บทบาทพระบรมครู

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สัมโมทนียกถา
ของ
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์-การสอน)
ณ อุโบสถวัดพระพิเรนทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เวลา ๑๔.๓๐ น.

กราบเรียน พระเดชพระคุณองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ที่เคารพอย่างสูง ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือ ขออํานวยพรท่านนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านอธิการบดี ท่านกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้ท่านจะมิได้มาในตําแหน่งนั้น และรวมทั้งท่านผู้ดํารงตําแหน่งชั้นสูงในฝ่ายบริหาร คือรองอธิการบดี ตลอดจนคณบดีคณะต่างๆ โดยเฉพาะท่านคณบดี คณะศึกษาศาสตร์ พร้อมทั้งคณาจารย์ ญาติมิตร ท่านสาธุชนทั้งหลาย

อาตมภาพขออนุโมทนาเป็นอย่างสูง ในการที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีน้ำใจเกื้อกูลอย่างยิ่งแก่อาตมภาพ นอกเหนือจากการที่ ได้อนุมัติปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์-การสอน) ในการประชุมของสภามหาวิทยาลัยแล้ว เฉพาะในโอกาสบัดนี้ท่านยังได้ให้ความสําคัญแก่พิธี โดยได้สละเวลาอันมีค่าของท่านมาประกอบ พิธีถวายปริญญา ณ สถานที่อุโบสถวัดพระพิเรนทร์แห่งนี้ โดยเฉพาะคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งมีท่านคณบดี ดร. ยุพา วีระไวทยะ เป็นหัวหน้า ได้มีความเอาใจใส่ตั้งใจในการที่จะจัดพิธีครั้งนี้อย่างมีน้ำใจเกื้อกูลแท้จริง นอกเหนือจากการตระเตรียมพิธีต่างๆ โดยทั่วไปแล้วก็ยังได้อนุมัติให้ทางวารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งมี ดร.อาภา จันทรสกุล เป็นบรรณาธิการ ได้จัดพิมพ์หนังสือ ทางสายกลางของการศึกษาไทยขึ้น สําหรับโอกาสนี้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเครื่องแสดงถึงน้ำใจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีต่ออาตมภาพ ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็เป็นการเกื้อกูลด้วยน้ำใจต่อส่วนตัว แต่เมื่อมองลึกซึ้งเข้าไปให้เห็นความหมายที่ซ่อนอยู่ สิ่งที่น่าอนุโมทนายิ่งกว่านั้นก็คือ การที่ท่านทั้งหลายมองเห็นคุณค่า และความสําคัญของพระพุทธศาสนา เพราะว่าพิธีนี้อาตมภาพเข้าใจว่าคงจะมิได้มีความมุ่งหมายแสดงออกต่ออาตมภาพเพียงส่วนตัวเท่านั้น แต่มุ่งที่จะแสดงออกต่อพระพุทธศาสนาทั้งหมดด้วย กล่าวคือการที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะคณะศึกษาศาสตร์ มองเห็นคุณค่าและความสําคัญของพระพุทธศาสนา ในด้านการศึกษามองเห็นว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นสามารถจะนํามาใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษา หรือให้หลักเกณฑ์ที่จะใช้เป็นประโยชน์ในการดําเนินการศึกษาในสมัยปัจจุบันได้ นับว่าเป็นการที่มหาวิทยาลัยได้เข้ามาสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาในด้านหนึ่ง ซึ่งความสัมพันธ์นี้อย่างน้อยก็เป็นไปใน ๒ แง่ด้วยกัน

แง่ที่ ๑ คือความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นรากฐานของชีวิตจิตใจและความคิดแบบไทย ซึ่งในแง่นี้การที่ทางมหาวิทยาลัยได้เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ก็เป็นการเชื่อมโยงปัจจุบันเข้ากับอดีตให้มีการสืบทอดได้อย่างต่อเนื่อง

ในแง่ที่ ๒ ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ทางมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะทางคณะศึกษาศาสตร์ได้มองเห็นว่า หลักสัจธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นความจริงอันเป็นอมตะ ซึ่งสามารถจะนํามาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันแห่งสังคมสมัยใหม่ได้ ซึ่งข้อนี้เป็นที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง

พระพุทธศาสนานั้นกล่าวได้ว่าเป็นศาสนาแห่งการศึกษา หรือพูดให้เจาะจงลงไปอีกว่า พระพุทธศาสนาภาคปฏิบัติทั้งหมดรวมอยู่ในการศึกษาทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะหลักปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนานั้นมีชื่อเรียกรวมอย่างเดียวว่า สิกขา ที่เราทั้งหลายรู้จักกันในชื่อว่า ไตรสิกขา คําว่า สิกขา นั้น เป็นคําบาลีตรงกับคําไทยที่เราใช้กันว่า ศึกษา นั่นเอง ในเมื่อไตรสิกขาหรือสิกขา ๓ ประการ เป็นหลักปฏิบัติทั้งหมดของพระพุทธศาสนาก็จึงเป็นศาสนาแห่งการศึกษา แม้แต่บุคคลผู้ปฏิบัติก้าวหน้า ไปในระบบการแห่งพระพุทธศาสนาและได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่าเป็น พระเสขะ ซึ่งแปลว่า บุคคลผู้กําลังศึกษาและยังจะศึกษาต่อไป ส่วนบุคคลที่ได้ศึกษาจนสําเร็จผลบริบูรณ์แล้ว ก็มีชื่อเรียกว่า อเสขะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา ซึ่งบุคคลที่จะไม่ต้องศึกษานี้ก็มีประเภทเดียวเท่านั้นคือ พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นอรหันต์ ตามคติทางพระพุทธศาสนาถือว่า ทุกคนยังต้องศึกษาอยู่ทั้งสิ้น

แม้คําอื่นๆ ที่แสดงหลักปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็ล้วนมีความหมายเกี่ยวกับการศึกษาทั้งสิ้น เช่นคําว่า ทมะ แปลว่าการฝึกฝน ก็เป็นศัพท์สําคัญในทางพระพุทธศาสนาศัพท์หนึ่ง บุคคลที่ได้รับการฝึกฝนดีแล้ว คือมีการศึกษาดีแล้ว ก็เรียกว่า ทนฺต บ้าง สุทนฺต บ้าง แปลว่า ผู้ได้รับการฝึกฝนแล้วหรือผู้ได้ฝึกตนดีแล้ว พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่าง แห่งทนฺตคือบุคคลที่ได้ฝึกตนแล้วเช่นนั้น หรืออีกคําหนึ่งที่เป็นศัพท์สําคัญเช่นเดียวกัน คือคําว่า ภาวนา ภาวนาก็แปลว่าการฝึกอบรม การเจริญหรือการพัฒนา ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาแยกไว้เป็น ๔ ด้าน คือ กายภาวนา การฝึกอบรมหรือเจริญทางด้านกาย ศีลภาวนา การฝึกอบรมหรือเจริญทางด้านศีลหรือความประพฤติในทางสังคม จิตตภาวนา การฝึกอบรมหรือเจริญในด้านจิตใจ และ ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมหรือเจริญหรือพัฒนาในด้านปัญญา บุคคลที่ได้รับการฝึกอบรมหรือพัฒนาตามหลักการนี้แล้ว ท่านเรียกว่า ภาวิตัตตะ แปลว่า ผู้มีตนที่ฝึกอบรมแล้วหรือผู้ได้พัฒนาตนแล้ว

คําว่า ฝึกฝน อบรม พัฒนา เจริญเหล่านี้ เป็นคําที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งสิ้นจึงได้กล่าวในเบื้องต้นว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษา และในกระบวนของการศึกษาทั้งหมด ที่มีการฝึกฝนอบรมพัฒนาในด้านต่างๆ มีการขัดเกลาทําให้มนุษย์เจริญงอกงามมากยิ่งขึ้นในด้านต่างๆ มีการขัดเกลาทําให้มนุษย์เจริญงอกงามมากยิ่งขึ้นในด้านต่างๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น รวมแล้วในขั้นสุดท้ายก็มีความมุ่งหมายในการที่จะกําจัดอวิชชาและสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น การทําลายอวิชชาและสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นนั้นมิใช่เป็นสิ่งที่จะทําให้เกิดขึ้นในฉับพลันทันทีได้เสมอไป โดยเฉพาะสําหรับบุคคลทั่วไปแล้ว ก็จะต้องมีการคืบเคลื่อนหรือคลี่คลายให้เดินทางออกจากอวิชชามาสู่ปัญญาโดยลําดับเป็นขั้นเป็นตอน

ขั้นตอนหนึ่งที่นับว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สําคัญในการที่จะเริ่มเดินทางออกจากอวิชชามาสู่ปัญญา ก็คือ ศรัทธา ศรัทธานี้เป็นหลักการสําคัญอย่างยิ่งในการเริ่มต้นที่จะเริ่มเดินทางออกจากอวิชชา ศรัทธานั้นหมายถึง การที่เรามีความเชื่อความเลื่อมใสในบุคคล ก็ตาม ในหลักการ คําสอน ลัทธิ ศาสนาต่างๆ ก็ตาม ศรัทธานี้เป็นจุดเริ่มแรกหรือเบื้องต้นที่จะทํา ให้มีจิตใจโน้มเอียงไปหาสิ่งนั้นหรือบุคคลนั้น มีจิตใจพุ่งแล่นไป แต่ลักษณะของศรัทธาประการหนึ่งก็คือ การที่ยังฝากความคิด ฝากความเชื่อมอบไว้กับสิ่งนั้น ในเมื่อเรายังฝากความคิด ฝากจิตใจไว้กับสิ่งอื่น กับบุคคลอื่น ก็ยังไม่ปลอดภัย เพราะว่าศรัทธานั้น ยังอยู่ในทางสองแพร่ง คืออาจจะเป็นความเชื่ออย่างผิดๆ หรือเชื่ออย่างถูกต้อง และอาจจะเป็นความเชื่อในแหล่งความรู้ที่ผิด หรือเชื่อในแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง ถ้ามีความเชื่อที่ผิด หรือเชื่อในแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง ถ้ามีความเชื่อที่ผิด หรือเชื่อในแหล่งความรู้ที่ผิดพลาดแทนที่จะทําให้เกิดปัญญา ก็อาจจะทําให้เกิดอวิชชามากขึ้น ศรัทธานั้นก็อาจจะกลายเป็นความงมงายไปก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าศรัทธาไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ศรัทธาก็จะเป็นทางเดินนําไปสู่ปัญญา เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ศรัทธาเป็นตัวชักนํา ให้จิตใจโน้มไปหาบุคคล หรือหลักการ หรือสิ่งนั้นๆ เมื่อจิตใจของเราโน้มเข้าไปหาแล้ว เราก็จะเข้าถึงแหล่งแห่งความรู้นั้น แล้วก็จะมาถึงหลักการประการที่ ๒ หรือขั้นตอนที่ ๒ ของการคืบเคลื่อนออกจากอวิชชา ต่อจากศรัทธา กล่าวคือเมื่อเราได้เข้าถึงแหล่งแห่งความรู้ โดยศรัทธานําเราเข้าไปยังแหล่งแห่งความรู้นั้นแล้ว ต่อจากนั้นแหล่งแห่งความรู้นั้นก็จะถ่ายทอดความรู้มาให้แก่เราในการถ่ายทอดความรู้นี้ มีศัพท์เฉพาะในทางพระศาสนาเรียกความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาว่า สุตะ

สุตะ แปลว่า สิ่งที่ได้สดับตรับฟัง แต่อันนี้เป็นเพียงความหมาย เบื้องต้น คือโดยปกติแล้ว ผู้ที่จะถ่ายทอดความรู้นั้นก็เป็นบุคคล และถ่ายทอดด้วยวาจาคือคําพูด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้รับถ่ายทอดมา จึงเป็นสิ่งที่ได้สดับฟัง (เรียกอย่างปัจจุบันว่า ข่าวสารข้อมูล) แต่ความหมาของศัพท์นั้นมิใช่จํากัดอยู่เพียงแค่สิ่งที่สดับตรับฟังเท่านั้น ยังมีความหมายเลยไปถึงการค้นคว้าศึกษาเล่าเรียนแม้จากหนังสือตํารับตําราเป็นต้น ซึ่งศรัทธาจะเป็นสิ่งสําคัญที่จะนําเราเข้าไปหาแหล่งแห่งความรู้เหล่านี้ เมื่อมาถึงขั้นที่สองคือสุตะแล้ว ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าที่จะเข้าไปหาปัญญาเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เพราะว่าสุตะก็คือสิ่งที่ผ่านออกมาจากแหล่งแห่งความรู้นั้นมายังตัวของเราแล้ว สุตะนั้นมาถึงตัวเรา แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ยังไม่ใช่เป็นของเรา มันยังเป็นความรู้ของผู้อื่น เป็นสิ่งที่ได้รับถ่ายทอดมาจากผู้อื่น แม้จะอยู่ที่เราก็เป็นของผู้อื่น ยังไม่ใช่เป็นของตัวเราที่แท้จริง นี้เป็นประการที่ ๑

ประการที่ ๒ สุตะนั้นสืบเนื่องมาจากศรัทธา เพราะฉะนั้นศรัทธา จึงยังมีอิทธิพลตามมาอีก เราอาจจะเชื่อคล้อยตามไปกับสิ่งที่ได้รับถ่ายทอดมาโดยไม่ได้พินิจพิจารณา ศรัทธาก็เข้าครอบงําเรา อาจจะทําให้เกิดความเชื่อในสุตะ หรือความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดอย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน ว่าข่าวสารข้อมูลต่างๆ อย่างงมงายก็ได้ เพราะฉะนั้นสุตะ ก็ยังไม่ปลอดภัย รวมแล้วทั้ง ๒ ขั้นจะเป็นขั้นศรัทธาก็ตาม เป็นขั้นสุตะก็ตามยังไม่ปลอดภัย เพราะมีลักษณะร่วมกัน คือยังเป็นของที่ขึ้นต่อผู้อื่น จะต้องดําเนินมาสู่อื่น จะต้องดำเนินมาสู่ขั้นที่ ๓

ขั้นที่ ๓ ก็คือขั้นปัญญา คือการใช้ปัญญาพินิจพิจารณาสุตะหรือความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดมานั้นให้ถ่องแท้ถึงความจริง ให้เข้าใจเหตุเข้าใจ ผล มองเห็นเหตุปัจจัยที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสืบทอดกันมาของสิ่งนั้น ตลอดจนมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสุตะ คือความรู้หรือข้อมูลข่าวสารต่างๆ เหล่านั้น จนกระทั่งมองเห็นความรู้ที่ชัดเจนแท้จริง อย่างที่ท่านกล่าวว่า ปญฺา สุตวินิจฺฉินี (ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยสุตะ) อันนี้จึงเรียกว่า ปัญญา เป็นขั้นที่ทําลายอวิชชาได้ และเป็นขั้นที่เป็นความรู้ของตัวเอง ทําให้พึ่งตนเองได้

หลักการของพระพุทธศาสนานั้น แม้จะสอนศรัทธาและส่งเสริมสุตะเป็นอันมาก คนที่มีสุตะมากท่านเรียกว่าเป็น พหูสูต แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ชื่อว่าได้เข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ศรัทธาก็ดี สุตะก็ดี ยังอาจหลอกเราให้หลงผิดได้ ตามปรกตินั้น ในที่ทั่วไป พระพุทธเจ้าตรัสศรัทธาไว้ในที่ใดก็ตรัสปัญญากํากับไว้ด้วยในที่นั้น ตรัสสุตะไว้ในที่ใด ก็ตรัสปัญญากํากับไว้ด้วยในที่นั้น ในทางการศึกษาจําเป็นจะต้องก้าวมาให้ถึงขั้นปัญญาน จึงจะเป็นขั้นที่เกิดความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ที่เรียกว่าเป็นตัวของตัวเอง พึ่งตนเองได้ และถึงขั้นที่หลุดพ้นจากอวิชชา

อวิชชานั้น เป็นรากเหง้าหรือต้นตอของกิเลสทั้งปวง เมื่อกําจัดอวิชชาได้แล้ว กิเลสทั้งหลาย เช่น ความโลภ โกรธ หลง ความอิจฉา ริษยา ความอยากใหญ่ใฝอํานาจ เป็นต้น ที่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนแย่งชิงและทุกข์นานา ก็จะถูกทําลายไปด้วย และเมื่อหลุดพ้นจากอวิชชาแล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นอยู่ด้วยปัญญา อันเป็นปัญญาที่บริสุทธิ์ เป็นอิสระจากการครอบงําของกิเลส เป็นไปพร้อมด้วยความปลอดโปร่งโล่งเบา ความซื่อตรง ความมีเมตตากรุณา ความสะอาดผ่องใส สงบ และความสดชื่นเบิกบาน ผู้ที่ดําเนินชีวิตเช่นนี้ ได้ชื่อว่าเป็น บัณฑิต แปลว่า ผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา

การให้การศึกษาของสถาบันต่างๆ นั้นย่อมมีความมุ่งหมายในการที่จะทําลายอวิชชาและส่งเสริมให้เกิดปัญญาทั้งนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น เป็นสถาบันการศึกษาที่เรียกว่า สมัยใหม่ แต่ก็ย่อมมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันสอดคล้องกับพระพุทธศาสนาในการที่ว่าจะส่งเสริมปัญญาและทําลายอวิชชาดังได้กล่าวมา ในเมื่อมีความสอดคล้องกันแล้ว ทั้งในหลักการและความมุ่งหมาย ถ้าหากได้มีการปฏิบัติถูกต้องแล้วมาร่วมมือกันอย่างสอดคล้องกัน ก็จะทําให้เกิดผลคือความเจริญก้าวหน้าในทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ต่อสังคมนี้

การที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้แสดงออกซึ่งน้ําใจต่ออาตมภาพ ในโอกาสนี้นั้น ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า มิใช่เป็นการแสดงออกต่ออาตมภาพเพียงส่วนตัว แต่เป็นการแสดงออกต่ออาตมภาพในฐานะเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง เมื่อแสดงออกต่ออาตมภาพในฐานะเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง ก็เชื่อว่าเป็นการแสดงออกต่อพระสงฆ์โดยส่วนรวมด้วย และมีความหมายโยงไปถึงการแสดงออกต่อพระพุทธศาสนาทั้งหมด พร้อมทั้งเป็นการแสดงออกต่อวงวิชาการทั้งปวง ซึ่งอาตมภาพขออนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้ เป็นอย่างสูง

อย่างไรก็ตาม กล่าวเฉพาะสําหรับงานนี้ ซึ่งปรากฏพิธีในบัดนี้นั้น นอกจากจะต้องขออนุโมทนาในน้ำใจของสภามหาวิทยาลัย มีท่านนายกสภาเป็นประธานพร้อมทั้งคณาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งหมดแล้ว ก็ยังมีอีกหลายท่านหลายฝ่ายที่ได้ช่วยเหลือให้พิธีครั้งนี้สําเร็จเสร็จสิ้นลงด้วยดี ซึ่งควรจะได้กล่าวถึงไว้ในที่นี้ด้วย เริ่มต้นตั้งแต่ทาง มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันที่อาตมภาพเคยได้รับการศึกษาและเคยปฏิบัติงานทําหน้าที่ในทางการสอนและบริหาร สถาบันแห่งนี้ ไม่ว่าอาตมภาพจะมีงานใดเกิดขึ้น ก็ได้แสดงน้ำใจมาร่วมเป็นเจ้าภาพด้วยทุกครั้งไป สําหรับคราวนี้ทางมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้น มีท่านอธิการบดีเป็นต้น ซึ่งได้มาร่วมในที่ประชุมนี้ด้วย ก็ได้แสดงออกซึ่งน้ำใจเกื้อกูล โดยการจัดหนังสือที่ระลึกสําหรับมอบให้ในพิธีครั้งนี้ กับทั้งได้จัดพิธีในฝ่ายพระสงฆ์มีการอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญชัยมงคลคาถาเป็นต้น ต่อจากนั้นก็คือญาติมิตรท่านสาธุชนทั้งหลายซึ่งก็ได้มีน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลในการตระเตรียมงานโดยเฉพาะ โยมคุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ ซึ่งเป็นอดีตผู้อํานวยการวิทยาลัยครูสวนดุสิต ทั้งอาจารย์และนักศึกษาพากันมาช่วยจัดดอกไม้เครื่องบูชาพระรัตนตรัย พร้อมทั้งจัดสิ่งเครื่องประกอบบริการในพิธี เช่น เครื่องดื่ม เป็นต้น และใกล้เข้ามาจนถึงสถานที่นี้เอง เจ้าถิ่นหรือเจ้าของสถานที่ ก็คือวัดพระพิเรนทร์ ซึ่งมีท่าน พระครูกิตติญาณประยุต เป็นเจ้าอาวาสพร้อมทั้ง พระมหาอุทัย อุทโย เป็นรองเจ้าอาวาส กับทั้งผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดเป็นจํานวนมาก ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลตระเตรียมงานนี้ ด้วยการสละเวลาและสละแรงงานอย่างเต็มกําลังยอมเหน็ดเหนื่อยถึงกับอดหลับอดนอนเป็นอันมาก เพื่อเตรียมให้งานนี้เกิดขึ้นด้วยดี พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือ จากโรงเรียนวัดพระพิเรนทร์ ของกรุงเทพมหานคร จัดนักเรียนมาช่วยบริการต่างๆ ในงานนี้ด้วย นับว่างานนี้สําเร็จลงด้วยอาศัยความสามัคคี ซึ่งสามัคคีธรรมนี้ก็เป็นคุณธรรมอันสําคัญอย่างหนึ่งตามหลักคําสอนในทางพระศาสนา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะทำให้เกิดความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งก็คือ ถ้าหากว่ากิจกรรมครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบเข้า อันนําไปสู่ความสุข ความเจริญ หรือประโยชน์สุขของสังคมนี้ได้ อันนั้นก็จะเป็นข้อที่ควรอนุโมทนายิ่งขึ้น แต่จําเพาะหน้าในบัดนี้ อาตมภาพขอถือโอกาสอนุโมทนาต่อทุกท่านที่ได้กล่าวนามมา ทั้งฝ่ายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดพระพิเรนทร์ ญาติโยม ท่านสาธุชนทั้งหลาย ขออ้างอิงคุณพระรัตนตรัย อํานวยพรให้ทุกท่านจงได้ประสบจตุรพิธพรชัย มีความเจริญก้าวหน้าในการประกอบกิจอาชีพการงานให้บรรลุผลสําเร็จด้วยดี และจงเจริญรุ่งเรืองงอกงามในพระธรรมคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขทั้งส่วนตัวและส่วนรวน โดยทั่วกัน ทุกท่านเทอญ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง