การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปัญญาเดียวกัน แต่ต่างแหล่งเกิด

ต่อไปนี้จะขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านวิทยากรบางท่านได้นำมาพูดกระตุ้นเตือนสติปัญญาไว้ แต่อยากจะเริ่มด้วยคำถามของอาจารย์จิตรกร ตั้งเกษมสุข คงยังตอบไม่ถึงกับชัดเจน เพราะเป็นเรื่องยาว แต่จะให้คำตอบพออ้างอิงโยงไปหาหลักในพระพุทธศาสนา ท่านถามว่า ปัญญามีแหล่งเกิด ๓ แหล่ง และเราก็เรียกชื่อตามแหล่งเกิดนั้นว่า

๑. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟังหรือจากการเล่าเรียนอ่านมา
๒. จินตมยปัญญา แปลว่า ปัญญาเกิดจากการคิด
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากภาวนา คือ การลงมือปฏิบัติ

สามอย่างนี้มีสถานะเท่ากัน หรือว่าสองอย่างแรกเป็นตัวประกอบ ตัวแท้คือข้อที่ ๓ ได้แก่ ภาวนามยปัญญา เรื่องนี้จะตอบตามคัมภีร์ก่อนเพราะง่ายดี

ตามคัมภีร์พระไตรปิฎก โดยเฉพาะในพระอภิธรรมท่านแสดงปัญญา ๓ ประการนี้ พร้อมทั้งให้ความหมายไว้เสร็จ ถ้าดูตามคำอธิบายของท่านจะเห็นว่า ปัญญาทั้ง ๓ อย่าง มีสถานะเท่ากัน เพราะมันก็คือปัญญา เป็นแต่เพียงบอกแหล่งเกิดที่ต่างกันว่าเกิดจากแหล่งไหน ปัญญาเกิดจากการสดับก็เรียกว่า สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดก็เรียกว่า จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการลงมือปฏิบัติ ลงมือทำ ก็เรียกว่า ภาวนามยปัญญา เท่านั้นเอง แต่ตัวปัญญานั้นเหมือนกัน หมายความว่าต่างกันโดยแหล่ง

จุดสำคัญที่จะต้องสังเกตก็คือ มันมีตัวเชื่อม คือ "มย" ที่แปลว่า "เกิดจาก" ปัญญาเป็นจุดหมายแล้วตัวเชื่อมก็บอกว่าเกิดจากไหน คือบอกให้รู้ถึงแหล่ง ซึ่งมี ๓ อย่าง คือ

๑. สิ่งที่ได้เล่าเรียน สดับ อ่าน หรือรับถ่ายทอดมา
๒. การคิด
๓. การลงมือปฏิบัติ หรือลงมือทำ

จุดสำคัญอยู่ที่ว่า อะไรเป็นตัวเชื่อมทำให้แหล่งปัญญานั้นกลายเป็นปัญญาขึ้นมาได้ อันนี้สิสำคัญ ในที่นี้ขอตอบตามคัมภีร์ที่ว่า ปัญญาทั้ง ๓ ข้อนั้นมีค่าเท่ากัน แต่ตัวสำคัญที่เชื่อมโยงให้เกิดปัญญา คือ กระบวนการในระหว่าง ฉะนั้นคงจะไม่ต้องมาเถียงกันในแง่ว่าอันไหนเป็นปัญญาตัวจริง

ในที่นี้ท่านไม่ได้บอกถึงตัวกระบวนการ หรือตัวปฏิบัติการที่จะให้เกิดปัญญา ท่านเพียงแต่บอกแหล่งเกิดของมันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่เราจะต้องใส่ใจ ก็คือ กระบวนการที่จะทำให้สุตะ จินตะ และภาวนานั้นเกิดเป็นปัญญาขึ้นมา ซึ่งเป็นข้อพิจารณาอีกเรื่องหนึ่งที่เลยจากคำถามนี้ไป จึงขอหยุดไว้แค่นี้ก่อน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง