การสร้างสรรค์ปัญญา เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การสร้างสรรค์ปัญญา เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ 1

ท่านพระเถรานุเถระ ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านประธานในพิธี ท่านประธานมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ กรรมการ และท่านผู้ร่วมประชุมทุกท่าน

วันนี้เป็นวันดี วันงาม วันสิริมงคล ขออนุโมทนาท่านเจ้าของมูลนิธิฯ ผู้มีกุศลเจตนาที่จะสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงามแก่สังคม เพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติ และขออนุโมทนาท่านผู้ทรงภูมิปัญญา ที่ได้มาให้ความเห็น ความรู้ ซึ่งเป็นการจุดประกาย ที่จะกระจายแสงสาดส่องสู่สิ่งที่สดใสงดงาม

วันนี้อาตมภาพได้ถูกกำหนดให้มาพูดเรื่อง “การสร้างสรรค์ปัญญา เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ”

ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับชื่อเรื่อง แต่เป็นข้อสังเกตที่ดี หัวข้อเรื่องที่บอกว่า การสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาตินั้น หมายถึงอนาคตของมนุษย์ทั้งหมด ไม่ใช่แค่อนาคตของสังคมไทย ชื่ออย่างนี้มีความหมายสำคัญที่เหมาะกับยุคสมัย และถูกต้องตามที่ควรจะเป็น เพราะว่าปัญญาเป็นของธรรมชาติ เป็นของกลางๆ เหมือนกับแสงสว่าง เกิดขึ้นที่ไหน ก็เป็นประโยชน์ที่นั่น ไม่เป็นของจำกัดจำเพาะแก่ใครๆ แสดงถึงความมุ่งหมายของผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ที่มองกว้างออกไป มิใช่ทำเพื่อกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเท่านั้น แต่เพื่อมนุษยชาติทั้งหมด แม้จะไม่ได้เน้นว่า เพื่อประโยชน์แก่สังคมไทย ก็มองได้ในแง่ของความสัมพันธ์กันเป็นขั้นตอนว่า เพื่อสังคมไทยที่จะไปเกื้อหนุน โดยเป็นส่วนร่วมที่ดีในการสร้างสรรค์อนาคตของมนุษยชาติทั้งหมด

มีข้อสังเกตที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า เวลานี้โลกของเราอยู่ในแนวความคิดเก่าๆ ประเทศต่างๆ ยังมุ่งแข่งขันกันเพื่อความยิ่งใหญ่ของชาติหรือของประเทศของตน มุ่งเพื่อความได้เปรียบผู้อื่น จนกระทั่งบางทีก็คิดไปว่า จะครอบงำผู้อื่นด้วย ทั้งๆ ที่ความคิดนี้ได้ทำให้โลกมีปัญหาตลอดมา และเวลานี้เราก็ไม่สามารถข้ามพ้นแนวความคิดนี้ไปได้ จึงขอให้การตั้งชื่อเรื่องนี้เป็นนิมิตที่ดีงามอย่างหนึ่งแห่งการที่เราจะทำการสร้างสรรค์ ไม่เฉพาะเพื่อสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น แต่ทำเพื่อให้คนทุกคนในฐานะสมาชิกของโลกนี้ หรือแม้แต่สังคมไทยในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกนั้น มาช่วยกันสร้างสรรค์สังคมของมนุษยชาติเพื่อจะให้โลกนี้อยู่ได้ด้วยดี

วันนี้มีเวลาจำกัดอย่างยิ่ง แม้ว่าจะให้เวลามากกว่าผู้รู้หลายท่าน แต่อาตมภาพก็รู้สึกถูกบีบให้พูดน้อยอย่างยิ่ง ในเวลาเท่านี้ก็คงจะพูดได้เฉพาะข้อสังเกต หรือหลักการบางประการ ไม่สามารถจะลงลึกในรายละเอียด ตลอดจนวิธีการที่จะสร้างสรรค์ปัญญาว่าจะทำกันอย่างไร เพื่ออนาคตของมนุษยชาตินั้น ตอนนี้ขอพูดถึงข้อสังเกตก่อน

 

ข้อสังเกตเกี่ยวกับฐานที่จะสร้างสรรค์ปัญญา

ในการสร้างสรรค์
ปัจจุบันมีแต่บทเรียน ไม่มีแบบอย่าง

เมื่อเราจะทำการพัฒนาอะไร เรามักจะมองไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น มองไปที่ประเทศอเมริกา บางทีก็อาจจะมองต่อไปที่ประเทศญี่ปุ่น บางทีก็ขยายไปถึงประเทศเยอรมัน เรื่องนี้ต้องขอทำความเข้าใจกันตั้งแต่ต้นว่า การที่เรามองนั้นไม่ใช่เพื่อเอาเป็นแบบอย่าง แต่เรามองเพื่อเป็นบทเรียน เพื่อการเรียนรู้ เพื่อศึกษาข้อดีข้อเสีย ส่วนเด่นส่วนด้อย ในการที่จะปรับใช้ให้เป็นประโยชน์เข้ากับสังคมไทยของเรา

ตามที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ในการสร้างสรรค์มนุษยชาตินั้น แม้ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังมีแนวความคิดที่มุ่งสร้างสรรค์สังคมของตนเองในลักษณะที่แข่งขันกันเพื่อความยิ่งใหญ่กว่าผู้อื่น คือ มุ่งจะเอาชนะ ซึ่งอาจหมายถึงการที่จะต้องครอบงำหรือบั่นทอนกำลังของผู้อื่นด้วย

นอกจากนี้ยังมีแง่คิดอีกหลายอย่าง เช่น ประเทศที่พัฒนาเหล่านั้น บางทีแม้ว่าขณะนี้จะอยู่ในความยิ่งใหญ่ แต่เขาอาจอยู่ในทางเดินที่ต่ำลงก็ได้ หมายความว่า กำลังเสื่อมลง ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา เวลานี้ก็มีปัญหามากมาย ท่านผู้รู้ทั้งหลายก็คงทราบกันอยู่ ตำรับตำราและหนังสือที่ออกมามากมายแสดงถึงความวิตกทุกข์ร้อน เกี่ยวกับความเสื่อมโทรมในสังคมของตน บางรายถึงกับทำนายว่าประเทศอเมริกาจะกลายเป็นประเทศในโลกที่สาม ภายในปี ๒๐๒๐ คือภายใน ๒๕ ปีข้างหน้า

ในแง่นี้เราคงเอาอเมริกามาเป็นแบบอย่างไม่ได้ และเราก็ควรจะมีความคิดในทางเกื้อหนุนอเมริกาด้วย ว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยพยุงประเทศอเมริกา แต่ไม่ใช่พยุงในฐานะผู้ยิ่งใหญ่เพื่อมีอำนาจครอบงำใคร แต่ในแง่ที่จะมาเป็นส่วนร่วมที่ดี ในการช่วยสร้างสรรค์โลกมนุษย์นี้ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอเมริกาก็เป็นประเทศที่มีแง่ที่ดีงามหลายอย่าง แต่ที่อเมริกาเสื่อมลง ก็มีเหตุปัจจัยที่น่าศึกษา อันจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการสร้างสรรค์ปัญญา

ในเรื่องความเสื่อมของอเมริกานั้น ขอยกตัวอย่างเป็นข้อสังเกต เช่น ในระยะเวลาที่ผ่านมาใกล้ๆ นี้ ในทางการศึกษา นักการศึกษาอเมริกันเน้นการทำบทเรียนและกิจกรรรม ให้เป็นที่น่าสนใจแก่เด็ก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ตอนนี้ชักจะเกินเลยไปจนเป็นระดับที่เอาใจเด็ก ทำให้เกิดความอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นหนทางแห่งความเสื่อม ในเวลาเดียวกัน อเมริกาก็โอดครวญว่าการศึกษาในสังคมของตัวเสื่อมลงมาก ผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาต่ำ สู้ประเทศอื่นหลายประเทศไม่ได้ เวลาเอาเด็กมาแข่งกันในระดับนานาชาติ บางทีแทบเป็นอันดับโหล่ ตรงข้ามกับบางประเทศ ที่สร้างเด็กให้มีความเข้มแข็ง สู้บทเรียนที่ยาก สู้กิจกรรมที่ยาก ให้มีความใฝ่รู้อย่างสูง กลับมีผลสัมฤทธิ์ในการศึกษาสูง

ความจริงแต่เดิมในอเมริกาก็ฝึกเด็กให้เข้มแข็ง เป็นนักสู้ แต่เวลานี้อเมริกากำลังเอียงไปในทางสนองความต้องการแบบเอาใจเด็ก เอาใจเด็กจนกระทั่งว่า เด็กไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน ครูก็หาทางที่จะทำให้บทเรียนน่าสนใจ เอาใจเด็กเข้าไว้ ถ้าการศึกษาเป็นไปในวิถีทางนี้นานๆ เข้า ก็จะเป็นแนวโน้มสู่ความเสื่อมลง นับว่าเป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่เราไม่น่าจะเอาเป็นแบบอย่าง แต่ควรสังเกตเอาไว้เป็นบทเรียน เอามาใช้ประโยชน์ แต่ที่พูดเช่นนี้มิใช่หมายความว่าสังคมของเราจะดี จะเก่ง แต่เรากำลังพูดกันในเรื่องที่จะเป็นการสร้างสรรค์ปัญญา

สังคมไทย: ฐานเดิม
และทิศทางในการสร้างสรรค์ปัญญา

แท้จริง ในสังคมของเราก็มีข้อที่น่าเป็นห่วงมาก สังคมไทยมีสภาพซึ่งเป็นที่น่าสังเกต ตามหลักพระพุทธศาสนาบอกว่า เราจะต้องให้เด็กรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักคิด คิดเป็น คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล คิดในทางที่จะเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย คิดในทางที่ทำให้รู้จักใช้สิ่งทั้งหลายให้เป็นประโยชน์ แต่น่าสังเกตว่า การเลี้ยงดูเด็กในสังคมไทยไม่ค่อยส่งเสริมโยนิโสมนสิการนี้

จะเห็นได้อย่างง่ายๆ เช่น เราพาเด็กไปตามสถานที่ค้าขายต่างๆ เมื่อพ่อแม่พาเด็กไปเจอของเล่นต่างๆ เด็กย่อมชอบของเล่นเป็นธรรมดา และเด็กก็จะถามเรื่องของเล่นอย่างโน้นอย่างนี้ แสดงความอยากรู้อยากเห็น แต่ในสถานการณ์อย่างนี้ พ่อแม่ไทยเรามักจะนำเด็กให้สนใจในแง่ที่ว่าอันนี้ซิดี อันนั้นซิสวย อันโน้นสวยกว่า น่าดูกว่า อันนั้นสู้อันนี้ไม่ได้ แทนที่จะกระตุ้นปัญญาให้เด็กรู้เข้าใจหรือกระตุ้นความคิดเชิงหาความจริงและเหตุผลว่า เออ อันนี้คืออะไร เป็นอย่างไร มันใช้เพื่อประโยชน์อะไร เขาทำมันมาได้อย่างไร มันทำงานอย่างไร เป็นต้น ทั้งๆ ที่เด็กมีเค้าที่จะพัฒนาปัญญา โดยมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่แล้ว แต่พ่อแม่กลับไปดับปัญญาของเด็กเสีย แล้วก็โน้มนำให้เด็กเบนไปสู่ตัณหา

อันนี้เป็นภาพที่น่าสังเกตในสังคมไทย ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นไปมาก แสดงว่า เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงดูเด็ก เราก็ไม่ค่อยกระตุ้นทางปัญญา เพราะฉะนั้น สังคมไทยของเราก็ควรแก้ไขปรับปรุงตัวเอง ตอนนี้จะกลายเป็นการพูดในรายละเอียดมากเกินไป ขอกลับไปพูดในแง่ของการช่วยกันสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาติทั้งหมด

เราไม่ควรลืมว่า ในเวทีโลกปัจจุบัน มีการแข่งขันกันสูง และเราก็ต้องไม่มองข้ามความเป็นจริงว่า ในทางปฏิบัติเราก็ละเว้นไม่ได้ที่จะแข่งขันกับเขาด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะต้องแข่งขันในการที่จะเป็นผู้ชนะเขา หรือทันเขา ตามกระแสของโลก แต่เราจะต้องยืนอยู่ในวัตถุประสงค์สูงสุดว่า ในที่สุดเราจะต้องทำเพื่อมนุษยชาติทั้งหมด เพื่อความดีงามร่วมกัน มิฉะนั้นเราจะเป็นเพียงผู้มีส่วนร่วมในการสร้างปัญหาแก่โลก

ถ้าจะพูดในแง่ว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ก็คงจะต้องวางเป็นสองชั้น คือต้องมียุทธศาสตร์ชาติสองชั้นด้วยกัน ได้แก่

ชั้นที่ ๑. ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อชาติ คือยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างสังคมไทยให้ดีให้งาม มีความเจริญทันเขา ไม่แพ้เขา ตลอดจนชนะเขา อย่างน้อยไม่ให้ถูกเขาครอบงำ

ชั้นที่ ๒. ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อโลก อันนี้ก็ต้องมีด้วย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นการริเริ่มที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การอยู่รอดปลอดภัย และสันติสุขของมนุษยชาติ

ในขั้นต้น เราต้องแข่งขันให้ชนะเขา แต่เหนือกว่านั้นก็คือ เราควรจะขึ้นไปเหนือการชนะ เหนือกว่าการแข่งขัน มาสู่สถานะที่จะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลโลก เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติอย่างแท้จริง

ข่าวสาร: ช่วยเสริมปัญญา หรือว่าใช้ล่อเหยื่อ

ข้อสังเกตต่อไป คือ โลกเวลานี้เราเรียกกันในแง่หนึ่งว่า เป็นโลกยุคข่าวสารข้อมูล แม้แต่สังคมเราก็เรียกว่าเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล หรือสังคมสารสนเทศ คนปัจจุบันคิดว่า โลกทุกวันนี้มีข่าวสารข้อมูลแพร่กระจายกว้างขวางทั่วถึงรวดเร็วมาก ก็คิดว่าคนจะฉลาด คนจะมีปัญญา จะเข้าสู่ยุคแห่งปัญญา แต่อาจจะเป็นการมองที่ไม่ถูกต้องทีเดียว เพราะอาจจะเป็นการมองในแง่เดียว แท้จริงการมีข้อมูลข่าวสารมากไม่จำเป็นต้องทำให้คนมีสติปัญญา หากว่าไม่พัฒนาคนให้รู้จักรับและใช้ข้อมูลนั้น

ข่าวสารข้อมูลนั้นถือเป็นโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่ง เพราะเป็นกระแสที่ไหลไปทั่วโลก มีอิทธิพลแม้กระทั่งครอบงำชาวโลกได้ การที่ข่าวสารไหลไปเป็นกระแสทั่วถึงอย่างนั้น มนุษย์เราจะปฏิบัติต่อมันแตกต่างกันเป็นหลายแบบ ซึ่งอาจจะแยกง่ายๆ ดังนี้

คนพวกหนึ่งไหลไปตามกระแส และถูกกระแสท่วมทับ โดยมีอาการหลงงมงาย ถูกกระแสพัดพาไป คล้ายกับที่คนโบราณเคยงมงายในข่าวลือ แล้วก็ตกเป็นเหยื่อของข่าวสารข้อมูล

ปัจจุบันมีคนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อของข่าวสารข้อมูล และเมื่อมีข้อมูลมากๆ แต่ไม่รู้จักรับไม่รู้จักใช้ ก็กลายเป็นคนผิวเผิน ผ่านๆ ไม่เข้าถึงข้อมูลที่แท้จริง ถ้าเราไม่สามารถทำให้คนพัฒนาสติปัญญาอย่างถูกต้องให้สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างแท้จริง และสามารถถือเอาประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลได้ ก็จะเป็นโทษอย่างมาก ข่าวสารข้อมูลจะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับล่อเร้าและหลอกลวง ทำให้คนตกเป็นเหยื่อ

คนจำนวนมากมีความภาคภูมิใจว่าตนตามทันข่าวสารข้อมูล อาจจะได้รับการชื่นชมทำนองนี้ว่า แหม คนนี้เก่งมาก มีข่าวสารข้อมูลอะไรออกมา เขาตามทันหมด แต่ปรากฏว่าเขาตามทันเท่านั้น ไม่รู้เท่าทัน อันนี้ก็เป็นปัญหาของสังคมปัจจุบัน คือตามทัน แต่ไม่รู้เท่าทัน และตัวเองก็ตกอยู่ในกระแสและถูกกระแสท่วมทับพัดพาไป อย่างที่พูดไปแล้ว แต่ถ้าเรามีปัญญารู้เท่าทัน ก็จะทำให้เราดำรงตัวอยู่ท่ามกลางกระแสได้ เป็นผู้ที่ยืนหยัดตั้งหลักอยู่ได้ จัดเป็นพวกที่สอง

แต่รู้เท่าทันก็ยังไม่พอ ควรจะสามารถทำได้ดีกว่านั้นอีก คือขึ้นไปอยู่เหนือกระแส จึงจะเป็นผู้ที่สามารถนำเอาข้อมูลข่าวสารมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง จัดเป็นพวกที่สาม ที่สามารถจัดการกับกระแส โดยทำการเปลี่ยนแปลงในกระแส หรือนำกระแสให้เดินไปในทิศทางใหม่ที่ถูกต้อง คนที่จะสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ จะต้องมีความสามารถถึงขั้นอยู่เหนือและนำกระแสได้แบบพวกที่สามนี้

 

มนุษย์: เพื่อเป็นทรัพยากรที่ดี
หรือเพื่อมีชีวิตที่สมบูรณ์

ต่อไปก็เป็นข้อสังเกตอีกข้อหนึ่ง คือเวลานี้ เราพูดกันมากว่าคนเป็นทรัพยากรมนุษย์ และเราจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่บางทีเราอาจจะเพลินลืมไปว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นศัพท์ค่อนข้างใหม่ มีอายุไม่นานเท่าไร และเกิดขึ้นเพื่อสนองแนวความคิดในการพัฒนาแบบที่เรากำลังติเตียนกันอยู่ว่าผิดพลาด มีโทษร้ายและจะต้องละเลิก

เรื่องมีว่า เมื่อไม่นานนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๖๔ (พ.ศ. ๒๕๐๗) มีนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันคนหนึ่งชื่อ Gary Becker ได้แต่งหนังสือ ชื่อ Human Capital แสดงความคิดว่า มนุษย์ก็เป็นทุนอย่างหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ แล้วในระยะใกล้ๆ นั้นเอง คือในช่วงปี ๑๙๖๕-๑๙๗๐ (พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๓) ก็มีการใช้ศัพท์ว่า human resources ที่แปลว่าทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งแสดงความหมายว่าเรามองมนุษย์เป็นเครื่องมือ หรือเป็นทุนที่จะใช้สนองวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ หรือเพื่อพัฒนาสังคม

แต่ความจริงมนุษย์คงไม่ใช่มีความหมายเพียงเท่านั้น เราควรจะมองมนุษย์ในฐานะที่เป็นคนเพื่อตัวของเขาเองด้วย ซึ่งเป็นชีวิตที่มีคุณค่า มีความหมายในตัวของเขาเอง แต่ทั้งนี้ไม่ใช่หมายความว่าจะเลิกความหมายที่เป็นทรัพยากรไปเสียเลย เพียงแต่ไม่ให้เราจบแค่นั้น คือจะต้องให้มีความหมายทั้งสองอย่าง ทั้งในแง่ที่มนุษย์เป็นทรัพยากร และในแง่ของความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่ามีความหมายในตัวเอง และความหมายในแง่หลังนี้ มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการศึกษาจะต้องพัฒนาคนโดยมีจุดหมาย ให้เป็นชีวิตที่มีคุณค่าในตัวของเขาเอง ให้เป็นชีวิตที่ดีงาม และสมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งอาจจะใช้คำว่าเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

สังคมแห่งการเรียนรู้ สู่จุดหมายอันใด

ข้อสังเกตต่อไป คือ เวลานี้มีศัพท์ค่อนข้างใหม่ว่าสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งแปลมาจาก learning society แล้วก็มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ learning culture หรือแม้แต่คำว่า knowledge society ในเรื่องนี้เราคงจะต้องถามกันเหมือนกันว่า ที่ว่า สังคมของการเรียนรู้นั้นคืออย่างไร เพราะว่า การที่เราสนับสนุนให้คนมีการเรียนรู้มากนั้น ถ้าการเรียนรู้นั้นเป็นไปในทางของการสนองแนวคิดแบบเดิม เช่นแนวคิดแบบหาผลประโยชน์ ตามลัทธิทุนนิยม ก็เท่ากับว่าเราส่งเสริมให้มนุษย์เรียนรู้ไป เพื่อจะได้พัฒนาความสามารถให้มากยิ่งขึ้น ในการหาผลประโยชน์ เช่นนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นจะต้องมีความชัดเจนในความหมายและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ ทั้งหมดที่ว่ามานี้ขอตั้งเป็นข้อสังเกต

 

หลักการสร้างสรรค์ปัญญา

ปัญญา: ยอดคุณสมบัติของสัตว์ผู้ต้องศึกษา

ต่อไปนี้ จะขอพูดเรื่องบางอย่างที่เป็นหลักการบ้าง แต่ยังไม่ใช่เป็นการสร้างสรรค์ปัญญาโดยตรง กล่าวคือจะพูดในแง่ที่ว่าในการสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาตินั้น เราต้องดูว่า ปัญญามีบทบาทอะไร ที่จะทำให้เกิดสังคมที่ดีงาม ปัญญามีความหมายอย่างไร มีบทบาทอย่างไร มีส่วนร่วมอย่างไร ที่จะทำให้เกิดความงอกงามแก่อนาคตของมนุษยชาติ

มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษดังที่ทางพระว่า เป็นทัมมะ (ท ทหาร ไม่ใช่ ธ ธง) คู่กับธัมมะ คือธรรม จะเห็นได้ในคำที่เราสวดพุทธคุณว่า อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ คำนี้แสดงธรรมชาติของคนว่า เป็นทัมมะ คือเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก แม้แต่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ก็เพราะการฝึกนี้ จึงมีหลักการที่สำคัญว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก

เรามักจะพูดห้วนๆ เสมอว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ไม่ใช่เป็นคำกล่าวตามหลักพระพุทธศาสนา ถ้าจะให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาจะต้องพูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่ การฝึกก็คือทำให้พัฒนาขึ้นด้วยสติปัญญาเป็นต้น

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกจึงจะประเสริฐ เพราะเหตุใด เพราะมนุษย์อาศัยสัญชาตญาณได้น้อย ไม่เหมือนสัตว์ประเภทอื่น ซึ่งเกิดมาแล้วก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แม้แต่คลอดออกมาวันนั้น อย่างลูกห่าน ก็เดินได้เลย ว่ายน้ำได้ทันที หากินได้ทันที แต่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกฝนพัฒนา โดยเฉพาะพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าปัญญามาใช้ดำเนินชีวิต แทนที่จะอยู่อย่างสัตว์อื่นที่เป็นไปตามสัญชาตญาณ

ขอย้อนกลับมาเรื่องเดิมอีก หลักการของพระพุทธศาสนาสอนตามธรรมชาติว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ ฝึกไปทำไม ก็ฝึกให้ดำเนินชีวิตดียิ่งขึ้นไป จะได้มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข เป็นอิสระ และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุขในสังคมและในโลก ทำไมจึงต้องฝึก เพราะชีวิตของเราที่เกิดมาตั้งแต่เริ่มต้น เราได้เรียนรู้มา ได้ฝึกได้หัดมา เราจึงอยู่ได้ดี อย่างที่เห็นกันอยู่ว่า มนุษย์เกิดมาอาศัยสัญชาตญาณแทบไม่ได้เลย เราต้องเรียนรู้และต้องฝึกต้องหัดเอาทั้งนั้น พอเกิดมาก็ต้องมีคนอื่นอุ้มชูก่อน ต้องเลี้ยงดูเป็นเวลาหลายปี

ในระหว่างที่เขาเลี้ยงดูนั้น ตัวเองทำอะไร ตัวเองก็เรียนรู้และฝึกหัดไป ต้องเรียนต้องฝึกทั้งนั้น ทั้งการนั่ง การนอน การยืน การกิน การขับถ่าย จนกระทั่งมาเดิน มาพูด ต้องฝึกต้องหัดหมด จึงบอกว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์แทบไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ มนุษย์ต้องลงทุนทั้งนั้น ด้วยการหัด ด้วยการฝึก ด้วยการเรียนรู้ เราจึงได้การดำเนินชีวิตที่ดีมา เป็นอันว่า การดำเนินชีวิตที่ดีที่เรียกว่า จริยะ สัมพันธ์กับการเรียนรู้ คือการศึกษา

การดำเนินชีวิตที่ดีที่เรียกว่าจริยะนี้ ได้มาด้วยสิกขา คือการศึกษา เพราะฉะนั้น ชีวิตของมนุษย์ ถ้าจะเป็นชีวิตที่ดี ต้องมีการศึกษาตลอดเวลา คือต้องเป็นชีวิตแห่งการศึกษา จะพูดว่า ชีวิตที่ดี คือชีวิตแห่งการศึกษา ก็ได้ เพราะชีวิตที่ดี ต้องมีการฝึกฝนพัฒนา เราไม่สามารถได้ชีวิตที่ดีมาเปล่าๆ

แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ ไม่รู้ตัว ไม่รู้หลักการ ไม่รู้ธรรมชาติอันนี้ การเรียนรู้ การฝึก การหัดนั้น จำเป็นเพื่อให้ตัวดำเนินชีวิตอยู่ได้ ก็เรียน ก็ฝึก ก็หัดไปด้วยความจำเป็นจำใจ พอทำได้ก็หยุดฝึก จึงไม่พัฒนาเท่าที่ควร ถ้าเขารู้ธรรมชาติแห่งชีวิตของตนเอง รู้หลักการของชีวิตมนุษย์อย่างนี้แล้วว่า ชีวิตที่ดีของมนุษย์ได้มาด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา ต้องมีสิกขา ถ้าเราฝึกฝนพัฒนาเรียนรู้อยู่เรื่อย ชีวิตของเราก็จะดีงาม เขาก็จะสิกขาต่อไปเรื่อยๆ จนมีชีวิตที่ประเสริฐ

ชีวิตที่มีการศึกษา คือเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาอยู่เรื่อย จะเป็นชีวิตที่ประเสริฐ เรียกว่า ชีวิตประเสริฐเกิดจากการศึกษา ดังพุทธพจน์ที่ตรัสย้ำว่า ทนฺโต เสฏโฐ มนุสฺเสสุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์นั้น คนที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งว่า

มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ

แปลว่า พระสัมพุทธเจ้านี้ ทั้งที่เป็นมนุษย์ แต่ฝึกพระองค์แล้ว มีพระทัยอบรมถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ กลายเป็นพลิกกลับเลย แต่ก่อนมนุษย์ต้องไหว้กราบเคารพเทวดา แต่พอมนุษย์ฝึกดีแล้ว เทวดากลับมาไหว้มนุษย์

ที่ว่านี้เป็นการพูดในสภาพแวดล้อมเก่า พระพุทธศาสนาเกิดในสังคมที่บูชาเทพเจ้า มนุษย์มีความโน้มเอียงที่คอยแต่จะไปหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก พระพุทธเจ้าต้องให้กำลังใจว่า อย่ามัวไปอ้อนวอน อย่ามัวไปหวังพึ่ง ตัวคุณนี้แหละพัฒนาได้ และถ้าคุณพัฒนาตัวดี เทวดาและแม้แต่พระพรหมก็หันมานับถือเคารพคุณ นี้เป็นการตรัสตามสภาพแวดล้อมของยุคสมัย เพื่อให้คนเกิดกำลังใจ ไม่ใช่มัวงอมืองอเท้า ไปหวังพึ่งสิ่งภายนอกอยู่

ตกลงว่า ในคติพุทธศาสนา เรื่องจริยะหรือจริยธรรมไม่ได้แยกจากการศึกษาเลย แต่เป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อให้มีจริยะ คือการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ที่ประเสริฐเป็นพรหมะ ก็ต้องมีการศึกษา คือฝึกฝน เรียนรู้ พัฒนาไป จึงได้อ้างพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า พรหมจริยะ คือจริยะอันประเสริฐ ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งมาเป็นสิกขาคือการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ๓ อย่างเหมือนกัน

ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา บอกชัดอยู่แล้วว่าฝึก ๓ อย่าง ฝึกอะไร ก็ฝึกพฤติกรรม ฝึกจิตใจ ฝึกปัญญา แล้วก็เกิดจริยะที่ดีงาม (พรหมจริยะ) คือการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ทำให้มีพฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญาที่ดียิ่งขึ้นไป ฝึกอะไรก็ได้สิ่งนั้น ฝึกที่ไหน ก็ฝึกที่ศีล สมาธิ ปัญญา

คติของสัตว์ชนิดอื่นว่า เกิดมาด้วยสัญชาตญาณใด ก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณนั้น แต่ของมนุษย์ไม่อย่างนั้น คติของมนุษย์ว่า ฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น จึงเป็นหลักการของมนุษย์ว่าจะต้องมีการฝึก คือเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา เพราะนี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ผู้เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และฝึกได้

คำว่า ต้องฝึก แสดงถึงความเสียเปรียบของมนุษย์ ที่ว่าสัตว์อื่นมันไม่ต้องฝึก ไม่ต้องหัด ไม่ต้องเรียนรู้ มันก็อยู่ได้ ส่วนมนุษย์นี่แย่กว่า ต้องฝึกจึงอยู่ได้ แต่ฝึกได้ แสดงความพิเศษที่เป็นข้อดีของมนุษย์ว่ามนุษย์นี้ฝึกได้ ส่วนสัตว์อื่นฝึกไม่ได้ สัตว์อื่นมันไม่ต้องฝึกและมันก็ฝึกไม่ได้ด้วย ไม่ใช่ฝึกไม่ได้เลย มันเรียนรู้และฝึกได้ในขอบเขตจำกัดมาก และต้องให้มนุษย์ฝึกให้ ส่วนมนุษย์นั้น

๑. ฝึกได้

๒. ฝึกตัวเองได้ด้วย

ฝึกตนได้นี่แหละที่สำคัญอย่างยิ่ง การเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาที่แท้ได้ผลสูงสุดอยู่ที่ตัวเอง ขยายความว่า รู้จักเรียนรู้ โดยเอาสิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง แล้วก็จะมีคุณสมบัติเก่งกล้าเกิดขึ้นมาในตัวมากมาย โดยเฉพาะปัญญาที่เป็นคุณสมบัติอันเยี่ยมยอด เยี่ยมยอดอย่างไร ก็มาดูกันต่อไป

ปัญญา นำสัตว์ผู้ต้องศึกษา
จากชีวิตที่เสี่ยงภัย สู่อิสรภาพ

โดยธรรมชาติของปัญญาที่สัมพันธ์กับมนุษย์อย่างแท้จริง เบื้องต้นเราจะเห็นได้ชัดว่า ปัญญาเป็นปัจจัยตัวเอกที่จะทำให้มนุษย์อยู่รอดปลอดภัยได้ หลุดพ้นเป็นอิสระ หรือพูดง่าย ๆ ว่า นำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพ ถ้ามนุษย์ไม่มีปัญญา ก็ไม่มีอิสรภาพ แม้แต่จะมีชีวิตอยู่ก็ไม่รอด

มนุษย์นั้นเมื่อเกิดมาก็ยังไม่รู้อะไร และเมื่อเจออะไรที่ยังไม่รู้ ก็ไม่รู้จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร จึงติดขัด คับข้องเป็นภาวะบีบคั้น ทำให้เกิดทุกข์เกิดปัญหา แต่ถ้าเรารู้ เราก็ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เราก็รอดพ้นปัญหาได้ ฉะนั้น เพื่อให้รู้ มนุษย์ก็ต้องเรียนรู้ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มากับตัวที่จะเรียนรู้และฝึกฝนพัฒนาทำให้เกิดปัญญาขึ้น มนุษย์มีปัญญารู้ในสิ่งนั้นยิ่งขึ้นๆ จนทำให้มีตำรา และวิชาการต่างๆ ซึ่งเป็นความรู้ในเรื่องนั้นๆ รู้เรื่องใดก็แก้ปัญหาในเรื่องนั้นได้ จนกระทั่งเข้าใจโลกตามความเป็นจริง ทำให้จัดวางชีวิตได้ลงตัวกับโลกนี้

การที่มีปัญญาแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ จัดการ ดำเนินการต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง โปร่งโล่งไปได้นี้เรียกว่า หลุดพ้นเป็นอิสระ นั่นคืออิสรภาพ ซึ่งมีทั้งอิสรภาพทางร่างกายที่ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของสิ่งแวดล้อม และมีปัจจัยสี่หล่อเลี้ยงให้เป็นอยู่ได้ อิสรภาพทางสังคม ที่แก้ไขลุล่วงปัญหาที่เกิดขึ้นในการอยู่ร่วมกัน มีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่กดขี่เบียดเบียนบีบคั้นกัน ทำสังคมให้อยู่รอดปลอดภัย อิสรภาพทางจิตใจ ที่โปร่งโล่ง สงบสุข มีความพึงพอใจ

ถ้าเรามีปัญหาและยังไม่เกิดความรู้ ติดขัด แก้ปัญหาไม่ตก จิตใจก็บีบคั้นหวาดหวั่นระแวง ว้าวุ่นสับสน แต่พอปัญญารู้เข้าใจก็เกิดทางออกขึ้นมา ใจก็หายสับสนวุ่นวาย หายกระสับกระส่าย สงบได้ ปลอดโปร่งโล่งไป ปัญญาจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดอิสรภาพทางจิตใจ ในที่สุดจึงต้องมีอิสรภาพทางปัญญา ที่ปัญญาไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลส ตัณหา และอคติ

อิสรภาพทั้งหมดนี้ต้องอาศัยปัญญาทำให้เกิด มนุษย์ที่ไม่มีปัญญาจะทำอย่างไร ก็ต้องอาศัยกิเลสไปก่อน กิเลส เช่น ความกลัวทำให้เราหนีภัย ไม่ยอมเข้าไปหาสิ่งที่เป็นอันตราย ทำให้เอาตัวรอดไว้ก่อน เช่น กลัวภัยธรรมชาติ กลัวสัตว์ร้าย กลัวคนที่มีอำนาจมากกว่า ความกลัวเป็นต้นนี้ช่วยพยุงคนในขณะที่ยังไม่มีปัญญา ยังไม่รู้เหตุรู้ผล เมื่อมีปัญญาแล้วก็พ้นจากการอยู่รอดด้วยกิเลส มาอยู่ด้วยปัญญา การพัฒนาคนก็เพื่อให้เขาอยู่ดีด้วยปัญญา เมื่อแต่ละคนมีปัญญา ก็มาช่วยกันสร้างสรรค์สังคมของมนุษยชาติให้มีความเจริญ ให้อยู่ดีมีสันติสุขได้ นั่นคือความหมายของปัญญาในแง่ที่นำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพ

ปัญญา พัฒนาพร้อมปัจจัยร่วม ในระบบองค์รวม

ในหลักการของการพัฒนา แม้ว่าปัญญาจะเป็นสิ่งที่ต้องการที่แท้ เพราะเป็นตัวนำชีวิตสู่อิสรภาพ แต่ปัญญาก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของชีวิต หมายความว่าเราต้องมองชีวิตของมนุษย์ว่าเป็นระบบแห่งองค์รวมของส่วนประกอบมากมาย ส่วนประกอบเหล่านี้ มีความสัมพันธ์เกื้อหนุนอิงอาศัยซึ่งกันและกัน เช่นที่ทางพระแยกชีวิตเป็นองค์ประกอบที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชีวิตเป็นองค์รวมของระบบความสัมพันธ์แห่งองค์ประกอบเหล่านี้

พร้อมกันนั้นในเชิงปฏิบัติในแง่ของการดำเนินชีวิตก็เช่นเดียวกัน ชีวิตของคนแยกออกเป็นด้านต่างๆ ของความเป็นอยู่หรือประกอบด้วยความเป็นอยู่ด้านต่างๆ รวม ๓ ด้าน คือ ด้านพฤติกรรม ซึ่งแสดงออกทางกาย และวาจา ที่ติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แล้วก็มีด้านจิตใจ และด้านปัญญา สามด้านหรือสามส่วนนี้มีความสัมพันธ์และอิงอาศัยซึ่งกันและกัน

ในการที่จะพัฒนาปัญญานั้น เราจะพัฒนาปัญญาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะปัญญาเป็นด้านหนึ่งในระบบองค์รวมของชีวิตที่มีส่วนประกอบสามด้านอิงอาศัยสัมพันธ์กันอยู่

พระพุทธศาสนาไม่มองจริยธรรมแยกส่วนออกไปว่าเป็นความประพฤติอย่างนั้นอย่างนี้เหมือนในวัฒนธรรมตะวันตก แต่มองว่า จริยธรรมคือการดำเนินชีวิตของคน หรือระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมีความสัมพันธ์ทั้งสามด้านมาเกื้อหนุนกัน คือ ด้านพฤติกรรมที่เรียกว่า ศีล ด้านจิตใจ ซึ่งมักเรียกชื่อตามองค์ประกอบที่เป็นแกนกลางในการฝึกว่า สมาธิ และด้านปัญญา คือความรู้ สามด้านนี้สัมพันธ์เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน จึงต้องพัฒนาไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะพัฒนาปัญญาก็ต้องให้ ศีล สมาธิ พัฒนาไปด้วย เป็นระบบแห่งศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการศึกษาหรือสิกขา ๓ ด้าน จึงเรียกว่าไตรสิกขา (จะเรียกว่า ตรีศึกษา หรือไตรศึกษา ก็ได้)

จะเห็นได้ง่าย เช่น พฤติกรรมจะเป็นไปด้วยดี ตอนแรกอาศัยความเคยชิน พอให้มีพฤติกรรมเคยชินอย่างไร คนก็ดำเนินชีวิตไปด้วยพฤติกรรมอย่างนั้น พฤติกรรมเคยชินที่ดีมักเกิดจากการหล่อหลอมทางสังคม เช่นการเลี้ยงดูและวัฒนธรรมเป็นต้น วัฒนธรรมทำให้มีพฤติกรรมเคยชินที่ต้องการได้ง่าย แต่พฤติกรรมที่ดีจะมีความมั่นคง เมื่อมีสภาพจิตที่ดี เช่นคุณธรรมรองรับหรือหนุนอยู่ เช่น ถ้าในใจคน มีเมตตา คือมีความรักความปรารถนาดี อยากให้คนอื่นเป็นสุข พฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็เป็นไปได้ง่าย เพราะมันทำให้มีความเต็มใจที่จะทำ และมีความสุขใจ

ถ้าทางด้านจิตใจ คนมีความพอใจในพฤติกรรมนั้น และมีความสุขที่จะปฏิบัติและแสดงออกในพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมนั้นจะมีความมั่นคง แต่ถ้าเราจะให้คนมีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่มีสภาพด้านจิตใจที่ประสานสอดคล้องกัน เช่น สอนเด็กให้ประพฤติดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จิตใจเด็กไม่มีความสุขในการดำเนินพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมนั้นก็ไว้ใจได้ยาก จึงต้องให้คุณธรรมและความสุขมาหนุนด้วย พฤติกรรมดีจึงจะจริงจังมั่นคง

ยิ่งถ้ามีปัญญา รู้เหตุผลและคุณค่าว่าทำไมเราจึงควรจะมีพฤติกรรมอย่างนี้ด้วย ก็ยิ่งเต็มใจ และทำพฤติกรรมนั้นด้วยความสุข อย่างนี้เรียกว่าเป็นการประสานขององค์ประกอบทั้งสามด้าน ซึ่งจะทำให้ระบบการดำเนินชีวิตดีงามเป็นไปได้ การพัฒนามนุษย์จึงต้องพัฒนาทั้งระบบขององค์ประกอบที่อาศัยซึ่งกันและกัน

ในทางตรงข้าม พฤติกรรมที่ไม่ดี มีความขัดแย้ง มีความรุนแรง ก็ทำให้จิตใจกระสับกระส่าย เร่าร้อนขุ่นมัว เมื่อสภาพจิตก็ไม่ดี การใช้ปัญญาก็ไม่ชัดเจน ทำให้คิดถึงผลประโยชน์ และผลเสียหายไม่รอบคอบ ทำให้มองแง่เดียว ด้านเดียว เช่น จะต้องเอาชนะแง่เดียว ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นพฤติกรรมไม่ดีก็ไม่เอื้อที่จะให้เกิดปัญญา แต่ถ้ามีพฤติกรรมที่ดี คนจะเกิดความมั่นใจในพฤติกรรมนั้น จิตก็จะเกิดความสงบ ทำให้การใช้ปัญญาได้ผลดี มีความคิดรอบคอบเป็นต้น

ในการพัฒนาปัญญา ก็ต้องมีพฤติกรรมที่เอื้อ เช่น การไปหาและรวบรวมข้อมูล การใช้ตา หู ในการสำรวจ และสังเกต การรู้จักติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น การแสดงกิริยาอาการในการติดต่อ การใช้วาจาซักถาม ปรึกษาสนทนา เป็นต้น และต้องมีสภาพจิตที่เกื้อหนุน เช่น มีความใฝ่รู้ สู้ปัญหา ขยันอดทนในการคิดค้น รู้จักระลึกและทบทวน มีจิตใจแน่วแน่เป็นสมาธิ จึงจะพัฒนาปัญญาได้ดี ถ้าใจไม่สู้ปัญหา ขี้เกียจคิด ใจเร่าร้อนขุ่นมัวหรือกระวนกระวาย มีแต่เรื่องรบกวนจิตใจ ใจจับจดฟุ้งซ่าน ก็พัฒนาปัญญาได้ยาก

นี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงว่า การพัฒนามนุษย์จะต้องเป็นไปอย่างประสานกันทั้งสามด้าน คือ พฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญา เป็นอันว่า ถ้าจะพูดเรื่องการสร้างสรรค์ปัญญา จะต้องพูดให้ครบทั้งสามด้าน และให้สามด้านมาเกื้อกูลกัน ดังที่ทางพระเรียกสั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

 

ปัญญา ทั้งเข้าถึงธรรมชาติ ทั้งสามารถจัดสรรสังคม
จึงจะสมบูรณ์ด้วยความหมาย

ต่อไปประการที่สาม เรื่องปัญญานี้ มีสองด้าน มาบรรจบประสานกัน คือ

๑. ปัญญาที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

๒. ปัญญาที่นำความรู้ในความจริงนั้นมาใช้จัดสรรสังคมให้ดี

ปัญญาสองขั้นนี้มีความสัมพันธ์กันและสำคัญอย่างยิ่ง บางทีเราอาจมองข้ามไป

พระพุทธศาสนาสอนว่า ความจริงมีอยู่ตามธรรมชาติ พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่ก็ตาม ความจริงก็เป็นอย่างนั้น แต่พระพุทธเจ้าได้มาค้นพบความจริงนั้นแล้ว ก็นำมาเปิดเผยชี้แจงแสดงอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ความจริงนี้เรียกว่า ธัมมะ หรือ ธรรม หรือกฎธรรมชาติ

ชีวิตมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเป็นไปตามความจริงหรืออยู่ใต้กฎนี้ด้วย ฉะนั้น ชีวิตของมนุษย์จะดำเนินไปด้วยดีได้จะต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ ถ้าเราดำเนินชีวิตไม่สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ ชีวิตก็ไม่อาจเป็นไปด้วยดี แม้แต่จะอยู่รอดก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นการเข้าถึงความจริงในธรรมชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้ดี โดยเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ

มนุษย์เราอยู่กันเป็นหมู่ อยู่กันเป็นสังคม ทำอย่างไรจะให้หมู่มนุษย์จำนวนมาก ดำเนินชีวิตได้สอดคล้องกับความจริงตามกฎของธรรมชาติ คำตอบก็คือเราต้องขยายปัญญานี้ ไปให้แก่สังคมมนุษย์ ตอนนี้เป็นขั้นที่สอง ดังนั้น เพื่อให้หมู่มนุษย์ได้ประโยชน์จากความจริงในธรรมชาติ ท่านผู้รู้ความจริงแล้วจึงมาจัดตั้งแบบแผน จัดสรรดำเนินการ วางระบบระเบียบต่างๆ เพื่อให้สังคมมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่จะช่วยเกื้อกูลตะล่อมให้ชีวิตของคนทั้งหลายที่อยู่ในสังคมนั้นดำเนินไปสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบความจริงในธรรมชาติ แต่เพียงค้นพบความจริงในธรรมชาตินั้น ก็ยังไม่ใช่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าของเรานี้ เราเรียกพระนามเต็มว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้ที่ค้นพบความจริงในธรรมชาติแล้วความรู้นั้นจำกัดอยู่กับตัว เราเรียกว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความสามารถพิเศษมากกว่านั้น นอกจากรู้เข้าถึงความจริงในธรรมชาติแล้ว ยังสามารถจัดตั้ง วางระเบียบแบบแผน จัดสรรสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้ธรรมนั้นอำนวยประโยชน์แก่สังคมของมนุษย์จำนวนมากได้ด้วย ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตรงนี้ การจัดตั้งวางระเบียบชีวิตและระบบสังคมบนฐานแห่งความรู้ในความจริงของธรรมชาติ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่สังคมมนุษย์นี้ เรียกว่า วินัย

“วินัย” เป็นศัพท์ที่มีความหมายกว้าง แต่เวลานี้เราใช้ในความหมายแคบ ขอย้ำว่า วินัยคือการจัดตั้งวางระบบขึ้นในสังคมมนุษย์ด้วยความรู้ในหลักความจริงของธรรมชาติ ที่จะให้หมู่มนุษย์หรือคนจำนวนมากสามารถดำเนินชีวิตโดยสอดคล้องกับหลักความจริงนั้น เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามในสังคมที่มีสันติสุข วินัยที่มนุษย์ผู้มีปัญญาจัดตั้งขึ้น จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนา คู่กันกับธรรมที่เป็นตัวความจริงในธรรมชาติ ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดจากความสามารถของปัญญาสองขั้นนี้

ปัญญาขั้นที่หนึ่ง คือ ปัญญาขั้นรู้หลักความจริง ได้แก่รู้ความจริงของธรรมชาติ

ปัญญาขั้นที่สอง คือ ปัญญาขั้นจัดสรรดำเนินการ ได้แก่ความสามารถจัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์บนฐานแห่งความรู้ในความจริงนั้น

พระพุทธศาสนาประกอบด้วยหลักการสองส่วนนี้ เพราะฉะนั้น ธรรมวินัย จึงเป็นชื่อเดิมของพระพุทธศาสนา เวลานี้เรามักจะมองแต่ตัวธรรม ก็เลยขาดองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งคือวินัยไป และเลยไม่เข้าใจหลักการใหญ่นี้ พระพุทธเจ้าทรงเรียกศาสนาของพระองค์ว่า ธรรมวินัย ส่วนคำว่าพุทธศาสนาเดิมไม่ค่อยมีความสำคัญอะไร แต่มามีความสำคัญชอบใช้กันมากในระยะหลัง เพราะฉะนั้น จะมองพระพุทธศาสนาให้ครบต้องมองทั้งสองด้านนั้น คือทั้งธรรมและวินัย เป็น ธรรมวินัย

ในหมู่มนุษย์ วินัยคือการจัดตั้งแบบแผน วางระบบความเป็นอยู่ และจัดระเบียบในสังคม เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แต่ก็มีความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับวินัยที่เราจะต้องรู้ตระหนักให้ถูกต้องและชัดเจน

มองในด้านหนึ่ง ธรรม คือความจริงในธรรมชาติที่เราเข้าถึงด้วยปัญญานั้น จะเกิดประโยชน์แก่หมู่มนุษย์ได้ดีได้จริง ก็ต่อเมื่อเรานำความรู้ในความจริงนั้นมาใช้จัดตั้งวางระบบแบบแผน และจัดสรรสภาพแวดล้อม บริหาร จัดการ ดำเนินการต่างๆ ให้เอื้อต่อการที่คนที่อยู่ในสังคมนั้นจะสามารถพัฒนาชีวิตของเขาให้ดีงาม ให้เข้าถึงปัญญาที่ทำให้บรรลุอิสรภาพได้ การจัดตั้งอันนี้ก็คือวินัย ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดตั้งทางสังคม

แต่มองในทางกลับกัน การจัดตั้งวางระเบียบแบบแผนทางสังคมที่จะได้ผลอย่างจริงจังมั่นคงนั้น จะต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงในธรรมชาติ มิฉะนั้นระบบสังคมนั้นจะไม่ได้ผลจริง และไม่มั่นคงด้วย เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะฉะนั้น วินัยคือระบบแบบแผนของสังคม จะต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงในธรรมชาติ คือต้องสอดคล้องกับธรรม เราจัดตั้งวินัยขึ้นเพื่ออะไร ก็เพื่อให้คนเข้าถึงธรรม คือให้แต่ละคนเข้าถึงธรรรม ดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรม และได้ประโยชน์จากธรรมนั้น

สรุปว่า ผู้ที่จะจัดตั้งวินัย ต้องมีปัญญา ๒ ชั้น คือ ปัญญาที่รู้เข้าใจเข้าถึงความจริงแห่งธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย และปัญญาที่สามารถจัดตั้งวางระเบียบระบบในสังคมมนุษย์ให้สอดคล้องกับความจริงนั้น คือ ต้องรู้ธรรมจึงจะวางวินัยถูกต้องได้ผลจริง

ปัญญาในข้อนี้ สัมพันธ์กับปัญญาในข้อก่อน กล่าวคือ การใช้วินัยจัดตั้งวางระบบของสังคมขึ้นนั้น ก็คือการทำให้คนมีสภาพความเป็นอยู่ทั้งส่วนตัวและส่วนร่วมกัน พร้อมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้อเกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตของตนให้เจริญงอกงามในไตรสิกขาหรือตรีศึกษา อันมีการพัฒนาปัญญาเป็นจุดยอด เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีงามสอดคล้องกับธรรมและเข้าถึงธรรม

ถ้าใช้ศัพท์สมัยใหม่ วินัยก็คือการจัดตั้ง learning society นั่นเอง และเป็น learning society ที่มีความหมายและความมุ่งหมายชัดเจนว่า เพื่อให้คนพัฒนาไปโดยสอดคล้องกับธรรมและเข้าถึงธรรม

จากสาระที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่า ระบบแบบแผนในสังคมมนุษย์ทั้งหมดที่เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง การปกครอง ระบบการบริหาร และระบบสังคมต่างๆ ทุกอย่าง ถ้าจะให้ได้ผลจริง จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจในความจริงแท้ในธรรมชาติที่ประสานเป็นอันเดียวกันทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงเป็นระบบแยกย่อยที่ต้องเชื่อมโยงประสานกลมกลืนเป็นระบบแห่งวินัยใหญ่อันเดียวกัน จะต้องสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บรรจบรวมกันในที่สุด แต่เวลานี้ น่าสังเกตว่า ระบบต่างๆ เช่น ระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจ ถูกนำมาใช้ในสังคมเดียวกัน แต่กลับตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีคนละอย่าง จึงไม่อาจจะได้ผลดีอย่างแท้จริง ซ้ำร้ายจะมาขัดแย้งกันจนทำให้เกิดปัญหา กลายเป็นหลักฐานที่ฟ้องว่า การวางวินัยไม่ตั้งอยู่บนฐานของความจริง หรือการเข้าถึงธรรม

การที่เราจัดแยกเป็นระบบต่างๆ ก็คือการย่อยระบบใหญ่อันเดียวกันออกไป เพื่อจะสร้างหลักประกันในทุกด้าน ที่จะช่วยให้มนุษย์ในสังคมนั้นมีโอกาสดีที่สุดที่จะพัฒนาชีวิตของตนให้ดำเนินไปอย่างดีงาม มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปจนสมบูรณ์ แม้จะแยกเป็นระบบต่างๆ มากมาย ก็มีจุดหมายเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในที่สุดทุกระบบจะต้องประสานบรรจบเป็นอันเดียว เพราะมันควรจะต้องเป็นเพียงส่วนแยกย่อยของระบบใหญ่อันเดียวกัน แต่เวลานี้มนุษย์ยังไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ เมื่อใดระบบทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจก็ตาม ระบบการเมืองก็ตาม ระบบใดๆ ในสังคมก็ตาม ตั้งอยู่บนฐานของความรู้ในความจริง คือตัวธรรมอันเดียวกัน เมื่อนั้นระบบต่างๆ เหล่านั้นจึงจะได้ผลแท้และมั่นคง ถ้ามิฉะนั้น มันก็จะไม่ได้ผลเต็มที่และไม่ยั่งยืน

รวมความว่า ธรรมเป็นเรื่องของความเป็นจริงตามธรรมชาติซึ่งมีอยู่เป็นธรรมดา เป็นเรื่องของชีวิตจิตใจและปัญญา เป็นเรื่องของเนื้อหาสาระ และเป็นเรื่องของตัวบุคคล ที่แต่ละชีวิตจะต้องรับผิดชอบตัวเองต่อกฎธรรมชาติ ในฐานะที่ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่วินัยเป็นเรื่องของการจัดระบบสังคม ซึ่งเป็นเรื่องของสมมติ เป็นเรื่องของรูปแบบ เป็นเรื่องหนักไปทางด้านรูปธรรม และเป็นเรื่องของสังคมมนุษย์ ที่แต่ละบุคคลจะต้องรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์ของสังคม

เมื่อมองพระพุทธศาสนา ต้องมองให้ครบ อย่าลืมด้านวินัย พระพุทธศาสนาภาคการจัดตั้งของวินัยให้ความสำคัญกับเรื่องวัตถุมาก ขอให้ดูวินัยของพระสงฆ์เป็นตัวอย่าง วินัยของพระสงฆ์นั้น ว่าด้วยเรื่องปัจจัยสี่ และการจัดสรรปัจจัยสี่มากมาย ว่าด้วยระบบการอยู่ร่วมกันว่าจะมีความสัมพันธ์กันอย่างไร จะดำเนินกิจการส่วนรวมร่วมกันอย่างไร จะดูแลปกครองกันอย่างไร จะวินิจฉัยตัดสินคดีอย่างไร เป็นต้น

ในแง่ของธรรม บุคคลแต่ละคนรับผิดชอบต่อกฎธรรมชาติ ชีวิตรับผิดชอบต่อกรรมของตน กรรมในทางธรรมก็คือปฏิบัติการของกฎธรรมชาติ ที่กระทำต่อบุคคลแต่ละคนนั้นเป็นส่วนตัว แต่ในแง่ของวินัย บุคคลแต่ละคนรับผิดชอบต่อสงฆ์คือต่อสังคม บุคคลที่ทำความผิดจะต้องรับผิดชอบต่อกติกาของสังคม สงฆ์คือสังคม ไม่รอการให้ผลของกรรมตามกฎธรรมชาติ แต่สงฆ์มีหลักแห่งกรรมทางวินัย ซึ่งเป็นกรรมสมมติ ที่จะจัดการกับผู้ทำผิดนั้นทันที กรรมในทางวินัย ก็คือปฏิบัติการของสังคมที่กระทำต่อบุคคลนั้นในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม

เป็นอันว่าคนรับผิดชอบต่อกรรม ๒ อย่าง ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติก็รับผิดชอบต่อกรรมที่เป็นปฏิบัติการของกฎธรรมชาติเป็นส่วนตัวแห่งชีวิตของตน และในฐานะที่เป็นสมาชิกผู้หนึ่งของสังคม ก็รับผิดชอบต่อกรรมที่เป็นปฏิบัติการของกติกาสังคมเป็นการส่วนรวมโดยไม่รอการให้ผลของกรรมที่เป็นกฎธรรมชาติ

การมองพุทธศาสนาจะต้องมองให้ครบอย่างนี้ ขณะนี้เรามองพุทธศาสนาแบบเว้าๆ แหว่งๆ เมื่อครบทั้งสองส่วนนี้แล้ว ก็จะมาบรรจบประสานกัน แนวความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องของสิ่งที่ตรงข้าม แต่เป็นสองด้านที่มาประสานกันให้เกิดความสมบูรณ์ การแก้ปัญหาของมนุษย์ในสังคมหนึ่งสังคมใดตลอดจนโลกทั้งหมดจะต้องทำให้ครบทั้งสองด้านอย่างนี้

เมื่อมองในแง่ของธรรมซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกฝนพัฒนา และเมื่อมองในแง่ของวินัยเราก็จึงจัดสนองให้เป็นไปตามธรรมนั้น ด้วยการตั้งระบบทางสังคมขึ้นมา เพื่อให้สังคมนั้นเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาตนเองให้มีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป และสาระสำคัญแห่งการพัฒนานั้นก็คือการพัฒนาปัญญานั่นเอง

เพราะฉะนั้น การที่เราจัดตั้งระบบสังคมขึ้นมา ก็เพื่อให้มนุษย์มีโอกาสพัฒนาปัญญาของตน คือให้เป็นสังคมแห่งการศึกษา วินัยจึงเท่ากับเป็นการจัดตั้งสังคมแห่งการศึกษา เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะมีการเรียนรู้อย่างเป็นที่แน่นอน สนองตามหลักการที่ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา คือศึกษาหรือสิกขาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น หลักการของวินัย ก็คือ จะต้องจัดระบบสังคมที่เอื้อ หรือช่วยให้บุคคลมีโอกาสเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อให้มีชีวิตที่ดีงาม

ตัวอย่างที่เด่นชัดก็คือวินัยของสงฆ์ ซึ่งเป็นการจัดตั้งชุมชนที่เรียกว่าสงฆ์นั้นขึ้นมา เพื่อเอื้อโอกาสให้พระภิกษุแต่ละรูปพัฒนาไปในไตรสิกขา การจัดให้มีอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็เพื่อดูแลให้พระภิกษุที่เป็นสมาชิกใหม่ได้รับการศึกษาอบรมที่ดี เรามองพระอุปัชฌาย์ว่าเป็นผู้ปกครอง แต่ที่จริงการปกครองมิได้มีความหมายในตัวของมัน การปกครองนั้นถ้าใช้ผิดก็จะเน้นที่อำนาจและการลงโทษ แต่ที่จริง การปกครองคือการจัดสรรดูแลความเป็นอยู่ ให้เอื้อต่อการที่บุคคลนั้นๆ จะพัฒนาไปสู่ความมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้น การปกครองจึงเป็นหลักประกันให้ผู้ที่อยู่ในการปกครองมีโอกาสศึกษานั่นเอง หมายความว่า การปกครองมีเพื่อการศึกษา

น่าสังเกตว่า เวลานี้คณะสงฆ์ปกครองเพื่อการปกครองจึงเน้นไปในด้านของการใช้อำนาจ แล้วก็สูญเสียความหมายที่สอดคล้องกับธรรมชาติที่แท้จริง จึงนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมและระส่ำระสายไปทั่ว จึงขอย้ำอีกว่า การปกครองที่แท้จริงเพื่อการศึกษา และการปกครองนั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเป็นการช่วยจัดสรรสภาพเอื้อให้คนมีโอกาสฝึกฝนพัฒนา นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ปัญญา

ปัญญา ทำให้รู้ความจริง และอยู่อย่างรู้เท่าทัน

ประการต่อไปซึ่งสืบเนื่องจากเรื่องธรรมและวินัย คือ เมื่อคนเข้าถึงธรรมแล้ว สภาพการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องพอดี ที่เรียกว่าการดำเนินชีวิตด้วยปัญญาหรืออยู่ด้วยปัญญา จะเกิดขึ้น

อธิบายว่า จากปัญญาขั้นที่หนึ่งที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ (ธรรม) ก็จะเกิดปัญญาขั้นที่สอง คือการที่เขารู้จักปฏิบัติอย่างถูกต้องจริงจังตามสมมติ (วินัย) ด้วย เขาจะรู้จักความหมายที่แท้จริงและเหตุผลของกฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนระบบแบบแผนที่ใช้กันอยู่ในสังคมของมนุษย์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดี และปฏิบัติไปตามสมมตินั้นอย่างรู้เท่าทันจริงจังโดยไม่หลงสมมตินั้น

จะต้องเข้าใจว่า สิ่งที่จัดวางขึ้นตามสมมตินั้น ไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอย แต่บัญญัติโดยมีความมุ่งหมายและเหตุผล เพราะฉะนั้น คนที่เข้าใจถึงความจริงของธรรมชาติ ก็จะปฏิบัติตามสมมติอย่างถูกต้องและจริงจัง ไม่ใช่เป็นคนไม่เอาเรื่องไม่เอาราว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างมาก คนมีปัญญานั่นแหละจึงจะรู้เท่าทันสมมติ คือมองเห็นความมุ่งหมายและเหตุผล ซึ่งเป็นความจริงที่อยู่เบื้องหลังสมมตินั้น และทำให้ปฏิบัติต่อสมมติได้ถูกต้อง คือปฏิบัติไปตามความมุ่งหมายและเหตุผลของสมมตินั้น ไม่ใช่ทำไปเพราะหลงสมมติ หรือทำตามสมมติเพื่อสนองความปรารถนาส่วนตัว

การหลงสมมติเป็นอย่างไร จะขอยกตัวอย่าง เราจ้างคนมาทำสวน ตกลงกันว่าให้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็เกิดเป็นกฎเกณฑ์ขึ้น คือการทำสวนเป็นเหตุ การได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท เป็นผล ซึ่งมีความเป็นเหตุเป็นผลอย่างชัดเจนและเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามย้ำให้แน่ว่าเป็นเหตุผลที่จริงแท้หรือ ก็ต้องตอบว่าเป็นจริงโดยสมมติ คือโดยการตกลงหรือยอมรับร่วมกัน [สมมติ = สํ (ร่วมกัน) + มติ (การยอมรับ หรือตกลง)] เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเหตุผลที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ

ถ้าเอาสมมติคือการยอมรับร่วมกันออกเสีย ความเป็นเหตุเป็นผลก็หายไป กฎก็หายไป คือทำสวน ๑ เดือนแล้ว ผู้จ้างไม่ถือตามที่สมมติ ก็ไม่มีการให้เงินเดือน กลายเป็นว่าทำเหตุแต่ไม่เกิดผล หรือไม่ได้ทำสวน แต่ผู้จ้างเสน่หาให้เงิน ๕,๐๐๐ บาท ก็กลายเป็นว่ามีผลโดยไม่ต้องทำเหตุ นี้คือกฎของมนุษย์เป็นกฎสมมติ คือเป็นความจริงแห่งเหตุและผล โดยขึ้นต่อสมมติ (การยอมรับร่วมกัน)

ภายใต้กฎของมนุษย์ที่ว่าทำสวน ๑ เดือน ได้เงิน ๕,๐๐๐ บาทนั้น ที่จริงมีกฎของธรรมชาติรองรับอยู่ คือ การทำสวนเป็นเหตุ และความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล กฎของธรรมชาตินี้มีความเป็นเหตุเป็นผลที่จริงแท้คือ การทำสวนดูแลรดน้ำต้นไม้เป็นเหตุ ความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล เกิดจากการทำสวนเป็นเหตุ เหตุทำให้เกิดผล และผลเกิดจากเหตุ เป็นความจริงแน่นอน

เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้จึงมีกฎ ๒ กฎ ซ้อนกันอยู่ คือ

๑. กฎของมนุษย์ = การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท เป็นผล

๒. กฎของธรรมชาติ = การทำสวนเป็นเหตุ ความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล

จะเห็นว่าสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง คือผลตามกฎธรรมชาติ ได้แก่ความเจริญงอกงามของต้นไม้ ถ้าไม่มีความจริงตามกฎธรรมชาตินี้อยู่ กฎของมนุษย์ก็จะหมดความหมายไปในทันที

ผู้รู้เท่าทันสมมติ คือผู้ที่รู้เข้าใจเหตุผลตามความจริงแท้ที่ต้องการ อันได้แก่ความต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ตามกฎธรรมชาติ ที่อยู่เบื้องหลังกฎสมมติของมนุษย์ รู้ว่าเราวางกฎสมมติของมนุษย์ขึ้นเพื่อความจริงตามกฎธรรมชาติที่อยู่เบื้องหลังนั้น

แต่ผู้ที่หลงสมมติ ติดตันอยู่แค่กฎของมนุษย์ และต้องการเพียงผลตามสมมติ คือการได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท เมื่อเขามองไม่ทะลุถึงความจริงแท้ในธรรมชาติ เขาก็แปลกแยกจากธรรมชาติ เขาไม่ได้ต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ เมื่อเขาหลงสมมติอย่างนี้แล้วก็จะเกิดความวิปริตวุ่นวายขึ้นในชีวิตและสังคม คือเขาจะทำสวนด้วยความจำใจฝืนใจ ไม่มีความสุข การไม่ตั้งใจทำงาน ทำให้งานไม่ได้ผลดี และอาจเกิดการทุจริต เพื่อให้ได้เงินโดยไม่ต้องทำสวน หรือทำแบบหลบๆ เลี่ยงๆ อาจต้องมีการจัดระบบการควบคุมขึ้นมาๆ จนซับซ้อน แล้วก็ไม่ได้ผลจริงอยู่นั่นเอง

ในทางตรงข้าม ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำการด้วยความรู้ทันสมมติ เขาต้องการผลที่แท้จริง ที่ตรงตามเหตุในธรรมชาติ คือต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ เขาจะเต็มใจ และตั้งใจทำสวน ตัวเขาเองก็ทำงานด้วยความพอใจมีความสุข และสังคมก็ได้ความสวยงามของสวน โดยไม่ต้องคอยควบคุมอย่างวุ่นวาย

โดยนัยนี้ คนที่เข้าถึงความจริง จะปฏิบัติต่อสมมติอย่างถูกต้อง อย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง ถ้าเราดูวินัยของพระ เราจะเห็นชีวิตที่แท้ของผู้เข้าถึงความจริง เพราะท่านจัดวางวินัยเพื่อฝึกให้พระภิกษุดำเนินชีวิตอย่างผู้ที่เข้าถึงธรรม

โดยทางธรรมท่านบอกให้รู้ความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีแก่นสาร เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรยึดติดถือมั่น แต่พร้อมกันนั้นเองในชีวิตที่เป็นรูปธรรมอยู่ในโลก เราอยู่กับสิ่งทั้งหลายตามสมมติ เช่น พระภิกษุมีจีวรเป็นเครื่องนุ่งห่มเพียง ๓ ผืน เรียกว่าไตรจีวร เพื่อไม่ให้ฟุ่มเฟือยและไม่ต้องกังวล เป็นชีวิตแห่งความไม่ลุ่มหลงไม่ยึดติดในวัตถุ แต่จีวร ๓ ผืนนี้เมื่อตกลงว่าเป็นของท่านแล้วท่านต้องรักษาให้ดี วินัยบัญญัติว่า พระภิกษุรูปใดไม่ใส่ใจ จีวรผืนใดผืนหนึ่งไม่อยู่กับตัวแม้แต่คืนหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ระยะเวลาที่ยกเว้นให้ ก็มีความผิด หรือว่าพระรูปใดจีวรขาดเป็นรู แม้แต่เท่าหลังตัวเรือด ถ้าไม่เอาใจใส่ปะชุน ถือว่ามีความผิด คนที่ไม่เข้าใจคงมองว่า พุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดติดกับเรื่องวัตถุหรือทรัพย์สมบัติ พระน่าจะปล่อย ไม่ใส่ใจกับเรื่องเช่นนี้ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ชีวิตที่แท้จริงของผู้ที่เข้าถึงธรรม แสดงออกในการปฏิบัติตามวินัย

ชีวิตที่เข้าถึงความจริงคือเข้าถึงธรรมนั้น ย่อมรู้ถึงเหตุผลตามสมมติของวินัยด้วย จึงเป็นชีวิตที่มีความรับผิดชอบอย่างสูง เป็นชีวิตที่เอาใจใส่ต่อกิจการของสังคมเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่า พระอรหันต์เป็นผู้นำในกิจการของส่วนรวมอย่างจริงจัง แต่น่าแปลกใจว่า ในสังคมไทย ได้เกิดมีความเข้าใจและความเชื่อถือที่ผิดเพี้ยนขึ้นมาว่า ถ้าใครไม่เอาใจใส่ต่อเหตุการณ์ต่างๆ มีอะไรเกิดขึ้นก็เฉยๆ กลับมองว่าจะหมดกิเลส ต่างจากคติของพระพุทธศาสนาแต่เดิมมาที่ถือว่า พระอรหันต์เป็นผู้นำในการแสดงความรับผิดชอบต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม เป็นผู้เคารพสงฆ์ ถือสงฆ์คือส่วนรวมและประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่

ขอให้ดูประวัติพุทธศาสนาทุกยุคที่เป็นมา เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น พระอรหันต์จะริเริ่มลุกขึ้นมาเรียกประชุม เวลามีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ของพระศาสนา พระอรหันต์จะเข้าร่วมประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหา พระอรหันต์องค์ไหนไม่มาร่วมประชุม เช่นไปเข้าป่าเสวยฌานสุขอยู่ อาจถูกสงฆ์ลงโทษ ในประวัติศาสตร์มีพระอรหันต์ถูกที่ประชุมสงฆ์ลงโทษหลายองค์ เช่น ในสมัยพระเจ้าอโศก ก็มีพระอรหันต์ถูกลงโทษ ในสมัยพระเจ้ามิลินท์ อาจารย์ของพระนาคเสนก็ถูกลงโทษ แต่ลงโทษโดยมอบงานให้ทำ หลักการนี้คือการถือสงฆ์และประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นเอง แต่เมื่อสงฆ์ขยายตัวขึ้น เติบใหญ่ขึ้น พระองค์ก็ทรงเคารพในสงฆ์ การถือความสำคัญในกิจการของสังคมนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ตระหนักไว้

 

ปัญญา สร้างความพอดี ให้ชีวิตและโลกนี้อยู่ยั่งยืน

ข้อต่อไปคือ เรื่องปัญญานำไปสู่การประสานประโยชน์ และการอยู่ร่วมกันด้วยดี ของระบบองค์รวมใหญ่ในโลก หรือการดำรงอยู่ของมนุษย์

ปัจจุบันนี้ เมื่อมนุษย์แต่ละคนหาความสุขให้แก่ตน ก็ส่งผลกระทบกระเทือนก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย นอกจากต่อสังคมแล้ว สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติก็กลายเป็นปัญหาอย่างหนักด้วย ถ้าจะให้มนุษยชาติอยู่รอดปลอดภัย จะต้องให้ทั้งสามส่วนประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันให้ได้ คือให้บุคคล สังคม และธรรมชาติ อยู่ดีด้วยกัน แต่ขณะนี้เราต้องประสบปัญหาจากความขัดแย้งกันระหว่างสามส่วนนี้ คือ ถ้าบุคคลได้ประโยชน์ก็มักจะเกิดผลเสียต่อสังคม หรือต่อธรรมชาติ หรือทั้งสองอย่าง ถ้าจะให้สังคมอยู่ดี บุคคลก็หาประโยชน์และความสุขไม่ได้เต็มที่ ถ้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือสังคมก็ตามจะได้ประโยชน์ ก็มักจะก่อผลเสียแก่ธรรมชาติ ถ้าจะให้ธรรมชาติอยู่ด้วยดี มนุษย์ก็ต้องสูญเสียผลประโยชน์ ต้องขาดประโยชน์หรือความสุข อะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นระบบของความขัดแย้ง คือผลประโยชน์และความอยู่ดีมีสุขของแต่ละฝ่ายขัดแย้งกัน

เวลานี้มนุษย์ยังหาทางออกในเรื่องนี้ไม่ได้ ว่าทำอย่างไรจะประสานประโยชน์ของทั้งสามส่วนหรือสามองค์ประกอบนี้ให้ได้ คือ ทำอย่างไรจะให้สิ่งที่เป็นผลดีเอื้อประโยชน์แก่บุคคลก็ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย อะไรที่ดีมีประโยชน์ต่อมนุษย์ก็ดีต่อธรรมชาติด้วย อะไรที่ดีต่อธรรมชาติก็ดีต่อมนุษย์ด้วย

ในการแก้ปัญหานี้ มนุษย์จะต้องเข้าถึงการศึกษาที่จะทำให้จุดหมายนี้สำเร็จให้ได้ คือสำเร็จจุดหมายของการประสานประโยชน์ระหว่างองค์ประกอบสามส่วนนี้ แต่เวลานี้มนุษย์ยังติดตัน ยังไม่มีความคิดที่จะเห็นทางออกนี้ ทางออกอย่างดีที่สุดที่มนุษย์มองเห็นในปัจจุบัน คือระบบที่เรียกว่าการประนีประนอม

เวลานี้มนุษย์ก็ใช้วิธีนี้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม คือประนีประนอมกับธรรมชาติ ประนีประนอมอย่างไร คือมนุษย์เข้าใจว่าตนจะมีความสุขด้วยการเสพวัตถุให้มาก เพื่อจะให้มีเสพมากก็ต้องไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาจัดสรรหรือผลิตเป็นสิ่งเสพสิ่งบริโภคบำรุงบำเรอความสุขของตน เมื่อถือคติว่ามนุษย์จะสุขที่สุด เมื่อเสพมากที่สุด เขาก็ต้องจัดการเอาธรรมชาติมาใช้สนองความต้องการของตนให้เต็มที่ตามความพอใจ แต่เวลานี้ได้เกิดสภาพติดตัน คือ ถ้ามนุษย์จะเสพสุขให้มากที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติก็พินาศ สิ่งแวดล้อมก็เสียหาย แล้วมนุษย์เองก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไร มนุษย์ก็บอกว่าเราจะต้องอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่เมื่อจะให้ธรรมชาติอยู่ดี ตัวมนุษย์เองก็ไม่สามารถเสพสุขได้เต็มที่ ก็กลายเป็นความติดตันทั้งสองทาง คือ ถ้ามนุษย์จะเสพให้สุขที่สุด ธรรมชาติก็พินาศ ถ้าไม่ให้ธรรมชาติพินาศ มนุษย์ก็อดความสุขที่ต้องการ นี่คือการเกิดลัทธิประนีประนอม ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์จะต้องยอมอดไม่ได้ความสุขบางส่วน เพื่อยอมให้ธรรมชาติอยู่ได้

แต่ระบบประนีประนอมนี้ไม่มั่นคง เพราะว่าจำใจ หรือไม่เต็มใจ

การประนีประนอม คือ การที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยอมเสียบ้างเพื่อว่าแต่ละฝ่ายก็จะได้บ้าง เวลานี้มนุษย์ในโลกตะวันตกได้พัฒนาระบบจริยธรรมอย่างหนึ่งขึ้นมา เรียกว่าจริยธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจริยธรรมแห่งการประนีประนอม เป็นการกระทำด้วยความจำใจ ซึ่งทำให้มนุษย์ไม่สุขสมหวัง ไม่มีความสุขจริง จึงไม่เป็นการประสานกลมกลืน

รวมความว่า ถ้ามนุษย์ไม่เข้าถึงจุดหมายแห่งการประสานกลมกลืนแห่งผลประโยชน์ ระหว่างบุคคลกับสังคม และธรรมชาติที่เป็นสามฝ่ายนี้ มนุษยชาติจะอยู่ด้วยดีไม่ได้ การสร้างสรรค์ปัญญาของมนุษยชาติจะต้องทำอันนี้ให้สำเร็จ

เรื่องนี้ทางพุทธศาสนามีคำตอบ และถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ คือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เมื่อมนุษย์ฝึกฝนพัฒนาก็คือเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวมนุษย์ในทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้อะไรๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์เปลี่ยนไปหมด แม้แต่ความสุขก็เปลี่ยนไปโดยมีช่องทางที่จะมีความสุขได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นจะต้องรอความสุขจากการเสพวัตถุเพียงอย่างเดียว เราจึงไม่ติดตัน

ถ้าเราติดอยู่กับแนวความคิดว่าความสุขจะเกิดจากการเสพวัตถุสิ่งเสพบริโภค เราก็ติดตันแน่นอน เพราะการเสพสิ่งเหล่านี้หมายถึงการที่เราจะต้องทำลายธรรมชาติ แล้วเราก็หนีระบบจริยธรรมแห่งการประนีประนอมไม่พ้น

จริยธรรมที่แท้จะต้องเป็นจริยธรรมแห่งความประสานกลมกลืน และเป็นจริยธรรมแห่งความสุข ในระบบที่สามส่วน คือบุคคล สังคม และธรรมชาติประสานประโยชน์กัน ในระบบนี้ องค์ประกอบที่เป็นหัวใจของการแก้ปัญหา ก็คือตัวบุคคลหรือคน เพราะคนเป็นองค์ประกอบที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับธรรมชาติ กล่าวคือในด้านหนึ่ง คนเป็นองค์ประกอบของสังคม คนมาอยู่รวมกันเป็นสังคม และคนก็อยู่ในสังคม และในอีกด้านหนึ่ง คนก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หรือเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง และเป็นชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเราจัดการคนให้ถูกต้อง คนจะเป็นตัวประสานสังคมและธรรมชาติได้ แล้วทั้งสามส่วนก็จะอยู่ด้วยกันด้วยดี

คนในฐานะที่เป็นส่วนของสังคมก็คือบุคคล ในฐานะที่เป็นส่วนของธรรมชาติก็คือชีวิต แต่เวลานี้มีความแปลกแยกกันแม้แต่ในตัวคนเอง ระหว่างส่วนที่มาอยู่ในสังคมกับส่วนที่เป็นธรรมชาติ คือบุคคลกับชีวิตแปลกแยกกัน และถึงกับมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ในเรื่องนี้คนทั่วไปมองไม่ค่อยเห็นว่าแปลกแยกจากกันอย่างไร

คนในฐานะที่เป็นบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกของสังคม กับคนนั้นในฐานะที่เป็นชีวิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ได้แปลกแยกกัน คือบุคคลต้องการอย่างหนึ่ง แต่ชีวิตต้องการอีกอย่างหนึ่ง ท่านเชื่อไหม? แต่ละคนนี่แหละเวลานี้เป็นปัญหา ปุถุชนจะเป็นอย่างนี้แทบทั้งนั้น

ยกตัวอย่างเช่นการกินอาหาร บุคคลต้องการกินอาหารเพื่อเอร็ดอร่อย แต่ชีวิตร้องทุกข์ เพราะบุคคลนั้นไปกินอาหารที่อร่อย แต่เป็นอันตรายแก่ชีวิต เสียคุณภาพชีวิต เวลานี้เป็นกันมาก ชีวิตต้องการอย่างหนึ่ง แต่ตัวตนของคนต้องการอีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลต้องการแล้วไปกิน แต่กลับได้สิ่งที่ชีวิตไม่ต้องการ ส่วนสิ่งที่ชีวิตต้องการ บุคคลนั้นไม่เอา

ทีนี้ ถ้าเราพัฒนาคนให้สามารถประสานประโยชน์ในตัวเขาเอง ระหว่างตัวคนในฐานะที่เป็นบุคคล กับตัวคนในฐานะที่เป็นชีวิต ถ้าเพียงเขาประสานอันนี้ได้ นี้คือการพัฒนาคนขั้นพื้นฐาน แล้วเขาจะประสานสังคมกับธรรมชาติให้เข้ากันได้ จะเห็นว่าแค่กินอาหารก็ยุ่งแล้ว

ปัจจุบันนี้ คนมักกินอาหารเพื่อสนองความต้องการของตัวตน แต่ทำให้ชีวิตแย่ แต่ครั้นจะสนองความต้องการของชีวิต ให้ชีวิตเป็นอยู่ด้วยดี ให้ได้คุณภาพชีวิต คนบอกว่าฉันไม่ชอบ ไม่อยากจะกิน ฉะนั้น เราจึงต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา ดังจะเห็นว่าในพระพุทธศาสนา ท่านเริ่มการฝึกฝนพัฒนาเบื้องแรก คือ การกินตามหลัก โภชเนมัตตัญญุตา คือความรู้จักประมาณในการบริโภค ให้กินพอดี เป็นหลักเบื้องต้น

การพัฒนาที่จะต้องไปด้วยกันกับการฝึกกิน ก็คือ การใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม นี่เป็นระบบการศึกษาพัฒนามนุษย์ที่สำคัญ ซึ่งเรามักจะมองข้าม

บุคคลออกมาจากสิ่งที่เรียกว่าอัตตา คำว่าบุคคลกับอัตตานี่เป็นตัวเดียวกัน ในทางพระท่านถือว่าเป็นศัพท์ไวพจน์ (synonym) จากการยึดติดถือมั่นในชีวิต ก็เกิดมีบุคคลเป็นตัวตนขึ้นมา แล้วคนก็มีตัวตนที่ต้องสนองความต้องการ แต่ตัวตนอันนี้ไม่ใช่ชีวิต ชีวิตเป็นสิ่งที่มีตามธรรมชาติ ส่วนตัวตน (อัตตา) นี้เราปรุงแต่งขึ้นมา

ทีนี้ ทำอย่างไรจะให้เจ้าตัวบุคคลหรืออัตตานี้ เข้าไปรู้ความจริงของมันที่เป็นชีวิตอันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้วประสานประโยชน์ระหว่างตัวบุคคลที่เป็นอัตตานั้น กับชีวิตคือกายกับใจที่แท้ซึ่งมีตามธรรมชาติ ถ้าเราสามารถประสานประโยชน์นี้ได้ เราก็จะทำให้องค์ ๓ ในระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์มากลมกลืนกันอย่างประสานประโยชน์ หมายความว่า ถ้าตัวบุคคลกับชีวิตประสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน สังคมกับธรรมชาติก็จะอยู่ร่วมกันด้วยดี และเมื่อนั้น มนุษยชาติก็จะอยู่รอดปลอดภัย ฉะนั้น ในการสร้างสรรค์ปัญญา จะต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ได้

หน้าที่สำคัญที่ปัญญาทำในตอนนี้ก็คือ เมื่อปัญญารู้ความจริง เช่น รู้ความมุ่งหมายของสิ่งต่างๆ แล้ว ปัญญานั้นจะเป็นตัวปรับให้เกิดความพอดี เช่น ในการกิน ถ้าเราไม่เข้าใจความมุ่งหมายของการกิน แต่มีมิจฉาทิฏฐิ คือมีความเห็นผิดว่ากินเพื่อเอร็ดอร่อยลิ้น เราก็จะกินจนกระทั่งท้องกาง อาหารไม่ย่อย หรือกินสักว่าเพื่ออร่อย ทั้งที่เป็นโทษต่อร่างกาย เช่น มีสารเคมีปรุงแต่งกลิ่น สี รส เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่พอเรารู้ความมุ่งหมายของการกินว่า เรากินเพื่อซ่อมแซมร่างกาย บำรุงหล่อเลี้ยงให้เรามีสุขภาพดี แข็งแรง แล้วจะได้ใช้ชีวิตร่างกายนี้ไปทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ หรือดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า พอเรารู้ความมุ่งหมายแค่นี้ ก็คือปัญญาเกิดขึ้น มีความเข้าใจถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ การกินพอดีก็เกิดขึ้นทันที คือ กินอาหารได้ปริมาณและคุณค่าที่ตรงกับความต้องการของชีวิตร่างกาย

สัมมาทิฏฐิเป็นตัวปรับทำให้เกิดความพอดีขึ้น ฉะนั้น ในการสร้างวิถีชีวิตที่ถูกต้อง ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ปัญญาที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิจึงเป็นองค์ประกอบข้อแรกของชีวิตที่ดีงามตามหลักพระพุทธศาสนา เพราะปัญญาเข้ามากำหนดวิถีชีวิตแทนอวิชชาและตัณหา ช่วยให้สนองความต้องการที่เป็นความจริงของชีวิต แทนที่จะสนองความต้องการของตัวตนที่ปรุงแต่งขึ้นมา

ปัญญา พาพ้นวงจรแห่งความเจริญและความเสื่อม

การที่มนุษย์พัฒนาขึ้นไปนั้น เมื่อกี้บอกครั้งหนึ่งแล้วว่า เราพัฒนาจากการอยู่รอดด้วยกิเลส ไปสู่การอยู่ดีด้วยปัญญา เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้นมา ก็สามารถใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิตมากขึ้น อาศัยกิเลสน้อยลง เช่น อาศัยตัณหาน้อยลง อาศัยมานะ อาศัยความกลัวน้อยลง การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาเป็นบทพิสูจน์การพัฒนามนุษย์ ชีวิตที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสูงสุด จึงเรียกว่า “ปัญญาชีวิต” หรือ ปัญญาชีวะ คือชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา เมื่อพูดถึงสังคมมนุษย์ ก็คือ ทำอย่างไรจะให้สังคมมนุษย์นี้ เป็นสังคมของคนที่อยู่ดีด้วยปัญญา เพราะการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษยชาติ อาศัยการพัฒนาคนให้สามารถอยู่ดีด้วยปัญญา

การอยู่ด้วยปัญญามีลักษณะแสดงออกที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งพัฒนาสูงขึ้นไปจากธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนที่มีกิเลส จะเห็นว่า มนุษย์นั้นตามปกติจะมีความเป็นไปอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ความเสื่อมและความเจริญ ถ้าเรามองไปที่สังคมมนุษย์ จะเห็นว่ามีความเจริญแล้วก็มีความเสื่อม หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อมองตามหลักสัจธรรม เราบอกว่าเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยงจึงเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม ในทางธรรมนั้น ท่านไม่ได้ยอมแพ้ ไม่ได้บอกให้ปลงว่า เออ สิ่งทั้งหลาย มันเจริญแล้วก็ต้องเสื่อมเป็นธรรมดา จะทำอย่างไรได้ ก็ต้องปล่อยมันไป การปลงอย่างนี้ท่านไม่ยอมรับ ถ้าใครทำอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นคนประมาท

ธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่อยังมีกิเลส ยังไม่ศึกษา ยังไม่พัฒนา เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นหรือถูกภัยคุกคาม ก็จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เช่น ยากจน ไม่มีจะกิน หรือ คนอื่นจะรุกรานเบียดเบียน ก็อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาหาทางแก้ไข แต่พอแก้ปัญหาสำเร็จ มีความสุขสบาย อะไรต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ก็มีความโน้มเอียงที่จะปล่อยตัว เสวยความสุข เฉื่อยชา นอน พอเฉื่อยชา นอนเสวยความสุข ทีนี้ก็เสื่อม ต่อเมื่อไรมีทุกข์เดือดร้อนขึ้นมาอีก ก็ลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายใหม่ มนุษย์ก็เลยตกอยู่ใต้วงจรของความเสื่อมและความเจริญแบบนี้

นี้คือวิสัยของมนุษย์ปุถุชน ท่านเรียกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา หรือไม่พัฒนา ไม่ได้ฝึกอบรมตน จะต้องตกอยู่ใต้อำนาจของความเสื่อมและความเจริญแบบนี้ ซึ่งเกิดจากการที่ตนเองปฏิบัติไม่ถูกต้อง คือ เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เวลาประสบความสุขความสำเร็จดีงามแล้ว ก็มีความโน้มเอียงที่จะหยุดนอนเสวยสุข แม้แต่พระอริยบุคคลก็ยังได้รับคำตักเตือนจากพระพุทธเจ้าว่า ตราบใดยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ยังตกอยู่ใต้อำนาจของวงจรแห่งความเสื่อมความเจริญนี้

การที่ว่าเมื่อได้ดีมีความสุขประสบความสำเร็จแล้วมีความโน้มเอียงที่จะอยู่นิ่งเฉยเฉื่อยชานี้ ท่านเรียกว่าความประมาท ขนาดพระอริยบุคคล เช่นพระโสดาบัน ถ้ามีความภูมิใจ เกิดความชื่นชมยินดีว่า แหม เราได้บรรลุคุณธรรมวิเศษอย่างสูง เราก้าวหน้ามามากแล้ว พอมีความรู้สึกอย่างนี้ ท่านเรียกว่ามีความสันโดษในกุศลธรรม ถ้ามีความสันโดษอย่างนี้ ท่านถือว่าเสื่อม พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ปมาทวิหารี แปลว่า “ผู้อยู่ด้วยความประมาท”

สันโดษนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าดีหรือไม่ดีในตัวของมันเอง มันอยู่ที่ว่าสันโดษในอะไร ถ้าสันโดษในกุศลธรรม คือพอใจในสิ่งที่ดีงาม ไม่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไป ท่านเรียกว่าเป็นผู้ประมาท ไม่ถูกต้อง ความสันโดษในสิ่งบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว หรือสันโดษในสิ่งเสพ จึงจะถูก แต่ในกุศลธรรมต้องไม่สันโดษ พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสว่า ที่พระองค์ตรัสรู้ก็เพราะไม่สันโดษ ความไม่สันโดษ(ในกุศลธรรม)นี้เป็นหลักธรรมสำคัญ ท่านยกขึ้นตั้งเป็นหลักทั้งในพระสูตร และพระอภิธรรม เป็นธรรมข้อสำคัญยิ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เราจึงต้องก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในการสร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุข

เมื่อเราไปสันโดษในกุศลธรรม คือในความดีงาม ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ พระท่านติเตียนว่าเป็นความประมาท ทำให้เกิดความเสื่อม ตามปกติเราก็สอนกันว่า จงตั้งใจทำความดีต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่แค่นั้นไม่พอ พระพุทธเจ้าทรงเน้นความไม่ประมาทในความดีนั้นด้วย คือไม่ให้หยุด ไม่ให้พอ ไม่ให้เฉื่อย ไม่ให้รอ ในการทำความดีนั้นๆ เพราะความประมาทเป็นหลุมพราง ที่คอยดักคนที่เจริญก้าวหน้าประสบความดีงามมีความสุขและความสำเร็จ

เพื่อจะไม่ให้ตกหลุมพรางและวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความเสื่อมความเจริญ พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นความไม่ประมาท ในทางพระพุทธศาสนาเน้นเรื่องนี้เป็นอย่างสูง แม้กระทั่งเป็นปัจฉิมวาจาของพระพุทธเจ้าคือพระดำรัสสุดท้ายก่อนปรินิพพาน

เราจะต้องมีความไม่ประมาทอยู่เสมอ คือหยุดไม่ได้ เราจะต้องหนีให้พ้นวงจรของความเสื่อมความเจริญอย่างที่ว่ามานี้ นอกจากเมื่อมีทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย พอประสบความดีงาม ความสุข ความสำเร็จ ก็หยุดนิ่ง อยู่เฉย เพลิดเพลินเสพสุข แล้วก็เสื่อม แม้แต่เมื่อประสบทุกข์ หรือพบความเสื่อมแล้วปลงใจได้ สบายใจหายทุกข์ เพราะจัดการภายในได้แล้ว มีความโน้มเอียงที่จะปล่อยตัว แล้วก็เลยไม่ขวนขวาย ไม่แก้ปัญหาภายนอก อย่างนี้ก็ตกอยู่ใต้ลัทธิความประมาทเหมือนกัน ฉะนั้น ความประมาทจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องระวังมาก

ในโลกมนุษย์นี้ เมื่อยังเป็นปุถุชนมีกิเลสอยู่ ยังไม่พัฒนา ไปๆ มาๆ บางสังคมก็สร้างระบบหรือวิถีชีวิตอย่างหนึ่งขึ้นมา เพื่อจะใช้เป็นเครื่องบีบรัดคน ให้มีทุกข์มีภัยอยู่เรื่อยๆ จะได้นอนนิ่งอยู่ไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมากระตือรือร้นดิ้นรนขวนขวาย ระบบนี้เรียกว่าระบบแข่งขัน

ระบบแข่งขันก็คือการสร้างทุกข์และภัยให้กรุ่นตลอดเวลา ทุกข์จะได้บีบคั้น ภัยจะได้คุกคามให้คนหยุดนิ่งไม่ได้ ถ้าแกไม่แข่ง ไม่เอาชนะ ไม่ไปให้เหนือเขา แกจะอยู่ไม่รอด แกจะแย่ แกจะตายนะ ระบบแข่งขันนี้เป็นตัวบีบเร่ง โดยใช้กิเลสของมนุษย์นั่นแหละมาเป็นเครื่องมือ เป็นระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ที่ขอเรียกว่าระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์

ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์นี้ช่วยให้คนไม่ประมาท แต่ท่านไม่ยอมรับ เพราะเป็นความไม่ประมาทเทียม คนที่อยู่ใต้ระบบนี้ต้องกระตือรืนร้นขวนขวายดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้เกิดความเจริญในแง่หนึ่ง แต่มันไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะเป็นการแข่งขันดิ้นรนเพียงเพื่อประโยชน์ของตนเอง เพื่อเอาตัวรอด และเพื่อเอาให้แก่ตัว ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม ตลอดจนความเสียหายเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นแก่ใครๆ จึงไม่ใช่ความไม่ประมาทที่ต้องการ

ทำอย่างไรจะให้คนมีความไม่ประมาทที่แท้ ความไม่ประมาทที่แท้ก็คือการอยู่ด้วยสติปัญญา ซึ่งเป็นบทพิสูจน์การพัฒนามนุษยชาติว่ามนุษย์จะสามารถอยู่ด้วยปัญญาได้หรือไม่ คือไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ไม่ต้องใช้ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ของการแข่งขันมาบีบคั้น แต่ให้ไม่ประมาทได้ด้วยสติปัญญา

สติปัญญา เป็นอย่างไร สติ คือการคอยระลึกคอยนึกอยู่เสมอ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทันต่อเหตุการณ์ หมายความว่า อะไรเกิดขึ้นเป็นไปรอบตัวเรานี้ มันจะมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อความเสื่อมความเจริญ ต่อความดีงาม ต่อครอบครัว ต่อสังคมของเรา ก็จับเอามานึกเอามาระลึก เอามาดู เอามาสำรวจทั้งหมด แล้วใช้ ปัญญา พิจารณาว่าอันไหนจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม อันไหนจะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ เหตุปัจจัยนั้นๆ เป็นอย่างไร จะป้องกันแก้ไขหรือทำให้มีให้เป็นขึ้นมาได้อย่างไร

ถ้ามีสติตื่นตัว ทันต่อเหตุการณ์ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตรวจสอบเหตุปัจจัยอยู่เสมอ เราก็สามารถสร้างสรรค์เหตุปัจจัยของความเจริญ และป้องกันเหตุปัจจัยของความเสื่อมได้ เราก็สามารถที่จะไม่เสื่อมและมีความเจริญได้เสมอ นี้คือ การอยู่ด้วยสติปัญญา อย่างนี้เรียกว่าความไม่ประมาทที่แท้ พระพุทธศาสนาสอนให้เราอยู่ด้วยสติปัญญาอย่างนี้ เมื่ออยู่ด้วยสติปัญญา ก็ไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม เพราะใช้สติปัญญาเร่งตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ มนุษย์จะสามารถมีความเจริญได้ โดยไม่เสื่อม ในพระพุทธศาสนาจึงมีหลักการที่สอนว่า ถ้ามนุษย์ไม่ประมาท ก็จะมีแต่เจริญ ไม่มีเสื่อม

หลักการสองอย่างนี้ เหมือนกับค้านกัน คือ หลักสัจธรรม สอนว่า อนิจจัง สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ชวนให้เราโน้มเอียงที่จะเข้าใจไปว่า เออ สิ่งทั้งหลายเจริญได้ก็เสื่อมได้เป็นธรรมดา การพูดอย่างนี้ระวังจะผิดหลักพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาบอกว่า ถ้าเธอไม่ประมาทจะมีแต่เจริญ ไม่มีเสื่อม อันนี้เหมือนตรงกันข้าม แต่ที่จริงคือประสานกลมกลืนกัน เพราะไม่ว่าจะเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เจริญแล้วเจริญต่อไปหรือยิ่งขึ้นไป หรือเสื่อมแล้วเสื่อมต่อไป ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงตามหลักอนิจจังทั้งนั้น แต่จะเป็นอย่างไหนก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น หรือที่เราจะทำเอา

เวลานี้พระพุทธศาสนาอยู่ในสภาพที่ประชาชนมีความเข้าใจเว้าแหว่งมาก จะต้องประสานให้ได้ว่า ทั้งสองอย่างนั้น ที่จริงเป็นหลักการเดียวกัน หลักอนิจจังว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นธรรมดา หลักความไม่ประมาทก็มาบอกต่อไปว่า ถ้าเธอไม่ประมาท เธอก็จะมีแต่อนิจจังในทางที่เจริญ ไม่มีเสื่อม โดยเฉพาะความไม่ประมาทนี้ จะเป็นบทพิสูจน์การพัฒนามนุษย์อย่างที่ว่าแล้ว

เป็นไปได้ไหมที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่ได้ด้วยปัญญาถึงขนาดนี้ ที่จะไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคาม แต่สามารถที่จะแก้ไขป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญได้ด้วยสติปัญญา อันนี้แหละเป็นบทพิสูจน์ ถ้าเราไม่สามารถพัฒนามนุษย์ถึงขั้นนี้ มนุษย์ก็ต้องตกอยู่ใต้วงจรของความเสื่อมและความเจริญต่อไป แล้วก็ต้องอาศัยระบบแข่งขันมาช่วยบีบให้ดิ้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มนุษย์ไม่พัฒนาตัวให้มีความไม่ประมาทแท้ด้วยสติปัญญา ถ้าไม่ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็จะเฉื่อยชาเกียจคร้าน ถ้าเป็นอย่างนั้นเราให้มีการแข่งขันดีกว่า แต่เอาแค่ให้มีบ้าง และจะต้องทำด้วยความรู้เท่าทัน ในบางสังคมคนมีความโน้มเอียงที่จะเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา ผัดเพี้ยน รอโชคช่วย ถ้าอย่างนี้ก็ต้องใช้อุบาย คือเอาทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามนี่แหละมาใช้งาน จะได้บีบบังคับเขาให้ขวนขวายขึ้นมาบ้าง นี่ก็คือระบบแข่งขัน

ฉะนั้น ถ้าคิดจะใช้ระบบแข่งขันซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุคปัจจุบัน เราจะต้องมองด้วยความรู้เท่าทัน ว่ามนุษย์จำพวกหนึ่ง ถ้าไม่ถูกบีบคั้นด้วยการแข่งขันก็จะไม่สร้างสรรค์ เราจึงต้องไปสู่ขั้นที่สองคือ ทำให้เขาถูกการแข่งขันบีบคั้น เพื่อจะได้ทำการสร้างสรรค์ขึ้นมา เป็นการใช้ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์มาช่วย แต่จะหยุดแค่นั้นไม่ได้ เราจะต้องพัฒนามนุษย์ต่อไปให้ถึงขั้นที่สาม คือ ให้เขาสามารถสร้างสรรค์ได้ โดยไม่ต้องถูกบีบคั้น เพราะถ้ายังอยู่ในขั้นแข่งขัน มนุษยชาติไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากแต่ละคนมุ่งเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ไม่ได้ใช้ปัญญาที่แท้

เวลานี้เรายังไม่พ้นจากสภาพที่ว่ามานี้ ในเวทีโลกยังเต็มไปด้วยการแข่งขัน สังคมแต่ละสังคมมุ่งแต่เรื่องของการแข่งขันกัน อย่างสังคมอเมริกันเวลานี้ ที่ร้องทุกข์โอดครวญว่าตัวเองกำลังสูญเสียความยิ่งใหญ่ ก็ยังหลงเข้าใจไปว่า ที่ตัวเองสูญเสียความยิ่งใหญ่ไปนั้น เป็นเพราะคนอเมริกันยุคปัจจุบันนี้สูญเสีย competitiveness ไม่ค่อยมีความพร้อม ไม่ค่อยมีความสามารถในการแข่งขัน ฉะนั้น ในการที่จะฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ และความเป็นผู้นำของอเมริกา เขาจึงพากันไปเน้นอยู่ที่ตรงนี้แหละ ว่าจะทำอย่างไรให้คนอเมริกันมี competitiveness เวลานี้ก็เน้นกันใหญ่ ไม่รู้จะปลุกขึ้นไหวหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม การทำอย่างนั้นไม่ใช่วิธีการที่จะสร้างสรรค์มนุษยชาติ ไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง แต่เป็นเรื่องของการแข่งขันแย่งชิงความยิ่งใหญ่เหนือกัน ที่มองกันเป็นศัตรูคู่ปรปักษ์ และต่างก็เห็นแก่ผลประโยชน์ของสังคมของตนๆ เป็นการเบียดเบียนก่อปัญหา ไม่ใช่การที่จะแก้ปัญหาให้ทางรอดแก่มนุษยชาติ

ตกลงว่า บทพิสูจน์มนุษยชาติ คือการพัฒนาคนให้อยู่ดี มีความไม่ประมาทอยู่เสมอด้วยสติปัญญา

 

ปัญญา พัฒนาศักยภาพที่จะมีความสุข
และชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

เรื่องต่อไปคือปัญญากับชีวิตที่มีประสิทธิภาพและความสุข

ตามที่บอกแล้วว่า ปัญญาเป็นหัวใจของการพัฒนาคน ปัญญามีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบด้านอื่นของชีวิต ทั้งพฤติกรรมและสภาพจิตใจ ดังได้พูดไปบ้างแล้ว

ในด้านสภาพจิต สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือความสุข เมื่อคนพัฒนาขึ้นไป เขาก็มีช่องทางที่จะมีความสุขมากขึ้น คนที่ยังไม่พัฒนา มีความสุขจากด้านเดียว จากการได้เสพวัตถุ เมื่อเขาอยู่ไปความสุขก็ขึ้นต่อวัตถุมากขึ้นทุกที จนกระทั่งสูญเสียอิสรภาพไปโดยไม่รู้ตัว คือถ้าไม่มีวัตถุเสพ ก็อยู่ดีมีสุขไม่ได้

แม้แต่การศึกษาก็โน้มเอียงไปในทางของการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำรุงความสุข เวลานี้โดยแทบไม่รู้ตัว ความหมายของการศึกษาที่สัมพันธ์กับความสุข แทบจะกลายเป็นว่า การศึกษาคือการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่ละคนมีการศึกษากันจนเก่ง เก่งอะไร ก็เก่งในการที่จะหาสิ่งต่างๆ มาเสพบำเรอความสุข แต่การพัฒนาอย่างนี้ทำให้เสียดุลยภาพ เสียดุลยภาพอย่างไร

คนเรานี้มีศักยภาพด้านหนึ่ง คือความสามารถที่จะมีความสุข ถ้าเราพัฒนาแต่ด้านความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข และไม่ได้รักษา ไม่ได้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ก็จะปรากฏว่า ศักยภาพด้านนั้นหายไป ความสามารถที่จะมีความสุขลดน้อยลง อยู่ในโลกไปๆ เลยกลายเป็นคนที่สุขยากยิ่งขึ้น

คนจำนวนมากในปัจจุบันนี้เก่งจริงในการหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุข แต่ไม่เก่งในการที่จะมีความสุข เพราะเขาสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข การศึกษาเวลานี้ไม่ได้มองว่า เราจะต้องพัฒนาคนทั้งสองด้านให้ได้ดุลยภาพ คือ พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข พร้อมกับพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข

ถ้าเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข คนอยู่ในโลกยิ่งนานไป ก็ยิ่งมีความสุขง่ายขึ้น เมื่อเป็นคนสุขง่ายขึ้น แล้วยังพัฒนาความสามารถในการหาสิ่งเสพบำเรอความสุขเพิ่มขึ้นด้วย เราก็สุขท่วมท้น สุขกำลังสอง เพราะสิ่งบำเรอความสุขเราก็หาได้เก่งขึ้น พร้อมกันนั้นความสามารถที่จะมีความสุขของเราก็มากขึ้น เราก็สุขง่ายขึ้นด้วย ทีนี้เราหาสิ่งเสพมาได้มากเกินไป มันเกินจำเป็นที่จะทำให้เรามีความสุข เราก็เอามันไปเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ช่วยให้สังคมอยู่ดีมีสันติสุขมากขึ้น

ความสามารถมีความสุขที่มนุษย์พัฒนาได้นั้นมีช่องทางหลายอย่าง จนกระทั่งในที่สุดปัญญานี่แหละ จะเป็นตัวทำให้มนุษย์มีความสุขในตัวของเขาเอง จนกระทั่งเป็นความสุขโดยไม่ต้องแสวงหา

เวลานี้คนส่วนมากต้องอยู่ด้วยความสุขแบบแสวงหา การแสวงหาแสดงว่าตัวเองไม่มีความสุขในปัจจุบัน คนที่ขาดความสุขก็แสวงหาความสุข เมื่อเราพัฒนาขึ้นไป คนจะต้องมีความสุขเป็นคุณสมบัติในตัวเอง คือมีความสุขในตัวเองเป็นคุณสมบัติประจำตัว ซึ่งเป็นความสุขตลอดทุกเวลา เมื่อมีความสุขอยู่ในตัวเองแล้วก็ไม่ต้องหาความสุข ความสุขที่ได้มาจากข้างนอกก็เป็นส่วนเสริม

การศึกษาในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะทำงานคลาดเคลื่อนไป คือ แทนที่การศึกษาจะทำให้คนมีความสุข กลับกลายเป็นว่า การศึกษาทำให้คนเป็นนักหาความสุข ซึ่งเป็นผลร้ายทั้งต่อชีวิตของตัวบุคคล และซ้ำเติมการเบียดเบียนกันในสังคม

การศึกษาที่ทำให้คนเป็นนักหาความสุข โดยมุ่งพัฒนาแต่ความสามารถที่จะหาความสุขเพียงด้านเดียว จะบีบคนให้เหลือช่องทางที่จะมีความสุขน้อยลงและแคบเข้า จนกระทั่งช่องทางแห่งความสุขของเขาเหลืออยู่แต่การเสพวัตถุอย่างเดียว เมื่อชีวิตและความสุขของเขาฝากไว้กับการเสพวัตถุแล้ว เมื่อใดเขาเบื่อหน่ายหรือผิดหวังต่อวัตถุ เขาก็จะเบื่อหน่ายชีวิตด้วย เมื่อใดวัตถุหมดความหมาย ชีวิตก็จะหมดความหมายสำหรับเขาด้วย

ในทางตรงข้าม ทันทีที่มีการศึกษาที่แท้ ที่ถูกต้อง ความสุขก็จะพัฒนา และช่องทางที่จะมีความสุขก็จะเพิ่มขึ้นในทันที พร้อมกันนั้นชีวิตของบุคคลนั้นก็จะพึ่งพาขึ้นต่อความสุขจากการเสพวัตถุน้อยลงทุกที เพราะมีความสุขเป็นทุนในตัวอยู่แล้ว และมีทางออกมากมายในการที่จะมีความสุข

ในโอกาสอันสั้นนี้ ขอยกตัวอย่างเพียงวิธีเดียว ให้เห็นว่า การศึกษาที่แท้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขขึ้นได้อย่างไร

การศึกษาเริ่มต้นจากที่เดียวกันกับความสุข เราจะแยกความสุขออกจากการศึกษา หรือเอาการศึกษามาเสริมเพิ่มความสุขก็ได้

ตามปกติ คนเรานี้มีความสุขจากสิ่งเสพเป็นพื้นฐาน โดยเสพสิ่งที่ให้ความสุขทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เราอยู่ในโลกนี้เราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รับรู้ประสบการณ์ต่างๆ ชีวิตของเราแต่ละวันนี้อยู่กับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนั้น ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายเสพสัมผัส และใจคิดคำนึงต่างๆ

ลองมองให้ชัดว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้ ทำหน้าที่อะไรบ้าง เราบอกว่าทำหน้าที่รับรู้ พระบอกว่าไม่ใช่รับรู้อย่างเดียว แต่รู้สึกด้วย จึงรวมเป็นการทำหน้าที่ ๒ อย่าง

ด้านหนึ่ง คือ รับรู้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร โดยเฉพาะรู้ข้อมูล เช่นตาดูว่า เขียว ขาว ดำ แดง ยาว กลม เหลี่ยม เป็นต้น หูฟังว่า เสียงทุ้ม เสียงแหลม เสียงนก เสียงกา ฯลฯ

ทีนี้ อีกด้านหนึ่ง มันรู้สึกด้วย พร้อมกับรับรู้ก็มีความรู้สึก ตาดูก็รู้สึกสบายตา หูฟังก็รู้สึกสบายหู หรือไม่สบายตา ไม่สบายหู มีทุกครั้ง มันคู่กันไป

เป็นอันว่า คนเรามีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมสองด้าน คือ ด้านความรู้ กับด้านความรู้สึก

ในชีวิตของคนทั่วไป (ที่ยังไม่มีการศึกษา) ความรู้สึกจะเป็นตัวเด่น เด่นกว่าด้านความรู้ เวลาเรามองดู และฟังเสียงต่างๆ ตัวไหนจะมาครอบงำจิตใจเราก่อน ด้านความรู้สึกมักมาก่อน คือใจแล่นไปที่สบายหรือไม่สบาย ถ้าสบายตาก็ชอบ ไม่สบายตาก็ชัง ไม่ชอบใจ ทางพระท่านเรียกว่ายินดียินร้าย ฉะนั้น เราจึงรับรู้ประสบการณ์ ด้วยท่าทีของ

๑. ด้านความรู้สึกว่า สบาย หรือไม่สบาย โดยมีปฏิกิริยาแบบชอบชัง เรียกว่ามองสิ่งทั้งหลายในแง่ชอบชัง

๒. ด้านความรู้ว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เกิดจากอะไร เกิดขึ้นเพราะอะไร ใช้ทำอะไร มีแง่ดีแง่เสียอย่างไร เป็นต้น จะรู้ได้อย่างไร ก็ต้องเรียน เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าเรียนรู้

เป็นอันว่า คนเราจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สองแบบ คือ สัมพันธ์แบบชอบชัง และสัมพันธ์แบบเรียนรู้

คนจำนวนมากสัมพันธ์แบบชอบชัง พออะไรมา สบายตาก็ชอบ ไม่สบายก็ชัง แล้วก็คิดครุ่นไปตามนั้น ความรู้สึกชอบชังก็เข้ามาครอบงำจิตใจ สุขทุกข์ปรุงแต่งก็ตามมา

เมื่อการศึกษาเข้ามา ก็จะมีความสัมพันธ์แบบเรียนรู้ โดยสนองความต้องการที่อยากจะรู้ว่า อะไรเป็นอะไร มันคืออะไร มันเป็นมาอย่างไร มันมีโทษ มีคุณอย่างไร เป็นเพราะอะไร ทำไมจึงเกิดขึ้นอย่างนี้

ทีนี้ การมองนั้นมีผลต่อสุขทุกข์ของเรา เมื่อคนมองสิ่งทั้งหลายแบบชอบชัง ความสุขความทุกข์ของเขาก็ไปขึ้นต่อความชอบชัง ถ้าได้สิ่งที่ชอบ ก็สุข ถ้าเจอสิ่งที่ชัง ก็ทุกข์ เมื่อมองแบบชอบชัง เขาก็มีสุขกับทุกข์คู่กันไปตามที่ชอบและชังนั้น

ส่วนคนที่มองแบบเรียนรู้ ถ้าได้รู้ก็เป็นสุข ทีนี้ การเรียนรู้นั้นไม่ขึ้นต่อการที่สิ่งนั้นจะถูกตา หรือไม่ถูกตา เพราะว่าทุกสิ่ง ไม่ว่าดีหรือไม่ดี เป็นสิ่งสำหรับเรียนรู้ทั้งหมด มีแต่การได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีทุกข์มาเลย มีแต่สุขอย่างเดียว คือสุขจากการที่ได้เรียนรู้ คนที่มองอะไรเป็นการเรียนรู้จึงได้สุขทุกสถานการณ์

เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนว่า ให้ตั้งท่าที หรือตั้งทัศนคติต่อประสบการณ์ทุกอย่างด้วยท่าทีของการเรียนรู้ เพียงเท่านี้แหละการศึกษาก็เริ่ม สิ่งร้ายเราก็ได้เรียนรู้ สิ่งดีเราก็ได้เรียนรู้ สิ่งร้ายบางทีได้ประโยชน์ในการเรียนรู้ยิ่งกว่าสิ่งดีหรือสิ่งที่เราชอบ คนที่อยากเรียนรู้ และได้พัฒนาท่าทีของการเรียนรู้ไว้มาก ความใฝ่รู้และใฝ่เรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น ทางพระท่านเรียกว่าฉันทะ เมื่อเรียนรู้ ก็ไม่มีทุกข์จากอะไรเลย มีสุขอย่างเดียว คือมีความสุขจากการเรียนรู้ และการเรียนรู้ก็เป็นความสุข

ความสุขจากการเรียนรู้นั้น เป็นความสุขในการศึกษา หรือความสุขทางปัญญา มีแต่ดี มันเข้ามาช่วยหลายอย่างหลายชั้น คนที่ศึกษาพัฒนาตนอยู่นั้น ในด้านความสุขจากการเจอของที่ชอบ เขาก็มีอยู่แต่เดิมแล้ว แต่การเรียนรู้จะช่วยเสริมสุขนั้นอีก โดยทำให้เขารักษาตัวได้ดี ให้ได้ความสุขจากของชอบ โดยไม่ถลำพลาดพลั้งติดเอาทุกข์มาด้วย เช่นถ้าจะมีอะไรเสียหายเป็นโทษนำทุกข์มา เขาก็รู้ทันและหลีกเลี่ยงหรือยั้งได้ และไม่ลุ่มหลงมัวเมาเป็นต้น เมื่อเจอของไม่ชอบ เขาก็พลิกเปลี่ยนจากทุกข์เพราะไม่ชอบ มาเป็นความสุขจากการได้เรียนรู้มัน

มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนาจะมีความสุขและความทุกข์จากสิ่งที่ชอบและชัง เป็นคู่กัน สุขกับทุกข์ คือ ได้สุขจากสิ่งชอบ และทุกข์จากสิ่งชัง แต่พอเราพัฒนาคนขึ้นมา เขาได้ความสุขจากการเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ทุกข์จากการชังก็เริ่มมีผลลดน้อยลง นอกจากนั้น จากสิ่งที่ชังนั้นเขาก็ได้ประโยชน์ด้วย คือได้เรียนรู้ ซึ่งทำให้เขามีความสุข ถึงตอนนี้จึงสบายไปเลย

คนที่มองสิ่งทั้งหลายแบบชอบชัง ท่านเรียกว่ามองแบบตัณหา ถ้ามองแบบตัณหา ก็จะต้องวนเวียนอยู่ในวังวนแห่งความสุขและความทุกข์ และเป็นความสุขแบบเมืองขึ้นเรื่อยไป แต่ถ้าเมื่อไรเราเริ่มพัฒนาฉันทะ คือความใฝ่รู้ คืออยากรู้ขึ้นมา เมื่อนั้น เราก็เริ่มได้ความสุขจากฉันทะ ตอนนี้เราจะได้ความสุขจากประสบการณ์ทุกอย่าง และเป็นความสุขแบบอิสระทางปัญญา

ในการพัฒนาเด็ก อย่ามัวไปพัฒนาให้เขามีความสุขจากตัณหา เพราะตัณหามีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปพัฒนามัน เมื่อเราเกิดมา มีตา หู จมูก ลิ้นมา ก็มีตัณหามาด้วย ตัณหานั้นพึ่งอวิชชา เมื่อมีอวิชชา ตัณหาก็มาตลอด เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องพัฒนาหรอก มันคอยจะเกิดอยู่เรื่อย

ทีนี้ ความสุขจากการเรียนรู้นี่สิที่เราต้องพัฒนา เราก็ฝึกเด็กให้รู้จักหาความสุขจากการเรียนรู้ จนกระทั่งเด็กเกิดความใฝ่รู้ เมื่อไรเด็กเกิดความใฝ่รู้ และชอบเรียนรู้ เมื่อนั้นก็เริ่มสบายใจได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเกิดฉันทะแล้ว คราวนี้แหละประสบการณ์เข้ามา ไม่ว่าดีว่าร้าย แกได้ความสุขหมด เพราะแกดีใจที่แกได้เรียนรู้ใช่ไหม เกิดไปเจอสิ่งร้าย แกก็ยิ่งได้เรียนรู้มาก แกก็ยิ่งดีใจใหญ่ กลายเป็นว่าเจอสิ่งร้ายกลับดี ใจอาจจะมีความสุขมากกว่าเจอสิ่งดี กลายเป็นอย่างนั้นไป เพราะได้เรียนรู้มากกว่า

วิธีพัฒนาความสุข และพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ยังมีอีกมาก แต่ไม่มีเวลาจะพูด ขอพูดไว้ตัวอย่างเดียวนี้ก่อน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฉันทะเกิดขึ้นเมื่อไร นั่นคือรุ่งอรุณของการศึกษา ฉันทะคือความอยากที่ถูกต้องเกิดเมื่อไร นั่นคือแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ตัณหาจะถูกทอนกำลัง คนนั้นจะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญามากขึ้น ความอยากที่ถูกต้องด้วยปัญญานี้จะมาชี้นำชีวิต เช่น เมื่อพัฒนาถูกต้อง การศึกษามาแล้ว ก็เริ่มมีความอยากกินอาหารที่มีคุณภาพ ตอนนี้อาหารที่อร่อย แต่รู้ชัดๆ ว่ามันทำลายสุขภาพ ใจก็ไม่เอาด้วย ส่วนอาหารที่มีคุณค่า ทั้งที่ไม่ค่อยอร่อย ใจก็เอา และมีความสุขจากการได้กินอาหารนั้นที่รู้ว่าจะทำให้ได้คุณภาพชีวิต และได้ทำสิ่งที่ดีงามถูกต้อง

พอมีความสุขแล้วก็มาถึงจุดสำคัญที่ต้องระวังว่าจะตกหลุมความประมาท เพราะคนที่มีความสุขมักตกหลุมความประมาท พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้อยู่ด้วยสติปัญญา โดยไม่ประมาท คือให้มีความสุขแล้วก็ไม่ประมาทด้วย ดังได้กล่าวแล้วในข้อก่อน

โดยวิธีการที่เราพัฒนาคนให้มีปัญญาที่จะมีความสุขนี้ก็จะมีผลขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้มนุษย์มีชีวิตที่มีประสิทธิภาพด้วย พร้อมกับการที่มีความสุข อย่างที่แสดงออกด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า “งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข” ถ้าเราพัฒนาคนถูกต้อง จะได้ทั้งสองอย่าง ไม่ใช่งานได้ผล แต่คนเป็นทุกข์

เวลานี้ สำหรับคนพวกหนึ่ง งานได้ผล คนเป็นทุกข์ ส่วนอีกพวกหนึ่งงานไม่ได้ผล แต่คนเป็นสุข ถ้าให้ถูกต้องให้ได้ทั้งสองอย่าง คือด้วยการพัฒนาที่ถูกต้อง คนมีปัญญาที่แท้ จะได้ทั้งงานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข คือเป็นสุขในการทำงานนั้นด้วย เริ่มตั้งแต่มีความสุขจากการที่ได้เรียนรู้เป็นต้นไป

ปัญญา จะพัฒนาสมบูรณ์ ต้องไม่ติดตันใต้ทิฏฐิ

ต่อไป เรื่องปัญญากับทิฏฐิ ปัญญาคือความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง คนเราพัฒนาปัญญาเพื่อให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แต่ในขณะที่เราแสวงหาปัญญาอยู่นั้น ก็มักจะตกหลุมอีกแห่งหนึ่งขึ้นมา คือพอเราได้รู้อะไรนิดๆ หน่อยๆ เราจะเริ่มลงความเห็น สิ่งที่กลายเป็นความเห็นของเรานี้ ท่านเรียกว่า ทิฏฐิ

คนบางพวกมีความโน้มเอียงที่จะลงความเห็นง่าย พอลงความเห็นปุ๊บไปแล้ว ตัวเองยังไม่ทันเข้าถึงความจริงก็เลยติดอยู่ในความเห็นอันนั้นเอง ทั้งที่เพิ่งได้ความจริงเพียงแง่หนึ่งด้านเดียว อันนั้นก็กลายเป็นทิฏฐิไปเสียแล้ว พอลงเป็นทิฏฐิแล้ว เจ้าทิฏฐินั้นก็

๑. กลายเป็นตัวอุปสรรค มาขัดขวางตัวเขาเอง ไม่ให้แสวงหาปัญญาต่อ ก็เลยเข้าไม่ถึงความจริง

๒. เป็นอันตรายต่อเพื่อนมนุษย์ เพราะตัวเองก็จะดื้อรั้นให้เป็นไปตามทิฏฐิของตน จนบางทีถึงกับไปบังคับคนอื่นให้เห็นตาม

ฉะนั้น ทิฏฐิจึงมีบทบาทสำคัญในกระบวนการพัฒนาปัญญา มันเกิดขึ้นในระหว่างที่เรากำลังแสวงหาปัญญา แต่พอมันเกิดขึ้นแล้วกลับเป็นอันตราย ทั้งกั้นตัวเองด้วย และทำร้ายผู้อื่นด้วย ฉะนั้นจึงมีปัญหาว่าทำอย่างไรจะไม่ให้คนตกลงไปอยู่ใต้ทิฏฐิ เราจะได้ก้าวหน้าในปัญญาอยู่เสมอ

คนที่เป็นนักแสวงปัญญานั้น จะไม่ลงทิฏฐิง่ายๆ แล้วก็ไม่ยึดติดถือมั่นอยู่ใต้ครอบงำของทิฏฐิ เรื่องนี้ยังไม่มีเวลาอธิบายก็ขอผ่านไปก่อน

เวลานี้ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในเรื่องปัญญากับทิฏฐิก็คือว่า โลกแคบเข้ามารวมกันเป็นหนึ่งเดียวโดยเทคโนโลยี แต่คนยิ่งแตกยิ่งแยกกันโดยทิฏฐิ นี่คือจุดติดตันของอารยธรรมมนุษย์ยุคปัจจุบัน

เวลานี้เทคโนโลยีได้ช่วยให้โลกมีสภาพทางกายภาพรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มนุษย์ติดต่อถึงกันหมด ฝรั่งเรียกว่าเป็น global village แต่เสร็จแล้วมนุษย์กลับแบ่งแยกกันอย่างหนัก มีการทะเลาะ ตลอดจนทำสงครามกันเนื่องจากเชื้อชาติ ผิว เผ่าพันธุ์ ลัทธิ ศาสนา เป็นต้น เพราะอะไร ก็เพราะทิฏฐินี่แหละ คือมีความยึดมั่นในความเห็นโดยถือว่าอันนี้เท่านั้นดี พวกฉันเท่านั้นดี เป็นต้น

ปัจจุบัน ปัญหาที่มนุษย์ติดตันมี ๒ เรื่อง

๑. สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม

๒. การขัดแย้งทำลายกันเอง เนื่องจากการแบ่งแยกผิว พวก เผ่าพันธุ์

มนุษย์ติดตันสองเรื่องนี้สำคัญที่สุด เพราะเป็นปัญหาร้ายแรงถึงขั้นทำให้อารยธรรมสูญสิ้น และมวลมนุษย์พินาศได้

ปัญหาแรกเกิดจากทิฏฐิที่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และเห็นว่าความสำเร็จและความสุขสมบูรณ์ของมนุษย์อยู่ที่การพิชิตธรรมชาติ แล้วสามารถจัดการกับธรรมชาติได้ตามที่ตนปรารถนา อันประสานเข้ากับทิฏฐิที่เชื่อว่ามนุษย์จะมีความสุขมากที่สุด เมื่อมีสิ่งเสพบริโภคพรั่งพร้อมที่สุด

ปัญหาที่สองเกิดจากทิฏฐิที่ยึดติดในการถือตัวถือตน สิ่งที่เป็นของตน ใจคับแคบ เอาแต่พวกของตน ตลอดจนลัทธิศาสนาของตน

มนุษยชาติจะพ้นไปจากภัยพิบัติ มีสันติสุขแท้จริง จะต้องสร้างสรรค์ปัญญาที่ทำให้ตัวมนุษย์เองข้ามพ้นไปได้จากทิฏฐิสำคัญที่กล่าวมานี้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องบรรยายไว้ต่างหากจากที่นี้

 

ปัญญา เมื่อพัฒนาสมบูรณ์
พาเอากรุณามาร่วม ทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์

ปัญญาที่แท้นั้นเมื่อพัฒนาไปก็จะพ่วงเอาคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งคู่มาด้วย ถ้าคุณสมบัตินี้ไม่มาก็แก้ปัญหามนุษย์ไม่ได้ และไม่ใช่ปัญญาที่แท้จริง ปัญญาแท้ที่เข้าถึงสัจธรรมนั้น ทำให้มนุษย์รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ทั้งของโลก และของชีวิต ซึ่งรวมทั้งรู้เข้าใจตัวเองและรู้เข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วย

พอรู้เข้าใจความจริงของชีวิตของตน ก็เกิดมีอิสรภาพ ตนเองหลุดพ้นจากพันธนาการ และไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตนต่อไป อีกทั้งเข้าใจชีวิตของเพื่อนมนุษย์ ของเพื่อนร่วมโลก ของสัตว์ทั้งหลาย ทำให้เกิดสภาพจิตขึ้นมาอย่างหนึ่ง เป็นคุณธรรม เรียกว่า กรุณา คือความไวที่จะมองเห็นความทุกข์และปัญหาของเพื่อนมนุษย์ และปรารถนาที่จะไปช่วยแก้ไขปัญหาบำบัดปัดเป่าความทุกข์นั้น

เพราะฉะนั้น ปัญญา จึงคู่กับกรุณา โดยเฉพาะท่านผู้ตรัสรู้แล้วซึ่งมีปัญญาที่แท้ กรุณาก็จะเกิดเองโดยอัตโนมัติ เพราะเมื่อมีความเข้าใจโลกและชีวิตแท้จริง ไม่ใช่เข้าใจแต่เรื่องราว แต่เข้าใจมนุษย์ด้วย พอเรารู้ความจริงในชีวิตของเขาและเข้าใจคนแล้ว เราก็จะเห็นใจคน ซึ่งทำให้ปฏิบัติต่อคนถูกต้อง เรียกว่าเกิดกรุณา ฉะนั้น ปัญญาจึงมาคู่กับกรุณา ปัญญาที่แท้ต้องมากับกรุณา

แม้แต่ในเรื่องข่าวสารข้อมูล เมื่อเราปฏิบัติได้ถูกต้อง เรามีข่าวสารข้อมูลมาก เราก็เข้าใจเรื่องราวได้ดี พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง เราใช้ข้อมูลนี้ในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนมนุษย์ การติดต่อสื่อสารกันนี้ก็ทำให้เกิดความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ดังนั้นการใช้ข่าวสารจึงหมายถึงการสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ให้ถูกด้วย ถ้าปัญญามากับกรุณา ก็จะทำให้เกิดผลดี ไม่ใช่เป็นการใช้ข่าวสารเพียงเพื่อสนองผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วเกิดความขัดแย้งหรือทำลายเพื่อนมนุษย์ แต่จะใช้ข่าวสารข้อมูลให้เกิดการเกื้อกูลกัน แต่ในทางตรงข้าม ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง ปัญญาไม่มากับกรุณา ก็จะต้องเกิดปัญหาแน่นอน

ปัญญา พัฒนาจากฐานแห่งการรู้จักใช้ปัญญา

สิ่งที่ไม่มีโอกาสพูด แต่ขอเริ่มไว้นิดหน่อย คือ วิธีสร้างสรรค์ปัญญา เราต้องการปัญญาที่รู้แจ้งเข้าใจความเป็นจริงจนถึงโพธิญาณ แต่ในตอนที่ยังไม่ถึงโพธิญาณ ก็ให้มีแค่สัมมาทิฏฐิก่อน คือให้ถือหลักการที่จะช่วยให้วางใจวางท่าทีปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง อย่างน้อยก็ให้เป็นปัญญาชนิดที่เป็นเชื้อเป็นฐานให้เกิดช่องทางที่จะพัฒนาชีวิตต่อไป

ทิฏฐิมี ๒ แบบ ถ้าเป็นทิฏฐิถูกต้องก็เป็นฐานของการพัฒนาต่อไป แต่ถ้าเป็นทิฏฐิที่ผิดก็ติดตันกั้นตัวเราอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ทิฏฐิประเภทที่ช่วยให้เรามีการพัฒนาได้คือสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐินี้เป็นความเชื่อ หรือการยึดถือในหลักการ ทิฏฐิที่เป็นสัมมา และเป็นฐานของการพัฒนาได้ เช่น การเชื่อในหลักการว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย การเชื่อในหลักการว่าสิ่งทั้งหลายเป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยทั้งหลาย

การเชื่ออย่างนี้ เป็นทางแห่งการพัฒนาอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อท่านเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอท่านเจออะไรแล้วนึกถึงหลักขึ้นมาว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ท่านก็ต้องสืบสาวหาเหตุ ก็เกิดการใช้ปัญญาทันที ฉะนั้น ความเชื่อหรือทิฏฐิแบบนี้จึงเป็นสัมมา เพราะเป็นฐานของการพัฒนาต่อไป แต่ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามการดลบันดาลของเทพเจ้า พอเราไปเจออะไรเข้า ก็นึกไปตามหลักนั้นว่าท่านดลบันดาลมาอย่างนั้น การพิจารณาก็จบแค่นั้น เราก็ไม่ใช้ปัญญา ฉะนั้น ทิฏฐิแบบนั้นจึงไม่เป็นฐานของการพัฒนามนุษย์

เมื่อยังไม่มีปัญญาเต็มที่สมบูรณ์ ก็ขอให้มีสัมมาทิฏฐิ คือ ทิฏฐิที่เป็นหลักการที่จะเป็นฐานของการพัฒนาปัญญาต่อไป ถ้าท่านเชื่อในหลักการอย่างที่ว่ามาเมื้อกี้ ท่านก็จะได้พัฒนาต่อไปเรื่อย จึงขอให้มีสัมมาทิฏฐิ

ทีนี้ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง แยกเป็นปัจจัยภายใน กับปัจจัยภายนอก

๑. ปัจจัยภายในคือ โยนิโสมนสิการ การรู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วยตนเอง

๒. ปัจจัยภายนอก คือ ปรโตโฆสะ เสียงจากผู้อื่นในทางที่ดี หรือกัลยาณมิตร

เราต้องพัฒนามนุษย์ทั้งสองด้าน คือ ด้านภายใน ให้เขามีปัจจัยภายในที่จะใช้ปัญญา จนสามารถพึ่งตนเองได้ แต่คนส่วนมากนั้น ไม่ค่อยมีโยนิโสมนสิการ เราจะต้องช่วย โดยเฉพาะในสังคมวงใหญ่ ก็จึงต้องทำปรโตโฆสะให้เป็นกัลยาณมิตร ก็เกิดเป็นกัลยาณมิตรจัดตั้งขึ้นมา ดังที่ได้มีการสร้างระบบการศึกษาและจัดสรรกิจการต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้เป็นระบบกัลยาณมิตร ที่จะมาช่วยเป็นปัจจัยในการทำให้เกิดโยนิโสมนสิการ ถ้าเขายังไม่มีโยนิโสมนสิการ ก็พึ่งตนเองยังไม่ได้

ในการสร้างปัญญานี้ จะต้องยอมรับความจริงว่าคนส่วนใหญ่ต้องอาศัยปัจจัยทางสังคมมากอย่างที่ว่าแล้ว และมีคนเพียงจำนวนน้อยที่จะสามารถเข้าถึงภาวะพัฒนาด้วยโยนิโสมนสิการของตนเอง อันนี้เป็นข้อสังเกตสำคัญในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะจุดเน้นข้อแรกของการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ก็คือ จะต้องเป็นสังคมที่เกื้อหนุนการเรียนรู้ ซึ่งก็ได้แก่สังคมแห่งกัลยาณมิตรนั่นเอง สังคมกัลยาณมิตรนั้นเป็นระบบแห่งปัจจัยภายนอก ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้เกิดสัมมาทิฏฐิ

ในฐานะที่เป็นปัจจัยภายนอก คนที่เป็นกัลยาณมิตร เมื่อจะช่วยเหลือในการพัฒนาคน จะต้องมองสองอย่าง

ยกตัวอย่าง ถ้าเราเป็นครู เราจะพัฒนาเด็ก ในแง่หนึ่งมองจากด้านปัจจัยภายนอก เราเป็นสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้จัดสรรสิ่งแวดล้อม บทบาทในแง่นี้บอกเราว่า เราจะต้องจัดสรรสิ่งแวดล้อมเช่นข่าวสารข้อมูลที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก แต่เมื่อมองในแง่ปัจจัยภายใน ในฐานะผู้สอนที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพภายในตัวเด็ก เราจะต้องสอนเด็กให้เกิดโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีความหมายว่า เราจะต้องช่วยให้เด็กพัฒนาตัวเขาเองจนสามารถถือเอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่เลวที่สุด การทำหน้าที่ ๒ อย่างนี้เป็นสิ่งที่ย้อนกลับกัน แต่เสริมกัน

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในการทำหน้าที่ทางการศึกษา เมื่อมองจากภายนอก ในฐานะเป็นกัลยาณมิตร ผู้รับผิดชอบสังคม ผู้บริหาร ตลอดจนพ่อแม่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นครูเป็นอาจารย์ จะต้องทำสิ่งที่คล้ายกับตรงข้ามกันสองอย่างเข้ามาประสานกัน คือ

๑. ด้านภายนอก จัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก ให้เด็กได้สิ่งแวดล้อมที่ดีที่เกื้อกูล และพร้อมกันนั้น

๒. ภายในเด็ก พัฒนาให้เด็กสามารถเอาประโยชน์ได้จากสิ่งแวดล้อมที่เลวที่สุด

ถ้าเมื่อใด เด็กมีความสามารถอย่างที่สองภายในตัวเขาเอง เขาจะพึ่งตนเองได้ และเป็นความสำเร็จในการศึกษา หมายความว่า เด็กที่พัฒนาดีแล้วนี้ ไม่ว่าเขาจะเจอกับสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์อะไร จะต้องเก่งจนสามารถจับเอาประโยชน์ได้จากสิ่งเหล่านั้นทุกอย่าง ไม่ว่าจะดีหรือร้าย อย่างที่ท่านเล่าไว้ว่า พระบางองค์ไปเจอคนบ้า พอเดินสวนทางกัน ได้ยินคนบ้าพูด ท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ คนที่มีปัญญารู้จักใช้โยนิโสมนสิการ จะได้ประโยชน์แม้แต่จากคำด่า

คนที่จะด่าเรานั้นเขาต้องคิดนาน และตามปกติเรามองตัวเองยากมาก และเราก็ไม่มีเวลาคิด เมื่อเราฟังคำด่า เราสามารถสำรวจพิจารณาตัวเองได้มาก โดยไม่ต้องไปเสียเวลาคิด ส่วนคำชมนั้น คนมักพูดไปตามที่ได้เห็นได้ยิน ซึ่งปรากฏอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้เวลาคิด และเราทำได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงได้ประโยชน์จากคำด่ามากกว่าคำชม คนที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะไปพบประสบการณ์ใดหรือตกอยู่ในสถานการณ์ใด ก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น การพัฒนาคนขึ้นมา จึงมีแต่ดี

ปัญญา พัฒนาด้วยแรงจูงใจที่ใฝ่แสวงปัญญา

ทางสร้างปัญญาอีกอย่างหนึ่ง อยู่ในระบบที่ขยายปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ อย่างออกไปเป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม หรือรุ่งอรุณของการศึกษา ๗ ประการ ซึ่งมีอยู่ข้อหนึ่งเรียกว่าฉันทะ ได้แก่ ความอยากหรือความต้องการ แต่เป็นความอยากที่ถูกต้อง

คนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาสอนให้ไม่มีความอยาก แต่ที่จริงท่านสอนให้มีความอยากด้วย ความอยากนั้นมีสองอย่าง ในที่นี้หมายถึงความอยากที่ดีที่ถูกต้องเป็นกุศล คือ ฉันทะ อันได้แก่ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ พูดสั้นๆ ว่า ใฝ่ธรรม คือต้องการความจริง ต้องการความถูกต้องความดีงาม เรียกเต็มว่า ธรรมฉันทะ

ธรรมฉันทะ คือความต้องการธรรมนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเป็นธรรมาธิปไตย คือการถือธรรมเป็นใหญ่ ได้แก่ถือความดีงามถือความถูกต้องถือความจริงเป็นใหญ่ การถืออย่างนี้จะสยบอัตตาได้

โดยทั่วไปในการอยู่ร่วมกัน อัตตาของแต่ละคนจะเด่น คือแต่ละคนจะยึดถือในความสำคัญของตนเอง ถ้าไม่จัดการในเรื่องนี้ให้ดี การถือตัวถือตนของแต่ละคนก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง แทนที่คนจะมุ่งและช่วยกันหาความจริง เขาก็มัวแต่จะคิดถึงผลประโยชน์ของตนบ้าง จะเอาชนะกันบ้าง คอยปกป้องตัวเองบ้าง จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาปัญญา

ในสังคมที่จะพัฒนาได้ จะต้องมีอะไรอย่างหนึ่งที่เหนืออัตตาของแต่ละคน ที่เป็นจุดรวมอันหนึ่งที่ทุกคนยึดถือสูงสุดเป็นอันเดียวกัน เมื่อนึกถึงสิ่งนี้แล้วทุกคนจะยอมตัว จะหยุดการถือความสำคัญของตน และหันมาทำเพื่อสิ่งนี้ได้ ถ้าสังคมมีสิ่งนี้ก็จะพัฒนาได้ ในพระพุทธศาสนานั้นท่านให้ถือธรรมเป็นใหญ่ จึงให้ใช้หลักธรรมาธิปไตย

เรื่องที่พูดมานี้ จะเห็นตัวอย่างเช่นในเวลาประชุมกัน บางทีคนยอมกันไม่ได้เพราะทุกคนถือเอาตนเองเป็นใหญ่ เมื่อเกิดการขัดแย้งกันขึ้น สังคมชาตินิยมก็เอาชาติเป็นใหญ่ เช่นเพื่อชาติญี่ปุ่นทุกคนยอมได้ แต่แบบนั้นไม่ปลอดภัย เพราะจะกลายเป็นว่า เพื่อความยิ่งใหญ่ของชาติของฉัน ฉันก็จะเบียดเบียนข่มเหงเอาเปรียบประเทศอื่นๆ ได้

หลักการที่ถูกต้องคือธรรมาธิปไตย เมื่อทุกคนมีธรรมฉันทะ คือใฝ่ธรรม ต้องการความจริงความถูกต้องความดีงาม มีธรรมาธิปไตย คือยึดถือธรรมเป็นใหญ่ เอาความจริงความถูกต้องความดีงามเป็นใหญ่ แม้แต่ในเวลาประชุมกัน ถึงจะขัดแย้งกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่เมื่อคำนึงถึงธรรมเป็นเป้าหมาย ใจมุ่งจะเข้าถึงความจริงความถูกต้องและสิ่งที่ดีงาม ทุกคนจะมองข้ามความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันได้ ถ้าไม่ถึงความจริงความถูกต้อง และสิ่งที่ดีงาม จะไม่ยอมหยุด ด้วยธรรมฉันทะ และธรรมาธิปไตยนี้ การแสวงปัญญาก็จะดำเนินไปและดำเนินไปอย่างเข้มแข็งจริงจังจนบรรลุจุดหมาย

ในที่สุดนี้ ขอย้ำว่า การสร้างสรรค์ปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของระบบของการพัฒนามนุษย์ ซึ่งเป็นไตรภาคี ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่าไตรสิกขา ซึ่งจะต้องพัฒนาไปด้วยกัน

ขอจบท้ายด้วยจุดเน้นในการสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญแก่การสร้างอนุชน คติเกี่ยวกับความสำคัญของอนุชนนี้ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ ซึ่งควรจะจำไว้สักข้อหนึ่ง ขอพูดเป็นภาษาบาลีว่า ปุตฺตา วตฺถุ มนุสฺสานํ แปลว่า ลูกๆ คือเด็กทั้งหลาย เป็นฐานรองรับมวลมนุษยชาติไว้ เพราะฉะนั้นเราจึงควรเน้นความสำคัญของการพัฒนาเด็ก เริ่มตั้งแต่ให้พ่อแม่ทำหน้าที่เป็นบูรพาจารย์กันให้จริงจัง

เวลานี้ เราให้ความสำคัญในเรื่องนี้หรือไม่ เราจะต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว ซึ่งเป็นจุดที่เราเริ่มต้นได้ทันที มารดาบิดาเป็นพรหมของลูก เป็นครูคนแรก หรืออาจารย์ต้น พ่อแม่จะต้องทำหน้าที่เป็นครูคนแรก หรือเป็นอาจารย์ต้น ต่อจากนั้นครูอาจารย์ทั้งหลายภายนอกก็มาเสริมต่อ จนในที่สุดให้สังคมทั้งหมดเป็นสังคมแห่งกัลยาณมิตร

เป็นอันว่า ในการสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ จะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ระบบครอบครัวเป็นต้นไป และในการพัฒนาของเด็กนั้น ในเมื่อปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร จึงจะต้องใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ เด็กจะต้องพัฒนาการปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูล ทั้งในด้านรับเป็นและในด้านใช้เป็น เริ่มตั้งแต่ความรักการอ่าน และในการอ่านนั้นก็ต้องอ่านเป็นด้วย ดังจะเห็นว่า เด็กหรือคนบางคนอ่านมากแต่ไม่ได้เรื่อง การอ่านมากไม่สำคัญเท่าอ่านเป็น บางคนอ่านเป็น อ่านแค่ยี่สิบหน้าก็เป็นประโยชน์มากกว่าคนอ่านไม่เป็นแต่อ่านมากตั้งเป็นร้อยๆ หน้า

ยิ่งข่าวสารข้อมูลมีมากท่วมท้น เราไม่จำเป็นต้องอ่านหมด บางทีต้องกำจัดต้องแยกขยะข้อมูลออกทิ้งด้วยซ้ำไป แล้วก็อ่านให้เป็น เวลานี้ข่าวสารข้อมูลไหลพรั่งอย่างมาก และเด็กก็ไม่มีเวลาที่จะอ่านมาก เพราะเด็กมักเอาเวลาไปให้ทีวี และวีดีโอกันมาก ในเมื่อเด็กจำนวนมากไม่มีเวลาอ่านหนังสือ ก็ยิ่งต้องเน้นการอ่านเป็น เพราะอ่านเป็นแล้วก็ได้ประโยชน์คุ้มเวลา ต่อจากรับเป็นแล้วก็ใช้เป็นด้วย คือเอาข่าวสารข้อมูลที่รับเข้ามาเป็นความรู้แล้วนั้น มาใช้แก้ปัญหาและทำการสร้างสรรค์ให้ได้ผลจริงด้วย

เนื่องจากหมดเวลาแล้ว จึงขออนุโมทนาท่านที่เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ต้องขออภัยด้วยที่พูดเกินเวลาไปเยอะ ก็ถือว่าเป็นเรื่องของการที่เราจะมาช่วยกันสร้างสรรค์ปัญญา หากว่าที่พูดไปในวันนี้ จะมีคุณค่าเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ก็ขอให้ถือเป็นส่วนร่วมในกิจกรรมของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ที่มีกุศลเจตนาในการที่จะสร้างสรรค์อนาคตของมนุษยชาติ ขอให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา พร้อมที่จะมาช่วยกันสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาติตามหัวข้อปาฐกถาที่ตั้งไว้นี้สืบต่อไป ขอทุกท่านจงมีความร่มเย็นเป็นสุขงอกงามในธรรมโดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

1ปาฐกถานำ ในการเปิดมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ณ โรงแรมรีเจนต์ กรุงเทพฯ ๑๙ มีนาคม ๒๕๓๘
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง