ดุลยภาพ: สาระแห่งสุขภาพและความสมบูรณ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ดุลยภาพ:
สาระแห่งสุขภาพและความสมบูรณ์1

ขอเจริญพร

วันนี้เป็นวันสิริมงคลวันหนึ่ง เป็นสิริมงคลที่เกิดจากกุศล คือการทำความดีงาม ทั้งนี้เพราะว่าทางโรงพยาบาลบ้านสวน ทั้งผู้บริหารและบุคลากร มีคุณหมอลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ เป็นประธาน ได้จัดงานทำบุญเลี้ยงพระ พร้อมทั้งมีการสังสรรค์เนื่องในโอกาสส่งปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นอกจากนั้นทางฝ่ายท่านที่รับการรักษาเรียกง่ายๆ ว่า ฝ่ายคนไข้ ก็ได้กรุณามีน้ำใจให้เกียรติมาร่วมในงานสังสรรค์ครั้งนี้ด้วย

การที่ได้แสดงออกซึ่งน้ำใจร่วมกัน อันเป็นความมีไมตรีจิตมิตรภาพ มีเมตตาต่อกัน และมีความสามัคคี นี้แหละคือกุศล คือตัวบุญ เพราะทางพระพุทธศาสนานั้นบอกว่า สิริมงคลเกิดจากการกระทำความดีของเรา คือ การกระทำความดีทางกาย วาจา ใจ ได้แก่ ทำดี พูดดี และคิดดี

มงคลสองด้านประสานเสริมกัน

เวลาช่วงนี้เป็นโอกาสที่เราถือกันมาตามนิยมว่า เป็นระยะกาลของความสุขคือการส่งปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ก็เลยนิยมกันที่จะจัดงานสนุกสนานบันเทิง และนอกจากสนุกสนานบันเทิงกันในหมู่ญาติมิตรแล้ว ในฐานะพุทธศาสนิกชน ก็ทำบุญด้วย เพิ่มความเป็นสิริมงคลให้มากขึ้น

ที่ว่ามานี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง คือเรื่องของกาลเวลาที่มีการสุขสันต์หรรษา เนื่องในโอกาสที่เป็นมงคล

นอกจากนี้ก็ยังได้รับทราบเป็นส่วนพิเศษว่า ช่วงเวลานี้เป็นระยะที่คุณหมอลดาวัลย์ ได้จัดตั้งมูลนิธิขึ้นมา ซึ่งตกลงว่าจะใช้ชื่อว่า "มูลนิธิดุลยภาพบำบัด เพื่ออายุและสุขภาพ" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจะเผยแพร่การรักษาโรค รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ด้วยวิธีการตามแบบที่เรียกว่า holistic หรือแบบองค์รวม ในที่นี้เราใช้คำว่า ดุลยภาพ หมายความว่า รักษาดุลยภาพขององค์รวมนั้น หรือทำให้องค์รวมนั้นดำรงอยู่ในดุลยภาพนั่นเอง ส่วนที่ว่าส่งเสริมสุขภาพนั้น ก็เพื่อให้มีทั้งสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาว

คุณหมอลดาวัลย์ตั้งใจที่จะเผยแพร่การรักษา และส่งเสริมสุขภาพตามแบบ holistic นี้ให้กว้างขวางออกไปแล้วก็ตั้งใจให้เกิดประโยชน์เป็นความสุขแก่ประชาชน นี่ก็ถือว่าเป็นความตั้งใจที่เป็นบุญเป็นกุศล จึงหวังว่ามูลนิธินี้จะได้บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคมสืบต่อไป

รวมความเท่ากับว่ามีความเป็นสิริมงคลหรือเรื่องบุญกุศลเข้ามาผนวกกันเป็นสองด้าน เป็นการเสริมกันให้มั่นคงยิ่งขึ้น คือในส่วนของมงคลปีใหม่ก็ด้านหนึ่ง และมงคลที่เกิดจากการริเริ่มตั้งมูลนิธิดุลยภาพบำบัดเพื่ออายุและสุขภาพก็อีกด้านหนึ่ง สองด้านนี้เสริมซึ่งกันและกัน

ปีใหม่ก็มีเรื่องของมูลนิธินี้ หรือว่าเรื่องของการตั้งมูลนิธิการกุศลเข้ามาช่วยเสริมให้ปีใหม่นั้นมีความหมายมากขึ้น ในเวลาเดียวกันการตั้งมูลนิธิที่มาประจวบในช่วงนี้ก็เป็นระยะเวลาที่เป็นมงคลสำหรับตัวมูลนิธิเอง ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีคุณค่าและมีความหมายยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา และในการที่ตั้งมูลนิธิขึ้นในระยะนี้ ถ้าจิตใจบันเทิงผ่องใส ก็ถือว่าตั้งขึ้นด้วยดี การเริ่มต้นที่ดีก็เป็นนิมิตหมายแห่งความสุขความเจริญยิ่งขึ้นต่อไป

ความสมบูรณ์มีไม่ได้ ถ้าไร้ดุลยภาพ

ทีนี้ว่าถึงดุลยภาพนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสำหรับตัวมนุษย์ และสำหรับสิ่งแวดล้อมทั้งปวง ดุลยภาพนี้เป็นภาวะที่ทำให้สิ่งทั้งหลายดำรงคงอยู่และดำเนินไปได้ด้วยดี

จะเห็นได้ง่ายๆ อย่างนกนี้มีสองปีก ถ้านกมีปีกเดียวก็บินไม่ได้ นี้เรียกว่า ไม่มีดุลยภาพโดยสิ้นเชิง ถึงแม้มีสองปีกแต่ปีกหนึ่งมีขน อีกปีกหนึ่งไม่มีขนก็คงบินยังไม่ได้ แม้แต่ว่าสองปีกมีขน แต่ว่าข้างหนึ่งขนไม่บริบูรณ์ ข้างหนึ่งบริบูรณ์ ขนสมบูรณ์ไม่เท่ากัน ปีกทั้งสองนั้นก็ไม่สามารถจะพานกให้บินไปได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็วเท่าที่ควรจะเป็น นับว่าเป็นความไม่สมบูรณ์ของนกนั้น

หันมามองดูสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นก็เช่นเดียวกัน อย่างเราประดิษฐ์เครื่องบินขึ้นมา ก็คล้ายๆ กับนกนั่นแหละ เครื่องบินก็มีปีกสองปีก หรือจะเพิ่มปีกข้างหลังอีกสองปีกเป็นสี่ปีกก็ได้ แต่ปีกทั้งสองด้านนั้นก็จะต้องทำให้เท่ากันหรือให้ได้ดุลย์กันเรียกว่า มีดุลยภาพอย่างบริบูรณ์ทีเดียว ถ้าขาดดุลยภาพก็เสียหลัก เครื่องบินก็บินไม่ขึ้น ถ้ามีเหตุอะไรทำให้ปีกข้างใดข้างหนึ่งเสียขึ้นมาหรือว่าบกพร่องขึ้นมา ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้

เพราะฉะนั้นเรื่องของดุลยภาพนี้เราจะเห็นได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม ที่พูดมานี้เป็นสิ่งที่ไม่สลับซับซ้อน เรามองดุลยภาพแค่ส่วนที่มาเสริมกันสองอย่าง แต่ทีนี้ถ้าดูชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์กว้างขวางออกไป ก็มีอะไรต่ออะไรที่ซับซ้อนมากกว่านั้นอีก

พอถึงตอนนี้ดุลยภาพนั้นไม่ใช่มีเพียงสองส่วนและมาทำให้ได้สมดุลกัน แต่บางทีมันมีมากมาย เพราะว่าสิ่งทั้งหลายที่เราเรียกว่าเป็นองค์รวมหรือเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิด ที่มองเห็นกันในโลกนี้ เมื่อมองดูตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งก็เป็นหลักความจริงโดยทั่วไป เราจะเห็นว่าเป็นการประชุมกันเข้าของส่วนประกอบต่างๆ มากมาย เรียกว่ามีองค์ประกอบเยอะแยะมารวมกันเข้า มาชุมนุมกันเข้า มาประกอบกันเข้า เป็นสิ่งนั้นๆ ส่วนประกอบนั้น อาจจะมีมากมายเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพันอย่างก็ได้ เมื่อมีหลายอย่างมากเข้าก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ทีนี้ส่วนประกอบต่างๆ ที่มาอยู่ร่วมกันนั้นก็ต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นหลักธรรมดา มันสัมพันธ์กันเช่นโดยการทำหน้าที่ มาประกอบมาเสริมกันซึ่งแต่ละอย่างจะต้องทำหน้าที่ของตนๆ โดยสัมพันธ์กันอย่างพอเหมาะพอดีได้สัดได้ส่วน ถ้าทำหน้าที่ไม่พอเหมาะพอดีขึ้นมาเมื่อไรก็เกิดเรื่องเกิดปัญหาเมื่อนั้น นี่ก็คือเรื่องที่เราเรียกว่าหลักแห่งดุลยภาพ

ดุลยภาพทางร่างกายทำให้มีสุขภาพดี

ชีวิตของเรานี้ก็เป็นตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดเจน ชีวิตมนุษย์นี่ทางพระท่านเรียกว่า เป็นรูปนามหรือเป็นขันธ์ ๕ ก็เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มากมาย ทั้งรูปธรรมและนามธรรมมาประกอบกันขึ้น และส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้น เมื่อมันทำงานได้สัดได้ส่วนพอเหมาะพอดีกัน ชีวิตของเราก็ดำเนินไปด้วยดี แต่ถ้ามันไม่พอเหมาะพอดีกันขึ้นมาเมื่อไรก็เกิดปัญหาเมื่อนั้น

ดุลยภาพที่มองเห็นได้ง่ายๆ ในชีวิตคนเราก็คือ ด้านร่างกาย ร่างกายนี่แหละเป็นส่วนที่มองเห็นได้ง่าย คนเรานี้ถ้าส่วนประกอบทางร่างกายขาดดุลยภาพขึ้นเมื่อไร มีส่วนใดบกพร่องทำงานสัมพันธ์กันไม่ดี ไม่ได้สัดส่วนไม่พอเหมาะพอดี ก็เกิดปัญหา นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า โรคภัยไข้เจ็บ

ทีนี้ ถ้าปรับให้เกิดความพอเหมาะพอดี มีสมดุลขึ้น ได้สัดได้ส่วนแล้ว ชีวิตนั้นเรียกว่ามีองคาพยพอันสมบูรณ์ ก็เป็นอยู่ ดำรงอยู่ได้ด้วยดี อันนี้คือหลักที่สำคัญมาก และนี่แหละคือหลักที่เรียกว่าดุลยภาพ ดังนั้นดุลยภาพจึงมาสัมพันธ์กับสุขภาพ หมายความว่าถ้าไม่มีดุลยภาพ สุขภาพก็ไม่มี

ถ้าหากว่ามีดุลยภาพ รักษาดุลยภาพไว้ได้ สุขภาพก็ดำรงอยู่ ดังนั้นสุขภาพจึงอิงอาศัยดุลยภาพ ดุลยภาพก็คือความสัมพันธ์อย่างพอเหมาะพอดีได้สัดได้ส่วนกันระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายนั่นเอง นี่ก็คือเรื่องของดุลยภาพในแง่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต

หลักการที่ว่ามานี้เป็นสิ่งสำคัญที่อาตมภาพเข้าใจว่า ทางโรงพยาบาลบ้านสวนได้นำมาใช้ เมื่อวานนี้อาตมภาพก็ได้รับถวายหนังสือเล่มหนึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกของโรงพยาบาลบ้านสวน หรือของมูลนิธิดุลยภาพบำบัด เพื่ออายุและสุขภาพ ชื่อว่า HEAL เป็นฉบับที่ ๑ พูดถึงดุลยภาพบำบัด ที่เป็นเรื่องของร่างกายของเรา

สำหรับดุลยภาพบำบัดด้านร่างกายนี้ อาตมภาพคงจะไม่ต้องพูดมาก คิดว่าทางคุณหมอท่านทราบดีกว่า เพราะฉะนั้น ก็ให้เป็นเรื่องของคุณหมอที่ท่านจะอธิบายว่าดุลยภาพในด้านร่างกายนี้ มีความสำคัญอย่างไรต่อสุขภาพของเรา หรือว่าสุขภาพของมนุษย์เรานี้ ต้องอาศัยดุลยภาพอย่างไรบ้าง

ดุลยภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้ชีวิตมีความมั่นคง

ต่อไปนอกจากดุลยภาพในเรื่องร่างกายแล้ว ชีวิตมนุษย์เรานี้ที่จะดำรงอยู่ด้วยดีจะต้องอาศัยดุลยภาพอีกหลายอย่าง ตอนนี้เรามองออกไปจากตัวมนุษย์ เราไม่ได้มองจากโลกเข้ามา ไม่ว่าจะมองจากด้านไหนเป็นหลักก็ตาม ก็จะมองเห็นดุลยภาพ แต่ตอนนี้เราเอาชีวิตของมนุษย์เป็นหลัก เอาตัวมนุษย์เป็นแกนกลางแล้วมองออกไป เมื่อกี้นี้เริ่มจากร่างกายของเราก็บอกว่าสุขภาพนี้ต้องอาศัยดุลยภาพ

ทีนี้ต่อไปด้านที่สองที่ง่ายๆ ในการดำเนินชีวิตของเรานี้ เรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การทำมาหาเลี้ยงชีพ ความเป็นอยู่หรือเรื่องเศรษฐกิจ อันนี้ก็ต้องมีดุลยภาพเหมือนกัน ดุลยภาพอย่างง่ายที่สุด ก็คือ ดุลยภาพระหว่างการใช้จ่ายกับรายรับ รายได้กับรายจ่ายจะต้องได้ดุลกัน ถ้ารายได้น้อยแต่จ่ายมากก็ต้องเกิดปัญหา เกิดความบกพร่อง ชีวิตในด้านเศรษฐกิจก็เป็นโรค คือจะเป็นปัญหานั่นเอง

โรค แปลว่า สิ่งที่เสียดแทง สิ่งที่ทำให้ไม่สบาย เพราะฉะนั้น ถ้าชีวิตในด้านเศรษฐกิจของเราไม่มีสมดุลหรือไม่มีดุลยภาพ ชีวิตด้านเศรษฐกิจของเราก็จะต้องไม่สบาย มีความขัดข้อง เพราะฉะนั้น อย่างน้อยก็ต้องให้มีดุลยภาพระหว่างรายได้กับรายจ่าย

แต่ดุลยภาพระหว่างรายได้กับรายจ่ายนั้น ไม่ใช่แค่เพียงรายได้รายจ่ายเฉพาะที่มองเห็นว่าได้มาเท่าไรจ่ายไปเท่าไร แต่ดุลยภาพนั้นจะต้องมองไปถึงภาวะสมดุลอื่นๆ ด้วย เช่น การวางแผนเพื่ออนาคตเกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคงของชีวิต

ยกตัวอย่าง เช่น เรานี้มิใช่จะมีกำลังร่างกายแข็งแรงอยู่เรื่อยไปตลอดเวลาบางครั้งเราอาจจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรืออาจจะประสบเหตุภยันตราย หรือมีเหตุเร่งด่วนบางอย่างต้องใช้เงินจำนวนมากเกินกว่าที่ใช้ในขณะนี้ หรือเวลานั้นเราไม่สามารถจะทำงานหาเงินได้ก็จะต้องมีดุลยภาพในแบบที่ว่าเตรียมการเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต จึงต้องจัดเตรียมเงินไว้อีกส่วนหนึ่งที่เก็บไว้เป็นเงินสะสมสำหรับป้องกันภัยข้างหน้า อันนี้เป็นส่วนอนาคตฝ่ายรายได้ หรือฝ่ายเก็บรักษา เพื่อให้สมดุลกับส่วนที่จะใช้จ่ายที่เป็นอนาคตเหมือนกัน นี่ก็เป็นดุลยภาพอีกแบบหนึ่งคือดุลยภาพที่เป็นเรื่องของอนาคต

แม้ตลอดจนเรื่องการทำงานก็เช่นเดียวกัน คือต้องมีการวางแผน หมายความว่า จะต้องมีการสะสมทุน เพื่อจะได้นำเอาทุนนั้นมาใช้ในการประกอบกิจการงาน

เพราะฉะนั้น ในทางพระศาสนาท่านจึงพูดถึงดุลยภาพในเรื่องรายได้ รายจ่าย ดังจะเห็นได้ชัด เช่นในหลักธรรมหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่าการใช้จ่ายเงินของคนเรานี้ต้องให้มีภาวะที่เรียกว่า รายได้เหนือรายจ่าย หรือให้ได้ดุลกันในแง่ที่ว่าไม่ลบ คือไม่ให้ติดลบ แต่ถ้าบวกไม่เป็นไร อย่างน้อยไม่ให้ลบ

ท่านบอกว่าเปรียบเหมือนอย่างอ่างเก็บน้ำอ่างหนึ่ง ที่มีช่องน้ำเข้าสี่ช่อง และมีช่องน้ำออกสี่ช่อง เหมือนกับมีรายได้รายจ่ายพอเท่ากัน ก็พอเป็นไปได้ แต่ถ้าหากว่าช่องทางน้ำเข้าน้อย แต่มีช่องทางน้ำไหลออกมาก ก็จะเกิดปัญหาน้ำไม่พอใช้

ช่องทางน้ำออกก็คือพวกอบายมุข อบายมุขนี้มิใช่แค่เป็นทางน้ำออกในการใช้จ่ายเท่านั้น แต่เป็นทางน้ำรั่วเลยทีเดียว คือเป็นทางรั่วไหลหมดไปเปล่าของรายได้ ถ้ามีทางรั่วคืออบายมุขมากมาย เช่นหมกมุ่นในเรื่องสุรา การพนัน หรือในเรื่องการเอาแต่เที่ยวเป็นต้น อย่างนี้แหละคือทางรั่วไหลของรายได้ ถ้ารั่วไหลอย่างนี้ก็จะไปไม่ไหว

ส่วนในด้านทางเข้าท่านวางเป็นหลักไว้เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถธรรม คือธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบันมีดังนี้
๑. ต้องมีความขยันหมั่นเพียร รู้จักจัดการงานในการหาทรัพย์
๒. ต้องรู้จักเก็บรักษาทรัพย์ และป้องกันภัยอันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน
๓. ต้องรู้จักคบคน รู้จักสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในทางที่เกื้อกูลแก่กิจการงาน และในการที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความดีงามเจริญก้าวหน้า
๔. หลักการใช้จ่ายที่ว่าใช้จ่ายแต่พอดีเรียกว่า สมชีวิตา

ข้อที่ ๔ นี่แหละคือเรื่องสมดุลหรือดุลยภาพ ซึ่งในที่นี้เป็นเรื่องทางด้านเศรษฐกิจ

นี้เป็นตัวอย่างของดุลยภาพที่เราจะต้องนำมาใช้จัดการกับด้านเศรษฐกิจ คือชีวิตของการดำรงอยู่การทำมาหาเลี้ยงชีพ ถ้าหากว่าเราทำได้ดีมีดุลยภาพ ชีวิตของเราก็จะเป็นอยู่ได้ด้วยดี นี้ก็เป็นดุลยภาพอีกด้านหนึ่ง

สังคมไม่เสียดุลยภาพ ประชาชนก็ไม่ขาดสันติสุข

ดุลยภาพด้านอื่นก็มีอีกมาก เช่น ดุลยภาพในทางสังคม เราอยู่ในสังคมก็ต้องรักษาดุลยภาพเหมือนกัน ในการที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ไม่ให้เกิดผลเสียไม่ให้เกิดความบกพร่อง ถ้าเกิดผลเสียก็คือ ความสัมพันธ์ในทางสังคมของเราเอียง หรือทรุดไป เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ก็เกิดผลเสียแก่การดำเนินชีวิต ทำให้ไม่มีความก้าวหน้า ดุลยภาพในทางสังคมนี้มิใช่เฉพาะการที่เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยไม่เบียดเบียนกันและอยู่ร่วมกันด้วยดีเท่านั้น แต่หมายถึงว่าในสังคมวงกว้าง มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยดีอย่างไรก็ต้องอยู่ด้วยดุลยภาพทั้งนั้น

แม้แต่การที่เราจะจัดการศึกษาออกมานี่ ก็ต้องมีเรื่องของดุลยภาพ เช่นว่า สังคมนี้ในแง่เศรษฐกิจต้องการกำลังคนในอาชีพนี้หรือในวงงานนี้เท่าไรสำหรับปีต่อไป ก็จะต้องมีการวางแผนกัน เสร็จแล้วทางฝ่ายการศึกษาก็มาจัดว่าจะต้องผลิตบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในด้านนั้นออกมาให้พอ หรือถ้าวางแผนว่าจะให้ประเทศเจริญในด้านอุตสาหกรรม ก็ต้องเตรียมการศึกษาในด้านวิศวกรรม ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยวางแผนผลิตบัณฑิตในด้านนั้นให้ได้สัดได้ส่วนได้จำนวนที่เพียงพอ อย่างนี้ก็เป็นเรื่องของการสร้างดุลยภาพ ซึ่งต้องมีการจัดการอะไรต่ออะไรให้ปรับให้พอดีทั้งนั้น

แม้แต่เรื่องของสังคมวงกว้างที่เกี่ยวกับรายได้ รายจ่าย หรือความเป็นอยู่ ก็ต้องให้ฐานะของประชาชนไม่เหลื่อมล้ำต่ำสูงกันเกินไป มิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหา ดังนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องดุลยภาพทางสังคม ซึ่งสามารถพรรณนาไปได้มากมายไม่รู้จักจบสิ้น

เมื่อมนุษย์ทำลายธรรมชาติ ก็นำความพินาศมาสู่โลก

แต่มันไม่ใช่แค่นี้ การที่มนุษย์เราจะอยู่ด้วยดีในโลกนี้ก็ต้องสัมพันธ์กับธรรมชาติให้ดีด้วย ในแง่นี้ก็เช่นเดียวกัน มีปัญหาเกี่ยวกับดุลยภาพในทางธรรมชาติ หรือในด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่

ธรรมชาตินี้จะอยู่ได้ต้องมีดุลยภาพ ถ้าขาดดุลยภาพเมื่อไรก็เกิดปัญหาทันที อย่างในปัจจุบันนี้ถือว่า เกิดความบกพร่อง เกิดการเสียดุลยภาพหรือว่าไม่สมดุลขึ้นแล้วในธรรมชาติแวดล้อมหรือในระบบนิเวศน์ ตอนนี้กำลังมีปัญหามาก ไม่ว่าจะปัญหามลภาวะ เช่น น้ำเสีย ดินเสีย อากาศเสีย อะไรต่างๆ จนกระทั่งว่าไฟเสีย ถ้าพูดภาษาโบราณเรียกว่า ดิน น้ำ ไฟ ลมเสีย

ไฟเสียในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่าไฟดับ แต่หมายความว่าไฟมันไม่สมดุล คือว่า ความร้อนหรืออุณหภูมินั่นเองไม่พอดี ดังที่กำลังเกิดปัญหาว่า อุณหภูมิในโลกนี้ ชักจะร้อนขึ้น ชักจะสูงขึ้น นี่ก็เรียกว่าเป็นการเสียดุลยภาพในด้านไฟ

ด้านลม ที่ว่าลมเสียก็คืออากาศเป็นพิษมีมลภาวะมากมาย ดังที่ขณะนี้คนเป็นโรคเพราะอากาศเป็นพิษกันมากมาย

แล้วก็ดินเสีย ดินเดี๋ยวนี้ก็มีความเสียหาย หน้าดินถูกทำลายและทรุดโทรมสูญเสียไป เป็นปัญหาใหญ่ในทางเกษตรกรรม

ส่วนน้ำเสียก็ชัดเจน โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายพากันปล่อยของเสียลงไป น้ำเสียจนกระทั่งว่าปลาก็หมดไป บางทีหมดไปเป็นแม่น้ำๆ เป็นทะเลสาบๆ ไปเลย ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทะเลสาบหลายแห่งไม่มีสัตว์มีชีวิตเหลืออยู่

นี่ก็เป็นเรื่องของการเสียดุลยภาพ ในโลกมนุษย์นี้ ถ้าธรรมชาติแวดล้อมเสียดุลยภาพไป ต่อไปมนุษย์เองก็จะอยู่ไม่ได้ ที่ว่ามานี้ก็เรื่องดุลยภาพ ในสภาพแวดล้อมหรือธรรมชาติ ซึ่งเราจะต้องดูแลรักษา เป็นเรื่องของดุลยภาพอีกด้านหนึ่ง

แต่รวมแล้วไม่ว่าด้านไหนก็ตามมนุษย์ก็จะต้องพยายามรักษาดุลยภาพในเรื่องของดุลยภาพไว้ให้ได้

ดุลยภาพของจิตใจ ภายในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง

ต่อไปนี้ ก็จะวกกลับเข้ามาที่ตัวมนุษย์อีก เมื่อกี้นี้ พูดไปๆ ก็ห่างตัวออกไปทุกที แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับตัวเราทั้งสิ้น ทีนี้อยากพูดให้แคบเข้ามาอีกนิดหนึ่ง คือหันกลับเข้ามาที่ชีวิตนี้

เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงดุลยภาพของร่างกายของเรา แต่ชีวิตของเรานี่ไม่ใช่มีเพียงร่างกายอย่างเดียว อีกส่วนหนึ่งก็คือจิตใจ

ชีวิตของมนุษย์เรานี้มีกายกับใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีดุลยภาพของใจด้วยอีกส่วนหนึ่ง ทั้งกายและใจต่างก็ต้องมีภาวะที่เรียกว่า “ดุลยภาพ” นี้

ดุลยภาพในทางกายเราพูดไปแล้ว ถ้าหากว่าเสียดุลยภาพทางกายก็จะเกิดโรคทางกาย ทีนี้ในทางจิตใจก็เหมือนกัน ในทางจิตใจนี้ถ้าหากว่าเสียดุลยภาพก็จะมีโรคทางจิตใจ

จะเห็นว่าคนจำนวนมากเกิดปัญหา ที่เรียกว่า เป็นโรคจิต ลองไปดูเถอะ เขาเสียดุลยภาพทางจิตใจ ดุลยภาพไม่มี เขารักษาความทรงตัวไม่ได้แล้ว จิตของเขาทรุดลงไป มันเอียงลงไป ตะแคงลงไป มันดิ่งลงไปข้างใดข้างหนึ่ง อย่างเช่น บางคนดีใจเกินไปควบคุมไม่อยู่ก็เสียดุลยภาพ ถึงกับเสียจริตไปก็มี แต่อันนี้มีน้อย ที่เป็นมากก็คือเสียใจเกินไป ควบคุมตัวเองไว้ไม่อยู่ ก็เลยเสียจริต อย่างที่เรียกว่าเป็นบ้า

แต่การเสียดุลทางจิตใจนั้นไม่ใช่แค่นี้เท่านั้น เสียจิตนั้นเป็นขั้นที่รุนแรงมากแล้ว ทีนี้ คนที่เสียดุลยภาพถึงขั้นนั้นอาจจะมีไม่มากนัก แต่การเสียดุลยภาพทางจิตใจที่เป็นกันมากและหาได้ทั่วไป ก็คือ ภาวะขาดดุลยภาพในยามดีใจหรือเสียใจ แล้วปล่อยตัวให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อชีวิตและสังคม เช่น ในยามที่ดีใจเกินไป เมื่อได้โลกธรรมสมปรารถนาแล้วรักษาตัวไม่อยู่ ไม่มีดุลยภาพก็จะทำให้เกิดมีพฤติกรรมไม่ดีตามมา

คนเรานี้จะต้องประสบโลกธรรม คนที่อยู่ในโลกนี้ไม่มีใครพ้นโลกธรรมไปได้ โลกธรรมคืออะไร ก็คือได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ มีแปดอย่าง แยกเป็นสองด้าน คือ ฝ่ายที่น่าชอบใจเรียกว่า อิฏฐารมณ์ กับฝ่ายที่ไม่น่าชอบใจเรียกว่า อนิฏฐารมณ์

ฝ่ายที่น่าชอบใจเรียกว่า อิฏฐารมณ์ ก็คือ ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ และมีความสุข ฝ่ายที่ไม่น่าชอบใจเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ ก็คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์

การที่เราอยู่ในโลกนี้ ท่านบอกว่า ต้องรู้เท่าทันว่าเป็นธรรมดาที่เราต้องเจอโลกธรรมเหล่านี้ จะเจอมากหรือเจอน้อย ก็ต้องเจอบ้างล่ะ ไม่มีใครสามารถหลีกพ้นไปได้โดยสิ้นเชิง ทีนี้ข้อสำคัญก็คือว่าจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ถ้าวางตัวต่อมันไม่ถูกแล้ว ก็จะเกิดปัญหาแน่นอน

การวางตัวถูกต้อง ก็คือ การรักษาดุลยภาพทางด้านจิตใจไว้ ถ้าไม่รักษาดุลยภาพของจิตใจไว้ให้ได้ ไม่ว่าทางดีหรือทางเสีย ก็เสียทั้งคู่ ท่านเรียกว่าฟูกับยุบ คือถ้าทางดีก็ฟู ถ้าทางเสียก็ยุบ พอได้ลาภก็ฟู พอเสียหรือเสื่อมลาภก็ยุบ พอได้ยศก็ฟู พอเสื่อมยศก็ยุบ คนทั่วไปมักจะเป็นอย่างนี้

ดุลยภาพของจิตใจ: ศูนย์พลังยิ่งใหญ่แห่งการสร้างสรรค์

ทีนี้ จะทำอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าหากว่าได้แล้วเกิดเหลิงระเริงมัวเมา ได้เงิน ได้ทอง ก็ใช้กันเป็นการใหญ่สนุกสนานหากันแต่ความสุข ถ้าอย่างนี้ก็หมด ไม่ใช่หมดแต่เพียงทรัพย์เท่านั้น สุขภาพก็เสื่อมโทรมลงไปด้วยกับเงินที่หมดไปนั้น หรือว่าได้ยศก็มัวเมาในยศนั้น ถืออำนาจและใช้อำนาจนั้นในทางที่ผิด เช่น ข่มเหงเบียดเบียนผู้อื่น หรือทำการชั่วร้ายทุจริต หาผลประโยชน์ บำรุงบำเรอตนเอง สร้างปมสร้างปัญหาขึ้นมา ถ้าอย่างนี้การได้ลาภ หรือได้ยศนั้น ก็กลายเป็นเหตุให้ชีวิตของเขาต้องเอียงหรือตะแคงเสียดุลไป

ทีนี้ ในทางตรงกันข้ามถ้าหากประสบความเสื่อม พอเสื่อมลาภ เสื่อมยศ สูญเสียเงินทองมากมาย ประสบภัยพิบัติอันตรายและเสื่อมยศ เสียฐานะ ก็มีความเศร้าเสียใจเกินไปรักษาตัวไม่อยู่ จิตใจก็อาจจะเลยเถิดไป อาจจะเสียจริตเสียสติไปเลยบางทีไม่ถึงขนาดนั้นก็อาจจะเหงาหงอยเฉากาย เฉาใจ เป็นคนเสียสุขภาพ มีผลกระทบมาทางร่างกายอีกกลายเป็นคนที่ทั้งกายทั้งใจนี่บอบซ้ำ ทรุดโทรมไปหมด และชีวิตทั้งชีวิตก็หมด ก็เสื่อม ก็โทรม ก็ทรุดไป นี่ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อทั้งได้และเสีย คือฟูเกินไป และยุบเกินไป

ทีนี้ ถ้าปฏิบัติถูกต้องจะเป็นอย่างไร ถ้าปฏิบัติถูกต้องก็กลายเป็นว่า ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นผลดีแก่ชีวิตขึ้นมา เช่น คนได้ลาภ พอได้ลาภก็รู้ทันว่า นี่เป็นโลกธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่ในโลกเป็นธรรมดา เมื่อเราได้ ก็คือเหตุปัจจัยมาประกอบกัน ประจวบพอดีทำให้เป็นผลดีแก่เรา เราก็ควรใช้ลาภ ใช้เงินใช้ทองนี้ให้มันเป็นประโยชน์ หรือถ้าได้ยศ ก็ถือโอกาสใช้ยศให้เป็นประโยชน์ เป็นโอกาสที่จะสร้างสรรค์ความดี

เวลามีเงินมีทองก็ผูกมิตรไมตรี ช่วยเหลือเจือจานคนเข้าไว้ เป็นโอกาสแล้วที่จะทำความดี ถ้าคนมีความตั้งใจดี การได้เงินได้อำนาจเป็นต้น ก็เป็นโอกาสที่จะได้ทำความดีมากขึ้น แทนที่จะหลงระเริงมัวเมาใช้ไปในทางที่บำรุงบำเรอตัวเอง หรือข่มขี่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เอามาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทำความดีให้มากขึ้นส่งเสริมกัน ก็เท่ากับเป็นความดีทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นปลูกฝังเข้าไว้ อันนี้ก็กลายเป็นว่าการได้นั้น ทำให้เกิดความดีงามและประโยชน์สุขมากยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงสอนว่า ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง ลาภยศเป็นต้น ก็จะกลายเป็นโอกาสให้เราทำความดีได้มากยิ่งขึ้น

คนบางคนแม้จะมีความคิดที่ดีแสนดี แต่ไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจ จะทำอะไรก็ไม่สะดวก ไม่มีบริวารทำไม่ได้ติดขัดไปหมด ทำได้แคบๆ แต่ทีนี้พอมีเงินมีทรัพย์ก็สามารถนำเอาความคิดดีอย่างนั้นมาทำได้สบายเลย เงินก็มี บริวารก็มี ตำแหน่งฐานะและอำนาจก็มี พอมีอย่างนี้แล้ว คนเขาเชื่อถือ ทำอะไรก็ได้สะดวก ความคิดที่ดีงามนั้นก็เกิดผลงอกเงยออกไป เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ใช้ลาภยศในทางที่ถูกต้อง คือให้เป็นโอกาสในการที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้มากยิ่งขึ้นไป

ในทางตรงข้าม พอประสบความเสื่อมเสีย พบโลกธรรมฝ่ายที่ไม่น่าพอใจ เกิดเสื่อมลาภ เสียเงินเสียทอง หรือเสื่อมยศขึ้นมา ก็รู้เท่าทันอีกนั้นแหละว่า นี่แหละ ถึงคราวที่เราเจอบ้างแล้วนะ อ้าว มันก็เป็นบททดสอบเรา เอาล่ะ ให้มันรู้ไป เราเจอมันเข้าแล้วเป็นอย่างไร เอาเป็นบททดสอบ ถ้ามองในแง่เป็นบททดสอบ เราก็ปรับตัวปรับใจได้ ดูซิว่าเราเข้มแข็งมั่นคงพอไหม

ถึงจะเสียดุลยภาพกาย ก็ต้องรักษาดุลยภาพใจไว้ให้ได้

ในกรณีที่เสื่อมสุขภาพนี่ก็เหมือนกัน เราก็ต้องมองในแง่ดี อย่าไปมองในแง่ว่า โอ้ย เราแย่แล้วไม่ได้ความเลย ร่างกายของเราเสื่อมเสียแล้วทำอะไรก็ไม่ได้ ถ้ามองอย่างนี้ ก็ยิ่งทรุด แล้วก็จะเอียงหรือล้มไปเลย ในทางที่ถูกจะต้องมองให้เป็นคือมองว่าเราเกิดมาทีหนึ่ง ก็ได้มีประสบการณ์ที่เป็นกำไรชีวิต คนอื่นเขาอาจจะไม่เจอการเจ็บป่วยอย่างเรา เราเจอมันเข้าแล้วจะได้รู้จักทุกข์ที่เกิดจากโรคนี้ว่ามันเป็นอย่างไร

๑. เราได้ประสบการณ์ที่เป็นกำไรชีวิต หรือที่แปลกพิเศษ ซึ่งหลายคนไม่มีโอกาสได้พบ

๒. เราได้ทดสอบตัวเอง ดูความเข้มแข็งว่า เรามีความเข้มแข็งแค่ไหน จิตใจของเราเจออุปสรรคอันตรายขนาดนี้สู้ได้ไหม

๓. ถ้าหากว่าเจอขนาดนี้แล้ว เรายังไม่หวั่นไหว ยังเข้มแข็งสู้ได้ เราจะมีความภูมิใจเกิดปีติขึ้นมา จิตใจกลับสบายผ่องใสว่า เราสามารถทนต่อทุกข์ทรมานขนาดนี้ เอาชนะได้ สามาถทำจิตใจให้ดีได้

๔. การเป็นโรค เป็นโอกาสที่เราจะตัดกังวลหรือภาระอะไรบางอย่างลงไปได้ และสามารถใช้เวลาในขณะที่เป็นโรคนี้ ไปทำในสิ่งเป็นประโยชน์ เช่น บำเพ็ญเพียรทางจิตใจหรือจะมาพัฒนาทางจิตใจของเรา ให้จิตใจมีความสุขได้อีกด้านหนึ่งก็ได้

๕. ตัวโรคและความทุกข์อย่างที่ท่านเรียกว่าทุกขเวทนาที่เกิดจากโรคนั่นเอง เป็นของจริง เป็นประสบการณ์ตรง ซึ่งผู้ที่ได้ศึกษาธรรมแล้ว สามารถยกเอาขึ้นมาพิจารณา หรือมองลงไปตรงๆ ในเวลาที่มันกำลังเป็นอยู่นั้น แล้วทำให้มองเห็นสัจจธรรมของชีวิต จนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้ง บรรลุโลกุตตรธรรม ยกจิตใจขึ้นเป็นอิสระ เรียกว่าบรรลุมรรค ผล นิพพานได้

ตกลงว่าคนที่รู้จักปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าได้หรือเสียก็กลายเป็นได้ทั้งนั้น

ถึงอย่างไรก็ตาม เราต้องตั้งใจไว้ก่อนว่า เราจะต้องทำให้กลายเป็นการได้ในทุกกรณี ทางพระท่านถือหลักอย่างนี้ ท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ

คนใดเกิดมาในโลกมีโยนิโสมนสิการแล้ว เรียกว่าโอกาสที่จะสูญเสียมีน้อยอย่างยิ่ง ได้เสมอไป ไม่ว่าอะไรได้หมด เจออะไรที่ไม่ดี ใครว่าไม่ดี ฉันต้องได้ประโยชน์สักอย่าง ได้คติจากชีวิต ได้อะไรต่างๆ ได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่างน้อยก็ได้ประสบการณ์ หรือถ้าดีกว่านั้น ก็อาจจะถึงขั้นรู้แจ้งเห็นความจริงของโลก แม้แต่ปลงอนิจจังเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสิ่งทั้งหลาย แล้วทำใจให้เป็นอิสระได้

คนโง่ เสียดุลยภาพกายแล้วก็พลอยเสียดุลยภาพใจไปด้วย
คนฉลาด เอาดุลยภาพใจมาช่วยดุลยภาพกาย

บางคนเจอเหตุร้ายในชีวิต แต่รู้จักมองก็ได้ประโยชน์ แม้แต่ถึงขั้นสูงสุด อย่างเช่นบางท่านในสมัยพุทธกาล มีประวัติพระสาวกบางองค์ไปเจอเหตุร้ายในชีวิตแล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็เพราะได้ประสบภัยพิบัติ นี้เรียกว่ารู้จักถือเอาประโยชน์จากสิ่งทั้งหลาย อันนี้ก็คือหลักของดุลยภาพในชีวิต เรียกว่า เราต้องรู้จักถือเอาประโยชน์จากสิ่งทั้งหลาย และรักษาดุลยภาพของชีวิตเอาไว้ให้ได้

ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องของดุลยภาพด้านจิตใจ สภาพทางด้านจิตใจนี้ก็จะมาสมดุลกับทางร่างกาย จิตใจเองก็มีภาวะที่เรียกว่ามีดุลยภาพ หรือสมดุล อย่างที่อาตมภาพกล่าวแล้ว และยังจะมาสมดุลหรือดุลยภาพกับร่างกายด้วย เราไม่ใช่มีแต่ร่างกายเท่านั้น อย่างที่อาตมภาพพูดเมื่อกี้นี้ จะได้โยงให้เห็นว่า ร่างกายกับจิตใจนี่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ถ้าร่างกายของเรากระทบกระเทือน เราเหี่ยวเฉาทางร่างกาย ก็อาจจะมีผลกระทบให้จิตใจเสื่อมโทรมตามร่างกายไปด้วย ในทำนองเดียวกันถ้าเรารักษาร่างกายดี ทำให้จิตใจของเราสบายได้ง่าย เช่น คนที่ร่างกายแข็งแรง ก็ไม่ค่อยมีปัญหาทางร่างกายที่จะทำให้หงุดหงิดกังวลใจ แต่ถ้าร่างกายของเราเกิดความบกพร่อง ป่วยเจ็บขึ้นมา ก็มีโอกาสที่จะทำให้จิตใจถูกกระทบกระเทือน หงุดหงิดได้ง่าย ฉุนเฉี่ยวง่าย

นี่แหละเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดุลยภาพระหว่างร่างกายกับจิตใจ ร่างกายเสียดุลก็พลอยทำให้ใจเสียดุลไปด้วย ใจเสียดุลก็ทำให้กายเสียดุลไปด้วย

ทีนี้ คนที่รู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็คือว่าเวลากายเสียดุล ก็เอาใจมาช่วยกาย หมายความว่าคนที่ทำเป็นนั้นจะทำให้ผลย้อนกลับตรงข้าม คนที่ทำไม่เป็นพอร่างกายเสียดุล ใจก็เสียดุลด้วย เสียดุลไปทั้งชีวิต แต่คนที่ทำเป็นพอกายเสียดุล เขาก็ไปเสริมทางจิตใจ เอาจิตใจมาช่วยถ่วงดุลไว้ ทำให้กายได้ดุลสูงขึ้นไป และกลับมาช่วยร่างกายให้ดีขึ้น

ดังนั้นหลักเรื่องดุลยภาพนี้จึงสำคัญมาก และดุลยภาพระหว่างกายกับใจก็เป็นเรื่องใหญ่อันหนึ่ง คือดุลยภาพของกายก็ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณหมอได้พูดเป็นพิเศษ กับดุลยภาพของใจที่พระพูดเป็นพิเศษ แล้วก็ยังมีดุลยภาพระหว่างกายกับใจที่สัมพันธ์กันนี้อีก ซึ่งก็จะต้องเอามาช่วยเสริมกันให้ได้อีก อย่างที่ว่าแล้ว ถ้ากายเสียหลักก็ต้องเอาใจมาช่วย ถ้าใช้เป็นแล้วใจก็มาช่วยกายได้ นี่เป็นหลักในเรื่องดุลยภาพ อาตมภาพก็ได้พูดมาแล้วหลายแง่หลายอย่าง

แม้แต่ธรรมก็ต้องมีดุลยภาพ

ทีนี้ ดุลยภาพยังไม่หมด ยังมีดุลยภาพที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นอีก เมื่อกี้นี้พูดถึงดุลยภาพ มาถึงดุลยภาพของใจ และดุลยภาพระหว่างกายกับใจ นอกจากนี้ยังมีดุลยภาพที่ลึกลงไปกว่านั้นคือ ดุลยภาพแห่งธรรม

ธรรมก็มีดุลยภาพเหมือนกัน คือ การปฏิบัติธรรม หรือทำความดีอะไรต่างๆ ต้องมีดุลยภาพ กล่าวคือ ความพอเหมาะพอดีเหมือนกัน ถ้าไม่พอเหมาะพอดี ก็เกิดโทษ ยกตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เช่นอย่างศรัทธาที่เราฟังกันมา มีเรื่องศาสนาก็ต้องมีเรื่องศรัทธา

สำหรับคนที่เข้ามานับถือศาสนานั้น คำที่ได้ยินบ่อย ก็คือคำว่า ศรัทธา ได้แก่ความเชื่อ ซึ่งต้องมีไว้เป็นหลักสำคัญอันหนึ่ง แต่ในทางพระพุทธศาสนาบอกว่า ศรัทธาที่เป็นคุณธรรมอย่างเดียวไม่พอ จะปล่อยให้ศรัทธาเรื่อยเปื่อยไปไม่ได้ ต้องมีดุลยภาพ สิ่งที่จะทำให้เกิดดุลยภาพ เข้าคู่กันกับศรัทธา ก็คือ ปัญญา

หลักนี้มาในหมวดธรรมที่เรียกว่า อินทรีย์ ๕ ประการ ท่านบอกว่าอินทรีย์ ๕ ต้องได้สมดุลต้องมีความสม่ำเสมอ พอเหมาะพอดีกัน นี่ก็คือ หลักดุลยภาพนั่นเอง

อินทรีย์ ๕ นั้นมีที่ต้องเข้าคู่กันสองคู่ คู่ที่หนึ่งก็คือ ศรัทธา กับ ปัญญา ศรัทธามีไว้ ถ้ามากเกินไปไม่มีปัญญาคุม จะกลายเป็นความงมงาย เชื่อไปตามเขาหมดอะไรๆ ก็เชื่อ หลงใหลโน้มใจเชื่อง่าย ถูกหลอกง่าย ใครเขาอยากจะหลอกก็หลอกได้ง่าย

ในทางตรงข้าม ถ้ามีแต่ปัญญา ใช้แต่ปัญญา ก็มักมองอะไรข้ามไปง่ายๆ บางทีก็เอาแต่ความรู้ที่ตัวมีอยู่ไปวินิจฉัย คอยจะปฏิเสธไปหมด หรือไม่ก็คิดฟุ้งซ่านไป ไม่ยอมตั้งหลักพิจารณา ไม่ยอมจับหรือรับเอามาพิจารณาก็เลยเป็นคนที่จับอะไรเป็นจุดเป็นหลักไม่ค่อยได้ บางทีก็กลายเป็นฟุ้งซ่านไป นี่เรียกว่ายึดไปข้างปัญญามากเกินไป

เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่าต้องปรับศรัทธากับปัญญาให้สมกัน ให้พอดีกัน ศรัทธาเป็นตัวช่วย ถ้าทำให้ถูกต้องก็เป็นตัวนำไปสู่ปัญญา และช่วยเสริมปัญญา แต่ถ้าใช้ไม่เป็น ศรัทธาก็มาขวางปัญญา

ทำไมศรัทธาจึงขวางปัญญา เพราะว่าถ้าเชื่อแล้วเขาว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น ก็เลยไม่ได้ปัญญาอะไรขึ้นมา

แต่ในทางตรงข้าม ที่ว่าศรัทธาเสริมปัญญานั้นเป็นอย่างไร ก็คือ มันเป็นจุดให้เราเริ่มต้นได้ เราเห็นว่าสิ่งนี้ดีมีเหตุผลเข้าทีเรารับฟังมา หรือฟังท่านผู้นี้พูดมีเหตุมีผลน่าเชื่อ ศรัทธาก็เกิดขึ้น พอศรัทธาเกิดขึ้นก็ได้จุดที่จะนำมาพิจารณา และถ้าเอาจริงเอาจัง ศรัทธาเป็นตัวที่ทำให้เกิดพลังว่า ต่อไปนี้เราจะคิดเรื่องนี้จริงจัง ได้จุดที่จะไปศึกษาค้นคว้า

คนที่จะไปศึกษาค้นคว้าเรื่องอะไร มันต้องมีจุดมีเป้าที่ชัดเจน และต้องเริ่มที่ศรัทธา ศรัทธาเป็นตัวจับเอาไว้ พอศรัทธาเป็นตัวส่งแรงไปแล้ว ปัญญาก็ค้นในเรื่องนั้นไปจริงจัง จนกระทั่งสำเร็จได้ปัญญาเห็นแจ่มแจ้งโดยสิ้นเชิง พอปัญญาจบสิ้นแล้ว ก็บอกว่าอยู่เหนือศรัทธา ไม่ต้องอาศัยศรัทธาอีก

ตอนแรกศรัทธากับปัญญาต้องมีดุลยภาพ ได้สมดุลกัน ศรัทธาก็มาเป็นตัวเสริมช่วยตั้งจุดเริ่มต้นให้ปัญญา ปัญญาก็มาคุมศรัทธาไว้ และอาศัยศรัทธาเป็นตัวชี้นำทางพุ่งไปทำให้มีกำลังที่จะศึกษาค้นคว้าได้เต็มที่ ดังนั้น ก็ต้องใช้ศรัทธากับปัญญาให้เป็น จึงต้องมีดุลยภาพ ดังที่ท่านบอกว่าต้องปรับศรัทธากับปัญญาให้สมกัน

ถ้าจัดธรรมเข้าดุลได้ ก็ไม่พลาดจากผลที่มุ่งหวัง

ต่อไปคู่ที่สองได้แก่ วิริยะและสมาธิ วิริยะ คือความเพียรพยายามเห็นอะไรก็เป็นสิ่งท้าทายใจสู้ จะทำให้สำเร็จจะก้าวไปข้างหน้าอยู่เรื่อย อีกด้านหนึ่งก็คือ สมาธิ ได้แก่ ความมีใจแน่วแน่ สงบ มั่นคง คนที่มีวิริยะ คือ ความเพียร เป็นคนที่เรียกว่าอยู่ไม่เป็นสุข ไม่อยู่นิ่ง นิ่งเฉยอยุ่ไม่ได้ จะทำโน่นทำนี่เรื่อยไป แต่ทีนี้ถ้าหากว่าวิริยะนั้นเกินไป ก็จะกลายเป็นพร่าหรือพล่านไปเลย วิริยะ เพียร แล้วก็เลยเถิดไปจนกระทั่งว่าไม่ได้อะไรจริงจัง

ส่วนคนที่มีสมาธินั้น ใจสงบอยู่กับสิ่งที่กำลังทำหรือกำลังเกี่ยวข้อง ใจจดใจจ่อ พอใจจดใจจ่อ ก็สบาย ก็เพลิน บางทีพอได้สมาธิอย่างที่ชอบพูดกันว่ามาปฏิบัติธรรมได้สมาธิแล้วใจสงบ นอกจากสงบแล้วก็ยังได้ความสุขด้วย พอทำสมาธิได้ความสุขบางทีก็เลยติดอยู่ในความสุขนั้น แล้วก็อยู่ตรงนั้นเอง ไม่ไปไหน ไม่อยากก้าวต่อไป หรือคืบเคลื่อนออกไปจากสภาพนั้น

ท่านว่าคนที่มีแต่สมาธินั้น ถ้าสมาธิแรงเกินไป ไม่เอาวิริยะมาช่วย ก็จะกลายเป็นคนเกียจคร้านไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่าต้องปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน วิริยะกับสมาธิต้องปรับให้เสมอพอดีกัน

เหลือจากนี้ แล้วก็มีอินทรีย์อีกตัวหนึ่ง ยังไม่ครบ ๕ อินทรีย์อีกตัวหนึ่งนั้นก็คือ สติ ซึ่งอยู่ตรงกลาง สตินี้เป็นตัวที่คอยตรวจตราคอยดูว่า ศรัทธาแรงไปหรืออ่อนไป ปัญญาแรงไปหรืออ่อนไป ตรวจและคอยยับยั้ง คอยเหนี่ยวรั้ง คอยเตือนว่า ศรัทธาตอนนี้แรงไปแล้วนะ ปัญญาตอนนี้น้อยไป ต้องดึงขึ้นมาเสริมขึ้นมา หรือว่าวิริยะตอนนี้อ่อนไปหรือแรงไป สมาธิอ่อนไปหรือแรงไป อะไรทำนองนี้ สติเป็นตัวคอยตรวจตราและคอยควบคุมไว้ เพราะฉะนั้น สตินี้จึงต้องใช้ตลอดเวลา

เรื่องอินทรีย์ ๕ นี้อาตมภาพยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่า แม้แต่ธรรมก็ต้องมีสมดุลหรือมีดุลยภาพ การปฏิบัติธรรมทุกอย่างต้องมีดุลยภาพ ถ้าไม่มีดุลยภาพ ก็เสียหลักไปทุกอย่าง เสียไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่ามีธรรมข้อหนึ่งแล้ว ปฏิบัติเรื่อยไปจะถูกต้องและได้ผลดีเสมอไป อย่างที่ว่าศรัทธาก็เป็นคุณธรรมข้อหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าศรัทธาจะทำให้เกิดแต่ผลดีเสมอไป

แม้แต่อกุศลธรรม ท่านบอกว่าถ้าใช้เป็นก็เอามาเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมได้ แต่มีอันตรายนิดหน่อย เรียกว่ามีผลพ่วงในทางเสีย เหมือนกับใช้ยาที่ว่ามีสารซึ่งเป็นพิษอยู่บ้าง แต่เอามาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์บางประการ บางครั้งก็ต้องอาศัยมันเหมือนกัน

ในที่สุด ธรรมคือดุลยภาพ และดุลยภาพก็คือธรรม

ต่อไปนี้ จะขอพูดถึงเรื่องดุลยภาพของธรรมเป็นแง่สุดท้าย แต่เป็นแง่ที่คุมทั้งหมด ว่าไปแล้วมันก็คือ การปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายนั่นเอง ตัวธรรมอยู่ที่นี่ และเมื่อพูดในแง่นี้ ตัวธรรมนั่นเองคือดุลยภาพ หรือดุลยภาพ ก็คือตัวธรรมนั่นเอง

เพราะฉะนั้น จะปฏิบัติถูกต้องต่อร่างกายให้ร่างกายเกิดดุลยภาพก็ตาม ปฏิบัติถูกต้องต่อเศรษฐกิจ ดำเนินการหาเลี้ยงชีพ จัดการเงินให้พอเหมาะพอดีก็ตาม หรือการปฏิบัติในทางสังคมให้พอเหมาะพอดีก็ตาม หรือการปฏิบัติในเรื่องของจิตใจของเราให้พอดีก็ตาม นั่นคือ ดุลยภาพของธรรมหรือตัวธรรมเป็นดุลยภาพ เป็นข้อสุดท้ายซึ่งเป็นตัวที่คุมและคลุมทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ในการที่จะปฏิบัติดุลยภาพทั้งหลาย ในที่สุดแล้วก็อาศัยดุลยภาพของธรรมนั่นเอง มาช่วยปรับทำให้เกิดความพอเหมาะพอดี

เราอยู่ในโลกนี้ก็ต้องรู้หลักดุลยภาพ ที่เราต้องรู้หลักดุลยภาพเพราะอะไร? เพราะว่าสิ่งทั้งหลายที่อยู่ในโลกนี้ มีความสัมพันธ์อิงอาศัยกันทั้งนั้น มันไม่ได้อยู่ลำพังตัวของมันเองเท่านั้น และตัวมันเองก็เกิดขึ้นจากส่วนประกอบมากมาย ซึ่งส่วนประกอบเหล่านั้นจะต้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำอย่างไรจะให้มีความสัมพันธ์ที่พอเหมาะพอดี ซึ่งความพอเหมาะพอดีนี้ถ้ารักษาไว้ได้ มันก็จะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะฉะนั้น หลักในเรื่องดุลยภาพนี้ก็เกิดจากการที่สิ่งทั้งหลายนั้นสัมพันธ์ซึ่งกันและกันนั่นเอง

ดุลยภาพว่าไปแล้วก็คือ ความสัมพันธ์อย่างพอเหมาะพอดี ถ้าความสัมพันธ์ไม่พอเหมาะพอดี เมื่อไรก็จะเสียดุลยภาพเมื่อนั้น ทีนี้ถ้าหากว่าจะปล่อยให้มันมีดุลยภาพของมันเอง ก็ไม่แน่นอน เพราะว่าชีวิตของมนุษย์เรานี้ก็ประสบสิ่งที่เข้ามากระทบกระทั่งมากมายที่จะทำให้ดุลยภาพนั้นสูญเสียไป เพราะฉะนั้น เราจึงต้องรู้หลักในการปฏิบัติเพื่อรักษาดุลยภาพอันนี้

ทางพระพุทธศาสนาจึงสอนวิธีปฏิบัติในการที่จะรักษาดุลยภาพอยู่เสมอ แม้แต่หลักธรรมที่สำคัญสุดยอดที่สุด ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็คือ หลักแห่งดุลยภาพนี้นั่นเอง

ทางสายกลาง คือ ทางแห่งดุลยภาพ

ปฏิปทา ก็คือ ข้อปฏิบัติหรือการปฏิบัติ มัชฌิมา ก็คือ พอดี ที่เราแปลกันว่าทางสายกลาง ก็คือวิธีปฏิบัติที่พอดีนั่นเอง ปฏิบัติอย่างได้สัดได้ส่วนพอเหมาะพอดี ต้องมีองค์ประกอบ ๘ อย่างเข้ามาประสานกันพอเหมาะแล้วจึงจะเกิดเป็นมัชฌิมาปฏิปทา กล่าวคือ

๑. มีทิฏฐิที่เป็นสัมมา ครบถ้วนเหมาะเจาะ คือถูกต้องพอเหมาะกับความเป็นจริง

๒. มีสังกัปปะ ความดำริที่สัมมา คือถูกต้องครบถ้วนพอเหมาะพอดี เรียกว่าโดยชอบ

สำนวนโบราณ ท่านเรียกว่าโดยชอบ หมายความว่า ถูกต้องอย่างครบถ้วน โดยสอดคล้องกับความจริง พูดง่ายๆ ก็คือมีปัญญาเห็นชอบ มีความคิด มีความดำริที่ถูกต้องชอบธรรม

๓. แล้วก็มีการใช้วาจา ใช้คำพูดอย่างถูกต้อง

๔. แล้วก็รู้จักแสดงออก กระทำการต่างๆ ทางกายอย่างถูกต้อง

๕. เลี้ยงชีพ คือประกอบอาชีพที่เป็นสัมมาชีพ

๖. แล้วก็มีความเพียรพยายามอย่างถูกต้อง

๗. มีสติที่ใช้อย่างถูกต้อง

๘. แล้วก็มีสมาธิ จิตตั้งมั่นอย่างถูกต้อง

ทั้งหมดนี้ต้องมาเป็นองค์ประกอบประสานกลมกลืนกัน ถ้าได้ไม่ครบถ้วนก็ไม่เกิดเป็นมัชฌิมาปฏิปทา พอครบถ้วนได้สัดส่วนพอเหมาะพอดี มันจะเสริมกัน มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน แล้วทำงานร่วมกันให้เกิดผลสำเร็จ คือการบรรลุจุดหมายแห่งชีวิตที่ดีงามมีความสุข เป็นอิสรภาพอย่างแท้จริง จึงเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง คือ ข้อปฏิบัติสายกลาง หรือข้อปฏิบัติที่พอดี คำว่าสายกลางในที่นี้คือพอดี

เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาจึงเต็มไปด้วยเรื่องของความพอดี

หลักใหญ่มัชฌิมาปฏิปทาก็พอดี

เราจะเป็นมนุษย์ที่ดี ท่านบอกว่า ต้องมีสัปปุริสธรรม ธรรมของสัตบุรุษ หรือธรรมของคนดี ธรรมของคนดีนั้นมีอะไรบ้าง มีรู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบุคคล รู้จักชุมชน ในบรรดา ๗ ข้อนี้ ข้อที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ รู้จักประมาณ รู้จักประมาณ ก็คือ รู้จักความพอดี ได้แก่ การรู้จักพอดีในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง จะทำอะไรต้องรู้จักพอดี

ความพอดีนี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นเคล็ดลับในความสำเร็จของทุกอย่าง ถ้าทำพอดี นอกจากสำเร็จแล้ว ผลดีเกิดขึ้นด้วย ถ้าไม่พอดี ก็ต้องเกิดปัญหาไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้น หลักพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า ทางสายกลางคือหลักของความพอดี แม้แต่รับประทานอาหารท่านยังบอกว่าต้อง โภชเนมัตตัญญุตา คือต้องรู้จักประมาณในการบริโภค ก็คือรับประทานแต่พอดี ถ้ารับประทานไม่พอดี เดี๋ยวน้ำหนักเพิ่มมากเกินไป ก็เสียดุลยภาพ ทีนี้ก็จะยุ่ง เดี๋ยวเสียสุขภาพด้านนั้นด้านนี้

เพราะฉะนั้น หลักพระพุทธศาสนาหมดทุกประการ ไม่ว่าจะไปมองอะไร จะเป็นเรื่องปรับอินทรีย์ ๕ ให้พอดีก็ตาม เรื่องรับประทานอาหารให้พอดีก็ตาม เรื่องสัปปุริสธรรม ในข้อที่ว่ารู้จักประมาณคือรู้จักความพอดีก็ตาม ตลอดจนกระทั่งมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิบัติให้พอดีเป็นทางสายกลาง ล้วนแต่เป็นเรื่องของความพอดี ซึ่งเกี่ยวกับดุลยภาพทั้งสิ้น ตกลงว่า ทั้งหมดนี้ก็คือหลักของการดำเนินชีวิตอยู่ในโลก ให้อยู่ได้ด้วยดี

ดุลยภาพ คือสาระขององค์รวม

ทีนี้ อาตมภาพมาพูดในวันนี้ ก็มาพูดในที่ประชุมของท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ และการดูแลรักษาพยาบาล พร้อมทั้งญาติโยม ท่านที่ได้มารับการรักษาพยาบาล อย่างที่กล่าวแล้ว ทุกท่านมีน้ำใจมาสังสรรค์ร่วมกันในวันนี้ ก็เป็นโอกาสอันดีงาม

ทางโรงพยาบาลก็ใช้แนวความคิด (หรือจะเรียกว่าปรัชญาก็แล้วแต่) ตามแบบ holistic คือแนวคิดแบบองค์รวม ซึ่งในการปฏิบัติต่อองค์รวมนี้ก็ถือว่าองค์รวมจะดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยดุลยภาพ กล่าวคือ ความสัมพันธ์ที่พอเหมาะพอดีต่อกันระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายขององค์รวมนั้น

หลักพระพุทธศาสนาก็ว่าด้วยองค์รวม เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากการประชุมกันของสิ่งต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบ การประชุมกันของสิ่งทั้งหลายนั่นเองเรียกว่า องค์รวม องค์รวมก็คือการประชุมเข้าของปัจจัยหรือองค์ประกอบต่างๆ องค์ประกอบเหล่านี้ต่างก็สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เมื่อสัมพันธ์กันพอดี ก็จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ความสัมพันธ์ที่พอเหมาะพอดีนั้นเรียกว่า ดุลยภาพ

เพราะฉะนั้น ดุลยภาพจึงเป็นตัวที่รักษาองค์รวมไว้ ทำให้องค์รวมอยู่ได้ด้วยดี องค์รวมคือตัวเรานี้จะอยู่ได้ด้วยดี หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า องค์รวมคือชีวิตนี้ จะมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ก็ต้องอาศัยการรักษาดุลยภาพให้ดี ทั้งด้านร่างกาย ทั้งด้านจิตใจ และพร้อมทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งระหว่างกายกับใจนั้นด้วย

ทางฝ่ายแพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาล ก็ย่อมเอื้ออำนวยช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล การรักษาพยาบาลนั้น ก็เริ่มต้นด้วยการที่จะพยายามให้คนไข้ได้มีดุลยภาพในทางร่างกาย เป็นประการที่ ๑

เพราะฉะนั้น ที่คุณหมอรักษา มีการฝังเข็ม มีการนวด มีการประคบ และบริหารร่างกาย อะไรต่างๆ นี้ก็ด้วยต้องการที่จะให้เกิดดุลยภาพในทางร่างกาย

แต่พร้อมกันนั้น เพราะอาศัยเมตตาจิต ความปรารถนาดีต่อคนไข้ ก็จะมีส่วนของดุลยภาพด้านจิตใจมาช่วยด้วย ถ้าสมมติว่าทางฝ่ายโรงพยาบาลนี่ไม่มีเมตตาจิต ปฏิบัติต่อคนไข้โดยที่ไม่มีน้ำใจ ทำให้กิริยาวาจาไม่งาม ไม่เป็นไปในทางที่เอื้อเฟื้อ บรรยากาศขาดความอบอุ่น คนไข้ก็ใจรันทด ขุ่นมัว เศร้า ไม่สบายใจ น้อยอกน้อยใจ ผลที่สุด การรักษาพยาบาลทางร่างกายก็เลยพลอยไม่ค่อยได้ผลดีไปด้วย จริงหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นความจริง เพราะฉะนั้น จึงว่าคุณหมอไม่ได้รักษาแต่ร่างกายของคนไข้เท่านั้น คุณหมอพร้อมทั้งบุคลากรที่โรงพยาบาลนี้รักษาใจของคนไข้ด้วย คือพยายามช่วยให้จิตใจของคนไข้อยู่ในสภาพที่มีดุลยภาพด้วย

ดุลยภาพในใจเองที่มีจิตใจสบาย จิตใจดำรงสถานะของมันได้ ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ไม่เอียงไม่ทรุดลงไป นั่นก็ด้วยอาศัยความปรารถนาดี มีเมตตาต่อคนไข้ ปฏิบัติด้วยความเอื้อเฟื้อ อย่างนี้แหละจะช่วยให้จิตใจของคนไข้มีดุลยภาพอยู่ได้ พอจิตใจคนไข้มีดุลยภาพดีก็จะมาเอื้อต่อร่างกาย ทำให้การรักษาพยาบาลได้ผลเพิ่มพูนทั้งสองด้านเสริมซึ่งกันและกัน

ผู้มีดุลยภาพทางใจ แม้แต่ความตายก็ดึงขึ้นมาเข้าดุลได้

อาตมภาพก็เลยคิดว่าการที่คุณหมอพูดถึงดุลยภาพบำบัด ประการที่ ๑ คือเริ่มด้วยดุลยภาพบำบัดทางด้านร่างกาย ก็เพราะว่าเกี่ยวข้องกับโรคทางกาย แต่แท้จริงนั้น ท่านคงมีความหมายลึกซึ้งลงไปถึงดุลยภาพทางจิตใจด้วย คือคำนึงถึงความเมตตาปรารถนาดีต่อคนไข้ รักษาด้วยน้ำใจ ปฏิบัติด้วยความเอื้ออาทร

ส่วนทางฝ่ายคนไข้เมื่อสบายใจและวางใจว่า เราไว้ใจต่อคุณหมอ และทางคุณพยาบาล ว่าท่านมารักษาพยาบาลให้เราแล้ว ก็ยกให้ท่านช่วยรักษาดุลยภาพทางด้านร่างกายของเรา ส่วนตัวเราเองก็ต้องรักษาดุลยภาพทางใจของเรา เพราะฉะนั้น จึงจะต้องเอาหลักธรรมมาช่วย เมื่อเอาธรรมมาช่วยแล้ว รักษาดุลยภาพใจไว้ได้ เราก็สบาย อย่างที่อาตมภาพว่าเมื่อกี้นี้

เราต้องพยายามใช้สถานการณ์ทุกอย่างให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตหมด มองทุกอย่างให้เป็นประโยชน์ ท่านบอกว่า คนที่เก่ง มีปัญญามาก ก็คือคนที่สามารถมองสิ่งที่เลวร้ายที่สุดให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ว่าสถานการณ์ไหนเราต้องได้ประโยชน์ อย่างที่บอกว่า แม้แต่คนที่แย่ที่สุด จะตายอยู่แล้ว ยังสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้

ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น แม้แต่ความตายที่เราถือกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี น่าเกลียดน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าก็ยังทรงสอนให้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ท่านให้เจริญมรณสติ ให้พิจารณาความตายในแง่ที่ทำจิตใจของเราให้สดใส เบิกบานได้

คนที่มองความตายไม่เป็น ใจจะหดหู่เศร้ากลัวใช่หรือเปล่า ยิ่งคนไม่เคยมอง บางทีเจอไม่ได้ พูดถึงไม่ได้เลย บางคนใครมาพูดถึงความตายไม่ได้เลยนะ อยากจะหนีไปให้พ้น หรือไล่คนพูดไปเลย

แต่ในทางพระท่านบอกว่า ถ้าฝึกตัวดีแล้ว สบายมากเลย แม้จะนึกถึงความตายตลอดเวลาก็หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส นึกถึงความตายด้วยใจเป็นสุข อย่างนี้ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น บางท่านเอาความตายมาใช้พิจารณา สามารถบรรลุอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์ไปเลย มีความสุขยิ้มแย้มได้ตลอดกาล จิตใจเบิกบานผ่องใส เป็นพุทธะอยู่ด้วยความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน

อยู่ในโลก ก็รู้จักมองสิ่งทั้งหลาย
ยามเจ็บไข้ ก็ปฏิบัติให้พร้อมดุล

เพราะฉะนั้น เราอยู่ในโลกนี้แล้ว เรามองทุกอย่างให้ดี ในแง่ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต แต่เรื่องนี้ต้องมอง ๒ ชั้นนะ มองตามหลักที่ในทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ เดี๋ยวจะมองเป็นดีไปหมดทุกอย่าง ก็ผิดอีก การมองที่ถูกต้องมี ๒ อย่าง คือ

๑. มองตามความจริง ถ้าอะไรที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความจริงต้องมองตามความเป็นจริง คือมองตามที่มันเป็น

๒. แต่ในแง่ที่เกี่ยวกับประโยชน์ต้องมองในแง่ดี ให้มันเป็นประโยชน์แก่ชีวิต หรือให้ชีวิตของเราได้ประโยชน์จากมันให้ได้

เป็นอันว่า การมองที่ถูกต้องมี ๒ อย่าง คือ มองตามเป็นจริง หรือมองตามที่มันเป็นอย่างหนึ่ง กับมองในแง่ดี หรือมองให้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง

สำหรับการมองอย่างที่ ๑ ที่ว่ามองตามเป็นจริงนั้น เช่น เราจะวินิจฉัยเรื่องราวอะไรต่างๆ นี้ จะมองแต่ในแง่ดีเสมอไปไม่ได้นะ ผิดเลยนะ เสีย เพราะฉะนั้น ถ้ามองเพื่อวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ต้องมองตามที่มันเป็น มองตามเป็นจริง แต่ถ้าเรื่องนั้นไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยความจริง ก็ต้องมองในแง่เอาประโยชน์ คือ มองในแง่ดี พระพุทธศาสนาสอนไว้ หลักนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ

เป็นอันว่า ทางฝ่ายคนไข้ก็มองอย่างที่ว่าแล้ว คือพยายามรักษาสมดุลหรือดุลยภาพทางจิตใจเข้าไว้ จึงจะมาช่วยให้คุณหมอรักษาทางกายได้ผลดีด้วย ตกลงว่า ทั้งคนไข้และทางคุณหมอ พร้อมทั้งบุคลากรของโรงพยาบาล ต่างก็ช่วยเสริมซึ่งกันและกัน ช่วยกันในการรักษาพยาบาล ไม่ใช่หมอเป็นฝ่ายรักษาฝ่ายเดียว คนไข้ก็ต้องรักษาตัวเองด้วย

ว่าที่จริงคนไข้มีบทบาทสำคัญมากในการรักษาตนเอง คุณหมอนั้นช่วยได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น คิดว่าอย่างนั้น คนไข้ต้องช่วยตัวเองมาก

ตกลงว่า บทบาททางด้านคุณหมอและบุคลากรของโรงพยาบาลนี้ก็มีดังนี้

๑. ช่วยให้เกิดดุลยภาพทางกายแก่คนไข้ ด้วยการรักษาพยาบาลตามวิธีดุลยภาพบำบัด

๒. มีความเอื้ออารี มีเมตตา ไมตรีธรรมที่จะช่วยเสริมดุลยภาพทางจิตใจของคนไข้ด้วย

ส่วนในฝ่ายคนไข้ ก็ร่วมมือกับทางด้านบุคลากรของโรงพยาบาล ในการรักษาดุลยภาพทางกาย พร้อมทั้งตัวเองก็รักษาสุขภาพทางจิตใจด้วย แล้วเราก็จะได้ดุลยภาพทางกายและใจนี้มาเสริมกันทำให้เกิดความสมบูรณ์

มาร่วมกันสร้างกุศล ช่วยกันทำวันเวลาให้เป็นมงคล
และปฏิบัติตนให้สุขสันต์ทุกเวลา

อาตมภาพเองก็ได้มารับการรักษาที่นี่ ก็ขออนุโมทนาในโอกาสนี้ด้วย ในการนี้ก็ได้รับความเอื้ออุปถัมภ์จากคุณหมอลดาวัลย์พร้อมทั้งบุคลากรที่นี่ โดยเฉพาะผู้ที่ได้ช่วยใกล้ชิดก็มี คุณหนุ่ม หรือคุณกังวาล ที่ได้ช่วยนวดอยู่เป็นประจำ แล้วก็มีคุณเจริญก็มาช่วยอยู่บ่อยๆ ทั้งนี้ในความดูแลของคุณเล็ก ซึ่งมาคอยเอาใจใส่บอกกล่าวแนะนำอยู่ รวมทั้งท่านอื่นๆ ด้วยหลายท่านอาตมภาพก็เลยถือโอกาสอนุโมทนาไว้ในที่นี้ด้วย

ขออนุโมทนาคุณหมอ พร้อมทั้งบุคลากรของโรงพยาบาลทุกท่าน และในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ ก็ถือว่าเราได้มาทำสิ่งที่ดีงามกันแล้ว เป็นบุญเป็นกุศล อย่างน้อยใจของแต่ละท่าน ก็เป็นกุศล คือมีความคิดที่ดี

ความคิดที่ดีนั้นก็เริ่มจากการมีน้ำใจนั่นเอง คือ มีน้ำใจ มีไมตรีธรรมต่อกัน แค่นี้ก็ดีแล้ว ท่านเรียกว่า เป็นกุศลเกิดขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีเมตตาหรือไมตรีเกิดขึ้นในใจนั้นเป็นบุญมหาศาลเลยทีเดียว

การทำบุญนั้นบางทีเราไม่จำเป็นต้องไปถวายทาน คือไปถวายอาหารหรือให้ของอะไรหรอก เพียงแต่เราสร้างใจของเราให้เป็นใจที่ดี มีน้ำใจ ชุ่มฉ่ำด้วยความปรารถนาดี ก็เป็นบุญกุศลเกิดขึ้นแล้ว

ทุกท่านในที่นี้อาตมภาพว่าอย่างน้อยก็มีน้ำใจอันนี้เกิดขึ้น บุญกุศลจึงเกิดขึ้นแล้ว นับว่าเราได้ตั้งต้นอย่างถูกต้อง ก็ขอให้บุญกุศลที่ตั้งขึ้นในใจนี้แผ่ออกมา หลั่งไหลออกมาทางกาย วาจาของเราด้วย แล้วก็มาช่วยนำทางชีวิตของเราให้มีความสดชื่นเบิกบานต่อไป

ยิ่งในโอกาสที่จะต้อนรับปีใหม่นี้ เป็นเวลาที่เราถือตามคตินิยมว่าเป็นวันเวลาที่ดี ก็ขอให้ทุกท่านได้เตรียมใจต้อนรับความสุขอันนี้ไว้ การเตรียมใจต้อนรับความสุข ก็โดยการกระทำของเราเอง คือทำใจของเราให้เป็นสุขสดชื่นเบิกบาน

การทำใจให้สดชื่นเบิกบานนั้น ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชน ก็เอาอย่างพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีคำแปลง่ายๆว่า รู้ ตื่น และเบิกบาน เพราะฉะนั้น เราก็ทำใจของเราให้มีพระพุทธเจ้าเข้าไปอยู่ในใจ คือ

๑. มีความรู้ มองอะไรด้วยความรู้เข้าใจไม่ใช้อารมณ์ ใช้ปัญญา รู้จักพิจารณาเหตุผล แค่นี้ก็ไปได้เยอะแล้ว มองสิ่งทั้งหลายด้วยความรู้ด้วยปัญญา ไม่ปล่อยตัวให้เป็นทาสของอารมณ์

๒. ตื่น คือ ไม่หลับใหล และไม่หลงใหล มีจิตใจที่ตื่นตลอดเวลา และ

๓. เบิกบาน คือ มีความสดชื่นผ่องใส

พยายามรักษาสภาพจิตใจอย่างนี้ไว้ให้ได้เรื่อยๆ แล้ว ท่านจะมีความสุข และพร้อมกันนั้นการรักษาโรคนี้ก็จะได้ผลดีด้วย

วันนี้อาตมภาพก็ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง ขอให้บุญกุศลที่ท่านได้เริ่มตั้งไว้ในใจนี้ มาประกอบเข้าเป็นแรงหนุน ด้วยอานุภาพคุณพระรัตนตรัย เป็นเดชานุภาพ อภิบาลรักษาให้บุคลากรแห่งโรงพยาบาลบ้านสวน มีคุณหมอลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ เป็นประธาน พร้อมด้วยโยมญาติมิตรที่มารับการรักษาพยาบาล คือคนไข้ทุกท่าน ซึ่งมีน้ำใจมาร่วมการสังสรรค์ครั้งนี้ จงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความเจริญก้าวหน้างอกงามรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จ พรั่งพร้อมด้วยสุขภาพทั้งกายและใจ มีความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลนาน เทอญ

1ธรรมกถา แสดงที่โรงพยาบาลบ้านสวน ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๔ (ฉบับนี้ ให้ถือเป็นฉบับใช้ไปพลางก่อน ขอเรียกว่า ฉบับ หูกับปาก เพราะอยู่ในระยะที่อาพาธใช้ตาทำงานไม่ได้ เมื่อใดใช้สายตาทำงานได้ตามปกติ ก็จะได้เรียบเรียงให้สมบูรณ์เป็นฉบับตากับมือ ต่อไป)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง