหรือเป็นความไม่ดี ไม่สมควร(ทั้งนั้น)

แต่แทนที่จะถือเป็นกลางๆ อย่างนี้ ก็มีการจำกัดว่า ฆ่ามนุษย์พวกนี้จึงจะเป็นบาป ฆ่ามนุษย์พวกนั้นอยู่นอกศาสนา ไม่เป็นบาป แต่กลับได้บุญ เป็นต้น

๓. เมตตาที่เป็นสากล คือ ให้ทุกคนแผ่ความรู้สึกรักใคร่ไมตรีต่อเพื่อนมนุษย์ทั่วไป โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นกลุ่มไหนพวกใด นับถือลัทธิศาสนาใด

แต่แทนที่จะตั้งความรู้สึกเป็นกลางๆ อย่างนี้ ก็มีการจำกัดให้มีเมตตาต่อคนกลุ่มนี้นับถือศาสนานี้ แล้วให้เกลียดชังคนพวกโน้น หรือคนนอกศาสนาของตน

ถึงโลกจะพัฒนา
แต่มนุษย์ยังล้าหลังไกลในวิถีทางแห่งสันติภาพ

ดังได้กล่าวแล้วว่า เรื่องการขัดแย้งสู้รบที่เกี่ยวข้องกับศาสนานั้นจะต้องแยกทำความเข้าใจให้ชัด

ขอย้อนกลับไปพูดถึงความขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๒ ข้างต้น คือ การขัดแย้งสู้รบของคนต่างพวกที่นับถือศาสนาต่างกัน ซึ่งสาระอยู่ที่ความต่างพวกหรือถือพวก คือยึดถือในพวกของตน หรือสิ่งที่เป็นของพวกตน แล้วสู้รบเพื่อปกป้องสิ่งที่ยึดถือเป็นของตน

การขัดแย้งสู้รบแบบนี้ไม่เป็นการห้ำหั่นบีฑาหรือการทำสงครามศาสนา แต่มีสาเหตุที่ลึกลงไปอีก หรือเป็นพื้นฐานมากกว่า กล่าวคือ เป็นเรื่องของสัญชาตญาณในการยึดถือพวกของตนและของของตน

เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ปุถุชนที่ยังไม่ได้พัฒนา หรือยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ซึ่งย่อมจะมีความยึดถือในหมู่พวก และในสิ่งทั้งหลายที่ยึดถือว่าเป็นของตน ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เช่น วงศ์ตระกูล ถิ่นที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น

การยึดถือผูกพันนี้มีประโยชน์ ที่ช่วยกลุ่มชนตลอดจนสังคมประเทศชาติให้มีความรักสามัคคี มีเอกภาพ เกิดความเข้มแข็ง และเป็นแรงจูงใจให้ทำการสร้างสรรค์เพื่อท้องถิ่น เพื่อชุมชน หรือเพื่อสังคมของตน

แต่พร้อมกับที่ให้คุณด้านหนึ่ง เมื่อมนุษย์เรายังพัฒนาไม่สมบูรณ์ มันก็มักก่อให้เกิดโทษหรือปัญหาอีกด้านหนึ่ง คือการขัดแย้งทะเลาะวิวาทตลอดจนสงคราม กับคนพวกอื่น การรังเกียจเดียดฉันท์ดูถูกดูแคลนสิ่งที่เป็นของคนพวกอื่น

ตามความหมายในแง่นี้ เมื่อคนกลุ่มหนึ่งเชื่อหรือนับถือศาสนาใด และได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา เขาก็จะมีความยึดถือผูกพันหวงแหนต่อศาสนานั้น ทำนองเดียวกับสิ่งทั้งหลายอื่นที่เขายึดถือเป็นของเขา และในความหมายนี้ การยึดมั่นนับถือศาสนาของเขาก็มีทั้งคุณในทางที่ทำให้เกิดกำลังสามัคคีเป็นปึกแผ่นมีเรี่ยวแรงสร้างสรรค์ และทั้งโทษในการที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทะเลาะวิวาทกับคนพวกอื่นได้เช่นเดียวกัน

การขัดแย้งในกรณีนี้ เป็นคนละอย่างกัน และเกิดจากสาเหตุคนละอย่างกับการขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๑ ที่สาเหตุเกิดจากตัวศาสนาหรืออย่างน้อยจากสถาบันศาสนาโดยตรง

ฉะนั้น คำว่าการห้ำหั่นบีฑา และสงครามศาสนา คือ religious persecution และ religious war จึงใช้กับความขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๑ มิใช่หมายถึงการขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๒

ความไม่รู้จักแยกหรือความไม่ชัดเจนในเรื่องที่ว่ามานี้ เป็นปัญหามากแม้ในยุคปัจจุบัน และเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเอาใจใส่แก้ไข เพราะความไม่เข้าใจไม่รู้จักแยกให้ชัดเจนนั้น นอกจากทำให้เกิดความสับสนในทางปัญญาและวางท่าทีต่อกรณีและสถานการณ์ไม่ถูกต้องแล้ว ที่สำคัญยิ่งก็คือทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะจับจุดของปัญหาไม่ถูก อีกทั้งยังไม่รู้ตระหนักด้วยว่าสองอย่างนี้เป็นปัญหาคนละระดับ และต้องใช้วิธีแก้ไขที่ต่างกัน

เมื่อเกิดความขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๒ (แบบถือความต่างพวก หรือยึดถือพวกกูของกู) ตามสัญชาตญาณของปุถุชนแล้ว ศาสนาก็อาจจะเข้ามามีบทบาทโดยช่วยผ่อนคลายปัญหา ทำให้การขัดแย้งเบาลง

อย่างน้อยถ้าหลักการของศาสนาไม่เอื้อ และสถาบันของศาสนาไม่หนุน คนก็จะไม่สามารถยกข้ออ้างจากศาสนามารับรองเสริมเติมหรือขยายการขัดแย้งสู้รบของตน

แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีหลักการหรือคำสอนของศาสนาให้อ้าง หรือสถาบันศาสนาเข้ามาหนุน การขัดแย้งสู้รบนั้นก็จะขยายใหญ่โตรุนแรงมากขึ้น และก็อาจจะกลายเป็นการขัดแย้งสู้รบหรือสงครามที่เป็นทั้งแบบที่ ๒ และแบบที่ ๑ ปนพร้อมไปด้วยกัน

คนอย่างน้อยจำนวนหนึ่ง ได้พยายามแสวงหาวิถีทางที่จะทำให้มนุษย์ที่เชื่อถือนับถือลัทธิศาสนาหรือนิกายศาสนาที่ต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ และแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีเจรจาประนีประนอม แต่เท่าที่เป็นมาถึงบัดนี้ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ สาเหตุอย่างหนึ่งอาจจะเกิดจากการที่ไม่ได้พบวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง

พูดให้ตรงจุดว่า มนุษย์ยังไม่พัฒนาเพียงพอที่จะอยู่กันด้วยคุณธรรม โดยเฉพาะเมตตาหรือไมตรีชนิดที่เปิดใจเต็มที่ โดยมีปัญญาที่รู้เข้าใจแจ่มชัดเป็นฐาน

เมื่อขาดเมตตาหรือไมตรีที่มากับปัญญาอันเปิดโล่ง ความจริงใจเปิดใจแท้จริงไม่มี บางทีเขาก็ชวนกันให้แก้ปัญหาด้วยการเอาอกเอาใจกัน โดยให้ปิดตาไม่มองข้อแตกต่างและกลบเกลื่อนปัญหา

วิธีเช่นนี้ไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง เป็นการหลีกเลี่ยงความจริงและพรางตาตัวเอง ซึ่งแฝงซ่อนเชื้อปัญหาให้บ่มฟักตัวของมันขึ้นได้ต่อไป

ดังได้กล่าวแล้ว และขอย้ำว่า การแก้ปัญหาที่แท้จริงจะต้องเกิดจากความมีเมตตาหรือไมตรี ชนิดที่เปิดใจเต็มที่ โดยมีปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงเป็นฐาน ท่าทีอย่างนี้จึงจะทำให้การแก้ปัญหาสำเร็จได้จริงและยั่งยืน

เพื่อให้ชัดขอแยกว่า

๑. การพิจารณาและตัดสินใจด้วยเมตตาหรือไมตรีนั้น ตั้งอยู่บนฐานของการรู้เข้าใจความจริง และพูดความจริงกันได้โดยเหตุผล เช่นรู้เข้าใจภูมิหลังกันชัดเจน ไม่ใช่หลบเลี่ยงปัญหาหรือทำเพียงแบบเอาอกเอาใจกัน อันจะไม่จิรังยั่งยืน

๒. การรู้เข้าใจความจริงแม้ที่ปวดร้าว แล้วยอมรับความผิดพลาดในอดีต ยอมรับผู้ผิดพลาด และให้อภัยกันได้นั่นแหละ จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะเกิดจากไมตรีที่สดใสชำระล้างความกินแหนงเคลือบแคลงได้แล้ว จึงเป็นคุณธรรมที่แท้จริง และยั่งยืน

จุดอับจนหรือติดตันอยู่ที่ว่า แม้โลกจะพัฒนามาถึงขั้นที่บอกว่าเป็นโลกาภิวัตน์แล้ว แต่มนุษย์ก็ยังมีจิตใจที่ล้าหลังห่างไกล ไม่สามารถเข้าหากันด้วยการพูดความจริง ไม่สามารถมีเมตตาหรือไมตรีที่มาพร้อมกับความเปิดใจต่อการใช้วิธีการแห่งปัญญา และแม้กระทั่งยังยึดมั่นในการแบ่งแยก เขาจึงไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้ และยังคงไม่มีความหวังอันชัดเจนมั่นใจที่จะมองเห็นทางแก้ปัญหานั้น

การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาในระดับโลก เท่าที่มนุษย์ทำได้อย่างดีที่สุด คือใช้วิธีคานอำนาจกัน หรือใช้ความกลัวต่อภัยพินาศที่ยิ่งใหญ่กว่าเป็นเครื่องยับยั้งกัน ดังกรณีที่เห็นชัดในยุคสงครามเย็น

ตลอดเวลายาวนาน โลกสองค่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (ไม่มีสงครามใหญ่ภายนอก แต่จิตใจเร่าร้อนหามีสันติไม่) โดยมีอาวุธนิวเคลียร์และความกลัวต่อการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์นั้น เป็นเครื่องยับยั้งสงคราม ดังที่เรียกกันโก้ว่า nuclear deterrence

เพื่อให้แนวคิดนี้สัมฤทธิ์ผล สองค่ายจึงต้องเร่งผลิตและสะสมอาวุธร้ายให้มากอย่างทันกัน ซึ่งก็กลายเป็นสงครามในยามสันติ คือ สงครามเย็น ที่ทำลายมนุษยชาติอย่างเลือดเย็น

กล่าวโดยรวม มนุษยชาติยังก้าวไปได้น้อยมาก ในวิถีทางแห่งการสร้างสรรค์สันติภาพ ชนิดที่มั่นใจในการแก้ไขกำจัดความขัดแย้งระหว่างกัน และอยู่กันด้วยไมตรีอย่างเปิดใจ โดยมีปัญญาเป็นฐานให้เกิดความเข้าใจ

ภูมิหลังที่ต่างกันแห่ง ๒ วิธี
ในการดำเนินวิถีแห่งสันติภาพ

ในระดับชนชาติหรือระดับภูมิภาค พูดได้คร่าวๆ ว่ามีมนุษย์อยู่ ๒ พวก ที่มีประสบการณ์แห่งความปรองดองทางศาสนา หรืออย่างน้อยก็อยู่ในขั้นของ tolerance คือความมีขันติธรรม ได้แก่

๑. ประเทศประชาธิปไตยตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

๒. ประเทศพุทธศาสนา

การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความมีขันติธรรมทางศาสนา ในหมู่ชน ๒ พวก ในข้อ ๑ และ ๒ นี้ มีลักษณะแห่งประสบการณ์ ภูมิหลัง และหลักการที่แตกต่างกันมาก

พวกที่ ๑ คือกลุ่มประเทศประชาธิปไตยตะวันตก มีขันติธรรม (tolerance) ในรูปของเสรีภาพทางศาสนา ที่เกิดจากปฏิกิริยาต่อภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของตนเอง ที่เต็มไปด้วยการห้ำหั่นบีฑา (persecution) และสงครามศาสนา (religious wars) เป็นเหตุบีบคั้นให้ดิ้นรนใฝ่หาเสรีภาพ พร้อมทั้งเกิดความเบื่อหน่ายขยะแขยงต่อภาวะเช่นนั้น แล้วแสวงหาทางออกใหม่ที่ตรงข้าม

พวกที่ ๒ คือกลุ่มประเทศพุทธศาสนา มีประวัติศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในโลก โดยเฉพาะในประเทศตะวันตกว่า มีความเอื้อเฟื้อใจกว้างและการยอมรับผู้อื่นเป็นคุณสมบัติพื้นเดิม อันสืบมาจากหลักการหรือคำสอนของพุทธศาสนานั้นเอง

ในโลกปัจจุบันนี้ อารยธรรมตะวันตกแผ่อิทธิพลไปเป็นโลกาภิวัตน์ จนมีสถานะเหมือนเป็นตัวแทนแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ ดังที่เมื่อพูดถึงความเจริญของโลกมนุษย์เวลานี้ ก็หมายถึงสภาพแห่งอารยธรรมแบบตะวันตกนั่นเอง และในอารยธรรมตะวันตกนั้นก็แน่นอนว่า ตัวชูที่เชิดอารยธรรมนั้นขณะนี้ ก็คืออารยธรรมอเมริกัน

ชนชาติทั้งหลายในยุโรป มีประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่บีบคั้น การห้ำหั่นบีฑา และสงครามกัน อย่างกว้างขวางรุนแรงตลอดมา และศาสนาก็ได้เป็นองค์ประกอบใหญ่อยู่ในกระบวนการแห่งความขัดแย้งและสงครามนั้น จนความขัดแย้งทางศาสนากับปัญหาการเมืองเป็นเรื่องปะปนมาด้วยกัน โดยเฉพาะการใช้อำนาจการเมืองเป็นเครื่องบังคับคนให้ถือลัทธินิกายศาสนาของตน และกำจัดผู้คนที่ไม่นับถืออย่างตน

การจำกัด กีดกั้น ข่มเหง บังคับ กำจัด กวาดล้างด้วยสาเหตุแห่งการนับถือศาสนา หรือแม้แต่ตีความคำสอนในศาสนาต่างกัน มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเสื่อมและเจริญของอารยธรรมตะวันตก

พร้อมนั้น ภูมิหลังข้อนี้แหละที่เป็นสาเหตุให้ชนชาติอเมริกันผู้อพยพไปจากยุโรป มีความใฝ่ฝันนักในสิ่งที่เรียกว่า freedom คือ ความเป็นอิสระเสรี ซึ่งรวมทั้งเสรีภาพทางศาสนา (religious freedom) และมุ่งหวังให้ประเทศอเมริกาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ (the land of liberty) หรือดินแดนแห่งเสรีชน (the land of the free; พอดีมาตรงกับคำแปลชื่อประเทศไทย)

การรู้ความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งการดิ้นรนสู่เสรีภาพนี้ เป็นสิ่งสำคัญต่อการเข้าใจชนชาติอเมริกัน ซึ่งหมายถึงการเข้าใจอารยธรรมที่ครอบงำหรือนำโลกอยู่ในปัจจุบัน และมีความหมายอย่างยิ่งต่อการที่จะก้าวหน้าไปในการแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติ ในด้านความขัดแย้งเบียดเบียนกันนั้น

ภาค ๒
ภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์6

 

๑. ภูมิหลังศาสนา กับอารยธรรมตะวันตก

 

ในซีกโลกตะวันตก
ศาสนาเกิดขึ้นมา พร้อมกับความรุนแรง

ศาสนาของตะวันตก เริ่มต้นและดำเนินมาด้วยความรุนแรง เมื่อศาสนาคริสต์เกิดขึ้นใหม่ๆ จักรวรรดิโรมันกำลังเรืองอำนาจครอบครองทั่วยุโรป ศาสนาคริสต์ถูกกำจัดกวาดล้างอย่างรุนแรงเริ่มแต่ ค.ศ. ๖๔ เป็นต้นมา

ตลอดเวลาประมาณ ๒๕๐ ปี จนถึง ค.ศ. ๓๑๓ คริสต์ศาสนิกชนถูกกำจัดกวาดล้างสังหารอย่างทารุณ รวมทั้งถูกจับเอาไปโยนให้สู้กับเสือสิงห์จนถูกกินให้คนดูในสนามกีฬาโคลีเซียม (Colosseum หรือ Coliseum) อันยิ่งใหญ่ ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความงามสง่าโอฬารของกรุงโรม และเป็นเครื่องแสดงลักษณะแห่งสิ่งที่เรียกกันว่าจิตวิญญาณของอารยธรรมโรมัน

ครั้นต่อมา เมื่อจักรวรรดิโรมันหันมานับถือคริสต์ศาสนา เริ่มแต่พระเจ้า Constantine I ใน ค.ศ.313 ต่อนั้นมาไม่นานประวัติศาสตร์อันยืดยาวแห่งการที่คริสต์ศาสนากำจัดกวาดล้างคนนอกรีตและพวกซาตานหรือศัตรูของพระเจ้าก็เริ่มขึ้น ตามด้วยสงครามระหว่างคริสต์ศาสนาต่างนิกายกัน นับแต่ประมาณ ค.ศ.391 เป็นต้นมา จนถึง ค.ศ.1834 เป็นเวลาเกือบ ๑๔๕๐ ปี

การกำจัดกวาดล้างเหล่านี้ เป็นเรื่องที่คริสต์ศาสนจักรร่วมกับอาณาจักรดำเนินการบ้าง คริสต์ศาสนจักรใช้อิทธิพลชักนำให้อาณาจักรปฏิบัติตามบ้าง กลุ่มชนหรือกลุ่มประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนาต่างนิกายกันสังหารหรือทำสงครามกันบ้าง

ในสมัยกลาง พวกยิว ชาวมุสลิม และคนนอกรีต เป็นกลุ่มที่ถูกกำจัดกวาดล้างโดยทั่วไป ตลอดจนแม่มดทั้งหลาย (ถือว่าเป็นพวกของซาตาน) ต่อมาก็รวมถึงนักปราชญ์นักวิชาการที่เผยแพร่ความรู้ความคิดเห็นขัดแย้งต่อคำสอนในคริสต์ศาสนา

ถึงกับได้มีสถาบันสำคัญเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่นี้ คือการที่องค์สันตะปาปา (Pope) ได้ร่วมกับอาณาจักร ตั้งศาลที่เรียกว่า Inquisition (ขอแปลว่า “ศาลไต่สวนศรัทธา”) ขึ้น ใน ค.ศ.1231

ศาลนี้เพิ่งมาสิ้นสุดหมดไปใน ค.ศ.1834 (=ประมาณ ๖๐๐ ปี) คนที่ทางศาสนจักรถือว่านอกรีต เข้ากับซาตาน หรือทำผิดต่อคริสต์ศาสนา ถูกจับขึ้นศาลลงโทษ รวมทั้งเผาทั้งเป็น จำนวนมากมาย

ตัวอย่างที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ คือ บรูโน (Giodarno Bruno) นักปราชญ์ผู้สอนว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาฬ และมีจักรวาฬมากมายเป็นอนันต์ ถูกศาล Inquisiton ตัดสินประหารด้วยการเผาทั้งเป็น ใน ค.ศ.1600

กาลิเลโอ (Galileo Galilei) นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ผู้สอนว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หาใช่ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกไม่ ก็ถูกจับขึ้นศาลนี้ แต่เพราะกาลิเลโอยอมรับผิด จึงได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษให้ขังกักบริเวณอยู่แต่ในบ้าน (house arrest) จนตายไปเมื่อ ค.ศ.1642

ก่อนหน้านั้น เซอร์วีตัส (Michael Servetus) ผู้ค้นพบระบบการไหลเวียนของโลหิต ก็ถูกศาล Inquisition นี้ ตัดสินประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็น ใน ค.ศ.1553

เซอร์วีตัสหนีการจับกุมของศาลฝ่ายคาทอลิกไปได้ ทางฝ่ายคาทอลิกจึงเผาหุ่นแทนตัวเขา แต่เซอร์วีตัสก็ไปถูกฝ่ายโปรเตสแตนต์จับได้ และศาล Inquisition ของฝ่ายโปรเตสแตนต์ (เรียกชื่อว่า Consistory) ที่ Geneva ในสวิสเซอร์แลนด์ ก็ได้ตัดสินให้จับเขาเผาทั้งเป็นได้สำเร็จ ใน ค.ศ. 1553 นั้นเอง

บุคคลหนึ่งที่ถูกศาล Inquisition ตัดสินเผาทั้งเป็น ซึ่งคนทั่วไปจำกันได้ดีมากก็คือ โจนออฟอาร์ค (Joan of Arc) วีรสตรีฝรั่งเศส ที่ถูกตัดสินว่าเป็นแม่มด และถูกเผาทั้งเป็นใน ค.ศ.1431

ในยุโรปยุคนั้น ผู้หญิงถูกศาล Inquisition ตัดสินว่าเป็นแม่มด ถูกประหารชีวิต เช่นด้วยการเผาทั้งเป็นอย่างนี้ จำนวนมากมาย เช่น ในเยอรมันภาคใต้แห่งเดียวก็ประหารไปมากกว่า ๓,๐๐๐ คน

ศาล Inquisition ในสเปน ก็ดุเดือดมาก เพียงช่วงเริ่มต้นก็สั่งประหารชีวิตเผาทั้งเป็นคนนอกรีตไปประมาณ ๒,๐๐๐ คน

สมัยกลางของยุโรป ฝรั่งเรียกว่ายุคมืด
เพราะศาสนาคริสต์ครอบงำ ทำให้แสงแห่งปัญญาดับหาย

แม้แต่ชื่อเรียกยุคสมัยต่างๆ แห่งประวัติศาสตร์ของตะวันตก ก็เป็นถ้อยคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา ตั้งขึ้นโดยปรารภความเป็นไปที่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา หรือแม้แต่เป็นคำเรียกเหตุการณ์ในคริสต์ศาสนาโดยตรง กล่าวคือ

๑. Middle Ages หรือ สมัยกลาง (แห่งยุโรป) ค.ศ.476-1453 เป็นระยะเวลา ๑ พันปีที่คริสต์ศาสนามีกำลังและอิทธิพลเป็นเอกอันเดียวในยุโรป วัฒนธรรมมีแหล่งกำเนิดจากคริสต์ศาสนาแผ่ครอบคลุมชีวิตทุกด้านของสังคม รวมทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร

แต่ในสมัยกลางเองนั้น คำว่า “สมัยกลาง” หรือ “Middle Ages” ยังไม่เกิดขึ้น

ต่อมา เมื่อชาวยุโรปหลุดพ้นออกมาจากยุคสมัยนี้ พวกนักปราชญ์ตะวันตกผู้มองเห็นว่ายุโรปมีโอกาสหวนกลับคืนสู่ศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณอีกครั้งหนึ่ง จึงเรียกชื่อยุคสมัยที่ผ่านมา นั้นว่า “Middle Ages” (“สมัยกลาง”) ในความหมายว่าเป็นช่วงเวลาท่ามกลางระหว่างการเสื่อมสลายของศิลปวิทยาของกรีกและโรมันโบราณ จนกระทั่งศิลปวิทยานั้นกลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่อีกในยุคของพวกตน ที่เรียกว่า Renaissance

อนึ่ง ในระยะที่หลุดพ้นออกมาใหม่ๆ นั้น (จนถึงยุค Enlightenment ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘) ความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาต่อสภาพของสมัยกลางนั้นยังเด่นแรงอยู่ คนยุโรปจึงเรียกชื่อสมัยกลางนั้นอีกอย่างหนึ่งว่า Dark Ages แปลว่า ยุคมืด หมายถึงช่วงเวลาอันยาวนาน ที่อารยธรรมคลาสสิกอันอุดมด้วยศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณได้เลือนลับไป ทำให้ยุโรปตกอยู่ในความมืดมนอับปัญญา

พวกนักมนุษยนิยม (humanists) ที่คิดศัพท์ Middle Ages ขึ้นมาใช้ มองช่วงเวลาที่ล่วงผ่านไปก่อนยุคของพวกเขาว่า เป็นพันปีแห่งความมืดมัวและโมหะ (a thousand-year period of darkness and ignorance; บางทีก็เรียกสั้นๆว่า the age of ignorance หรือ a period of intellectual darkness and barbarity คือ ยุคแห่งความโหดและโฉดเขลา หรือยุคเฉาโฉดโหดเหี้ยม) จึงเรียกว่าเป็น Dark Ages

(บางทีนักประวัติศาสตร์ก็จำกัดช่วงเวลาให้จำเพาะลงไปอีกว่า Dark Ages เป็นช่วงต้นๆ ของสมัยกลางนั้น คือ ราว ค.ศ. 500-1000 และบางทีก็จำกัดสั้นลงไปอีกเป็น ค.ศ.476-800)

ต่อมา คนสมัยหลังที่ห่างเหตุการณ์มานาน มีความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาต่อสภาพของยุคสมัยนั้นเบาบางลง ก็เริ่มกลับไปเห็นคุณค่าบางอย่างของความเป็นไปในสมัยกลางนั้น เช่นว่า ถึงอย่างไรสมัยกลาง หรือยุคมืดนั้น ก็เป็นรากฐานที่ช่วยให้เกิด Renaissance

โดยเฉพาะที่สำคัญยิ่ง คือการที่ศาสนจักรคริสต์ได้เผชิญและผจญกับศาสนาอิสลาม ในสงครามครูเสดเป็นต้น ในหลายแห่งที่ฝ่ายคริสต์ชนะ ก็พลอยได้ตำรับตำราวิชาการต่างๆ ของกรีกและโรมันโบราณ ที่ชาวมุสลิมนำไปเก็บรักษา ถ่ายทอดและพัฒนาสืบมา

ตำรับตำราเหล่านี้ นักบวชคริสต์ได้คัดลอก เก็บรักษา หรือไม่ก็แปลกลับจากภาษาอาหรับเป็นภาษาละติน ซึ่งกลายมาเป็นแหล่งความรู้ให้แก่ยุค Renaissance (ยุคคืนชีพ)

ต่อมา ปราชญ์ชาวตะวันตกยุคหลังๆ จึงเห็นว่า ในสมัยกลางนั้น ประทีปแห่งวิทยาการยังส่องแสงอยู่บ้าง แม้จะริบหรี่ แต่ก็ไม่ถึงกับดับมืดเสียทีเดียว

ดังนั้น บัดนี้คำว่า Dark Ages จึงไม่เป็นที่นิยมใช้กันอีก (บางท่านแปลคำว่า ยุคมืด/Dark Ages นั้นให้หมายความว่าเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่เรารู้เรื่องกันน้อย)

ในสมัยกลางนี้ ผู้ที่จะเป็นจักรพรรดิก็ต้องให้องค์สันตะปาปา (Pope) สวมมงกุฏให้ จักรวรรดิโรมันที่เจ้าเยอรมันรื้อฟื้นตั้งขึ้นใหม่ ก็มาเรียกโดยเติมคำว่า “holy” เข้าข้างหน้า เป็น the Holy Roman Empire (ช่วง ค.ศ.962-1806)

การที่ศาสนาคริสต์มีอำนาจยิ่งใหญ่ครอบคลุมอย่างนี้ ก็ทำให้เกิดมีความคิดที่ให้ถือยุโรป(ตะวันตก) เป็นศาสนรัฐที่กว้างใหญ่อันหนึ่งอันเดียว เรียกว่า “Christendom” (แปลได้ว่า “คริสต์จักร” หรือ “คริสต์อาณาจักร”)

Christendom นี้ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการ ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายศาสนาธิการ (sacerdotium) ซึ่งองค์สันตะปาปา (Pope) มีอำนาจสูงสุด กับฝ่ายรัฏฐาธิการ (imperium) ซึ่งมีจักรพรรดิ (Emperor) ทรงอำนาจสูงสุด โดยทั้งสองฝ่ายปฏิบัติงานเสริมซึ่งกันและกัน (นี้เป็นเพียงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติสองฝ่ายได้ขัดแย้งแย่งชิงอำนาจกันมาตลอด)

ในสมัยกลางนี้เช่นกัน ที่คริสต์ศาสนจักรได้รวมพลังกษัตริย์ ขุนพล และพลเมืองของประเทศทั้งหลายทั่วยุโรป ทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ หรือสงครามเพื่อพระผู้เป็นเจ้า (holy war) เพื่อปลดปล่อยดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land คือ เมืองเยรูซาเลม) จากการยึดครองของพวกมุสลิมเตอร์กส์ อันมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ครูเสด” (Crusades) ซึ่งเป็นสงครามกับมุสลิมที่ยืดเยื้อยาวนานประมาณ ๒๐๐ ปี (ค.ศ.1096-1270) นับเป็นครูเสดครั้งใหญ่ทั้งหมด ๘ ครั้ง กับครูเสดเด็กอีก ๒ ครั้ง

พอเปิดขุมปัญญาของกรีกโบราณกลับขึ้นมาได้
ฝรั่งดีใจ เรียกว่าเป็นยุคที่ได้เกิดใหม่

๒. Renaissance (ค.ศ.1453-1527; แต่ตำราไม่ลงกันแน่นอน บางทีก็ยืดเป็น ค.ศ.1340-1550, บางทีก็ย่นเป็น ค.ศ. 1480-1520 หรือ ค.ศ.1493-1527) แปลว่า (ยุคแห่ง)”การคืนชีพ” หมายถึงการฟื้นฟูศิลปะและวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณ ที่จมหายลับเลือนไปตลอดเวลาประมาณ ๑,๐๐๐ ปีแห่งสมัยกลางนั้น

ชื่อของยุคนี้ ก็บอกแจ้งความหมายและความรู้สึกของชาวตะวันตกต่อยุคสมัยนี้ชัดเจนอยู่แล้วในตัวว่า คนตะวันตกมองเห็นว่าในสมัยกลางพวกตนถูกปิดกั้นจากการเรียนรู้และขุมปัญญาแห่งอารยธรรมพื้นฐานเดิมของตนในอดีต และรู้สึกกลับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพ้นยุคสมัยแห่งความอับเฉาซบเซานั้นขึ้นมาได้ เป็นยุคเริ่มต้นและช่วงต่อ เพื่อการก้าวไปข้างหน้า

ยุคคืนชีพ หรือยุคเกิดใหม่นี้ มากับแนวคิดสำคัญที่เรียกว่า “มนุษยนิยม” (humanism) ซึ่งเชิดชูคุณค่าความสามารถและความสำคัญของมนุษย์ โดยถือมนุษย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล พร้อมทั้งให้ความสำคัญแก่ตัวบุคคลหรือปัจเจกชน และสนใจในธรรมชาติตามสภาพที่เป็นจริง อันเป็นแนวคิดที่เฟื่องฟูขึ้นจากการศึกษาวรรณคดีของกรีกและโรมันโบราณ (คลาสสิก)

ศาสนจักรคริสต์ในสมัยกลางสอนกันสืบมาว่า ความสุขในโลกนี้แม้ที่สูงสุด ถ้ามิใช่เป็นกับดักของมารร้าย ก็เป็นเพียงเงาลางๆ ของชีวิตในสวรรค์

แต่นักคิดแห่งยุคคืนชีพ เถียงแบบไม่ปฏิเสธหลักศาสนาคริสต์ตรงๆ โดยบอกว่า พวกคนรุ่นเก่านั้นไปมองโลกที่พระเจ้าสร้างแต่ในด้านร้าย แล้วก็ลืมไปว่า มนุษย์ทั้งหลายนี้แหละเป็นภาพฉายที่สะท้อนพระเกียรติคุณของพระผู้เป็นเจ้า (ฉะนั้น ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ในโลกนี้จึงดีงามและสำคัญที่สุด)

พึงสังเกตว่า ตั้งแต่ ค.ศ.636 เป็นต้นมา กองทัพมุสลิมได้เริ่มโจมตีอาณาจักรโรมันตะวันออก ต่อมาศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณก็ถูกชาวมุสลิมรับถ่ายทอดไป

โดยเฉพาะตั้งแต่ ค.ศ.750 เป็นต้นมา ตำรับตำราของกรีกโรมันโบราณถูกแปลเป็นภาษาอาหรับ และชาวมุสลิมก็ได้พัฒนาศิลปวิทยาเหล่านั้นต่อมาตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 9-11 โดยเสริมด้วยความรู้ของตนและศิลปศาสตร์ที่ได้จากอินเดีย

ฉะนั้น เมื่อศิลปวิทยาการเสื่อมทรุดลงในยุโรปสมัยกลาง อาณาจักรมุสลิมจึงเป็นแหล่งบำรุงรักษาศิลปวิทยาการโบราณนั้นไว้

จนกระทั่งต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 จึงเป็นยุคแห่งการที่ยุโรปแปลศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณ พร้อมทั้งวิทยาการของมุสลิมเอง จากภาษาอาหรับมาเป็นภาษาฮิบรูและละติน อันมีผลให้เกิดความตื่นตัวทางปัญญาที่สืบเนื่องมาถึงยุคคืนชีพ (Renaissance) นี้ โดยประจวบพอดีกับที่ในประเทศมุสลิม ศิลปวิทยาการก็กลับซบเซาเสื่อมลง

ต่อมา ตรงกับจุดเริ่มของยุคคืนชีพนี้ทีเดียว ใน ค.ศ.1453 กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ถูกตีแตก เสียแก่พวกออตโตมานเติรกส์ จักรวรรดิบีแซนตีน (Byzantine Empire คือจักรวรรดิโรมันตะวันออก) ล่มสลาย (ถึงจุดกำหนดสิ้นสมัยกลาง) นักปราชญ์และผู้ทรงความรู้จำนวนมากหนีมาอิตาลี และขนเอาตำรับตำราสำคัญมาด้วย เป็นการนำความรู้ที่สืบแต่กรีกโบราณมายังยุโรปอีกระลอกหนึ่ง

พอชาวบ้านฟื้นคืนชีพขึ้นมา
ศาสนาคริสต์ก็ถึงวาระแห่งการปฏิรูป

๓. Reformation (ค.ศ.1517-1559) แปลว่า (ยุคแห่ง) “การปฏิรูป” คำบัญญัตินี้ เป็นชื่อที่มุ่งเรียกเหตุการณ์ในศาสนาคริสต์โดยตรงแท้ๆ คือการปฏิรูปในคริสต์ศาสนา ซึ่งมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) ได้เริ่มต้นขึ้น อันทำให้เกิดการปรับความเชื่อถือ ตีความคำสอน วางวิธีปฏิบัติใหม่ๆ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคัดค้านไม่ยอมรับอำนาจสูงสุดขององค์สันตะปาปา (Pope)

ยุคนี้กำหนดด้วยการสิ้นสุดอำนาจครอบคลุมยุโรปขององค์สันตะปาปา และการเกิดขึ้นของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่งพลอยมีผลพ่วงตามมาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในวิถีชีวิตของผู้คนและสังคมของชาวตะวันตก

ยุคปฏิรูป หรือ Reformation นี้ ก็เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากอิทธิพลของแนวคิดและการตื่นตัวในยุคคืนชีพนั่นเอง คือเป็นความขัดแย้งระหว่างกระแสความคิดความเชื่ออย่างเก่ากับอย่างใหม่ แต่ในเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจทั้งทางการเมืองและความยึดมั่นทางศาสนาที่รุนแรง การโต้แย้งและการแข็งขืนจึงกลายเป็นการต่อสู้ด้วยกำลัง การห้ำหั่นบีฑา (persecution) และสงครามศาสนา (religious war)

แต่เปลี่ยนย้ายจากการกำจัดคนนอกรีตนอกศาสนา และสงครามกับคนต่างศาสนา มาเป็นการศึกสงครามกับชาวคริสต์ด้วยกันเอง ระหว่างผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกเดิม กับผู้นับถือนิกายใหม่คือโปรเตสแตนต์ ซึ่งต่างก็ถือว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพวกนอกรีต

ศาสนจักรคาทอลิกที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ จำต้องระดมทุนเพื่อเสริมรักษาความยิ่งใหญ่นั้น จึงได้ให้มีการขายใบไถ่บาป (indulgence) ซึ่งอ้างว่าโปรดประทานจากพระคลังบุญ (Treasury of Merits) ของพระเยซูและเหล่านักบุญ โดยมีตัวแทนจำหน่าย (agents) ในถิ่นต่างๆ

การขายบัตรไถ่บาปทำให้ได้เงินมหาศาล (รวมทั้งเงินที่เอามาสร้างมหาวิหาร Saint Peter's ที่กรุงโรม) บาทหลวงบางคนขายใบไถ่บาปนี้เอาเงินให้องค์สันตะปาปา เพื่อได้รับแต่งตั้งในสมณศักดิ์สูง การก่อสร้างและการสะสมร่ำรวยเงินทองได้อืดพองขึ้นในศาสนจักร

ณ วันที่ ๓๑ ต.ค. 1517/๒๐๖๐ บาทหลวงเยอรมันชื่อมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) ได้ปิดประกาศคำประท้วงการขายใบไถ่บาป อันถือว่าเป็นจุดเริ่มแห่งการปฏิรูป ที่ให้ชาวคริสต์คืนกลับไปหาพระคัมภีร์ โดยปฏิเสธอำนาจขององค์สันตะปาปา หลังจากนั้นไม่นาน การกำจัดกวาดล้างรบราฆ่าฟันและสงครามก็ตามมา

มาร์ติน ลูเธอร์ ซึ่งเป็นเพียงเอกชนคนหนึ่ง แต่มีกำลังสนับสนุนมาคุ้มครองและสู้กับวาติกันได้ นอกจากเพราะมีผู้เชื่อตามคำสอนทางศาสนาที่เขาตีความใหม่กันมากแล้ว ก็เป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองด้วย ดังที่ฝรั่งเขียนไว้ว่า

ทั่วยุโรปภาคเหนือ กษัตริย์และเจ้าผู้ครองดินแดนทั้งหลาย ซึ่งรู้ตระหนักว่าตนกำลังมีอำนาจมากขึ้น มีความไม่พอใจอยู่แล้ว ต่อการที่องค์สันตะปาปาซึ่งประทับอยู่แสนไกล มาถือสิทธิคุมอำนาจบังคับบัญชาตน แถมยังดูดสูบเอาโภคทรัพย์ไปยังกรุงโรมอีกด้วย”

(“Europe, history of,” New Grolier Multimedia Encyclopedia, 1994)

การปฏิรูป (Reformation) ซึ่งเป็นของฝ่ายโปรเตสแตนต์นี้ ตามมาด้วยการย้อนปฏิรูป (Counter-Reformation) ของฝ่ายโรมันคาทอลิก (ค.ศ.1540 หรือ 1559-1610) เพื่อเร่งงานกำจัดฝ่ายโปรเตสแตนต์ให้หมดสิ้น

ในช่วงเวลานับแต่เริ่มยุค Reformation ชาวคริสต์สองนิกายได้ทำ persecution และ religious war กัน ทั้งระหว่างคนในประเทศเดียวกัน ระหว่างผู้ปกครองกับราษฎรบ้าง ระหว่างราษฎรกับราษฎรบ้าง ระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่งบ้าง ระหว่างกลุ่มประเทศทั่วทั้งยุโรปบ้าง ซึ่งนอกจากทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในยุโรปแล้ว ก็ส่งผลไปถึงการเกิดขึ้นของประเทศในโลกใหม่ คืออเมริกาด้วย

ยกตัวอย่าง ในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้กลายเป็นประเทศโปรเตสแตนต์เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ (Henry VIII) แยกออกจากโรมันคาทอลิก โดยประกาศไม่ยอมรับอำนาจขององค์สันตะปาปา (Pope) และให้รัฐสภาสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นประมุขแห่งศาสน-จักรนิกายอังกฤษ (Church of England) คือนิกายแองกลิคาน (Anglican Church) ในปี 1534 ทำให้ศาสนาคริสต์นิกายอังกฤษ เป็นศาสนาประจำชาติมาจนบัดนี้

พระเจ้าเฮนรีที่ ๘ ได้ทรงกำราบและยึดทรัพย์วัดทั้งหลายของคาทอลิก ใครยอมเชื่อฟังองค์สันตะปาปา ถือว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ผู้นับถือโรมันคาทอลิกคนใดไม่ยอมรับสถานะของพระองค์ว่าเป็นประมุขของศาสนจักร ก็ถูกประหารชีวิต

พึงสังเกตว่า อังกฤษกำจัดไม่เฉพาะชาวคาทอลิกเท่านั้น แต่กำจัดโปรเตสแตนต์นิกายอื่นที่ไม่ใช่นิกายอังกฤษด้วย ดังนั้น พวกถือนิกายลูเธอแรนก็ถูกจับเผาทั้งเป็นเสียเป็นจำนวนมาก

ต่อมา พระนางแมรีที่ ๑ (Mary I) ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ นั่นเอง ขึ้นครองราชย์ ใน ค.ศ.1553 สถานการณ์เปลี่ยนเป็นตรงข้าม พระนางแมรีพยายามกู้นิกายโรมันคาทอลิกกลับขึ้นมาให้เป็นศาสนาประจำชาติ และได้กำจัดผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ปรากฏว่าชาวโปรเตสแตนต์ถูกเผาทั้งเป็นไปประมาณ ๓๐๐ คน บ้างก็หนีไปอยู่ประเทศอื่น

ต่อจากพระนางแมรีที่ ๑ ใน ค.ศ.1558 พระกนิฏฐภคินี คือ พระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ ๑ (Elizabeth I) ขึ้นครองราชย์ ก็กลับฟื้นนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้นอีก และโดยเฉพาะในปลายรัชกาล ก็ได้กำจัดฝ่ายโรมันคาทอลิกอย่างโหดร้าย ถึงกับประหารชีวิตเสียเป็นอันมาก

ส่วนประเทศฝรั่งเศสนั้นตรงข้าม ได้พยายามรักษานิกายโรมันคาทอลิกไว้ให้มั่นคง และกำจัดนิกายโปรเตสแตนต์อย่างถึงที่สุด

พวกโปรเตสแตนต์ในฝรั่งเศสมีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่าพวกฮิวเกนอตส์ (Huguenots)

เมื่อพวกฮิวเกนอตส์ (Huguenots) มีกำลังเข้มแข็งขึ้น รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้กำจัดอย่างรุนแรง จนกระทั่งเกิดเป็นสงครามศาสนาถึง ๘ ครั้ง ในช่วง ค.ศ.1562-1598 แต่หลังจากสงบศึกไประยะหนึ่ง ต่อมาก็กำจัดกันใหม่ และเกิดสงครามใหม่อีก

พวกฮิวเกนอตส์จำนวนมาก เห็นว่าจะอยู่ในประเทศของตนเองต่อไปไม่ไหว ก็พากันหนีไปประเทศอื่น เช่น อังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ แล้วจำนวนหนึ่งก็หนีต่อไปยังดินแดนแห่งโลกใหม่ คืออเมริกา (เช่น ในรัฐ Massachusetts, New York, Florida และ South Carolina)

พวกที่หนีไปครั้งนั้น ตำราฝรั่งว่ามีจำนวนประมาณ ๔ แสน ถึง ๑ ล้านคน เนื่องจากพวกฮิวเกนอตส์เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีความรู้และฝีมือดี ตลอดจนเป็นนายทหาร จึงทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียทรัพยากรคนไปเป็นอันมาก การกำจัดและสงครามเพื่อกำจัดพวกฮิวเกนอตส์นี้ ดำเนินมาจนถึง ค.ศ.1789 (รวม ๒๒๗ ปี) จึงสิ้นสุดลง

ในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นจุดเกิดกรณี คือเป็นที่เริ่มต้นของนิกายโปรเตสแตนต์ การกำจัดห้ำหั่นกันก็เป็นไปอย่างรุนแรงยาวนาน แต่จะไม่ยกมาพูดในที่นี้

ในที่สุด การปฏิรูป (Reformation) ของฝ่ายโปรเตสแตนต์ กับการย้อนปฏิรูป (Counter-Reformation) ของฝ่ายโรมันคาทอลิก ก็มาถึงจุดแตกหัก กลายเป็นสงครามศาสนา (religious war) ครั้งใหญ่ของยุโรป (ตะวันตก) ระหว่างประเทศทั้งหลายที่นับถือศาสนาเดียวกันแต่ต่างกันฝ่ายละนิกาย ซึ่งรบกันยาวนานถึง ๓๐ ปี เรียกว่า Thirty Years’ War ระหว่าง ค.ศ.1618-1648

สงครามที่ยืดยาวนี้ ก่อภัยพิบัติทั้งแก่ชีวิตมนุษย์ เศรษฐกิจ และสภาพสังคมทั่วไปของยุโรปอย่างมหาศาล เมืองหลายเมืองหมดประชากรไปครึ่งเมืองหรือเกินกว่าครึ่งเมือง ที่ฝรั่งระบุชื่อไว้ คือ แบรนเดนเบอร์ก เมกเลนเบอร์ก โปเมอเรเนีย พาลาติเนต วูร์เตมเบอร์ก และบางส่วนของบาวาเรีย (Brandenburg, Mecklenburg, Pomerania, the Palatinate, Bavaria)

เขายกตัวอย่างเมืองอีกเมืองหนึ่งในเยอรมนี ชื่อ แมกดีเบอร์ก (Magdeburg) ซึ่งเป็นฝ่ายโปรเตสแตนต์ ถูกกองทัพฝ่ายคาทอลิกบุกใน ค.ศ.1631 เมืองทั้งเมืองถูกเผา และราษฎรที่มีอยู่ ๓๐,๐๐๐ คน ถูกฆ่า “butchered” หมดไป ๒๐,๐๐๐ คน

ฝรั่งกล่าวว่าความสยดสยองของสงคราม ๓๐ ปีนี้ ฝังแน่นในความทรงจำของประชาชนยิ่งกว่าสงครามใดที่มีมาในยุโรปก่อนศตวรรษที่ ๒๐ และเนื่องจากสนามรบส่วนใหญ่อยู่บนแผ่นดินเยอรมัน สังคมเยอรมันจึงประสบความพินาศย่อยยับมากที่สุดอย่างที่ไม่ยิ่งไม่หย่อนไปกว่าสงครามโลกครั้งที่ ๒

สงครามยุติลงด้วยการเซ็นสัญญาสันติภาพ (เรียกว่า Peace of Westphalia) ใน ค.ศ.1648

แม้สงครามจะมีผลร้ายมากมาย แต่ผลดีที่สำคัญก็คือการที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเมื่อมองจากฐานเดิม ก็คือการที่ฝ่ายโรมันคาทอลิกที่เคยเป็นศาสนาหนึ่งเดียวของยุโรป ต้องยอมรับนิกายโปรเตสแตนต์ว่ามีอยู่อย่างเป็นทางการ และประชาชนก็พอจะเชื่อถือและปฏิบัติกิจตามลัทธิศาสนาที่ตนนับถือได้ โดยไม่ต้องหวั่นกลัวมากนักต่อการที่จะถูกฆ่าฟันสังหาร

เหตุการณ์นี้จึงหมายถึงการที่ชาวตะวันตกได้เริ่มรู้จักกับภาวะที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นเสรีภาพทางศาสนา (religious freedom) โดยให้มี ขันติธรรม (tolerance) ต่อกันระหว่างศาสนาและลัทธินิกายที่ต่างกัน

(แม้ว่าความขัดแย้งที่รุนแรงจะยังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ดังเช่นเหตุการณ์ใหม่ๆ ในกรณีสงคราม ๔ ปีในบอสเนีย (Bosnia) ระหว่างชาวเซอร์บส์ ชาวโครแอตส์ และชาวมุสลิม ใน ค.ศ. ๑๙๙๑-๑๙๙๕ และปัญหาระหว่างชาวคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ในไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) ที่ยังค้างอยู่จนปัจจุบัน)

ผลพ่วงอย่างอื่นก็ติดมาด้วย เช่น ความเปลี่ยนแปลงทางอำนาจการเมือง การเปลี่ยนแปลงสถานะของดินแดนต่างๆ (เช่น เนเธอร์แลนด์ และสวิสเซอร์แลนด์ ได้เป็นประเทศเอกราช) และนับแต่นี้อำนาจการเมืองของศาสนจักรคริสต์ก็ลดน้อยถอยลงไป อำนาจการเมืองเป็นเรื่องของฝ่ายอาณาจักรมากขึ้น

ตะวันตกตื่นตัวทางปัญญา
หันออกจากคริสต์ศาสนา สู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

๔. Enlightenment (คริสต์ศตวรรษที่ 18; บางตำราก็ยืดเป็นคริสต์ศตวรรษที่ 17-18) แปลว่า (ยุคแห่ง) “พุทธิปัญญา” หรือ “การเรืองปัญญา” (เรียกอย่างฝรั่งเศสว่า “Age of the Enlightened” คือยุคของผู้มีพุทธิปัญญา) บางทีก็เรียกว่า Age of Reason คือ ยุคแห่งเหตุผล

คำว่า enlightenment นี้ แปลตามศัพท์แท้ๆ ว่า “การทำให้สว่าง” ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกับชื่อของสมัยกลางคือ Middle Ages ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ายุคมืด (Dark Ages) ทั้งนี้ เพราะนักคิดในยุคพุทธิปัญญานั้นมองสมัยกลางด้วยความรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความมืดมน งมงาย เชื่อถือเหลวไหล เป็นปฏิปักษ์ต่อการศึกษาวิทยาการ (“Middle Ages,” Britannica, 1997) ต่างจากยุคสมัยของพวกตนที่ได้พ้นออกมาจากความมืดมัวโง่เขลา และพบแสงสว่างแห่งปัญญาแล้ว (พึงดูทัศนะของปราชญ์ยุคนั้น เช่น Immanuel Kant เป็นต้น)

ลักษณะสำคัญของยุคพุทธิปัญญา คือความเชื่อมั่นในพลังการคิดเหตุผลของมนุษย์ว่าจะสามารถรู้ความจริงของสากลพิภพ และแก้ไขปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของตนให้เจริญงอกงามดีวิเศษขึ้นได้ (คือมี คติแห่งความก้าวหน้า หรือ idea of progress เฟื่องฟูเด่นขึ้นมา) พร้อมทั้งความใฝ่นิยมเสรีภาพ ชื่นชมวิทยาศาสตร์ และเป็นปฏิปักษ์ต่อการถืองมงายในเรื่องโชคลางและพิธีรีตองต่างๆ (superstition) ซึ่งทำให้ต้องขัดแย้งกับทางฝ่ายศาสนาคริสต์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (เช่น “Roman Catholicism,” Britannica, 1997)

ยุคพุทธิปัญญานี้ ก็สืบเนื่องมาจากความตื่นตัวทางด้านสติปัญญา ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค “คืนชีพ” (Renaissance, ค.ศ. 1453-1527) ที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ

โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวที่เรียกว่า การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ซึ่งถือว่าเริ่มต้นใน ค.ศ.1543 (เมื่อโคเปอร์นิคัส/Copernicus พิมพ์หนังสือ “ว่าด้วยปริวรรตแห่งดวงเวหา” — On the Revolutions of the Celestial Spheres) และดำเนินต่อมาตลอดศตวรรษที่ 16 และ 17 จนทำให้คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นยุคแห่งพุทธิปัญญาดังกล่าวแล้ว

แท้จริงนั้น ยุคสมัยทั้ง ๔ ที่กล่าวมา คือ สมัยกลาง (Middle Ages) ยุคคืนชีพ (Renaissance) ยุคปฏิรูป (Reformation) และยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment) นั้น มีความสัมพันธ์เป็นเรื่องชุดเดียวกัน และย่อได้เป็น ๒ ชุด หรือ ๒ ยุค กล่าวคือ

๑. สมัยกลาง (Middle Ages) เป็นพื้นเดิมที่ถูกปรารภ หรือเป็นสภาพกดดัน ซึ่งทำให้เกิด

๒. ยุคคืนชีพ (Renaissance) ขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสใหม่

กระแสใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นนี้ ส่งผล ๒ อย่าง คือ ด้านหนึ่ง เกิดการต้านทานขัดขวาง เพราะเมื่อจะสลัดออกไปก็ต้องสู้กับแรงเก่าที่ดึงเอาไว้ ได้แก่ปรากฏการณ์ของยุคปฏิรูปและย้อนปฏิรูป (Reformation และ Counter-Reformation) และอีกด้านหนึ่ง เกิดการสืบต่อ เพราะเมื่อยุคคืนชีพจุดประกายผุดพลุ่งขึ้นมาแล้ว ก็เป็นแรงดันให้เกิดการเดินหน้าต่อๆ ไป อันได้แก่ปรากฏการณ์ของยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment)

ถ้าจับเอาแต่ตัวยืน ก็ได้ ๒ ยุค คือ ยุคเก่า ได้แก่สมัยกลาง และต่อจากนั้น เมื่อได้เปลี่ยนแปลงใหม่จนผ่านการต้านทานขัดขวางไปได้แล้ว ก็มีผลเป็นยุคใหม่ คือยุคพุทธิปัญญา แต่ที่ว่านี้เป็นเพียงการพูดให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ

ความเป็นไปหรือกระแสความตื่นตัวและความเจริญก้าวหน้าทางสติปัญญา ที่ดำเนินมาถึงยุคพุทธิปัญญานี้ ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นการปฏิวัติขึ้น ๒ อย่าง คือ

๑. การปฏิวัติทางการเมือง ได้แก่ ปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ใน ค.ศ.1789-1815 ซึ่งตามมาใกล้ๆ กับการปฏิวัติของอเมริกา (American Revolution) ใน ค.ศ.1775-1783

๒. การปฏิวัติทางเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ ปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งเริ่มในอังกฤษ ประมาณ ค.ศ.1750-1850

การปฏิวัติ ๒ อย่างนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แผ่ขยายผลมากมายและกว้างไกล พลิกผันสภาพบ้านเมือง ระบบสังคม และวิถีชีวิตของผู้คน นำอารยธรรมขึ้นสู่ยุคใหม่ โดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรม (industrialization) นั้น ถือว่าเป็น modernization คือเป็นตัวกำหนดให้สังคมตะวันตกและโลกขึ้นสู่ยุคสมัยใหม่ (modern age)7 (“Modernization and Industrialization,” Britannica, 1997)

โดยนัยนี้ ในที่สุด ยุคคืนชีพ ก็ดี ยุคปฏิรูป ก็ดี ยุคพุทธิปัญญา ก็ดี ก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่คั่นกลางระหว่าง ๒ ยุคใหญ่ คือ

๑. สมัยกลาง (Middle Ages) ที่ความเชื่อทางศาสนา ซึ่งทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติเหมือนกันหมด ตามกำหนดของศาสนจักรคริสต์ เป็นเครื่องชี้นำชีวิตและวิถีของสังคม กับ

๒. สมัยใหม่ (modern age) ที่แนวคิดความหวังของแต่ละบุคคลผู้เป็นอิสระที่จะเชื่อได้อย่างเสรี มาพร้อมกันเชิดชูยกให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม เป็นเจ้าบทบาทในกระบวนการที่เรียกว่าการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าของชีวิตและสังคม

(แต่คำว่า modern age ยังไม่ได้ใช้เป็นอสาธารณนาม ที่มีความหมายจำกัดเฉพาะ อย่างคำว่า Middle Ages)

ความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและสังคม แนวคิดความเชื่อใหม่ๆ และความตื่นเต้นกับความเจริญก้าวหน้าแปลกใหม่ต่างๆ ได้ทำให้กระแสความคิดความสนใจของคนสมัยใหม่ในตะวันตก ที่ผละออกมาจากศาสนาคริสต์อยู่แล้ว ยิ่งห่างไกลจากศาสนาออกมาเรื่อยๆ และอิทธิพลของศาสนจักรคริสต์ก็ยิ่งลดน้อยถอยลงไป แล้วยังส่งอิทธิพลนี้ไปยังประชาชนในแดนห่างไกลที่กำลังพัฒนาทั่วโลกด้วย

จนกระทั่งถึงช่วงปลายของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จึงถึงจุดหักเหที่อารยธรรมสมัยใหม่นั้นกลับถึงคราวต้องเคว้งคว้างคลำหาทิศทางใหม่

ถึงจะผ่อนอิทธิพลครอบงำทางปัญญา
ฝรั่งยังต้องดิ้นหนีภัยอำนาจการเมืองของคริสต์ศาสนา

หันมากล่าวถึงดินแดนแห่งโลกใหม่ คืออเมริกา ซึ่งก็คือประเทศของคนที่อพยพมาจากทวีปยุโรป และก็เป็นที่รู้กันดีว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้อพยพมา ก็คือ การหนีภัยบีบคั้นกำจัดหรือการห้ำหั่นบีฑาทางศาสนา (religious persecution) ในประเทศเดิมของตน

นอกจากฝรั่งเศส ที่พวกโปรเตสแตนต์ที่เรียกว่าฮิวเกนอตส์หนีภัยมาดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว อังกฤษก็เป็นแหล่งใหญ่ของผู้หนีภัยศาสนา เริ่มแต่พวกโปรเตสแตนต์ที่เรียกว่าพวก Puritans ซึ่งหนีมาในสมัยที่พระนาง Mary I กู้นิกายโรมันคาทอลิกและกำจัดฝ่ายโปรเตสแตนต์

พวก Puritans นี้ได้มาอเมริกาแต่ ค.ศ. 1620 และมาตั้งรกรากอยู่ที่ Plymouth ในรัฐ Massachusetts8

การกำจัดทางศาสนาในอังกฤษ ไม่ได้จบแค่สมัยพระนาง Mary I และ Elizabeth I เท่านั้น แต่มีต่อๆ มา และดังได้กล่าวแล้วว่า อังกฤษมิใช่กำจัดเฉพาะพวกคาทอลิกเท่านั้น แต่กำจัดโปรเตสแตนต์พวกอื่นที่ไม่ใช่นิกายอังกฤษด้วย

พวก Puritans อพยพมาอเมริกาครั้งใหญ่อีก ในช่วง ค.ศ. 1630-1640 ต่อมาพวกอพยพหนีภัยศาสนาก็อพยพมาอเมริกากันเป็นระลอก เช่น พวก Baptists ที่มาก่อนปี 1640 พอหลังปี 1660 ในอังกฤษมีการกำจัดอีก ก็มีพวก Baptists อพยพมาเพิ่มอีก

พวกคาทอลิกมาตั้งที่ Maryland ตั้งแต่ 1634 พวกเควกเกอรส์ (Quakers หรือพวก Society of Friends) ก็มาในช่วงทศวรรษแห่ง ค.ศ. 1660 และมาตั้งรกรากกันใน New Jersey, Pennsylvania รวมทั้ง Massachusetts และ Rhode Island

ในฐานะที่อเมริกาเป็นอาณานิคม รัฐบาลอังกฤษได้ตามมาออกกฎหมายให้คริสต์ศาสนานิกายอังกฤษเป็นศาสนาราชการใน Virginia, Maryland, New York, North และ South Carolina, และ Georgia

ในรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) เจ้าหน้าที่อาณานิคม ซึ่งอยู่ข้างนิกายอังกฤษ ก็เกิดปัญหาขัดแย้งกับพวกเพรสไบทีเรียน พวกแบพติสต์ และนิกายอื่นๆ

ฝ่ายชาวอาณานิคมเอง ทั้งที่ได้ประสบภัยเบียดเบียนทางศาสนาในยุโรปมาอย่างหนักแล้ว เมื่ออพยพมาได้ที่พักพิงในอเมริกาดีแล้ว บางกลุ่มก็ยังมากำจัดข่มเหงเบียดเบียนกันในอเมริกาต่ออีก

เมื่อพวกตัวอยู่ไหน ก็ยังจะเอาแต่พวกของตัว เช่น ในรัฐแมสสาจูเซททส์ ก็มีการกำจัดพวกเควกเกอรส์ และพวกแบพติสต์ รวมทั้งมีการล่าและฆ่าผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นแม่มด

ชาวคาทอลิกที่หนีมาอยู่ในอเมริกา เมื่อเทียบกับชาวโปรเตสแตนต์แล้ว กลายเป็นคนข้างน้อยอย่างยิ่ง (ต่างจากคานาดาในยุคนั้น ที่ฝรั่งเศสได้อาณานิคมมาก และรัฐบาลฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามมิให้มีนิกายโปรเตสแตนต์)

แม้แต่ที่ Maryland ที่มีคาทอลิกมากที่สุด ตอนนั้นก็มีจำนวนไม่เกิน ๓,๐๐๐ คน คนเหล่านี้ต้องพบกับการข่มเหงขนาดเบาๆ ตามกฎหมายของรัฐ Maryland ใน ค.ศ. 1691 คนที่นับถือนิกายคาทอลิกถูกตัดสิทธิทางการเมือง และห้ามมิให้ประกอบพิธีทางศาสนา เว้นเฉพาะแต่ในบ้านส่วนตัวของตนเอง

พวกยิวซึ่งก็เป็นชนข้างน้อย ส่วนมากอยู่ในตัวเมืองนิวยอร์ค ก็ถูกจำกัดไม่ให้มีสิทธิออกเสียง ไม่มีสิทธิได้รับตำแหน่งราชการ และจะปฏิบัติกิจศาสนาของตนอย่างเปิดเผยไม่ได้ มีแต่รัฐ Rhode Island แห่งเดียวที่ยอมให้ทำ

(Rhode Island เป็นถิ่นอาณานิคมที่ตั้งขึ้นโดยมีหลักการแห่งความมีขันติธรรมมาแต่ต้น จึงเป็นถิ่นที่นอกจากยิวแล้ว ผู้ถือนิกายอย่างเควกเกอรส์ที่ถูกข่มเหงในที่อื่นก็มาอยู่ได้โดยปลอดภัย)

แม้ว่าในอเมริกาช่วงตั้งดินแดนใหม่จะมีการกำจัดกวาดล้างกันบ้าง แต่เมื่อเทียบกับถิ่นเดิมในยุโรป ก็นับว่าดีกว่าเบากว่าอย่างมากมาย สาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะทุกฝ่ายทุกนิกายต่างก็เป็นผู้อพยพพลัดถิ่นหนีภัยมาด้วยกัน มีหลายพวกหลายนิกายหลายชาติมาอยู่ใกล้ๆ กัน ต่างก็ต้องปรับตัวใหม่

ในเรื่องนี้ Compton’s Encyclopedia of American History, 1994 (Chapter 3) กล่าวว่า

ความมีขันติธรรมเจริญงอกงาม (ในอเมริกา) อย่างที่ไม่มีชาติใดในยุโรปจะมาเทียบได้ แต่ทั้งนี้มิใช่เพราะชาวอเมริกันเพียรหาทางคิดสรรค์สร้างขันติธรรมขึ้นไม่ แต่เป็นเพราะสภาวการณ์เป็นเงื่อนไขกำหนดให้ต้องเป็นไปอย่างนั้น โดยแท้

อย่างไรก็ตาม จากภูมิหลังแห่งประวัติศาสตร์อันขมขื่นที่ยาวนานในยุโรป ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า คนอเมริกันมีจิตสำนึกซึ่งฝังลึกในใจที่สำคัญ คือความใฝ่ปรารถนาและเชิดชูบูชาเสรีภาพหรือความเป็นอิสระเสรี (freedom หรือ liberty) เป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาเมื่อได้อิสรภาพที่จะปกครองตนเองแล้ว ก็ได้ถือเรื่องเสรีภาพนี้เป็นหลักการสำคัญยิ่ง และกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีอิสรเสรีภาพในด้านต่างๆ รวมทั้งเสรีภาพทางศาสนา (freedom of religion)

ยิ่งกว่านั้น เมื่อหลายนิกายตกลงกันไม่ได้ว่าจะถือนิกายใดเป็นใหญ่ หรือจะถือหลักศาสนาร่วมกันได้อย่างไร อเมริกาก็วางหลักการแห่งการแยกศาสนจักรกับอาณาจักร ออกจากกัน (separation of church and state)

เป็นธรรมดาว่า เหตุการณ์เลวร้ายหรือความทุกข์ ย่อมก่อให้เกิดผลทั้งร้ายและดีในด้านต่างๆ แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งท่าทีของมนุษย์ผู้เผชิญกับทุกข์ภัยเหล่านั้นด้วย

ทุกข์ภัยที่เรียกว่า persecution และ religious wars ที่ชาวตะวันตกได้ผ่านมามากมาย เมื่อว่าในด้านดี ก็เป็นปัจจัยร่วมสำคัญที่หล่อหลอมอารยธรรมตะวันตกให้เป็นอยู่อย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน โดยมีทั้งคุณสมบัติและคุณวิบัติด้านละหลายประการ อย่างน้อยผลที่มองเห็นได้ง่าย คือ

ก. ทำให้มีการเดินทางไกล และการอพยพย้ายถิ่นอย่างมากมายกว้างขวาง รวมทั้งการผจญภัย ซึ่งทำให้พบถิ่นดินแดนและสิ่งแปลกใหม่

  • พบกับสินค้า ความคิด ความรู้ วิทยาการใหม่ๆ และการสังสรรค์ระหว่างวัฒนธรรมที่ต่างกัน รวมทั้งการได้รับศิลปวิทยาการโบราณกลับมาจากประเทศมุสลิม
  • มีเครื่องกระตุ้นให้ตื่นตัวเร้าใจ มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ
  • เป็นต้นทางของการขยายดินแดน และการพบลู่ทางใหม่ๆ ที่จะขยายอำนาจหรือได้ผลประโยชน์ เช่นที่สงครามครูเสดเปิดทางให้ยุโรปมีการค้าขายกับตะวันออก และสงครามกับมุสลิมที่ยืดเยื้อยาวนานเป็นกำแพงกั้นที่ทำให้ยุโรปต้องหันไปสนใจกับการบุกเบิกดินแดนแห่งโลกใหม่ คืออเมริกามากขึ้น

ข. เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ต้องเผชิญกับภัยอันตรายอยู่เสมอ จะฝึกตนเอง แม้โดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่ประมาท เข้มแข็ง เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา และกระฉับกระเฉงว่องไว ยิ่งกว่านั้น เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไขอยู่เสมอ ก็ทำให้พัฒนาสติปัญญาความสามารถและความจัดเจนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ค. การขัดแย้ง รุกล้ำ ละเมิด เบียดเบียนกันระหว่างมนุษย์ เมื่อมีอยู่เสมอไม่เลิกรา ก็ทำให้มนุษย์หาทางปกป้องคุ้มครองตนเอง และยับยั้งป้องกันกันและกันไม่ให้ละเมิดหรือเอารัดเอาเปรียบ

ผลอย่างหนึ่งของความเพียรพยายามในด้านนี้ก็คือ การบัญญัติจัดวางกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ซึ่งจะเห็นว่าอารยธรรมตะวันตกเจริญก้าวไปค่อนข้างมากในด้านนี้ แม้โดยทั่วไปจะยังอยู่ในระดับของจริยธรรมเชิงลบ

ง. เป็นธรรมดาเช่นกันว่า การดิ้นรนแก้ไขปัญหาและหลบหลีกทุกข์ภัยที่มากมาย ก็หมายถึงการได้ทำกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ จึงทำให้เกิดมีกิจกรรมและกิจการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือเป็นสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง และอารยธรรมก็จะก้าวอยู่เสมอ (ไม่ว่าทางดีหรือทางร้าย)

ปฏิกริยาของสังคมตะวันตกต่ออำนาจครอบงำของศาสนาคริสต์
ผลกระทบจากการปฏิรูปศาสนาคริสต์ต่อสังคมตะวันตก

ตามประวัติแห่งอารยธรรมตะวันตกนี้ จะเห็นว่า มนุษย์ชาวตะวันตกในอดีต มีความรู้สึกเหมือนว่าตนถูกกักขังอยู่ในความมืดมาตลอดเวลายาวนาน แถมยังถูกกดขี่ข่มเหงบีบคั้น ต้องผจญทุกข์ภัยมาโดยตลอด

แรงกดดันนั้นทำให้เกิดกำลังในการดิ้นรน และเมื่อเริ่มหลุดออกมา ๕๐๐ ปีก่อนนี้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จึงมีความรู้สึกเหมือนกับว่าได้เกิดใหม่ ดังคำที่เขาเรียกชื่อยุคสมัยนั้นว่า “ยุคคืนชีพ” (Renaissance) ดังได้กล่าวแล้ว

ข้อสำคัญ ก็คือ ชาวตะวันตกเหล่านั้น คืนชีพขึ้นมาใหม่ในแง่ของศิลปวิทยาการ จึงเหมือนกับได้พบแสงสว่าง โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ได้เริ่มฟื้นตัวเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มองเห็นหนทางและความหวังแห่งความรุ่งเรืองข้างหน้า

ชาวตะวันตกผู้ถูกกดดันให้เกิดแรงดิ้นมากมายนั้น เมื่อยุคคืนชีพหรือเกิดใหม่นี้มาถึง จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยความหวังถึงความสำเร็จอันสดใส ที่วิทยาศาสตร์อันตามมาด้วยเทคโนโลยีจะช่วยหยิบยื่นให้

วิทยาการกรีกโบราณที่กลับฟื้นขึ้นมานั้น นำเอาแนวคิดความเชื่อที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งขึ้นมาตั้งเป็นหลักของอารยธรรมตะวันตกต่อมาด้วย คือความเชื่อว่ามนุษย์จะประสบความสำเร็จมีความสุขและอิสรภาพสมบูรณ์ ต่อเมื่อเอาชนะหรือพิชิตธรรมชาติได้ ดังที่ได้เป็นความคิดฝันของนักปราชญ์กรีก ทั้งโสกราตีส เพลโต และอริสโตเติล

ดังนั้น พร้อมกับความหวังในความเจริญก้าวหน้าที่อาศัยวิทยาศาสตร์นั้น ชาวตะวันตกก็ได้มีความใฝ่ฝันที่จะพิชิตธรรมชาติ (conquest of nature) หรือ ครอบครองธรรมชาติ (dominion over nature) หรือเป็นนายของธรรมชาติ (mastery of/over nature) เป็นแกนนำแห่งอารยธรรมของตนสืบมา

อย่างไรก็ตาม การข่มเหงบีบคั้นและการดิ้นรนต่อสู้หลบหนี มิได้จบสิ้นลงแค่ได้ขึ้นยุคคืนชีพ การพยายามครอบครองรักษาอำนาจของศาสนจักรโรมันคาทอลิกยังดำเนินต่อมา และอำนาจที่กว้างใหญ่ไพศาลนั้น ย่อมไม่หมดลงได้ง่ายๆ แต่การดิ้นรนแข็งขืนก็รุนแรงขึ้นด้วย ดังที่ได้เกิดเป็นยุคปฏิรูป (Reformation) ที่มีนิกายใหม่คือโปรเตสแตนต์เกิดขึ้น

จากนั้น ทั้งอำนาจของศาสนจักรและอำนาจการเมืองก็เข้ามาผสมผสานกันในการทำสงครามขับเคี่ยวระหว่างชาวคริสต์ ๒ นิกาย เก่ากับใหม่ และการใช้กำลังกำจัดกวาดล้างอีกฝ่ายหนึ่งในยามที่ตนมีอำนาจ ตลอดยุคปฏิรูป จนสิ้นสงคราม ๓๐ปี (ค.ศ.1648)

ภาวการณ์ทั้งนี้ เป็นเหตุให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่น และการเปลี่ยนแปลงดินแดนอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งการหนีภัยไปหาความหวังข้างหน้าในโลกใหม่ คือ ทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นแรงขับภายในที่หล่อหลอมให้ชนชาติอเมริกันมีความใฝ่ปรารถนายิ่งนักในความเป็นอิสระเสรี จนกลายเป็นอุดมคติเอกของชาติ คือ อุดมคติแห่งเสรีภาพ (ideal of freedom)

ระหว่างที่ความขัดแย้งทางศาสนาดำเนินไปนั้น กระแสความตื่นตัว ความนิยม และความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็มีกำลังแรงมากขึ้น ดังที่ถือกันว่าได้เกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (scientific revolution) ขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1543 สืบต่อมา จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17

นักปราชญ์ยุโรป เริ่มด้วยฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon, 1561-1626) ตามด้วยเดคาร์ตส์ (Rene Descartes, 1596-1650) เป็นต้น ได้กระตุ้นเร้าความคิดที่จะให้มนุษย์พิชิตธรรมชาติ (conquest of nature) ด้วยความรู้วิทยาศาสตร์ที่ประสานกับเทคโนโลยี ทำให้กระแสความเชื่อนี้ฝังใจชาวตะวันตก และแฝงอยู่เบื้องหลังพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดมา

ในส่วนนี้ก็จำเพาะพอดีว่า ในคัมภีร์ไบเบิลมีคำสอนที่สอดคล้องกับแนวคิดที่ให้เป็นเจ้านายครอบครองธรรมชาติ ดังความที่ว่า

ดังนั้น พระเป็นเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระองค์ . . . และพระเป็นเจ้าทรงอวยพรมนุษย์ ตรัสว่า ‘จงมีลูกหลานเพิ่มจำนวนมากมายให้เต็มแผ่นดิน และยึดครองแผ่นดินเถิด จงครอบครองปลาในทะเล (have dominion over the fish of the sea . . .) นกในอากาศ และสัตว์ทั้งหลายที่เลื้อยคลานบนแผ่นดิน’ และพระเป็นเจ้าตรัสว่า ‘เราให้ผักทุกชนิดที่มีเมล็ด ที่มีอยู่บนพื้นแผ่นดิน และต้นไม้ทั้งหลายที่ออกผลมีเมล็ด นี่แหละคืออาหารของเจ้า’. . .

(Genesis 1:28-29)

จึงปรากฏต่อมาว่า ศาสนาคริสต์ก็ส่งเสริมความใฝ่ฝันของวิทยาศาสตร์ในการที่จะพิชิตธรรมชาติ ทำให้แนวคิดของตะวันตกโดยรวม ประสานกันอย่างมีพลังในการมุ่งพิชิตธรรมชาติ

จนกระทั่งมาถึงปลายใกล้จะสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ จึงสะดุดชะงัก เมื่อโลกเผชิญปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม และเกิดความสำนึกว่า การพัฒนาเท่าที่ดำเนินมาเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน (unsustainable development)

นักคิดนักรู้รุ่นใหม่หันกลับไปติเตียนแนวคิดพิชิตธรรมชาติ ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาร้ายแรงที่จะนำความพินาศมาสู่โลกนี้

อีกด้านหนึ่ง ปราชญ์ตะวันตกเชื่อกันมากว่า ศาสนาคริสต์ฝ่ายปฏิรูป คือโปรเตสแตนต์ ซึ่งแตกต่างออกมามากจากโรมันคาทอลิกเดิม ได้ทำให้เกิดจริยธรรมแบบโปรเตสแตนต์ (Protestant ethic) ซึ่งเป็น จริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic) ที่เกื้อหนุนต่อความเจริญทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และเฉพาะอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของทุนนิยมอุตสาหกรรม

จุดเด่นที่ต้องหมายไว้เป็นพิเศษ ก็คือ จริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic) นี้ เป็นหัวใจของลัทธิทุนนิยม (capitalism) ที่หนุนตะวันตกให้มานำโลกอยู่ในบัดนี้ โดยเป็นปัจจัยหลักที่หล่อหลอมนิสัยของนักทำงานผู้บากบั่นและสันโดษ หรือนักผลิตผู้ขยันและอดออม ซึ่งหนุนให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเป็นตราชูของการพัฒนาอุตสาหกรรมตลอดมา

ดังที่สังคมอเมริกันมีความภูมิใจในจริยธรรมแห่งการทำงานนี้ ว่าเป็นภูมิหลังแห่งการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จในสังคมของตน

๒. ศาสนากับการล่าอาณานิคม

 

การแสวงอาณานิคมในยุคจักรวรรดิมุสลิม
ขยายแดนถึงไหน ศาสนาเข้าไปถึงนั่น

ภูมิหลังที่เกี่ยวกับความเจริญของอารยธรรมตะวันตก ซึ่งผูกพันอยู่กับศาสนาคริสต์ก็คือ การล่าอาณานิคม (colonization) ที่ได้กลายเป็นงานนโยบาย คือ ลัทธิอาณานิคม (colonialism)

การล่าอาณานิคมนั้นมีมาแต่โบราณ ถือกันว่า พวกฟีนิเชียน (Phoenicians) เป็นนักล่าอาณานิคมทางทะเลพวกแรก ตั้งแต่ ๑๑๐๐ ปีก่อน ค.ศ.

ต่อด้วยพวกกรีกและมาลงท้ายด้วยพวกโรมัน ซึ่งเข้มแข็งขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๒-๓ ก่อน ค.ศ. และในที่สุดเกือบทั่วทั้งยุโรปและตะวันออกกลางก็ได้ตกอยู่ใต้การปกครองของพวกโรมัน

ดังที่ทราบกันแล้วว่า จักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) เกิดขึ้นประมาณ ๒๗ ปี ก่อน ค.ศ. โดยมีโรม (Rome) เป็นเมืองหลวง

ต่อมา ค.ศ.324 พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ (Constantine I หรือ Constantine the Great) ได้เลือกเมืองกรีกโบราณชื่อว่า บิแซนเทียม (Byzantium) แล้วสร้างขึ้นใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople หรือ โรมใหม่/Nova Roma = New Rome; ปัจจุบัน คืออิสตันบุล/Istanbul ในเตอรกี) สถาปนาเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมัน และทรงเป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์แรกที่นับถือคริสต์ศาสนา ทำให้ต่อมามิช้าศาสนาคริสต์ก็ได้เป็นศาสนาประจำชาติของจักรวรรดิโรมันใน ค.ศ.380

ต่อมาได้มีจักรพรรดิโองการห้ามนับถือศาสนาอื่นนอกจากศาสนาคริสต์ และเริ่มกำจัด (persecution) คนที่ไม่นับถือศาสนาคริสต์ ตั้งแต่ หลัง ค.ศ.391 เป็นต้นมา

ครั้นถึง ค.ศ.395 จักรวรรดิโรมันได้แตกเป็น ๒ ภาค คือ จักรวรรดิบีแซนทีน (อ่านว่า บิแซนไทน์ หรือไบแซนทีน หรือไบแซนไทน์ ก็ได้ทั้งนั้น) หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก (Byzantine Empire หรือ Eastern Roman Empire) ที่คอนสแตนติโนเปิล กับจักรวรรดิโรมันตะวันตก (Western Roman Empire) ที่โรม

จนกระทั่งต่อมา เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกสลายใน ค.ศ.476 แล้ว คอนสแตนติโนเปิล ก็ยังคงเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิบีแซนทีน (Byzantine Empire) หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออกสืบมา และนักประวัติศาสตร์ถือว่า ยุโรปเข้าสู่สมัยกลาง หรือยุคมืด แต่บัดนั้น

เมื่อจักรวรรดิโรมัน (ตะวันตก) ล่มสลาย เข้าสู่สมัยกลาง (Middle Ages) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 แล้ว ก็ไม่มีประเทศใดในยุโรปมีกำลังเข้มแข็งพอที่จะตั้งอาณานิคมขึ้นได้

ระหว่างนั้น เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ศาสนาอิสลามซึ่งเกิดขึ้นใหม่ กำลังมีพลังแรงในการเผยแผ่ ก็เข้าสู่ยุคที่ชาวอาหรับเป็นนักล่าอาณานิคมเรื่อยมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13

ยุคของศาสนาอิสลามนั้น นับแต่พระศาสดามูฮัมหมัดได้ตั้งศาสนาอิสลามขึ้นในดินแดนอาหรับ กำหนดด้วยเริ่มต้นฮิจเราะห์ศักราช (Hijrah) ใน ค.ศ.622

ครั้นพระศาสดามูฮัมหมัดสิ้นชีพใน ค.ศ.632 แล้ว พ่อตาของท่านคือ อาบูบากะร์ ได้ขึ้นเป็นกาหลิฟ (Caliph) องค์แรก ต่อจากนั้นการแผ่ขยายดินแดนของมุสลิมอาหรับก็เริ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการต่อสู้กับจักรวรรดิบีแซนทีน และจักรวรรดิเปอร์เซีย

เพียงแค่ ค.ศ.656 ดินแดนของกาหลิฟ (Caliphate) ก็แผ่ไปตลอดทั่วคาบสมุทรอาหรับ ปาเลสไตน์ ซีเรีย อียิปต์ ลิเบีย เมโสโปเตเมีย กับหลายส่วนของอาร์เมเนีย และเปอร์เซีย

ต่อมา ค.ศ.661 ศาสนาอิสลามได้แตกแยกออกเป็น ๒ สาขา คือ สุหนี่ (Sunnites) ที่เป็นส่วนใหญ่ กับ ชีอะห์ (Shiites) ที่เป็นข้างน้อย

หลังจากนั้น เมืองหลวงของกาหลิฟย้ายจากมะดินะ (Medina) ไปยังดามัสกัส (Damascus) และการแผ่ขยายดินแดนก็ดำเนินต่อไป ได้ทูนีเซียในปี 670 ขึ้นไปถึงปลายสุดด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอาฟริกาเหนือ ใน ค.ศ.710 และด้านยุโรปก็ตีได้ สเปน รุกเข้าไปไกลในฝรั่งเศส แต่ถูกตีกลับออกมาในปี 732

ส่วนทางทิศเหนือ สามารถเข้าล้อมคอนสแตนติโนเปิลได้บางครั้ง แต่ยังตีไม่แตก

ด้านทิศตะวันออก ณ ค.ศ.711 ทัพอาหรับได้บุกไปถึงลุ่มน้ำสินธุ จดแดนอินเดียและจีน เข้าไปตั้งถิ่นฐานได้บางแห่งในแคว้นปัญจาบ

ต่อมา ค.ศ.750 กาหลิฟที่ดามัสกัสถูกสังหาร กาหลิฟวงศ์ใหม่ย้ายเมืองหลวงไปยังแบกแดด (Baghdad) งานแผ่ขยายดินแดนผ่อนเบาลง หันมาส่งเสริมศิลปวิทยา ทำให้ปราชญ์มุสลิมยุคนี้มีผลงานทางวรรณคดี ปรัชญา และศาสตร์ต่างๆ ก้าวหน้ากว่ายุโรปยุคมืดนั้นมาก

ระหว่างนั้น อาณาจักรมุสลิมเตอร์กส์ พวกที่เรียกว่า เซลจูก (Seljuks) ได้เริ่มเรืองอำนาจขึ้น ขณะที่มุสลิมอาหรับอ่อนกำลังลง

(ช่วงนี้ก็พอดีกับศาสนจักรคริสต์แตกกันครั้งใหญ่ ระหว่างนิกายออร์โธดอกซ์/Orthodox Church กับโรมันคาทอลิก/Roman Catholicism ใน ค.ศ.1054)

พอถึง ค.ศ. 1055 พวกเตอร์กส์มุสลิมเซลจูก (หัวหน้าเรียกว่าสุลต่าน) ก็เข้ายึดกรุงแบกแดดได้ เข้าคุ้มครองกาหลิฟอาหรับที่ค่อยๆ กลายเป็นเพียงหุ่นเชิด แล้วก็รบชนะพวกบีแซนทีน ใน ค.ศ.1071 อันเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามครูเสด, (Crusades) ระหว่างประเทศมุสลิมกับประเทศที่นับถือคริสต์ทั้งหลาย ยาวนานเกือบ ๒ ศตวรรษ (ค.ศ.1096-1270)

ตำราฝรั่งบอกว่า ศาสนาคริสต์พบกับการเผยแผ่ของอิสลาม โดยใช้สงครามครูเสด มิใช่ใช้มิชชันนารี และแทบไม่เคยใช้ความเพียรพยายามในการสอนศาสนาแก่ชาวมุสลิมเลย (“Roman Catholicism,” Britannica, 1997)

ในช่วงเวลาอันสำคัญนั้น เจงกิสข่าน (Genghis Khan) ได้นำทัพมงโกล แผ่อำนาจเข้าบุกจีน ยึดปักกิ่งได้ ใน ค.ศ.1215 จากนั้นก็นำทัพมุ่งตะวันตก ตีจักรวรรดิของพวกเตอร์กส์ แถบอิรัก อิหร่าน และเตอร์กีสถานตะวันตกบางส่วน และรุกเข้าไปในรัสเซีย

เมื่อเจงกิสข่านสิ้นชีพ ในปี 1227 แล้ว ข่านคือกษัตริย์มงโกลที่เป็นลูกหลานของเจงกิสข่าน ได้แผ่ขยายอำนาจต่อไปอีก จนเข้ายึดและทำลายกรุงแบกแดดได้ใน ค.ศ.1258 จักรวรรดิมุสลิมก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมงโกล ยกเว้นแต่อาณาจักรของพวกมามะลูกส์ (Mamelukes) ที่ยังสามารถรักษาอียิปต์และซีเรียไว้ได้

อย่างไรก็ตาม พวกมงโกลครองอำนาจอยู่ได้ไม่นานนัก เพียง ๑๐๐ ปีเศษ อาณาจักรก็ค่อยๆ แตกสลายไปเรื่อยๆ จนถึง ค.ศ.1480 ก็หมดอำนาจจากดินแดนทั้งหลายที่ไปยึดครอง

ทัพมุสลิมทะลวงตะวันตก ทะลุตะวันออก

หันไปดูทางด้านอินเดีย ได้กล่าวแล้วว่าทัพอาหรับบุกถึงลุ่มน้ำสินธุตั้งแต่ ค.ศ.711 แม้จะยังบุกลึกกว่านั้นเข้าไปไม่ได้ แต่ก็มีการเดินทางค้าขายติดต่อกัน และการสังสรรค์ทางวัฒนธรรม

โดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษ 9-10 ที่อินเดียมีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา เช่น นาลันทา รุ่งเรืองอยู่แล้ว ทำให้ชาวมุสลิมที่แบกแดดได้รับถ่ายทอดความรู้ด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ จากอินเดีย อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่ายุคนี้ ปราชญ์มุสลิมมีศิลปวิทยาก้าวหน้ากว่ายุโรปมาก

แม้แต่ตัวเลขอาระบิก (1 2 3 . . . 0) ที่ฝรั่งใช้และเผยแพร่ไปทั่วโลกเวลานี้ ก็เกิดขึ้นในอินเดียตั้งแต่ราว ๒๐๐ ปีก่อน ค.ศ. เวลาผ่านมานานจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 ชาวมุสลิมอาหรับจึงได้รับตัวเลขอินเดียไปใช้ แล้วจากนั้นชาวยุโรปก็นำไปใช้ต่อ โดยเข้าใจว่าเป็นของอาหรับ (จึงเรียกว่า “อาระบิก”) เท่าที่พบใช้ครั้งแรกในเมืองฝรั่ง เมื่อ ค.ศ.976

ในช่วง ค.ศ.1000 ชาวมุสลิมที่เข้ามาในอินเดีย ไม่ใช่เป็นพวกอาหรับอย่างยุคก่อน แต่เป็นพวกเตอร์กส์ อาฟข่าน เปอร์เซีย และมองโกล

การรุกรานครั้งใหญ่เริ่มขึ้นในช่วง ค.ศ.1001-1027 โดย มะหะหมุดแห่งฆาซนี (Mahmud of Ghazni) แม่ทัพมุสลิมเตอร์กส์ จากอาฟกานิสถาน ซึ่งใช้วิธีทำลายล้างอย่างรุนแรง ทั้งฆ่าไม่เลือก เผา และปล้นทรัพย์ เขาสามารถผนวกแคว้นปัญจาบเข้าในอาณาจักรของตน

ครั้งนั้น คนฮินดูวรรณะต่ำ และชาวพุทธได้เปลี่ยนมาเป็นมุสลิมจำนวนมาก

แม่ทัพเตอร์กส์มุสลิมที่สืบอำนาจต่อมา ได้รุกอินเดียลึกเข้ามาเรื่อยๆ จนถึง ค.ศ.1206 ก็ชนะตลอดจนสุดแดนภาคตะวันออกของอินเดีย ได้ครอบครองตั้งแต่ปัญจาบไปจนถึงแคว้นพิหาร (เทียบปัจจุบันถึงบังคลาเทศ) และสถาปนาอาณาจักรสุลต่านแห่งเดลี (Delhi Sultanate) ขึ้นเป็นรัฐมุสลิมแรกแห่งอินเดีย (อยู่ในช่วงระยะเดียวกับที่เจงกิสข่านบุกตะวันตก)

การรุกรานของกองทัพเตอร์กส์มุสลิม ช่วงสุดท้ายนี้ ได้กวาดล้างพระพุทธศาสนาให้สูญสิ้นไปจากชมพูทวีป ด้วยการฆ่า ปล้นทรัพย์ บังคับให้เปลี่ยนศาสนา และโดยเฉพาะเผาทำลายศูนย์กลางใหญ่ๆ คือวัด และมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทั้งหลาย เช่น นาลันทา วิกรมศิลา เป็นต้น ในช่วง พ.ศ.๑๗๐๐ (ค.ศ. ช่วงใกล้ 1200)

อาณาจักรสุลต่านแห่งเดลีปกครองอินเดียสืบต่อกันมาชั่ว ๓๔ สุลต่าน ท่ามกลางความโหดเหี้ยมทารุณ การล้างผลาญชีวิต และการแย่งชิงอำนาจกัน

จนกระทั่ง ค.ศ.1526 แม่ทัพมุสลิมเชื้อสายเตอร์กมงโกล จากเปอร์เซีย ก็ได้ตั้งราชวงศ์โมกุลอันยิ่งใหญ่ขึ้นในอินเดีย ซึ่งปกครองอินเดียมาอย่างยาวนานจนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และสิ้นสุดวงศ์ใน ค.ศ.1858

ย้อนกลับมาทางด้านตะวันตก เมื่ออาณาจักรมงโกลชั้นลูกหลานของเจงกิสข่าน เริ่มเสื่อมอำนาจลงตั้งแต่ใกล้ ค.ศ.1330 พวกเตอร์กส์มุสลิมก็เริ่มมีอำนาจแข็งกล้าขึ้นมาแทนที่ ในช่วง ค.ศ. 1300 อุสมานที่ ๑ ได้ตั้งราชวงศ์ออตโตมานเตอร์กส์ขึ้น แล้วแย่งชิงเมืองน้อยใหญ่จากจักรวรรดิบีแซนทีน

ลูกหลานของอุสมานที่ ๑ นั้น แผ่ขยายดินแดนต่อมาจนถึง ค.ศ.1453 ก็ทำลายจักรวรรดิบีแซนทีนลงได้ และยึดเอาเมืองคอน-สแตนติโนเปิลมาเป็นเมืองหลวงแห่งจักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman Empire)

ฝรั่งมักถือว่า การสลายของจักรวรรดิบีแซนทีน หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก ใน ค.ศ.1453 นี้ เป็นจุดกำหนดการสิ้นสุดแห่งสมัยกลางของยุโรป (Middle Ages)9

ต่อจากนั้น จักรวรรดิออตโตมานได้แผ่ขยายอำนาจขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าไปในยุโรป ยึดครองยูโกสลาเวีย และฮังการีได้ สามารถมาปิดล้อมกรุงเวียนนาถึง ๒ ครั้ง คือ ใน ค.ศ. 1529 และ ค.ศ.1683

หลังจากนั้น จักรวรรดิออตโตมานได้เสื่อมลงเรื่อยมา โดยเฉพาะในช่วงใกล้จะสิ้นคริสต์ศตวรรษ 19 ได้สมญาว่าเป็น “บุรุษซมโรคแห่งยุโรป” (Sick Man of Europe) จนกระทั่งสิ้นสลายลงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ กลายเป็นสาธารณรัฐเตอรกี ใน ค.ศ.1923

การเรืองอำนาจขึ้นมาของจักรวรรดิมุสลิมเตอร์กส์ เป็นอุปสรรคกีดขวางการแผ่ขยายดินแดนของประเทศตะวันตก เป็นเหตุให้ประเทศตะวันตกเหล่านั้น เริ่มแต่สเปนและโปรตุเกส ต้องหันไปแสวงหาอาณานิคมและเผยแผ่ศาสนาด้วยการเดินทัพทางทะเล รวมทั้งไปค้นพบโลกใหม่ คืออเมริกา

ดินแดนที่ทัพมุสลิมยึดครองได้ในประวัติศาสตร์นั้น กว้างขวางยิ่งใหญ่ ตั้งแต่สเปนไปจนถึงอินเดียและจดแดนจีน

ลัทธิอาณานิคมของประเทศตะวันตก
เผยแพร่ศาสนา พร้อมกับหาเมืองขึ้น

ยุคอาณานิคมสมัยใหม่ (modern colonialism) เริ่มต้นเมื่อใกล้จะขึ้นสู่คริสต์ศตวรรษที่ 16

การล่าอาณานิคมยุคนี้ เป็นการแผ่อำนาจของประเทศตะวันตก ซึ่งนับถือคริสต์ศาสนา

ฝรั่งเองพูดกันมาว่า การแสวงหาอาณานิคมมีเป้าหมายใหญ่ ๓ ประการ ดังที่พูดเป็นคำชุดว่า เพื่อ “…gold, God and glory”

พูดเป็นไทยเรียงลำดับใหม่ว่า เพื่อ แผ่ศาสนา - หาความมั่งคั่ง – ครองความยิ่งใหญ่

ยุคอาณานิคมของประเทศคริสต์เริ่มขึ้นในช่วงที่จักรวรรดิออตโตมาน ของเตอร์กส์มุสลิมกำลังเริ่มจะเสื่อมอำนาจ แต่กระนั้นก็ยังมีกำลังความยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะกีดกั้นไม่ให้ประเทศตะวันตกฝ่าเข้าไป จึงเป็นเหตุให้ประเทศตะวันตกเหล่านั้นต้องออกล่าเมืองขึ้นโดยทางทะเล ดังกล่าวแล้ว

ตอนแรกสเปนกับโปรตุเกสเป็นเจ้าใหญ่ในการล่าอาณานิคมก่อน แต่ก็ขัดแย้งกัน จึงปรากฏว่าใน ค.ศ.1493 สันตะปาปา อเลกซานเดอร์ ที่ ๖ (Pope Alexander VI) ได้ประกาศโองการกำหนดเส้นขีดจากขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ แบ่งโลกนอกอาณาจักรคริสต์ออกเป็น ๒ ซีก

ทั้งนี้ให้ถือว่า ดินแดนใดก็ตามที่ไม่มีกษัตริย์คริสต์อื่นปกครอง ถ้าอยู่ในซีกตะวันตก ให้สเปนมีสิทธิครอบครองได้ทั้งหมด ถ้าอยู่ในซีกตะวันออก ให้โปรตุเกสเข้าครอบครองได้ทั้งหมด แต่กษัตริย์ โปรตุเกสไม่พอพระทัย

ต่อมา ทั้งสองฝ่ายได้มาประชุมกันที่เมืองตอร์เดซิลยาส ใน ค.ศ.1494 ขอขยับเส้นแบ่งออกไปจนตกลงกันได้ทั้งสองฝ่าย และเซ็นสัญญาตอร์เดซิลยาส (Treaty of Tordesillas) ซึ่งสันตะปาปาจูเลียสที่ ๒ (Pope Julius II) ประกาศโองการรับรองใน ค.ศ.1506

ต่อมาใน ค.ศ.1514 สันตะปาปาลีโอที่ ๑๐ (Pope Leo X) ก็ได้ประกาศโองการห้ามมิให้ประเทศอื่นใดเข้ายุ่งเกี่ยวกับดินแดนในครอบครองของโปรตุเกส

แต่เวลานั้น อำนาจของสันตะปาปาเริ่มเสื่อมลงแล้ว ดังที่ยุคปฏิรูปจะเริ่มขึ้นใน ค.ศ.1517 ประเทศมหาอำนาจอื่นในยุโรป โดยเฉพาะที่เป็นโปรเตสแตนต์ก็มิได้ยอมเชื่อฟัง

ต่อมา อังกฤษและฮอลันดาก็ออกล่าอาณานิคมบ้าง พอถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก็คุกคามอำนาจของโปรตุเกสมากขึ้น จนในที่สุดโปรตุเกสก็หมดอำนาจไป ประเทศอื่นๆ เช่นฝรั่งเศสก็ออกล่าอาณานิคมกันมากขึ้นด้วย

เมื่อเวลาผ่านไป แม้สเปนจะมีดินแดนอยู่มากในอเมริกาใต้ แต่ประเทศผู้ล่าอาณานิคมที่เด่นและแข่งอำนาจกันมาก ก็คือ อังกฤษ กับฝรั่งเศส และเมื่อถึงช่วงท้ายสุด แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะก้าวเข้ามาสู่วงการล่าอาณานิคมด้วยแล้ว แต่ประเทศที่ทรงอำนาจในลัทธิอาณานิคมมากที่สุด ก็คืออังกฤษ จนหมดยุคอาณานิคมไปไม่ช้าหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒

ในการล่าอาณานิคม นอกจากวัตถุประสงค์ในด้านการค้าและการเมืองแล้ว ก็พ่วงงานเผยแผ่ศาสนาคริสต์ไปด้วย บาทหลวง หรือมิชชันนารี หรือนักสอนศาสนาคริสต์ (missionary) จึงพัวพันกับงานล่าอาณานิคมมาโดยตลอด

บางทีนักสอนศาสนาคริสต์ก็เข้าไปก่อน และช่วยปูทางให้แก่การตั้งอาณานิคม บางแห่งงานทั้งสองอย่างก็ควบคู่กันไป แต่ก็มีบ้างในบางแห่งที่นักสอนศาสนาช่วยคุ้มครอง ไม่ให้นักล่าอาณานิคมหรือฝรั่งที่ปกครอง ไปข่มเหงรังแกชาวพื้นเมือง

สำหรับในถิ่นที่ต้องเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในอาฟริกา การล่าอาณานิคมของฝรั่ง ก็หมายถึงการต้องเผชิญกับญิฮาด คือสงครามศักดิ์สิทธิ์ (Jihad หรือ holy war) ของฝ่ายมุสลิมด้วย

ประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ บางแห่งก็ว่า ลัทธิอาณานิคมของฝรั่ง ได้ช่วยคุ้มครองประชาชนไว้มิให้ต้องถูกฝ่ายมุสลิมบังคับด้วยญิฮาดให้ต้องไปถือศาสนาอิสลาม แต่บางแห่งก็ว่า ญิฮาดได้ช่วยให้ชาวมุสลิมต่อสู้ป้องกันลัทธิอาณานิคมของฝรั่ง

ถ้าพูดรวมๆ ก็คงเป็นอย่างที่ฝรั่งเขียนไว้ (“Roman Catholicism,” Britannica, 1997) ว่า

เป็นการยากที่คณะนักสอนศาสนาโรมันคาทอลิก จะแยกตนเองออกจากลัทธิอาณานิคม และนักสอนศาสนาจำนวนมากก็ไม่ต้องการจะแยกด้วย

การเมือง-การค้า-แผ่ศาสนา-หาอาณานิคม
ผลกระทบต่อญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างสำคัญที่จะให้เห็นว่า บทบาทของนักเผยแผ่ศาสนาคริสต์ มีผลรุนแรงทางการเมือง และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มากมายเพียงใด

ในช่วงกลางถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อโปรตุเกสและ สเปนเข้าไปค้าขายที่ญี่ปุ่น นักสอนศาสนาก็เข้าไปกับเรือสินค้าด้วย

ตอนนั้นพวกขุนนางและทหารที่อยากได้สินค้าและยุทโธปกรณ์ของฝรั่ง ก็พากันเอาอกเอาใจคณะนักสอนศาสนาและช่วยปกป้องคุ้มครองศาสนาคริสต์ (ทั้งนี้เพราะเรือสินค้าของฝรั่งบางทีก็วางท่าออกมาว่าจะไม่ยอมเข้าจอดในเมืองท่าที่ขุนศึกไม่แสดงไมตรีสนับสนุนงานของมิชชันนารี)

ที่สำคัญยิ่งก็คือ ในญี่ปุ่นยุคนั้น พระสงฆ์นิกายสำคัญในพุทธศาสนามหายานได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง มีอิทธิพลมากถึงกับมีกองทหารของตนเอง และท้าทายอำนาจของขุนศึก

ในที่สุดขุนศึกโอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga) ได้ปราบปรามทำลายวัดเอนริวกุ (Enryaku) ศูนย์กลางใหญ่ของนิกายเทนไดลงได้ และใช้เวลาสู้รบถึงกว่า ๑๐ ปี จึงทำให้วัดฮองอัน (Hongan) ของนิกายอิกโก (Ikko) ยอมแพ้

ขุนศึกโนบุนากะได้ยึดทรัพย์สินของวัดใหญ่นั้น และเพื่อตัดทอนอิทธิพลทางการเมืองของวัดพุทธศาสนา เขาได้หันมาส่งเสริมการเผยแผ่คริสต์ศาสนาในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ต่อมาไม่นาน ฝ่ายญี่ปุ่นเกิดล่วงรู้ขึ้นมาว่านักสอนศาสนาคริสต์ทำงานช่วยการยึดครองอาณานิคม ดังที่ฝรั่งเขียนไว้ว่า (“Tokugawa period,” Britannica, 1997)

เมื่อเกิดรู้ขึ้นมาว่า การแผ่ขยายอาณานิคมของสเปนและโปรตุเกสในทวีปเอเชีย สำเร็จได้ด้วยอาศัยผลงานของพวกมิชชันนารี เหล่าโชกุนแห่งยุคโตกุกาวะ (Tokugawa) ก็จึงมองพวกมิชชันนารีว่าเป็นภัยคุกคามต่อการปกครองของตน

การที่พวกขุนศึกญี่ปุ่นเกิดรู้ขึ้นมาได้นี้ คงจะเป็นเพราะพวกประเทศนักล่าอาณานิคม ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ต่างนิกายกัน มีผลประโยชน์ขัดแย้งกันและอิจฉาริษยากันเอง จึงลอบบอกแก่ผู้ปกครองบ้านเมืองของญี่ปุ่น ดังความว่า10

...งานสอนศาสนาคริสต์ถูกสั่งห้ามทั้งหมด เมื่อพวกโปรเตสแตนต์ชาวอังกฤษและชาวฮอลันดา เตือนรัฐบาล(ญี่ปุ่น) ให้รู้ถึงความที่พวกคาทอลิกชาวสเปน และชาว โปรตุเกสมีใจมุ่งหมายอยากได้ดินแดน

แต่มีเอกสารของญี่ปุ่นเล่าไว้อย่างอื่นอีก ซึ่งน่าจะเป็นได้ว่า ทางการของญี่ปุ่นคงจะได้รอดูเพื่อสืบสาวเรื่องราวจนแน่ใจ

ดังมีเรื่องที่คนญี่ปุ่นเล่าว่า ครั้งหนึ่ง มีนายเรือสเปนคนหนึ่ง ต้องการจะให้ชาวญี่ปุ่นยำเกรงอำนาจแห่งประเทศของตน ได้พูดว่า “พระมหากษัตริย์คาทอลิกทรงส่งพระคุณเจ้าเหล่านี้มาเผยแพร่ศาสนา เพื่อเปลี่ยนศาสนาชาวเมืองเสียก่อน แล้วจึงจะร่วมมือกับนายทัพของพระมหากษัตริย์เจ้า ช่วยให้ยึดครองแผ่นดินได้ง่ายในภายหลัง”

ขุนศึกที่ครองอำนาจสืบต่อมาหลังจากโนบุนากะ ได้หันกลับไปเป็นปฏิปักษ์ต่อนักสอนศาสนาคริสต์

ต่อมาก็ได้สั่งห้ามการสอนศาสนาคริสต์และถึงกับทำการกำจัดกวาดล้าง (persecution) อย่างรุนแรง เพื่อถอนรากถอนโคนศาสนาคริสต์ออกจากประเทศญี่ปุ่น และในที่สุดก็ขับไล่ชาวตะวันตกออกจากประเทศ และห้ามคนญี่ปุ่นเดินทางออกนอกประเทศ หรือกลับเข้ามา

จากนั้นญี่ปุ่นก็เข้าสู่นโยบายปิดประเทศ (policy of national seclusion) ตั้งแต่ ค.ศ.1633 จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาส่งนายพลเปอร์รี (Commodore Matthew C. Perry) นำเรือรบมาบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศค้าขายติดต่อกับตะวันตกอีก ใน ค.ศ.1853-1854

ช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นปิดประเทศอย่างยาวนานเกือบ ๒๕๐ ปี ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เป็นระยะเวลาแห่งความสงบสุขมั่นคง และมีความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกเรือรบอเมริกันบังคับให้เปิดประเทศ ญี่ปุ่นก็ได้รู้ตัวว่าประเทศของตนล้าหลังตะวันตกในด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก จนไม่มีกำลังจะขัดขืนการขู่บังคับได้

จากนั้นญี่ปุ่นก็เร่งรัดปรับปรุงประเทศชาติให้เจริญอย่างสมัยใหม่แบบตะวันตก จนประสบความสำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว

ระบบอาณานิคม - จักรวรรดินิยม
ป้ายชื่อปลดไป เนื้อในยังอยู่?

เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้ว ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมายในระบบการครอบครองอาณานิคม

ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น ประเทศเจ้าอาณานิคมจะมุ่งครอบครองดินแดนที่มีโลหะที่มีค่า และสินค้าท้องถิ่นที่ต้องการตลอดจนทาส คนผิวขาวจึงเข้าตั้งถิ่นฐานอยู่เพียงตามแนวชายทะเล และเกาะเล็กเกาะน้อย พร้อมทั้งสร้างเมืองท่า เมืองป้อม ศูนย์รวมสินค้า และตั้งกองทหารที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของตน

แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว เกิดลัทธิทุนนิยม อุตสาหกรรม (industrial capitalism) ที่มีการผลิตจำนวนมหึมา ซึ่งต้องการวัตถุดิบในปริมาณมหาศาล และตลาดใหญ่ที่จะระบายสินค้า กับทั้งมีอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เพิ่มพลังอำนาจในการควบคุมบังคับและจัดการ วิถีชีวิตและระบบสังคมของอาณานิคมก็เปลี่ยนไป โดยสรุป คือ

  • ประเทศอุตสาหกรรมเป็นผู้ผลิตและขายผลิตภัณฑ์สินค้า
  • ประเทศอาณานิคม (หรือตามเป้าคือโลกส่วนที่เหลือทั้งหมด)

ก) เป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบ และทรัพยากร

ข) เป็นแหล่งจัดส่งสะเบียงอาหาร (สำหรับชุมชนเมืองที่เกิดขึ้นในระบบอุตสาหกรรม)

ค) เป็นตลาดระบายสินค้า (พร้อมกันนั้นก็หาทางปิดกั้นชาวพื้นเมือง หรือชาวอาณานิคม ไม่ให้ผลิตและส่งสินค้าออกมาแข่ง เว้นแต่จะเป็นผู้ผลิตขั้นต้นให้แก่ประเทศเจ้าอาณานิคม)

สภาพเช่นนี้กลายเป็นสาระของความเป็นอาณานิคมสมัยใหม่ ส่วนอำนาจการเมืองและการทหารก็มาเป็นหลักประกันที่จะคุมให้ระบบความสัมพันธ์เช่นนี้ดำเนินไป

พร้อมกันนี้ พลังทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็ได้เป็นหัวใจของการขยายดินแดน โดยทำให้พลเมืองของประเทศเจ้าอาณานิคมสามารถบุกรุกตั้งถิ่นฐานลึกเข้าไปๆ ในผืนแผ่นดิน

กล่าวคือ มีอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่เหนือกว่า ซึ่งสามารถบังคับชนเจ้าถิ่นเดิมที่มีจำนวนมากกว่าให้ต้องยอมจำนนและสนองวัตถุประสงค์ของตน และมีเครื่องมือขนส่งสื่อสารที่ทำให้สามารถแจ้งข่าวและส่งกำลังทหารและสินค้าได้ครั้งละมากมายและรวดเร็ว โดยเฉพาะรถไฟ และเรือกลไฟ

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เข้าสู่ยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมแล้ว การขยายดินแดนผนวกอาณานิคมใหม่ ก็ยิ่งก้าวไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลต่อชนพื้นเมือง ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างผสมกัน คือ

๑. กำจัดกวาดล้างชนพื้นเมืองให้หมดไป เพื่อให้ชนเจ้าอาณานิคมเข้าอยู่แทนที่ โดยฆ่าหรือบังคับให้ออกไปอยู่ในเขตสงวนที่จัดให้

๒. ปราบปรามชนเจ้าถิ่นให้ยอมอยู่ใต้อำนาจ แล้วจัดสรรดัดแปลงสังคมถิ่นเดิมนั้นใหม่ ให้สนองวัตถุประสงค์ของประเทศเจ้าอาณานิคม

สำหรับในทวีปอเมริกาเหนือและใต้นั้น มีข้อสังเกตว่า ในการเข้าไปตั้งถิ่นฐานของฝรั่ง พวกสเปนและโปรตุเกสมักใช้วิธีเข้าอยู่ผสมกลมกลืน และดูดกลืนชนเจ้าถิ่นเข้ามาในสังคมของตน

แต่พวกอังกฤษและฝรั่งเศสมักใช้วิธีตั้งอาณานิคมของพวกตนล้วนๆ โดยกำจัดหรือขับไล่ย้ายคนพื้นเมืองเดิมออกไป

พร้อมกับการขยายดินแดนผนวกอาณานิคมใหม่อย่างขนานใหญ่นี้ ประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลายก็ยิ่งขัดแย้งแข่งขันแย่งชิงอำนาจกันมากขึ้น เพื่อหาวัตถุดิบและตลาดที่ระบายสินค้า

ส่วนการถือว่าคนพื้นเมืองเป็นคนป่า คนอนารยะ เป็นบาร์-เบเรียน หรือคนล้าหลัง ที่จะต้องทำให้ศรีวิไลขึ้นอย่างชาวตะวันตก และการที่จะเปลี่ยนศาสนาให้คนพื้นเมืองหันมานับถือคริสต์นั้น ก็ดำเนินสืบต่อมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะในยุคที่ศาสนากับอำนาจการเมืองรวมอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็อาจจะใช้วิธีบังคับให้นับถือ และมีการลงโทษรุนแรงแก่ผู้ขัดขืน

ขอยกตัวอย่าง เมื่อสเปนเข้ายึดครองนิวเมกซิโก มิชชันนารีได้บังคับให้ชนเจ้าถิ่นเดิม คือ พวกอินเดียนแดงเผ่าพเวบโล (Pueblo Indians) นับถือศาสนาคริสต์แบบคาทอลิก พวกมิชชันนารีได้เผาวัตถุเคารพบูชาเดิมของชนเผ่านี้เสีย ชาวอินเดียนแดง ถูกจับขึ้นศาลสเปน และลงโทษหนัก เช่น แขวนคอ ตัดมือตัดเท้า หรือให้เป็นทาส

พวกพเวบโล ซึ่งตามปกติเป็นเผ่าที่รักสงบ ได้ก่อกำเริบหลายหน จนในที่สุดก็เกิดเป็นการกบฎใหญ่ที่อินเดียนแดงชนะใน ค.ศ.1680 พวกสเปนตายไป ๔๐๐ คน รวมทั้งบาทหลวง ๒๑ คน และที่เหลือต้องหนีออกไป แต่ในที่สุด พวกสเปนก็ตีกลับจนเข้ามาปกครองได้อีกทั้งหมดใน ค.ศ.1696

อย่างไรก็ตาม บาทหลวงและนักสอนศาสนาจำนวนมาก แม้จะเป็นส่วนร่วมในการขยายอาณานิคม และทำการต่างๆ ไปเพราะศรัทธาดิ่งแบบของเขา แต่โดยส่วนตัวก็ได้บำเพ็ญประโยชน์โดยอาศัยวิทยาการใหม่ๆ ของตะวันตก เช่นการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาเป็นเครื่องมือในการชักนำคนพื้นเมืองให้หันมานับถือศาสนาคริสต์

จากการขยายดินแดนผนวกอาณานิคมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคต่อจากปฏิวัติอุตสาหกรรม ตำราฝรั่งเองว่า ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 กลายเป็นยุคจักรวรรดินิยมสมัยใหม่

ในยุคนี้ ดินแดนใหม่ที่ถูกยึดครองได้เพิ่มขึ้นในอัตราความเร็ว ๓ เท่าของยุคก่อน (๗๖ ปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยึดครองดินแดนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ ๘๓,๐๐๐ ตร.ไมล์ แต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1870s ถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ.1918) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ ๒๔๐,๐๐๐ ตร.ไมล์)

ปรากฏว่า ใน ค.ศ.1914 (ปีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑) ดินแดนที่เป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ในโลกนี้ ๘๕ เปอร์เซนต์ และก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประชากร ๑ ใน ๓ ของโลก อยู่ในดินแดนประเภทเมืองขึ้น หรืออาณานิคม

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดแล้วระยะหนึ่ง แม้ว่ายุคแห่งอาณานิคมจะถือว่าสิ้นสุดไปแล้ว และจักรวรรดินิยมยุคใหม่ (new imperialism) จะได้จบไปแล้ว แต่ก็มีผู้ที่เห็นว่า เวลานี้ โลกก็ยังมีระบบการครอบงำกัน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วใช้นโยบายเศรษฐกิจควบคุมประเทศที่กำลังพัฒนา ดังที่ได้เกิดมีคำว่า “จักรวรรดินิยมแบบใหม่” (neo-imperialism)

ใน ค.ศ.1953 วารสาร The Economic History Review ได้ลงพิมพ์บทความที่มีชื่อเสียง ชื่อ “จักรวรรดินิยมแห่งการค้าเสรี” (The imperialism of free trade) ซึ่งมีคำเกิดขึ้นใหม่ว่า “จักรวรรดินิยมอย่างไม่เป็นทางการ” หรือ “จักรวรรดินิยมนอกแบบ” (informal imperialism) เช่น การที่ประเทศใหญ่ดำเนินการควบคุมโดยอ้อมในรูปแบบต่างๆ ต่อสังคมใต้อาณัติของตน ด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจ

ถึงแม้จะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ชัดเจน แต่คำที่ว่านี้ก็ได้รับความนิยมดังขึ้นมาพอสมควร เพราะอาจจะแสดงให้เห็นสภาพความจริงของโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

๓. โลกทัศน์ที่นำสู่โลกาภิวัตน์

 

วิทยาศาสตร์ก้าวขึ้นมานำหน้า
สู่โลกทัศน์ใหม่ ที่ศาสนาหันมาแอบอิง

ขอย้อนกลับไปสู่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กระแสนิยมวิทยาศาสตร์กำลังขึ้นสูง สืบเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ยุคคืนชีพ

ครั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ขึ้นแล้ว เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มากับยุคอุตสาหกรรม ได้ทำให้ผู้คนมีชีวิตที่พรั่งพร้อมสะดวกสบาย และมีอำนาจจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย รวมทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบอาณานิคม อย่างที่กล่าวแล้ว

แต่มิใช่แค่นั้น การมองเห็นความหวังที่จะนำเอาความรู้วิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการสร้างความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม ได้ทำให้ประชาชนทั่วไปเพิ่มความสนใจใฝ่นิยมวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้นไปอีก

ความนิยมและตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้คริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้ชื่อว่าเป็นยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment) หรือยุคแห่งเหตุผล (Age of Reason) และพร้อมกันนั้น คนทั้งหลายก็พากันคิดว่าวิทยาศาสตร์นั้นจะนำพามนุษย์ไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจะเป็นความก้าวหน้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

นับแต่นั้นมา คติแห่งความก้าวหน้า (idea of progress) หรือคติแห่งความก้าวหน้าที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ (idea of inevitable progress) ก็เด่นขึ้นมา จนกลายเป็นแนวคิดนำที่ครอบงำอยู่เหนือกระแสการพัฒนาอารยธรรมตะวันตกเรื่อยมา จนถึงยุคปัจจุบัน โดยมีแนวคิดที่มุ่งพิชิตธรรมชาติ (conquest of nature หรือ dominion over nature หรือ mastery of/over nature) แฝงหนุนเป็นคู่แฝดกันมาโดยตลอด

ในวงวิชาการ กระแสนิยมวิทยาศาสตร์ได้ทำให้วิชาการต่างๆ พยายามปรับตัวให้ได้รับความเชื่อถือ โดยนำเอาวิธีวิทยาศาสตร์ (scientific method) เข้าไปใช้ และในศตวรรษที่ 18 นี้เอง วิชาสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยา ก็ได้เริ่มถือกำเนิดขึ้น

ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ได้ก่อให้เกิดผลสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำให้มนุษย์ชาวตะวันตกมองโลกและชีวิตหรือมองสิ่งทั้งหลายด้วยความเข้าใจอย่างใหม่ โดยมีโลกทัศน์แบบจักรกล (mechanistic view)

โลกทัศน์แบบจักรกลนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 จากอิทธิพลความคิดของเดคาร์ตส์ (Descartes, 1596-1650) และปรับแก้ใหม่ตามแนวคิดของนิวตัน (Newton, 1642-1727)

นิวตันนี้ได้เป็นต้นสายความคิดแบบแบ่งซอยหรือแยกส่วน ที่เรียกว่า reductionist view หรือเรียกสั้นๆ ว่า reductionism ด้วย

โลกทัศน์วิทยาศาสตร์แบบจักรกล และแนวคิดแยกส่วนนี้ มองโลกหรือสิ่งทั้งหลาย ตลอดจนแม้แต่ชีวิตจิตใจมนุษย์ ในเชิงวัตถุ และแบบคณิตศาสตร์ โดยเห็นว่า สิ่งทั้งหลายและความเป็นไปหรือปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดจากองค์ประกอบ หรือชิ้นส่วนทางวัตถุเล็กน้อยย่อยลงไปๆ เข้ามาสัมพันธ์กันอย่างมีกฎเกณฑ์ในเชิงเหตุผลอย่างเป็นระเบียบ

โลกทัศน์แบบจักรกล และแนวคิดแยกส่วนนี้ ได้เป็นสายความคิดหลักที่ครอบงำอารยธรรมตะวันตก และแผ่ไปครอบงำโลกมายาวนานเกือบ ๓๐๐ ปี

ในยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment) แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 นี้ ความขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาคริสต์ได้ผ่อนเบาลงบ้าง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญ โดยเฉพาะนิวตันเป็นคนมีศรัทธาในศาสนาคริสต์ และได้อธิบายความคิดทางวิทยาศาสตร์ของเขา ในเชิงประสานสังเคราะห์ โดยแสดงความจริงทางวิทยาศาสตร์ ชนิดที่เปิดช่องให้องค์พระเป็นเจ้าสามารถมีบทบาทได้ (“...a new synthesis in which truth is revealed and God was preserved.”- “The History of Science,” Britannica, 1997)

ภาวการณ์นี้ มีผู้เรียกว่าเป็นการพักรบกับฝ่ายศาสนา (a truce with men of religion - “European History and Culture,” Britannica, 1997)

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายศาสนาคริสต์ก็มิได้พอใจจริง เพราะเมื่อว่าโดยสาระ แนวคิดวิทยาศาสตร์นี้ก็นำไปสู่วัตถุนิยมและลัทธิอเทวนิยม ความขัดแย้งจึงดำเนินต่อมา

โดยเฉพาะเมื่อ ดาร์วิน (Charles Darwin) ประกาศทฤษฎีวิวัฒนาการ (Theory of Evolution) ใน ค.ศ.1858 ได้ก่อความกระทบกระเทือนแก่ศาสนาคริสต์เป็นอย่างยิ่ง

วิทยาศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าแตกสาขาออกไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการที่ศาสนาคริสต์เสื่อมอิทธิพลลงโดยทั่วไป

เมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นีทเช่ นักปรัชญาชาวเยอรมัน (Friedrich Nietzsche, 1844-1900) ก็ได้ประกาศว่า “พระเจ้าตายแล้ว” (“God is dead.”- เช่นคำ “Philosophical Anthropology” และ “Friedrich Nietzsche,” Britannica, 1997)

ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์กับวิทยาศาสตร์ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (เช่น “Religion,” Infopedia, 1994) และเนื่องจากวิทยาศาสตร์กำลังเฟื่องฟูก้าวหน้ามาก ผู้คนก็ยิ่งเหินห่างออกไปจากศาสนาคริสต์ จนในประเทศตะวันตกเอง ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลเหลือน้อยอย่างยิ่ง และไม่ได้รับความสนใจ

ต่อมาเหตุการณ์ได้กลับกลายเป็นว่า วงการศาสนาคริสต์ได้หันมาตีความคำสอนของตนให้เข้ากับวิทยาศาสตร์ หรือปรับความหมายให้สอดคล้องกับศาสตร์สมัยใหม่ (เช่น หนุนแนวคิดพิชิตธรรมชาติ และแนวคิดดาร์วินเชิงสังคม เป็นต้น) ตลอดจนนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้และไปอ้างในการดำเนินงานเผยแผ่ศาสนาคริสต์ (เช่น การอ้างเรื่องสุริยคราสในภาคเหนือของประเทศไทย และการใช้ความรู้และเครื่องมือทางแพทย์สมัยใหม่มารักษาคนเจ็บไข้ในประเทศที่ล้าหลังเป็นต้น)

นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ประสานตัวเข้ากับแนวทางของยุคใหม่ แม้กระทั่งอาศัยแหล่งทุนจากประเทศของตนซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมที่ร่ำรวยกว่า มาให้ความช่วยเหลือทางด้านทรัพย์สินเงินทองและความเป็นอยู่แก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนที่ยากจน เป็นเครื่องชักจูงให้หันไปนับถือศาสนาคริสต์ จนเป็นที่น่าสงสัยว่า คนหันไปยอมรับนับถือเพราะเลื่อมใสเครื่องมือเครื่องใช้ทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ตลอดจนผลประโยชน์ มากกว่าจะเลื่อมใสคำสอนของศาสนา

(การใช้ผลประโยชน์หรืออามิสเป็นเครื่องจูงใจให้คนหันมานับถือศาสนานี้ ตามหลักการถือว่าไม่ชอบธรรม และในบางประเทศถือว่าเป็นความผิดด้วย)

วิทยาศาสตร์ - อุตสาหกรรม
มาตรฐานวัดความเจริญก้าวหน้าของโลกยุคใหม่

ดังได้กล่าวแล้วว่า การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (scientific revolution) และยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment) นั้น พ่วงติดมาด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และสำหรับประชาชนทั่วไป ความสนใจใฝ่นิยมวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมากมาย ก็เพราะมองเห็นความหวังที่วิทยาศาสตร์จะมาช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่อุตสาหกรรม

การปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้ทำให้ระบบอาณานิคมก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่ การครอบครองอาณานิคมใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังได้กล่าวแล้ว

ข้อที่สำคัญก็คือ ดินแดนอาณานิคมเหล่านี้ได้ถูกจัดสรรควบคุมให้มาสนองระบบอุตสาหกรรม ด้วยการเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบและอาหาร และเป็นตลาดระบายสินค้าอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่ประเทศตะวันตก และทำให้ประเทศเจ้าอาณานิคมเหล่านั้น สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

พร้อมกันนี้ สังคมเมือง และวัฒนธรรมเมืองก็เจริญเฟื่องฟู มีเมืองน้อยเมืองใหญ่เกิดผุดโผล่แผ่ขยายทั่วไป ซึ่งถือกันว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญของยุคอุตสาหกรรม

ระบบอุตสาหกรรมทำให้ต้องมีการจัดสรรระบบการทำงานด้วยการแบ่งงานกันทำอย่างซอยละเอียด

ความคิดของอาดัม สมิธ (Adam Smith, 1723-1790) ที่เขียนไว้ในหนังสือ The Wealth of Nations ในปี 1776 ได้พัฒนาทฤษฎีการแบ่งงาน (division of labor) และการจำแนกความชำนาญพิเศษในทักษะเฉพาะด้าน (specialization of skills) ซึ่งถือว่าช่วยให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว

เรื่องนี้ปรากฏเป็นผลสำเร็จในทางปฏิบัติ เมื่อนายเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford, 1863-1947) และเทย์เลอร์ (Frederick W. Taylor, 1856-1915) นำความคิดนั้นมาประยุกต์ใช้ให้เป็นการปฏิบัติจริง ในสหรัฐอเมริกา

ควบคู่กับการแบ่งงานและความชำนาญงานเฉพาะด้านในวงการอุตสาหกรรมนั้น เมื่อวิทยาการทั้งหลายเจริญมากขึ้น ก็ได้มีแนวโน้มในการแตกย่อยศาสตร์ต่างๆ ออกไปเป็นสาขาแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน (specialization) มากขึ้นๆ

เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาและรุ่งเรืองเฟื่องฟู วิทยาการต่างๆ แม้ที่เป็นเรื่องทางสังคมและวัฒนธรรม ก็ปรารถนาจะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย จึงนำเอาวิธีวิทยาศาสตร์ไปใช้และได้เกิดมีวิชาจำพวกใหม่ที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อย่างที่กล่าวข้างต้น

ต่อมา วิชาจำพวกมนุษยศาสตร์ (the humanities) ที่ครองความเป็นใหญ่อยู่เดิมก็สูญเสียสถานะไป วิชาจำพวกวิทยาศาสตร์ธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์กายภาพ (natural sciences หรือ physical sciences) และสังคมศาสตร์ (social sciences) ก็ขึ้นมาครองความสำคัญแทนที่สืบมา

วิชาการ ๒ หมวดนี้ เมื่อเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแล้ว ก็แตกสาขาย่อยออกไปเป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านเฉพาะทางอย่างหลากหลาย

พร้อมกันนั้น การศึกษาในมหาวิทยาลัยก็มีการแตกสาขาย่อยของวิชาการที่เล่าเรียนซอยละเอียดออกไป และให้ปริญญาเฉพาะสาขามีชื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย (ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา มีการให้ปริญญาชื่อต่างๆ มากกว่า ๑,๕๐๐ สาขา) จึงยิ่งทำให้วิชาการต่างๆ เจาะลึกดิ่งลงไปในแนวทางของความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น

โดยนัยนี้ก็ได้มีความเชี่ยวชาญศาสตร์เฉพาะด้าน (scientific specialization) และความชำนาญวิชาการเฉพาะสาขา (academic specialization) มาเข้าคู่กับความชำนาญงานเฉพาะทาง (specialization of skilled labor) และความชำนาญเฉพาะด้านทางอุตสาหกรรม (industrial specialization)

ถือกันว่าโลกได้เข้าสู่ยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน (age of specialization) ซึ่งมีการกล่าวเชิงทำนายว่า วิถีชีวิตของประชาชนจะอยู่ใต้กำกับของผู้ชำนาญการ (specialists) และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ (experts) มากขึ้นๆ

ว่าโดยสรุป นับแต่เกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประเทศตะวันตกก็ได้เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (modern age)11 อุตสาหกรรมได้เข้ามาเป็นตัวกำหนดยุคสมัยและเป็นเกณฑ์วัดอารยธรรม ดังที่ถือว่า สังคมสมัยใหม่ (modern society) ก็คือสังคมอุตสาหกรรม (industrial society)

อุตสาหกรรมทำให้เกิดมีเมืองน้อยใหญ่มากมาย และเมืองก็ขยายใหญ่โตอย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตแบบชาวเมืองแพร่ไปทั่ว ความเป็นอยู่ที่ดำเนินตามแบบแผนขนบประเพณียึดถือตามข้อกำหนดของศาสนาก็เปลี่ยนไป ผู้คนมีชีวิตแบบคนห่างศาสนา (secularism)

ตัวกำกับวิถีชีวิตของคนและสังคม เปลี่ยนจากศาสนาคริสต์มาเป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม

เมื่อชาวตะวันตกผู้ถือตนว่าพัฒนาแล้ว มองเทียบตนเองกับประเทศที่ล้าหลัง ก็วัดการพัฒนานั้นด้วยอุตสาหกรรม โดยถือว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed country) ก็คือประเทศอุตสาหกรรม (industrialized country) ส่วนประเทศใดยังไม่เป็นอุตสาหกรรม ก็ถือว่ายังไม่พัฒนา

บทบาทและอิทธิพลของบาทหลวงและศาสนาจารย์แห่งคริสต์ศาสนา แม้จะลางเลือนไปจากสังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมที่พัฒนาแล้วในประเทศตะวันตก ก็ยังมีเวทีที่แสดงในประเทศห่างไกลที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา (underdeveloped or developing countries) โดยทำหน้าที่ของนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ พร้อมทั้งเป็นตัวแทนของประเทศอุตสาหกรรม นำเอาความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ไปให้แก่ผู้คนในประเทศอาณานิคมเป็นต้น

แม้ว่าเจตนาโดยรวมจะมุ่งใช้ความเจริญสมัยใหม่นั้นเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ศาสนาของตน (เอาพระเจ้าสมัยใหม่มาช่วยเป็นพาหะให้พระเจ้าองค์เก่าโดยสารไป) และแม้จะมีปมความพัวพันกับลัทธิอาณานิคม แต่นักเผยแพร่หลายท่านก็ทำงานบำเพ็ญประโยชน์แก่ชนในท้องถิ่นล้าหลังห่างไกล ด้วยศรัทธาและเมตตากรุณาอย่างอุทิศตัว

บุกฝ่าพรมแดน ๓๐๐ ปี จึงได้ครอบครองโลกใหม่
อารยธรรมอเมริกันได้อะไรจากประสบการณ์ผจญภัย

ขอย้อนกลับไปพูดถึงชนชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นชาวประเทศตะวันตก ผู้ตกทุกข์ได้ยากระเหระหนจากดินแดนแห่งความเจริญสมัยใหม่นั้น แต่ได้ไปสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นจากการฝ่าฟันภยันตราย จนกลายเป็นผู้นำของอารยธรรมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

ดังได้กล่าวแล้วว่า ชนชาติใหม่นี้หนีภัยแห่งการบีบคั้นเบียดเบียน ทั้งทางศาสนาและการเมือง จากยุโรป ไปผจญภัยในโลกใหม่ ด้วยความใฝ่ฝันที่จะได้พบกับความเป็นอิสระเสรี และความหวังนี้ก็ได้ฝังลึกในจิตใจและวัฒนธรรม จนกลายเป็นอุดมคติข้อสำคัญของชนชาติอเมริกัน คือ อุดมคติแห่งเสรีภาพ (ideal of freedom)

เมื่อชาวยุโรปผู้ลี้ภัยข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาขึ้นฝั่งโลกใหม่ที่ชายฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะแถบที่เรียกต่อมาว่า “อังกฤษใหม่” (New England) นั้น ข้างหน้าของเขาคือป่าเขาพงไพรถิ่นกันดาร หรือดินแดนรกร้างที่ไม่เคยรู้จัก ซึ่งไม่มีความสุขความเจริญความสะดวกสบายอะไรที่จะหยิบฉวยเอาได้ มีแต่จะต้องบากบั่นอดทนสร้างมันขึ้นมาด้วยตนเอง

นอกจากป่าดงและสัตว์ร้าย ก็ยังมีคนเจ้าถิ่นอินเดียนแดงที่พวกตนมองด้วยสายตาว่าเป็นมนุษย์ป่าเถื่อน เมื่อมองข้างหลังทางทิศตะวันออกก็มีแต่ทะเลใหญ่ ที่ไม่อาจหวนหลังกลับไป และไม่มีทางพึ่งพาญาติมิตรที่จากมาแล้ว

ความอยู่รอดและความหวังมีทางเป็นไปได้อย่างเดียว คือการบุกฝ่าไปข้างหน้าทางทิศตะวันตก และการสร้างขึ้นใหม่ ทุกอย่างต้องทำต้องหา และการทำการหานั้นต้องดำเนินไปท่ามกลางความยากลำบาก และภัยอันตรายรอบตัว

ความอยู่รอดและความสำเร็จเป็นปัญหาที่ทุกคนจะต้องเผชิญและฟันฝ่าร่วมกัน แต่ความลำเค็ญยากลำบากทั้งหมดนั้นก็เป็นความหวังแห่งความสุขสมบูรณ์และความยิ่งใหญ่ภายภาคหน้า ที่จะมากับการเคลื่อนที่ไปในดินแดนข้างหน้าที่ไม่รู้ว่าจะไกลไปถึงไหน ในทิศตะวันตก

บุกฝ่าไปข้างหน้าได้เท่าใด พรมแดนที่กั้นขวาง (frontier) ก็อยู่ตรงนั้น ความสำเร็จคือการที่จะต้องบุกฝ่าขยายพรมแดนออกไป เพราะฉะนั้นกาลเวลาหลายร้อยปี (๓๐๐ ปี) ต่อจากนั้น จึงเป็นยุคแห่งการเคลื่อนย้ายไปตะวันตก (westward movement; “Go West”12) และการบุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier expansion)

สภาพชีวิตตลอดช่วงเวลานานแสนนานนี้ คือการที่ต้องตื่นตัวคอยระแวดระวังภัย การที่ต้องเร่งรัดขวนขวายแก้ปัญหาอย่างไม่อาจผัดเพี้ยน การเผชิญชะตากรรมร่วมกัน การที่ต้องรวมหมู่สู้ภัยจากชนเผ่าท้องถิ่นคืออินเดียนแดง พร้อมทั้งการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์และความสำเร็จในหมู่พวกเดียวกันเอง ท่ามกลางความหวังต่อความสุขสมบูรณ์ด้วยการบุกฝ่าไปในดินแดนข้างหน้า

ภาวะบีบคั้นและการดิ้นรนต่อสู้เช่นนี้ ได้ปลูกฝังบุคลิกลักษณะ อุปนิสัยและจิตสำนึกที่เป็นเอกลักษณ์ ลงในดวงจิตและวิถีชีวิตของชนชาติอเมริกัน ซึ่งเรียกด้วยคำสั้นๆ ว่า สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน (frontier mentality) หรือบางทีก็เรียกว่า อุดมคติหรือคติบุกฝ่าพรมแดน (ideal or myth of frontier)

คติฟรอนเทียร์นี้ คนอเมริกันภูมิใจนักว่าเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความเจริญก้าวหน้าของชาติตน และมักยกขึ้นอ้างในการปลุกจิตสำนึกเพื่อนร่วมชาติ ในการที่จะบุกฝ่าสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าต่อไป

ตัวอย่างเช่น จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) ก้าวขึ้นสู่ความเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยการปลุกเร้าชาวอเมริกัน ให้ก้าวเข้าสู่ยุค “New Frontier” แห่งการบุกฝ่าพรมแดนใหม่ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา สังคม และเศรษฐกิจ ดังปรากฏผลต่อมา ทั้งการแผ่อิทธิพลออกไปในโลกนี้ และการออกสำรวจกว้างไกลบุกฝ่าไปในอวกาศ

แท้จริงนั้น ชนชาติใหม่คืออเมริกันนี้ มิใช่มาต่อสู้ผจญภัยในโลกใหม่อย่างโดดเดี่ยวและยากเข็ญมากนัก เพราะประเทศแม่ของเขาในยุโรปก็ตามมาปกครองเอาพวกเขาไว้ในอาณานิคม

ระหว่างที่เขาบุกฝ่าพรมแดน มุ่งหน้าตะวันตก ล้างป่าแปลงเป็นเมือง และรบอยู่กับอินเดียนแดงนั้น ประเทศเจ้าอาณานิคมจากยุโรป คืออังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน ก็มาทำสงครามแย่งชิงดินแดนกันบนผืนแผ่นดินอเมริกาด้วย

ชนชาติใหม่นี้ นอกจากรบกับอินเดียนแดงแล้ว ก็ได้ร่วมรบในสงครามระหว่างประเทศเจริญที่เป็นเจ้าอาณานิคมด้วย และในที่สุดเขาก็ทำสงครามปฏิวัติ (American Revolution) ประกาศอิสร-ภาพ (ค.ศ.1776) เป็นเอกราชจากประเทศแม่ได้สำเร็จ

จึงเห็นได้ว่า ความเจริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในยุโรปทุกอย่างก็มาถึงชนชาติใหม่นี้ด้วย โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ชนชาติอเมริกันมีเครื่องมือเครื่องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่พรั่งพร้อม มีกำลังอำนาจเหนือกว่าชนเจ้าถิ่นเดิมคืออินเดียนแดงอย่างมากมาย

หลังจากได้อิสรภาพ พ้นจากความเป็นอาณานิคม ตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นได้แล้ว ชาวอเมริกันก็ยังขยายดินแดนบุกฝ่าตะวันตกทำสงครามกับอินเดียนแดง และสู้รบกับประเทศเจ้าอาณานิคม โดยเฉพาะสเปน ต่อมาอีกนาน

จนในที่สุด ใน ค.ศ.1890 อเมริกันก็ทำสงครามครั้งสุดท้ายในการปราบอินเดียนแดงสำเร็จเสร็จสิ้น และในช่วงระยะเวลาใกล้กันนี้สหรัฐอเมริกาได้ครอบครองแผ่นดินขยายพรมแดนทางตะวันตกมาจนสุดแผ่นดินจดฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว (California ได้เป็นรัฐที่ ๓๑ ใน ค.ศ.1850, Oregon ได้เป็นรัฐที่ ๓๓ ใน ค.ศ. 1859, Washington ได้เป็นรัฐที่ ๔๒ ใน ค.ศ.1889)

อเมริกาจึงมาถึงจุดแห่งประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า จบสิ้นพรมแดน (closing of the frontier)

ถ้านับจุดเริ่มจากปีที่ชาวยุโรปตั้งเมืองแรกในแผ่นดินสหรัฐอเมริกา ก็ได้แก่ ค.ศ.1565 (คือเมือง St. Augustine หรือ San Augustin13 ในรัฐฟลอริดา/Florida ซึ่งพวกสเปนตั้งขึ้น)

ถ้านับจากปีที่ชาวอังกฤษตั้งถิ่นฐานถาวรแห่งแรก ก็ได้แก่ ค.ศ.1607 (คือเมือง Jamestown ในรัฐเวอร์จิเนีย/Virginia ซึ่งพวกพ่อค้าและนักล่าอาณานิคมที่รัฐบาลอังกฤษสนับสนุน ได้มาตั้งขึ้น)

ถ้านับจากปีที่ราษฎรอังกฤษหนีภัยทางศาสนามาได้ที่พึ่งพำนักใหม่แห่งแรก ก็ได้แก่ ค.ศ.1620 (คือปีที่พวกพิลกริมส์/ Pilgrims มาขึ้นฝั่งที่ “อังกฤษใหม่” คือ New England)

นับจากจุดเริ่มที่กล่าวนี้ ชนชาติอเมริกันได้บุกฝ่าพรมแดนเป็นระยะทาง ๓,๐๐๐ ไมล์ (เกินกว่า ๔,๘๐๐ กม.) มุ่งหน้าขยายดินแดนออกมาทางตะวันตก โดยเฉลี่ยปีละ ๑๐ ไมล์ จนมาถึงจุดจบพรมแดนนี้ ใช้เวลาประมาณ ๓๐๐ ปี

ผ่านภูมิหลังแห่งแนวคิดความเชื่อและความใฝ่ฝัน
สู่ความยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดินิยมอเมริกัน

เมื่ออเมริกาได้ครอบครองจบสิ้นพรมแดนสุดฝั่งตะวันตกนั้น มีการเผยแพร่ความคิด ที่ทำให้คนอเมริกันหวาดกลัวว่า ทรัพยากรธรรมชาติในผืนแผ่นดินของตนคงจะร่อยหรอหมดไปในไม่ช้า จำเป็นจะต้องออกหาทรัพยากรจากนอกประเทศ

ประจวบพอดีในช่วงนั้นเอง ก็ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (economic depression) เริ่มแต่ ค.ศ.1893 พวกนักธุรกิจพากันเชื่อว่าอุตสาหกรรมของอเมริกาขยายตัวมากเกินไป ทำให้มีการผลิตสินค้าล้นตลาด เกินความต้องการและความสามารถของลูกค้าในประเทศ ควรจะต้องหาตลาดนอกประเทศเพื่อระบายสินค้าออกไป

แต่ที่สำคัญยิ่งก็คือ ในด้านความคิดความเชื่อ ในช่วงเวลานั้นเอง ทางด้านยุโรปได้เกิดลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) ขึ้น โดยมีนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์อังกฤษชื่อ เฮอร์เบอร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer, 1820-1903) เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งเป็นการนำแนวความคิดแห่งการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) อย่างทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน มาใช้ในทางสังคม

ลัทธิดาร์วินเชิงสังคม ถือว่า ชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ในสังคม ไม่ว่าทางด้านเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตาม เป็นการต่อสู้เพื่อความดำรงอยู่ (struggle for existence) ผู้ที่เข้มแข็งที่สุดจึงจะอยู่รอด (survival of the fittest) หรือพูดง่ายๆ ว่าใครดีใครอยู่

ด้วยกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาตินี้ ผู้ที่อ่อนแอก็จะล้มหายตายไป ผู้ที่แข็งแรงจะอยู่รอดและแกร่งกล้ายิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้มนุษยชาติพัฒนาคุณภาพดียิ่งขึ้น มนุษย์ก็จะวิวัฒนาการผ่านต่อไปได้ จากความเป็นคนป่าเถื่อน (savagery) ขึ้นสู่ความเป็น อนารยชน (barbarism) และมาเป็นอารยชนผู้มีอารยธรรม (civilization) ในที่สุด

โดยกระบวนการนี้ มนุษยชาติก็จะมีความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (idea of inevitable progress)

ด้วยเหตุผลที่ว่านี้ ลัทธิดาร์วินเชิงสังคมจึงส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างสุดแรงสุดกำลัง โดยไม่มีการจำกัดควบคุม (unrestricted competition) และหนุนลัทธิทุนนิยมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา (laissez-faire capitalism) โดยให้มีเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free market economy)

ใครอ่อนแอใครยากจนลงไป จะต้องถูกปล่อยให้ตาย รัฐไม่ควรเข้าไปช่วยเหลือคน ซึ่งจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการของธรรมชาติ ผู้แข่งขันที่เก่งที่สุด จะอยู่รอดประสบความสำเร็จ แล้วประเทศชาติและอารยธรรมก็จะเจริญก้าวหน้า

ลัทธิดาร์วินเชิงสังคม ได้เข้ามาเป็นที่นิยมและมีอิทธิพล อย่างมากในอเมริกา นักสังคมวิทยาอเมริกันชื่อ ซัมเนอร์ (William G. Sumner, 1840-1910) ได้มีบทบาทมากในการเผยแพร่ลัทธินี้ในอเมริกา

แม้แต่ผู้นำศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ (นิกายที่คนอเมริกันส่วนใหญ่นับถือ) ส่วนมากก็พากันยอมรับและปรับความคิดทางศาสนาของตนให้เข้ากับลัทธินี้

พร้อมกันนั้น มหาเศรษฐีอย่าง John D. Rockefeller และ Andrew Carnegie ก็ชื่นชมลัทธินี้เป็นอย่างยิ่ง

ความคิดความเชื่อในลัทธินี้ไปไกลถึงกับเห็นไปว่า เนื่องด้วยมนุษย์ที่แกร่งแข็งที่สุดจึงจะอยู่รอด เพราะฉะนั้น การที่ประเทศที่เข้มแข็งกว่าจะไปครอบครองบังคับประเทศที่อ่อนแอ จึงเป็นการสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ

นายจอห์น ฟิสค์ (John Fiske) คนสำคัญที่นำแนวคิดนี้มาเผยแพร่ในอเมริกา ถึงกับเขียนทำนายไว้ใน ค.ศ.1885 ว่า ชนชาติที่พูดภาษาอังกฤษ จะเข้าครอบครองควบคุมแผ่นดินทุกแห่งที่อารยธรรมยังเข้าไม่ถึง

เขากล่าวว่า ชนชาติผิวขาวชาวอเมริกัน ผู้มีประสบการณ์ในการกำราบชนเผ่าท้องถิ่นของอเมริกา (คือชาวอินเดียนแดง) จะต้องก้าวออกไป (ทำการอย่างเดียวกันนี้) ในโลกส่วนอื่นต่อไป

นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ผู้มีชื่อเสียง ชื่อ Josiah Strong ประกาศว่า ชนเผ่าอังกฤษ (Anglo-Saxon) โดยเฉพาะสายอเมริกัน เป็นผู้ได้รับมอบหมายไว้วางพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้า ให้นำหลักการแห่งเสรีภาพ และศาสนาคริสต์ที่บริสุทธิ์ ออกเผยแผ่ไปให้ทั่วทั้งโลก

นายเบอร์เกสส์ (John W. Burgess) ผู้ก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ถึงกับเขียนแถลงว่า ชนชาติเชื้อสายอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญาชาญฉลาดสูงสุดทางการเมือง มีหน้าที่ที่จะไปยกชนชาติผู้ด้อยทั้งหลายขึ้นมาให้ได้ ถ้าจำเป็นก็จะต้องไปบีบบังคับให้ชนชาติเหล่านั้นยอมรับแบบแผนแห่งชีวิตและสังคมที่สูงประเสริฐกว่า เขาไปไกลถึงกับกล่าวว่า

“ไม่มีสิทธิมนุษยชนสำหรับสถานะแห่งอนารยชน”
“There is no human right to the status of barbarism.”

(“Chapter 20: The Imperial Republic,” Compton’s Encyclopedia of American History, 1994)

คนอเมริกันเกิดความเชื่อในคติที่เรียกว่า “Manifest Destiny” ซึ่งยึดถือว่า ชนชาติอเมริกันมีวิถีแห่งชะตาสังคมที่จะต้องแผ่ขยายอำนาจไปครอบครองอเมริกาเหนือทั่วทวีป และจะต้องออกไปชี้นำให้การศึกษาแก่ชนชาติผู้ด้อยกว่าทั้งหลายในโลกนี้

ด้วยอาศัยหลักการของลัทธิดาร์วินเชิงสังคมตามแนวคิดที่ทั้งนักวิชาการและนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ต่างก็สนับสนุน ดังกล่าวมานี้ สหรัฐก็เข้าสู่ยุคจักรวรรดินิยมอเมริกัน (American imperialism) ซึ่งเป็นการสนองวัตถุประสงค์แห่งแนวคิด ๓ ประการไปพร้อมๆ กัน คือ

๑) การแสวงหาอาณานิคมเพื่อเปิดตลาดระบายสินค้าออกไปในดินแดนห่างไกล (อย่างที่วุฒิสมาชิกบีเวอริดจ์ กล่าวใน ค.ศ.1899 ว่า “เราจะต้องหาตลาดใหม่ให้แก่ผลิตภัณฑ์ของเรา”) พร้อมทั้งเพื่อเป็นแหล่งจัดหาวัตถุดิบมาป้อนโรงงานในประเทศ สนองลัทธิทุนนิยมอุตสาหกรรม (industrial capitalism) กับทั้งการมีกำลังทหาร โดยเฉพาะอำนาจทางทะเลจากฐานทัพเรือที่เข้มแข็ง ไว้เป็นหลักประกันในการป้องกันเส้นทางการค้าและพิทักษ์รักษาอาณานิคม

๒) ส่งเสริมเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free market economy) ให้มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ตามลัทธิทุนนิยมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา (laissez-faire capitalism) ในลักษณะที่ว่า ใครดีใครอยู่ และใครแข็งแรงกว่าก็มีสิทธิเข้าควบคุมครอบงำ

๓) นำเอาวิถีชีวิต วัฒนธรรม สถาบัน แนวคิด ลัทธิความเชื่อ และศาสนาคริสต์ ซึ่งชาวตะวันตกถือว่าเป็นของอารยชนผู้ประเสริฐกว่า ไปให้หรือบังคับให้ แก่ชนชาติที่ล้าหลัง ห่างไกลความเจริญ เป็นอนารยชน

หลังจากส่งนายพลเปอร์รีนำเรือรบไปบีบบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศติดต่อค้าขายด้วยใน ค.ศ. 1853-4 แล้ว สหรัฐอเมริกาก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจในแถบเอเชียตะวันออกขึ้นมาคู่เคียงกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย

แต่ยุคจักรวรรดินิยมอเมริกันถือว่าเริ่มต้นเมื่อสหรัฐใช้กำลังทัพขับไล่สเปนออกจากคิวบาในเดือนเมษายน ค.ศ.1898 ต่อจากนั้น พอถึงเดือนตุลาคม วันที่ ๑๘ สหรัฐก็ยึดเปอโตริโกจากสเปนได้

ในปี 1898 นั้นเช่นเดียวกัน สเปนก็ถูกบังคับให้ขายฟิลิปปินส์แก่อเมริกาในราคา ๒๐ ล้านเหรียญ อีกด้านหนึ่ง ณ วันที่ ๗ กรกฎาคม หมู่เกาะฮาไว ได้ถูกผนวกเข้าในจักรวรรดิอเมริกา

ทั้งหมดนี้สำเร็จเสร็จสิ้นภายในเวลาปีเดียวแห่ง ค.ศ.1898 และนับแต่นั้นมา สหรัฐอเมริกาก็กลายเป็นมหาอำนาจสำคัญในย่านมหาสมุทรแปซิฟิก

พึงทราบว่า ต่อมาชาวอเมริกัน และชาวตะวันตกโดยทั่วไป ได้เสื่อมความนิยมในลัทธิดาร์วินเชิงสังคม เนื่องจากมองเห็นว่าเป็นแนวคิดที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของลัทธินาซี (Nazism) ที่นำแนวคิดนี้ไปอ้างในการทำสงครามเพื่อเชิดชูเผ่าอารยัน

อีกทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เจริญมากขึ้นในเวลาต่อมา ก็ไม่สนับสนุนหลักความคิดของลัทธินี้

แต่กระนั้นก็ตาม แนวคิด ความเชื่อ ค่านิยม และลักษณะนิสัยจิตใจ ที่ลัทธินี้สนับสนุน ก็ยังคงฝังลึกอยู่ในชีวิตจิตใจของคนอเมริกัน และเป็นที่ถนอมเชิดชูของชนชาตินี้ หรือยังครอบงำวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอเมริกัน ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

การแข่งขัน (competition) เสรีภาพในการดิ้นรนต่อสู้ (freedom to struggle) การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว (self-interest) ลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) รวมทั้งปัจเจกนิยมทางเศรษฐกิจที่เชิดชูความฝักใฝ่ในผลประโยชน์ส่วนตน (individual acquisitiveness) ความนิยมลักษณะก้าวร้าว (aggressiveness) เป็นตัวอย่างของคตินิยมที่ว่านั้น

แม้คติวัตถุนิยมของชาวอเมริกัน ที่เรียกว่า “ฝันอเมริกัน” (American dream) ซึ่งเชิดชูการใฝ่แสวงความสำเร็จ (pursuit of success) การแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวย (acquisition of wealth) และความรุ่งเรืองทางวัตถุ (material prosperity) โดยมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ก็เกิดจากการสะสมในภูมิหลังทางวัฒนธรรมตามแนวทางเดียวกันนี้

พึงสังเกตว่า แนวคิดตามลัทธิดาร์วินเชิงสังคมที่เชื่อว่า ชนชาติที่เข้มแข็งควรจะไปปกครองบังคับชนชาติที่อ่อนแอนั้น ดูจะขัดกับอุดมคติแห่งความเป็นอิสระเสรี (ideal of freedom) ของอเมริกันเอง

พอดีว่าใน ค.ศ.1865 คือ ๒๐ ปี ก่อนที่นาย Fiske จะเผยแพร่แนวคิดนี้ รัฐสภาอเมริกันได้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลิกทาสไปเสียแล้ว หลังจากที่ได้เกิดสงครามกลางเมือง (American Civil War) ในเรื่องการค้าขายครอบครองทาส ซึ่งรบกันอยู่หลายปี (1861-1865)

ถ้ายังไม่เลิกทาส คนอเมริกันก็คงยกเอาคติตามลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนี้มาใช้เป็นข้ออ้างในการครอบครองบังคับทาสด้วย เช่นเดียวกับที่ใช้อ้างในการกำจัดและจำกัดอินเดียนแดง และแผ่จักรวรรดินิยมอย่างที่กล่าวข้างต้น

การค้าขายและครอบครองทาส ที่คนผิวขาวจับคนผิวดำจากอาฟริกามาเป็นแรงงานในอเมริกานั้น เริ่มต้นตั้งแต่ ประมาณ ค.ศ.1619 กว่าจะเลิกได้ก็นานเกือบ ๒๕๐ ปี และกลายเป็นบาดแผลทางสังคมและในจิตใจของคนอเมริกัน

บาดแผลนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกผิดหรือเป็นบาป แก่คนอเมริกันผิวขาวรุ่นหลังๆ ที่ระลึกด้วยความขมขื่นถึงภาวะทาสในชาติเสรี (slavery in a “free” nation) และปัญหาความแตกแยกเหยียดผิวระหว่างขาวกับดำ ที่ฝังรากลึกในสังคมอเมริกันอย่างแก้ไม่ตกมาจนปัจจุบัน (racial discrimination; segregation)

ย้ายจากความขัดแย้งทางลัทธินิกายศาสนา สู่ความขัดแย้งผลประโยชน์
ลัทธิอาณานิคมนำโลกสู่สงครามใหญ่ ที่เปลี่ยนโฉมหน้าโลกใหม่

ดังได้กล่าวแล้วว่า เมื่อสิ้นสมัยกลางของยุโรปแล้ว อำนาจยิ่งใหญ่ของวาติกัน คือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกก็เสื่อมลง และเมื่อศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้น ก็เป็นเครื่องตัดสินการสิ้นสุดอำนาจที่ครอบคลุมทั่วทั้งยุโรป ของนิกายโรมันคาทอลิกนั้น

ต่อมา เมื่อสงครามศาสนาที่เรียกว่า สงคราม ๓๐ ปี (Thirty Years' War, 1618-1648/พ.ศ.๒๑๖๑-๒๑๙๑) ระหว่างกลุ่มประเทศโปรเตสแตนต์กับกลุ่มประเทศคาทอลิกสิ้นสุดลง อำนาจทางการเมืองในยุโรปก็กลายเป็นเรื่องของผู้ปกครองฝ่ายบ้านเมืองของประเทศนั้นๆ องค์กรศาสนาคริสต์เหมือนกับถอยห่างออกไปจากวงการเมืองระหว่างประเทศ

พร้อมกันนั้น ความตื่นตัวทางปัญญาที่สืบมาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูวิทยาการหรือยุคคืนชีพ (Renaissance) ต่อด้วยกระแสความนิยมวิทยาศาสตร์ ที่ยิ่งทวีขึ้นๆ ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ตั้งแต่ประมาณ ค.ศ.1750) ก็ยิ่งทำให้ประชาชนเหินห่างจากศาสนาคริสต์ออกไป อิทธิพลของศาสนาคริสต์ก็ยิ่งลดน้อยลง

ในเวลาเดียวกัน การที่อุตสาหกรรมเจริญขึ้น ก็ได้เป็นเหตุให้ลัทธิอาณานิคมก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่ด้วย เพราะประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลายต้องเร่งแสวงหาอาณานิคมและระดมกำลังในการจัดการกับประเทศอาณานิคมมากขึ้น เพื่อใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบที่จะป้อนโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้แก่เมืองอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้เป็นตลาดระบายสินค้าสนองระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม

นอกจากนั้น เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งด้านการขนส่งสื่อสาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ก็ทำให้ประเทศเจ้าอาณานิคมสามารถปราบปรามและบังคับควบคุมพวกชนเจ้าถิ่นในดินแดนอาณานิคมทั้งหลาย ด้วยกำลังที่เหนือกว่า อย่างไม่อาจทัดทานขัดขืนได้

ท่ามกลางภาวะเช่นนี้ บาทหลวงและนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์กลับเป็นฝ่ายที่อาศัยความเจริญสมัยใหม่ออกไปเผยแพร่ศาสนาของตน จนปรากฏภาพออกมาว่า งานเผยแพร่ศาสนาคริสต์ (missionary work) ดำเนินไปควบคู่กับการแผ่ขยายลัทธิอาณานิคม (colonialism)

บางแห่งงานเผยแพร่ศาสนาคริสต์ก็ไปนำทางให้แก่งานยึดครองอาณานิคม บางแห่งก็ทำควบคู่กันไป บางแห่งนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ก็ช่วยผ่อนเบาความโหดร้ายทารุณของผู้ปกครองอาณานิคม

ระหว่างนี้ ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์และการแข่งอำนาจกันระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ก็ขยายเวทีตามลัทธิอาณานิคมออกไป เนื่องจากดินแดนที่เป็นอาณานิคมเหล่านี้อยู่ห่างไกลอย่างที่เรียกว่า “โพ้นทะเล”

การล่าเมืองขึ้นยุคนั้นใช้การเดินทางทางทะเลแทบทั้งสิ้น แม้แต่ที่ข้ามทวีปไปถึงอเมริกา ก็เพราะสาเหตุเดียวกัน คือ เพราะบนผืนแผ่นดินต่อจากยุโรปไปทางตะวันออก มีอาณาจักรมุสลิมที่เข้มแข็งยิ่งใหญ่ขวางกั้นอยู่ คือ อาณาจักรของพวกเตอร์กส์ โดยเฉพาะจักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman Empire) ที่เรืองอำนาจมากตั้งแต่ ค.ศ.1300 เป็นต้นมา

ประเทศเจ้าอาณานิคมในยุโรป นอกจากสู้รบทำสงครามกันเอง และปราบคนเจ้าถิ่นในอาณานิคมแล้ว ก็ต้องทำศึกสงครามกับอาณาจักรมุสลิมนี้เป็นระยะๆ ตลอดมา

สาเหตุแห่งความขัดแย้งและสงครามได้เปลี่ยนไป ปัญหาความเชื่อถือและลัทธินิกายในหมู่ชาวคริสต์ด้วยกันเอง ค่อยๆ หมดความสำคัญลงไป และไม่เป็นเหตุให้ต้องทำสงคราม แต่สงครามยุคใหม่เป็นเรื่องของการขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์และความหวาดระแวงแข่งอำนาจความยิ่งใหญ่ระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็มีปัญหาความแตกต่างในด้านลัทธิความเชื่อถือเข้ามาเป็นเหตุของความขัดแย้งและสงครามนี้ด้วย แต่ไม่ใช่ลัทธิความเชื่อถือทางศาสนา หากเปลี่ยนไปเป็นลัทธินิยมอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมือง

ในที่สุด ความเจริญก้าวหน้าที่นำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลและกำลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ ก็นำไปสู่การขัดแย้งและสงครามที่ก่อความพินาศทำลายล้างหมู่มนุษย์ในขอบเขตที่กว้างขวาง และมีขีดระดับความรุนแรงยิ่งอย่างไม่เคยมีมาก่อน คือสงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒

สงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นใน ค.ศ.1914 ณ วันที่ ๒๘ เดือนกรกฎาคม โดยมีสาเหตุสำคัญคือการแข่งขันในการเป็นเจ้าอาณานิคมและการแย่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความกลัวต่อการขยายอาณานิคมของเยอรมัน กับทั้งมีความรู้สึกชาตินิยมรุนแรงขึ้น พร้อมด้วยความตึงเครียดในการจับกลุ่มขั้วทางการเมือง และการแข่งกันสร้างสะสมอาวุธ

คู่สงคราม ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied Powers) มีอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น และเซอร์เบีย (ต่อมา อิตาลี โปรตุเกสและโรมาเนีย สหรัฐ และกรีกก็เข้าร่วม) กับฝ่ายอำนาจกลาง (Central Powers) ได้แก่ เยอรมนี จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เตอรกี (จักรวรรดิออตโตมาน ที่กำลังเสื่อมอำนาจ) และบุลกาเรีย นอกจากนี้ยังมีประเทศเล็กประเทศน้อยอื่นอีก รวมทั้งหมด ๒๘ ชาติ โดยสนามรบส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและตะวันออกกลาง

เนื่องจากในการสงครามนั้น รัสเซียรบแพ้บ่อยๆ และทหารตายมากมาย อีกทั้งในเมืองหลวงก็มีกรณีรัสปูติน (Rasputin) ที่ทำให้การบริหารประเทศระส่ำระสาย จึงทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจในพระเจ้าซาร์นิโคลาส

ในที่สุดก็เกิดการปฏิวัติของรัสเซีย (Russian Revolution) ขึ้นในเดือนมีนาคม 1917 ทำให้ระบบกษัตริย์สิ้นสุดลง และต่อมาปลายปีนั้นเอง (เดือน พฤศจิกายน) พวกบอลเชวิกส์ (Bolsheviks) ก็ยึดอำนาจได้ เปลี่ยนประเทศรัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วถอนตัวออกจากสงคราม ในเดือนมีนาคม 1918

ระหว่างที่คู่สงครามสองฝ่ายผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่ อเมริกาซึ่งได้รับความเสียหายจากการโจมตีของเรือใต้น้ำของเยอรมัน ก็สละความเป็นกลาง ประกาศสงครามกับเยอรมนีในเดือนเมษายน 1917

อเมริกาได้เตรียมกำลังทหารไว้ ๔ ล้านคน แล้วส่งมาหนุนฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างรวดเร็ว เพียงแค่เดือนกันยายน 1918 ก็ส่งมาแล้ว ๑.๒ ล้านคน ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรก้าวไปสู่ชัยชนะ โดยฝ่ายอำนาจกลางมีเยอรมนีเป็นต้นพ่ายแพ้ ยุติสงครามในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918

ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ นี้ ความสูญเสียเฉพาะชีวิตมนุษย์อย่างเดียวก็มากมาย คนตายทั้งหมด ๑๔ ล้านคนเศษ (ทหารตายในสมรภูมิ ๘ ล้านคนเศษ พลเรือนตายประมาณ ๖.๖ ล้านคน) แยกเป็น
- ฝ่ายสัมพันธมิตร ตาย ๘ ล้านคน (ทหาร ๔.๙ ล้านคน พลเมือง ๓.๑ ล้านคน) และ
- ฝ่ายอำนาจกลาง ตาย ๖.๖ ล้านคน (ทหาร ๓.๑ ล้านคน พลเรือน ๓.๕ ล้านคน)

โดยเฉพาะประเทศที่ชีวิตคนสูญเสียมากที่สุด คือ รัสเซีย ซึ่งประชากรเสียชีวิตประมาณ ๓.๗ ล้านคน (ทหาร ๑.๗ ล้านคน พลเรือน ๒ ล้านคน)

สงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้ราชวงศ์ใหญ่จบสิ้นลง ๔ ราชวงศ์ คือ ในเยอรมนี รัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการี และเตอรกี ทำให้จักรวรรดิล่มสลายลง ๒ คือ จักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman Empire) ที่มีอายุประมาณ ๖๐๐ ปี และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (หรือ จักรวรรดิฮับสเบอร์ก/Habsburg Empire)

ประเทศผู้ชนะ โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ได้นำเอาดินแดนอาณานิคมของเยอรมัน และดินแดนของจักรวรรดิออตโตมานมาแบ่งกัน

ส่วนอเมริกา เมื่อเสร็จสงครามแล้ว ก็หันกลับไปถือนโยบายแยกตัวโดดเดี่ยว (isolationist policy) คือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของยุโรป

เมื่อจักรวรรดิออตโตมานล่มสลายแล้ว เคมาล อะตาเตอร์กส์ (Kemal Ataturk) ได้รวบรวมดินแดนส่วนหนึ่งตั้งเป็นสาธารณรัฐเตอรกี (Turkish Republic) ในวันที่ 29 ตุลาคม 1923

ในสนธิสัญญาแวร์ซายลส์ (Treaty of Versailles) ซึ่งเป็นสัญญาสันติภาพระหว่างสัมพันธมิตร กับประเทศผู้แพ้ (ลงนาม 28 มิถุนายน 1919) ความเคียดแค้นผูกเวรต่อเยอรมัน ได้ทำให้ประเทศผู้ชนะ โดยเฉพาะฝรั่งเศส พยายามกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นการบีบคั้นจำกัดกีดกั้นและลงโทษเยอรมันเป็นอย่างมากและรุนแรง

ต่อมา ความขมขื่นของชาวเยอรมันต่อความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ นี้ ผสมกับความเคียดแค้นต่อเงื่อนไขข้อกำหนดที่บีบคั้นกลั่นแกล้งของสนธิสัญญาแวร์ซายลส์ ก็หนุนให้เยอรมันปรารถนาความมีอำนาจที่จะแสดงความยิ่งใหญ่ของตน และเปิดช่องให้ฮิตเลอร์ก้าวเด่นขึ้นมา จนเกิดระบบเผด็จการทหารที่นำหมู่มนุษย์เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒

สงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงเหมือนกับเป็นเพียงการรื้อฟื้นกรณีพิพาทที่ยังไม่ยุติขึ้นมาทะเลาะกันต่อ หลังจากหยุดพักอย่างอึดอัดกันมา ๒๐ ปี และสันนิบาตชาติ (League of Nations) ซึ่งตั้งขึ้นมาตามสนธิสัญญาแวร์ซายลส์ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

การแข่งอำนาจ แย่งชิงผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่
ทำให้โลกแทบถล่มทลาย ลัทธิอาณานิคมเองก็ล่มสลาย เกิดระบบอำนาจใหม่

สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มต้น ณ วันที่ 1 กันยายน 1939 เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ และสิ้นสุด ในวันที่ 2 กันยายน 1945 เมื่อญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้บนเรือรบมิสซูรี (Missouri) ของอเมริกัน ในอ่าวโตเกียว

ฝ่ายชนะ คือ สัมพันธมิตร (Allies) ประกอบด้วยอังกฤษ (พร้อมทั้งเครือจักรภพ) ฝรั่งเศส สหรัฐ สหภาพโซเวียต และจีน

ฝ่ายแพ้ คือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่า ฝ่ายอักษะ (Axis Powers)

นอกจากนี้ยังมีประเทศเล็กประเทศน้อยเข้าร่วมด้วยอีกจำนวนมาก

ในสงครามครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกับครั้งก่อน สหรัฐเข้าร่วมสงครามภายหลัง คือเมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรืออเมริกันที่อ่าวเพอร์ล (Pearl Harbor) รัฐฮาไว ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 แล้ว อเมริกาจึงประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ ในวันที่ 14 ธันวาคม 1941

ส่วนสหภาพโซเวียตก็เข้าร่วมสงครามก่อนอเมริกาเพียงไม่กี่เดือน คือในวันที่ 22 มิถุนายน 1941

แต่ฝ่ายอักษะก็ยังเป็นต่อมาอีกนาน จนถึงปลาย ค.ศ. 1942 ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มเป็นฝ่ายรุก จนกระทั่งเยอรมันยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ในวันที่ 7 พฤษภาคม 1945

ส่วนอีกด้านหนึ่ง เมื่ออเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณู ที่ฮิโรชิมา (6 สิงหาคม 1945) เมืองเรียบราบ คนตายไป ๑๓๐,๐๐๐ คน และนางาซากิ (9 สิงหาคม 1945) คนตายไป ๗๕,๐๐๐ คนแล้ว ญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้ในวันที่ 14 สิงหาคม 1945

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ ลัทธิชาตินิยมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการถือชาติพันธุ์ ที่ทำให้ฮิตเลอร์ผู้มุ่งจะเชิดชูเผ่าอารยัน (Aryan race) ทำการฆ่าล้างโคตร (holocaust) สังหารชาวยิวในค่ายมรณะ (death camps หรือ extermination camps หรือ concentration camps) ไปกว่า ๖ ล้านคน

ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ การสงครามทางอากาศได้เข้ามามีบทบาทโดดเด่น และมีการใช้กลยุทธ์ทิ้งระเบิดแบบกวาดทั่วบริเวณ (area bombing) โดยจงใจทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยในตัวเมือง ซึ่งเป็นการทำสงครามกับพลเรือน และได้เป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก

อังกฤษได้เน้นให้มุ่งใช้กลยุทธ์นี้กับเยอรมัน โดยมีการคาดว่า จะทำให้ประชากรเยอรมัน ๑ ใน ๓ ของทั้งประเทศไร้ที่อยู่ภายใน ๑๕ เดือน ปฏิบัติการจริงที่เกิดขึ้น เช่น ที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ประชาชนเสียชีวิต ๔๐,๐๐๐ คน ไร้ที่อยู่อาศัยล้านคน

ที่เบอร์ลิน (ในช่วง พฤศจิกายน 1943 - มีนาคม 1944) เครื่องบินอังกฤษโจมตี ๒๐,๒๒๔ เที่ยวบิน แก้แค้นเยอรมัน โดยก่อความเสียหายแก่เบอร์ลินมากกว่าที่ทัพอากาศเยอรมันได้ทำแก่ลอนดอนมากมายหลายเท่า

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กองทัพอากาศสหรัฐโจมตีกรุงโตเกียวด้วยระเบิดนาปาล์ม (napalm) ในวันที่ 9-10 มีนาคม 1945 คืนเดียว ทำลายเมืองหมดไป ๑ ใน ๔ พลเรือนตาย ๘๐,๐๐๐ ไร้ที่อยู่อาศัยล้านคน

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้คนสูญเสียชีวิตมาก ประมาณว่าตายถึง ๕๐ ล้านคน (ตำราทั้งหลายให้ตัวเลขต่างกัน ตั้งแต่ ๔๐ ถึง ๖๔ ล้านคน) แยกเป็น
- ทหารตาย ๑๕ ล้านคน และ
- พลเรือนตาย ๓๕ ล้านคน รวมทั้งยิวที่ถูกฆ่าในค่ายมรณะ (extermination camps) ของนาซี ๔-๖ ล้านคน

ประเทศที่สูญเสียประชากรมากที่สุดคือ สหภาพโซเวียต ซึ่งพลเมืองล้มหายตายไปประมาณ ๒๐ ล้านคน (ทหารตาย ๗.๕ ล้านคน)

ถือเป็นสงครามครั้งแรกที่พลเรือนเสียชีวิตมากกว่าทหารที่ไปรบอย่างมากมาย

พร้อมกันนี้ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นความเจริญก้าวหน้าในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งบทบาทของอุตสาหกรรม ในด้านการทำลาย ว่าสามารถก่อความพินาศได้ร้ายแรงเพียงใด

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศในยุโรปที่เคยเป็นมหาอำนาจ ก็สิ้นสภาพความยิ่งใหญ่ ฝรั่งเศสก็หมดฐานะความเป็นผู้นำ อังกฤษประเทศเจ้าทุนใหญ่ แม้จะพ้นจากการเป็นสนามรบ แต่ในด้านเศรษฐกิจก็ได้ตกเป็นลูกหนี้ใหญ่ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

ยิ่งกว่านั้น หลังสงครามโลกแล้ว ประเทศอาณานิคมทั้งหลายก็ตื่นตัวพากันพยายามกู้อิสรภาพ อาณานิคมก็ค่อยๆ หมดไป

พูดคร่าวๆ ว่า ระบบอาณานิคม (colonialism) ได้หมดสิ้นไปภายใน ๓๐ ปี ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๗๕

เมื่อแหล่งทรัพยากรสำคัญหมดไป ประเทศในยุโรปที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมทั้งหมด ก็สูญสิ้นอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมไปกับการสิ้นสุดแห่งยุคอาณานิคม

เมื่อประเทศใหญ่ในยุโรปอ่อนเปลี้ยหมดกำลังอย่างนี้ ประเทศที่ปรากฏเด่นเป็นเจ้าใหญ่ในเวทีโลกจึงมีเพียง ๒ ประเทศ คือสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา

ความขัดแย้งผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่
กลับมาประสานกับความขัดแย้งทางลัทธินิยมอุดมการณ์

พอสงครามสิ้นสุดลง ขณะที่ประเทศซึ่งเป็นแกนนำของสงครามกำลังบอบช้ำอยู่ สหภาพโซเวียตก็เริ่มแผ่อิทธิพลขยายอำนาจออกไป ซึ่งหมายถึงการแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสม์นั่นเอง

ดินแดนที่รัสเซียสูญเสียไป สืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ช่วง 1919-1921) ก็ได้คืนมา ประเทศในยุโรปตะวันออกก็กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ หรืออยู่ในข่ายอำนาจของสหภาพโซเวียต จนกระทั่งคอมมิวนิสต์ได้คุมอำนาจในยุโรปภาคกลางและภาคตะวันออกเกือบทั้งหมด

สหภาพโซเวียตดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของตนโดยไม่ยอมร่วมมือหรือรับฟังประเทศอื่นๆ ในยุโรป และแม้แต่สหประชาชาติ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น (๕๐ ประเทศลงนามรับรองกฎบัตรที่เมืองซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 1945 และมีผลบังคับในวันที่ 24 ตุลาคม 1945) เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาเศรษฐกิจ

ด้วยความหวาดกลัวต่อการแผ่ขยายอำนาจของโซเวียต ซึ่งหมายถึงการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสม์ และการเข้ามาควบคุมจัดการกับยุโรปตะวันออก สหรัฐก็เลิกนโยบายที่แยกตัวโดดเดี่ยวจากยุโรป แล้วเข้ามาในเวทีการเมืองระหว่างประเทศของยุโรป

ดังปรากฏว่าใน ค.ศ.1947 สหรัฐได้ประกาศหลักการทรูแมน (Truman Doctrine) ซึ่งมุ่งล้อมจำกัดการขยายอำนาจของโซเวียต แล้วต่อมาก็เสนอแผนการมาร์แชลล์ (Marshall Plan) เพื่อช่วยให้ ยุโรปฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ต่อมาความขัดแย้งที่สหรัฐต้องเข้าเกี่ยวข้องก็ยิ่งมากขึ้น เช่น โซเวียตได้ทำการต่างๆ ในการปิดกั้นขัดขวาง เพื่อให้สัมพันธมิตรสละเยอรมนี

การขึ้นสู่ความเป็นอภิมหาอำนาจ และการเผชิญหน้ากันระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา ได้ทำให้ยุโรปแบ่งเป็นตะวันตกกับตะวันออกอย่างชัดเจน

ยุโรปตะวันตกได้รับความช่วยเหลือตามแผนการมาร์แชลล์อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ ส่วนยุโรปตะวันออกก็มีระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ภายใต้อาณัติของโซเวียต

การขัดแย้งแข่งขันชิงชัยกันดำเนินไปในภาวะที่เรียกว่า สงครามเย็น (Cold War) ระหว่างโลกสองค่าย คือ คอมมิวนิสต์กับเสรีประชาธิปไตย ซึ่งขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นมาก ในช่วง ค.ศ. 1948 -1953

การสู้รบกันระหว่างประเทศทั้งหลายในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น นอกจากเป็นการแข่งอำนาจแย่งชิงความเป็นใหญ่ (มานะ) และการหวงแหนแก่งแย่งผลประโยชน์ (ตัณหา) กันแล้ว ก็ได้มีเรื่องของลัทธินิยมอุดมการณ์ (ทิฏฐิ) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ดังที่เมื่อมองในแง่นี้ สงครามในยุโรปก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างลัทธิประชาธิปไตย (democracy) ลัทธินาซี (Nazism) และ ลัทธิคอมมิวนิสม์ (Communism)

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง และลัทธินาซีก็จบสิ้นไปด้วยแล้ว การขัดแย้งใหม่ก็เริ่มขึ้น และเกิดเป็นสงครามเย็น (Cold War) ระหว่างโลก ๒ ค่าย คือ เสรีประชาธิปไตย กับ สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ดังได้กล่าวแล้ว

ทั้งนี้จุดเด่นที่สำคัญคือ คราวนี้ ความขัดแย้งในด้านลัทธินิยมอุดมการณ์ (ทิฏฐิ) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวชู ส่วนการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ (มานะ) และแย่งชิงผลประโยชน์ (ตัณหา) แม้จะยังมีความสำคัญมาก แต่ก็กลายเป็นปัจจัยแฝงเร้นหรือเป็นตัวประกอบไป

อนึ่ง ในแง่ลัทธินิยมอุดมการณ์ (ทิฏฐิ) นั้นเอง ความเชื่อถือในลัทธิศาสนา ซึ่งเคยเป็นตัวชูที่ผลักดันสงครามและความรุนแรงในความขัดแย้งของยุคก่อนๆ ในยุโรป และระหว่างยุโรปกับตะวันออกกลาง ได้ลดความสำคัญลงไป จนแทบจะหมดความหมาย

ส่วนลัทธินิยมในด้านการถือพงศ์เผ่าหรือชาติพันธุ์ (racism) ก็ลดความสำคัญลงเช่นเดียวกัน โดยเป็นปัจจัยแฝงเร้นที่พร้อมจะรุนแรงระเบิดขึ้นมาได้ต่อไป

ต่อจากสนามขับเคี่ยวในยุโรป การต่อสู้ก็ขยายมาทางเอเชียด้วย ในปี 1949 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ฝ่ายสัมพันธมิตรรวมดินแดนเยอรมันในความยึดครองของตน ตั้งเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany) หรือเยอรมันตะวันตก และฝ่ายคอมมิวนิสต์ตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Republic) หรือเยอรมันตะวันออก

ในปีเดียวกันนั้นเอง คอมมิวนิสต์ซึ่งรบชนะในจีน ก็ตั้งประเทศจีนเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Republic of China) และในปีต่อมา จีนก็หนุนเกาหลีเหนือเข้ารบกับเกาหลีใต้

อเมริกาพร้อมด้วยประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติก็เข้าช่วยเกาหลีใต้ เกิดสงครามเกาหลีตั้งแต่ 25 มิถุนายน 1950 จนมาเซ็นสัญญาสงบศึก ณ 27 กรกฎาคม 1953

ชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในจีน และสงครามเกาหลี ได้เป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายต่อสู้ป้องกันอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในเอเชียอย่างเต็มที่ และเพราะเหตุที่ญี่ปุ่นก็หมดอำนาจไปแล้วจากการแพ้สงครามโลก อิทธิพลทั้งทางการเมืองและการทหารของอเมริกาก็แผ่ขยายออกไปในเอเชีย

ต่อมา สหรัฐก็ได้ทุ่มเทกำลังทรัพย์และกำลังทางทหารเป็นอันมาก เพื่อป้องกันไม่ให้คอมมิวนิสต์เข้าครองอำนาจในอินโดจีน เนื่องจากว่า เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามอินโดจีน (1945-1954) และเวียดนามได้ถูกแบ่งแยกเป็นเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ในปี 1954 แล้ว กองโจรคอมมิวนิสต์เวียดกงก็ได้พยายามยึดอำนาจในเวียดนามใต้เรื่อยมา

สหรัฐได้เข้าช่วยรัฐบาลเวียดนามใต้ตั้งแต่ปี 1961 แต่ในที่สุด คอมมิวนิสต์ก็เป็นฝ่ายชนะ โดยได้เข้ายึดเวียดนามใต้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 1975 แล้วรวมเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้เป็นประเทศเดียวกัน ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ (รวมเป็นทางการในปี 1976)

การรบระหว่างเวียดกงและเวียดนามเหนือ กับเวียดนามใต้และอเมริกา ได้ทำให้เกิดความพินาศสูญเสียอย่างมากมาย คนอเมริกันตายไป ๕๘,๐๐๐ คน บาดเจ็บ ๓ แสน ๓ พันคน ทหารเวียดนามใต้ตายประมาณ ๒ แสนคน บาดเจ็บประมาณ ๕ แสนคน ทหารเวียดนามเหนือและเวียดกงตายประมาณ ๙ แสนคน พลเรือนเวียดนามเหนือ-ใต้ตายกว่า ๑ ล้านคน

อเมริกาใช้จ่ายเงินไป ๓ เท่าของค่าใช้จ่ายในการทิ้งระเบิดทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่ ๒ คิดเป็นจำนวนเงินได้เกินกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ล้านดอลล่าร์

ในระยะใกล้เคียงกันนั้น คอมมิวนิสต์ก็ยึดพนมเปญได้ ในวันที่ 17 เมษายน 1975 และประเทศกัมพูชาก็เปลี่ยนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ เรียกว่า “กัมพูชาประชาธิปไตย” (Democratic Kampuchea)

จากนั้นอีก ๔ เดือน คอมมิวนิสต์ประเทศลาวก็เข้าปลดปล่อยเมืองเวียงจันทน์ได้ในวันที่ 23 สิงหาคม 1975 และตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People’s Democratic Republic) ขึ้นในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น

ในประเทศเขมร นายพอลพต ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย ได้ดำเนินการที่จะเปลี่ยนประเทศกัมพูชาเสียใหม่ ให้เป็นไปตามคติแห่งลัทธิมาร์กซิสม์

ด้วยความคลั่งไคล้ในลัทธินิยมอุดมการณ์นั้น นายพอลพตได้สังหารคนเขมรที่มีการศึกษาและมีความรู้ความสามารถเสียเกือบทั้งหมด และบังคับคนในเมืองให้ออกไปหักร้างถางพงทำการเกษตรในชนบท เป็นเหตุให้คนเขมรล้มตายไปประมาณ ๒ ล้านคน (บางแห่งว่า ๑ ล้านคน บางแห่งว่า ๑.๕ ล้านคน) รวมทั้งพระภิกษุประมาณ ๘๐,๐๐๐ รูป ทำให้เขมรสูญเสียกำลังคนระดับสมองและฝีมือไปทั้งหมด

จนกระทั่งเมื่อเขาครองอำนาจได้ ๔ ปี พอถึงปี 1979 กองทัพเวียดนามก็ได้เข้ามาขับไล่เขมรแดงออกไป และตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น แล้วดำเนินงานฟื้นฟูด้านต่างๆ รวมทั้งตั้งคณะสงฆ์เขมรขึ้นใหม่ด้วย แต่ก็ทำได้ยาก เพราะขาดแคลนกำลังคน

กรณีของนายพอลพต (อุดมการณ์ หรือทิฏฐิ ด้านลัทธิเศรษฐกิจ และการเมือง) และกรณีของฮิตเลอร์ (อุดมการณ์ หรือทิฏฐิ ด้านลัทธินิยมชาติพันธุ์) เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การยืดถือลัทธินิยมอุดมการณ์ต่างๆ หรือทิฏฐินั้น อาจก่อภัยพิบัติได้รุนแรงยิ่งกว่าการแย่งชิงผลประโยชน์ด้วยตัณหา และการแก่งแย่งอำนาจความยิ่งใหญ่ด้วยมานะเสียอีก

ทั้งนี้เพราะว่า ผลประโยชน์และอำนาจอยู่นอกตัวคน ถ้าเขาได้ผลประโยชน์หรืออำนาจนั้นแล้ว และถ้าตัวคนไม่เป็นเครื่องขวางกั้นผลประโยชน์หรืออำนาจของเขา เขาก็ไม่จำเป็นต้องกำจัด แต่ทิฏฐิ หรือลัทธินิยมนั้น อยู่ในตัวคน ถ้าเขาไม่เปิดใจกว้าง ก็จะต้องกำจัดตัวคนที่มีทิฏฐิไม่เหมือนกับเขานั้นเสียเลยทีเดียว

หลังเวทีแข่งขัน ของมหาอำนาจ ๒ ค่ายอุดมการณ์
ระบบอุตสาหกรรมกำหนดสถานะความสัมพันธ์ในโลก

หลังจากความล้มเหลวในการที่จะป้องกันคอมมิวนิสต์ไม่ให้เข้าครองอำนาจในอินโดจีนแล้ว สหรัฐก็เริ่มเปลี่ยนบทบาทของตนในเอเชียเสียใหม่ โดยเฉพาะ คือ เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับประเทศจีน โดยหันไปรับรองรัฐบาลปักกิ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1979 ขณะที่ทางฝ่ายจีนก็มีความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตในทางเสื่อมทรามลง

ความเป็นไปเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า เมื่อกำลังความยึดถือลัทธินิยมอุดมการณ์เบาลง ความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์และอำนาจก็เข้ามามีบทบาทได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า เมื่อความแตกต่างในด้านลัทธิอุดมการณ์ยังมีอยู่ ความสัมพันธ์นั้นก็แฝงความไม่ไว้วางใจอยู่ด้วยภายใน

ในด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศในยุโรปบอบช้ำอยู่ และต้องฟื้นฟูประเทศชาติกันใหม่ อุตสาหกรรมของสหรัฐก็เหมือนกับได้โอกาสที่จะขยายตัวอย่างมากและรวดเร็ว

ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐ ภายใน ๕ ปี นับแต่ ค.ศ. 1945 ได้เพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่าตัว ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น เฟื่องฟูมาก

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นซึ่งแม้จะพ่ายแพ้ ประสบความพินาศย่อยยับจากสงครามนั้น และต้องสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ แต่ก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ปรากฏว่า เมื่อถึงช่วงปลายแห่งทศวรรษ 1970s ญี่ปุ่นก็ได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจแห่งตะวันออกไกล และต่อมาก็ได้กลายเป็นคู่แข่งของสหรัฐในเวทีเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก

ครั้นถึงทศวรรษแห่ง ค.ศ. 1980s ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งตามอย่างญี่ปุ่น ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเสือเศรษฐกิจ ("tiger" economies) ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ (จนกระทั่งมากลายเป็นเสือป่วย ใน ค.ศ.1997)

ประเทศน้อยใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งส่วนมากเคยเป็นอาณานิคมของประเทศใหญ่ในยุโรปมาก่อน เมื่อถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แม้จะหลุดจากความเป็นอาณานิคม และพ้นจากอำนาจควบคุมทางการเมือง มามีรัฐบาลปกครองตนเองแล้ว แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเจ้าอาณานิคมเดิมต่อมา โดยมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนาที่ปรารถนาจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม

ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว เป็นฝ่ายนำเข้าวัตถุดิบ เช่น แร่ธาตุ ตลอดจนอาหารและสินค้าการเกษตรอย่างอื่น และส่งออกซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำเร็จรูป ซึ่งมักเป็นไปในรูปของการซื้อถูก-ขายแพง

ส่วนประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งปรารถนาจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม ส่วนมากแม้จะทำการผลิตอย่างประเทศอุตสาหกรรมไม่ได้ แต่ก็พยายามบริโภคอย่างหรือยิ่งกว่าประเทศอุตสาหกรรม จึงเป็นฝ่ายนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำเร็จรูป และส่งออกวัตถุดิบและสินค้าภาคเกษตร ตลอดจนผลิตภัณฑ์มูลฐานที่สืบมาตามประเพณี ในลักษณะที่เป็นการซื้อแพง-ขายถูก

ประเทศอุตสาหกรรมเหล่านั้น ซึ่งแท้จริง เป็นฝ่ายพึ่งพา แต่สามารถจัดสรรรูปลักษณะความสัมพันธ์ให้กลับเป็นตรงข้ามได้ คือ ประเทศกำลังพัฒนา กลายเป็นฝ่ายพึ่งพาประเทศอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ยังคงมีอำนาจบังคับควบคุมประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย อันเป็นลักษณะความสัมพันธ์อย่างอาณานิคมอีกแบบหนึ่ง

ดังที่มีนักวิชาการของตะวันตกกล่าวว่า “ระบบอาณานิคมทางเศรษฐกิจ ได้เข้ามาแทนที่ระบบอาณานิคมทางการเมือง” — “Economic colonialism replaced political colonialism.” (“Europe: International Relations,” Compton's Interactive Encyclopedia, 1997)

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบที่ว่านี้ ประเทศที่กำลังพัฒนา อาจผูกพันอยู่กับประเทศเจ้าอาณานิคมของตนแต่เดิมก็ได้ อาจจะขยายหรือเปลี่ยนไปสัมพันธ์กับประเทศอุตสาหกรรมอื่นก็ได้ และแม้ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อนเลย ก็อาจจะมามีความสัมพันธ์แบบนี้กับประเทศอุตสาหกรรมที่ไหนก็ได้ ดังนั้น ระบบอาณานิคมทางเศรษฐกิจจึงแผ่กว้างขวางครอบคลุมไปทั่ว

นอกจากนี้ ภายใต้ระบบอาณานิคมทางเศรษฐกิจนั้น อิทธิพลครอบงำทางการเมืองก็แฝงตัวเข้าไปด้วยอย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ ทวีปเอเชียและดินแดนในโลกที่สาม (Third World) คือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย จึงเป็นเวทีแข่งขันแห่งการแผ่ขยายอิทธิพลระหว่างประเทศมหาอำนาจสองค่าย คือ ตะวันตกกับตะวันออกนั้นสืบมา

เมื่อโลกมีมหาอำนาจอุดมการณ์สองค่าย ความกลัวช่วยยั้งสงครามใหญ่
พอโลกเลิกแยกสองค่าย สงครามย่อยทางผิวเผ่าศาสนาก็ปะทุไปทั่ว

สงครามเย็น (Cold War) มีความรุนแรงถึงขีดสูงสุดช่วงแรก เมื่อประเทศอภิมหาอำนาจ ๒ ค่าย แข่งอิทธิพลกันในยุโรป ระหว่าง ค.ศ. 1948-1953 ดังกล่าวแล้ว

ต่อมา สงครามเย็นนั้นก็ทวีความรุนแรงขึ้นอีกในช่วงต้นของทศวรรษ 1980s เมื่อประเทศอภิมหาอำนาจ ๒ ค่ายนั้น แข่งกันสะสมอาวุธเป็นการใหญ่ และช่วงชิงกันแผ่ขยายอิทธิพลในประเทศโลกที่สาม

อย่างไรก็ตาม พอถึงช่วงปลายของทศวรรษแห่ง ค.ศ.1980s นั้นเอง สงครามเย็นก็ผ่อนคลายลง เนื่องจากนายโกร์บาชอฟ (Mikhail S. Gorbachev) ผู้นำโซเวียต ดำเนินนโยบายใหม่ (คือ นโยบาย glasnost = การเปิดกว้าง และ perestroika = ปรับโครงสร้างใหม่)

นโยบายใหม่นี้ เป็นการปฏิรูประบบการปกครองของโซเวียต ยกเลิกการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) ผ่อนคลายการผูกขาดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ เปิดให้มีเสรีภาพมากขึ้น และยอมให้มีเศรษฐกิจแบบการตลาด

ต่อจากนั้น ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลกค่ายตะวันออกของฝ่ายโซเวียตอย่างรวดเร็ว ชนิดที่แทบไม่มีใครคาดฝัน

ในช่วงปี 1989-1990 ระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกได้สลายตัวลง เยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี และเชกโกสโลวาเกีย เกิดมีรัฐบาลแบบประชาธิปไตย และเยอรมันตะวันออกกับเยอรมันตะวันตกก็รวมเข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้ โกร์บาชอฟได้ปล่อยให้เป็นไป ทำนองเป็นการยอมรับ

แต่การปฏิรูปของโกร์บาชอฟนี้ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ของเขาเองอ่อนแอลง และในที่สุด ถึงปลายปี 1991 สหภาพโซเวียตก็ล่มสลายลง เกิดเป็นประเทศเอกราชใหม่ ๑๕ ประเทศ รวมทั้ง รัสเซีย ซึ่งมีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย และเป็นผู้ต่อต้านคอมมิวนิสม์

ในจำนวนนี้ ๑๑ ประเทศ รวมกันตั้งเป็นวงไพบูลย์แห่งรัฐอิสระ (Commonwealth of Independent States) เริ่มแต่วันที่ 8 ธันวาคม 1991 และสงครามเย็นที่ดำเนินมา ๔๕ ปี ก็จบสิ้นลง14

พึงสังเกตว่า ในยุคสงครามเย็น (Cold War) ที่โลกแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย และมีประเทศอภิมหาอำนาจ ๒ ประเทศ คือ สหรัฐ กับ โซเวียต เป็นหัวหน้าของแต่ละฝ่ายนั้น แม้ว่าการแข่งอิทธิพล ความขัดแย้ง และสถานการณ์ตึงเครียดต่างๆ จะรุนแรงล่อแหลมบ่อยครั้งก็ตาม แต่ก็มีระบบควบคุมอยู่ในตัว คือ

- ในระดับล่าง ปัญหาของประเทศเล็กประเทศน้อยทั้งหลาย ก็อยู่ในความควบคุมของประเทศอภิมหาอำนาจ ๒ ฝ่ายนั้น

- ส่วนปัญหาระหว่างประเทศอภิมหาอำนาจเอง ก็ถูกคุมหรือยับยั้งไว้ด้วยระบบดุลอำนาจ

ทั้งสองฝ่าย ต่างก็สร้างและสะสมอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งร้ายแรงมาก อาจทำลายโลกและมวลมนุษย์ได้โดยง่าย แต่ความร้ายแรงยิ่งของอาวุธนิวเคลียร์นั่นแหละ กลับมาเป็นเครื่องยับยั้งสงคราม เพราะต่างฝ่ายต่างก็กลัวต่อการตอบโต้ของอีกฝ่ายหนึ่ง และมองเห็นว่าถึงรบกันไป ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็ต้องพินาศไปด้วยกัน สงครามเป็นเรื่องที่จะต้องหลีกเลี่ยงอย่างเดียว

โดยนัยนี้ อาวุธนิวเคลียร์จึงกลายเป็นเครื่องยับยั้งสงคราม หรือเป็นเครื่องยั้งไว้โดยเอาภัยมาขู่ (nuclear deterrence = การยับยั้งด้วยอาวุธนิวเคลียร์) โดยมีอาวุธนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงจริงไว้ให้มาก และแน่ใจว่า ถ้าใช้แล้วจะต้องพินาศไปด้วยกันอย่างแน่นอน (mutual assured destruction เรียกสั้นๆ ว่า MAD) เป็นดุลยภาพแห่งความสยอง (balance of terror)

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐกับรัสเซีย จึงวุ่นวายอยู่กับการแข่งกันสร้างและสะสมอาวุธนิวเคลียร์บ้าง เจรจาลดหรือควบคุมอาวุธนิวเคลียร์บ้าง ตลอดยุคสงครามเย็น

ทั้งที่มีอำนาจใหญ่คอยควบคุมไว้ และถ่วงดุลกันอย่างนี้ ก็ยังมีสงครามย่อยเกิดขึ้นที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง อยู่เรื่อยๆ

นอกจากสงคราม และการสู้รบกันระหว่างคู่ปรปักษ์แล้ว นับแต่ ค.ศ.1968 ก็ได้มีภัยอย่างใหม่ที่รุนแรง และเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น คือ การก่อการร้าย (terrorism) ซึ่งเป็นอันตรายที่ใครๆ อาจต้องประสบเมื่อใดก็ได้โดยไม่รู้ตัว เป็นภัยที่ไม่จำกัดอยู่แค่ทหารหรือศัตรู แต่อาจเกิดได้แม้แก่ชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จึงทำให้โลกที่ว่าเจริญแล้วนี้ เป็นถิ่นที่น่ากลัวมากยิ่งขึ้น

ยุคสงครามเย็น ๔๕ ปี เป็นระยะเวลาที่ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ มารวมสู่จุดยอดที่ปัญหาเกี่ยวกับลัทธินิยมอุดมการณ์ คือ เรื่องทิฏฐิทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ระหว่างเสรีประชาธิปไตย กับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยมีการแก่งแย่งผลประโยชน์ (หรือตัณหา) และการช่วงชิงอำนาจ (หรือมานะ) เป็นตัวหนุน

นอกจากปัญหาความขัดแย้งด้านผลประโยชน์และอำนาจเป็นตัวประกอบแล้ว แม้แต่ในด้านลัทธินิยมหรือทิฏฐิเอง ปัญหาเกี่ยวกับลัทธินิยมด้านอื่น เช่น เรื่องความเชื่อทางศาสนา และการยึดถือพงศ์เผ่าชาติพันธุ์ ที่เคยเป็นปมเด่นของความขัดแย้ง ก็ได้กลายเป็นเรื่องระดับรอง หรือเป็นเรื่องปลีกย่อยลงไป

แต่กระนั้นก็จะเห็นได้ว่า ลัทธินิยมด้านศาสนาและเผ่าพันธุ์ยังคงเป็นปัญหาที่คุกรุ่นอยู่ และระเบิดออกมาเป็นการก่อการร้าย และสงครามหรือการสู้รบย่อยๆ อย่างประปรายเรื่อยมา ส่วนสงครามสำคัญๆ จะเป็นเรื่องของการขยายลัทธินิยมอุดมการณ์ใหญ่ ๒ ลัทธิข้างต้น

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงแล้ว และระบบคอมมิวนิสต์ที่เป็นหลักใหญ่ล่มสลายไปแล้ว สหรัฐอเมริกาก็เป็นอภิมหาอำนาจที่โดดเด่นแต่ผู้เดียว และระบบประชาธิปไตยที่ผสานกับเศรษฐกิจระบบทุนนิยมเสรี ก็แพร่ขยายครอบคลุมโลก อย่างแทบจะไม่มีคู่แข่ง

แต่เพราะความไม่มีคู่แข่งที่จะมาคานนี่แหละ ก็จะทำให้ปมปัญหาเก่าๆ กลับลอยตัวปรากฏเด่นขึ้นมาอีก

เพราะฉะนั้น เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดไปแล้ว และเมื่อการสู้รบหรือสงครามเพื่อขยายลัทธินิยมอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสม์จางหายไป การขัดแย้ง ต่อสู้ และสงคราม ที่เนื่องจากปัญหาความแตกต่างทางด้านพงศ์เผ่าเหล่ากอ ชาติพันธุ์ และลัทธิศาสนา ซึ่งเป็นปัญหาด้านทิฏฐิอีกแบบหนึ่ง ก็เริ่มปรากฏขึ้นทันที

ดังเช่น เมื่อระบบโซเวียตล่มสลายลง พอยูโกสโลวาเกียสลัดระบบคอมมิวนิสต์ออกไป ประเทศที่รวมเป็นอันเดียวภายใต้อุดมการณ์คอมมิวนิสม์ก็แตกกระจาย

เกิดการแบ่งแยกทั้งโดยลัทธิศาสนา และพงศ์เผ่าชาติพันธุ์ เกิดสงครามกลางเมืองเพื่อชำระล้างชาติพันธุ์ (ethnic cleansing) ซึ่งรวมทั้งความชิงชังทางศาสนา เป็นสงครามที่โหดร้ายทารุณอย่างยิ่ง ระหว่างคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน คนตายไปถึง ๒๐๐,๐๐๐ คน พลัดบ้านพลัดถิ่น ๒ ล้านคน

ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงปัญหายิวกับอาหรับ และปัญหาไอร์แลนด์เหนือ เป็นต้น ที่เรื้อรังมานานแสนนาน รวมทั้งปัญหาที่สหรัฐอเมริกาเองได้ประสบมา กำลังผจญอยู่ และจะต้องเผชิญมากขึ้นๆ ต่อไป

เมื่อโลกเจริญมาถึงยุคที่เรียกว่า เป็นโลกาภิวัตน์แล้ว ถ้ามนุษย์ผู้ถือตัวว่ามีอารยธรรม ยังไม่ยอมพัฒนาระบบวิธีคิด และแก้ไขระบบคุณค่าที่ยึดถือเกี่ยวกับปัญหาการแบ่งแยกกลุ่มพวก เนื่องจากลัทธินิยมทางศาสนาและพงศ์เผ่าเหล่ากอ เพื่อปรับระบบพฤติกรรมเสียใหม่ มนุษยชาติก็ปราศจากความหวังที่จะมีสังคมแห่งสันติสุข

แต่ตรงข้าม ปัญหาความขัดแย้งตลอดจนสงครามเนื่องจากลัทธินิยมทางศาสนาและเผ่าพันธุ์นั้น มีศักยภาพที่จะรุนแรงยิ่งกว่าความขัดแย้งด้านลัทธินิยมหรืออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเสียอีก เพราะเขาไม่อาจแม้แต่จะยกเอาตัวปัญหาขึ้นมาพูดจาทำความเข้าใจกัน

๔. อุตสาหกรรมหนุนเศรษฐกิจการเมืองสู่ยุคการค้าเสรี

 

อุตสาหกรรมนำโลกเจริญก้าวหน้า
แต่มาติดตันกับปัญหาการพัฒนาไม่ยั่งยืน

โลกเข้าสู่ยุคใหม่โดยการนำของประเทศตะวันตก เริ่มตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นกระบวนการที่ยาวนาน ยังดำเนินไปเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันประเทศทั้งหลายก็ยังเป็นประเทศอุตสาหกรรมกันไม่ทั่วถึง

ประเทศใดเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว ก็นับว่าเข้าสู่สมัยใหม่ เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

ประเทศใดยังไม่เป็นประเทศอุตสาหกรรม ก็ยังไม่ชื่อว่าได้พัฒนา แต่ก็ให้เกียรติโดยเรียกว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา (ขึ้นสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม)

อุตสาหกรรมทำให้โลกเจริญอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะมีพลังใหญ่ที่ขับดันอยู่ คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีนั้นแต่งงานกันได้ ตามที่เบคอนเสนอไว้ (เบคอน/Bacon เสนอไว้ก่อนนานแล้ว ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในระยะที่ยังปฏิวัติวิทยาศาสตร์กันอยู่) ความเจริญก้าวหน้าก็ยิ่งรวดเร็วมากขึ้น จนทำให้โลกโดยเฉพาะส่วนที่พัฒนาแล้วนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหัศจรรย์

ในเวลาเพียง ๒๕๐ ปี นับแต่เริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษถึงบัดนี้ มนุษย์สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าได้ มากกว่าอารยธรรมในยุคก่อนหน้านั้นทั้งหมด ที่ผ่านมาตลอดกาลเวลายาวนานหลายพันหลายหมื่นหลายแสนปี หรือตั้งแต่เกิดมีมนุษย์ขึ้นในโลก

พึงสังเกตว่า คำว่า “เจริญก้าวหน้า” ในความเข้าใจของชาวตะวันตกนั้น มีความหมายที่แฝงอยู่เป็นสาระสำคัญ คือความสำเร็จในการเอาชนะธรรมชาติ

ทั้งนี้เพราะว่า ชาวตะวันตกมีแนวคิดความเชื่อฝังใจมาในอารยธรรมตั้งแต่กรีกเมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ซึ่งมารื้อฟื้นขึ้นในคราวที่ตื่นตัวใหม่ ครั้ง “คืนชีพ” เมื่อ ๕๐๐ กว่าปีมานี้ว่า มนุษย์จะมีความสมบูรณ์พูนสุขเมื่อมีชัยชนะทรงอำนาจเหนือธรรมชาติ สามารถจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา

ด้วยความมุ่งหมายใฝ่ฝันเพียรพยายามที่จะพิชิตธรรมชาตินี้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเจริญก้าวหน้าขึ้นในโลกของชาวตะวันตกอย่างมากมาย

ชาวตะวันตกมีความภูมิใจในแนวคิดความเชื่อ และแนวทางการสร้างสรรค์ความเจริญนี้มาก ดังคำที่เขาพูดไว้ทำนองนี้ว่า

มนุษย์สามารถเลียนแบบพระผู้เป็นเจ้าได้ด้วยการสรรค์สร้าง การที่จะทำอย่างนั้นได้ มนุษย์จะต้องเรียนรู้ความลับของธรรมชาติ และจุดหมายนี้จะสำเร็จได้ก็เฉพาะแต่ด้วยการบีบบังคับธรรมชาติให้ยอมปล่อยความลับของมันออกมา โดยจะต้องทรมานธรรมชาตินั้นด้วยการเอาไฟเผา ด้วยการเคี่ยว และด้วยการยักย้ายแปรธาตุไปต่างๆ รางวัลสำหรับความสำเร็จนี้ ก็คือชีวิตและวัยงามชั่วนิรันดร์ พร้อมทั้งความหลุดพ้นจากความขาดแคลนและโรคภัยไข้เจ็บ

ความคิดนี้เป็นวิสัยทัศน์ที่กำแหงหาญ และทำให้เกิดแนวคิดความเชื่อขึ้นมาว่า ด้วยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษย์จะสามารถบิดเบนดัดแปลงธรรมชาติไปได้ตามใจปรารถนา

ทัศนะสมัยใหม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ว่าโดยสาระสำคัญเป็นอย่างที่ว่ามานี้ และควรจะต้องย้ำไว้ด้วยว่า ทัศนะนี้ปรากฏมีเฉพาะแต่ในอารยธรรมตะวันตกเท่านั้น และก็คงเป็นด้วยทัศนคติอย่างนี้นี่แหละ ที่ช่วยให้ตะวันตก หลังจากที่ต่ำต้อยด้อยกว่าตะวันออกมานานหลายศตวรรษ กลับสามารถเลยล้ำหน้าตะวันออกไปได้ในการจัดการเอาประโยชน์จากโลกแห่งวัตถุ” (“The History of Science: The rise of modern science”, Britannica, 1997)

พร้อมกับแนวคิดความเชื่อนี้ เมื่อวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เริ่มเจริญขึ้นแล้ว มนุษย์ชาวตะวันตกในยุคพุทธิปัญญา ก็มีความเชื่อและคิดหมายใฝ่ฝันไปตามคติแห่งความก้าวหน้า (idea of progress) โดยมั่นใจว่า ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น มนุษย์จะเจริญก้าวหน้ามีสันติสุขและความมั่งคั่งพรั่งพร้อมอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปๆ อย่างไม่รู้จบสิ้น

คติและอุดมคติแห่งความก้าวหน้านี้ กำกับอยู่เบื้องหลังความเจริญของอารยธรรมตะวันตกตลอดมา ซึ่งก็หมายถึงความก้าวหน้าในการพิชิตธรรมชาติด้วยนั่นเอง

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพลังหนุนอุตสาหกรรม ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว

ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายในตะวันตก เกิดมีความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุอย่างมากมาย และด้วยความเจริญเช่นนั้น ก็ได้มีกำลังอำนาจและอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ สามารถจัดสรรผันเบนโลกแห่งธรรมชาติแวดล้อมได้แทบจะเหมือนดังใจปรารถนา และแผ่ลัทธินิยมพร้อมทั้งการพัฒนาแบบของตนไปทั่วโลก

ภายในเวลาเพียง ๒ ศตวรรษครึ่ง นับแต่เริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม อารยธรรมตะวันตกก็สามารถนำโลกแห่งมนุษยชาติก้าวเข้าสู่ยุคความเจริญแบบโลกาภิวัตน์

แต่ทั้งนี้ก็แทบจะพร้อมกันกับที่ภาวะของโลกแห่งธรรมชาติได้แสดงอาการออกมา ว่าไม่อาจรองรับความเจริญเช่นนั้นต่อไปได้ ทำให้มนุษย์เกิดความรู้ตัวสำนึกว่า ความเจริญก้าวหน้าที่ตนได้สร้างขึ้นมาอย่างกระหยิ่มลำพองใจนั้น เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

ทั้งที่โลกมนุษย์ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นประเทศที่ยังไม่ได้พัฒนา แต่ถ้าขืนก้าวหน้าในทิศทางนั้นกันต่อไป ทั้งโลกแห่งธรรมชาติ และโลกของมนุษยชาติ ก็จะประสบความพินาศไปด้วยกัน

ภาวะนี้ทำให้ผู้คนในชาติที่พัฒนาแล้ว พากันผิดหวังสับสน และสูญเสียความมั่นใจครั้งใหญ่ เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้มนุษย์คิดแสวงหาแนวทางแห่งอารยธรรมกันใหม่

เมื่อยุคอุตสาหกรรมเริ่มต้น
คนตะวันตกตื่นตัวมีชีวิตชีวาด้วยความหวังใหม่

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษปรากฏเริ่มแรกที่อุตสาหกรรมการทอผ้า เมื่อมีผู้ประดิษฐ์เครื่องอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กระสวย หูก เครื่องปั่นด้ายอย่างใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพขึ้นมา ในช่วง ค.ศ. 1733-1785 เครื่องจักรก็เริ่มเข้ามามีบทบาททำงานแทนแรงคน

พร้อมกันนั้น ด้านพลังงานก็เป็นใจเข้ามาหนุนได้จริงจังใน ค.ศ.1765 (บางตำราว่า 1769) เมื่อเจมส์ วัตต์ (James Watt) พัฒนาเครื่องจักรไอน้ำ (steam engine) ที่มีผู้ประดิษฐ์ไว้ก่อนหน้านั้น (Thomas Savery เริ่มต้นไว้ใน ค.ศ.1698 และ Thomas Newcomen พัฒนาขึ้นอีกใน ค.ศ.1712 หรือบางตำราว่า 1705) โดยแก้ไขปรับปรุงให้ใช้พลังงานไอน้ำกับเครื่องจักรประเภทต่างๆ ในสถานการณ์ที่แปลกกันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมด้านต่างๆ ก็ขยายตัว มีการตั้งโรงงานเพิ่มมากขึ้นๆ

ต่อมา เรือไฟหรือเรือไอ (1807) รถไฟ (1825 ในอเมริกา และ 1829 ในอังกฤษ) และถนนหนทางอย่างสมัยใหม่ ก็มาช่วยให้การขนส่งสินค้า อาหาร และวัตถุดิบดำเนินไปได้เต็มที่

เมื่อเครื่องจักร (machine) พลังงาน (energy) และ โรงงาน (factory) เข้ามาประสานกันแล้ว ก็เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง และอุตสาหกรรมก็เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

แต่นอกจากด้านวัตถุแล้ว สิ่งที่เป็นกลไกขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง ก็คือ ระบบการแบ่งงาน (division of labor) ซึ่งเป็นไปตามความชำนาญเฉพาะด้านนั้นๆ (specialization) โดยมีการจำแนกแยกซอยงานอย่างละเอียดถี่ยิบ ตามแนวคิดของอาดัม สมิธ (Adam Smith)

อีกทั้งนโยบายปล่อยให้ปัจเจกชนแสวงหาผลประโยชน์กันไป โดยรัฐไม่เข้าไปวุ่นวายแทรกแซง (individualism และ laissez-faire) ก็เข้ามาหนุนให้ทุนนิยมอุตสาหกรรม (industrial capitalism) ขยายตัวแผ่อิทธิพลไปทั่ว

พร้อมกันนั้น ระบบอาณานิคมก็ก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่ นโยบายการแสวงหา ยึดครองและจัดการกับอาณานิคมเปลี่ยนไป โดยมุ่งให้อาณานิคมทั้งหลายเป็นตลาดระบายสินค้า และเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบและอาหารให้แก่ประเทศอุตสาหกรรม

คนชั้นสูงในยุโรปเริ่มแต่ยุควิกตอเรียในอังกฤษ เริ่มมีชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย และมีเวลาพักผ่อนหาความสุขสำราญมากยิ่งขึ้น

เมื่อวิทยาศาสตร์มาหนุนอุตสาหกรรม พร้อมระบบแบ่งงาน-ชำนาญพิเศษ
อเมริกาก็ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าใหญ่แห่งอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ในยุคใช้พลังงานไอน้ำ การนำความรู้วิทยาศาสตร์มาใช้ในอุตสาหกรรมยังไม่จริงจังมากนัก จนกระทั่งเมื่อเอดิสัน (Thomas Alva Edison, 1847-1931) ตั้งโรงงานจ่ายกระแสไฟฟ้าในเมืองนิวยอร์ค เมื่อเดือนกันยายน 1882 (เซอร์โจเซฟ วิลสัน สแวน และเอดิสัน ต่างก็ผลิตหลอดไฟฟ้าได้สำเร็จ ใน ค.ศ. 1880) โลกก็เข้าสู่ยุคไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้าเข้ามาแทนที่พลังงานไอน้ำ

จากนั้นก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในด้านอุตสาหกรรม โดยเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญๆ ซึ่งอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๒ (Second Industrial Revolution) อันเกิดขึ้นในอเมริกา (นับว่าเริ่มการปฏิวัติที่ ๒ นี้แต่ ค.ศ.1860)

ต่อจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี ก็ยิ่งใกล้ชิดสนิทแนบยิ่งขึ้น

สังคมอเมริกันนับว่าเป็นแหล่งอันเยี่ยมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพราะชาวอเมริกันภูมิใจในการมีจริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic หรือ Protestant ethic บางทีก็เรียก Puritan ethic) และมีความเชื่อในหลักการลงทุนประกอบอุตสาหกิจชนิดเสี่ยงสู้เสรี (free enterprise)

โดยเฉพาะสังคมอเมริกันชื่นชมลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) มากเป็นพิเศษ จึงหนุนระบบตัวใครตัวมันและแข่งขันเต็มที่ (individualism and unrestricted competition) อันเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ยิ่งกว่านั้น ประเทศอเมริกายังเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อีกด้วย จึงยิ่งทำให้ได้เปรียบมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ในปี 1913 นายเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford, 1863-1947) ได้พัฒนาระบบการแบ่งงานให้ก้าวหน้าขั้นใหญ่ คือ ได้ริเริ่มระบบสายพานประกอบชิ้นส่วน (assembly line) ขึ้นมา ทำให้การผลิตสินค้าเหมือนแบบทีละมากๆ (mass production) บรรลุเป้าหมายอย่างสูง เป็นการเพิ่มผลผลิต (productivity) อย่างมหาศาล ลดจำนวนแรงงานมีฝีมือลงไป และได้สินค้าราคาถูกลง

นอกจากอุตสาหกรรมจะก้าวหน้าโดยทั่วไปแล้ว อเมริกาก็ได้เป็นเจ้าใหญ่ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์

ในด้านทรัพยากรธรรมชาตินั้น พึงสังเกตว่า เมื่ออังกฤษเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วง ค.ศ.1750 อเมริกายังเป็นแหล่งป้อนทรัพยากรอย่างสำคัญ เพราะอเมริกาเป็นดินแดน ๙ ใน ๑๐ ส่วนของจักรวรรดิอังกฤษยุคแรก

ครั้นเมื่ออังกฤษสูญเสียอาณานิคมในอเมริกาไปในปี 1781 (สงครามกับอังกฤษเริ่ม ค.ศ.1775 อเมริกาประกาศอิสรภาพ ค.ศ.1776 และชนะสงครามปี 1781) แล้ว ก็พอดีเข้าสู่ยุคที่อังกฤษสามารถแผ่ขยายจักรวรรดิ ยึดครองอาณานิคมได้เพิ่มอย่างกว้างขวางในแถบตะวันออก โดยได้เกาะลังกา แล้วต่อมาก็ได้ทวีปออสเตรเลีย (รวมทั้งนิวซีแลนด์) ผนวกเข้ามา

ยิ่งเมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปี 1919 แล้ว อังกฤษก็ได้อาณานิคมจากประเทศผู้แพ้สงคราม คือ เยอรมัน กับเตอรกีเพิ่มเข้ามาอีก ทำให้ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมดำเนินต่อมาได้ด้วยดี

แต่เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว อังกฤษและประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลายในยุโรปบอบช้ำมาก และสูญเสียอาณานิคมไปจนหมด อเมริกาจึงเฟื่องฟูเป็นเจ้าใหญ่ในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเต็มที่

จนกระทั่งญี่ปุ่นและเยอรมันก้าวขึ้นมาแข่ง และทำท่าจะนำหน้าไปในช่วงใกล้จะขึ้นทศวรรษ 1990s พร้อมกับที่อเมริกากลับทรุดลงไปจากฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ใหญ่

ย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษ 1960s ธนาคารใหญ่ที่สุดในโลก ๙ ใน ๑๐ เป็นของอเมริกัน

แต่ใน ค.ศ.1987 ธนาคารใหญ่ที่สุดในโลกไม่มีสักรายเดียวที่เป็นของอเมริกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นประเทศลูกหนี้เป็นครั้งแรก ใน ค.ศ.1985 และต่อมาก็กลายเป็นประเทศลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก การค้าขาดดุลปีหนึ่งๆ เกิน ๑ แสนล้านดอลลาร์

ได้เกิดความรู้สึกกันว่า “ทศวรรษ 1990s เป็นอัปมงคลสมัยสำหรับสหรัฐอเมริกา” — “The 1990s was an inauspicious time for the United States.” (“United States of America: History: the late 20th century,” Britannica, 1997)

อเมริกาก้าวขึ้นมาสู่ทศวรรษใหม่นี้ ในฐานะเป็นอภิมหาอำนาจแต่ผู้เดียวในการเมืองโลก แต่ในประเทศของตนเอง นอกจากเศรษฐกิจจะยอบแยบระโหยโรยแรง สังคมก็โทรมหนัก เต็มไปด้วยอาชญากรรมที่รุนแรง (ซึ่งมักจะโยงกับเรื่องยาเสพติด) ความยากจน ปัญหาการพึ่งพาเงินสวัสดิการ ปัญหาความแบ่งแยกผิวเผ่าที่หนักลง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่แพงลิ่ว และระบบครอบครัวที่ง่อยหงิก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้พลิกกลับ เศรษฐกิจของอเมริกาฟื้นตัวขึ้นมา ส่วนเยอรมันและญี่ปุ่นกลับทรุดลงไป

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติแล้ว (1945) เศรษฐกิจของเยอรมันตะวันตกเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงถึงปี 1952 การค้าของเยอรมันก็เกินดุล พอถึงปี 1986 ก็ทันและขึ้นเหนืออเมริกา แล้วอีก ๓ ปีต่อมา คือ 1989 ก็เกินดุลกับญี่ปุ่น

แต่เมื่อสองเยอรมันรวมกันเข้าในวันที่ 3 ตุลาคม 1990 แล้ว เยอรมันหันไปเพียรพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจในเยอรมันตะวันออกเดิม ดุลการค้าที่ได้เปรียบมากก็ตกวูบลง ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมากมาย แทนที่จะได้ส่งออก ก็ต้องเอาไปเลี้ยงเยอรมันตะวันออก แถมยังต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย เศรษฐกิจของเยอรมันก็ทรุดลงอย่างคาดไม่ถึง

จนกระทั่งใน ค.ศ.1993 เศรษฐกิจของเยอรมันได้จมลงในภาวะถดถอยต่ำสุดในช่วง ๕๐ ปี ประเทศตะวันตกค่อยโล่งใจคลายความหวาดกลัวว่าเยอรมันจะขึ้นมาเป็นเจ้าโลกทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม พอถึงปี 1996 เศรษฐกิจของเยอรมันก็กลับฟูขึ้นอีก แม้ว่าจะยังไม่มากพอที่จะชดเชยกับการทรุดถอยในระยะที่ผ่านมา

ประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันตกโดยทั่วไป บอบช้ำอย่างยิ่งจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ก็ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีในเวลาไม่นาน ด้วยกำลังหนุนจากอเมริกาตามแผนการมาร์แซล

ว่าโดยทั่วไป สงครามเย็นที่สหรัฐกับโซเวียตแข่งอำนาจกัน ก็ช่วยให้ยุโรป “มีเสถียรภาพ และทำให้ภาคตะวันตกรุ่งเรืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” (“20th-Century International Relations,” Britannica, 1997)

แต่พอถึงทศวรรษ 1980s ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยกันโดยทั่ว และพากันทรุดมานาน มีแต่อังกฤษประเทศเดียวที่ถอนตัวฟื้นขึ้นมาได้ในปี 1993 แต่ก็มีเค้าว่าในปีต่อๆ ไป ประเทศอื่นๆ ใน ยุโรปตะวันตกก็จะมีเศรษฐกิจดีขึ้น

ส่วนประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันออก ซึ่งอยู่ในอาณัติของโซเวียต เศรษฐกิจได้เสื่อมถอยอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดและโซเวียตล่มสลายแล้ว ประเทศเหล่านี้ก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนควบคุมจากศูนย์กลางของรัฐ มาสู่ระบบตลาดเสรีหรือทุนนิยม แต่ก็ยังอยู่ในภาวะที่อ่อนเปลี้ย

ญี่ปุ่นผงาด ตามด้วยขบวนเสือแห่งเอเชียก้าวเด่นขึ้นมา
แต่ไม่ทันช้า ทั้งหมดก็พากันซบเซา

ญี่ปุ่นเมื่อแพ้สงครามโลกในปี 1945 แล้ว การเมืองและการทหารอยู่ในการควบคุมดูแลของสหรัฐ ก็ตั้งหน้าฟื้นฟูประเทศและพัฒนาด้านเศรษฐกิจจนเจริญอย่างรวดเร็ว

แม้หลังจากการยึดครองของอเมริกันจบไปแล้ว การเมืองก็มั่นคงอยู่ภายใต้พรรคการเมืองเดียวคือพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP=Liberal Democratic Party) พอถึงทศวรรษ 1970s ก็กลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออกดังกล่าวแล้ว

ยิ่งถึงปลายทศวรรษ 1980s เศรษฐกิจที่เจริญของญี่ปุ่นก็ถึงขั้นเป็นที่หวาดกังวลของอเมริกาอย่างหนัก ดังที่มีหนังสือแสดงความรู้สึกด้านนี้ออกมามาก (เช่น Yen: Japan’s New Financial Empire and Its Threat to America (1988) ของ Daniel Burstein และ The Coming War with Japan (1991) ของ George Friedman & M.Lebard)

อย่างไรก็ตาม เรื่องการคอรัปชันภายในพรรค LDP ได้เริ่มอื้อฉาวขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้พรรค LDP ง่อนแง่นลง จนในที่สุดเสถียรภาพทางการเมืองของญี่ปุ่นก็จบสิ้นลง เมื่อพรรค LDP ซึ่งครองญี่ปุ่นมา ๓๘ ปี (เริ่มก่อตั้ง พ.ย. 1955) ได้หมดอำนาจลงเมื่อรัฐบาลแพ้คะแนนเสียงถูกลงมติไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 1993 และเดือนต่อมาก็แพ้ในการเลือกตั้งใหม่

จากนั้น ญี่ปุ่นเปลี่ยนรัฐบาลแล้วๆ เล่าๆ จนใครๆ ไม่อาจทำนายอนาคตของญี่ปุ่นได้

การขาดเสถียรภาพทางการเมือง และการที่เงินเยนแข็งมีค่าขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในเดือนกันยายน 1993 ขึ้นมาแตะ ๑๐๐ เยนต่อดอลลาร์ เป็นเหตุให้เศรษฐกิจทรุด จนกระทั่งในปี 1993 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกลายเป็น 0 ซึ่งตกต่ำที่สุดนับแต่เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันใน ค.ศ. 1974

แต่ถึงแม้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะตกต่ำลง ในปี 1993 นั้น ญี่ปุ่นก็ยังมีการค้าเกินดุลถึง ๑ แสน ๔ หมื่นล้านดอลลาร์

ค่าของเงินเยนพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่งตอนต้นปี 1995 โดยขึ้นถึง ๘๐ เยนต่อดอลลาร์ ในเดือนเมษายนปีนั้น ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ต่อจากนั้นค่าของเงินเยนก็ตกลงมาเรื่อยๆ จนกลายเป็น ๑๑๓ เยนต่อดอลลาร์ ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1996

การค้าของญี่ปุ่นที่เกินดุลมายาวนาน ก็ตกฮวบลงจากแสนกว่าล้านดอลลาร์ จนคาดหมายว่าเมื่อถึงสิ้นปี 1996 จะเหลือเพียงประมาณ ๖,๕๐๐ ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เสื่อมทรุดไปมากนั้น ได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นใหม่ ตั้งแต่ครึ่งหลังของ ค.ศ. 1995 จนทำให้ ค.ศ. 1996 เป็นช่วงที่ดีที่สุดในระยะ ๕ ปี โดยมีอัตราความเจริญเติบโตที่หนักแน่นที่สุดในรอบ ๒๐ ปี

วงการเศรษฐกิจกล่าวว่า เป็นครั้งแรกในช่วงเวลาหลายปี ที่ประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดทั้งสองของโลก คือสหรัฐ กับญี่ปุ่น มาถึงจุดบรรจบที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประสานสอดคล้องกันมากขึ้น (Britannica Book of the Year 1997)

แต่เมื่อมองเชิงเปรียบเทียบโดยภาพรวม ก็เป็นการบรรจบที่ไม่ไปด้วยกัน ในขณะที่ สหรัฐอยู่ในขาขึ้น ส่วน ญี่ปุ่นอยู่ในขาลง

ความตกต่ำทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเหมือนจะถูกซ้ำอีกครั้งหนึ่งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย เริ่มแต่ปี 1997

ส่วนประเทศที่พัฒนาน้อย หรือด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า “โลกที่สาม” (Third World) นั้น หลังทศวรรษ 1970s มาแล้ว บางประเทศได้เจริญทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งต่อมาได้มีคำเรียกเกิดขึ้นใหม่ว่า เป็น “นิค” (NIC) คือเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (newly industrialized country หรือ newly industrializing country)

บางตำราแยกเป็น “นิคส์ชั้นนำ” โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ กับ “นิคส์อย่างว่า” เช่น บราซิล มาเลเซีย เมกซิโก และประเทศไทย (“Newly Industrializing Country,” Oxford Interactive Encyclopedia, 1997) โดยที่นิคส์แท้หรือนิคส์ชั้นนำ ล้วนอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก เช่นเดียวกับจีน และญี่ปุ่น ซึ่งมีความสำคัญในเศรษฐกิจโลกอย่างมาก

ในทศวรรษ 1980s เป็นต้นมา ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกได้ย้ายจากยุโรปและอเมริกาเหนือมายังย่านเอเชีย-แปซิฟิก นโยบายของสหรัฐก็ให้ความสนใจแก่ญี่ปุ่นและจีนมากขึ้น พร้อมกับเอาใจใส่ด้านยุโรปน้อยลง

ในช่วงต้นๆ แห่งทศวรรษ 1990s ที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายมีเศรษฐกิจซบเซากันโดยทั่วไป ประเทศที่พัฒนาน้อยทั้งหลาย (less developed countries/LDC) กลับมีเศรษฐกิจที่เจริญขยายตัวดีกว่ามาก

โดยเฉพาะประเทศขอบมหาสมุทรแปซิฟิกฟากตะวันตก ที่เรียกกันว่า “Pacific Rim” กลายเป็นกลุ่มประเทศที่เจริญรวดเร็วที่สุดในโลก

ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ ซึ่งเดินตามรอยญี่ปุ่น และได้อาศัยเสถียรภาพในภูมิภาคซึ่งเกิดจากสงครามเย็น ที่สหรัฐกับโซเวียตแข่งอำนาจกันเป็นร่มเงาให้เช่นเดียวกัน ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย ดังที่ได้เป็น “นิคส์ชั้นนำ” แล้วนั้น และได้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้นจนเรียกกันว่าเป็น “เสือ” แห่งเอเชีย (Asian “Tigers” หรือ “Tiger Economies”)

ตำรับตำราและสารคดีของฝรั่งจำนวนมากพากันตื่นเต้นสนใจดินแดนแถบนี้ และพยากรณ์ว่า ประเทศกลุ่มนี้จะรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างนั้นอย่างนี้ (เช่น “20th-Century International Relations,” Britannica, 1997 และหนังสือของนักทำนายอนาคต เช่น Megatrends 2000 (1990) ของ John Naisbitt เป็นต้น)

ในปี 1996 ประเทศไทยก็พลอยได้มีชื่อเป็นเสือเศรษฐกิจ (Tiger Economy) ไปด้วย (Britannica Book of the Year 1997) และในปีนั้น ธนาคารโลกจัดอันดับประเทศไทยว่ามีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ ๒๓ ของโลก

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายชื่นชมเพลิดเพลินอยู่กับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากประเทศใหญ่ๆ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ และระบบการค้าเสรี (free trade) ที่ได้เริ่มแพร่ขยายมาแต่ปลายปี 1993 คราวเคราะห์ก็มาถึง

โดยไม่คาดฝัน ประเทศเหล่านี้ทั้งหมดพากันล้มคว่ำและจมดิ่งลงในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย (Asian Economic Crisis) ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อประเทศไทยประกาศค่าเงินบาทลอยตัว ในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐/1997

ประเทศพัฒนาน้อยทั้งหลายในโลกแถบอื่น แม้โดยทั่วไปจะมีเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่อาจจะเรียกว่าดี

ในปี 1993 ประเทศแถบละตินอเมริกา มีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ ๓.๕-๔% (เมกซิโกประสบภาวะวิกฤติ เงินเปโซ (Peso) ค่าตกฮวบอย่างหนักในเดือนธันวาคม ปี 1994)

ในอาฟริกา นับว่าค่อนข้างซบเซา เศรษฐกิจขยายเพียง ๑.๕%

ในตะวันออกกลาง ประเทศที่เศรษฐกิจแข็งหน่อย คือ อิหร่าน ก็อยู่แถว ๕% น้ำมันก็ล้นเกินความต้องการของโลก ราคาน้ำมันจึงตกลงไป นับจากต้นปี 1993 ถึงสิ้นปีนั้น ราคาน้ำมันตกลงไป ๒๓% ซึ่งต่ำสุดในระยะเวลาเกิน ๕ ปี

ความด้อยในด้านต่างๆ ทำให้ประเทศพัฒนาน้อยทั้งหลาย ต้องกู้หนี้ยืมสินจากประเทศที่พัฒนาแล้ว จนถึงขั้นเกิดวิกฤติหนี้ (debt crisis) ซึ่งเป็นไปอย่างหนักในละตินอเมริกา ตั้งแต่ ค.ศ. 1982 เรื่อยมาจนกระทั่งในระหว่างปี 1993 หนี้ต่างประเทศของประเทศพัฒนาน้อย (LDC) ทั้งหลาย เพิ่มขึ้นประมาณ ๖% รวมเป็นจำนวนเงินทั้งหมดถึง ๑,๔๗๖,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ และ IMF ได้คาดหมายไว้ว่าในปี 1995 จะเพิ่มขึ้น ๘% เป็น ๑,๘๕๒,๐๐๐ ล้านดอลลาร์

รวมแล้ว เมื่อก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย โลกแถบที่มีเศรษฐกิจเจริญเติบโตมากที่สุด ก็คือ ประเทศทั้งหลายในแถบเอเชีย ซึ่งมีอัตราขยายตัวในปี 1993 ประมาณ ๘.๗%

ในบรรดาประเทศเอเชียเหล่านั้น ประเทศที่เจริญไวที่สุด ก็คือ จีน ซึ่งมีเศรษฐกิจที่เจริญขยายรวดเร็วที่สุดทั้งในเอเชียและในโลกมาตลอดทศวรรษ 1980s โดยมีอัตราขยายตัวเกิน ๑๐% ต่อปี (ในปี 1993 จีนมีอัตราขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น/GDP เกือบ ๑๓%)

สงครามเย็นจึงจบลง ในขณะที่จีนกำลังเติบใหญ่ขึ้นมาทางเศรษฐกิจ

อเมริกาพาโลกก้าว เข้าสู่ยุคการค้าเสรี

ส่วนสหรัฐอเมริกา ประเทศอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกปัจจุบันนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่า ได้ก้าวขึ้นสู่ทศวรรษ 1990s ในภาวะที่ประเทศกำลังเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องมาอย่างหนักยิ่ง

ในประเทศมีแต่เสียงคร่ำครวญถึงความเสื่อมโทรมของชาติและเสียงหวนละห้อยร้องหาวันบ้านเมืองดีในอดีต ดังที่มีหนังสือที่ชาวอเมริกันเขียนขึ้นมาแสดงความรู้สึกอย่างนี้กันมากมาย (เช่น The End of the American Century ของ Steven Schlossstein, 1989; The Twilight of Common Dreams ของ Todd Gitlin, 1995; Taking Back America ของ Michael W. Haga, 1995; ฯลฯ)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้พลิกกลับ ขณะที่คู่แข่งที่น่ากลัว คือ เยอรมันกับญี่ปุ่นเสื่อมทรุดลง อเมริกากลับฟื้นตัวขึ้น

บิลล์ คลินตัน (William Jefferson Clinton) ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ ๔๒ ของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 1993 โดยแจ้งถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขความชะงักงันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาตลอดเวลา ๑๒ ปี แห่งการปกครองของพรรครีปับลิกัน

เขามุ่งแก้ปัญหาภายในประเทศ ที่หมักหมมมานานจนโทรมไปหมด และโอกาสก็เปิดให้ เพราะสงครามเย็นก็จบ โซเวียตก็ล่มสลาย

แต่เมื่อถึงเวลาจริง พอสิ้นปี 1994 ปรากฏว่า ความสำเร็จของบิลล์ คลินตัน กลับไปอยู่ที่กิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะชัยชนะในการแผ่ขยายระบบตลาดเสรีระดับโลก (global free-market system หรือ world capitalism)

เศรษฐกิจของอเมริกาเริ่มจะฟื้นตัวตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดีบุช (George Herbert Walker Bush, ม.ค.1989 -ม.ค.1993) แต่ประชาชนมารู้สึกชัดขึ้นต่อเมื่อถึงปลาย ค.ศ.1993

ในปี 1993 นั้น อเมริกากลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดีที่สุด เจริญเร็วที่สุด ในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด ขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย ตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซากันทั่วไป

ในปี 1994 คนในอเมริกาได้งานใหม่เฉลี่ยเดือนละประมาณ ๒๗๕,๐๐๐ คน รวมแล้วปีละ ๓.๕ ล้านคน ผลิตภัณฑ์ส่งออกทั่วโลกที่เป็นส่วนของสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นเป็น ๑๖% (ขณะที่ญี่ปุ่นกับเยอรมันกำลังทรุดลง) การทำงานล่วงเวลาเพิ่มมากขึ้นเกือบสัปดาห์ละ ๕ ชม.

บริษัทเยเนราล มอเตอรส์ (General Motors) ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของอเมริกาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เคยขาดทุนเมื่อปี 1991 ถึง ๔.๙ พันล้านดอลลาร์ แต่มาในปี 1994 เพียงครึ่งปี ได้กำไรถึง ๒.๘ พันล้านดอลลาร์ (มากกว่ากำไรตลอดปี 1993 ทั้งปี)

ครั้นถึงปลายปี 1996 อัตราคนว่างงานของสหรัฐ ก็ลดเหลือเพียง ๕.๓% ซึ่งต่ำสุดนับแต่ทศวรรษ 1970s (เคยสูงสุดเมื่อเดือนธันวาคม 1982 ถึง ๑๐.๘% และในปี 1992 ก็สูงถึง ๗.๕%)

เศรษฐกิจภาคที่ได้ผลที่สุด คือ พวกไฮ-เทค (high-tech) โดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้น ๒๐๐-๓๐๐ เท่า ทำให้เกิดเศรษฐีรายใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นแถว หุ้นดาวโจนส์ (Dow Jones) ก็ขึ้นไปๆ ต้นปี 1995 ผ่าน ๔,๐๐๐ พอถึงปลายปี ผ่าน ๕,๐๐๐ พอถึงปี 1996 ก็ผ่าน ๖,๐๐๐ จุดไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะฟื้นตัวดีขึ้นมาก แต่การค้าก็ยังคงขาดดุลสืบเนื่องมา ดังในปี 1994 ขาดดุล ๑ แสน ๕ หมื่นล้านดอลลาร์ และในปี 1995 ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น ๒ แสนล้านดอลลาร์

ระหว่างนี้ อเมริกาได้ก้าวออกไปดำเนินบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก คือ การแผ่ขยายระบบทุนนิยมระดับโลก ด้วยการส่งเสริมระบบการค้าเสรี (free trade) ให้เกิดผลเป็นจริง และแผ่ขยายออกไปให้กว้างขวางครอบคลุมทั่วโลก

การค้าเสรี (free trade) นี้ มีหลักการที่จะปล่อยให้สินค้าต่างๆ ไหลไปอย่างคล่องเสรีระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของกันและกัน และทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างชาติ โดยทำให้ประเทศที่ค้าขายได้พึ่งพาอาศัยกันในทางพาณิชย์

ทั้งนี้เป็นการสอดคล้องกับแนวคิดของอาดัม สมิธ (Adam Smith) ในเรื่องของหลักการแบ่งงาน (division of labor) ซึ่งในที่นี้ หมายถึง การแบ่งงานในระดับระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้แต่ละประเทศมีความชำนาญพิเศษ (specialization) ในการผลิตสินค้าที่ตนถนัด แล้วก็จะมีประสิทธิภาพในด้านนั้นๆ มากยิ่งขึ้น และสามารถผลิตได้ผล ทั้งมากมาย และดียิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ นโยบายการค้าเสรีจึงต้องห้ามมิให้เก็บภาษีศุลกากร หรือจำกัดโควต้าสินค้าเข้า (ไม่กีดกันสินค้าเข้า) และมิให้อุดหนุนช่วยเหลือสินค้าส่งออก คือ ตรงข้ามกับระบบคุ้มครองสินค้าของตน (protectionism) โดยปล่อยให้การค้าขายดำเนินไปตามกลไกของตลาดจริงๆ

ดังนั้น การค้าเสรีนี้ ก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free market economy) หรือ ทุนนิยม (capitalism) หรือที่บางทีเรียกว่า ระบบลงทุนเสี่ยงสู้เสรี (free enterprise) ได้เข้าถึงความสมบูรณ์เต็มตามความหมายยิ่งขึ้น

ครึ่งศตวรรษ แห่งการวิวัฒน์สู่การค้าเสรี

ที่จริง ความพยายามที่จะให้การค้าดำเนินไปอย่างเสรีนี้ได้มีมานานแล้ว แต่เป็นธรรมดาที่ประเทศทั้งหลายย่อมรักษาผลประโยชน์ของตน เมื่อใดหรือแง่ใดค้าเสรีได้เปรียบ ก็ค้าเสรี เมื่อใดหรือแง่ใดค้าเสรีตัวจะเสียเปรียบ ก็ใช้ระบบคุ้มครองสินค้าของตน

อย่างสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้ระบบคุ้มครองสินค้าของตน คือเป็น protectionist มาแต่กำเนิด (Protectionism,” Britannica, 1997)

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่นาน ประเทศสำคัญๆ ๒๓ ประเทศ ซึ่งมีการค้าขายกันเป็น ๔ ใน ๕ ส่วน ของการค้าทั้งหมดของโลก อันมีสหรัฐรวมอยู่ด้วย ก็ได้ลงนามกันที่เมืองเยนีวา (Geneva) ณ วันที่ 30 ต.ค. 1947

ในการนี้ ได้ออกเป็นข้อตกลงทั่วไปเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade เรียกสั้นๆว่า GATT) ซึ่งมีหลักการสำคัญที่จะลดหรือตัดทอนภาษีศุลกากรและข้อจำกัดอย่างอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าขาย พร้อมทั้งกำจัดละเลิกข้อปฏิบัติที่เป็นการหวงแหนกีดกันในการค้าระหว่างประเทศ

ในยุโรป เมื่อปี 1960 อังกฤษได้ริเริ่มชวนประเทศต่างๆ ก่อตั้งสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association เรียกสั้นๆ ว่า EFTA) ขึ้น (ลงนามที่กรุงสตอกโฮล์ม) ซึ่งประกอบด้วยออสเตรีย เดนมาร์ก อังกฤษ นอร์เวย์ โปรตุเกส สวีเดน และ สวิสเซอร์แลนด์ (ต่อมา ไอร์แลนด์ และฟินแลนด์ก็เข้าร่วม)

ว่าที่จริง เรื่องการค้าขายหาผลประโยชน์ในหมู่ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ที่ยอกย้อนซับซ้อนมาก เป็นความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จากกลวิธีทางการเมืองผสมการทหาร มาเป็นกลวิธีทางการเมืองผสมวิธีการทางเศรษฐกิจ

การที่อังกฤษชวนหลายประเทศตั้ง EFTA ขึ้นนั้น ก็เพราะว่า ก่อนนั้น ในปี 1957 ประเทศบนแผ่นดินใหญ่ภาคตะวันตกของทวีปยุโรป ๖ ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมันตะวันตก อิตาลี และกลุ่มประเทศเบเนลักส์ ทั้ง ๓ (คือ เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และ ลักเซมเบอร์ก) ได้ตกลงกันตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ที่เรียกง่ายๆ ว่า “ตลาดร่วม” (European Economic Community เรียกง่ายๆ ว่า Common Market) ขึ้น

ระหว่างนั้น อังกฤษก็หาทางจัดตั้งเขตการค้าเสรี ที่จะช่วยให้อังกฤษเข้าถึงผลประโยชน์ของตลาดร่วมทางอุตสาหกรรมนั้นได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับความกระทบกระทั่งต่อความยิ่งใหญ่ในทางการเมือง แต่ไม่สำเร็จ เพราะเหตุสำคัญคือการคัดค้านของฝรั่งเศส

แต่ต่อมา ในปี 1973 อังกฤษเอง และเดนมาร์ก ก็ออกจาก EFTA เมื่อเขายอมรับให้เข้าตลาดร่วม หรือ EEC พร้อมกับไอร์แลนด์ ในปี 1973 (ต่อมา กรีซ สเปน และโปรตุเกส ก็เข้าร่วมใน EEC ด้วย)

ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป หรือ EEC ซึ่งได้เจริญก้าวหน้าต่อมา และมีการเปลี่ยนแปลงในชื่อเรียกเล็กๆ น้อย จนในที่สุดก็เรียกสั้นๆ ว่า ประชาคมยุโรป (European Community/EC) ได้ขยายนโยบายออกไป และตั้งสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1993 โดย EC กลายเป็นหน่วยงานวางนโยบายของ EU

ต่อมา ณ วันที่ 1 มกราคม 1994 ข้อตกลงที่สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และประชาคมยุโรป (EC) ได้มีมติร่วมกันไว้ เมื่อเดือน ต.ค.1991 ที่จะตั้งเขตการค้าเสรีร่วมกัน ก็มีผลให้เกิดเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area/EEA) ขึ้น

ต่อมา ในปี 1995 ประเทศสมาชิกของ EFTA ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) EU จึงมีสมาชิก ๑๕ ประเทศ และขณะนี้หลายประเทศที่พ้นออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม ก็หวังจะได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปนี้ด้วย

ในทวีปอเมริกา ประเทศต่างๆ ในอเมริกากลางและใต้ ก็ได้ร่วมกันตั้งเขตตลาดร่วมการค้าเสรีของตนขึ้นบ้าง เช่น ตลาดร่วมอเมริกากลาง (Central American Common Market) ซึ่ง เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูราส นิคารากัว และคอสตาริกา ลงนามในสนธิสัญญากัน เมื่อ 13 ธ.ค. 1960 แต่ต่อมาความผันผวนปรวนแปรทางการเมือง ทำให้ตลาดร่วมนี้ไม่เป็นไปด้วยดี

อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ประเทศละตินอเมริกา ประกอบด้วยอาร์เยนตินา บราซิล ชิลี เมกซิโก ปารากวัย เปรู และอุรุกวัย ได้ลงนามตั้งสมาคมการค้าเสรีละตินอเมริกา (Latin American Free Trade Association/LAFTA) ขึ้น ณ 18 ก.พ. 1960 ซึ่งอีก ๒๐ ปีต่อมา ตั้งเป็นสมาคมประสานละตินอเมริกา (Latin American Integration Association/LAIA) ซึ่งเวลานี้มีสมาชิก ๑๑ ประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแอนเดียน (Andean Group) ที่เป็นกลุ่มย่อยใน LAIA ซึ่งเกิดขึ้นเป็นทางการในเดือน มิ.ย. 1969 และประชาคมและตลาดร่วมคาริบเบียน (Caribbean Community and Common Market/Caricom) ซึ่งประเทศในคาบสมุทรคาริบเบียน ๑๒ ประเทศ ได้ตั้งขึ้นในปี 1973

ส่วนในทวีปอเมริกาเหนือ สหรัฐอเมริกาเพิ่งจะร่วมกับคานาดาและเมกซิโกก่อตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างกันขึ้น (เมกซิโกอยู่ใน LAIA ที่กล่าวถึงข้างต้นด้วยอยู่ก่อนแล้ว) โดยลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement/NAFTA) เมื่อปี 1992 ในเดือนสุดท้ายแห่งการบริหารของรัฐบาลประธานาธิบดีบุช ณ วันที่ 17 ธันวาคม

NAFTA จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 1994 ซึ่งจะทำให้การค้าในเขตของสามประเทศนี้ ปลอดพ้นจากการเก็บภาษีศุลกากร และข้อจำกัดกีดกั้นต่างๆ ในการลงทุนข้ามแดน และการเคลื่อนไหวของสินค้าและบริการต่างๆ ภายในปี 2005

เขตของ NAFTA นี้กว้างใหญ่กว่าตลาดร่วมยุโรปเดิมเล็กน้อย จึงเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีประชากรประมาณ ๓๙๐ ล้านคน

แต่เมื่อ EFTA กับ EU ของยุโรป ตั้ง EEA คือ เขตเศรษฐกิจยุโรปขึ้นมา โดยมีผลเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 1994เช่นเดียวกัน เขตการค้าเสรีทั้งสอง คือ NAFTA และ EEA ก็มีขนาดใกล้เคียงกันมาก (EEA มีประชากร รวมทั้งสิ้น ประมาณ ๓๘๕ ล้านคน)

ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1993 ที่รัฐสภาอเมริกัน (Congress) มีมติอนุมัติ NAFTA นั้น ประธานาธิบดีคลินตัน ได้กล่าวปราศรัยว่า

เมื่อ ๒-๓ นาทีที่ผ่านมานี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติอนุมัติข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA)

NAFTA จะขยายปริมาณสินค้าออกของเรา สร้างงานอาชีพเพิ่มขึ้น และช่วยให้เราย้ำสำทับความเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจของโลก

ข้อตกลงนี้ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์อย่างลึกซึ้งแก่สหรัฐ มันจะช่วยให้ชาวอเมริกันที่ทำงานอยู่ เป็นคนงานที่สร้างผลผลิตได้มากที่สุด คือ จะเป็นผู้ชนะในระบบเศรษฐกิจของโลก (“North American Free Trade Agreement,” Microsoft Encarta Encyclopedia, 1999)

คำกล่าวนี้ อาจจะบอกถึงความมุ่งหมายที่แท้หรือวัตถุประสงค์หลักของผู้นำของสหรัฐ หรือของประเทศสหรัฐอเมริกา ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้น

เหนือกว่า NAFTA
เขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดของโลกจะเกิดขึ้นมาจากเอเปค/APEC

ถึงตอนนี้ ทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นดินแดนสำคัญในการค้าโลก ดูเหมือนว่ายังไม่ได้เข้าสู่ระบบการค้าเสรี ถ้าเอเชียมีระบบนี้ด้วย เศรษฐกิจก็จะใกล้ถึงขั้นเป็นตลาดโลกไร้พรมแดน

แต่แท้จริงนั้น อเมริกาได้ร่วมกับออสเตรเลียหนุนให้ชาติทั้งหลายในเอเชีย ตั้งสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่เรียกง่ายๆ ว่า “เอเปค” (Asia-Pacific Economic Coopertion/ APEC) ขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1989 แล้ว

ประธานาธิบดีคลินตัน ได้ปรากฏตัวเด่นออกมาในฐานะเป็นผู้หนุนการค้าเสรีที่แข็งขันที่สุดในรอบหลายสิบปี (“20th-Century International Relations,” Britannica, 1997) และรัฐบาลของเขาก็ได้เรียกร้องให้ประเทศในเอเชียมีมาตรการเปิดตลาด และ “การค้าที่ยุติธรรม” (“fair trade”)

หลังจากรัฐสภาสหรัฐลงมติผ่าน NAFTA ได้ ๓ วัน ประธานาธิบดีคลินตันก็ได้เป็นเจ้าภาพจัดให้ผู้นำ ๑๕ ประเทศประชุมสุดยอดครั้งแรกของ เอเปค/APEC ที่เมืองซีแอตเติล (Seattle) ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1993 และในเดือนพฤศจิกายนปีต่อมา (1994) ประเทศกลุ่ม เอเปค/APEC ซึ่งคราวนี้เพิ่มเป็น ๑๘ ประเทศ (สามประเทศเพิ่มใหม่ คือ ชิลี เมกซิโก และปาปัวนิวกินี) ก็ได้ประชุมสุดยอดครั้งที่ ๒ กัน ๒ วัน ที่อินโดนีเซีย

คราวนี้ทั้ง ๑๘ ประเทศได้ลงนามในข้อตกลงให้การค้าขายระหว่างกันบรรลุเป้าหมายแห่งการค้าเสรี ภายใน ค.ศ.2020 กับทั้งจะลดทอนเครื่องจำกัดกีดกั้นการค้าขายแม้กับประเทศอื่นๆ ที่นอกเขตแปซิฟิกด้วย

ประเทศทั้ง ๑๘ ในกลุ่ม เอเปค/APEC ได้แก่

ก) ประเทศในเอเชีย ๑๑ ซึ่งแยกได้เป็น

- ประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ๖ ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และบรูไน) และ

- ประเทศในเอเชียนอกกลุ่ม ASEAN อีก ๕ (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และฮ่องกง)

ข) ประเทศฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ๔ (สหรัฐ คานาดา และเมกซิโก ในอเมริกาเหนือ กับชิลีในอเมริกาใต้) และ

ค) ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกภาคใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ๓ (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และปาปัวนิวกินี)

แต่รวมแล้วทั้ง ๑๘ ประเทศ ก็อยู่ในอ่างแปซิฟิก (Pacific Basin)

กลุ่มประเทศ APEC นี้ มีประชากรเกินกว่า ๒ พันล้านคน หรือประมาณ ๓๘% (เกิน ๑ ใน ๓) ของประชากรทั่วทั้งโลก ครอบคลุมการค้าโลก ๔๑% และทำการผลิตสินค้ากว่าครึ่งหนึ่งของโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) รวมกันมากกว่า ๕๐% ของทั้งโลก

ฉะนั้น (ถ้าการณ์เป็นไปตามตกลง ภายใน ค.ศ.2020) เอเปค/ APEC ก็จะทำให้เกิดเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลกที่แท้จริง

นอกจากนี้ เอเปค/APEC ยังมีความพิเศษที่แปลกและแตกต่างจากเขตการค้าเสรีอื่นๆ เช่น ขณะที่เขตอื่นเป็นการรวมตัวกันของชาติต่างๆ ที่อยู่ในภาคพื้นทวีปเดียวกัน มีดินแดนใกล้ชิดติดกัน ที่จะประสานความร่วมมือในการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของกันและกัน แต่ เอเปค/APEC เป็นการร่วมมือต่างถิ่นข้ามทวีปของประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในทางเศรษฐกิจ เชื้อชาติ วัฒนธรรม และระดับการพัฒนา

โดยเฉพาะรวมเอาประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยและยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการเศรษฐกิจของโลก ทั้งอันดับ ๑ และอันดับ ๒ คือ สหรัฐและญี่ปุ่นเข้ามาไว้ด้วยกัน (Britannica Book of the Year 1995) พร้อมทั้งประเทศแถบขอบตะวันตกของแปซิฟิก หรือ Pacific Rim ซึ่ง (เวลานั้น) คาดหมายกันนักว่ามีอนาคตทางเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองสุกใส รวมทั้งชาติที่เรียกกันว่าเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ทั้งหลายด้วย

เอเปค/APEC ประชุมประจำปีกัน ๒ วัน ตอนปลายเดือนพฤศจิกายนเรื่อยมา และได้เริ่มทำงานตามแนวทางที่ตกลงกันไว้ เช่น ในการประชุมปี 1996 ณ 25 พ.ย. ที่มะนิลา ๑๘ ชาติสมาชิกตกลงให้คำมั่นว่าจะตัดทอนภาษีนำเข้าคอมพิวเตอร์และสินค้าไฮเทคทั้งหลายลงอย่างให้เห็นกันชัดเจนเป็นจริงเป็นจังภายในปี 2000

(ต่อมา รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๗–๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๖/2003)

ค้าขายเสรี แข่งขันเสรี
บนสถานะของเศรษฐีกับวณิพก

มีเรื่องสำคัญที่ควรเล่าแทรกไว้ด้วย คือการเกิดขึ้นขององค์การค้าโลก (World Trade Organization/WTO) ซึ่งสืบเนื่องมาจากข้อตกลงทั่วไปเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและการค้า ที่เรียกกันสั้นๆ ตามอักษรย่อว่า GATT และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการค้าเสรีโดยตรง

ดังได้เล่าไว้แล้วว่า GATT นั้น เกิดขึ้นในปี 1947 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบไปไม่นาน (มีผลบังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 1948) โดยมีหลักการข้อสำคัญที่สุดว่า จะให้มีการค้าขายระหว่างประเทศต่างๆ อย่างปราศจากความแบ่งแยกหวงแหนกีดกัน โดยที่ประเทศสมาชิกเปิดตลาดแก่กันอย่างเสมอภาค

ตามแผนความคิดเดิมนั้น GATT จะมีอยู่เพียงชั่วคราว โดยรอให้มีการตั้งหน่วยงานของสหประชาชาติ เรียกว่า องค์การการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Organization/ITO) ขึ้นมารับงานไปทำต่อในระยะยาว แต่องค์การที่ว่านั้นก็ไม่เกิดมีขึ้น GATT ก็จึงอยู่ต่อมาเรื่อยๆ

GATT เป็นเครื่องมือที่ได้ผลมากที่สุดในการทำให้เกิดการค้าเสรีมากขึ้นๆ และขยายการค้าโลกออกไป โดยมีการประชุมกันเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1947 ถึง 1993 รวม ๗ รอบ ทำให้ภาษีสินค้าอุตสาหกรรมของโลกโดยเฉลี่ยลดจาก ๔๐% ในปี 1947 ลงมาเหลือเพียง ๕% ในปี 1993 และทุนอุดหนุนสินค้าการเกษตรก็ถูกตัดทอนลงไป

การประชุมรอบสุดท้ายของ GATT จบลงด้วยการตั้งองค์การการค้าโลก ที่เรียกสั้นๆ ว่า WTO ขึ้นมาดังกล่าวข้างต้น และ GATT ก็สลายตัวไปพร้อมกับการปิดประชุมรอบสุดท้ายนั้น ในวันที่ 15 เมษายน 1994

องค์การการค้าโลก หรือ WTO นี้ ถือกำเนิดในวันที่ 1 มกราคม 1995 โดยมีสมาชิกก่อตั้ง ๑๐๔ ประเทศ และ ๑๒๕ ชาติได้ลงนามในข้อตกลง ซึ่งจะเป็นแบบแผนที่ควบคุมการค้าของโลก รวม ๙๐% และ WTO ก็จะทำหน้าที่คอยดูแล กำกับ จัดปรับ เพื่อให้การค้าของโลกเป็นไปอย่างเสรีตามข้อตกลงนั้น

ในการขวนขวายหนุนให้ เอเปค/APEC เกิดเป็นการเป็นงานอย่างจริงจังขึ้นมาเพื่อสร้างเขตการค้าเสรีแห่งใหม่นั้น รัฐบาลของประธานาธิบดีคลินตัน ได้เรียกร้องให้ประเทศทั้งหลายในเอเชียมีการค้าที่ยุติธรรม (fair trade)

ถ้ามองอย่างง่ายๆ ก็เหมือนกับบอกว่า การค้าที่ยุติธรรม (fair trade) จะเกิดได้เมื่อมีการค้าอย่างเสรี (free trade)

แท้จริงนั้น ถ้าไม่พูดถึงปัญหาระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกัน (โดยเฉพาะ ระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่น) ก็น่าจะย้อนถามว่า ใครกันแน่ที่ควรเป็นฝ่ายเรียกร้องให้มี “การค้าที่เป็นธรรม”

การค้าเสรี (free trade) นี้ย่อมช่วยให้เกิดการแข่งขัน (competition) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของระบบทุนนิยม หรือตลาดเสรี (free market economy) โดยเฉพาะเป็นหลักการที่สังคมอเมริกันนิยมเชิดชูเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม การค้าเสรีระหว่างประเทศนี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจการเมือง และในทางการเมืองนั้นการค้าเสรีจะมีวัตถุประสงค์สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง คือ การสร้างเอกภาพของประเทศทั้งหลายในภูมิภาคนั้นๆ ในการที่จะร่วมมือสามัคคี เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์และความมั่นคงร่วมกัน ดังจะเห็นได้ชัดเจนในกรณีของตลาดร่วมยุโรป ตั้งแต่เป็น EEC มาเป็น EC และเกิด EU ตลอดจนร่วมกับ EFTA ตั้ง EEA ขึ้นมา

พร้อมกันนั้น เมื่อ free หรือเสรี คือมีเสรีภาพแล้ว หลักการอีกอย่างหนึ่งของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องมาด้วย กล่าวคือความเสมอภาค (equality) เช่น การที่แต่ละประเทศในเขตการค้าเสรีนั้นจะต้องเปิดตลาดให้แก่กันอย่างเสมอภาค

ถ้าการค้าเสรีเป็นไปอย่างมีความเสมอภาคกันจริง การค้าเสรีนั้นก็จะเป็นการค้าที่ยุติธรรม คือ เป็นการค้าที่ทั้งเสรีและเป็นธรรม เป็น free and fair trade เพราะการค้าที่จะ fair หรือเป็นธรรมนั้น ก็คือจะต้องไม่เอาเปรียบกัน

แต่ถ้าเสรีโดยไม่มีความเสมอภาคจริง ก็อาจจะกลายเป็นเสรีภาพในการที่จะเอาเปรียบได้มากยิ่งขึ้น หรือเป็นเสรีภาพที่ช่วยส่งเสริมโอกาสแห่งการได้เปรียบที่มีอยู่แล้ว

ในกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ GATT ได้วางไว้ให้ก่อนจะสลายตัวไปนั้น ก็มีข้อกำหนดในการส่งเสริมการค้าที่ยุติธรรม คือ fair trade ไว้ด้วย แต่ก็คงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องพิจารณาด้วยความไม่ประมาท

โดยเฉพาะสำหรับ เอเปค/APEC ประเทศสมาชิกมีความแตกต่างหลากหลายมากอย่างที่กล่าวแล้ว วัตถุประสงค์เชิงเอกภาพทางการเมืองอย่าง EU ก็คงไม่มี หรืออย่างน้อยก็ไม่เหมือนกับ EU

ถ้าวัตถุประสงค์ด้านเอกภาพไม่มี ก็ขาดเครื่องประสานที่สำคัญ หลักการอย่างอื่นจึงอาจง่อนแง่นคลอนแคลนได้ง่าย

ความเสมอภาคก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและลึกซึ้งซับซ้อนไม่น้อย ประเทศทั้งหลายใน เอเปค/APEC นั้น โดยภาวะพื้นฐานก็ไม่เท่ากันอยู่แล้ว เช่น เป็นประเทศพัฒนาอย่างสูงแล้ว โดยเป็นประเทศอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งผ่านพ้นอุตสาหกรรมไปแล้วบ้าง เป็นประเทศกำลังพัฒนาบ้าง การที่จะสัมพันธ์กันหรือปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาคจะมีแง่มุมหลายอย่างที่มองและปฏิบัติได้ยาก

แม้แต่เฉพาะในแง่เศรษฐกิจ ก็มีความแตกต่างหรือไม่เท่าเทียมกันเป็นพื้นฐานอยู่ในตัว เช่น ฝ่ายหนึ่งมีทุนมหาศาล อีกฝ่ายหนึ่งยากจนขาดแคลน หรือเสียเปรียบในเชิงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ฝ่ายหนึ่งเป็นเศรษฐีออกเงินให้กู้ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นลูกหนี้ที่กู้เงินจากเศรษฐี เพื่อเอาเงินไปซื้อสินค้าของเศรษฐี พร้อมกับที่ต้องหาเงินมาชำระค่าดอกเบี้ยให้แก่เศรษฐีนั้น

ฝ่ายหนึ่งขายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งขายสินค้ามูลฐานเช่นพืชผลและวัตถุดิบ ฝ่ายหนึ่งซื้อถูกขายแพง อีกฝ่ายหนึ่งซื้อแพงขายถูก เช่น ฝ่ายหนึ่งปลูกพืชสมุนไพรขายไป ก.ก.ละ ๘ บาท อีกฝ่ายหนึ่งซื้อพืชนั้น ก.ก.ละ ๘ บาทแล้ว นำไปเป็นวัตถุดิบ ผลิตออกมาเป็นเภสัชภัณฑ์อุตสาหกรรม ขายให้แก่ฝ่ายแรก แคปซูลละ ๘ บาท หรืออาจจะถึง ๘๐ บาท

มองดูตัวเลขในการค้าของโลก สหรัฐ คานาดา ยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น เป็นแหล่งของสินค้าส่งออก ๒ ใน ๓ ของทั้งโลก

ส่วนประเทศที่พัฒนาน้อยทั้งหลาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ขายสินค้ามูลฐาน เป็นแหล่งของสินค้าส่งออก ๒๐% ของโลก และสินค้าส่งออกของประเทศพัฒนาน้อยเหล่านั้นเกินกว่า ๒ ใน ๓ ส่งไปยังประเทศอุตสาหกรรม (“international trade,” New Grolier Multimedia Encyclopedia, 1994)

ตัวเลขเหล่านี้ ถ้ามองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง เช่น นำเอาภาวะที่ฝ่ายหนึ่งซื้อถูกขายแพง และอีกฝ่ายหนึ่งซื้อแพงขายถูก เข้ามาพิจารณาประกอบด้วย จะมองเห็นภาพของความเป็นจริงอีกชั้นหนึ่งที่ยิ่งห่างออกไปจากตัวเลขที่ยกมาอวดแสดงกันอย่างมากมาย

ทั้งนี้ ยังไม่ได้พูดถึงความแตกต่างในด้านคุณภาพคนหรือที่เรียกว่าทรัพยากรมนุษย์ เช่น การศึกษา ความรู้ทางวิชาการ ความสามารถเชิงเทคโนโลยี และค่านิยม เป็นต้น ซึ่งจะมองข้ามมิได้

ในการที่จะก้าวให้ถึงเป้าแห่งการค้าเสรี ก็จะมีการลดภาษีศุลกากรขาเข้า จนเลิกไม่ต้องเก็บเลย เลิกกำหนดโควต้าสินค้าเข้า ไม่ให้ทุนอุดหนุนสินค้าในประเทศที่จะส่งออก หรือที่จะกันสินค้าเข้าจากต่างประเทศ และเปิดโอกาสแก่ต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน เป็นต้น

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ว่านั้น ก็จะต้องมีความสามารถที่จะจัดดำเนินการไม่ให้ความแตกต่างเชิงได้เปรียบและเสียเปรียบที่กล่าวข้างต้น มาทำให้การแข่งขันเสรี (free competition) ไม่เป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม (fair competition) อันจะเป็นเหตุให้การค้าเสรี (free trade) ไม่เป็นการค้าที่เป็นธรรม (fair trade)

นอกจากนั้น ที่สำคัญยิ่งคือ จะต้องระลึกตระหนักในความจริงที่ว่า ประเทศทั้งหลายที่เข้ามาร่วมเขตการค้าเสรีนั้น มีวัตถุประสงค์ข้อใหญ่ที่สุด คือการแสวงหาและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติของตน

(อเมริกายึดแนวคิด individualism คือปัจเจกนิยมอยู่แล้ว แนวคิดนี้ ซึ่งเป็นฐานของระบบแข่งขัน ถือว่า เมื่อแต่ละคนแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง สังคมที่เป็นผลรวมก็จะพลอยเจริญไปเอง แนวคิดนี้ย่อมขยายออกมาใช้ในระดับประเทศต่อประเทศด้วย)

ไม่ต้องพูดถึงคำปราศรัยของประธานาธิบดีคลินตันที่กล่าวถึง NAFTA ข้างต้น

แม้แต่เมื่อตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) กันได้แล้ว ในวันที่ 1 มกราคม 1995 เวลาผ่านไปไม่ทันไร สหรัฐกับญี่ปุ่นก็หวุดหวิดจะเกิดสงครามการค้า (trade war) กันในเรื่องสินค้ารถยนต์ เพราะการได้การเสียผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวกัน

เรื่องก็คือ วันที่ 11 มกราคม 1995 ประธานาธิบดีคลินตัน กล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องลดการค้าที่เกินดุลของญี่ปุ่น

ต่อมาฝ่ายสหรัฐก็วางแผนเก็บภาษีศุลกากรรถยนต์ราคาแพงของญี่ปุ่น ๑๓ รายการ ให้ได้เงิน ๕.๙ พันล้านดอลลาร์ (แทนที่จะลดหรือเลิกเก็บภาษีตามหลักการค้าเสรี) ญี่ปุ่นก็ไม่ยอม ต้องว่ากันนานจึงตกลงกันได้

เรื่องราวเช่นนี้เป็นตัวอย่างที่เตือนให้มีความรู้เท่าทันที่จะวางตัววางท่าทีต่อสถานการณ์ให้ถูกต้อง

ขณะที่ประเทศอภิมหาอำนาจกำลังนำโลกเดินหน้าเข้าสู่ยุคแห่งการค้าเสรีไร้พรมแดนนั้น พอก้าวไปได้ไม่เท่าไร การค้าของโลกก็มาเจอเข้ากับวิกฤติเศรษฐกิจที่เริ่มต้นในเอเชีย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1997 เป็นต้นมา

มนุษย์ผู้ประสบทุกข์จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ มัวแต่คิดถึงปัญหาเฉพาะหน้าของตัวจนทำท่าจะลืมไปว่า ลึกลงไปใต้ปัญหาเศรษฐกิจของตนนั้น มีปัญหาใหญ่ยืนพื้นที่จะต้องแก้ไขระยะยาวรออยู่ตลอดเวลา คือปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

พอปัญหาเฉพาะหน้าผ่อนเบาลงบ้าง ก็หลงละเลิงมัวเมา จมอยู่ในความประมาทต่อไป ไม่มีจิตสำนึกที่จะแก้ไขปัญหาและทำการสร้างสรรค์ที่แท้จริงยั่งยืน

ปัญญา คือความรู้เท่าทันและปรีชาสามารถในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนรู้จักจัดทำดำเนินการ พร้อมทั้งเจตนาอันสุจริต ที่ปฏิบัติด้วยความไม่ประมาทอย่างมั่นคงจริงจังเท่านั้น ที่จะแก้ไขปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ระยะยาวคือการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน หรือปัญหาเฉพาะหน้าแห่งวิกฤตเศรษฐกิจ

ที่ว่านี้ รวมทั้งปฏิบัติการที่จะให้การค้าเสรีเกิดผลดีตามหลักการที่ยกขึ้นมาอ้างแก่กัน และไม่ให้การค้าเสรีนั้น กลายเป็นเรื่องของ “จักรวรรดินิยมแห่งการค้าเสรี” (“The Imperialism of Free Trade”) ในทำนอง “จักรวรรดินิยมนอกแบบ” (“informal imperialism”) อย่างที่เคยมีผู้พูดไว้ (หน้า ๑๐๖)15

ภาค ๓
ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา ต่อสัจธรรมด้วยปัญญา

 

ลักษณะที่เด่นและสำคัญ
แห่งวิถีทางสร้างสันติภาพแบบอเมริกัน

เวลานี้สหรัฐอเมริกาได้รับการยอมรับเป็นแบบอย่างหรือตามอย่าง ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และในทางสังคม ทั่วไปในโลกนี้อย่างกว้างขวาง ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

แต่ก็ควรจะตั้งคำถามให้พิจารณากันว่า วิถีทางแห่งเสรีภาพในระบบประชาธิปไตยตามความเข้าใจที่สืบกันมาในภูมิหลังของคนอเมริกันนี้ จะแก้ปัญหาความแตกแยกในหมู่มนุษย์ ทำให้มนุษย์สามัคคีรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำโลกไปสู่สันติสุข เริ่มตั้งแต่แก้ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาได้หรือไม่

ในขั้นนี้ ขอให้ตั้งข้อสังเกต ๒ ประการ

๑. ความคิดถูกหล่อหลอมจากภูมิหลังที่เน้นการปกป้องพิทักษ์ตัว: ลักษณะของคนอเมริกันที่ใฝ่ฝันบูชาเสรีภาพนั้น เกิดจากภูมิหลังที่ถูกบีบคั้นทำร้ายให้เกิดความรู้สึกเชิงปฏิกิริยา ที่เบื่อหน่าย เอือมระอา ตลอดจนเกลียดชังการจำกัดกีดกั้นบังคับ แล้วต้องการผละออกไปหาภาวะที่ตรงข้าม กลายเป็นความใฝ่ปรารถนาต่อเสรีภาพ จุดเน้นของความคิดอยู่ที่

ก) ความมั่นคงปลอดภัยของตนเอง เริ่มแต่ความอยู่รอดปลอดภัยของตน จนถึงการที่ตนเองจะได้สามารถทำหรือไม่ทำอะไรๆ ตามที่ปรารถนา คือจุดเน้นอยู่ที่ตัวตนของตนเอง ดังที่ชาวอเมริกันมีวัฒนธรรมเด่นในแง่ของการพิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์ของตน มิให้ใครล่วงละเมิด รวมทั้งการเน้นในเรื่อง privacy โยงลึกลงไปถึงการยึดถือใน individualism ที่โดยพื้นฐานเป็นลัทธิตัวใครตัวมัน

ข) จากข้อ ก) ก็โยงต่อไปในแง่ความสัมพันธ์หรืออยู่ร่วมกันกับผู้อื่น วิถีชีวิตอเมริกันจึงเน้นการไม่ละเมิด โดยเคารพสิทธิของกันและกัน การที่ต่างคนต่างก็ดำรงอยู่ และดำรงรักษาสิทธิของตน พร้อมกันนั้นก็มีอิทธิพลความเชื่อในลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) เสริมย้ำลงไปอีก ตามหลักใครดีใครอยู่ หรือใครเก่งก็รอด (the survival of the fittest) จึงเน้นความสามารถในการแข่งขัน ให้ต่างคนต่างดูแลตัวเอง ส่วนคนอื่นก็เอาแค่อย่าไปละเมิดกัน

แนวคิดอเมริกันไปถึงแค่ความเคารพสิทธิของกันและกัน ไม่ละเมิดต่อกัน ให้ต่างคนต่างรับผิดชอบตัวเองอยู่ไปได้ และอยู่กันได้ ไม่มีจุดเน้นในแง่ของความรักกัน เอาใจใส่ต่อกัน หรือความช่วยเหลือสมัครสมาน ดังนั้น ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือเอกภาพจึงเกิดได้ยาก

๒. ปฏิบัติการที่เด่นในการวางระบบควบคุมจากภายนอก: เพื่อให้การปกป้องพิทักษ์ตัวและสิทธิของตัวได้ผล และเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ดี โดยอยู่ในขอบเขตที่จะไม่ละเมิดต่อกัน ตามภูมิหลังแห่งการต่อสู้แข่งขันกัน สังคมอเมริกันจึงเป็นตัวอย่างของสังคมมนุษย์ที่ชำนาญพิเศษในการจัดตั้งวางกฎกติกา

ทั้งนี้ เพื่อเป็นขีดขั้นขอบเขตแห่งพฤติกรรมของแต่ละบุคคลแต่ละฝ่าย ตามหลักการที่สังคมอเมริกันก็ภูมิใจตนเองว่า เป็นสังคม rule of law คือ ปกครองและอยู่กันด้วยกฎกติกา ถือกฎหมายเป็นใหญ่

ก) กฎกติกาและกฎหมายนั้น ก็มาสนองแนวคิดในการป้องกันการละเมิดต่อกัน เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคนที่ตัวใครตัวมันนั้น มีอิสรภาพที่จะดิ้นรนต่อสู้ได้อย่างเต็มกำลัง และเมื่อมาประสานเข้ากับลัทธิทุนนิยม โอกาสในการดิ้นรนต่อสู้นั้นก็มีความหมายพิเศษที่มุ่งไปในการแสวงหาผลประโยชน์สนองความต้องการของตน เพียงเท่าที่ไม่ไปรุกล้ำหรือละเมิดต่อผู้อื่น freedom ของอเมริกันเป็น freedom ของตัวบุคคลผู้เดียว (individual liberty) ไม่ใช่ freedom ที่จะชื่นชมร่วมกัน

ข) จากภูมิหลังที่อยู่กันมาด้วยกฎกติกาหรือกฎหมายเป็นเวลานาน และเห็นผลดีของกฎกติกานั้น ก็ชักจะทำให้หลงเข้าใจไปชั้นเดียวแง่เดียวว่า ที่สำเร็จผลก็เพราะกฎ และเมื่อให้มีกฎแล้วผลที่ต้องการก็จะสำเร็จ

แต่แท้จริง การที่กฎเป็นตัวทำให้สำเร็จได้ ก็เพราะลึกลงไปในใจของคนมีความใฝ่ปรารถนาเป็นพลังผลักดันอยู่

กฎกติกาเป็นรูปปรากฏที่สำแดงออกมาของคุณสมบัติในจิตใจหรือในตัวคน เช่นการรักความเป็นธรรม แรงความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีระเบียบ เป็นต้น เมื่อทั้งแรงดันภายในและรูปสำแดงภายนอก ยังมีพร้อมสืบทอดกันอยู่ ผลสำเร็จก็เกิดขึ้น ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

แต่กฎกติกาเป็นรูปแบบทางรูปธรรมที่มองเห็นง่าย สืบต่อกันมาตามวิธีปฏิบัติทางสังคม ส่วนคุณสมบัติภายในเกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นผลักดันหรือชักจูงของเหตุการณ์ต่างๆ ในภูมิหลังของสังคม

เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ คุณสมบัติหรือแรงใจนี้ ถ้าไม่มีปัจจัยที่เอื้อคอยกระตุ้นไว้ ก็จะค่อยจางลางเลือนไป

คนรุ่นหลังๆ อาจจะอยู่กับกฎเกณฑ์กติกาและกฎหมาย โดยที่ในตัวของเขาไม่มีพลังคุณสมบัติในใจที่จะรักษาเจตนารมณ์ของกฎกติกาเหล่านั้น กฎกติกานั้นก็จะเป็นเพียงรูปแบบที่ได้ผลน้อยลงไป (ทำนองเดียวกับที่รูปแบบระบบการทำงานแบบอุตสาหกรรมยังคงอยู่ หรือแม้แต่ปรับให้ดีขึ้น แต่ work ethic ในตัวคนอเมริกันก็เสื่อมลง) พร้อมกับที่อาจจะเพี้ยนความหมาย ตลอดจนถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่นเพื่อการหาผลประโยชน์ ดังที่ได้เริ่มเกิดเป็นปัญหาในสังคมอเมริกันเอง (เช่นที่ทนายความสมคบกับลูกความ ทำคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเพื่อนบ้าน)

ค) ถึงอย่างไร ในที่สุด กฎกติกากฎหมายก็เป็นรูปแบบระบบภายนอกที่แก้ปัญหาได้เพียงในระดับหนึ่ง ถ้าปัญหานั้นๆ เป็นเรื่องระดับเดียวในขั้นรูปธรรมภายนอก การแก้ไขก็อาจสำเร็จไปได้

แต่หลายปัญหาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก่อนจะปรากฏออกมาภายนอก มีรากฐานลึกซึ้งสะสมอยู่ภายในจิตใจ (เช่นความรู้สึกรังเกียจ ความดูถูกดูแคลน ความชิงชัง) และในทิฏฐิ (เช่นความเชื่อ การยึดถือทางวัฒนธรรม การยึดมั่นในหลักการอุดมการณ์หรือคำสอนของศาสนา เป็นต้น) การแก้ปัญหาด้วยกฎเกณฑ์กติกาไม่เพียงพอที่จะให้ได้ผลจริงและยั่งยืน

ดังตัวอย่างปัญหาใหญ่ในสังคมอเมริกันที่เป็นมาและเป็นอยู่ ซึ่งจะเป็นต่อไป และคนอเมริกันก็วิจัยกันว่าจะเลวร้ายหนักหนายิ่งขึ้น คือปัญหาความแบ่งแยกแตกพวกระหว่างคนผิวขาวผิวดำ

สังคมอเมริกันได้พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยกฎหมาย ที่ตั้งข้อกำหนดในการให้เสรีภาพและความเสมอภาค และคุ้มครองป้องกันไม่ให้รุกล้ำละเมิดกัน แต่จนบัดนี้แม้ดูว่าคนจะเสมอกันเท่าเทียมกัน รวมกันได้ตามระบบที่จัดให้ อันแสดงว่ากฎหมายได้ผลมาก แต่ใจคนหารวมกันไม่

เมื่อใจไม่โน้มมาในทางที่จะรวมกัน ช่องว่างระหว่างกันก็ขยายความแบ่งแยกให้กว้างออกไปเรื่อยๆ รอเพียงว่าเมื่อไรผลร้ายแรงจะระเบิดขึ้นมา ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นกฎกติกาก็จะพลอยหมดความหมาย

เพียงปัญหาความแบ่งแยกระหว่างคนขาวกับคนดำที่มีอยู่แล้วในสังคมของตนเอง และเอาเพียงอย่างเดียวนี้ วิธีการของอเมริกันที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอที่จะแก้ไข จึงไม่สามารถเป็นความหวังของมนุษยชาติในการที่จะสร้างสามัคคีเพื่อสันติสุขของมวลมนุษย์

ขอเน้นบางจุดที่สำคัญ แห่งลักษณะของภูมิธรรมภูมิปัญญาอเมริกันที่สัมพันธ์กับเรื่องนี้ว่า

๑) คุณสมบัติพิเศษของอเมริกันได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อมุ่งปกป้องคุ้มครองตัวให้อยู่รอดปลอดภัยมีความมั่นคงและเจริญไปได้ โดยมิให้มีการรุกล้ำละเมิดต่อกัน และความหมายของเสรีภาพอิสรภาพ (freedom) ก็จำกัดอยู่ในด้านนี้

๒) สังคมอเมริกันขาดการพัฒนาคุณธรรมในเชิงความสัมพันธ์แบบสมัครสมานเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขมีสามัคคี เช่น เมตตา ไมตรี ความเอาใจใส่ น้ำใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความมุ่งหรือใฝ่ที่จะช่วยเหลือกัน แต่เน้นหลักตัวใครตัวมัน

๓) สังคมอเมริกันเน้นการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางรูปธรรม โดยเน้นหนักไปทางด้านรูปแบบหรือระบบอย่างเดียว จึงแก้ปัญหาด้วยการวางกฎกติกา และปกครองกันด้วยกฎหมาย ซึ่งแม้จะได้ผลดีมาก แม้แต่ขยายกว้างออกมาช่วยโลกได้มาก แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ

ความถนัดจัดเจนในการจัดตั้งวางระบบแบบแผนและบัญญัติกฎกติกาที่สะสมสืบมาของชาวตะวันตกนี้ ทำให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างมาก แม้แต่ในการจัดรวมคนให้ทำกิจกรรมหรือกิจการร่วมกัน ซึ่งบางทีแม้ว่าแต่ละคนอาจมีคุณภาพไม่ถึงกับดีมากนัก ก็ช่วยให้กิจการงานนั้นดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสำเร็จผลอย่างดี

แต่ความได้ผลนั้น ก็เป็นไปเพื่อความสำเร็จของธุรกิจการงาน มิใช่สำเร็จผลในด้านการสร้างเอกภาพของคน คือเป็นการจัดการคนเพื่อผลของงาน มิใช่การสมัครสมานคนเพื่อสันติสุขของโลก

ประสบการณ์ในภูมิหลังแห่งการต่อสู้ดิ้นรนในอารยธรรมตะวันตก ช่วยให้ชนชาติอเมริกันก้าวหน้ามาได้มากในการจัดตั้งวางระบบแบบแผนต่างๆ เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัยและให้สังคมมีความเจริญมั่นคงในด้านรูปธรรม

แต่ความสำเร็จในทางสันติของอารยธรรมตะวันตกนั้น อยู่เพียงในขั้นป้องกันและคุ้มครองจากการรุกล้ำละเมิดกัน โดยมีกฎกติกาเป็นกรอบกั้น ซึ่งในแง่ดีก็นับว่าได้มีส่วนช่วยปกป้องสันติภาพให้แก่โลก พอจะมีหลักประกันให้มนุษย์มีอิสรภาพ คือ freedom จากการเบียดเบียนข่มเหงกันในขั้นสำคัญระดับหนึ่ง

แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะขจัดการแบ่งแยกในสังคมมนุษย์ ยังเป็นเพียงจริยธรรมเชิงลบ

ถ้าจะให้โลกมีสันติภาพที่ยั่งยืน ให้มนุษย์มีสันติสุขอย่างแท้จริง และมีอิสรภาพ คือ freedom ที่แท้ ซึ่งมิใช่เป็นอิสรภาพชนิดที่ต้องคอยป้องกันการรุกล้ำซึ่งกันและกัน มนุษย์จะต้องก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ให้ถึงหลักการที่จะอำนวยจริยธรรมเชิงบวก

พูดสั้นๆ ว่า อารยธรรมอเมริกันถนัดในการจัดวางระบบที่จะป้องกันคนที่แยกพวกกันไม่ให้รุกล้ำกัน แต่ไม่มีเครื่องมือที่จะทำให้คนที่แบ่งแยกกันนั้นเข้ามาประสานรวมเป็นอันเดียวกัน

ภาพลักษณ์ของพุทธศาสนา
ในภูมิหลังแห่งการเบียดเบียนบีฑาทางศาสนา

หันมามองดูประเทศพุทธศาสนาบ้าง ประเทศตะวันตกซึ่งผ่านประวัติศาสตร์แห่งการเบียดเบียนและสงครามศาสนามามากนั้นเอง ยอมรับกันทั่วไปอย่างชัดเจนว่า พุทธศาสนาไม่มีประวัติแห่งการกำจัดบีบคั้นห้ำหั่นบีฑาและสงครามศาสนา (ไม่มีทั้ง religious persecution และ religious war)

ในเรื่องนี้ จะไม่กล่าวถึงตนเอง แต่ยกคำในตำรับตำราของตะวันตกมาดู พอให้เห็นว่าเขามองพุทธศาสนาอย่างไร

Encyclopaedia Britannica, 1997 (ในคำ “matyr”) กล่าวว่า

“พุทธศาสนา . . . โดยเด่นชัดว่าไม่มีประวัติแห่งการบีบคั้นกำจัด (persecution) หรือการขัดแย้งที่รุนแรงกับลัทธิศาสนาอื่นๆ . . .”

สารานุกรมใหญ่ชุดเดียวกันนี้ (ในคำ “pacifism”) นอกจากกล่าวถึงพุทธศาสนาแล้ว ยังกล่าวถึงนักปกครองผู้เป็นพุทธศาสนิก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาช่วยให้แม้แต่กิจการของมนุษย์ด้านที่ถือกันว่าจะต้องใช้กำลังและความรุนแรงมากที่สุด ก็ยังกลายเป็นกิจการแห่งสันติไปได้ สารานุกรมนั้นกล่าวว่า

...ขบวนการใฝ่สันติ (หรือขบวนการสันตินิยม) ที่แท้ รายแรกเท่าที่รู้ มาจากพุทธศาสนา ซึ่งพระศาสดากำหนดให้สาวกทั้งหลายของพระองค์ งดเว้นโดยสิ้นเชิงจากการทำร้ายไม่ว่าด้วยประการใดๆ ต่อเพื่อนสัตวโลก ในอินเดีย มหาราชอโศกผู้ได้รับแรงดลใจจากพุทธศาสนาในศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสต์ศักราช ได้ละเลิกการสงครามอย่างเด็ดขาด...

Compton’s Interactive Encyclopedia, 1997 เมื่ออธิบายคำ “Pacifism” ก็กล่าวไว้ว่า

สันตินิยม ที่เป็นถ้อยคำ เพิ่งใช้กันเป็นสามัญเมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 แต่สันตินิยมที่เป็นขบวนการนั้น มีอายุนานเท่าพระพุทธศาสนา . . .

เพื่อไม่ให้เนื้อเรื่องยืดยาว ขอกล่าวเป็นข้อสังเกตว่า

๑. พุทธศาสนาไม่กำจัดกวาดล้าง หรือห้ำหั่นบีฑาใคร (persecution) และไม่มีสงครามศาสนากับใคร (religious war) แต่พุทธศาสนาก็ถูกกำจัดกวาดล้าง ซึ่งบางแห่งก็เป็นเหตุให้พุทธศาสนาสูญสิ้นไป

ก) พุทธศาสนาและชาวพุทธ ยังไม่สามารถป้องกันตนเองจากการถูกกำจัดกวาดล้างได้

ข) พุทธศาสนาและชาวพุทธ ยังไม่สามารถชักจูงให้ชาวศาสนาอื่นละเลิกการห้ำหั่นบีฑาและการทำสงครามศาสนาได้

ในประเทศอินเดีย ถิ่นเกิดของพุทธศาสนาเอง ช่วงแรกพุทธศาสนาถูกกษัตริย์หรือผู้มีอำนาจชาวศาสนาพราหมณ์ (ต่อมาคือฮินดู) กำจัดกวาดล้างหลายครั้ง

เริ่มแต่เมื่อผ่านพ้นรัชสมัยพระเจ้าอโศกไปราวครึ่งศตวรรษ กษัตริย์พราหมณ์ราชวงศ์ศุงคะล้มราชวงศ์โมริยะ/เมารยะของพระเจ้าอโศกลง ตั้งราชวงศ์ใหม่ของตนแล้ว ได้กำจัดกวาดล้างพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ และครองอำนาจอยู่ยาวนานประมาณ ๑ ศตวรรษ (ราว ๑๘๔-๗๒ ปี ก่อน ค.ศ.)

ครั้งหลังสุด ประมาณ ค.ศ.1200 (พ.ศ.๑๗๐๐) กองทัพมุสลิมเตอร์กส์ยกมารุกรานแย่งชิงดินแดนถึงอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา นอกจากยึดครองบ้านเมืองแล้ว ก็แผ่ศาสนาอิสลามไปด้วย

กองทัพมุสลิมเตอร์กส์ได้บุกเผาวัดวาอาราม ทำลายมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ฆ่าฟันชาวพุทธทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ โดยบังคับให้หันไปนับถือศาสนาอิสลาม ดังตัวอย่างเรื่องราวในประวัติศาสตร์ตอนนั้น ที่นักประวัติศาสตร์มุสลิมเขียนไว้เองด้วยความภาคภูมิใจ และชาวตะวันตกได้แปลมาว่า

กลางเมืองนั้น มีวิหารหนึ่ง ซึ่งใหญ่โตและมั่นคงแข็งแรงยิ่งกว่าวิหารอื่นทั้งหลาย อันไม่อาจบรรยายหรือพรรณนาให้เห็นภาพได้

ดังนั้น สุลต่านจึงเขียนแสดงความรู้สึกทึ่งไว้ว่า: ถ้าบุคคลผู้ใดปรารถนาจะสร้างอาคารที่ใหญ่โตอย่างนี้ เขาจะมิอาจทำสำเร็จได้ หากมิใช้ทรัพย์เป็นแสนเหรียญแดง และถึงแม้จะใช้ช่างที่ชำนาญมีความสามารถที่สุด ก็จะต้องใช้เวลาสร้างถึง ๒๐๐ ปี . . .

แล้วสุลต่านก็ออกคำสั่งให้เอาน้ำมันจุดไฟเผาวิหารทุกแห่งเสียให้ราบเรียบเสมอผืนแผ่นดิน . . . อิสลามหรือความตาย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เป็นทางเลือกที่มหะมุดมอบให้แก่คนทั้งหลาย . . . ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่นั้นเป็นพราหมณ์ศีรษะโล้น (คือพระภิกษุ) คนเหล่านั้นถูกสังหาร

ณ ที่นั้นได้พบหนังสือจำนวนมากมาย และเมื่อชาวนักรบมูฮัมมัดได้เห็น จึงให้เรียกหาคนมาอธิบายเนื้อความ แต่คนเหล่านั้นได้ถูกฆ่าตายเสียหมดแล้ว ปรากฏว่าเมืองทั้งหมดนั้นคือสถานศึกษาแห่งหนึ่ง . . .

ประชาชนทั้งหลายนั้น บ้างก็ถูกเผา บ้างก็ถูกฆ่า . . .

ข้อนี้เป็นหลักการแห่งบรรพบุรุษทั้งหลายของข้าฯ นับแต่สมัยแห่งอาซาดุลลา ฆาลิบ จนถึงบัดนี้ ให้เปลี่ยนคนที่ไม่มีศรัทธาทั้งหลาย ให้หันมาถือพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียว และพระศาสนาแห่งมุซุลมาน ถ้าคนเหล่านั้นยอมรับนับถือศาสนาของเรา ก็ถูกต้อง และเป็นการดี แต่ถ้าเขาไม่ยอมรับ เราก็ลงดาบสังหารเขา . . .

กองทัพของมูฮัมมัดได้เริ่มฆ่าฟันสังหาร ทั้งข้างขวา ทั้งข้างซ้าย โดยมิต้องปรานี จนทั่วผืนแผ่นดินอันสกปรกนั้น เพื่ออิสลาม และโลหิตก็ได้หลั่งไหลดังสายธาร เหล่านักรบได้ขนรวมเอาทองและเงินมากมายสุดจะคิดคำนวณได้ . . .

หลังจากฟาดฟันสังหารสุดจะคณนานับได้ มือของท่านและเหล่าสหาย ก็นับมูลค่าแห่งทรัพย์สินที่ได้ขนรวมมา จนเหน็บจนชาไป

เมื่อได้มีชัยโดยสมบูรณ์แล้ว ท่านก็กลับมาเล่าแถลงเรื่องราวแห่งชัยชนะที่ได้มาเพื่ออิสลาม ทุกคนไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย ก็ได้พร้อมกันแสดงความชื่นชมยินดี และขอบคุณพระเจ้า”16

นับแต่นั้น พุทธศาสนาที่รุ่งเรืองมา ๑๗๐๐ ปี ก็ได้สูญสิ้นไปจากชมพูทวีป

แต่ทั้งนี้ชาวพุทธจะต้องเข้าใจถึงความสูญสิ้นของพุทธศาสนานี้ ว่ามิใช่เพราะเหตุที่ถูกกองทัพมุสลิมทำลายอย่างเดียว แต่จะต้องมองถึงความเสื่อมโทรมในวงการพุทธศาสนาเองด้วย ซึ่งการทำลายของกองทัพมุสลิมนี้เป็นการลงดาบครั้งสุดท้าย

อีกทั้งจะต้องเรียนรู้กระบวนการของศาสนาฮินดูในการกลืนพุทธศาสนาประกอบด้วย

พึงสังเกตว่า กษัตริย์พราหมณ์ที่โค่นราชวงศ์โมริยะ/เมารยะ ก็คือพราหมณ์ที่เป็นอำมาตย์ข้าราชการในราชสำนักของราชวงศ์โมริยะ/เมารยะ ของพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง

ในยุคราชวงศ์โมริยะ พระเจ้าอโศกกษัตริย์พุทธได้เริ่มให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้ และมิใช่เพียงให้เสรีภาพ แต่ยิ่งกว่านั้นอีก คือทรงอุปถัมภ์บำรุงทุกลัทธิศาสนา ตลอดกระทั่งว่าพราหมณ์เองก็เป็นอำมาตย์ในราชสำนัก

แต่แล้วอำมาตย์พราหมณ์เหล่านี้ก็ทำลายราชวงศ์ของพระองค์ และเมื่อขึ้นครองอำนาจแล้ว ก็ทำสิ่งที่ตรงข้ามกับการให้เสรีภาพและทำนุบำรุงทุกศาสนา คือกลับกำจัดกวาดล้างพุทธศาสนา ถึงขนาดที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า ได้ให้ค่าหัวชาวพุทธทีเดียว

ประวัติศาสตร์สรุปว่า ชาวพุทธถูกห้ำหั่นบีฑา
แต่ไม่มีสงครามศาสนากับชาวพุทธ

เนื่องจากชาวพุทธถูกกำจัดกวาดล้างข้างเดียว ไม่ว่าจะโดยชาวฮินดูหรือโดยชาวมุสลิม จึงมีแต่การทำ persecution (ห้ำหั่นบีฑา) แก่ชาวพุทธ ไม่มี religious war คือไม่มีสงครามศาสนากับชาวพุทธ

เรื่องนี้ตรงข้ามกับชาวฮินดู เมื่อกองทัพมุสลิมยกเข้ารุกรานในอินเดียนั้น มิใช่เฉพาะกำจัดกวาดล้างชาวพุทธเท่านั้น แต่ได้กำจัดฮินดูด้วย

แต่ฮินดูมิได้หมดไปอย่างพุทธศาสนา ชาวฮินดูยังคงอยู่และได้รบกับชาวมุสลิมที่ปกครองอินเดียตลอดมาอีกราว ๕๐๐ ปี จนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไปด้วยกัน

(อินเดียอยู่ใต้อำนาจบริษัท East India Company ของอังกฤษเกือบทั้งหมดในปี 1773 และมาเป็นของรัฐบาลอังกฤษ ใน ค.ศ.1858 จนกระทั่ง ค.ศ.1876 รัฐบาลอังกฤษจึงได้ประกาศให้ราชินีวิคตอเรียเป็นพระจักรพรรดินีแห่งอินเดีย)

ต่อมาเมื่อต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ก็เริ่มวิวาทกันอีก จนเมื่อได้เป็นเอกราชใน ค.ศ.1947 ก็เลยต้องแยกเป็น ๒ ประเทศ คือ อินเดีย (ฮินดู) กับปากีสถาน (มุสลิม)

ระหว่างที่ราชวงศ์มุสลิมปกครองอินเดีย ซึ่งมีการรบราฆ่าฟันสงครามกับนักรบฮินดูมาเรื่อยๆ นั้น แม้ผู้ปกครองมุสลิมจะต้องผ่อนเบาเอาใจฮินดูตามสมควร แต่บางครั้งก็ยังมีการกำจัดกวาดล้าง (persecution)

โดยเฉพาะครั้งใหญ่คือ ในรัชกาลพระเจ้าออรังเซบ (Aurangzeb ค.ศ.1658-1707) ซึ่งเมื่อเห็นว่าตนมีอำนาจยิ่งใหญ่เข้มแข็งมากแล้ว ก็กำจัดกวาดล้างชาวฮินดูอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการก่อกบฎ ที่กลับทำให้ราชวงศ์โมกุลของตนอ่อนแอลงอย่างไม่ฟื้น จนในที่สุดก็เสียแก่อังกฤษ

เรื่องทางด้านมุสลิมนี้ นอกจากในอินเดียที่ว่ามาแล้ว ก็เป็นที่รู้กันดีว่าได้มีเรื่อง persecution และ religious war และ holy war หรือ jihad มาตลอด ดังเช่น สงครามครูเสด (Crusades) เกือบ ๒๐๐ ปี กับประเทศคริสต์ในยุโรป การกำจัดกวาดล้างศาสนาโซโรอัสเตอร์ในอิหร่าน ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-10 และการกำจัดกวาดล้างและสงครามกับพวกลัทธิ Babism (ที่มาของศาสนาบาไฮ/Baha’ism) ในอิหร่านเช่นเดียวกัน

ในช่วง ค.ศ.1848-1850 ในอินเดีย นอกจากรบกับฮินดูแล้ว ชาวมุสลิมก็รบกับพวกสิกข์ (Sikhs) เป็นต้น ไม่ต้องพูดถึงความเป็นมาในอาฟริกา (โดยเฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19) ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างชาวยิวในอิสราเอล กับกลุ่มประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางจนปัจจุบัน

ฝรั่งหรือฝ่ายคริสต์มักพูดถึงศาสนาอิสลามว่า เผยแพร่ศาสนาด้วยคมดาบ (เช่น Encyclopaedia Britannica, 1997 คำ “Western Africa”: “Islam has been spread by the sword, . . .”)

แต่ทางฝ่ายชาวมุสลิมก็อ้างคัมภีร์กุรอ่านที่สอนว่า “จงอย่าได้มีการบังคับในศาสนา” (There shall be no compulsion in religion.) และในข้อที่ว่าอิสลามให้ทำสงครามศาสนานั้น ปราชญ์มุสลิมปัจจุบันก็เน้นให้ตีความเป็นการทำสงครามต่อสู้กับกิเลสในจิตใจของตนเอง

ถ้ามีการเน้นให้สอนกันอย่างหลังนี้ และจำกัดกันไว้ให้ชัดเจนแน่นหนาได้จริง พร้อมทั้งมิให้มีการยกคำสอนใดๆ ในคัมภีร์ไปอ้างเพื่อการรบราฆ่าฟัน การสถาปนาสันติภาพในโลก และการสร้างสรรค์สันติสุขให้แก่มวลมนุษย์ก็น่าจะมีทางเป็นไปได้

ในจีน พระพุทธศาสนาเริ่มประดิษฐานตั้งแต่ ค.ศ.77 (พ.ศ. ๖๑๐) แต่เมื่อเจริญรุ่งเรืองขึ้น ก็ถูกอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อขัดขวาง และใช้กำลังทำลายเป็นครั้งคราว

ที่เรียกว่าเป็น persecution คือ กำจัดกวาดล้าง ได้แก่ ใน ค.ศ.446 (พ.ศ.๙๘๙) และ ค.ศ.574-577 (พ.ศ.๑๑๑๗-๑๑๒๐) ในช่วงที่ ๒ นี้ มีการทำลายรุนแรง เช่น ยึดวัด ๔๐,๐๐๐ วัด บังคับพระภิกษุให้ลาสิกขา ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป ทำลายพระพุทธรูปเอาทองคำและทองแดงไปทำทองแท่งและเหรียญกษาปณ์

ต่อมาอีกครั้งหนึ่ง ใน ค.ศ.845 (พ.ศ.๑๓๘๘) จักรพรรดิจีน (พระเจ้าบู่จง) ซึ่งทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋า ทรงแต่งตั้งนักบวชเต๋าเป็นเสนาบดี แล้วดำเนินการทำลายพระพุทธศาสนา โดยทำลายวัดมากกว่า ๔,๖๐๐ แห่ง ทำลายเจดีย์วิหารกว่า ๔๐,๐๐๐ แห่ง ริบที่ดินวัด เผาคัมภีร์ หลอมพระพุทธรูป และบังคับภิกษุและภิกษุณีให้สึกมากกว่า ๒๖๐,๐๐๐ รูป

พึงสังเกตว่า พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในจีนอย่างมากและยาวนาน แต่ตลอดระยะเวลาที่เจริญรุ่งเรืองนั้น ทางฝ่ายพุทธศาสนาไม่เคยกำจัดเบียดเบียนลัทธิศาสนาอื่น ไม่ว่าจะเป็นขงจื๊อ เต๋า หรือลัทธิใด และเมื่อผ่านการถูกกำจัดไปแล้ว ก็มิได้ทำการแก้แค้น

คงเป็นเพราะเหตุนี้ วงการพุทธศาสนาจึงไม่มีคู่กรณีหรือคู่เวรกับลัทธิศาสนาใด ที่อาฆาตคั่งแค้นต่อสู้กันมาในประวัติศาสตร์ เหมือนดังในที่อื่นๆ (เพราะเป็นฝ่ายถูกกระทำข้างเดียว)

น่าสังเกตด้วยว่า ในจีนที่พุทธศาสนารุ่งเรืองต่อกันมายาวนานนี้ แม้เมื่อมีการกำจัดพุทธศาสนาอย่างรุนแรง ก็ไม่ถึงขั้นมุ่งทำลายชีวิต ส่วนมากทำเพียงในขั้นให้ภิกษุและภิกษุณีลาสิกขา (อาจเป็นเพราะคนมีลักษณะผ่อนคลายความรุนแรงลงไป หรืออาจเป็นเพราะรู้อยู่ว่าถึงปล่อยให้มีชีวิตอยู่ ชาวพุทธก็จะไม่มาแก้แค้น)

ขอพูดถึงอินเดียและจีนเป็นตัวอย่างไว้เท่านี้ เรื่องราวที่อื่นๆ เช่นญี่ปุ่น ไทย จะไม่กล่าวถึง

ไม่มีการขัดแย้งโดยใช้กำลัง
ระหว่างต่างนิกายในพุทธศาสนา

๒. ในแง่การแตกแยกนิกาย พุทธศาสนาก็มีการแบ่งออกเป็นนิกายทั้งนิกายใหญ่และนิกายย่อย อย่างที่มีมหายานกับเถรวาท ดังที่ปรากฏอยู่ หรือจะนับวัชรยานแยกออกไปอีกก็ได้ และในนิกายใหญ่เหล่านี้ ก็ยังมีนิกายย่อยแยกออกไปอีก โดยเฉพาะในฝ่ายมหายาน ซึ่งมีนิกายสาขามากมาย

แต่ข้อที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าจะแตกแยกกันไปเท่าไร ก็ไม่มีการใช้กำลังเข้าประหัตประหารทำลายกัน อันต่างจากประวัติศาสตร์ของประเทศตะวันตกอย่างไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกัน

กล่าวได้ว่า การแตกแยกและวิวาทกัน อยู่ในขอบเขตของการใช้วิธีการแห่งปัญญา ด้วยการพูดจาถกเถียงแสดงเหตุผล (หรือในบางยุคบางสมัยก็ไม่ใช้แม้แต่วิธีการแห่งปัญญา เพียงแต่ปล่อยเรื่อยๆ เฉื่อยๆ กันไป)

เมื่อมีการแตกแยก และจะแก้ไข หลักการแก้ไขก็คือการพยายามรักษาพระสัทธรรมซึ่งเป็นตัวหลักการที่แท้ไว้ ถ้าเป็นกรณีที่ใหญ่มาก และสมควร ก็มีการสังคายนา

งานอย่างหนึ่งซึ่งมีการดำเนินการในบางคราว คือการประชุมสอบความรู้พระสงฆ์ ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ เห็นผิด ก็ให้ลาสิกขาไป เพราะเมื่อไม่รู้และไม่ปฏิบัติตามหลักการของพระธรรมวินัย ก็ไม่มีสิทธิที่จะครองเพศแสดงตนว่าเป็นพระภิกษุ (ที่จริงก็คือเป็นภิกษุปลอม คือไม่ใช่ภิกษุจริง จึงควรจะปฏิบัติให้ตรงตามความจริง ด้วยการกลับออกไปเป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่มาหลอกประชาชนอยู่)

แต่เกณฑ์ที่ใช้วัดนี้ มิใช่เรื่องง่าย จะต้องระวังให้มาก เพื่อให้ได้เครื่องวัดความรู้เข้าใจหลักการที่แท้จริง

การสอบความรู้พระภิกษุอย่างนี้ ครั้งใหญ่ที่สุดคงจะได้แก่ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่พระภิกษุผู้ไม่ผ่านการสอบต้องนุ่งผ้าขาวลาสิกขาไปประมาณ ๖๐,๐๐๐ รูป

ถ้าถือว่าเป็นการลงโทษ นี่ก็คือการลงโทษที่รุนแรงในพุทธศาสนา แต่จะไม่มีการประหัตประหารกัน

ในประเทศไทยสมัยก่อน พระภิกษุผู้ทำผิดธรรมวินัยร้ายแรง เมื่อสึกออกมาแล้ว บางทีมีการลงอาญาแผ่นดิน เป็นโทษทางบ้านเมืองต่ออีก แต่ก็เป็นเรื่องกรณีทำความผิดของบุคคล ไม่ใช่การขัดแย้งทะเลาะวิวาทของหมู่ชน

แม้แต่เรื่องที่เล่ากันมาว่าเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ก็เทียบไม่ได้เลยแม้เพียงกระผีกริ้นกับเหตุการณ์ที่เป็น persecution ในโลกตะวันตก

อิทธิพลของหลักศาสนาต่อบทบาทของรัฐ
ในการส่งเสริมหรือกำจัดเสรีภาพทางศาสนา

๓. เมื่อยกเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาเปรียบเทียบกัน จะเห็นความแตกต่างที่เด่นชัดมากอย่างหนึ่ง คือ ในยุโรป เมื่อกษัตริย์ที่นับถือลัทธิศาสนาใด หรือแม้แต่นิกายใดของศาสนาหนึ่ง ขึ้นปกครอง ก็มักจะต้องกำจัดกวาดล้างผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่น หรือนิกายอื่นลงไป ซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่ต้นประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์

เมื่อศาสนาคริสต์เกิดใหม่ จักรวรรดิโรมันก็กำจัดกวาดล้างศาสนาคริสต์ แต่พอจักรพรรดิโรมันเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ทั้งอาณาจักรโรมันและศาสนจักรคริสต์ก็เริ่มงานกำจัดกวาดล้างลัทธิศาสนาอื่นตลอดมาจนสิ้นยุคปฏิรูป (ประมาณ ๑๒๐๐ ปี) หรือจะดูในแต่ละประเทศย่อยๆ ลงมา ก็มีสภาพการณ์อย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี ฯลฯ

เมื่อหลายประเทศหรือหลายรัฐที่นับถือลัทธินิกายต่างกันมาอยู่ใกล้กัน หรือในประเทศเดียวกันเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ปกครอง และผู้ปกครองคนใหม่นับถือลัทธินิกายต่างจากคนก่อน ก็เกิดการขัดแย้งรบราฆ่าฟันกัน กษัตริย์ที่นับถือต่างกัน พาพลเมืองมารบกันบ้าง กษัตริย์นับถือต่างจากราษฎรก็กำจัดราษฎรต่างนิกายบ้าง

ถือกันเป็นเรื่องใหญ่ว่า กษัตริย์กับราษฎรต้องนับถือลัทธินิกายเดียวกัน มิฉะนั้นจะต้องอยู่ด้วยกันไม่ได้

มีแม้กระทั่งการออกข้อบังคับให้ราษฎรต้องนับถือลัทธินิกายตามกษัตริย์ที่ปกครอง

ดังตัวอย่างในเยอรมนี พวกคาทอลิก กับโปรเตสแตนต์นิกายลูเธอแรน (Lutherans) รบกันเป็นสงครามศาสนากลางเมือง (religious civil war) เป็นเวลาถึง ๓๐ ปี จนถึง ค.ศ.1555 จึงเซ็นสัญญาสงบศึกกัน (เรียกว่า Religious Peace of Augsburg)

สัญญาสงบศึกแห่งออกสเบอร์กนี้มีข้อกำหนดให้สิทธิแก่กษัตริย์หรือผู้ปกครอง ที่เรียกว่า “cuius regio, eius religio” หมายความว่า ให้ผู้ปกครองของแต่ละรัฐ (เวลานั้นเยอรมนีมีประมาณ ๓๐๐ รัฐ) เป็นผู้เลือกว่าจะนับถือนิกายโรมันคาทอลิก หรือนิกายโปรเตสแตนต์ แล้วบังคับให้ราษฎรในรัฐของตนต้องนับถืออย่างนั้นตาม

แน่นอนว่า การปฏิบัติเช่นนี้ย่อมทำให้ราษฎรเดือดร้อนยิ่งนัก

ต่อมาก็เกิดสงครามใหม่ ที่ใหญ่และขยายกว้างรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ยาวนาน ๓๐ ปีเช่นเดียวกัน ดังที่เรียกว่า สงคราม ๓๐ ปี/Thirty Years' War ค.ศ.1618-1648 ซึ่งจบลงด้วยสัญญาสงบศึกเวสท์ฟาเลีย/Peace of Westphalia ที่กำหนดใหม่ว่า ถ้าเจ้าองค์ใดเปลี่ยนศาสนา เจ้าองค์นั้นต้องสละแผ่นดิน

หันมาดูในประเทศพุทธศาสนา เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชครองมคธตลอดทั้งชมพูทวีป พอหันมานับถือพระพุทธศาสนา สิ่งที่พระเจ้าอโศกทำ หรือวิธีแสดงความนับถือพระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศก ก็คือ การแนะนำชักชวนให้ศาสนิกทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดองสามัคคี (สมวายะ) และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่นักบวชเป็นต้นในทุกลัทธิศาสนา และประชาชนทุกหมู่เหล่าก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่มีการเบียดเบียนกันด้วยเรื่องศาสนา เป็นภาวะที่ตรงข้ามกับในประเทศตะวันตกโดยสิ้นเชิง

เป็นการแน่นอนที่ควรจะถามหาเหตุผลในเรื่องนี้ว่า

ทำไม เมื่อกษัตริย์ในยุโรปที่นับถือลัทธินิกายหนึ่งขึ้นปกครอง หรือเมื่อลัทธินิกายหนึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ จะต้องหมายถึงการที่จะบังคับให้ประชาชนหันมานับถือลัทธินิกายนั้นอย่างเดียว และกำจัดกวาดล้างลัทธินิกายอื่นลง และ

ทำไม เมื่อกษัตริย์ชาวพุทธขึ้นปกครอง หรือพุทธศาสนาได้รับการยกย่องเชิดชูขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติในอาณาจักรใด จึงหมายถึงการที่ลัทธิศาสนาและศาสนิกทั้งหลายทั้งปวงในอาณาจักรนั้น จะได้รับการอุปถัมภ์บำรุงดูแลให้อยู่ร่วมกันด้วยดี และมีความร่มเย็นเป็นสุขทั่วกัน

เรื่องนี้ตอบได้อย่างง่ายๆ โดยดูเพียงหลักการพื้นฐานก็เพียงพอ ยังไม่ต้องพิจารณาลึกลงไปถึงรายละเอียด

พึงทราบว่า การนำหลักการที่ต่างกันมาแสดงไว้นี้ มิใช่เป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นว่าศาสนาไหนดีกว่าศาสนาไหน แต่เป็นเรื่องของการที่จะต้องศึกษาให้รู้เข้าใจว่า ปรากฏการณ์ที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้นๆ มีเหตุผลเป็นมาอย่างไร

การนับถือศาสนา(แต่เดิม)ของตะวันตก หมายถึงการที่จะต้องนับถือพระผู้เป็นเจ้าของลัทธินิกายนั้นแต่พระองค์เดียว และต้องละเลิกการนับถือสิ่งอื่นทั้งหมด

(เช่น “Thou shalt have no other gods before me.” —Exodus 20:3; “He that sacrificeth unto any god, save unto the LORD only, he shall be utterly destroyed. —Exodus 22:20)

พร้อมกันนั้น การนับถือพระผู้เป็นเจ้าพระองค์นั้น ก็หมายถึงการที่จะต้องเชื่อถือและปฏิบัติตามคำสอนที่เป็นเทวบัญชา (ตามการตีความของนิกายนั้นๆ) ของพระองค์ อย่างชนิดเป็นข้อกำหนดตายตัว ที่เรียกว่า dogma

อนึ่ง จุดมุ่งหมายในการสถาปนาศาสนาและลัทธินิกายนั้นขึ้นในสังคม ก็เพื่อให้ทุกคนในสังคมนั้นจะได้นับถือพระผู้เป็นเจ้าพระองค์นั้น และปฏิบัติตามเทวบัญชาของพระองค์อย่างเดียว ให้เป็นการแน่นอนเด็ดขาด ไม่กระจายออกไปอย่างอื่น

ทั้งนี้เป็นการสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในการเผยแผ่ศาสนา ที่ให้ไปทำให้คนทั้งหลายหันมานับถือพระผู้เป็นเจ้านั้น หรือเป็นสาวกของพระองค์

(“Go therefore and make disciples of all nations, baptizing them in the name of the Father . . . “ — Matthew 28:19-20 หรือ “Go ye into all the world, and preach the gospel to every creature. He that believeth and is baptized shall be saved; but he that believeth not shall be damned.” — Mark 16:15-16)

หลักการที่ว่ามานี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกจาก องค์กรศาสนาคริสต์เคยสอนให้ถือคนนอกศาสนาเป็นพวกของซาตาน เป็นคนบาปที่จะต้องกำจัดแล้ว แม้แต่ชาวคริสต์เองที่นอกรีต (heretics) ก็จะต้องถูกกำจัดอย่างรุนแรงและเอาจริงเอาจัง ดังจะเห็นได้จากประวัติการกำจัดลัทธินอกรีต (heresy) เช่น การตั้งศาลไต่สวนศรัทธา/Inquisition ในช่วง ค.ศ.1231-1834 เป็นต้น

เรื่องนี้ ชาวตะวันตกเอง ซึ่งตามปกติถือว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความรุนแรง ก็ยังยอมรับว่า การกำจัดกวาดล้างลัทธินอกรีตนี้ ในศาสนาคริสต์ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าในศาสนาอิสลาม (ดู “heresy,” Britannica, 1997)

ในการเผยแผ่ศาสนาของชาวตะวันตก นอกจากใช้วิธีบังคับแล้ว ก็ใช้วิธีล่อด้วยอามิสด้วย โดยเฉพาะเมื่อผ่านยุคอาณานิคมแล้ว ไม่อาจใช้วิธีบังคับด้วยกำลังรุนแรง การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศกำลัง/ด้อยพัฒนา ก็หันมาเน้นทางอามิสสงเคราะห์มากขึ้น

ส่วนการนับถือพุทธศาสนา หมายถึงการเพียรพยายามฝึกฝนพัฒนาตนในการปฏิบัติตามหลักการที่พระพุทธเจ้าสอน โดยก้าวขึ้นไปจากพื้นฐานที่ตนเป็นอยู่ จนกว่าจะถึงจุดหมายสูงสุด

การปฏิบัติจะก้าวไปได้แค่ไหนเพียงไร ย่อมขึ้นต่อสิกขาคือการศึกษา ที่จะต้องเรียนรู้ให้เกิดปัญญามองเห็น จึงจะปฏิบัติได้ถูกต้องและบรรลุผล

เป็นธรรมดาของธรรมชาติว่า ปัญญานั้นเป็นคุณสมบัติที่ไม่อาจยัดเยียดใส่หรือบังคับให้เกิดขึ้นได้ แต่จะต้องพัฒนาขึ้นมาด้วยการฝึกฝนเรียนรู้ของแต่ละคน ซึ่งคนอื่นหรือศาสนาสามารถเกื้อหนุน

แต่จะช่วยได้แค่ไหนย่อมขึ้นต่อปัจจัยทั้งสองฝ่าย คือความพร้อมและความตั้งใจฝึกของตัวเขาเอง ฝ่ายหนึ่ง และสติปัญญาความสามารถพร้อมทั้งความใส่ใจตั้งใจในการช่วยเหลือของผู้ที่เข้ามาเป็นกัลยาณมิตร อีกฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้หมายความว่า กัลยาณมิตรนั้นจะต้องเพียรพยายามช่วยเหลือเขาด้วยเมตตากรุณา และต้องพัฒนาความสามารถในการที่จะแนะนำสั่งสอนให้ได้ผล

การที่จะบังคับให้เขารู้เข้าใจ ย่อมเป็นไปไม่ได้ หรือจะให้อามิส ปัญญาก็เกิดไม่ได้เช่นเดียวกัน

แม้จะเอาในแง่ศรัทธา ไม่ว่าจะใช้อามิสล่อ หรือจะไปบังคับให้เขาเชื่อ ก็ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นของแท้จริง

อนึ่ง จุดมุ่งหมายของการสถาปนาพุทธศาสนาขึ้นในสังคม ก็เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน คือเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ตัวเขาเอง ไม่พูดถึงการที่เขาจะมานับถือหรือเป็นพวกของเราหรือไม่

ทั้งนี้ คำกล่าวที่แสดงจุดมุ่งหมายในการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในสังคมก็ตาม ในการเผยแผ่พุทธศาสนาก็ตาม มีข้อความอย่างเดียวกัน ดังพระดำรัสส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาว่า

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อเมตตาการุณย์แก่ชาวโลก (“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” — วินย.๔/๓๒; ตัวพุทธศาสนาเองก็ดำรงอยู่เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนี้ เช่น ที.ม.๑๐/๑๐๗; ที.ปา. ๑๑/๑๐๘, ๒๒๕)

หลักการนี้ถือว่า พุทธศาสนามิใช่มีอยู่เพื่อตัวของพุทธศาสนาเอง แต่พุทธศาสนามีอยู่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน คือเพื่อมวลมนุษย์ที่เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

ในประเพณีพุทธ การคุ้มครองศาสนา
คือให้ปฏิบัติการที่ตรงไปตรงมา ว่าตนนับถืออย่างไร

พูดสั้นๆ ว่า ตามคติของตะวันตก การที่ศาสนาหรือลัทธินิกายใดขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ ก็คือ การที่จะต้องเลิกอย่างอื่นมาเอาลัทธิศาสนาหรือนิกายนั้นไว้อย่างเดียว

แต่ตามคติของกษัตริย์ชาวพุทธ การที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หมายถึงการยอมรับที่จะนำเอาหลักพุทธธรรมแห่งการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนมาปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ให้เกิดผลแก่ประเทศชาติทั่วทั้งหมด

ขอให้สังเกตเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงไว้อย่างหนึ่ง คือ ในหลักคำสอนของพุทธศาสนาว่าด้วยหน้าที่ของกษัตริย์หรือผู้ปกครอง ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและนักบวช จะใช้คำกลางๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะพุทธศาสนาและพระภิกษุในพุทธศาสนา

ตัวอย่าง เช่น ในจักรวรรดิวัตร คือการบำเพ็ญราชกิจของจักรพรรดิราช ก็จะกล่าวถึงแต่หลักการ คือ “ธรรม” และกล่าวถึงนักบวชว่า “สมณพราหมณ์” ซึ่งเป็นคำกลางๆ หมายถึงนักบวชทุกประเภทในชมพูทวีป ดังข้อความว่า

ท่านจงอาศัยธรรม เคารพนับถือบูชาธรรม . . . ถือธรรมเป็นใหญ่ จงจัดความดูแลคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม . . . แก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย . . .

สมณพราหมณ์เหล่าใด ในแว่นแคว้น ที่เว้นจากความมัวเมาประมาท . . . ท่านจงเข้าไปหาและปรึกษาสอบถามสมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยสม่ำเสมอ ว่าอะไรดี อะไรชั่ว . . .”

(ที.ปา.๑๑/๓๕)

แม้แต่ข้อปฏิบัติหรือกิจหน้าที่ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั่วไป ในการอยู่ร่วมสังคม เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ด้านศาสนา คำสอนในพุทธศาสนาก็ให้ชาวบ้านอุปถัมภ์บำรุง “สมณพราหมณ์” อย่างเป็นกลางๆ โดยกล่าวว่า

“กุลบุตรพึงบำรุงสมณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบนโดยฐานะ ๕ . . .”

(ที.ปา.๑๑/๒๐๔)

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า หลักการของพุทธศาสนาเปิดกว้างอยู่ในตัวเอง ที่ทำให้ชาวพุทธ เมื่อนับถือพุทธศาสนาแล้ว แทนที่จะจำกัดตัวแคบเข้ามา กลับยิ่งเปิดตัวเปิดใจและเปิดปัญญากว้างออกไป

ว่าที่จริง เดิมทีเดียว ในคริสต์ศาสนาเอง เมื่อเริ่มต้นเผยแพร่ ยังไม่มีกำลัง และยังเป็นฝ่ายถูกกำจัดกวาดล้างอยู่ การถือนอกรีต (heresy) มีโทษเพียงถูกขับออกจากศาสนจักร หรือตัดออกจากความเป็นศาสนิก (excommunication, บางทีแปลกันว่า “การคว่ำบาตร” ซึ่งมีความหมายไม่ตรงกันแท้)

แต่ต่อมา เมื่อองค์กรศาสนาคริสต์เข้าไปมีอำนาจในการเมือง ตั้งแต่หลัง ค.ศ.300 เป็นต้นมา การลงโทษและกำจัดกวาดล้างคนนอกรีตก็เป็นไปอย่างรุนแรง ถึงขั้นเผาทั้งเป็น (ดู หน้า ๖๓-๗๗ เป็นต้น)

ในพุทธศาสนา การลงโทษเนื่องจากการถือนอกรีต (heresy) ที่เหมือนอย่างของตะวันตกแท้ๆ ไม่มี

เรื่องที่อาจยกมาเทียบเคียงได้บ้าง คือ เมื่อมีผู้กล่าวร้ายอย่างที่เรียกว่า จ้วงจาบต่อพระพุทธศาสนา (เรียกตามคำบาลีว่า ปรัปวาท) วิธีปฏิบัติก็คือ ชี้แจงอธิบาย หรือแสดงความจริงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

การลงโทษอาจมีได้ในกรณีที่บุคคลผู้เป็นพุทธศาสนิกชนเอง คือ อุบาสกอุบาสิกา กระทำการกลั่นแกล้ง ตัดรอน ด่าว่า ยุยงภิกษุทั้งหลาย หรือกล่าวติเตียนพระรัตนตรัย สงฆ์อาจประชุมกันลงมติคว่ำบาตร คือไม่คบหาบุคคลผู้นั้น

อย่างไรก็ดี ในพระพุทธศาสนามีชุมชนพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งคือ สังฆะ หรือสงฆ์ สำหรับผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาแล้ว และมีคุณสมบัติพร้อม จะสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก เรียกว่าบวชเป็นภิกษุ (หรือภิกษุณี) เพื่อดำเนินชีวิต และประพฤติปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้

ผู้ที่บวชเข้ามา ก็คือผู้ที่ได้ยอมรับหลักการของพระพุทธศาสนา(แบบนั้น)แล้ว และแสดงความสมัครใจที่จะปฏิบัติตามกฎกติกา คือวินัยของสังฆะ ดังนั้น ถ้าทำความผิดร้ายแรงละเมิดกฎที่วางไว้ หรือออกนอกหลักการไปถือลัทธิอื่น (เรียกว่าไปเข้ารีตเดียรถีย์) สงฆ์สามารถลงโทษโดยให้สึก คือสละเพศภิกษุเสีย

การให้สึก หรือสละเพศนี้ ถือว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรงที่สุดในพระพุทธศาสนา

ว่าที่จริง การให้สึกหรือสละเพศนี้ ไม่ใช่เป็นการลงโทษด้วยซ้ำ แต่เป็นปฏิบัติการที่ตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริง

หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นไม่ยอมรับหลักการของพระพุทธศาสนา หรือไม่ยอมรับสังฆะนั้นแล้ว หรือละเมิดกติกาที่ทำให้หมดสิทธิที่จะอยู่ร่วมสังฆะนั้นแล้ว เขาก็ย่อมจะต้องสละออกนอกสังฆะนั้นไปเป็นธรรมดา

ดังนั้น การสึก หรือสละเพศ ก็คือการแสดงความซื่อสัตย์ปฏิบัติให้ตรงตามความเป็นจริง และเป็นปฏิบัติการที่ยุติธรรมต่อชุมชนที่ตนไม่มีสิทธิ หรือไม่สมัครใจจะอยู่ร่วมด้วยแล้วนั่นเอง เป็นการไม่เอาเปรียบ หรือถือโอกาสเอารูปแบบของชุมชนนั้นมาใช้สนองผลประโยชน์ส่วนตัว

จะเป็นเรื่องแปลกประหลาด ที่บุคคลผู้ไม่ยอมรับหลักการของสังฆะนั้น หรือไม่ยอมรับสังฆะนั้นแล้ว จะยังบอกว่าตนอยู่ในสังฆะนั้น ซึ่งจะต้องถือว่าเป็นการแอบแฝง หรือหลอกลวง

ยิ่งถ้าอ้างเสรีภาพทางศาสนา ก็ยิ่งแปลกประหลาดหนักเข้าไปอีก เพราะถ้าอ้าง ก็ไม่ใช่เสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่กลายเป็นเสรีภาพในการทำลายศาสนา

จุดสำคัญในเรื่องนี้ คือ แม้แต่การให้สึก ที่พูดกันว่าเป็นการลงโทษที่ร้ายแรงที่สุดในพระพุทธศาสนา ก็เป็นเพียง

๑. การมีเสรีภาพอันแท้จริง ที่จะปฏิบัติให้ตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง

๒. ไม่มีการลงโทษใดๆ ในพุทธศาสนา ที่กระทบกระเทือนถึงชีวิต หรือแม้แต่ทำให้เจ็บช้ำร่างกาย

น่าชมฝรั่งดี ที่มีความใฝ่รู้ ทำให้พบเรื่องพระเจ้าอโศก
น่าเห็นใจฝรั่ง ที่ไม่มีพื้นฐาน ต้องใช้เวลานานจึงเข้าใจอโศก

ขอย้อนกลับไปพูดถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชเพิ่มเติมว่า

เมื่อครั้งมีการศึกษาเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชกันใหม่ๆ ตอนนั้นยังค้นพบศิลาจารึกอโศกไม่ได้มากอย่างปัจจุบัน นักปราชญ์ทั้งหลาย ซึ่งจำนวนมากเป็นชาวตะวันตก (เรื่องพระเจ้าอโศก และจารึกอโศก ฝรั่งเป็นผู้เริ่มต้นขึ้น) อ่านจารึกอโศกแล้ว เห็นว่ามีเนื้อความสอนเรื่องการทำความดีต่างๆ โดยไม่ได้มีคำระบุถึงพุทธศาสนา

บางพวกก็ลงความเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราชไม่ได้นับถือพุทธศาสนาเป็นพิเศษกว่าศาสนาอื่นๆ หรอก พระองค์ก็ทรงปฏิบัติดีและอุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนาเหมือนกัน (คล้ายกับบอกว่าชาวพุทธตู่เอาเองว่า พระเจ้าอโศกนับถือพุทธศาสนา)

แต่ต่อมาเมื่อมีการค้นพบศิลาจารึกทั่วถึงมากขึ้น พร้อมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ที่ระบุหรือแสดงชัดว่าพระเจ้าอโศกทรงนับถือพุทธศาสนา เสียงนั้นจึงหายไป เวลานี้ตำรับตำราต่างๆ ก็เขียนลงกันทั่วไปว่า พระเจ้าอโศกมหาราชนับถือพุทธศาสนา

ถึงกระนั้นก็ตาม ฝรั่งก็ยังตั้งแง่อีกว่า ถึงแม้พระเจ้าอโศกจะนับถือพุทธศาสนา แต่ก็ทรงถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ดังจะเห็นว่า เมื่อทรงทำศิลาจารึกสั่งสอนแนะนำประชาชน ก็ทรงกล่าวถึงการทำความดีเป็นกลางๆ โดยไม่ได้อ้างพุทธศาสนา

การที่ฝรั่งเข้าใจอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ ก็เพราะเขาอยู่ใต้อิทธิพลแห่งภูมิหลังทางวัฒนธรรมตามประวัติศาสตร์ของตะวันตก ที่เรื่องของความเชื่อถือ คำสอนและการปฏิบัติเป็น dogma คือเป็นข้อกำหนดตายตัว เป็นเทวบัญชาออกมา จะต้องหมั่นกล่าวถึงพระเป็นเจ้าและคอยอ้างอิงโองการของพระองค์อยู่ไม่ให้ขาด

เขาไม่เข้าใจความรู้สึก ไม่รู้จักวิธีคิดและวิธีแสดงออกแบบพุทธ เช่นว่า

ก) คำสอนในทางพุทธศาสนาเป็นการพูดถึงความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ และกล่าวถึงความประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ที่ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น

ตำรับตำราในพุทธศาสนาบางทีทั้งบททั้งตอนกล่าวถึงธรรมคือหลักการหรือหลักความจริง พร้อมทั้งอธิบายขยายความไป จนจบบทจบตอน โดยไม่เอ่ยถึงพระพุทธเจ้าเลยก็มี

(ตำราหรือคัมภีร์เหล่านี้ เมื่อแปลเป็นภาษาไทย ได้มีความนิยมสืบต่อกันมาว่า ผู้แปลจะเติมนามของท่านผู้กล่าวหรืออธิบายความนั้นไว้ด้วย เช่นเติมคำว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า” เป็นต้น)

ปัจจุบัน ในประเทศไทยนี้เองก็เห็นได้ชัด มีการนำหลักธรรมในพุทธศาสนา ไปจัดวางเป็นหลักการบางอย่างบ้าง นำไปอธิบายขยายความบ้าง บางทีเลือกเอาบางส่วนบางข้อไปใช้บ้าง โดยไม่บอกเลยว่ามาจากพุทธศาสนา ซึ่งบางทีก็ไปไกลกว่าวิธีของพระเจ้าอโศก

ว่าที่จริง เวลานี้ในทางวิชาการก็ถือกันนักว่า เมื่อนำวาทะของใครมากล่าว ก็ควรอ้างแหล่งที่มาไว้ด้วย เพื่อเป็นการแสดงความซื่อสัตย์ทางวิชาการ เพื่อแสดงความเคารพต่อท่านผู้กล่าว และเพื่อแสดงว่าข้อเขียนนั้นมีหลักฐานที่มาที่ไป ไม่เลื่อนลอย

ไฉนเราจะนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาว่าเอาตามชอบใจ เหมือนดังไม่เคารพพระองค์

ถ้าทำกันอย่างนี้ ก็จะมีผู้ตำหนิได้ว่า ทีวาทะของปราชญ์ตะวันตกละก็ชอบอ้างชื่อเขานัก แต่วจนะของพระพุทธเจ้ากลับแกล้งละเลย ไม่ยอมอ้างอิง

(ยิ่งกว่านั้น บางทียังเอาไปตัดต่อดัดแปลงตามความคิดของตนเอง หรือตามชอบใจอีกด้วย ทำให้เกิดความผิดพลาดโดยรู้ไม่เท่าถึงการณ์)

ข) สืบเนื่องจากข้อก่อน หลักคำสอนในพุทธศาสนาจึงไม่เป็น dogma คือไม่เป็นข้อกำหนดตายตัว ที่บังคับให้ต้องเชื่อถือปฏิบัติโดยไม่อาจถามหรือสงสัยได้ คือไม่ต้องนำเสนอในรูปแบบของคำสั่งหรือคำบัญชาจากท่านผู้เป็นเจ้าของอำนาจท่านนั้นท่านนี้ จึงมีการนำหลักธรรมมาสั่งสอนอธิบายกันอย่างเป็นอิสระมาก (ซึ่งก็เสี่ยงอันตรายต่อการที่จะมีการดัดแปลงคำสอน)

จนไปๆ มาๆ ดังที่ปรากฏในเมืองไทยเวลานี้ กลายเป็นธรรมะของพระอาจารย์องค์นั้น ธรรมะของพระอาจารย์องค์นี้ แทนที่จะเป็นของพระพุทธเจ้า

(สำหรับของพระเจ้าอโศก ฝรั่งบางคนก็ใช้ทำนองนั้นเหมือนกันว่า Asoka’s Dharma)

ค) ฝรั่งเหล่านั้นยังไม่ได้ศึกษาค้นคว้า ด้วยการตรวจสอบสืบค้นอย่างเพียงพอ เมื่อไม่มีการอ้างอิงไว้ในศิลาจารึกเอง เราจะต้องนำหลักการและข้อปฏิบัติต่างๆ ที่แนะนำไว้ในจารึกอโศกนั้น มาสืบค้นดูในคัมภีร์พุทธศาสนา โดยเฉพาะคือพระไตรปิฎก ให้กว้างขวางเพียงพอ จึงจะบอกได้ว่าส่วนไหนมาจากคำสอนในคัมภีร์แห่งใด

มีทางเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งด้วยว่า ก่อนจะมาถึงศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกนี้ คำสอนในพระไตรปิฎก ได้ออกมาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวพุทธที่สืบต่อกันมาเป็นปกติอยู่ก่อนแล้ว จากสภาพพื้นเพภูมิหลังอย่างนั้น จึงมาถ่ายทอดออกในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก

ดีที่ตนมี
ที่ชาวพุทธไทยจะให้แก่โลกได้

๔. สมควรยิ่งที่จะกล่าวเตือนว่า ชาวพุทธและคนไทยทั่วไปไม่เห็นคุณค่าและไม่ใส่ใจที่จะมองดูคุณค่าของสิ่งดีที่ตนมี ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงพระพุทธศาสนาในแง่ที่สัมพันธ์กับการแก้ปัญหาความแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ ดังที่ได้กล่าวมา และไม่ใส่ใจสังเกตแม้แต่การที่คนภายนอก เช่นพวกชาวตะวันตกที่มีภูมิหลังต่างจากเรา มามองเห็นคุณค่าของสิ่งดีที่เรามีนั้นอย่างไร

เพราะเหตุที่ชาวตะวันตกมีภูมิหลังต่างจากเรานั่นเอง เขาจึงมองเห็นความแตกต่างที่เป็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาข้อนี้ได้ชัดเจน คือการที่พุทธศาสนาไม่มีประวัติแห่งการบีบคั้นกำจัดผู้ไม่เชื่อ หรือผู้นับถือศาสนาอื่น (persecution) และไม่มีสงครามศาสนา (religious war) อันเป็นประวัติที่ตรงข้ามจากศาสนาของเขา

เมื่อเขาเห็นคุณค่าจากความแตกต่างนี้แล้ว เขาก็จะต้องถามต่อไปว่า เป็นอย่างนั้นเพราะเหตุใด ถึงตอนนี้ก็เป็นวาระที่ชาวพุทธ โดยเฉพาะชาวพุทธไทย จะต้องให้คำตอบ

ถ้าชาวพุทธจะแสดงภูมิปัญญา และจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ ชาวพุทธไทยควรจะต้องมีคำตอบในเรื่องนี้ที่จะให้แก่โลก

ถ้ามิฉะนั้น ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หรือถึงกับน่าอับอายว่า ทั้งที่ตนเองอยู่กับพระพุทธศาสนา และคนข้างนอกเขามาเห็นคุณค่า ในขณะที่เขาต้องการสิ่งที่ตนมีที่จะให้แก่เขาได้ ก็ยังไม่รู้และไม่ใส่ใจ แล้วจะไปทำอะไรอื่นให้แก่ส่วนรวมของโลกได้อีก

การรู้เข้าใจเรื่องนี้ จะโยงไปเองถึงการที่เราจะรู้เข้าใจอารยธรรมตะวันตกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการที่จะดำรงอยู่อย่างผู้มีการศึกษา และเป็นส่วนร่วมอันมีค่าในอารยธรรมของโลก

การที่ต้องรู้จักเขาอย่างนี้ มิใช่เพื่อจะไปติเตียนต่อว่า แต่เพื่อเข้าใจเขาตามเป็นจริง และจะได้วางท่าที ตลอดจนปฏิบัติต่อปรากฏการณ์สืบเนื่องต่างๆ ที่เป็นไปอยู่ในโลกและมาเกี่ยวข้องกับเราด้วย ได้อย่างฉลาดและมีผลดี

ขอย้ำคำถาม ๒ ข้อว่า

๑) เหตุใดพุทธศาสนาจึงไม่มีประวัติศาสตร์แห่งการกำจัดบีบคั้นห้ำหั่นบีฑา (persecution) และสงครามศาสนา (religious war)

๒) มีหลักการอะไรบ้างที่พุทธศาสนาสามารถนำเสนอ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความแบ่งแยกขัดแย้งและทำลายล้างกันในหมู่มนุษย์

อาจจะต้องตอบเพิ่มอีก ๒ ข้อ คือ

๑) เหตุใดในประวัติศาสตร์แห่งอดีต พุทธศาสนาจึงไม่สามารถรักษาตนให้หลุดรอดจากการถูกบีบคั้นกำจัดในทางศาสนา (religious persecution)

๒) พุทธศาสนาสามารถทำได้เพียงใด ในการที่จะชักจูงให้ลัทธิศาสนาทั้งหลายละเลิกการเบียดเบียนบีฑาทางศาสนา และหันมาดำเนินในทางแห่งความปรองดองสามัคคี

ในที่สุด พุทธศาสนิกชนควรจะยอมรับจุดอ่อนในวงการชาวพุทธ โดยเฉพาะชาวพุทธไทยยุคปัจจุบัน ที่มองศาสนาของตนว่าเป็นศาสนาแห่งปัญญา และมีความใจกว้าง ให้เสรีภาพทางศาสนาเต็มที่ แต่ท่าทีนี้กลายเป็นความเรื่อยเปื่อย ไม่จริงจัง อย่างไรก็ได้ ไม่มีหลักการและข้อปฏิบัติอันชัดเจน ที่จะแสดงถึงความเป็นชาวพุทธ เลยกลายเป็นกลุ่มคนที่อ่อนแอ กระจัดกระจาย รวมกันไม่ติด และตกอยู่ในความประมาท

ยิ่งได้อยู่มาในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สุขสบาย และมีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่ขาดแรงบีบคั้นเร่งรัดจากภาวะทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ยิ่งมีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อยชา เพลิดเพลิน ติดจมในความประมาทยิ่งขึ้น

ปัญญานั้นคู่กับศรัทธา เรารู้กันดีว่า ศรัทธาทำให้มีกำลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนและพุ่งไป ทำให้เข้มแข็งจริงจัง แต่ก็อาจจะเกินเลยไปโดยง่าย และกลายเป็นความรุนแรง ดังที่ได้เป็นเหตุสำคัญของการบีบคั้นเบียดเบียน ขัดแย้ง และสงครามศาสนามากมายในประวัติศาสตร์

ท่านจึงให้ศรัทธานั้นมาด้วยกันกับปัญญา และมีปัญญาคุม เพื่อไม่ให้เป็นความงมงาย กลายเป็นกำลังของคนตาบอด ถูกล่อหลอกชักจูงไป หรือต้องคอยพึ่งพา

แต่ในทำนองเดียวกัน ปัญญาก็ควรจะมีศรัทธามาช่วยเริ่มตั้งต้นจับจุดให้ และเสริมกำลังให้เจาะลึกจริงจัง เพื่อมิให้กลายเป็นคนชนิดที่ปัญญาแท้ก็ยังไม่มี ได้แต่จับจด ฉาบฉวย แตะอะไรๆ อย่างผิวเผิน แค่ผ่านๆ

จึงควรนำหลักความเสมอพอดีกันแห่งอินทรีย์ต่างๆ โดยเฉพาะศรัทธากับปัญญา มาปฏิบัติกันในชีวิตจริง

ให้ชาวพุทธไทยได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้จากพระพุทธศาสนา มิใช่เป็นเพียงผู้มีความภูมิใจที่เลื่อนลอย รู้จักพระพุทธศาสนาก็ไม่จริง มีแต่จะพาให้ทั้งพุทธศาสนาและสังคมเสื่อมโทรมลงไปๆ

บทสรุป

ได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า ในการขัดแย้งตลอดจนสงครามที่มีเรื่องศาสนาเกี่ยวข้องนั้น จะต้องแยกให้ดี ระหว่างการขัดแย้งสู้รบกันเพราะความต่างพวก กับการขัดแย้งสู้รบกันเพราะความต่างศาสนา เพราะถ้าแยกไม่ได้ก็จะทำให้แก้ปัญหาไม่ถูกที่ และอาจจะทำให้ยิ่งสับสนมากขึ้น

บางครั้งบางกรณี จากจุดเริ่มที่เป็นเพียงปัญหาความต่างพวก แต่ต่อมาปัญหาความต่างศาสนาก็เข้าไปผสม ทำให้ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ชนชาติหรือเผ่าชนต่างๆ อยู่ประจำในถิ่นฐานเฉพาะลงตัวแล้ว พร้อมทั้งได้มีการนับถือศาสนาหรือลัทธินิกายอันใดอันหนึ่งต่อเนื่องมานานจนแน่นอนลงไป และเกิดความยึดถือลัทธิศาสนานั้นเป็นของตนพวกตน หรือผนวกการนับถือลัทธิศาสนานั้นๆ เข้ากับความเป็นพวกตนและพวกนั้นพวกนี้แล้ว ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่การขัดแย้งสู้รบจะมีทั้งปัญหาความต่างพวก และปัญหาความต่างศาสนาปนเปไปด้วยกัน แล้วซ้ำเติมกันให้รุนแรงยิ่งขึ้น

ในที่นี้จะเสนอข้อพิจารณาเพื่อการแก้ไขปัญหาจากแต่ละด้านไปบรรจบกัน ดังนี้

๑. ปฏิบัติต่อทิฏฐิให้ถูกต้อง จุดที่สนใจกันมากว่าเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งสู้รบกัน ก็คือความขาดขันติธรรม (ขาด tolerance คือ intolerance) โดยเฉพาะชาวตะวันตกปัจจุบันจะมองเน้นที่จุดนี้

แต่ที่จริงควรจะสนใจและต้องแก้ไขที่จุดต้นตอ ที่เป็นสาเหตุของความขาดขันติธรรมนั้น มิฉะนั้นการแก้ปัญหาจะทำได้เพียงแค่ให้ยอมรับและยึดถือกฎกติกาในการที่จะไม่รุกล้ำละเมิดกัน อย่างที่พยายามปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งไม่ได้ผลจริง และฝืนใจ ไม่ยั่งยืน

ตัวมูลเหตุต้นตอของความขาดขันติธรรมที่สำคัญ คือ ทิฏฐิ ได้แก่ความเชื่อ ความยึดถือ การมองความจริงไปตามที่ถูกสั่งสอน ซึ่งอาจจะมาจากข้อกำหนดในลัทธิศาสนา

ตัวอย่าง เช่น ความยึดถือว่า คนที่ไม่นับถือเทพเจ้าของตน เป็นคนบาป หรือเป็นศัตรูของเทพเจ้า ซึ่งจะต้องกำจัด ความเชื่อว่าการทำลายคนนอกศาสนาของตน เป็นความดีงาม หรือเป็นการกระทำที่จะได้รับความโปรดปราน ตลอดจนเชื่อว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องไปกำจัดคนที่นับถือเชื่อถืออย่างนั้นอย่างนี้

ถ้าเชื่อหรือมีทิฏฐิอย่างข้างต้นนี้อยู่ ความขาดขันติธรรมก็แก้ไม่ได้จริง การใช้กฎกติกา อย่างเช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน (human rights) ก็แก้ปัญหาไม่ได้จริง อย่างดีก็ต้องอาศัยการสะสมกำลังไว้ยับยั้งกันตามระบบ deterrence ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน

แต่ถ้าปัญหาไม่มีเรื่องทิฏฐินี้เป็นต้นตอแล้ว การขาดขันติธรรม (intolerance) ก็แก้ไขได้ไม่ยากนัก

เรามีสิทธิแม้แต่จะเชื่อว่า เขาเห็นผิด ว่าการที่เขานับถือหรือปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้เป็นบาป หรือแม้แต่เชื่อว่าการที่เขาไม่นับถือไม่ปฏิบัติอย่างเราเป็นบาป แต่จุดสำคัญอยู่ที่ท่าทีและการปฏิบัติต่อเขา

หมายความว่า เมื่อเชื่อว่าเขาเห็นผิด มีบาปแล้ว แทนที่จะคิดกำจัด ควรจะมีท่าทีสงสารอยากให้เขาเปลี่ยนมาเห็นถูก และปฏิบัติต่อเขาด้วยเมตตาโดยวิธีการแห่งปัญญา คือชี้แจงแนะนำ พูดจาสนทนาด้วยเหตุผล ตลอดจนถกเถียงกัน ซึ่งเป็นการให้การศึกษาแก่เขา และจะทำได้แค่ไหน ก็สุดแต่ความสามารถของเรา แต่ไม่มองเขาเป็นปฏิปักษ์ และไม่ใช้กำลังบังคับหรือประหัตประหารกัน คือมีท่าทีเป็นมิตร และใช้วิธีการแห่งปัญญา

เรื่องนี้แยกสั้นๆ เป็น ๒ ขั้นตอน

ขั้นที่ ๑ เชื่อว่า หรือถือว่า การที่เขานับถือหรือปฏิบัติอย่างนั้นเป็นการเห็นผิด หรือเป็นบาป ฯลฯ (ก็แล้วแต่)

ขั้นที่ ๒ ก) มีท่าทีเป็นมิตร สงสารอยากช่วยให้เขาพ้นจากบาปหรือจากความเห็นผิดนั้น

ข) ปฏิบัติการด้วยการแนะนำสั่งสอน ให้ความรู้ สนทนาถกเถียง ด้วยวิธีการแห่งปัญญา

๒. ไม่เอาความต่างศาสนามาซ้ำเติมความต่างพวก ในกรณีที่เกิดการขัดแย้งสู้รบเพราะความต่างพวก เช่น เกิดจากปัญหาเชื้อชาติ ผิว เผ่าพันธุ์ เป็นต้น และแม้แต่การแยกพวกเพราะนับถือศาสนาต่างกัน

ก) พยายามกันไม่ให้ปัญหาความต่างศาสนาเข้าไปผสมซ้ำเติมความขัดแย้งนั้น

นอกจากไม่นำเอาความต่างศาสนาเข้าไปเสริมเรื่องแล้ว ต้องไม่ให้มีโอกาสที่จะนำเอาคำสอนในศาสนาไปอ้าง เพื่อหนุนการขัดแย้งหรือทำร้ายซึ่งกันและกัน

ข) ในทางตรงข้าม คำสอนในศาสนาควรจะถูกยกมาอ้างในทางที่จะช่วยแก้ไขผ่อนเบาความขัดแย้ง และระงับปัญหา

๓. สร้างจิตสำนึกใหม่ในการรวมหมู่ของมนุษย์ เมื่อแยกความต่างศาสนาออกมาจากความต่างพวกได้ คือไม่ให้มีข้ออ้างหรือหลักการใดๆ ในศาสนาที่จะไปยืนยันส่งเสริมการขัดแย้งสู้รบ และพยายามนำคำสอนในศาสนามาช่วยผ่อนเบาหรือระงับการพิพาทนั้นแล้ว ปัญหาก็จะไม่ซับซ้อน

เมื่อทำได้อย่างนี้ ก็จะเหลืออยู่แต่เพียงปัญหาการขัดแย้งสู้รบกันเพราะความต่างพวกอย่างเดียว

เมื่อถึงขั้นนี้ จะเป็นปัญหาในระดับสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ทีเดียว ซึ่งการแก้ไขระยะยาวและแท้จริง จะต้องอาศัยการศึกษาหรือการพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้อง

การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่นั้น ถือว่าเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคม และเป็นความจำเป็นในการที่จะอยู่รอดและอยู่ด้วยดี

ในภาวะเช่นนี้ ความรักหมู่รักพวกย่อมมีคุณประโยชน์มาก โดยช่วยให้เกิดความสามัคคีมีพลัง ช่วยกันทำการสร้างสรรค์ได้สำเร็จ และแต่ละคนก็มีแรงจูงใจที่จะทำการสร้างสรรค์เพื่อความเจริญงอกงามแห่งชุมชน สังคม หมู่เหล่า ตลอดจนองค์กร เป็นต้น ที่ตนมีส่วนร่วมอยู่นั้น

ในกรณีนี้ ศาสนาก็มีบทบาทช่วยส่งเสริมให้คนในกลุ่ม ในหมู่ ในชุมชน หรือในสังคมนั้น มีความสามัคคี รักกัน ช่วยเหลือกัน อยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข

แต่ปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่อมนุษย์มารวมหมู่รวมพวกกันแล้ว แต่ละกลุ่มแต่ละหมู่ก็เลยกลายเป็นคนละกลุ่มคนละหมู่ แยกต่างหากจากกัน กลายเป็นต่างพวกต่างหมู่ แล้วก็มีความโน้มเอียงที่จะตั้งท่าทีแบบแบ่งแยก ระแวง เป็นปฏิปักษ์ ซึ่งนำไปสู่การขัดแย้งแย่งชิงต่อสู้กัน

ก็เลยกลายเป็นว่า มนุษย์รวมตัวเข้ามาเป็นกลุ่มพวกของตน เพื่อแยกจากกลุ่มอื่นพวกอื่น พูดสั้นๆ ว่า รวมเพื่อแยก

การรวมตัวตลอดจนสามัคคีเช่นนี้ จึงนำผลดีมาด้านหนึ่ง พร้อมกับก่อให้เกิดผลเสียอีกด้านหนึ่ง นับว่าเป็นการพัฒนาของมนุษย์ขึ้นมาขั้นหนึ่ง แต่ยังเป็นการพัฒนาเพียงในขั้นต้น

แท้จริงนั้น มนุษย์ก็คือมนุษย์ด้วยกันทั่วทั้งโลก มนุษย์จึงจะต้องเป็นส่วนร่วมของชุมชนมนุษย์ทั่วทั้งโลกนี้ (world community)

ที่จริง โดยธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนเป็นสมาชิกหรือองค์ประกอบหนึ่งๆ ของชุมชนแห่งโลกมนุษย์นี้อยู่แล้ว แต่มนุษย์จะต้องทำให้ความเป็นสมาชิกของตนนี้ มีผลจริงในทางปฏิบัติ ด้วยการติดต่อสื่อสารสัมพันธ์ถึงกันจริงๆ ทั่วถึงกันหมด

ภาวะนี้เท่ากับเป็นจุดหมายในเชิงสังคม ของการพัฒนามนุษย์

การพัฒนามนุษย์นั้น จะถือว่าสำเร็จผลเมื่อบรรลุจุดหมายในการสร้างชุมชนแห่งโลกมนุษย์ ที่ทุกคนเป็นส่วนร่วมในโลกที่มีสันติสุข และศาสนาที่แท้ก็ควรมีบทบาทช่วยหนุนนำมนุษย์ให้ก้าวไปสู่จุดหมายนี้

เริ่มตั้งแต่ให้มนุษย์มองการรวมตัวเป็นกลุ่ม ในความหมายและด้วยท่าทีใหม่ คือให้มองการรวมตัวเป็นกลุ่มของมนุษย์แต่ละกลุ่ม ไม่ใช่เป็นการแยกเป็นต่างกลุ่ม แต่เป็นขั้นตอนของการที่จะมารวมกันในขอบเขตและขนาด ที่ขยายกว้างใหญ่ยิ่งขึ้นไปๆ ตามลำดับ จนถึงเอกภาพระดับโลกในที่สุด

เพื่อให้บรรลุผลที่ดีงามนี้ จะต้องละเลิกท่าทีการมองและการชี้นำสั่งสอนกันในลักษณะที่เป็นการย้ำให้ยึดถือพวกตน โดยแยกจากพวกอื่น

ต้องยอมรับความจริงว่า ปฏิบัติการเชิงแบ่งแยกเช่นนี้ ยังมีมากมายเด่นชัดในโลก คือมีการบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนกระตุ้นเร้า ตอกย้ำ ให้ยึดถือในกลุ่มพวกของตนให้เหนียวแน่นและรุนแรงยิ่งขึ้น และมักจะมาพร้อมกับการวางท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มอื่นพวกอื่น

เราได้เห็นกันชัดๆ ว่า บางทีศาสนาก็ถูกนำมาอ้างหรือใช้ประโยชน์เพื่อสนองจุดหมายที่ย้อนกระแสการพัฒนามนุษย์อย่างนี้

ที่ว่ามานี้คือจุดของการแก้ปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์การพัฒนามนุษย์ด้วย ว่าเมื่อโลกทางด้านสิ่งแวดล้อม (ทั้งทางธรรมชาติ ทางเทคโนโลยี และทางระบบจัดการสังคม) ขยายความสัมพันธ์ถึงกันเป็นอันเดียวทั่วโลก อย่างที่เรียกว่าเป็นโลกาภิวัตน์ เป็นภาวะไร้พรมแดนแล้ว มนุษย์จะพัฒนาจิตใจให้กว้างขวาง มีเมตตาไมตรีที่เชื่อมสัมพันธ์ให้รวมเป็นชุมชนมนุษยชาติอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีปัญญาที่มองเห็นความจริงอย่างเป็นอิสระไร้พรมแดนได้หรือไม่

การแก้ปัญหาความขัดแย้งแบ่งแยกของมนุษย์ จะต้องก้าวมาถึงขั้นนี้

๔. พัฒนาภาวะจิตใจไร้พรมแดน ความสำเร็จของการแก้ปัญหาอยู่ที่ความสำเร็จในการพัฒนามนุษย์

ถ้าการศึกษาถูกต้อง เป็นสิกขาจริง มนุษย์ยิ่งพัฒนาไป ก็ยิ่งหลุดพ้นจากความคับแคบที่เกิดจากความยึดถือตัวตนของตน ที่ทำให้แยกตัวออกจากกัน ความต่างพวกก็จะไม่มี และเมื่อการยึดถือความต่างพวกไม่มี ปัญหาความขัดแย้งแบ่งพวกก็หมดไป

มนุษย์ยิ่งพัฒนา ก็ยิ่งขยายความรู้สึกนึกคิด ขยายจิตใจ ขยายปัญญากว้างขวางพ้นความคับแคบแบ่งแยก สู่ความเป็นกลาง ที่ประสานกับความจริงของสัจธรรมในธรรมชาติยิ่งขึ้น และพฤติกรรมของเขาก็จะประสานกลมกลืนยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมนุษย์พัฒนามากขึ้น เขาก็จะหลุดพ้นจากความยึดถือคับแคบ ขยายจิตปัญญาและพฤติกรรมให้กว้างขวางออกไป โดยพ้นจากสภาพจิตคับแคบยึดถือที่เรียกว่า มัจฉริยะ คือความใจแคบหวงแหนกีดกัน ๕ ประการ ไปทีละน้อย จนหมดสิ้น

มัจฉริยะ ๕ ประการนี้ จะเป็นตัวตัดสินการพัฒนามนุษย์ และการแก้ปัญหาความขัดแย้งแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ว่าจะสำเร็จหรือไม่

มัจฉริยะ ๕ ที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดการพัฒนามนุษย์ในแง่นี้ คือ

๑. ความหวงกั้นถิ่นอาศัย คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องที่อยู่อาศัย ประเทศ ท้องถิ่น ดินแดน (อาวาสมัจฉริยะ)

๒. ความหวงกั้นกลุ่มพวก คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องพรรคพวก พงศ์เผ่า เหล่ากอ ชาติพันธุ์ การแบ่งแยกพวกหมู่เป็นกลุ่มผิว กลุ่มเผ่า กลุ่มลัทธิศาสนาต่างๆ (กุลมัจฉริยะ)

๓. ความหวงกั้นลาภผล คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องลาภ ทรัพย์สมบัติ และผลประโยชน์ (ลาภมัจฉริยะ)

๔. ความหวงกั้นชั้นวรรณะ คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องวรรณะ ผิวพรรณ และการแบ่งชนชั้นต่างๆ (วรรณมัจฉริยะ)

๕. ความหวงกั้นภูมิธรรมภูมิปัญญา คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องของวิทยาการ ความรู้ คุณพิเศษ วุฒิ ความดีงาม ความก้าวหน้าในทางภูมิธรรมภูมิปัญญา และความสำเร็จในการสร้างสรรค์ (ธรรมมัจฉริยะ)

การศึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการศึกษาที่แท้จริง จะทำให้มนุษย์พัฒนาคุณลักษณะในด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์โดยมีมัจฉริยะ ทั้ง ๕ เหล่านี้ ลดน้อยลงๆ จนหมดไปในที่สุด

แล้วเมื่อนั้น การพัฒนามนุษย์ก็จะประสานสอดคล้องทันกับการพัฒนาของโลกแห่งสิ่งแวดล้อม คือ

มนุษย์ที่มีจิตปัญญากว้างขวางไร้พรมแดน อยู่ในโลกที่กว้างไกลไร้พรมแดน

มิใช่ย้อนทางกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่า โลกยิ่งถึงทั่วกันได้ไร้พรมแดน แต่ใจคนยิ่งคับแคบแบ่งแยกแตกพวกกัน

ถ้ากำจัดมัจฉริยะ ๕ ได้ โลกก็จะปลอดภัยจากการกีดกั้นทำลายกันระหว่างหมู่ระหว่างพวกอย่างแน่นอน

การแก้ปัญหาที่แท้จริง ที่จะสำเร็จผลแน่นอน คือการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณสมบัติที่จะทำให้สังคมอยู่ในภาวะไร้ปัญหา หรือไม่เป็นผู้ก่อปัญหา ไม่ใช่รอไปแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นการไม่ยอมรับความจริง

การพัฒนามนุษย์ให้หมดมัจฉริยะ ๕ คือการสร้างภาวะไร้ปัญหา ที่จะทำให้ปัญหาการขัดแย้งแบ่งแยกไม่เกิดมีขึ้นมา ที่จะต้องไปพยายามแก้ไข

ทางแก้ไขมีชัดเจนอยู่อย่างนี้แล้ว แต่ปัญหากลับมาอยู่ที่ว่ามนุษย์พร้อมที่จะปฏิบัติหรือไม่ ถ้าไม่ หรือถ้าทำสวนทางกับหลักการนี้ ก็เป็นการตอบอยู่ในตัวว่า มนุษย์ต้องการแบ่งแยกขัดแย้งและทำลายกันต่อไป

๕. ยอมรับความเป็นสากลเสมอกัน เมื่อมนุษย์พัฒนาจิตปัญญาให้พ้นจากมัจฉริยะ ๕ ประการนี้ได้แล้ว เขาจึงจะสามารถมีเมตตาหรือไมตรีอย่างแท้จริงต่อเพื่อนมนุษย์

แล้วเมื่อนั้น สภาพจิตที่เปิดกว้าง ไม่มีความกีดกั้นคับแคบนี้ ก็จะประสานสอดคล้องกับความเป็นสากล ๓ ประการที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น โดยที่ความเป็นสากลทั้งสามนั้น จะเป็นทั้งปัจจัยช่วยเกื้อหนุนในการพัฒนาคนให้พ้นจากมัจฉริยะทั้งห้านั้น และเป็นที่แสดงออกของความไม่มีมัจฉริยะเหล่านี้ในภาคปฏิบัติเพื่อการแก้ปัญหาภายนอกด้วย

ขอออกชื่อความเป็นสากล ๓ ประการไว้อีกครั้งหนึ่ง ได้แก่

๑) ความจริงที่เป็นสากล คือหลักความจริงที่เป็นกลางๆ มีผลเสมอเหมือนกันแก่ทุกคน ทุกที่ รวมทั้งทุกศาสนา

๒) ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล คือ ความเป็นมนุษย์ที่จะต้องมองเห็นเข้าใจให้ความนับถือเสมอกัน การทำร้ายและทำลายชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะมีสังกัดใดหรือไม่ เป็นความไม่ดีไม่งามทั้งสิ้น

๓) ความมีเมตตาที่เป็นสากล คือ แผ่ความรู้สึกเป็นมิตรไมตรี มีความรักปรารถนาประโยชน์สุขแก่มนุษย์ทั่วทุกคนเสมอเหมือนกัน โดยไม่มีการจำกัดหรือแบ่งแยก

๖. มีท่าทีอนุรักษ์สัจจะ: ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา ต่อสัจธรรมด้วยปัญญา ศาสนามีคุณค่าต่อมนุษย์ (หรือจะพูดว่าทำหน้าที่ต่อมนุษย์) โดยหลักใหญ่ ๒ ประการ คือ

๑) อำนวยประโยชน์สุขแก่มนุษย์ ทั้งเฉพาะแต่ละบุคคล และที่รวมกันเป็นสังคม

๒) ช่วยนำมนุษย์ให้เข้าถึงสัจธรรม คือความจริงซึ่งเป็นภาวะของตัวชีวิตของเขาเอง

ที่จริงนั้น ๒ ข้อนี้สัมพันธ์กัน เมื่อพูดในขั้นสุดท้าย การที่มนุษย์จะได้รับประโยชน์สูงสุดแท้จริงก็ต่อเมื่อเข้าถึงสัจธรรม หรือเกิดมีปัญญาที่รู้เข้าใจถึงความจริงแห่งชีวิตของตนเอง

มนุษย์ทุกคนจึงเท่ากับมีหน้าที่ที่จะทำความจริงนี้ให้ประจักษ์แจ้งแก่ตนเอง ซึ่งเป็นประสบการณ์เฉพาะตนที่ทำให้กันไม่ได้ แต่คนอาจเป็นกัลยาณมิตรช่วยชี้แนะ นำทางให้แก่กันได้

เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยเมตตาไมตรี ไม่มีการเบียดเบียนรังแกขัดแย้งแบ่งแยกกัน ด้วยการดำรงอยู่และสัมพันธ์กันบนฐานแห่งหลักการ ๕ ข้อต้นแล้ว ก็จะทำให้เขาพร้อมที่จะเพียรทำกิจหน้าที่ของตนในการพัฒนาปัญญาให้เข้าถึงความจริงหรือสัจธรรมนั้น

แต่เพราะเขาต้องทำกิจนี้ในขณะที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เพื่อให้การทำกิจหน้าที่นี้ดำเนินไปอย่างได้ผล ไม่ติดขัด สังคมหรือสภาพความสัมพันธ์กับผู้อื่นจึงจะต้องอยู่ในภาวะที่ไม่ปิดกั้นขัดขวาง แต่เปิดหรือเอื้อโอกาส

ตลอดจน ถ้าเป็นไปได้ ก็ให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น เป็นเครื่องส่งเสริมเกื้อหนุนกัน โดยไม่นำเอาความเห็นความเข้าใจหรือความยึดถือของตนไปบังคับยัดเยียดใส่ให้แก่ผู้อื่น หรือแม้แต่มากล้อมแกล้มเอาอกเอาใจกัน

ในการสังสรรค์สัมพันธ์กันระหว่างที่ยังแสวงหาหรือเพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสัจธรรมนี้ ได้กล่าวถึงหลักการอย่างหนึ่งไว้ข้างต้นแล้วว่า ผู้แสวงสัจจะ พึงมีท่าทีสัจจานุรักษ์หรืออนุรักษ์สัจจะ ได้แก่การไม่ตัดสินผูกขาดสัจจะ

กล่าวคือ บุคคลมีสิทธิที่จะพูดว่า “ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้” หรือว่า “เท่าที่ข้าพเจ้าคิดเห็นเข้าใจ ความจริงเป็นอย่างนี้” แต่ไม่มีสิทธิกล่าวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น”

หลักการนี้เท่ากับเป็นการเปิดกว้างว่า ความจริงอาจเป็นอย่างอื่นก็ได้ หรือมีทางที่จะเป็นได้อย่างอื่น

แต่ทั้งนี้ก็มิใช่เป็นการพูดอย่างเลื่อนลอยว่าความจริงเป็นอย่างไรก็ได้ และมิใช่แม้แต่จะพูดว่า อย่างนี้ก็จริง อย่างนั้นก็จริง หรือหลักของข้าพเจ้าก็จริง ของท่านก็จริง ซึ่งกลายเป็นการเลยเถิดไปยังสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง

นั่นคือเท่ากับทำตัวเป็นผู้ตัดสินความจริงอีกนั่นเอง ตลอดจนเป็นการเอาความจริงมาประนีประนอมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

การปฏิบัติในเรื่องนี้ ได้อธิบายไว้ข้างต้นมากแล้ว เมื่อว่าโดยย่อ มีหลัก ๒ อย่าง ที่ผู้แสวงหาหรือเพียรเข้าถึงสัจธรรมควรระลึกไว้ คือ

ก. การไม่เลยไปสู่สุดโต่ง ๒ อย่าง ที่จะกลายเป็นการตั้งตนเป็นผู้ตัดสินสัจธรรม ได้แก่

๑) การผูกขาดสัจธรรม ด้วยท่าทีที่ไม่เป็นการอนุรักษ์สัจจะว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น”

๒) การตัดสินความจริงโดยวิ่งเลยเถิดไปอีกข้างหนึ่ง หรือเอาความจริงมาประนีประนอมกันว่า “ความจริงเป็นอย่างนี้ก็ได้ เป็นอย่างนั้นก็ได้” หรือ “ที่ทุกฝ่ายว่า ก็เป็นความจริงด้วยกันทั้งนั้น”

ข. ความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ๒ อย่าง คือ

๑) ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยท่าทีแห่งเมตตา

๒) ความสัมพันธ์กับสัจธรรมด้วยท่าทีแห่งปัญญา

มนุษย์จะต้องพยายามเข้าถึงความจริงด้วยความเพียรสุดขีดแห่งปัญญาของตน ไม่ว่าจะโดยบุคคลก็ตาม หรือโดยความเพียรพยายามของหมู่ชนร่วมกันก็ตาม

ถึงแม้ว่ามนุษย์จะรักใคร่ปรารถนาดีต่อกันอย่างไร เราก็ไม่สามารถมาตกลงกันให้สัจธรรมเป็นอย่างที่ปรารถนาได้

การที่มนุษย์มีเมตตาไมตรีปรารถนาดีต่อกัน หมดความขัดแย้งแบ่งแยกแล้ว จะมาช่วยเกื้อหนุนกันในการเข้าถึงสัจธรรมได้ ๒ ขั้นตอน คือ

๑) ให้โอกาสแก่กันในการแสวงสัจธรรมนั้น โดยไม่ไปปิดกั้นขัดขวางการแสวงสัจธรรมนั้น และไม่นำเอาทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ความเชื่อในลัทธิศาสนาของตนไปยัดเยียดบังคับให้เขาต้องถือตาม และไม่ใช่ไปทำร้ายหรือทำลายเขา เพียงเพราะเขาเชื่อถือคิดเห็นแปลกจากตน หรือเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนไม่ชอบใจ

๒) ร่วมกันหรือเกื้อหนุนกันในการแสวงสัจธรรมนั้น ด้วยการเป็นกัลยาณมิตรที่มาแนะนำ บอกกล่าว ให้ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกเถียงกัน เป็นต้น ด้วยวิธีการแห่งปัญญา บนฐานของความสัมพันธ์กันด้วยเมตตาหรือไมตรีนั้น

ถ้ามนุษย์ใช้เมตตาหรือไมตรีผิด อาจจะนำเอาความเอื้อเฟื้อเอาอกเอาใจกันมาเป็นเครื่องปิดกั้นตนเองและขัดขวางกัน ไม่ให้เข้าถึงสัจธรรม เช่นมาประนีประนอมกันว่าสัจธรรมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้เป็นที่พอใจแก่กัน ดังได้กล่าวแล้วเป็นต้น

เมื่อไม่มีความขัดแย้งแบ่งแยก ไม่บังคับครอบงำกันแล้ว ก็ให้เมตตาหรือไมตรีระหว่างมนุษย์นั้นเอื้อโอกาส ในการที่แต่ละคนจะได้เพียรพยายามได้เต็มที่ในการทำหน้าที่สูงสุดของตน คือการเข้าถึงความจริงของชีวิตนั้น ด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์

อีกทั้งในกระบวนการแสวงสัจธรรมนี้ มนุษย์ผู้มีเมตตาหรือไมตรีต่อกัน สามารถถกเถียง แสดงความรู้ความคิดเห็นความเข้าใจกันได้เต็มที่ สุดขีดแห่งปัญญาของตน โดยไม่มีการประหัตประหารกัน จนกว่าปัญญาจะได้ความจริงนั้นมามอบอิสรภาพและสันติสุขให้แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์

ลองนึกถึงภาพมนุษย์สัก ๒ คน ที่ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุแบ่งแยกต่างๆ เช่น ผิว เผ่า เชื้อชาติ ลัทธิศาสนา เป็นต้น จนกระทั่งรบราฆ่าฟัน ทำสงครามประหัตประหารกัน

ถ้าบังเอิญเขาสองคนนั้น มาพบกันในสถานการณ์อื่น โดยไม่มีตราหรือป้ายใดๆ ที่เป็นเครื่องหมายแสดงความแบ่งแยก เขาอาจจะกลายเป็นมิตรสหายที่สนิทสนมแสนดีของกันและกันก็ได้

ธาตุหรือศักยภาพแห่งการที่จะเป็นคนดี มีอยู่ในมนุษย์ทั่วทุกหมู่เหล่าเผ่าชน จะต้องช่วยกันส่งเสริมให้ธาตุหรือศักยภาพด้านดีนี้มีโอกาสสำแดงตัวปรากฏออกมา โดยไม่ถูกป้ายหรือตราที่เป็นเครื่องหมายแห่งความแบ่งแยกเข้าไปปิดกั้นบดบังเสียก่อน

ชายหนุ่มชาวอังกฤษคนหนึ่ง เดินอยู่บนถนนกลางเมืองเตหราน เมืองหลวงของอิหร่าน (Iran) ท่าทางระโหยซูบโซ หญิงมุสลิมกลางคนผู้หนึ่งพบเขาแล้ว พาไปจัดการให้เขาได้กินอาหารอิ่มหนำสำราญ แล้วก็ปล่อยแยกกันไป โดยมิได้อาวรณ์หวังผลตอบแทนใดๆ17

นี่เป็นเมตตาการุณย์แท้ ซึ่งเป็นสากล ไร้พรมแดน อันมีอยู่ในจิตใจของคน เป็นธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์ ที่แม้คนทั้งสองนั้นจะมีผิว เผ่าพันธุ์ และลัทธิศาสนาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ก็มิได้ยกขึ้นเป็นป้ายหรือตีตราให้เป็นเครื่องแบ่งแยกที่จะกั้นบังหรือกระตุ้นเร้าความรู้สึกในใจให้เฉออกไปจากมนุษยธรรม

ศาสนาควรนำมนุษย์เข้ามาสื่อสารสัมพันธ์กัน โดยเริ่มจากจุดแห่งเมตตาการุณย์ตามศักยภาพที่มีอยู่โดยธรรมชาตินี้ แล้วนำมนุษย์ก้าวต่อไปสู่การร่วมกันสร้างสรรค์สันติสุขให้แก่โลกทั้งหมด

ภาคผนวก: ถาม-ตอบ18

 

พระมหาธีรพงษ์: ลักษณะของมนุษย์ที่อยู่รวมกัน ต้องมีการประนีประนอมอย่างไร

พระธรรมปิฎก: ประนีประนอมกันเท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีการประสานกลมกลืนกัน ให้เกิดสามัคคีเป็นเอกภาพ

พระมหาธีรพงษ์: ทีนี้ ในประเด็นที่ความจริงไม่สามารถประนีประนอมลงมายอมมนุษย์ได้ มนุษย์แต่ละคนก็มีท่าทีต่อความจริงต่างกัน ทีนี้ ลักษณะของมนุษย์ที่มีท่าทีต่อความจริง (จะลงตัวได้อย่างไร)

พระธรรมปิฎก: อ้าว ก็จะไปยากอะไรล่ะ ความเห็นต่อความจริงก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนแต่ละคนกับความจริงนั้น เราก็ไม่ต้องไปแทรกแซง ไม่ไปบังคับเขา เป็นเรื่องที่แต่ละคนเขาต้องแสวงหา

เมื่อมาอยู่ด้วยกัน เราต้องมองว่า แต่ละคนของเรานี้ยังไม่ถึงความจริงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามช่วยกันหาความจริง หรือแม้แต่เห็นต่างกันก็เอามาเผื่อแผ่กัน ก็จึงรับฟังซึ่งกันและกัน

ท่าทีต่อกันระหว่างคนกับคน ก็เป็นเมตตาปรารถนาดีต่อกัน แต่คนก็สามารถมีความแตกต่างกันได้ทั้งที่อยู่ร่วมกันนั้น เพราะว่า ท่าทีต่อมนุษย์ด้วยกันเป็นเมตตา ส่วนท่าทีต่อความจริงของกฎธรรมชาติเป็นปัญญา

ปัญญาเป็นท่าทีต่อความจริงของธรรมชาติ อันนี้ไม่มีใครปฏิเสธได้ ความจริงนั้น ไม่เข้าใครออกใคร มันไม่มาประนีประนอมกับเรา เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องรู้มัน เมื่อยังไม่รู้ จะเอามันมาประนีประนอมให้ความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่เราบอกเอา ตกลงกันเอาได้อย่างไร

ถ้าเราประนีประนอมความจริง ก็คือการหลอกตัวเอง และจะกลายเป็นว่า เรามาสร้างกำแพงกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงความจริง การที่เราประนีประนอมความจริง ก็คือการมาช่วยกันสร้างภาพของความจริงขึ้นมาอย่างหนึ่ง เสร็จแล้วภาพที่เราสร้างขึ้นนั้นก็เลยไปบังของจริงเสีย

พระมหาธีรพงษ์: ถ้าอย่างนั้น ในกรณีที่มีนักคิดหลายๆ ท่าน พยายามที่จะอธิบายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

พระธรรมปิฎก: นี่แหละจึงบอกว่าแยกไม่เป็น แยกไม่ถูก เรานึกดูซิว่าตัวเราเองถึงความจริงหรือยัง เรามีสิทธิวินิจฉัยไหม ถ้าเราถึงความจริงแล้ว เราจึงจะวินิจฉัยได้ว่าคนนั้นคนนี้ถึงหรือไม่ ใช่ไหม

เพราะฉะนั้นก็ปล่อยให้ความจริงอยู่ตามที่มันเป็น แล้วเราก็พยายามเข้าถึงความจริงนั้น แต่ทำอย่างไรจะให้เราอยู่กันได้ โดยที่แต่ละคนก็ยังหาความจริงนี้ อันนี้ดีที่สุด ที่เป็นเครื่องหมายการพัฒนาของมนุษย์

เราอยู่ร่วมกันด้วยดี มีเมตตาต่อกัน และให้โอกาสแก่กันในการแสวงหาความรู้ในความจริงนั้น โดยที่เราก็สามารถเผื่อแผ่ความรู้ ความเข้าใจ ความคิดเห็นต่อความจริงนั้นแก่กันด้วย เรามีทางทำได้นี่ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ทุกคนก็อยากถึงความจริงนี้ และทุกคนก็จะต้องถึงความจริงนี้ในที่สุด จึงจะมีชีวิตที่ดีสมบูรณ์ได้

ดังนั้น ในระหว่างนี้ ถ้าเราปรารถนาดีต่อกัน มีเมตตาต่อกันจริง เราก็ต้องให้โอกาสที่แต่ละคนจะพยายามเข้าถึงความจริงนั้น ที่ตัวเราเองก็ยอมรับว่า ตัวเองก็ยังไม่เข้าถึง แล้วอย่างนี้เราก็จะอยู่กันด้วยดีด้วย พร้อมกับที่การแสวงหาความจริงก็ดำเนินต่อไปได้ด้วย

พระมหาธีรพงษ์: ทีนี้มีปัญหาว่า มีหลายทัศนะพยายามอธิบายว่า การเข้าถึงตัวความจริงนั้น มีทางเดียวเท่านั้น

พระธรรมปิฎก: อ๋อ เรื่องนี้สามารถพิจารณาได้ดังนี้

๑. เป็นวิธีพูด เราสามารถมีความเห็นได้ แต่เราอย่าไปตัดสิน พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักการไว้อย่างหนึ่ง เรียกว่า “สัจจานุรักษ์” เป็นท่าทีที่เรียกว่าการอนุรักษ์สัจจะ

มีสาระสำคัญว่า บุคคลสามารถกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นอย่างนี้” หรือว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าความจริงเป็นอย่างนี้” หรือว่า “เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ความจริงเป็นอย่างนี้” แต่ไม่ควรจะกล่าวว่า “อย่างนี้เท่านั้นเป็นความจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น”

อันนี้คือการอนุรักษ์สัจจะ (ดู ม.ม.๑๓/๖๕๖)

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็ไม่อนุรักษ์สัจจะ กลายเป็นว่าตัวเรานี้ไปวินิจฉัยความจริง อันนี้เป็นท่าทีที่ชัดมาก แล้วก็เป็นท่าทีต่อศาสนาอื่นอย่างหนึ่ง เป็นกลางๆ ในแง่หลักการ

เพราะฉะนั้น เรามีสิทธิพูด ไม่เป็นไร พูดไปเลย “เท่าที่ผมเห็น เท่าที่ผมเข้าใจ ผมว่าความจริงเป็นอย่างนี้” แต่อย่าไปตัดสินว่าความจริงต้องเป็นอย่างนี้

คำของท่านใช้ว่า “อิทเมว สจฺจํ โมฆมญฺญํ” “นี้เท่านั้นจริง อื่นเท็จทั้งสิ้น” ถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่าเป็นผู้ไม่อนุรักษ์สัจจะ

ท่าทีของการอนุรักษ์สัจจะคือ เรามีสิทธิ์ที่จะพูดว่า “เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ เท่าที่ข้าพเจ้าเห็น เท่าที่ปัญญาข้าพเจ้ารู้ มันเป็นอย่างนี้”

๒. เราจะพูดอย่างไรก็พูดไป แต่ให้สิทธิ์ คือปล่อยโอกาสให้คนอื่นเขาคิดเขาพิจารณาของเขา เราไม่ไปบังคับเขา ไม่ไปข่มขี่กดดันตลอดจนทำร้ายเขา ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้เขาเชื่อตามอย่างเรา หรือไม่ยอมให้เขาเห็นอย่างอื่นก็ตาม แค่นี้ก็อยู่กันได้

พระมหาธีรพงษ์: คำว่า “เอกายโน” ล่ะ

พระธรรมปิฎก: คำถามนี้เป็นคำบาลี เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจด้วย ขออธิบายประกอบนิดหน่อย “เอกายโน” แปลว่า ทางไปอันเอก หรือแปลง่ายๆ ว่าทางสายเดียว

คำถามก็หมายความว่า การที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ข้อปฏิบัติที่พระองค์สอน (ในกรณีนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔) เป็นทางเดียวที่จะให้บรรลุนิพพานนั้น จะไม่ขัดกับหลักการที่พูดข้างต้นหรือ

เรื่องนี้ขอให้ทำความเข้าใจเป็น ๒ ระดับ

ก. พูดอย่างกว้าง ถ้าเป็นคำตรัสของพระศาสดา ซึ่งเป็นการประกาศหลักการ หรือประกาศความจริง พระศาสดาก็ต้องตรัสลงไปให้ชัดเจนแน่นอนว่าความจริงเป็นอย่างไร เพราะพระศาสดานั้นถือว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้บรรลุหรือเข้าถึงความจริงแล้ว

เมื่อพระศาสดาสอน ก็ต้องตรัสแสดงออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดเจนลงไป พระศาสดาจะมัวไปแกว่งอยู่ ไม่เอาอันไหนให้แน่ลงไปสักอย่างได้อย่างไร

ถ้าแม้แต่องค์พระศาสดาเองก็ยังไม่ประกาศให้ชัดลงไป แล้วสาวกหรือลูกศิษย์จะไปมั่นใจได้อย่างไร อย่างที่บอกแล้วว่า ความจริงเป็นอย่างไรก็ตอบอย่างนั้น มันไม่ตามใจใคร ไม่เข้าใครออกใคร

เมื่อพระศาสดาเข้าถึงความจริงนั้น หน้าที่ของพระองค์ก็คือประกาศตรงไปตรงมาตามนั้น นี่ก็เป็นท่าทีต่อความจริงหรือต่อสัจธรรม

แต่ข้อสำคัญในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ก็คือ

๑) พระศาสดาตรัสเด็ดขาดลงไปอย่างนั้น เป็นข้อท้าทายทางปัญญา พระองค์ไม่ได้ไปบังคับใครให้เชื่อ ผู้ฟังทุกคนมีสิทธิใช้ปัญญาพิจารณา จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็แล้วแต่

๒) สาวกหรือลูกศิษย์ แม้จะเชื่อต่อพระศาสดา และมีความมั่นใจเต็มที่ แต่ก็ไม่มีสิทธิจะไปเคี่ยวเข็ญบังคับคนอื่นให้เชื่อตามพระศาสดาของตน

แต่สาวกหรือลูกศิษย์เหล่านั้น ก็มีสิทธิที่จะพูดว่า “พระศาสดาของข้าพเจ้าสอนว่าอย่างนี้” หรือว่า “ตามหลักพุทธศาสนา เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ๆ” นี้คือท่าทีและวิธีพูดของศาสนิกทั้งหลาย ซึ่งเป็นการนำเสนอให้ผู้ฟังใช้ปัญญาพิจารณาเอาเอง

แม้แต่ในหมู่สาวกหรือลูกศิษย์ด้วยกันเอง ในศาสนาเดียวกัน ก็ต้องใช้ท่าทีนี้ คือนำเสนอให้คนอื่นใช้ปัญญาพิจารณาเอาเอง เช่นพูดว่า “เรื่องนี้เท่าที่ข้าพเจ้าทราบเป็นอย่างนี้” หรือว่า “ธรรมข้อนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าอย่างนี้”

(ถ้าเป็นเรื่องของหลักฐานอ้างอิง ก็อ้างหลักฐานเช่นคัมภีร์ มาแทนคำว่าข้าพเจ้าทราบอย่างนี้ หรือข้าพเจ้ามีความเห็นว่าอย่างนี้)

เมื่อตนแสดงความเห็นแล้ว ก็ให้โอกาสคนอื่นพูดและฟังเขาบ้าง ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ ก็ไม่มีการปิดกั้นเสรีภาพทางปัญญาแต่อย่างใด และคนก็อยู่กันได้ด้วยดี

แต่ถ้าไม่ปฏิบัติอย่างนี้ ก็จะมีการบังคับ การทำร้ายรบราฆ่าฟันกัน แม้แต่ระหว่างศาสนิกในศาสนาเดียวกัน

ข. พูดเฉพาะในกรณีของคำว่า “เอกายโน” ที่ว่า ทางนี้เป็นทางเดียวสู่จุดหมาย อะไรทำนองนี้

คำทำนองนี้บางทีเป็นเรื่องของวิธีพูด ทั้งที่คำพูดมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่พูดออกมาต่างกัน ๒ แบบ ถ้าคนฟัง ฟังไม่เป็น ก็คิดว่า วิธีหนึ่งพูดจำกัดผูกขาด อีกวิธีหนึ่งพูดใจกว้างเปิดโอกาส แต่ที่จริงพูดได้ความอย่างเดียวกัน เช่น

วิธีหนึ่งพูดว่า “ทางใดก็ตามนำไปถึงจุดหมายได้ ก็ถูกต้องทั้งนั้น”

อีกวิธีหนึ่งพูดว่า “ทางอย่างเดียวที่ถูกต้อง คือทางที่นำไปให้ถึงจุดหมายได้”

หรือว่า “ทางที่ถูกต้อง จะต้องเป็นทางที่นำไปถึงจุดหมายอย่างเดียวเท่านั้น”

วิธีพูดอย่างแรก ผู้ฟังอาจรู้สึกว่าพูดใจกว้าง มีทางได้หลายทาง แต่พอพูดอย่างหลัง อาจรู้สึกตรงข้ามว่า เป็นการพูดจำกัดผูกขาด แต่ที่จริงก็อย่างเดียวกัน

ขอให้พิจารณาว่าพูด ๒ แบบนี้เหมือนกันไหม หรือมีความหมายต่างกันอย่างไร “ทางใดก็ตามที่มาถึงจุดหมายนี้ ใช้ได้” อีกท่านหนึ่งบอกว่า “ทางที่ใช้ได้ ต้องเป็นทางที่มาถึงจุดหมายนี้เท่านั้น” ต่างกันไหม

พระมหาธีรพงษ์: ก็หมายความว่าไม่เฉพาะ “มัชฌิมาปฏิปทา”

พระธรรมปิฎก: อ้าว ถ้าทางปฏิบัติถูก มันก็เป็น “มัชฌิมาปฏิปทา” เอง เพราะว่าทางที่จะถึงจุดหมาย มันมีองค์ประกอบเป็นอย่างนั้น หมายความว่าเราไม่ใช่พูดตามรูปแบบ แต่เราพูดตามหลักการ

ทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักการนั้น คือมีองค์ประกอบอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น จะเป็นทางไหน ก็ตาม พอถูกตรงได้ที่ ก็จะเป็นอย่างนั้นเอง ซึ่งเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา จึงจะให้ถึงความจริงที่เป็นจุดหมายได้

ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าทรงตั้งรูปแบบอะไรขึ้นมาเอง แล้วก็ตั้งชื่อเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา แล้วจะไปผูกขาดบังคับให้ความจริงมาเป็นตามรูปแบบที่ตั้งไว้นั้น

อีกอย่างหนึ่ง ก็ขอย้ำที่พูดเมื่อกี้ว่า เรื่องนี้เป็นการประกาศหลักความจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะเชื่อหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของเรา พระศาสดาจะมัวไปแกว่งอยู่ ไม่เอาอันไหนสักอย่าง ได้อย่างไร เมื่อสอนสัจธรรมก็ต้องบอกไป แต่เรามีสิทธิคิดพิจารณานี่

พระพุทธเจ้าตรัสอย่างที่ว่าเมื่อกี้แล้วไง ที่เขาเข้ามาเฝ้า ทูลถามว่า “มีศาสดาหลายท่าน ท่านนี้ก็ปฏิญาณว่าท่านถึงความจริง รู้จริง ท่านนั้นก็ว่าฉันเท่านั้นที่รู้จริง” ก็ถามว่า “ทุกท่านนี่รู้ หรือทุกท่านนี้ไม่รู้ หรือบางท่านรู้ บางท่านไม่รู้”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อันนั้นหยุดไว้ก่อน เราจะแสดงธรรมให้ฟัง” แล้วก็ทรงแสดงหลักที่พระองค์เห็นว่าเป็นอย่างนั้น พระองค์ได้รู้อย่างนั้น พระองค์ก็มีสิทธิพูด และผู้ฟังก็มีสิทธิที่จะคิดเอา แต่ไม่ไปทำอะไรเขา ไม่ไปบังคับเขา

อ้าว! คุณจะฟังไหมล่ะ ถ้าคุณฟังฉันจะบอกให้ แล้วคุณไปคิดเอาเอง คุณจะเชื่อฉันหรือไม่เชื่อ คุณก็มีสิทธิทั้งนั้น และคุณจะไปพิจารณาลัทธิศาสนาอื่น คุณก็ไปพิจารณาเอา

นี่เป็นวิธีเปิดกว้างที่สุด ตัวเองก็มีหลักที่มั่นใจ แต่ก็เปิดใจให้เขาถือหลักของเขา ทั้งชี้แจงหลักของตัวแก่เขา พร้อมทั้งยินดีรับฟังเขาด้วย คือให้มนุษย์สามารถพูดจาแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างเปิดอกเปิดใจ ด้วยจิตใจปรารถนาดีต่อกัน ไม่ใช่อยู่กันอย่างพร่ามัวสับสน หรือได้แค่คอยเอาอกเอาใจกัน

ทั้งหมดนี้ มันมาประสานกลมกลืนกันตรงที่ว่า ท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา ไปด้วยกันกับท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา ตรงนี้แหละที่ทำได้ยาก แต่ต้องทำให้ได้ และถ้าทำได้ก็เป็นเครื่องหมายของการพัฒนามนุษย์ ที่ถึงจุดสูงสุดสำหรับปุถุชน มนุษย์ปุถุชนทำได้ขนาดนี้ก็เรียกว่ายอดแล้ว

ประชาธิปไตยก็มุ่งอันนี้ ประชาธิปไตยก็ต้องมีหลักการชัดเจน ไม่ใช่อะไรก็ได้ แต่ก็ไม่ปิดกั้นใคร ไม่ไปผูกขาดบังคับ ไม่ใช้อำนาจ แต่เปิดโอกาสให้เขาใช้ปัญญาคิดของเขาได้ และก็มีการท้าทายทางปัญญาได้ด้วย อันนี้สำคัญมาก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวพระศาสดาเอง ต้องประกาศหลักการด้วยความมั่นใจ ถ้าไม่มีความมั่นใจ จะได้เรื่องได้ราวอะไร

ขอย้ำอีกครั้งว่า มนุษย์จะต้องใจกว้าง จึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุข ความใจกว้างนั้นดีแน่ แต่ ความใจกว้าง ไม่ใช่หมายความว่าอะไรก็ได้

ความใจกว้างมีหลักวัด หรือต้องใจกว้างอย่างมีหลัก ไม่ใช่ใจกว้างเกินสิทธิของมนุษย์ จนไปละเมิดความจริงเข้า ซึ่งจะกลายเป็นการทำร้ายตนเองของมนุษย์ หรือกลายเป็นว่ามนุษย์ที่ใจกว้างไม่เป็นนั้น เป็นผู้ทำร้ายมนุษยชาติ คือทำลายประโยชน์ของมวลมนุษย์ คิดว่าตัวใจกว้าง แต่ที่แท้คือแคบด้วยความเขลา

นั่นคือจะแสดงความใจกว้างโดยเอาความจริงหรือสัจธรรมมาประนีประนอมกันไม่ได้ ถ้าทำเช่นนั้นก็กลายเป็นการปิดกั้นมนุษย์ไม่ให้เข้าถึงสัจธรรม

ความจริงกำหนดมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์กำหนดความจริง สัจธรรมตัดสินมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์ตัดสินสัจธรรม

ทำไมจึงว่า “ความใจกว้าง” มีหลักวัด ความใจกว้างแท้อยู่ที่ความมีใจกล้าที่จะยอมรับความจริง แม้ว่าตนจะเคยคิดเห็นหรือรู้มาต่างออกไป แต่เมื่อเห็นประจักษ์แจ้งความจริง ก็สามารถยอมรับความจริงได้ นี่คือใจกว้าง

ไม่ใช่ว่า ใครจะพูดผิดพูดถูกพูดเท็จพูดจริงอย่างไรมา ฉันก็ยอมรับว่าถูกว่าจริงได้ทั้งนั้น แล้วบอกว่าฉันนี่ใจกว้าง

เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนและของมนุษยชาติทั้งหมด ที่จะต้องพัฒนาปัญญา เพื่อเข้าถึงความจริงหรือสัจธรรม มนุษย์จะบอกว่าตนจะใจกว้าง แล้วเอาใจกันโดยพากันกำหนดความจริงให้เป็นไปตามปรารถนาของตน ย่อมเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น มนุษย์จึงต้องใจกว้างมีเมตตาต่อกัน โดยร่วมมือส่งเสริมกันในการที่จะใช้ปัญญาอย่างเต็มที่ เพื่อจะรู้จะเข้าถึงสัจธรรมนั้น

นี้ก็คือหลักแห่งการมีท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา และมีท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา และต้องให้ท่าทีทั้งสองนี้มาเสริมกันให้ได้ ไม่ใช่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางกัน และนี่ก็คือเป้าหมายอย่างหนึ่งของการพัฒนามนุษย์

คุณสุทิน: ถามเกี่ยวกับที่ได้อธิบาย ๒ ประเด็นว่า ท่าทีของมนุษย์ที่มีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา กับท่าทีต่อมนุษย์โดยปกติทั่วไป คนก็แยกไม่ออกว่า การที่จะมีท่าทีต่อคนหรือต่อธรรมชาติ ควรจะมีท่าทีอย่างไร เพราะบางทีก็แยกไม่ออกว่า มนุษย์กับธรรมชาติ คือจะมองแยกกันไปครับ

พระธรรมปิฎก: คำว่าธรรมชาตินี่กำกวม เพราะอาจจะไปนึกถึงสิงสาราสัตว์ ต้นไม้ อันนี้ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องเมตตาเหมือนกัน แต่ในที่นี้หมายถึงความจริงของธรรมชาติ หรือตัวกฎธรรมชาติ

เราไม่มีทางที่จะสัมพันธ์กับตัวกฎธรรมชาติที่แท้ได้ นอกจากด้วยปัญญาที่รู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จึงต้องเอาปัญญา ต้องรู้ด้วยปัญญา มนุษย์จำเป็นจะต้องพยายามเข้าถึงตัวความจริงนี้เสมอ เมื่อเขาต้องการเข้าถึงความจริงนี้ เขาก็ต้องพัฒนาปัญญา เพราะด้วยปัญญาจึงจะรู้ หรือจะเข้าถึงความจริงนั้นได้ ดังนั้นมนุษย์จึงมีหน้าที่พัฒนาปัญญาของตัวเองไปเรื่อย

ในกระบวนการพัฒนาปัญญานี้ ก็อย่าให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มาขัดขวาง แต่ควรจะเป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุน เมื่อมนุษย์มาสัมพันธ์กันและเกื้อหนุนกันในการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาปัญญาของตน อันนี้จึงจะเป็นความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง

ในขั้นนี้ การที่แต่ละคนมาสัมพันธ์กันชนิดที่เกื้อหนุนต่อกันในการที่แต่ละคนจะพัฒนาตนเองในทางปัญญา ก็เป็นเมตตานั่นเอง ถูกไหม แยกได้ไหม ไม่ยากอะไรนี่

คุณสุทิน: คำถามที่ผมจะถามต่อไปก็คือว่า พอมนุษย์สับสน บางครั้งเราก็จะรู้สึกว่า ในการเข้าถึงความจริงของแต่ละท่าน ที่ท่านเจ้าคุณได้ตอบไปเมื่อครู่นี้ เวลาเรามองความจริงในเรื่องหนึ่ง คนก็อาจจะมองได้ไม่เท่ากัน

ทีนี้ พอมาถึงตรงนี้ ก็ทำให้มนุษย์ขัดแย้งกัน เพราะความรู้สึกที่มีต่อความจริง ที่มนุษย์คิดว่าจะเข้าถึง หรือควรจะเข้าถึง อยู่ในระดับที่ไม่เท่ากัน และมองได้ไม่เหมือนกัน ก็เลยทำให้สับสนว่าตัวความจริง มีเกณฑ์มาตรฐานที่จะรับรู้ได้เสมอเหมือนกันไหม ที่ท่านเจ้าคุณเรียกว่า “สากล”

พระธรรมปิฎก: ที่ว่าเป็นสากลนี้ ก็หมายความว่า ไม่จำกัดไม่ถูกแบ่งแยกด้วยบัญญัติของมนุษย์

ความจริงนั้นเป็นสากล มันก็เป็นของมันอย่างนั้น ไม่ขึ้นต่อใคร แต่ความรู้ความเข้าใจ หรือความรู้สึกของคนต่อความจริงนั้น ไม่เป็นสากล แต่เป็นของเฉพาะตัวของแต่ละคน เหมือนที่ว่า “บก” ก็มีก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เป็นสากล ไม่ขึ้นต่อใคร เสมอกันแก่ทุกคน แต่ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนความรู้สึกของแต่ละคนต่อบกนั้น อาจจะไม่เท่ากัน เป็นของเฉพาะตัวของบุคคลนั้นๆ

เพราะฉะนั้น ตอนแรกจะต้องแยกระหว่างความจริง กับความรู้สึกของบุคคลต่อความจริง ถ้าคนเข้าถึงความจริงมีปัญญาระดับเดียวกัน ก็รู้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น สำหรับตัวความจริงก็ปล่อยให้มันเป็นของกลางๆ ไป แต่คนทั้งหลายจะเข้าถึงความจริงแค่ไหน เราก็เปิดโอกาสสิ เพราะว่าท่าทีอนุรักษ์สัจจะก็บอกแล้ว ให้พูดได้ว่า เท่าที่ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าเข้าใจ ว่าเป็นอย่างนี้ เท่าที่ข้าพเจ้ารู้เห็นเข้าใจ เป็นอย่างนี้ ฉันก็บอกให้คุณฟัง และคุณก็ลองฟังฉันสิ แล้วคุณก็คิดพิจารณาดูสิว่าเป็นอย่างนั้นไหม หรือเป็นไปได้ไหม นี้แหละคือเราเปิดโอกาสแล้ว

ข้อสำคัญเราอย่าไปเบียดเบียน อย่าไปบีบบังคับเขาสิ และเรายังมีท่าทีเมตตาและปรารถนาดี มาบอกมาชี้แจงให้เขาฟังว่า นี่นะคุณ เท่าที่ฉันเห็น ฉันได้คิดมาอย่างนี้ เหตุผลมีอย่างนี้ ฉันก็เล่าให้คุณฟัง

เมื่อคุณฟัง คุณก็มีสิทธิคิด ถ้าคุณไม่ปิดกั้นตัวเอง เมื่อคิดไป คุณก็อาจจะเห็นอะไรๆ เปลี่ยนไป อย่างนี้เรียกว่าเปิดโอกาสแก่กัน

เมื่อทำอย่างนี้ เราก็มีท่าทีต่อกันด้วยเมตตา พร้อมกันนั้นเราก็มีท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญาด้วย คู่กันไปเลย ไม่ต้องแยก

คุณสุทิน: ฟังดูเสมือนว่าจะเป็นหลักการที่สำคัญมาก แต่เมื่อมองในชีวิตมนุษย์จริงๆ แล้ว ผมอยากจะนึกภาพที่เป็นปัจจุบัน เป็นรูปธรรม อย่างเรามองไปที่รัฐสภา มองไปทางด้านการเมือง คนมีความรู้สึกต่อเรื่องหนึ่ง แต่ก็มองไม่เท่ากัน

หมายถึงว่า อย่างที่พระเดชพระคุณพูด เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่พอมาถึงชีวิตจริงแล้ว คนไปไม่ถึงระดับนั้น และก็จะเกิดข้อขัดแย้งตรงนี้มาก ก็จะยึดความจริง คือไปสัมปทานความจริง และก็จะยึดความจริงเป็นของเฉพาะกลุ่ม เฉพาะบุคคล ปัญหาตรงนี้ ผมไม่ทราบว่าจะคลี่คลายอย่างไรดี ถึงจะเป็นประโยชน์ต่อไป

พระธรรมปิฎก: ก็ต้องพัฒนามนุษย์ต่อไป การปฏิบัติต่อกันในการแสวงหาความจริงนี้ เป็นเครื่องวัดการพัฒนามนุษย์ ประชาธิปไตยในความหมายหนึ่งก็คือ ความพยายามที่จะนำหลักการนี้มาปฏิบัติให้เกิดผลจริง

ในเมื่อยอมรับว่าแต่ละคนมีความเห็นแตกต่างกัน ประชาธิปไตยก็ยุติด้วยเสียงข้างมาก แต่ไม่ใช่หมายความว่าตัดสินว่าถูก ไม่ใช่อย่างนั้น อย่าเข้าใจผิดว่าประชาธิปไตยเอามากเป็นถูก

ประชาธิปไตยที่เอาเสียงข้างมาก คือมายุติว่า เราเอาอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ตัดสินว่าความจริงเป็นอย่างนี้ คือ ตัดสินความต้องการ (ว่าเอาอย่างนี้) ไม่ใช่ตัดสินความจริง (ว่าเป็นอย่างนี้) เพราะความจริงไม่เคยเป็นไปตามคน ไม่ว่ามากหรือน้อย

ถ้าคนโง่หมื่นคนล้านคนพูดผิดอย่างเดียวกัน ก็ไม่มีทางถูก

คนสมัยก่อนเมื่อร้อยห้าสิบปีมาแล้ว บอกว่าโลกแบนหมดเลย ไปถามทั่วโลก ลงมติโลกแบนเรียบเลย ถ้าเอาเสียงข้างมากเป็นถูก โลกมันแบนตามไหม มันก็ไม่แบน และในเวลานั้น ถ้าเกิดมีคนมีปัญญาคนเดียวเถียงว่าโลกกลม เขาก็จับฆ่าเลย คนที่บอกว่าโลกกลม คนอื่นจับฆ่า ทั้งๆ ที่เจ้าคนเดียวนี้ถูก

ถูกไม่ถูกอยู่ที่ปัญญารู้ความจริง ไม่ใช่อยู่ที่คนจะเอาอย่างไร ฉะนั้น ประชาธิปไตยนี้คือ จะเอาอย่างไร ไม่ได้หมายความว่า ความจริงเป็นอย่างไร

เรื่องของประชาธิปไตย เป็นเรื่องของสังคมมนุษย์ ที่จะอยู่กันด้วยดีมีความสุขความเจริญ เราไม่ได้ไปตัดสินความจริง แต่เราตัดสินสิ่งที่ต้องการ หรือวัดความต้องการ

ความต้องการของมนุษย์นี้ปรับได้ว่าเราจะเอาอย่างไร แต่ความจริงนั้นไม่ขึ้นต่อใคร และไม่เข้าใครออกใคร อันนี้เป็นหลักหนึ่งที่บางทีคนเข้าใจประชาธิปไตยผิดพลาดไป

ประชาธิปไตยให้มาฟังกันตรงนี้ คือไม่ใช่ว่าคุณต้องเห็นตามฉัน แต่เราตกลงกันว่าเอาตามเสียงข้างมาก

คราวนี้เสียงข้างมากเอาอย่างนี้ ก็ตกลงเอาอย่างนี้ แต่ไม่ใช่หมายความเสียงข้างมากถูก

ต่อไป คุณที่รู้ความจริงนั้นไปพยายาม ไปชี้แจงอีก ชี้แจงไปด้วยความเพียร เจ้าคนนั้นคนเดียวมีปัญญา อีก ๕๐ คนโง่ อีก ๒๐ ปี เจ้า ๕๐ คนนี่จึงเห็นด้วย

โอ้โฮ! ใช้เวลาจนแก่ ชี้แจงแทบตาย กว่าจะได้เสียงข้างมากมาตรงกับความจริง

ฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นการพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่ง เป็นการฝึกมนุษย์ให้รู้จักยอมรับฟังซึ่งกันและกัน อย่างน้อยก็เอาเสียงข้างมากเข้าตัดสิน แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะเป็นการยุติความจริง

มนุษย์จะเป็นผู้ตัดสินความจริงไม่ได้ ธรรมชาติไม่เคยเข้าใครออกใคร มนุษย์จะต้องรู้ความจริง เข้าถึงความจริงด้วยปัญญา

ประชาธิปไตยก้าวไปด้วยกันกับการพัฒนามนุษย์ และเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ก็ต้องมีการพัฒนามนุษย์อยู่เรื่อย เพื่อให้เสียงข้างมากที่เอาอย่างไรนั้น เป็นเสียงที่ถูกต้องตรงความจริงยิ่งขึ้นๆ

จุดสมบูรณ์ของประชาธิปไตย ก็อยู่ตรงที่คนได้พัฒนาไป จนถึงขั้นที่เสียงส่วนใหญ่สามารถเลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องตรงกับความจริง

อ.ปรีชา: ลองพิจารณาจะเห็นว่า สังคมในพุทธศาสนา ในยุคพุทธกาลก็คือ melting pot และมานึกเปรียบเทียบกับในสังคมพุทธยุคปัจจุบันนี้ มองไปมองมามันอาจจะเหมือน salad bowl อย่างที่ว่า

หลวงพ่อคิดว่าปรากฏการณ์นี้จะอธิบายอย่างไร ว่ามันติดขัดตรงไหน ศาสนธรรมตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้มันบิดเบือนหรือผิดแผกแตกต่างอย่างไร สมัยพุทธกาลเราเป็น melting pot อยู่แล้ว ก่อนอเมริกา ๒,๐๐๐ ปีแล้ว

พระธรรมปิฎก: อเมริกาเป็น melting pot ยังไม่จริง ตอนนี้ก็แย่แล้ว แต่เมืองไทยเป็นได้ดีกว่า เป็นมาโดยประเพณีเลย ถึงแม้ตอนนี้ที่อาจารย์ว่า ชาวพุทธไม่เป็น melting pot นี้ มันก็ไม่แตกกันถึงขนาดเบียดเบียนทำลายฆ่าฟันกัน

โดยทั่วไป ในวิถีไทยนี้ ถึงจะแตกแยกกันอย่างไร มันก็มีขอบเขตที่ว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อย่าให้ละเมิดในขั้นผิดศีล คืออย่าให้ถึงกับละเมิดต่อชีวิตร่างกาย ถึงจะทะเลาะกันก็อยู่ในขั้นของการใช้คำพูด

แต่จะทำอย่างไร ให้การพูดเป็นการพูดโดยใช้ปัญญา

มนุษย์สามารถมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่มาพูดจากันสิ ขอให้ใช้ปัญญา ใช้เหตุ ใช้ผล ไม่ใช้แม้แต่ผรุสวาท ถ้าผรุสวาทก็จะเข้าเขตผิดศีลนั่นเอง คิดเห็นต่างกันก็ต้องใช้ปัญญา นี้แง่หนึ่ง

อ.ปรีชา: ตั้งแต่แรก หลวงพ่อพูดถึงคำว่า “รูปแบบ” เป็นเสมือนเครื่องมือที่จะทำให้เข้าถึง เข้าใจหลักการดีขึ้น

พระธรรมปิฎก: ใช่ รูปแบบนั้น

๑. รักษาหลักการไว้

๒. เป็นสื่อที่จะนำให้เข้าถึงหลักการ

๓. เป็นเครื่องจัดสรรสภาพเอื้อต่อการที่จะทำให้มนุษย์เข้าถึงหลักการได้ง่ายยิ่งขึ้น เป็นตัวหนุน เป็นวิธีการเป็นต้น

อ.ปรีชา: ทีนี้ผมอยากจะพูดถึงสังคมไทยในปัจจุบัน รูปแบบในปัจจุบัน ผมเข้าใจว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่ในสังคมไทยอย่างผมค่อนข้างจะสับสนว่า จริงๆแล้วรูปแบบ รวมไปถึงพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการสะเดาะเคราะห์ การบังสุกุลเทียมบ้าง ต่ออายุ การสวดภาณยักษ์ มันเกิดความสับสนว่า นี่คือหลักการของพุทธหรือเปล่า

พระธรรมปิฎก: นี้แหละคือตัวอย่างที่เตือนใจให้ระลึกว่า รูปแบบต้องสัมพันธ์กับหลักการ

รูปแบบบางอย่างเป็นเนื้องอก มันเกิดขึ้นมาภายหลังโดยไม่ได้สัมพันธ์หรืออิงหลักการเลย แต่เป็นเพียงเครื่องสนองความต้องการของบางคนที่เฉไฉไถลออกไปบ้าง หรือเป็นเรื่องของการไปเจอสภาพแวดล้อมใหม่ เข้าไปในชุมชนใหม่ เขามีประเพณีบางอย่างก็รับเข้ามาบ้าง และสิ่งที่รับเข้ามานั้นต่อมาก็พัฒนารูปแบบ เปลี่ยนแปลงไป จนในที่สุดตัวรูปแบบนั้นก็ขัดตรงข้ามกับหลักการ จนเป็นคนละเรื่องกันเลยก็มี

กลายเป็นว่า แทนที่รูปแบบนั้นจะมาเอื้อหนุนหลักการ ก็กลับเป็นตัวทำลายหลักการหรือลิดรอนหลักการก็มี การที่มันคลาดเคลื่อนไปนี้ก็ด้วยเจตนาในใจเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น ความโลภ ความต้องการผลประโยชน์ และโมหะ ความหลง ความไม่รู้จริง

อ.ปรีชา: เข้าใจว่าพระต้องมีหน้าที่ ต้องยังประโยชน์ต่อสังคม พระในปัจจุบันนี้ท่าทีที่จะปฏิบัติ ไม่ทราบว่าหลวงพ่อจะมีคำชี้แนะอย่างไร

พระธรรมปิฎก: กิจของพระสงฆ์ในการทำประโยชน์แก่สังคมคืออะไรนั้น มีหลักชัดเจนอยู่แล้ว แต่ความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนก็เกิดมีขึ้นได้อย่างที่บอกไปแล้วว่า เป็นเพราะ

๑. โลภะ เช่น อยากได้ลาภสักการะผลประโยชน์

๒. โมหะ ความหลง ความเขลา ความไม่รู้ ความงมงาย

โมหะก็สำคัญ เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่มีการศึกษา ไม่รู้หลักการของพุทธศาสนา แม้แต่ตัวพระเองก็จะปฏิบัติเพี้ยนผิดได้ง่าย รูปแบบที่ตัวทำมา ไม่รู้ว่าสาระคืออะไร ความหมายคืออะไร จุดมุ่งหมายคืออะไร ก็ทำไปตามที่นึกเอาคิดเอา มันก็คลาดเคลื่อนไป

บางทีเจตนาดีก็มี เมื่อบวชเป็นพระแล้วก็อยากทำประโยชน์ให้ญาติโยม อยากจะสงเคราะห์ช่วยเหลือเขา แต่เพราะไม่รู้ว่าบทบาทที่แท้ของตัวควรทำอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ ก็เลยนึกว่าอย่างนี้คือเป็นประโยชน์ เราให้หวย ญาติโยมก็จะได้ลาภจะได้รวยบ้าง อย่างนี้เรียกว่า อยากทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านใช่ไหม

แล้วจะตัดสินอย่างไร เราก็บอกว่าท่านเจตนาดี แต่มันเป็นโมหะ เพราะไม่รู้หลักการของพุทธศาสนา ไม่รู้ว่าประโยชน์แท้จริงที่ตนควรทำคืออะไร

แค่รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ แค่นี้ก็ยากแล้วใช่ไหม คนเรา เมื่อไม่มีปัญญา ก็ยึดเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นประโยชน์ไป เข้าใจสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระไปก็มี เราจึงต้องย้ำเสมอถึงหลักการศึกษา พุทธศาสนาจึงให้มีชีวิตเพื่อการศึกษา เพราะฉะนั้น พระขาดการศึกษาไม่ได้

ทีนี้ตอนหลัง ไตรสิกขาหรือการศึกษาเสื่อมทรามลง มันก็เพี้ยนไปเรื่อยๆ ในเมื่อตัวหลักการที่มีอยู่เป็นเนื้อหาในรูปแบบนั้นหายไป รูปแบบก็เหลืออยู่สักแต่ว่าเป็นรูปแบบ ก็กลายเป็นเปลือกหุ้มไว้เฉยๆ ทั้งๆ ที่ว่าเนื้อไม่รู้ว่าอยู่หรือเปล่า เหลือแต่เปลือก หรือมีแก้วแต่น้ำไม่มี ก็รักษารูปแบบเอาไว้ โดยปราศจากเนื้อหา

ต่อมา แก้วน้ำที่แต่เดิมเคยใส่น้ำ ก็เอาไปใส่เหล้า รูปแบบยังอยู่ แต่ของเดิมเขามีไว้ใส่น้ำ ตอนนี้เอามาใส่เหล้า รูปแบบเป็นของเดิม แต่เนื้อหาเปลี่ยนไป ของแท้หาย ของที่มีอยู่คือเทียม แล้วจะว่าอย่างไร

ฉะนั้น ต้องระวังไว้เรื่องรูปแบบ เป็นอันว่าเดิมนั้นสาระกับรูปแบบสัมพันธ์กันดี โดยที่ว่าเบื้องแรกมีสาระหรือหลักการก่อน

เรามีหลักการที่เป็นสาระอยู่แล้ว จึงสร้างรูปแบบขึ้นมารักษามัน และใช้เป็นสื่อ เหมือนกับว่า เรามีน้ำ แต่จะทำอย่างไรจึงจะเก็บน้ำไว้ใช้ได้สะดวก เช่นดื่มน้ำได้ตามใจประสงค์ เราก็ประดิษฐ์แก้วขึ้นมา ทำให้ใช้ประโยชน์ได้สะดวก จะดื่มจะกินก็ง่าย คนก็เข้าถึงน้ำได้ทันที ไม่ต้องเดินลงไปที่สระที่บ่อกันอยู่เรื่อย

แต่ก็อย่างที่ว่าแล้ว จะต้องให้สัมพันธ์กัน ระหว่างรูปแบบกับเนื้อหา ถ้าไม่เช่นนั้น ตอนหลังรักษาเพียงรูปแบบเอาไว้ ไม่รู้ว่าเขามีแก้วไว้ใส่อะไร ก็เลยเอาไปใส่น้ำตาลเมา เอาไปใส่เหล้า นี้แหละมันยุ่งอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีการศึกษา ก็ไปสู่โมหะ

ชีวิตพระสืบต่อมาด้วยรูปแบบ เช่นปลงผมห่มจีวร และรูปแบบนั้นมากับเนื้อหาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นการศึกษาตลอดเวลา ขาดไม่ได้

เพราะฉะนั้น รูปแบบคือสถาบันสงฆ์นี้จะให้ขาดการศึกษาไม่ได้ ถ้าขาดปั๊บ ตัวรูปแบบก็จะเริ่มเพี้ยนจากหลักการทันที

สังฆะนั้นดำรงอยู่โดยมีความสัมพันธ์กับประชาชนหรือสังคมส่วนรวม และในการสัมพันธ์กับประชาชนนั้น พระภิกษุแต่ละรูป มีหน้าที่ตามหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือธรรมทาน แปลว่าการให้ธรรม คือเผยแผ่ธรรม ซึ่งก็คือการนำเอาประโยชน์หรือผลที่ได้รับจากการเรียนรู้ศึกษาพัฒนาของตนเอง ไปเผื่อแผ่ให้แก่ประชาชน เพื่อให้การศึกษาขยายออกไปในสังคมกว้างขวางออกไป

พูดง่ายๆ การเผยแผ่ธรรม ก็คือการแผ่ขยายการศึกษา

พระพุทธเจ้าทรงต้องการให้ธรรม คือหลักการที่เป็นเนื้อหาสาระ เกิดประโยชน์แก่คนจำนวนมาก กว้างออกไป จึงทรงตั้งสังฆะเป็นรูปแบบขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งรักษาและสื่อและสร้างสภาพเอื้อที่จะช่วยให้คนเข้าถึงธรรมที่เป็นเนื้อหาสาระนั้น

ทีนี้ต่อมาเรามีรูปแบบรักษาไว้ แต่สาระคือการศึกษาไม่ค่อยมี บางทีก็ละทิ้งไปเลย เมื่อการศึกษาไม่มี ปัญญาไม่มา โมหะก็เข้ามาแทน เมื่อโมหะเข้ามาแทน ก็ไม่รู้ว่ารูปแบบนี้มีเพื่ออะไร สาระคืออะไร ก็อาจจะเอาเนื้ออื่นมาใส่ มันก็เพี้ยนไป

ฉะนั้น นานๆ เราจะต้องมาชำระสะสางกันบ้างว่า สำหรับรูปแบบนี้ ที่จริงสาระคืออันนี้ และเพื่อป้องกันมิให้ผิดพลาด ก็ต้องพยายามให้การศึกษากันตลอดเวลา นั่นคือให้รูปแบบนี้รักษาตัวเนื้อหาที่เราต้องการไว้ ไตรสิกขาจึงขาดไม่ได้

แต่บางทีเราก็ห่างเหินจากหลักการมาก จนมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมต่างๆ ในคณะสงฆ์ ว่าสัมพันธ์โยงไปถึงไตรสิกขาอย่างไร เรามองไม่ชัด ไม่ตลอด ไม่เกี่ยวโยงเป็นระบบ ว่าแท้ที่จริงเราทำไปเพื่ออะไร เช่นเรามีการปกครองพระสงฆ์ เราพูดกันว่าปกครองเพื่อความเรียบร้อย

แต่ความเรียบร้อยนั้นไม่ใช่เป็นจุดหมาย ความเรียบร้อยเป็น means ไม่ใช่เป็น end

แม้แต่สังคมสมัยใหม่นี้ก็ยังเข้าใจผิด นึกว่าการปกครองมีจุดหมายเพื่อให้สังคมเรียบร้อย และอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข

ความจริง การปกครองนี้ ที่ว่าเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยเป็นต้นนั้น ก็เพื่อเป็นสภาพเอื้อต่อการที่มนุษย์จะได้ก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีงาม ทำการสร้างสรรค์เป็นต้นได้สะดวก อันนี้ต่างหากที่เป็นจุดหมาย

ความเรียบร้อยเป็นสภาพเอื้อต่อการที่จะทำอะไรๆ เพื่อบรรลุจุดหมายที่สูงขึ้นไปอีกเท่านั้น

การปกครองคณะสงฆ์ก็เพื่อสร้างสภาพเอื้ออันนี้ โดยจัดสรรความเป็นอยู่ และระบบความสัมพันธ์ต่างๆ ตลอดจนแบบแผนการดำเนินชีวิตทั่วไป ให้เอื้อต่อการที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อก้าวไปในไตรสิกขา ที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมาย คือเพื่อพระนิพพาน

ทำอย่างไรเราจะไปนิพพานกันได้ดี โดยมีโอกาสปฏิบัติพัฒนาตนกันขึ้นไปในไตรสิกขาได้เต็มที่ ก็ต้องมีความเป็นอยู่ที่เป็นระเบียบ มีวินัย ต้องมีสภาพการดำเนินชีวิตอย่างนี้ๆ เพื่อให้การปฏิบัติสู่จุดหมายเป็นไปได้ง่าย

ดังนั้น การปกครองจึงมีขึ้นเพื่อสร้างสภาพเอื้อ เช่นความเรียบร้อยเป็นต้น ให้ความเรียบร้อยเป็นต้นนั้น เป็นสภาพเอื้อต่อการที่ทุกคนในชุมชนนั้น จะได้ดำเนินกิจแห่งการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน เพื่อเข้าสู่จุดหมายที่ตั้งไว้อีกที

การปกครองปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่ต้องมาวิเคราะห์กันให้ดี ว่ามีเพื่ออะไร ถ้ามีเพื่อความสงบเรียบร้อย เพื่อความสุข ก็ตัน ไม่มีทางเดินต่อ คนก็หยุด พอหยุดก็เพลิน สบาย เสวยความสุข ทีนี้ก็เสื่อมละ

เพราะฉะนั้น สังคมที่มีจุดหมายแค่ปกครองเพื่อความสงบเรียบร้อย จะต้องเข้าสู่วงจรของความเจริญแล้วก็เสื่อม เพราะว่า จุดหมายของการปกครอง เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการดำเนินสู่วัตถุประสงค์ของชีวิต ตามธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องเรียนรู้ ฝึกฝนพัฒนาตนให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม

ดังได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตที่ดีงามนั้น มนุษย์จะไม่ได้มาเปล่าๆ แต่จะได้มาด้วยการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนเท่านั้น เราจึงมีคำถามที่ทำให้เกิดการปกครองขึ้นว่า ทำอย่างไรจะให้มนุษย์ได้เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนได้ดี ก็ต้องสร้างสภาพเอื้อให้เขาสิ เพราะถ้ามัวแต่แก่งแย่งช่วงชิงกันอยู่อย่างนี้ คนจะไปพัฒนาชีวิตและสังคมได้อย่างไร

เมื่อคนอยู่กันดี ปกครองให้สงบเรียบร้อยดีแล้ว แต่ละคนก็ได้สภาพแวดล้อมที่อำนวย ก็สามารถสร้างสรรค์พัฒนาชีวิตของตนให้เข้าสู่ความสมบูรณ์ต่อไป

เพราะฉะนั้น การปกครองนี้ ในทางพุทธศาสนาจึงถือเป็นเครื่องมือของการศึกษา

พระพุทธเจ้าตั้งสังฆะ เป็นชุมชนขึ้นมา โดยมีสาระสำคัญคือการศึกษา เพื่อให้คนที่เข้ามาได้พัฒนาตนเต็มที่ แต่เพื่อให้ชุมชนนี้อยู่ในภาวะที่เอื้อต่อการศึกษานั้น ก็เลยต้องจัดการปกครอง การปกครองก็เพื่อจะเอื้อต่อการศึกษา และการปกครองก็เป็นเครื่องมือของการศึกษา

ต่อมา เรามีสถานที่ มีการสร้างอาคารต่างๆ เพื่ออะไร ก็เพื่อให้กิจกรรมในการพัฒนามนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยดี ที่อยู่ ก็เพื่อจะให้เขาไม่ต้องลำบากลำบน เขามีที่อยู่สบาย เขาจะได้ตั้งใจศึกษาได้เต็มที่ เรามีศาลา เขาจะได้มาประชุม มาฟังธรรม มาถกเถียงปัญหา

ทั้งหมดนี้ก็รวมเข้ามาเพื่อจุดหมายอันเดียวกัน คือเพื่อทุกคนจะได้มีโอกาสศึกษาพัฒนาชีวิตไปสู่ความดีงามสมบูรณ์

สิ่งที่มีขึ้นในคณะสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง การเผยแผ่ หรือการก่อสร้างสาธารณูปการ ล้วนมีขึ้นเพื่อการศึกษานี้ทั้งนั้น

มันไม่ใช่แยกกันไปเป็นส่วนๆ ต่างหากกันแบบ reductionist view ที่แยกเป็นชิ้นส่วน บอกว่า การปกครอง เพื่อให้เรียบร้อย การเผยแผ่ เพื่อให้คำสอนของพระพุทธเจ้าแพร่หลายออกไป การก่อสร้าง เพื่อให้วัดมีอาคาร เลยแตกกระจายกันออกไปหมด

ที่จริง อาคารทุกอย่างทุกหลังมีขึ้นเพื่ออะไร ก็เพื่อเกื้อหนุนชีวิตและกิจกรรมแห่งการศึกษาทั้งนั้น แล้วการเผยแผ่เพื่ออะไร การเผยแผ่ก็เพื่อช่วยให้ผู้อื่นได้ศึกษา เพื่อเขาจะได้เรียนรู้วิธีพัฒนาตนเองขึ้นมาด้วย คนจะได้เข้าถึงการศึกษากันอย่างกว้างขวางเท่าที่จะเป็นไปได้

เพราะฉะนั้น กิจกรรมทั้งหมดของพระก็มีสาระอยู่ที่การศึกษาเท่านั้นเอง คือเพื่อช่วยพัฒนาชีวิตตนเองให้ดีงามสมบูรณ์ และเพื่อช่วยคนอื่นให้เขาพัฒนาชีวิตของเขา ทุกอย่างรวมเป็นอันเดียวกันหมด

พระมหาเกรียงไกร: ขอกลับไปที่อินเดียนะครับผม กระผมขออ้างข้อเขียนของ Edward Conze ที่ได้เขียนเอาไว้ในบทที่ ๕ ข้อความตอนหนึ่งบอกว่า

“สาเหตุหนึ่งที่พระพุทธศาสนา ได้หมดไปจากประเทศอินเดียนั้น เนื่องจากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ใหม่ หรือฮินดู”

กระผมเองอยากทราบทรรศนะ ความเห็นของพระเดชพระคุณ ว่าเป็นอย่างที่ Edward Conze ได้วิจารณ์หรือเปล่า

พระธรรมปิฎก: เรื่องนี้เกิดจากปัจจัยทั้งภายใน และภายนอก คือเราต้องมองหลายๆ ด้าน

ในพุทธศาสนาเอง พระก็เสื่อม พระเองมัวมายุ่งกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง บางทีก็ไปเห็นแก่ลาภสักการะ บางทีก็ห่างเหินจากประชาชน บางทีก็มัวมาถกเถียงปัญหาทางอภิปรัชญา ไม่เข้าถึงประชาชน และบางทีก็ไปยุ่งกับไสยศาสตร์ เรื่องเหลวไหลทั้งหลาย รวมแล้วหลายเรื่อง

พร้อมกันนั้นก็มีปัจจัยภายนอกด้วย ในด้านศาสนาพราหมณ์ เมื่อกี้ก็บอกไปแล้วว่า หลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชไม่นาน พราหมณ์ก็กำจัดราชวงศ์ของพระองค์เสีย แล้วตั้งราชวงศ์พราหมณ์ขึ้น พร้อมทั้งกำจัดพุทธศาสนา

การใช้ความรุนแรงอย่างนี้มีขึ้นเป็นระยะๆ ในประวัติศาสตร์ แต่โดยทั่วไป เขาพยายามแข่ง โดยปรับปรุงตัวขึ้นมา บางทีก็แข่งด้วยการเอาอย่าง อย่างศังกราจารย์ก็ตั้งคณะสงฆ์ฮินดูขึ้น

แต่ก่อนฮินดูไม่มีชุมชนนักบวช ไม่มีสังฆะ ไม่มีวัดอยู่ เพราะพราหมณ์อยู่บ้าน เป็นผู้มั่งคั่งมีอิทธิพล บางทีก็เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง แทบจะเป็นแคว้นเลย พราหมณ์บางคนปกครองถิ่นใหญ่ๆ พระเจ้าแผ่นดินให้อำนาจ พราหมณ์ใหญ่ๆ มีทรัพย์สินมาก ศัพท์บาลีเรียกว่า “พราหมณมหาศาล”

ครั้นมาถึงสมัยหลัง พระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้น ศาสนาพราหมณ์อับรัศมีลง เมื่อจะฟื้นฟูขึ้น ก็ต้องแข่งกับพุทธศาสนา จึงคิดว่าทำอย่างไรจะสู้กับพุทธศาสนาได้ ศังกราจารย์ก็ตั้งสังฆะของฮินดูขึ้น และตั้งวัดขึ้นมาให้สังฆะของเขาอยู่ ๔ ทิศ

พอดีกับพุทธศาสนาเริ่มเสื่อมจากชนบท พระเข้าไปออไปสุมกันอยู่ในเมือง ได้รับการอุปถัมภ์อย่างดี วัดในชนบทถูกทิ้งรกร้าง นักบวชฮินดูก็ค่อยๆ เข้าไปแทรก ต่อมาก็กลืนวัดพุทธไป วัดพุทธก็กลายเป็นวัดฮินดูไป

เดี๋ยวนี้ก็ยังมีหลักฐานจากอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของฮินดูในปัจจุบัน เขาพูดเองว่า สถานที่มีชื่อเสียงเป็นศูนย์ใหญ่ของฮินดูในปัจจุบัน แต่ก่อนเป็นวัดของพุทธ สวามีวิเวกานันทะ กล่าวว่า

“วัด(ฮินดู)ที่ชคันนาถนั้นเป็นวัดพุทธเก่า พวกเรายึดเอาวัดนี้และวัดอื่นๆ มา แล้วทำให้เป็นฮินดูเสีย เรายังจะต้องทำอย่างนี้อีกมาก”19

นี่ก็วิธีหนึ่ง

อีกวิธีหนึ่ง ก็สร้างทฤษฎีนารายณ์อวตารขึ้นมา ดังที่ปรากฏในคัมภีร์วิษณุปุราณะ เขียนเป็นเรื่องราวให้พระพุทธเจ้าเป็นนารายณ์อวตารลงมา เรียกว่า “พุทธาวตาร” เป็นอวตารปางที่ ๙ ของพระนารายณ์ เพื่อให้คนเข้าใจว่าพระพุทธเจ้ามิใช่ใคร ก็เป็นพระนารายณ์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าของฮินดูนั่นเอง เลยกลืนเอาพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของฮินดู

แต่ที่เขาให้เป็นพุทธาวตารนั้น อวตารลงมาทำไม เขาบอกว่า อวตารลงมาเพื่อหลอกคน เป็นพระนารายณ์ปางหลอกลวง โดยที่ว่าชาวพุทธนั้นเขาถือว่าเป็นอสูร

เขาเขียนไว้ว่า ตอนนั้นอสูรมีกำลังมาก เขาสร้างเรื่องให้กลมกลืนโดยบอกว่า พระนารายณ์อวตารเป็นพระพุทธเจ้าลงมาเพื่อหลอกอสูรให้ออกไปจากลัทธิประเพณีของศาสนาฮินดู เช่นไม่ให้บูชายัญเป็นต้น อสูรจะได้ไม่เป็นเหมือนเทวดา จะได้หมดฤทธิ์ เพราะเทวดาต้องบูชายัญ ต้องนับถือวรรณะ จึงมีฤทธิ์มีอำนาจ

เขาบอกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าหลอกพวกอสูรให้แยกออกไปเป็นพวกหนึ่งต่างหากแล้ว ต่อไปในอนาคตกาลเบื้องหน้า เทพเจ้าจะได้ลงมากำจัดอสูรได้ง่าย20

ชาวพุทธบางคนหรือมากคนทีเดียวไม่รู้ ก็นึกว่า โอ! ทางฮินดูเขาดีนะ อุตส่าห์ยกให้พระพุทธเจ้าเป็นพระนารายณ์ นึกว่าเขามีเจตนาดีแบบของเขา เพราะเขานับถือเทพเจ้าก็เลยยกให้พระพุทธเจ้าเป็นพระนารายณ์

แต่เปล่าหรอก เขาให้เป็นนารายณ์ปางหลอกลวง ที่เรียกว่าพุทธาวตาร และพร้อมกันนั้นก็เอาพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดูด้วย เขามีวิธีการมากในการที่จะกลืนพุทธศาสนา

ที่ว่านี้เป็นเรื่องเก่า ซึ่งเป็นตัวอย่างของการที่ศาสนาพราหมณ์ได้ปฏิบัติต่อพุทธศาสนา และเป็นเหตุหนึ่งของการสูญสิ้นของพุทธศาสนาจากอินเดีย

แต่รวมแล้วมีหลายปัจจัย คือมีทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก

การทำลายครั้งสุดท้าย หรือ “final blow” มาจากกองทัพมุสลิม ซึ่งกรีฑาทัพมาเมื่อ พ.ศ.๑๗๐๐ คราวนี้เรียบเลย

นักประวัติศาสตร์มุสลิมเขียนไว้เองด้วยความภูมิใจ และฝรั่งไปคัดลอกเอามา

เขาบอกว่า เราไปไหนก็รบ เราได้รบนี้เพื่ออัลเลาะห์ และเมื่อไปรบ เราจับผู้คนได้มากมาย เราก็ให้เขาเลือกเอาระหว่างดาบกับอัลเลาะห์ พุทธศาสนาก็หมดเลยตอนนั้น พระไม่มีเหลือ ที่ตายก็ตายไป ที่หนีได้ก็ไปอยู่เนปาล ไปอยู่ทิเบต ไปพม่าก็มี

ในทิเบตยังมีข้อความจารึกไว้ พร้อมเอกสารที่ช่วยให้รู้ว่าพระเหล่านี้หนีไป ทำให้เห็นร่องรอยตอนท้ายของพุทธศาสนาที่เสื่อมมาก แม้แต่นาลันทาตอนนั้นก็เป็นดินแดนของตันตระ พระพุทธศาสนายุค พ.ศ.๑๕๐๐ เป็นต้นมา เป็นตันตระที่เสื่อมโทรมอย่างยิ่งแล้ว และไสยศาสตร์ก็เฟื่องฟูเต็มที่

อย่างที่ทิเบตมีหลักฐานเล่าไว้ว่า พระเหล่านี้ เวลากองทัพมุสลิมเข้ามา บางองค์ก็บอกว่าจะแสดงอิทธิปาฏิหารย์ ว่าฉันเก่ง ฉันมีพัดศักดิ์สิทธิ์จะเอามาโบก กองทัพทั้งหมดจะแตกกระจัดกระจายไป ที่ไหนได้ แตกอะไร ตัวเองตาย

นี้ก็คือ ความหมกมุ่นในไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งแห่งความเสื่อมสลายของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นจะต้องจำบทเรียนเก่าไว้ให้ดี

ไสยศาสตร์ นี้เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนตกอยู่ในความประมาท เพราะทำให้คนได้สิ่งกล่อมใจ คนเราพอได้สิ่งกล่อมก็สบาย ทำให้เข้าใจว่าไม่เป็นไรแล้ว ก็ไม่เพียรพยายาม

เหมือนกับนกกระจอกเทศ ตัวมันโย่ง มันวิ่งหนีภัย เมื่อหนีไปๆ แล้ว มันจะเอาหัวซุกทราย พอเอาหัวซุกทรายมองอะไรไม่เห็น มันก็นึกว่ามันปลอดภัยแล้ว คนที่อยู่ด้วยการกล่อมใจก็เป็นอย่างนี้ ไม่เร่งคิดแก้ไขภัยอันตราย ตัวเองก็เลยตาย

ไสยศาสตร์เป็นเหตุให้เกิดความประมาท ทำให้ครึ้มใจว่ามีอำนาจวิเศษจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ จะป้องกันได้ ก็เลยไม่ขวนขวาย ไม่เพียรพยายามในการคิดแก้ไขปัญหา

สิ่งกล่อมในสังคมไทยมีมากเหลือเกิน น่ากลัวมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องย้ำกันอย่างยิ่ง เวลานี้คนไทยอยู่ด้วยลัทธิรอผลดลบันดาลกันมาก พอนึกว่าจะมีอำนาจพิเศษภายนอกมาช่วย ก็กล่อมใจตัวเองให้ครึ้ม บางทีก็นอนรอความช่วยเหลือ

ในทางตรงข้าม ถ้าหวังพึ่งอะไรไม่ได้ คนก็จะต้องดิ้น ต้องขวนขวาย เพราะฉะนั้น คนที่ไม่มีที่พึ่ง บางทีกลับเข้มแข็ง เพราะต้องดิ้นรนต่อสู้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องให้เป็นที่พึ่งแบบไม่ช่วย

ที่พึ่งแบบไม่ช่วย หมายความว่า จะไปหวังหรือรอท่านไม่ได้ อย่างศาสนายิว พระยะโฮวาบอกแผ่นดินแห่งสัญญาไว้ คือ Promised Land หรือ The Land of Promise ว่าในกาลเบื้องหน้าไกลโพ้น อีกหลายพันปีนะ ท่านจะได้ไปอยู่ในถิ่น ที่เรียกว่าแผ่นดินแห่งสัญญา แล้วจะมีความสุขสมบูรณ์

แผ่นดินแห่งสัญญาอีกตั้งหลายพันปี หรืออีกเท่าไรก็ไม่รู้ พระเจ้าช่วยตอนโน้น แต่ตอนนี้ท่านต้องช่วยตัวเองไปก่อน

วิธีของยิวนี้ทำให้มีความหวังระยะยาว แต่เฉพาะหน้าเวลานี้จะไปหวังให้ท่านช่วยไม่ได้ คุณต้องเพียรพยายามช่วยตัวเอง เพราะฉะนั้นยิวก็เข้มแข็ง เพราะต้องดิ้นรนต่อสู้ทุกอย่าง แต่หวังไว้ไกล เป็นเครื่องปลอบประโลมใจ เหมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจ และมีเป้าหมายที่รวมใจคน

ถึงชาวศาสนาคริสต์ก็ต้องอ้างว่าพระเจ้าจะช่วยแต่คนที่ช่วยตัวเอง ถ้าให้หวังพึ่งปั๊บ แย่ทันที พอเราไปหวังพึ่งอำนาจภายนอกช่วย ก็เริ่มกล่อมใจตัวเอง สบาย ไม่ดิ้นรนขวนขวาย

จึงต้องบอกว่า พระเจ้าช่วยผู้ที่ช่วยตัวเอง ช่วยตัวเองสิแล้วพระเจ้าจะช่วย อะไรทำนองนี้

หมายความว่า จะใช้วิธีใดก็ตาม ต้องให้คนไม่ประมาท คนต้องทำ

สำหรับชาวพุทธนั้น หลักการก็ชัดว่า ต้องทำให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน แต่กลับไปเพี้ยนเสียนี่ ไปหวังพึ่งอะไรก็ไม่รู้มาปลอบใจ มีสิ่งกล่อมใจมาก เลยหนักเข้าไปอีก ก็อยู่ด้วยความประมาท

ถ้าอยู่ด้วยความประมาท ชีวิตและสังคมก็ต้องเสื่อมโทรม หายนะก็ต้องมา สังคมไทยนี้ มีลักษณะที่ทำให้พูดได้ว่าประมาทมาก เพราะฉะนั้นเราต้องย้ำมากเรื่องไม่ให้ประมาท

คนไทยยุคนี้หาสิ่งกล่อมมาย้อมใจกันมาก กล่อมด้วยสุรา ให้ครึ้มใจหลบทุกข์ไปทีหนึ่งๆ กล่อมด้วยการพนันว่าจะให้ได้ลาภลอยมาง่ายๆ กล่อมด้วยยาเสพติด กล่อมด้วยไสยศาสตร์ กล่อมด้วยเจ้าพ่อเจ้าแม่ ฯลฯ แม้กระทั่งสมาธิก็เอามาใช้กล่อมให้ผิดทางเขวไป

เวลานี้ต้องระวังเหมือนกัน มีการใช้สมาธิเพื่อกล่อมกันมาก สมาธิกลายเป็นเพียงเครื่องช่วยให้หลบความทุกข์ หลบปัญหา ทำให้สบายใจ แค่ไว้หาความสุข ก็เลยไม่ใช้ปัญญาคิดค้นแก้ปัญหา

หลักการในพุทธศาสนาบอกว่า สมาธินั้นเป็นองค์หนึ่งในไตรสิกขา ต้องเป็นปัจจัยส่งต่อสู่ปัญญา ให้ก้าวต่อไป ไม่ใช่เพื่อหยุด ถ้าใช้สมาธิเพื่อหยุดสบาย ติดในความสุข ก็จะประมาท ผิดทันที

การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าไม่เข้าแนวทางไตรสิกขา คือก้าวต่อไปให้ตลอดศีล-สมาธิ-ปัญญา จนกว่าจะถึงจุดหมาย ก็แสดงว่าพลาด

การปฏิบัติธรรมสมัยนี้ บางทีเอาความหมายกันแค่สมาธิ และจะนำสมาธิไปใช้เพื่อจุดหมายที่เขวออกไป เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี เพื่อดึงกลับเข้าสู่หลักการของพระพุทธศาสนา

ขออนุโมทนา ท่านอาจารย์และนักศึกษาทุกท่าน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่ได้มาเสวนาวิชาศาสนาในวันนี้ และเป็นการได้มาเยี่ยมวัดญาณเวศกวันด้วย ขออนุโมทนาขอบใจ ในการมาเยี่ยม

สิ่งที่เราหวังก็คือ การที่ได้มาพบปะพูดจากัน อันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา คงเป็นส่วนที่จะช่วยให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมสืบต่อไป ขอให้ทุกท่านบรรลุผลที่เป็นวัตถุประสงค์อันดีงามนี้ทั่วกัน

 

ชี้แจง

หนังสือและสื่อประเภทอ้างอิง (reference) ในหนังสือนี้ไม่ได้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่พิมพ์ไว้ โดยถือว่าเป็นเอกสารที่ค่อนข้างแพร่หลาย ค้นหาได้ไม่ยาก

เฉพาะ Encyclopaedia Britannica ใช้คำเรียกสั้นๆ ว่า Britannica ส่วนฉบับอื่นๆ ได้แสดงชื่อเต็มไว้ในที่นั้นๆ แล้ว

หนังสือและสื่อที่อ้างในหนังสือนี้ มักใช้ประเภทอ้างอิง เพราะมุ่งข้อมูลพื้นๆ และถือกันว่าเป็นหลักฐานที่โดยทั่วไปมักไว้ใจได้ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับประเทศตะวันตกเอง อีกทั้งเหมือนกับเป็นการเตือนให้คิดว่า เรื่องราวที่เอามาพูดในนี้ เป็นความรู้สามัญที่เราน่าจะรู้กันอยู่แล้ว

สำหรับหนังสืออื่นๆ คราวนี้ระบุไว้เฉพาะในเชิงอรรถก่อน จะรวมทำบรรณานุกรมเมื่อเขียนจบบริบูรณ์

1คำบรรยาย แก่นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโท สาขาศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ วัดญาณเวศกวัน ๑๗ ธ.ค. ๒๕๔๐ (ชื่อเดิมว่า “ทัศนะของพุทธศาสนาต่อศาสนาอื่น”)
2ดูเพิ่มเติม เรื่องรูปแบบกับเนื้อหา ในภาคถาม-ตอบ หน้า ๒๒๓–๒๕๕
3Patrich E. Kennon, The Twilight of Democracy (New York: Doubleday, 1995), XI + 308 pp.
4ดูเพิ่มเติม เรื่องการอนุรักษ์สัจจะ เป็นต้น ในภาคถาม-ตอบ หน้า ๒๑๘-๒๒๑
5ดูเพิ่มเติม เรื่องเหตุให้พุทธศาสนาสูญสิ้นจากอินเดีย ในภาคถาม-ตอบ หน้า ๒๔๓-๒๔๗
6เนื้อความต่อจากนี้ อันว่าด้วยภูมิหลังของซีกโลกตะวันตก ในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ที่มีความขัดแย้งและการข่มเหงทางศาสนาเป็นพลังบีบคั้นหลักในอดีตอันยาวนาน ตลอดมาจนถึงความขัดแย้งแบบใหม่ พร้อมทั้งท่าทีและอาการแสดงออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในโลกปัจจุบัน ภายใต้อิทธิพลความคิดของตะวันตกที่สืบต่อมานั้น เขียนเสร็จยังไม่บริบูรณ์ ทิ้งค้างไว้ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๑ บัดนี้เวลาล่วงไปนาน แม้จะยังไม่มีโอกาสเขียนต่อ ก็จำต้องพิมพ์ไปก่อน
7ดู เชิงอรรถ หน้า ๙๖ และโยงกับหน้า ๑๑๓ ด้วย
8ถ้าแยกอย่างละเอียด พวกนี้เรียกว่าพวก Separatists และเมื่อมาอเมริกาคราวนี้มีชื่อเรียกพิเศษว่าพวก Pilgrims; พวก Puritans คือ พวกโปรเตสแตนต์ในอังกฤษที่เห็นว่า การที่นิกายอังกฤษแยกตัวจากคาทอลิกยังไม่เพียงพอ จะต้องชำระล้างศาสนาให้บริสุทธิ์หมดจดจากลักษณะใดๆ ก็ตามที่เป็นคาทอลิกให้หมด ส่วนพวกที่ไปไกลกว่านั้นคือ ให้แยกตัวออกจากนิกายอังกฤษเสียเลย เรียกว่า Separatists
9บางตำราว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ (modern era) ด้วย (“Byzantine Empire,” The Concise Columbia Encyclopedia, 1983) แต่พึงเทียบความหน้า ๘๐ และ ๑๑๓ ด้วย
10Pictorial Encyclopedia of Japanese Culture (Tokyo: Gakken Co., Ltd., 1987), p.62
11ดูเชิงอรรถ หน้า ๙๖ และโยงกับความหน้า ๘๐ ด้วย
12“ไปตะวันตก” ใช้เป็นสำนวน มีความหมายด้วยว่า ตาย มลาย หรือหายสาบสูญ
13ที่นี่ พวกฮิวเกนอต (Huguenots) คือ โปรเตสแตนต์ชาวฝรั่งเศส ที่ลี้ภัยมาจากประเทศของตนจำนวนหนึ่ง ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน ในปี 1564 และได้ถูกพวกสเปนกวาดล้างตายแทบหมดในคราวนี้
14สงครามเย็น ถือว่าเริ่มต้นในปี 1946 โดยมีข้อความในคำปราศรัยของเชอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Sir Winston Churchill) ที่รัฐมิสซูรี เป็นเครื่องหมาย คือ คำพูดที่กล่าวว่า “ม่านเหล็ก (Iron Curtain) ได้ลงมาขวางกั้นทวีปยุโรป” แต่คำว่า “สงครามเย็น” (Cold War) เพิ่งมีการใช้ครั้งแรก ในปี 1947 ในคำกล่าวของนักการคลังอเมริกัน ชื่อ เบอร์นาร์ด บารุค (Bernard Baruch)

ส่วนการสิ้นสุดของสงครามเย็น กำหนดเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการที่ทางการเยอรมันตะวันออกเปิดกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 พร้อมทั้งการทำลายกำแพงนั้นจนหมดไปเป็นส่วนใหญ่ และการล่มสลายแห่งลัทธิคอมมิวนิสม์ในยุโรปตะวันออกในช่วง ค.ศ. 1989–1990

บางทีก็ถือว่า ประธานาธิบดีบุช (Grorge Herbert Walker Bush) และประธานาธิบดีโกร์บาชอฟ (Mikhail S.Gorbachev) ได้ประกาศยุติสงครามเย็นเป็นทางการในการประชุมสุดยอดที่เกาะมอลตา ในเดือนธันวาคม 1989

15ภาค ๒ นี้ยังไม่จบ เขียนค้างไว้เพียงนี้ ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๑ เฉพาะอย่างยิ่งบทสรุปใหญ่ท้ายเรื่อง ซึ่งเป็นสาระสำคัญของภาคนี้ อันจะเชื่อมโยงเนื้อหาที่กล่าวมา เข้ากับเป้าหมายของหนังสือ เมื่อยังไม่มีบทสรุปดังกล่าว ผู้ที่อ่านมาถึงตอนนี้ อาจจะแปลกใจว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นต้นในตอนท้าย จะเกี่ยวข้องกับสาระของหนังสืออย่างไร จึงเป็นอันมีพันธะที่จะต้องหาโอกาสเขียนต่อให้จบ
16Elliot, The History of India As Told by Its Own Historians (Calcutta, 1952ff.) [คัดบางส่วนมาอ้างใน A. K. Warder, Indian Buddhism (Delhi: Motilal Banarsidass, 1980), pp.506-508]
17ดูเรื่องจาก ชยสาโร ภิกขุ (Shaun Chiverton), หนี้ศักดิ์สิทธิ์ (จ.ชลบุรี: กองทุนวิทยาทาน วัดเขาพุทธโคดม, พ.ศ.๒๕๔๑), หน้า ๑๐–๑๓
18คำถาม-คำตอบ ต่อไปนี้ ได้สลับลำดับแปลกไปจากเดิมบ้าง เพื่อให้เป็นหมวดเป็นหมู่มากขึ้น
19Lalmani Joshi, Studies in the Buddhistic Culture of India (Delhi: Motilal Banarsidass, 1987), p.351.
20ผู้สนใจอาจหาอ่าน
Wendy doniger O’Flaherty, The Origin of Evil in Hindu Mythology (Delhi: Motilal Banarsidass, 1988)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง