แสงเงินแสงทองของชีวิต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

แสงเงินแสงทองของชีวิต1

ขอเจริญพร คณะโยมญาติมิตรทุกท่าน

วันนี้คณะโยมญาติมิตรได้ขึ้นมาทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิบนยอดเขา เริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่สว่าง โดยผ่านเวลาตามลำดับ ตั้งแต่ยังมืดในตอนท้ายของกลางคืน จนกระทั่งมีแสงเงินแสงทอง แล้วในที่สุดพระอาทิตย์ก็ขึ้นมาสว่างแจ้ง จนบัดนี้แดดก็ชักจะกล้าแล้ว ทั้งหมดนี้ก็เป็นการได้บรรยากาศที่ดี คือความสดชื่นผ่องใสในเวลาเช้า ซึ่งมีอากาศที่เย็นสบาย ท่ามกลางธรรมชาติที่สดใสเบิกบาน ทั้งเสียงนกร้องขับขานรับอรุณ และหมู่ไม้ที่ร่มรื่นเขียวขจี

บรรยากาศที่ผ่านจากความมืดสู่ความสว่างนี้ เตือนใจให้ระลึกถึงธรรมของพระพุทธเจ้า ที่เกี่ยวกับเรื่องการขึ้นมาของดวงอาทิตย์หรือรุ่งอรุณ

ความหมายของบุพนิมิต

มีพุทธพจน์ตรัสเปรียบเทียบไว้ เกี่ยวกับเรื่องการขึ้นมาของดวงอาทิตย์ โดยตรัสว่า ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะอุทัย ย่อมมีแสงเงินแสงทองปรากฏขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต

บุพนิมิต แปลว่า สิ่งที่เป็นเครื่องหมาย เป็นสิ่งบ่งบอกล่วงหน้า พระพุทธองค์ตรัสเปรียบเทียบว่า ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น ย่อมมีแสงเงินแสงทองปรากฏให้เห็นก่อนฉันใด ก่อนที่อริยมรรคซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำคัญในพระพุทธศาสนาจะเกิดขึ้น ก็มีธรรมบางประการปรากฏขึ้นก่อนเหมือนแสงเงินแสงทองฉันนั้น

ธรรมที่เป็นเหมือนแสงเงินแสงทองนี้ คืออะไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้หลายอย่าง แต่ที่เน้นมากมี ๒ ประการด้วยกัน

เข้าหาแหล่งความรู้และความดี

ได้มัคคุเทศก์ดี คือโชควิเศษในการเดินทาง

ประการแรก คือ ความมีกัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าความมีกัลยาณมิตร เกิดขึ้นแก่ภิกษุ หรือเกิดขึ้นแก่ใครก็ตามแล้ว ก็หวังได้ว่าอริยมรรคจะเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น ความมีกัลยาณมิตรนี้จึงถือว่าเป็นธรรมที่สำคัญมาก

ก่อนที่เราจะเข้าเดินในมรรค คือเข้าสู่ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่จะนำไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนาได้นั้น ตามปกติก็จะต้องมีสื่อที่ชักนำเข้ามา ความมีกัลยาณมิตรนี่แหละเป็นตัวนำที่สำคัญ เพราะว่า เมื่อมีกัลยาณมิตร มีผู้ที่ชี้แนะนำทางที่ถูกต้องแล้ว ก็จะทำให้บุคคลเริ่มรู้จัก เริ่มมีความเข้าใจหรือเห็นทางที่ถูกต้อง ตัวเห็นทางนั้น ก็คือ สัมมาทิฏฐิ ซึ่งจะทำให้เดินทางไปได้

ถ้าไม่มีกัลยาณมิตร ก็มองไม่เห็น ไม่รู้แม้กระทั่งว่าทางเดินอยู่ที่ไหน ก็เลยดำเนินชีวิตผิดพลาด เหมือนวนเวียนอยู่ในป่า หลงไปหลงมา บางทีตลอดชีวิตก็ไม่ได้เข้าสู่ทางที่ถูกต้อง

กัลยาณมิตรนั้นเหมือนกับเป็นผู้ที่รู้ทาง เพราะเคยเดินทางนั้นมาแล้ว หรืออย่างน้อยก็ได้เคยผ่านใกล้ได้ทราบได้รู้ว่าทางอยู่ตรงไหน ทำให้สามารถไปพูดไปชี้แนะและชักนำเข้ามาสู่ทางได้ กัลยาณมิตรนี้จึงสำคัญมาก

พ่อแม่เป็นกัลยาณมิตรที่หนึ่งของลูก

สำหรับเด็กๆ พ่อแม่เป็นกัลยาณมิตรที่หนึ่ง ถ้าพ่อแม่ทำตัวดี เป็นแบบอย่างที่ดี และรู้จักชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง เด็กก็จะเดินไปในวิถีชีวิตที่ดีงาม แต่ถ้าพ่อแม่ไม่รู้จักชี้แนะแนวทาง หรือทำตัวไม่ดี แทนที่จะเป็นกัลยาณมิตร ก็อาจจะกลายเป็นปาปมิตรไป แล้วก็จะทำให้เด็กมีความคิดความเห็น และประพฤติตัวเขวออกไปนอกลู่นอกทาง ดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดเสียหาย

กัลยาณมิตรอื่นๆ

ต่อจากพ่อแม่ ก็ได้แก่ ครู อาจารย์ ซึ่งก็ถือเป็นกัลยาณมิตรที่สำคัญมาก

ต่อจากครูอาจารย์ก็คือผู้ใหญ่ทั่วๆ ไป

พระสงฆ์ก็มีหน้าที่สำคัญที่จะต้องทำตนให้เป็นกัลยาณมิตรของญาติโยม ของประชาชน คอยชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง ให้รู้จักธรรม ให้ดำเนินชีวิตตามธรรม ให้ปฏิบัติต่อกันตามธรรม และให้อยู่ในโลกอย่างมีธรรม

ถ้าพระสงฆ์ไม่ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร เช่น มุ่งหาผลประโยชน์ เห็นแก่ลาภสักการะ ก็อาจจะชักจูงญาติโยมให้หลงผิด ไขว้เขวออกนอกพระพุทธศาสนาไปเลย ทำให้ลุ่มหลงไปกันใหญ่ แทนที่จะเดินไปสู่ทางที่พระพุทธเจ้าทรงชี้นำไว้ ก็จะกลับออกไปนอกลู่นอกทาง นอกพระพุทธศาสนา จนอาจจะกลายเป็นศาสนาอื่นไปก็ได้ ในปัจจุบันพระก็ยังสำคัญมาก เพราะมีบทบาทมากกว่าใครอื่น ที่จะนำพุทธศาสนิกชนเข้าสู่มรรค หรือจะนำออกนอกมรรคไป

พระพุทธเจ้าก็เป็นกัลยาณมิตร

แม้ตลอดจนองค์พระพุทธเจ้าเอง ก็ทรงเป็นกัลยาณมิตรด้วย พระพุทธเจ้าก็คือแบบอย่างหรือยอดสุดของกัลยาณมิตรนั่นเอง พระองค์ได้ตรัสไว้เองว่า เราเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย คือเป็นผู้ที่ช่วยชักนำสรรพสัตว์ให้ออกไปจากทุกข์ภัยในสังสารวัฏ ด้วยการสั่งสอนให้เดินไปในทางของอริยมรรค

ความสำคัญของกัลยาณมิตร

คนทั่วไปจะต้องอาศัยกัลยาณมิตรเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะชักนำเข้าสู่ทางชีวิต ให้เลือกหรือให้เบนวิถีชีวิตไปในทางใดทางหนึ่ง เริ่มจากพ่อแม่ ต่อด้วยครูอาจารย์ หรือคนที่นิยมเอาเป็นตัวอย่างในหนังในทีวีเป็นต้น ตั้งแต่เป็นเด็ก ตลอดจนเพื่อนเล่น เพื่อนเรียน เพื่อนเที่ยว เพื่อนกิน เพื่อนนอนทั้งหลาย

คนจำนวนมากก็อย่างที่เห็นกันอยู่ทั่วไป ถ้าไม่มีกัลยาณมิตร หรือได้ปาปมิตรคือเพื่อนชั่วร้ายละก็ อาจจะเดินไปในทางที่ผิดพลาดเสียหาย เสียคน เสียอนาคตไปเลย แต่ถ้าได้กัลยาณมิตร ก็จะมีชีวิตที่ดีงาม อาจกลายเป็นชีวิตที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่ในอารยธรรมของโลกก็ได้ ดังนั้น ความมีกัลยาณมิตรจึงเป็นหลักธรรมสำคัญข้อแรก เป็นเหมือนแสงเงินแสงทอง ซึ่งเมื่อฉายขึ้นมาแล้ว ก็จะทำให้บุคคลได้เริ่มเห็นทางที่จะเดินอย่างถูกต้อง เมื่อแสงเงินแสงทองปรากฏแล้ว พระอาทิตย์ก็ขึ้นมา นั่นก็คือการที่ว่าอริยมรรคได้เกิดขึ้น

มีความคิดที่แยบคาย

คิดเองเป็น จึงจะพึ่งตนเองได้

ธรรมอีกข้อหนึ่ง ที่ตรัสไว้เปรียบเทียบเหมือนแสงเงินแสงทอง ก็คือ โยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการแปลว่า การทำในใจโดยแยบคาย คล้ายกับที่เรียกกันว่ารู้จักคิด คิดเป็น หรือคิดถูกทาง

เมื่อมองเห็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไปพบอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าทำใจถูกต้อง คิดถูกต้อง รู้จักพิจารณา ก็จะทำให้เกิดปัญญาขึ้น ทำให้รู้ว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง เกิดประโยชน์

โยนิโสมนสิการก็เป็นหลักที่สำคัญมาก เป็นตัวนำเข้าสู่มรรค หรือแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นคู่กับกัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า กัลยาณมิตรเป็นองค์ประกอบภายนอก คืออยู่นอกตัวเรา เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ และพระสงฆ์อย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น ท่านอยู่ข้างนอก แต่โยนิโสมนสิการ เป็นองค์ประกอบภายใน หรือปัจจัยภายใน อยู่ในตัวเราเอง อยู่ที่ความคิดของเรา

คนทั่วไปต้องอาศัยกัลยาณมิตร คือมีผู้ที่ชี้แนะบอกให้รู้ให้คิดว่าเป็นอย่างนี้ หรือชี้แนะว่ามีช่องทางอย่างนี้ จึงจะมองเห็นทาง คนทั่วไปนั้นจึงจะเข้าใจ

แต่ถ้าเป็นคนที่มีปัญญามาก เขาจะสามารถคิดเองด้วยโยนิโสมนสิการ บางทีก็ไม่ต้องอาศัยกัลยาณมิตรเลย หรืออาศัยน้อย เช่นบุคคลที่เป็นผู้เริ่มต้นค้นพบธรรม หรือตรัสรู้สัจธรรม จะต้องเป็นผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ คิดค้นได้เองโดยไม่ต้องอาศัยกัลยาณมิตร บุคคลอย่างนี้ก็ได้แก่พระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงออกแสวงหาสัจธรรม พระองค์เสด็จไปเรียนไปทดลองปฏิบัติอยู่กับอาจารย์ และหมู่พวกนักบวชต่างๆ จนจบลัทธิวิธีของเขา และในที่สุดก็ทรงเห็นว่าไม่บรรลุจุดหมายที่พึงประสงค์ จึงได้ทรงคิดค้นต่อไปด้วยพระองค์เอง แล้วก็ได้ค้นพบสัจธรรมเป็นบุคคลแรก โดยไม่ได้มีกัลยาณมิตรมาแนะมาบอก ถ้าพระองค์ไม่มีโยนิโสมนสิการ จะต้องคอยอาศัยกัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะต้องเป็นผู้ค้นพบก่อนคนอื่น บุคคลพิเศษอย่างนี้จึงต้องมีโยนิโสมนสิการมากเป็นพิเศษ คือเมื่อพบเห็นอะไร ต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณาเชื่อมโยงไปหาความจริง และให้เห็นความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ สมัยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ก็อยู่ในวัง อยู่ท่ามกลางสิ่งบำรุงบำเรอมากมาย เหมือนกับผู้ที่ร่ำรวยมั่งมีศรีสุขทั้งหลาย เหมือนกับเจ้านายทั้งหลายที่มีความสุข แต่คนอื่นเขามัวเมาอยู่ในความสุข แล้วก็ปล่อยชีวิตผ่านไป ดำเนินชีวิตเหมือนคนรุ่นก่อนๆ ที่เคยทำกันมา

สำหรับพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์มีโยนิโสมนสิการ เมื่อมองเห็นสิ่งบำรุงบำเรอ อยู่ท่ามกลางวัตถุที่แวดล้อม จิตใจก็ไม่ได้ติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น กลับทรงยกเอาสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเป็นข้อพิจารณา แล้วกลับมองเห็นความจริงต่างๆ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสภาพแวดล้อมเหล่านั้น และทำให้พระองค์คิดไปอีกทางหนึ่ง คือคิดไปในทางที่จะแสวงหาสัจธรรม เมื่อมองเห็นความจริง มองเห็นความทุกข์ในสังสารวัฏ มองเห็นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อะไรต่างๆ ที่ครอบงำมนุษย์ ก็มองหาทางออก การที่จะคิดอย่างนี้ได้ก็เป็นเรื่องของโยนิโสมนสิการ

คนที่มีโยนิโสมนสิการ ก็มีเครื่องมือที่จะทำให้ค้นพบเห็นความจริง และแม้ว่าสำหรับคนทั่วไปจะต้องอาศัยกัลยาณมิตรบ้าง แต่ถ้ามีโยนิโสมนสิการมาก ก็จะสามารถคิดเห็นช่องทางของตนเอง ที่จะคิดต่อคิดแยกแยะเชื่อมโยงออกไป แล้วก็ก่อให้เกิดปัญญาสามารถก้าวหน้าไปในการดำเนินชีวิตที่ดี หรือในอริยมรรคได้รวดเร็วขึ้น โยนิโสมนสิการจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้คนพึ่งตนเองได้ และเข้าถึงชีวิตที่ดีงามอย่างแท้จริง

รู้จักคิดพิจารณา ทำให้แก้ปัญหา เลือกตัดสินใจได้ผล

เมื่อไปเห็นอะไรสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คนหลายคนก็เห็นสิ่งเดียวกัน แต่คิดไม่เหมือนกัน

คนจำนวนมากจะคิดไปตามแนวทางที่เคยคิดกันมา หรือมองตามที่เห็นเพียงผิวเผิน ความคิดจะตันอยู่แค่นั้น หรือมิฉะนั้นก็คิดเตลิดเปิดเปิงไปเลย ไม่เป็นลำดับ ไม่มีเหตุผล ไม่เป็นขั้นเป็นตอน หรืออย่างที่ท่านเรียกว่า คิดปรุงแต่งไปตามความยินดียินร้าย หรือชอบชัง คนทั่วไปจะเป็นอย่างนั้น เมื่อเห็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็คิดแค่ตามที่ชอบที่ชัง หรือยินดียินร้าย

คนที่ขาดโยนิโสมนสิการ เมื่อพบเห็นอะไร ไม่รู้จักคิด ก็จะมองแค่ตามที่ชอบใจและไม่ชอบใจ มองแค่ว่า จะกิน จะใช้ จะได้ จะเอา หรือไม่ เลยได้แค่คอยจะกิน คอยจะใช้ คอยจะบริโภค ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักสร้างสรรค์ หรือแก้ไขปรับปรุง ชีวิตของตนเองก็ไม่พัฒนา จะช่วยพัฒนาสังคมประเทศชาติก็ไม่อาจจะทำได้

แต่คนที่มีโยนิโสมนสิการจะพิจารณาด้วยปัญญา คิดให้เห็นเหตุเห็นผล ก็ได้ความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างน้อย เมื่อพบเห็นอะไรแปลกใหม่ ก็รู้จักคิดค้นว่า สิ่งนั้นทำขึ้นมาได้อย่างไร นำไปสู่การรู้จักทำ รู้จักสร้างสรรค์ ทำได้และทำเป็น เมื่อพบปัญหาก็คิดค้นหาเหตุปัจจัย ทำให้แก้ปัญหาได้ จากคิดเป็น ก็นำไปสู่ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น ชีวิตของตนก็พัฒนา และช่วยพัฒนาประเทศ พัฒนาสังคมไปในทางที่ถูกต้อง

บางทีก็คิดแยกแยะเชื่อมโยงต่อไปอีก ทำให้ได้เห็นช่องทางที่จะปฏิบัติในทางที่เกิดประโยชน์ หรือผลดียิ่งขึ้นไป จนทำอะไรๆ ได้เรียบร้อยสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญมากที่จะนำเข้าสู่อริยมรรค ให้ก้าวหน้าไปในวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม จึงเป็นองค์ประกอบที่คู่กันกับกัลยาณมิตร

เมื่อมีองค์ประกอบภายนอก คือ กัลยาณมิตร และองค์ประกอบภายใน คือ โยนิโสมนสิการ ๒ อย่างนี้แล้ว ก็เหมือนกับได้มีแสงเงินแสงทองปรากฏฉายขึ้นมา เรียกว่า รุ่งอรุณ ต่อจากนั้น พระอาทิตย์ก็จะอุทัย ได้แก่ การที่อริยมรรค กล่าวคือ วิถีชีวิตที่ดีงาม อันประเสริฐ บังเกิดขึ้นแก่ตัวบุคคลนั้น

สำหรับคนทั่วไปจะต้องมี ๒ อย่าง คือมีกัลยาณมิตรมาช่วยเริ่มต้น และก็ต้องมีโยนิโสมนสิการข้างในตนเองด้วย ถ้ามีแต่กัลยาณมิตร ไม่มีโยนิโสมนสิการ บางทีก็ไม่ได้ประโยชน์จากกัลยาณมิตร เหมือนคนบางคน ถึงจะมีกัลยาณมิตรช่วยแนะนำอย่างไร เขาก็ไม่รู้จักคิด เลยไม่เข้าใจ ไม่สามารถจะทำให้เกิดปัญญาได้ ก็ไปไม่ไหว จึงต้องมีโยนิโสมนสิการด้วย และต้องสร้างเสริมหมั่นใช้ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นไป

โดยเฉพาะถ้ามีโยนิโสมนสิการมากเท่าไร ก็ยิ่งดี จะทำให้ต้องพึ่งพากัลยาณมิตรน้อยลง สามารถพึ่งตนเองได้ดียิ่งขึ้นโดยลำดับ โยนิโสมนสิการจึงเป็นหลักธรรมสำคัญ ที่จะทำให้มีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

แม้แต่การเจริญวิปัสสนา บางทีท่านก็ใช้คำว่ากระทำโยนิโสมนสิการนั่นเอง คนที่มีโยนิโสมนสิการสามารถเจริญวิปัสสนาได้ดี และจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัตินั้น เพราะวิปัสสนาเป็นเรื่องของปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นได้ โดยอาศัยโยนิโสมนสิการเป็นตัวนำที่สำคัญ

ที่กล่าวมานี้คือหลักธรรมข้อใหญ่สองประการที่เป็นแสงเงินแสงทอง แต่นอกจากนี้แล้วก็ยังมีอีกห้าข้อที่อยู่ในชุดของแสงเงินแสงทองนี้ เป็นแต่ว่าจุดที่เน้นมากก็คือสองข้อนี้ ได้แก่ กัลยาณมิตร กับ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นหัวข้อต้น กับหัวข้อสุดท้าย คือคุมหัวคุมท้าย หรือต้นขบวนกับท้ายขบวน ในท่ามกลางระหว่างสองอย่างนี้มีอีก ๕ อย่าง กล่าวคือ ต่อจากข้อที่หนึ่ง อันได้แก่ความมีกัลยาณมิตร ที่พูดมาแล้วก็มี

ใช้วินัยจัดสรรโอกาสแห่งชีวิต

วินัย คือ การจัดสรรโอกาสในการพัฒนา

ข้อที่สอง ความถึงพร้อมด้วยศีล คือ ความมีระเบียบวินัย ชีวิตของเราที่เป็นส่วนเฉพาะตัวก็ต้องมีระเบียบ การมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นก็ต้องมีระเบียบ ซึ่งจะทำให้เกิดความเรียบร้อย ทำอะไรต่างๆ ก็มีลำดับ ชีวิตความเป็นอยู่ก็ไม่สับสน การอยู่กับผู้อื่นก็ไม่เกิดความวุ่นวาย ทำให้ปฏิบัติธรรมและทำทุกอย่างได้สะดวก

ความมีศีลก็คือ การตั้งตนอยู่ในระเบียบวินัย ระเบียบวินัย ก็คือ การจัดสรรสภาพชีวิตของตนเอง และจัดสรรสภาพแวดล้อม ให้เรียบร้อย ซึ่งจะทำให้เกิดมีโอกาสมากขึ้น หรือมากที่สุด ที่จะทำกิจอะไรต่างๆ ได้ตามที่ประสงค์

ความมีศีลนี่เป็นเรื่องสำคัญมากเมื่ออยู่ร่วมกัน มีศีล ไม่เบียดเบียนกัน และเมื่อชีวิตส่วนตัวก็มีวินัยจัดไว้เป็นระเบียบเป็นลำดับ ช่องหรือโอกาสที่จะทำอะไรต่างๆ ก็มีมากขึ้น การอยู่ร่วมกันนั้นก็ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน จะปฏิบัติประพฤติอะไรก็ทำได้สะดวก เกิดความคล่องตัวไม่ติดขัด

พูดง่ายๆ ว่า วินัย ก็คือ การจัดโอกาสให้ชีวิตมีช่องมีจังหวะ พร้อมที่จะทำอะไรๆ ได้สะดวกสบายคล่องตัวขึ้น

ถ้าไม่มีวินัยแล้วอะไรๆ ก็สับสนไปหมด มัวแต่ขัดแย้ง ติดนั่นติดนี่ เพราะไม่ได้จัดสรรไว้ให้เรียบร้อย แม้แต่เวลาที่จะทำอะไรก็ไม่มี เพราะมันวุ่นไปหมด เพราะฉะนั้นความมีศีลนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และถือว่าอยู่ในชุดของแสงเงินแสงทองด้วย

มีจิตใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์

ใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ เป็นพลังพื้นฐาน ในการพัฒนา

ต่อจากนั้น ท่านบอกว่า จะต้อง ถึงพร้อมด้วยฉันทะ ฉันทะคือความรักความพอใจในธรรม ในสิ่งที่ดีงาม คนเรานี้จะทำอะไร ก็ต้องมีแรงจูงใจ

แรงจูงใจที่ดี ก็คือ ความพอใจหรือความรักใในสิ่งที่จะทำนั้น เช่นว่า เมื่อรักความรู้ หรือใฝ่รู้ ก็ทำให้หาความรู้ เมื่อรักความดีงาม ต้องการให้ชีวิตเจริญไปในอริยมรรค ก็ทำให้เราปฏิบัติธรรม บำเพ็ญกิจหน้าที่ หรือทำสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีตัวฉันทะคือความพอใจใฝ่รู้ใฝ่ดีนี้แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ เพราะไม่มีแรง ไม่มีกำลัง ก็จึงต้องมีฉันทะด้วย

มุ่งมั่นฝึกตนไม่กลัวความยาก

จิตสำนึกในการศึกษาทำให้ก้าวหน้าไปในการพัฒนาอย่างมั่นคง

ต่อจากนั้นก็ถึงพร้อมด้วย จิตสำนึกในการที่จะพัฒนาตนเอง เห็นความสำคัญของการที่จะต้องฝึกตนเอง รู้ว่าชีวิตของคนเรานี้ที่จะประเสริฐได้ ก็ต้องฝึกต้องฝนต้องพัฒนาไป เมื่อมองเห็นความสำคัญอย่างนี้แล้ว ก็เอาใจใส่ในการที่จะฝึกตน พัฒนาตนขึ้นไป ไม่อยู่นิ่งเฉย ไม่ยืนอยู่กับที่ ไม่หยุดนิ่ง ก็จะทำให้ก้าวหน้าไปในมรรคได้

ถ้ามองเห็นว่าตัวเรานี้ มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว ดีแล้ว ก็ไม่ต้องฝึก ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะไม่ทำอะไรที่จะเป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น จะต้องเห็นว่ามนุษย์เรานี้ ชีวิตจะดีงามประเสริฐได้ จะร้างทุกข์ลุสุข ประสบอิสรภาพได้จริง จะต้องฝึกฝน จะต้องพัฒนา คือต้องศึกษา อันนี้เรียกว่ามองเห็นความสำคัญของการฝึกตน หรือพัฒนาตน และถือเป็นแสงเงินแสงทองอย่างหนึ่ง

ยึดหลักเหตุผลมองตามเหตุปัจจัย

กระบวนการพัฒนาดำเนินไปได้ เพราะมองและทำตามหลักการแห่งเหตุปัจจัย

ข้อต่อไปท่านว่าจะต้องมี ทิฏฐิสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิที่ถูกต้อง

ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึง ความคิดเห็น ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ และหลักการที่ยึดถือไว้

คนเรานี้ เมื่อมองสิ่งทั้งหลาย ก็มองไปต่างๆ กัน แต่ถ้าถือตามหลักการของพระพุทธศาสนา ก็จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ทิฏฐิที่ถูกต้อง คือความเข้าใจ ความคิดเห็น หรือการถือหลักการเบื้องต้นที่เป็นพื้นฐาน โดยมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผล ให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุปัจจัย เหตุทำให้เกิดผล และผลก็เกิดจากเหตุ

การที่เราจะเดินทางก้าวหน้าไปในมรรค และบรรลุผลนั้นได้ เราจะต้องทำเหตุของมัน เมื่อมีความเข้าใจพื้นฐานอย่างนี้ ถือหลักการของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างนี้ ก็จะทำให้เราปฏิบัติ คือทำเหตุปัจจัยเพื่อจะใด้เกิดผล

ถ้าไม่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยอย่างนี้ เราก็จะปล่อยให้ความอยากกำหนดชีวิตของเรา จะทำอะไรๆ เพียงตามที่ใจอยาก หรือไม่ก็เอาแต่คอยอ้อนวอน คอยอาศัยสิ่งภายนอกให้มาช่วย เราก็เลยไม่ต้องทำอะไร เมื่อไม่ทำตามเหตุปัจจัย ก็จะไม่สามารถก้าวไปในมรรคได้ การก้าวไปในมรรคจะต้องทำเหตุ

เมื่อเรามีทัศนคติ มีความคิดเห็นที่สอดคล้องตามแนวทางของเหตุปัจจัย มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยแล้ว ก็เป็นทิฏฐิพื้นฐานที่จะทำให้ก้าวหน้าไปถูกต้อง ท่านจึงเรียกหลักข้อนี้ว่า จะต้องมีทิฏฐิสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิที่ถูกต้อง

เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท

รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง และเห็นคุณค่าของเวลา ทำให้การพัฒนาต่อเนื่องและทันการ

ต่อจากนั้นก็ต้องมีอีกประการหนึ่ง คือ อัปปมาทะ จะต้อง ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

ความไม่ประมาทก็คือความกระตือรือร้น มองเห็นความสำคัญของกาลเวลา มองเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งไม่อยู่นิ่ง เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เป็นอนิจจัง

ชีวิตของเราและสังขารทั้งหลายล้วนแต่เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน เราจะประมาทอยู่ไม่ได้ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายแตกดับไป ต้องเอาใจใส่ในการที่จะกระตือรือร้น ทำหน้าที่ของเรา ในการประพฤติปฏิบัติธรรม นี้เรียกว่าความไม่ประมาท

ความไม่ประมาท ซึ่งจะทำให้เร่งรัดตัวเอง มองเห็นคุณค่าของเวลา เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง จะนอนใจนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ จะต้องรีบพัฒนาตนเอง จึงเป็นข้อธรรมสำคัญที่จะทำให้เดินหน้าไปในมรรคได้ จึงเรียกว่าเป็นแสงเงินแสงทองอีกอย่างหนึ่ง

แสงอรุณมีหลายสี การพัฒนาก็มีหลายองค์นำ

ข้อธรรม ๕ อย่างที่อยู่ระหว่างกลางหัวท้ายนี้ เป็นปัจจัยสนับสนุน ที่จะทำให้ก้าวหน้าไปในมรรคได้ รวมทั้งหมดในชุดใหญ่นี่ จึงมีธรรมที่เป็นองค์ประกอบที่เรียกว่าเป็นเหมือนแสงเงินแสงทอง ๗ ประการด้วยกัน

ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

ข้อที่ ๑. กัลยาณมิตตตา ความมีกัลยาณมิตร เป็นข้อต้น ต่อจากนั้นเป็นข้อในระหว่าง

ข้อที่ ๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล มีวินัย มีความเป็นระเบียบในชีวิตของตน และในการอยู่ร่วมในสังคม

ข้อที่ ๓. ฉันทสัมปทา ถึงพร้อมด้วยฉันทะ มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง คือความพอใจใฝ่รักในปัญญา ในสัจธรรม และในจริยธรรม ใฝ่รู้ในความจริง และใฝ่ที่จะทำความดีงามทุกอย่าง

ข้อที่ ๔. อัตตสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเอง เห็นความสำคัญของการที่จะต้องฝึกตน ว่าชีวิตของเรานี้จะดีงามได้จะต้องมีการฝึก

ข้อที่ ๕. ทิฏฐิสัมปทา ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ยึดถือ เชื่อถือ ในหลักการ และมีความเห็นความเข้าใจพื้นฐาน ที่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย

ข้อที่ ๖. อัปปมาทสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ เห็นคุณค่าของกาลเวลา เห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งกระตุ้นเตือน ที่จะทำให้เร่งรัดในการที่จะค้นหาให้เข้าถึงความจริง และในการปฏิบัติ หรือในการที่จะทำชีวิตที่ดีงามให้สำเร็จ

ข้อสุดท้าย ๗. โยนิโสมนสิการ รู้จักทำในใจโดยแยบคาย รู้จักคิดรู้จักพิจารณา รู้จักใช้ปัญญาแก้ปัญหา คิดเป็น มองสิ่งทั้งหลายให้ได้ความรู้ และได้ประโยชน์ ที่จะเอามาใช้พัฒนาตนเองยิ่งๆ ขึ้นไป

เป็นอันว่าครบชุด ๗ ประการ นี่คือแสงเงินแสงทอง ตามหลักพุทธธรรม ซึ่งจะทำให้ชีวิตพัฒนาไปตามวิถีแห่งอริยมรรคได้อย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ทุกท่านได้มีแสงเงินแสงทองเป็นตัวนำ และให้อริยมรรค คือ ดวงอาทิตย์อุทัยปรากฏขึ้นในจิตใจ และในการดำเนินชีวิตของญาติโยมทุกท่านโดยทั่วกัน

ขออานุภาพคุณพระรัตนตรัย อภิบาลรักษาให้ทุกท่าน เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข งอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลนาน ทั่วกันทุกท่าน เทอญ

1บรรยายบนยอดเขา ณ สถานพำนักสงฆ์ สายใจธรรม เช้าวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๓
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง