การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์1

ขอเจริญพรท่านผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพได้มาพบปะ ครู-อาจารย์ในวงการศึกษา ซึ่งเป็นคนสำคัญของประเทศชาติและสังคมของเรา หัวข้อที่อาตมภาพได้รับนิมนต์ให้พูดนั้น เป็นหัวข้อกว้างๆ โดยจะพูดเรื่องการศึกษาที่สัมพันธ์กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การศึกษากับการพัฒนาคนนี้กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เป็นที่ทราบกันดีว่า เวลานี้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ กำหนดให้คนเป็นแกนกลางของการพัฒนา ความจริงเรื่องนี้ได้เริ่มคิดกันมาแล้วหลายแผน ก่อนจะมาจับเป็นหลักการใหญ่และลงในรายละเอียด

พัฒนามนุษย์ กับ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์

มีสิ่งหนึ่งที่อยากจะทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนนั่นคือคำว่า การพัฒนาคน เวลานี้เรามักได้ยินคำว่า การพัฒนาคนบ้าง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บ้าง รู้สึกว่ามีความสับสนไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องถ้อยคำเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญพอสมควร

คำว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นี้ น่าจะแตกต่างจากคำว่า การพัฒนามนุษย์ สองคำนี้ไม่เหมือนกันทีเดียว ยิ่งเวลานี้เราเน้นการพัฒนาคน เราจะต้องเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของคำว่าการพัฒนามนุษย์ ที่ต่างจากคำว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาคนในฐานะที่เป็นการพัฒนาทรัพยากรอย่างหนึ่ง

คำว่า ทรัพยากรมนุษย์ เป็นคำที่เกิดมาไม่นานนัก (เกิดในช่วง ค.ศ. ๑๙๖๕ - ๑๙๗๐ คือ พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๑๓) เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ และต่อมาก็ขยายไปถึงการพัฒนาสังคม เป็นการมองคนอย่างเป็นทุน เป็นเครื่องมือ เป็นปัจจัยหรือเป็นองค์ประกอบที่จะใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ต่อมาเราเห็นว่าการที่จะพัฒนาโดยมุ่งเน้นแต่ในด้านเศรษฐกิจนั้นไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่สำคัญคือ คนเรานี่เอง ซึ่งควรจะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เราจึงหันมาเน้นในเรื่องการพัฒนาคน แต่ก็ยังมีการใช้ศัพท์ที่ปะปนกัน บางทีใช้คำว่าทรัพยากรมนุษย์ บางทีใช้คำว่าพัฒนามนุษย์ เราควรปรับความเข้าใจเรื่องนี้ให้มีความชัดเจนตรงกัน มิฉะนั้นจะเกิดความสับสน

แต่ก่อนนี้เราไม่มีคำว่าทรัพยากรมนุษย์ คำนี้เกิดขึ้นมาเพื่อสนองความคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นจะต้องเข้าใจให้ดีว่าคำว่าทรัพยากรมนุษย์นั้น เป็นการมองมนุษย์ในฐานะทรัพยากร คือ เป็นทุน เป็นปัจจัย ในการที่จะนำมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ส่วนการพัฒนามนุษย์โดยมองคนในฐานะเป็นมนุษย์ มีความหมายว่า มนุษย์มีความเป็นมนุษย์ของเขาเอง ชีวิตมนุษย์นั้นมีจุดหมาย จุดหมายของชีวิตคือ ความสุข อิสรภาพ ความดีความงามของชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล

เราต้องให้ความสำคัญว่าเราจะพัฒนามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างไร พร้อมกับที่อีกด้านหนึ่ง เขาก็จะเป็นทรัพยากร เป็นทุน เป็นปัจจัยที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ขณะนี้เราควรแยกคำทั้ง ๒ นี้ออกจากกันให้ชัดเจน พร้อมทั้งมองความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาทั้งสองอย่างด้วยดุลยภาพของการพัฒนาทั้ง ๒ อย่างจึงจะเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงขอทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก่อน มิฉะนั้นอาจพลาดอีกก็ได้ ที่ว่าพลาดคือเราเคยมองมนุษย์เป็นทรัพยากรในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้เรากำลังหันมาพัฒนาตัวมนุษย์เอง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้

การพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ กับการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์นี้มีความหมายต่อการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการในการพัฒนาคน ทั้งในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยตัวของมันเอง และในฐานะที่เป็นทรัพยากร ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันคือ การศึกษาเพื่อพัฒนาตัวมนุษย์นั้น เป็นการศึกษาที่เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน (การศึกษาระยะยาว) ส่วนการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีความหมายขึ้นกับกาลเทศะ หรือยุคสมัยมากกว่า คือเป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของยุคสมัยนั้นๆ (การศึกษาระยะสั้น) เช่น เพื่อสนองความต้องการของสังคมในด้านกำลังคนในสาขางานและกิจการต่างๆ ฉะนั้นเราจึงควรจัดการศึกษา ๒ อย่างนี้ให้สัมพันธ์กัน เพราะถ้าเราสามารถพัฒนาทั้ง ๒ ส่วนนี้ให้สัมพันธ์กันจนเกิดดุลยภาพขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อชีวิตและสังคมมาก

ในที่นี้จะขอบรรยายถึงการศึกษากับการพัฒนามนุษย์ ในความหมายที่เป็นส่วนต่อเชื่อมจากการศึกษาที่เป็นการพัฒนามนุษย์เอง มาสู่การพัฒนามนุษย์ในฐานะเป็นทรัพยากร ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะหน้า คือ จะไม่ลงสู่เรื่องเฉพาะเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนในด้านต่างๆ แต่จะเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพคน สำหรับแก้ปัญหาที่เป็นจุดเด่นของยุคสมัย

สังคมต้องไม่ถูกครอบงำด้วยความพร่ามัว
และความเลื่อนลอย

เมื่อพูดถึงการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องมองที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า ทำอย่างไรจะให้มนุษย์เป็นทรัพยากรที่ดี เป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ดี เราต้องดูสภาพปัญหาในปัจจุบันว่า ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในท้องถิ่นหรือปัญหาในสังคม ปัญหาในประเทศไทย หรือปัญหาของโลกก็ตาม สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาก่อนคือ สภาพสังคมไทยซึ่งครอบคลุมไปถึงสภาพท้องถิ่นด้วย

สังคมไทยเวลานี้มีสภาพที่น่าเป็นห่วง การพัฒนาคุณภาพการศึกษาควรมุ่งไปที่การพัฒนาคุณภาพที่ตัวคน คือ ตัวนักเรียน เราลองมาดูสภาพของสังคมขณะนี้ว่ามันส่อแสดงหรือบอกคุณภาพของคนหรือไม่ คนของเราเป็นทรัพยากรที่ดีที่จะสร้างสรรค์สังคมได้หรือไม่ เช่นในเรื่องประชาธิปไตย คนของเรามีวัฒนธรรมประชาธิปไตยหรือไม่

สิ่งหนึ่งที่ขอย้ำเสมอในขณะนี้คือ สภาพความคิดความเชื่อของผู้คน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องรากฐานของสังคม สภาพความคิดความเชื่อของสังคมเป็นตัวบ่งชี้ถึงชะตากรรมของสังคมด้วย

ได้เคยเสนอว่า เวลานี้สังคมไทยมีสภาพอย่างหนึ่งเกิดขึ้นคือ ความแพร่หลายของความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสังคมมาก จะปล่อยทิ้งให้คลุมเครืออยู่ไม่ได้ แต่เราก็ปล่อยกันมานานแล้ว การพัฒนาสังคมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา ปัญญานั้นเป็นสิ่งที่มีความชัดเจน ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเทพเจ้าและไสยศาสตร์เป็นเรื่องที่พร่ามัว เราจะจมอยู่กับความไม่ชัดเจน และความคลุมเครือกระนั้นหรือ

จริงอยู่ คนเรานั้นจะให้รู้ชัดเจนในทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่เราได้พยายามแสวงหาความชัดเจนหรือไม่ หรือยอมอยู่ภายใต้อำนาจความคลุมเครือ และความพร่ามัวนั้น สิ่งสำคัญคือ อย่างน้อยเราจะต้องมีท่าทีที่ชัดเจนต่อเรื่องเหล่านี้ สังคมไทยจะเอาอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่ควรจะนำมาพูดจาถกเถียงกันให้ชัดเจน มิฉะนั้น สังคมไทยจะอยู่ด้วยความพร่ามัวและความคลุมเครือเหล่านี้เรื่อยไป สังคมที่ไม่มีความชัดเจนและพร่ามัวนั้นพัฒนาได้ยาก ฉะนั้นอย่าได้ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย มันมีความสำคัญมาก

ความเชื่อถือและปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเทพเจ้า ผีสาง อิทธิ ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และไสยศาสตร์ อย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ มีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน คือการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลของผู้อื่น หรือหวังพึ่งปัจจัยภายนอก การหวังพึ่งความช่วยเหลือของผู้อื่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหวังพึ่งคนมีอำนาจ หรือหวังพึ่งอำนาจลี้ลับก็ตาม ก็มีผลทำนองเดียวกัน คือทำให้อ่อนแอลงและเพาะนิสัยประมาท

แม้แต่ในกรณีที่ควรมีการช่วยเหลือกันตามบทบาทหน้าที่ (โดยเฉพาะในสังคมมนุษย์ เช่น ผู้ปกครองกับราษฎร) ถ้าอำนาจดลบันดาลภายนอกนั้นให้ความหวังเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่คลุมเครือ มีขอบเขตไม่ชัดเจนว่าฝ่ายที่ช่วยจะช่วยแค่ไหน และฝ่ายถูกช่วยจะต้องทำเองเท่าใด จะเกิดภาวะรีๆ รอๆ ครึ่งๆ กลางๆ จะทำอะไรก็ไม่ทำ การช่วยเหลือในกรณีอย่างนี้เป็นโทษมาก ถ้าให้รู้แน่นอนลงไปว่าไม่มีใครช่วย จะดีกว่า คนที่รู้ชัดว่าไม่มีใครช่วย และจะต้องช่วยตัวเองอย่างเดียวแน่นอน แม้แต่สิ้นไร้ที่สุดก็จะดิ้นสุดฤทธิ์ เขาจะเข้มแข็งขึ้นมาและก้าวต่อไปได้ ดีกว่าคนที่มิใช่จะยากไร้นักหนา แต่มัวรีรอหันรีหันขวางอยู่กับความหวังที่ไม่ชัดเจน

เราพูดกันว่าสังคมไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ แต่เวลานี้อาจจะต้องถามว่าคนไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก หรือนับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก ขยายความอีกหน่อยก็ได้ว่า เวลานี้เรานับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก และเอาไสยศาสตร์เป็นส่วนประกอบ หรือว่านับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก และเอาพุทธศาสนาเป็นส่วนประกอบ ถ้าตั้งคำถามอย่างนี้อาจจะมีข้อพิจารณาที่ชัดเจนมากขึ้น

ลักษณะอย่างหนึ่งของสังคมที่อยู่ใต้อำนาจครอบงำของความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ ก็คือ นอกจากความพร่ามัว และคลุมเครือแล้ว ยังมีการหวังลาภลอยจากสิ่งที่เลื่อนลอย คนไทยจำนวนมากเวลานี้หวังลาภลอยจากสิ่งที่เลื่อนลอย โดยเฉพาะจากไสยศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่ชัดเจน จะเอาแน่ลงไปก็ไม่ได้ จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่ามีก็ไม่เชิง พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ของสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญก็คือการมีท่าทีที่ชัดเจนว่า ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะมีจริงหรือเป็นจริง เราก็ไม่หวังพึ่ง

พระพุทธศาสนามุ่งหมายให้คนเข้มแข็งและก้าวหน้า

ก่อนที่พุทธศาสนาจะเกิดขึ้นในอินเดียนั้น ความเชื่อในสิ่งเหล่านี้แพร่หลายมาก และสภาพเช่นนี้เองเป็นเหตุให้พุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ ถ้าสิ่งเหล่านี้ดีงามถูกต้องเป็นประโยชน์เพียงพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้

พระพุทธศาสนาดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม หมายความว่า คนในยุคนั้นหวังโชคลาภ ความสำเร็จ ความปลอดพ้นจากภัยอันตราย ด้วยอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า คนจึงต้องเอาใจบูชาบวงสรวงเทพเจ้า จนกระทั่งมีการบูชายัญต่างๆ คนไม่ได้ดูว่าตัวเองจะต้องทำอะไร ตัวเองจะต้องแก้ไขปรับปรุงตนเองอย่างไร แต่มองไปว่าเราจะไปขอรับการช่วยเหลือจากเทพเจ้าองค์ไหน เราจะต้องเอาใจท่านอย่างไร เมื่อเราคิดว่าผลที่ต้องการอยู่ที่การดลบันดาลของท่าน เราก็ต้องพยายามเอาใจท่าน หมายความว่า จิตใจก็คิดแต่ว่าจะเอาใจท่านอย่างไร ให้ท่านโปรด ฉะนั้นก็ไม่เป็นอันได้ทำสิ่งที่ควรจะต้องทำด้วยความเพียรพยายามของตน

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา พระองค์ตรัสว่า ดูนี่ซิ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลที่จะเกิดขึ้นย่อมเกิดจากเหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านต้องการผลอะไร ท่านก็ต้องทำเหตุของมัน เราจึงพูดว่าพระพุทธเจ้าดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม คือมาสู่ความจริงแห่งกฎธรรมชาติ แห่งความเป็นไปตามเหตุและผลตามหลักที่ว่า “สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย” ซึ่งเรียกว่า หลักธรรม

จากหลักธรรม คือความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็โยงมาสู่หลักกรรม คือการที่มนุษย์จะต้องทำเหตุปัจจัยเพื่อให้เกิดผลที่ตนต้องการ ดังนั้นพระพุทธศาสนา จึงเรียกว่ากรรมวาทะ และพระพุทธเจ้าจึงมีพระนามว่ากรรมวาที พร้อมกันนั้น คู่กับ กรรมวาทะและกรรมวาที ก็คือ พระพุทธศาสนาเป็นวิริยวาทะ และพระพุทธเจ้าเป็นวิริยวาที สองคำนี้จะต้องเรียกคู่กัน ไม่ขาดจากกัน กรรมวาทะและวิริยวาทะ เป็นชื่อของพระพุทธศาสนา กรรมวาทีและวิริยวาที เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า

กรรมวาทะ แปลว่าถือหลักการกระทำ วิริยวาทะ แปลว่าถือหลักความเพียร เป็นคู่กัน เพราะว่าคนเราจะทำอะไรให้สำเร็จด้วยตัวเองก็ต้องใช้ความเพียร แต่ถ้าอ้อนวอนเทพเจ้าก็ไม่ต้องใช้ความเพียร เพียงแต่พยายามเอาใจท่าน แล้วก็รอให้ท่านดลบันดาลให้เราไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าบอกว่าผลสำเร็จที่ต้องการเราต้องทำเอง เราก็ต้องใช้ความเพียรเพราะฉะนั้นกรรมจึงมาพร้อมกับความเพียรพยายาม แต่การกระทำของเขานั้นมีจุดสำคัญคือต้องถูกต้องตามกฎแห่งเหตุปัจจัยหรือกฎธรรมชาติด้วย แม้เขาจะมีความเพียรทำการต่างๆ แต่ถ้าการกระทำนั้นไม่ถูกต้องตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ การกระทำนั้นก็จะไม่นำสู่ผลสำเร็จที่ต้องการ ถึงเพียรพยายามทำไปก็เหนื่อยเปล่า

ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นอีกประการหนึ่งคือ จะทำอย่างไรให้กรรมหรือการกระทำของเรานั้นถูกต้องตามเหตุปัจจัย คำตอบก็คือเรา ต้องมีปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย เพื่อจะทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง และเพื่อจะให้เกิดปัญญา จึงต้องมีการศึกษา

การศึกษา หรือ สิกขา จึงเป็นหลักการทั้งหมดในทางปฏิบัติของพระพุทธศาสนา ใครๆ ก็รู้ว่าพระพุทธศาสนานี้ ภาคปฏิบัติทั้งหมดคือไตรสิกขา เป็นการศึกษาทั้งนั้น ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตน

การที่พุทธศาสนาดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม ทำให้ต้องสอนหลักกรรม และความเพียร และการที่จะพัฒนาคนให้มีปัญญาที่จะทำกรรมได้ถูกต้อง จึงต้องมีการศึกษาที่เรียกว่าสิกขา คือ ต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตน การฝึกฝนแก้ไขปรับปรุงนี้ จึงเป็นภาคปฏิบัติทั้งหมดของพุทธศาสนา

ธรรมชาติบอกว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตแห่งการฝึกฝนพัฒนา

พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ธรรมชาติทั่วไปนั้น มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัยซึ่งเป็นกฎแห่งเหตุและผล ส่วนตัวมนุษย์นั้น เป็นธรรมชาติส่วนพิเศษคือเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เราสวดพุทธคุณอยู่เสมอว่า “อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ... อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ...” บทสวดพุทธคุณนี้บอกถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก(ทัมมะ) ไม่เหมือนสัตว์อื่น สัตว์อื่นเกิดแล้วอาศัยสัญชาตญาณก็อยู่ได้ แต่มนุษย์นี้อาศัยสัญชาตญาณได้น้อยที่สุด เมื่อเกิดมาสัตว์อื่นสามารถช่วยตัวเอง เดิน ว่ายน้ำได้แทบจะทันที หากินได้แทบจะทันที แต่มนุษย์เกิดมาแล้วช่วยตัวเองแทบไม่ได้เลย ต้องให้ผู้อื่นมาเลี้ยงดู การเลี้ยงดูนั้นรวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ด้วย ในขณะที่คนอื่นเช่นพ่อแม่เลี้ยงดู ตัวเด็กเองก็เรียนการดำเนินชีวิต ทุกอย่างต้องเรียนรู้ ทุกอย่างต้องฝึก แม้แต่การกินก็ต้องฝึก การเดินก็ต้องฝึก การขับถ่ายก็ต้องฝึก การดำเนินชีวิตทุกอย่างของมนุษย์ได้มาจากการฝึก คือเกิดจากการศึกษาต้องมีการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตของมนุษย์จึงเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งสิ้น

การที่ต้องฝึกนี้เป็นจุดอ่อนของมนุษย์ที่เสียเปรียบต่อสัตว์อื่น คือการอาศัยสัญชาตญาณได้น้อย การเป็นอยู่ทุกอย่างต้องฝึก ต้องเรียน แต่เมื่อมนุษย์ฝึกแล้ว เรียนแล้ว ก็กลับเป็นข้อเด่นของมนุษย์ว่า เมื่อฝึกแล้วจะมีความเป็นเลิศประเสริฐสุดแทบจะไม่มีขอบเขต ส่วนสัตว์ทั้งหลายอย่างอื่นเกิดมาอยู่ด้วยสัญชาตญาณอย่างไร จนตายก็อยู่อย่างนั้น จะฝึกตัวเองก็ฝึกแทบไม่ได้ ถ้าจะมีการฝึกสัตว์บางชนิดก็ต้องอาศัยมนุษย์เป็นผู้ฝึกให้ และถึงแม้มนุษย์จะฝึกให้ก็ฝึกได้ในขอบเขตจำกัดอีก ได้แค่ขอบเขตหนึ่งก็จบ เช่น ช้าง ม้า ลิง เรามาฝึกให้ขึ้นต้นไม้ ให้ทำงานลากซุง ให้เล่นละครสัตว์ เสร็จแล้วมันก็ได้แค่นั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าฝึกตัวเองไม่ได้

ส่วนมนุษย์มีความสามารถพิเศษคือฝึกตัวเองได้ ฝึกได้จนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าเราถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างให้เห็นว่า พอระลึกถึงพระพุทธเจ้า ก็เตือนให้ระลึกถึงความสามารถในตัวมนุษย์ว่ามีศักยภาพ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ฝึกจนเป็นพุทธะก็ได้ และเราก็มีความสามารถอย่างนี้อยู่ มนุษย์จะต้องมีความเชื่อความมั่นใจในศักยภาพนี้ ซึ่งเรียกว่าโพธิศรัทธา คือมีความเชื่อในปัญญาที่จะทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธะได้

ความเชื่อนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ศรัทธาเบื้องต้นของพุทธศาสนิกชน อยู่ในความเชื่อนี้ คือ ความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้กลายเป็นพุทธะได้ การระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็เพื่อเร้าเตือนให้เกิดความมั่นใจในศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พร้อมกันนั้นก็เป็นการเตือนให้ระลึกถึงหน้าที่ของมนุษย์ว่าเราจะต้องฝึกตนอยู่เสมอ

การถามว่าตัวเราจะต้องทำอะไร ตามหลักที่ว่าเราต้องทำนี้ คือหลักกรรม ส่วนหลักที่ว่าเราจะต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเราและการกระทำของเราอย่างไร คือหลักสิกขา ทั้งหมดนี้เป็นหลักการที่สอดคล้องกัน เมื่อเราดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม คือกฎธรรมชาติ ก็เป็นเครื่องแสดงว่าเราจะต้องทำกรรมที่ถูกต้องด้วยความเพียร การที่เราจะทำกรรมได้อย่างถูกต้องก็ต้องมีปัญญารู้ความจริงในธรรมชาติ คือต้องมีการศึกษาหรือเรียนรู้ เพราะฉะนั้นสิกขาจึงเป็นข้อปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนา และการศึกษามีหลักการสำคัญคือ ให้แก้ไขปรับปรุงตนด้วยการฝึกฝนพัฒนาอยู่เสมอ มองในแง่พระพุทธศาสนา ชีวิตที่ดีของมนุษย์เป็นชีวิตแห่งการแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลา ความเชื่ออะไรก็ตามที่ทำให้คนไม่แก้ไขปรับปรุงตน พึงถือว่าผิดหลักการของพระพุทธศาสนา

ความเชื่อใดทำให้คนถดถอยรอคอยผลบันดาล
ความเชื่อนั้นผิดหลักการของพระพุทธศาสนา

เวลานี้มีถ้อยคำของพุทธศาสนาที่ถูกนำมาใช้อย่างผิดพลาด โดยเป็นความเชื่อแบบคลาดเคลื่อนบ้าง ไม่ครบไม่สมบูรณ์บ้าง เช่น คำว่าวาสนา เป็นคำที่ฟ้องชัดมากว่ามีความคลาดเคลื่อนจากพุทธศาสนาไปไกลลิบจนกระทั่งวาสนากลายเป็นสิ่งที่ลอยลงมาจากฟากฟ้า ถ้าเป็นพุทธศาสนาก็ต้องเป็นสิ่งที่แก้ไขปรับปรุงได้ วาสนาจึงเป็นเรื่องที่แก้ไขปรับปรุงได้

วาสนาไม่ได้ลอยมาจากฟากฟ้า แต่อยู่ที่ตัวเรา คือเป็นลักษณะประจำตัวที่สะสมอบรมติดตัวมา เช่น คนนี้มีลักษณะการพูดอย่างนี้ บางคนพูดช้า บางคนพูดเร็ว บางคนพูดเป็นขวานผ่าซาก บางคนพูดคำไพเราะสละสลวย คนนี้เดินอย่างนี้ คนนั้นเดินท่าทางชดช้อย คนนี้มีท่าทางชอบรีบเร่ง คนโน้นเดินหงุบๆ หงับๆ อาการทั้งหมดทั้งปวงที่อบรมสั่งสมมาเป็นลักษณะประจำตัวเรียกว่าวาสนา คนเราจึงมีวาสนาไม่เหมือนกัน เป็นความเคยชินอย่างสนิทแน่น ซึ่งจะส่งผลเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของคน เริ่มตั้งแต่เมื่อต้องไปสัมพันธ์กับคนอื่น ก็ทำให้เขามีภาพของตัวเราและความรู้สึกต่อเราอย่างใดอย่างหนึ่ง อันจะมีผลต่อเนื่องกว้างไกลออกไปตามภาพและความรู้สึกนั้น เช่น บางคนพอพูดสักคำหนึ่งคนฟังก็ไม่อยากฟังต่อไป อยากจะหันหลังให้เลย บางคนพูดอะไรออกมาคนอื่นอยากฟัง ก็ชวนให้อยากเข้าหา อยากสนทนาด้วย

วาสนาเป็นตัวกำหนดสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มันเป็นเครื่องชี้ชะตาของคนไปด้วย เช่น เวลาจะเลือกคนไปทำงาน เขาดูคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือดูวาสนาว่าเป็นอย่างไร วาสนาจึงอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่มาจากฟากฟ้า เมื่อมองวาสนาเช่นนี้เราก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุง ไม่ใช่รอให้สวรรค์ส่งมา อย่างนี้เป็นต้น

การเชื่อผิดๆ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการปลง โดยถือว่าเป็นกรรมเก่า เมื่อเป็นอย่างนี้ก็รับผลกรรมไป เมื่อเชื่ออย่างนี้ก็กลายเป็นว่าพอปลงแล้วก็สบาย ไม่ทำอะไร นึกว่าตัวเองไม่ทำอะไร แต่ที่แท้ก็ทำกรรม คนที่ปลงว่าเป็นผลกรรมของเรา แล้วก็ปล่อยไป การไม่ทำนั้นก็เป็นการกระทำคือกรรมอย่างหนึ่ง และเป็นการกระทำที่เป็นอกุศลด้วย คือความประมาท คนที่ไม่ทำอะไรนั่นถือเป็นกรรมร้ายแรง คือกระทำความประมาท เป็นกรรมชั่วร้าย และเป็นหนทางแห่งความเสื่อมอย่างสำคัญ อย่าไปคิดว่าไม่ทำกรรม คิดว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไร แต่แท้จริงเป็นการทำกรรมอย่างหนัก อย่างนี้เป็นต้น

ฉะนั้นหลักกลางคือสิกขาเป็นหลักที่บอกว่ามนุษย์จะต้องแก้ไข พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และจะต้องพัฒนาตลอดเวลาโดยไม่ประมาท ดังนั้นมนุษย์เราจะต้องถือหลักการไว้ก่อนว่า

หนึ่ง สิกขา ต้องฝึกฝนพัฒนาแก้ไขปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ

สอง ต้องไม่ประมาท คือหยุดไม่ได้ ต้องเดินหน้าจนกว่าจะถึงจุดหมาย

หลักสองอย่างนี้ใช้เป็นตัวตรวจสอบการปฏิบัติทางพุทธศาสนาได้มาก หลักการหรือความเชื่อใดก็ตามที่ทำให้คนนอนรอผล ผัดผ่อน คอยเวลา ไม่ทำการต่างๆ โดยเร่งรัด นั่นคือทำให้คนประมาท ถือว่าผิดหลักพุทธศาสนา สิกขาทำให้คนศึกษา ฝึกฝน เรียนรู้พัฒนาตนอยู่เสมอ มุ่งไปข้างหน้าเท่านั้น ส่วนอัปปมาทะ คือความไม่ประมาท ก็คอยปลุกเร้าไม่ให้หยุด คือหยุดไม่ได้เลย หยุดเมื่อไรเป็นการประมาททันที

ตัดความวุ่นวายด้านวัตถุ เพื่อเร่งการสร้างสรรค์ได้เต็มที่

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ให้เราไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย หลักพุทธศาสนาที่สัมพันธ์คู่กันกับสันโดษ คือความไม่สันโดษ พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้สันโดษในสิ่งเสพแล้วให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม ถึงกับตรัสยืนยันไว้ว่า การที่พระองค์ได้ตรัสรู้มานี้ เพราะได้เห็นคุณของธรรม ๒ ประการ คือ

๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

๒. การเพียรพยายามโดยไม่ย่อท้อ

หลักการคู่นี้เป็นหลักสำคัญมาก ทั้งในพระสูตร และพระอภิธรรม ในอภิธรรมท่านยกไว้ในมาติกา เป็นแม่บทหนึ่งในทุกมาติกา (แม่บทชุด ๒) หลักธรรมอย่างนี้เรามองข้ามไป เราไปมองแต่สันโดษ เราก็แยกไม่ถูกว่าสันโดษอย่างไรหรือไม่สันโดษอย่างไร พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนไว้เฉพาะความสันโดษ แต่สอนความไม่สันโดษไว้ด้วย ความไม่สันโดษเป็นเป้าหมายของความสันโดษ

ทำไมจึงว่าความไม่สันโดษเป็นจุดหมายของความสันโดษ เพราะเราสันโดษ เพื่อไม่สันโดษ หมายความว่าเมื่อเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพที่ปรนเปรอตัวเอง เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดเอาไว้ได้ จะเห็นได้ว่า คนที่ไม่สันโดษในสิ่งเสพ คอยหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตัวเอง เขาจะใช้เวลาหมดเปลืองไปในการแสวงหาความสุขสำราญเป็นการส่วนตัวและใช้แรงงานไปในการวุ่นวายหาสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ครุ่นคิดแต่ว่าจะหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตัวเองที่ไหน ความคิดจะหมดไปกับเรื่องเหล่านี้ ทำให้เสียหน้าที่การงาน สิ่งที่ดีงามไม่ได้สร้างสรรค์

ในทางตรงข้าม เมื่อเรามีความสันโดษในสิ่งเสพ เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ได้ ทีนี้พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม เราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดที่สงวนไว้ได้นี้ไปทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามที่เป็นเรื่องของกุศลธรรม ทำกิจการ ทำหน้าที่ของตนให้ได้ผลดี คนที่สันโดษในสิ่งเสพแล้วไม่สันโดษในกุศลธรรมก็ยิ่งทำให้ชีวิตของตนเจริญงอกงาม และพัฒนาสังคมประเทศชาติได้ผลด้วย แต่ปัจจุบันเรามองไม่ออกว่าสันโดษคืออะไร จะมองสันโดษว่าจะได้สบาย เพราะมีความพอใจ สันโดษแล้วก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน สุขได้แล้ว ก็นอนขี้เกียจ อย่างนี้เป็นสิ่งผิด จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่

กล่าวโดยรวม หลักพุทธศาสนาที่แท้ทำให้คนเดินหน้าด้วยความเพียรพยายามและปรับปรุงพัฒนาตนอยู่เสมอ เรื่องนี้จำเป็นต้องย้ำเตือนกันบ่อยๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรม เราสรรเสริญอย่างเดียวเฉพาะความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย” (องฺ ทสก. ๒๔/๕๓) นี่คือหลักการสำคัญ ซึ่งรับกันหมด สันโดษเพื่อให้ไม่สันโดษ แล้วให้มีสิกขาพัฒนาตนอยู่เสมอ โดยไม่ประมาท นี้ป็นหลักการที่แท้ของพุทธศาสนา

คนไทยสมัยนี้ใช้ไสยศาสตร์
โดยขาดความฉลาดของคนไทยสมัยก่อน

สังคมไทยปัจจุบันอยู่ด้วยความพร่ามัว (ขออภัยที่ต้องใช้คำนี้) และกำลังอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเชื่อที่เลื่อนลอยมากมาย หวังลาภลอย ไม่หวังสิ่งที่เกิดจากความเพียรพยายามด้วยตนเอง หวังผลแบบลาภลอยทั้งจากสิ่งที่ลอยมาจากฟากฟ้าและจากสิ่งที่เลื่อนลอย และสิ่งที่จะเอาก็เลื่อนลอยอีก ไม่รู้ความเป็นเหตุเป็นผลในการทำให้เกิดสิ่งที่ต้องการ ตัวอย่างการหวังลาภลอยจากสิ่งที่เลื่อนลอยเช่น การพนัน คนหวังลาภลอยจากการพนัน พร้อมกันนั้นก็หวังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยอ้อนวอนขอหวย ทั้งคู่เป็นสิ่งเลื่อนลอย ลาภก็ลอย สิ่งที่คิดว่าจะอำนวยผลให้ก็เป็นสิ่งที่เลื่อนลอย

คนเรานั้นเกิดมายังมีความไม่รู้ แต่ก็สามารถฝึกและพัฒนาความรู้ให้ชัดเจนขึ้นมามากขึ้นๆ เราต้องพยายามหาความชัดเจนนั้น ไม่ใช่มัวจมอยู่ภายใต้การครอบงำของความไม่ชัดเจนและความพร่ามัวเรื่อยไป สังคมไทยปัจจุบันมีสภาพน่าเป็นห่วง ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหานี้ อาจจะไปบรรจบกับปัญหาอีกด้านหนึ่ง ที่ทำให้วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่อ่อนแอ หนึ่ง คือความเชื่อในเรื่องเหลวไหล สอง คือความไม่ชัดเจนพร่ามัว ซึ่งทำให้เราหวังผลลาภลอยจากสิ่งที่เลื่อนลอย จากความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวัตถุมงคลต่างๆ

เราเคยตรวจสอบหรือไม่ว่า สภาพในอดีตของไทยเราเพียงแค่ช่วง ๖๐-๗๐ ปีก่อน ถึงปัจจุบัน ก็ได้มีความเคลื่อนคลาดผิดพลาดไปมาก อย่านึกว่าคนโบราณของไทยเป็นแหล่งที่มาของความเชื่อสิ่งเหลวไหลอย่างที่เป็นอยู่ หาใช่เช่นนั้นไม่ ขอให้เปรียบเทียบดูให้ดี คนไทยสมัยก่อนนั้นใช้สิ่งเหล่านี้อย่างมีหลักการมากกว่าคนปัจจุบัน อย่างน้อยที่เห็นชัดเจนคือ คนโบราณใช้ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเชิงเป็นสิ่งเรียกร้องและกำหนดจริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญและเอามาใช้เป็นสิ่งประกอบพระพุทธศาสนาได้

ในขณะที่เราสอนพระพุทธศาสนา เรายอมรับความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์ปุถุชนย่อมมีความหวั่นไหวต่ออำนาจลึกลับของสิ่งที่มองไม่เห็น และถือว่าเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ แม้จะมานับถือพุทธศาสนาแล้วก็ยังมีความหวั่นไหว พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ ยัดเยียดให้กันไม่ได้ จะต้องค่อยๆ สอน ค่อยๆ แนะนำพัฒนากันไป ฉะนั้นเราจึงไม่มีการบังคับ เราเริ่มด้วยการยอมรับเขาตามที่เขาเป็น แต่เราพยายามสอนเขาในสิ่งที่ถูกต้อง เราค่อยๆ ดึงเขาขึ้นมาจากความไม่รู้สู่ความรู้ แต่ตอนแรกเขาอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ยังมีความหวั่นไหวอยู่ คนโบราณจึงใช้ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างมีหลักการ โดยเปลี่ยนเบนเขาออกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจเร้นลับตลอดจนไสยศาสตร์ที่เต็มไปด้วยกิเลสและการเบียดเบียน เช่นการทำร้ายกัน มาสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเรื่องของคุณธรรมความดีงาม พร้อมกับใช้เป็นเครื่องเรียกร้องจริยธรรม

สมัยก่อนพระจะให้วัตถุมงคลแก่ใครจะต้องบอกว่า ได้พระหรือของดีไปแล้ว ห้ามทำความชั่วอย่างนั้นอย่างนี้ และจะต้องทำสิ่งที่ดีอย่างนี้ๆ แต่เดี๋ยวนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวัตถุมงคลต่างๆ ได้มาด้วยเงินอย่างเดียว มีเงินก็ไปแลกเอามาได้ ขอใช้คำว่า เดี๋ยวนี้เรามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ซื้อได้ด้วยเงิน ซึ่งสมัยก่อนนั้นไม่มี เพราะความศักดิ์สิทธิ์ซื้อไม่ได้ด้วยเงิน แต่จะใช้เป็นเครื่องเรียกร้องศีลธรรม ซึ่งหมายความว่าใช้วัตถุมงคลเป็นสื่อนำเข้าสู่พุทธศาสนา แต่ปัจจุบันนี้ขอให้ช่วยกันมองว่า เรากำลังใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อดึงคนออกจากพุทธศาสนา ดูให้ดีว่าจริงหรือไม่ ก่อนนี้ท่านใช้วัตถุมงคลเพื่อดึงคนขึ้นไปสู่หลักธรรมที่สูงขึ้น แต่บัดนี้เราใช้มันเพื่อดึงคนลงมาสู่ความโลภหลง สภาพเช่นนี้กำลังปรากฏอยู่ในสังคมไทย (ซึ่งไม่เหมือนกับสมัยก่อน) และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย (หายนธรรม) ที่กำลังแพร่หลายมากขึ้น เราจึงต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับหลักพุทธศาสนา

อยากจะย้ำเรื่องเหล่านี้ว่า เราควรจะมาตกลงกันให้แน่ว่าเราจะมีท่าทีและปฏิบัติต่อมันอย่างไร เพราะมันมีอิทธิพลครอบงำสังคมอยู่ มันสืบต่อมาในสังคมไทยในลักษณะที่คลาดเคลื่อนเลือนราง ผิดเพี้ยนไป

คนไทยสมัยนี้ใช้เทคโนโลยี
โดยขาดความเข้มแข็งของฝรั่งที่สร้างสรรค์

อีกด้านหนึ่งคือ วัฒนธรรมด้านวัตถุ ซึ่งเข้ามาในลักษณะที่ซ้ำเติมให้คนไทยมีวัฒนธรรมที่อ่อน สิ่งนั้นก็คือเทคโนโลยี คำว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่แสดงลักษณะของความเป็นโลกาภิวัตน์ และเป็นปัจจัยสำคัญของโลกาภิวัตน์ การมีสิ่งเหล่านี้ในสังคมต้องมองที่ความหมายของมันต่อสังคมด้วย นั่นคือ ความหมายของเทคโนโลยีต่อสังคมแต่ละแห่งหาได้เหมือนกันไม่ เทคโนโลยีสำหรับเมืองฝรั่งมีความหมายอย่างหนึ่ง ส่วนเทคโนโลยีสำหรับสังคมไทยก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง ต่างกันอย่างไร ขอยกตัวอย่างให้เห็นว่า คนไทยพบกับเทคโนโลยีบนพื้นฐานอย่างไร และสังคมตะวันตกได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างไร ความแตกต่างที่เห็นง่ายๆ ก็คือ

สังคมไทยเป็นสังคมที่ได้บริโภคเทคโนโลยีอย่างฉับพลันทันด่วน ไม่ได้สร้างมากับมือตัวเอง ส่วนสังคมตะวันตกนั้นเป็นสังคมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในฐานะเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีขึ้น ภูมิหลังที่ต่างกันนี้ มีความหมายในเชิงรากฐานวัฒนธรรม และชีวิตจิตใจ ขอให้ดูสังคมตะวันตกว่ามีเทคโนโลยีขึ้นมาอย่างไร

หนึ่ง เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีเราจะเชื่อมโยงไปที่วิทยาศาสตร์ เราบอกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันนี้เป็นเทคโนโลยีในยุคที่มีความก้าวหน้า เป็นเทคโนโลยีที่อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หมายความว่าเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในยุคที่วิทยาศาสตร์เจริญ เมื่อเทคโนโลยีเกิดจากวิทยาศาสตร์ก็ต้องดูว่า ชาวตะวันตกพัฒนาวิทยาศาสตร์มาอย่างไร ไม่ต้องพูดถึงภูมิหลังมากมาย เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นจนกระทั่งแพร่หลายในสังคมนั้น คนมีความเชื่อในเชิงวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ที่พัฒนามาก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ขึ้น คือความมีชีวิตจิตใจแบบวิทยาศาสตร์ที่มีความใฝ่รู้และเชื่ออย่างมีเหตุผล เชื่อในการพิสูจน์ทดลอง ไม่หลงเชื่อในสิ่งใดง่ายๆ สภาพจิตใจอย่างนี้ออกมาสู่วิถีชีวิตและเกิดเป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ หมายความว่าการที่ฝรั่งจะได้เทคโนโลยีมานี้ เขาต้องผ่านการสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดมีชีวิตจิตใจและวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาได้คือ สภาพชีวิตจิตใจที่เป็นผู้มีความใฝ่รู้ เชื่อในเหตุผล มีวิจารณญาณ ไตร่ตรอง พยายามพิสูจน์ในสิ่งต่างๆ

สอง ฝรั่งสร้างความเจริญทางเทคโนโลยีเพื่อเอามาใช้ในทางอุตสาหกรรม เทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบและเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมจะเจริญหรือสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่มีเทคโนโลยี และการพัฒนาเทคโนโลยีก็อาศัยอุตสาหกรรม ฝรั่งพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นจนเกิดมีวัฒนธรรมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกิดจากความใฝ่ฝันในการผลิตและสร้างสรรค์ หรือเกิดจากวัตถุประสงค์เพื่อเอาชนะความขาดแคลน กล่าวคือฝรั่งมีชีวิตที่ถูกบีบคั้นจากภัยธรรมชาติ ประสบความขาดแคลน ดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย เขาจึงดิ้นรนต่อสู้ให้พ้นจากความขาดแคลนนั้น โดยมุ่งที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้น เขาจึงได้พัฒนาอุตสาหกรรมขึ้น และจากกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมอันยาวนานนั้น เขาก็เกิดมีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมขึ้นมา

การมีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมคือการมีนิสัยสู้งานและความเหนื่อยยาก มีความเพียรพยายาม ที่เรียกว่าอุตสาหะ ฝรั่งจึงเรียกอุตสาหกรรมว่า industry ซึ่งแปลว่า ความขยันหมั่นเพียร ซึ่งเราได้นำมาแปลเป็นภาษาไทยว่า อุตสาหกรรม หมายถึงการกระทำด้วยความอุตสาหะ ฉะนั้นตัวพื้นฐานของอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องของความเพียร ความขยัน การทนสู้ ฝรั่งพัฒนาอุตสาหกรรมมาด้วยการต่อสู้อย่างมาก โดยมีความขยันขันแข็งและอดทน ดังที่เขามีจริยธรรมในการทำงานซึ่งเขาภูมิใจนักหนาเรียกว่า work ethic หรือ protestant ethic ซึ่งเป็นจริยธรรมในการทำงาน โดยมีความสันโดษเป็นหลัก

ความสันโดษ หมายความว่า เขาจะไม่บำรุงบำเรอปรนเปรอตัวเอง ไม่ยอมตามใจตัวเองในการหาความสุข แต่เขาจะเป็นอยู่อย่างง่ายๆ และขยันหมั่นเพียรทำการงาน เงินกำไรที่ได้มาแล้วก็อดออมไว้เอามาลงทุนทำการงานต่อไป นี่เป็นวัฒนธรรมในการทำงานของฝรั่ง ที่สู้ทน มีความขยันหมั่นเพียรเพื่อสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมา ทำให้เกิดความเจริญและการพัฒนา

ปัจจุบันฝรั่งได้พ้นยุคอุตสาหกรรม พ้นยุคแห่งความขยันหมั่นเพียรเปลี่ยนมาเป็นยุค post-induatrial society คือผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม กลายมาเป็นยุคสังคมบริโภค (consumer society) แต่วัฒนธรรมอุตสาหกรรมได้ถูกสร้างสรรค์มาเป็นเวลานานแล้ว จนฝังลึกเป็นชีวิตจิตใจที่มีความขยันขันแข็ง ความอดทน ความสู้สิ่งยาก นี้แหละเป็นลักษณะของชีวิตอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีของฝรั่งที่เขาสร้างมาด้วยตัวของเขาเอง ผ่านภูมิหลังที่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม โดยที่วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ทำให้เขาใฝ่รู้ และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมทำให้เขาสู้สิ่งยาก คุณสมบัติ ๒ อย่างนี้คือ ความใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะในระบบแข่งขันของอารยธรรมยุคปัจจุบันนี้ ถ้าใครขาดความใฝ่รู้สู้สิ่งยาก ก็ยากที่จะพัฒนาได้ คนญี่ปุ่นมีลักษณะใฝ่รู้และสู้สิ่งยาก จึงสู้กับฝรั่งได้

ถ้ามัวหวังพึ่งและชอบสบาย สังคมไทยจะยิ่งอ่อนแอลง

สังคมไทยเป็นสังคมที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีชีวิตที่สุขสบายมาโดยตลอด ไม่เคยต้องสู้สิ่งยาก ต่อมาฝรั่งมีเทคโนโลยีมาให้บริโภค (เทคโนโลยีแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ เทคโนโลยีเพื่อการผลิต และเทคโนโลยีเพื่อการบริโภค) เทคโนโลยีบริโภคนั้นเข้ามาเสริมความสะดวกสบายบำรุงบำเรอความสุขเพิ่มขึ้น สังคมไทยจึงรับเทคโนโลยีเข้ามาโดยไม่ได้รับวัฒนธรรมพื้นฐานของเขามาด้วย คือไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม เราจึงเสียเปรียบในเรื่องพื้นฐานทางจิตใจและนิสัยใจคอ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่เราต้องรู้และยอมรับและจะต้องพัฒนาคนของเราให้ตรงกับจุดอ่อนนั้น

ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และไสยศาสตร์ ด้วยการอ้อนวอนขอผลแบบลาภลอย โดยที่ตัวเองไม่ต้องใช้ความเพียรนั้น เป็นระบบที่เรียกว่า ถ่ายโอนภาระรับผิดชอบให้แก่สิ่งอื่น (ให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์และไสยศาสตร์)

ในที่นี้ได้พูดถึงองค์ประกอบที่ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ ๓ อย่าง คือ

๑) สภาพภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมไทยที่สมบูรณ์และสบายมาแต่ก่อนเก่า

๒) เทคโนโลยีบริโภคสำเร็จรูปที่ตัวเองไม่ได้สร้างสรรค์มาเอง ซึ่งพรากออกไปจากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม

๓) ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบถ่ายโอนภาระรับผิดชอบให้แก่สิ่งอื่น และการหวังพึ่งความช่วยเหลือของอำนาจดลบันดาลจากภายนอก

คนไทยมีวัฒนธรรมที่อ่อนมากจากสภาพเหล่านี้ ซึ่งเราต้องยอมรับ ฉะนั้นการที่จะสร้างสรรค์สังคมไทยให้พัฒนา จึงต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องทำให้ได้ สังคมไม่ว่าสมัยใดถ้าจะเดินไปข้างหน้า จะต้องมีความชัดเจนว่าจะดำเนินไปอย่างไร

สังคมไทยจะต้องเน้นการพัฒนาคนให้มีความใฝ่รู้ และสู้สิ่งยากให้ได้ มิฉะนั้นคนไทยจะอ่อนแอ เปราะบาง ขณะนี้สังคมฝรั่งกำลังประสบปัญหานี้แล้ว ทั้งๆ ที่เขามีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมอย่างหนักแน่นมาก่อน แต่เมื่อเขาพัฒนาถึงจุดที่กลายเป็นสังคมบริโภค ฝรั่งก็เริ่มประสบปัญหา ดังที่ปรากฏว่า คนรุ่นใหม่ของเขาขาด work ethic (จริยธรรมในการทำงาน) มีหนังสือออกมาหลายเล่มบอกว่า คนอเมริกันปัจจุบันขาด work ethic มีหนังสือออกมาโอดครวญกันมากว่า เดี๋ยวนี้สังคมอเมริกันแพ้ญี่ปุ่นและเยอรมันในเวทีการแข่งขันของโลก หนังสือที่มีชื่อทำนองนี้ว่า The End of the American Century มีผู้เขียนออกมามาก

จะฝึกเด็กให้เข้มแข็งด้วยการสู้ปัญหา
หรือคอยเอาใจให้เด็กเห็นแก่เสพและสบาย

หันมาดูการศึกษาของไทย ถ้าเราจะตามอเมริกันจะต้องระวังการศึกษาของอเมริกันเวลานี้เป็นการศึกษาที่ทำให้คนอ่อนแอ ไม่เหมือนการศึกษาอเมริกันยุคก่อน การศึกษาของอเมริกันค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่รู้ตัว ได้หันมาเน้นการเอาใจเด็ก จะจัดบทเรียน หรือจัดกิจกรรมก็ต้องเอาใจเด็กต้องให้เด็กชอบถ้าเด็กไม่ชอบใจก็ไม่เรียน แต่ในบางประเทศเขาฝึกให้เด็กสู้ สิ่งใดยากให้ต่อสู้ เอาชนะให้ได้ ก็ทำให้เด็กเข้มแข็งและเก่ง อย่างไรก็ตามทั้ง ๒ อย่างนี้ต้องมีดุลยภาพ

เราเองต้องไม่เผลอ เราควรทำบทเรียนและกิจกรรมให้น่าสนใจ แต่อย่าเลยเถิดไปจนกลายเป็นการเอาใจเด็ก เด็กที่ถูกตามใจต่อไปจะอ่อนแอ จะไม่พัฒนา ส่วนอีกพวกหนึ่งก็จะให้เด็กสู้อย่างเดียว พบอะไรก็สู้ทุกอย่าง ในเวทีโลกนั้นพวกที่ได้เปรียบคือ พวกที่รู้จักสู้สิ่งยาก แต่เราจะต้องไม่ไปสุดโต่ง การที่เราจะทำบทเรียน หรือกิจกรรมให้น่าสนใจนั้นไม่ผิด เพราะทำให้เด็กทุ่นเวลาในการศึกษาเล่าเรียน ทำให้เรียนง่ายและสะดวกขึ้น แต่ต้องไม่เลยเถิดจนกระทั่งกลายเป็นการเอาใจเด็ก แต่ต้องพัฒนาเด็กให้มีจิตสำนึกในการพัฒนาและฝึกฝนตนเอง

จิตสำนึกในการฝึกฝนตนเอง ทำให้มีนิสัยสู้สิ่งยาก คนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกหรือพัฒนาตนเอง เป็นคนที่ไม่สู้สิ่งยาก เมื่อพบงานยากต้องเผชิญความยากลำบากก็ไม่สู้ ท้อถอย ไม่เต็มใจ จึงเกิดผลเสีย ๒ ประการคือ

หนึ่ง รู้สึกฝืนใจ ไม่เต็มใจ เป็นทุกข์ สุขภาพจิตเสีย

สอง ไม่ตั้งใจทำงาน จึงทำให้งานไม่ได้ผลดี

ส่วนเด็กที่ฝึกตนดี มีจิตสำนึกในการศึกษา สู้สิ่งยาก จะมีความรู้สึกว่าสิ่งใดที่ยากเมื่อทำก็ได้ฝึกฝนมาก แต่ถ้าพบสิ่งที่ง่ายจะรู้สึกว่าไม่ได้ฝึกตนเลย ฉะนั้นเมื่อพบปัญหาและงานที่ยาก เด็กพวกนี้จึงรู้สึกชอบเพราะจะได้ฝึกฝนตนและได้เรียนรู้มากขึ้น ผลดี ๒ ประการ จึงเกิดตามมาคือ

หนึ่ง เต็มใจสู้ เต็มใจทำ จึงมีความสุขในการเรียนและทำงาน

สอง ตั้งใจทำ ทำให้งานได้ผลดี

เพราะฉะนั้น คนที่ชอบฝึกตน มีจิตสำนึกในการศึกษา ก็จะมีการพัฒนายิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้รับความสุขไปด้วย เป้าหมายเฉพาะหน้าในการพัฒนาคนของเราจะต้องอยู่ที่ความใฝ่รู้สู้สิ่งยากนี้ เมื่อสู้สิ่งยาก ผลที่ได้ตามมาคือ เป็นคนที่ทุกข์ได้ยาก แต่เป็นคนที่สุขได้ง่าย เด็กที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกฝนตนเอง ได้รับแต่การตามใจ มีสิ่งบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม จะเป็นคนที่ทุกข์ได้ง่าย และเป็นคนที่สุขได้ยาก และมองเห็นการกระทำเป็นความทุกข์ เพราะได้รับการบำรุงบำเรอ เมื่อขาดสิ่งที่ต้องการก็เกิดทุกข์ทันที ส่วนความสุขเกิดได้ยากเพราะมีทุกอย่างหมดแล้ว และรู้สึกชินชาเป็นธรรมดาจึงต้องการมากขึ้นไป แต่เพราะมีพรั่งพร้อมแล้วเติมได้ยาก ความสุขจึงเกิดได้ยาก และความสุขหมายถึงการได้รับการปรนเปรอให้ไม่ต้องทำอะไร ถ้าต้องทำอะไรก็ทุกข์ ส่วนคนที่สู้สิ่งยากนี้ความยากน้อยลงนิดเดียวก็เกิดสุขทันที และเป็นทุกข์ได้ยาก เพราะเจอความยากมามาก เจอความยากชิ้นใหม่ กลับยากน้อยกว่าก็จึงไม่ทุกข์อะไร และมีความสุขจากการทำเพราะเป็นการได้ฝึกตน

จะเห็นว่า คนที่ผ่านความทุกข์ยากลำบาก สู้ชีวิตมามากจนสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นหลักฐานนั้น คนเหล่านี้ไม่ฆ่าตัวตาย แต่คนที่มีความสุขมีเสพพรั่งพร้อมพอเสียความสุขนิดเดียวก็ฆ่าตัวตาย เราจึงต้องระวัง การที่จะให้คนมีความสุขจะต้องมีการฝึกให้พัฒนาอยู่เสมอ

ประเทศอเมริกาสมัยก่อน ในยุคที่พัฒนาอุตสาหกรรมมากคนไม่มีเวลาเอาใจใส่กัน พ่อแม่ ผู้ใหญ่ คนแก่ถูกทอดทิ้ง ปรากฏว่าคนแก่ฆ่าตัวตายมาก เพราะเหงา ว้าเหว่ ไม่มีใครเอาใจใส่ ซึ่งเป็นผลเสียอย่างหนึ่งของชีวิตในยุคอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันมาก

ต่อมาอเมริกาประสบความสำเร็จ มีวัตถุเครื่องใช้สอยพรั่งพร้อม กลายเป็นสังคมบริโภค ปัจจุบันปัญหาฆ่าตัวตายของสังคมอเมริกันมาเพิ่มขึ้นที่เด็กวัยรุ่น ขณะนี้สังคมอเมริกันมีสิ่งเสพบริโภคพรั่งพร้อม แต่เหตุใดเด็กวัยรุ่น หนุ่มสาว จึงฆ่าตัวตายมาก ทั้งๆ ที่ชีวิตของพวกเขากำลังแข็งแรงสดใส จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตก ฝรั่งกำลังค้นหาสาเหตุกันอยู่ ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก แต่ความใฝ่รู้ และสู้สิ่งยากซึ่งเป็นฐานมาแต่อดีต ยังไม่หมดไป ทำให้เขายังมีกระแสแห่งความเจริญอยู่ได้ แม้ว่าเวลานี้กระแสนั้นจะกำลังไหลลง

ฉะนั้น ถ้าเราจะเอาอย่างประเทศอเมริกา ก็อย่าไปดูเพียงปัจจุบัน ต้องดูย้อนหลังไปในอดีตเมื่อ ๕๐-๑๐๐ ปีที่แล้ว ประเทศที่จะพัฒนานั้น ไม่ใช่ประเทศที่จะเอาแต่ผล แต่ต้องเป็นนักสร้างเหตุ สังคมที่เสวยผลไม่ใช่สังคมที่พัฒนา สังคมที่จะพัฒนาคือสังคมที่สร้างเหตุ การที่จะสร้างเหตุได้ ก็ต้องรู้ถึงสาเหตุ ไม่ดูเพียงปัจจุบัน แต่ต้องสืบเสาะอดีตให้ดีว่าประเทศเหล่านั้นเจริญรุ่งเรืองมาได้อย่างไร

พฤติกรรมของคนอเมริกันปัจจุบันนี้ ดูจะเป็นพฤติกรรมแห่งความเสื่อมหรือเป็นปัจจัยของความเสื่อมต่อไปข้างหน้า เป็นเรื่องที่เราต้องเอาใจใส่ศึกษาให้ถูกต้อง อย่างน้อยการศึกษาของเราควรเน้นให้เกิดคุณลักษณะใฝ่รู้ สู้สิ่งยากให้ได้

ถ้าปลูกความอยากดีขึ้นมาได้ ก็คือแสงอุทัยแห่งชีวิตที่จะพัฒนา

วิธีการที่จะทำให้เกิดคุณลักษณะใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก ได้สำเร็จนี้จะทำอย่างไร ?

ตามหลักการของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงหลักธรรมไว้ข้อหนึ่งที่สำคัญมาก ซึ่งคนไทยมองข้ามไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ก่อนอาทิตย์อุทัย จะมีแสงเงินแสงทองปรากฏขึ้นก่อนฉันใด เมื่อชีวิตดีงามที่เรียกว่ามรรค จะเกิดขึ้น ก็มีสิ่งเหล่านี้เกิดนำมาก่อนฉันนั้น” (ขุ.ม. ๑๙/๑๒๙-๑๔๕)

สิ่งหนึ่งที่พระองค์ตรัสอย่างสม่ำเสมอคือ ความอยาก (ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเข้าใจเกี่ยวกับความอยากผิดๆ ว่าชาวพุทธต้องไม่มีความอยาก ความอยากเป็นตัณหา จะต้องละ ลดความอยาก) ความอยากมี ๒ ประเภท คือ ความอยากที่เป็นอกุศล และความอยากที่เป็นกุศล

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ ลด ละ ควบคุม ความอยากที่เป็นอกุศล แล้วให้พัฒนาความอยากที่เป็นกุศล ความอยากที่เป็นกุศลนี้สำคัญอย่างยิ่ง ท่านถือว่าเป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา ความอยากนี้คือความใฝ่ดี คนที่ใฝ่ดีนั้นเมื่อเขาไปพบหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งใดก็ตาม เขาจะอยากทำให้สิ่งนั้นดีที่สุด เช่น เมื่อเดินไปบนถนน พบเห็นถนนสกปรกจะรู้สึกปล่อยไว้ไม่ได้ อยากจะทำให้ถนนสะอาดเรียบร้อย

การที่เมื่อไปพบไปสัมผัสกับสิ่งใดแล้วต้องการให้สิ่งนั้นดี อยากจะให้ดีนั้นเรียกว่าฉันทะ ซึ่งมีอยู่ในอิทธิบาท ๔ เป็นทางแห่งความสำเร็จ แต่เราใช้แคบไป (ฉันทะเป็นศัพท์ที่ใช้ทั่วไป) เวลานี้เราประสบปัญหามาก จากระบบการทำงานที่ต้องแข่งขันกัน และในการแข่งขันนั้นถ้าคนไม่มีคุณภาพก็ยากที่จะพบความสำเร็จ เมื่อวางระบบงานที่ต้องแข่งขันกันทำ แต่ละคนทำตามหน้าที่ไป บางครั้งอาจทำเพียงแค่หวังผลตอบแทนทำงานให้เสร็จพอได้รับผลตอบแทน โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ

ฉันทะเป็นตัวกลาง ความหมายคือ เมื่อต้องไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดก็ตาม ก็อยากให้สิ่งนั้นอยู่ในภาวะดีงาม เมื่อฉันทะเกี่ยวข้องกับคนเราเรียกว่าเมตตา (เมตตาเป็นอาการที่เกิดจากฉันทะ) กรุณา มุทิตา

เมตตา อยากให้เขาอยู่ในภาวะที่ดี

กรุณา อยากให้พ้นภาวะที่ไม่ดี ไปสู่ภาวะที่ดี

มุทิตา อยากส่งเสริมเขาให้มีภาวะที่ดียิ่งขึ้นไป

เมื่ออยากให้เขาดี อยากให้สิ่งนั้นดี มีความใฝ่ดี ก็ต้องแสวงหาความรู้ว่าจะทำอย่างไร จึงจะเกิดผลดี นั่นคือมีความใฝ่รู้ แล้วปรารถนาจะทำให้สำเร็จ ต้องการให้งานบรรลุจุดหมายที่ดี จึงมีการพัฒนาฝึกฝนแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ทำให้เข้มแข็งสู้สิ่งยากได้ นั่นคือเป้าหมายของการพัฒนาเด็ก

การพัฒนาเด็กต้องทำให้เกิดฉันทะคือความอยากรู้และอยากดี ซึ่งเป็นจุดเริ่มสำคัญที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้และรู้จักคิด พร้อมทั้งความสุขจากการเรียนรู้และสนองความใฝ่รู้ โดยเริ่มต้นจากการเรียนการสอนที่ฝึกหรือนำทางให้เด็กมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง เช่น ปัจจุบันมีเครื่องเล่นที่สวยงาม มีสีสันฉูดฉาด ถูกตาถูกใจ เมื่อพ่อแม่พาไปห้างสรรพสินค้าเด็กได้เห็นสิ่งที่มีสีสันน่าดู ก็จูงมือแม่เข้าไป ตอนนี้แหละเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสที่จะฝึกฝนเด็กให้มีโยนิโสมนสิการ (การรู้จักคิดทั้งในเชิงหาความจริง และในเชิงสรรประโยชน์) ถ้าเราไม่ฝึกเด็กให้รู้จักคิด เด็กจะไหลไปสู่กระแสที่เป็นทางตรงกันข้ามกับการเรียนรู้ คือกระแสแห่งความชอบชัง

ในกรณีนี้ ถ้าพ่อแม่พูดกับลูกได้แค่ว่าอันนี้สวย อันนี้ไม่สวย อันนี้สวยกว่า เอาอันนี้ดีกว่า ก็เท่ากับดึงเด็กให้จมอยู่ในกระแสแห่งความชอบชัง (กระแสแห่งตัณหา) โดยไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้พัฒนาอะไร แต่ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจรู้เท่าทัน ก็จะนำเด็กเข้าสู่กระบวนการแห่งการเรียนรู้ เช่น ด้วยการให้รู้ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร เป็นมาอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไร ฯลฯ เด็กก็จะฝึกโยนิโสมนสิการขึ้นมา

คนเรามีการรับรู้แบบพื้นฐานที่ไม่ต้องสอน ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องมีสิกขา (ไม่ต้องเรียน) คือรับรู้ตามความรู้สึกว่าชอบใจ ไม่ชอบใจ เมื่อสบายตาก็ชอบใจ ไม่สบายตาก็ไม่ชอบใจ ที่ทางพระเรียกว่า ยินดียินร้าย เป็นการวนเวียนอยู่ในกระแสอวิชชา และตัณหา

ตัณหา คือชอบใจไม่ชอบใจ อยากเอาหรือไม่อยากเอา อย่างหนีอยากทำลาย เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับความรู้สึก

ส่วนโยนิโสมนสิการ คือให้รับรู้ด้วยปัญญา แทนที่จะให้เด็กรับรู้แบบชอบใจและไม่ชอบใจเท่านั้น ถ้าพ่อแม่กระตุ้นเร้าหรือไปเสริมตัณหาให้เด็กรับรู้แบบชอบใจหรือไม่ชอบใจ เด็กก็จะไม่ได้อะไรแต่จะวนเวียนติดอยู่เพียงแค่นั้น ส่วนเด็กที่พ่อแม่ฝึกให้รู้จักโยนิโสมนสิการ จะเกิดปัญญา โดยเด็กจะพัฒนาด้วยปัญญาของตน

ในชีวิตประจำวัน เรามักพบว่าพ่อแม่คนไทยจะคอยซ้ำเติมเด็กในด้านตัณหามาก เด็กจะได้รับการย้ำเติมกระแสของความชอบใจและไม่ชอบใจมาก มากจนกระทั่งเด็กที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น ต่อไปอาจจะถูกปิดถูกบังจนกลายเป็นว่าจะทำสิ่งใดก็ขึ้นอยู่กับความชอบใจไม่ชอบใจ แทนที่จะพัฒนาความอยากรู้อยากเห็น ให้ก้าวไปสู่โยนิโสมนสิการ

คนจะกลายเป็นทาส ถ้ามัวใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพ
แต่คนจะเป็นนาย เมื่อใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์

โยนิโสมนสิการนี้ ทำให้เกิดและทำให้ก้าวไปในการเรียนรู้ ถือเป็นการพัฒนาอินทรีย์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคเทคโนโลยีที่เข้ามาในลักษณะของการบริโภค คนไทยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกสบายบำรุงบำเรอหาความสนุกสนาน เน้นหนักไปในแง่เทคโนโลยีเพื่อการเสพหรือเทคโนโลยีเชิงบริโภค แต่ที่จริงนั้น ตามความหมายพื้นฐาน มนุษย์ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายวิสัยอินทรีย์ของตน เช่น ไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียง จะขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ในการพูดของเราได้เป็นหมื่นเป็นแสนเท่า กล้องดูดาวก็ขยายวิสัยแห่งอินทรีย์คือตาของเราทำให้มองเห็นดาวแม้แต่ที่เล็กที่สุด ซึ่งอยู่แสนไกล หรือกล้องจุลทรรศน์ก็ขยายวิสัยแห่งอินทรีย์คือตาของเรานั้นให้มองเห็นแม้แต่ไวรัส เทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของเราจนถึงขั้นทำหน้าที่แทนได้

ตามปกติมนุษย์เราเมื่อต้องการจะมีชีวิตที่ดี ก็ต้องพัฒนาอินทรีย์ให้เฉียบคม คนเราเมื่อทำงานที่ต้องใช้อินทรีย์ใด ก็จะต้องพัฒนาอินทรีย์นั้น เช่น แพทย์พัฒนาตาที่ดู หูที่ฟัง มือที่สัมผัสของตนเก่งจนดูคนไข้ออก เพียงเห็นคนไข้เดินเข้ามาก็พอจะบอกได้ว่า เป็นโรคอะไร อย่างน้อยก็จำกัดขอบเขตของปัญหาได้ว่า ควรจะเจาะถามคนไข้ที่จุดไหน ค้นหาสมุฏฐานของโรคได้รวดเร็ว หรืออย่างช่างแก้เครื่องยนต์ฟังเสียงเครื่องยนต์ก็แทบจะรู้เลยว่าปัญหาอยู่ ณ จุดใด เด็กของเราก็เช่นกัน ต้องสอนให้ฝึกคิดฝึกทำ แม้แต่คิดเลขในใจก็ต้องฝึกไว้

เมื่อมีเทคโนโลยีขึ้นมาเราก็มักจะประมาท ปล่อยตัว ไม่พัฒนาอินทรีย์ แพทย์มีเครื่องมือสารพัดจนถึง MRI, CT scan, X- ray Computer เมื่อคนไข้มาก็ส่งเข้าเครื่อง ไปๆ มาๆ พอไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ การทำงานก็เลยต้องขึ้นกับเทคโนโลยีหมด สมัยนี้เมืองฝรั่งเด็กคิดเลขในใจไม่เป็น ไม่มีเครื่องคิดเลขก็คิดไม่ออก

เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีจะเกิดโทษ ถ้าเรามีความประมาท มัวแต่เพลินเสพ แล้วไม่พัฒนาอินทรีย์ วงการศึกษาจะต้องสำนึก ตระหนักอยู่เสมอที่จะไม่ลืมให้มีการพัฒนาอินทรีย์ โดยถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อมีเทคโนโลยี จะต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องเสริมช่วยเรา (เรียกว่าเป็นปัจจัย) อย่ามองให้เป็นสิ่งที่มาทดแทนเรา ทำให้เราอยู่ในความประมาท ทำให้เราแย่ลงเพราะต้องมีชีวิตที่ขึ้นกับเทคโนโลยี ดังที่ฝรั่งกำลังวิตกว่าจะประสบปัญหามากขึ้นในเรื่องนี้ เมื่อเรามีเทคโนโลยี อย่าให้เทคโนโลยีมาทำให้เราสูญเสียความสามารถหรือศักยภาพในการใช้อินทรีย์ เราต้องฝึกตนเองอยู่เสมอ เพื่อยังคงเป็นนายอยู่เหนือเทคโนโลยี

การขึ้นต่อเทคโนโลยี มี ๒ ด้าน คือ

๑. การขึ้นต่อเทคโนโลยีในด้านการดำรงชีวิตและทำกิจการงาน คือ ขึ้นต่อมันในทางอินทรีย์อย่างที่กล่าวมานี้

๒. การขึ้นต่อเทคโนโลยีในด้านความสุข หมายความว่า ถ้าขาดเทคโนโลยีบำรุงบำเรอ ก็จะกระวนกระวาย ทุรนทุราย ไม่สามารถมีความสุขในตนเอง

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องฝึกเด็กให้เป็น independent คือเป็นคนที่เป็นอิสระ มีอิสรภาพในตัวเอง ไม่ต้องเป็นทาสขึ้นต่อเทคโนโลยีไม่ว่าจะโดยทางอินทรีย์หรือโดยทางความสุข ถึงแม้ไม่มีเทคโนโลยีก็เป็นอยู่ ทำงาน และมีความสุขได้

ขณะนี้ถ้าพัฒนาไม่ถูกทาง เทคโนโลยีจะสร้างปัญหาให้เรา การปล่อยตัวให้เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อเรามากเกินไป ทั้งในทางอินทรีย์ และในทางความสุขนั้น เป็นหนทางแห่งความเสื่อม ในทางที่ถูกเราจะต้องเป็นนายของมัน ใช้มันให้เป็นประโยชน์ ให้มันรับใช้เรา อย่าให้มันเป็นนายเรา พูดสั้นๆ ว่า ต้องมองเทคโนโลยีด้วยท่าทีที่ให้มันเป็นปัจจัยแห่งการสร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นจุดหมายแห่งความใฝ่ฝันที่จะเสพ และควรใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์ ให้มากกว่าใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพ เราจะต้องรักษาอิสรภาพจากเทคโนโลยีไว้ให้ได้ทั้ง ๒ ด้าน กล่าวคือ

๑. มีอิสรภาพในเชิงอินทรีย์ ฝึกอินทรีย์ให้รู้จักพึ่งตนเองได้เมื่อขาดเทคโนโลยี

๒. มีอิสรภาพในการที่จะมีความสุข มีความสุขได้ด้วยตนเองให้มากขึ้น

ขอพูดสั้นๆ ว่า

ถ้าเด็กหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี เด็กจะจมอยู่ในกระแสตัณหา จะเกิดและจะก่อแต่ปัญหา ยากที่จะพัฒนา แต่ถ้าเด็กหาความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี แสงแห่งปัญญาจะฉายออกมา และเด็กจะดำเนินไปในวิถีแห่งการพัฒนา การพยายามสร้างสรรค์จะเรียกร้องให้เกิดโยนิโสมนสิการ พร้อมไปด้วยกันกับการเสริมกำลังแห่งฉันทะ

จึงขอฝากเรื่องนี้แก่วงการศึกษา เพราะว่ามีความสำคัญมาก หากเราช่วยให้เด็กฝึกโยนิโสมนสิการ ตั้งแต่ยังเล็กๆ เด็กก็จะถูกนำไปในวิถีแห่งฉันทะ คือความใฝ่รู้และใฝ่ดี

สำหรับผู้ใฝ่เสพ การทำงานคือความทุกข์
สำหรับผู้ใฝ่สร้างสรรค์ การทำงานคือความสุข

ฉันทะ แปลขยายศัพท์ว่า กัตตุกัมยตา ซึ่งแปลว่า ความอยากที่จะทำ คืออยากสร้างสรรค์ ถ้าเราพัฒนาเด็กผิดทางโดยพัฒนาแต่ในทางตัณหา เด็กก็จะมีแต่ความอยากได้แต่ไม่อยากทำ อยากเสพแต่ไม่อยากสร้างสรรค์ แล้วทั้งชีวิตของเขาและสังคมก็จะมีแต่ปัญหา เวลานี้จึงควรแยกคนให้ชัดเป็น ๒ ประเภท

พวกที่ ๑ (ได้รับการศึกษาที่ผิด คือไม่มีการศึกษา) อยากจะได้ใฝ่เสพ แต่ไม่อยากทำ หวังสุขจากการเสพ และทุกข์จากการต้องทำ

พวกที่ ๒ (มีการศึกษาคือพัฒนาอย่างถูกต้อง) อยากจะทำให้ดีใฝ่สร้างสรรค์ มีความสุขจากการทำและการสร้างสรรค์

คนเราจะมีฉันทะ คือมีความอยากที่ดีที่ถูกต้องได้ ต้องมีการพัฒนาปัญญามาคู่กัน

ความอยากที่เป็นตัณหา กับความอยากที่เป็นฉันทะ ต่างกันอย่างไร?

คนเราเกิดมามีอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้รับรู้และรู้สึก สำหรับด้านความรู้สึกจะนำไปสู่การเกิดความอยากประเภทกิเลสตัณหา คืออยากเสพ เช่น เมื่อได้ลิ้มรสอาหาร จะรู้สึกอร่อยหรือไม่อร่อย ถ้าอร่อยก็อยากกินอีก ถ้าไม่อร่อย ก็อยากจะเลิกหรือเลี่ยงหนี ความอยากประเภทนี้ คือตัณหา ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีความรู้ เรียกว่ามีอวิชชาเป็นตัวเอื้อ อวิชชากับตัณหาไปด้วยกัน

ถ้าการศึกษาเริ่มต้นคือคนเริ่มพัฒนา ก็จะมีการเรียนรู้เช่น ด้วยการตั้งคำถามว่าเรากินเพื่ออะไร เมื่อถามว่าเรากินเพื่ออะไร ก็มีการคิดพิจารณา และปัญญาก็เริ่มมา แล้วก็จะได้คำตอบทางปัญญาว่า กินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี ไม่ใช่กินเพียงเพื่ออร่อย แล้วความรู้นี้ก็จะทำให้เราปรับพฤติกรรมการกินทันที เราไม่ได้กินเพื่ออร่อย ถ้ากินเพียงเพื่ออร่อย ก็กินด้วยอยากเสพ กินมากเกินไปหรือกินอาหารที่มีพิษภัย กินอาหารอร่อยแต่ทำลายสุขภาพ แต่เมื่อเราเรียนรู้ว่ากินเพื่อสุขภาพ เราก็จะปรับพฤติกรรมทันที โดยจำกัดปริมาณอาหารที่กิน และเลือกประเภทอาหารที่มีคุณค่า พร้อมกันนั้นก็จะเกิดความอยากชนิดใหม่ คือ อาหารอะไรที่มีคุณค่าต่อร่างกายก็อยากจะกิน ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยอร่อย ส่วนอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกายแม้จะอร่อยแต่ไม่อยากกิน ปัญญาเกิดขึ้นก็ยั้งหรือลดอิทธิพลของตัณหาทันที และทำให้เกิดฉันทะคือความอยากในสิ่งที่ดีงาม นี่แหละคือฉันทะ ได้แก่ความอยากที่ถูกต้อง ซึ่งมากับการศึกษา มาจากการเรียนรู้ มาจากปัญญา

ตัณหานั้นมากับอวิชชา อาศัยอวิชชาเป็นตัวเอื้อ ตัณหามาได้ทันทีโดยเป็นปฏิกิริยาต่อความรู้สึก แต่เมื่อปัญญาเกิดขึ้นตัณหาก็จะถูกหยุดยั้ง และฉันทะจะเพิ่มขึ้นมาแทนที่

คนไทยเรานี้คล้ายกับว่าจะรู้จักความอยากประเภทเดียวคือตัณหา ไม่รู้จักความอยากที่เรียกว่าฉันทะ ดังนั้นการศึกษาจึงขาดองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่ง คือฉันทะที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา ด้วยเหตุนี้ในการศึกษาเฉพาะหน้าขณะนี้ สิ่งที่ต้องเน้นให้มากคือฉันทะ และโยนิโสมนสิการ

ในตัวอย่างเมื่อกี้ การคิดว่า กินเพื่ออะไร และเรียนรู้ว่ากินเพื่อให้มีสุขภาพดี นี้คือโยนิโสมนสิการ ส่วนฉันทะคือความอยากกินสิ่งที่ดีงาม ที่เสริมคุณภาพชีวิต จะเห็นว่าปัญญาตามมาจากความอยากรู้ว่าสิ่งใดดี เมื่อเรียนรู้แล้วก็พยายามทำให้สำเร็จ คือ ให้เกิดสิ่งที่ดีนั้น แม้จะยากลำบากก็สู้ ดังนั้นความเข้มแข็งสู้สิ่งยากก็ตามมาอีก เราจะต้องสร้างกระบวนการนี้ให้เกิดแก่เด็กของเราให้ได้เพราะอันนี้เป็นกระบวนการศึกษาตามธรรมชาติ

หลักธรรมในพุทธศาสนานั้น แสดงความจริงตามธรรมชาติเกิดจากการสังเกตชีวิตจิตใจของมนุษย์ตามที่มันเป็นของมัน สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าข้อนี้มาแล้ว ข้อนั้นจะตามมาโดยไม่ต้องเรียกร้องเพราะมันเป็นกระบวนการธรรมชาติมันเป็นไปเองตามเหตุปัจจัยของมัน

จุดที่ต้องการเน้น คือ ต้องสร้างความใฝ่รู้ และสู้สิ่งยากให้เกิดขึ้นกับเด็ก และความใฝ่รู้สู้สิ่งยากนี้ต้องตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความใฝ่ดี หรืออาจจะพูดสั้นๆ ว่า สร้างความใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก บนรากฐานแห่งความใฝ่ดี จึงต้องสร้างความใฝ่ดีให้เกิดให้ได้ แล้วโลกก็จะประสบความสำเร็จในการศึกษา เมื่อเด็กไปพบเห็นสิ่งใดหรือเกี่ยวข้องกับอะไรๆ เขาก็อยากให้สิ่งนั้นดีและอยากทำสิ่งนั้นให้ดีดังนั้นเมื่อเขาทำงานเขาก็จะต้องทำงานทุกอย่างให้ดีที่สุด แม้แต่ความเป็นเลิศทางวิชาการก็จะสำเร็จตามต้องการ

ถึงเวลาที่ต้องมาทบทวนกันใหม่
ในความหมายของหลักการสำคัญแห่งประชาธิปไตย

สังคมประชาธิปไตยของเราเวลานี้เริ่มมีปัญหา ในสังคมประชาธิปไตยคนจะต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณา มีวิจารณญาณ รู้จักวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ปกครองตัวเองได้ สามารถใช้ปัญญาความรู้ความสามารถเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมได้ ถ้าคนของเราไม่มีปัญญา ไม่พึ่งตนเอง ไม่เรียนรู้ ไม่รู้จักคิดพิจารณา ก็ไม่มีอะไรจะมาเป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม การมีนิสัยคอยหวังพึ่งปัจจัยภายนอกให้ดลบันดาลผลที่ต้องการให้นั้น เป็นวิถีชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นต้องแก้ไข ความใฝ่รู้ สู้สิ่งยากนี้แหละจะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยได้ แต่ทั้งนี้ เราต้องเข้าใจหลักประชาธิปไตยให้ถูกต้อง

หลักการของประชาธิปไตยที่สำคัญมากก็คือ เสรีภาพ รองลงไปคือ ความเสมอภาค หรือ สมภาพ และอีกอย่างหนึ่งที่แทบจะไม่พูดถึงกันเลย คือ ภราดรภาพ ซึ่งเดี๋ยวนี้ แทบจะไม่ได้ยินนักการเมืองคนใดพูดถึงเลย ว่าโดยพื้นฐาน หลักการของประชาธิปไตย มี ๓ อย่างคือ เสรีภาพ สมภาพ หรือเสมอภาค และภราดรภาพ เหตุใดภราดรภาพจึงหายไป ตอบสั้นๆ ว่าเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจปัจจุบันครอบงำประชาธิปไตย ทำให้ไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของหลักการแห่งประชาธิปไตย แล้วหลักการนั้นก็ถูกลืมเลือนไป

เวลานี้เราพูดได้ว่า ระบบการเมืองการปกครองได้ตกอยู่ใต้อำนาจการครอบงำของระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม แบบแสวงผลประโยชน์ โดยเน้นการแข่งขัน ระบบเศรษฐกิจแบบนี้กำลังเข้าครอบงำสังคมทั่วทั้งโลก ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของประชาธิปไตยคลาดเคลื่อนไป ในแนวทางที่จะสนองระบบเศรษฐกิจแบบนี้

การปกครองทุกระบบ มีจุดหมายเพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่มเย็นเป็นสุข เมื่อสังคมมนุษย์อยู่กันมาเราก็ได้มองเห็นว่าระบบการปกครองแบบไหนก็ไม่ทำให้บรรลุจุดหมายนี้ได้ มนุษย์ไม่ได้การปกครองที่มีหลักประกันว่าจะนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืน ต่อมาก็เห็นว่าระบบประชาธิปไตยนี้ดีที่สุดที่จะทำให้บรรลุจุดหมายนี้ได้ มีหลักประกันดีที่สุดว่าจะให้ความร่มเย็นเป็นสุขได้ยั่งยืน โดยให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง ประชาชนเป็นผู้ปกครองอย่างนี้เรียกว่าเป็นการปกครองของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน การให้ประชาชนปกครองตัวเองคือปกครองกันเองนี้เราเห็นว่าเป็นการปกครองที่ดีที่สุด คือ ทำให้บรรลุจุดหมายที่จะให้ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข

เพื่อให้มั่นใจว่าสังคมจะร่มเย็นเป็นสุข อันเป็นจุดหมายของสังคม เราจึงต้องมีประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง ซึ่งหมายถึงการที่ทุกคนนั้นจะต้องมีโอกาสนำเอาความรู้ความสามารถ สติปัญญา และศักยภาพของตนออกไปร่วมช่วยสร้างสรรค์สังคม ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุด ก็คือการที่สติปัญญาความรู้ความสามารถของแต่ละคนนั้นจะไม่ถูกปิดกั้น เขาจึงต้องมีเสรีภาพนี้คือเสรีภาพที่สอดคล้องกับจุดหมายของประชาธิปไตย ย้ำว่า ทำไมจึงต้องมีเสรีภาพ ก็เพื่อว่าสติปัญญาความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคลจะได้มีโอกาสออกไปเป็นส่วนร่วมช่วยสร้างสรรค์สังคมได้

ความหมายพื้นฐานของเสรีภาพ เป็นความหมายในเชิงบวก เป็นเสรีภาพในการที่จะสร้างสรรค์ ได้แก่ ใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถของเราไปร่วมสร้างสรรค์สังคม ถ้าไม่มีเสรีภาพ ความรู้ความสามารถของเราก็ถูกปิดกั้น ไม่ออกไปเป็นประโยชน์แก่สังคม นี้คือความหมายพื้นฐานเดิมของเสรีภาพ

แต่ปัจจุบันนี้ เรากลับมองเสรีภาพในเชิงว่า ฉันจะทำอะไร ต้องทำได้อย่างใจ ฉันอยากได้อะไรก็ต้องได้ เมื่อเรามองเสรีภาพในแง่ที่แต่ละคนจะได้จะเอา ก็มองไม่เห็นความสัมพันธ์กับจุดหมายของประชาธิปไตย แต่เสรีภาพกลายเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ต่างคนต่างอยากจะได้ในสิ่งที่ตนชอบ แล้วก็เกิดการแก่งแย่งผลประโยชน์กัน เสรีภาพในความหมายนี้จึงนำไปสู่แนวคิดแบบแบ่งแยกและแก่งแย่งซึ่งสนองแนวความคิดของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ในระบบแข่งขันแย่งชิง

แนวความคิดแห่งเสรีภาพที่เน้นการที่จะได้จะเอา ทำให้เกิดการแบ่งแยกและแก่งแย่งกัน แต่เสรีภาพในความหมายเดิมที่สอดคล้องกับจุดหมายของประชาธิปไตยนั้น เห็นชัดเจนว่าเป็นเสรีภาพในเชิงให้และประสาน ซึ่งเป็นการร่วมมือกันในการสร้างสรรค์สังคม

หลักการสำคัญของประชาธิปไตยตั้งอยู่บนฐานแห่งฉันทะ ที่ทำให้มาร่วมมือกันสร้างสรรค์ ไม่ใช่ตั้งอยู่บนฐานของตัณหา ที่ทำให้มาแย่งชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

เพราะฉะนั้นเราคงต้องมาทบทวนหลักการของประชาธิปไตย ว่าขณะนี้เราได้พลาดกันไปถึงไหนแล้ว อย่างน้อยจะต้องมีดุลยภาพแห่งเสรีภาพในการได้ ที่สนองระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแข่งขันกับเสรีภาพในการให้ ซึ่งเป็นพื้นฐานเดิมของประชาธิปไตย

จะถึงสนธยาแห่งประชาธิปไตย ถ้ามัวใช้เสรีภาพ-เสมอภาคเพื่อแก่งแย่ง
จะให้ประชาธิปไตยสดใส ต้องใช้เสรีภาพ-เสมอภาคเพื่อร่วมสร้างสรรค์

ประการต่อไป เราต้องมีความเสมอภาค คือการมีโอกาสเท่ากันในการที่จะร่วมสร้างสรรค์ ที่เรียกว่า ความเป็นผู้มีตนเสมอ (สมานัตตตา)

สมานัตตตา = สมาน + อัตตา

สมาน -- ในภาษาบาลีเดิม แปลว่า เสมอ

สมาน -- ในภาษาไทยปัจจุบัน แปลว่า ประสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน

ทำไม เสมอ จึงมีความหมายว่าประสานกลมกลืน (อย่างที่เราเข้าใจคำว่าสมาน) เพราะว่า ความมีตนเสมอ หมายถึง เสมอในสุขและทุกข์ หมายความว่า เขาสุข เราสุขด้วย เขาทุกข์ เราทุกข์ด้วย ยามสุขก็เสมอกัน ยามทุกข์ก็ไม่ทิ้งกัน มีปัญหาก็ร่วมกันแก้ไข แปลเป็นไทยว่าร่วมทุกข์ร่วมสุข ความเสมออย่างนี้เป็นการประสานกลมกลืนเข้ากันได้ นี่คือความเสมอแบบประสานกลมกลืนกัน

นอกจากนั้น ความมีตนเสมอ ยังหมายถึง ไม่ดูถูกดูแคลนกัน ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ความเสมอแบบนี้แหละคือสมาน ซึ่งแปลว่า เสมอภาค ในความหมายแบบผสมผสานกลมกลืนกัน แต่เวลานี้เรามองความเสมอภาคเปลี่ยนไป กลายเป็นมองในแง่ที่ว่า คุณได้ห้าร้อยฉันก็ต้องได้ห้าร้อย คุณได้หนึ่งพันฉันก็ต้องได้หนึ่งพัน ความเสมอภาคถูกมองโดยนัยที่จะได้จะเอา เมื่อจะได้จะเอาก็มีการแบ่งแยกและแก่งแย่ง ฉะนั้น แนวความคิดแบบนี้ซึ่งเน้นในแง่จะได้จะเอา จึงนำไปสู่การแบ่งแยกและแก่งแย่ง ไม่นำไปสู่การร่วมสร้างสรรค์ ตรงข้ามกับประชาธิปไตยที่แท้ ที่เป็นแนวความคิดแบบให้ ผสานกลมกลืน ร่วมมือและสร้างสรรค์ อย่างน้อยก็ต้องมีดุลยภาพ แต่เวลานี้ เราเสียดุลยภาพหมดแล้ว เพราะเรามองเสรีภาพและเสมอภาคแบบแบ่งแยกและแก่งแย่ง ความเป็นพี่เป็นน้องและความสามัคคีตามหลักภราดรภาพจึงไม่เกิดขึ้น มีแต่เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก และการรวมกลุ่มกันเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ เพื่อจะได้จะเอา ไม่ใช่รวมกันเพื่อประสานและสร้างสรรค์ การรวมกลุ่มที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยคือ การรวมกลุ่มกัน เพื่อไปรวมเข้าด้วยกันให้เป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นจนเป็นกลุ่มเดียวกันหมดทั้งสังคม ไม่ใช่รวมกลุ่มเพื่อแยกกันเป็นพวกๆ

เวลานี้ สังคมอเมริกันเน้นมากในเรื่องเสรีภาพ (liberty และ freedom) และความเสมอภาค (equality) แต่อย่าลืมว่าในอดีตสังคมอเมริกันเน้นภราดรภาพด้วย ดังที่แสดงออกในคำว่า melting pot ซึ่งแปลว่า เบ้าหลอม สังคมอเมริกันภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในความเป็น melting pot

ปัจจุบันสังคมอเมริกันไม่ได้เป็น melting pot แล้ว แต่ได้แค่พยายามจะเป็น American mosaic คือเป็นเหมือนกระเบื้องชิ้นสีต่างๆ กันเอามาจัดเรียงประดับให้มีสีสันสวยงาม ซึ่งก็ไม่สำเร็จ แต่ได้กลายเป็นจานสลัด หมายความว่า คลุกคละปนเปกันเปรอะไปหมด นี่คือความเสื่อมของประชาธิปไตย คล้ายกับว่ากำลังย่างเข้าสู่ Twilight of Democracy ที่เป็นชื่อของหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งแปลว่าสนธยาแห่งประชาธิปไตย ที่ปัจจุบันนี้ทำท่าจะเป็นกันทั้งโลก ฉะนั้นสังคมไทยอย่าคิดแต่เพียงเป็นผู้ตาม ขอย้ำว่าเราจะต้องคิดเป็นผู้ให้ และเป็นผู้นํา การที่จะเป็นผู้นำนั้น คือมีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่น นี้เป็นตัวอย่างของเรื่องที่จะต้องมาตรวจสอบและทบทวนกัน

เท่าที่พูดมาโดยตลอดนี้ เป็นเรื่องการพัฒนาคนโดยมีจุดเน้นที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ เป็นเรื่องการพัฒนามนุษย์โดยเน้นการสร้างเสริมคุณภาพของคนที่จะมาเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของยุคสมัย แต่ก็เป็นการพัฒนาคนที่สอดคล้องกับจุดหมายระยะยาวแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงการพัฒนามนุษย์เพื่อมาสนองความต้องการด้านทรัพยากรคนเฉพาะกาลเฉพาะกรณี ซึ่งจะเป็นเรื่องของนักวิชาการและวงงานที่ชำนาญพิเศษในด้านนั้นๆ

เนื้อหาที่บรรยายมา สามารถเชื่อมต่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคนในฐานะที่เป็นตัวมนุษย์เอง ที่เป็นการพัฒนามนุษย์ขั้นพื้นฐานระยะยาว ซึ่งมีจุดหมายเพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีงาม เป็นสัตว์ประเสริฐที่เราเรียกว่ามนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกหาได้ประเสริฐไม่ เรื่องนี้ต้องขอย้ำและฝากไว้ในวงการศึกษา เรามักจะพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่ที่จริงนั้นไม่ถูก (คงจะกร่อนไป) คำเดิมนั้นพูดเต็มว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าฝึกแล้วประเสริฐเลิศสุด ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ แปลว่าในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วหรือมีการศึกษานั้นเป็นผู้ประเสริฐสุด มนุษย์ที่ได้รับการฝึกแล้ว มีการศึกษาแล้ว เลิศ ประเสริฐ จน กระทั่งเทพและหมู่พรหมก็น้อมนมัสการ

พระพุทธเจ้าทรงให้กำลังใจแก่มนุษย์อย่างยิ่ง คือไม่ให้ยอมตัวมัวแต่ไปอ้อนวอน หรือบวงสรวงเทพเจ้า ท่านให้พัฒนาตนจนกระทั่งพระพรหมและปวงเทพ ก็เคารพหันมาไหว้เรา พุทธพจน์แบบที่ว่า บุคคลที่พัฒนาตนแล้ว เทพทั้งหลายย่อมบูชาหรือน้อมนมัสการนั้น ตรัสไว้มากมาย แต่คนไทยมัวคิดแต่จะคอยไป อ้อนวอนบูชาเทพอยู่เรื่อย ที่จริงเทพและพรหมยังมีกิเลส เทวดาแย่งคู่ครองกัน ยกทัพไปรบกัน ยังต้องพัฒนาตัวเอง เราจะไปมัวอ้อนวอนเขาทำไม ถ้ามัวเซ่นไหว้อ้อนวอน เทพก็หวังลาภจากมนุษย์ ไม่เป็นอันเอาใจใส่พัฒนาตัวเองเพราะมัวแต่จะคอยรับเครื่องเซ่นไหว้ก็หมดเวลาไป

จะเห็นว่าเวลาพระสวดมนต์ท่านเตือนอยู่เสมอ นั่นคือมีการสวดชุมนุมเทวดา ซึ่งเป็นการเชื้อเชิญให้โอกาสแก่เทวดาว่า เวลานี้เราจะฟังธรรมกัน ขอเชิญท่านทั้งหลายมาฟังด้วย นั่นคือเรามีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เทวดา เวลานี้ขณะนี้เราจะฟังธรรมได้ความรู้ ได้การศึกษา จึงขอให้มาฟังธรรมด้วยกัน เพื่อจะได้สิ่งที่ดีงามไปพัฒนาตัวเอง

เรื่องการพัฒนาคนในแง่ที่เป็นการพัฒนาตัวมนุษย์เองในขั้นพื้นฐานนี้ จะต้องบรรยายเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เพราะคราวนี้หมดเวลาแล้ว

สรุป

ท้ายที่สุดนี้ ขอสรุปว่า ความใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก บนรากฐานแห่งความใฝ่ดีนั้น เป็นจุดหมายในการสร้างเด็กให้เป็นคนมีการศึกษาที่จะมีชีวิตและร่วมสร้างสรรค์สังคมยุคปัจจุบัน การพัฒนาคนนั้น เราต้องพัฒนาให้เป็นคนที่เก่ง ดี และมีความสุข แต่ก่อนนี้เราเน้นแต่เด็กเก่ง ต่อมาบอกว่าต้องดีด้วย แต่ดีด้วยก็ยังไม่พอ ถ้าจะพัฒนาคนให้เต็มต้องมีความสุขด้วย ระบบการศึกษาปัจจุบันนี้มีความย่อหย่อนในเรื่องนี้มาก การให้การศึกษาแก่เด็ก กลับกลายเป็นการสูบเอาความสุขออกจากตัวเด็กไป เด็กออกจากโรงเรียนสำเร็จการศึกษาไปพร้อมด้วยความหิวโหยกระหายความสุข พร้อมที่จะกอบโกยแย่งชิงความสุขให้เต็มที่

เมื่อเด็กขาดความสุข มุ่งแต่จะหาความสุข ก็ต้องแย่งชิงกัน เมื่อขาดสุขก็มีทุกข์ คนที่มีทุกข์ ก็เอาทุกข์ไประบายให้แก่สังคม คนที่หิวโหยกระหายความสุข แสวงหาความสุข ก็เบียดเบียนแย่งชิงทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เราจึงหวังได้ยากว่า คนที่ได้รับการศึกษาแบบนี้จะสร้างสรรค์สังคมให้สงบสุขได้

ดังนั้น ในการให้การศึกษาแก่เด็ก เราจึงต้องทำให้เขามีจิตใจที่มีความสุขอยู่ในตัว เมื่อเขามีความสุขแล้ว เขาก็พร้อมที่จะระบายความสุขให้แก่สังคมด้วย คนที่มีทุกข์ก็นำทุกข์ไประบายให้แก่ผู้อื่น คนที่มีสุขก็จะเอาความสุขไปเผื่อแผ่ ระบายสุขนั้นแก่ผู้อื่น

ฉะนั้น การศึกษาต้องทำให้คนเป็นคนที่เต็มคนด้วยการพัฒนาอย่างบริบูรณ์ ให้เป็นคนที่เก่ง ดี และมีความสุขด้วย นี้เป็นจุดหมายที่จะต้องทำให้สำเร็จ สิกขา คือการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนตลอดเวลา ชีวิตและกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ต้องมีการแก้ไขปรับปรุง และหยุดไม่ได้เพราะต้องไม่ประมาท นี้คือหลักการที่แท้จริงซึ่งเป็นการศึกษาที่พึงประสงค์

ในที่สุดนี้ ขออนุโมทนาท่านอธิบดีกรมวิชาการ พร้อมทั้งอาจารย์ทุกท่านที่ได้มาร่วมประชุมกันเพื่อจุดมุ่งหมายที่เป็นกุศล คือการที่จะช่วยกันพัฒนาสังคมไทยของเราให้เจริญวัฒนาสถาพร เป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์และแก้ปัญหาของโลก และทำให้โลกนี้เจริญขึ้นอย่างถูกต้อง มีสันติสุขสืบต่อไป ขอให้ทุกท่านประสบจตุรพิธพรชัยและประสบความสำเร็จในกิจหน้าที่เพื่อความดีงามของชีวิตและสังคมไทยทั่วกัน ตลอดกาลทุกเมื่อ

1การบรรยายพิเศษในการประชุมสัมมนาผู้บริหารกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๘ จัดโดยกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร (คำบรรยายที่นำมาพิมพ์นี้ บางตอนเป็นเพียงสรุปความ)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง