จะสุขแท้ต้องเป็นไท : ต้องสุขเองได้ จึงจะช่วยโลกให้เป็นสุข

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จะสุขแท้ ต้องเป็นไท
ต้องสุขเองได้ จึงจะช่วยโลกให้เป็นสุข1

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ชราธมฺโมมฺหิ ชรํ อนตีโตติ อภิณฺหํ ปจฺจเวกฺขิตพฺพนฺติ.

ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา อนุโมทนาการที่คณะท่านเจ้าภาพมาบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่โยมกิมวา แซ่อุ่ย ในวาระอันสำคัญ คือการที่จะประกอบพิธีฌาปนกิจศพ ซึ่งกำหนดในวันพรุ่งนี้ อาทิตย์ที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ อีกทั้งเป็นวาระที่จะครบ ๑๐๐ วัน แต่ตามธรรมเนียมจีน หักออกตามจำนวนบุตร ธิดา ๕ ท่าน จึงเป็นเวลา ๙๕ วัน

จะเป็นวาระครบ ๑๐๐ วันก็ดี วาระฌาปนกิจก็ดี ก็ถือว่าเป็นวาระสำคัญทั้งสองอย่าง และในคราวนี้ได้จัดพิธีทั้งสองอย่างบรรจบรวมในคราวเดียวกัน จึงถือว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลครั้งสำคัญ คณะเจ้าภาพประกอบด้วยสามี พร้อมทั้งบุตรธิดา และญาติมิตร ซึ่งได้บำเพ็ญกุศล ตามลำดับมา นับตั้งแต่วาระที่โยมกิมวา แซ่อุ่ย ถึงแก่กรรม ก็มาประชุมพร้อมกันบำเพ็ญกุศลคราวนี้เป็นครั้งพิเศษ

การที่คณะเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลจัดพิธีกรรมทั้งหมดนี้ ก็ด้วยรำลึกถึงคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับ ส่วนท่านที่มาร่วมหรือเป็นแขกในการบำเพ็ญกุศล ก็มาด้วยรำลึกถึงคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับไปแล้วบ้าง ระลึกถึงความดีของท่านที่เป็นเจ้าภาพบ้าง หรือทั้งสองอย่างประกอบกัน

สำหรับทางด้านเจ้าภาพซึ่งประกอบด้วย โยมก๊กกี้ แซ่อุ่ย ผู้เป็นสามี เป็นประธาน ก็มารำลึกถึงความดีของท่านผู้ล่วงลับในฐานะที่เป็นบุคคลสำคัญในครอบครัว

โยมกิมวา แซ่อุ่ย มีคุณความดีที่ได้บำเพ็ญไว้ โดยเฉพาะแก่สามี และบุตรธิดาอย่างไร อันนั้นเป็นข้อที่ บุคคลในครอบครัวเองย่อมจะมีความรู้ตระหนักแก่ใจดี อาตมภาพนี้ แม้จะมิได้มีโอกาสคุ้นเคยกับโยมกิมวา แต่ก็ได้สดับรับทราบจากการอ่านบ้าง ก็เห็นว่าชีวิตของโยมกิมวานั้น ได้ประสบกับโลกธรรมทั้งหลาย เช่นเดียวกับคนทั่วไปในโลกมนุษย์นี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ที่ต้องมีการขึ้นๆ ลงๆ เช่นมีสุขมีทุกข์ เป็นต้น แต่โยมกิมวาก็ได้พยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะภรรยาที่ดี เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร ประหยัด อดออม จึงสามารถเลี้ยงดูบุตรธิดา และพยุงฐานะของครอบครัวให้ดำเนินสืบมาได้จนปัจจุบัน

พ่อแม่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๓ สถาน

โดยเฉพาะสำหรับบุตรธิดานั้น ท่านเป็นผู้ให้กำเนิด เมื่อให้กำเนิดแล้วก็ได้เลี้ยงดูมา เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ ให้ความอบอุ่นในยามที่บุตรธิดาต้องการความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย และช่วยส่งเสริมให้กำลังใจในคราวที่จะสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า และให้มีความเพียรพยายามในการที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงามสืบต่อไป โดยสรุปก็คือท่านได้ทำหน้าที่เป็นพรหมของบุตร เป็นบูรพาจารย์ของบุตรและเป็นอาหุไนยบุคคล หรือพระอรหันต์ของบุตร ซึ่งเป็นไปตามคติของพระพุทธศาสนา ที่ยกย่องมารดาบิดาว่าเป็นผู้มีพระคุณอย่างยิ่งต่อบุตรธิดา

มารดาบิดาเป็น พรหม ในฐานะที่เป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร คือ ทำให้ลูกเกิดมาเห็นโลกนี้ อย่างที่พูดว่าได้มาเห็นเดือนเห็นตะวัน แล้วก็เลี้ยงดู ให้ลูกเติบโตมา โดยมีคุณธรรมคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่เรียกว่า พรหมวิหาร ๔ ประการ

มารดาบิดาเป็น บูรพาจารย์ ในฐานะที่เป็นครูต้น หรือครูคนแรก เป็นผู้ให้การศึกษาขั้นเบื้องต้นของชีวิต คือสอนให้รู้จักดำเนินชีวิตในเบื้องต้น ตั้งแต่การกินอยู่ หลับนอน การขับถ่าย การยืนเดินนั่งนอน สิ่งเหล่านี้คนทั่วไปทุกคนได้เล่าเรียนจากครูคนแรกคือบิดามารดา ถ้าไม่มีครูต้นนี้แล้วก็ไม่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ แม้แต่ในปีแรกแล้วก็ไม่รู้จักที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปด้วย ครูคนแรกนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อครูคนแรกนี้สอนความรู้เบื้องต้นในการดำเนินชีวิตแล้ว จึงส่งต่อลูกให้แก่ครูคนต่อๆ มา ดังที่เรามีการจัดตั้งเป็นโรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม จนกระทั่งถึงมหาวิทยาลัย แต่คนทั่วไปมักจะมองข้ามความสำคัญของครูอาจารย์คนแรก แท้จริงนั้นความรู้ในการดำเนินชีวิตที่เป็นพื้นฐานนั่นแหละ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากสอนความรู้ที่เป็นรูปธรรมแล้ว พ่อแม่ก็ยังถ่ายทอดสิ่งที่เป็นนามธรรมอีกมากมาย เช่น คุณธรรม ความรู้สึก อารมณ์ ความนึกคิด ลักษณะนิสัยใจคอ เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตของบุคคลผู้นั้น

เพราะฉะนั้น ครูคนแรกหรือครูต้นที่ท่านเรียกในทางพุทธศาสนาว่าบูรพาจารย์นี้ จึงมีความสำคัญอย่างยวดยิ่ง และท่านผู้นั้นก็คือ บิดามารดานี่เอง

นอกจากนั้นมารดาบิดาก็ได้ชื่อว่า เป็นพระอรหันต์ของบุตร ตามที่ท่านใช้ศัพท์ว่าอาหุไนยบุคคล

อาหุไนยบุคคลเป็นศัพท์ที่ท่านใช้เรียกพระอรหันต์ พ่อแม่เป็นผู้มีใจบริสุทธิ์ต่อลูก เป็นผู้มีจิตใจที่รู้สึกต่อลูก เหมือนกับเป็นผู้ปราศจากกิเลส ท่านมีความรักที่บริสุทธิ์ เป็นความรักที่นำไปสู่การให้ ไม่ใช่ความรักที่จะเอา ทำให้ให้ได้โดยไม่ต้องหวังผลตอบแทน พ่อแม่มีเมตตากรุณาที่แท้จริง ไม่ได้หวังผลประโยชน์จากบุตรธิดา ดังนี้เป็นต้น ความมีใจบริสุทธิ์กับทั้งพร้อมที่จะให้และอภัยแก่ลูกนี้ เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ท่านยกย่องพ่อแม่ให้เป็นพระอรหันต์ของลูก

เนื่องจากคุณธรรมและการทำหน้าที่ในฐานะเป็นพระพรหม เป็นบูรพาจารย์ และเป็นพระอรหันต์ของลูกนี้ จึงทำให้ครอบครัวมาระลึกถึงคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับโดยประการต่างๆ แล้วจัดพิธีบำเพ็ญกุศลตามลำดับมา

ลูกมีหน้าที่สำคัญคือดำรงวงศ์สกุล

สำหรับท่านผู้เป็นเจ้าภาพนั้น นอกจากโยมก๊กกี่ผู้เป็นสามีแล้ว ก็คือบุตรธิดา โยมกิมวามีบุตรธิดา ๕ ท่านด้วยกัน บัดนี้ถึงแก่กรรมไป ๑ คนแล้ว คือ คุณถาวร วงศ์วรวิสิทธิ์ จึงยังเหลือกันอยู่เพียง ๔ คนพี่น้อง

สำหรับ ๓ ท่านแรก คือ คุณเพ็ญพรรณ คุณรัชนี และคุณดำรงนั้น ก็เป็นผู้ครองเรือนอยู่ในโลก กล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่สืบทอดวงศ์ตระกูลในฝ่ายของครอบครัว

ส่วนบุตรคนที่สี่ ได้มาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา คือโยมบิดามารดาได้อนุญาตให้มาบวชเป็นพระภิกษุ เท่ากับว่าได้มาสืบทอดวงศ์ตระกูลของพระพุทธศาสนา หรือศาสนวงศ์ เรียกกันว่าเป็นลูกพระพุทธเจ้า ตรงกับศัพท์ทางพระว่าพุทธชิโนรส หรือสมณศากยบุตร การที่โยมบิดามารดาอนุญาตให้บวชก็คือมอบให้แล้ว อนุญาตให้แล้ว ให้มาสืบทอดศาสนวงศ์หรือวงศ์ตระกูลของพระพุทธเจ้า

คนทั่วไปนั้นมีหน้าที่ในการที่จะสืบทอดวงศ์ตระกูลของตนๆ โดยถือว่าเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบิดา มารดาประการหนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนาเองก็กำหนดไว้เป็นหน้าที่ของบุตรธิดา หนึ่งในห้าอย่างในทิศหกว่า บุตรธิดาตอบแทนพระคุณของบิดามารดา หรือบูชาความดีของบิดามารดาด้วยการสืบรักษาวงศ์ตระกูล และประพฤติตนให้สมควรแก่ความเป็นทายาท ประชาชน หรือคนชาวบ้านทั่วไปมีหน้าที่ดังที่กล่าวมานี้ เราจึงต้องพยายามที่จะทำหน้าที่รักษาวงศ์ตระกูล และประพฤติปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่วงศ์ตระกูลและครอบครัว การปฏิบัติอย่างนี้เป็นหลักสำคัญของการดำเนินชีวิตประการหนึ่ง

แต่สำหรับผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนา มารักษาวงศ์สกุลของพระศาสนา สืบทอดตระกูลวงศ์ของพระพุทธเจ้านั้น ท่านให้มีหน้าที่ที่กว้างออกไป คือทำกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนชาวโลกทั้งหมด การที่พระไพศาล วิสาโล ได้อุปสมบทในพระศาสนาก็ได้มาทำหน้าที่นี้ คือมาเป็น พุทธชิโนรส เป็นลูกของพระพุทธเจ้า ทำหน้าที่สืบต่อวงศ์ตระกูลของพระพุทธเจ้า ดังที่ท่านได้เพียรปฏิบัติกิจหน้าที่ บำเพ็ญสมณธรรม และพยายามนำพาคนทั้งหลาย คือ ประชาชนให้ปฏิบัติธรรมด้วย หมายความว่า ตนเองก็ประพฤติปฏิบัติธรรม ด้วยการเล่าเรียน และบำเพ็ญกิจที่เรียกว่าการศึกษาหรือสิกขา ๓ ประการ แล้วก็ชักนำประชาชนคนทั่วไป โดยเฉพาะคฤหัสถ์ญาติโยมให้เข้ามาสู่ธรรมด้วย ทั้งโดยการจัดกิจกรรมในทางพระศาสนาและด้วยการทำงานอันถนัดอย่างหนึ่งที่พระไพศาล วิสาโล ได้บำเพ็ญอยู่ คือการเขียนหนังสือ

หนังสือที่พระไพศาล วิสาโล เขียนนั้น นอกจากให้ความรู้ในวิชาการสมัยใหม่แล้ว ก็ยังได้ถ่ายทอดธรรมแก่คนที่อ่านด้วย เป็นการถ่ายทอดในแบบที่จะให้เข้าถึงคนสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ การทำงานด้านนี้นับว่าเป็นสิ่งที่พึงประสงค์หรือต้องการมากในยุคปัจจุบัน เพราะปัญหาที่เรารู้สึกกันขึ้นมาเป็นบางครั้งก็คือการที่คนสมัยปัจจุบันนี้ห่างเหินจากพระศาสนา หรือไม่ค่อยสนใจในเรื่องพระศาสนา แต่เหตุที่ทำให้คนเหินห่างไม่เข้าใจ และไม่สนใจนั้นก็เนื่องจากวิธีการเผยแผ่ด้วยอย่างหนึ่ง

การที่จะแก้ไขให้คนสมัยปัจจุบันหันมาสนใจธรรมได้นั้น ก็ต้องปรับปรุงวิธีการสอน หรือวิธีการสื่อในการสอนธรรม โดยเฉพาะก็คือ การใช้ภาษา ตลอดจนความรู้ที่เข้าใจร่วมกันมาเป็นสื่อถ่ายทอด ที่จะทำให้คนสมัยปัจจุบันนี้เข้าใจธรรมได้ ซึ่งพระไพศาล วิสาโล ก็เป็นผู้มีส่วนสำคัญรูปหนึ่งในการช่วยทำกิจพระศาสนาอันนี้ จึงเป็นที่น่าอนุโมทนา ญาติมิตรหลายท่านมาในที่นี้ก็ด้วยรำลึกถึงความดีของลูกของโยมผู้ล่วงลับ เมื่อระลึกถึงลูกก็ไปถึงโยมแม่ด้วย ระลึกถึงโยมแม่ก็มาถึงลูกด้วย

ตกลงว่า การที่ลูกฝ่ายที่อยู่ในเพศครองเรือนเป็นคฤหัสถ์ก็ดี ลูกที่ออกมาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นพระภิกษุก็ดี ได้มาร่วมกันบำเพ็ญกุศลทั้งหมดนี้ ก็โดยรำลึกถึงคุณความดีของโยมกิมวา ในฐานะแม่หรือมารดาผู้ล่วงลับไปแล้ว

จะนึกถึงคนตาย หรือนึกถึงความตาย
ก็ต้องทำใจให้ถูก

การที่เรามาระลึกถึงท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือเรียกง่ายๆ ว่าระลึกถึงคนตายนี้ ก็น้อมจิตให้ระลึกต่อไปถึงความตายด้วย สองสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เนื่องถึงกัน

สำหรับการระลึกถึงคนตายนั้น ถ้าจะปฏิบัติให้ถูกต้องก็คือระลึกถึงความดีของท่านที่จะทำให้เราโน้มนำเอาความดีนั้นมาเตือนใจ โดยเฉพาะสำหรับบุตรธิดาก็คือ การระลึกถึงความดีที่พ่อแม่ได้บำเพ็ญก็ตาม หรือความดีงามที่ท่านสั่งสอน หรือแม้แต่สั่งเสียไว้ก็ตาม เมื่อมีโอกาสก็พยายามรำลึกถึงและนำมาปฏิบัติตาม การทำอย่างนี้ถือว่าเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งในการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา และเป็นประโยชน์ในการระลึกถึงคนตาย

ในการระลึกถึงคนตายนั้น ถ้าระลึกไม่ถูกต้องก็ทำให้เกิดแต่เพียงความเศร้าโศกเสียใจ แต่ถ้าระลึกถูกต้อง พอระลึกถึงแล้วก็โยงต่อไปหาธรรมด้วย คือระลึกแล้วจิตไม่ตัน ถ้าระลึกถึงคนตายแล้วมัวแต่ระลึกถึงตัวท่าน แล้วเกิดความเศร้าโศกเสียใจ จิตก็ตันไม่มีทางออก แต่พอโยงไปหาธรรม ก็ระลึกถึงความดีของท่าน ระลึกถึงคุณของท่าน นึกถึงสิ่งที่ท่านได้ทำไว้ และสิ่งที่ท่านได้สั่งสอนไว้ จิตก็มีทางออก เห็นทางที่จะไป และเกิดผลเป็นประโยชน์ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการระลึกถึงคนตาย แต่ดังที่กล่าวแล้วอีกสิ่งหนึ่งก็คือ การะลึกถึงคนตายนั้นจะโยงไปหาการระลึกถึงความตายต่อไป

การระลึกถึงความตายก็เป็นสิ่งสำคัญ ความตายนั้นเป็นความจริงของชีวิต ท่านเรียกว่าเป็นคติธรรมดา คือคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ชีวิตมีการเริ่มต้นก็ต้องมีที่สิ้นสุด การเริ่มต้นของชีวิตเราเรียกว่าการเกิด การสิ้นสุดของชีวิตเราเรียกว่าความตาย เกิดกับตายนี้เป็นของคู่กันและต้องตามกันมาแน่นอน เมื่อระลึกถึงความตายก็คือระลึกถึงความจริงของชีวิต ซึ่งจะทำให้เราเกิดความรู้เท่าทัน แต่ก็เช่นเดียวกันต้องระลึกให้ถูกต้อง ถ้าระลึกไม่เป็น เรียกว่าทำในใจไม่แยบคาย ก็จะทำให้เกิดโทษได้

คนที่ระลึกถึงความตายโดยทำใจไม่แยบคาย เรียกว่าระลึกไม่เป็น จะทำให้เกิดโทษสองประการ

ประการที่หนึ่งคือ นึกถึงแล้วเกิดความประหวั่นพรั่นกลัว ความประหวั่นพรั่นกลัวเป็นสิ่งบีบคั้นจิตใจ ทำให้จิตใจเศร้าหมองมีความทุกข์ เป็นการระลึกที่ไม่ถูกต้อง

ประการที่สอง ระลึกแล้วทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ โดยเฉพาะการระลึกถึงความตายของบุคคลผู้เป็นที่รัก เมื่อทำให้จิตใจไม่สบายก็เป็นความทุกข์ เป็นการระลึกที่ไม่ถูกต้องอีกเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้บางคราวยังเกิดผลประการที่สาม คือ บางคนไปนึกถึงความตายของคนที่เกลียดชังเป็นศัตรูกัน ก็ทำให้เกิดความดีใจ ความดีใจในกรณีนี้เป็นความดีใจในทางร้าย เป็นอกุศล ก็ไม่ดีอีก รวมแล้วก็เป็นการทำในใจไม่แยบคายทั้งสิ้น

ในทางตรงข้าม ถ้าระลึกถึงอย่างถูกต้องก็เป็นคุณเป็นประโยชน์ ประโยชน์ประการที่หนึ่งในระดับทั่วไปก็คือ ทำให้เกิดความไม่ประมาท เพราะความตายนี้เป็นความจริงของชีวิตที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่พร้อมกันนั้นก็เป็นการไม่แน่นอนว่าความตายที่จะเกิดขึ้นแน่นอนนี้จะเกิดขึ้น ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร เราไม่อาจคาดคะเนได้

ในเมื่อสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ว่าชีวิตของเราเองก็ตาม สิ่งที่เราเกี่ยวข้องก็ตาม ล้วนไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นอนิจจัง ไม่คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป จึงจะนอนใจอยู่ไม่ได้ เวลาที่ผ่านไปนั้นมันผ่านไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงด้วย และความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ไม่แน่นอนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราจึงจะต้องเร่งรีบทำกิจหน้าที่และทำความดี สิ่งที่ควรทำก็รีบทำ สิ่งที่ควรละเว้นก็รีบละเว้น สิ่งที่ควรป้องกันกำจัดแก้ไขก็รีบป้องกันกำจัดแก้ไขเสีย อันนี้เรียกว่าความไม่ประมาท การระลึกถึงความตายในทางที่ถูกต้องจะทำให้เกิดผลคือความไม่ประมาท และในการที่จะเพียรพยายามทำความดี ทำกิจหน้าที่ และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไป

ประการที่สอง การระลึกถึงความตายในฐานะที่เป็นความจริงของชีวิตนั้น ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ความรู้เท่าทันความจริงของชีวิตนี้ก็ทำให้เกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาก็ทำให้รู้จักปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ปฏิบัติต่อชีวิตของตนได้ถูกต้องเป็นต้นไป

คนเรานี้เมื่อไม่รู้จักชีวิตของตนเองก็ปฏิบัติต่อชีวิตผิด พอปฏิบัติต่อชีวิตผิดก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายรอบๆ ตัวผิดด้วย เพราะเราเข้าใจสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ไม่เข้าใจความจริงของชีวิต ก็จึงเที่ยวไปยึดถือผิดๆ หรือยึดถือในทางที่เป็นไปไม่ได้ต่อสิ่งต่างๆ แล้วก็ทำการไปตามอำนาจ ความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างน้อยพอเรารู้เท่าทันความจริงของชีวิตว่า ชีวิตของเราก็เท่านี้แหละ คือมีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความตายในที่สุด ในที่สุดก็ต้องจากโลกนี้ไป จะโลภโมห์โทสันไปทำไม มีแต่จะก่อทุกข์ก่อการเบียดเบียนกันไปเท่านั้นเอง ทางที่ดีควรจะใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ ทำสิ่งที่ดีงาม แล้วก็ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใสด้วยความรู้เท่าทัน การระลึกถึงความตายในฐานะเป็นความจริงของชีวิตทำให้เกิดประโยชน์ประการที่สองนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางปัญญาที่สำคัญ

การรู้ได้คิดได้อย่างนี้เป็นการปฏิบัติธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่ง ถ้ารู้จักนำมาใช้ประโยชน์ การระลึกถึงความตายก็เป็นสิ่งที่ดี พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอเป็นประจำ คนที่ระลึกถึงความตายอย่างถูกต้องจะมีจิตปลอดโปร่งเบิกบานผ่องใส และไม่มีความกลัวต่อความตาย แต่จะเกิดความรู้สึกปลุกเร้ากระตุ้นเตือนตนเองให้เอาจริงเอาจังกับการทำกิจหน้าที่ ทำความดีงามและสร้างสรรค์ประโยชน์สุขทั้งแก่ชีวิตของตนเอง และชีวิตที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นให้เป็นไปอย่างกระตือรือร้น

ไม่มีอะไรให้ประโยชน์มากกว่าความจริง

ไม่เฉพาะแต่ความตายเท่านั้น พระพุทธเจ้ายังสอนให้เราระลึกถึงความจริงของชีวิตในแง่อื่นๆ อีก ความจริงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่มีอะไรที่จะเกินความจริงไปได้ และชีวิตของเราก็ต้องอยู่กับความจริง หนีความจริงไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในการดำเนินชีวิต เราจึงควรระลึกตระหนักในความจริงอยู่เสมอ และวางใจต่อความจริงนั้นอย่างถูกต้อง แล้วความจริงนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เราจะหนีหรือจะสู้ ความจริงก็อยู่นั่น ถ้าเรากลัวความจริง ความจริงก็เป็นโทษแก่เรา แต่ถ้าเรารู้ความจริง ความจริงก็เป็นประโยชน์แก่เรา

ความจริงนั้นไม่มีรสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็มเอร็ดอร่อย เหมือนอย่างเรื่องสนุกสนานทั้งหลาย ความจริงนั้นเหมือนกับน้ำบริสุทธิ์ที่มีรสจืด แต่รสจืดของน้ำที่บริสุทธิ์นั่นแหละเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการที่สุด เราอาจจะต้องการรสอะไรหลากหลาย ทั้งรสหวาน รสมัน รสเค็ม และรสอะไรสารพัดให้สนุกสนานตื่นเต้นไป แต่ในที่สุดเราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องการรสจืดของน้ำที่บริสุทธิ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการแท้ๆ ในทางนามธรรมก็เช่นเดียวกัน ชีวิตของเรานี้ต้องการรสจืดของความจริง ความจริงเป็นรสจืดอย่างสนิท ถึงแม้ใครไม่ชอบ ก็ไม่มีใครหนีความจริงไปพ้น แต่ถ้าเรารู้เท่าทันมัน ความจริงก็จะให้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเราอย่างที่สุดเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราระลึกถึงความจริงของชีวิตเป็นธรรมดา และที่พระองค์ตรัสสอนไว้นั้นไม่ใช่เพียงให้ระลึกเท่านั้น แต่ยังให้พิจารณาด้วย ความจริงที่ว่านี้มี ๕ ประการด้วยกัน

ความจริงที่เราทุกคนควรพิจารณาอยู่เสมอ ทางพระท่านเรียกเป็นภาษาบาลีว่า อภิณหปัจจเวกขณะ มี ๕ ประการ อย่างที่อาตมภาพได้ยกขึ้นตั้งเป็นคำเริ่มต้นในพระธรรมเทศนานี้ว่า ชราธมฺโมมฺหิ ชรํ อนตีโตติ อภิณฺหํ ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ มีใจความว่า ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า

  1. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
  2. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
  3. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
  4. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
  5. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นแดนเกิด เป็นพวกพ้องของกรรม ทำกรรมไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักได้รับผลของกรรมนั้น จักเป็นทายาทของกรรมนั้น

ความจริงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าสตรีหรือบุรุษ ไม่ว่าคฤหัสถ์คือชาวบ้านหรือบรรพชิตคือพระภิกษุสามเณร ควรจะต้องพิจารณาอยู่เสมอ รวมความง่ายๆ ว่า ทุกคนควรพิจารณาอยู่เสมอว่า เราเกิดมาแล้วย่อมต้องพบกับความแก่ ความเจ็บไข้ และความตาย เป็นความจริงแน่แท้ และเราก็จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งหมดทั้งสิ้น มองอีกที หมดทั้งชีวิตของเรานี่ เป็นไปตามกฎแห่งกรรม เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม

๕ ประการนี้ เป็นความจริงที่แน่นอน ถึงเราจะไม่พิจารณาหรือไม่นึกถึงมัน ชีวิตของเราก็ต้องเป็นไปตามมัน เพราะฉะนั้นในเมื่อเราจะต้องพบต้องเจอต้องเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็เผชิญหน้ากับมัน เอามันมาพิจารณา และเอามาใช้ประโยชน์เสียเลย

ความจริงถึงจะร้าย ก็ต้องทำประโยชน์ให้ได้

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราสามารถหาประโยชน์ได้จากทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาที่สุดคือ ความตาย ความตายที่น่ากลัวที่สุดนี้พระพุทธเจ้าก็สอนให้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ตกลงว่าไม่มีอะไรที่พระพุทธศาสนาเห็นว่าใช้ประโยชน์ไม่ได้ แม้แต่สิ่งที่ไม่ดี ถ้าเราคิดเป็น รู้จักพิจารณา ก็เอามาใช้ประโยชน์ได้

ตอนนี้เราเอาความจริง ๕ ประการของชีวิตมาใช้ประโยชน์ สามข้อแรกจัดได้เป็นชุดหนึ่ง คือเรามีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา อันนี้เป็นเรื่องของสิ่งทั้งหลายที่มีความไม่เที่ยงแท้ ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ มองดูที่ตัวของเรา ชีวิตของเราก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ร่างกายของเราตลอดจนชีวิตทั้งหมดของเราเกิดจากขันธ์ ๕ มาประกอบกันเข้า เริ่มตั้งแต่ธาตุ ๔ เป็นต้นไปมาประชุมกัน เมื่อมีเหตุปัจจัยให้มันเกิดขึ้น มันก็เกิด เมื่อเหตุปัจจัยนั้นคืบเคลื่อนผันแปรไป มันก็ต้องแตกสลาย ชีวิตก็สิ้นสุดลง ในแง่นี้ชีวิตของเราเองก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายอื่น

ต่อไปชุดที่สอง ก็คือข้อที่สี่ที่ว่า เราต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น อันนี้เป็นแง่ที่ชีวิตของเราไปสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งของภายนอก หรือไปสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ข้อนี้มีความหมายที่สำคัญ อย่างน้อยเราต้องเข้าใจว่า ตัวเราเองนี้ก็ดี คนที่เรารัก สิ่งที่เราหวงแหน ตลอดจนทุกสิ่งที่เราเกี่ยวข้องในโลกนี้ก็ดี ทั้งสองฝ่ายต่างก็ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ ต่างก็มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ต่างฝ่ายต่างมีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น และมีการดับสลายไปในที่สุด มันก็ต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา อันนี้มองในแง่ที่ชีวิตของเราไปสัมพันธ์กับคนอื่นและสิ่งอื่น เป็นชุดที่สอง

ชุดที่หนึ่งมองดูตัวเอง ชุดที่สองนี่มองดูตัวเองสัมพันธ์กับผู้อื่น ว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็อยู่ใต้กฎธรรมชาติทั้งนั้น

ต่อไปชุดที่สาม ได้แก่ข้อที่ห้าบอกว่า เรามีกรรมเป็นของตน ข้อนี้บอกเลยต่อไปอีก คือบอกให้มองดูลึกลงไปในชีวิตของเรา มองยาวไกล ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ดูความเป็นไปของชีวิตนี้ที่ผ่านมาแล้ว ถึงปัจจุบัน แล้วสืบต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของกรรม พร้อมกันนั้นก็บอกให้รู้ว่า มนุษย์เรานี้มีความพิเศษที่เป็นผู้สามารถสร้างเหตุปัจจัยได้ มนุษย์ไม่ใช่เป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น ยังสร้างเหตุปัจจัยได้ด้วย นี่เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์คือการสร้างกรรม

ทีนี้มองต่อไปอีก พอเราทำอะไรลงไปคือทำกรรมแล้ว การกระทำนั้นก็คือเหตุปัจจัยที่เราสร้างขึ้น พอเราสร้างเหตุปัจจัยนั้นแล้ว เหตุปัจจัยนั้นมันก็กลับมาสร้างเรา คือ มันหมุนเวียนกลับมาทำให้ชีวิตของเราเป็นไปตามกรรม คือการกระทำที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นอีกทอดหนึ่ง ทางพระท่านจึงบอกว่าเราทำกรรมเสร็จแล้วเราก็เป็นเจ้าของกรรมของเรา เพราะเราไปทำมันขึ้น สร้างมันขึ้น มันเป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง แล้วกรรมของเรานั่นแหละก็ลิขิตชีวิตของเราให้เป็นไปต่างๆ และกรรมของหมู่มนุษย์ตั้งแต่ค่านิยมของสังคมเป็นต้นไป ก็ปรุงแต่งวิถีทางของโลกและสังคมให้เป็นไปตามกระแสของมัน

ข้อสังเกตสำคัญคือ ตอนแรกท่านบอกว่า ชีวิตของเราและทุกสิ่งที่เราเกี่ยวข้องเป็นของไม่เที่ยง ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติที่เกิดมีขึ้นมาแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลง และในที่สุดก็เสื่อมสลาย ลับหาย พลัดพรากจากกันไป แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ไม่ใช่เป็นไปอย่างเลื่อนลอย หากเป็นไปตามเหตุปัจจัย และมนุษย์นั้นมีความสามารถพิเศษที่เป็นผู้สร้างเหตุปัจจัยได้ เพราะฉะนั้น ชีวิตและสังคมจะดีจะร้าย จะเสื่อมจะเจริญก็อยู่ที่มนุษย์ทำการหรือสร้างสรรค์เอา แล้วก็เตือนในที่สุดอีกว่า สิ่งที่เราทำไปแล้วนั้น ก็เป็นเหตุปัจจัยที่สร้างสรรค์หรือทำลายชีวิตและสังคมของเราต่อไป

เพียงแค่ประโยชน์ขั้นพื้นฐาน
จะสอบผ่านไหวไหม

อันนี้เป็นหลักความจริงห้าประการที่เราควรจะได้พิจารณาเนืองๆ ถ้าพิจารณาบ่อยๆ แล้วจะเห็นความจริงมากมาย สำหรับชุดแรก ๓ ข้อที่ว่า เรามีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดานั้น เป็นของที่มองเห็นได้ง่าย อย่างที่กล่าวแล้วว่าชีวิตของเรานี้ก็เหมือนกับสิ่งทั้งหลายอื่นในแง่ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นไปตามกฎของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป คือเป็นอนิจจัง เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง การระลึกถึงความจริงข้อนี้จะได้ประโยชน์ในเบื้องต้นอย่างที่พูดไว้แล้ว คือความไม่ประมาท ซึ่งทำให้เราไม่เกิดความลืมตัวมัวเมา ไม่มัวเมาในความมีสุขภาพดีว่าเราจะแข็งแรงอยู่ตลอดไป ไม่มัวเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวว่าเราจะสนุกสนานอยู่ได้ตลอดกาล ไม่มัวเมาในชีวิตเหมือนกับจะอยู่ได้ตลอดไปไม่รู้จักตาย

คนจำนวนมากจะมีความหลงมัวเมาใน ๓ ประการนี้ ประการแรกอยู่ในวัยต้นๆ ก็มัวเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่เคยนึกถึงความจริงว่าตัวเองนี้ต่อไปก็ต้องแก่ต้องเฒ่าเหมือนกัน ก็เลยดำเนินชีวิตด้วยความหลงละเลิง ไม่รีบขวนขวายทำกิจที่ควรทำ ไม่เร่งศึกษาหาความรู้ ไม่ตั้งใจทำการงาน ไม่พัฒนาตัวเอง มัวระเริงในความเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น เวลาผ่านไป ๑๐-๒๐ ปีนี้ไม่นานเลย ความสดสวยแข็งแรงก็ร่วงโรยไป พ้นวัยหนุ่มวัยสาว แต่ตนเองไม่ได้ตระเตรียมอะไรไว้ เคยดำเนินชีวิตด้วยความประมาท หาแต่ความสนุกเพลิดเพลินปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า ก็เลยไม่ได้สร้างเนื้อสร้างตัว พอถึงวัยแก่เฒ่าก็พบปัญหามีทุกข์ ต้องเป็นอยู่ด้วยความลำบากเดือดร้อน

พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นคาถาเปรียบเทียบว่า บางคนนั้น ตอนที่ยังหนุ่มสาวทรัพย์สินก็ไม่หาไว้ ชีวิตที่ดีงามก็ไม่ได้สร้างสรรค์บำเพ็ญ พอถึงวัยชราแก่ลงก็ต้องสิ้นท่าหมือนนกกระเรียนแก่ ที่ซบเซาอยู่กับเชือกตมที่ไร้ปลาและมีแต่จะแห้งไป หรือเหมือนลูกศรที่เขายิงไป เมื่อหมดกำลังแรง หล่นลงแล้ว ก็หมดฤทธิ์ ไม่มีพิษสง ทำอะไรใครไม่ได้ นอนนิ่งเฉยอยู่บนพื้นดิน

อันนี้ก็เป็นเรื่องของชีวิต ท่านให้ระลึกความจริงนี้ไว้ เพื่อจะได้เป็นคนไม่ประมาท ถ้าเราไม่ประมาทในความเป็นหนุ่มเป็นสาว เราก็กลับใช้วัยหนุ่มวัยสาวนั้นในทางที่เป็นประโยชน์ว่า เออ เวลานี้เรามีเรี่ยวแรงกำลังวังชา เป็นเวลาที่ศึกษาเล่าเรียนทำกิจการงานได้ผลดีที่สุด ก็เอาเวลาในวัยหนุ่มวัยสาวมาเร่งรีบขยันขันแข็ง มุ่งหน้าศึกษาเล่าเรียนและทำการงาน ก็กลับได้ประโยชน์มากขึ้น ตรงข้ามกับคนที่มัวหลงละเลิงในความเป็นหนุ่มเป็นสาว เอาความสดสวยแข็งแรงไปหาความสุขความเพลิดเพลินอย่างเดียว ก็เลยเสียเวลาสูญเปล่าไป

คนบางคนก็มัวเมาในความไม่มีโรค ทะนงตนว่าเป็นคนแข็งแรง เป็นคนมีสุขภาพดี ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมการอะไรไว้ แต่ชีวิตของคนเรานี้ไม่แน่นอน บางทีเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายก็เกิดขึ้น เป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บบ้าง เป็นเรื่องของอุบัติเหตุบ้าง แม้แต่ปัญหาเล็กๆน้อยๆ เมื่อเงินทองไม่ได้เตรียมไว้ ในยามที่เกิดความคับขัน หรือในยามที่ผจญเผชิญเคราะห์ร้าย ก็เกิดความลำบาก

ฉะนั้น แม้แต่การใช้ทรัพย์พระพุทธเจ้าก็ยังตรัสไว้ เราควรจัดสรรแบ่งทรัพย์เป็น ๔ ส่วน ส่วนที่หนึ่งเอามาใช้เลี้ยงดูตนเอง เลี้ยงครอบครัวและคนที่เรารับผิดชอบให้มีความสุข และทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ อีกสองส่วนลงทุนประกอบกิจการงานแล้วส่วนที่สี่ก็เก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้น ถ้าเราระลึกถึงเรื่องความเจ็บไข้ที่เป็นธรรมดาของชีวิตแล้ว เรามีความไม่ประมาท เราก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนระลึกถึงความตาย ก็ทำให้ไม่มัวเมาที่จะเอาชีวิตนี้ไปทำสิ่งที่ชั่วร้าย

คนที่ถือว่าตัวเองมีความสามารถ มีอำนาจ มีทรัพย์มาก ก็แสวงหาความสุขใส่ตัวเอง เบียดเบียนข่มเหงคนอื่น ก่อความเดือดร้อน แต่พอระลึกถึงความตายในแง่ต่างๆ ที่ถูกต้องว่า เอ เราจะทำอย่างนั้นไปทำไม ในที่สุดก็ต้องจากโลกนี้ไป ทุกคนก็ต้องแยกพลัดพรากกันไป เราควรจะใช้ทรัพย์นี้ทำสิ่งที่ดีงาม อยู่กับเพื่อนมนุษย์ให้มีความสุขด้วยกันจะดีกว่า

เพราะฉะนั้น ผลจะเกิดขึ้นอย่างไรก็อยู่ที่ว่าจะใช้ความคิดได้ถูกต้องหรือไม่ คนที่ระลึกถึงความแก่ ความชรา ความเจ็บไข้ ความตายอย่างถูกต้อง ก็เกิดความไม่ประมาท ทำให้รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ใช้ความเป็นหนุ่มเป็นสาวให้เป็นประโยชน์ ใช้ความมีสุขภาพแข็งแรงให้เป็นประโยชน์ และใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ เป็นอันว่าการระลึกถึงความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้นเป็นประโยชน์สารพัด แต่อยู่ที่การรู้จักคิด รู้จักพิจารณา

ที่ว่าของเรานั้นไม่จริง
ความจริงเท่านั้นเป็นของเรา

รวมความแล้วทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่การรู้เท่าทันความจริง แล้วใช้ความรู้ในความจริงนั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และแก่ผู้อื่นนั่นเอง แล้วข้อนี้ก็จะโยงไปถึงชุดที่ ๒ ที่ให้รู้ความจริงว่าเราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจทั้งสิ้น

อันนี้ก็เป็นธรรมดาอย่างที่กล่าวแล้วว่า ตัวเราก็ดี คนอื่นก็ดี ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างก็อยู่ในกฎธรรมชาติ มีความเป็นอนิจจัง ต่างก็เกิดขึ้นและต่างก็สิ้นสุดไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมดา ที่จะอยู่ด้วยกันตลอดไปไม่ได้ ความพลัดพรากจากกันจะต้องมาถึงในวันหนึ่ง เมื่อเรารู้ความจริงนี้แล้ว เราก็จะไม่มีความยึดติดถือมั่นเกินไป

คนเรานี้มักสร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง คือตอนแรกก็ยึดติดหวงแหนในสิ่งทั้งหลาย และในบุคคลทั้งหลายที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ เมื่อไม่รู้เข้าใจความจริงและปฏิบัติให้ถูกต้องก็เกิดปัญหา ทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดความทุกข์แก่ตนเอง และก่อความเบียดเบียนกันกับผู้อื่น

ที่ว่าก่อทุกข์แก่ตนเองก็คือ มีความยึดติดผูกพันเกินไปจนทำให้มีความห่วงหวงแหนบีบคั้นใจตัวเอง ตลอดจนมีความทุกข์โศกเศร้าเหี่ยวแห้งใจในยามพลัดพราก ประการต่อไปก็ก่อความทุกข์ความเดือดร้อนแก่กันและกันในโลก เพราะเมื่อยึดติดหวงแหนก็ทำให้เห็นแก่ตน และเห็นแก่คนเฉพาะที่ตัวเองมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใกล้ชิด จนกระทั่งเกิดความลำเอียง แล้วก็ทำให้เกิดการเบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเพื่อเห็นแก่ตัวและกลุ่มพวกของตน อันนี้ก็เป็นต้นตอของปัญหาที่สำคัญในโลกมนุษย์

ไม่ใช่เพียงความยึดติดถือมั่นผูกพันเอนเอียงเท่านั้น มันยังพ่วงเอาความเข้าใจผิดมาด้วย ๒ ประการ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่สำคัญ คือ

ประการที่ ๑ คนเรานี้ทึกทักเข้าใจเอาเองว่า เรามีสิ่งต่างๆ เป็นเจ้าของสิ่งที่เรายึดถือครอบครองไว้ อันนั้นเป็นสมบัติของเรา เป็นของของเรา เรายึดถือคล้ายๆ กับว่ามันเป็นของของเราจริงจัง เมื่อมีความเข้าใจผิดยึดถือเป็นของเราจริงจังแล้วก็นึกว่าเราจะมีความสุขจากสิ่งเหล่านี้ มันจะให้ความสุขแก่เราแล้วจากนั้น

ประการที่ ๒ เมื่อแสวงหาสิ่งเหล่านี้ได้มาก ก็เข้าใจผิดต่อไปอีกว่าเรามีความเป็นอิสระจะทำอะไรก็ได้ เรายิ่งใหญ่ คนที่หาทรัพย์สินเงินทอง มีพวกพ้องบริวาร ครองอำนาจได้มากมาย ก็ถือว่าตัวนี้เก่ง เป็นคนที่ยิ่งใหญ่ เป็นอิสระ มีอิสรภาพที่แท้จริง

ความเข้าใจอย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่า อันนี้ที่แท้แล้ว เป็นความเข้าใจผิด ลองมาพิจารณากันให้ถูกต้อง

ประการแรก ที่เราบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของของเราเป็นสมบัติของเรานั้น ที่แท้แล้วมันเป็นของเราจริงหรือเปล่า ที่จริงก็เป็นเพียงสมมติ คือว่าไปตามที่ตกลงกันในหมู่มนุษย์ที่ยอมรับการเข้าไปยึดถือครอบครอง ถ้ามนุษย์ไม่ยอมรับกัน มันจะเป็นสมบัติของเราได้หรือเปล่า เอาแค่นี้ก็ไม่ได้แล้ว ที่เป็นอย่างนี้ได้ ก็เพราะโลกยอมรับ สังคม กำหนดกติกาขึ้น โดยสัมพันธ์กับการที่มนุษย์พัฒนาจิตใจขึ้นมา ถ้ามนุษย์ไม่ยอมรับกันก็เป็นสมบัติของเราไม่ได้ ใครเขาจะมาทำอย่างไร เราก็ไม่สามารถจะถือสิทธิได้ เพราะมันไม่ใช่ของเราจริง แต่มันเป็นของธรรมชาติ คือ มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเราจริง เราจะปรารถนาว่าให้มันเป็นอย่างนี้ ให้มันเป็นอย่างโน้น ไม่ให้เป็นอย่างนั้น อะไรตามที่เราปรารถนาไม่ได้ แต่สิ่งทั้งหลายนั้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน สิ่งทั้งหลายไม่ได้เป็นไปตามปรารถนาของคนที่มายึดถือเป็นเจ้าของ แต่มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

เราอยากให้อะไรเป็นอย่างไร ก็ต้องทำเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นอย่างนั้น ถึงอยากเท่าไร ถ้าไม่ทำเหตุปัจจัย ก็ไม่สำเร็จ มีแต่จะทำให้ช้ำใจ เพราะความอยากเป็นได้แค่สมุทัย ถ้าจะให้สำเร็จ ก็ต้องใช้ปัญญาทำการที่ตัวเหตุปัจจัย จึงจะเป็นมรรคและได้ผล เพราะปัญญาเป็นองค์ของมรรคาที่แท้ และสำเร็จด้วยการกระทำที่เป็นเหตุปัจจัย

ในที่สุดแล้ว สิ่งที่เรายึดถือเป็นสมบัติครอบครองนั้น มันเป็นสมบัติของธรรมชาติต่างหาก ไม่ใช่สมบัติของเรา มันเป็นสมบัติของธรรมชาติ เพราะว่ามันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นต้น เอาเข้าจริงมันก็หมุนเวียนไปตามคติของธรรมชาตินั่นแหละ มันไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของมนุษย์หรอก เราได้แต่มายึดถือกันตามสมมติชั่วคราวเท่านั้น อันนี้เป็นความจริงที่แน่นอน ลองถามตัวเองดูว่าสิ่งของทั้งหลายและผู้คนที่เรายึดถืออยู่นี้เป็นของเราจริงหรือเป็นของธรรมชาติ ก็จะตอบได้ชัดเจนแน่นอนว่าเป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของเรา อันนี้เป็นเรื่องของความเข้าใจผิดประการที่หนึ่ง

จะสุขแท้ ต้องเป็นไท

ประการที่สอง มนุษย์มีความเข้าใจแบบพร่าๆ หลอกตัวเองไว้ว่า สิ่งที่เราไปยึดถือครอบครองนี้ ยิ่งยึดถือครอบครองไว้ได้มาก ก็จะทำให้เรามีความสุขได้มาก เพราะฉะนั้น คนจึงแสวงหากันใหญ่ แสวงหาลาภ ผลประโยชน์ ทรัพย์สิน เงินทอง เอาวัตถุอามิสต่างๆ มาบำรุงบำเรอความสุขของตนเอง ด้วยการบำเรอตา บำเรอหู บำเรอจมูก บำเรอลิ้น บำเรอสัมผัสกายของตน ถือว่าใครมีมากคนนั้นก็มีความสุขมาก นึกว่าอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าก็ทรงยอมรับว่านี่เป็นความสุขชนิดหนึ่ง ท่านไม่ได้ปฏิเสธ แต่ปัญหาว่าเรารู้จักความสุขนั้นตามความเป็นจริง หรือว่ารู้ความจริงของความสุขนั้นหรือเปล่าว่า มันแค่ไหน มีแง่ดีแง่เสียอย่างไร มีต่อไปอย่างอื่นอีกไหม เป็นต้น ถ้าเรารู้ความจริงและปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง ความสุขนั้นก็ใช้ได้ และยังเป็นตัวต่อไปสู่ความสุขที่ยิ่งขึ้นไป แต่ถ้าไม่รู้เท่าทันความจริงแล้ว ความสุขชนิดนี้จะก่อความทุกข์ให้อย่างมหันต์ที่เดียว

ในหลักพระพุทธศาสนา ท่านถือว่าความสุขแบบใช้อามิสวัตถุมาเสพบำเรอตา หู จมูก ลิ้น และสัมผัสกายนั้น ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง เรียกว่าความสุขจากการเสพอามิส หรือความสุขที่อาศัยวัตถุ ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เรียกเป็นภาษาพระว่า สามิสสุข แปลว่า ความสุขที่อาศัยอามิส เพราะเหตุที่ความสุขนั้นอยู่ที่สิ่งภายนอก เราจึงเห็นว่าถ้าเรามีวัตถุมากๆ เราก็จะมีความสุขมาก แต่มองอีกทีหนึ่ง พอหาวัตถุอามิสมากขึ้นๆ เราไม่รู้ตัวว่า ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าความสุขของเราและชีวิตของเราเองนี่ไปขึ้นต่อสิ่งเหล่านั้นหมด

เมื่อเอาความสุขของตัวเองไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านั้น คนจำนวนมากก็ไม่สามารถมีความสุขได้ด้วยตัวเอง พอไปหาสิ่งเหล่านั้นมามากขึ้นๆ คิดว่าตัวเองมีความสุขที่แท้กลายเป็นเอาความสุขของตัวเองไปไว้ที่สิ่งเหล่านั้น จนกระทั่งในที่สุดไม่สามารถมีความสุขได้โดยลำพังตนเอง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้วก็มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน กระวนกระวาย เพราะฉะนั้นคนที่ดำเนินชีวิตโดยวิธีนี้ จึงดำเนินชีวิตไปสู่ความสูญเสียอิสรภาพ

มองอย่างผิวเผินเขาเข้าใจว่าตนเองมีอิสรภาพ โอ้โฮ นี่ฉันเป็นใหญ่ ฉันสามารถแสวงหาสิ่งทั้งหลายมาได้ตามใจชอบมากมาย ฉันมีความสุขมาก แต่เสร็จแล้วกลายเป็นว่าตัวเองนั้นไม่มีความสุขที่เป็นของตนเองเลย ความสุขอยู่ข้างนอก ความสุขขึ้นกับสิ่งเสพเหล่านั้นหมดเลย ยามใดไม่มีสิ่งเหล่านั้น หรืออวัยวะ ชีวิตของตน ตา หู จมูก ลิ้น และร่างกายของตนเสพอะไรไม่ได้ เช่น ยามป่วยไข้ หรือแก่ชรา ไม่สามารถหาความสุขจากสิ่งเหล่านั้นได้ ก็จะเกิดความทุกข์ มีความเดือดร้อนกระวนกระวายอย่างหนัก พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้เท่าทันความจริงว่า ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งภายนอกซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ไม่ใช่ของเราจริงตามที่กล่าวแล้วข้างต้น นอกจากนั้นมันก็ไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริงที่จะให้ความสุข มันเป็นเพียงตัวประกอบของความสุขเท่านั้น ความสุขนั้นเราจะต้องสร้างสรรค์ให้มีในตัวเราให้มากขึ้น

คนที่ฉลาดจะอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นฐานในการที่จะพัฒนาตนเพื่อให้มีความสุขอยู่ในตัวเองมากขึ้นๆ เขาจะดำเนินชีวิตออกจากการพึ่งพาหรือจากความไม่มีอิสรภาพไปสู่ความมีอิสรภาพ อิสรภาพของมนุษย์นั้น คือ การที่มนุษย์สามารถอยู่ดีมีความสุขมากขึ้นโดยขึ้นต่อสิ่งภายนอกน้อยลงไม่ใช่อยู่ไปๆ ต้องขึ้นกับสิ่งภายนอกมากขึ้น

วิถีของมนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ดูจะเป็นไปในทางตรงข้าม คือเข้าใจว่า ถ้ามีสิ่งเสพเหล่านั้นมากขึ้นตัวเองจะมีความสุข พร้อมกับการที่เข้าใจอย่างนี้ก็พัฒนาไปสู่การสูญเสียอิสรภาพ ในที่สุดตัวเองก็เลยไม่มีอิสรภาพเหลืออยู่ กลายเป็นทาสของสิ่งแวดล้อม มีความสุขที่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เป็นทาสของวัตถุภายนอกโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เรารักษาอิสรภาพและพัฒนาอิสรภาพที่แท้จริงให้เกิดขึ้น ถ้าเรารู้เท่าทันความจริง เราจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นถูกต้องโดยใช้มันให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มคุณค่า ให้มันเป็นส่วนประกอบเสริมความสุข โดยที่ตัวเราเองสามารถมีความสุขได้โดยลำพังตนมากขึ้นๆ

คนที่พัฒนาตัวเองมากขึ้น มีความสุขอยู่ภายในจิตใจของตนเองอยู่แล้ว แม้ไม่มีสิ่งเหล่านั้นมาให้ความสุข ก็สามารถมีความสุขได้ เมื่อมีสิ่งเหล่านั้นมาเป็นตัวประกอบเราก็มีความสุขส่วนเสริมขึ้นอีก มีมันเราก็มีความสุข ไม่มีมันเราก็อยู่ได้ ไม่ใช่คนที่เป็นทาสของสิ่งภายนอก ซึ่งมีสภาพที่ว่า มีมันจึงอยู่ได้ ถ้าขาดมันแล้วชีวิตหมดความหมาย อยู่ไม่ได้เลย

ฉะนั้น จะต้องพัฒนาชีวิตไปสู่ความมีอิสรภาพ ซึ่งหมายถึงอิสรภาพของความสุขด้วย คือความสุขที่มีได้โดยอิสระของตนเอง ความสุขที่เป็นไทแก่ตนเอง ที่ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอกมากเกินไป หรืออย่างน้อยมีความสุขที่เป็นอิสระของตนเองอยู่ภายในแล้ว ก็จะสามารถใช้อามิสวัตถุภายนอกเป็นเครื่องประกอบเสริมความสุขได้อย่างถูกต้อง และไม่เป็นโทษ นอกจากนี้ ยังโยงต่อไปถึงการรู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งทั้งหลายที่ตัวเองได้สร้างขึ้นมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือสิ่งของก็ตาม

ผู้หาความสุข ใช้ทรัพย์และอำนาจแผ่ขยายความทุกข์
ผู้มีความสุข ใช้ทรัพย์และอำนาจแผ่ขยายความสุข

คนที่เข้าใจผิดต่อสิ่งทั้งหลายแล้วเข้าไปยึดถือเป็นสมบัติครอบครองและหวังว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขให้ตนเอง เขาก็จะมองแต่ในแง่ว่าจะหาความสุขจากสิ่งเหล่านั้น โดยเอาสิ่งเหล่านั้นมาบำรุงบำเรอตัวเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่มนุษย์หมายปอง ที่สำคัญจึงมี ๒ อย่างคือ ลาภกับยศ หรือทรัพย์กับอำนาจ

ทรัพย์กับอำนาจนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์มีความต้องการแสวงหากันเป็นอย่างยิ่ง เมื่อแสวงหาทรัพย์และอำนาจมาด้วยความเข้าใจผิดอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ ด้วยความมุ่งหมายใฝ่หวังที่จะยึดถือครอบครองเป็นสิ่งให้ความสุขแก่ตัวเอง โดยเอาทรัพย์มาใช้บำรุงบำเรอความสุขของตน และเอาอำนาจมาเป็นเครื่องมือหรือช่องทางที่จะแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอความสุขของตนให้ได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนแสดงความยิ่งใหญ่ของตน เสร็จแล้วด้วยการหาความสุขแบบนี้ก็ทำให้มนุษย์เบียดเบียนกัน ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม โลกมนุษย์นี้ที่มีการเบียดเบียนกัน มีภัยอันตรายต่างๆ ตลอดจนกระทั่งสงครามก็เพราะเรื่องนี้

พอบุคคลรู้เข้าใจความจริงว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของภายนอก มันไม่ใช่เป็นของของเราจริง แต่เป็นของธรรมชาติ ทั้งตัวเราและมันก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์แห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติเช่นเดียวกัน มันมาพบกับเราชั่วคราว เราก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ดีงาม มันช่วยให้เรามีความสุขได้ แต่นั่นก็คือการที่เรายังต้องพึ่งพาอาศัยมัน แต่มันกับเราก็ต่างหากจากกัน เราไม่สามารถพึ่งมันได้ตลอดเวลาและตลอดไป หน้าที่ของเราก็คือการทำตัวให้เป็นอิสระให้มากขึ้น โดยมีความสุขได้เองมากขึ้นๆ และเราก็สามารถพัฒนาชีวิตของเราให้เป็นอิสระ มีความสุขได้โดยลำพังตนเองมากขึ้นจริงๆ ด้วย

เมื่อเราพัฒนาตนให้เป็นอิสระมากขึ้นแล้ว มีความสุขอยู่ในตัวเองมากขึ้นแล้ว ทรัพย์และอำนาจก็จะมีความหมายใหม่ แต่เดิมนั้นทรัพย์และอำนาจเป็นอุปกรณ์ในการที่จะหาอามิสวัตถุมาบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว แต่เมื่อเราพัฒนาตัวเองมากขึ้นแล้ว ก็มีความเข้าใจใหม่ ทรัพย์และอำนาจกลายเป็นอุปกรณ์สำหรับสร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุขให้ขยายกว้างขวางออกไป

คนที่มีความคิดดีๆ มีความฉลาด แต่ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบริวาร ไม่มีอำนาจ จะทำอะไรก็ติดขัด ทำได้แคบๆ ทำได้นิดๆ หน่อยๆ บางทีทำตั้ง ๑๐ ปีก็ยังไม่ไปถึงไหน แต่พอมีทรัพย์มีอำนาจก็สามารถขยายความคิดนั้น ทำความดีตามความคิดของตนให้สำเร็จได้ ความคิดดีงามก็ขยายออกไปเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง เพราะฉะนั้นทรัพย์และอำนาจก็กลายมาเป็นเครื่องมือของความดีงาม หรือเป็นอุปกรณ์ของธรรมไป เราก็เปลี่ยนจากการใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นช่องทางบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว หันมาใช้ทรัพย์และอำนาจ ใช้เงินทอง ยศ ตำแหน่ง บริวาร เป็นอุปกรณ์ในการที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม และประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อชีวิตและสังคมที่ดีงามร่วมกัน

ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่การเข้าใจความจริงที่ได้กล่าวมา คือการพิจารณาความจริงชุดที่สองที่ว่าเราจะต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น คือการรู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กับตัวเราดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าทั้งเราและสิ่งเหล่านั้น คนเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติด้วยกัน แล้วก็พัฒนาตัวเอง ทำชีวิตให้เป็นอิสระ ให้มีความสุขที่เป็นอิสระ แล้วก็มองและปฏิบัติต่อสิ่งที่เคยสัมพันธ์เกี่ยวข้องในความหมายใหม่ ให้กลายเป็นสื่อแสดงของธรรมดังที่กล่าวมานั้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องพัฒนาชีวิตของเราโดยทำให้เป็นอิสระมากยิ่งขึ้น เราจะอาศัยอามิสวัตถุทั้งหลายอย่างรู้เท่าทัน เราจะใช้มันตามคุณค่าที่แท้จริงให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต เราจะเอามันมาเป็นเครื่องมือพัฒนาตัวเองด้วย และเอามาใช้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นด้วย อามิสวัตถุก็กลับกลายเป็นดีไป เพราะฉะนั้นคติของพระพุทธเจ้านี้จะทำให้โลกร่มเย็นเป็นสุข ถ้าเรารู้เข้าใจความจริงแม้เพียงแค่นี้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

เราสร้างกรรม กรรมสร้างเรา
โลกมนุษย์ก็เท่านี้เอง

ทีนี้ต่อไป ประการสุดท้ายก็คือการพิจารณารู้ว่าเรามีกรรมเป็นของตน การพิจารณาข้อนี้จะทำให้ความเข้าใจความจริงในชุดที่หนึ่งและที่สองนั้น แน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น

คนเรานั้นมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นสมบัติที่แท้จริง สิ่งทั้งหลายที่เรายึดครอง ไม่ใช่สมบัติของเราจริง เป็นของเราเพียงโดยสมมติ แต่ที่จริงมันเป็นสมบัติของธรรมชาติอย่างที่กล่าวแล้ว สมบัติแท้จริงของเราก็คือการกระทำของเรา

กรรมของเราที่เราทำนี่แหละเป็นทรัพย์สมบัติที่แท้จริงของเรา ปฏิเสธไม่ได้ พอเราทำอะไรลงไป มันก็เป็นเหตุปัจจัยที่จะมาสร้างสรรค์ชีวิตของเราต่อไปทันที เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า กมฺมสฺสโก ที่ว่าเรามีกรรมเป็นของตนนี่เป็นคำที่สำคัญอย่างยิ่ง พอเราสร้างการกระทำขึ้นมาแล้ว การกระทำนั้นก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดผลต่างๆ ซึ่งย้อนกลับมาส่งผลแก่ชีวิตของเรา ตอนนี้ก็มาถึงคำที่ว่า กมฺมทายาโท เราก็กลายเป็นทายาทของกรรมไป เราเป็นเจ้าของมันเสร็จแล้วเราก็เป็นทายาทของมัน เราเป็นทายาทของกรรมก็รับผลของกรรมนั้นไป

กรรมคืออะไร กรรมก็คือการกระทำ แต่ไม่ใช่การกระทำที่เลื่อนลอย การกระทำของมนุษย์ ทั้งที่แสดงออกทางกาย ทั้งที่พูดออกมา และที่คิดอยู่ในใจ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของเจตจำนง การคิดการกระทำการพูดของมนุษย์นี้ เกิดจากเจตจำนงมีความจำนงจงใจ มีความตั้งจิตคิดหมาย มีการเลือกตัดสินใจ ทั้งหมดนี้ทางพระท่านเรียกว่าเจตนา

ตัวเจตนานี้แหละคือสิ่งที่เรียกว่ากรรม เพราะฉะนั้นเจตนาหรือเจตจำนงจึงเป็นสาระของการกระทำของมนุษย์ ความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของเจตจำนง ถูกเจตจำนงสร้างสรรค์ปรุงแต่งให้เป็นไป คนเรานี้คิดพูดทำออกมาจากเจตนา หรือความจำนงจงใจ เราไปสัมพันธ์กับอะไร สิ่งนั้นๆ หรือสิ่งแวดล้อมนั้นก็เป็นเหตุปัจจัยแก่ชีวิตของเรา แต่เราก็มีสิทธิหรือมีความสามารถที่จะทำต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นด้วย ให้มันเป็นเหตุปัจจัยแก่เราในลักษณะใด โดยมีเจตนาต่อสิ่งนั้น เช่น เลือกตอบสนอง จะยอมตามมันหรือพลิกผันเปลี่ยนเบน ตลอดจนมีท่าทีอย่างไร การเลือกตอบสนองต่อสิ่งนั้นคือเจตนา นั่นคือกรรม

เพราะฉะนั้น กรรมจึงเป็นตัวลิขิตชีวิตและสังคมมนุษย์ มันลิขิตตั้งแต่ความคิดนึกของเราเป็นต้นไป เมื่อเราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เราก็มีการเลือกตอบสนอง ถ้าเราใช้ปัญญา เราก็เลือกตอบสนองได้ดี ถ้าเราอยู่ใต้อำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง เราก็ตอบสนองไม่ดี เมื่อเลือกตอบสนองผิดก็เกิดโทษแก่ชีวิตของเรา การกระทำต่างๆ เกิดจากเจตจำนงนี้ทั้งนั้น แล้วจากการกระทำนั้น ชีวิตและสังคมของมนุษย์ก็เป็นไป

การจงใจ การตั้งจิตคิดหมาย เลือกตัดสินใจ เลือกตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ นี้เป็นสิทธิของมนุษย์แต่ละคน และนี่แหละคือกรรมของแต่ละคนที่สร้างสรรค์ชีวิตให้เป็นไป ไม่ใช่เฉพาะแต่ชีวิตเท่านั้น แม้แต่สังคมของมนุษย์ หรือโลกมนุษย์ทั้งหมดก็เป็นโลกของเจตจำนงทั้งนั้น เป็นโลกของกรรมสร้างสรรค์ปรุงแต่งทั้งสิ้น สิ่งที่พัฒนามาเป็นอารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมดนี้เกิดจากอะไร ก็เกิดจากเจตจำนง เกิดจากเจตนา เริ่มต้นจากความคิด หรือความตั้งจิตคิดหมายของมนุษย์ ซึ่งอ้างอิงความเห็นหรือความเข้าใจที่ประกอบอยู่กับจิต

ความเข้าใจที่ถูกและผิดนี้ จะเป็นทฤษฎี เป็นลัทธิ เป็นอุดมการณ์ หรือเป็นความเชื่อถือทางศาสนาก็ตาม จะมาเป็นตัวกำกับ ชักจูงเจตจำนงให้เป็นไป และมนุษย์ก็ทำสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามนั้น หรือมีความอยาก มีความปรารถนาอะไร ก็มาเป็นตัวกำกับประกอบเข้ากับเจตจำนง ชักพาเจตจำนงให้เป็นไปอย่างนั้น เช่นถ้ามีความต้องการในอำนาจความยิ่งใหญ่เป็นต้นอย่างไร เจตจำนงก็จะชักพาการกระทำ พฤติกรรม กิจกรรม กิจการ ฯลฯ ให้เป็นไปตามกระแสความต้องการอันนั้น

เพราะฉะนั้น เจตจำนง หรือความจงจิตคิดหมายของมนุษย์นี่แหละ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างโลก บันดาลชีวิตทั้งหมด อารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมดก็เกิดจากเจตจำนงของมนุษย์ โดยเริ่มก่อขึ้นตั้งแต่ในใจของมนุษย์ เป็นต้นไป เพราะฉะนั้น ทางพระท่านจึงเรียกโลกมนุษย์นี้ว่าเป็นโลกแห่งเจตจำนง กมฺมุนา วตฺตตี โลโก ว่าโลกนี้ เป็นไปตามกรรม คือสังคมมนุษย์นี้เป็นไปตามกรรมของมนุษย์ มนุษย์เชื่ออย่างไรคิดอย่างไรก็ทำไปตามนั้น

ยกตัวอย่าง มนุษย์ในยุคนี้ที่กำลังได้รับภัยพิบัติทางธรรมชาติแวดล้อม เมื่อสืบสาวกันไปก็ได้ความว่า เกิดจากแนวความคิดที่มีมาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว คือ แนวความคิดหรือทิฏฐิที่ว่ามนุษย์นั้นเป็นต่างหากจากธรรมชาติ มนุษย์นั้นจะต้องเข้าครอบครองธรรมชาติ จะต้องพิชิตธรรมชาติ จะต้องไปเอาธรรมชาติมาจัดการ จัดสรรรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์ โดยถือคติว่ามนุษย์จะมีความสุขเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม ความเข้าใจอันนี้แหละเป็นตัวกำกับเจตจำนง มานำความนึกความคิดของมนุษย์ทั้งหมดที่ทำให้เกิดอารยธรรมอย่างปัจจุบัน ซึ่งได้เจริญก้าวหน้ามาจนกระทั่งถึงจุดที่ธรรมชาติเสื่อมสลายอย่างหนัก ซึ่งถือกันว่าเป็นปัญหาที่อาจจะทำให้มนุษย์ติดตันหรือถึงกับประสบความพินาศถ้าหาทางออกไม่ได้หรือไม่ทัน

เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า โลกมนุษย์เป็นโลกแห่งกรรม เป็นโลกแห่งเจตจำนง และกรรมตามหลักพระพุทธศาสนาที่ถือว่าสำคัญที่สุดก็คือมโนกรรม หรือกรรมทางจิต ได้แก่ ความคิดนึก ความคิดเห็น ความเชื่อถือหรือทิฏฐิ ความยึดถือ ลัทธิอุดมการณ์อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นต้นตอก่อรูปอยู่ในจิตใจ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปแห่งอารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมด

โลกมนุษย์เป็นโลกแห่งเจตจำนงดังที่กล่าวมา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้พิจารณาเรื่องนี้ว่า เรามีกรรมเป็นของของตน เราทำกรรมใดไว้ กรรมนั้นก็จะไปอยู่ในกระแสของความเป็นเหตุปัจจัย แล้วมันก็ส่งผลให้เกิดขึ้น คือกรรมนั้นกลับส่งผลมาปรุงแต่งชีวิตของเรา ปรุงแต่งโลก ปรุงแต่งสังคมให้เป็นไป เราก็กลายเป็นทายาทรับผลของกรรม ชีวิตของเราแต่ละคนก็เป็นทายาทของกรรมของตน โลกหรือสังคมมนุษย์ก็เป็นทายาทแห่งกรรมของสังคมมนุษย์นี้

ทำกรรมอย่างฉลาด คือความสามารถของมนุษย์

ความหมุนเวียนไปของโลกและพิภพของมนุษย์ในกรรมนิยาม คู่เคียงกันไปกับความหมุนเวียนของโลกและจักรภพในอุตุนิยาม แดนมนุษย์นั้นเป็นแดนของกรรม กรรมเป็นส่วนที่มนุษย์ทำได้ เป็นเหตุปัจจัยในแดนของมนุษย์โดยมีมนุษย์เป็นเจ้าของเรื่อง

อย่างไรก็ตาม เหตุปัจจัยในโลกนี้ไม่ใช่มีแต่กรรม ไม่ใช่ทุกอย่างอะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรมทั้งนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น เช่นอย่างการที่เราเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อันนี้ก็ไม่ใช่เป็นเพราะกรรม หรือการที่เราทุกคนเกิดมาแล้ว จะต้องพลัดพรากจากกัน อันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องของกรรม แต่เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติอีกกฎหนึ่งที่ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามคติธรรมดา มีการเกิดขึ้นแล้วก็แตกดับสลายไป แต่เราจะแก่ช้าแก่เร็วอาจเป็นเพราะกรรมได้ หรือว่าโรคบางโรคอาจจะเป็นเพราะกรรมก็ได้ หรือว่าเราเจ็บไข้ป่วยไปแล้ว จะปฏิบัติตัวทำใจต่อความเจ็บไข้อย่างไร อันนี้ก็เป็นกรรมของเรา

บางคนเจ็บไข้นิดหน่อยก็มีความทุกข์มหาศาล บางคนเจ็บไข้มากมายก็ไม่มีความทุกข์เดือดร้อนอะไร แถมยังสามารถหาความสุขในยามเจ็บไข้ได้ด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องของกรรมของเขา หรือแม้แต่ในเรื่องของความตายก็เช่นเดียวกัน การตายนั้นไม่ใช่กฎแห่งกรรม แต่จะตายอย่างไรบางทีก็ขึ้นต่อกรรม

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจแยกให้ถูกว่า สิ่งทั้งหลายนั้นไม่ใช่เป็นไปเพราะกรรมอย่างเดียว กฎธรรมชาตินั้นมีความกว้างขวาง มีหลายกฏ แต่กฏที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทั้งหมดยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือกฎแห่งกรรม เพราะเป็นแดนของมนุษย์ เป็นเรื่องของมนุษย์เอง เป็นส่วนที่มนุษย์สามารถลิขิตได้เพราะมนุษย์เป็นผู้ทำกรรมเอง เรียกว่าเป็นแดนของมนุษย์ที่มนุษย์จะต้องเกี่ยวข้องมากที่สุด ทั้งในแง่เป็นผู้ทำและเป็นผู้รับผลของมัน

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้เราปฏิบัติในเรื่องกรรมให้ถูกต้อง ถ้าเรารู้ว่าเรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรมแล้ว เราก็จะมีความระมัดระวังในการทำกรรม ให้เป็นการทำกรรมที่ดี อย่างในข้อที่กล่าวมาว่ามีความรู้เข้าใจธรรมชาติอย่างถูกต้องแล้ว มันก็กลายเป็นการทำกรรมดีไปในตัว คือการที่เรามีแนวความคิดที่ถูกต้อง เราก็มีเจตจำนงถูกทาง เราก็คิดที่จะพัฒนาชีวิตของเราให้มีอิสรภาพมากขึ้น มีความสุขที่เป็นไทแก่ตนเองมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมหรือวัตถุภายนอกมากเกินไป การพัฒนาจิตใจของเราก็เป็นกรรมดีของเราเอง และการที่เรารู้เข้าใจความจริงอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้เราใช้ทรัพย์ใช้อำนาจเป็นอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุข แทนที่จะเอาเป็นเครื่องมือมาบำรุงบำเรอตัวเอง และความยิ่งใหญ่ของตน การที่เราใช้ทรัพย์และยศตำแหน่งอำนาจในทางที่เป็นคุณค่า เป็นประโยชน์นั้น ก็เป็นกรรมดีของเรานั่นเอง กรรมดีอันนี้แหละจะเป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา

เมื่อเราทำกรรมดีอย่างนี้มากขึ้นๆ เราก็จะมีอิสรภาพมากขึ้น กรรมดีคือการพัฒนาจิตใจของตนเองให้มีอิสระมากขึ้นนั้นก็ทำให้เรามีความสุขกับตนเองได้มากขึ้น ขึ้นต่อสิ่งภายนอกน้อยลง อิสรภาพของเราก็มากขึ้นเป็นการพัฒนาไปสู่ความมีอิสรภาพ แล้วกรรมนั้นก็จะมีประโยชน์ทั้งในแง่เป็นผลดีแก่ชีวิตของตนเองที่พัฒนาชีวิตจิตใจขึ้นไปสู่อิสรภาพ และเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยนำไปสู่การทำกรรมดีงามที่เป็นการสร้างสรรค์ความดีและบำเพ็ญประโยชน์

ชีวิตและสังคมจะเกษมศานติ์
เมื่อคนทำการโดยไม่เป็นกรรม

ในเรื่องกรรมนี้ถึงสุดท้ายก็จะพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง คือถึงความพ้นกรรม เราทั้งหลายที่เรียกว่าทำกรรมนี้ก็คือ มีเจตจำนง คือมีความจงใจที่จะสนองความต้องการของตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการกระทำของตัวตน

คนเราที่คิดที่พูดที่ทำนี้ มีจุดยึดอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งบางทีก็ไม่รู้ตัว คือเรากระทำเพื่อสนองความต้องการของตัวตนที่ยึดถือเอาไว้ การกระทำที่สนองความต้องการของตัวตนนั้นเป็นกรรม ซึ่งจะเป็นไปด้วยตัณหาคืออยากได้ผลประโยชน์ให้แก่ตัว เพื่อบำรุงบำเรอตัวเองบ้าง เป็นไปด้วยมานะ คือต้องการความยิ่งใหญ่ ต้องการอำนาจบ้าง เป็นไปด้วยทิฏฐิ คือทำโดยยึดถือในความเห็น ในลัทธิอุดมการณ์เป็นต้นบ้าง ล้วนเป็นเรื่องของการยึดถือว่า เป็นตัวตนของตนทั้งนั้น การกระทำที่สนองตัวตน หรือสนองความต้องการของตัวตนนี้เป็นกรรม ซึ่งทำให้เราหมุนเวียนอยู่ในวงจรของกรรม

เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น มนุษย์ก็จะไม่เอาความอยากได้ผลประโยชน์ ความต้องการอำนาจ และความต้องการสนองความเห็นหรือความยึดถือในทิฏฐิของตัวเองมาเป็นตัวกำกับ เขาก็จะทำด้วยความรู้เข้าใจความจริง โดยพิจารณาด้วยปัญญา เมื่อคนทำอะไรด้วยปัญญา ด้วยความรู้เข้าใจความจริง ทำไปตามเหตุผลของความจริงนั้นแท้ๆ ก็จะไม่เป็นการกระทำเพื่อสนองตัวตน ไม่ใช่เพื่อสนองความต้องการที่เกี่ยวกับเรื่องตัวตน การกระทำก็จะกลายเป็นเพียงการกระทำของปัญญาบริสุทธิ์ที่ไม่ใช่กรรม ตอนนี้คนก็จะพ้นจากกรรม

เมื่อเราทำด้วยปัญญา ทำไปตามความรู้ในความจริงเพื่อเหตุผลของเรื่องนั้นๆเอง ตามที่ควรจะเป็นไปของมันเองล้วนๆ ไม่ใช่เพื่อสนองตัวตนแล้ว การกระทำนั้นก็ไม่เป็นการกระทำของตัวตน ไม่เป็นกรรม และโดยภาวะมันก็ไม่มีพิษมีภัยทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น อันนี้จะเป็นการพัฒนาขั้นสุดท้าย คนที่พิจารณาเข้าใจเท่าทันความจริงในเรื่องกรรมเป็นของของตน จนกระทั่งพ้นจากกรรมได้ อันนี้เป็นการพัฒนาขั้นสูงสุด และเป็นการใช้ประโยชน์อย่างสมบูรณ์จากการพิจารณาหลักที่เรียกว่า อภิณหปัจจเวกขณะ ๕ ประการนี้

รู้จักคิด รู้จักทำใจ ไม่มีอะไรไม่เป็นประโยชน์

วันนี้เรามาในงานเกี่ยวกับศพเกี่ยวกับความตายแล้ว เราก็ควรปฏิบัติต่อสถานการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ โดยใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เอาความตายมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ให้เป็นการมาที่สูญเสียเปล่า แล้วผลดีก็จะเกิดขึ้นทั้งแก่งาน ทั้งแก่ท่านผู้ล่วงลับ และทั้งแก่ตัวบุคคลแต่ละท่านเองด้วย

พระพุทธเจ้าสอนให้เรามองสถานการณ์ทุกอย่างในแง่ที่เอามาใช้ประโยชน์ได้ หลักการนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือการทำในใจโดยแยบคาย แม้แต่สิ่งที่ร้ายที่สุดคือความตายนี้ ถ้าคิดเป็นแล้วก็เป็นประโยชน์ เอามาใช้พัฒนาชีวิตให้ประสบสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์สุขได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้เรารู้จักคิดรู้จักพิจารณาในเรื่องความตาย โดยมองโยงเข้าไปหาหลักการพิจารณาประจำ ๕ ประการที่กล่าวมา ซึ่งเรียกว่า อภิณหปัจจเวกขณะ มีใจความที่ขอทบทวนอีกครั้งว่า

ไม่ว่าหญิงก็ตาม ไม่ว่าชายก็ตาม ไม่ว่าชาวบ้านก็ตาม ไม่ว่าชาววัดก็ตาม พึงพิจารณาเป็นประจำสม่ำเสมอว่า

  • เรามีความแก่หรือชราเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
  • เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
  • เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
  • เราจะต้องประสบความพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น
  • เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาทของกรรมนั้น

ถ้าพิจารณาเข้าใจความจริงเหล่านี้ตามความหมายที่ว่ามาแล้ว ก็จะสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตในระดับต่างๆ ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา เช่นทำให้เกิดความไม่ประมาทในการเร่งรัดขวนขวายทำความดีงาม ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้น ไหนๆ เกิดมาแล้วอยู่กันไม่ถึง ๑๐๐ ปีหรือเกินร้อยปีก็นิดหน่อย ก็อย่าให้เป็นอโมฆชีวิต หรือชีวิตที่ว่างเปล่า แต่ทำให้เป็นชีวิตที่มีค่า มีประโยชน์ ชีวิตจะมีค่ามีประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อไม่ประมาท รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เรียกว่าทำความดี ทำประโยชน์แข่งเวลา ก็จะเป็นชีวิตที่ดีงาม เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น เป็นชีวิตที่พัฒนาเรื่อยไปด้วยความรู้ความเข้าใจ

เมื่อไปสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายภายนอกกายของเรา จะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ตาม ผู้ที่มีปัญญาพัฒนาตนอย่างที่กล่าวมา ก็รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเราจริง เป็นของธรรมชาติ เรามาพบปะกันและพบกับมันตามสมมติ เราก็รู้เท่าทันสมมติ ใช้ประโยชน์จากสมมติได้ และเอามันมาใช้เป็นฐานในการพัฒนาชีวิตของเรา เราอาศัยมันเป็นเครื่องอำนวยความสุขในเบื้องต้น แต่เราไม่ตกเป็นทาสของมัน พร้อมกันนั้นเราก็พัฒนาความสุขที่เป็นอิสระให้มากขึ้น จนมีความสุขที่เป็นไทแก่ตน แล้วก็ใช้ทรัพย์สมบัติอำนาจในการสร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุข ก่อนที่จะพลัดพรากกับมันไปเสียเปล่าๆ

สิ่งทั้งหลาย เช่นทรัพย์สินอำนาจ ยศตำแหน่งนั้น เมื่อมาอยู่กับเราแล้ว สำหรับบางคน ไม่ได้เป็นประโยชน์เลย กลับเป็นโทษด้วยซ้ำ เพราะเขาขาดปัญญา วางท่าที วางจิตใจ สัมพันธ์ และใช้มันไม่เป็น เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญาก็ต้องคิดว่า ไหนๆ มันมาอยู่กับเราชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว ก็ทำให้มันเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนเอง ในการพัฒนาชีวิตของตัว และให้เป็นประโยชน์แก่โลกในทางสร้างสรรค์ทำประโยชน์ ยิ่งคนไหนมีความคิดดีๆ มีความสามารถ ทรัพย์สินเงินทองอำนาจก็ทำให้เกิดประโยชน์มากมายมหาศาล

อย่างพระพุทธเจ้าของเรานี้ พระองค์มีชีวิตอยู่ก็แค่ ๘๐ ปี แต่เพราะพระองค์รู้จักใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ชีวิต สังขารที่ไม่เที่ยงแท้เป็นอนิจจังตามธรรมชาตินั้น พระองค์ก็ใช้อย่างคุ้มค่า ๘๐ ปีนี้เป็นประโยชน์คุ้มมาเป็นเวลาตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว และขยายประโยชน์จากชีวิตหนึ่งเดียว ออกไปได้กว้างขวางแก่คนเป็นร้อยล้านพันล้านคนได้

รวมความว่า ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่เข้าใจหลักว่าเรามีกรรมเป็นของตน โลกมนุษย์นี้เป็นแดนแห่งเจตจำนงของมนุษย์ที่คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ ฉะนั้นเราทำอะไรไว้เราก็เป็นเจ้าของมัน โลกมนุษย์นี้เป็นเจ้าของกรรมที่ปรากฏออกมาเป็นอารยธรรมและหายนธรรม มีกรรมเป็นทรัพย์สมบัติ และกำลังได้รับผลแห่งกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงต้องพยายามทำกรรมที่ดีงาม แล้วพัฒนาต่อไปจนกระทั่งไม่ต้องอยู่ด้วยกรรม คือไม่ต้องกระทำเพื่อสนองความต้องการของตัวตน ทำด้วยจิตที่เป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้ความจริง มองเห็นอะไรดีงามเป็นประโยชน์ ก็ทำไปตามนั้น ก็จะบรรลุถึงอิสรภาพที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยอำนวยประโยชน์ ทำให้เกิดอิสรภาพแก่สังคมหรือบุคคลอื่นต่อไปด้วย

ที่แสดงมาทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาในเรื่องมรณะ หรือความตายอย่างถูกต้อง ดังที่โยงไปสู่เรื่อง อภิณหปัจจเวกขณะ ๕ ประการ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพึงปฏิบัติดังที่กล่าวมานี้ คือพิจารณาให้รู้เท่าทันความจริงของชีวิตและโลกนี้แล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็จะเกิดผลที่ดีงาม สมดังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นผลเกิดจากเหตุปัจจัย คือการกระทำดีงามที่เป็นกรรมของตนนั้นเอง

ณ โอกาสนี้ อาตมภาพขออนุโมทนากุศลบุญราศีที่คณะเจ้าภาพคือครอบครัว พร้อมทั้งญาติมิตรได้มาร่วมกันบำเพ็ญ การกระทำของท่านก็เป็นกรรมดีอยู่ในตัวตั้งแต่เบื้องต้นอยู่แล้ว ยิ่งถ้าทำด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง วางจิตถูกต้อง ก็เป็นกรรมดียิ่งขึ้นต่อไปอีก

ท่านที่มาร่วมในงานนี้ทุกท่านก็มาด้วยจิตใจที่มีไมตรีธรรม มีความรู้สึกที่ดีงาม มีความเคารพ มีน้ำใจต่อกัน ก็เป็นกรรมดีอยู่ในใจแล้ว ถ้ายิ่งมีความเข้าใจในธรรม น้อมใจเข้ามาพิจารณาตามหลักที่กล่าวมาก็จะได้ประโยชน์เป็นกุศลยิ่งขึ้นไป และกุศลกรรมก็จะนำไปสู่ความสุขความเจริญ จึงขอเชิญชวนทุกท่านพัฒนาชีวิตสู่จุดหมายแห่งอิสรภาพและความสุขที่เป็นไท ก็จะได้ประโยชน์ตามกำลังแห่งการปฏิบัติของตนๆ

อาตมภาพได้วิสัชนาพระธรรมเทศนามาพอสมควรแก่เวลา ขอให้กุศลกรรมที่ท่านทั้งหลายทำแล้วนี้ จงเกิดผลงอกเงยยิ่งขึ้นไป บันดาลให้ชีวิตของแต่ละบุคคลและสังคม ประสบประโยชน์สุขโดยทั่วกัน และขอทุกท่านจงอุทิศกุศลนี้แก่โยมกิมวา แซ่อุ่ย ผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อให้ท่านได้อนุโมทนาและสำเร็จเป็นวิปากสมบัติในสัมปรายภพสืบต่อไป

วิสัชนาพระธรรมเทศนาถึงเวลาอันสมควร ยุติลงแต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มี ด้วยประการฉะนี้

1พระธรรมเทศนา ที่พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต) แสดงในการบำเพ็ญ กุศลอุทิศ นางกิมวา แซ่อุ้ย ในวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ตอนค่ำ ก่อนวันฌาปนกิจศพ (๙ พ.ค. ๒๕๓๖)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง