การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต หรือ การศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต หรือ การศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิต1

 

ขอเจริญพร ท่านนักการศึกษา ท่านอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน

วันนี้ อาตมภาพได้รับนิมนต์ให้มาพูดแก่ที่ประชุม ในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ เรามาพิจารณาเรื่องวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งก่อนนี้เรียกว่าวิชาพื้นฐาน แต่เวลานี้มีการใช้ในมหาวิทยาลัยต่างแห่งในชื่อที่ต่างกันไป สำหรับชื่อนี้เป็นการกำหนดของทบวงมหาวิทยาลัย

พัฒนาคน หรือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ขอพูดในประเด็นที่สำคัญว่า วิชาที่จัดให้ศึกษากันอยู่นี้สามารถแบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

๑. วิชาศึกษาทั่วไป

๒. วิชาเฉพาะและวิชาชีพต่างๆ

แต่ก่อนนั้นเราเรียกวิชาศึกษาทั่วไปว่า “วิชาพื้นฐาน” คล้ายกับว่าก่อนจะไปศึกษาวิชาเฉพาะหรือวิชาชีพทั้งหลาย เราก็ให้ศึกษาวิชาประเภทพื้นฐานก่อน เป็นการเตรียมตัวบุคคลให้พร้อมที่จะไปศึกษาวิชาเฉพาะที่เจาะลึก วิชาชีพทั้งหลายโดยมากจะเป็นประเภทเฉพาะอย่างนั้น และอีกแง่หนึ่งก็เป็นการเตรียมพื้นฐานตัวบุคคลเพื่อให้เป็นคนที่ดี

ถ้าจะพูดให้สั้น เราอาจจะเปรียบเทียบระหว่างวิชา ๒ ฝ่าย คือ วิชาศึกษาทั่วไปนี้ฝ่ายหนึ่ง และวิชาเฉพาะวิชาชีพอีกฝ่ายหนึ่งว่า วิชาศึกษาทั่วไป มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างคน

คำว่า “สร้างคน” ถ้าพูดถึงการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยก็คือ สร้างบัณฑิต นั่นเอง หมายความว่า

วิชาศึกษาทั่วไป มีจุดหมายอยู่ที่การ “สร้างบัณฑิต” ส่วนวิชาเฉพาะวิชาชีพ เป็นเหมือนการ “สร้างเครื่องมือให้บัณฑิต”

ทั้งนี้เพราะว่าคนที่จะไปทำงานทำการ ไปดำเนินชีวิตให้ได้ผลดี ก็จะต้องมีเครื่องมือ วิชาชีพวิชาเฉพาะต่างๆ เป็นเหมือนเครื่องมือ แต่คนที่จะไปใช้เครื่องมือนั้น เราต้องการให้เขาเป็นบัณฑิต เพื่อว่าเขาจะได้ใช้เครื่องมือนั้นในทางที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์เพื่อความดีงามสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม

ถ้าเราไม่สามารถสร้างคนให้เป็นบัณฑิต แม้ว่าเราจะสร้างเครื่องมือ และพัฒนาเครื่องมือนั้นอย่างดีเหลือเกิน มีประสิทธิภาพมาก แต่คนใช้เครื่องมือไม่เป็นบัณฑิต ก็อาจจะนำเครื่องมือนั้นไปใช้ในทางที่เป็นโทษ อย่างที่โบราณกล่าวว่า “ยื่นดาบให้แก่โจร”

เพราะฉะนั้น การสร้างคนให้เป็นบัณฑิตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเราก็นำคำว่าบัณฑิตมาใช้ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยด้วย จบปริญญาตรีเรียกว่าบัณฑิต จบปริญญาโทเรียกว่ามหาบัณฑิต จบปริญญาเอกเรียกว่าดุษฎีบัณฑิต

ความเป็นบัณฑิต อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่คุณสมบัติในตัวคน และการสร้างคุณสมบัติของตัวคนนี่แหละที่เป็นเป้าหมายของวิชาศึกษาทั่วไป เราเอาคำว่าบัณฑิตมาใช้ แสดงว่าเราให้ความสำคัญแก่คุณสมบัติในตัวคน ที่จะให้เขาเปลี่ยนแปลงจากคนเปล่าๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติ หรือจากคนดิบ ที่ไม่พร้อมจะอยู่จะทำอะไร มาเป็นคนที่มีคุณสมบัติเป็นบัณฑิต

เป้าหมายแท้จริงของวิชาศึกษาทั่วไป คือการสร้างบัณฑิต หรือสร้างคนให้เป็นบัณฑิต ส่วนวิชาเฉพาะวิชาชีพทั้งหลายเป็นการสร้างเครื่องมือให้แก่บัณฑิต และบอกวิธีที่จะทำให้เขาสามารถใช้เครื่องมือได้ แต่คนใช้เครื่องมือนั้นจะต้องเป็นคนที่ดี จะได้นำเครื่องมือไปใช้เพื่อสร้างสรรค์ ทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม ไม่ใช่นำเครื่องมือไปเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนด้วยความเห็นแก่ตัว แล้วทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นหรือก่อความเสียหายทำลายสังคม ตลอดจนมนุษยชาติ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน

เวลานี้ เรามักพูดถึงคำว่า “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งมองได้ว่าเข้ากับสมัยนิยม คือ การพัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติในยุคปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา ซึ่งบัดนี้ยอมรับกันแล้วว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ถูกต้อง เพราะไปเน้นแต่ความมุ่งหมายในทางเศรษฐกิจ มุ่งความเจริญพรั่งพร้อมทางด้านวัตถุมากเกินไป จนเกิดผลร้ายแก่จิตใจและแก่สังคม โดยเฉพาะแก่สิ่งแวดล้อม ปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญและพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ก็คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เมื่อเห็นว่าการพัฒนาแบบนั้นผิด ก็เลยหันมาคิดกันใหม่ว่าจะต้องเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนา จนได้เกิดมีแนวคิดที่เรียกว่า “การพัฒนาแบบยั่งยืน” หรือ sustainable development ปรากฏขึ้นมาใน พ.ศ. ๒๕๓๐ และใกล้กันนั้นก็มีการประกาศแนวความคิด “การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม” หรือ cultural development ดังที่ได้กำหนดให้ พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกแห่งการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเหลืออีก ๒ ปีจะจบ

การพัฒนา ๒ ชื่อนี้เป็นแนวความคิดใหม่ในการพัฒนา ซึ่งเปลี่ยนจุดเน้นของการพัฒนาจากเศรษฐกิจไปอยู่ที่จุดอื่น สำหรับการพัฒนาแบบยั่งยืน ก็หันไปเน้นเรื่องการดำรงอยู่ของสิ่งแวดล้อม ให้ควบคู่กันไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ หมายความว่า ให้เป็นการพัฒนาที่สิ่งแวดล้อมก็อยู่ดีเศรษฐกิจก็ดำเนินไปได้ หรือว่าเศรษฐกิจก็ไปดีธรรมชาติแวดล้อมก็อยู่ได้ ส่วนการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมก็เน้นที่ตัวคน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกระแสความคิดในการพัฒนา

ประเทศไทยเรามีแผนพัฒนาเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ ๓๔ ปีมาแล้ว แผนพัฒนาฉบับแรกเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว ต่อมาก็เติม “และสังคม” เข้าไป พอผ่านมาสัก ๔ แผนก็หันมาเน้นจิตใจมากขึ้น แล้วก็เอาเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มเข้าไป ตอนหลังนี้ก็เน้นเรื่องคนมากขึ้นๆ จนกระทั่งมาวางแผน ๘ ขณะนี้ก็เน้นเรื่องคนมากเป็นพิเศษ

เวลานี้เราพูดกันมากเรื่องการ “พัฒนาคน” แต่พูดถึงการพัฒนาคนในลักษณะที่พูดกันบ่อยว่าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เรื่องนี้จะต้องมีความชัดเจนว่า เราจะพัฒนาคนในฐานะอะไร คือ ในฐานะที่เป็นคนหรือเป็นมนุษย์ หรือในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ สองอย่างนี้คงไม่เหมือนกัน

คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” เกิดขึ้นเมื่อราวปี ๒๕๐๔ เป็นศัพท์ใหม่ซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่กระแสการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจกำลังแรง จนกระทั่งเรามองคนเป็นทรัพยากร คือเป็นทรัพย์สิน เป็นทุน เป็นเครื่องมือ หรือเป็นปัจจัยที่จะนำไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจตลอดจนสังคมอีกทีหนึ่ง สาระสำคัญคือมองคนเป็นทุนหรือเป็นสิ่งที่จะจัดสรรเอาไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” นี้ก็ใช้กันติดมาหลายปี จนถึงปัจจุบันนี้เราเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ เราบอกว่าการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจนั้นไม่ถูกต้อง แต่ศัพท์คือคำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” ก็ยังติดอยู่ จนกระทั่งเวลานี้เราชักสับสน ทั้งๆ ที่หันมาเน้นการพัฒนาตัวคน แต่ศัพท์ที่ใช้ก็อยู่ในสายความคิดที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ เราชอบใช้ว่า “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์”

ที่เป็นอย่างนี้ แสดงว่า เรายังติดในแนวความคิดที่มุ่งเอาคนไปใช้เป็นทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือสักว่าพูดไปโดยไม่คิด หรือไม่ก็ใช้โก้ๆ ไปอย่างนั้นเอง โดยไม่มีความชัดเจนอะไรเลย

ในเรื่องนี้เราจะต้องมีความชัดเจน จะต้องมีการแยกว่าจะพัฒนาคนในฐานะที่เป็นมนุษย์หรือเป็นตัวคน หรือจะพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากร สองคำนี้คนละอย่าง

แต่ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะเลิกพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากร มนุษย์ในแง่หนึ่งก็เป็นทรัพยากรทางสังคมและทางเศรษฐกิจ เพราะคนมีคุณภาพดีก็เอาไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ผลดี แต่เราคงไม่หยุดแค่นั้น คือในขั้นพื้นฐาน เราต้องพัฒนาคนในฐานะที่เป็นคน เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ความเป็นคนที่สมบูรณ์ หรือมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องมือของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หมายความว่า

คนสามารถมีความสมบูรณ์ในตัวของเขาเอง การพัฒนาคน คือการทำให้เขามีชีวิตที่ดี งดงาม ประณีต มีอิสรภาพ มีความสุข มีความเป็นคนเต็มคนในตัว

การพัฒนาคนในความหมายสองอย่างนี้ น่าจะทำให้เกิดความชัดเจน ถ้าเราแยกอย่างนี้ได้ คือรู้ว่าพัฒนาคนในฐานะที่เป็นการพัฒนามนุษย์ คือพัฒนาตัวมนุษย์ให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข มีอิสรภาพ อย่างหนึ่ง และพัฒนาคนนั้นในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ คือเป็นทุนที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อีกอย่างหนึ่ง เราก็จะมองเห็นได้ว่า

ก) วิชาศึกษาทั่วไป เป็นวิชาสำหรับพัฒนามนุษย์ หรือพัฒนาคนในฐานะที่เป็นตัวคน จนกระทั่งให้คนนั้นเป็นบัณฑิต อย่างที่ว่าสักครู่นี้

ข) ส่วนวิชาประเภทวิชาเฉพาะวิชาชีพเน้นการพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์

พัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต หรือให้เพิ่มผลผลิต

ไหนๆ พูดถึงทรัพยากรมนุษย์กันแล้ว ก็มาดูคำนี้กันให้ชัดสักหน่อย

เป็นที่ทราบกันดีว่า คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” นี้ เราแปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า human resources

ได้กล่าวแล้วว่าคำนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๔ ในยุคที่กระแสการพัฒนาที่มุ่งเน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีกำลังแรง และคำนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำของประเทศที่พัฒนาแล้ว (ประเทศอุตสาหกรรม)

พจนานุกรมภาษาอังกฤษของออกซฟอร์ด คือ The Oxford English Dictionary ฉบับตรวจชำระครั้งที่ ๒ พิมพ์ครั้งที่ ๒ ค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ซึ่งเป็นพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในโลก (๑ ชุด มี ๒๐ เล่ม รวม ๒๑,๔๗๕ หน้า) แสดงประวัติของคำ “human resources” ไว้ในเล่ม ๗ หน้า ๔๗๔ โดยยกหลักฐานมาให้ดูว่า มีคำนี้อยู่ในเอกสารตีพิมพ์ เลขที่ ๗๒๐๕ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔)

พจนานุกรมใหญ่ฉบับหนึ่งของอเมริกา ชื่อ Random House Webster's Unabridged Dictionary ว่า คำนี้เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๗๐ (พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๓)

อีกฉบับหนึ่งไม่ใหญ่นัก แต่นิยมใช้กันมากในหมู่นักศึกษาและนักวิชาการ คือ Merriam-Webster's Collegiate Dictionary (ฉบับตรวจชำระครั้งที่ ๑๐) ว่าคำนี้เริ่มใช้กัน ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘)

พจนานุกรมของออกซฟอร์ดที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ให้ความหมายของ human resources (ทรัพยากรมนุษย์) ว่า ได้แก่ “คน (โดยเฉพาะบุคลากร หรือคนงาน) ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินที่สำคัญอย่างหนึ่งของธุรกิจ หรือองค์กรอย่างอื่น ตรงข้ามกับทรัพยากรวัตถุ (material resources) เป็นต้น; กำลังคน (manpower)...” (เล่ม ๗ หน้า ๔๗๓)

คำที่พจนานุกรมต่างๆ มักใช้อธิบายความหมาย หรือบางที่ใช้เป็นไวพจน์ของ human resources ได้แก่ personnel (บุคลากร) manpower (กำลังคน) และ labour force (กำลังแรงงาน)

พจนานุกรมของ Random House ฉบับใหญ่ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นให้ความหมายว่า “ทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ ๑. คน โดยเฉพาะบุคลากรที่จ้างงาน โดยบริษัท สถาบัน หรือกิจการทำนองเดียวกันนั้น ๒. ดู “human resources department” และ “human resources department” ดู “personnel department” และ “personnel department” ได้แก่ ส่วนงานในองค์กร ซึ่งทำงานในเรื่องราวที่เกี่ยวกับลูกจ้าง เช่น การจ้าง การฝึกอบรม แรงงานสัมพันธ์ และผลประโยชน์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “human resources department”

เพียงเท่านี้ก็เพียงพอและชัดเจนแล้วว่า คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นเรื่องของการมองคนเป็นทุน เป็นองค์ประกอบ หรือเป็นปัจจัยที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และทางสังคม เฉพาะอย่างยิ่งที่เด่นชัดมาก คือในทางเศรษฐกิจ โดยอาจจะถือเป็นเพียงปัจจัยในการผลิตอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องพัฒนาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างความเจริญเติบโตหรือขยายตัวทางเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่การเพิ่มผลผลิต

เมื่อได้ความหมายอย่างนี้แล้ว ก็จะมองเห็นว่า วิชาศึกษาทั่วไป กับวิชาเฉพาะและวิชาชีพ มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกัน (อย่างน้อยในแง่จุดเน้น) คือ วิชาศึกษาทั่วไป ทำหน้าที่ทำคนให้เป็นบัณฑิต หรือสร้างบัณฑิต มีบทบาทโดยตรงในการพัฒนาคน เพื่อให้บุคคลแต่ละคนเป็นคนที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ดีงาม ประณีต ประเสริฐ สมกับความเป็นมนุษย์ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นคนเต็มคน เป็นชีวิตที่มีอิสรภาพ และมีความสุข

ส่วนวิชาเฉพาะและวิชาชีพ มีหน้าที่สร้างเครื่องมือและความสามารถที่จะใช้เครื่องมือนั้นให้แก่คน (ที่จะเป็นบัณฑิต) โดยพัฒนาคนนั้นในฐานะที่เป็นทรัพยากรของสังคม เพื่อให้เขาเป็นทุน เป็นองค์ประกอบ หรือเป็นปัจจัยที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ในการร่วมสร้าง (หรือที่จะถูกนำไปใช้สร้าง) ความเจริญทางเศรษฐกิจ และความเจริญด้านอื่นๆ ของสังคม

สรุปว่า เราสามารถนำเอาบทบาทและหน้าที่ของวิชาศึกษาทั่วไป กับวิชาเฉพาะและวิชาชีพ มาเทียบกันได้ดังนี้

วิชาศึกษาทั่วไป → พัฒนาคน = สร้างบัณฑิต → ชีวิตที่ดีงามประเสริฐ

วิชาเฉพาะวิชาชีพ → พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ = สร้างเครื่องมือให้บัณฑิต → เพิ่มผลผลิต

(คำว่า “เพิ่มผลผลิต” ในที่นี้ มิใช่มีความหมายจำกัดตามตัวอักษร แต่ใช้เชิงตัวอย่าง ให้เป็นคำแทนเป้าหมายของการพัฒนาที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจเป็นใหญ่)

ที่เทียบกันอย่างนี้ มิใช่หมายความว่าจะแยกจากกัน หรือจะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะต้องประสานให้เกื้อหนุนกัน โดยที่ว่าการสร้างบัณฑิตจะต้องเป็นแกน คือ สร้างบัณฑิตผู้มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้เครื่องมือนั้นในทางที่เป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่ชีวิตและสังคม ที่จะดำรงอยู่ด้วยดี ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่รื่นรมย์เกื้อกูล

ถ้าเรามองการพัฒนาคนเพียงในแง่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็แน่นอนว่าจะทำให้เราให้การศึกษาประเภทที่สนองความต้องการของสังคมหรือตามสังคม เช่น สังคมต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือต้องการพัฒนาสังคมในด้านนั้น ต้องการกำลังคนในด้านนี้มาก เราก็จะผลิตคนให้สำเร็จวิชาชีพด้านนั้นๆ มาใช้ คือเราจะผลิตคนมาเป็นกำลังคนสำหรับสนองความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคม เราอาจจะมีบัญชีว่า เวลานี้ประเทศชาติต้องการกำลังคนในด้านนี้ ในวิชาการนี้ จำนวนเท่านี้ๆ แล้วก็ผลิตคนออกมาให้สอดคล้องกัน การให้การศึกษาแบบนี้จึงเน้นการสนองความต้องการของสังคม พูดสั้นๆ ก็เป็นการศึกษาที่ตามสังคม

แต่การที่จะตามสังคมอย่างเดียวคงไม่ถูกต้อง การศึกษาควรทำหน้าที่ได้ดีและมากกว่านั้น คือ การศึกษานั้น แท้จริงแล้วต้องนำสังคม ไม่ใช่คอยตามสังคม

หมายความว่า สังคมนี้อาจจะเดินทางผิดพลาดก็ได้ ถ้าเราได้แค่ผลิตคนมาสนองความต้องการของสังคม ให้ได้กำลังคนมาในด้านนั้นๆ ถ้าสังคมเดินทางผิดพลาดการศึกษาก็ผิดพลาดด้วย กำลังคนที่ได้มาเป็นผลของการศึกษาก็ผิดพลาด เหมือนอย่างในระยะที่แล้วมา เราผลิตคนมาในฐานะเป็นทรัพยากร และกระแสการพัฒนาผิดพลาด สังคมก็เลยผิดซ้ำเข้าไป

คนจะต้องมีความดีพิเศษยิ่งกว่านั้น ต้องมีคุณภาพสูงกว่านั้น ต้องมีสติปัญญาความรู้คิดมากกว่านั้น เช่น จะต้องรู้เท่าทันสังคม รู้กระทั่งว่าสังคมเดินทางผิดหรือเดินทางถูก แล้วจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยการพัฒนาตัวคนให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเขาจะต้องเก่งกว่าการที่จะเป็นเพียงทรัพยากรแน่นอน และนี่ก็คือการพัฒนาตัวมนุษย์แท้ๆ ซึ่งวิชาศึกษาทั่วไปน่าจะทำหน้าที่นี้ได้ ในขณะที่วิชาชีพต่างๆ คงทำไม่ได้ เพราะวิชาชีพวิชาเฉพาะเหล่านั้น จะทำได้ก็เพียงสนองความต้องการของสังคม ด้วยการผลิตกำลังคนมาให้

จากการเปรียบเทียบวิชา ๒ ฝ่ายนี้ เราจะเห็นความสำคัญของวิชาการศึกษาทั่วไปได้มาก นี่เป็นแง่คิดบางอย่าง และเรื่องนี้จะเล็งไปถึงตัวผู้สอนด้วย การหาผู้สอนวิชาศึกษาทั่วไปให้ได้ผลดีจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก

แต่ก่อนเมื่อเราเรียกว่าวิชาพื้นฐาน บางคนอาจจะนึกว่าเป็นวิชาขั้นต้นๆ คำว่า “พื้นฐาน” นั้นมองได้หลายอย่างหลายความหมาย ความหมายหนึ่งก็คือเป็นขั้นต้นๆ หรือขั้นเตรียมการ ก็เลยชวนให้นึกว่าวิชาอย่างนี้จะเอาครูอาจารย์ที่ยังไม่เก่งมาสอนก็ได้

ที่ไหนได้ วิชาพื้นฐานนี้แหละเป็นการสร้างตัวบัณฑิต เป็นการสร้างคนให้มีคุณภาพขนาดที่จะไปนำสังคมได้ เพราะฉะนั้น วิชาศึกษาทั่วไปนี้จึงเคยพูดไว้ว่าต้องใช้คนที่เป็นปราชญ์ ส่วนวิชาประเภทวิชาเฉพาะวิชาชีพนั้นใช้ผู้เชี่ยวชาญ

“จะสอนวิชาเฉพาะวิชาชีพให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ
แต่จะสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์”

วิชาชีพวิชาเฉพาะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ใครก็สอนได้ ขอให้ถนัดในเรื่องของตน

แต่ผู้ที่จะมาสอนวิชาศึกษาทั่วไป ต้องสอนให้คนเข้าใจสถานการณ์ของโลก รู้โลกและชีวิต เข้าถึงสัจธรรมความจริง รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มีคุณโทษดีเสียเป็นต้นอย่างไร สามารถที่จะนำการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยก็สามารถมีชีวิตที่ดีงาม

การที่จะมีชีวิตที่ดีงาม สามารถดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และสร้างสรรค์สังคมได้นั้น คนนั้นต้องมีคุณสมบัติดีจริงๆ และคนที่สอนยิ่งต้องมีคุณสมบัติมากหรือสูงขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า “ต้องเป็นนักปราชญ์” และด้วยเหตุนั้น วิชาศึกษาทั่วไปนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก นี่คือข้อสังเกตทั่วไปที่ขอพูดในเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับความจริงก่อนว่า การจัดแบ่งวิชาต่างๆ เหล่านี้ แม้แต่ในวิชาศึกษาทั่วไป ยังมีความสับสนไม่น้อย บางทีก็เกิดความขัดแย้งกัน เป็นการดีที่ทบวงมหาวิทยาลัยปัจจุบันยังให้โอกาส ที่ว่าทางสถาบันแต่ละแห่งมีความเป็นอิสระที่จะจัดเข้ามาตามที่ตนเห็นสมควร ไม่เฉพาะจะต้องเป็นไปตามกำหนดตายตัว นี่ก็เป็นแนวความคิดที่เรียกได้ว่าขยายกว้างขึ้น

แต่ในการที่ขยายกว้างขึ้นนั้นก็กลับกลายเป็นว่าผู้ที่จัดต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น และต้องมีสติปัญญามองเห็นกว้างไกลมากขึ้น มิฉะนั้นจะไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ที่พูดมานี้หมายความว่า แบบเก่าท่านจัดมาเสร็จโดยวางตายตัวไปเลยว่าอย่างนี้ๆ คงถือว่า ผู้ที่วางนั้นคิดว่าตัวเองมองดีที่สุดแล้ว แต่ในการวางตายตัวก็มีจุดอ่อน เช่นปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นไปของโลกปัจจุบันนี้ที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก และสภาพท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าไม่ยืดหยุ่นไว้ ก็อาจจะมีข้อบกพร่องและความไม่เหมาะสมบางประการ จึงต้องมีการยืดหยุ่นขึ้นมา แต่เมื่อยืดหยุ่นขึ้นมาก็ต้องการสติปัญญาเพิ่มขึ้นในการที่จะทำให้ได้ผล

เพราะฉะนั้น จึงกลายเป็นว่า การขยายโอกาสในการจัด ก็กลายเป็นว่าทำให้มีความยากมากขึ้น ถ้าทำดี ก็ดีไปเลย ถ้าพลาดก็เสียมากเหมือนกัน จึงต้องตระหนักในความสำคัญและตั้งใจทำด้วยความรอบคอบให้ดีที่สุด

ทีนี้ แนวความคิดในเรื่องเหล่านี้ก็มาจากภูมิหลังที่มีความสับสนพร่ามัวพอสมควร เราต้องรับรู้ว่า แนวความคิดในการจัดวิชาต่างๆ โดยแบ่งหมวดวิชาอย่างในปัจจุบันเป็น ๓ คือ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นี้ เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นในตะวันตก และจัดกันเข้ารูปปัจจุบันในมหาวิทยาลัยของอเมริกา เมื่อไม่นานมานี้เอง คือในศตวรรษนี้แหละ ไม่ใช่เรื่องยาวไกลอะไร และการจัดแม้แต่ ๓ หมวดนี้ ก็ยังหาลงตัวเด็ดขาดไม่

เรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่มีการจัดวิชาการเป็น liberal arts ที่ไทยเราเรียกว่า ศิลปศาสตร์ ซึ่งมีประวัติสืบมาตั้งแต่ยุคสมัยกรีก หมายความว่า เมื่อ ๒๕๐๐ ปีก็มีมาแล้ว

แม้กระทั่งแนวความคิดในการจัดวิชาการศึกษาทั่วไปที่ทบวงมหาวิทยาลัยตั้งความมุ่งหมายไว้ว่า ให้พัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล มีความเข้าใจธรรมชาติของตัวเอง ของผู้อื่น และสังคม เป็นผู้ใฝ่รู้ สามารถคิดอย่างมีเหตุผล สามารถใช้ภาษาในการติดต่อและสื่อความหมายได้ดี เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ มีคุณธรรม ตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงตนอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี แนวความคิดนี้ ถ้าเราไปดูวัตถุประสงค์ของวิชา liberal arts ในสมัยกรีก ก็จะเห็นว่าคล้ายคลึงกัน

ที่พูดมานี้ก็เพื่อให้เห็นว่า ความคิดในเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ยังมีความพร่ามัวขัดแย้งตลอดมา และต้องคอยเปลี่ยนแปลงกันอยู่เรื่อยๆ

เดิมความคิดของกรีกที่จัดเป็นวิชา liberal arts นั้น เขาหมายถึงวิชาของเสรีชน คือ คนที่ไม่ใช่ข้าทาส

ทั้งนี้เพราะกรีกแบ่งคนเป็น ๒ พวก คือ พวกเสรีชน กับคนที่เป็นทาส วิชา liberal arts เป็นวิชาสำหรับเสรีชน เป็นของคนชั้นสูง เป็นผู้ดี เป็นผู้นำสังคม คู่กับวิชาของข้าทาส คือ servile arts ซึ่งได้แก่วิชาใช้แรงงานหรือฝีมือ สมัยก่อนเขาแบ่งอย่างนั้น

เรื่องนี้ถ้าเรานำมาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ก็เป็นแง่คิดที่น่าพิจารณา

วิชาชีพ เมื่อเทียบสมัยกรีก ก็มีความหมายใกล้กับวิชาข้าทาส หรือวิชาประเภทแรงงาน ส่วนวิชาสำหรับเสรีชน คือ liberal arts นั้น สำหรับฝึกฝนพัฒนาคนให้เกิดความดีงามล้ำเลิศทางปัญญาและศีลธรรม เป็นวิชาการที่ยกระดับจิตใจและปัญญา และแคบเข้ามาก็มุ่งสร้างความชำนาญในการใช้ภาษาสื่อสาร รู้จักพูด รู้จักคิดหาเหตุผลได้ดี

นี่ก็เกือบเหมือนกับความมุ่งหมายที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้ระบุสำหรับวิชาศึกษาทั่วไป

วิชา servile arts หรือวิชาข้าทาสนั้น ใช้แรงงานและฝีมือ มุ่งผลตอบแทน หรือมุ่งผลประโยชน์ทางวัตถุ ส่วน liberal arts วิชาของเสรีชน มุ่งพัฒนาสติปัญญาให้เป็นคนที่ดีงาม รู้จักคิด รู้จักรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น วิชาที่เข้ากับ liberal arts ก็คือวิชาศึกษาทั่วไป

เป็นอันว่า liberal arts เป็นศัพท์ที่ยังคงอยู่โดยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยกรีก ในความหมายว่าเป็นวิชาของเสรีชน คู่กับวิชาข้าทาส เมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปี มาแล้ว จนกระทั่งประมาณ ๔๐๐ ปีต่อมา จึงมีความชัดเจนขึ้นในเรื่องวิชา liberal arts หรือวิชาเสรีชน ที่เราเรียกเป็นภาษาไทยว่าวิชาศิลปศาสตร์ คือมีการระบุแยกเป็น ๗ วิชา

ครั้นถึงสมัยกลางในยุโรป เกือบ ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ก็มีการจัดเป็น ๒ กลุ่มวิชา คือกลุ่ม ๓ (trivium) กับ กลุ่ม ๔ (quadrivium) ถ้าจบกลุ่ม ๓ ก็ได้ปริญญาตรี ถ้าจบกลุ่ม ๔ ก็ได้ปริญญาโท

เรื่องนี้เป็นมาจนถึงสมัยฟื้นฟูวิชาการ คือ Renaissance จึงขยายแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่อง liberal arts หรือศิลปศาสตร์ออกไปให้กว้างเป็นวิชาทั่วๆ ไป ที่จะเสริมให้คนมีสติปัญญาความรู้ความสามารถดี ใกล้คำว่า general education

ครั้นมาถึงปัจจุบัน ก็มีความนิยมแบ่งวิชาเป็น ๓ หมวด คือ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และสังคมศาสตร์

การแบ่งวิชาการเป็น ๓ หมวดนี้ เกิดขึ้นในยุคที่วิทยาศาสตร์มีอิทธิพล พูดได้เลยว่า การแบ่งวิชาเป็น ๓ หมวดอย่างนี้ เกิดจากอิทธิพลของวิทยาศาสตร์ เพราะเมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาและเจริญรุ่งเรือง ก็ได้ทำให้เกิดกระแสใหม่ กลายเป็นว่าคนมีความเชื่อถือชื่นชมนิยมวิทยาศาสตร์เป็นอย่างสูง จนกระทั่งถือว่าศตวรรษที่ ๑๙ เป็นยุคที่คนนิยมวิทยาศาสตร์ หรือถึงกับคลั่งวิทยาศาสตร์ (ยุค scientism)

นิยมหรือคลั่งวิทยาศาสตร์อย่างไร ตอบว่านิยมหรือคลั่งไคล้ในลักษณะ ๒ ประการ คือ

๑. เอาวิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานวัดความจริง อะไรที่ไม่เป็นไปตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ ก็ถือว่าไม่เป็นความจริง คือผิดหมด ตอนนั้นถือกันขนาดนี้

๒. วิทยาศาสตร์เป็นเป้าหมายแห่งความใฝ่ฝันของมนุษย์ หมายความว่า มนุษย์คิดว่า ด้วยวิทยาศาสตร์นี้แหละ จะทำให้มนุษย์บรรลุความสุขสมบูรณ์ สามารถพิชิตธรรมชาติได้สำเร็จ แล้วมนุษย์จะมีความพรั่งพร้อมทุกอย่าง

นี้เป็นความคิดหมายและความใฝ่ฝันของมนุษย์ ในยุคศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งก็ได้เป็นมาเรื่อย จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้จึงเริ่มเปลี่ยน เวลานี้ คนเชื่อถือและฝากความหวังไว้ในวิทยาศาสตร์น้อยลง โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก

แต่ก่อนที่วิทยาศาสตร์จะมาถึงยุคเสื่อมได้เกิดอะไรขึ้น ในยุคนิยมวิทยาศาสตร์นั้น บรรดาวิชาการทั้งหลายต่างก็อยากให้วิชาของตนมีความเป็นวิทยาศาสตร์กับเขาด้วย เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์ และวิชาการเมืองการปกครองหรือรัฐศาสตร์ ก็พยายามเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ จนเกิดมีวิชาสาขาใหม่ขึ้นมา คือวิชาสังคมศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นมาได้ ๒๐๐ ปีนี่เองหลังจากมีวิทยาศาสตร์แล้ว หมายความว่าวิชาการต่างๆ พากันอยากจะเป็นวิทยาศาสตร์บ้าง เพราะวิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานวัดความจริง ก็เลยเกิดมีสังคมศาสตร์ขึ้นมา

สังคมศาสตร์ก็มาจากสายมนุษยศาสตร์ ซึ่งเดิมก็อยู่ในพวกศิลปศาสตร์ทั้งหลายนั่นเอง เช่น วิชาการเมืองการปกครอง สมัยเพลโต และอริสโตเติล เมื่อเกือบ ๒๕๐๐ ปีมาแล้วก็มี แต่ไม่เป็นสังคมศาสตร์ จนกระทั่งเมื่อมาใช้วิธีวิทยาศาสตร์เข้าสัก ๒๐๐ ปีมานี้ ก็จึงมาเข้าหมวดใหม่ที่เรียกว่าสังคมศาสตร์

นี่เป็นแนวโน้มที่ทำให้เกิดมีการแบ่งวิชาเป็น ๓ หมวด เนื่องจากวิชาต่างๆ พยายามไปเป็นวิทยาศาสตร์กันโดยเป็นสังคมศาสตร์ แต่วิชาหลายอย่างใช้วิธีวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็ถูกจัดเป็นมนุษยศาสตร์ วิชามนุษยศาสตร์ซึ่งมาจากวิชาของเดิม เมื่อไม่เข้ามาตรฐานของวิทยาศาสตร์ ก็เลยลดสถานะตกต่ำลงไปมาก คนไม่ค่อยเห็นความสำคัญ นี่เป็นสภาพฟูยุบในวงวิชาการอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแบ่งวิชาการเป็น ๓ หมวดอย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่ยุติลงไป อย่างวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาจิตวิทยาก็ยังหาที่ลงชัดเจนไม่ได้ บางท่านก็จัดเข้าในหมวดสังคมศาสตร์ บางท่านก็จัดเข้าในหมวดมนุษยศาสตร์

แม้แต่ในมหาวิทยาลัยเมืองไทย เดี๋ยวนี้ก็หาความลงตัวไม่ได้ เช่น จิตวิทยานี้ บางพวกพยายามจัดให้ไปเข้าอยู่ในวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ บางแห่งก็จัดเป็นสังคมศาสตร์ บางแห่งก็จัดอยู่ในมนุษยศาสตร์

ปัจจุบันนี้ ในหลักสูตรอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกา คำว่า วิชาศึกษาทั่วไป (general education) ก็ดี ศิลปศาสตร์ (liberal arts) ก็ดี หมวดวิชา ๓ สาขา คือ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (the humanities, social sciences and natural sciences) ก็ดี ถือได้ว่ามีความหมายเป็นอันเดียวกัน

กล่าวคือ การจัดวิชาศึกษาทั่วไป ก็คือจัดให้เรียนศิลปศาสตร์ และศิลปศาสตร์นั้นก็ขยายขอบเขตออกไปครอบคลุมหมวดวิชาทั้ง ๓ สาขาที่กล่าวมา

การที่มาจัดเข้ารูปบรรจบกันอย่างนี้ ก็เพิ่งยุติเมื่อกลางคริสตศตวรรษปัจจุบัน คือ คริสตศตวรรษที่ ๒๐ ไม่นานนี้เอง ซึ่งที่จริง วิชาการแต่ละอย่างแต่ละหมวดนั้นได้มีมาก่อนช้านานแล้ว แม้แต่สังคมศาสตร์ที่เป็นน้องสุดท้องก็เริ่มเกิดขึ้นมาแล้วประมาณ ๒๐๐ ปี

การที่มาจัดอย่างนี้ เหตุผลสำคัญก็คือ จะฟื้นฟูกู้ฐานะกลับให้ความสำคัญแก่มนุษยศาสตร์ ที่ได้ตกต่ำด้อยค่าด้อยฐานะลงไปนานแล้ว (ดูคำ “HUMANITIES” ใน Encyclopaedia Britannica, 1959, vol. 17, p. 878)

ในระยะนี้แหละที่รัฐสภาสหรัฐได้ตรารัฐบัญญัติ มูลนิธิศิลปะและมนุษยศาสตร์แห่งชาติ ค.ศ. ๑๙๖๕ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ขึ้น ซึ่งได้ให้กำเนิดแก่ “กองทุนแห่งชาติเพื่อมนุษยศาสตร์” (National Endowment for the Humanities) และถอยหลังไปก่อนนั้น ๓ ทศวรรษ เมื่อมูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation) ตั้งขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ก็ได้กำหนดวัตถุประสงค์ข้อ ๔ ว่า “เพื่อพัฒนาทรัพยากร ในด้านมนุษยศาสตร์ และศิลปะ”

การพยายามให้ความสำคัญแก่มนุษยศาสตร์ ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกให้ความสำคัญแก่วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพียงแต่ให้ลดการเน้นที่เอียงหนักไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไปจนเสียดุล และจัดให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมพอดี

พร้อมกันนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ความพยายามนั้นจะต้องประสบความสำเร็จ เพราะการเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแง่ที่หนุนความเจริญทางเศรษฐกิจระบบผลประโยชน์ แม้จะรู้ว่าเป็นโทษ อเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายก็ลดไม่ได้ เพราะตัวติดพันผูกแน่นอยู่กับระบบแข่งขัน ถึงขั้นที่อาจจะทำให้ต้องยอมทำลายโลก เพื่อรักษาชัยชนะของตัวไว้

นอกจากนั้น การพยายามฟื้นฐานะของมนุษยศาสตร์ ก็มิใช่หมายความว่าจะต้องสำเร็จผลด้วยดี โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษนี้ วงวิชาการมนุษยศาสตร์ของสหรัฐได้ประสบปัญหาปั่นป่วนขัดแย้งเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเฟื่องขึ้นมาของแนวคิด “หลังสมัยใหม่” (postmodernism) และปัญหาอื่นๆ

จนกระทั่งอดีตประธานกองทุนแห่งชาติเพื่อมนุษยศาสตร์ (Lynne V. Cheney เป็นประธานระหว่าง ค.ศ. 1986-1992) ถึงกับกล่าวว่า “สามทศวรรษที่รัฐบาลอุดหนุน ไม่ได้ช่วยให้มนุษยศาสตร์ดีขึ้น แต่ตรงข้าม ช่วงเวลานี้กลับได้เห็นมนุษยศาสตร์ตกต่ำดิ่งลงไป”2

แต่นั้นก็เป็นเรื่องภายในของอเมริกา ที่เกิดจากปัญหาที่เป็นภูมิหลังเฉพาะตัวของเขาเอง

แม้ว่าวิชาการทั้งหลายเหล่านี้จะมีความสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่เราก็ควรจะศึกษาหรือเกี่ยวข้องอย่างรู้เท่าทัน โดยมองเห็นทั้งข้อดีและข้อด้อย

ไม่เฉพาะมนุษยศาสตร์เท่านั้น ที่ประสบชะตากรรมฟูยุบ ที่จริง ทุกหมวดทั้ง ๓ สาขาต่างก็ประสบภาวะไม่มั่นคงด้วยกันทั้งนั้น แต่ในลักษณะที่แตกต่างกัน

มนุษยศาสตร์ที่มีมาเก่าก่อน และครองความยิ่งใหญ่ตลอดมานั้น เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น ผู้คนหันไปชื่นชมและฝากความหวังไว้กับวิทยาศาสตร์ ก็ทำให้มนุษยศาสตร์อับแสงด้อยค่าลงไป

ยิ่งวิชาบางอย่างไปเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ และแยกตัวออกไปเกิดเป็นกลุ่มใหม่ที่เรียกว่าสังคมศาสตร์แล้ว มนุษยศาสตร์ก็ยิ่งตกต่ำ

มนุษยศาสตร์อับรัศมีในวงวิชาการมาช้านาน อย่างที่กล่าวแล้วว่า จนถึงกลางคริสตศตวรรษที่ ๒๐ นี้

ฝ่ายสังคมศาสตร์ ที่เกิดขึ้นมาได้ประมาณ ๒๐๐ ปี เมื่อทำตัวเป็นวิทยาศาสตร์แล้วก็รุ่งเรืองขึ้นมาเป็นอันมาก วิชาเศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ เป็นต้น ได้มีบทบาทสำคัญยิ่งตลอดยุคแห่งการพัฒนาที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็มีความภูมิใจได้ไม่เต็มที่

นอกจากความไม่ลงตัวในการจัดเข้าหมวดของบางวิชา ซึ่งยังไม่แน่นอนจนบัดนี้แล้ว ก็ยังมีผู้แคลงใจตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ว่าเข้ากันได้กับวิชาสังคมศาสตร์จริงหรือไม่ (ดู คำ “social sciences” ใน The New Grolier Multimedia Encyclopedia, 1993)

ยิ่งในยุคนี้ เมื่อแนวคิดองค์รวมเฟื่องขึ้นมา สังคมศาสตร์ก็เป็นเป้าของการถูกวิจารณ์ว่ามีความบกพร่อง เนื่องจากอยู่ใต้อิทธิพลแนวคิดแบบแยกส่วน (reductionism)

ส่วนวิทยาศาสตร์ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็เฟื่องฟูขึ้นๆ จนเป็นตัวชูแห่งยุคสมัย และโดดเด่นที่สุดในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ โดยได้รับความนิยมเชื่อถือในฐานะเป็นมาตรฐานวัดความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นที่หวังว่าจะนำมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ ดังได้กล่าวแล้ว

แต่เมื่อมาถึงศตวรรษปัจจุบัน ฐานะของวิทยาศาสตร์ก็กลับสั่นคลอนลง ในเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปแล้ว กลับค้นพบว่า ศาสตร์ของตนไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ได้ จนกระทั่งนักฟิสิกส์ชั้นนำบางท่านประกาศออกมาเองถึงความจริงนี้ (เช่น เซอร์ เจมส์ จีนส์/ Sir James Jeans กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงขั้นสุดท้ายได้” และเซอร์ อาเธอร์ เอดดิงตัน/Sir Arthur Eddington กล่าวว่า “...แต่นำให้เข้าถึงได้แค่โลกแห่งสัญลักษณ์ที่เป็นเพียงเงาแห่งความจริงเท่านั้น”)

ยิ่งเมื่อความหวังที่จะพิชิตธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังผลักดันอยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์เอง ต้องสะดุดชะงักลง ความฝันของมนุษย์ที่ว่าวิทยาศาสตร์จะนำความสุขสมบูรณ์มาให้ก็สลายลงด้วย และวงการวิทยาศาสตร์ก็สูญเสียความภูมิใจและความมั่นใจ พร้อมกับที่ความนิยมเชิดชูวิทยาศาสตร์จากภายนอกก็ลดถอยลง

อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์แม้จะตกต่ำลงไปบ้าง ความสำคัญที่เหลืออยู่ ก็ยังมีมหันต์ โดยเฉพาะในฐานะที่อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าของเทคโนโลยี (พร้อมกับที่พลอยถูกติเตียนเพราะโทษภัยของเทคโนโลยีด้วย) และขณะนี้ เมื่อวิทยาศาสตร์ขยายขอบเขตแห่งการแสวงหาความรู้ออกมาสู่แดนของนามธรรมด้วย วิทยาศาสตร์ก็มีทีท่าว่าจะตีตื้นฟื้นฐานะสูงขึ้นอีก

แต่กล่าวโดยทั่วไป ยุคสมัยปัจจุบันนี้ เป็นช่วงเวลาที่วงวิชาการสับสน และสูญเสียความภูมิใจและความมั่นใจลงไปอย่างมาก บางคนเรียกว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางปัญญา เป็นจุดเปลี่ยนแปลง จุดหักเลี้ยว หรือหัวเลี้ยวหัวต่อที่วงวิชาการจะต้องปรับตัวปรับความคิดใหม่

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นอีก ทั้งปัญหาเก่าที่สืบเนื่องมาจากเดิม และปัญหาใหม่ เช่น ความขาดสามัคคีในวงวิชาการ อย่างในอเมริกาและอังกฤษปัจจุบัน ปัญญาชนสายมนุษยศาสตร์ กับนักวิชาการชั้นนำฝ่ายวิทยาศาสตร์ก็ไม่ค่อยลงรอยกัน อึดอัดต่อกัน วิจารณ์หรือถึงกับดูถูกดูแคลนกัน และยังมีปัญหาอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นส่วนร่วมซ้ำเติมวิกฤตการณ์ของโลกยุคปัจจุบัน3

การรู้เรื่องราวและปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อการเป็นอยู่และดำเนินกิจการต่างๆ ด้วยความรู้เท่าทัน เพื่อความไม่ประมาท ไม่หลงตามเรื่อยๆ เปื่อยๆ และจะได้ร่วมแก้ไขปรับปรุงอย่างมีอะไรเป็นของตนเอง ที่จะให้แก่อารยธรรมของมนุษยชาติ

ขอย้อนกลับไปพูดถึงความเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการที่ว่าคนชักไม่มองวิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานวัดความจริง เพราะวิทยาศาสตร์เองก็เข้าไม่ถึงความจริงแท้

เมื่อมองอย่างนี้ มนุษยศาสตร์ก็เริ่มตีตื้นขึ้นมา กลายเป็นว่า วิธีวิทยาศาสตร์ไม่เป็นตัวตัดสินในการเข้าถึงความจริง แต่มีวิธีการอื่นอีกในการเข้าถึงความจริง และเมื่อความหวังจากวิทยาศาสตร์ลดลง คนก็ย่อมเห็นคุณค่าของมนุษยศาสตร์มากขึ้น

นอกจากนั้น เมื่อมองในแง่หนึ่ง มนุษยศาสตร์นี้กว้างที่สุด ยืดหยุ่นที่สุด เพราะวิชาอะไรที่เข้าแนววิธีวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็เข้าหมวดวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและเข้าหมวดสังคมศาสตร์ไม่ได้ เมื่อเข้า ๒ หมวดนั้นไม่ได้ก็ยังอยู่ในมนุษยศาสตร์ เพราะฉะนั้นมนุษยศาสตร์จึงครอบคลุมหมด

จะเห็นได้ว่า ความจริงอะไรต่างๆ ที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำผู้ก้าวหน้าคิดขึ้นมา แต่ยังใช้วิธีวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ก็เป็นวิชาสายมนุษยศาสตร์ เช่นอย่างความคิดของไอน์สไตน์ ก็มีมากมายที่ก้าวเลยไปกว่าที่วิทยาศาสตร์จะค้นถึงและพิสูจน์ได้ ความคิดของไอน์สไตน์อย่างนั้น ที่เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็ไปเป็นปรัชญา แต่อาจจะเรียกว่าปรัชญาวิทยาศาสตร์ หรือปรัชญาธรรมชาติ เป็นต้น ในแง่นี้ ปรัชญาก็เลยหน้าวิทยาศาสตร์ไปอีก

ตกลงว่า ในที่สุด มนุษยศาสตร์กว้างขวางยืดหยุ่นที่สุด ครอบคลุมหมด กลับกลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์ธรรมชาติกับสังคมศาสตร์แคบ เพราะว่าได้เฉพาะส่วนที่เข้ากับวิธีวิทยาศาสตร์แล้วเท่านั้น

โดยเฉพาะเวลานี้ สิ่งที่วิทยาศาสตร์เคยปฏิเสธ กลับย้อนมาเป็นจุดสนใจของวิทยาศาสตร์อีก ขณะที่ในทางตรงกันข้าม วิชาอย่างเช่นวิชาจิตวิทยา เคยพยายามทำตัวเป็นวิทยาศาสตร์ ถึงขนาดที่ในระยะหนึ่ง จิตวิทยาปฏิเสธ ไม่ศึกษาแล้ว ไม่เอาแล้วเรื่องจิตใจ เรื่องวิญญาณ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ก็เลยศึกษาแต่เพียงพฤติกรรม จนกระทั่งบางทีเรียกวิชาจิตวิทยา เป็นวิชาพฤติกรรมศาสตร์ อะไรทำนองนี้

แต่เสร็จแล้ว มาถึงยุคนี้เจ้าตัววิทยาศาสตร์เอง ในหมู่นักฟิสิกส์ใหม่กลับไปสนใจเรื่องจิตใจ หันไปสนใจเรื่อง mind เรื่อง consciousness อะไรทำนองนี้ ศึกษาว่าคอมพิวเตอร์ มี mind ได้ไหม มี consciousness ได้ไหม เรื่องอย่างนี้กลับกลายเป็นจุดสนใจของวิทยาศาสตร์ นี่แหละเป็นความเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการ

เป็นอันว่า ตอนนี้ในการพัฒนาของวงวิชาการได้มีความเปลี่ยนแปลงใหม่ ความเชื่อถือและความหวังในคุณค่าของวิทยาศาสตร์ได้เสื่อมหรืออ่อนกำลังลง ฉะนั้น มนุษยศาสตร์นี่แหละควรจะมีความสำคัญมากขึ้น

พร้อมนั้น ในเวลาเดียวกัน กระแสการพัฒนาของโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ได้บอกแล้วเมื่อสักครู่นี้ว่า คนได้เห็นพิษภัยของการพัฒนาที่มุ่งเน้นทางด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ในเมื่อเห็นว่าการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจเป็นโทษ การพัฒนาโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญก็พลอยลดความสำคัญลงไปด้วย คนก็หันมาเน้นการพัฒนาที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม แล้วก็มาเน้นการพัฒนาคน บทบาทของมนุษยศาสตร์ก็น่าจะเด่นขึ้น

จะเห็นว่า การพัฒนาแนวใหม่ก็สอดคล้องกับความเจริญทางวิชาการเหมือนกัน คนหันมามองว่าจะต้องลดบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลง และเบนจุดเน้นของการพัฒนาจากการพัฒนาเศรษฐกิจมาที่การพัฒนาคน หรืออย่างน้อยก็ให้ประสานสอดคล้องกัน โดยมุ่งให้นำไปสู่การดำรงอยู่ร่วมกันด้วยดีอย่างเกื้อกูลกันขององค์ ๓ อย่างนี้ คือ

๑) ตัวคน หรือชีวิตมนุษย์

๒) สังคม

๓) ธรรมชาติแวดล้อม

คนยุคปัจจุบัน และต่อไปนี้ จะต้องคิดกันมากว่า ทำอย่างไรจะให้องค์ประกอบ ๓ ส่วนนี้อยู่ด้วยกันอย่างดีโดยสอดคล้องประสานกลมกลืน แต่เมื่อแนวความคิดเปลี่ยนไป ปฏิบัติการก็ไปไม่ทัน ไม่สอดคล้อง จึงยังมีความขัดแย้ง โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา กระแสความนิยมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังสูงอยู่

ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กระแสความนิยมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลดลงไปนั้น ประเทศที่กำลังพัฒนาก็ยังตื่นเต้นคลั่งไคล้เทคโนโลยี นอกจากนั้น ความจำเป็นของประเทศ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม ก็เข้ามาบีบบังคับอีกว่า เราจะต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

จะเห็นว่า ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย วิชาประเภทมนุษยศาสตร์ก็ยังอยู่ในฐานะที่ต่ำต้อยด้อยอยู่ ทั้งๆ ที่โดยกระแสของความเจริญทางวิทยาการ มันน่าจะเจริญขึ้นมา

ประเทศไทยเรา เวลานี้ต้องเน้นมากในเรื่องการพัฒนาประเทศ (ในด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) เพราะเรายังล้าหลังไม่ทันประเทศต่างๆ ที่พัฒนาแล้ว เราจึงเน้นให้มีการศึกษาหนักไปทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อหนุนอุตสาหกรรม ทั้งที่พอจะรู้เข้าใจว่าอุตสาหกรรมอย่างที่เป็นอยู่มีพิษภัยอย่างไร และในขณะที่ในกระแสของการพัฒนาใหม่ ควรจะเน้นความสำคัญของมนุษยศาสตร์มากขึ้น แต่ประเทศไทยเรากลับไม่ค่อยให้ความสำคัญ ก็จึงเกิดความไม่สอดคล้อง

ถ้าประเทศไทยมองกว้างมองไกลในแง่ที่คิดจะทำตัวให้เป็นผู้นำในโลก ก็คงยากที่จะสำเร็จ เพราะเรายังเป็นผู้ตามชนิดที่ล้าหลังอยู่ไกล คือ ยังอยู่ในกระแสการพัฒนาของยุคที่ผ่านไปแล้ว ที่ยังเน้นเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วชั้นนำเขาเข้ายุคที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม (postindustrial age) ไปแล้ว

เราแทบไม่มีเวลาคิดถึงการแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางวิชาการ เพราะต้องมัววุ่นกับการเร่งการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ยังห่างเขาไกล

ทำอย่างไรคนไทยเราจะรู้เท่าทันและประสานความคิดให้เกิดความพอดี เพื่อที่ประเทศไทยของเราจะได้มาถึงระดับที่สามารถเป็นผู้นำ หรืออย่างน้อยก็อยู่ในระดับที่ทันสากลเขาจริงๆ

เรื่องวิชาศึกษาทั่วไป ถ้าตกลงตามที่ว่ามานี้ ก็เป็นอันว่า เราจะสร้างคน และจะสร้างบัณฑิต ส่วนวิชาเฉพาะวิชาชีพ ก็ให้เป็นเครื่องมือของคนที่เป็นบัณฑิตนั้น

ในการจัดการศึกษาวิชาศึกษาทั่วไปนี้ คงจะต้องมองว่าเราจะ เอาคนเป็นหลัก ไม่ใช่เอาวิชาเป็นหลัก เอาคุณภาพของคนเป็นเป้าหมาย ไม่ใช่เอาการรู้เนื้อหาวิชาเป็นเป้าหมาย

หมายความว่า จุดหมายอยู่ที่ว่า คนอย่างไรที่เราต้องการจะสร้างขึ้น จะให้เขามีคุณภาพอย่างไร แล้ววิชาอะไรก็ตามที่จะให้ได้คุณสมบัติที่จะสร้างคนได้อย่างนี้ เราก็เอาอย่างนั้น

เท่าที่ผ่านมา บางทีเราไปเน้นที่วิชาการว่าจะจัดวิชาการให้ครบตามนั้น ให้วิชาหมวดนี้เท่านั้นหมวดนั้นเท่านี้ กี่ส่วน คราวนี้จะต้องจัดให้ได้ทั้ง ๒ ประการ คือ ให้ได้คุณภาพของคน และให้ได้เกณฑ์ทางวิชาการ ว่าทำอย่างไรจะให้เกิดความพอดี ประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

หมายความว่า เมื่อความนิยมในปัจจุบันที่แบ่งวิชาการเป็น ๓ หมวด เป็นอยู่อย่างนี้ เราก็จะต้องให้ได้สัดได้ส่วนในเชิงวิชาการด้วย แต่จะต้องให้สัดส่วนนั้นประสานเข้ากับเป้าหมายที่เน้นคนเป็นหลัก เอาคนเป็นเป้า

ตกลงกันว่า การศึกษายกคนเป็นเป้าหมายเป็นหลัก แล้วในด้านตัววิชาการก็จัดสรรมาจากหมวดมนุษยศาสตร์ หมวดสังคมศาสตร์ หมวดวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและคณิตศาสตร์ เอามาจัดให้ลงตัวพอดีที่จะให้คนเป็นอย่างนั้น แต่จะอย่างไรก็ตาม ต้องเอาคนเป็นหลักไว้ก่อน ไม่ใช่เอาแต่วิชาว่าจะต้องจัดให้ครบหมวดตามนั้นตามนี้

จะขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับความพร่าสับสนในทางวิชาการและความคิดอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาคนมากด้วย คือ ในการพัฒนาคนนี้มีองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง ได้แก่ จริยธรรม ระยะนี้ก็มีการประชุมสัมมนาอะไรต่างๆ เพื่อพิจารณาเรื่องจริยธรรมกันมาก และในยุคปัจจุบันนี้ ปัญหาจริยธรรมก็มีทั้งทางสังคมและธรรมชาติแวดล้อม

แต่ก่อนนี้เราถือว่าปัญหาสังคมสำคัญ และปัญหาสังคมก็มาก เราบอกว่ามนุษย์ขาดจริยธรรม เวลานี้มีปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาอีก ก็บอกว่า มนุษย์ขาดจริยธรรมเช่นเดียวกัน

การพัฒนาจริยธรรมจึงขยายกว้างออกไป เดี๋ยวนี้ฝรั่งมีคำว่า environmental ethics คือจริยธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่เราควรรู้ทันว่าจริยธรรมที่ผ่านมานี้เป็นอย่างไร

แนวความคิดจริยธรรมนี้ เป็นแนวความคิดของตะวันตก เพราะคำว่าจริยธรรมเป็นศัพท์บัญญัติในประเทศไทย เพิ่งเกิดขึ้นประมาณ ๓๐ ปี ก่อนนั้นเมืองไทยไม่มีคำว่า “จริยธรรม”

ในเมืองไทย กระแสความคิดเรื่องนี้ออกจากคำว่า ศีลธรรม มาสู่คำว่าจริยธรรม แต่คำว่าจริยธรรมเป็นเพียงศัพท์บัญญัติ เพื่อจะให้ตรงกับคำว่า ethics ของฝรั่ง นี่ก็คือแนวความคิดมาจากเมืองฝรั่ง

แนวความคิดของฝรั่งนั้น มีความแคบและสับสนในเรื่องจริยธรรมตลอดมา และเวลานี้ก็ยังสับสนอยู่ เพราะว่าเดิมนั้น จริยธรรมของฝรั่งมาในระบบศาสนาของตะวันตก ซึ่งเป็นศาสนาที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า จริยธรรมแบบนั้นเรียกว่าจริยธรรมเทวบัญชา คือเป็นคำสั่งหรือพระโองการของพระเจ้า ซึ่งสั่งมาว่าต้องทำอย่างนี้ ต้องไม่ทำอย่างนั้น ถ้าปฏิบัติตามก็ได้รับรางวัล แต่ถ้าฝ่าฝืนละเมิดก็จะถูกลงโทษ

เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมา วิทยาศาสตร์ก็บอกว่า จริยธรรมนั้นไม่เป็นความจริง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ จริยธรรมอะไรเป็นเรื่องพระเจ้าสั่ง มีที่ไหน จริยธรรมก็มีสถานะตกต่ำลงทันที เพราะเวลานั้นวิทยาศาสตร์กำลังได้รับกระแสความนิยมสูงมาก และถือเป็นมาตรฐานวัดความจริง จริยธรรมไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็ไม่เป็นความจริง

พอจริยธรรมลดสถานะลงไป คนก็ไม่ค่อยสนใจจริยธรรม แล้ววิทยาศาสตร์ก็ทำให้คนมองจริยธรรมไปอีกแบบหนึ่ง คือให้มองไปว่า ในเมื่อไม่ใช่เป็นบัญชาพระเจ้า ไม่ใช่เป็นเทวโองการ แล้วจริยธรรมเป็นอะไร

ในสังคมตะวันตกก็มองจริยธรรมว่าเป็นเพียงบัญญัติของมนุษย์ในสังคม หมายความว่า หมู่มนุษย์มาตกลงกันว่า นี่เป็นหลักความประพฤติที่ดี นี่ควรประพฤติ นั่นไม่ควรประพฤติ ดังจะเห็นได้ว่า สิ่งที่บัญญัติในสังคมนี้ว่าดีสังคมอื่นว่าไม่ดี ที่ว่าดีในสังคมอื่นสังคมนี้กลับว่าไม่ดี เพราะฉะนั้น จริยธรรมจึงเอาแน่ไม่ได้ เป็นเพียงบัญญัติของสังคมมนุษย์แล้วแต่จะตกลงกันว่าอย่างไร

ก็เลยเกิดกระแสของการมองจริยธรรมเป็นเพียงคุณค่า ซึ่งไม่มีความจริงในธรรมชาติ แต่เป็นเพียงค่านิยมอย่างหนึ่งเท่านั้น

ในเมื่อจริยธรรมไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คนที่นิยมวิทยาศาสตร์เขาก็ไม่เอาใจใส่จริยธรรม

ต่อมา เมื่อเรื่องจริยธรรมกลับมีความจำเป็นขึ้นมาเพราะสังคมมีความเสื่อมในเรื่องความประพฤติ ศีลธรรมของมนุษย์ตกต่ำลงไป นักวิชาการก็มาคิดกันในเรื่องจริยธรรมสากลว่า หลักความประพฤติอะไรที่สังคมต่างๆ ทั้งที่โน่นและที่นี่ยอมรับ เช่น สังคมจีนก็ยอมรับ สังคมฝรั่งก็ยอมรับ อังกฤษก็ยอมรับ อเมริกันก็ยอมรับ ควรจะเอาจริยธรรมอย่างนั้น แล้วก็มาเรียกกันว่า จริยธรรมสากล

นี่แหละ ฝรั่งมีแนวความคิดจะหาจริยธรรมขึ้นมาใหม่ ก็เพราะถือว่าจริยธรรมเป็นเรื่องบัญญัติของสังคมมนุษย์ ดีหรือชั่วก็แล้วแต่จะตกลงกัน ถ้าจะเอาบัญญัติในสังคมใดสังคมหนึ่งก็ไม่แน่นอน จึงต้องหาทางคัดเอาสิ่งที่ยึดกันเป็นกลางๆ เหมือนๆ กันมาใช้ เรียกว่าเป็นจริยธรรมสากล คือ สากลจากการที่ว่า ที่นี่ก็ยอมรับ ที่โน่นก็ยอมรับ เมืองไทยเราก็เข้าสู่กระแสความคิดนี้ด้วย นี้ก็เป็นแนวโน้มของเรื่องของจริยธรรม

ทีนี้ ต่อมาเวลานี้ โลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มองเห็นความสำคัญของจริยธรรมมากขึ้นอย่างที่บอกเมื่อครู่นี้ จึงมีการฟื้นฟูจริยธรรมขึ้นมา โดยเฉพาะได้เกิดจริยธรรมสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ พากันเอาวิชาจริยธรรมเข้าไปศึกษา ได้เกิดมีวิชาจริยธรรมต่างๆ อาทิ Business Ethics คือ จริยธรรมธุรกิจ ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำพากันนำเข้าไปศึกษา

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัญหาในสังคมตะวันตก เพราะภูมิหลังที่สับสนนั้น จึงวุ่นวายกันไปหมดว่าจะเอาจริยธรรมที่ไหนมาใช้หรือมาศึกษา จริยธรรมศาสนา(ของเขา) ก็เป็นเทวบัญชา หรือจะว่าจริยธรรมเป็นบัญญัติของสังคมมนุษย์ ก็เอาแน่ไม่ได้ว่าของสังคมไหนจะถูกต้อง จะต้องหาจริยธรรมสากล

เออ… หรือว่าจริยธรรมที่มีอยู่ทั้งหมดอาจจะไม่ถูกต้อง นักคิดในทางการศึกษาอย่างโกลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg) และ ซิมมอน (Sidney Simon) ก็มาคิดกันอีกว่า จะเอาจริยธรรมอะไรดี ก็เกิดการชักเย่อ ยังเถียงกันวุ่นว่าจะเอาจริยธรรมแบบไหน

แม้แต่ในประเด็นปลีกย่อย การฟื้นฟูจริยธรรมก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนที่นับถือศาสนาต่างลัทธินิกาย ซึ่งโยงไปถึงปัญหาการเมืองการปกครอง

อย่างประเทศอเมริกาเวลานี้อยากจะฟื้นฟูจริยธรรม บางพวกคิดจะให้เด็กนักเรียนได้สวดมนต์หรือสวดอ้อนวอน ก็เกิดปัญหา ยังเถียงกันว่าการจัดสวดมนต์ในโรงเรียนผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีกรณีขึ้นศาลให้ต้องพิจารณาวินิจฉัยกันมาเรื่อยเป็นระยะ เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่จบ

จะเอาจริยธรรมในศาสนาหรือไม่ อีกพวกหนึ่งบอกไม่ได้ ไม่ถูก ต้องเอาจริยธรรมใหม่ จึงมีบทความต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นสภาพความสับสนในทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งก็ยังตกลงกันไม่ได้ แล้วปฏิบัติการจะเป็นไปด้วยดีได้อย่างไร

ดังที่ได้มีผู้เขียนบทความเรื่อง “Ethics Without Virtue”4 (จริยธรรมโดยไม่ต้องมีคุณธรรม) ซึ่งมุ่งจะแสดงสภาพของ “Moral Education in America” (ชื่อรองของบทความนั้นเอง) คือ สภาพความสับสนของจริยศึกษาในประเทศที่ถือกันว่าเป็นผู้นำในการพัฒนาของโลกปัจจุบัน

ไทยเราก็พลอยวุ่นไปด้วย ดังที่กระแสความคิดได้เบนจากศีลธรรมมาเป็นจริยธรรมราวๆ ๓๐ ปีมาแล้ว

ทีนี้ในเมืองไทยเวลานี้ เราเองก็เห็นความสำคัญของจริยธรรม จึงมีการจัดประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาจริยธรรมกันขึ้นบ่อยๆ

ต่อมาเราเห็นว่า จริยธรรมเป็นเรื่องของความประพฤติภายนอก เกี่ยวกับการแสดงออกในสังคม และการอยู่ร่วมกัน จริยธรรม(อย่างที่ว่า)นี้ จะดีไม่ได้ถ้าสภาพจิตใจไม่ดี จึงจะต้องมีจิตใจที่มีคุณธรรมด้วย เพราะฉะนั้น จะพัฒนาจริยธรรมอย่างเดียวไม่พอ ต้องพัฒนาคุณธรรมด้วย

ฉะนั้น ต่อมาตอนหลังๆ นี้ จะเห็นว่า เวลามีการจัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม จะต้องเติมคำว่า “คุณธรรม” เข้าไปด้วย เป็นการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาจริยธรรมและคุณธรรม แม้จะไม่เอาชื่อเข้ามาเป็นหัวข้อ แต่เวลาบรรยายก็ต้องพูดถึงคุณธรรม

นี่แสดงว่า เราเห็นว่าจริยธรรมนี้เป็นอย่างหนึ่ง และคุณธรรมเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ จริยธรรม เป็นพฤติกรรมภายนอก โดยเฉพาะในการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ ส่วน คุณธรรม เป็นสภาพความดีในจิตใจ หรือเป็นคุณสมบัติภายในจิตใจ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราเห็นว่าคุณธรรมนี้สำคัญ จะต้องมีในจิตใจเป็นพื้นฐาน ถ้าจิตใจไม่มีคุณธรรมแล้วจริยธรรมก็จะดีไม่ได้ เพราะไม่มีพื้นฐาน และจะไม่มีความมั่นคง

แต่หารู้ไม่ว่า ความคิดความเข้าใจนี้แสดงว่า เราไม่มีความชัดเจนในเรื่องการพัฒนามนุษย์ เราได้ตกลงไปในหลุมแห่งความคิดแยกส่วนของตะวันตก และพลอยมีความคับแคบสับสนในเชิงจริยธรรมไปกับฝรั่งด้วย จริยธรรมของเราก็เลยพลอยไม่ชัดเจน

เมื่อพูดว่า พัฒนาจริยธรรม เราบอกว่าไม่พอ ต้องพัฒนาคุณธรรมด้วย แต่ถามอีกว่า “พัฒนาคุณธรรมพอหรือไม่?”

ต่อไปก็จะรู้ว่า พัฒนาคุณธรรมก็ยังไม่พอ เพราะว่า จริยธรรมที่จะเกิดขึ้นในคนนั้น ต้องมีปัญญาด้วย คือต้องมีความรู้ความเข้าใจ ต้องรู้เหตุรู้ผลว่าทำไมเราจึงต้องมีความประพฤติอย่างนี้ ความประพฤติดีงาม หรือหลักความประพฤติจริยธรรมนี้ มีประโยชน์ มีคุณค่า เป็นผลดีต่อชีวิตและสังคมอย่างไร เมื่อรู้เข้าใจเหตุผล รู้คุณค่าแล้ว เราจึงจะมีความเต็มใจที่จะประพฤติปฏิบัติ และปฏิบัติได้ถูกต้อง เมื่อเต็มใจจะประพฤติปฏิบัติและปฏิบัติได้ถูกต้อง จริยธรรมจึงจะมีความมั่นคงได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมีองค์ประกอบด้านปัญญาด้วย

นอกจากนั้น ถ้าคนมีจิตใจไม่เป็นสุข มีความทุกข์ มีความฝืนใจ จริยธรรมก็ไม่มั่นคง ก็ต้องใส่ความสุขด้วย

แล้วทีนี้ เมื่อจริยธรรมก็ไม่พอ เติมคุณธรรมก็ไม่พอ ต้องเติมปัญญาด้วย ต้องให้มีความสุขด้วย ต่อไปคงต้องตั้งชื่อการสัมมนาจริยธรรมใหม่ว่า “การประชุมสัมมนาเรื่องการพัฒนาจริยธรรม คุณธรรม ความสุข และปัญญา” อะไรทำนองนี้

รวมความก็คือว่า เราไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้

เพราะฉะนั้น จะต้องยอมรับว่า เวลานี้เรามีความสับสน แม้ในตะวันตกเอง เราก็ต้องรู้ด้วยว่า ขณะนี้เขามาถึงจุดที่สับสนมากในทางวิชาการ แม้แต่การแบ่งวิชาเป็น ๓ หมวดที่เราเอามาใช้เป็นแบบนี้ แม้เราจำเป็นต้องใช้เพื่อเข้ากับโลกได้ จะเรียกว่าเพื่อความเป็นสากลหรืออย่างไรก็ตาม แต่เราจะต้องรู้ตระหนักด้วยว่า ระบบนี้ก็ยังไม่ถึงจุดที่มีความชัดเจนลงตัว และวงวิชาการเองก็มีปัญหาอย่างที่ว่าแล้วข้างต้น

ยิ่งกว่านั้น แม้แต่ความเป็นสากลก็ไม่พอ เวลานี้เราต้องพ้นเลยขึ้นไปเหนือความเป็นสากลด้วยซ้ำ โดยเฉพาะจริยธรรมจะต้องเหนือความเป็นสากลจากการยอมรับตรงกัน ขึ้นไปสู่ความเป็นจริงที่ตรงกับธรรมชาติของมัน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นว่า การศึกษาของเรานี้ ได้มีปัญหาจากความสับสนของพัฒนาการในวงวิชาการ

อีกอย่างหนึ่ง เราพูดกันว่าจะพัฒนาคนทั้งคน เพราะตอนนี้ความคิดองค์รวมกำลังเด่น แต่การพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาแยกส่วน เช่นอย่างจริยธรรม ก็เป็นจริยธรรมแยกส่วนอย่างชัดเจน เพราะไปมุ่งพฤติกรรมการแสดงออกภายนอก การอยู่ร่วมสังคม และการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม แต่คนนี้เป็นระบบขององค์ประกอบที่มาประชุมกันเข้า คือเป็นระบบองค์รวมนั่นเอง ก็จึงยังมีความลักลั่นขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว

จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ชัดลงไป มิฉะนั้นคำว่า “พัฒนาคนทั้งคน” ก็จะเป็นเพียงคำพูดลอยๆ ไปตามนิยมเท่านั้นเอง

ในระบบองค์รวมนั้น ก็มี องค์ร่วม องค์ร่วมต่างๆ หรือองค์ประกอบต่างๆ นั้น จะต้องมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างได้สัดส่วน มีดุลยภาพ อย่างที่เรียกว่า บูรณาการ

เมื่อมีความสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง เกิดความพอดีขึ้น ก็ทำให้องค์รวมดำรงอยู่ และดำเนินไปด้วยดี

การพัฒนาแบบองค์รวมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ได้บอกเมื่อสักครู่นี้ว่า ต้องพัฒนาคนทั้งคน

ที่ว่าคนทั้งคนนั้น ก็ดูว่าคนเรานี้ดำเนินชีวิตอย่างไร การดำเนินชีวิตของเรานั้น เป็นระบบอย่างหนึ่ง

ระบบการดำเนินชีวิตนั้นประกอบด้วยด้านต่างๆ ของการดำเนินชีวิต ซึ่งมี ๓ ด้าน และทั้ง ๓ ด้านนั้นจะต้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยมีการพัฒนาที่ประสานเสริมซึ่งกันและกันเป็นบูรณาการ จะแยกส่วนไปพัฒนาอย่างเดียวไม่ได้

คนเรานี้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยระบบการดำเนินชีวิตที่แยกได้เป็น ๓ ด้าน

ด้านที่ ๑ ด้านพฤติกรรม คือ ด้านความสัมพันธ์ที่แสดงออกต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่สิ่งแวดล้อมทางสังคมคือเพื่อนมนุษย์อย่างหนึ่ง และสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ เช่น ปัจจัย ๔ สิ่งบริโภค เครื่องใช้ อุปกรณ์เทคโนโลยี และธรรมชาติแวดล้อมทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่เราเข้าไปสัมพันธ์ด้วยพฤติกรรมทางกายและวาจา พร้อมทั้งอินทรีย์ คือตา หู จมูก ลิ้น และกาย นี้เป็นด้านหนึ่งของชีวิตมนุษย์

มองเผินๆ ในชั้นนอก ชีวิตมนุษย์เราก็เป็นอยู่โดยมีพฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อมองลึกลงไปอีกด้านหนึ่ง การที่เราจะมีพฤติกรรมอย่างนี้ ก็มีสภาพและอาการของจิตใจเป็นอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ฉะนั้น

ด้านที่ ๒ ด้านจิตใจ คือ ในการมีพฤติกรรมนั้น ถ้าใจเรามีความสุข จิตใจของเราสบาย เราก็มีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ถ้าใจเราชอบ พฤติกรรมก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าใจเราไม่ชอบ พฤติกรรมก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ในการทำพฤติกรรมทุกครั้ง เรามีเจตจำนง มีความจงใจ ตั้งใจ พฤติกรรมนั้นเป็นไปตามความตั้งใจ และแรงจูงใจ โดยโยงไปถึงสภาพจิตใจที่มีคุณธรรม หรือมีสิ่งที่ตรงข้ามกับคุณธรรม คือมีกิเลส มีความชั่วร้าย ซึ่งพฤติกรรมจะเป็นไปโดยสอดคล้องกัน

ขอยกตัวอย่าง เช่น เราต้องการให้คนมีพฤติกรรมทางสังคมดีงาม ที่เรียกว่าจริยธรรมว่า คนไม่ควรเบียดเบียนกัน ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าสภาพจิตใจมีคุณธรรม มีเมตตากรุณา มีความรักเพื่อนมนุษย์ การไม่เบียดเบียนหรือการช่วยเหลือนั้น ก็ทำได้ง่ายอย่างเป็นไปเอง และทำให้เกิดความสุข เพราะจิตใจพอใจ อีกทั้งพฤติกรรมนั้นก็จะมั่นคงด้วย

แต่ในกรณีที่จิตใจโกรธ อยากทำร้าย งุ่นง่าน ถ้าจำเป็นจะต้องมีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน ต้องเกื้อกูล ใจก็ไม่เอาด้วย ต้องฝืนใจ ใจมันก็ทุกข์ เมื่อใจทุกข์ พฤติกรรมก็ไม่มั่นคง อาจจะละเมิดเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องพัฒนาจิตใจมาเป็นฐานให้สอดคล้องกัน

ด้านที่ ๓ ด้านปัญญา ถ้ามีปัญญา มีความรู้ความเข้าใจ รู้ว่าทำไมเราต้องไม่เบียดเบียนกัน ทำไมเราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เมื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันไม่เบียดเบียนกัน จะเป็นผลดีต่อชีวิตของเราอย่างไร เป็นผลดีต่อสังคมอย่างไร พอเราเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์และเห็นเหตุผลแล้ว เราก็เกิดความพอใจมากขึ้นในการที่จะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน และเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน เราก็เกิดความพอใจ ก็มีความสุขในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น

ฉะนั้น ความรู้ความเข้าใจเหตุผล คือปัญญา จึงทำให้จิตใจมีความพร้อม และมีความสุข ในการที่จะมีพฤติกรรมนั้น

อย่างนี้เรียกว่า เป็นระบบประสานกลมกลืนสามด้านของชีวิต คือ พฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญา ทั้ง ๓ ส่วนนี้สัมพันธ์เป็นปัจจัยต่อกัน และดำเนินไปด้วยกัน ในระบบการดำเนินชีวิต ฉะนั้น ในการพัฒนาคน ทั้ง ๓ ส่วนจึงต้องพัฒนาไปด้วยกัน

เมื่อเรามองดูพฤติกรรมของคนที่แสดงออกมาคล้ายๆ กัน แต่สภาพจิตใจเหมือนกันไหม คนหนึ่งอาจแสดงพฤติกรรมนั้นด้วยจิตใจที่ฝืนทนด้วยความทุกข์ แต่อีกคนหนึ่งทำด้วยความเต็มใจมีความสุข คนหนึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจ ก็ทำฝืนๆ ไปอย่างนั้นเอง แต่อีกคนหนึ่งทำด้วยความรู้เข้าใจเหตุผล ก็เอาจริงเอาจังทำตรงจุด

ฉะนั้น พฤติกรรมเดียวกัน แม้จะเป็นพฤติกรรมทางจริยธรรม แต่มีความหมายในระบบชีวิตไม่เหมือนกัน มีผลและคุณค่าต่างกันไปหมด เราจึงบอกว่าต้องพัฒนาคนทั้งคน

การพัฒนาคนในแดนพฤติกรรม แยกย่อยออกไปเป็นหลายส่วน แต่พฤติกรรมส่วนใหญ่ออกมาในการประกอบอาชีพหรือในการทำมาหากิน เพราะฉะนั้น การทำมาหาเลี้ยงชีพของมนุษย์จึงเป็นแดนสำคัญที่ระบบชีวิตของมนุษย์จะดำเนินไป

ระบบชีวิตทั้งด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา สามารถใช้การประกอบอาชีพทำมาหากินนี้ เป็นที่ฝึกฝนพัฒนาได้ทั้งหมด

- เริ่มตั้งแต่อาชีวะ คือการประกอบอาชีพของคน ไม่ก่อความเบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่เป็นไปในทางสร้างสรรค์เกื้อกูล

- พร้อมกันนั้น การประกอบอาชีพก็เป็นโอกาสให้เขาพัฒนาตัวเองของเขาด้วย ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เพราะอาชีพที่ดีจะทำให้คนได้พัฒนาพฤติกรรม เช่นในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ว่า เราจะอยู่ร่วมและทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างไร จึงจะอยู่กันได้ดี ทั้งงานก็ได้ผล ตัวเองก็เป็นสุข ชีวิตก็เจริญก้าวหน้า และสังคมก็มีสันติสุขด้วย

- ในด้านจิตใจ เขาก็จะพัฒนาความรู้สึกรับผิดชอบ พัฒนาความขยันหมั่นเพียร ความอดทน ความมีสติยั้งคิดควบคุมตนเองได้ และความมีสมาธิจิตใจแน่วแน่ในการงาน เป็นต้น

- พร้อมกันนี้ เขาก็จะพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ความถนัดจัดเจน จากการที่ประสบปัญหาแล้วพยายามหาทางแก้ไข ตลอดจนการที่จะหาทางบริหารจัดการและสร้างสรรค์ให้สำเร็จ ทำให้พัฒนาปัญญาความรู้ความเข้าใจ ความรู้คิด และความหยั่งรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา

เราจะต้องหาทางใช้วิชาชีพเป็นแดนพัฒนามนุษย์ให้ได้ เวลานี้เราสอนวิชาชีพโดยมุ่งเพียงว่า ให้เขารู้ และมีความเชี่ยวชาญในวิชานั้น เพื่อเอาไปทำมาหากิน แต่เราไม่ตระหนักในเรื่องที่ว่าเราจะอาศัยวิชาชีพเป็นแดนพัฒนาคนได้อย่างไรบ้าง

เพราะฉะนั้นจึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาจากการพัฒนาคนแบบแยกส่วน เช่น เอาวิชาชีพไปเป็นเรื่องหนึ่ง เอาวิชาจริยธรรมไปเป็นเรื่องหนึ่ง เอาเนื้อหาวิชาอะไรต่างๆ ที่เรียนไปเป็นเรื่องหนึ่ง โดยไม่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ฉะนั้น ในการพัฒนามนุษย์ ที่บอกว่าจะพัฒนาคนทั้งคนนี้ เราจะต้องนำความคิดแบบองค์รวมที่แท้จริง มาใช้บูรณาการ

แนวคิดของตะวันตกที่ผ่านมานี้ ตะวันตกเองก็ยอมรับว่าเป็นแนวความคิดแบบแยกส่วน ดังที่เขาเรียกยุคที่แล้วมาว่าเป็นยุค reductionism คือเป็นยุคแนวความคิดแบบแยกส่วน ไม่เป็นบูรณาการ เวลานี้แนวความคิดแบบองค์รวมกำลังเป็นที่นิยมกันขึ้นมา แต่ข้อสำคัญก็คือ เราจะใช้ได้จริงหรือไม่

ตกลงว่า ขณะนี้เราพูดกันในแง่ของหลักการว่าจะต้องพัฒนาคนทั้งคน

การ “พัฒนาคนทั้งคน” ก็คือ การพัฒนาระบบองค์รวมแห่งการดำเนินชีวิตของคน ให้ทั้ง ๓ ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เจริญงอกงามขึ้นอย่างประสานสัมพันธ์สอดคล้องส่งผลเกื้อกูลต่อกันไปด้วยดีทั้งระบบ

นี่แหละคือบูรณาการที่แท้จริงของการพัฒนาคนทั้งคนให้เป็นคนเต็มคน

รู้อย่างไรว่า พัฒนาแล้ว เป็นคนเต็มคน

ต่อไป จุดหมายของการพัฒนาให้เป็นคนเต็มคน คือเป็นคนที่สมบูรณ์

คนที่สมบูรณ์มีมาตรฐานวัดอย่างไร คนที่สมบูรณ์เป็นคนเต็มคนแล้ว ในทางการศึกษาก็มีวิธีการวัด ที่อาจจะยกมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งคล้ายกับทางพระพุทธศาสนา

ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านให้ดูการพัฒนาของมนุษย์ว่าเป็นไปครบ ๔ ด้านไหม หลักเกณฑ์นี้ใช้วัดแม้แต่พระอรหันต์ ถ้าถามว่า พระอรหันต์คือใคร? ก็ตอบว่า พระอรหันต์ คือคนที่พัฒนาตนสมบูรณ์ทั้ง ๔ ด้าน คือ

๑) พัฒนากาย (ความสัมพันธ์ทางกาย)

๒) พัฒนาศีล (ความสัมพันธ์ทางสังคม)

๓) พัฒนาจิตใจ (คุณธรรม ความมั่นคง ความสุข)

๔) พัฒนาปัญญา (ความรู้-คิด-เข้าใจ-หยั่งเห็น)

ด้านที่ ๑ พัฒนากาย ไม่ใช่หมายถึงทำให้ร่างกายเจริญใหญ่โต แต่หมายถึงพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่นว่า เขารู้จักใช้ปัจจัย ๔ เป็นไหม กินเป็น บริโภคเป็นไหม กินแล้วได้คุณภาพชีวิต ได้สุขภาพดี หรือไม่รู้จักกิน กินไม่เป็น ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่รู้จักพอดีในการกิน กินแล้วได้โทษ ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ เป็นไหม ดูเป็น ฟังเป็นไหม อย่างนี้เป็นต้น

อย่างเด็ก เราก็มองว่า เขาดูทีวีเป็นไหม ดูแล้วได้ประโยชน์ หรือได้โทษ ดูแล้วได้คุณภาพชีวิต ได้ความรู้ ได้สติปัญญา หรือได้ความลุ่มหลง มัวเมา เสียเวลา เสียสุขภาพ เสียการศึกษาเล่าเรียน และได้ตัวอย่างที่ไม่ดี ฟังเป็นไหม ฟังแล้วได้ความรู้ไหม ฯลฯ อะไรต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

ด้านที่ ๒ พัฒนาศีล หมายถึงพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือกับเพื่อนมนุษย์ว่า อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ได้ดีขึ้นไหม มีพฤติกรรมทั่วไปและการประกอบอาชีพที่ก่อความเดือดร้อนเบียดเบียน หรือเป็นไปในทางช่วยแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม อะไรอย่างนี้

ด้านที่ ๓ พัฒนาจิตใจ เช่นว่า จิตใจมีคุณธรรมไหม มีเมตตากรุณาไหม มีศรัทธาไหม มีความเคารพ มีความกตัญญูกตเวที มีหิริโอตตัปปะ มีคุณธรรมต่างๆ ที่จะมาเป็นฐานของพฤติกรรมที่เราเรียกว่าจริยธรรม ที่ทำให้เกิดความมั่นคงและความสอดคล้องในระบบชีวิตทางจริยธรรม

รวมทั้งการที่ว่าจิตใจมีความสุข หรือมีความทุกข์ มีความขุ่นมัว เศร้าหมอง มีความกระวนกระวาย ถ้าพัฒนาในทางที่ดี ก็ต้องมีจิตใจที่เบิกบาน ผ่องใส สงบ มีความสุข ถ้าคนยังไม่มีความสุข แต่ยังมีความทุกข์มาก ก็ถือว่าขาดการพัฒนาเหมือนกัน

ด้านที่ ๔ พัฒนาปัญญา เช่นว่า มีความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริงไหม เข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ มีความรับรู้โดยไม่มีอคติ สามารถพิจารณาวินิจฉัยปัญหาต่างๆ อย่างไม่เอนเอียง สามารถนำความรู้ความคิดมาประยุกต์ในการแก้ปัญหาและในการสร้างสรรค์ต่างๆ รวมทั้งในการบริหารจัดการดำเนินการต่างๆ ตลอดจนทำจิตใจของตนให้เป็นอิสระเหนือการกระทบกระทั่งของสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องวัดออกมา ซึ่งโดยหลักการก็คือ เราจะต้องมีแนวความคิดบางอย่างในการวางมาตรฐานว่าจะพัฒนาคนให้เป็นอย่างไร คนที่ถือว่าสมบูรณ์ ควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร ทั้งนี้ก็พูดได้แต่เพียงแนวความคิดที่เป็นหลักการ

แม้จะตั้งหลักการใหญ่ๆ ได้แล้ว ก็ต้องไม่ลืมความเป็นจริงที่อยู่ต่อหน้าว่า เราจัดการศึกษานี้ท่ามกลางยุคสมัยและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

การจัดการศึกษา โดยเฉพาะวิชาศึกษาทั่วไป ที่เป็นการพัฒนาตัวคนที่จะให้เป็นบัณฑิตนี้ จะต้องมีการแยกระดับความมุ่งหมาย โดยต้องมีจุดมุ่งหมาย ๒ ระดับ ทั้งโดยกาละ และโดยเทศะ คือ

ก) โดยกาละ

๑. การศึกษาเพื่อยุคสมัย คือการที่จะพัฒนาคนให้สอดคล้องหรือรับมือได้ทันกับสภาพแวดล้อมของยุคสมัยที่เป็นอยู่ ว่าทำอย่างไรจะให้คนมีคุณภาพที่จะไปดำเนินชีวิตที่ดี สามารถทำการสร้างสรรค์ได้ในสภาพสังคมอย่างนี้

มนุษย์เกิดมาในยุคสมัยใด ก็ต้องมีสภาพแวดล้อมของยุคสมัยนั้น ที่เขาจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง และดำเนินชีวิตให้ได้ผลดี และพร้อมกันนั้น

๒. การศึกษาที่เหนือยุคสมัย อย่างที่ศัพท์พระเรียกว่า อกาลิโก คือ การพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่ไม่ขึ้นต่อกาลสมัย ได้แก่การศึกษาเพื่อส่งเสริมคุณค่าที่มีโดยธรรมชาติของมนุษย์ หมายความว่า วิชาการศึกษาทั่วไปนี้ จะสร้างคนให้เป็นอย่างไร เพื่อความเป็นคนที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ขึ้นต่อกาลสมัย หรือไม่เกี่ยวกับสภาพของยุคสมัย พร้อมกับการที่ว่าเขาก็เป็นคนที่มีประสิทธิภาพสำหรับยุคสมัยนี้ ซึ่งจะทำให้เขาดำเนินชีวิตจนเข้าถึงจุดมุ่งหมายที่สมบูรณ์นั้นได้ด้วย

เพราะว่า ถ้าเขาไม่สามารถจัดการกับยุคสมัยได้ดี เขาจะเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่พ้นยุคสมัย ก็ย่อมไม่ได้ คือไม่สำเร็จด้วยเหมือนกัน

ฉะนั้น ต้องให้ได้จุดหมายทั้ง ๒ ระดับนี้ ที่เรียกว่า “โดยกาละ”

ข) โดยเทศะ

๑. การศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของถิ่น เช่นว่า เราอยู่ในสังคมไทย สังคมไทยก็ไม่เหมือนสังคมอเมริกัน เราจะต้องสร้างคนของเราให้พร้อมที่จะมาอยู่ในสังคมไทยได้ดี และสามารถเป็นส่วนร่วมที่จะพัฒนาสังคมไทยอย่างได้ผลด้วย ไม่ใช่ว่า เรียนมาเรียนไป กลายเป็นคนที่จะไปพัฒนาสังคมอเมริกัน เด็กของเราบางทีเรียนจบแล้ว กลายเป็นคนสำหรับไปอยู่ในสังคมอเมริกัน แทนที่จะเตรียมมาอยู่ในสังคมไทย อย่างนี้เรียกว่า ผิดเทศะแล้ว

เพราะฉะนั้น ในแง่เทศะ การศึกษาทั่วไปจะต้องทำให้คนของเรามาอยู่ในเทศะเฉพาะของตนนี้ได้อย่างดี

๒. การศึกษาที่พ้นจากเทศะเฉพาะ เพื่อความเป็นคนของโลก ในแง่หนึ่ง คนทุกคนเป็นสมาชิกของโลก ยิ่งโลกยุคนี้ก็แคบเข้ามาด้วย กลายเป็น global village เป็นประดุจหมู่บ้านเดียวกัน หรือเป็นประชาคมเดียวกันเล็กๆ มีอะไรเกิดขึ้นก็ถึงกันหมด ดังที่เราเรียกว่าเป็นโลกาภิวัตน์

มนุษย์ทุกคนเป็นสมาชิกของโลก เป็นผู้มีส่วนร่วมในอารยธรรมของโลก ตลอดจนสิ่งแวดล้อมโลก ถ้าเป็นสมาชิกที่ดีของเทศะไม่ได้ ก็เป็นสมาชิกที่ดีของโลกไม่ได้ด้วย แต่พร้อมกันนั้น ถ้าเราลืมความเป็นสมาชิกของโลก เราก็จะเข้ากับสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ไม่ได้ ไม่ทัน และช่วยเทศะของเราไม่ได้จริง พร้อมกับที่จะไม่สามารถร่วมสร้างสรรค์พัฒนาอารยธรรมของโลก

สภาพปัจจุบันของโลกเป็นอย่างไร เวลานี้ทั้งโลกคิดแต่จะเอาชนะกัน ลองดูซิ ในเวทีการแข่งขันระดับโลก ญี่ปุ่นก็จะเอาชนะอเมริกา อเมริกาก็จะเอาชนะญี่ปุ่นให้ได้ ทั้งๆ ที่รู้แล้วว่าเวลานี้มีปัญหาร้ายแรงร่วมกัน ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่ไม่มีประเทศใดสามารถก้าวข้ามพรมแดนของประเทศ คือท้องถิ่น หรือสังคมตนเอง เพราะการห่วงความยิ่งใหญ่และความเป็นผู้นำในเวทีโลก

เขาคิดกันแต่ว่า ทำอย่างไรจะเอาชนะพวกอื่นได้ เช่น อเมริกันก็มีวัฒนธรรมใฝ่สำเร็จ ความใฝ่สำเร็จของเขามีความหมายเฉพาะคือ ทำอย่างไรจะชนะการแข่งขันเอาผลประโยชน์มาให้ตนได้มากที่สุด แม้แต่ระบบความคิด reengineering เกิดขึ้นมา ก็เพียงเพื่อสนองความมุ่งหมายอันนี้ ไม่ได้มีอะไรใหม่ ใหม่แต่ในแง่ระบบวิธี แต่เพื่อสนองแนวความคิดอันเก่า คือแนวความคิดที่จะเอาชนะการแข่งขัน เพื่อชิงผลประโยชน์

เพราะอะไรจึงเกิด reengineering ก็เพราะในอเมริกาบรรษัทต่างๆ ล้มละลาย ธุรกิจอุตสาหกรรมล้มเหลว แม้การแข่งขันในเวทีโลก ญี่ปุ่นก็ขึ้นมานำในทางเศรษฐกิจ แย่แล้วจะทำอย่างไร เขาก็คิดค้นกระบวนการทำงานขึ้นมาใหม่ บอกว่าวิธีทำงานแบบเดิม ที่แบ่งงานกันทำ แม้ว่าเคยได้ผลในยุคก่อน แต่ปัจจุบันใช้ไม่ได้แล้ว ยุคนี้ถ้าจะให้ได้ผล จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีใหม่

คุณแฮมเมอร์ (Michael Hammer) กับเพื่อน ก็คิด reengineering ขึ้นมา เพื่อที่จะฟื้นฟูพวกบรรษัท และกิจการธุรกิจอุตสาหกรรมในอเมริกาขึ้นมาให้กลับประสบผลสำเร็จ สามารถเอาชนะในเวทีการแข่งขันทางธุรกิจ นี่แหละเก่งและสำคัญ แต่ก็เท่านั้นเอง คือแค่สนองความคิดในระบบเดิม

ส่วนแนวความคิดที่จะแก้ปัญหาของโลกที่แท้จริง ยังไม่มีใครเดินหน้าไปได้เลย เช่น ความคิดในเรื่อง sustainable development (การพัฒนาที่ยั่งยืน) ก็มีแต่ความคิดและหลักการ แต่ปฏิบัติการไม่คืบหน้า จึงได้แค่เพียงนำเอาระบบ reengineering มาใช้เพื่อสนองแนวความคิดเดิม ที่จะเอาชนะในระบบการแข่งขันแบบเก่า ทำอย่างไรจะเอาระบบวิธี reengineering ไปใช้ประโยชน์สนองระบบความคิดใหม่ที่จะแก้ปัญหาของโลก ซึ่งขณะนี้ไม่มี นี่คือปัญหาของมนุษยชาติในปัจจุบัน ที่ว่าไม่พ้นเทศะ

สำหรับสังคมไทยเรา เวลานี้ต้องคิดทั้งสองขั้นว่า ในการอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ทำอย่างไรสังคมไทยเราจะเอาชนะเขาได้ในการแข่งขัน ซึ่งอันนี้เราก็ทิ้งไม่ได้ เพราะเราตกอยู่ในกระแสค่านิยมของโลกปัจจุบัน ที่ว่าเป็นกระแสโลกาภิวัตน์แห่งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่มุ่งเน้นการแข่งขัน “ทำอย่างไรจะชนะการแข่งขัน” ทุกชาติคิดอย่างเดียวกัน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ก็จะต้องเอาชนะในการแข่งขัน อย่างน้อยไม่ให้ถูกครอบงำ นี่เป็นขั้นที่ ๑

แต่เอาชนะการแข่งขันอย่างเดียว ไม่พอ จะต้องพัฒนาให้เหนือการแข่งขันด้วย คือ ต้องขึ้นไปเหนือกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบันนี้มีแนวโน้มที่จะนำโลกไปสู่หายนะมากกว่า

อย่าไปหลงนิยมชมชอบโลกาภิวัตน์ปัจจุบันนี้ เพราะโลกาภิวัตน์อยู่ใต้กระแสนี้ทั้งหมด คือกระแสระบบการแข่งขัน กระแสการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาทางวัตถุ ภายใต้ระบบความคิดที่ถือว่าการพิชิตธรรมชาติเป็นความสำเร็จของมนุษย์ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ เราต้องรู้เท่าทัน จึงจะแก้ปัญหาให้โลกได้

มนุษย์พิชิตธรรมชาติเพื่ออะไร? เพื่อจะได้เอาธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตด้วยอุตสาหกรรม มนุษย์จะได้มีสิ่งบริโภคพรั่งพร้อม แล้วมนุษย์ก็จะมีความสุขจากการมีสิ่งเสพบริโภคพรั่งพร้อม ความคิดที่ว่า เราจะมีความสุขมากที่สุดเมื่อเสพมากที่สุดนั้น เป็นแนวคิดที่ครองโลกปัจจุบัน

รวมเป็นฐานความคิดใหญ่ที่ครอบงำโลกขณะนี้ ๒ อย่าง คือ

๑. การพิชิตธรรมชาติเพื่อให้มนุษย์เป็นเจ้าใหญ่ มีอิสรภาพ โดยเป็นนายใหญ่เหนือธรรมชาติ

๒. มนุษย์จะมีความสุขมากที่สุด จากการได้เสพมากที่สุด

ว่าที่จริง พวกที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ก็รู้ตัวแล้วว่า เวลานี้แนวความคิดพิชิตธรรมชาติได้ก่อให้เกิดปัญหา คือธรรมชาติแวดล้อมเสีย เพราะฉะนั้น จะต้องแก้ไขปัญหานี้ว่า ทำอย่างไรมนุษย์จะอยู่ได้ โดยที่ว่าแทนที่จะพิชิตธรรมชาติ ก็เปลี่ยนเป็นมาอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยดี เรียกว่าอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติ เป็นการพัฒนาแนวความคิดที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติ

แต่ก่อนนี้ แนวคิดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันตินั้น สำหรับใช้กับมนุษย์ด้วยกัน แต่เวลานี้เขาเอามาใช้กับธรรมชาติด้วย เมื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติ ก็ต้องมองธรรมชาติอย่างไม่เป็นศัตรู ไม่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ แต่ให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

เวลานี้ตะวันตกหันมาเน้นความคิดนี้กันมาก ตำราฝรั่งทางด้านเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มักเขียนเน้นว่า ต่อไปนี้ต้องให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เพราะอะไร เพราะฝรั่งแต่เดิม ๒ พันกว่าปีแล้ว ได้มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และคิดที่จะพิชิตธรรมชาติมาตลอด

อย่างไรก็ตาม มาถึงตอนนี้ฝรั่งก็เกิดความขัดแย้งกัน คือ ทั้งที่รู้ตัวว่า การที่จะแก้ปัญหาของโลกได้ เราจะต้องเลิกแนวความคิดพิชิตธรรมชาติ เราจะต้องไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ไม่ผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ไม่สร้างมลภาวะ ไม่ทำธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เสื่อมโทรม แต่กระแสการแข่งขันในระบบธุรกิจมันไม่อนุญาต เพราะการที่เราจะยิ่งใหญ่ในเวทีแข่งขันทางเศรษฐกิจ เราจะต้องใช้ทรัพยากรมาก จะต้องมีระบบอุตสาหกรรม จะต้องระบายสินค้า แต่อุตสาหกรรมหนัก ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก และก่อมลภาวะมาก ก็เอาแค่พ้นตัวก่อน ปัญหาของโลกก็ผัดไว้ก่อน

ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงหาทางขยับขยายโดยไม่ทำในประเทศของตนเอง แต่ย้ายอุตสาหกรรมหนักไปยังประเทศที่ด้อยพัฒนา ให้พวกนั้นรับเคราะห์ไป แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อผลิตออกมา และเมื่อบริโภค ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัญหาร่วมกันของโลกทั้งหมด

นี่เป็นตัวอย่างปัญหาของโลกปัจจุบัน วิชาการศึกษาทั่วไปจะมองแค่ที่จะตามค่านิยมของโลก ในการเอาชนะการแข่งขันในเวทีโลก ในระบบการแข่งขันของระบบธุรกิจอุตสาหกรรมจึงไม่พอ แต่จะต้องมองกว้างเลยต่อไปอีกว่า ทำอย่างไรจะก้าวไปสู่การแก้ปัญหาของโลก เพื่อสร้างสรรค์อารยธรรมที่แท้ของมนุษยชาติให้สำเร็จ ซึ่งเป็นปัญหาที่ตอนนี้ประเทศต่างๆ ก็ติดขัดกันทั้งนั้น

ในการที่จะทำอย่างนี้ได้สำเร็จ คนไทยเรามีความพร้อมแค่ไหน แม้แต่ในระดับที่ ๑ ที่ว่าพร้อมจะเอาชนะในเวทีการแข่งขันหรือไม่ ไม่ต้องถึงระดับโลกหรอก เพียงแค่ในภูมิภาคนี้ คนของเรามีคุณภาพพอที่จะเอาชนะไหมในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน คนที่จะเอาชนะได้ จะต้องมีคุณภาพอย่างไร แล้วดูภูมิหลังของเราว่า เรามีความพร้อมแค่ไหน คนของเราขณะนี้มีคุณภาพอย่างไร

ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันแห่งโลกาภิวัตน์ เรามองเน้นไปที่ความเจริญต่างๆ โดยเฉพาะความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ที่ทำให้สะดวกสบาย แต่พอมองมาที่สภาพของจิตใจ ในแง่ที่ว่าชอบสะดวกสบาย ก็ปรากฏว่าแนวโน้มของคนไทยจะเป็นไปในทางที่อ่อนแอลง เป็นคนใจเสาะเปราะบาง ชอบหวังพึ่งปัจจัยภายนอก และถ่ายโอนภาระ

ทีนี้ สังคมในระบบการแข่งขันนี่ ไม่ว่าในสังคมย่อยของประเทศไทย หรือกว้างออกไปจนกระทั่งถึงเวทีโลกก็ตาม ระบบชีวิตและสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก คนอ่อนแอจะอยู่ไม่ได้ จะทนไม่ไหว ยิ่งถ้าจะเอาชนะเขา ก็ยิ่งต้องมีความเข้มแข็ง จึงเกิดมีกระแสขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาในการพัฒนามนุษย์

ที่พูดนี้หมายความว่า สภาพแวดล้อมทางวัตถุปัจจุบันมีความพรั่งพร้อมสะดวกสบาย ชีวิตในยุคนี้ เป็นชีวิตยุคกดปุ่ม ฝรั่งบอกว่า เดี๋ยวนี้ ใช้แต่กล้ามนิ้ว ไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อ สมัยก่อนเราจะทำอะไรลำบาก ต้องใช้กล้ามเนื้อมาก เวลานี้ไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อ ใช้แค่กล้ามนิ้ว กดปุ่มเอาก็ได้แล้ว

ในสภาพเช่นนี้ คนที่เห็นแก่ความสะดวกสบาย จะอ่อนแอลง ไม่อยากทำอะไร อยากทำแต่ง่ายๆ พบอะไรก็ไม่อยากทำ ไม่อยากสู้ มีปัญหาอะไรก็ไม่อยากคิดแก้ไข แต่พร้อมกันนั้น ระบบชีวิตและระบบสังคมก็ซับซ้อนยิ่งขึ้น ทำให้คนจะต้องมีความเข้มแข็งขึ้น

ในสังคมใด เมื่อสภาพแวดล้อมทางวัตถุทำให้คนอ่อนแอลง คนที่เป็นผลิตผลของสังคมนั้น ก็จะสู้กับระบบความซับซ้อนในชีวิตและสังคมไม่ได้ พออ่อนแอ สู้ระบบในสังคมของตนเองก็ไม่ไหว ยิ่งออกไปในระบบการแข่งขันของเวทีโลก ก็ยิ่งไม่ไหว จะต้องแก้ไขให้คนที่อ่อนแอนั้น เป็นคนที่เข้มแข็งให้ได้

มีสิ่งสำแดงหลายอย่างที่แสดงว่า คนไทยเรามีความอ่อนแอ เราจะต้องพร้อมที่จะพัฒนาคนของเราขึ้นมา

เริ่มตั้งแต่สภาพแวดล้อมเดิมในสังคมไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ก็ทำให้คนไทยมีจิตใจโน้มไปในทางเห็นแก่ความสะดวกสบาย

ต่อไปประการที่สอง ในยุคที่แล้วมา เมื่อเริ่มติดต่อกับตะวันตก (ที่จริงต้องว่า เมื่อแรกที่ฝรั่งเข้ามา) เราได้รับเทคโนโลยีสำเร็จรูปโดยไม่ต้องผลิต และเป็นเทคโนโลยีสำเร็จรูปประเภทบริโภค ซึ่งก็มาเสริมความสะดวกสบายให้แก่เรา ทำให้คนไทยสะดวกสบายยิ่งขึ้น เลยมีความโน้มเอียงที่จะเห็นแก่ความสะดวกสบาย และอ่อนแอลงไปอีก

สภาพภูมิหลังนี้ ต่างจากสังคมตะวันตกที่ว่า ธรรมชาติแวดล้อมบีบคั้นกว่าเรา และเทคโนโลยีก็เป็นเทคโนโลยีที่เขาผลิตจากน้ำมือหรือฝีมือของเขา เขาผลิตมันขึ้นมา และพัฒนาเทคโนโลยีมากว่าจะสำเร็จสักอย่างเป็นเวลาร้อยๆ ปี เทคโนโลยีที่กว่าจะผลิตมาสำเร็จอย่างที่เห็นในสภาพปัจจุบันนี้ ที่ได้เห็นว่าเจริญอย่างนี้ ต้องผ่านช่วงของการเพียรพยายามคิดค้นสร้างสรรค์มาเป็นร้อยๆ ปี

ฝรั่งต้องผ่านทั้ง วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เพราะเขาอาศัยวิทยาศาสตร์มาสร้างเทคโนโลยี และพัฒนาวิทยาศาสตร์ขึ้นมาพร้อมกับการเพาะนิสัยใฝ่รู้ มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล ชอบทดลอง ชอบพิสูจน์ และต้องผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม เพื่อทำการผลิตด้วยอุตสาหะ จนเกิดมี วัฒนธรรมอุตสาหกรรม แห่งความขยันอดทนบากบั่นสู้สิ่งยาก ฝรั่งต้องพัฒนาอุตสาหกรรมมาเป็นร้อยๆ ปี กว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีอย่างนี้ได้ และเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นด้วย

จะเห็นว่า เทคโนโลยีในประเทศตะวันตก ที่พัฒนามาถึงขนาดนี้ มีความหมายว่าได้ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์พัฒนามา ด้วยวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ที่ทำให้เขาได้นิสัยจิตใจเป็นคนใฝ่รู้ และสู้สิ่งที่ยาก มีความเข้มแข็งขยันหมั่นเพียร เป็นนักคิด และเป็นนักผลิต ซึ่งตอนนี้เพิ่งกำลังมาตกต่ำเสื่อมถอยลง

เวลานี้ฝรั่งเองก็กำลังโอดครวญว่า คนรุ่นใหม่ของเขา ซึ่งเกิดมาท่ามกลางความพรั่งพร้อม ก็เห็นแก่ความสะดวกสบาย เป็นคนหยิบโหย่ง สำรวย แต่นิสัยที่เขาได้มาเป็นร้อยปีนั้น ยังคงอยู่พอสมควร

การที่เราเสียเปรียบก็เพราะว่า หนึ่ง ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว สอง ได้ใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูป โดยตัวเองไม่ต้องผลิต ไม่ผ่านกระบวนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมมา จึงไม่ได้นิสัยใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก สาม แถมมีวัฒนธรรมน้ำใจที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอีก ไม่เหมือนวัฒนธรรมฝรั่งแบบตัวใครตัวมัน ที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง ถือกฎเกณฑ์กติกา ซึ่งทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวาย

วัฒนธรรมน้ำใจของไทยเรา ที่พร้อมจะช่วยเหลือกัน เมื่อใช้โดยประมาท ก็ทำให้คนจำนวนมากอ่อนแอ คอยหวังพึ่งผู้อื่น ไม่พึ่งตนเอง

แล้วมาปัจจุบันนี้ สี่ เรายังหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไสยศาสตร์อะไรต่างๆ อีก ไม่อยากเผชิญความยากลำบาก ไม่อยากคิดแก้ปัญหา ก็ไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ท่านช่วย เอาเครื่องเซ่นสังเวยไปอ้อนวอนท่าน เพื่อให้ท่านช่วยทำแทน ซึ่งขอเรียกว่า “ระบบถ่ายโอนภาระ” คือ โอนภาระจากตัวเองไปให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้

คนไทยชอบสะดวกสบาย ไม่ต้องพยายาม ไม่เป็นคนหมั่นเพียร ขาดความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก เป็นคนไม่มีความเข้มแข็ง ต้องระวังให้ดี นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับสังคมไทย

ถ้าจะเอาชนะในเวทีการแข่งขันของโลก เราจะต้องเป็นคนเข้มแข็ง ใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก นี้เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของวิชาศึกษาทั่วไปที่จะต้องทำให้ได้

เราจะต้องมีจุดเน้น เช่นว่า สำหรับกาลเทศะของยุคนี้ สังคมไทยเป็นอย่างไร โดยเทศะ ก็คือสังคมไทยของเราในประชาคมโลก โดยกาละ ก็คือสภาพและสถานการณ์ปัจจุบัน ภูมิหลังของคนไทยเป็นอย่างนี้ เราจะแก้ไขเตรียมคนของเราอย่างไร เราจะให้คนของเราเป็นอย่างไร หรือเราต้องการคนอย่างไร นี่ก็ระดับหนึ่ง

ส่วนในอีกระดับหนึ่ง คือเทศะระดับโลก ความเป็นสากลของปัจจุบัน ยังใช้ไม่ได้ เพราะเป็นโลกาภิวัตน์ที่มีปัญหา เราจะต้องสร้างมนุษยชาติ และสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกใหม่ ให้เป็นอารยธรรมที่ยั่งยืน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เราไม่มีเวลาที่จะลงรายละเอียด แม้แต่เรื่องความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก ก็มีปัญหาโยงมาแม้กระทั่งประชาธิปไตย

เวลานี้ เราจะสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จได้อย่างไร ถ้าคนไทยเรายังมัวแต่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีแนวโน้มด้านจิตใจ ที่จะไม่พึ่งตนเอง เวลาจะทำอะไร ไม่ใช้ปัญญาพิจารณาคิดแก้ปัญหา แต่เอาภาระไปโยนให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จิตที่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ เป็นการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก

ผู้มีอำนาจภายนอกอย่างหนึ่ง ก็คือ อำนาจเหนือธรรมชาติ และอย่างที่สอง คืออำนาจของมนุษย์ที่มีอิทธิพลความยิ่งใหญ่

แต่จิตใจที่หวังพึ่งอำนาจภายนอกทั้งสองอย่างนี้ จะเป็นจิตใจแบบเดียวกัน คือ เวลามีอะไรก็ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพยายามเอง แต่ให้ผู้มีอำนาจคิดให้ทำให้ แทนที่จะพึ่งตนเองและใช้ปัญญา เมื่อเป็นอย่างนี้ การพัฒนาสังคมประชาธิปไตยจะสำเร็จได้อย่างไร

เรื่องที่ว่ามานี้สัมพันธ์กันหมด ถ้าเราพัฒนาคนไม่สำเร็จ ประชาธิปไตยก็ไม่สำเร็จ เวลานี้ในสังคมไทย คนไม่อยากใช้ความคิดของตนเอง ไม่อยากใช้ความเพียรพยายามของตนเอง แต่ไปหวังพึ่งอะไรต่อมิอะไรภายนอก อำนาจเร้นลับบ้าง อำนาจไม่เร้นลับบ้าง อำนาจมนุษย์บ้าง อำนาจเหนือธรรมชาติบ้าง

ในด้านผลที่ต้องการ ก็โยนไปให้อำนาจภายนอกบันดาลให้ ส่วน ในด้านเหตุปัจจัย ว่าเป็นเพราะอะไร และเพราะใคร ก็ซัดทอดกัน ซัดกันไปซัดกันมา ซัดจนทรุดไปด้วยกัน เรื่องนี้มีข้อปลีกย่อยที่จะพูดกันในรายละเอียดมากมาย

ขอย้ำว่า ต้องมีแนวความคิด และมีจุดมุ่งหมายทั้ง ๒ ขั้น ที่ว่า

- ทั้งโดยกาละ และเหนือกาละ ทั้งโดยเทศะ และเหนือเทศะ

- ทั้งเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และเพื่อความเป็นมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพท่ามกลางสภาพเฉพาะหน้า

นอกจากนั้น เราจะต้องได้ทั้ง

ขั้นที่ ๑ สู้เขาได้ในเวทีการแข่งขันของโลก ตามทันโลก ชนะเขาได้ และ

ขั้นที่ ๒ ต้องเหนือการตามโลก เหนือกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน เหนือการแข่งขัน เพราะว่าโลกปัจจุบันนี้มิใช่เพียงยังเข้าไม่ถึงสันติสุข แต่กลายเป็นโลกในยุคที่เสี่ยงภัยพิบัติมากที่สุด และในการแก้ปัญหานั้น แม้แต่ประเทศที่พัฒนานำสูงสุดแล้ว ก็ยังติดกันอยู่ ยังคิดไม่ออก ยังหาทางกันอยู่ หรือแม้บางทีเห็นทางบ้างแล้ว ก็ทำไม่ได้ตามที่รู้เห็น เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะตามเขาอยู่ ไม่มีทางแก้ปัญหาของโลกและของมนุษยชาติได้ เราจะต้องเหนือขึ้นไป จะต้องมีอะไรที่คิดได้ดี เหนือกว่าที่เขารู้และทำได้ในปัจจุบัน

ในแง่จุดหมายระยะยาว การศึกษาจะต้องพัฒนาคนให้เป็นคนเต็มคน ผู้มีชีวิตที่สมบูรณ์ ให้เป็นบุคคลที่พัฒนาแล้ว ทั้งด้านพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ (รวมทั้งธรรมชาติ) หรือพฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมคือเพื่อนมนุษย์ ทั้งด้านจิตใจ และด้านปัญญา อย่างน้อยให้ได้คุณสมบัติเหล่านี้ในฉบับง่าย ที่พูดได้สั้นๆ ว่า ให้เป็นคนที่ เก่ง ดี และ มีความสุข

ขอยกเป็นข้อสรุปว่า จะต้องผลิตคน ให้ได้คุณสมบัติทั้ง ๓ อย่าง คือ หนึ่ง เก่ง สอง ดี สาม มีความสุข ไม่ใช่ว่าจะเน้นเก่งอย่างเดียว เน้นเก่งไม่พอ ต้องดีด้วย แต่ดีก็ยังไม่พอ ต้องมีความสุขด้วย

เวลานี้ แม้แต่เก่ง เราก็ยังไม่ได้ อย่าไปนึกว่าเราเก่งแล้ว เดิมนั้นเน้นที่เก่ง แต่ต่อมาเราบอกว่าไม่ถูก ต้องมีดีด้วย แล้วเราก็เพิ่มจุดเน้นว่าดีด้วย นี่ทำเหมือนกับว่าตัวเองเก่งแล้ว

แต่หันไปดูที่ว่าเก่งนั้น เก่งพอที่จะเอาชนะในเวทีการแข่งขันโลกไหม ตอบได้เลยว่าเดี๋ยวนี้ก็ยังเก่งไม่พอ และดีก็ต้องเข้ามา เพื่อให้ความเก่งเป็นไปในทางสร้างสรรค์ แล้วเพื่อให้ความเก่งและความดีมั่นคงยั่งยืน ก็ต้องมีความสุข เพราะถ้าไม่มีความสุข ความดีไม่มีทางยั่งยืน

ถ้าเด็กสำเร็จการศึกษาไปไม่มีความสุขเป็นคุณสมบัติในตัว ก็จะเป็นนักหาความสุข ก็จะเข้าระบบฝันอเมริกัน (American dream) ฝรั่งอเมริกันพัฒนาประเทศมาเป็นร้อยๆ ปี เขามีฝันอเมริกัน ซึ่งประการหนึ่งก็คือ การแสวงหาความสุข แต่เป็นความสุขที่อยู่ข้างนอก วัฒนธรรมของเขามีแนวความคิดหลักประการเดียว คือถือว่า ความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุ นึกว่ามีวัตถุพรั่งพร้อมแล้ว ก็มีความสุขที่สุด อย่างที่ว่าเมื่อสักครู่นี้

ทีนี้ เมื่อเป็นนักแสวงหาความสุข ก็ต้องกลายเป็นคนขาดความสุข คนที่หาความสุข คือคนที่ขาดความสุข สำเร็จการศึกษาไป ไม่มีความสุขในตัวเอง แต่เป็นผู้มีความสามารถในการหาความสุข ก็โลดแล่นไปในสังคมด้วยความหิวโหยกระหายความสุข

เมื่อหิวโหยกระหายความสุข หาความสุขให้กับตนเอง ก็ต้องเบียดเบียนสังคม ก่อความเดือดร้อน

เพราะฉะนั้น จะต้องสร้างความสุขให้เป็นคุณสมบัติในใจของเขา

การศึกษาจะต้องทำหน้าที่นี้ให้ได้ คือ เมื่อเรียนอยู่ ก็ต้องมีความสุขเป็นคุณสมบัติในใจ

เมื่อเขามีความสุข ถ้าเขาเป็นคนเก่ง เมื่อออกไปในสังคม เขาไม่ต้องเบียดเบียนคนอื่นในการหาความสุข เขาก็สามารถระบายความสุขออกไป คนที่มีความทุกข์ก็ระบายทุกข์ คนที่มีความสุขก็ระบายความสุขให้แก่สังคม และใช้ความเก่งในการสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันทั่วสังคม

เพราะฉะนั้น จะต้องสร้างคนให้มีคุณสมบัติทั้ง ๓ คือ ทั้ง เก่ง ดี และ มีความสุข

พร้อมกันนั้น ในกระบวนการนี้ก็ต้องสร้างคุณสมบัติที่เน้นเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องทำให้ได้ สำหรับกาละ และเทศะที่เป็นอยู่เฉพาะหน้า คือ ความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก หรือขยายให้เต็มว่า ใฝ่รู้ (วัฒน-ธรรมวิทยาศาสตร์) ใฝ่สร้างสรรค์ (วัฒนธรรมเทคโนโลยี ในความหมายที่แท้) และบากบั่นสู้สิ่งยาก (วัฒนธรรมอุตสาหกรรม)

อย่างน้อยเพื่ออยู่ได้ดีในสภาพโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน และเอาชนะการแข่งขันให้ได้

ทั้งนี้ จะต้องระลึกตลอดเวลาว่า การศึกษาจะต้องให้คนก้าวไปไกลกว่านั้น คือมิใช่เพียงพัฒนาเขาให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มผลผลิตเป็นต้นเท่านั้น แต่จะต้องพัฒนาเขาในฐานะเป็นตัวคน ให้เป็นบัณฑิต ผู้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นอยู่ด้วยปัญญาอย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต มีจิตโปร่งใส เป็นสุข

ความรู้เท่าทันนั้น รวมทั้งรู้ข้อดีข้อเสีย ส่วนดีส่วนด้อย ของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ที่พูดถึงไปแล้วนั้นด้วย เพื่อก้าวไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงของโลก อันอยู่สูงไกลเกินกว่าที่ระบบการแข่งขันของโลกปัจจุบันจะเอื้อมถึง เพื่อจะสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยืนของมนุษยชาติให้สำเร็จได้ต่อไป

ในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของระบบการพัฒนาคน เช่นว่า ทำไมสังคมไทยเราจึงสร้างคนมาได้แบบนี้ ให้มีระบบน้ำใจ ระบบวัฒนธรรมช่วยเหลือเกื้อกูล แล้วระบบนี้มีคุณมีโทษ มีข้อดี และข้อบกพร่องอย่างไร เราผิดหรือ หรือเราเพียงแต่ไม่ครบ บางทีเราคิดว่าเราผิด เรานึกว่าสังคมฝรั่งดี เพราะสังคมฝรั่งตัวใครตัวมัน ทำให้คนเข้มแข็ง ดังนี้ เป็นต้น ยังมีอะไรที่ควรจะพูดอีกมาก

ในที่นี้จะเพียงตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเรามองว่าสิ่งหนึ่งดี สิ่งหนึ่งไม่ดี สิ่งหนึ่งถูก สิ่งหนึ่งผิด เราอาจจะพลาด เพราะการมองเพียงสิ่งหนึ่งดีหรือไม่ดี ยังไม่พอ สิ่งหนึ่งไม่ดี แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะดี ทำอย่างไรจึงจะสมบูรณ์ ต้องเติมให้เต็ม นี้เป็นจุดสำคัญ

โดยมากวิธีคิดของคนออกมา ๒ อย่าง เป็นสุดขั้ว คือ ผิด กับ ถูก พอสิ่งนี้ผิด ไม่เอาแล้ว พอถือว่าผิด อีกสิ่งหนึ่งต้องถูก คิดว่าสิ่งโน้นถูกสมบูรณ์แล้ว แต่เปล่า สิ่งนั้นถูก ก็ไม่จริง สิ่งนี้ผิด ก็ไม่จริง ว่าโดยสมบูรณ์ ไม่เต็มทั้งคู่

ฉะนั้น ต้องมีวิธีคิดเพื่อที่จะทำให้เกิดองค์รวมที่สมบูรณ์ ในที่นี้หมดเวลาพูด เพราะฉะนั้นจึงขอฝากไว้เป็นแง่คิดต่อไป

เรื่องวิชาศึกษาทั่วไปเป็นเรื่องสำคัญ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ท่านที่ดำเนินการเกี่ยวกับวิชาการนี้สำคัญมาก มีความรับผิดชอบสูง เพราะอย่างที่ว่าเมื่อสักครู่นี้ว่า คนที่จะสำเร็จวิชาศึกษาทั่วไปนั้นเป็นบัณฑิต คนที่จะสอนบัณฑิตได้ต้องเป็นนักปราชญ์

ขออนุโมทนาทุกท่านที่มาประชุม ขอให้การประชุมนี้ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นกุศล เป็นความดีงาม จงสัมฤทธิ์ผลด้วยดี เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่สังคมและมวลมนุษยชาติ ขอทุกท่านจงประสบ จตุรพิธพรชัยโดยทั่วกัน

1ปาฐกถาพิเศษ ในการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “วิชาศึกษาทั่วไปของหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรี” จัดโดยทบวงมหาวิทยาลัย ๑๔ กันยายน ๒๕๓๘
2Lynne V.Cheny, Telling the Truth (New York: Simon & Schuster, 1995), p.115.
3ตัวอย่างหนังสือ ที่ช่วยให้เห็นสภาพปัจจุบัน ของวงวิชาการอุดมศึกษาของอเมริกา
Bennett, William J. The De-valuing of America. New York: Summit Books, 1992.
Brockman, John. The Third Culture. New York: Simon & Schuster, 1995.
Gingrich, Newt. To Renew America. New York: Harper Collins Publishers, 1995.
Roche, George. The Fall of the Ivory Tower. Washington, D.C.: Regnery Publishing, Inc., 1994.
4ตีพิมพ์ใน The American Scholar, Volume 53, Number 3, Summer, 1984.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง