อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา1

เกริ่นนำ

ปาฐกถาปาจารยสาร ได้จัดมาเป็นประจำทุกปี เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นต้นมา ถึงบัดนี้ เป็นปีที่ ๓ ในปีนี้ทางปาจารยสาร ได้จัดร่วมกับสถาบันสันติประชาธรรม ซึ่งทั้ง ๒ หน่วยงานนี้ สังกัดอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป สำหรับการปาฐกถาในปีนี้ ทางเราได้รับความเมตตาจาก พระเดชพระคุณท่านพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ซึ่งท่านจะได้แสดงปาฐกถาในหัวข้อที่ชื่อว่า อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา ก่อนที่ท่านจะได้กล่าวปาฐกถา ก็ขอเรียนเชิญ อาจารย์อุทัย ดุลยเกษม มากล่าวนำสักเล็กน้อย ขอเชิญครับ

ดร. อุทัย ดุลยเกษม

กราบนมัสการท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวที พระคุณเจ้า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และสาธุชนที่นับถือทุกท่าน

ก่อนที่กระผมจะกล่าวแนะนำองค์ปาฐก กระผมใคร่ขอประทานอนุญาต กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดปาฐกถา ประจำปีของปาจารยสาร และขอแนะนำหน่วยงานที่เป็นผู้ร่วมงานจัดปาฐกถาประจำปีนี้สักเล็กน้อย เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธุชน ซึ่งอาจจะไม่คุ้นเคยกับกิจกรรมของหน่วยงานทั้งสองนี้

หน่วยงานแรกที่ใคร่ขอแนะนำ คือ วารสารปาจารยสาร วารสารปาจารยสารนั้น ถือกำเนิดในบรรณภพ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้กรุณาคิดชื่อให้ เมื่อแรกที่วารสารเล่มนี้เกิดขึ้นนั้น โดยนิตินัย เป็นของสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (ก่อนที่จะมาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และบรรณาธิการคนแรกก็คือ นายพิภพ ธงไชย แนวของวารสารฉบับนี้ในยุคแรกได้เน้นหนักการวิเคราะห์และเสนอแนะแนวคิดเกี่ยวกับระบบการศึกษา ต่อมาเมื่อเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยและเปลี่ยนตัวบรรณาธิการ แนวของหนังสือก็ให้การเน้นหนักในเรื่องที่แตกต่างกันออกไป เป็นเรื่องอหิงสธรรม เรื่องนิเวศวิทยา และเรื่องจริยธรรม เป็นอาทิ แต่ที่คงเส้นคงวาอยู่ตลอดมา ก็คือ วารสารเล่มนี้ มุ่งที่จะเสนอแนวความคิดใหม่ เพื่อแสวงหาทางออกอันงดงามให้แก่สังคมไทยในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา ด้านการเมือง และด้านวัฒนธรรม

ล่วงมาถึงคณะบรรณาธิการชุดปัจจุบัน ซึ่งมีนายอาทร เตชะธาดา เป็นบรรณาธิการบริหาร ก็ได้ดำริให้มีการจัด ปาฐกถาปาจารยสารประจำปีขึ้น นอกเหนือไปจากการออกวารสารปาจารยสารราย ๒ เดือน และการจัดพิมพ์หนังสือเล่ม

การจัดปาฐกถาประจำปีของปาจารยสารนั้น มีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ

ประการแรก มุ่งหมายให้นำเสนอความคิดความอ่าน ที่เกิดแต่การทำความเข้าใจถึงการประสานกลมกลืนทางสังคม สิ่งแวดล้อม และนิเวศวิทยา

ประการที่สอง หวังที่จะให้มีส่วนร่วมในการกระตุ้นหรือผลักดัน ให้ช่วยกันแสวงหาคำตอบต่อปัญหา อันเนื่องกับชีวิตและสังคมร่วมสมัย โดยการเห็นแง่มุมต่างๆ อย่างรอบคอบ รอบด้าน ด้วยการแสวงหาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยเราเอง ยิ่งไปกว่าการหาคำตอบจากอัสดงคตประเทศที่หลายกรณีไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมไทย คนไทย ซึ่งบางส่วนถลำลึกไปถึงขั้นที่ขาดความคิดพึ่งตนเอง กระทั่งเป็นการขาดศักดิ์ศรีตามธรรมชาติที่มนุษย์พึงจะมี

ประการที่สาม มุ่งหมายในประโยชน์จากการเกื้อกูลให้ร่วมกัน โดยพยายามมองไปถึงอนาคตการณ์ของสังคมที่พึงประสงค์อย่างรอบด้าน อีกทั้งยาวไกลว่าสภาพสังคมไทยต่อไปจะเป็นอย่างไร ในถ้วนทั่วปริมณฑล อาทิ ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ ด้วยการคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงจากอดีต และปัจจุบันของเราเองเป็นพื้นฐาน ผนวกเข้ากับเจตนารมณ์ที่มุ่งหมายความไพบูลย์ในภายหน้า ยังประโยชน์ให้รู้จักใช้เงื่อนไขที่เป็นคุณ และขจัดปัจจัยอันเป็นโทษ สืบสานสร้างสังคมที่ดีงามในยุคสมัยของเรา และจากชั่วชีวิตของเรานี้เอง

การจัดปาฐกถาปาจารยสารได้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบอายุ ๘๐ ปี ของพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ พุทธทาสมหาเถระ ผู้แสดงปาฐกถาประจำปีนั้น ได้แก่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดยแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “การสร้างสรรค์สติปัญญาอย่างไทย” และได้ใช้พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เป็นที่แสดง

การจัดปาฐกถา ครั้งที่ ๒ จัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และองค์ปาฐกก็คือ พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ พุทธทาสมหาเถระ ในหัวข้อ “พุทธศาสนากับคนรุ่นใหม่และสังคมไทยในอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

การจัดปาฐกถาครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓

หน่วยงานอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งได้มีโอกาสเข้าร่วมในการจัดปาฐกถาครั้งนี้ คือ สถาบันสันติประชาธรรม พระคุณเจ้าและท่านสาธุชนทั้งหลายอาจจะไม่คุ้นเคย หรือได้ยินชื่อของสถาบันแห่งนี้มาก่อน กระผมจึงขอประทานอนุญาตแนะนำพอเป็นสังเขป ดังนี้

สถาบันสันติประชาธรรม เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้การบริหารงานของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ สถาบันแห่งนี้มั่นหมายที่จะแสวงหาและเกื้อกูลต่อความพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมไทยที่มีลักษณะเป็นธรรมาธิปไตย โดยให้ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมได้มีส่วนร่วมในระดับต่างๆ ในกระบวนการกำหนดอนาคตของสังคมไทย ผ่านวิธีการแบบอหิงสธรรม อันอาจนำไปสู่สภาวะการพึ่งพาตนเองได้ในทุกมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และสติปัญญา สถาบันแห่งนี้ได้พยายามจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนโยงใยกับการหนุนเนื่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปในทิศทางดังกล่าวแล้ว กิจกรรมด้านการแสวงหาแนวความคิดและเผยแพร่แนวความคิดด้านต่างๆ ก็เป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของสถาบัน ในปัจจุบันนี้ เจ้าหน้าที่ของสถาบันเองก็ตระหนักดีว่า ยังขาดทั้งสติและปัญญาพอที่จะมองเห็นทางออกให้แก่สังคมไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของวิธีการ ด้วยเหตุนี้ ทางคณะผู้จัดทำวารสารปาจารยสาร และเจ้าหน้าที่ของสถาบันสันติประชาธรรม จึงได้ร่วมมือกันจัดให้มีการปาฐกถาในครั้งนี้

กระผมควรจะได้กล่าวด้วยว่า ทั้งวารสารปาจารยสาร และสถาบันสันติประชาธรรม ต่างก็อยู่ภายใต้การสนันสนุนของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มูลนิธิแห่งนี้ได้ดำเนินการมาในแนวทางที่ช่วยเกื้อกูลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่ความเป็นธรรมาธิปไตยเด่นชัดกว่ามูลนิธิอื่นๆ ในยุคนี้ ไม่จำเพาะแต่การสนับสนุนวารสารปาจารยสาร และสถาบันสันติประชาธรรมเท่านั้น แต่มูลนิธิแห่งนี้ยังได้สนับสนุนโครงการอื่นๆ เช่น โครงการของคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา อาศรมวงศ์สนิท และกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย

และในปีนี้ ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่สุดวาระหนึ่งของสังคมไทย ที่สามัญชนได้รับการยกย่องจากทั่วโลก นั่นคือวาระการครบรอบอายุ ๑๐๐ ปีของพระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ ในโอกาสฉลองอายุครบรอบ ๑๐๐ ปี ของพระยาอนุมานราชธนปีนี้ ทั้งรัฐและเอกชนในประเทศนี้และในต่างประเทศจะจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมายตลอดปี และในปีหน้าก็จะเป็นโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีของพระสารประเสริฐ หรือนาคะประทีป ซึ่งจะมีการฉลองต่อเนื่องกันไป

สำหรับองค์ปาฐกประจำปีนี้ ทางวารสารปาจารยสารและสถาบันสันติประชาธรรม ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวที เป็นอย่างมาก ที่รับอาราธนาเป็นองค์ปาฐกให้ ทั้งๆ ที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์มีภารกิจสำคัญๆ อื่นๆ อีกมากมาย แท้ที่จริง ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวที ได้ให้ความเมตตาแก่ทางเราตลอดมาทั้งโดยทางตรงและโดยอ้อม สำหรับพวกเราที่ทำงานกับมูลนิธิเด็ก มูลนิธิโกมลคีมทอง วารสารปาจารยสาร สถาบันสันติประชาธรรม และคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา ล้วนแล้วแต่ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณอาจารย์ มาแต่ครั้งที่ยังมิได้ดำรงสมณศักดิ์ชั้นราชาคณะด้วยซ้ำ

นอกเหนือจากการรับอาราธนาเป็นองค์ปาฐกประจำปีให้วารสารปาจารยสารและสถาบันสันติประชาธรรมแล้ว ท่านเจ้าคุณอาจารย์ยังเคยเมตตารับเป็นองค์ปาฐก เนื่องในโอกาสครบรอบอายุ ๘๔ ปีของพระสารประเสริฐ เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๖ โดยได้แสดงปาฐกถาในหัวข้อที่สำคัญยิ่งคือ เกณฑ์วินิจฉัยพุทธธรรม และในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ศกนี้2 ท่านเจ้าคุณอาจารย์ยังได้เมตตารับอาราธนาเป็นองค์ปาฐก เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบอายุ ๑๐๐ ปีของพระยาอนุมานราชธน ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นโดยมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย

กระผมจะขอประทานอนุญาตไม่กล่าวถึงประวัติ หรืองานนิพนธ์ของท่านเจ้าคุณอาจารย์ เพราะปัจจุบันนี้ ท่านสาธุชนทั้งหลายสามารถหาอ่านได้โดยทั่วไป แต่กระผมจะขอประทานอนุญาตกล่าวถึงท่านเจ้าคุณอาจารย์ในทัศนะของกระผม ซึ่งถือตนว่าเป็นลูกศิษย์นอกกุฏิของท่าน และมีสติปัญญาและความรู้ห่างไกลจากท่านหลายหมื่นลี้ เพราะฉะนั้น หากกระผมกล่าวพลาดพลั้งไปก็หวังจะได้รับการอภัยด้วย

สำหรับกระผมแล้ว โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ เห็นว่า ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นเพชรน้ำเอกในวงการสงฆ์ไทย และเป็นสกอร์ล่าทางพุทธธรรม อย่างยากที่จะหาผู้ใดเทียบได้ในยุคปัจจุบัน ต้องนับเป็นบุญของบ้านนี้เมืองนี้และของพวกเราทั้งหลาย ที่ได้มีท่านเจ้าคุณอาจารย์เป็นบุคคลร่วมสมัย เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ท่านรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง ได้กล่าวกับกระผมว่า ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวทีนั้น มีความรู้ความสามารถและระดับสติปัญญาเสมอดั่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทีเดียว กระผมเองไม่อยู่ในวิสัยที่จะลงความเห็นในเชิงเปรียบเทียบเช่นนั้นได้ เพราะกระผมขาดความรู้และข้อมูลในเรื่องนี้ แต่การที่กระผมนำเอาถ้อยคำของท่านรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการมากล่าวถึง ก็เพียงเพื่อประสงค์ให้เห็นว่าทัศนะของผู้ใหญ่ในแวดวงของการศึกษาไทย ที่มีต่อท่านเจ้าคุณอาจารย์ เป็นเช่นไรเท่านั้น

กระผมเห็นว่า สังคมไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตในหลายๆ ด้าน เพราะเผชิญปัญหาต่างๆ มากมาย และปัญหาแต่ละอย่างก็มีความซับซ้อน และยากต่อการเข้าใจ เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ จำต้องอาศัยทั้งสติปัญญาที่ลึกซึ้งและมั่นคง หาไม่การแก้ปัญหาก็จะสำเร็จได้ยาก ในภาวะเช่นนี้ พวกเราที่มีความอาทรต่อความเป็นอยู่ของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม และความอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรีของประเทศชาติ ย่อมมองหาบุคคลที่มีสติปัญญาลึกซึ้งและแหลมคมมาเป็นกัลยาณมิตร เพื่อจะได้ช่วยชี้แนะให้พวกเราได้มองเห็นช่องทาง ที่จะช่วยผลักดันให้สังคมไทยเปลี่ยนไปสู่สังคมธรรมาธิปไตย ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวทีเป็นผู้หนึ่ง ที่พวกเราเห็นพ้องต้องกันอย่างปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ ว่าท่านเป็นกัลยาณมิตรที่แท้ของพวกเราเสมอมา ข้อคิดและคำแนะนำของท่านเจ้าคุณอาจารย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และวัฒนธรรมนั้น ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงความเป็นเลิศทางสติปัญญา อย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอได้ ดังที่ปรากฏในงานนิพนธ์ของท่าน เช่น ทางสายกลางของการศึกษาไทย มองอเมริกามาแก้ปัญหาไทย เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ รากฐานพุทธจริยศาสตร์ทางสังคมเพื่อสังคมไทยร่วมสมัย เป็นอาทิ ทั้งนี้โดยมิจำเป็นต้องเอ่ยถึงผลงานชิ้นเอกของท่าน คือ พุทธธรรม

ถ้าหากมองกันอย่างผิวเผิน ก็ดูประหนึ่งว่าบุคคลร่วมสมัยกับท่านเจ้าคุณอาจารย์ คอยจ้องแต่จะเรียกร้องเอาจากท่าน โดยไม่พยายามคิดค้นเอาด้วยตนเอง ต่อเมื่อพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนแล้วก็จะพบว่า แม้ข้อสังเกตดังกล่าวจะมีมูลความจริงอยู่มาก แต่ที่เป็นจริงยิ่งกว่านั้น ก็คือว่า ในยุคสมัยนี้ จะหาผู้ที่มีสติปัญญาอย่างลึกซึ้งแหลมคมนั้น หาได้ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร และคงจะเป็นสิ่งปรกติธรรมดากระมัง ที่ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง ย่อมจะมีผู้ที่มีสติปัญญาล้ำเลิศอยู่เพียงส่วนน้อย คนส่วนใหญ่นั้น อย่าว่าแต่จะมีสติปัญญาคิดเรื่องที่ลึกซึ้งนักเลย เอาแค่ระดับที่พอจะเข้าใจถึงประเด็นสำคัญที่ผู้มีสติปัญญากล่าวถึงและเสนอแนะก็หายากเสียแล้ว ที่ว่านี้ก็มีพวกเรารวมอยู่ด้วยโดยมาก กระผมก็ได้แต่หวังว่า สติปัญญาของท่านเจ้าคุณอาจารย์และความเป็นกัลยาณมิตรของท่าน จะช่วยเกื้อกูลให้พวกเราได้มีความเจริญทั้งทางด้านสติ และทางด้านปัญญามากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และกระผมจึงหวังอีกว่า ข้อคิดและข้อแนะนำของท่านเจ้าคุณอาจารย์ จะช่วยขจัดมิจฉาทิฐิของพวกเราทั้งที่อยู่ในที่นี้ และที่กำลังรับผิดชอบต่อชะตากรรมของบ้านเมือง ให้หมดสิ้นหรือลดน้อยลงด้วย

สำหรับหัวข้อปาฐกถาประจำปีนี้ คือ

อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา

กระผมขอนมัสการและขอเรียนเชิญท่านสาธุชนทั้งหลายได้สดับในอันดับต่อไป ในโอกาสนี้ขอกราบอาราธนาท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวที ได้แสดงปาฐกถาประจำปี ของปาจารยสารต่อไป ขอกราบนมัสการ

อารยธรรมไทย ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา

ขอเจริญพร ชาวปาจารยสาร ชาวสถาบันสันติประชาธรรม และท่านสาธุชนทุกท่าน

รายการวันนี้ นับว่าเป็นรายการพิเศษมากวันหนึ่ง ที่ว่าพิเศษมากก็คือ พิเศษด้วยสถานที่ มีการจัดปาฐกถาเป็นกิจกรรมในโบสถ์วังหน้า ซึ่งเป็นศาสนสถานที่มีศิลปวัตถุที่มีค่า จัดได้ว่าอยู่ในฐานะเป็นมรดกของประเทศชาติ การที่ได้เข้ามาในสถานที่นี้นั้น สำหรับอาตมภาพเองก็เป็นครั้งแรก เข้าใจว่า ท่านที่มานั่งฟังกันในที่นี้จำนวนมากเลยทีเดียว ก็คงเข้ามาเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน การได้มาในสถานที่สำคัญอย่างนี้ ได้มาดูมาเห็นก็มีคุณค่าอยู่ในตัวแล้ว เพราะฉะนั้น อาตมาก็เบาใจไปอย่างหนึ่ง คือ สมมติว่า ปาฐกถาครั้งนี้จะไม่ค่อยมีคุณค่าอะไร การที่ท่านทั้งหลายได้มาในสถานที่นี้ก็ได้รับคุณประโยชน์คุ้มค่าไปแล้ว

รายการปาฐกถาครั้งนี้ ตั้งชื่อไว้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอารยธรรมไทย แล้วยังบอกว่าจะออกจากยุคพัฒนาด้วย ออกจากยุคพัฒนาจะไปไหนกัน ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยมากทีเดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อ ๒-๓ วันก่อนนี้ ได้ทราบข่าวว่า ทางคณะผู้จัดรายการนี้ได้ทำการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ไปมากมายใหญ่โต นอกจากนี้ก็ยังได้ให้เวลาในการพูดยาวมากด้วย เป็นเวลาถึงประมาณ ๒ ชั่วโมงครึ่ง หรือเปิดโอกาสไว้ว่า จะพูดเท่าไรก็ตาม เท่าที่เห็นสมควร ในเวลาที่มากอย่างนี้ ก็ควรเปิดโอกาสไว้ด้วยสำหรับผู้ฟัง หากว่ามีกิจธุระ มีความพอใจอย่างไรที่จะฟังแค่ไหนในระหว่างนี้ จะกลับจะหยุดเมื่อไรก็ได้ตามประสงค์ เมื่อได้ให้โอกาสอย่างนี้แล้วก็สบายใจ ทีนี้ ในเวลาที่มากมายอย่างนี้ อาตมภาพก็ถือโอกาสที่จะเอาเรื่องเก่าๆ ที่เคยพูดที่นั่นที่นี่บ้าง เอามาย้ำมาเน้นในสิ่งที่เห็นว่าควรจะย้ำจะเน้น หรือเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าบางท่านจะได้ยินได้ฟังมาแล้ว มีความซ้ำซาก ก็ต้องออกตัวบอกกันไว้ก่อน

ตอน ๑: ปัญหาการพัฒนาของประเทศไทย

เริ่มฉากใหม่ของการพัฒนา

ย้อนสู่ต้นกระแสของการพัฒนา

พ้นจากทำให้ทันสมัย กลายเป็นกำลังพัฒนา

ปัญหาจากการพัฒนาไม่สมดุล

สภาพการศึกษา: ดัชนีชี้ชัดของปัญหาการพัฒนา

เบื้องหลังปัญหาการพัฒนาของไทย

การพัฒนาอุตสาหกรรม: ความคับแคบของความคิดในการพัฒนา

ทางเลือกในการพัฒนา หรือทางเลือกออกจากการพัฒนา

เริ่มฉากใหม่ของการพัฒนา

หัวข้อปาฐกถานี้เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนา ก็ทำให้นึกถึงว่า ตัวคำว่าพัฒนานี้เองมีความหมายอย่างไร เดี๋ยวนี้คนจำนวนมากก็คงไม่ค่อยชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของคำว่าพัฒนา แม้ว่าจะเป็นคำที่เราใช้กันมากเหลือเกิน พูดกันอยู่เสมอว่า “พัฒนา” พัฒนาโน่น พัฒนานี่ ในระดับประเทศ รัฐบาลก็พยายามที่จะพัฒนาประเทศชาติ เอกชนก็มีองค์การอะไรต่างๆ มากมายดำเนินการพัฒนากัน เราพูดถึงคำว่า “พัฒนา” กันมา เป็นคำที่เกร่อในสังคมนี้ แต่กลับเป็นคำหนึ่งที่มีความหมายไม่ชัดเจน อาตมาเองก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่าจะให้ความหมายว่าอย่างไร นอกจากจะให้ความหมายไปตามที่ตัวเองเห็นว่า น่าจะเป็น คนอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่อาจถือเป็นมาตรฐานได้ แต่ถ้าเราจะเอากันแค่ความหมายตามศัพท์ก็ไม่ยาก เพราะศัพท์ “พัฒนา” ก็มาจากคำภาษาบาลีว่า “วัฒนา” (วฑฺฒนา) วัฒนาก็แปลว่า ความเจริญ การเติบโตขยายตัวออกไป ตัวเดิมเป็นศัพท์นาม แต่เราเอามาใช้ในภาษาไทย แปลงวัฒนาเป็นพัฒนา แล้วใช้ในความหมายที่เป็นกริยาไป พัฒนานี้ ในที่นี้คิดว่าจะไม่พยายามให้ความหมาย เพราะถือเป็นอันว่าเราเข้าใจกันอยู่แล้ว แม้ว่าจะเป็นความหมายที่พร่าๆ ก็ตาม

คำว่า พัฒนาที่เราใช้กันอย่างในปัจจุบันนี้ เป็นศัพท์ที่ไม่เก่า เป็นศัพท์ที่มีอายุไม่นาน เรียกได้ว่าเป็นคำบัญญัติในภาษาไทย ท่านที่เกิดก่อนปี ๒๕๐๐ ก็อาจจะมีโอกาสได้ยินได้ฟังถึงกำเนิดของศัพท์นี้ เข้าใจว่า คำว่าพัฒนานี้เกิดขึ้นหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นได้มีการนำเอาคำว่า “พัฒนา” มาใช้ หมายถึงการสร้างความเจริญแก่ประเทศชาติ แก่สังคม ในทางราชการก็ได้มีการตั้งหน่วยราชการที่ทำงานรับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนา จนกระทั่งมีการตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ แล้วยังมีหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ อีก ที่มีชื่อว่าพัฒนาหลายหน่วย เช่น สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กรมการพัฒนาชุมชน ตลอดจนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดถึงการที่ได้เริ่มมีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นฉบับแรกใน พ.ศ. ๒๕๐๔ สมัยนั้นเรียกว่า แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ต่อมา ฉบับหลังๆ ตัดคำว่า “การ” ออก ก็เหลือว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำหรับฉบับแรกนี้ก็เป็นแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๐๔-๒๕๐๙ อันนี้นับว่าเป็นการเริ่มต้นของยุคพัฒนาก็ว่าได้ ถ้าจะเรียกอย่างที่ว่ากันในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้น ในสมัยนั้นจึงได้มีการสร้างคำขวัญต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้มีการพัฒนาเกิดขึ้นทั่วไป และให้ประชาชนตื่นตัวในการพัฒนา คำขวัญอันหนึ่งที่รัฐบาลได้ให้โฆษณาเป็นอย่างมาก ก็คือ คำขวัญว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข ซึ่งได้ยินกันเป็นประจำทุกวันในสมัยนั้น ต่อมาก็ได้เพิ่มคำขวัญเข้ามาอีก เป็นว่า ศึกษาดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์ ซึ่งเราจะเห็นว่า แนวทางของการพัฒนานั้น เน้นเรื่องความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ และความเจริญทางวัตถุเป็นสำคัญ จนกระทั่งว่า ในสมัยนั้น ถึงกับมีการขอร้องหรือแนะนำพระสงฆ์ว่า ไม่ให้สอนหลักธรรมเรื่องสันโดษ เพราะเห็นว่าสันโดษเป็นตัวขัดขวางการพัฒนา แต่ในทางตรงข้าม ได้หันไปเร้าให้ประชาชนมีความต้องการในวัตถุต่างๆ ในสิ่งฟุ่มเฟือยและสิ่งที่อำนวยความสะดวกสบายให้มาก โดยหวังว่า เมื่อคนมีความต้องการในสิ่งเหล่านี้ อยากได้สินค้า หรือสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งบริโภคต่างๆ มากมายแล้ว เขาก็จะได้ทำงาน เมื่อทำงานแล้วก็จะได้มีเงินใช้ แล้วประเทศชาติและสังคมก็จะเจริญขึ้น อันนี้ก็เป็นแนวความคิดและความหวังของรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นหนึ่งในการสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศชาติ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศชาติในช่วงระยะที่มีคำว่า “พัฒนา” เกิดขึ้นนี้ ความจริงก็เป็นการสืบต่อมาจากการทำประเทศให้ทันสมัย ที่เริ่มมาแล้วก่อนหน้านั้นเป็นเวลาประมาณ ๑ ศตวรรษล่วงแล้ว เพราะฉะนั้น อาจถือได้ว่าเป็นความพยายามกระแสเดียวกัน หรือในทิศทางเดียวกัน ต่างแต่ว่า ในยุคพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เศษมานี้ ได้มีการเร่งรัดจัดระบบและระดมกำลังโดยเน้นคุณค่าด้านวัตถุ และความเจริญเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น แต่ลักษณะทั่วไปของการกระทำก็อย่างเดียวกัน เป็นการย้ำลักษณะของการสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศชาติแบบเดิมนั้นให้หนักหน่วงหรือเด่นชัดยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ในเมื่อการพัฒนาในยุคที่เริ่มมีคำว่าพัฒนานี้ เป็นการสืบต่อสืบสายการกระทำที่มีมาแต่เดิมเมื่อ ๑ ศตวรรษก่อนแล้ว เราก็ควรจะหวนกลับไปพูดถึงการสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศชาติในยุคสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่ ๑ ศตวรรษนั้นมาทีเดียว

ย้อนสู่ต้นกระแสของการพัฒนา

ประเทศไทยเรา ได้เริ่มสร้างสรรค์ความเจริญแบบสมัยใหม่นี้มาตั้งแต่เมื่อไร เราพูดได้ตามประวัติศาสตร์ว่า เราได้เริ่มสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแบบสมัยใหม่นี้มาแล้วประมาณ ๑ ศตวรรษ เหตุที่เราจะเริ่มต้นความเจริญแบบนี้ ก็เนื่องจากการที่ลัทธิอาณานิคมได้รุ่งเรืองขึ้น ประเทศตะวันตกพากันมาล่าเมืองขึ้นในทางตะวันออก และกลายเป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติ ทำให้องค์พระประมุขของประเทศต้องพยายามสร้างสรรค์ความเจริญขึ้นไป เพราะมองเห็นว่าประเทศไทยยังไม่เจริญก้าวหน้า ไม่มีกำลังแข็งแรงพอจะต้านทานประเทศตะวันตกเหล่านั้นได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถึงแม้เมืองไทยจะรอดจากการเป็นเมืองขึ้น แต่เราก็ต้องยอมเสียดินแดนไปหลายจังหวัดทีเดียว ดังนั้น เพื่อให้ประเทศชาติมีกำลังแข็งแรง ก็จึงได้มีการสร้างสรรค์ความเจริญ ซึ่งมีความหมายว่า จะต้องทำประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยทัดเทียมกับประเทศตะวันตกเหล่านั้น แล้วก็จะได้พ้นจากภัยคุกคามของลัทธิอาณานิคม ตามที่ว่ามานี้จะเห็นได้ว่า การสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศในสมัยนั้น มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ดังได้เห็นกันว่า แต่ก่อนนี้เราได้ยินได้อ่านข้อความที่พูดกันบ่อยว่า เราจะสร้างประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ หรือที่ชอบใช้สำนวนว่า “เทียมบ่าเทียมไหล่” กับอารยประเทศ สมัยนั้นเราเรียกประเทศตะวันตกว่า อารยประเทศ แสดงว่า เรายอมรับประเทศตะวันตกเหล่านั้น ว่าเป็นอารยะ เรายอมยกคำว่า “อารย” ให้กับประเทศตะวันตกเหล่านั้น เรียกเขาว่าอารยประเทศ คือเป็นประเทศที่เจริญเพริศแพร้ว หรือศิวิไลซ์

คำว่า “อารย” เป็นคำสันสกฤต ตรงกับคำบาลีว่า “อริยะ” “อริยะ” นั้น เป็นคำสำคัญที่ใช้ในพระพุทธศาสนา คือในทางธรรม เราเรียกบุคคลในอุดมคติว่าเป็นอริยบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ประเสริฐซึ่งกำจัดกิเลสได้มากแล้ว จนกระทั่งถึงขั้นสูงสุดหมดกิเลสสิ้นเชิงก็เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยะขั้นสุดท้าย คำว่า “อารยะ” นั้นเป็นคำสันสกฤตที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “อริยะ” นี้ เรายกย่องให้ประเทศตะวันตก เป็นอารยประเทศ เป็นประเทศที่เจริญ เป็นประเทศที่ประเสริฐ ซึ่งสมควรแก่การที่เราจะเอาอย่าง แล้วเราก็ได้พยายามที่จะพัฒนาประเทศชาติให้เจริญขึ้นมาทัดเทียมประเทศเหล่านั้น วิธีการของเราในการที่จะพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยนั้น ก็คือ ต้องทำให้เหมือนเขา จึงต้องเน้นไปที่การสร้างความเจริญทางวัตถุ และปรับปรุงระบบการต่างๆ ของประเทศชาติและสังคมให้ทันสมัยทัดเทียมกับประเทศตะวันตก โดยการนำเอาระบบและวิธีการของตะวันตกเข้ามาใช้ เริ่มตั้งแต่จัดระบบการปกครองประเทศใหม่ ตามแบบประเทศตะวันตก มีการจัดตั้งเป็นกระทรวง ทบวง กรม จัดตั้งกระบวนการยุติธรรม นิติบัญญัติ การทหาร ตลอดจนการพาณิชย์แบบสมัยใหม่ ตามอย่างประเทศตะวันตกนั้น นี้เป็นด้านที่หนึ่ง ด้านที่สองก็คือ การที่จะต้องสร้างคนที่มีคุณภาพให้เป็นกำลังในการสร้างความเจริญนั้น อันจะทำได้ด้วยการให้การศึกษาแบบสมัยใหม่ ซึ่งก็เป็นการศึกษาแบบตะวันตกนั้นแหละ เพราะฉะนั้น ในตอนนั้นเราจึงมีการเน้นวิทยาการ ด้านที่จะใช้ในการสร้างความเจริญของประเทศตามแบบตะวันตก เช่น วิชากฎหมาย การปกครอง การพาณิชย์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ การแพทย์ และการฝึกหัดครู นอกจากนั้น เพื่อจะให้มีกำลังคนมาใช้งานในการสร้างความเจริญแก่ประเทศชาติได้อย่างรวดเร็ว ก็ต้องผลิตคนที่มีคุณภาพ ที่มีความรู้วิทยาการสมัยใหม่นี้ เข้ามาในระบบราชการ เพราะว่า ระบบราชการเป็นขุมกำลังใกล้ตัว ใกล้องค์พระประมุข ใกล้ผู้บริหารประเทศชาติ อยู่ในบังคับบัญชาที่จะใช้ประโยชน์ได้ทันที เพราะฉะนั้น เราก็จึงผลิตคนโดยมุ่งให้เข้ารับราชการ นี้คือวิธีการโดยทั่วไปในการสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศชาติในสมัยนั้น

ลักษณะอย่างหนึ่ง ของการสร้างความเจริญของไทยอย่างที่กล่าวมานี้ก็คือ เป็นการทำให้พ้นจากภัยที่มาคุกคาม เมื่อมีภัยมาคุกคามอยู่ต่อหน้า การจะทำอะไรก็ต้องมีการเร่งรัดรีบด่วน เพราะฉะนั้น การสร้างความเจริญในสมัยนั้น จึงมีลักษณะสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือ เร่งรัดรีบด่วน กล่าวคือ อะไรที่สำคัญ อะไรที่เกี่ยวกับการทำให้ประเทศทันสมัยทัดเทียมประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอะไรที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้หลุดรอดพ้นภัย ก็ต้องทำก่อน ส่วนเรื่องอื่นที่มีความสำคัญในแง่นี้น้อยกว่าก็เอาไว้ทีหลัง ตรงนี้เป็นจุดสำคัญมากที่จะต้องสังเกตไว้ เพราะมันมีผลต่อความเป็นมาของประเทศชาติเป็นอันมาก ทั้งในด้านที่เป็นคุณและเป็นโทษ และเมื่อเราเร่งรัดสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศชาติกัน ในตอนนั้นอย่างนั้น ในที่สุดก็ได้ผลดี คือ ประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้า ทันสมัยในแนวทางที่จะทัดเทียมประเทศตะวันตกจริง และเราก็พ้นจากภัยคุกคามของลัทธิอาณานิคมได้จริง อย่างน้อยก็พ้นจากภัยคุกคามในรูปที่รุนแรงเปิดเผย เรามีกระทรวง ทบวง กรม มีระบบการทหาร การตำรวจ มีโรงพยาบาล มีการประปา มีการรถไฟ มีการไปรษณีย์ โทรเลข เป็นต้น ซึ่งเป็นความเจริญทางวัตถุ ที่นับได้ว่าก้าวหน้าเป็นแบบแผนพอที่จะกล่าวว่าจะทัดเทียมกับประเทศตะวันตกแล้ว ในสมัยต่อมาแม้ว่าเราจะได้มีการเร่งรัดพัฒนาขึ้นอีก แต่ก็เป็นการก้าวต่อมาในแนวทางเดียวกัน และเป็นความเจริญในลักษณะเดียวกัน ในสมัยปัจจุบัน เรามีตึกระฟ้า มีทางด่วน มีสะพานลอย มีสถาปัตยกรรม มีวิศวกรรม ที่เจริญมาก ซึ่งล้วนแต่แสดงว่าวิทยาการต่างๆ ที่เรานำเข้ามาจากตะวันตกนั้นได้เจริญอย่างรวดเร็ว ดังเช่นการแพทย์ของเราปัจจุบันนี้ก็เจริญก้าวหน้ามาก อยู่ในระดับยอดเยี่ยมไม่แพ้ประเทศตะวันตก หรืออาจจะเรียกได้ว่า ยอดเยี่ยมในระดับอาเซียหรือเอเชียอาคเนย์

เราต้องยอมรับคุณประโยชน์ ของการทำประเทศให้ทันสมัย และการพยายามพัฒนาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความสำเร็จด้านหนึ่ง แต่พร้อมกันนั้น พร้อมกับการที่ได้เร่งรัดสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแบบสมัยใหม่นี้ ก็ได้มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่สำคัญร้ายแรงไม่เบาไปกว่าความสำเร็จเหมือนกัน ปัญหานั้นเป็นอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องมาทำความเข้าใจกันนิดหน่อย

พ้นจากทำให้ทันสมัย กลายเป็นกำลังพัฒนา

ตามปกตินั้น ในการที่สังคมหรือประเทศชาติใดจะเจริญก้าวหน้าไปด้วยดีโดยราบรื่น องค์ประกอบทั้งหลายของสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้คนพลเมือง สถาบันหรือกิจการต่างๆ จะต้องเจริญก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างประสานกลมกลืน ได้สัดได้ส่วนกันพอดีและสมดุล อันนี้เป็นหลักที่สำคัญมาก แต่ในการเร่งรัดความเจริญนั้น เราจำเป็นต้องรีบปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องปล่อยให้คนบางพวก กิจการบางอย่าง สถาบันบางสถาบัน หรือองค์ประกอบบางส่วนของสังคม เจริญล้ำหน้าส่วนอื่นๆ ออกไป นี้เป็นความจำเป็นในการเร่งรัดพัฒนา แต่ในภาวะเช่นนี้ เมื่อพัฒนาประเทศชาติไปไม่นาน ก็จะเกิดสภาพอย่างหนึ่งขึ้นมา กล่าวคือ สภาพที่องค์ประกอบทั้งหลายของสังคม ตั้งแต่ระดับประเทศลงไปจนถึงระดับชุมชน มีความไม่ประสานกลมกลืนกัน ขาดความสมดุล เหมือนกับว่าองค์ประกอบเหล่านั้นไม่ใช่องค์ประกอบของสังคมหรือชุมชนเดียวกัน แต่เหมือนกับเป็นส่วนประกอบของคนละสังคม แล้วเอามาจับรวมให้อยู่ด้วยกัน คนบางพวก สถาบันบางอย่าง หรือวิทยาการบางสาขา แซงล้ำหน้าไป เจริญเติบโตโดดเดี่ยว ออกไปอยู่ต่างหาก เข้ากันไม่ได้กับส่วนประกอบที่ล้าหลังอยู่ องค์ประกอบบางอย่างเกิดมีการแยกกัน เป็นแบบเก่ากับแบบใหม่ หรือเป็นของมาจากนอกกับของที่อยู่ข้างในมาแต่เดิม แล้วทีนี้ ถ้าเราไม่รู้ตัวเท่าทันในเรื่องนี้ และไม่พยายามหรือไม่สามารถประสานเชื่อมโยงให้เก่ากับใหม่ ให้ของในกับของนอกนี้เชื่อมโยงประสานกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้ และให้เจริญสืบทอดต่อเนื่องออกไป ก็จะเกิดการขาดตอนตัดแยกขึ้น ของเก่าก็ขาดตอนหยุดอยู่ ของใหม่ก็เริ่มไปต่างหาก แล้วก็เกิดการแบ่งแยกไปคนละอย่าง ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจกัน กลายเป็นคู่ถ่วงกันบ้าง คู่แย้งกันบ้าง ยิ่งกว่านั้น ของเก่าที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่ ก็ดำเนินต่อไปอย่างสะเปะสะปะ เคว้งคว้างเลื่อนลอย เมื่อขาดการควบคุมดูแลรักษาก็คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปจากเดิม บ้างก็กลายเป็นโทษ เกิดปัญหาในลักษณะต่างๆ ปรากฏในสภาพปัจจุบันที่ขาดคุณค่าซึ่งเคยมีมาแต่เดิม นอกจากนั้น ของเก่าที่ดีงามบางอย่าง เมื่อเราไปตื่นเต้นกับของใหม่จนหลงลืมไปไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจกัน ก็ถูกปล่อยปละละเลย ทอดทิ้ง แล้วก็เลือนรางหายไป ไม่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ มีการหันกลับไปสนใจสิ่งเก่าๆ และของโบราณที่มีคุณค่า แต่ปรากฏว่า ของที่สูญหายเลือนลางจางไปแล้วก็มากมาย เวลานี้เรามีศัพท์ที่พูดกันใหม่ว่า การละทิ้งภูมิธรรมภูมิปัญญาไทย หมายความว่า ภูมิปัญญาไทย บางอย่างสูญหายไปแล้ว บางอย่างเลือนรางไปก็มีการฟื้นฟู สภาพที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เกิดจากการพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืนกัน

ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง เมื่อเร่งรัดพัฒนากันแบบนี้ เราพัฒนาไปได้พักหนึ่งแล้ว พอส่วนที่เจริญล้ำหน้าหรือกิจการใหม่ตั้งตัวได้ที่อยู่ตัวดีแล้ว เราควรจะต้องหันมาระดมแรงจัดสรรพัฒนาองค์ประกอบอื่นๆ ที่เราทิ้งไว้ข้างหลัง ที่เคว้งคว้างล้าหลัง ที่ตามไม่ทันทั้งหลาย ให้เจริญขึ้นไปประสานกลมกลืนเข้าด้วยกันกับส่วนที่ได้เจริญรุดล้ำไปก่อน และสร้างความสมดุลพอดีให้เกิดขึ้น ถ้าอย่างนี้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ ซึ่งความจริงในระยะเริ่มต้นนั้น ก็ได้มีการพยายามพัฒนาอย่างประสานกลมกลืนเหมือนกัน มิใช่ว่าจะไม่ได้พยายามทำ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังพอยกตัวอย่างได้ เช่น ในด้านการศึกษา เมื่อจะเริ่มการศึกษาแบบสมัยใหม่ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ก็ทรงพยายามเชื่อมต่อเก่ากับใหม่เข้าด้วยกัน ระบบการศึกษาเก่าของไทยคืออะไร ก็คือ ระบบวัด วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของชุมชน พระเป็นครู เป็นผู้สอน วัดก็เป็นสถานที่เล่าเรียน หรือเป็นโรงเรียน ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีคำว่าโรงเรียน เมื่อในหลวงจะนำเอาระบบการศึกษาสมัยใหม่เข้ามา ก็ทรงเอามาประสานกลมกลืนเข้ากับระบบเก่า โดยตอนแรกมอบให้วัดและพระสงฆ์เข้ามาร่วมจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ คือเอาวัดซึ่งเป็นสถานศึกษาเดิมของชุมชนมาเป็นโรงเรียนในระบบการศึกษาใหม่ เอาพระสงฆ์ที่เป็นครูในชุมชนแต่เดิมมาเป็นผู้สอนในโรงเรียนใหม่นั้น แล้วก็เอาเนื้อหาวิชาเดิมเข้ากลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาใหม่ เท่ากับว่าเป็นการปรับเก่ากับใหม่ให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วก็หวังว่าจะสืบทอดต่อเนื่องมาอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี้ก็เป็นการดำเนินการในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีหลักฐานเห็นได้ชัดว่า ในฝ่ายวัด ในหลวงได้ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับผิดชอบการศึกษาของกุลบุตร กุลธิดาทั่วประเทศไทย โดยมีเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย คือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นฝ่ายอุปถัมภ์ จัดสรรอำนวยความสะดวกในเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ แล้วก็ดำเนินงานร่วมกันมา

ที่เล่ามาตอนนี้เป็นเรื่องเก่าที่เป็นหลักฐานแสดงว่า ได้มีการพยายามทำให้เก่ากับใหม่ และในกับนอกเกิดความประสานกลมกลืน แต่ผู้นำที่บริหารประเทศในยุคต่อมาคงจะไม่เข้าใจแนวทางการพัฒนาแบบนี้ และยังเข้าใจผิดกันอีกด้วยว่า รัฐได้รับช่วงถ่ายทอดโอนภาระในการศึกษามวลชน หรือในสมัยนั้นเรียกว่าการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ ออกจากวัดมาหมดแล้ว ก็เลยแยกตัวมาจัดการศึกษาทั้งหมดเอง ให้วัดและพระเลิกและวางมือออกไปจากกิจการศึกษาของรัฐ แล้วต่อมา ก็กลายเป็นการทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นในการศึกษา ซึ่งยังเป็นอยู่แม้ในปัจจุบัน โดยที่นานทีเดียวคนไทยทั่วไปไม่รู้ตัวเลยว่ามีปัญหานี้อยู่ และแม้จนบัดนี้ คนส่วนมากก็ยังไม่รู้ตัวเลยว่ามีปัญหานี้ กล่าวคือ ในเมื่อไม่ได้กลมกลืนเข้าด้วยกัน และของเก่าไม่ได้รับความเอาใจใส่ แต่ก็ไม่ได้หมดไป ก็เลยกลายเป็นมี ๒ อย่างที่เข้ากันไม่ได้ แล้วก็ก่ายเกยกีดขวางกัน เช่น ในปัจจุบัน นอกจากการศึกษาของรัฐแล้ว ก็ยังมีระบบการศึกษาของวัดที่เป็นระบบซ้อนแฝงอยู่ ระบบการศึกษาของวัดในที่นี้ ไม่ใช่หมายถึงการศึกษาสำหรับพระเณรที่จะอยู่สืบศาสนาโดยตรง แต่เป็นการศึกษาของวัดในความหมายที่ว่า ให้การศึกษาแก่พลเมืองของไทยที่เข้าไปบวชเรียนเป็นพระเณรอยู่ในวัดตามประเพณีบวชเรียนของสังคมไทย ซึ่งในปัจจุบันนี้ ได้ทำให้วัดกลายเป็นช่องทางเลื่อนสถานะของผู้ด้อยโอกาสในสังคม เรื่องนี้ถ้ามีเวลาก็อาจจะพูดกันต่อไป แต่ยกขึ้นมาพูดในที่นี้เพื่อเป็นตัวอย่างอันหนึ่ง แต่รวมความก็คือ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการพยายามที่จะสร้างความประสานกลมกลืน ด้วยการต่อเก่ากับใหม่ให้เชื่อมกันได้ แต่การพัฒนาประเทศหลังรัชกาลที่ ๕ แล้ว เป็นการเอาใจใส่ จัดทำกับส่วนที่เจริญก้าวหน้าเติบโตโดดเดี่ยวออกมาแล้วทั้งสิ้น ก็เลยทำให้เกิดความห่างเหิน แยกตัวออกจากกัน ห่างไกลออกไปมากยิ่งขึ้น แทนที่จะหันกลับไปแก้ปัญหาที่เกิดจากการสูญเสียความประสานกลมกลืน หรือเสียสมดุลนั้น เราก็กลับซ้ำเติมปัญหาให้หนักมากยิ่งขึ้น

จะขอยกตัวอย่างเรื่องราวทางด้านการศึกษาต่อไปอีกสักหน่อย ดังได้พูดมาแล้วว่า ในรัชกาลที่ ๕ พระช่วยจัดการศึกษา ราชการฝ่ายศาสนาและราชการฝ่ายการศึกษาก็อยู่ด้วยกัน เพื่อให้เกื้อกูลช่วยกันได้และสามารถรับช่วงกันได้อย่างชนิดสืบต่อกลมกลืน เพราะฉะนั้น หน่วยราชการสมัยนั้น ทั้งส่วนที่รับผิดชอบการศาสนา และส่วนที่ทำงานด้านการศึกษาก็ร่วมอยู่ด้วยกัน เรียกว่า กระทรวงธรรมการ แต่พอสิ้นรัชกาลที่ ๕ แล้ว ขึ้นรัชกาลที่ ๖ ก็เห็นว่าการศึกษากับเรื่องศาสนานั้นไปด้วยกันไม่ได้ เป็นกิจการคนละอย่าง ก็เลยประกาศเปลี่ยนแปลงว่า ให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการ เป็นกระทรวงศึกษาธิการ แล้วย้ายเอากรมธรรมการที่เป็นกิจการเกี่ยวกับพระสงฆ์ออกไปไว้ในวัง นี้ก็เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นได้ชัดถึงกระแส และทิศทางของการพัฒนาประเทศในยุคต่อมา เมื่อทำด้วยความไม่รู้เข้าใจชัดเจน แล้วไม่จัดให้ลงตัวกันเรียบร้อย ไปๆ มาๆ ก็จึงทำให้มีการศึกษาระบบแฝงเร้นของพลเมืองไทยที่ซ่อนอยู่ในวัด อย่างที่ว่าเมื่อกี้ การพัฒนาประเทศยุคพัฒนาหลังจาก พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วก็เช่นเดียวกัน ล้วนแต่ได้ใส่ใจให้ความสำคัญแก่ส่วนที่เจริญล้ำหน้าออกมาแล้วทั้งสิ้น เป็นการเดินหน้าในเส้นทางการพัฒนาสายเดียวกัน เพียงแต่เน้นย้ำทำให้เข้มข้นเข้าในบางเรื่องบางจุดเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงย่อมทำให้เกิดภาวะเสียดุลยภาพในสังคม

ปัญหาจากการพัฒนาไม่สมดุล

รวมความว่า การพัฒนาประเทศที่เป็นมานี้มีลักษณะสำคัญคือ เป็นการพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืน ไม่คำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ทั้งหมดของสังคม ที่จะต้องเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน ทำให้เกิดภาวะระส่ำระสาย เสียสมดุล ดังเป็นสภาพซึ่งปรากฏเป็นปัญหาในปัจจุบันนี้ ถ้ามีเวลามากพอ ก็จะลองมายอมเสียเวลากันหน่อย พูดถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืน เพื่อให้เห็นว่า ปัญหาหลักของสังคมไทยนั้น ล้วนเกิดจากการพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืน และการสูญเสียสมดุลที่ว่ามานี้แทบทั้งสิ้น แต่การที่จะปรากฏเป็นปัญหาขึ้นก็ต้องอาศัยกาลเวลาบ่มตัว แล้วปัจจุบันนี้ก็เป็นระยะเวลาที่ปัญหาต่างๆ ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดทั่วไป ในสังคมปัจจุบันนี้ เราจะเห็นสภาพที่ปรากฏคือ ภาวะที่ห่างเหินกัน ตามกันไม่ทัน ภาวะแปลกแยกกัน ภาวะชุมชนแตกสลาย การมีช่องว่างต่างๆ มากมาย ยกตัวอย่างหนึ่ง คือ การพัฒนาเมืองล้ำหน้าชนบทโดยมีช่องว่างห่างไกลกันลิบลิ่ว ชนบทนั้นเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เป็นสังคมที่มีรายได้ต่ำ และขาดแคลนบริการแทบทุกอย่าง โดยเฉพาะขาดแคลนบริการการศึกษา การแพทย์ สาธารณสุข โรงเรียนดีๆ ก็มากระจุกกันอยู่ในกรุง เด็กชนบท ชาวไร่ ชาวนา ได้ทราบว่าไม่ถึง ๖% ที่ได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐ ทางด้านการแพทย์ ปัจจุบันอาตมายังไม่ได้ดูสถิติ แต่เมื่อปี ๒๕๒๕ เรามีแพทย์ทั้งหมด ๘,๐๐๐ คน ทั่วประเทศไทย อยู่ในกรุงเสีย ๔,๐๐๐ คน ในชนบทเรามีอำเภอทั้งหมด ๖๒๐ กว่าอำเภอ มีแพทย์ประจำอำเภอเหล่านั้นอยู่ ๓๗๐ อำเภอ ไม่ถึงครึ่งของจำนวนอำเภอทั้งหมด แสดงว่า บริการทางการแพทย์ของเราขาดแคลนอย่างยิ่งในชนบท แพทย์มาคั่งอยู่ในกรุงจังหวัดเดียว ส่วนที่เหลือก็ไปอยู่ในประเทศอเมริกาเสีย ๑,๕๐๐ คน นอกนั้น อยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดบ้าง อะไรบ้าง อันนี้ก็เป็นสภาพตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า กรุงกับชนบทนั้นทิ้งช่องว่างห่างไกลกันมาก ระยะหลังนี้ในยุคพัฒนา รัฐก็ได้ตระหนักถึงปัญหานี้มาก จึงพยายามที่จะใส่ใจในการเร่งรัดพัฒนาชนบท เช่น มีการเร่งรัดการชลประทาน เพื่อให้บางแห่งที่เคยแห้งแล้งได้มีน้ำใช้ เป็นต้น แต่เราก็ยังพูดได้ว่า ยังห่างไกลจากการแก้ปัญหาได้สำเร็จ เพราะการแก้ปัญหายังกระจัดกระจายกันอยู่ ไม่ลงลึกถึงเหตุปัจจัยหลักที่โยงเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกัน

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาของรัฐสัก ๒ ข้อ คือ

ข้อแรก เมืองกับชนบทนี้ น่าจะมีความแตกต่างกันโดยประเภท เพราะว่าเมืองกับชนบทนั้น ตามปกติเป็นคนละประเภทอยู่แล้ว เช่นมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อมคนละอย่าง เป็นต้น แต่ควรจะมีความใกล้เคียงกันโดยขีดระดับ คือ ในด้านระดับความเป็นอยู่ รายได้ บริการต่างๆ เป็นต้น นี้ไม่ควรแตกต่างกันมาก แต่ในการพัฒนาของเรานี้ ดูไปคล้ายกับว่า จะพยายามทำให้เมืองกับชนบทกลายเป็นสังคมประเภทเดียวกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ถ้าของที่ควรเป็นคนละประเภทแล้วมาทำให้เป็นประเภทเดียวกัน มันก็จะเกิดปัญหา ยิ่งกว่านั้น ในการพยายามทำให้เป็นประเภทเดียวกันนั้น ก็ไปทำให้ความแตกต่างกันในขีดระดับกลับห่างไกลมากขึ้น เลยยิ่งสวนทางกัน หมายความว่า โดยความเป็นจริง เมืองกับชนบทนั้น ควรจะแตกต่างกันโดยประเภท แล้วก็ใกล้เคียงกันโดยขีดระดับ แต่เมื่อทำไป กลายเป็นว่าให้เปลี่ยนมาเป็นประเภทเดียวกัน แต่ต่างกันโดยขีดระดับมากขึ้น ถ้าอย่างนี้ ก็ต้องเกิดปัญหามากขึ้นแน่นอน นี้ก็เรื่องหนึ่ง

ทีนี้ ข้อที่สอง การพัฒนาของเราที่เร่งรัดทุ่มเทกันอยู่ในเวลานี้ มีลักษณะอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นการจับจุดไม่ค่อยถูก คือ ในการพัฒนาสังคม แม้แต่ชนบท เราจะต้องพัฒนาให้เขาพึ่งตนเองได้ การที่จะให้พึ่งตนเองได้ ต้องจับจุดให้ถูก จุดที่จะพึ่งตนเองได้ก็คือ องค์ประกอบต่างๆ ของชุมชนนั้น จะต้องได้รับการพัฒนาให้เจริญไปด้วยกัน เพราะการที่จะพึ่งตนเองได้นั้น เขาจะต้องเกื้อกูลอาศัยซึ่งกันและกัน คือพึ่งกันเอง อาศัยกันเอง ถ้าองค์ประกอบของสังคมหรือชุมชนนั้น แต่ละส่วนแต่ละองค์ประกอบเจริญขึ้นมาด้วยกันแล้ว เขาก็สามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อิงอาศัยกันไป มันก็พึ่งตนเองได้ แต่ถ้าไม่พัฒนาองค์ประกอบของชุมชนให้เจริญไปด้วยกัน มัวไปทำอยู่แต่ที่ใดที่หนึ่งเป็นบางจุดบางแห่ง ก็เกิดความลักลั่น กลับทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น องค์ประกอบของชุมชนในชนบทไทย มีทั้งทางการศึกษา ได้แก่โรงเรียน ทางด้านประชาชน ได้แก่บ้าน ทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม ได้แก่วัด แม้ว่าเราจะพัฒนาประเทศชาติไปได้มากมาย แต่สำหรับในชุมชนชนบทแล้ว พระก็ยังเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของชุมชนอยู่นั่นเอง ยังเป็นบุคคลที่หนึ่งที่ชาวบ้านเชื่อฟัง ถ้าเราไม่พัฒนาทางฝ่ายวัดให้กลมกลืนพร้อมเพรียงกันกับบ้านและโรงเรียนแล้ว เราก็จะประสบปัญหา เช่นว่า ราชการอาจจะขอให้ชาวบ้านพัฒนานั่นพัฒนานี่ แต่ทางวัด หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็มาเร่งรัดให้ชาวบ้านช่วยสร้างเมรุ สร้างกำแพงวัดก่อน ก็ไปคนละทิศทาง แล้วพระก็เป็นผู้นำชาวบ้าน ในเมื่อไม่รู้กันไม่เข้าใจกัน ก็ไม่มีความประสานกลมกลืนกัน ปัญหาก็เกิดขึ้น อันนี้เป็นตัวอย่างที่ว่า เราไม่ได้จับจุดที่องค์ประกอบของชุมชน ที่จะต้องพัฒนาไปให้เคียงข้างเป็นที่อาศัยซึ่งกันและกันได้

ต่อไป ข้าราชการกับราษฎร ก็ปรากฏว่ามีช่องว่างห่างไกลกันมาก โดยเฉพาะข้าราชการระดับบริหารนั้น ในสภาพสังคมของเราที่พัฒนากันมา ส่วนมากข้าราชการระดับบริหาร เป็นผู้มีพื้นเพภูมิหลังต่างจากชาวบ้าน ทั้งโดยชาติกำเนิด ถิ่นฐานก็เกิดในเมืองในตลาด และโดยการศึกษาก็ได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่ในเมือง เพราะฉะนั้น ก็เกิดปัญหาว่า ข้าราชการกับราษฎรมักจะสื่อสารกันยาก ทั้งภาษาและความรู้ความคิดก็ห่างไกลกัน พูดกันไม่ค่อยเข้าใจ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ยิ่งในระยะที่เราต้องการเร่งรัดพัฒนาประเทศชาติด้วย การที่จะให้ข้าราชการมานำประชาชนให้พัฒนาไปได้ เมื่อเกิดอุปสรรคข้อนี้แล้ว ก็เป็นไปได้ยาก ทีนี้ ฝ่ายบ้านเมืองกับฝ่ายศาสนาก็มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกัน เกี่ยวข้องกันแต่ในพิธีกรรม ผู้บริหารประเทศก็ไม่ค่อยรู้เรื่องวัด ไม่เข้าใจศาสนาและกิจการศาสนาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งอันนี้จะเห็นได้ชัดว่าต่างจากในสมัยราชาธิปไตย ในสมัยพระเจ้าแผ่นดินนั้น พระองค์มักจะรู้กิจการศาสนาเป็นอย่างดี เข้าไปเกี่ยวข้องกับพระ มีความสนิทสนมกับพระ ทั้งในทางส่วนพระองค์ในชีวิตประจำวัน และในด้านกิจการพระศาสนา รู้และเข้าใจกันเป็นอย่างดี ฉะนั้น ก็ได้ประโยชน์จากองค์ประกอบต่างๆ ที่จะเอามาเชื่อมโยงกันในการพัฒนาประเทศชาติได้เป็นอย่างมาก พระยังเป็นผู้นำที่โยงเมืองกับชนบทได้ แล้วก็มีส่วนที่เข้าถึงชนบทได้เต็มที่แม้ในปัจจุบันนี้ แต่ในเมื่อทางฝ่ายรัฐในปัจจุบันนี้ เรามีปัญหาที่ว่า ราชการเข้ากับชุมชนชนบทไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยรู้จักชนบทอยู่แล้ว แล้วยิ่งมาห่างจากพระอย่างนี้อีก ก็เลยยิ่งมีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงชนบท ก็เลยไปกันใหญ่ การสื่อสารระหว่างพระกับทางบ้านเมืองหรือผู้บริหารประเทศชาติเอง ก็ไม่ค่อยรู้ไม่ค่อยเข้าใจกัน อันนี้ก็นับว่าเป็นปัญหาที่เกิดมาจากการพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืนกันนี้

สภาพการศึกษา: ดัชนีชี้ชัดของปัญหาการพัฒนา

ที่ว่าทางฝ่ายรัฐไม่รู้กิจการทางฝ่ายวัดนั้น เป็นไปอย่างหนักถึงขั้นที่ว่า รัฐไม่รู้แม้แต่กิจการในความรับผิดชอบของตัวเองที่ไปตกอยู่ในมือของวัด อะไรคือกิจการบางอย่างของรัฐที่ไปตกอยู่ในมือของวัด ก็ขอยกเรื่องการศึกษาอีกนั่นแหละ เมื่อกี้นี้ได้พูดว่า เมื่อรัฐได้รับโอนการศึกษาจากวัดมาจัดเองแล้ว ก็ปรากฏว่า ถึงแม้เวลาจะผ่านไปๆ หลายสิบปี รัฐก็ยังไม่สามารถกระจายการศึกษาสำหรับมวลชนให้ทั่วถึงได้ รัฐได้ตั้งเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญว่า จะต้องกระจายการศึกษาออกไปให้ทั่วถึงทุกชุมชน ให้ประชาชนมีความเสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษา แต่ทำไปทำมานานก็ยังไม่สำเร็จ กลายเป็นว่า โดยมากคนในเมืองในกรุงและคนมีฐานะดีจึงจะเข้าถึงการศึกษาของรัฐ แต่คนที่อยู่ในชนบทเป็นลูกชาวนาชาวไร่ ยากจนห่างไกล ก็เข้าไม่ถึง ในเมื่อชาวชนบท ลูกชาวนายากจนเข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐไม่ได้ จะทำอย่างไร เมื่ออยากเรียน ก็ต้องหาทางอย่างใดอย่างหนึ่ง พอดีมีประเพณีเก่าที่ว่าวัดเคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของชุมชนอยู่แล้ว ชาวบ้านก็เลยเอาลูกไปฝากพระ ให้ไปอยู่วัด บวชเณรบวชพระ เรียนหนังสือ เพราะเหตุที่เมืองไทยเมื่อพัฒนามา คนก็มีค่านิยมในการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือหรือช่องทางเลื่อนสถานภาพในทางสังคมเข้าด้วย ชาวบ้านก็เลยอยากจะเลื่อนสถานะในสังคมเหมือนกัน เมื่อไม่มีทางไหน จะอาศัยการศึกษาของรัฐก็ไม่ได้ ก็เลยมาอาศัยการศึกษาของวัด พอเวลาผ่านไปๆ วัดก็เลยกลายเป็นช่องทางการศึกษา และช่องทางเลื่อนสถานภาพทางสังคมของพลเมืองผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะชาวนาชาวไร่ยากจนในชนบทห่างไกล จนปรากฏผลในปัจจุบันนี้ว่า วัดในเมืองในกรุงกลายเป็นชุมชนชนบทกลางกรุง ลองไปตามดูเถิด ในกรุงเทพฯนี้ พระประจำวัดราว ๙๗% เป็นชาวชนบท ที่จะเป็นชาวกรุงก็เฉพาะพระที่ลางานลาราชการไปบวช ๑-๒-๓ เดือน ตลอดจน ๑-๒ อาทิตย์ แต่พระอยู่ประจำวัดจริงๆ ที่ว่า ๙๗% นั้น นอกจากเป็นชาวชนบทแล้ว ก็เป็นลูกชาวไร่ชาวนาเป็นส่วนใหญ่ รัฐไม่รู้ว่ามีสภาพเช่นนี้อยู่ ก็เลยไม่ได้เอาใจใส่องค์ประกอบส่วนนี้ของสังคมในแง่ของการศึกษา อันนี้ก็เป็นโทษอย่างหนึ่งของการพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืน เมื่อมองในทางการศึกษานี้ก็เป็นอันว่า การพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืน ได้ทำให้เกิดภาวะไม่เสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษา โดยที่โอกาสในการศึกษาที่จะได้รับจากรัฐนั้น ขึ้นอยู่กับการอยู่ในกรุงในเมืองในตลาดและการมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ถ้าอยู่ในถิ่นห่างไกลยากจนก็หมดโอกาส ต้องไปหาวัด จนทำให้วัดกลายเป็นสถาบันที่ผ่อนเบาปัญหาความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษาของรัฐ ชนิดที่รัฐไม่รับรู้ไม่เอาใจใส่ เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ และพร้อมกันนั้น วัดก็มีสภาพเป็นเพียงทางผ่านทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นธรรมดาที่ว่า แม้จะได้ทำประโยชน์แก่สังคม แต่ตัวเองก็จะต้องเสื่อมโทรมลงไป

สภาพที่พูดถึงข้างต้นนี้ มีตัวเลขฟ้องอยู่อย่างชัดเจน ทางด้านการศึกษาของรัฐ ก็เหมือนกับที่ได้ยกตัวอย่างเมื่อกี้นี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยมีการสำรวจในปีหนึ่ง ดูว่ามีชาวชนบทมาเรียนอยู่สักเท่าไร ก็ปรากฏว่า มีลูกชาวนาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ถึง ๖% แล้วยังสำทับไว้อีกชั้นหนึ่งว่า ชาวไร่ชาวนาไม่ถึง ๖% ที่ว่านั้นยังเป็นชาวนาชาวไร่ระดับมีอันจะกินด้วย หมายความว่า ชาวไร่ชาวนาระดับจนคงแทบจะไม่มีเลย ทีนี้ ในเมื่อชาวนาที่เป็นคนยากจนเหล่านี้มาหาวัดแล้ว ผลที่สุดเป็นอย่างไร ผลก็มาโผล่ที่การศึกษาของคณะสงฆ์ อย่างที่เห็นได้ชัดเจนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันนี้ เมื่อสำรวจปรากฏว่า พระเณรที่เรียนเป็นชาวชนบท ๙๙% เช่นที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อาตมาเคยสำรวจด้วยมือเองในตึกใหญ่ มีเกิดกรุงเทพฯ องค์เดียวเท่านั้นใน ๖๗๘ รูป และเป็นลูกชาวนาเกิน ๙๕% นี้เป็นตัวอย่างของสภาพการพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืนที่ปรากฏผลให้เห็น แล้วเราก็ยังไม่ค่อยตระหนักถึงปัญหาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เรื่องนี้ได้พูดย้ำแล้วย้ำอีกมาหลายปี เพื่อให้รู้เข้าใจและเอาใจใส่คิดแก้ไขว่า ควรจะจัดการอย่างไรกับปัญหาแบบนี้

ต่อไปในทางการศึกษาอีกนั่นแหละ เมื่อเราเร่งรัดพัฒนาประเทศแบบนั้น เราก็ให้ความสำคัญแก่วิชาชีพชั้นสูงที่เกี่ยวกับการทำประเทศให้ทันสมัย ให้เติบโตในทางเศรษฐกิจ วิชาประเภทนี้ก็รุดหน้าก้าวไปไกล อย่างที่ว่าแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น วิชาการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ การพาณิชย์ อะไรพวกนี้ แต่วิชาการประเภทความคิด คุณธรรม ตลอดจนวัฒนธรรมไทย ภูมิธรรมภูมิปัญญาไทย ก็ถูกปล่อยปละละเลย หรือให้ความเอาใจใส่น้อย ดังปรากฏว่า วิชาการประเภทความคิดและคุณธรรม เพิ่งจะมาเริ่มมีการจัดสอนในมหาวิทยาลัยไทยในภายหลัง ต่างจากในประเทศตะวันตก วิชาประเภทศาสนาและปรัชญานี่เขามีมาแต่เดิม เมื่อเขาตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาก็มีคณะพวกนี้แต่ต้น บางทีนักบวชหรือบาทหลวงก็อาจจะเป็นผู้จัดเริ่มการศึกษาขึ้นมา แล้วจึงมีวิชาการประเภทอื่น แต่ในเมืองไทยเรา เพราะจะต้องเร่งรัดพัฒนาวัตถุ เราจึงเริ่มต้นด้วยการจัดสอนวิชาการที่จะทำประเทศให้ทันสมัยก่อน จัดกันมาตั้งเกือบ ๑๐๐ ปี เราจึงเริ่มมีวิชาศาสนาปรัชญาขึ้นในมหาวิทยาลัยไทย โดยเพิ่งจัดเข้าในหลักสูตรได้สัก ๒๐ กว่าปีนี้เอง ฉะนั้น ที่ผ่านมา เราจึงให้ความสำคัญแก่วิชาทางความคิดน้อย ยิ่งกว่านั้น ถึงแม้จัดขึ้นมาก็แคบอีก คำว่าปรัชญามักหมายถึงปรัชญาตะวันตก ปรัชญาพื้นฐานที่ศึกษากัน ก็คือความคิดแบบตะวันตก ไม่ให้ความสำคัญแก่ความคิดแบบไทย ปรัชญาตะวันออกก็ไปเป็นส่วนประกอบ โดยอาจจะเป็นวิชาเลือกภายหลัง

ต่อไปในระดับชุมชน สถานศึกษาปัจจุบันเราเรียกว่าโรงเรียน โรงเรียนนี้ก็ได้เจริญล้ำหน้า แยกตัวออกมาจากสถาบันอื่นที่เป็นองค์ประกอบของชุมชนเดียวกัน ในชุมชนชนบททั่วไปนั้น โดยปกติ เราถือว่า มีโรงเรียน บ้าน วัด เป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ในการเร่งรัดพัฒนานี้ โรงเรียนก็เจริญล้ำหน้าสถาบันครอบครัวหรือบ้านและสถาบันวัด แล้วก็เหินห่างกันออกไป เหินห่างจากวัฒนธรรมพื้นบ้าน โรงเรียนในชนบทแม้จะตั้งอยู่ในวัด ก็มักเรียนเนื้อหาวิชาที่ไม่เกี่ยวกับชุมชน หรือเรื่องที่จะใช้ประโยชน์ในชุมชน ตัวนักเรียนเองและชุมชนในโรงเรียนนั้น ก็มีชีวิตและกิจกรรมทางสังคมคนละแบบกับวัดและชุมชนของตนเอง ซึ่งเป็นสภาพที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เมื่อเป็นอย่างนี้ เด็กนักเรียนซึ่งก็หมายถึงนักศึกษาด้วย เมื่อเข้าเรียนในโรงเรียนหรือระบบการศึกษาสมัยใหม่ นับแต่วันที่เข้าเรียนเป็นต้นไป ก็ยิ่งห่างเหินและแปลกแยกออกไปจากวิถีชีวิตของท้องถิ่นทุกที ยิ่งเรียนนานไปนานไปก็ยิ่งเหินห่างออกไป เข้ากับชุมชนไม่ค่อยได้ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตามุ่งออกจากท้องถิ่นไป ยิ่งเรามีการศึกษาในความหมายว่าเป็นเครื่องมือ หรือเป็นช่องทางเลื่อนสถานภาพในสังคมด้วย เราก็เลยมีวิถีทางเดินของการศึกษาว่า เด็กนักเรียนเรียนแล้ว ต้องออกจากท้องถิ่นไปเข้าเมืองเข้ากรุง ออกไปหาความเจริญก้าวหน้าในระบบราชการและระบบอุตสาหกรรมในเมือง เมื่อเวลาผ่านไป คนที่มีคุณภาพก็มาออมาคั่งกันอยู่ในกรุง ส่วนชนบทก็สูญเสียทรัพยากรคน เมื่อสูญเสียทรัพยากรคน ชุมชน ชนบทก็ยิ่งเสื่อมโทรมทรุดลงไปมากขึ้น นี่คือสภาพที่เป็นมาช้านาน

ถึงบัดนี้ก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาว่า คนที่เข้ามาเรียนในระบบการศึกษาสมัยใหม่ ที่มุ่งเข้าเมืองเข้ากรุงมาสู่ระบบราชการและระบบอุตสาหกรรมนั้น ต่อมาก็จบการเล่าเรียนกันเป็นจำนวนมากขึ้นๆ จนเกิดภาวะคนล้นงาน พอเกิดภาวะคนล้นงาน เราก็เลยประสบปัญหาบัณฑิตว่างงานกันมากมาย ทีนี้บัณฑิตเหล่านี้ออกจากชนบทมาแล้ว และการศึกษาก็ได้ทำให้เขามีวิถีชีวิตแบบเมือง แบบกรุง แบบสมัยใหม่ เข้ากับชุมชนท้องถิ่นไม่ได้ แต่ในเมืองที่เขาต้องการเข้าสู่ระบบราชการ และระบบอุตสาหกรรม ก็เข้าไม่ได้อีก เพราะล้นเสียแล้ว ตัวเองจะอยู่ในกรุงก็เป็นคนว่างงาน มีปัญหามาก ครั้นจะกลับไปชนบทก็ขัดข้อง เข้ากับท้องถิ่นไม่ได้ และไม่รู้จะไปทำอะไรในท้องถิ่น เพราะไม่ได้เตรียมตัวที่จะทำงานในท้องถิ่น ก็เลยสูญเสียทั้ง ๒ ทาง อยู่ในชนบทก็ไม่ได้ อยู่ในเมืองก็หมดทางไป กลายเป็นปัญหาไปหมด อันนี้ก็เป็นเรื่องที่กำลังเกิดเป็นปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืน

ในแง่ของค่านิยมและพฤติกรรมของคนในสังคม คนก็แข่งขันกันเพื่อความเจริญก้าวหน้าในทางวัตถุ ให้มีฐานะ มียศตำแหน่ง มีความพรั่งพร้อมทางวัตถุ มีรายได้ดี เมื่อเน้นการพัฒนาวัตถุมาก การพัฒนาทางจิตใจก็ตามไม่ทัน ทำให้เกิดปัญหาว่า คนเรานี้มุ่งเอาแต่เกียรติฐานะและทรัพย์สิน จนกระทั่งไม่คำนึงถึงคุณธรรมหรือจริยธรรม การให้เกียรติคนแทนที่จะให้ทางคุณธรรม ก็เปลี่ยนมาเป็นการให้เกียรติทางฐานะ ตำแหน่ง ยศ และทรัพย์สินรายได้

ต่อไปคือสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วๆ ไปในทางเศรษฐกิจก็ปรากฏว่า ชนส่วนน้อยที่รวยก็รวยยิ่งขึ้น คนส่วนมากที่ยากจนก็ยิ่งจนลง ฐานะก็ห่างจากกัน ช่องว่างทางเศรษฐกิจก็กว้างออกไปทุกที อันนี้ก็เป็นปัญหาด้านหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่

เบื้องหลังปัญหาการพัฒนาของไทย

นี้คือปัญหาต่างๆ ที่ยกมาแสดงให้เห็นว่า เป็นผลที่เกิดจากการพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืน และตัวปัญหาเองก็มีลักษณะของความไม่ประสานกลมกลืน และความขาดดุลยภาพหรือไม่สมดุล เมื่อปัญหาอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้ว ก็มักพาให้ปัญหาอื่นเกิดตามซ้อนมา เช่นว่า เมื่อสภาพกรุงกับชนบทเจริญห่างไกลกัน ตอนแรก ชาวชนบทหลั่งไหลเข้ามาหาที่เรียนในเมืองกรุงอย่างที่ว่าเมื่อกี้ จนกระทั่งวัดกลายเป็นชุมชนชนบทกลางกรุงแล้ว ต่อมา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเรียนหนังสือเท่านั้นที่ทำให้คนหลั่งไหลเข้ากรุง เมื่อเวลาผ่านไป ในชนบท ปัญหาความยากจนรุนแรงมากขึ้น ช่องทางจะทำมาหากินบีบแคบลง ชาวชนบทก็หลั่งไหลเข้ามาหางานทำในกรุงมากขึ้น ก็เกิดสลัมหรือที่เรียกว่าชุมชนแออัดขึ้นในกรุง จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ปัญหาก็ยิ่งขยายตัว เกิดมีแรงงานทาสเด็กในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มีปัญหาโสเภณีมากมาย มีการหลอกลวง การทุจริตต่างๆ และในเวลาเดียวกัน ทรัพยากรคนในชนบท ก็ยิ่งร่อยหรอลงไปทุกที คนที่มีคุณภาพของชนบทเข้ามาเล่าเรียนจบการศึกษาในกรุงแล้วว่างงาน นอกจากไม่เป็นประโยชน์ แต่กลายเป็นปัญหาแก่กรุงแล้ว ก็ทำให้ชนบทสูญเสียแรงงานที่มีคุณภาพของตนไปอีกด้วย นี่ชั้นหนึ่งแล้ว คนในชนบทที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งยังพอจะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในชนบทได้บ้าง ก็กลับหลั่งไหลออกมาเป็นแรงงานที่ไร้คุณภาพในกรุงอีก นอกจากเข้ามาเป็นปัญหาและเอื้อประโยชน์แก่กรุงไม่ได้เท่าที่ควรแล้ว ก็ทำให้ชนบทสูญเสียแรงงานเพิ่มเข้าไปอีกชั้นหนึ่งเป็นซ้ำสอง กรุงก็ป่วย ชนบทก็เปลี้ย แทบไม่มีกำลังเหลือที่จะทำอะไรให้แก่ตัวเอง จึงมีแต่หมักหมมสะสมปัญหา นี้เป็นสภาพที่เกิดขึ้นมาแล้วจากการพัฒนาที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งนั้น เรามีระบบการต่างๆ มีความเจริญทางวัตถุวิทยาการที่ทันสมัย ก้าวหน้าไปเป็นอย่างดี แต่เบื้องหลังนั้นออกไป สภาพที่ไม่กลมกลืนไม่ประสานกันนี้ ก็บรรทุกเอาปัญหาแทรกซ้อนมาด้วยเต็มไปหมด ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาที่ซ้อนแฝงอยู่ ที่มีลักษณะของความไม่สมดุลและไม่กลมกลืนกันนี้ให้สำเร็จแล้ว ความเจริญต่างๆ ที่ทันสมัยมากมายของเรา ก็ไม่ค่อยมีคุณค่าอะไร เพราะมันกลายเป็นความเจริญที่มีปัญหา

ตกลงว่า ปัญหาการพัฒนาในสังคมไทย มีลักษณะพิเศษของตัวเอง ซึ่งบางส่วนก็เหมือนสังคมอื่น แต่บางส่วนก็ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะในส่วนที่ว่ามานี้ ก็เป็นลักษณะที่เรามีเฉพาะตัว ซึ่งจะต้องเข้าใจตัวเองให้ชัด การที่จะไปแก้ปัญหาโดยวิธีเอาอย่างสังคมอื่นนั้น เขามีปัญหาไม่เหมือนเรา และเหตุเกิดของปัญหาก็ไม่เหมือนกัน แล้วจะแก้ปัญหาด้วยวิธีอย่างเดียวกันได้อย่างไร ฉะนั้น ถ้าจะแก้ปัญหา ก็ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงตามสภาพที่เป็นเรื่องเฉพาะของตัวนี้ ตัวแกนของปัญหาก็ได้กล่าวมาแล้ว คือการพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืน ซึ่งมีลักษณะสำคัญ ๒ อย่างคือ

  1. องค์ประกอบต่างๆ ของสังคมไทยเจริญเติบโตอย่างลักลั่น ไม่สอดคล้อง ไม่สมดุลกัน บางส่วนเจริญล้ำไป บางส่วนล้าหลังอยู่
  2. องค์ประกอบอย่างเดียวกัน เจริญก้าวหน้าไปโดยไม่สืบทอดต่อเนื่อง เช่น มีเก่ากับมีใหม่ ซึ่งขาดตอนจากกัน เมื่อมีกิจการและสถาบัน เป็นต้น บางอย่างที่เริ่มต้นขึ้นมาใหม่ โดยของเก่าก็ยังมีอยู่ ก็ไม่ประสานกลมกลืนเข้าเป็นเนื้อเดียว

ฉะนั้น การแก้ปัญหาก็คือ จะทำอย่างไรให้องค์ประกอบทุกอย่างประสานกลมกลืนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ต้องเป็น ๒ อย่าง ไม่ใช่เก่ากับใหม่ หรือของในกับของนอกนี้อย่างหนึ่ง แต่สำหรับของที่ไม่สมควรจะกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ก็ต้องยอมรับทั้ง ๒ อย่างให้มันมีโดยชัดเจน และให้ความเอาใจใส่โดยชอบโดยถูกต้อง มิฉะนั้นก็จะสูญเสียอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน คือเราให้ความเอาใจใส่ในเรื่องอย่างหนึ่ง แต่อีกอย่างหนึ่งถูกปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง ปัญหาก็เกิดขึ้นอย่างที่หลายคนเป็นห่วงว่าภูมิธรรมภูมิปัญญาแบบไทยได้สูญหายไป

เป็นอันว่า ประเทศไทยได้เร่งรัดสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ให้ทัดเทียมกับประเทศตะวันตก เพื่อให้พ้นภัยคุกคามของประเทศที่ล่าอาณานิคม การศึกษาวิทยาการต่างๆ ก็เน้นวิชาที่จะทำให้ทันสมัยก่อน โดยมุ่งผลิตคนเข้ารับราชการ ซึ่งมีศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางในกรุงเทพฯ ขอเน้นความมุ่งหมายเดิมในการพัฒนาประเทศที่กล่าวมาแล้ว คือการทำประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยอย่างประเทศตะวันตก เพื่อต่อสู้ต้านทานให้รอดพ้นภัยลัทธิอาณานิคม นี้เป็นความมุ่งหมายที่จะต้องตระหนักไว้ ต่อมา ประเทศไทยได้ผ่านพ้นภัยลัทธิอาณานิคมไปแล้ว แต่การเจริญหรือการพยายามที่จะเจริญอย่างประเทศตะวันตก ก็ดำเนินต่อมา ในเมื่อการพยายามเจริญอย่างประเทศตะวันตกนั้นหมดความหมายเดิม คือ ความมุ่งหมายที่ว่านั้นได้จบสิ้นลงไปแล้ว เราก็ไม่ได้ตั้งความมุ่งหมายใหม่ขึ้นมาให้แก่การสร้างความเจริญที่จะทำกันต่อไป ความมุ่งหมายเดิมที่เคยมีนั้นก็หดห้วนเข้า ก่อนนั้นบอกว่าสร้างความเจริญให้ทัดเทียมประเทศตะวันตก เพื่อให้ต่อสู้ต้านทานเขาได้ แต่พอตัดคำว่าเพื่อให้ต่อสู้ลัทธิอาณานิคมได้ออกไปแล้ว ก็เหลือแค่ว่า เพื่อสร้างความเจริญให้ทัดเทียมประเทศตะวันตก เมื่อการที่จะต้องต่อสู้หมดไป ก็เหลือแต่การที่จะตามเขาหรือเอาอย่างเขา ฉะนั้น การสร้างสรรค์พัฒนาประเทศชาติในระยะต่อมา เมื่อหมดความมุ่งหมายเดิมไปแล้ว ก็มีความหมายเหลืออยู่เพียงเป็นการตามอย่างประเทศตะวันตก อันนี้เป็นจุดเน้นที่สำคัญมาก ทำไมเราจึงกลายไปเสีย แรงใจหรือจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาประเทศชาติ เพื่อให้มีกำลังต่อสู้ต้านทานประเทศอาณานิคมหรือต่อสู้ภัย ถ้ามีอยู่ชัดเจนแล้ว พฤติกรรมจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามันหมดไป ก็จะเหลือแต่การตามอย่าง เมื่อความหมายเปลี่ยนไป พฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไปด้วย และความจริงก็ปรากฏว่า เมื่อเราพัฒนาเสร็จ ได้ผล ความมุ่งหมายเดิมเสร็จสิ้นลงแล้ว เราไม่ได้ตั้งความมุ่งหมายใหม่ให้แก่การพัฒนาประเทศชาติ ความมุ่งหมายที่ไม่ชัดเจนในการพัฒนาก็กลายเป็นความมุ่งหมายที่จะเจริญตามอย่างเขาไป กลายเป็นว่า การตามอย่างนี้คือความมุ่งหมายของการพัฒนา ประเทศชาติ จนกระทั่งแม้แต่ความคิดจิตใจก็ถูกหล่อหลอมด้วยความเคยชินโดยไม่รู้ตัว ให้กลายเป็นจิตใจแบบผู้ตาม หรือจิตใจของนักตาม

นอกจากนั้น ยังมีสิ่งที่ซ้ำเติมอีก คือ พร้อมกับความเจริญของประเทศตะวันตก หรืออารยธรรมตะวันตกที่เข้ามานั้น ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมก็เข้ามาด้วย ระบบทุนนิยมและอุตสาหกรรมที่เข้ามาในประเทศไทยนี้ เข้ามาในลักษณะที่เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าสำเร็จรูป เป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขความสะดวกสบายที่เขาผลิตเสร็จแล้ว ซึ่งคนที่เรานับถือว่าเป็นชาวอารยประเทศนำเข้ามา เรารู้จักระบบอุตสาหกรรมในรูปของผลผลิตจากอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการและเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้น การมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย หรือผลิตภัณฑ์สินค้าเหล่านั้นนั่นแหละ คือ เครื่องหมายของความเจริญ จึงเป็นอันว่า ในความต้องการที่จะเจริญแบบประเทศตะวันตกนั้น ความหมายของการเจริญอย่างประเทศตะวันตกที่เกิดขึ้นในใจหรือในความคิดของคนไทย ก็คือ เจริญอย่างเขา หมายถึง มีกิน มีใช้ มีบริโภคอย่างเขา ฉะนั้น เขามีสินค้าอะไร เขากินอะไร ใช้อะไร เรามีกินมีใช้อย่างเขา เราก็เจริญ ความเจริญอย่างเขาไม่ได้มีความหมายว่า ผลิตได้อย่างเขาหรือทำได้อย่างเขา อันนี้ก็สำคัญมาก นับว่าเป็นตัวแกนของปัญหาอย่างหนึ่งทีเดียว เมื่อเราเข้าใจความหมายของคำว่า เจริญ คือเจริญอย่างเขา และเจริญอย่างเขา คือมีกิน มีใช้ มีบริโภคอย่างเขา ก็ทำให้เกิดค่านิยมบริโภค เพราะฉะนั้น ระบบอุตสาหกรรมและทุนนิยมของประเทศตะวันตก จึงเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับค่านิยมบริโภค แล้วก็ทำให้เกิดวัฒนธรรมบริโภค แล้วก็ไปสอดคล้องกับความหมายของการพัฒนาประเทศ ในลักษณะที่เป็นการตามอย่าง คือการเจริญโดยให้มีใช้มีบริโภคตามอย่างเขา ประเทศเราก็พร้อมที่จะเป็นผู้รับซื้อสินค้าจากต่างประเทศมาใช้ เป็นอันว่า การพัฒนาประเทศ และการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมของสังคมไทย เป็นไปในลักษณะที่เป็นการตามอย่าง โดยคอยรับเอาความเจริญในรูปของผลิตภัณฑ์สินค้าสำเร็จรูป ของฟุ่มเฟือยต่างๆ จากประเทศตะวันตก หรือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว อันสอดคล้องไปกันด้วยดีกับค่านิยมบริโภค ที่ต่อมากลายเป็นวัฒนธรรมบริโภคนั้น

ขอพูดอีกสักแง่หนึ่ง คือ แม้แต่สมบัติและศักดิ์ศรีความดีเด่นที่มีอยู่แล้ว ก็ยังปล่อยให้สูญเสียไป ตัวอย่างเช่น ถอยหลังไปสัก ๒๐ ปี เป็นที่ชัดเจนว่า ข้าวเป็นสินค้าหลักของประเทศไทย ข้าวไทยมีชื่อว่าคุณภาพดี การทำนาเป็นอาชีพพื้นบ้านสืบต่อมาตามประเพณี แม้จะถือกันว่าชาวนามีฐานะยากจน และชาวนาจำนวนไม่น้อย ไม่มีที่ทำกินของตนเอง ต้องเช่านาคนอื่นทำ เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องแก้ไข แต่ก็ยังนับว่ามีปัจจัยการผลิตพร้อมเป็นของตนเอง โดยเฉพาะส่วนใหญ่อาศัยธรรมชาติ ถึงแม้ปีไหนทำนาไม่ได้ผล ก็เพียงว่าไม่ได้อะไร อยู่ในขั้นที่พอพึ่งตัวเองได้ แต่พัฒนาไปพัฒนามาถึงปัจจุบันนี้ มีอาการภายนอกดูโก้ดีว่าเจริญด้วยเทคโนโลยี แต่ปัจจัยการผลิตแทบทุกอย่างเป็นของต้องซื้อหาจากภายนอก ทั้งรถไถ น้ำมัน ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช ล้วนทำเองไม่ได้เลย ต้องซื้อจากต่างประเทศทุกอย่าง ถึงแม้ถ้าผลิตข้าวได้มาก คุณภาพก็ต่ำลง ขายไม่ได้ราคา เงินที่ขายได้มา ก็หมดไปกับสินค้าเทคโนโลยี เป็นค่าจ้างรถไถ ค่าน้ำมัน ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช ส่งเงินออกไปให้แก่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แทบไม่เหลือ หรือบางทีก็ไม่พอ ต้องเป็นหนี้ ยิ่งปีไหนทำนาไม่ได้ผล เช่น น้ำท่วมเสียหาย ก็ยิ่งซ้ำร้าย ราคาเทคโนโลยีต้องจ่าย แต่รายได้ไม่มี หนี้สินเพิ่มพูน ฐานะมีแต่จะตกต่ำจมปลัก ปัญหาเก่าคือการขาดที่ทำกินของตนเอง ก็ยังไม่สามารถแก้ไข แต่กลับทรุดหนักลง ชาวนาที่สูญเสียที่ทำกินมีจำนวนมากขึ้น ยิ่งทำนา ยิ่งต้องขายนา ไม่ต้องพูดถึงชาวนาที่เช่านาเขาทำอยู่แล้ว แม้แต่คนที่เคยมีที่นาของตนเอง ก็กลายเป็นคนหมดที่ หมดทุน ขายที่ทำกินของตนเอง แล้วอพยพออกจากถิ่น ไปหากินทางรับจ้างในถิ่นอื่น เข้าทำนอง พลัดที่นา คลาที่อยู่ อีกทั้งธรรมชาติแวดล้อมก็ถูกทำลายด้วยเทคโนโลยีเหล่านั้น คุณภาพชีวิตก็เสื่อมทรามลง เช่น สุขภาพทรุดโทรม เพราะการฉีดยาฆ่าแมลง เป็นต้น ดินก็เสียเพราะปุ๋ยเคมี อยู่ในสภาพที่พึ่งตัวเองแทบไม่ได้เลย หรือพึ่งตัวเองไม่ได้ยิ่งๆ ขึ้น แม้แต่ในเรื่องที่ตนเองเคยเป็นเอกเป็นเจ้าแห่งความเชี่ยวชาญ ควรจะเป็นผู้ยอดเยี่ยมโดยความเป็นตัวของตัวเอง ก็ยังกลับกลายไปเปลี่ยนเป็นต้องอาศัยพึ่งพาเขาอื่น เป็นการพัฒนาออกจากความพึ่งตนเองได้ ไปสู่ความพึ่งพาขึ้นต่อผู้อื่น กลายเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ หรือพัฒนาไปๆ จนหมดความสามารถในการพึ่งตนเอง การพัฒนาในลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นการพัฒนาที่สร้างปัญหา และไม่เป็นการพัฒนาที่พึงปรารถนาอย่างแน่นอน

การพัฒนาอุตสาหกรรม: ความคับแคบของความคิดในการพัฒนา

อนึ่ง การพัฒนาประเทศของเราเท่าที่ผ่านมานี้ มีความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง คือ การที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมตามอย่างประเทศตะวันตก ทีนี้ ในเมื่อเราเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมด้วยวิธีตามอย่างความเจริญ แบบคอยรับเอาผลผลิตของความเจริญจากประเทศเหล่านั้น มาสนองค่านิยมบริโภคของเรา มันก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่อาจจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมได้ นี้ก็เป็นปัญหาหนึ่ง ครั้นมาถึงปัจจุบัน ก็ได้มีการพยายามใหม่ที่จะให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม วิธีใหม่ดูเหมือนว่าจะเป็นการชักชวน และเปิดทางให้นายทุนต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เหมือนกับว่า เมื่อเราทำกันเองไม่ไหว ก็ให้คนอื่นมาทำให้ การให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็เป็นความหวังว่า เราอาจจะมีความเจริญในทางอุตสาหกรรมได้ แรงจูงใจที่จะให้พวกต่างประเทศเข้ามาลงทุนนั้น ก็เช่นว่า ที่ดินของเราราคาถูก เรามีแหล่งวัตถุดิบ มีทรัพยากรราคาถูก และที่สำคัญมากก็คงจะเป็นว่า แรงงานราคาถูก แต่การที่เราจะให้ประเทศเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมด้วยวิธีพึ่งพาคนต่างประเทศ โดยที่ตัวเราเองไม่พร้อมนั้น จะมีปัญหาอย่างไร การที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมได้หรือไม่ ก็ต้องดูว่าคนไทยเรานี้ มีความพร้อมในด้านวิถีชีวิตและลักษณะจิตใจ ที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหรือไม่ เพราะว่า ในการที่สังคมจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมได้

  1. คนจะต้องมีลักษณะจิตใจและค่านิยมแบบอุตสาหกรรมด้วย
  2. ต้องมีความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นฐานที่มั่นคงรองรับอีกด้วย

ในแง่ที่ ๑ ลักษณะจิตใจและค่านิยมแบบอุตสาหกรรม ก็คือ ค่านิยมเป็นผู้ผลิต ผู้สร้าง ผู้ทำ ซึ่งเราจะต้องดูประเทศที่พัฒนาระบบอุตสาหกรรมของตัวเองขึ้นมา ว่าเขาพัฒนามาได้อย่างไร คือ ต้องถอยหลังไปดูเมื่อหลายๆ สิบปีมาแล้ว เมื่อเขาเริ่มยุคอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งเราจะเห็นว่าเขามีลักษณะจิตใจแบบอุตสาหกรรม ที่เรียกกันว่าวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งมีหลักจริยธรรมว่า งานและความสัมฤทธิ์ผลของงานเป็นเป้าหมายหลัก คนจะต้องบังคับควบคุมตนเอง ไม่ยอมตามใจกิเลส ไม่ยอมตามใจความอยากต่างๆ ไม่ยอมแสวงหาความสุขสำราญ แต่ต้องตั้งใจทำงานให้มากที่สุด เมื่อได้ผลจากการทำงานแล้วก็เก็บออมไว้ เพื่อเอาผลที่ได้จากการเก็บออมนั้นมาใช้ในการลงทุนต่อไป การพัฒนาอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินมาโดยมีวัฒนธรรมในการทำงาน เช่น มีจิตใจรักงาน สู้งาน รับผิดชอบ ขยันขันแข็ง อดทน และอดออม เป็นต้นด้วย ถ้าคนในสังคมไทยมีลักษณะที่เด่นด้วยค่านิยมบริโภค ชอบอวดโก้ หรูหรา ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ก็ขัดแย้งอยู่ในตัว กับการที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ฝรั่งเริ่มสร้างยุคอุตสาหกรรมด้วยจริยธรรมแห่งความขยันทำงาน ประสานกับความสันโดษอดออม แต่ไทยเราจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมด้วยการกระตุ้นเร้าให้ใฝ่หาสิ่งบำรุงบำเรอ ความฟุ้งเฟ้อ สุขสำราญ เราเห็นสันโดษเป็นศัตรูของการพัฒนา แทนที่จะปรับความเข้าใจความหมายและใช้สันโดษให้ถูกต้องเป็นประโยชน์ เรากลับชวนกันขับไล่สันโดษออกไป แล้วหันมาส่งเสริมการบริโภค ชวนกันต้อนรับสินค้าฟุ่มเฟือยที่คนอื่นผลิตสำเร็จแล้วส่งเข้ามา เมื่อพัฒนาไปๆ ผลปรากฏในปัจจุบันก็คือ ชาวนากู้ยืมเงินจากแหล่งทุนส่งเสริมการเกษตร ไม่ใช่เพื่อเอาไปเป็นทุนทำนาหรือแก้ปัญหาชีวิตและการงาน แต่เพื่อเอาไปซื้อทีวี มอเตอร์ไซค์ อย่างที่เรียกว่า พาญี่ปุ่นเข้าบ้าน และจัดงานสนุกสนานบันเทิง ที่พาให้จมลงในหนี้สินยิ่งขึ้นไป ถ้าทำนาได้ผล นอกจากซื้อสินค้าโก้หรูหราฟุ่มเฟือยแล้ว ก็หมกมุ่นมัวเมากับเหล้าและการพนัน อย่างนี้ก็เป็นลักษณะที่ไม่ประสานกลมกลืนอีกอย่างหนึ่ง

ในแง่ของความเจริญทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นฐานปัจจุบันนี้เราก็มีความเจริญอยู่บ้าง แต่ก็ไม่อยู่ในระดับที่พอเพียงสำหรับความก้าวหน้าในอุตสาหกรรม บางทีเป็นเพียงเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเท่านั้น เราก็เข้าใจกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์ คนไทยเราจำนวนไม่น้อยเก่งในด้านปฏิบัติการเกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่นั่นก็ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ ยิ่งกว่านั้น พร้อมกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่บ้างนั้น ก็ปรากฏว่า สังคมไทยในปัจจุบันมีไสยศาสตร์ระบาดมากด้วย ไสยศาสตร์ขณะนี้รู้สึกว่าจะเจริญมากในสังคมไทย เจริญแพร่หลายยิ่งกว่าสมัยก่อนเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ทั้งที่บอกว่าสังคมไทยพัฒนาไปมาก แต่ไสยศาสตร์ก็กลับเจริญเฟื่องฟูมากด้วย และดูเหมือนว่า ในถิ่นที่เจริญทันสมัย ไสยศาสตร์ยิ่งระบาดแพร่หลายมาก จนกลายเป็นว่า คนในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ หลงใหลหวังพึ่งไสยศาสตร์ยิ่งกว่าชาวบ้านในชนบท ในการพัฒนา สภาพอย่างนี้ก็จะขัดกัน เราอาจจะหวังว่า เมื่อต่างประเทศเป็นนายทุนเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในไทยแล้ว คนไทยไปทำงานกับเขาก็จะได้ตามอย่างเขา ก็จะพัฒนาลักษณะนิสัยแบบอุตสาหกรรมขึ้นมาได้กระมัง อันนี้เป็นเพียงความหวัง แต่เรื่องที่น่าจะต้องคิดน่าจะต้องพิจารณาก็คือ การพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืนที่เป็นมาแล้ว ได้ทำให้เกิดปัญหาอะไร แล้วการพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืนต่อไปอีก จะเพิ่มอะไรขึ้นมา เป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา เป็นคุณหรือเป็นโทษอย่างไร

เอาเป็นว่า ประเทศไทยที่พัฒนากันมานี้ เราก็พยายามที่จะก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม แต่ในขณะที่ประเทศเราคิดจะก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาก็กำลังจะผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม ดังที่กำลังมีการพูดกันมากว่า เลยจากยุคอุตสาหกรรมไปจะเป็นยุคอะไร บางคนก็เรียกว่ายุคอินฟอร์เมชั่น คือยุคข่าวสารข้อมูล บางคนก็เรียกง่ายๆ ว่ายุคหลังอุตสาหกรรม หรือยุคโพสต์อินดัสเตรียล เขาถือว่าตอนนี้ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกาได้เข้าสู่ยุคใหม่ เลยยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว ในขณะที่เขาจะเลยยุคอุตสาหกรรมกันไปแล้ว เรากลับเพิ่งจะเข้ามาสู่ยุคอุตสาหกรรม แล้วก็ยังมีปัญหาด้วยซ้ำว่าจะเข้าได้สำเร็จหรือไม่

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาสำคัญของเราที่ไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนประเทศเหล่านั้นเลย ก็คือ ประเทศไทยเรานี้เป็นประเทศที่อยู่ในยุคทุกยุคพร้อมกันหมด ประเทศต่างๆ ที่เขาเจริญมา จนเป็นประเทศพัฒนาแล้วนั้น แต่ก่อนเขาก็เคยอยู่ในยุคเกษตรกรรม เขาพัฒนาตัวเองผ่านพ้นยุคเกษตรกรรมมา เสร็จแล้วเขาก็เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม และเจริญมาจนกระทั่งเวลานี้ เขาก็กำลังจะออกจากยุคอุตสาหกรรมไป เขาเจริญมาเป็นขั้นๆ แต่ของไทยเรามีทุกยุคพร้อมกันในเวลาเดียว ขอให้ลองเทียบดู ประเทศอเมริกาเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาผ่านพ้นอุตสาหกรรม ปัจจุบันเขามีคนทำงานในภาคเกษตรกรรมไม่ถึง ๓% แต่ประเทศไทยคนอยู่ในภาคเกษตรกรรมประมาณ ๗๐%-๘๐% ประเทศอเมริกามาถึงตอนนี้ เพราะเขาจะผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไป คนงานในภาคอุตสาหกรรมเหลือประมาณ ๑๒% แล้วคนงานก็มาเพิ่มขึ้นในภาคข่าวสารข้อมูลเป็นประมาณ ๖๕% แต่ในสังคมไทยของเรานี้ คนส่วนมากยังอยู่ในยุคเกษตรกรรม แต่พร้อมกันนั้น เราก็ได้รับผลจากยุคอุตสาหกรรมด้วย และเราก็กำลังจะก้าวเข้าถึงความเจริญในยุคข่าวสารข้อมูลกับเขาด้วย เรามีคอมพิวเตอร์ มีทีวี มีวีดีโอ มีการสื่อสารด้วยดาวเทียม เขามีอะไรเราก็มีกับเขาเหมือนกัน เรามีหมดพร้อมกัน ๓ ยุคเลย เป็นยุคไหนก็ไม่ได้สักยุค แต่เป็นพร้อมกันทั้ง ๓ ยุคเลย สำหรับประเทศอย่างนี้ ย่อมมีลักษณะปัญหาของตนเองโดยเฉพาะ ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้น คนที่จะแก้ปัญหาของประเทศอย่างนี้ จะต้องแก้ปัญหาในแบบของตัวเอง จะเอาแบบของใครไม่ได้ แต่ในแง่หนึ่งก็น่าภูมิใจ คนที่แก้ปัญหาของสังคมแบบนี้ได้ต้องถือว่าเป็นคนที่เก่งที่สุด คนที่แก้ปัญหาในสังคมที่มีแบบเดียวได้ก็ยังไม่เก่งเท่าไร เพราะปัญหาไม่ซับซ้อนมากนัก

ทางเลือกในการพัฒนา หรือทางเลือกออกจากการพัฒนา

ที่ว่ามานี้คือสภาพของสังคมไทย เราจะต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ ในแง่หนึ่ง การที่เราจะตามเขาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ในขณะที่เขากำลังพ้นยุคอุตสาหกรรม ก็หมายความว่า เราคงจะต้องตามเขาในอดีตเมื่อหลายสิบปีล่วงแล้วไปอีกนาน กว่าจะตามเขาทันในสมัยปัจจุบัน ประการต่อไป ในการตามเขานั้น ส่วนมากเราพยายามมีให้เหมือนเขา โดยไม่คำนึงถึงการที่จะทำให้มีด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้เป็นนักบริโภค ไม่เป็นนักผลิต และทำให้มีลักษณะพึ่งพา ขึ้นต่อผู้อื่น พึ่งตัวเองไม่ได้ นอกจากจะต้องตามเขาเรื่อยไป ไม่มีทางเลื่อนตัวขึ้นไปเป็นผู้นำแล้ว ก็ยังจะยากจนลงด้วยหนี้สินเป็นต้นด้วย ถึงแม้ในบางเรื่องเราจะพยายามทำให้เหมือนเขา เราก็มักทำให้เหมือนเขาเพียงเท่าที่เรามองเห็น คือทำตามเฉพาะส่วนที่ปรากฏชัดออกมาภายนอก จึงมีปัญหาที่เป็นข้อสำคัญว่า เราเห็นเขาแค่ไหน ถ้าเราไม่มองเห็นเขาลึกลงไปถึงเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังภาพที่มองเห็น และไม่ใส่ใจที่จะศึกษาให้เห็น นอกจากการตามนั้นจะเป็นการตามเรื่อยไปแล้ว ก็จะเป็นการตามที่ได้โทษมากกว่าได้คุณ แล้วทีนี้อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ในเมื่อประเทศต่างๆ ที่เขากำลังผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม เขาเคยเป็นประเทศอุตสาหกรรมมาแล้ว เขามีปัญหาอะไรบ้างในการพัฒนาแบบอุตสาหกรรม เมื่อเราจะก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เราได้เรียนรู้ปัญหาของเขาไหม เราเอาบทเรียนจากเขามาใช้ประโยชน์หรือเปล่า หรือเพียงแต่ว่าจะเดินเรื่อยเปื่อยไปตามวิถีทางที่เคยชินหรือตามที่เขาขีดเส้นให้เดินด้วยซ้ำไป ข้อคิดต่อไป ก็คือ ในขณะที่เขาจะก้าวข้ามพ้นยุคอุตสาหกรรมไปเป็นยุคข่าวสารข้อมูล หรือยุคอะไรก็ตาม ถ้ายุคนั้นมันดี เรามีทางไหมที่จะก้าวข้ามขั้นไปสู่ยุคที่สามนั้นเลย ไม่ต้องไปมัวผ่านยุคอุตสาหกรรมกันอีก นี่ก็เป็นข้อคิดในแง่ต่างๆ แต่ลักษณะทั่วไป ก็คือ ประเทศพัฒนาแล้ว ที่เขาเจริญมาตามลำดับนั้น เขามีความเจริญที่เกิดขึ้นในเนื้อตัวของเขาเอง เขาทำแล้วเขาก็ได้รับผลที่เกิดจากประสบการณ์ เป็นความชำนาญความสามารถในตัวของเขาเอง แต่สังคมไทยเราเข้าถึงความเจริญเหล่านั้นในลักษณะที่เหมือนไปรับเอาเครื่องเคราอะไรจากคนอื่นเขา เอามาปะพอกหุ้มห่อตัว ครั้นถึงปัจจุบัน สภาพของการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมนี้ก็จะเป็นแบบรับเอาของใช้ที่ผู้อื่นเขาโยนมาให้อีก แล้วที่ร้ายมากก็คือ จะเป็นของที่เขาเลิกใช้เสียด้วย เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ก็จึงมีสิ่งที่น่าจะถามว่า

๑. เราควรจะยอมเป็นเพียงโรงเก็บของที่เขาเอาของเลิกใช้มาฝากเก็บไว้ เพื่อเขาจะได้ใช้ที่ของเขาทำงานอื่นต่อไปเท่านั้นหรือ หมายความว่า ตอนนี้เขาต้องการใช้ที่ของเขาทำงานอื่นแล้ว เขาก็จะเอาสิ่งที่เขาเลิกใช้แต่เขายังต้องการประโยชน์บางอย่าง เอามาปะมาพะให้เรา เอาที่ของเราใช้ไป เขาจะได้มีที่ว่าง คนงานของเขาจะได้ว่างจากงานนี้ไปทำงานอื่นที่ถือว่าเจริญก้าวหน้ากว่า คนของเราก็ทำงานนี้ไป โดยใช้ที่ของเราและแรงงานของเราผลิตของบางอย่าง ที่เขายังต้องใช้ แต่ไม่ต้องการเสียแรงงานแล้ว ส่งไปให้แก่เขา และที่ร้ายยิ่งก็คือ เป็นการเอาอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษออกจากบ้านเมืองของเขา มาปล่อยให้บ้านเมืองและประชาชนของเราต่อสู้และผจญปัญหาแทนเขาต่อไป

๒. เราควรจะมีวิธีการพัฒนาที่เป็นแบบของเราเองที่เหมาะกับตัวเอง โดยไม่ต้องเดินผ่านตามขั้นตอนอย่างเขาหรือไม่ อย่างที่ว่าเมื่อกี้

๓. เราควรจะพัฒนาตนเองอย่างรู้เท่าทัน โดยได้รับประโยชน์จากบทเรียนในการพัฒนาของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยไม่ต้องไปเดินซ้ำรอย และประสบผลเสียที่เป็นโทษ ที่เขาเคยได้ประสบมาแล้วหรือไม่

พูดอีกอย่างหนึ่ง การพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมามีลักษณะสำคัญ ๒ อย่าง คือ

๑. เป็นการตามอย่างประเทศตะวันตกในแบบที่เราเอาวัฒนธรรมต่างด้าวภายนอก มาสวมทับลงบนวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ใช่เป็นการพัฒนาในเนื้อตัวอย่างแท้จริง จึงไม่กลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว สภาพเช่นนี้แม้แต่พวกคนในประเทศพัฒนาแล้ว เขาก็สังเกตเห็นและว่าอย่างนั้น เขาเรียกว่าเป็น superimposition of an alien culture on the existing one แสดงว่าการพัฒนาอย่างที่ทำกันอยู่นี้ แม้แต่พวกพัฒนาแล้วที่เราพยายามตามอย่างนั่นเอง เขาก็ยังเห็นว่าไม่ดี และมองเราแบบที่ว่ามานั้น

๒. เป็นการเจริญเติบโตอย่างไม่ประสานกลมกลืนกัน ขององค์ประกอบทั้งหลายของสังคมไทย

เป็นอันว่า ตอนนี้ปัญหาของเราก็คือเรื่องที่ค้างเก่ามานั่นแหละ ในการแก้ปัญหาก็ต้องหันกลับไปจัดสรรองค์ประกอบต่างๆ ของสังคมไทย ให้ประสานกลมกลืนกันในลักษณะที่สมดุลและสืบทอดต่อเนื่อง เป็นการกำจัดปัญหาเก่าที่ทิ้งอยู่ แล้วทำให้เจริญจากรากฐานของตนเองต่อไป พร้อมกันนั้นก็ถือเอาประโยชน์จากความรู้เท่าทันวิถีแห่งอารยธรรมของประเทศตะวันตก หรือประโยชน์จากการรู้เท่าทันอารยธรรมของโลก มาใช้ในการพัฒนาสังคมของเราด้วย หมายความว่า เท่าที่ว่ามานี้เป็นการพูดเฉพาะเรื่องของสังคมไทย ให้เห็นว่าสังคมไทยของเรานี้มีปัญหาเฉพาะของตนเองอยู่ คือ การพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืน ซึ่งจะต้องแก้ไข ดังนั้น การจัดสรรองค์ประกอบต่างๆ ของสังคมให้ประสานกลมกลืนกัน ที่พูดว่าจะต้องทำนี้ จึงเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง หรือเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมในขอบเขตหนึ่ง เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการที่จะเข้าถึงชีวิตและสังคมที่ดีงามต่อไป แต่เรื่องไม่จบแค่นี้ เราไม่ควรจะหยุดอยู่แค่นี้ พร้อมกับการแก้ปัญหาติดค้างเฉพาะตัว ด้วยการจัดสรรองค์ประกอบต่างๆ ของสังคมให้กลมกลืนเข้าด้วยกันนั้น เราจะต้องพิจารณาต่อไปว่า สังคมของเรา เมื่อพร้อมแล้ว จะเข้าสู่วิถีชีวิตและความเป็นสังคมที่ดีงามต่อไปอย่างไร อะไรคือชีวิตและสังคมที่ดีงาม อันนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาไม่เฉพาะแก่สังคมไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาแก่ทุกประเทศ ประเทศทุกแบบ ทั้งที่พัฒนาแล้วและยังไม่พัฒนาทั้งหมด ต่างก็ยังมีปัญหานี้ว่า ชีวิตและสังคมที่ดีงามคืออย่างไร อารยธรรมดีงามที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไร สังคมไทยควรจะมีอารยธรรมอะไรที่ดีที่สุด

เป็นอันว่า เราได้พัฒนาประเทศกันมาตั้งนาน แต่ก็ยังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ที่เรียกว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนานั้นก็เป็นศัพท์ที่สุภาพ ความจริงเขาต้องการบอกว่า เป็นประเทศที่ยังไม่พัฒนา และเมื่อพัฒนาก็เป็นการพัฒนาตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ทีนี้ในการตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไปว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว ดีอย่างไร ถ้าเราจะพัฒนาตามเขา เราก็ต้องเห็นว่าเขาดีแล้ว เราจึงจะตามอย่าง แต่เราศึกษาชัดเจนพอหรือยังว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นดีอย่างไร สภาพที่เรียกว่าพัฒนาแล้วนั้นดีจริงหรือไม่ เราควรจะคอยถามตัวเองและไตร่ตรองพิจารณากันให้เพียงพอว่า มันน่าเอาหรือน่าเป็นหรือไม่ ในแง่ไหนๆ เพราะฉะนั้น ก็เลยต้องมาดูกันในเรื่องต่อไป คือ การพัฒนาที่ทำกันอยู่ จนกระทั่งบางประเทศได้ชื่อว่าพัฒนาแล้วนั้นเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี มีคุณมีโทษอย่างไร เป็นการขยายขอบเขตของการพิจารณาออกไป เป็นอันว่า ปัญหาเฉพาะของสังคมไทย จบไปเป็นตอนที่หนึ่ง ต่อไปนี้ ก็มาดูการพัฒนาทั่วไปในโลก โดยเอาประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นแบบ

ตอน ๒: ปัญหาการพัฒนาของโลก และทางออก

ตอนนี้ ก็มาพิจารณาปัญหาร่วมกันของสังคมไทยกับสังคมอื่นทั่วโลก คือการเข้าถึงชีวิตและสังคมที่ดีงามว่ามีความติดขัดอย่างไร โดยเริ่มจากการพัฒนาประเทศของประเทศที่พัฒนาแล้ว ว่าเขาพัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องไม่ยาก แต่ก็ขอทบทวนกันนิดหน่อยพอให้เห็นภาพ

ไม่พัฒนาก็ติดขัด พัฒนาแล้วก็ติดตัน

ชีวิตและสังคมเสียสมดุล

โลกแห่งธรรมชาติ ก็คลาดจากดุล

เบื้องหลังปัญหาการพัฒนาระดับโลก

เทคโนโลยี: ผู้แปลกหน้า มาดีหรือมาร้าย

เทคโนโลยี: ปัจจัยนอกระบบ เพียงแปลกหน้า หรือว่าแปลกปลอม

ออกจากยุคพัฒนา ด้วยการพัฒนาให้สมดุล

ถ้าไม่ถึงธรรม ก็ไม่พ้นภัยของการพัฒนา

ทางเลือกที่รอการเริ่ม

ไม่พัฒนาก็ติดขัด พัฒนาแล้วก็ติดตัน

คนทั้งหลายก่อนจะเริ่มต้นอารยธรรมขึ้นมา ก็เป็นคนป่าคนดง เรียกกันว่ามนุษย์ยุคบุพกาล มนุษย์ยุคบุพกาลนี้ เป็นอยู่หรือดำรงชีวิตอยู่ด้วยวิธีเก็บกับล่า หมายความว่า เก็บอาหารที่ขึ้นตามธรรมชาติ ได้แก่ ผลไม้หรือพืชพันธุ์ธัญญาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และล่าสัตว์ พูดสั้นๆ ว่า เก็บพืช และ ล่าสัตว์ ชีวิตในยุคนี้ขึ้นต่อธรรมชาติโดยสิ้นเชิง เพราะอาหารนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติ ตัวเองก็ต้องไปเก็บไปล่าเอา ต่อมาคนเราก็พยายามที่จะสร้างสรรค์ความเจริญ เพราะต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนกระทั่งมาถึงตอนหนึ่ง มนุษย์ก็เจริญพ้นจากยุคบุพกาลขึ้นมาเป็นยุคเกษตรกรรม

ยุคเกษตรกรรมมีลักษณะสำคัญคือ รู้จักทำการเพาะและเลี้ยง เพาะ หมายถึงเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร เลี้ยง หมายถึงเลี้ยงสัตว์ มนุษย์สมัยนี้ ก็มีลักษณะการดำเนินชีวิตที่ยังอยู่กับธรรมชาติอีกนั่นแหละ เพราะว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารก็เป็นธรรมชาติ สัตว์ทั้งหลายก็เป็นธรรมชาติ สิ่งที่จะทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร และสัตว์เลี้ยงเจริญเติบโตได้ ตั้งแต่ที่ดิน นา ไร่ ทุ่งหญ้า ตลอดจนฝนฟ้าต่างๆ ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติทั้งสิ้น แต่มนุษย์ยุคนี้มีความสามารถก้าวหน้าขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง คือ มีความรู้เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติขึ้นมาบ้างแล้ว จึงรู้จักทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ และรู้จักทำสิ่งที่เป็นของของตัวเองขึ้น หมายความว่า การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์นี่เป็นของของตัวเอง แต่อาศัยความรู้ในระบบของธรรมชาติมาทำงานของตนให้กลมกลืนกับธรรมชาตินั้น เช่น ได้เรียนรู้จากการเห็นบ่อยๆ หรือจากการสังเกตว่า พืชนั้น ต้นไม้นั้น เกิดจากเมล็ดที่ฝังอยู่ในดิน พืชนี้เกิดจากหน่อ ดินมีน้ำชุ่มชื้น พืชก็งอกงามดี พืชอย่างนี้งอกงามในฤดูไหน จะต้องทำอย่างไร ให้ถูกต้องกับสภาพของธรรมชาติ จึงจะอุดมสมบูรณ์ ดังนี้เป็นต้น แล้วก็นำความรู้นั้นมาใช้ ทำการปลูกพืชของตนเองขึ้นมาบ้าง เมื่อทำไปตามความรู้นั้น พืชก็เจริญเติบโตงอกงาม ลักษณะของชีวิตในระยะนี้ก็คือยังกลมกลืนกับธรรมชาติ แต่รู้จักทำสิ่งที่เป็นของตัวเอง โดยกลมกลืนกับธรรมชาติ ด้วยการเรียนรู้และปฏิบัติให้เป็นไปตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ในยุคเกษตรกรรมนี้ก็ยังมีปัญหาว่า รู้จักธรรมชาติแต่เพียงที่ปรากฏชัดและเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ประจำวัน โดยเฉพาะในการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ คือ รู้แต่ปรากฏการณ์และสังเกตจดจำความเป็นไปของปรากฏการณ์เหล่านั้น แต่ธรรมชาติที่ลึกซึ้งกว่านั้นยังไม่เข้าใจ ไม่รู้เหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหลาย ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างไร น้ำท่วม แผ่นดินไหว โรคระบาดต่างๆ เกิดขึ้น ก็ไม่รู้เหตุปัจจัย จึงยังต้องตกอยู่ใต้อำนาจของภัยธรรมชาติเหล่านี้ มนุษย์ต้องการชีวิตที่ดีขึ้น จึงพยายามพัฒนากันต่อมาอีก โดยเรียนรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติมากขึ้น จากการที่เรียนรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มองเห็นเหตุปัจจัยของปรากฏการณ์ต่างๆ ก็เอาความรู้นั้นมาใช้ ทำให้สามารถควบคุมความเป็นไปของธรรมชาติได้มากขึ้น แก้ไขปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติได้มากขึ้น เอาธรรมชาติมารับใช้ความประสงค์ได้มากขึ้น เช่น เอาน้ำมาต้มเป็นไอ ทำให้เรือวิ่งได้ เรียกว่าเรือไอ ทำให้รถไฟวิ่งได้ เรียกว่ารถจักรไอน้ำ แล้วก็ทำโรงงานผลิตของได้คราวละมากๆ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เทคโนโลยีก็เจริญก้าวหน้าขึ้นมากมาย มนุษย์ก็เลยมีความคิดหวังมากขึ้นไปอีกว่า จากการรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราจะเอาชนะธรรมชาติได้ แล้วเราก็จะเจริญพรั่งพร้อมและสุขสมบูรณ์ เมื่อคิดเห็นอย่างนั้นแล้ว มนุษย์ก็มุ่งหน้าสู่เป้าหมายนี้ คือการที่จะเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ทำอะไรได้ทุกอย่าง และมีอะไรได้พร้อมบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น มนุษย์ในยุคนี้จึงได้มีการค้นคว้าวิทยาการต่างๆ เจริญก้าวหน้ามาอย่างมากมาย และวิทยาการเหล่านั้น เมื่อเจริญขึ้นมา ก็แยกกระจายออกเป็นสาขาย่อยๆ เพราะต้องการรู้รายละเอียดมากขึ้น ทำให้ต้องเรียนเฉพาะมากขึ้น เมื่อเรียนเฉพาะแต่ละด้านก็แยกกันออกไป เจริญลึกละเอียดลงไปเฉพาะด้านนั้นๆ จนกระทั่งมีลักษณะความเจริญในทางวิทยาการของยุคสมัยนี้ ว่าเป็นความรู้ความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และวิทยาการด้านต่างๆ เหล่านั้น ก็เจริญถึงขีดสุดหรือใกล้ขีดสุด นี่เป็นลักษณะของการพัฒนาในความหมายที่เป็นมา ซึ่งประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมเดินทางกับเขาอยู่ เป็นความเจริญที่พ่วงมาในยุคอุตสาหกรรม

เป็นอันว่า ยุคอุตสาหกรรมนี้ มีลักษณะความเจริญที่ต้องการความพรั่งพร้อมทางวัตถุ พยายามสร้างสิ่งบำรุงบำเรอ ความสะดวกสบายทุกอย่าง ซึ่งเมื่อเทียบกันในระหว่าง ๓ ยุค ก็จะเห็นว่า ในยุคที่ ๑ คือยุคบุพกาล มนุษย์ขึ้นต่อธรรมชาติโดยสิ้นเชิง ในยุคที่ ๒ คือยุคเกษตรกรรม มนุษย์รู้จักสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นของตัวเอง ด้วยวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกลมกลืนกับวิถีของธรรมชาติ แต่เพราะเหตุที่ยังรู้จักธรรมชาติน้อยไป ไม่พอ ก็จึงยังตกอยู่ใต้อำนาจของธรรมชาติมาก แต่ในยุคที่ ๓ คือยุคอุตสาหกรรมนี้ มนุษย์รู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาก ถึงขั้นตั้งความมุ่งหมายที่จะเอาชนะธรรมชาติ และถือว่าการเอาชนะธรรมชาติได้นี้ คือความสำเร็จในการที่จะสร้างความพรั่งพร้อมสุขสมบูรณ์ แต่เมื่อทำไปทำมา มาถึงปัจจุบันนี้ มนุษย์ก็ได้ประสบความติดตันขึ้นแล้ว ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ก็กำลังตระหนักถึงปัญหานี้ เพราะว่า เมื่อมนุษย์แก้ปัญหาหนึ่งสำเร็จ ก็กลายเป็นว่าได้ทำให้ปัญหาอื่นเกิดขึ้น และปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นใหม่นั้น บางทีก็เป็นปัญหาที่ร้ายแรงกว่า ซึ่งหลายอย่างมนุษย์ยังมองไม่เห็นทางแก้ เพราะฉะนั้น ถึงตอนนี้มนุษย์ก็มาเห็นตระหนักว่า ความพรั่งพร้อมทางวัตถุและความสะดวกสบายทั้งหลายที่ยุคอุตสาหกรรมนำมานี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้จริง อย่างที่พูดแล้วว่า ลดปัญหาบางอย่างแต่สร้างปัญหาให้มากขึ้น และไม่สามารถทำให้มนุษย์มีความสุขได้แท้จริง ยิ่งกว่านั้น ยังมาถึงขั้นที่ว่า ความรู้ในวิทยาการต่างๆ และการใช้วิทยาการต่างๆ แก้ปัญหานั้น มีขีดขั้นที่ว่าถึงจุดติดตันไม่มีทางออก ก็จึงมาถึงยุคใหม่ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อแก้ปัญหาที่ติดตันอยู่ของยุคอุตสาหกรรม เป็นการหาทางออกให้แก่ยุคอุตสาหกรรมนั้น

ชีวิตและสังคมเสียสมดุล

จะขอยกตัวอย่างที่ว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้เกิดปัญหาที่ว่า คนไม่มีความสุขอย่างแท้จริง แม้จะมีความพรั่งพร้อมทางวัตถุ และมีปัญหาใหม่ที่จะต้องแก้ ขอยกตัวอย่างประเทศที่เจริญมากๆ เพื่อให้เห็นว่า เขามีปัญหาในด้านต่างๆ อย่างไร ขอให้มองดูโลกยุคพัฒนา โดยเน้นที่ประเทศอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วชั้นนำ แต่ปัจจุบันมีปัญหาหนักทั้งชีวิต สังคม และธรรมชาติแวดล้อม หนักทั้งทางด้านใจและกาย ขอยกตัวอย่างนิดๆ หน่อยๆ

ทางด้านจิตใจ คณะกรรมาธิการสุขภาพจิตของประธานาธิบดี ได้แถลงว่า พลเมืองของสหรัฐทุก ๑ ใน ๔ คน มีปัญหาความกดดันทางอารมณ์อย่างรุนแรง นักจิตวิทยาของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติของอเมริกาเหมือนกัน กล่าวว่า แทบไม่มีครอบครัวใดในประเทศอเมริกา ที่ปลอดพ้นจากอาการจิตผิดปกติ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง สภาพวิปริตแปรปรวนทางจิตใจ ได้แพร่ระบาดในสังคมอเมริกา มีความสับสน มีความแปลกแยก มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับอนาคตของสังคมของตนเอง เมื่อมองไปในด้านการแสดงออกทางพฤติกรรม ก็ปรากฏว่า มีคนฆ่าตัวตายมากขึ้น เช่น ในปี ๒๕๒๕ มีคนฆ่าตัวตาย ๒๘,๒๔๒ คน

ทางด้านร่างกาย เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ เรามีการแพทย์ที่เจริญขึ้นมากมาย แต่ก็ไม่สามารถพิชิตโรคภัยไข้เจ็บได้ โรคเก่าบางอย่างหมดไป แต่โรคใหม่บางอย่างก็เกิดขึ้นมา โรคเก่าบางอย่างทวีความรุนแรงขึ้นจนแก้จะไม่ไหว เพราะฉะนั้น คนในอเมริกาก็มีปัญหากับโรคหัวใจ และโรคมะเร็งอย่างมาก คนอเมริกันเป็นโรคมะเร็งตายแสนละ ๑๙๗.๗ คน ตายด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือทางเดินโลหิต แสนละ ๔๑๐.๗ คน เมื่อ ๒ ปีมาแล้ว คือปี พ.ศ. ๒๕๒๙ คนอเมริกันตายด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือหลอดเลือด ๙๘๖,๔๐๐ คน พูดคร่าวๆ ว่าล้านคน และเป็นมะเร็งตาย ๔๗๒,๐๐๐ คน คือ ประมาณครึ่งล้าน3

โรคใหม่ล่าสุด หรืออาจจะเป็นโรคเก่าที่ซ่อนตัวรอเวลามานาน จนถึงยุคพัฒนาที่คนมีสภาพจิตใจและสภาพสังคมเหมาะกับมัน จึงได้โอกาสเจริญงอกงามแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและร้ายแรงในปัจจุบัน ก็คือ โรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งเป็นอันตรายคุกคามที่คนยุคพัฒนาตื่นเต้นหวาดผวากันมาก เป็นปัญหาชีวิตทั้งด้านกายและด้านจิตใจ พร้อมกับที่เป็นปัญหาสังคมไปด้วย โรคเอดส์ตรวจพบในคนไข้รายแรกที่เมืองนิวยอร์คใน พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่เพิ่งมาแตกตื่นสนใจกันมากในระยะปีสองปีมานี้เอง เพราะแพร่ระบาดมากขึ้น มีตัวอย่างคนที่เป็นแล้วตายให้เห็นว่าน่ากลัวเพียงใด และยังไม่มียาที่จะรักษาให้หายได้ เป็นแล้วก็จะต้องตายทุกราย ในสหรัฐอเมริกานับถึงก่อนขึ้นปี ๒๕๓๐ มีคนเป็นโรคนี้แล้ว ๓๖,๐๐๐ คน ตายไปแล้ว ๒๑,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วย ๔๐๐ ราย ผู้เชี่ยวชาญประมาณว่า กว่าจะถึงปี ๒๕๓๔ คนอเมริกันจะป่วยเป็นโรคนี้ ๒๗๐,๐๐๐ คน และตายแล้ว ๑๗๙,๐๐๐ คน เฉพาะในปัจจุบัน คนอเมริกันที่เป็นสื่อนำโรคเอดส์มี ๑ ล้าน ๕ แสนคน (บางท่านว่า ๔ ล้านคน) ผู้ชายอเมริกันที่อายุระหว่าง ๒๐-๕๐ ปี จะติดโรคนี้ ๑ ในทุก ๓๐ คน และองค์การอนามัยโลกประมาณว่า กว่าจะถึงปี ๒๕๓๕ ทั่วโลกจะมีคนเป็นโรคเอดส์ ๕ แสน ถึง ๓ ล้านคน เนื่องจากโรคนี้มีระยะฟักตัวนานอาจถึงเกิน ๑๐ ปี คนที่มีโรคนี้อยู่ในตัวจึงเป็นสื่อนำโรคไปได้กว้างขวางและนานมาก ผู้เชี่ยวชาญบอกต่อไปอีกว่า โรคเอดส์นี้จะเป็นตัวทำลายล้างที่ร้ายยิ่งกว่าสงครามหลายครั้ง เช่นว่า ในเวลา ๔ ปีข้างหน้า มันจะฆ่าคนอเมริกันมากกว่าสงครามเวียดนามและสงครามเกาหลีรวมกัน มันจะเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่สุดของคนในทศวรรษหน้า และต่อเนื่องจนถึงศตวรรษต่อไป

เนื่องจากโรคเอดส์ เป็นโรคติดต่อ ซึ่งส่วนมากเกิดจากความสัมพันธ์ทางเพศ โดยเฉพาะมักเกิดแก่ผู้มีพฤติกรรมทางเพศแบบวิสามัญ คนที่สำส่อนในกามหรือไม่สำรวมในกาม และแก่พวกติดสิ่งเสพติดที่ใช้วิธีฉีดยาเข้าทางเส้นเลือด โรคเอดส์จึงมิใช่เป็นเพียงปัญหาทางกาย ที่เป็นแล้วทรมานและต้องตายทุกรายเท่านั้น แต่เป็นปัญหาจิตใจและเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญด้วย เพราะคนทั่วไปซึ่งยังมีชีวิตเกี่ยวข้องในทางเพศ จะดำเนินชีวิตด้วยความหวาดระแวงมากขึ้น มีความไม่มั่นคง ขาดความมั่นใจยิ่งขึ้น คนจะหวาดระแวงกันมากขึ้น ปัญหาจะโยงมาถึงชีวิตในครอบครัว และวงงาน คนที่ยังไม่เป็นก็ถูกระแวง คนที่เป็นแล้วก็ถูกรังเกียจ จะถูกคนอื่นกีดกันออกไปจากสังคม ไม่ให้มาตั้งบ้านอยู่อาศัยรวมกับคนอื่น ไม่ให้ร่วมงาน ไม่ให้เข้าเรียน บริษัทประกันไม่ยอมรับประกัน แม้แต่จะไปทำฟัน ทันตแพทย์ก็อาจจะไม่ยอมรักษาให้ เป็นต้น ตลอดถึงว่าสังคมจะมีคนที่มีคุณภาพต่ำลง แล้วสังคมก็จะเสื่อมลง แม้ในด้านเศรษฐกิจ ก็เป็นปัญหามาก การรักษาพยาบาลคนเป็นโรคนี้รายหนึ่งๆ จะใช้เงินค่ารักษา ๕๐,๐๐๐-๑๕๐,๐๐๐ ดอลล่าร์ (ประมาณ ๑,๒๕๐,๐๐๐-๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท) เมื่อปี ๒๕๓๐ รัฐบาลสหรัฐก็ได้ตั้งงบประมาณต่อสู้โรคเอดส์ถึง ๔๑๑ ล้านเหรียญ (ประมาณ ๑๐,๒๗๕ ล้านบาท) แต่ถ้ามองในแง่ดีก็เหมือนว่า โรคนี้มาช่วยสังคมให้ยับยั้งความชั่วร้ายและความลุ่มหลงมัวเมาลงบ้าง อันจะทำให้คนเกิดมีกามสังวร หรือความสำรวมในกามมากขึ้น และระวังตัวจากการใช้ยาเสพติดมากขึ้น แม้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้เอง ก็กล่าวว่า ชะตากรรมของคนจะพ้นจากโรคเอดส์ได้แค่ไหน อาศัยวิทยาศาสตร์ได้น้อย แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองได้เป็นสำคัญ จริยธรรมจึงต้องกลับมา กล่าวกันว่าโรคเอดส์เปิดศักราชใหม่ ทำให้เกิดการปฏิวัติทางเพศ ในทางตรงข้ามกับการเกิดขึ้นของยาเม็ดคุมกำเนิด ในช่วงปี ๒๕๐๐ เป็นต้นมา

ปัญหาใหญ่ของสังคมอเมริกันอีกเรื่องหนึ่ง คือ การติดยา หรือการมั่วสิ่งเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาทางร่างกายและจิตใจด้วย เมื่ออยู่ในสังคมไม่มีความสุข หวาดระแวง เครียด กระวนกระวาย กลุ้มใจกังวล อ้างว้าง โดดเดี่ยว ก็หันไปพึ่งสิ่งเสพติดช่วยระงับและกระตุ้นเร้า แต่ก็ได้ผลเพียงชั่วคราว เมื่อหมดฤทธิ์ยา ความทุกข์ก็กลับมา และเพิ่มยิ่งกว่าเก่า แถมยังเพิ่มทุกข์อย่างอื่นซ้ำเข้าอีก ยาเสพติดนั้นทำกายให้วิปริต และทำจิตให้วิปลาส ร่างกายก็ทรุดโทรมเกิดโรค และต้องหาเงินมาซื้อ เมื่อไม่มีและหาไม่ทัน ก็ต้องลักขโมยก่ออาชญากรรม นอกจากนั้น การงานก็เสื่อมเสีย ผลผลิตของชาติก็ลดต่ำลง และสังคมก็ต้องมีภาระใช้จ่ายเงินทั้งในการรักษาคนที่ติดยา คนที่เป็นโรคเนื่องจากยา ในการปราบปรามการลักลอบขนยาขายยา และในการปราบปรามอาชญากรรมที่คนติดยาไปก่อกระทำ อาชญากรรมที่รุนแรงมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายเมือง ซึ่งตำรวจบอกว่าเป็นเรื่องเกิดจากยาเสพติด ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ยาเสพติดทำให้ธุรกิจของอเมริกาสูญเสียผลผลิตลงไปปีละ ๖๐ พันล้านเหรียญ (ประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท) เฉพาะบุหรี่กับสุราก็ฆ่าคนอเมริกันปีละ ๔ แสนคนอยู่แล้ว ยาเสพติดอื่นๆ ยังเพิ่มเข้ามาเป็นเพชฌฆาตสังหารคนอเมริกันให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

ยาติดที่คนอเมริกันเสพมีสารพัด ตั้งแต่กัญชาไปจนถึงเฮโรอีน และไม่ใช่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่เสพและติด เด็กนักเรียนก็เสพและติดกันมาก และปรากฏว่าเด็กวัยรุ่นใช้ยาเสพติดมากกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ จากการสำรวจของสถาบันการติดยาแห่งชาติ ได้ตัวเลขออกมาว่า ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ เด็กนักเรียนมัธยมในอเมริกาเคยดื่มสุราแล้วร้อยละ ๙๒.๖ เคยสูบบุหรี่ร้อยละ ๖๙.๗ เคยสูบกัญชาร้อยละ ๕๔.๙ เคยสูบเฮโรอีนร้อยละ ๑.๓ เฮโรอีนเป็นปัญหายาเสพติดที่ร้ายแรงที่สุดของชาติอเมริกันมาหลายสิบปี เพราะราคาแพง มีการลักลอบซื้อขาย และทำให้เกิดอาชญากรรมรุนแรง ตลอดจนก่อปัญหาสุขภาพ คนอเมริกันราว ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดเข้าเส้นเลือด ทำให้การติดยาไปสัมพันธ์กับการเป็นโรคเอดส์ และปรากฏว่า คนไข้โรคเอดส์รายใหม่ทุก ๑ ใน ๔ ราย เป็นพวกติดยาที่ใช้วิธีฉีดเข้าเส้น ต่อมาเมื่อ ๒-๓ ปีนี้ คนเริ่มถอยจากเฮโรอีน และมีการนิยมยาเสพติดโคเคน หรือโคเคอีน โดยเฉพาะชนิดสูบได้ที่เรียกว่า “แครค” (crack) กันมากขึ้น นอกจากสูบได้แล้ว โคเคนนี้จะฉีดเข้าเส้นเลือดก็ได้ด้วย เวลานี้โคเคนได้เลื่อนขึ้นมาเป็นปัญหาสำคัญมาก เพราะเข้าถึงคนทุกชั้น ได้รับความนิยมกันมากแม้แต่ในหมู่นักบริหาร การติดทำให้เกิดความวิปลาสทางจิต ความวิปริตทางกาย ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมทางสังคม ความเสื่อมของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้มีพฤติกรรมแบบรุนแรง เป็นยาที่ติดง่าย ไวที่สุด ราคาก็แพง เมื่อปี ๒๕๒๗ สำรวจได้ว่าเด็กนักเรียนมัธยมที่เคยใช้โคเคนแล้ว มีร้อยละ ๑๖.๑ มาในปี ๒๕๒๙ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า คนอเมริกันที่เคยลองโคเคนแล้วมี ๒๕-๓๐ ล้านคน ที่ใช้เป็นประจำ ๕ ล้านคน ที่ถึงขั้นติดเลยทีเดียว ๒-๓ ล้านคน

ทางด้านสังคม นอกจากปัญหาที่เนื่องอยู่กับกายและใจโดยตรงแล้ว ก็ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ปัญหาอาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาคนชรา ปัญหาทางเพศ ปัญหาระหว่างผิว ปัญหาการว่างงาน ตลอดจนปัญหาความหวาดกลัวสงครามนิวเคลียร์ บางอย่างก็เป็นปัญหาเฉพาะ เชื่อมโยงและกระทบกับปัญหาอื่นโดยอ้อม แต่หลายอย่างเป็นปัญหาที่ส่งผลสืบทอดกับปัญหาอื่นๆ โดยตรง บางอย่างเป็นปัญหาสามัญของมนุษย์ บางอย่างก็เป็นปัญหาพิเศษเกี่ยวกับวัฒนธรรม และบางอย่างเป็นปัญหาของสังคมที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะ

โลกแห่งธรรมชาติ ก็คลาดจากดุล

ทางด้านธรรมชาติแวดล้อม ปัญหาที่เกิดขึ้น พูดได้ว่า เป็นปัญหาของยุคพัฒนาและเกิดจากการพัฒนาโดยตรง ปัญหาด้านนี้อาจจะถือได้ว่าเป็นปัญหายิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในแง่ที่มีผลกระทบกว้างขวางขยายไปทั่วโลก คือ แม้จะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่เดียว แต่ผลแผ่กระจายไปถึงมนุษย์ทั่วทุกแห่ง ปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยตรง ข้อแรกก็คือ ปัญหาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง โดยเฉพาะ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ ปัจจุบันนี้ ควันจากรถยนต์และโรงงานต่างๆ ที่ปล่อยออกไปเป็นประจำ ทำให้มีคาร์บอนเพิ่มขึ้นในบรรยากาศของโลกปีละ ๕,๔๐๐ ล้านตัน (การตัดไม้ทำลายป่าก็ทำให้คาร์บอนในบรรยากาศเพิ่มปีละประมาณ ๒,๖๐๐ ล้านตัน จึงรวมเป็นคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศปีละ ๗,๐๐๐ ล้านตัน) ทำให้กำมะถันเพิ่มขึ้นปีละเกือบ ๑๐๐ ล้านตัน และปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ขึ้นไปอีกปีละจำนวนมาก (คิดเฉลี่ยรายหัว คนอเมริกันและเยอรมันตะวันออกปล่อยคาร์บอนขึ้นไปในอากาศคนละเกือบ ๕ ตันต่อปี ส่วนคนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ปล่อยคาร์บอนขึ้นไปคนละ ๑ ตันเศษ) สิ่งเหล่านี้เป็นมลภาวะที่ทำลายธรรมชาติแวดล้อมและทำให้เสียคุณภาพชีวิต

โดยเฉพาะ เรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายกำลังหวั่นวิตกกันมากก็คือ การที่ออกไซด์ของกำมะถันและไนโตรเจนไปผสมกับความชื้นในอากาศ เกิดเป็นกรดกำมะถันและกรดไนตริคขึ้น เมื่อมีฝนก็ตกลงมากับฝน เรียกกันว่า acid rain แปลง่ายๆ ว่า ฝนน้ำกรด เมื่อมีลมมาก็พัดพาไปได้ไกลๆ ตกลงที่ไหน ก็ก่อความเสียหายที่นั้น ทำลายทั้งธรรมชาติ คือ ต้นไม้ในป่า กุ้งปลาในทะเลสาป พืชพันธุ์ธัญญาหารที่มนุษย์เพาะปลูก และทำลายสิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดกแห่งอารยธรรมของมนุษย์ คือ กัดกินปูนศิลาและโลหะให้ผุกร่อน พร้อมทั้งคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย จากการสำรวจปรากฏว่า ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ ป่าในทวีปยุโรปเสียหายไปประมาณ ๑๙๐ ล้านไร่ หรือ ๑ ใน ๕ ของป่าทั้งหมดในทวีปยุโรป โดยเฉพาะป่าในประเทศเยอรมันตะวันตกเสียหายไปแล้วเกินครึ่ง ที่ชายแดนเยอรมันกับเชคโกสโลวาเกีย ป่ากลายเป็นสุสานต้นไม้ขนาดมหึมา ป่าในสวิสเซอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์ก็เสียหายไปราวครึ่งหนึ่ง ในภาคใต้ของจีนมีการใช้ถ่านหินที่มีกำมะถันสูงกันอย่างมาก ทำให้มีฝนน้ำกรดหนักยิ่งกว่าในอเมริกาเหนือ และปรากฏว่าในแคว้นเสฉวน บริเวณที่เคยเป็นป่าสน บัดนี้ว่างเปล่าไปแล้ว ๙๐ เปอร์เซนต์ แต่ว่าโดยทั่วไปแล้ว ป่าในเขตร้อนลดน้อยลง เพราะการโค่นไม้ใช้ที่ดินทำการเกษตรบ้าง ทำทุ่งเลี้ยงสัตว์บ้าง ตัดไปขายบ้าง ตัดทำฟืนบ้าง แต่ในประเทศอุตสาหกรรมป่าลดป่าหดเพราะมลภาวะโดยเฉพาะฝนน้ำกรดนี้

ในสหรัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในคานาดาภาคตะวันออก นอกจากปัญหาป่าเสียหายมากแล้ว ทะเลสาปจำนวนมากก็ถูกฝนน้ำกรดทำให้ปลาและสัตว์น้ำอยู่ไม่ได้ ปรากฏว่าทะเลสาป ๒๐๐ แห่ง ในสหรัฐภาคตะวันออก และ ๑๔๐ แห่ง ในแคว้นออนตาริโอของคานาดา กลายเป็นทะเลสาปตายแล้ว คือ ไม่มีปลาเหลือ แม้ในยุโรปก็มีสภาพคล้ายกัน เช่น ในสวีเดน ทะเลสาป ๑๘๐๐ แห่งก็ไม่มีสัตว์น้ำเหลืออยู่ ปัญหานี้นอกจากกระทบกระเทือนธรรมชาติและชีวิตของมนุษย์แล้ว ก็กระทบกระเทือนแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ดังที่คานาดาร้องทุกข์หรือกล่าวหาว่า ปัญหาควันพิษที่เกิดขึ้นในคานาดานั้น เกิดมาจากรถยนต์และโรงงานในสหรัฐเสียตั้งครึ่งค่อน

นอกจากปัญหามลภาวะ โดยเฉพาะฝนน้ำกรดนี้แล้ว ปัญหาสำคัญอย่างยิ่งอีกเรื่องหนึ่ง ที่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง ก็คือ คาร์บอนไดออกไซด์ในควันที่ปล่อยกันขึ้นไปนั้น ได้ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทีละน้อยๆ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เวลานี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นแล้ว ๐.๕° เซลเชียส และในช่วง ๑๐ ปีหน้าก็จะเพิ่มขึ้นอีก ๑° เซลเชียส ซึ่งจะทำให้โลกนี้มีความร้อนสูงยิ่งกว่ายุคสมัยใดตั้งแต่เริ่มประวัติศาสตร์ของมนุษย์ (ประมาณปี ๒๕๗๓-๒๕๙๓ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้น ๑.๕-๔.๕° เซลเชียส) ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในภูมิอากาศที่เห็นง่ายๆ เช่น ในกรุงวอชิงตัน เมืองหลวงของสหรัฐ ฤดูร้อนที่อุณหภูมิถึง ๓๒° ซึ่งเคยมีอยู่ ๓๖ วัน ก็จะเพิ่มเป็น ๘๗ วัน และที่อุณหภูมิถึง ๓๘° ซึ่งเคยมีอยู่ ๑ วัน ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ วัน เมื่อโลกร้อนขึ้น กระแสน้ำในมหาสมุทร ก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงไปด้วย บางถิ่นร้อนขึ้น แต่บางถิ่นจะหนาวลง บางถิ่นจะมีน้ำมากขึ้น บางถิ่นจะแห้งลง ทั้งลมและฝนก็จะเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะพายุจะรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะความแตกต่างของอุณหภูมิในต่างพื้นที่ ส่วนในผืนแผ่นดิน เมื่อความร้อนสูงขึ้น การระเหยของน้ำก็มากขึ้น ความชื้นในดินก็จะลดลง เมื่อระบบของดิน น้ำ ลม ไฟ เปลี่ยนไป ก็กระทบกระเทือนการเกษตรให้ต้องเปลี่ยนแปลง บางแห่งการปลูกพืชจะเสื่อมลง บางแห่งจะดีขึ้น ไร่นาที่เคยปลูกข้าว บางแห่งอาจเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้า ฯลฯ และความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ ความสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น น้ำในทะเลก็ขยายตัว และพร้อมกันนั้นภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกก็จะละลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กว่าจะถึง พ.ศ. ๒๕๖๘ รัฐแมสสาจูเซทส์ ซึ่งเป็นรัฐชายทะเลมีขนาดค่อนข้างเล็กในสหรัฐ จะสูญเสียเนื้อที่เพราะถูกน้ำทะเลท่วมหมดไป ๑๘,๗๕๐-๒๕,๐๐๐ ไร่ นอกจากนี้ ขยะและสารเคมีต่างๆ ที่มนุษย์ทำขึ้นมา ยังทำให้สภาพแวดล้อมทั้งดิน น้ำ อากาศ เน่าเสีย เกิดปัญหาอีกมากมาย บางถิ่นแม้แต่มนุษย์เองก็อยู่ไม่ได้ ต้องอพยพทิ้งถิ่นไปเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเสีย จนเริ่มเกิดมีผู้ลี้ภัยหรือคนอพยพชนิดใหม่ เรียกว่า “ผู้ลี้ภัยสภาพแวดล้อม” (environ-mental refugees) เช่นที่ Love Canal ในสหรัฐ และที่ Seveso ในอิตาลี

ว่าโดยสรุป ผลร้ายที่เกิดจากปัญหาการทำลายธรรมชาติแวดล้อมดังที่กล่าวมา คือ ป่าหด ทะเลทรายขยาย (ในประเทศมาลีเพียงประเทศเดียว ทะเลทรายสะฮาร่าขยายกว้างออกไป ๓๕๐ กิโลเมตร ในช่วงเวลา ๒๐ ปี) ทะเลสาปตาย ภูมิอากาศวิปริตและร้อนขึ้น ดินพัง ดินน้ำอากาศเลว เสื่อมคุณภาพ ไร่นาเสียหาย พืชและสัตว์ลดน้อยลง (ในปีหนึ่งๆ พืชและสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปมีจำนวนเป็นพันๆ ชนิด เพราะปรับตัวไม่ทัน ไม่ไหว และไม่มีที่จะอพยพหนี หลายชนิดสูญไปโดยที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อและยังไม่ได้จดเข้าในบัญชีเลย) เกิดภัยธรรมชาติมากขึ้น (เช่น เมื่อป่าถูกทำลาย ก็แห้งแล้ง ฝนไม่มา หรือเมื่อมาก็กลายเป็นน้ำบ่าไหลท่วม เกิดอุทกภัยไปเลย ลมแปรปรวน พายุร้ายยิ่งขึ้น) อาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ผุกร่อน และมนุษย์เองเสื่อมเสียสุขภาพ มีโรคปอด โรคมะเร็ง และโรคภูมิแพ้ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ก็จะต้องสิ้นเปลืองทรัพย์มากมายในการต่อสู้แก้ไขปัญหามลภาวะ

ปัญหาร้ายแรงอีกเรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวไว้ด้วย ก็คือ การใช้ยาปราบศัตรูพืช โดยเฉพาะยาฆ่าแมลง สารเคมีที่ใช้ในการเกษตรนั้นเป็นผลผลิตของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ผู้ได้รับผลร้ายโดยตรงก่อนส่วนใหญ่ คือประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลาย นับแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ ถึงปัจจุบัน มีการผลิตยาปราบศัตรูพืชออกมาขายกันแล้ว ๑๕,๐๐๐ ชนิด นับเป็นสูตรได้กว่า ๓๕,๐๐๐ สูตร (สารเคมีที่มีรายชื่ออยู่ในปัจจุบันทั้งหมด ๔๘,๕๐๐ อย่าง) เวลานี้ ตลาดยาปราบศัตรูพืชใหญ่มาก ประมาณว่า ปีหนึ่งๆ มีการผลิตยาปราบศัตรูพืชออกมาเป็นสารเคมีหนึ่งปอนด์ต่อคนหนึ่งคน คิดเป็นราคาซื้อขายประมาณ ๓๐ พันล้านเหรียญอเมริกัน (ประมาณ ๗ แสน ๕ หมื่นล้านบาท) เฉพาะปี ๒๕๒๘ สหรัฐประเทศเดียวผลิตออกมาเป็นปริมาณ ๑๐๒ ล้านตัน ประเทศที่พัฒนาน้อยทั้งหลาย เป็นผู้ใช้ยาฆ่าแมลงประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของยาที่ผลิตขายกันทั้งหมดในโลก ตลาดใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งหากำไรของยาปราบศัตรูพืชก็คือ ประเทศที่กำลังพัฒนา ยาที่ห้ามขายหรือมีข้อจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดในยุโรปและอเมริกา ก็นำมาขายในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ (พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๔) สารเคมีที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นส่วนที่มีประกาศห้ามขายหรือจำกัดการใช้หรือยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในสหรัฐ ประมาณว่ายาฆ่าแมลงและสารเคมีจำพวกนี้ได้ฆ่าคนลงไปปีละ ๑๔,๐๐๐-๒๙,๐๐๐ คน และทำให้เจ็บป่วยไป ๒ ล้านคน การถูกพิษและการตายทั้งหมด ๗๕ เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ มีแมลงที่พัฒนาตัวขึ้นมาจนสามารถสู้ฤทธิ์ยาฆ่าแมลงบางอย่างได้แล้วถึง ๔๔๗ ชนิด (บางท่านว่าถึง ๖๐๐ ชนิด) และมีแมลงอยู่ประมาณ ๑๗ ชนิดที่สู้ฤทธิ์ยาฆ่าแมลงได้ทุกอย่าง ต่อไปอีก ๒๐ ปีข้างหน้า สารเคมีทุกอย่างที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้จะใช้ไม่ได้ผลเลย ยาที่ใช้กันเวลานี้ก็ร้ายแรงมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะพาราทีออน (Parathion)นั้น มีพิษแรงกว่า ดีดีที ถึง ๖๐ เท่า ในระยะยาว ผู้ที่จะได้รับผลร้ายจากสารเคมีเหล่านี้ ก็คือมนุษย์ทั้งหลายนี้เอง ทั้งโดยตรงจากความประมาทของตนเอง และโดยอ้อมจากสารตกค้างที่อยู่ในดินในน้ำ มาในอากาศ และปนมาในพืชพันธุ์ปลาเนื้อที่เป็นอาหาร และมิใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่จะได้รับโทษ แต่โลกแห่งชีวิตและระบบแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ทั้งหมดจะเป็นอันตราย ผลจากการพัฒนาอย่างที่กล่าวมานี้ ถ้าไม่รีบแก้ไข ผู้เชี่ยวชาญในวิทยาการยุคปัจจุบันนี้ จำนวนมากพากันให้ความเห็นว่า จะถึงวิกฤติการณ์ในขั้นที่ว่า โลกนี้จะไม่อาจเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้อีกต่อไป4

ปัญหาต่างๆ เท่าที่กล่าวมา เริ่มแต่การตายของคนส่วนใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น คนอเมริกัน โดยเฉพาะการตายเพราะโรคหัวใจ ก็มาจากเรื่องของการขาดความสมดุลในระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ คือ พัฒนาไปๆ โดยไม่ได้คำนึงหรือแม้แต่ตระหนักถึงความสมดุลในระบบนั้น แทนที่จะพัฒนาโดยคอยสร้างความประสานเกื้อกูลให้เกิดความสมดุลในระบบ ก็พัฒนาไปในทางที่ทำให้เสียสมดุลมากขึ้นๆ และขาดความรู้จักประมาณ ที่เรียกว่า มัตตัญญุตา เช่น ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เกิดความไม่พอดี ไม่เป็นมัชฌิมา ทำให้มีชีวิตที่ไม่สมดุลระหว่างกายกับใจ ตลอดจนมีความเป็นอยู่ที่ไม่ประสานเกื้อกูลกับธรรมชาติ จนกลายเป็นปัญหาใหม่ของยุคพัฒนาอุตสาหกรรม มนุษย์เริ่มรู้สึกว่าการพัฒนาที่ก้าวไปในแต่ละด้านๆ แต่ละสาขาอย่างเต็มที่เป็นเส้นตรงออกไป จะประสบอุปสรรค คือ พัฒนาไปจนเต็มที่แล้ว แต่ผลที่สุดชีวิตกลับมามีปัญหาขั้นพื้นฐาน เริ่มแต่ขั้นแรก มนุษย์นั้นอยู่กับกายและใจของตัวเองก่อน เมื่อกายกับใจไม่ประสานกลมกลืนกัน ไม่สมดุล ก็เกิดปัญหาขึ้นมา ขั้นที่สอง มนุษย์อยู่กับธรรมชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อมนุษย์อยู่กับธรรมชาติอย่างไม่ประสานกลมกลืน ไม่สมดุลกัน ก็เกิดปัญหาขึ้นอีก แม้แต่โรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ แปลกๆ ปัญหาเกี่ยวกับมลพิษ สภาพแวดล้อมเสีย ก็เป็นปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาแทบทั้งสิ้น แม้ในทางสังคมก็มีปัญหาพัวพันไปด้วยกัน นี่ก็เป็นลักษณะของสังคมที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเราจะถือว่าพึงปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม แต่คนในสังคมที่พัฒนาแล้วนั้นเอง ส่วนใหญ่บอกว่าไม่พึงปรารถนา จึงมีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า คนจำนวนมากในประเทศพัฒนาแล้ว เขามองสังคมของเขาเองที่พัฒนาแล้วนั้นว่า เป็นสังคมที่มีปัญหา ยังไม่พึงปรารถนา และกำลังหาทางออก ฉะนั้น การที่เราจะพัฒนาตามเขาต่อไปนี้ ก็น่าพิจารณาว่าจะเอาอย่างไรกัน นี้ก็เป็นเรื่องของการที่เรามาประสบปัญหาใหม่ ที่จะต้องนำมาคิด และการที่วิทยาการตลอดจนวิธีการต่างๆ ในการสร้างความเจริญตามแบบของยุคพัฒนาได้มาถึงจุดอุดตัน แก้ปัญหาของมนุษย์ไม่สำเร็จ เพราะเจริญอย่างกระจัดกระจายตรงออกไปในด้านของตนๆ อย่างเดียว

เบื้องหลังปัญหาการพัฒนาระดับโลก

ที่ว่าวิทยาการต่างๆ เจริญตรงออกไปด้านเดียวนั้นเป็นอย่างไร การพัฒนาของวิชาการแบบตะวันตกนี่เจริญมาแบบไม่ประสานกัน อย่างที่พูดแล้วว่าเป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง จะขอยกตัวอย่าง เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ถือตัวว่าเป็นวิชาสังคมศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด แต่จะเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร ขอพูดให้เห็นสักอย่างหนึ่งคือ เรื่องของวิทยาศาสตร์นั้นเกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัย ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยเป็นเรื่องสำคัญและเป็นฐานของวิทยาศาสตร์ เหตุปัจจัยส่งต่อกันไปเรื่อยๆ จากอันนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดผลนั้น ผลนั้นกลับเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดผลนี้ ผลนี้กลายเป็นเหตุอีกทำให้เกิดผลอื่นต่อไปเรื่อยๆ เป็นกระบวนการ ความต้องการเป็นฐานแรกของเศรษฐศาสตร์ การที่มนุษย์พยายามแสวงหาและผลิตอะไรต่างๆ ขึ้นมาก็เพื่อสนองความต้องการ การสนองความต้องการนี้จบสิ้นลงด้วยการบริโภคแล้วเกิดความพอใจ เพราะฉะนั้น เรื่องของเศรษฐศาสตร์นี้แทบจะพูดได้ว่า เริ่มต้นด้วยความต้องการ และจบลงด้วยการบริโภค พอได้บริโภคก็ได้สนองความต้องการ เกิดความพอใจ แล้วก็จบ แต่เป็นการจบในแง่วิชาการเท่านั้น ในความเป็นจริงมันไม่จบ ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยมันจบไม่ได้ พอได้บริโภคแล้วเกิดความพอใจ เรานึกว่าจบ แต่ความจริงเมื่อได้บริโภคแล้วมันก็จะเป็นเหตุก่อผลต่อไปอีก การบริโภคนี้จะเป็นเหตุให้เกิดผลอะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ เราได้กินอาหารเสร็จแล้วจะเป็นเหตุอย่างไร ในด้านที่หนึ่ง ก็เป็นเหตุให้ร่างกายได้รับการตอบสนองความต้องการ คือหายหิวและร่างกายเจริญเติบโตซ่อมแซมตัวเองได้ นี้ด้านหนึ่ง ซึ่งก็เป็นผลที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้คำนึง อีกด้านหนึ่ง การบริโภคอาจจะก่อให้เกิดผล คือบริโภคเอร็ดอร่อยมาก แต่กินเกินพอดี กินไปกินมา อาหารไม่ย่อยเกิดโทษแก่ร่างกาย ฉะนั้น การบริโภคไม่จบแค่ความพอใจเท่านั้น แต่จะเป็นเหตุปัจจัยต่อไปอีก คือ การบริโภคอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดคุณภาพชีวิตก็ได้ หรือจะเป็นสาเหตุของการทำลายคุณภาพชีวิตก็ได้ และต่อจากนี้แล้วมันก็ยังจะเป็นเหตุปัจจัยต่อไปอีก ทำให้เกิดผลต่อชีวิตมนุษย์และสังคมมากมาย เศรษฐศาสตร์จบ แต่กระบวนการของเหตุปัจจัยไม่จบ ดังนั้น เศรษฐศาสตร์แบบปัจจุบัน จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ วิชาการปัจจุบันนี้แทบทุกอย่างจะเป็นอย่างนี้ทั้งสิ้น คือ มีจุดจบในสาขาของตัวเองแล้วไม่ต่อ เมื่อไม่ต่อก็ไปไม่ตลอดกระบวนการของเหตุปัจจัย ไม่ครบวงจร ก็แก้ปัญหาของมนุษย์ไม่ได้ อันนี้เรียกว่าการศึกษากระบวนการของเหตุปัจจัยไม่ตลอดสาย ไม่ครบวงจร

ต่อไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิทยาการยุคอุตสาหกรรมมีลักษณะที่ไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับวิชาการด้านอื่น สิ่งทั้งหลายในชีวิตและในสังคมมนุษย์นั้น จะต้องมีความอิงอาศัยซึ่งกันและกันทุกอย่าง เช่น กายกับใจของเรานี้ก็มีความสัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน กายมีความเครียดมากก็อาจจะเกิดภาวะที่ทำให้จิตใจไม่สบาย ปัญหาทางจิตใจก็เกิดขึ้น เมื่อมีปัญหาทางจิตใจ ก็อาจจะทำให้ร่างกายมีโรคภัยไข้เจ็บได้ หรือเมื่อชีวิตของเรานี้ ไปสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ถ้าชีวิตกับธรรมชาติอยู่กันไม่ดี เราอาจจะไปทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ แล้วสภาพแวดล้อมนั้นเน่าเสีย ก็กลับมาเป็นปัญหาต่อสุขภาพของเราเองอีก หรือคนไม่กินอาหารตามธรรมชาติ ใส่สารเจือปนมากก็ทำให้เกิดพิษแก่ร่างกาย เกิดเป็นโรคขึ้น หรือว่าคนอยู่ด้วยกันในสังคม ถ้าอยู่อย่างไม่กลมกลืนมีความขัดแย้งแก่งแย่ง ก็มีปัญหาเกิดโทษขึ้นมา ทีนี้ ในการพิจารณาปัญหาต่างๆ วิชาการปัจจุบันจะพิจารณาเฉพาะในแง่ของตัวเองโดยขาดความเชื่อมโยง เช่น นักเศรษฐศาสตร์อาจจะพิจารณาความเจริญ หรือความเป็นอยู่ของพลเมืองหรือประชาชนในประเทศหนึ่งด้วยการดูผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือแม้กระทั่งว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัว พอบอกว่าประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่านี้ หรือแม้แต่จะเฉลี่ยไปถึงภาคว่า ภาคนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่านั้น ถ้าคร้าน ไม่มีการวิเคราะห์ต่อไป ก็ลงสรุปเอาว่า คนไทยมีความเป็นอยู่ขนาดนั้น ซึ่งที่จริงอาจจะผิดพลาดไปมาก เช่น ในการเฉลี่ยรายได้ของคนในชาตินี้ สมมติว่า มีคนอยู่ห้าร้อยคนในประเทศไทยที่มีรายได้ปีละสองร้อยล้านบาท คน ๓ ล้านคนมีรายได้ปีละ ๗ หมื่นบาท คน ๕ ล้านคนมีรายได้ปีละ ๓ หมื่นบาท ทีนี้อีก ๔๕ ล้านคนมีรายได้ปีละพันบาท พอเฉลี่ยรายได้ต่อปีต่อคน ก็กลายเป็นว่าคนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวคนละตั้ง ๙,๕๐๐ บาทต่อปี ถ้าเราเอาตัวเลขอย่างนี้มาวัด ก็กลายเป็นว่า คนไทยนี้มีความเจริญเป็นอยู่พอไหว รายได้ต่อหัวตั้งเกือบหนึ่งหมื่นบาท ดังนี้เป็นต้น เมื่อสรุปกันง่ายๆ อย่างนี้ ก็เป็นแง่หนึ่งที่อาจจะทำให้แก้ปัญหาไม่ถูกต้อง

แต่แค่นี้ยังไม่พอ ข้อพิจารณาต่อจากนี้ก็คือ แม้แต่การเอารายได้ต่อหัวของคนมาวัดกันก็ไม่ได้ เช่น วัดสังคมไทยกับสังคมอเมริกัน คนในสังคมอเมริกัน มีรายได้หมื่นบาทต่อปี คงอยู่ไม่ได้ แต่คนไทยในชนบทอาจจะอยู่ได้ และอาจจะมีความสุขพอสมควรด้วย ปัจจัยที่ทำให้คนมีชีวิตอยู่ได้และมีความสุขอาจจะมีตั้งหลายอย่างหลายประการ ไม่ใช่จะมามองดูรายได้เฉลี่ยต่อหัวอย่างเดียว เช่น ในบางท้องถิ่น ความเป็นอยู่ของคนไม่ค่อยอาศัยเงิน เขาอาจจะอยู่ด้วยอาศัยพืชพันธุ์ธัญญาหารตามธรรมชาติมากสักหน่อย การใช้เงินก็ไม่ค่อยมีความสำคัญ ในกรณีอย่างนี้ จะเอารายได้เฉลี่ยต่อหัวไปวัดความเป็นอยู่ของเขาได้อย่างไร ในด้านความสุขก็เกี่ยวกับความต้องการอีก คนที่มีความต้องการน้อย อาจมีความสุขมากกว่าคนที่มีความต้องการมากซึ่งมีรายได้เท่ากัน ปัญหาทั้งหลายมีแง่พิจารณาหลายอย่าง มีทั้งองค์ประกอบทางสังคม ค่านิยม ตลอดจนคุณธรรมในจิตใจ เรื่องราวในความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ แต่วิชาการแต่ละสาขา พิจารณาเฉพาะในแง่ของตัวเอง จึงพูดได้ว่า วิชาการเหล่านั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะขาดสิ่งหนึ่งคือ ความเชื่อมโยงประสาน นี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

รวมความว่า ลักษณะสำคัญ ๒ อย่างที่เป็นเหตุให้วิทยาการทั้งหลายมาถึงความอุดตันตามที่กล่าวมานี้ ก็คือ ประการที่หนึ่ง การมองกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยไม่ทั่วตลอด ไม่ตลอดสาย ไม่ครบวงจร และประการที่สอง การมองปัญหาแต่ในแง่ของตน ไม่เชื่อมโยงกันกับองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้การพิจารณาปัญหาต่างๆ ติดตัน แก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด นี้คือความเจริญของวิทยาการในสังคมแบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีลักษณะที่เขาเรียกว่าเป็นทัศนะแบบแบ่งซอย คือแบ่งซอยทุกอย่างออกไป แล้วก็มองในแง่เดียว ไม่โยงกับอย่างอื่น แต่ถ้ามองดูตามหลักความจริงที่ควรจะเป็น จะเห็นว่า ในเรื่องทุกอย่าง จะต้องมองเหตุปัจจัยให้ตลอดสาย เมื่อมีเหตุอย่างหนึ่งและผลเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ได้จบแค่นั้น แต่จะเป็นเหตุปัจจัยส่งผลต่อไปเรื่อยๆ และจะต้องเชื่อมโยงองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเข้ามาถึงกัน เหมือนอย่างในหลักพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงชีวิต เราก็แยกออกเป็นนามรูป เป็นกายกับใจ แล้วแยกออกไปเป็นขันธ์ห้า ขันธ์ห้าแยกออกไปอีก แต่ละอย่างแยกออกไปเป็นอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่แยกเสร็จแล้วต้องโยงกันด้วยว่า ส่วนที่แยกย่อยเหล่านั้น มีความสัมพันธ์โยงประสานกันอย่างไร หลักสำคัญคือแยกแล้วต้องโยงให้ได้ แต่ความเจริญในยุคปัจจุบันมีแต่แยกแล้วไม่โยงกัน ก็จึงติดตัน

วิธีสร้างความเจริญในยุคต่อจากนี้ไป ไม่ใช่ว่าควรจะเลิกแยก แต่แยกแล้วต้องโยงด้วย อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ สิ่งทั้งหลายเมื่อแยกออกไปแล้วศึกษาเฉพาะอย่างๆ มันก็เป็นองค์ประกอบที่ตาย เหมือนอย่างร่างกายของเรา ถ้าแยกออกไปเป็นท่อนเป็นชิ้นแล้ว ก็เป็นของตาย การศึกษาอย่างนั้นไม่จบไม่ครบถ้วน การศึกษาที่จะครบถ้วนได้จะต้องมองเห็นสิ่งนั้นในขณะทำหน้าที่ของมัน โดยประสานสัมพันธ์กับสิ่งอื่นด้วย เหมือนกับร่ายกายของเรานั้น เราจะศึกษาให้เข้าใจชัดเจน ถ่องแท้ ก็ต้องศึกษาในขณะที่มันทำงานด้วย เพราะในการทำงานนั้น ส่วนย่อยทุกอย่างจะทำหน้าที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับส่วนอื่น มีผลกระทบต่อส่วนอื่น และได้รับผลกระทบจากส่วนอื่นด้วย หรือเหมือนกับคนที่ศึกษาเครื่องยนต์ จะถอดชิ้นส่วนทุกชิ้นแยกออกมาศึกษาเท่านั้น ยังไม่พอ ต้องศึกษาการที่มันทำงานสัมพันธ์กับชิ้นส่วนอื่นๆ ในกระบวนการและระบบทั้งหมดด้วย เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนา เราแยกชีวิตออกเป็นขันธ์ ๕ และโยงขันธ์ทั้ง ๕ ให้เห็นความสัมพันธ์กันแล้วก็ยังไม่พอ ต้องศึกษาขันธ์ ๕ นั้นในขณะทำหน้าที่ในความเป็นจริงอีกด้วย โดยมาดูกระบวนการที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาอิงอาศัยซึ่งกันและกัน

ที่พูดมานี้ ก็ต้องการให้เห็นว่า ความเจริญในยุคอุตสาหกรรม ที่ชำนาญในด้านการแยกหรือการแบ่งซอยนั้น ได้ขาดหลักสำคัญไปอย่างหนึ่ง คือการแยกแล้วโยง เมื่อแยกแล้วโยงก็จะทำให้เห็นความจริงของทุกส่วนทั่วตลอด ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายภายในองค์รวม ทำให้เกิดภาวะสมดุลพอดี ประสานกลมกลืน ที่องค์ประกอบทั้งหลายจะอยู่ร่วมกันด้วยดี เมื่อองค์ประกอบอยู่ร่วมกันดีมีความสมดุลแล้ว องค์รวมก็อยู่ดีสมบูรณ์ด้วย ในการมองชีวิตก็ต้องมองความสัมพันธ์ให้ครบถ้วน มองครบทั้งกายและใจ ไม่ใช่มองส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องมองความเป็นไปของกายว่าสัมพันธ์กับใจอย่างไร ใจเป็นไปสัมพันธ์กับกายอย่างไร เมื่อมองกายกับใจสัมพันธ์แล้วก็มองทั้งชีวิตว่าสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร แล้วก็ไปสัมพันธ์กับสังคมอย่างไร อันนี้เป็นหลักของการอิงอาศัยและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น วิทยาการต่างๆ จะต้องถูกมองและนำไปใช้โดยวิธีใหม่ ในลักษณะที่โยงกัน ให้เกื้อกูลแก่ชีวิตที่อิงอาศัยอยู่กับธรรมชาติและสังคมโดยสอดคล้องกลมกลืน อย่างไรก็ตาม การที่เราได้เจริญมาในวิทยาการสาขาต่างๆ แบบชำนาญพิเศษเฉพาะทางนั้น ก็ไม่ใช่ไร้ประโยชน์ แต่ถึงเวลาที่ต้องพิจารณาหรือคิดต่อไปอีกว่า จะนำเอาวิชาการต่างๆ เหล่านั้นมาโยงกันได้อย่างไร หรือพูดให้ถูกว่า จะต้องศึกษาดูว่า วิทยาการเหล่านั้นมีความสัมพันธ์และทำหน้าที่เชื่อมประสานโยงถึงกันอย่างไร ภายในภาพรวมของความเป็นจริง

เทคโนโลยี: ผู้แปลกหน้า มาดีหรือมาร้าย

แม้แต่เทคโนโลยีก็เหมือนกัน จะต้องถูกนำมาใช้ภายใต้การพิจารณาควบคุมให้ช่วยส่งเสริมเกื้อกูลแก่ชีวิตที่ประสานกลมกลืนในธรรมชาติและสังคมนี้ ยิ่งสังคมเจริญขึ้นเท่าไร การควบคุมเทคโนโลยีก็มีความสำคัญยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่การที่มนุษย์จะควบคุมเทคโนโลยีให้ได้ผลดี เพื่อช่วยให้ชีวิตมนุษย์อยู่ได้ด้วยดีทั้งกายและใจ ภายในความประสานเกื้อกูล กับสภาพแวดล้อมทั้งธรรมชาติและสังคมนั้น มนุษย์จะต้องรู้จักควบคุมตนเองได้ เพราะฉะนั้น มนุษย์ในยุคนี้ ยิ่งเจริญขึ้นไป ก็ยิ่งต้องการการควบคุมตัวเองมากขึ้น

คนในสมัยปัจจุบันนี้จำนวนมาก ฝากความหวังไว้กับเทคโนโลยีว่า เทคโนโลยีนี่แหละจะเป็นตัวเอกที่นำมาซึ่งสันติสุขแก่มนุษย์ จะให้ความสมหวังและความเพียบพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่าง อันนี้เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา จึงควรจะคุยกันเรื่องเทคโนโลยีอีกนิดหน่อยก่อนที่จะผ่านไปจากยุคพัฒนานี้ แต่ได้บอกแล้วว่า เจ้าบทบาทสำคัญของความเจริญในยุคอุตสาหกรรม หรือ ตัวเอกที่ทำให้ประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้วได้พัฒนาตัวขึ้นมา ก็คือเทคโนโลยีนี้แหละ เพราะฉะนั้น บทเรียนที่ผ่านมาน่าจะได้สอนไปด้วยส่วนหนึ่งแล้วว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้มนุษย์เกิดมีสันติสุขที่แท้จริง เพราะมิฉะนั้นแล้ว ประเทศที่เจริญทางด้านเทคโนโลยี ก็น่าจะมีความสุขสมบูรณ์มากที่สุด

เทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างไร เทคโนโลยีเกิดขึ้นจากความต้องการของมนุษย์ คือความต้องการที่จะทำอะไรบางอย่างให้ได้ เมื่อยังทำไม่ได้ก็พัฒนาเครื่องช่วยขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์ในยุคบุพกาลเมื่อจะเจริญขึ้นมาเป็นยุคเกษตรกรรมนั้น ต้องการจะมีพืชและสัตว์ที่เป็นของตัวเอง ซึ่งพร้อมที่จะทำเป็นอาหารได้ทันใจ โดยไม่ต้องไปเที่ยวเก็บอาหารที่ขึ้นตามธรรมชาติ และไม่ต้องไปเที่ยวตามล่า วิ่งไล่สัตว์ แต่จะทำอย่างไร ก็ต้องทำขึ้นมาด้วยตนเอง โดยเพาะปลูกเอง แล้วก็เลี้ยงสัตว์เอง แต่ในการที่จะเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เองนั้น มนุษย์จะต้องมีเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวก จะมัวเอามือมาตักดินขุดหญ้าอยู่ไม่ไหว ตอนแรกก็อาจจะเอาไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาแซะๆ ขุดๆ ดิน ต่อมาบางคนก็มีความคิดขึ้น แล้วก็พัฒนาไม้นั้นเป็นเครื่องมือ จนในที่สุดก็เกิดจอบขึ้นมา จากความต้องการที่จะใช้งานก็พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา จึงมีเทคโนโลยีในระบบเกษตรกรรม เช่น มีเสียม มีจอบ เป็นต้น เป็นเครื่องมือที่จะใช้ทำงาน เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแล้ว ก็กลับมาเป็นเครื่องกำหนดวิถีชีวิตของมนุษย์ มนุษย์ที่เกิดขึ้นมาในสภาพสังคมแบบนั้น มีเครื่องมือแบบนั้น ก็ต้องทำงานและดำเนินชีวิตอยู่ในแบบนั้น มีเครื่องมือแบบเพาะปลูก ก็ต้องเพาะปลูกกันไป วิถีชีวิตก็ถูกกำหนดโดยเทคโนโลยี แต่มนุษย์จะถูกกำหนดโดยเทคโนโลยีฝ่ายเดียวไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่พัฒนา เมื่อมนุษย์ต้องการที่จะพัฒนาต่อไป ก็ต้องพัฒนาเครื่องมือต่อมาอีก จนในที่สุดเทคโนโลยีก็เจริญขึ้นสู่ยุคอุตสาหกรรม นี่ก็เป็นการแสดงถึงพัฒนาการของมนุษย์ที่ก้าวสู่ยุคสมัยต่างๆ แห่งอารยธรรมโดยสัมพันธ์กับเทคโนโลยี เทคโนโลยีก็จึงมีบทบาทมากในความเจริญหรืออารยธรรมของมนุษย์

เทคโนโลยีนี้ ถ้ามองดูให้กว้าง จะเห็นว่ามีเหตุปัจจัยหลักอยู่ ๒ อย่าง อย่างแรก เช่นตัวอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ คือเรื่องเกี่ยวกับการทำมาหากิน ที่ว่าพัฒนาจอบเสียม ตลอดจนเครื่องจักรกลในการผลิตอะไรต่างๆ แต่การพัฒนาเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งเกิดจากการต่อสู้ป้องกันภัย มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อต่อสู้ป้องกันตัวให้พ้นภัยธรรมชาติบ้าง ภัยจากสัตว์ร้ายบ้าง ภัยจากมนุษย์ด้วยกันบ้าง ตอนแรกก็อาจจะเอาหินมาขว้างปา ต่อมาก็พัฒนาหินนั้นทำให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น มีการเสี้ยมมีการลับให้แหลมคมขึ้นมาเป็นอาวุธ ต่อมาแค่นั้นไม่พอ ก็พัฒนามาเป็นขวานเป็นดาบเป็นเครื่องขว้างเครื่องยิงต่างๆ มากมาย มนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมามากมายเหลือเกินจากการต่อสู้ป้องกันภัย เมื่อพัฒนาตอนแรกๆ เราจะเห็นว่า เทคโนโลยีสำหรับการต่อสู้ป้องกันภัยนั้น มักจะใช้ได้ด้วยกันกับการเป็นอยู่หรือทำมาหากิน สอดคล้องกับชีวิตจริงที่มักต้องต่อสู้ป้องกันภัย ในการหาและแย่งอาหาร เช่น มีดก็อาจจะเอาไว้ใช้ต่อสู้แทงฟันคนอื่น แทงฟันสัตว์ ตลอดจนผ่าฟืนตัดต้นไม้ทำอาหารได้ด้วย แม้แต่มีปืนแล้วก็ยังเอาไปยิงสัตว์ล่าสัตว์ได้ ในสมัยก่อนโน้นเทคโนโลยีจึงยังเป็นเรื่องกว้างๆ ไม่ค่อยชำนาญเฉพาะ

ต่อมามนุษย์เจริญมากขึ้น มีเวลาว่างจากการทำมาหากินมากขึ้น การหากามและบริโภคกามก็มีบทบาทมากขึ้นในชีวิตของมนุษย์ มนุษย์ก็ทำร้ายต่อสู้กันเพราะเรื่องกามมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น เพื่อผลทั้งในการหากินและในการหากาม มนุษย์ก็ต้องการอำนาจและหาอำนาจมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เมื่อมนุษย์เจริญขึ้น ก็มีการแบ่งงานแบ่งการแบ่งหน้าที่กันทำมากยิ่งขึ้น ความชำนาญพิเศษเฉพาะทางก็พัฒนามากขึ้น วิทยาการเฉพาะด้านก็แตกสาขาละเอียดลออลึกซึ้ง กระจายตัวยิ่งขึ้น การหากิน หากาม และหาอำนาจ ที่เคยเป็นกิจกรรมปะปนรวมๆ กันอยู่ มองเห็นความสัมพันธ์กันชัดๆ ตรงๆ ก็แยกออกเป็นกิจกรรมเฉพาะด้าน มุ่งไปในเรื่องของตัว โดยมีความสัมพันธ์โยงกันและเป็นปัจจัยต่อกันอย่างลี้ลับซับซ้อนหรืออ้อมไปอ้อมมา จนถึงกับว่า ถ้าไม่ได้พินิจพิจารณา ก็มองไม่เห็นว่า การหาอำนาจโยงไปถึงการหากามและหากินอย่างไร เมื่อกิจกรรม ความชำนาญ และวิทยาการทั้งหลาย เป็นเรื่องเฉพาะด้านเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น ความแตกต่างในหมู่มนุษย์ก็มีมากขึ้น และสังคมก็มีความสลับซับซ้อนหลากหลายมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีเองก็ได้รับการพัฒนาให้มีความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านมากขึ้นๆ จนกระทั่งอาวุธที่ใช้ฆ่าคนก็ต้องเป็นเครื่องมือโดยเฉพาะ คือเป็นอาวุธที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้ฆ่าคนให้ได้ผลมากที่สุดโดยเฉพาะ ซึ่งอาวุธเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ในด้านอื่นๆ เลย ไม่มีประโยชน์ในการทำมาหากิน นอกจากทำมาขายให้คนอื่นซื้อไปใช้ ตลอดจนประเทศที่พัฒนาแล้วเอามาขายให้ประเทศที่ด้อยพัฒนาเอาไปใช้ฆ่าฟันทำสงครามกัน จึงอาจจะมีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจบ้าง แต่โดยธรรมดาแล้วก็เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาเฉพาะด้าน โดยไม่มีคุณค่าด้านอื่น เทคโนโลยีประเภทนี้ได้เจริญมามาก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า พร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการต่อสู้กันมากขึ้นด้วย

ในสมัยก่อนนั้น คุณค่าของเทคโนโลยี เขาพิจารณากันในแง่คุณและโทษต่อการทำมาหากิน และประสิทธิภาพในการใช้งานทำมาหากิน หรือใช้ในการต่อสู้ทำศึกสงครามว่าสำเร็จผลดีแค่ไหน แต่ต่อมาปัญหาของเทคโนโลยีได้ก้าวไกลออกไปอีก โดยที่มนุษย์ได้ตระหนักว่า มันได้เข้ามามีผลต่อชีวิตมนุษย์ โดยก่อปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมและสังคมอีกด้วย เทคโนโลยีบางอย่างพัฒนาขึ้นมาแล้ว ทำให้มนุษย์อยู่ดีกินดี แต่ทำให้สภาพแวดล้อมเสีย เช่น ทำให้เกิดมลภาวะ เป็นปัญหาใหม่เกิดขึ้นที่จะต้องพิจารณา มนุษย์เพิ่งจะเริ่มตระหนักกันมาสิบกว่าปีนี้เอง เกี่ยวกับปัญหาเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งรวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจในแง่ที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น การมีโทรทัศน์อาจจะก่อโทษแก่สังคมหรือไม่ วีดีโอก่อโทษแก่สังคมอย่างไร การที่เรามีรถวิ่งกันและมีน้ำมันใช้กันอย่างมากมายนั้น ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นมลพิษในสภาพแวดล้อม แล้วสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษนั้น ก็ทำให้ชีวิตคนไม่เป็นสุข ก่อให้เกิดโทษแก่สังคมต่อไป โยงและพันกันไปหมด เพราะฉะนั้น การพิจารณาคุณค่าของเทคโนโลยีในสมัยปัจจุบันจึงก้าวต่อมาอีกขั้นหนึ่งคือ นอกเหนือจากการประเมินคุณค่าในแง่การทำมาหากิน และการต่อสู้ป้องกันภัยแล้ว ก็มาพิจารณาในแง่คุณโทษต่อสภาพแวดล้อมหรือต่อธรรมชาติและต่อสังคมด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จึงยิ่งทำให้ทัศนะที่มองในแง่ของการประสานกลมกลืน และความสัมพันธ์อิงอาศัยกันขององค์ประกอบทั้งหลาย มีความสำคัญมากขึ้น

เทคโนโลยี: ปัจจัยนอกระบบ
เพียงแปลกหน้า หรือว่าแปลกปลอม

ในเมื่อมนุษย์ใช้เทคโนโลยีในรูปต่างๆ มากมาย เราก็มาดูว่า การพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งในด้านหนึ่งให้ความหวังแก่มนุษย์ว่า จะอยู่ด้วยความสงบสุข มีความเพียบพร้อมสมบูรณ์นั้น เป็นความจริงหรือไม่ เป็นการมองด้านเดียวหรือไม่ พร้อมกับการพัฒนาที่ให้เกิดความสุขสมบูรณ์นั้น อีกด้านหนึ่ง การต่อสู้ป้องกันภัยก็หนักยิ่งขึ้นด้วย และไม่เฉพาะการต่อสู้ป้องกันภัยอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้เท่านั้น แม้แต่เทคโนโลยีที่เข้าใจว่าเป็นคุณประโยชน์แก่การทำมาหาเลี้ยงชีพ น่าจะเป็นคุณอย่างเดียว ก็ยังมีปัญหาก่อโทษแก่ธรรมชาติแวดล้อม แล้วก็หวนกลับมาเป็นโทษแก่สังคมมนุษย์อีกด้วย แต่เรื่องไม่จบเท่านี้ การพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปนี้ ซึ่งเทคโนโลยีจะเจริญมากนั้น จะมีปัญหาในการใช้มากขึ้นด้วย นอกจากการใช้ในด้านบวกแล้ว การนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านลบก็จะเป็นไปได้มากเช่นเดียวกัน ในประเทศที่เจริญแล้วก็กำลังมีการพิจารณาในด้านนี้ เช่นปัจจุบันนี้มีความเจริญในด้านที่เรียกว่า พันธุวิศวกรรม หรือ genetic engineering ถึงขั้นที่มนุษย์จะสามารถสร้างชีวิตแบบใหม่ขึ้นมาได้ มนุษย์ถึงกับวาดความหวังกันว่า ต่อไปในไม่ช้า เราอาจจะสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่ดีกว่าเดิมก็ได้ เดี๋ยวนี้ได้มีการเริ่มเพาะพันธุ์มนุษย์ในหลอดแก้วแล้ว แม้จะยังไม่ถึงขั้นทำชีวิตใหม่ขึ้นมาแท้จริง แต่มนุษย์ในยุคปัจจุบันก็เริ่มหวังจากการพัฒนาสัตว์เล็กๆ ก่อน มนุษย์คิดว่าตนกำลังจะพัฒนาชีวิตที่เล็กที่สุดขึ้นมาได้ ต่อไปเมื่อมนุษย์มีความสามารถเช่นนี้มากขึ้น ก็จะสามารถกำหนดวิถีแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์เองได้ด้วยวิธีทางพันธุวิศวกรรมนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน ปัญหาก็สามารถเกิดได้หลายแบบหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทยาบริษัทหนึ่งต้องการขายยาให้ได้มาก ก็อาจจะใช้ห้องแลบ (lab) ทำการผลิตชีวิตแบบใหม่ขึ้นมาชนิดหนึ่ง เป็นโรคใหม่ พูดง่ายๆ ว่าผลิตโรคชนิดใหม่ขึ้นมาโรคหนึ่ง แล้วก็ใช้วิธีการลึกลับแอบแฝงแพร่โรคนี้ให้กระจายไปในสังคม พอโรคนี้แพร่ไปในสังคม บริษัทนี้ซึ่งได้เตรียมการไว้แล้ว คือได้ผลิตยารักษาโรคนี้ไว้โดยเฉพาะ ในขณะที่คนอื่นไม่มียาจะรักษา ก็ขายยาได้บริษัทเดียว เลยรวยเต็มที่ นี่ก็จะเป็นวิธีหาผลประโยชน์แบบใหม่จากความเจริญในทางเทคโนโลยี

อีกตัวอย่างหนึ่ง ปัจจุบันนี้การแพทย์เจริญมาก และสามารถมากขึ้นในการที่จะผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะของคน ได้มีการสร้างเป็นเรื่องทำนองนิยายขึ้นมา แต่เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า แพทย์เห็นแก่รายได้ มุ่งผลประโยชน์แบบธุรกิจ มีคนไข้คนหนึ่งมารักษาโรค คนไข้ก็ไม่รู้ว่าตัวเป็นโรคอะไร ที่จริงคนไข้เป็นโรคนิดเดียว แพทย์ก็บอกว่าจะต้องผ่าตัด เสร็จแล้วแพทย์ก็อาจจะผ่าเอาอวัยวะอย่างหนึ่งที่ดีสมบูรณ์ของคนนั้นไว้ อาจจะเป็นไตหรือม้ามหรืออะไรก็แล้วแต่ ผ่าเอาของดีออกมาแล้วก็เอาของที่คุณภาพไม่ดีใส่เข้าไป คนไข้คนนั้นออกจากโรงพยาบาล อาจจะหายโรคที่ตัวเข้าไป แต่กลายเป็นโรคใหม่หรือกลายเป็นคนไม่สมบูรณ์ แล้วก็ไปดำเนินชีวิต ต่อมาไม่ช้าก็ตาย แพทย์ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ และแพทย์ก็ได้ผลโดยเอาอวัยวะดีที่สมบูรณ์ของคนนี้มาเก็บไว้ในธนาคารอวัยวะ แล้วต่อมาเห็นคนไข้ที่มีฐานะดีมีเงินมากเข้ามา ก็ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เอาอวัยวะนี้ใส่ให้ เอาไตใหม่ใส่ให้ เอาม้ามจากคนที่ออกไปแล้วเมื่อกี้นี้ใส่ให้ ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ทำได้ เป็นตัวอย่างที่แสดงว่า ถ้าคนเรามีใจประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ เสียแล้ว เทคโนโลยีก็ไม่มีทางที่จะทำให้ปลอดพ้นจากปัญหา แต่จะทำให้ปัญหามากขึ้นและร้ายแรงยิ่งขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีที่จะใช้สร้างปัญหาและทวีความรุนแรงร้ายแรงนั้น แล้วมนุษย์ก็จะไม่มีทางได้พบสันติสุข

แม้แต่ในปัจจุบันนี้ เมื่อแต่งเรื่องเกี่ยวกับความเจริญของเทคโนโลยีในอนาคต เช่นในหนังทีวี ขอให้นึกดูว่าหนังทีวีเกี่ยวกับความเจริญของเทคโนโลยีในอนาคต เป็นเรื่องอะไร ประเภทไหน ก็จะเห็นว่า ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสงคราม การรบกันที่ก้าวหน้าจนกระทั่งต่อสู้กันในอวกาศ นี่เป็นความใฝ่ฝันของมนุษย์ต่อความเจริญทางเทคโนโลยี ความใฝ่ฝันส่วนใหญ่แสดงออกในทางรุนแรง ในการใช้ทำสงครามกัน ต่อสู้กัน ครองอำนาจ แย่งชิงเวหา รบกันในโลกนี้ไม่พอ ก็ไปรบกันต่อในอวกาศ ต่อไปมนุษย์ยิ่งเจริญขึ้นไปอีก ไปอยู่ในอวกาศหรืออยู่คนละดาว ก็มีหวังที่จะต้องรบกันระหว่างดาว การพัฒนาเทคโนโลยีก็จะเป็นไปในทิศทางของการสนองความต้องการในรูปนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์ก็จะมีวิธีการมากมายที่จะผลิตจะใช้และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนองโลภะ โทสะ และโมหะ ยิ่งเจริญมากก็ยิ่งใช้ได้แรงร้ายมาก แม้แต่ในด้านอินฟอร์เมชั่น หรือข่าวสารข้อมูลก็เหมือนกัน ต่อไประบบคอมพิวเตอร์เจริญกว้างขวาง ก้าวหน้า และแพร่หลายออกไป คนก็อาจจะทำร้ายกันโดยทางข่าวสารข้อมูล โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง แทนที่จะลงหนังสือพิมพ์ ด่าในหนังสือพิมพ์ หรือในสื่อสารมวลชน ก็อาจจะใช้ระบบสื่อสารในยุคที่เจริญก้าวหน้าด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เป็นเครื่องมือ ที่เห็นได้ชัดเจนเพราะเกิดขึ้นแล้วก็คือ เวลานี้มีสิ่งที่เรียกว่า ไวรัสของคอมพิวเตอร์ ระบาดออกไปมาก เพราะมีคนที่รู้มากและคิดเก่ง แต่ขาดคุณธรรม ไม่ถือจริยธรรม ได้คิดสร้างโปรแกรมตัวทำลายขึ้น แล้วปล่อยแพร่ออกไป เครื่องคอมพิวเตอร์ไหนเอาจานข้อมูลที่มีตัวทำลายนี้ติดอยู่ หรือต่อสายเช่นทางโทรศัพท์กับเครื่องอื่นที่มีตัวทำลายนี้เข้าไป ก็จะติดไวรัสนั้นด้วย และข้อมูลต่างๆ ที่อุตส่าห์เก็บไว้ก็อาจจะถูกทำลายลบไปหมด ดังที่ในอเมริกาได้ประสบความเดือดร้อนกันมามากแล้ว และแม้ในเมืองไทย ก็เริ่มมีปัญหา ท่ามกลางความเจริญแบบนี้ มนุษย์จะมีวิธีการที่จะสนองโลภะ โทสะ กันได้อย่างมากมาย หรือมอมเมากันด้วยโมหะได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น การที่มนุษย์จะควบคุมเทคโนโลยีได้หรือไม่ จะเป็นปัญหาที่สำคัญมากขึ้นต่อไป ที่แล้วมาเราก็มีปัญหากับการควบคุมเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่เป็นขั้นของการใช้ทั่วไปว่า ทำอย่างไรจะไม่เอามารบราฆ่าฟันกัน ส่วนในปัจจุบันนี้ เราต้องก้าวขึ้นมาสู่การควบคุมเทคโนโลยี ในแง่ของการพิจารณา แม้แต่คุณโทษต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสังคมอย่างที่ว่าเมื่อกี้ แต่ในความหมายที่แท้จริงแล้ว การควบคุมเทคโนโลยีได้ ต้องหมายถึงการที่มนุษย์จะต้องควบคุมตนได้ด้วย หรือว่าจะต้องควบคุมตนเองได้ก่อนด้วยซ้ำ ฉะนั้น การควบคุมตนเองของมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญมากยิ่งขึ้น พร้อมกับความเจริญเติบโตของเทคโนโลยี มนุษย์จึงต้องพัฒนาตัวเองด้วยอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

การที่มนุษย์จะพัฒนาตนเองได้นั้น มนุษย์จะต้องรู้ขอบเขตความสำคัญของสิ่งที่ตัวเองเกี่ยวข้อง คือเทคโนโลยีนั้นด้วย เราจะต้องมีความเข้าใจและจะต้องพิจารณาทบทวนอยู่เสมอถึงคุณค่าของเทคโนโลยีว่า เรามีมันเพื่ออะไร เราพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเพื่ออะไร มองคุณค่านั้นโดยสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ทั้งกายและใจ ในสภาพที่สัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมและสัมพันธ์กับสังคม พร้อมทั้งเข้าใจคุณและโทษของมันตามความเป็นจริง แล้วก็พยายามที่จะควบคุมตนเพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีให้เป็นไปเพื่อความอยู่ดีของมนุษย์ โดยประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกับสังคมและธรรมชาติดังที่ว่ามาแล้วนี้

เทคโนโลยีนั้นเราสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่ออะไร มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่ออะไร เราเคยตอบปัญหานี้หรือไม่ ถ้าตอบอย่างง่ายๆ ก็คือ เพื่อสร้างสรรค์ความเจริญ เพื่อจะทำอะไรได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่เมื่อมองโดยสัมพันธ์กับคุณค่าในการที่มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม และเป็นสุขอย่างแท้จริง คำตอบแบบนั้นยังคลุมเครือเกินไป เทคโนโลยีมีความหมายสัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์ด้วย ถ้าเรามองชีวิตและสังคมมนุษย์ว่า มีความมุ่งหมายที่จะเข้าถึงความเป็นอยู่ที่ดีงามมีความสุข และชีวิตและสังคมนั้น ก็กำลังพยายามก้าวไปสู่ความมุ่งหมายนั้น คือกำลังพัฒนาตนเองไปสู่จุดหมาย เราก็จะมองเห็นว่าเทคโนโลยีมีคุณค่าหรือคุณประโยชน์อย่างไร เราสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร ในความสัมพันธ์กับการพัฒนาของมนุษย์ เทคโนโลยีก็คือสิ่งที่อำนวยโอกาสให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพของตนและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้สะดวกขึ้น ตลอดจนให้โอกาสที่จะมีความสุขได้มากขึ้น ถ้าพิจารณาตามหลักการที่กล่าวมาแล้ว โอกาสสำคัญที่เทคโนโลยีอำนวยให้ ก็คือ การใช้เทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องมือช่วยเสริมสร้างความประสานกลมกลืน และเกื้อกูลกันในระบบชีวิตของมนุษย์ ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสังคม และในกระบวนการพัฒนาตนของมนุษย์เอง เพื่อเข้าถึงชีวิตที่อุดมสมดุลมีอิสรภาพและสุขสมบูรณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เทคโนโลยีเป็นปัจจัยพิเศษที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เป็นองค์ประกอบภายนอกจากระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ ที่ประกอบด้วยชีวิต ธรรมชาติ และสังคม เทคโนโลยีนั้นจะสร้างและใช้เพื่อเกื้อหนุนระบบที่กล่าวนั้นหรือเพื่อทำลายก็ได้ แต่ถ้าการสร้างและการใช้เทคโนโลยีนั้นเกิดจากแรงจูงใจที่มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นตัวนำ โอกาสที่เทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุน ก็เป็นไปได้ยาก เพราะไม่ได้สร้างไม่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อมุ่งหาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง

เทคโนโลยี เป็นส่วนขยายแห่งศักยภาพด้านกายของมนุษย์ เป็นผลของการพัฒนาศักยภาพทางด้านกายของมนุษย์ และเมื่อเกิดมีขึ้นแล้ว ก็กลายเป็นเครื่องอำนวยโอกาสให้ศักยภาพของมนุษย์สามารถเปิดเผยตัว และได้รับการพัฒนายิ่งขึ้นไปอีก เพราะเทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มือ เท้า ขยายขีดความสามารถออกไป เช่นมีกล้องจุลทรรศน์ กล้องโทรทรรศน์ เครื่องโทรทัศน์ โทรศัพท์ วีดีโอเทป ออดิโอเทป วิทยุ ปั้นจั่น รถขุด รถไถ เครื่องบิน จรวด ยานอวกาศ มีเตอร์ต่างๆ ตลอดจนคอมพิวเตอร์ ทำให้ตาเห็นเล็ก เห็นไกล เห็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วหรือมีในที่อื่น ทำงานได้มากและรวดเร็ว บันทึกจดจำเรื่องราวได้มากมาย คิดได้ไวและแม่นยำ เป็นต้น แต่จะอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะเกิดจากมนุษย์ เป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ มันก็เป็นปัจจัยที่อยู่นอกระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ เป็นตัวแปลกหน้าหรือผู้มาใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ร้ายหรือผู้ดีก็ได้ มันอาจจะเข้ามากลายเป็นเพื่อนที่ช่วยเสริมกำลังของมนุษย์ในการอยู่ให้ดีในระบบแห่งชีวิต ธรรมชาติ และสังคม ก็ได้ หรือถ้าไม่เช่นนั้น หากหาที่ลงตัวให้พอดีที่จะเกื้อกูลกันไม่ได้ มันก็จะกลายเป็นตัวแปลกปลอมที่เข้ามาแฝงซ่อนคอยก่อปัญหาแก่มนุษย์ได้มากมาย

จุดที่จะพลาดในการพัฒนา ก็คือ ถ้ามนุษย์ผลิตและใช้เทคโนโลยีด้วยแรงจูงใจของโลภะ โทสะ โมหะ มนุษย์ก็อาจจะผลิตวัตถุอุปกรณ์ เช่นอย่าง ปืน ลูกระเบิด จรวด เป็นต้น ชนิดที่ใช้ได้สำหรับการฆ่าคนและทำลายกันอย่างเดียว เอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้อย่างที่เคยพูดมาแล้ว และมนุษย์ก็จะมีความสามารถในทางทำลายอย่างมหาศาล แม้กระทั่งทำลายชาติพันธุ์ของมนุษย์เองก็ได้ หรือถ้ามนุษย์ตกอยู่ใต้ความครอบงำของตัณหา มานะ ทิฏฐิ หลงผิดเห็นผิดไปว่า ตนมีเทคโนโลยีซึ่งทำให้ตนมีอำนาจยิ่งใหญ่ สามารถพิชิตเอาชนะธรรมชาติได้ จะทำอะไรก็ได้ตามชอบใจ แล้วเลยหลงเพลินไป แทนที่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเกื้อกูลหนุนเสริมระบบความประสานสัมพันธ์ของชีวิต ธรรมชาติ และสังคม ให้เป็นไปอย่างราบรื่นสมดุล ก็กลับใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ทำลายระบบความประสานสัมพันธ์นั้น ทำให้เสียสมดุล แล้วผลร้ายที่เกิดขึ้นในระบบนั้นก็จะสะท้อนมาถึงตัวมนุษย์และเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เอง แต่ถ้ามนุษย์มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง มีฉันทะที่มุ่งต่อคุณภาพชีวิต และไม่หลงผิด มีความเข้าใจถูกต้อง มองเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องทั่วตลอดในระบบ และกระบวนการแห่งความประสานสัมพันธ์อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย แล้วสร้างสรรค์พัฒนา และใช้เทคโนโลยี ในทางที่จะเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความประสานเกื้อกูล ในระบบแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ ให้ดำเนินไปอย่างสมดุล เทคโนโลยีก็กลายเป็นเครื่องสนับสนุนให้มนุษย์เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็รวมความว่า เทคโนโลยีเป็นเครื่องอำนวยโอกาส ซึ่งมนุษย์นั้นแหละจะเป็นผู้ใช้โอกาสนั้น ไม่ว่าในทางสร้างสรรค์หรือในทางทำลาย และการที่มนุษย์จะใช้ในทางสร้างสรรค์หรือทำลาย ก็อยู่ที่คุณภาพของมนุษย์นั้นที่ว่าได้พัฒนาตนขึ้นมาแล้วแค่ไหนเพียงใด ถ้ามนุษย์ไม่ได้พัฒนาตน แรงจูงใจแห่งโลภะ โทสะ โมหะ และความหลงผิดมัวเมาในความยิ่งใหญ่แห่งการพิชิตธรรมชาติ ก็ย่อมเป็นตัวกำหนดการใช้โอกาสจากเทคโนโลยี แล้วการทำลายและความสูญเสียในระบบแห่งความสมดุล พร้อมทั้งความเสื่อมโทรมแห่งคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ก็ย่อมเกิดตามมาเป็นธรรมดา แต่ถ้ามนุษย์พัฒนาตนให้มีคุณภาพแล้ว เทคโนโลยีก็จะถูกสร้างถูกใช้ให้เอื้อโอกาสในการพัฒนาเพื่อเข้าถึงคุณภาพชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป ไปๆ มาๆ เรื่องก็มาลงที่ฐานคือตัวมนุษย์เอง

เทคโนโลยีสร้างโอกาสและให้โอกาสแก่มนุษย์ แต่มนุษย์จะใช้โอกาสนั้นหรือไม่ และใช้ถูกหรือผิด นี่ก็เป็นปัญหาอีกเรื่องหนึ่ง เทคโนโลยีไม่ได้ให้ตัวคุณภาพชีวิตโดยตรง เทคโนโลยีไม่ได้ให้ความสุขโดยตรง แต่เทคโนโลยีอำนวยโอกาสที่มนุษย์จะมีคุณภาพชีวิตและมีความสุข เพราะฉะนั้น เราก็ต้องใช้โอกาสจากเทคโนโลยี การที่จะใช้โอกาสได้ผล มนุษย์จะต้องเป็นผู้มีความสามารถในการที่จะใช้โอกาสนั้น และการที่จะมีความสามารถที่จะใช้โอกาสนั้นก็คือการพัฒนาตนเอง จึงบอกว่า มนุษย์จะทอดทิ้งละเลยไม่ได้ในการที่จะพัฒนาตัวเอง และถ้ามนุษย์มุ่งมาในแนวทางของการพัฒนาตน เทคโนโลยีก็สามารถเป็นปัจจัยที่อำนวยโอกาสในการพัฒนาตนของมนุษย์ด้วย ดังได้กล่าวแล้ว การพัฒนาตนนี้ หมายถึงการพัฒนาทั้งกายและใจ โดยประสานสัมพันธ์กับธรรมชาติและสังคม เพื่อให้ระบบทั้งหมดที่อิงอาศัยกันอยู่นี้ เชื่อมโยงเกื้อกูลกันได้อย่างเต็มที่ ทำให้องค์รวมดำรงอยู่ในภาวะสมดุลและมีความสมบูรณ์

ออกจากยุคพัฒนา ด้วยการพัฒนาให้สมดุล

เป็นอันว่า ยุคของการสร้างความเจริญที่ผ่านมานี้ เราเรียกว่า ยุคพัฒนา ลักษณะของยุคพัฒนา หรือลักษณะของความเจริญในยุคพัฒนานั้น ก็คือ

๑. วิทยาการและระบบการจัดสรรความเจริญต่างๆ แต่ละอย่างขยายตัวพุ่งตรงออกไปๆ เต็มที่ของตนๆ อย่างที่เรียกว่าเป็นระบบแบ่งซอย ซึ่งแต่ละอย่างเจริญไปเต็มที่ของตัวเอง ให้ถึงที่สุด ให้ชำนาญเฉพาะอย่าง

๒. มุ่งเอาความรู้และแม้แต่เทคโนโลยีนั้น มาใช้พิชิตธรรมชาติ ลักษณะของการพัฒนาที่มุ่งจะเอาชนะธรรมชาตินั้นมีความหมายไม่ใช่เพียงแค่จะเอาชนะเท่านั้น แต่กลายเป็นเอาเปรียบธรรมชาติและเบียดเบียนธรรมชาติไปทีเดียว

ลักษณะของยุคพัฒนาที่เป็นอย่างนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหา คือ เมื่อวิทยาการและระบบการต่างๆ เจริญตรงออกไปข้างหน้า ชำนาญเฉพาะอย่างของตัวเองแล้ว

๑. ความรู้ของมนุษย์นั้นก็แตกกระจัดกระจาย ไม่โยงกัน ไม่ประสานสัมพันธ์กัน ก็แก้ปัญหาได้ไม่จริง ปัญหาเก่าที่พยายามจะแก้ ก็ยังแก้ไม่ตก

๒. ปัญหาใหม่ๆ แปลกๆ ก็เกิดขึ้นมาอีกมากมาย ซึ่งแทบทุกอย่างเกิดจากความไม่กลมกลืน และไม่เกื้อกูลกันในระบบชีวิต ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสังคม แม้แต่ในระบบชีวิตของมนุษย์เอง ระหว่างกายกับใจ ก็ไม่กลมกลืน ไม่เกื้อกูล ไม่สมดุลกัน

ยกตัวอย่างเช่น ในตัวมนุษย์เองนี้ กายของเราไปทำงานในระบบงานที่ซ้ำซากของยุคอุตสาหกรรม ก็เกิดปัญหาที่ว่าจิตใจมีความเบื่อหน่ายแปลกแยก มีความรู้สึกอึดอัดโดดเดี่ยว ทั้งที่อยู่ในสังคมซึ่งมีผู้คนมากมาย เพื่อนร่วมงานก็เต็มไปหมด แต่เพราะเป็นระบบที่แข่งขันและแย่งชิงกัน แทนที่จะอุ่นใจ ก็กลายเป็นมีความเหงาและรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายมากขึ้น คนอยู่ด้วยกันมากหลาย แต่ใจต่างก็โดดเดี่ยว อย่างที่เรียกว่า เดียวดายด้วยกัน ทางกายคับคั่ง แต่ทางใจว้าเหว่ หรือคับคั่งกายแต่ใจอ้างว้าง เป็นปัญหาทางจิตใจ แล้วจิตใจที่ไม่สบายนี้ ก็ส่งผลออกมาทางกายเป็นโรคที่ชัดที่สุดในสังคมพัฒนาอย่างที่ว่าคือ โรคหัวใจ เพราะจิตใจมีความเครียด กังวล มีความกระวนกระวายมาก มีความเบื่อหน่าย มีความโดดเดี่ยวมาก ก็ทำให้โรคหัวใจเจริญแพร่หลายมากขึ้น จนเขาเรียกว่าเป็นโรคของสังคมที่พัฒนา หรือเป็นโรคอารยธรรม ในเวลาเดียวกัน ในด้านความสัมพันธ์ หรือความเกื้อกูลกับธรรมชาติ มนุษย์ก็ไม่รู้จักประมาณ และได้ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลของธรรมชาติขึ้นมา ด้วยการใช้เทคโนโลยีผลิตสิ่งต่างๆ แล้วสร้างมลภาวะขึ้น พร้อมทั้งทำลายทรัพยากรของธรรมชาติให้ร่อยหรอไป นอกจากนั้น มนุษย์ยังปฏิบัติตัวในทางที่ผิดธรรมชาติ แม้แต่ในการบริโภคอย่างที่ยกตัวอย่างมาแล้ว เช่น กินอาหารที่ปรุงแต่งมาก มีสารเคมีเจือปน เมื่อไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ก็กลับมาเป็นโทษแก่มนุษย์ การที่มนุษย์ใช้สิ่งปรุงแต่งเหล่านี้ก็เพื่อสนองความต้องการในคุณค่าที่เรียกว่า คุณค่าเทียม ไม่บริโภคเพื่อคุณค่าแท้ ซึ่งก็เป็นอาการของความไม่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง ปัญหาจึงเกิดมากขึ้น ส่วนในด้านความสัมพันธ์ทางสังคม ความเป็นอยู่ในยุคปัจจุบันก็มีลักษณะที่ไม่ประสานกลมกลืนกัน คือ ชีวิตในสังคมพัฒนาที่เป็นแบบอุตสาหกรรมนี้ นอกจากเร่งเร้าและรีบร้อนผิดธรรมชาติแล้ว ระบบความเป็นอยู่และการทำงาน ก็เป็นสังคมที่คนมุ่งแต่แข่งขันแย่งชิง เอาชนะซึ่งกันและกัน เอาเปรียบกัน ไม่คิดในทางเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมความแล้ว ลักษณะของยุคพัฒนาก็มีอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ คือ

๑. การเจริญเติบโตแบ่งซอยเฉพาะอย่างดิ่งตรงแยกกันออกไป เกิดความลักลั่นกระจัดกระจาย

๒. การไม่ประสานกลมกลืน ไม่เชื่อมโยง ไม่เกื้อกูลต่อกันของทุกระบบ ตั้งแต่ในชีวิตของมนุษย์เองระหว่างกายกับใจ ทั้งชีวิตหรือมนุษย์กับธรรมชาติ ธรรมชาติกับสังคม และมนุษย์กับสังคม ลักษณะพิเศษของยุคพัฒนา คือความไม่ประสานกลมกลืนและไม่เกื้อกูลกัน สูญเสียสมดุล

สำหรับเมืองไทยนั้น นับว่ามีปัญหาซ้อนถึงสองชั้น คือ ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะความไม่ประสานกลมกลืน อย่างที่ว่ามาข้างต้นโน้นเท่านั้น คือ ภายในสังคมของตัวเองโดยเฉพาะแท้ๆ ก็มีปัญหาการพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืนอยู่ขั้นหนึ่งแล้ว ซึ่งการที่จะแก้ปัญหาภายในสังคมของตัวเองนั้น ก็เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการที่จะเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อจะก้าวออกมาร่วมแก้ปัญหาในวงกว้างต่อไป เมื่อแก้ปัญหาความไม่ประสานกลมกลืนในสังคมของตนเองได้แล้ว ก็จะต้องก้าวมาแก้ไขภาวะที่ยังไม่ประสานกลมกลืนในระบบความดำรงอยู่ของมนุษย์ทั้งหมด ที่ประกอบด้วยมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคมนี้ด้วย ในฐานะที่เป็นปัญหาร่วมกันของสังคมโลกทั้งหมด แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาข้อนี้ เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ เราจึงมาถึงหัวข้อของปาฐกถาที่บอกว่า จะต้องไปให้พ้นจากยุคพัฒนา เพราะคำว่าพัฒนามีความหมายพิเศษ แสดงถึงลักษณะความเจริญอย่างที่ได้พูดมาแล้ว ฉะนั้น ความเจริญที่ไปพ้นจากยุคพัฒนา จึงมีความหมายว่า

๑. วิทยาการต่างๆ ที่เจริญแบบชำนาญพิเศษเฉพาะทางนั้น จะต้องมาประสานโยงกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์ ให้ทั่วตลอดระบบและกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของมัน อย่างที่ใช้คำว่า แยกแล้วโยง

๒. นำเอาความรู้ในวิทยาการนั้นๆ มาใช้อย่างสอดคล้อง ให้ระบบความดำรงอยู่ของมนุษย์นั้นอิงอาศัยกันได้อย่างประสานกลมกลืนเกื้อกูลกัน ทั้งระหว่างกายกับใจของมนุษย์เอง ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับสังคม และธรรมชาติกับสังคม อย่างที่เรียกว่า เกิดความสมดุล

นี้คือลักษณะของความเจริญในยุคต่อไป ที่เรียกว่า พ้นจากยุคพัฒนา เมื่อพ้นจากยุคพัฒนาจะเป็นอะไร ก็เป็นยุคแห่งความประสานกลมกลืน เกื้อกูล และมีความสมดุลนั่นเอง เพราะเหตุที่ยุคพัฒนามีลักษณะพิเศษที่เป็นปัญหาอย่างที่ว่ามาแล้ว ถ้าเราไม่พ้นยุคพัฒนา ปัญหาก็ไม่หมด ก็จึงจำเป็นต้องไปพ้นจากยุคพัฒนา ขึ้นสู่ยุคแห่งความประสานเกื้อกูล ที่มีความสมดุล

ถ้าไม่ถึงธรรม ก็ไม่พ้นภัยของการพัฒนา

เมื่อว่าตามหลักธรรมก็สมคล้อยกับเรื่องที่พูดมาเมื่อกี้นี้ว่า มนุษย์เรามีความสัมพันธ์อิงอาศัยที่จะต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระหว่างชีวิตกับธรรมชาติและสังคม ทั้งสามอย่างนี้เป็นองค์ประกอบของระบบพื้นฐานแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ การที่มนุษย์จะเป็นอยู่อย่างประสานกลมกลืนนั้นเป็นอย่างไร เริ่มต้นมนุษย์ก็ต้องรู้จักธรรมชาติ รู้จักธรรมชาติคือ รู้ความจริงของธรรมชาติ มนุษย์รู้ธรรมชาติและรู้ความจริงของธรรมชาติเพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้ปฏิบัติถูกต้องต่อธรรมชาติ และนำความรู้นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต การที่จะรู้ความจริงของธรรมชาติได้ ก็ต้องมีปัญญา เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงต้องพัฒนาปัญญา ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการรู้ความจริงของธรรมชาติ ความจริงของธรรมชาตินั้น จะเป็นสภาวะของธรรมชาติ หรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติก็ตาม เรียกว่า ธรรม เมื่อรู้ความจริงของธรรมชาติถึงขั้นที่เป็นความรู้แจ้งอย่างแท้จริง ก็จะมองเห็นถึงความจำเป็น ที่จะต้องเป็นอยู่อย่างเกื้อกูลต่อกันด้วย แล้วก็นำเอาความรู้ในกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้นมาใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่เป็นการเอาเปรียบ และไม่เบียดเบียนธรรมชาติ แต่ใช้ในทางที่จะอยู่กลมกลืน และเกื้อกูลกับธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น มนุษย์ก็จะมีความสุขมากขึ้น เป็นอิสระ พ้นจากความทุกข์ เรียกว่า เข้าถึงภาวะไร้ทุกข์ในระดับต่างๆ เป็นชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยดี อีกด้านหนึ่ง นอกจากธรรมชาติ ก็ต้องเกื้อกูลกันในสังคมอีกด้วย แทนที่จะเป็นไปตามลักษณะของยุคพัฒนาที่ว่า แข่งขันแย่งชิงเอาเปรียบกัน ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการร่วมมือและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ฉะนั้น ลักษณะของชีวิตในสังคมที่ไปพ้นจากยุคพัฒนานี้ หรือไปสู่ยุคประสานกลมกลืนกันก็คือ ชีวิตที่ไร้ทุกข์ บนพื้นฐานของความรู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ โดยเกื้อกูลแก่สังคม รวมเป็นหลัก ๓ ประการ ซึ่งเรียกในภาษาของพระพุทธศาสนาว่า

๑. ไร้ทุกข์ คือภาวะที่เรียกว่า วิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้นจากทุกข์ ปลอดปัญหา เป็นอิสระ

๒. บนพื้นฐานของความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเข้าใจความจริงของธรรมชาติ เพื่อนำความรู้ในธรรมชาตินั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการที่จะเป็นอยู่อย่างเกื้อกูล กลมกลืนกับธรรมชาติ โดยรู้ประมาณ คือ ความพอดีที่จะรักษาสมดุลเอาไว้ให้ได้

๓. โดยเกื้อกูลแก่สังคม อันรวมทั้งสรรพชีวิตในระบบนิเวศ หรือสรรพโลก หรือสรรพสัตว์ ด้วยคุณธรรม คือ กรุณา

ขอย้ำว่า ถ้าเข้าถึงธรรม คือรู้ความจริงของธรรมชาติอย่างถ่องแท้ทั่วตลอดจริงๆ แล้ว ก็จะมองเห็นความสัมพันธ์อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายทั่วทั้งหมด แล้วก็จะรู้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเป็นอยู่อย่างเกื้อกูลต่อกัน และรู้ถึงวิถีทางที่จะเป็นอยู่อย่างดีได้โดยไม่ต้องเบียดเบียนกัน พร้อมทั้งรู้ประมาณ คือ ขอบเขตของความพอดี ที่เป็น มัชฌิมา สำหรับชีวิตและการพัฒนาที่จะดำเนินไปได้โดยสมดุล แล้วก็จะมีความเป็นไปเองตามธรรมดาที่ว่า บุคคลนั้นๆ จะดำเนินชีวิตที่ดีงาม ไร้ทุกข์ ปลอดปัญหา ด้วยการเป็นอยู่และปฏิบัติการต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาในทางที่จะทำให้เกิดความเกื้อกูล และความสมดุลในระบบแห่งชีวิต ธรรมชาติ และสังคม ด้วยความรู้ที่แจ้งจริง ถึงตัวธรรมนั้น นี้คือความหมายอย่างหนึ่งของหลักการที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นปฏิบัติการแห่งความสมดุลพอดี ปัญหาปัจจุบันที่มีอยู่ในการพัฒนาก็คือ วิทยาการต่างๆ ที่เจริญก้าวหน้ามามากมายนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ก็ตาม ต่างก็รู้ความจริงกันคนละแง่ละด้าน คนละสายคนละทาง ไม่ทั่วตลอดถึงธรรมเลย องค์รวมของความรู้ก็ไม่เกิดขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ ยังไม่รู้จริงนั่นเอง จึงรวมความว่า ถ้าไม่ถึงธรรม ก็ไปไม่พ้นยุคพัฒนา

เพราะฉะนั้น บุคคลในอุดมคติของพระพุทธศาสนาจึงมีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้ คือ มี ปัญญา รู้เข้าใจความจริง คือความจริงของธรรมชาติ มี วิมุตติ หลุดพ้นจากความชั่วร้ายและทุกข์ แก้ปัญหาของมนุษย์ได้สำเร็จ และมี กรุณา ที่จะเกื้อกูลต่อระบบนิเวศและสังคม นี้แหละคืออุดมคติในการพัฒนามนุษย์ ถ้ามนุษย์มีคุณสมบัติอย่างนี้ หรือพัฒนาตัวเองในแนวทางของคุณสมบัติอย่างนี้แล้ว เมื่อมาสร้างสรรค์ พัฒนา มีและใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีนั้นก็จะเกื้อกูลแก่ชีวิตมนุษย์เอง ทั้งกายและใจ เกื้อกูลแก่ธรรมชาติ และเกื้อกูลแก่สังคมด้วย

๑. มนุษย์ที่เป็นบุคคลอุดมคติมีคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ ปัญญา วิมุตติ และ กรุณา อย่างนี้ เราเรียกว่า พุทธะ เราพัฒนามนุษย์ขึ้นไปเพื่อให้เป็น พุทธะ เป็นองค์ที่หนึ่ง

๒. พุทธะนี้ เป็นพุทธะขึ้นมาได้ ก็ด้วยการพัฒนาปัญญาให้รู้แจ้งความจริงของธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธรรม เป็นองค์ที่สอง

๓. เมื่อคนอื่นปฏิบัติตามอย่างพุทธะนี้ ก็จะเกิดเป็นสังคมที่ดีงาม ซึ่งทุกๆ คนมีชีวิตที่กลมกลืนเกื้อกูลในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เรียกว่า สังฆะ เป็นองค์ที่สาม

จะเห็นว่า ระบบทั้งหมดโยงกันทั้งสิ้น การมีคุณสมบัติที่เป็นอุดมคติของมนุษย์ ๓ ประการ ก็มาสัมพันธ์กับหลักที่เรียกว่า รัตนตรัย หรือ ไตรสรณะ นั่นเอง คือ พุทธะ ธรรมะ สังฆะ สามอย่างนี้รวมกันเป็นระบบแห่งการพัฒนาตนของมนุษย์ขึ้นไปสู่ความดีงามสูงสุด ส่วนในระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ ก็มีองค์ประกอบ ๓ ประการเหมือนกัน คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม สามอย่างนี้ควรจะอิงอาศัยซึ่งกันและกันในระบบที่ประสานกลมกลืนและเกื้อกูลแก่กัน แต่มนุษย์จะสามารถเป็นอยู่เกื้อกูลกัน อิงอาศัยกับธรรมชาติได้ดี ทำให้ชีวิตของตนดีขึ้นได้ ก็จะต้องรู้ความจริงของธรรมชาติมากขึ้น และการที่จะรู้ความจริงได้มากขึ้น ก็ต้องพัฒนาปัญญาให้แก่กล้าขึ้นไป และในแนวทางของการพัฒนานี้ องค์สามก็จะเปลี่ยนจาก มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม มาเป็น พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ คือ มนุษย์พัฒนาสูงสุดเป็นพุทธะ ความจริงของธรรมชาติที่เราจะต้องรู้เพื่อจะเป็นพุทธะ ก็คือธรรมะ และสังคมที่มนุษย์พัฒนาตัวเองด้วยดี มีชีวิตที่ดีงามตามอย่างพุทธะนั้นก็เป็น สังฆะ และในการพัฒนาตนขึ้นไปเช่นนี้ บุคคลแต่ละคนก็จะมีคุณสมบัติที่เกิดจากการพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นไปเป็น ปัญญา ที่รู้แจ้งธรรมชาติตามเป็นจริง วิมุตติ ความมีชีวิตที่เป็นอิสระหลุดพ้น และ กรุณา หรือ อหิงสา ซึ่งเป็นตัวนำความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันในสังคมและระบบชีวิต ทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามหลักการที่ว่ามาเมื่อกี้ คือ ความเป็นอยู่อย่างไร้ทุกข์ บนพื้นฐานของความรู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติโดยเกื้อกูลแก่สังคม เพราะฉะนั้น องค์ ๓ ของระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิต คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ก็มาสัมพันธ์ต่อโยงกับองค์ ๓ ของระบบการพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามสูงสุด คือ พุทธะ ธรรมะ และ สังฆะ โดยที่องค์ประกอบต่างๆ ที่จะต้องนำมาใช้ในระบบชีวิตที่ดีงามเหล่านี้ มีความประสานกลมกลืนกันในแต่ละระดับ จนในที่สุด

๑. มนุษย์ มีชีวิตที่หลุดพ้นเป็นอิสระไร้ทุกข์ เข้าถึง วิมุตติ เป็น พุทธะ

๒. ธรรมชาติ ประจักษ์แจ้งแก่มนุษย์ในภาวะของความจริงแท้ ด้วย ปัญญา เป็น ธรรมะ

๓. สังคม เข้าถึงความดีงาม สันติสุข และอิสรภาพ ด้วย กรุณา เป็น สังฆะ

มนุษย์แต่ละบุคคลที่กลายเป็นพุทธะ เป็นตัวแบบที่ประชุมพร้อมของ ปัญญา วิมุตติ และกรุณา เพราะเป็นที่โยงให้ระบบแห่งชีวิต ธรรมชาติ และสังคม ประสานสัมพันธ์เกื้อกูลกัน จนถึงภาวะที่สมดุลและสมบูรณ์ และเป็นต้นแบบให้มนุษย์ทั้งหลายอื่นบังเกิดความมั่นใจในศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของตน เพื่อพร้อมที่จะพัฒนาตนจนถึงความดีงามสมบูรณ์เช่นนั้นด้วย

ทางเลือกที่รอการเริ่ม

รวมความว่า เรื่องที่พูดมาในวันนี้มี ๒ ตอน ตอนที่หนึ่ง เป็นเรื่องของสังคมไทยโดยเฉพาะ ที่จะต้องสร้างความประสานกลมกลืนกันในสังคมของตัวเอง ที่องค์ประกอบทั้งหลายในขณะนี้ระส่ำระสายทิ้งห่างเหลื่อมล้ำแตกแยกกันเป็นอันมาก นี้เป็นส่วนที่จะต้องทำเฉพาะในสังคมไทยของเราเอง แต่เพียงเท่านั้นยังไม่พอ เพราะเป็นการแก้ปัญหาในขอบเขตหนึ่งที่อยู่ภายในเท่านั้น จะต้องก้าวไปอีกสู่ ตอนที่สอง ที่ว่าด้วยปัญหาร่วมกันของอารยธรรมมนุษย์ เท่าที่พัฒนามาจนเจริญเด่นชัดในยุคอุตสาหกรรม และก็เกิดปัญหาต่างๆ เด่นชัดด้วย ซึ่งจะต้องแก้ไขด้วยการสร้างความประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันในระบบความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทั้งในตัวมนุษย์เอง ระหว่างกายกับใจ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และระหว่างมนุษย์กับสังคม ให้องค์ ๓ นี้เกื้อกูลกันด้วยดี การพัฒนาความเจริญ สร้างสรรค์เทคโนโลยีต่างๆ แม้ในระบบอุตสาหกรรม ถ้ามีหลักการนี้อยู่ ก็มีแนวทางที่จะดำเนินไปได้ด้วยดี และจะข้ามพ้นยุคแห่งการพัฒนาที่ลักลั่นและกระจัดกระจาย ไปสู่ความอุดมสมดุลและสมบูรณ์ได้ แต่ถ้าไม่มีแนวทางอย่างนี้ เราก็จะยังติดวนอยู่ในยุคพัฒนา ที่มีลักษณะสำคัญ ๒ ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว คือ การเจริญเติบโตแบบแบ่งซอยเป็นเฉพาะทางแต่ละอย่าง ไม่โยงกัน และความไม่ประสานกลมกลืน ไม่เกื้อกูลกันขององค์ประกอบต่างๆ แล้วก็เกิดปัญหาดังที่ว่ามา มีคำกล่าวว่า อวกาศโลก (โลกในอวกาศ หรือโลกวัตถุ อันได้แก่ แผ่นดิน แผ่นน้ำ และแผ่นฟ้า) เป็นหนึ่งเดียว มีอะไรเกิดขึ้นที่ไหน ก็กระเทือนไปทั่วทั้งระบบ แต่สัตวโลก คือสังคมมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในอวกาศโลกนั้น กลับแบ่งแยก ไม่ยอมเป็นโลกเดียวกัน ต่างก็แก่งแย่งเอาแต่ผลประโยชน์ของตัว ไม่คำนึงถึงผู้อื่น กรรมของสัตวโลกนั้น ก็จะทำให้เกิดความวิปริตขึ้นในโลกทั้งหมด แล้วความวิปริตนั้นก็จะลงโทษแก่สัตวโลกหรือมวลมนุษย์นั้นเอง ถ้ามนุษย์ไม่หันมาร่วมมือกันแก้ปัญหา ความพินาศก็จะตามมา ถ้าเอาแต่จะได้ ก็จะต้องสูญเสียไปหมดทุกสิ่ง

ฉะนั้น จึงได้กล่าวว่า เราจะต้องไม่หยุดเพียงแค่การสร้างความประสานกลมกลืนในสังคมไทยของเราเอง ที่เป็นปัญหาตกค้างมาเท่านั้น แต่จะต้องสร้างอารยธรรมไทยขึ้นมาให้เป็นทางเลือกใหม่ ที่จะหลุดพ้นจากยุคพัฒนา ซึ่งเป็นทางเลือกที่แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ก็ยังพยายามแสวงหากันอยู่จนบัดนี้ อย่างน้อยเราควรจะรู้ตระหนักว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายนั้น หาได้มีความพึงพอใจกับสังคมที่พัฒนาแล้วของตนเองไม่ เขาก็กำลังแสวงหาชีวิตและสังคมที่ดีงามกันต่อไป ถ้าเทียบกับสภาพที่เป็นอยู่ หลักการที่กล่าวมานี้ก็เป็นอารยธรรมใหม่ของโลก หรือเป็นวิถีใหม่ของอารยธรรม ถ้าสังคมไทยจะเดินตามแนวทางนี้ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องมัวไปคอยตามสังคมตะวันตก หรืออารยธรรมเก่าๆ ของตะวันตกที่กำลังจะถูกทอดทิ้ง แต่เราควรจะเอาบทเรียนและความรู้เท่าทันในสิ่งที่เป็นคุณเป็นโทษในระบบของตะวันตก มาใช้ในการสร้างแนวทางของเราเอง ภูมิปัญญาอย่างนี้จึงจะเป็นอารยธรรมไทย ที่ว่าเป็นทางเลือกออกจากยุคพัฒนา ไปสู่ยุคบูรณาการ ที่มีความประสานกลมกลืน เกื้อกูล และสมดุลกันเป็นลักษณะสำคัญ

อาตมาได้พูดมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว เป็นอันว่า ได้เข้ามาถึงคำตอบที่ได้ตั้งไว้เบื้องต้น ดังที่ได้ยกเป็นหัวข้อปาฐกถานี้ว่า อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะมีความแข็งขันจริงจัง และมีความเห็นร่วมสอดคล้องกันแค่ไหนที่จะทำ ถ้าสังคมไทยทำได้อย่างนี้ ก็ไม่ใช่เฉพาะจะเป็นการแก้ปัญหาให้กับสังคมไทยเท่านั้น แต่เป็นการที่เราจะได้มีส่วนเกื้อกูลแก่อารยธรรมของโลกทั้งหมด หรือแม้แต่จะเป็นผู้นำที่ช่วยให้เกิดอารยธรรมที่ดีงามของมนุษย์ต่อไปก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งใหม่ที่อาจจะถือว่าเป็นทางเลือก ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อคิดที่เสนอแก่ท่านทั้งหลาย จะเห็นชอบด้วยประการใดก็ขอให้นำไปขบคิดพิจารณากัน แม้แต่ถ้าไม่เห็นด้วย จะเอาเป็นมูลฐานในการขบคิดต่อไปก็ยังดี แต่ดังที่ได้บอกแล้วว่า ชุมชนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังแสวงหาทางออกใหม่และกำลังแก้ปัญหากันอยู่ จึงควรพิจารณาว่า เราควรจะไปรับเอาปัญหาของเขามาหรือควรจะช่วยแก้ปัญหาให้เขา โดยพัฒนาให้พ้นจากยุคพัฒนา ไปสู่ภาวะที่เรียกว่าความประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกัน เพื่อชีวิต สังคม และธรรมชาติ ที่ดีงามอุดมสมดุลดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าสิ่งที่กล่าวมานี้สอดคล้องกับความเห็นของท่านทั้งหลาย ก็จะถือเอามาเป็นคำอวยชัยให้พรเลยทีเดียว

ในท้ายที่สุดแห่งปาฐกถานี้ ขออ้างอิงคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พรแก่ท่านทั้งหลาย ขอจงได้มีชีวิตที่ประสานกลมกลืนเกื้อกูลสอดคล้องกัน ทั้งกายและใจ ในท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่เรียกว่าระบบนิเวศ และในสังคมที่มีความประสานเกื้อกูลสมดุลกัน เพื่อให้ประสบประโยชน์สุขทั้งส่วนตนและส่วนรวม โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

อนุโมทนา

เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๑ อาตมภาพได้รับอาราธนาไปแสดงปาฐกถาปาจารยสาร ประจำปี ๒๕๓๑ เรื่อง อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา ที่โบสถ์วัดบวรสถานสุทธาวาส ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต่อมา คุณอาทร เตชะธาดา บรรณาธิการบริหารปาจารยสาร ได้แสดงความประสงค์ขออนุญาตพิมพ์ปาฐกถาดังกล่าวนั้น เพื่อให้เป็นเล่มหนังสือ ซึ่งผู้สนใจและประชาชนทั่วไป จะมีโอกาสอ่านเสริมความรู้ความเข้าใจหรือรับทราบทัศนะได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และได้นำบทปาฐกถา ที่ได้คัดลอกจากแถบบันทึกเสียง ไปให้ตรวจความเรียบร้อย อาตมภาพได้ปรับปรุงขัดเกลา ตลอดจนแทรกเพิ่มเนื้อความและข้อมูลต่างๆ ให้หนังสือมีสาระมากยิ่งขึ้น และยินดีอนุญาตสิทธิในการพิมพ์ครั้งนี้อย่างให้เปล่า เช่นเดียวกับหนังสืออื่นๆ ทุกเล่มเท่าที่ได้มีผู้ขอพิมพ์มาแล้วในทุกกรณี ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยกันสร้างสรรค์ความก้าวหน้าแห่งวิทยาการ และความเจริญเพิ่มพูนแห่งกุศลธรรม อันจะนำมาซึ่งสันติสุขแก่สังคม

ในการพิมพ์ พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโญ ได้รับภาระทั้งหมดเกี่ยวกับการเรียงอักษร จัดทำต้นแบบหนังสือ ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh จนเสร็จสิ้นกระบวนการ ช่วยให้การจัดพิมพ์หนังสือสะดวกเรียบร้อยเป็นอย่างดี

ขออนุโมทนาต่อสำนักพิมพ์เทียนวรรณ ที่ได้มีกุศลฉันทะ ดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเผยแพร่ เพื่อความเจริญแห่งวิทยาการ อันเป็นส่วนหนึ่งแห่งความพยายามร่วมกัน ในการที่จะแก้ไขปัญหาของสังคมในยุคปัจจุบัน ขอกุศลกิจร่วมกันนี้ จงสัมฤทธิ์ผล เพื่อความแพร่หลายแห่งสัมมาทัศนะ และประโยชน์สุขของพหูชน ตลอดกาลนาน

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๗ ธันวาคม ๒๕๓๑

1ปาฐกถาปาจารยสาร ประจำปี ๒๕๓๑ จัดแสดง ณ โบสถ์วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๑
2เปลี่ยนรายการไปแสดงในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๑
3เรื่องนี้ได้พูดไว้มากแล้วใน “มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย” จึงไม่พูดย้ำในที่นี้
4ข้อมูลต่างๆ ในตอนนี้ รวบรวมและสรุปมาจากหลายแหล่ง นอกจาก Almanacs และ Encyclopaedias บางเล่มแล้ว แหล่งสำคัญ ได้แก่ Sociology 88/89 และ Social Problems 88/89 ของ The Dushkin Publishing Group; และ State of the World 1988 ของ Worldwatch Institute
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง