จากสุขในบ้าน สู่ความเกษมศานติ์ทั่วสังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จากสุขของครอบครัวในบ้าน
สู่ความเกษมศานติ์ทั่วสังคม

ขอเจริญพร วันนี้ก็เป็นวันที่สำคัญอีกวันหนึ่ง สำหรับครอบครัว คือเป็นวันที่คุณพ่อได้ถึงแก่กรรมมาครบ ๑๐๐ วัน

ในวันนี้ ลูกหลานก็ได้จัดให้มีการบำเพ็ญกุศลตามประเพณีที่เราเรียกกันว่าเป็นการบำเพ็ญทักษิณานุประทาน คือการทำบุญเพิ่มอุทิศแด่ท่านในเมื่อท่านได้ล่วงลับไปแล้วตามโอกาส เป็นเรื่องของลูกหลานญาติมิตรที่จะได้มาแสดงออกซึ่งน้ำใจ ที่มีความกตัญญูกตเวทิตาธรรม เป็นการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นไปตามหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า การบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนั้นมีวัตถุประสงค์ ๕ ประการ

วัตถุประสงค์ทั้ง ๕ ที่ต้องเอามาทบทวนทุกครั้ง

ในที่นี้ ขอทบทวนว่า ในฐานะชาวพุทธเราควรจะเน้นย้ำวัตถุประสงค์ทั้ง ๕ ประการของการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ วัตถุประสงค์ ๕ ประการนั้นคือ

ประการที่ ๑ เป็นการอุทิศกุศลแก่ผู้วายชนม์ไปแล้ว อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ชัดเจนโดยตรง ทุกท่านเมื่อจัดพิธีก็มุ่งหมายวัตถุประสงค์ข้อนี้เป็นอันดับแรก เพราะฉะนั้น สำหรับวัตถุประสงค์ข้อนี้จึงไม่มีใครลืม ดังที่ทุกท่านเมื่อบำเพ็ญกุศลทำบุญแล้วฟังพระสงฆ์อนุโมทนา ก็ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไป โดยหวังว่าท่านผู้ล่วงลับคงได้อนุโมทนายินดี ปลาบปลื้มใจ ในบุญกุศลที่ลูกหลานญาติมิตรได้อุทิศให้แก่ท่าน ขอให้บุญนี้สำเร็จแก่ท่านในสัมปรายภพนั้นๆ ต่อไป

ประการที่ ๒ เป็นการทำหน้าที่ของเราที่เป็นลูกเป็นหลาน ตามหลักของญาติธรรมอันพึงปฏิบัติต่อบิดามารดาที่ว่า เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว เราก็ทำบุญอุทิศให้ท่าน เรียกว่าเป็นบุพเปตพลี บัดนี้เราก็ได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว คือได้แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที

ประการที่ ๓ เป็นการบูชาพระคุณของท่านผู้ล่วงลับ อย่างน้อยก็เป็นการแสดงความเคารพนับถือและความมีน้ำใจต่อท่านว่า เมื่อท่านล่วงลับจากไปเราก็ไม่ได้ทอดทิ้งท่าน

ประการที่ ๔ เป็นการถวายกำลังแก่พระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ประชาชนนั้นเมื่อถึงโอกาสสำคัญของชีวิต หรือมีกิจกรรมสำคัญของส่วนรวม ก็มักถือโอกาสที่จะบำเพ็ญกุศลหรือทำบุญกัน ในการทำบุญนั้น ก็จะมีการถวายภัตตาหาร และถวายไทยธรรมต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่จะถวายกำลังแก่พระสงฆ์ ให้ท่านสามารถปฏิบัติศาสนกิจ ทำงานพระศาสนา เมื่อพระสงฆ์มีกำลังปฏิบัติศาสนกิจ และทำหน้าที่ของท่านอยู่ต่อไป พระพุทธศาสนาของเราก็ดำรงอยู่ได้

ประการที่ ๕ เป็นการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีของตัวเจ้าภาพเอง คือตัวเราเองทุกท่านผู้ทำบุญนั่นแหละได้ทำบุญให้แก่ตัวเอง ไม่ว่าจะทำให้แก่ใครก็ตาม ในที่สุดก็ตัวเรานั่นเองแหละที่ได้บุญนั้น ซึ่งโดยสรุปก็คือ การบำเพ็ญทาน ศีล และภาวนา

อันนี้เป็นวัตถุประสงค์โดยย่อ ๕ ประการ ในที่นี้อาตมภาพจะไม่ชี้แจง เป็นเพียงนำมาทบทวนกันเอาไว้ ว่าในเมื่อเราทำบุญครั้งหนึ่ง ก็ต้องให้ได้ครบวัตถุประสงค์ทั้ง ๕ ประการนี้ เรามาสำรวจตัวเองในเวลาประกอบพิธีดูว่าเราทำครบไหม ถ้าเราทำได้ครบทั้ง ๕ ประการก็เกิดมีปีติ เอิบอิ่มใจ ว่าเราได้ทำครบครัน ตามหลักการของพระพุทธศาสนาแล้ว

โดยเฉพาะพิธีในวันนี้เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีอย่างสำคัญ ดังที่ได้กล่าวแล้วเบื้องต้นว่าเป็นวันสำคัญสำหรับครอบครัว ในฐานะที่ท่านผู้ล่วงลับคือคุณพ่อ เป็นบุพการีที่สูงสุดของลูกๆ ลูกๆ นั้นมีบุพการีสูงสุดคือพ่อแม่ มีพ่อคนเดียวแม่คนเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

 

คุณบิดามารดานั้น สุดพรรณนามหาศาล

พ่อแม่นั้นมีอุปการคุณแก่เรามากมาย ในทางพระศาสนาท่านบรรยายไว้นานัปการ แม้กวีทั้งหลายก็ได้เขียนบรรยายกันไว้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ปรากฏเป็นคำกลอนและคำประพันธ์ต่างๆ ที่บรรยายถึงคุณของบิดามารดา เพื่อให้ลูกได้รู้ตระหนักมองเห็นความสำคัญและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่าน

เมื่อว่าโดยย่อ ตามหลักพระศาสนานี้ พ่อแม่นั้นทำหน้าที่สำคัญ คือ

๑. ท่านห้ามปรามเราไม่ให้ทำความชั่วช้าเสียหาย ป้องกันเราไม่ให้ตกไปในทางที่ต่ำทรามมีอันตราย

๒. ท่านสั่งสอนแนะนำเราให้ตั้งอยู่ในความดี ชักนำเราให้มุ่งไปในทางที่จะพบความสุขความเจริญ

๓. ท่านให้เราได้เล่าเรียนศิลปวิทยา มีความรู้ที่จะไปประกอบอาชีพการงานเพื่อตั้งตัวให้เป็นหลักฐานต่อไป

๔. ถึงเวลาถึงวัยที่จะมีครอบครัวท่านก็เป็นธุระเอาใจใส่จัดแจงช่วยเหลือ โดยรับที่จะทำด้วยความเต็มใจ

๕. ทรัพย์สมบัติของท่าน ก็เป็นของลูกนั่นเอง ซึ่งท่านจะมอบให้ในเวลาอันสมควรเป็นระยะๆไป จนครั้งสุดท้ายที่เรียกว่ามรดก

ทั้งหมดนี้ เป็นที่รู้กันตามหลักการของพระศาสนา แต่ที่จริงนั้นท่านเพียงวางไว้ให้เป็นหัวข้อหรือรายการปฏิบัติที่สำคัญๆ เท่านั้น การปฏิบัติปลีกย่อย ยังมีอีกมากมาย รวมความก็คือ พ่อแม่นั้นทำทุกอย่างเพื่อลูกด้วยความรัก ว่าโดยคุณธรรมก็คือ การกระทำที่ออกมาจากพรหมวิหารธรรมนั่นเอง คือ

๑. ใจของพ่อแม่นั้นประกอบด้วยความรักความปรารถนาดี คือเมตตา

๒. ประกอบด้วยกรุณา มีความสงสาร คอยช่วยเหลือให้พ้นความยุ่งยากเดือดร้อนและปลดเปลื้องความทุกข์

๓. มีมุทิตา คอยส่งเสริม ให้กำลังใจ และพลอยยินดีเมื่อลูกประสบความสำเร็จ ประสบความก้าวหน้า หรือทำความดีงามถูกต้อง

๔. มีอุเบกขา ในโอกาสอันควร ในเมื่อลูกจะต้องรับผิดชอบตัวเอง หรือควรรู้จักฝึกหัดทำอะไรด้วยตนเอง ท่านก็จะให้โอกาสแก่ลูกที่จะพัฒนาตัวเอง คือไม่ใช่จะช่วยทำให้ไปทั้งหมด จนกระทั่งลูกทำอะไรไม่เป็น อันนี้เรียกว่า วางอุเบกขา

นี่คือหลัก พรหมวิหาร ๔ เรารู้กันว่าพ่อแม่นั้น เป็นตัวอย่างของคนที่มีพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ แต่ในเรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า เราเน้นกันมากในพรหมวิหารข้อที่ ๑ เมื่อพูดถึงผู้ใหญ่ ว่าผู้ใหญ่จะต้องมีเมตตา และมักจะตามด้วยข้อ ๒ ว่า มีเมตตากรุณา แต่คนมีเมตตาที่แสดงออกอย่างชัดเจนก็คือ พ่อแม่ของเรานี่แหละ

ข้อสังเกตสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่ในเมืองไทยเรานี้ แสดงเมตตา กรุณา และมุทิตา ได้ง่าย หรือพร้อมที่จะแสดงพรหมวิหาร ๓ ข้อแรกนี้ได้ตลอดเวลา แต่มักวางอุเบกขาไม่เป็น หรือแม้แต่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดต่อข้ออุเบกขา ทำให้ลูกเติบโตอย่างไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่รู้จักโต ทำอะไรไม่เป็น และไม่รู้จักรับผิดชอบ พรหมวิหารข้อสุดท้ายนี้จะปฏิบัติได้ถูกต้องจะต้องใช้ปัญญา จึงต้องศึกษาให้ดี ในที่นี้มิใช่โอกาสที่จะอธิบาย แต่จะพูดไว้เป็นแนว

พ่อแม่มีเมตตา ในยามปกติเมื่อลูกเจริญเติบโตอยู่ดีตามที่ควรจะเป็น (ปกติ)

พ่อแม่มีกรุณา ยามลูกมีทุกข์ เช่น เจ็บป่วย หรือมีเรื่องเดือดร้อนอย่างอื่น (ตกต่ำ)

พ่อแม่มีมุทิตา ยามเมื่อลูกทำอะไรได้ดี ประสบความสำเร็จ เช่น สอบได้อันดับสูง (ขึ้นสูง)

แต่ในบางกรณี พ่อแม่ไม่อาจใช้เมตตา กรุณา หรือมุทิตา เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย โดยเสียแก่ชีวิตของลูกเอง หรือเสียธรรม ในกรณีอย่างนั้น จะต้องรู้จักวางอุเบกขา โดยเฉพาะในกรณีเกี่ยวกับความรับผิดชอบ คือ

พ่อแม่มีอุเบกขา เมื่อจะฝึกหัดให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตนเอง จะได้ทำอะไรๆ เป็น และพึ่งตนเองได้ เท่ากับเปิดโอกาสให้ลูกพัฒนา เช่น ให้เดินเอง ทำการบ้านเอง โดยพ่อแม่วางทีเฉยดูพร้อมที่จะช่วยเมื่อถึงเวลา

พ่อแม่มีอุเบกขา เมื่อลูกรับผิดชอบตนเองได้ เช่น เรียนจบแล้ว มีการงานทำเป็นหลักฐาน ออกเรือนมีครอบครัวของตัวเขาเอง พ่อแม่รู้จักวางตัววางเฉย ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตส่วนตัวของครอบครัวของเขา

พ่อแม่มีอุเบกขา เมื่อลูกสมควรต้องรับผิดชอบการกระทำของเขา เช่น ลูกทำความผิด ลูกทะเลาะกัน พ่อแม่วางตัวเป็นกลาง เพื่อให้มีการพิจารณา วินิจฉัย ตัดสิน และให้เขาปฏิบัติหรือได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

จากคุณธรรมในใจที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พ่อแม่ก็แสดงออกมาภายนอก ด้วยการลงมือทำ คือปฏิบัติต่อลูกโดยทำการเลี้ยงดู และฝึกหัดอบรมสั่งสอน พร้อมทั้งทำหน้าที่ต่างๆ อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ๕ ข้อนั้น การปฏิบัติทั้งหมดนี้เรียกว่าการสงเคราะห์ ซึ่งสรุปได้ตามหลักสังคหวัตถุ เป็น ๔ อย่าง คือ

๑. พ่อแม่มีแต่การให้แก่ลูก ที่เรียกว่า ทาน

๒. พ่อแม่พูดจาด้วยน้ำใจปรารถนาดี และอบรมสั่งสอนให้คำแนะนำ ชี้แจงบอกเล่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ เรียกว่า ปิยวาจา

๓. พ่อแม่ลงมือลงแรง เอาแรงกายของท่านทำโน่นทำนี่ให้ โดยเฉพาะเมื่อลูกยังเล็กอยู่ทำอะไรเองไม่ได้พ่อแม่ก็ทำให้ แม้แต่การเลี้ยงดูต่างๆ ก็เป็นการลงมือปฏิบัติโดยใช้เรี่ยวแรงของท่านช่วยเราทั้งนั้น การเอาแรงกายเข้าช่วยนี้ เรียกว่า อัตถจริยา

๔. พ่อแม่อยู่กับลูก ร่วมสุขร่วมทุกข์กับลูก ทำตัวเข้ากับลูกได้ ปฏิบัติต่อลูกทุกคนอย่างเสมอภาค เสมอต้นเสมอปลายกับลูก ไม่ถือเนื้อถือตัว อย่างลูกสมัยปัจจุบันนี้ บางทีเล่นศีรษะพ่อแม่ข้ามไปข้ามมา คนอื่นมาทำไม่ได้พ่อแม่จะโกรธเอา ข้อนี้เรียกว่า สมานัตตตา

อันนี้เป็นหลักปฏิบัติที่ท่านเรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ ประการ ซึ่งพ่อแม่มีต่อลูกเป็นประจำ แต่ทั้งหมดนั้น โดยสรุปแล้วก็รวมเป็นการสงเคราะห์ ๒ ประเภท คือ

๑. อามิสสงเคราะห์ สงเคราะห์ด้วยอามิสคือวัตถุสิ่งของ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น อันนี้ชัดเจนอยู่แล้ว

๒. ธรรมสงเคราะห์ สงเคราะห์ด้วยธรรมคือการแนะนำสั่งสอน ให้รู้จักชั่วดี บาปบุญ เหตุผล หรือการแสดงเมตตากรุณาที่ท่านปฏิบัติต่อลูกอยู่ตลอดเวลา มีความรักความเอาใจใส่ มีความอดทนต่อลูก ลูกจะทำอะไรเป็นเหตุให้พ่อแม่ต้องวุ่นวายยุ่งยาก ท่านก็อดทน เป็นต้น

จากการสงเคราะห์ของพ่อแม่นี่แหละ ลูกก็จะเอาไปเป็นแบบอย่างในการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน สิ่งที่ควรย้ำไว้ก็คือการสงเคราะห์นั้น ประการสำคัญอยู่ที่ต้องให้ครบทั้งสองอย่าง คือ อย่ามีเพียงอามิสสงเคราะห์ ซึ่งเป็นการสงเคราะห์ด้วยวัตถุสิ่งของอย่างเดียว ต้องมีธรรมสงเคราะห์ด้วย

 

เลี้ยงลูกดี เท่ากับทำหน้าที่ต่อสังคมทั้งหมด

ถ้าพ่อแม่สงเคราะห์ลูกด้วยอามิสสิ่งของอย่างเดียว ไม่สงเคราะห์ด้วยธรรม ไม่ให้คำแนะนำสั่งสอน ไม่รู้จักอบรม เลี้ยงดูลูกแต่กาย ไม่เลี้ยงดูจิตใจ ต่อไปอาจจะเกิดโทษได้เพราะอามิสสิ่งของนั้นเป็นที่ตั้งของความโลภได้ พอมีความโลภแล้วก็จะมีความต้องการขยายออกไป อยากได้ไม่สิ้นสุด แล้วก็มีความหวงแหน ทำไปทำมาก็กลายเป็นการสงเคราะห์ที่นำมาซึ่งการแก่งแย่งกัน และเกิดการทะเลาะวิวาทได้ เพราะฉะนั้น ถ้าพ่อแม่ให้แต่อามิสสงเคราะห์อย่างเดียว ไม่ให้ธรรมสงเคราะห์ อย่างน้อยลูกก็ไม่มีความสามัคคีกัน จึงเกิดโทษได้

เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องให้ธรรมสงเคราะห์ด้วย ต้องสงเคราะห์ด้วยธรรม โดยแนะนำอบรมสั่งสอนปลูกฝังจริยธรรม ศีลธรรม ให้คุณธรรมความดีงามเจริญงอกงามขึ้นในจิตใจของลูก ให้ลูกมีความซาบซึ้งในความดีงาม และซาบซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งที่ดีงามให้เป็นการเลี้ยงดูชนิดที่ เลี้ยงทั้งกาย เลี้ยงทั้งใจ หรือ กายก็ให้ ใจก็เลี้ยง ไม่ใช่เลี้ยงแต่กาย ใจไม่เลี้ยงด้วย ถ้าเลี้ยงแต่กายไม่เลี้ยงจิตใจด้วย ก็จะเกิดผลเสียมากมายต่อชีวิตของเด็กเอง และต่อสังคม ฉะนั้นจึงต้องเลี้ยงใจด้วย ให้ใจเจริญงอกงาม เป็นใจที่ดีงาม เป็นคนที่เจริญสมบูรณ์พร้อมทั้งกายและใจ จึงจะเรียกว่าเป็นการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสธรรมไว้เป็นคู่กัน ให้มีทั้งอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกถูกต้อง โดยให้ทั้งอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์อย่างนี้แล้ว ธรรมสงเคราะห์ก็จะมาจัดอามิสสงเคราะห์ให้เกิดขึ้นและพอดีอีกทีหนึ่ง เช่นอย่างลูกๆ นี้ ได้ธรรมสงเคราะห์จากพ่อแม่แล้ว ลูกๆ มีธรรมก็มีความรักใคร่กัน มีความสามัคคีปรองดองกัน พอได้อามิสจากพ่อแม่ ก็เอาอามิสวัตถุสิ่งของที่ได้นั้นมาเผื่อแผ่แบ่งปันกัน ทำให้พี่น้องรักกันมีความสามัคคีกันยิ่งขึ้นไปอีก แล้วก็อยู่ร่วมกันด้วยความสุข ไม่ทะเลาะวิวาทกัน และลูกแต่ละคนนั้นก็มีทุนดีทางจิตใจและทางปัญญา ที่จะดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อไปในสังคม

ต่อแต่นั้น จากการที่มีอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ในครอบครัวระหว่างพี่น้อง ก็ขยายออกไปสู่ญาติมิตรเพื่อนบ้านและวงสังคมชุมชน ทำให้มีการสงเคราะห์กันกว้างขวางออกไป เพราะการสงเคราะห์ด้วยอามิสวัตถุสิ่งของและการสงเคราะห์ด้วยธรรม ที่มีดุลยภาพ เป็นไปอย่างสมดุลต่อกัน จะไม่ขัดขวางทำลายกัน แต่จะเสริมกันขยายวงกว้างขวางออกไปสู่ความไพบูลย์ แล้วก็จะทำให้สังคมร่มเย็นสุขสันต์กันโดยทั่ว การสงเคราะห์ที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ในบ้านของเรา จากการตั้งต้นของพ่อแม่ก็แผ่ขยายไปกว้างขวางทั่วทั้งสังคม

ด้วยการดำรงอยู่ในฐานะของผู้ให้กำเนิด พร้อมทั้งบำเพ็ญคุณธรรม และปฏิบัติตามหลักการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงได้ชื่อว่าเป็นปูชนียบุคคลของลูก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกย่องไว้ในตำแหน่งสำคัญ ๓ อย่างคือ

๑. เป็นพระพรหม ของลูก โดยเป็นผู้ให้กำเนิด ทำให้ลูกได้ชีวิตนี้มาดูและเป็นอยู่ในโลก พร้อมทั้งบำรุงเลี้ยงให้เจริญเติบโตทั้งกายและใจ ด้วยพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และสังคหวัตถุ ๔ อย่าง คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา

๒. เป็นบูรพาจารย์ ของลูก โดยเป็นอาจารย์คนแรก หรือครูต้น ผู้อบรมสั่งสอนให้รู้จักวิธีการที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เริ่มแต่วิธีกินอยู่ หลับนอน ขับถ่าย หัดยืน หัดเดิน หัดพูดจาปราศรัย รู้วิธีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้อื่น นำลูกเข้าสู่สังคมของมนุษย์ ตลอดจนสอนวิธีดำเนินชีวิตที่ดีงาม ฝึกฝนความคิดและคุณธรรม ก่อนอาจารย์ใดอื่น

๓. เป็นอาหุไนยบุคคล ของลูก โดยเป็นดุจพระอรหันต์ ที่มีจิตใจบริสุทธิ์สะอาด ซื่อตรง ไม่มีภัยอันตราย เข้าใกล้และอยู่ด้วยได้อย่างไว้วางใจ และสนิทใจโดยสมบูรณ์ เป็นผู้พร้อมที่จะให้อภัย และปลอบขวัญยามมีภัย ควรแก่การกราบไหว้เคารพบูชาของลูกตลอดกาล

พ่อแม่เป็นหลักโดยเป็นผู้นำหรือผู้ปกครองสูงสุดและเป็นศูนย์กลางการบริหารในบ้าน ครอบครัวเป็นสังคมพื้นฐาน บ้านเป็นโลกเริ่มแรกของลูกๆ เมื่อพ่อแม่ทำหน้าที่สมบูรณ์ดี และลูกๆ ดำเนินเข้าสู่วิถีชีวิตที่ถูกต้อง ครอบครัวมีความสุขเจริญงอกงาม ความดีงามและความสุขสันติ์ก็แผ่ขยายออกไปในสังคมตามหลักอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ดังได้กล่าวมา ทำให้โลกอยู่ดีมีสันติสุข

แม้ในทางพระศาสนาก็เหมือนกัน การที่ญาติโยมถวายปัจจัย ๔ และไทยธรรมต่างๆ แก่พระสงฆ์ ในแง่หนึ่งก็เป็นอามิสสงเคราะห์เหมือนกัน แต่เป็นเรื่องของบุญกุศลที่มีความหมายเลยต่อไปถึงการบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา ในเวลาเดียวกันนั้น พระสงฆ์ก็จะสงเคราะห์ญาติโยมด้วยธรรมสงเคราะห์ คือสงเคราะห์ด้วยธรรมเพื่อให้โลกนี้อยู่ในภาวะที่สมดุล หรือให้มีดุลยภาพเกิดขึ้น คือให้มีอามิสและธรรม ๒ อย่างคู่กันไป โดยเอาธรรมมาช่วยเสริม ตรึง และนำทางแก่อามิส แต่ต้องยอมรับว่าโดยทั่วไป ความสมดุลอย่างนี้ หาไม่ค่อยได้ เพราะคนมักทำไม่ครบถ้วน สังคมจึงมีปัญหาอยู่เรื่อย อย่างน้อยก็รักษาความเจริญไว้ไม่ได้ พอสังคมหนักไปทางอามิสด้านเดียวก็เกิดปัญหาทุกที มีปัญหาอย่างไร

 

เจริญแต่วัตถุ ธรรมเจริญไม่ทัน ความเสื่อมจะตามมาเร็วพลัน

ขอพูดถึงภาวะที่เป็นคู่กันอีกชุดหนึ่ง คือ ไพบูลย์ ๒ ไพบูลย์ คือ ความเจริญพรั่งพร้อม หรือความดาษดื่นแพร่หลาย ไพบูลย์ก็มี ๒ อย่างเหมือนกัน คือ

๑. อามิสไพบูลย์ ความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุ มีสิ่งบริโภคใช้สอยแพร่หลายดาษดื่น

๒. ธรรมไพบูลย์ ความเจริญพรั่งพร้อมทางธรรม มีความดีงาม ความชอบธรรมและความเป็นธรรมแพร่หลายทั่วถึงกัน

ในสังคมมักจะมีปัญหาความไม่สมดุลระหว่างไพบูลย์ ๒ อย่างนี้อยู่เสมอ ถ้าเราพัฒนาบ้านเมืองไปในทางวัตถุมาก เราก็จะมีอามิสไพบูลย์ คือมีวัตถุสิ่งของเครื่องใช้พรั่งพร้อมจนกระทั่งถึงขั้นฟุ้งเฟ้อ ผู้คนชอบเป็นอยู่หรูหราฟุ่มเฟือยและไม่รู้จักประมาณ จนกลายเป็นหมกมุ่นมัวเมา ถ้าไม่มีธรรมไพบูลย์มาช่วยตรึงไว้และนำไปในทางที่ถูกต้อง คนเหล่านี้ก็จะเสื่อมจากธรรมเช่นหมดความขยันหมั่นเพียรอดทน และความสามัคคี เป็นต้น ที่ทำให้เขาสร้างไพบูลย์ขึ้นมาได้ เขาจะรักษาแม้แต่อามิสไพบูลย์ไว้ไม่ได้ นอกจากนั้น เขาก็จะแย่งชิงกัน เบียดเบียนและเอารัดเอาเปรียบข่มเหงกัน ทำให้เกิดความไม่ปกติสุข สังคมเดือดร้อนระส่ำระสาย ในที่สุดอามิสไพบูลย์ก็ต้องสูญสลายไป เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเน้นว่าให้มีธรรมไพบูลย์ด้วย แต่โลกนี้ยากนักหนา เพราะว่า ในเวลาที่มีอามิสไพบูลย์แล้ว ก็มักจะเกิดความประมาท ความพรั่งพร้อมสะดวกสบายมักชวนให้หลง ชวนให้มัวเมา พอหลงมัวเมาแล้วก็ละทิ้งธรรมไพบูลย์ เอาแต่อามิสไม่คิดถึงธรรม

ฉะนั้น จะต้องระลึกไว้ โดยเฉพาะในหมู่ชาวพุทธจะต้องเตือนตนเองและเตือนกันอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องให้เกิดไพบูลย์ทั้งสองอย่างคู่กันไปเสมอ หลักพระพุทธศาสนาสอนไว้แล้วว่า อามิสทานต้องมีธรรมทานควบคู่ อามิสสงเคราะห์ต้องมีธรรมสงเคราะห์ควบคู่ อามิสไพบูลย์ต้องมีธรรมไพบูลย์ควบคู่ พอมีครบคู่แล้วไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว อามิสไพบูลย์จะไม่เสียหาย เพราะอามิสไพบูลย์ที่มาพร้อมกับธรรมไพบูลย์ จะเป็นไปในทางเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกัน และทำให้เกิดการสร้างสรรค์ที่ถูกทาง ทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น

แม้แต่ในวงการพระศาสนาเราก็ต้องคอยตรวจสอบเหมือนกัน เพราะถ้ามีอามิสไพบูลย์แล้วไม่ระวังให้ดีก็ทำให้เกิดโทษมากเหมือนกัน

ในวงการพระศาสนาปัจจุบันนี้ เป็นที่รู้กันอยู่ว่าประชาชนในเมืองไทยเราบำรุงพระสงฆ์กันมาก ประชาชนมีศรัทธาถวายทานแก่พระสงฆ์ ทั้งปาฏิบุคลิกทาน คือถวายเจาะจงเฉพาะองค์ และสังฆทาน คือถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม เรามีพิธีทำบุญถวายทานประเภทต่างๆ มากมาย ทั้งกฐินทาน ทั้งทอดผ้าป่า ทั้งงานพิธีตามบ้าน ตามสถานที่ทางธุรกิจและราชการ มีงานวัดและพิธีต่างๆ ไม่รู้ปีละกี่ครั้ง ทำบุญกันมากมายเหลือเกิน จนกระทั่งพูดได้ว่า วงการพระศาสนาในเมืองไทยนี้มีอามิสไพบูลย์ แต่พอมีอามิสไพบูลย์ขึ้นแล้ว ถ้าไม่ระวังก็จะเกิดความประมาทขึ้นทันที แล้วก็จะเกิดความหลง เกิดความมัวเมา อย่าว่าแต่ญาติโยมเลย พระสงฆ์เองก็มัวเมาเกิดความประมาทได้ เมื่อประมาทแล้วก็ไม่เอาใจใส่ในธรรม มุ่งแต่จะหาวัตถุปรนเปรอตัวเองให้อยู่สุขสบาย เสร็จแล้วความเสื่อมก็คืบคลานเข้ามา

 

มองให้ถูก พระไม่ดี หรือคนร้ายมาทำลายศาสนา

สภาพความเสื่อมนี้ในปัจจุบันญาติโยมพูดกันมาก เพราะมีข่าวร้ายต่างๆ มากมาย เรื่องอย่างนี้พระสงฆ์ก็ควรจะเอามาพูดบ้าง ไม่งั้นญาติโยมพูดฝ่ายเดียวจะกลายเป็นนินทาพระ แต่ถ้าพระเอามาพูดบ้างในฐานะที่เป็นผู้รู้เรื่องทางธรรม พูดในทางแนะนำและหาทางแก้ปัญหา ก็จะได้มีทางช่วยกันให้รู้จักวางใจได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อเรื่องร้ายๆ และปัญหาเกิดขึ้น พระจำเป็นต้องเอามาพูดให้โยมรู้ว่า ความเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร มีทางแก้ไขอย่างไร เราจะได้ช่วยกันป้องกัน และที่จริงนั้นตัวเราเองก็มีหน้าที่ด้วย เพราะว่าในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนเรามีหน้าที่ช่วยกันป้องกันพระศาสนา

อย่างวันสองวันนี้ก็ได้ข่าวอีกแล้วรายใหม่ อาตมาเองก็ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ แต่ท่านมหาและหลวงลุงท่านก็อ่านและท่านเล่าให้ฟังว่า มีพระองค์หนึ่งไปหลอกร้านค้าเพชร เอาเพชรไปแล้ว ไม่จ่ายเงินให้แก่เขาจำนวนเป็นล้านๆ บาท และขอประทานอภัยก็ไปทำศิวลึงค์นำไปแจกในต่างประเทศ พอฟังหรืออ่านข่าวพระประพฤติอย่างนี้แล้วโยมก็อาจจะพูดว่า พระไม่ดี พระเสียหาย พระหลอกลวง พระเหลวไหล ไม่น่านับถือ จากพระไม่ดี ก็เลยพาลพาโลต่อไปว่าพระพุทธศาสนาไม่ดี แล้วก็จะไม่นับถือพระ จะเลิกนับถือพระพุทธศาสนา

ที่จริงนั้น พระพุทธศาสนาเป็นของเรา ไม่ใช่เป็นของพระองค์นั้น เพราะว่าคนที่จะมีสิทธิเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนานั้นจะต้องเป็นพุทธบริษัท พุทธบริษัทก็คือผู้ที่ทำหน้าที่ของชาวพุทธอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นพระก็ต้องเป็นพระที่ประพฤติปฏิบัติและทำหน้าที่ของพระอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาก็เป็นคฤหัสถ์ที่ทำหน้าที่ของชาวบ้านอย่างถูกต้อง ถ้าเราทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนถูกต้อง เราเองนี่แหละเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา

ในทางตรงข้าม พระก็ตาม ญาติโยมก็ตาม แม้จะประกาศตนเป็นชาวพุทธ แต่ถ้าปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง ทำตัวเหลวไหล ก็ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ควรจะระแวงว่าเป็นคนร้ายที่แฝงซ่อนเข้ามาหาประโยชน์จากพระศาสนา ที่เรียกกันว่าเข้ามาปล้นศาสนา

เพราะฉะนั้น พระที่ประพฤติเลวทรามเหล่านั้นเราไม่ถือว่าเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา โยมจะต้องไม่มองว่าเป็นพระประพฤติชั่ว โยมจะต้องมองว่าคนชั่วเข้ามาทำลายพระศาสนา ถ้าเราวางใจให้ถูกต้องอย่างนี้แล้วพระศาสนาก็จะดีขึ้น เราจะต้องมีความรับผิดชอบต่อพระศาสนา อย่าถือธุระไม่ใช่ อย่ายกสมบัติของเราให้คนร้ายเอาไป

อาตมาเคยเปรียบเทียบบ่อยๆว่า ถ้ามีโจรเข้ามาปล้นบ้านแล้วเรายกสมบัติให้โจรไปเลย อย่างนี้ถือว่าวิปริตใช่ไหม ที่ถูกนั้นเราก็ต้องรักษาทรัพย์สมบัติของเรา แต่ที่เป็นกันเวลานี้เราก็ทำอย่างนี้อยู่โดยไม่รู้ตัว คือ ทั้งๆ ที่พระศาสนานี้เป็นของเรา แต่พอมีโจรคือคนที่แฝงตัวอยู่ในเพศของพระประพฤติไม่ดี ทำเสียหาย เป็นโจรปล้นศาสนา พอมีโจรเข้ามาปล้นพระศาสนาของเราอย่างนี้ แทนที่เราจะช่วยกันรักษาพระศาสนาของเราๆ กลับยกศาสนาให้โจรไปเสียนี่ อย่างนี้เขาเรียกว่ายกสมบัติให้โจร เพราะฉะนั้นอย่าทำอย่างนี้ เรากำลังทำผิดพลาด ต้องทำใจให้ถูกต้อง เราต้องรักษาพระพุทธศาสนาของเรา

 

ดูให้ดี ปัญหาอยู่ที่คนร้าย หรืออยู่ที่ตัวเรา

พระพุทธเจ้าทรงระวังมากในเรื่องอามิสไพบูลย์ และธรรมไพบูลย์ ทรงเตือนให้เตรียมสร้างธรรมไพบูลย์ไว้ให้พร้อม และให้ไม่ประมาทในเวลามีอามิสไพบูลย์ เช่น ก่อนที่จะปรินิพพาน พระองค์ก็ได้ทรงวางเงื่อนไขไว้ว่า ต้องให้พุทธบริษัททุกฝ่ายมีคุณสมบัติ อย่างน้อย ๓ ประการ จะเป็นพระคือภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ตาม ทุกคนควรจะมีคุณสมบัติ ๓ ประการต่อไปนี้ จึงจะถือว่ามีธรรมไพบูลย์ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยืนยาวได้

พระพุทธเจ้าทรงวางเงื่อนไข ๓ ประการนี้ไว้ในตอนจะรับอาราธนาปรินิพพาน มีเรื่องว่ามารมาอาราธนาพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระองค์ตรัสว่าจะยังไม่ปรินิพพาน และพระองค์ก็ทรงวางเงื่อนไขไว้ ๓ ประการ ต่อมาครั้งสุดท้ายมารก็มาอาราธนาอีกโดยทวงว่าเงื่อนไขที่พระองค์ได้ทรงวางไว้นั้นสมบูรณ์แล้ว ขอนิมนต์ปรินิพพานได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงสำรวจดู ปรากฏว่าเงื่อนไขที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ ๓ ประการ ครบแล้วจริง พระองค์ก็เลยรับอาราธนาปรินิพพานแล้วทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือตกลงพระทัยว่าจะปรินิพพาน ในที่นี้สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าการปลงพระชนมายุสังขาร ก็คือเงื่อนไข ๓ ประการนี้ที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ว่า

พุทธบริษัททุกประเภท คือทั้ง ๔ พวก จะต้องมีความสามารถที่จะดำรงพระศาสนาได้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน มิฉะนั้นพระองค์ก็จะต้องทำหน้าที่ของพระศาสดาต่อไป หมายความว่าพระองค์ทรงฝากพระศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ที่มีความสามารถ ๓ ประการ ความสามารถ ๓ ประการนี้มีอะไรบ้าง

๑. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาจะต้องรู้หลักธรรม เข้าใจคำสั่งสอนของพระองค์แล้วนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง พูดสั้นๆ ว่า รู้คำสอนและปฏิบัติได้ถูกต้อง

๒. ให้สามารถยิ่งกว่านั้นอีก คือ นอกจากรู้เข้าใจปฏิบัติได้ถูกต้องด้วยตนเองแล้ว ยังนำไปบอกกล่าวชี้แจงสั่งสอนคนอื่นได้ด้วย คนที่จะไปบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนชี้แจงคนอื่นได้นั้น

(๑) จะต้องมีความสามารถที่จะแนะนำสั่งสอน และ

(๒) ต้องมีน้ำใจประกอบด้วย เมตตากรุณา บางคนถึงจะมีความสามารถแต่ไม่มีน้ำใจกรุณา ก็ไม่ใส่ใจที่จะสอน ก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน จึงต้องมีทั้งน้ำใจ ต้องมีทั้งความสามารถ แล้วก็เอาธรรมไปแนะนำสั่งสอนแก่คนอื่นต่อไป

๓. ข้อสุดท้ายว่า ถ้ามีการจาบจ้วง คำว่าจาบจ้วงนี่เป็นภาษาโบราณ หมายความว่ามีการกล่าวร้ายต่อพระศาสนา หรือมีการสั่งสอนลัทธิที่ผิดจากธรรมผิดจากพระวินัยขึ้น ก็สามารถกล่าวแก้ชี้แจงกำราบได้ เรียกว่ากำราบปรัปวาทได้

เงื่อนไขคุณสมบัติของพุทธบริษัท ๓ ประการนี้ เราจะต้องเอามาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับสำรวจตรวจสอบพุทธศาสนิกชนว่า จะสามารถรักษาพระศาสนาได้หรือไม่ เพราะว่าโดยหลักการ ๓ ประการนี้ก็เท่ากับว่า พระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพาน ได้ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้แก่เราแล้ว ถ้าพุทธศาสนิกชนไม่มีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้แล้ว ก็จะรักษาศาสนาของพระพุทธเจ้าไว้ไม่ได้ พระพุทธศาสนาก็ต้องเสื่อมแน่นอน

เราไม่ต้องไปคำนึงมากนัก เรื่องพระที่ประพฤติเสียหายอะไรนั้นเป็นเรื่องรองลงไป คุณสมบัติ ๓ อย่างของตัวเราเองนี้แหละสำคัญกว่า เรื่องพระประพฤติเสียหายทำไม่ดีนั้น ถ้ามีขึ้นมาเราถือว่าเป็นโจร เป็นคนร้ายเข้ามาทำลายพระศาสนา เราก็ต้องช่วยกันรักษาพระศาสนา เพราะพระศาสนานี้เป็นสมบัติส่วนรวมของเรา แต่ถ้าเราไม่มีคุณสมบัติ ๓ อย่างนั้น โจรจะเข้ามาหรือไม่ เราก็จะรักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้ ดีร้ายตัวเราอาจจะกลายเป็นโจรไปเสียเอง แต่ถ้าเรามีคุณสมบัติสามประการนี้แล้วเราก็รักษาพระศาสนาของเราไว้ได้ ขอทวนอีกครั้ง

๑. รู้เข้าใจธรรมวินัย และปฏิบัติได้ถูกต้องด้วยตนเอง

๒. มีความสามารถและเอาใจใส่ที่จะบอกกล่าว ชี้แจงสั่งสอนธรรมแก่ผู้อื่น

๓. เมื่อมีลัทธิคำสอนที่ผิดพลาดแปลกปลอมขึ้นมาก็สามารถกล่าวชี้แจงกำราบได้

สามประการนี้แหละเป็นธรรมไพบูลย์ ซึ่งจะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เพียงแต่เราปฏิบัติถูกต้อง ธรรมก็ไพบูลย์อยู่ในตัวเราแล้ว เมื่อเราเอาไปแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้รู้และปฏิบัติกันกว้างขวางยิ่งขึ้น ธรรมก็ไพบูลย์กว้างขวางออกไปทุกที แม้จะมีคำสอนอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นมาก็ชี้แจงแก้ไขได้ อุปสรรคก็หมดไป นี่แหละเป็นธรรมไพบูลย์ที่แท้จริง

 

ถ้าธรรมไพบูลย์นำหน้า อามิสไพบูลย์ก็พาสู่สันติสุข

ฉะนั้น ตามหลักที่ถูกต้อง เมื่อมีอามิสไพบูลย์ก็ต้องให้อามิสไพบูลย์นั้นเป็นพื้นฐานแก่ธรรมไพบูลย์ เวลานี้บ้านเมืองของเราเขาว่ากันว่ามีเศรษฐกิจดีพอสมควร คนที่ยากจนก็มี บางคนก็พูดว่าเศรษฐกิจบ้านเมืองเราก็ไม่ดีเท่าไร ยังมีความยากจนมาก คนจนก็ยังเยอะแยะ กระจายความเจริญไปไม่ทั่วถึง ฐานะคนห่างกันมาก อันนั้นก็ต้องแก้ปัญหากันต่อไป แต่อย่างน้อยเราก็ได้ส่วนหนึ่ง เพราะถ้าเทียบกับบางประเทศ ประเทศเราก็มีฐานะเศรษฐกิจดีไม่น้อย คนที่อยู่กันสุขสำราญ ถึงขนาดที่ว่าฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไปก็เยอะ ปัญหาอยู่ที่ว่า เราเอาสภาพอามิสไพบูลย์ ที่มีความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้นมาเป็นฐานให้แก่ธรรมหรือเปล่า หรือเกิดความหลงละเลิงมัวเมาไปในทางตรงข้าม อันนี้เป็นจุดแยกที่สำคัญ

ถ้ามีความพรั่งพร้อมทางวัตถุแล้ว ความพรั่งพร้อมของวัตถุกลายเป็นปัจจัยให้เราเกิดความประมาทมัวเมา อันนั้นก็เป็นทางเสื่อม แต่ถ้าเอาอามิสไพบูลย์ที่มีวัตถุพรั่งพร้อมนั้นมาเป็นอุปกรณ์เสริมธรรม สร้างสรรค์ความดีงามทำประโยชน์ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข มีความสามัคคีกัน ก็กลายเป็นความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปอีก ปัญหาประเทศรวย แต่ประชาชนยากจนก็จะหมดไปเองด้วย การกระทำอย่างนี้ก็เหมือนอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชตอนที่พระองค์มีอำนาจและกลับพระทัยหันมาประพฤติธรรมแล้ว

พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ตอนแรกพระองค์ก็เป็นราชาที่เหี้ยมโหด เรียกว่า พระเจ้าจัณฑาโศก แปลว่าอโศกผู้ดุร้าย คือคิดแต่จะแสวงหาความยิ่งใหญ่และการบำรุงบำเรอความสุขของตน ยกกองทัพไปรุกรานรบราฆ่าฟันประเทศอื่น เพื่อตัวจะได้เป็นใหญ่ และแย่งชิงทรัพย์สมบัติของคนอื่น พอปราบเขาได้ตนเองก็เป็นใหญ่สมปรารถนา แต่เมื่อพระองค์ได้มาสดับธรรมก็เปลี่ยนพระทัยกลับใจใหม่ แลเห็นว่าเราจะแสวงหาทรัพย์สมบัติหาความยิ่งใหญ่ไปทำไม ไม่มีสาระแท้จริง แล้วยังก่อความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่คนมากมาย

แต่ก่อนนี้หาทรัพย์สมบัติมาเพื่อบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเอง และไปปราบปรามเขาเพื่อตัวจะได้เป็นใหญ่ แต่ตอนนี้เห็นว่าทรัพย์และอำนาจไม่มีความหมาย มองเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้องชอบธรรมที่จะไปแย่งชิงเงินทองเขาและไปปราบปรามเบียดเบียนเขา

ทีนี้ พระเจ้าอโศกจะทำอย่างไร ลองทายกันดู พระเจ้าอโศกจะสละทรัพย์สมบัติและสละความยิ่งใหญ่นั้นทั้งหมดหรืออย่างไร พระเจ้าอโศกคิดออกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องสละโภคทรัพย์และความยิ่งใหญ่ แต่พระองค์เปลี่ยนใหม่ เอาทรัพย์สมบัติและอำนาจความยิ่งใหญ่มาเป็นอุปกรณ์ของธรรม แต่ก่อนนี้ ใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องมือหาสิ่งบำเรอความสุขสำราญของตนและแสดงความยิ่งใหญ่ แต่คราวนี้เอาทรัพย์และอำนาจนั้นมาใช้ในแนวทางใหม่ให้เป็นเครื่องมือแผ่ขยายธรรม สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม และประโยชน์สุขแก่ประชาชนและโลกทั้งหมด

การปฏิบัติของพระเจ้าอโศกนี้ เป็นคติสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในเรื่องทรัพย์สมบัติและยศศักดิ์อำนาจ คนบางคนมีความคิดดี มีสติปัญญาความสามารถ แต่ไม่มีทรัพย์สินเงินทอง ไม่มีอำนาจ จะทำอะไรก็ทำได้นิดเดียวและสำเร็จยาก เพราะไม่มีเครื่องมือในการทำงาน ไม่มีคนเชื่อฟัง แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีทรัพย์และอำนาจ พอมีความคิดดีๆ ก็เอาทรัพย์และอำนาจนั้นมาใช้ในทางทำความดีและทำการสร้างสรรค์ ก็ออกเป็นงานเป็นการได้ผลดีอย่างกว้างขวางและสำเร็จทันทีเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้จักใช้ คือเอามาเป็นเครื่องมือของธรรม หรือรับใช้ธรรม ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจก็กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์

พระเจ้าอโศกก็ได้เปลี่ยนทันทีว่า ต่อไปนี้จะเอาทรัพย์สมบัติและอำนาจมาใช้เป็นอุปกรณ์เผยแผ่ธรรม ขยายความดีงามและประโยชน์สุขออกไปในโลก ทรงประกาศไว้ในศิลาจารึกมีสาระสำคัญว่า ยศ (ความยิ่งใหญ่ อำนาจ ตลอดจนทรัพย์สมบัติ) ไม่มีความหมาย ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้คนประพฤติธรรม เพราะฉะนั้น พระองค์ก็เลยส่งเสริมการเผยแผ่ธรรม สนับสนุนการประกาศพระศาสนาเป็นการใหญ่ การที่เราได้พบเห็นพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ก็เป็นผลมาจากการปฏิบัติธรรมของพระเจ้าอโศก ที่ได้ทรงใช้ทรัพย์สมบัติและยศอำนาจในทางที่ถูกต้องตามหลักธรรม คือใช้เป็นอุปกรณ์เผยแพร่ธรรม

ตามที่อาตมภาพได้พูดมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า คนเราจะอยู่กันในโลกได้ดีก็ต้องอยู่ด้วยการสงเคราะห์ ๒ ประการ คือ อามิสสงเคราะห์โดยมีธรรมสงเคราะห์ด้วย สำหรับอามิสสงเคราะห์นั้นในแต่ละครอบครัวก็เริ่มมาจากบิดามารดา คือคุณพ่อคุณแม่ของเรา และถ้าท่านให้ธรรมสงเคราะห์ด้วย ในบ้านเรือนในครอบครัวก็อยู่เย็นเป็นสุข ลูกหลานก็มีความสามัคคีกัน ลูกหลานนั้นก็จะเอาอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ ออกไปเผยแผ่ขยายกว้างขวางออกไปด้วย เมื่อแต่ละครอบครัวปฏิบัติได้ตามหลักอย่างนี้ ประชาชนทั่วทั้งสังคมก็จะอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข

การที่ลูกหลานมีความสามัคคีก็เป็นการประพฤติธรรม แสดงว่าต้องมีธรรมสงเคราะห์อยู่ในครอบครัว และเมื่อเรามีทั้งอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์แล้ว ก็จะมีอามิสไพบูลย์และธรรมไพบูลย์ต่อไป

หมายเหตุ: ธรรมกถาในการบำเพ็ญทักษิณานุประทาน ครบ ๑๐๐ วัน คุณพ่อคุนเกา แซ่ตั้ง วันศุกร์ที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง