การพัฒนาจริยธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ใช้กิเลสแก้ไข ถึงจะได้ผล ก็ไม่ปลอดภัย

อาตมาเพียงยกตัวอย่างให้ดูว่า ลักษณะนิสัยคนไทยเรานี้ เด่นในเรื่องมานะมาก และเราได้ใช้คำว่ามานะ จนกระทั่งมันกลายเป็นคำที่มีความหมายดีไป เดี๋ยวนี้มานะเป็นศัพท์ที่ดีในเมืองไทย แต่เป็นกิเลสในพุทธศาสนา เป็นสังโยชน์อย่างหนึ่ง

สังโยชน์ คือกิเลสที่ผูกมัดคนไว้กับทุกข์ ไว้กับปัญหา ไว้กับวัฏฏสงสาร สังโยชน์มีหลายอย่าง พระอริยบุคคลจะต้องละไปตามลำดับ มานะนี้ก็เป็นสังโยชน์อย่างหนึ่ง แต่เป็นสังโยชน์ระดับสูง ซึ่งมีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ละได้ พระอริยบุคคลอื่นๆ ยังละมานะได้ไม่หมด

มานะนี้จะต้องยอมรับว่าเป็นกิเลสที่ลึกซึ้ง มีหลายระดับ มีตั้งแต่หยาบ รุนแรง ไปจนกระทั่งละเอียดอ่อน แม้แต่ความภูมิใจในตนเองน้อยๆ ก็เป็นมานะ เช่น ในเวลาที่เราทำความดีหรือทำอะไรเสร็จแล้วรู้สึกว่ามีความภูมิใจ แต่มานะในระดับนี้ท่านไม่ถือสานัก เพราะเมื่อมองในแง่ของการศึกษา เราต้องยอมรับด้วยว่า กิเลสนี้บางทีก็มีประโยชน์

กิเลสนั้นเป็นพวกอกุศลธรรม อกุศลธรรมหรืออกุศล แปลง่ายๆ ก็คือความชั่ว อกุศลนั้นตรงข้ามกับกุศลคือความดี แต่อกุศลกับกุศลธรรมนี่มันอิงอาศัยกัน เป็นปัจจัยแก่กันได้

สังคมไทยเรา จะว่าไปก็มีความฉลาดในแง่หนึ่ง คือรู้จักเอาอกุศลธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ สนับสนุนกุศลธรรม คือเอาอกุศลมาเป็นปัจจัยแก่กุศล

ตามหลักธรรมนั้น กุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทีนี้กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ ถ้าเราใช้ถูกก็เอาอกุศลมาเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น ถ้าใช้ไม่เป็น ก็ผิด เกิดโทษ ทั้งนี้เราจะต้องยอมรับหลักทั่วไปว่า

๑. ถ้าใช้เป็น ใช้ถูกต้อง ก็มีประโยชน์ แต่

๒. พร้อมกันนั้น แม้จะใช้เป็นใช้ถูก แต่มันจะมีผลข้างเคียงในทางร้ายขึ้นมาด้วย ไม่บริสุทธิ์

การใช้กิเลสแม้แต่ในทางที่ดี ก็ต้องระวัง อย่างมานะนี้จะใช้ในทางที่ดีก็ได้ เช่นใช้เป็นเครื่องสนับสนุนให้มีระเบียบวินัย โดยจับเอาไปสัมพันธ์กับธรรมข้ออื่น ที่จะช่วยให้เกิดผลอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมก็ตาม เช่นสร้างโดยเร้าให้เกิดความรู้สึกในแง่ว่า ถ้าเราพากันรักษาระเบียบวินัยได้ แสดงว่าพวกเราเก่ง พอทำอย่างนี้ปั๊บมันเปลี่ยนทันทีเลย มานะนี้ กลับกลายเป็นแรงจูงใจให้มีระเบียบวินัยไปแล้ว

การใช้มานะมาเป็นแรงกระตุ้นในการสร้างวินัยนี้ ก็เหมือนในบางประเทศที่เขาคอยกระตุ้นเร้ากันให้มีความรู้สึกว่า ประเทศชาติของเรานี้จะต้องเป็นประเทศที่เก่งที่สุด เป็นประเทศอันดับหนึ่ง ยิ่งใหญ่ที่สุด เพื่อความยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ คนของเราจะต้องเป็นอย่างนี้ ทุกคนจะต้องทำได้ทุกอย่าง เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนั้น

ความคิดที่ว่าประเทศของเราแน่มาก นี่ก็เป็นมานะเหมือนกัน แต่เป็นการใช้มานะอีกรูปแบบหนึ่ง คือเอามานะมาใช้สนองความเชื่อที่ว่า ถ้าเรารักษาระเบียบวินัยได้ แสดงว่าประเทศของเรานี่เก่งมาก มานะกลับเป็นตัวแรงผลักแรงกระตุ้น ให้คนรักษาระเบียบวินัย

เราจะเห็นว่า แม้แต่ในกลุ่มชนหรือหมู่คณะย่อยๆ บางทีเขาสามารถรักษาระเบียบวินัย หรือข้อปฏิบัติบางอย่างได้เคร่งครัด เพื่อให้สนองความรู้สึกภูมิใจในตัวเองว่า “ฉันแน่” เพื่อให้คนรู้เห็นว่าฉันนี้เก่ง หรือว่าหมู่คณะของเรานี้เก่ง หมู่คณะของเรานี้เป็นหมู่คณะที่เคร่งครัดที่สุด ทำอะไรได้ดีที่สุด

ที่ว่ามานี้ก็เป็นแง่คิดอย่างหนึ่ง ว่าที่จริงเป็นหลักอย่างหนึ่งทีเดียว คือหลักปัจจัยสัมพันธ์ว่า ธรรมข้อเดียวกัน (จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม) อาจทำให้เกิดผลต่างกันไปได้หลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะใช้อย่างไร คือแล้วแต่ว่าจะเอาไปสัมพันธ์เป็นปัจจัยกัน หรือร่วมกันกับธรรมอื่นข้อใด

ระบบปัจจัยสัมพันธ์แง่หนึ่ง ก็คือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า บูรณาการ เป็นระบบที่สำคัญและถ้าใช้เป็นก็มีประโยชน์มาก ดังนั้น จึงควรเรียนรู้และระลึกถึงระบบปัจจัยสัมพันธ์นี้ไว้ให้ดี อย่างในกรณีนี้ เอามานะไปร่วมสัมพันธ์กับความเชื่อในเสรีภาพส่วนบุคคลแบบหนึ่ง ออกผลมาเป็นความขาดระเบียบวินัยอย่างหนัก แต่เอามานะไปเป็นปัจจัยสัมพันธ์กับความเชื่อในชาตินิยมแบบหนึ่ง ออกผลมาเป็นความมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ดังนี้เป็นต้น

เป็นอันว่า มานะตัวเดียวกันใช้เป็นเรื่องเก่งเฉพาะตัวว่า เราแน่มากที่ทำได้อย่างนั้นตามใจเรา ทำได้ตามใจคือเก่งมาก หรือทำได้ตามใจคือไทยแท้ อันนี้ก็ไปสนองความต้องการเก่งเฉพาะตัว แล้วก็กลายเป็นว่า ถ้าไม่เป็นไปตามระเบียบวินัยได้ คือเก่ง แต่อีกพวกหนึ่งเอามานะไปใช้ในแง่ว่า ทำได้ตามระเบียบวินัยคือเราแน่ เรานี่เก่ง ก็กลับตรงข้ามกัน รวมความก็คือเป็นการเอากิเลสมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ หรือในทางที่เป็นโทษ แต่ก็เป็นเพียงการพูดว่าใช้ได้ เป็นประโยชน์ ซึ่งในทางที่ถูกต้องดีงามแท้จริงแล้วไม่ควรใช้

อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว การใช้อกุศลเป็นตัวเร้าให้ทำความดีนั้น ถึงจะใช้ได้ผล แต่ก็จะมีผลข้างเคียงที่เป็นโทษ เช่นใช้มานะกระตุ้นให้เพียรพยายามทำดี จะใช้ได้ผลมาก เพราะกิเลสมักจะทำให้การกระทำมีกำลังแรงมาก (ถ้าไม่ถึงกับรุนแรง) แต่ก็จะเกิดผลเสียพ่วงมา เช่นทำให้ลำพอง ทำให้ยกตนข่มผู้อื่น หรือทำให้คิดถึงแต่ความสำเร็จของตัว โดยไม่คำนึงว่าจะเกิดความเสียหายหรือทุกข์ร้อนแก่ใคร เป็นต้น

พูดง่ายๆ ว่าเป็นความสำเร็จจากแรงกิเลส ไม่ใช่เกิดจากเหตุผลที่เห็นด้วยปัญญา

ในหลายกรณี การทำดีด้วยแรงกิเลสอย่างนี้ แม้ว่าตัวการกระทำ หรือสิ่งที่กระทำนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีแต่ผู้ที่ทำความดีอย่างนั้น กลับได้ชื่อว่าเป็นคนชั่ว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกคนที่ทำความดีด้วยความรู้สึกยกตนข่มผู้อื่น ว่าเป็นอสัตบุรุษ

การใช้อกุศลธรรม เป็นแรงกระตุ้นกุศลธรรมนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ดีจริง เราจึงควรจะพูดกันต่อไปว่า ในวิธีการที่ถูกต้องที่บริสุทธิ์นั้น ควรใช้อะไรเป็นแรงกระตุ้น ซึ่งเป็นปัญหาข้อต่อไป ตอนนี้ก็พูดพอเป็นตัวอย่าง

สรุปประเด็นอีกครั้งหนึ่งว่า ในแง่หนึ่งของการแก้ปัญหานั้น ต้องสืบสาวหาสาเหตุให้ได้ บางที ถ้าแก้สาเหตุของปัญหาได้ตัวเดียว ก็แก้ปัญหาได้ตั้งหลายอย่าง และถ้าไม่แก้ที่สาเหตุอันนี้อันเดียว จะไปแก้อย่างไร ก็ไม่สำเร็จ จะไปส่งเสริมอย่างไร ก็ไม่สำเร็จ ไปไม่รอด

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง