ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทางออกจากระบบเศรษฐกิจ
ที่ครอบงำสังคมไทย1

 

ขอเจริญพร ท่านประธานในที่ประชุม ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และท่านสาธุชนผู้สนใจใฝ่ธรรมทั้งหลาย

วันนี้นับว่าเป็นการก้าวไปข้างหน้าอีกครั้งหนึ่ง ของคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิชาการตามแนวพุทธศาสตร์ ที่ได้มาร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดให้มีการประชุม บรรยาย และเสวนาทางวิชาการขึ้น

เศรษฐศาสตร์กับพุทธศาสตร์ คล้ายเป็นคนละแดน

สำหรับหัวข้อเรื่องเศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์นี้ เป็นการนำเอาวิชาการสองด้าน ซึ่งในความรู้สึกของคนจำนวนมากเห็นว่าเป็นคล้ายๆ สุดทางคนละด้าน มาประสมประสานกัน ทำให้เกิดความรู้สึกในใจของบางคนเหมือนกับว่า มีความขัดแย้งอยู่บ้าง กล่าวคือ เศรษฐศาสตร์นั้นคนไม่น้อยมองไปว่าเป็นเรื่องทางด้านวัตถุเต็มที่ จนกระทั่งรู้สึกว่านักเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นคนที่มีลักษณะแนวความคิดในทางที่นิยมวัตถุจัด หรือมากทีเดียว ส่วนทางด้านพุทธศาสตร์นั้น หลายคนก็มองว่าเป็นวิชาที่มุ่งในทางจิตใจ เรียกว่าเต็มที่เหมือนกัน สองวิชานี้จะมาประสมประสานกันได้อย่างไร ยิ่งถ้านิมนต์พระมาพูดทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยเป็นเศรษฐศาสตร์ล้วนๆ ก็จะมีคนไม่น้อยรู้สึกว่าขัด โดยทางฝ่ายเศรษฐศาสตร์ก็จะมองว่า เอ๊ะ ทำไมพระเข้ามาพูดในเรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่ในเวลาเดียวกัน ทางฝ่ายพุทธศาสนิกชนจำนวนมากก็จะมองไปว่า เอ๊ะ ทำไมพระออกไปพูดในทางเศรษฐศาสตร์ ที่ว่านี้หมายความว่า วิชาทั้งสองนี้เหมือนกับเป็นคนละแดน การที่ผู้ซึ่งอยู่ในวงวิชาการ ฝ่ายพุทธศาสตร์จะไปพูดในทางเศรษฐศาสตร์ ก็เหมือนกับว่าออกไปจากแดนของตน แม้จะตั้งชื่อให้มีทั้งสองอย่างรวมกันแล้วเป็นเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ ผู้ที่มองก็ยังมีความรู้สึกว่าคงจะมาพูดในความหมายเกี่ยวกับจริยธรรม ว่าจริยธรรมมีความหมาย มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์อย่างไร ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ เราพูดได้ว่า การศึกษาเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์นี้ ยังเป็นเรื่องที่ใหม่ ยังต้องการการทำความเข้าใจ การทำความหนักแน่นมั่นคงในทางวิชาการอีกมากทีเดียว และการที่จะทำเช่นนี้ได้ เราคงจะต้องการผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจดี ทั้งทางเศรษฐศาสตร์ และทางพุทธศาสตร์มาพูด แต่ในสภาพปัจจุบันนี้ การสนใจศึกษาวิชาการต่างๆ มักเป็นไปในรูปของความชำนาญพิเศษ คือใครรู้อะไรก็รู้ไปด้านหนึ่ง รู้ชำนาญให้ลึกซึ้งในด้านนั้นๆ เพราะฉะนั้น เราก็จะประสบปัญหาที่ว่า จะหาคนที่มีความรู้ทั้งสองด้านพร้อมกันได้ยาก เมื่อหาคนที่มีความรู้พร้อมกันสองด้านได้ยาก การที่จะเอาความรู้สองด้านนี้มาประสมประสานกันจึงมิใช่เป็นเรื่องที่ง่าย โดยจำเพาะอาตมภาพผู้พูดเองนี้ ก็ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยตรงในทางเศรษฐศาสตร์ เพียงแต่ว่าจะนำเอาแนวคิดทางพุทธศาสตร์มาเสนอแก่วงการเศรษฐศาสตร์ เพราะฉะนั้น ก็อาจจะทำได้เพียงในขั้นที่เรียกว่าสุกเอาเผากิน ในระยะยาว การที่จะให้วิชาการเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์นี้ตั้งตัวได้มั่นคง ก็คงจะต้องอาศัยท่านที่อยู่ในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์นั่นเอง ที่จะได้มาศึกษาทางฝ่ายพุทธศาสตร์ แล้วนำเข้าไปใช้ในวิชาการสายของตน โดยพิจารณาให้เห็นชัดว่า จะนำไปผสมกลมกลืนกันได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ในการที่ทางคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในส่วนของคณะเศรษฐศาสตร์ มาจัดประชุมครั้งนี้ขึ้น ในแง่หนึ่งเราก็ควรจะต้องอนุโมทนาในความคิดริเริ่มนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็คงไม่ต้องหวังหรือเล็งผลเลิศจนเกินไปนัก ขอให้เป็นเพียงการมาช่วยกันคิดว่าจะตั้งต้นและเดินหน้ากันไปอย่างไร

สองนัยของธรรม ที่สัมพันธ์กับเศรษฐศาสตร์

ทีนี้ก็อย่างที่อาตมภาพได้กล่าวแล้วแต่เบื้องต้นว่า เมื่อได้ยินหัวข้อว่าเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ หลายท่านก็จะมองไปว่า คงจะเป็นการพูดเรื่องจริยธรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือเรื่องเศรษฐกิจที่มาสัมพันธ์กับจริยธรรม ว่าจริยธรรมมีความหมายมีความสำคัญต่อเศรษฐศาสตร์ หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไร ว่าเรื่องคุณธรรม ความดีความชั่ว คุณค่าทางจิตใจอะไรต่างๆ มีอิทธิพลในการดำเนินการทางเศรษฐกิจตั้งแต่การตัดสินใจทางเศรษฐกิจ เป็นต้น อย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้ก็นับว่าเป็นความเข้าใจที่คับแคบ เพราะว่า เมื่อพูดถึงพุทธศาสตร์เราก็ต้องพูดถึงคำว่าธรรม จะเห็นว่าธรรมนี่แหละเป็นตัวหลักตัวแกนของพุทธศาสตร์ แต่คำว่าธรรมนั้น คงจะมีความหมายกว้างกว่าที่เราเข้าใจกันทั่วไป อย่างน้อยในที่นี้ก็ขอพูดว่า ถ้าเข้าใจเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมแล้ว ก็นับว่าผู้ที่พูดนั้นยังมีความเข้าใจผิดอยู่สองอย่าง ประการที่หนึ่งคือ ไปคิดถึงธรรมในความหมายแคบๆ ว่าเป็นจริยธรรม เป็นความประพฤติดีประพฤติชั่วและคุณค่าทางจิตใจอย่างเดียว นี้เป็นความเข้าใจผิดพลาดสถานที่หนึ่ง ประการที่สองคือ ความเข้าใจผิดคิดว่าธรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่แยกออกได้ต่างหากจากเศรษฐศาสตร์ แยกออกได้จากเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งความจริงมันเป็นสิ่งที่แยกออกไปไม่ได้ อันนี้ก็เป็นแนวความคิดของยุคปัจจุบันที่ชอบแยกแยะอะไรต่ออะไรออกไปเป็นด้านๆ เป็นอย่างๆ ให้มีความชำนาญในด้านนั้นๆ ก็เลยมีความโน้มเอียงที่จะแยกเอาเรื่องธรรมนี้ออกไปจากกิจกรรมด้านอื่นๆ ด้วย โดยถือว่าผู้ที่ศึกษาธรรมก็เป็นผู้รู้ธรรมโดยเฉพาะ ธรรมก็เป็นเรื่องหนึ่ง เศรษฐกิจก็เป็นเรื่องหนึ่ง อะไรทำนองนี้ นี่ก็เป็นความเข้าใจผิดอีกสถานหนึ่ง แต่จะเข้าใจผิดอย่างไรก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป

ในการทำความเข้าใจเบื้องต้นนี้ ขอพูดถึงความหมายของคำว่าธรรมก่อน ในที่นี้จะพูดเพียงสั้นๆ ว่า ในความเข้าใจแบบปัจจุบันที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ธรรมนั้นอาจจะแยกได้เป็นสองอย่าง คือ ธรรมที่เรียกว่า จริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักความประพฤติปฏิบัติ การดำรงตนในสังคม การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับความดีความชั่ว เรียกว่า ประพฤติดีประพฤติไม่ดี อะไรต่างๆ นี้ด้านหนึ่ง และธรรมในความหมายที่สอง คือ สัจจธรรม ได้แก่ ตัวสัจจะ ความจริงตามสภาวะ ความจริงที่เป็นความเป็นไปตามธรรมดา เป็นกฎเป็นเกณฑ์ของสิ่งทั้งหลาย หรือกฎธรรมชาติ การที่สิ่งทั้งหลายดำเนินไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย อะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่เป็นเรื่องของสัจจธรรม นี้เป็นวิธีแยกง่าย ๆ เพื่อความเข้าใจเบื้องต้น เมื่อมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมอย่างนี้แล้ว เราก็จะมาศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์กันต่อไป

จากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
หันมาสัมพันธ์กับวิชาการอื่น

แต่ก่อนอื่น ก็จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์นิดหน่อยด้วยเช่นกันว่า เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่นี้เป็นวิทยาการที่มาจากตะวันตก เกิดขึ้นในตะวันตก และแม้จะเกิดขึ้นมานานแล้ว ดังที่เราอาจจะพูดว่า ได้เกิดมีความคิดในทางเศรษฐกิจมาแล้วตั้งแต่ยุค Plato หรือ Aristotle โน้น แต่วิชาการเศรษฐศาสตร์ที่จะเจริญอย่างแท้จริงนี้ ก็มาเจริญในยุคอุตสาหกรรม เป็นวิทยาการสาขาหนึ่งที่เจริญแบบเดียวกับวิทยาการสาขาอื่นๆ ในสมัยอุตสาหกรรม คือ เจริญแบบชำนาญพิเศษในด้านของตนๆ ดังที่เรียกกันว่าเป็นความเจริญในยุคของ specialization ซึ่งวิชาการแต่ละสาขาก็พยายามที่จะค้นคว้าให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปในด้านของตนๆ ตรงออกไปๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น เศรษฐศาสตร์นี้จึงได้พยายามที่จะแยกเอากิจกรรมทางเศรษฐกิจออกมาพิจารณาต่างหากจากกิจกรรมด้านอื่นๆ ของชีวิตมนุษย์ เมื่อทำอย่างนี้นานๆ เข้า เศรษฐศาสตร์ก็โดดเดี่ยวตัวเองออกมาเป็นวิชาการที่ออกจะด้วนๆ ไม่ค่อยจะมีความสัมพันธ์กับวิชาการและกิจกรรมด้านอื่นๆ ของมนุษย์ เพราะฉะนั้นในระยะยาวก็จึงเกิดปัญหาขึ้นมา คือว่า ปัญหาของมนุษย์นั้นโยงถึงกันหมด การแก้ปัญหาจะต้องสัมพันธ์ โยงซึ่งกันและกันมาถึงปัจจุบันนี้ ในเมื่อความเจริญในยุคอุตสาหกรรมได้เจริญเต็มที่ ก็เกิดปัญหาขึ้น เพราะการกระทำของมนุษย์ที่เจริญไปในด้านหนึ่งๆ หลายด้านมาเกิดความขัดแย้งกัน ก็เกิดผลเสียที่เราเห็นชัดก็คือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจนี้ ในปัจจุบันได้ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มนุษย์จึงกลับมารู้สึกตัวว่า กิจกรรมหรือการพัฒนาแต่ละด้านนั้น จะเอาแต่ด้านของตนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเมื่อทำไปแล้วในที่สุดมันจะมีผลกระทบต่อด้านอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้ มนุษย์จึงเกิดความสนใจที่จะหันมาสอดส่อง พิจารณาผลกระทบจากการกระทำกิจกรรม และการพัฒนาในด้านของตน ต่อความเป็นไปในด้านอื่น ทั้งในแง่ของธรรมชาติ ในแง่ของสังคม และในแง่ชีวิตทั้งกายและใจของมนุษย์เอง นี่ก็เป็นเรื่องของความเจริญของเศรษฐศาสตร์ที่เป็นมาจนถึงปัจจุบัน

ทีนี้ เมื่อมารู้สึกถึงปัญหาขึ้นแล้ว เศรษฐศาสตร์ในยุคปัจจุบันนี้ก็จึงมีความตระหนักขึ้นว่า จะต้องมีการอิงอาศัยกันหรือโยงกัน โดยร่วมมือกับวิทยาการแขนงอื่นๆ ด้วย ในระบบความสัมพันธ์ของชีวิต ธรรมชาติ และสังคม ย้อนหลังไปในยุคที่ผ่านมาแล้ว ศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์มากสักหน่อย ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดความตระหนักถึงเรื่องความอิงอาศัยกันของกิจกรรมมนุษย์ในด้านต่างๆ นี้ วิชาการด้านนั้นก็คือการเมือง เพราะว่า กิจกรรมทางด้านการเมืองได้ส่งผลเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมาก และปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับการเมือง เศรษฐศาสตร์จึงให้ความสนใจทางด้านการเมืองมาก ดูเหมือนว่าจะเป็นพิเศษกว่าด้านอื่นๆ การเมืองก็เลยมีความพัวพันใกล้ชิดกับเรื่องเศรษฐศาสตร์ แม้แต่นักการเมืองเอง ก็ต้องเอานักเศรษฐศาสตร์เข้าไปช่วยในวงกิจการของตน ครั้นมาถึงตอนนี้ เศรษฐศาสตร์ก็ได้เกิดความสนใจ และกำลังให้ความสำคัญแก่วิชาการเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง และรู้สึกว่าอาจจะสนใจมากและให้ความสำคัญใกล้ชิดอย่างมากด้วย อย่างที่กล่าวแล้วเมื่อกี้ว่า ในเมื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาทางวัตถุ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม คือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอไป และระบบนิเวศที่เกิดความเสียหาย เกิดความไม่สมดุล ซึ่งทำให้เกิดผลร้ายแก่ชีวิตของมนุษย์ นี้เป็นเหตุผลส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันเกิดความตระหนักว่า ศาสตร์ของตนจะต้องมีความสัมพันธ์กับนิเวศวิทยามาก จนกระทั่งนักเศรษฐศาสตร์บางท่านถึงกับพูดออกมาว่า ในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่นี้ ควรจะต้องผนวกเอาวิชาเศรษฐศาสตร์เข้ากับวิชานิเวศวิทยา อันนี้ก็เป็นทรรศนะหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็มีสาระสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความตระหนักในความสำคัญของเรื่องสภาพแวดล้อม เรื่องระบบนิเวศ และการที่กิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์นั้นอิงอาศัยซึ่งกันและกัน มีผลกระทบต่อกัน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์มองอะไรต่ออะไรกว้างขึ้น แต่มองในแง่หนึ่งก็คล้ายๆ ว่า ต้องรอให้เกิดผลเสียมากระทบเสียก่อน จนกระทั่งหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ก็จึงต้องหันไปสนใจให้ความสำคัญ คือกลายเป็นว่า เดี๋ยวนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในธรรมชาติหรือในสภาพแวดล้อมนี้ บังคับให้นักเศรษฐศาสตร์เป็นต้น ต้องหันมาสนใจเรื่องสภาพแวดล้อม และเมื่อสนใจแล้วจึงหันไปเอาเรื่องกับสิ่งนั้นทีหนึ่งเรื่องหนึ่ง จนกระทั่งต่อไป เมื่อไรมีปัญหาด้านอื่นเข้ามากระทบก็จะไปสนใจด้านนั้นอีกทีหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนี้ คงจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ถ้าเราตระหนักถึงความสัมพันธ์กันขององค์ประกอบทั้งหลายในธรรมชาติ ในสังคมมนุษย์ ในอะไรทุกอย่าง แม้แต่ในกายใจของมนุษย์เองนี้แล้ว ถ้าเรารู้ถึงความสัมพันธ์อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายแล้ว เราก็รีบศึกษาให้รู้ถึงความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องนั้นทั้งหมด องค์ประกอบอะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็เอาใจใส่ศึกษาทุกอย่าง แม้แต่เรื่องจริยธรรมนี้ ก็คิดว่ามีความสำคัญ และสัมพันธ์กับเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ถ้ามันมีความสำคัญจริงๆ แล้ว มันก็จะต้องส่งผลกระทบมา เมื่อส่งผลกระทบมาแล้ว เราจะรอให้เกิดผลเสียหาย แล้วจึงให้ความสนใจ ก็คงจะเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง แต่ควรจะรู้เสียก่อนว่า อะไรมีความหมาย มีความสัมพันธ์ แล้วก็เอามาคิดเอามาศึกษาเพื่อจะมาจัดเสียให้ถูกต้องโดยทางของเหตุและผล

ดังได้กล่าวแล้วว่า เศรษฐศาสตร์ในยุคปัจจุบันนี้มีลักษณะของความเจริญในทางวิชาการแบบยุคอุตสาหกรรมที่ว่า เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีความชำนาญพิเศษในด้านของตน เป็น specialization การที่เป็นศาสตร์แห่งความชำนาญพิเศษในด้านของตนนั้น ก็มีแง่ดีเหมือนกัน คือทำให้เราศึกษาลึกเข้าไปโดยละเอียดในกลไกที่ซับซ้อน สามารถแยกแยะเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ชัดเจนขึ้น อันนี้ก็เป็นผลดี ในความเจริญแห่งยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมานี้ เศรษฐศาสตร์ได้เจริญในด้านนี้มาก เราก็ไม่ควรจะละทิ้งผลดีที่เกิดจากความเจริญอันนี้เสีย แต่ส่วนที่ยังขาดอยู่ซึ่งเป็นแง่เสียก็คือ ในเมื่อสนใจเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แล้วพยายามโดดเดี่ยว เอาเรื่องเศรษฐกิจออกไปอยู่ต่างหากอย่างนั้น มันก็ไม่สอดคล้องกับความจริงของสิ่งทั้งหลายที่อิงอาศัยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เมื่อสิ่งทั้งหลายตามความจริงในธรรมชาติทั่วทั้งโลกนี้เป็นสิ่งที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ปัญหาต่างๆ ก็ต้องโยงกันไปหมด เมื่อปัญหาต่างๆ ประกอบด้วยเหตุปัจจัยที่โยงซึ่งกันและกัน เรามาคิดเฉพาะด้านของเรา ก็ติดตันและแก้ปัญหาไม่ได้ ในที่สุดปัญหาก็ยิ่งแพร่ขยายออกไป ดังปรากฏในสภาพปัจจุบันที่ศาสตร์ต่างๆ วิทยาการต่างๆ ไม่สามารถจะแก้ปัญหาของโลก โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ตกไปได้ เป็นอันว่าทางปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ ต้องไม่ลืมหลักการที่ว่า จะต้องร่วมกับองค์ประกอบหรือวิทยาการอื่นๆ ในการแก้ปัญหาชีวิตและสังคมของมนุษย์ ไม่หลงไปว่าศาสตร์ของตัวลำพังจะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้หมด หรือแม้กระทั่งมองกิจกรรมทุกอย่างในแง่ว่าเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แม้ว่ากิจกรรมทุกอย่างจะเป็นกิจกรรมที่มีแง่ความหมาย หรือมีนัยทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย แต่ในกิจกรรมเดียวกันนั้นมันก็มีนัยความหมายในแง่ของวิทยาการอื่นอยู่ด้วยพร้อมกัน นั้นก็คือ การที่ว่าเศรษฐศาสตร์จะต้องยอมรับส่วนร่วมและความสำคัญของศาสตร์อื่นๆ และกิจกรรมอื่นๆ ในการที่จะพิจารณาแก้ปัญหาของโลก โดยเฉพาะในการที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในการที่จะพัฒนาสังคม พัฒนาประเทศชาติกันต่อไป

มีข้อที่ต้องระวังอย่างหนึ่ง คือ ดังได้กล่าวแล้วว่าเศรษฐศาสตร์นี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐศาสตร์ หรือการเมืองมาก แล้วก็มีความโน้มเอียงของนักการเมืองอยู่ไม่น้อย ที่จะนำเอาเศรษฐศาสตร์ไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง บางครั้งก็เป็นการสนองประโยชน์ส่วนตน กล่าวคือ การที่นักการเมืองเอาเศรษฐศาสตร์ไปใช้ หรือเอานักเศรษฐศาสตร์ไปช่วยกิจการของตนเองนั้น ก็เป็นไปได้ทั้งสองแง่ ทั้งในแง่ที่จะสนองประโยชน์ส่วนรวม เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศชาติบ้านเมือง ในการพัฒนาสังคม และในแง่ที่นำไปใช้เพื่อสนองประโยชน์ส่วนตน ดังปรากฏว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานี้ มีหลายครั้งที่เศรษฐศาสตร์ได้กลายไปเป็นเครื่องมือของนักการเมืองหรือผู้ชำนาญการด้านอื่นๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ต้องระวังอย่างหนึ่ง นี้เป็นความเข้าใจเบื้องต้นที่เราจะต้องมีร่วมกันไว้ก่อน เพื่อเป็นฐานในการพิจารณาเรื่องเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ต่อไป

ย้อนกลับมาหาจุดสำคัญที่พูดทิ้งไว้ คือ ดังได้กล่าวแล้วว่า กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์หรือวิชาการต่างๆ นั้น สัมพันธ์เชื่อมโยงต่อกัน ทีนี้มันเชื่อมโยงกันอย่างไร นี้ก็เป็นข้อพิจารณาหนึ่งว่า เศรษฐศาสตร์เมื่อพยายามจะแก้ปัญหาจะต้องกำหนดให้ได้ว่า ตนเองเชื่อมต่อกับวิชาการไหน โยงสัมพันธ์กับวิชาการไหน ในด้านใด จุดใด เมื่อจับจุดนี้ได้แล้ว ก็จะมีการร่วมมือกันและส่งต่อภาระแก่กัน ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปด้วยดียิ่งขึ้น

ความสำคัญของจริยธรรมต่อเศรษฐกิจ

ขอวกมายังเรื่องเกี่ยวกับความเข้าใจของคนทั่วไป ที่ว่าเมื่อพูดถึงธรรม ก็มักจะนึกถึงจริยธรรม จึงจะพูดถึงเศรษฐศาสตร์กับจริยธรรมเสียก่อน จริยธรรมมีความสัมพันธ์และความสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างไร อาตมาว่าเป็นเรื่องที่เห็นไม่ยาก จริยธรรมที่เราพูดถึงในที่นี้มีความหมายรวมไปถึงคุณธรรม และคุณค่าทางจิตใจด้วย คุณธรรม คุณค่าทางจิตใจ ตลอดจนความประพฤติดี ประพฤติชั่วที่ออกมาจากคุณธรรมหรือความขาดคุณธรรมนั้น พร้อมทั้งสภาพจิตใจที่เป็นไปต่างๆ ย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งเราไม่จำเป็นจะต้องพรรณนาให้มาก ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าหากว่าในสังคมของเรานี้มีโจรผู้ร้ายมาก ไม่มีความปลอดภัยในด้านชีวิตและทรัพย์สิน สภาพเช่นนี้ก็จะต้องกระทบต่ออุตสาหกรรมหรือการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจด้วย เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็จะถูกกระทบกระเทือน ทำให้คนที่ได้ยินข่าวแล้วรู้สึกว่ามาเมืองไทยไม่ปลอดภัย ก็ไม่อยากจะมา จริยธรรมก็มีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ในการผลิตที่เป็นหัวใจของอุตสาหกรรม เรื่องนิสัยใจคอของคน คุณธรรมความประพฤติที่เราเห็นกันง่ายๆ เช่น ความขยัน ความซื่อสัตย์ ความรักงาน ความตรงต่อเวลา เป็นต้น ย่อมมีผลต่อคุณภาพของผลผลิต และมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตเป็นอย่างมาก หมายความว่า ถ้าคนงานมีความรักงาน มีความขยันหมั่นเพียร ก็ทำให้การผลิตได้ผลดี แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีความคดโกงทุจริต ในใจมีความรู้สึกเบื่อหน่าย แปลกแยกท้อถอย กลุ้มใจกังวล ก็ย่อมมีผลลบต่อคุณภาพของผลผลิตและการเพิ่มผลผลิตนั้นด้วย

ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ที่สืบเนื่องมาจากคุณค่าทางจริยธรรม ก็เช่นเรื่องค่านิยม ค่านิยมก็เป็นเรื่องของจริยธรรมเช่นเดียวกัน ในสังคมที่คนชอบโก้ ชอบฟุ้งเฟ้อ สินค้าที่หรูหราโอ่อ่าก็อาจจะขายดีกว่าสินค้าที่มีคุณภาพดี มั่นคงทนทาน แต่มีลักษณะทั่วไปที่ไม่ให้ความรู้สึกในเรื่องโก้เก๋หรูหรา ถึงแม้จะมีคุณภาพดี คนก็อาจจะไม่ค่อยซื้อ ฉะนั้น สินค้าที่จะสนองความต้องการของคนในสังคมที่มีค่านิยมแบบนี้ ก็เป็นสินค้าแบบหนึ่ง แต่ตรงข้าม ในอีกสังคมหนึ่ง คนมีค่านิยมในทางชอบโก้ฟุ้งเฟ้อน้อย มุ่งในแง่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่แท้จริง ก็จะซื้อสินค้าโดยมองถึงคุณภาพ มีความมั่นคงทนทาน เป็นต้น คนจะไม่ให้ความสำคัญมากกับเรื่องของความหรูหราโอ่อ่า ฉะนั้น สินค้าที่ขายในสังคมสองประเภทนี้ ก็จะมีผลการขายในตลาดต่างกัน หรืออย่างเรื่องชาตินิยม ชาตินิยมก็เป็นเรื่องจริยธรรมเหมือนกัน ถ้าคนมีชาตินิยมจัด อย่างในบางประเทศ มีสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตในประเทศกับนอกประเทศ แม้ว่าสินค้าต่างประเทศอาจจะมีคุณภาพดีกว่า แต่คนที่มีชาตินิยมสูงก็จะยอมซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ ในทางตรงข้าม ในประเทศที่มีชาตินิยมอ่อน และยิ่งประชาชนมีค่านิยมในทางชอบโก้โอ่อ่าหรูหราด้วย ถ้ามีสินค้าประเภทเดียวกัน แต่อย่างหนึ่งผลิตขึ้นภายในประเทศและอีกอย่างหนึ่งผลิตจากนอกประเทศ มีคุณภาพเท่ากัน คนในสังคมนี้ก็จะหันไปซื้อของที่ผลิตจากต่างประเทศ ไม่ซื้อของที่ผลิตในประเทศ ทั้งๆ ที่มีคุณภาพพอๆ กัน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลจากจริยธรรม ทำให้มีการตัดสินใจทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป ถ้าเราสามารถยั่วยุคนให้เกิดความเกลียดชังหรือเกิดความรู้สึกไม่ดีขึ้นมาต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง คนก็อาจจะเคียดแค้นไม่ยอมซื้อสินค้าที่มาจากประเทศนั้น อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการที่จริยธรรมมีผลต่อเศรษฐกิจ

ในชนบทบางแห่ง ชาวบ้านมีลักษณะนิสัยแบบที่ว่า เมื่อไม่มีเงินก็มาทำงาน เมื่อได้เงินมาก็จะหยุดทำงาน เมื่อเงินนั้นหมดไปก็จึงจะมาทำงานต่อ อุตสาหกรรมของบางประเทศต้องการที่จะไปตั้งในชนบท เพื่อจะช่วยเหลือชาวชนบทให้มีงานทำด้วย แต่เมื่อไปประสบภาวะเช่นนี้เข้า ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะว่าคนเข้ามาทำงานเมื่อไม่มีเงินใช้ พอทำไปสักพักหนึ่ง ได้เงินเดือนหรือค่าจ้างที่จ่ายในสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ จ่ายเงินไปแล้ว มีเงินใช้ก็หยุด ไปเล่นการพนัน ไปดื่มสุรากัน เงินหมดแล้วจึงกลับมาทำงานใหม่ อะไรทำนองนี้ ในที่สุดโรงงานอุตสาหกรรมนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ โรงงานอีกแห่งหนึ่งมีนโยบายในการที่จะสงเคราะห์คน มีการให้ยืมอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ไป ชาวบ้านยืมไปแล้วไม่เอามาส่ง เมื่อไม่มีความซื่อสัตย์ ในที่สุดก็ทำให้กิจการในด้านนั้น หรือการสงเคราะห์ในด้านนั้นต้องล้มเหลวไป อยู่ไม่ได้ มีตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง เคยได้ยินว่า ที่ด่านเกวียน จังหวัดโคราชหรือนครราชสีมานี้ มีชื่อในเรื่องการปั้นเครื่องดินเผาฝีมือดี ต่อมาคราวหนึ่งก็มีข่าวว่า มีคนไปจ้างให้ทำจำนวนมาก ปรากฏว่า ชาวบ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผานี้กลับคิดราคาแพงขึ้น เหตุผลที่เขาอ้างก็คือ เขาบอกว่า เขามีพอกินแล้ว เมื่อมาจ้างให้เขาทำมาก ก็ทำให้เขาลำบากมากขึ้น เขาไม่อยากจะยุ่ง จะวุ่นวายไปทำไม เขาพอกินอยู่แล้ว มาจ้างเขาทำมากๆ เขาก็เหนื่อยมาก เพราะฉะนั้น เมื่อให้เขาผลิตสินค้าปริมาณมากขึ้น เขาก็เลยคิดราคาแพงขึ้น เรื่องนี้ในแง่หนึ่ง ก็คล้ายๆ ว่าไปสวนทางกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ขึ้นมา

ในสังคมที่คนชอบโก้หรูหราฟุ้งเฟ้อ คนอาจจะรีบซื้อของทั้งๆ ที่ยังไม่มีเงิน ก็ไปกู้หนี้ยืมสินเขามา แล้วก็ไปซื้อของที่แสดงถึงฐานะหรือความโก้ เอามาอวดแข่งฐานะกัน ในสภาพเช่นนี้ การที่จะฟื้นฟูพัฒนาเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ยาก นี้ก็เป็นเรื่องของค่านิยมต่างๆ ที่มีความหมายต่อเรื่องเศรษฐกิจทั้งสิ้น และปัจจุบันนี้เราก็ประสบปัญหาประเภทนี้กันมาก

อีกเรื่องหนึ่งในปัจจุบันที่เราเห็นกันชัดก็คือ เราใช้การโฆษณาเป็นวิธีการสำคัญในการที่จะจูงใจคนให้ซื้อสินค้า กิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ใช้วิธีการนี้กันมาก แต่การโฆษณานั้นเป็นไปในรูปของการเร้าให้มีความต้องการให้มากแล้วซื้อมาก ในเมื่อความต้องการเป็นสิ่งที่เร้าให้เพิ่มขึ้นได้ เมื่อมองในทางตรงข้าม ความต้องการนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้ลดลงได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถโฆษณาเร้าความสนใจ เร้าความต้องการให้มากขึ้นได้แล้ว เราก็น่าจะสามารถสอนคนแนะนำคนให้ลดความต้องการได้เช่นเดียวกัน อันนี้ก็เป็นหลักธรรมดาๆ

จริยธรรม: ตัวแปรทางเศรษฐกิจที่ถูกมองข้าม

การที่เศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยสนใจกับจริยธรรมนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่าเป็นเพราะอะไร อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เศรษฐศาสตร์นี้เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก และจริยธรรมสำหรับเศรษฐกิจแบบตะวันตกเขาก็มีของเขาอย่างหนึ่ง ระบบจริยธรมแบบตะวันตกอย่างที่เกิดในยุคอุตสาหกรรม ก็คือจริยธรรมโปรเตสแตนท์ หรือ Protestant ethic ประเทศตะวันตกมี work ethic นี้เป็นหลักสำคัญในการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมขึ้นมา ไปๆ มาๆ จริยธรรมที่ทางเศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยให้ความสนใจ ไม่เอามาเป็นตัวแปรในการคิด ในการพิจารณา เกี่ยวกับเรื่องทางด้านเศรษฐกิจนั้น ที่แท้แล้วมันเป็นรากฐานความเจริญของระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตก และความเจริญยุคอุตสาหกรรมทีเดียว จะเรียกว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของเศรษฐกิจตะวันตกก็ได้ อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐศาสตร์ตะวันตกไม่สนใจพิจารณาปัญหาทางจริยธรรมนั้น ก็อาจจะมองได้ในแง่หนึ่งว่า ในสังคมตะวันตกนั้นระบบจริยธรรมแบบที่กล่าวมานั้น มันเข้ารูป คงตัว แทบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวคงที่อยู่แล้ว เป็นองค์ประกอบร่วมที่ยืนตัวของเศรษฐกิจของเขาอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเอามาพิจารณาในการคิดคำนวณอะไรต่างๆ ทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้า คนก็ลืมไปว่า ความจริงนั้นจริยธรรมก็มีผลต่อเรื่องเศรษฐกิจและมีผลอย่างมากด้วย

ต่อมา เรานำเอาความคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกนี้เข้ามาใช้ในสังคมอื่น ที่มีระบบจริยธรรมต่างกัน มันก็ออกผลมาในกระบวนการทางเศรษฐกิจต่างออกไป ทำให้การคิดคำนวณ การคาดคะเน หรือการทำนายทางด้านเศรษฐศาสตร์นี้ผิดพลาดไปได้ เพราะว่าเศรษฐศาสตร์นั้นมาอยู่ในสังคมที่มีรากฐานทางจริยธรรมที่ต่างออกไป หมายความว่า ขณะนี้วิชาการเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเคยตั้งอยู่บนรากฐานจริยธรรมแบบสังคมตะวันตก ที่มีองค์ประกอบด้านจริยธรรมเป็นตัวคงที่แล้ว ได้ถูกยกออกจากรากฐานทางจริยธรรมนั้น มาวางลงบนสังคมที่มีรากฐานทางจริยธรรมอีกอย่างหนึ่ง องค์ประกอบด้านจริยธรรมที่เป็นตัวคงที่ในสังคมเดิมของตะวันตก ก็ถูกแยกเอาออกไปแล้ว และองค์ประกอบทางจริยธรรมแบบใหม่ที่ต่างออกไป ก็ไม่ถูกนำเข้ามาร่วมในการพิจารณา ฉะนั้น การคิดคำนวณ หรือการพิจารณาต่างๆ ทางเศรษฐกิจก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดได้มาก จึงมีปัญหาว่า เศรษฐศาสตร์ที่นำมาใช้ในสังคมแบบตะวันออกนี้ ผู้ใช้มีความเข้าใจรากฐานทางจริยธรรมของตนเองเพียงพอหรือไม่ ดังตัวอย่างที่พูดมาเมื่อกี้นี้ ถ้าเราใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตก เมื่อผลิตสินค้าจำนวนมากขึ้น ก็มีโอกาสที่มันจะลดราคาลง แต่ในกรณีนี้ เมื่อผลิตสินค้าในปริมาณมากขึ้น ราคากลับแพงขึ้น เพราะคนมีความต้องการต่างออกไปอีกแบบหนึ่ง เรื่องนี้แสดงว่า องค์ประกอบทางด้านจริยธรรม และคุณค่าทางจิตใจที่ต่างออกไปได้แสดงผลออกมาแล้ว นับว่าเป็นตัวแปรที่ควรพิจารณา

เศรษฐศาสตร์บอกว่า เราไม่พิจารณาเรื่องคุณภาพของความต้องการ เราคิดแต่เรื่องความต้องการอย่างเดียวเป็นตัวโดดๆ ล้วนๆ แต่ในทางความเป็นจริง มันก็หนีธรรมชาติของมนุษย์ไปไม่ได้ คือ ความจริงก็ยังคงเป็นความจริงอยู่นั่นเอง เมื่อเศรษฐศาสตร์ไม่พิจารณาความจริงด้านใดด้านหนึ่งของธรรมชาติ การพิจารณานั้นก็ไม่ครบถ้วนกระบวนความ ก็ได้ความจริงไม่สมบูรณ์ และก็ย่อมมีผลคือกลายเป็นขัดกับความเป็นจริง เมื่อขัดกับความเป็นจริงก็มีผลออกมาทำให้เกิดความผิดพลาดได้ นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงว่า รากฐานทางจริยธรรมของสังคมนั้นๆ อาจจะผิดกัน เมื่อเศรษฐศาสตร์เกิดในสังคมตะวันตก เราคุ้นเคยกับการใช้แนวคิดหรือรากฐานความคิดทางจริยธรรมแบบนั้น จนกระทั่งฐานความคิดทางจริยธรรมแบบนั้น กลายเป็นสิ่งที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ เพราะเป็นองค์ประกอบที่คงที่ แต่ขณะนี้เราเอาเศรษฐศาสตร์นั้นมาใช้ในสังคมอีกสังคมหนึ่ง ที่มีรากฐานทางจริยธรรมอีกแบบหนึ่งต่างออกไป องค์ประกอบทางจริยธรรมอย่างใหม่นั้นจะถูกละทิ้งไว้ในฐานที่เข้าใจไม่ได้ แต่จะต้องถูกยกขึ้นมาพิจารณา จนกว่ามันจะเข้ามาสู่กระบวนการคิดพิจารณาของเศรษฐศาสตร์อย่างลึกซึ้งเสียก่อน จนกระทั่งว่าเป็นตัวคงที่ ไม่เป็นตัวแปรอีกต่อไป แต่ถ้ามันยังไม่เข้าสนิทลึกซึ้งแล้ว มันก็ยังสามารถเป็นตัวแปรได้

ว่าที่จริง นักเศรษฐศาสตร์ก็ยอมรับอยู่ในที ถึงความสำคัญของปัจจัยทางจริยธรรม หรือคุณค่าทางจิตใจต่อเรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นการยอมรับอย่างไม่ค่อยจะรู้ตัว อย่างที่เห็นกันในสังคมของเราเองที่ผ่านมานี้ มีนักเศรษฐศาสตร์และนักเศรษฐกิจหลายคนที่ติเตียนความเชื่อถือต่างๆ โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาที่ได้สอนหลักธรรมเรื่องสันโดษเป็นต้น ตลอดจนเรื่องกรรม เรื่องการปลงอนิจจังว่า อนิจจังไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายมันก็เป็นไปอย่างนั้นเองตามความไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น ก็จงปล่อยให้มันเป็นไปตามนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรมัน ทำใจให้สบายก็แล้วกัน อะไรทำนองนี้ ได้มีนักเศรษฐศาสตร์ที่ติเตียนว่า คำสอนในทางพระพุทธศาสนาแบบนี้ เป็นตัวการขัดถ่วงต่อการพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะก็คือ ขัดถ่วงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การที่พูดว่าอย่างนี้ก็เท่ากับว่า ทางเศรษฐศาสตร์หรือนักเศรษฐกิจ ก็ยอมรับความสำคัญของจริยธรรมอยู่แล้ว แต่เป็นการยอมรับในแง่ลบ แล้วก็ไม่รู้สึกตัวว่าในขณะนั้นๆ ตนกำลังพูดถึงปัญหาจริยธรรม

ในทางตรงข้าม ถ้าเราตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรมต่อเศรษฐกิจ มองเห็นว่า คำสอน ค่านิยม ที่มีในจิตใจ ลักษณะนิสัย จิตใจ ความประพฤติของคน เช่น การมีความสันโดษ ความเชื่อกรรม การปลงอนิจจัง มีผลต่อเศรษฐกิจ แล้วให้ความสนใจ เราก็จะสามารถนำคุณค่าทางจิตใจและจริยธรรมเหล่านี้มาใช้ในทางบวก คือเอาจริยธรรมนี้มาเป็นตัวเร้า ทำให้เกิดการพัฒนาในทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเห็นความสำคัญอย่างนี้แล้ว ก็น่าจะมีการศึกษาให้เข้าใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่คอยรอรับเอาผลที่ปรากฏขึ้นมาแล้ว แล้วก็สนใจเฉพาะจุดนั้น ไม่ศึกษาให้ลึกซึ้งต่อไป ซึ่งเป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่ง

ในสังคมไทยที่เป็นมานี้ เราอยู่ในช่วงหัวต่อของยุคเกษตรกรรมกับยุคอุตสาหกรรม เราพยายามพัฒนาประเทศชาติให้เจริญด้วยอุตสาหกรรม แต่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของเรานั้น เราประสบปัญหาว่าเราพัฒนาไม่ค่อยสำเร็จ ทีนี้ในการพัฒนาไม่สำเร็จนั้น ปัญหาที่ปรากฏเด่นชัดในปัจจุบันเรายังไม่ได้สรุป ถ้าสรุปมันจะเป็นในรูปนี้หรือไม่ คือเป็นคำถามว่า ในประเทศไทยที่พัฒนาเศรษฐกิจไม่ค่อยได้ผลดีนี่ ปัญหาอยู่ที่อะไร อยู่ที่ขาดทุนหรือขาดธรรม ถ้าได้คำตอบว่า การขาดธรรมเป็นปัจจัยสำคัญของความไม่เจริญเท่าที่ควรในทางเศรษฐกิจ ก็แสดงว่าจริยธรรมนี้มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจมาก ในเมื่อจริยธรรมมีความสำคัญมาก ถ้าเราไม่ให้ความสนใจและไม่ศึกษาจริยธรรม และไม่นำเอาจริยธรรมมาใช้เป็นตัวแปร ในการคิดพิจารณาปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว มันก็จะทำให้เกิดความติดตันในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัจจุบันนี้ เศรษฐศาสตร์ได้รับการขนานนามอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น dismal science แปลว่า ศาสตร์ที่เศร้า หมายความว่า ใครมามองดูเรื่องราวทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ก็มักจะมองไปข้างหน้าถึงปัญหาต่างๆ ที่เผชิญอยู่ ที่ยังคิดแก้ไม่ตก ก็พาให้เศร้าใจ ปัจจุบันนี้มีผู้เรียกเศรษฐศาสตร์ว่าเป็น dismal science ถ้าเราไม่สนใจเรื่องจริยธรรมเท่าที่ควร แล้วไม่พยายามแก้ปัญหาทางด้านนี้ มันก็จะเป็นตัวแปรที่ทำให้เราแก้ปัญหาไม่ตก แล้วเศรษฐศาสตร์ก็อาจจะกลายเป็น dismal science ไปจริงๆ ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์กับธรรมในแง่ที่หนึ่ง คือในความหมายว่าเป็นจริยธรรม โดยมุ่งให้ช่วยกันพิจารณาถึงปัญหา ซึ่งเกิดจากการที่เศรษฐศาสตร์ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามธรรมในความหมายที่หนึ่งนั้น

ธรรมที่เป็นเนื้อแท้ของเศรษฐศาสตร์

ทีนี้จะก้าวต่อไปสู่ความหมายที่สองของธรรม คือเศรษฐศาสตร์กับสัจธรรม ที่พูดมาเมื่อกี้ ในเรื่องเศรษฐศาสตร์กับธรรมในแง่จริยธรรมนั้น จริยธรรมยังพอแยกออกจากเศรษฐศาสตร์ได้บ้าง เพราะเราเห็นได้ว่า ในกิจกรรมอย่างเดียวกันนั้น อาจมองได้สองอย่าง โดยมองคนละด้าน คือจะมองในแง่เศรษฐกิจ ก็อาจจะมองเป็นเศรษฐกิจอย่างเดียวไปเลย หรือจะมองในแง่ของจริยธรรม ก็มองเป็นจริยธรรมได้ในการกระทำอย่างเดียวกัน เหมือนเรามานั่งอยู่ในที่ประชุมนี้ แต่ละท่านๆ นั่งอยู่นี้ก็ทำกิจกรรมอย่างเดียว แต่ในกิจกรรมอย่างเดียวของท่านนั้น จะมองในแง่จริยธรรมก็ได้ ถ้ามองในแง่จริยธรรม กิจกรรมของท่านก็เป็นความประพฤติดี ใฝ่ดี ต้องการหาความรู้ ต้องการพัฒนาปัญญา ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต นี่ก็เป็นจริยธรรม แต่ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ ก็อาจจะพิจารณาได้ในแง่ที่ว่า เรามาทำให้สิ้นเปลืองทรัพย์สินเงินทองไป ในที่ประชุมนี้ ทางการต้องใช้จ่ายให้แก่เราในการติดตั้งและเดินเครื่องแอร์คอนดิชั่น เป็นต้น อะไรทำนองนี้ แม้ในกิจกรรมเดียวกันก็มองได้หลายแง่ เพราะสิ่งเหล่านี้ปนอยู่ด้วยกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราก็ยังสามารถแยกออกได้ว่าอันไหนเป็นความหมายในแง่จริยธรรม อันไหนเป็นความหมายในแง่เศรษฐกิจ แต่สำหรับความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ ธรรมในแง่สัจธรรม เราไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย ธรรมในแง่สัจจธรรม ไม่สามารถแยกออกต่างหากจากเศรษฐศาสตร์ เพราะธรรมในแง่นี้เป็นเนื้อเป็นตัวของเศรษฐศาสตร์เอง ธรรมที่เป็นเนื้อเป็นตัวของเศรษฐศาสตร์เอง ก็คือกระบวนการของเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล ถ้าเศรษฐศาสตร์รู้และปฏิบัติการไม่ทั่วถึง ไม่ถูกต้องตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย เศรษฐศาสตร์ก็แก้ปัญหาไม่ได้ และเศรษฐศาสตร์นั้นก็ไม่เป็นความจริง คือ ไม่เป็นเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริง เพราะขัดต่อความเป็นจริงในธรรมชาติและในความเป็นไปของชีวิตสังคมมนุษย์ นี้ก็คือการที่จะแก้ปัญหาไม่สำเร็จ หรือสร้างผลดีตามความมุ่งหมายไม่สำเร็จ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นเศรษฐศาสตร์ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงนั่นเอง เพราะไม่ถูกต้องตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย หรือกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ หรือกฎเกณฑ์แห่งความเป็นจริง ถ้าเศรษฐศาสตร์ผิดพลาดในแง่นี้ ก็เรียกว่า เป็นการที่เศรษฐศาสตร์ไม่ถูกต้องตามธรรมในความหมายที่สองคือในแง่สัจจธรรม เป็นอันว่า ธรรมในที่นี้ก็คือ ธรรมดาของธรรมชาติ ซึ่งเป็นสภาวะที่มีอยู่ในวิทยาการและกิจกรรมทุกอย่าง ไม่ใช่เป็นสาขาความรู้อะไรที่ต่างหากออกไป เพราะฉะนั้น ทรรศนะปัจจุบันที่มองธรรมเป็นของต่างหากออกไปอย่างหนึ่ง ตามแนวคิดแบบความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง หรือ specialization นั้น จึงนับว่าเป็นการผิดพลาดมาก เพราะจะทำให้เราละเลยทอดทิ้งความหมายที่สำคัญในแง่นี้ไป

เศรษฐศาสตร์กับความหวังที่จะเป็นวิทยาศาสตร์

เมื่อพูดถึงธรรมในแง่ของสัจจธรรมแล้ว ก็มาสัมพันธ์กับแง่ที่ว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ ในระยะที่ผ่านมา เศรษฐศาสตร์ได้มีความภูมิใจว่า ตนเป็นสังคมศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด และเศรษฐศาสตร์ก็ได้พยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะแสดงตน หรือทำตนให้เป็นวิทยาศาสตร์ ในการพยายามที่จะเป็นวิทยาศาสตร์นั้น เศรษฐศาสตร์ก็พยายามที่จะไม่เกี่ยวข้องกับคุณค่าต่างๆ โดยทำตนให้เป็นศาสตร์ที่ปลอดจากคุณค่า อย่างที่เรียกว่า value-free ซึ่งเป็นการนำเอาคุณค่าทางจิตใจทิ้งไป ตัดออกไปเลย การคิดพิจารณาทางเศรษฐศาสตร์ จะยอมรับเอาแต่สิ่งที่คิดคำนวณได้เป็นตัวเลขที่ชัดเจนเท่านั้น ฉะนั้น เศรษฐศาสตร์เท่าที่เป็นมานี้ จึงมีลักษณะที่เรานิยมชมชื่นกันว่า เป็นวิทยาศาสตร์อย่างมาก แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์จริง ก็ต้องเข้ากับความหมายของธรรมในแง่ที่สองนี้ด้วย เพราะวิทยาศาสตร์นั้นก็คือเรื่องของการพยายามที่จะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ และการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติก็คือเข้าถึงตัวธรรมนั่นเอง ข้อจำกัดมีเพียงว่า วิทยาศาสตร์นั้น เท่าที่เป็นมา ยังเป็นเพียงวิทยาศาสตร์ด้านวัตถุ เป็นการพยายามเข้าถึงความจริงในด้านวัตถุ แต่อย่างไรก็ตาม ตัวความจริงที่เป็นแก่นของวิทยาศาสตร์ก็คือ ธรรม นั่นเอง

ในเมื่อเศรษฐศาสตร์ พยายามจะเป็นวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ก็ไปนิยมตามวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์แบบปัจจุบันนั้นก็เจริญมาในยุค specialization มุ่งเอาแต่ด้านวัตถุ เศรษฐศาสตร์ที่พยายามจะเป็นวิทยาศาสตร์ ก็จึงพยายามที่จะเอาแต่ทางด้านวัตถุ ไม่เกี่ยวข้องกับคุณค่าทางด้านจิตใจ จนกระทั่งกลายเป็นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือ เศรษฐศาสตร์ได้พยายามที่จะทำให้การพิจารณาปัญหาของตนเองเป็นเรื่อง value-free หรือปลอดจากเรื่องคุณค่า แต่ปัจจุบันนี้ ก็มีนักวิจารณ์เศรษฐศาสตร์และแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์เองหลายคนบอกว่า เศรษฐศาสตร์ไม่สามารถจะเป็น value-free ได้ ไม่สามารถที่จะเป็นศาสตร์ที่ปลอดจาก value หรือคุณค่า แต่โดยทางตรงข้าม เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ value-dependent มากที่สุด คือเป็นศาสตร์ที่อิงอาศัยคุณค่ามากที่สุด เพราะอะไร เพราะว่าเศรษฐศาสตร์นี้ขึ้นต้นด้วยความต้องการ ซึ่งเป็นคุณค่าทางจิตใจ แล้วก็ไปลงท้ายด้วยความพึงพอใจ ซึ่งก็เป็นคุณค่าทางจิตใจเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น ในกระบวนการทางเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือการตัดสินใจ การตัดสินใจทางเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องที่ต้องอิงอาศัยคุณค่าต่างๆ ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของเศรษฐศาสตร์ จึงเป็นเรื่องของคุณค่าทั้งสิ้น เศรษฐศาสตร์จะไม่สามารถเป็นศาสตร์ที่เป็น value-free ได้เลย อันนี้ก็เป็นการพูดเสริมเข้ากับทรรศนะของนักเศรษฐศาสตร์เองบางคน เป็นอันว่าในแง่นี้ คุณค่าทางจิตใจนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และมีอิทธิพลในกระบวนการเศรษฐกิจโดยตลอด

ความจริงนั้น เศรษฐศาสตร์ไม่ควรจะไปเป็นห่วงกับการที่จะต้องเป็นวิทยาศาสตร์ จะต้องเป็น value-free แล้วก็พยายามที่จะตัดความคิดการพิจารณาด้าน value ออกไป ซึ่งจะทำให้ขัดกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ แล้วก็จะทำให้การพิจารณาปัญหาของเศรษฐศาสตร์นี้ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง นั่นก็คือการที่จะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเราไปไว้ใจวิทยาศาสตร์เกินไป ดังได้กล่าวแล้วว่า วิทยาศาสตร์เองนั้นเป็นการค้นคว้าพยายามเข้าถึงความจริงของธรรมชาติที่เน้นไปในทางวัตถุด้านเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าเศรษฐศาสตร์ไปมัวตามอย่าง หรือพยายามทำตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ตัวเองก็จะมีปัญหาในด้านอื่นตามมาอีกหลายอย่าง ซึ่งสืบเนื่องมาจากการเกี่ยวข้องกับความจริงเพียงด้านเดียว อันเป็นความบกพร่องขาดความสมบูรณ์ในแง่ของสัจจธรรมนั้น ดังนั้น จึงควรยอมรับความจริงกันก่อนทีเดียวว่า ไหนๆ เศรษฐศาสตร์ก็ต้องเกี่ยวข้องกับ value หรือคุณค่าต่างๆ แล้ว ทางที่ดีที่จะให้ถูกต้องก็คือ จะต้องศึกษาเรื่อง value ต่างๆ นั้นให้เข้าใจให้ตลอด เช่น เข้าใจเรื่องธรรมชาติของความต้องการของมนุษย์ ธรรมชาติของความพึงพอใจ เป็นต้น จะต้องเข้าใจให้ตลอด

มองไม่ทั่วตลอด ด้านหน้า ด้านใน และด้านข้าง

ข้อต่อไป ที่ว่าเศรษฐศาสตร์จะไม่สามารถเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างแท้จริง ก็เพราะไม่เป็นไปตามหลักการของธรรมในแง่ที่สอง คือ กระบวนการของเหตุปัจจัยหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั่นเอง เศรษฐศาสตร์ที่เป็นอยู่นี้ เป็นศาสตร์ที่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ไม่สอดคล้องอย่างไร ประการที่หนึ่ง เศรษฐศาสตร์เท่าที่เป็นมานี้ มองไม่ตลอดกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่ส่งผลสืบทอดต่อกันออกไป จึงขัดกับกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ตามธรรมดาในธรรมชาตินั้น การกระทำอย่างหนึ่งจะต้องส่งผลสืบต่อไป เมื่อส่งผลสืบต่อไปแล้ว ผลนั้นกลับเป็นเหตุ แล้วส่งผลสืบทอดต่อไปอีก มันจะเป็นกระบวนการของความเป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อเนื่องกันไป การที่จะเข้าใจความเป็นจริงก็คือ ต้องเข้าใจและมองกระบวนการของความเป็นเหตุปัจจัยกันนี้ให้ตลอดสาย แต่การคิดพิจารณาของเศรษฐศาสตร์นั้น จะมีลักษณะที่ตัดตอน คือตัดตอนในกระบวนการของเหตุปัจจัย หรือตัดตอนในความเป็นไปของกฎธรรมชาตินี้ ถือเป็นสิ้นสุดที่ตอนใดตอนหนึ่ง แล้วไม่พิจารณาต่อไปว่า ผลจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราเกิดความต้องการขึ้นมา สมมติว่าต้องการอาหารเราก็ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้อาหารมารับประทาน ก็เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้น พอได้อาหารมาแล้วก็บริโภค เมื่อบริโภคแล้วก็ได้สนองความต้องการนั้น สนองความต้องการก็คือ ได้รับความพึงพอใจ พึงพอใจแล้วเศรษฐศาสตร์ก็จบที่นี่ เราจะไม่พิจารณาต่อไปว่าจะมีผลสืบทอดไปข้างหน้าอย่างไรอีก

แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้ ในความเป็นจริงนั้น เมื่อมีการบริโภคขึ้นแล้ว ก็ต้องเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เราต้องพิจารณาเรื่องนี้เพราะมันเป็นความมุ่งหมายของเศรษฐศาสตร์เองด้วย คือ ในการบริโภคนั้น ผลของการบริโภคอยู่ที่ไหนกันแน่ ในทรรศนะของเศรษฐศาสตร์ บอกว่าเอาแค่ความพึงพอใจ เมื่อได้บริโภคแล้ว เกิดความพึงพอใจก็จบ แต่การบริโภคนั้นเกิดผลที่แท้จริงคืออะไร ผลแท้จริงที่ชีวิตต้องการคืออะไร การที่มนุษย์บริโภคนั้นเพื่ออะไร คนบริโภคเพื่อให้ได้คุณภาพชีวิต คุณภาพชีวิตคืออะไร การที่ร่างกายของเราต้องการอาหารมาหล่อเลี้ยง ทำให้เกิดกำลังวังชา ความแข็งแรง และซ่อมแซมร่างกาย อันนี้คือความต้องการคุณภาพชีวิต การบริโภคอาหารคือการทำให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิต ความพึงพอใจกับการได้คุณภาพชีวิต อันไหนเป็นผลของการบริโภคที่ตรงกว่ากัน อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา

ไม่ใช่แค่นั้น การบริโภคไม่ใช่มีความหมายเพียงให้ได้คุณภาพชีวิต แต่การบริโภคมีความหมายสำหรับคนจำนวนมาก ในแง่ว่าเป็นการได้เสพรสเอร็ดอร่อย คนจำนวนไม่น้อยกินอาหารเพื่อจะได้เอร็ดอร่อย ถ้ากินอาหารแล้วได้สนองความต้องการคือได้รับรสอร่อยแล้ว ก็เป็นอันว่าได้รับความพึงพอใจ เศรษฐศาสตร์อาจจะเข้ากับแนวความคิดในความหมายที่สองนี้ก็ได้ เพราะถือเอาการได้รับความพึงพอใจเป็นผลที่ต้องการของการบริโภค แต่ก็ยังไม่ชัดลงไปทีเดียว เพราะอาจจะพึงพอใจจากการได้คุณภาพชีวิต หรือพึงพอใจจากการได้เสพรสอร่อยก็ได้ และเรื่องนี้ก็ไปสัมพันธ์กับการบริโภคที่มีผลสองอย่าง ซึ่งมีความสัมพันธ์กันทุกเรื่องตั้งต้นแต่ความต้องการมาเลยทีเดียว

การที่คนต้องการอาหารบริโภค เขาจะมีความต้องการไม่เหมือนกัน คนหนึ่งต้องการบริโภคเพื่อให้ได้คุณภาพชีวิต เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี หล่อเลี้ยงร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อะไรต่างๆ แต่อีกคนหนึ่งต้องการบริโภคเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย เมื่อความต้องการต่างกัน กิจกรรมในการบริโภคก็ต่างกัน แล้วผลที่เกิดขึ้นตามมาก็ต่างกัน คนหนึ่งบริโภคไปแล้วได้คุณภาพชีวิต คือ อาหารนั้นมีคุณค่าต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ มีสุขภาพดี ไม่มีโรค อีกคนหนึ่งบริโภคแล้วได้ความเอร็ดอร่อย แต่เพราะความเอร็ดอร่อยก็ทำให้ไม่รู้จักประมาณหรือไม่รู้จักเลือกอาหาร เลือกอาหารที่อร่อย ไม่เลือกอาหารที่มีคุณค่า ก็กินอาหารเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย อาจจะปรุงแต่งสีสัน ทำให้เกิดโทษเกิดพิษต่อร่างกาย หรือกินมากเกินไป ทำให้ท้องอืด ไม่ย่อย เสียสุขภาพ และเกิดโรค ความต้องการที่ต่างกันนั้นก็มีผลต่างกัน และความพึงพอใจที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ในความพึงพอใจแบบหนึ่ง จุดของความพึงพอใจอยู่ที่การได้รับสิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิต แต่สำหรับอีกคนหนึ่งนั้น ความพึงพอใจอยู่ที่การได้เสพรสอาหาร แล้วความพึงพอใจนี้ก็จะมีผลกระทบย้อนกลับไปสู่การตัดสินใจทางเศรษฐกิจด้วย การตัดสินใจทางเศรษฐกิจจะมีความหมายสัมพันธ์กับเรื่องความพึงพอใจนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเศรษฐศาสตร์จะคำนึงหรือไม่ก็ตาม มันก็จะกลับมีผลต่อเศรษฐกิจด้วย การที่เศรษฐศาสตร์ละเลยความหมายต่างๆ เหล่านี้ไป จึงเป็นการมองกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยไม่ครบถ้วน และเมื่อมองกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยไม่ครบถ้วน จะเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร เพราะมันขัดกับความเป็นจริง ความเป็นจริงของธรรมชาติคือ การที่สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน สืบทอดกันโดยกฎแห่งเหตุปัจจัยนั้น ฉะนั้น เมื่อการบริโภคเกิดขึ้น จะต้องคำนึงต่อไปว่า การบริโภคที่เป็นผลนั้นกลายมาเป็นเหตุ แล้วจะทำให้เกิดอะไรต่อไป ถ้าพิจารณาในแง่ของความเป็นจริง จะละทิ้งผลสืบเนื่องต่างๆ ไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเศรษฐศาสตร์จะตัดตอนให้ข้อพิจารณาของตัวเองขาดลอยออกไปอย่างนี้ ก็จะต้องจำกัดขอบเขตความสำคัญของตนเองด้วยเหมือนกัน และในกรณีเช่นนี้ เมื่อจะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ก็จะต้องไปสัมพันธ์เชื่อมโยงและร่วมมือกับวิชาการอื่น มิฉะนั้นก็จะต้องนำเอาความหมายแง่อื่นๆ ในความจริงของธรรมชาติหรือตัวปัจจัย หรือองค์ประกอบในกระบวนการของธรรมชาติที่เป็นเหตุปัจจัยกันในแง่อื่นเข้ามาพิจารณาด้วย

เป็นอันว่า การบริโภคที่เป็นผลปลายทาง ซึ่งทำให้เกิดความพึงพอใจในทางเศรษฐกิจนั้น กลายเป็นเหตุที่จะส่งผลต่อไป โดยอาจทำให้ได้คุณภาพชีวิตก็ได้ หรืออาจจะทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิตก็ได้ แล้วก็มีผลย้อนกลับมาสู่การตัดสินใจทางเศรษฐกิจอีก และทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาตินั่นเอง แล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า ในการแก้ปัญหาของมนุษย์นั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาองค์ประกอบและปัจจัยเหล่านี้อย่างทั่วถึง แต่ทีนี้เมื่อเศรษฐศาสตร์นำเอาข้อประเด็นในธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ความต้องการและความพึงพอใจเป็นต้น เข้ามาพิจารณาโดยเลือกเอาแต่เพียงบางแง่บางส่วนของความเป็นจริงมาใช้ เมื่อนำเอาเพียงบางแง่บางส่วนของความเป็นจริงมาใช้ ก็เรียกว่าเป็น การนำเอาปัจจัยและองค์ประกอบในกระบวนการของธรรมชาติมาพิจารณาไม่ครบถ้วน การนำเอาองค์ประกอบและปัจจัยในธรรมชาติมาพิจารณาไม่ครบถ้วน ก็ทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ในการมองเห็นความจริง เมื่อมองเห็นความจริงไม่สมบูรณ์คือไม่ทั่วตลอดกระบวนการของมัน ก็ทำนายผลผิดพลาดได้มาก เพราะฉะนั้น จึงเป็นความบกพร่องอีกสถานหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ คือความบกพร่องที่ว่า พิจารณา รู้เข้าใจ แยกแยะปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ ในกระบวนการธรรมชาติไม่ทั่วถึง จับเพียงบางแง่บางส่วนของธรรมชาติมาแสดง นี้คือเหตุผลประการที่สอง ที่ทำให้เศรษฐศาสตร์ไม่สามารถเป็นวิทยาศาสตร์

ต่อไปประการที่สาม เมื่อกี้นี้เรามองในแง่ความเป็นเหตุปัจจัยที่สืบต่อตรงออกไปข้างหน้า มองตรงไปข้างหน้าว่ามีผลอันนี้เกิดขึ้น แล้วผลอันนี้กลายเป็นเหตุให้เกิดผลอันโน้นต่อไป มองสืบทอดตรงออกไปข้างหน้า ทีนี้มองข้างบ้าง ในแง่มองข้างหรือตามขวางก็เช่นเดียวกัน การที่สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นในกระบวนการของธรรมชาตินั้น นอกจากจะมีการสืบทอดโดยเป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องกันต่อๆ ไปแล้ว มันจะมีความสัมพันธ์อิงอาศัยเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ ข้างเคียงรอบตัวทั้งหมดด้วย ดังเช่นในระบบนิเวศ เราจะเห็นตัวอย่างว่า ชีวิตทั้งหลายและสิ่งทั้งปวงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ความเป็นไปหรือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นด้วย นี้ก็คือความสัมพันธ์อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย แต่เศรษฐศาสตร์จะมองเฉพาะกระบวนการที่ส่งทอดตรงออกไปแล้วก็ตัดตอนอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ไม่ได้มองถึงการอ้างอิงอาศัยกันในด้านข้างหรือตามขวาง เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เกิดปัญหา ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ การผลิต

การผลิตในความหมายทางเศรษฐศาสตร์คืออะไร เอาในความหมายของคนทั่วไปก่อน คนทั่วไปมักเข้าใจว่า การผลิต คือการทำให้เกิดขึ้นใหม่ เราผลิตอะไรก็คือทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ทำให้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น แต่คำพูดเช่นนี้เป็นคำลวงหู ลวงตา ลวงสมอง ไม่เป็นความจริง การผลิตคือการทำให้มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ ไม่เป็นความจริง นักเศรษฐศาสตร์บางท่านให้นิยามของการผลิตว่า คือ การแปรสภาพจากอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความหมายนี้เข้าทีขึ้น คือ การผลิตนั้น ไม่ได้ทำให้อะไรเกิดขึ้นใหม่แท้จริงเลย ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร แล้วมาทำขึ้นใหม่ เป็นไปไม่ได้ การแปรสภาพเป็นความหมายของการผลิต แต่การแปรสภาพก็ยังไม่ทำให้เข้าใจชัดเจน ในความหมายที่แฝงซ้อนอยู่ของการแปรสภาพ คือการที่จะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นนั้น ก็ได้มีการทำลายสิ่งอื่นด้วย เพราะฉะนั้น ที่ว่าเราแปรสภาพหรือทำการผลิตนั้น ตามปกติก็จะมีการทำลายด้วยพร้อมกัน ในแง่หนึ่งเราพูดได้ว่า การผลิตจะมาพร้อมกับการทำลาย การผลิตย่อมมีการทำลายด้วยแทบจะเสมอไป แต่จะเป็นการทำลายที่พึงประสงค์หรือไม่ เป็นการทำลายที่เรายอมรับได้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เท่าที่ผ่านมาในยุคอุตสาหกรรม เศรษฐศาสตร์ต้องการให้คนทำการผลิต การผลิตเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความเจริญของยุคอุตสาหกรรม แต่เพราะเหตุที่เราไม่ได้มองถึงธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน จึงไม่ได้มองเห็นความหมายที่ว่า การผลิตก็คือ การทำลายในแง่หนึ่ง เมื่อมนุษย์มีการผลิตในด้านหนึ่งขึ้นแล้ว ก็มีการทำลายอีกด้านหนึ่งขึ้นมา ทีนี้การทำลายนั้นในบางครั้งก็เป็นการทำลายที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ในระบบนิเวศ เมื่อมนุษย์ทำการผลิตในระบบอุตสาหกรรมขึ้น ก็ปรากฏว่า พร้อมกันนั้น ได้มีการทำลายในระบบนิเวศเกิดขึ้น ซึ่งในระยะยาว มากระทั่งถึงบัดนี้ก็ได้เกิดปัญหามากมายดังที่เราประสบกันอยู่ อย่างที่เรียกว่าแทบจะเป็นทางตันทีเดียว และนี้ก็คือการที่เศรษฐศาสตร์มองกระบวนการของธรรมชาติไม่ทั่วถึงอีกด้านหนึ่ง คือด้านข้างหรือด้านตามขวาง

รวมความว่า เมื่อด้านหน้าตรงไปก็ตัดตอนเสีย ด้านในก็มองไม่ทั่ว และด้านขวางหรือด้านข้างก็ไม่มอง ความเป็นวิทยาศาสตร์ก็ไม่อาจสมบูรณ์ได้ นี่ก็เป็นเหตุผลอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาที่เราประสบกันอยู่ในปัจจุบัน

ไม่ถูกต้องตามธรรม จึงไม่เป็นวิทยาศาสตร์

ต่อไปประการที่สี่ ในกระบวนการของธรรมชาติที่ว่า มีความเป็นเหตุเป็นผลเป็นปัจจัยต่อกัน ซึ่งซับซ้อนอย่างมากนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการจับเหตุและผลให้ตรงกัน ว่าผลอันนี้เกิดจากเหตุอันไหน ถ้าจับไม่ตรงก็จะทำให้การคิดคำนวณและการคาดหมายอะไรต่างๆ รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมในทางเศรษฐศาสตร์นี้ผิดพลาดไปได้ เป็นความจริงว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ก็มีปัญหานี้ด้วย คือการจับเหตุกับผลในกระบวนการนั้นไม่ตรงกัน จับผลไม่ตรงเหตุ และจากเหตุคำนวณไปไม่ตรงผล จะขอยกตัวอย่าง ในกระบวนการของความเป็นเหตุเป็นผลกันนี้ ในที่สุดขั้นสุดท้าย เราไม่สามารถแยกแม้แต่วัตถุกับจิตได้ ขณะนี้มนุษย์ได้เริ่มตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น แต่ในระยะที่ผ่านมาที่ว่าเป็นยุคของ specialization คือความชำนาญพิเศษเฉพาะทางนั้น วิทยาการแต่ละสาขาก็ศึกษาในด้านของตนไป วิทยาศาสตร์ก็พยายามศึกษากระบวนการของเหตุปัจจัยในทางวัตถุให้ถึงที่สุด จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ ทางการแพทย์ก็ได้มองเห็นชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจว่า ความเป็นไปทางจิตใจมีผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้เกิดผลทางร่างกายออกมาในรูปลักษณะต่างๆ แม้แต่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ในระยะนี้ก็เริ่มมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับจิตใจมากขึ้น ทีนี้ในเรื่องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนี้ในขั้นสุดท้ายแล้ว ปัจจัยทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ จะต้องถูกนำเอามาคำนึงพิจารณาให้หมด จึงจะมองเห็นเหตุปัจจัยได้ทั่วตลอด และการจับเหตุกับผลให้ตรงกันจึงจะเป็นไปได้อย่างแท้จริง

ในทางเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านมานี้ ได้มีปัญหาอย่างที่กล่าวนี้ด้วย คือเรื่องการจับตัวเหตุกับผลไม่ตรงกัน ในทางจริยธรรมก็มีตัวอย่าง เช่น นักเศรษฐศาสตร์อาจจะเข้าใจว่า เมื่อเร้าความต้องการของคนให้มากแล้ว คนก็จะทำงานมากขึ้น เมื่อเร้าความต้องการให้คนอยากได้สินค้ามากขึ้นแล้ว คนก็จะต้องทำงานเพื่อจะให้ได้สินค้านั้นมา จากการพิจารณาตามเหตุผลนี้ นักเศรษฐศาสตร์ก็คิดว่า ด้วยการเร้าความต้องการของคนให้มาก คนก็จะทำงานมากขึ้นและการพัฒนาประเทศชาติก็จะสำเร็จ แต่ในทางความเป็นจริง ความต้องการนั้นคือต้องการอะไร อันนี้ต้องพูดว่าเศรษฐศาสตร์ไม่มีความชัดเจน ที่ว่าต้องการนั้นคือต้องการอะไร การที่เราเร้าความต้องการ ก็คือเร้าความต้องการสินค้า เพื่อจะได้เอามาเสพ ก็หมายความว่าเร้าความต้องการที่จะเสพสินค้า หรือเร้าความต้องการที่จะได้สินค้านั้นมาเสพ นี้เป็นการมองที่ตัวคนผู้ต้องการ กล่าวคือความต้องการของคนนั้น ได้แก่ต้องการสินค้ามาเสพ แต่ทีนี้มามองที่นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักเศรษฐศาสตร์การเมืองบ้าง ความต้องการของนักเศรษฐศาสตร์ที่ไปเร้าความต้องการของคนนั้นต้องการอะไร นักเศรษฐศาสตร์ต้องการให้คนทำงาน ทีนี้ตัวเหตุกับตัวผลมันตรงกันไหม คนจะทำงานเพราะอะไร ถ้าจะให้ตรงก็คือ เพราะต้องการทำงานหรือต้องการผลของการทำงานนั้น อันนี้พูดไม่เป็นรูปธรรมก็อาจจะไม่ชัด จึงจะขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราต้องการให้คนรักษาความสะอาด ต้องการให้คนกวาดบ้าน เช็ดพื้นให้สะอาด นี่เป็นความต้องการของนักเศรษฐศาสตร์ และผู้ปกครองบ้านเมือง เพราะการทำความสะอาดก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการพัฒนาประเทศ หรือพัฒนาสังคม เราต้องการให้เขาทำงานคือทำความสะอาดนั้น แต่จะให้เขาทำได้อย่างไร นักเศรษฐศาสตร์ก็คิดว่าต้องเร้าความต้องการของเขา เราก็ไปบอกเขาว่า ถ้าคุณกวาดบ้าน ทำความสะอาดนี้ ฉันจะให้เงินคุณหนึ่งร้อยบาท สิ่งที่คนนั้นต้องการคืออะไร สิ่งที่เขาต้องการคือ เงินร้อยบาท แต่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องการคือความสะอาด แทนที่จะเร้าให้ต้องการความสะอาด หรือให้ต้องการทำความสะอาด เรากลับไปเร้าให้ต้องการเงิน ทีนี้คนที่ต้องการเงินนั้นเขาไม่ได้ต้องการความสะอาด และเขาก็ไม่ได้อยากจะทำงานที่จะทำให้เกิดความสะอาด เมื่อไม่มีทางอื่น เราก็ต้องตั้งเงื่อนไขขึ้นมาว่า คุณต้องไปกวาดบ้าน หรือคุณต้องทำความสะอาดนี้แล้วจึงจะได้เงิน ด้วยวิธีนี้ เมื่อต้องการเงินเขาก็ต้องไปทำงาน แต่ในทางปฏิบัติไม่จำเป็นที่เขาจะต้องทำงานเสมอไป ในเมื่อเขาไม่ต้องการทำงาน เขาก็อาจจะหาทางเลี่ยง เลี่ยงที่จะไม่ทำงาน แต่ก็จะให้ได้เงินนั้นมา เมื่อเขาถูกเร้าความต้องการที่จะได้เงินมากเข้า เขาก็อาจจะหาทางที่จะได้เงินในทางทุจริต อาจจะไปลักเงินเขามาก็ได้ หรืออาจจะไปกู้หนี้ยืมสินเขามาก็ได้ หรืออาจจะทำงาน แต่ไม่ตั้งใจทำให้มีคุณภาพดีเพราะจำใจทำ ไม่ได้ต้องการทำงานก็ได้

ในทางที่ถูกต้อง การที่จะเร้าเหตุให้ตรงกับผลก็คือ เมื่อผลที่ต้องการคือความสะอาด ก็ต้องให้คนต้องการความสะอาด เมื่อคนต้องการความสะอาด เขาก็จะต้องทำงานคือการกวาด การเช็ดถูพื้น แล้วก็ให้เกิดความสะอาดขึ้น แต่นักเศรษฐศาสตร์กลับไปเร้าโดยใช้วิธีการที่เรียกว่า สร้างเงื่อนไขขึ้นมา ในการพัฒนาประเทศที่ผ่านมานี้ ก็มีการเร้าในลักษณะของการสร้างเงื่อนไขอย่างนี้ คือเร้าความต้องการเสพสินค้าต่างๆ เรียกสั้นๆ ว่า เร้าตัณหาขึ้นมา เมื่อเร้าตัณหาแล้วคนก็ต้องการความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย และสิ่งเสพต่างๆ แล้วคนก็ไม่ได้รักการทำงาน ไม่ได้รักผลที่แท้จริงของการพัฒนาประเทศ ก็เลยทำให้เกิดการหาทางลัดในการที่จะได้มาซึ่งสินค้าที่จะเสพ มีการกู้หนี้ยืมสิน การทุจริต การลักขโมย และอาชญากรรมต่างๆ มากมาย แทนที่จะเกิดการพัฒนา ก็กลายเป็นการขัดขวางต่อกระบวนการพัฒนา นี้ก็เป็นเรื่องของการจับเหตุไม่ตรงกับผล แต่เป็นตัวอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับจริยธรรมมากสักหน่อย

เป็นอันว่า ในการปฏิบัติที่ผ่านมานี้ เศรษฐศาสตร์ได้นำเอาปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ ในธรรมชาติ มาคิดคำนวณในวงจำกัด เลือกเอาเฉพาะที่คิดว่าตัวเองจะใช้ แล้วก็คิดว่าเพียงพอ แต่ก็ปรากฏว่าไม่ครบถ้วนลงตัวกับความเป็นจริง นอกจากนั้น ยังมองความเป็นไปในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยไม่ตลอดสาย และไม่มองถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ภายนอก ที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันอยู่เชื่อมโยงกันออกไป อีกทั้งจับเหตุไม่ตรงกับผล การคิดและการปฏิบัติตามวิธีการของเศรษฐศาสตร์นั้น จึงไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ที่ว่ามาสี่ข้อนี้ก็เป็นเรื่องของกระบวนการธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นจริง และเพราะฉะนั้น ก็จึงเป็นตัวตัดสินที่จะทำให้เศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ด้วย และความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ว่านี้ก็ได้แก่ธรรมในความหมายที่สอง คือสัจจธรรม เมื่อเศรษฐศาสตร์ขาดธรรมในแง่ต่างๆ สี่ข้อ ที่ว่ามานี้ ก็จึงเป็นจุดอ่อนของเศรษฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกับกระบวนการของความจริงในธรรมชาติ เศรษฐศาสตร์ก็เลยไม่ถูกต้องตามธรรม แล้วก็ไม่สามารถเป็นวิทยาศาสตร์ได้จริง พุทธศาสตร์พิจารณาเรื่องเหล่านี้ตามหลักของกระบวนการปัจจัยสัมพันธ์ตามธรรมดาของธรรมชาติ และเรียกหลักการและกระบวนการทั้งหมดนี้ด้วยคำคำเดียวว่า ธรรม เพราะฉะนั้น เศรษฐศาสตร์ที่ถูกต้องเป็นวิทยาศาสตร์ จะต้องเป็นเศรษฐศาสตร์ที่ถูกต้องตามธรรม แล้วทีนี้เราก็จะหวนกลับมาพิจารณาเรื่องเหล่านี้กันใหม่อีกครั้งหนึ่งในแง่ของพุทธศาสตร์

ฐานะของเศรษฐกิจในแหล่งคำสอนของพุทธศาสตร์

ก่อนที่จะวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้ตามแนวของพุทธศาสตร์ต่อไป ก็จะหวนกลับมาหาคำสอนทั่วๆ ไปของพุทธศาสตร์เสียก่อน ในเรื่องพุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจนี้ ตามปกติ เมื่อเราจะมองหาหลักฐานที่อ้างอิง เราก็ต้องมองกลับไปที่พระไตรปิฎกก่อน เพราะถือว่าพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่บรรจุไว้ซึ่งคำสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนา และคำสอนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ก็มีอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นจำนวนไม่น้อย พระไตรปิฎกนั้นมีเนื้อหามากมายถึงสี่สิบห้าเล่ม ถ้าคิดเป็นหน้าก็เกือบสองหมื่นสองพันหน้า แต่เรามาแบ่งกันง่ายๆ ว่าเป็นสามปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก คำสอนที่ว่าด้วยเศรษฐกิจนี้ ความจริงก็มีอยู่ไม่ใช่น้อยในพระไตรปิฎก จะว่าพระพุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจก็คงจะไม่ถูกต้องเลย

ลองสำรวจเริ่มจากปิฎกที่ว่าเกี่ยวข้องน้อยที่สุดก่อน คือ พระอภิธรรมปิฎก อภิธรรมปิฎกนั้นไม่มีการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจโดยตรงเลย แต่ความจริงก็เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์อยู่นั่นแหละ เพราะว่าอภิธรรมนั้นว่าด้วยสภาพจิตใจ ทำการวิเคราะห์กระบวนการและองค์ประกอบต่างๆ ในจิตใจออกมา ให้เห็นเป็นแต่ละอย่างๆ องค์ประกอบของจิตใจเหล่านี้เป็นรากฐานของพฤติกรรมของมนุษย์ในทุกด้าน รวมทั้งพฤติกรรมในทางเศรษฐกิจด้วย เช่น ในฝ่ายลบก็มี โลภะ โทสะ โมหะ ตัณหา มานะ ทิฐิ เป็นต้น หรือในฝ่ายบวกก็มี อโลภะ อโทสะ อโมหะ มีศรัทธา มีจาคะ มีเมตตา อะไรต่างๆ ธรรมะหรือหน่วยธรรมเหล่านี้ เป็นองค์ประกอบทางจิตใจที่เป็นรากฐานของพฤติกรรมของมนุษย์ พฤติกรรมนั้นมาเกี่ยวข้องกับวิชาการด้านใด นักวิชาการด้านนั้นก็เอาไปศึกษาเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องของพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านหนึ่ง ซึ่งจะต้องมาจากพื้นฐานในทางจิตใจเหล่านี้ เพราะฉะนั้น อภิธรรมจึงเป็นการศึกษาเรื่องของเศรษฐกิจ หรือเศรษฐศาสตร์ในขั้นรากฐานที่สุด แต่จะเห็นได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าเราจะสามารถเชื่อมโยงความจริงออกมาได้เพียงใด

ต่อมา คำสอนที่เราพบมากที่สุดในทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ก็คือคำสอนในพระสุตตันตปิฎก ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า พระสูตร คำสอนในพระสูตรนี้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสกับบุคคลหรือกลุ่มชนที่อยู่ในกาลเทศะต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นคำสอนในพระสูตร จึงมักจะเป็นคำสอนในทางปฏิบัติที่ใช้สำหรับชุมชนนั้นๆ ในขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมแบบนั้นๆ ในสภาพอย่างนี้ คำสอนในพระสุตตันตปิฎกจึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องมองให้เข้าใจ โดยมุ่งไปที่สาระสำคัญว่าอยู่ที่ไหน แล้วจับเอามาใช้ ไม่ใช่จับเอามาทั้งดุ้น เพราะเป็นคำสอนที่จัดให้เหมาะกับบุคคล ตามสภาพแวดล้อมแห่งกาละและเทศะดังกล่าวแล้ว

ทีนี้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญเหมือนกัน คือพระวินัยปิฎก วินัยปิฎกนี้มีความหมายสัมพันธ์กับเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก วินัยเป็นเรื่องของการจัดระเบียบชีวิตและระบบสังคม รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ สำหรับชุมชนหนึ่งที่เรียกว่า สงฆ์ ซึ่งเป็นชุมชนที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นมาตามอุดมการณ์ของพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ในบทบัญญัติที่เรียกว่า วินัย นี้ จะมีกฎ ข้อบังคับ หลักปฏิบัติที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ เกี่ยวกับปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจมากมาย อย่างน้อยตอนแรกก็มีวิธีประกอบอาชีพที่จะเป็นหลักประกันให้ ภิกษุ ภิกษุณี ซึ่งอยู่ในชุมชนนั้นหรืออยู่ในสงฆ์นั้น มีปัจจัยสี่ดำรงชีวิตอยู่ได้ อันนี้เป็นฐานเบื้องแรก ต่อจากนั้นก็วางหลักเกณฑ์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ปัจจัยสี่นั้นเป็นเครื่องอุดหนุนการอยู่ร่วมกันด้วยดี ไม่ให้คนที่อยู่ร่วมกันนั้นต้องมาทะเลาะวิวาทกัน ขัดแย้ง แย่งชิงกันด้วยเรื่องปัจจัยสี่ แต่ให้มีความหมายในทางบวกว่า ปัจจัยสี่ช่วยสนับสนุนการเป็นอยู่ร่วมกันด้วยดี แล้วก็มีความหมายต่อไปว่า ให้ความมีปัจจัยสี่นั้นเป็นเครื่องเกื้อกูลแก่การทำกิจหน้าที่ในการฝึกฝนพัฒนาตน คือการปฏิบัติตามมรรค ซึ่งเป็นการพัฒนาชีวิตหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตส่วนตน และในการที่จะนำเอาธรรมไปเผยแผ่สั่งสอนแนะนำผู้อื่นด้วย การมีและการปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อปัจจัยสี่ จะเป็นตัวช่วยส่งเสริมในลักษณะนี้ และการที่จะทำให้เกิดผลอย่างนี้ได้ก็ต้องมีการจัดระบบ เพราะฉะนั้น ในทางวินัย จึงมีการจัดระบบในทางเศรษฐกิจมาก ดังจะเห็นได้ว่า เริ่มตั้งแต่บวชทีเดียว ก็จะมีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยว พอบวชเสร็จ พระอุปัชฌาย์ก็ต้องบอกอนุศาสน์ ๘ อย่าง คือ นิสสัยสี่ และ อกรณียกิจสี่ ตอนแรกบอก นิสสัยสี่ คือบอกแจ้งว่า ในการอยู่เป็นพระภิกษุต่อไป ตั้งแต่วันที่ท่านบวชนี้ ท่านจะเป็นอยู่ได้อย่างไร ทางมาของปัจจัยสี่เป็นอย่างไร คือบอกวิธีเลี้ยงชีวิตว่า หนึ่ง ในเรื่องอาหาร วิธีหาอาหารของพระภิกษุนั้นทำอย่างไร มีการออกเดินรับบิณฑบาต มีอาหารที่เขาจัดถวายด้วยวิธีต่างๆ สอง ในเรื่องจีวร จะใช้เครื่องนุ่งห่มอะไรได้บ้าง สาม ในเรื่องที่อยู่ ที่อยู่ประเภทไหนที่ควรจะอยู่ ที่ไหนอยู่ได้อยู่ไม่ได้ สี่ ในเรื่องยารักษาโรคก็บอกว่า มียาอะไรเป็นหลัก และจะมีอะไรเป็นส่วนที่เพิ่มได้บ้าง รวมความว่าบอกวิธีหาเลี้ยงชีพ บอกปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับชีวิต คือปัจจัยสี่และวิธีได้มาซึ่งปัจจัยสี่นั้น เสร็จแล้วจึงบอกสิ่งที่ทำไม่ได้ ที่เรียกว่าอกรณียกิจสี่

ในวินัยมีข้อบัญญัติหรือกฎข้อบังคับต่างๆ ที่เรียกว่า สิกขาบท ซึ่งจะเต็มไปด้วยเรื่องปัจจัยสี่นี้มากมายทั่วไปหมด เช่นว่า พระภิกษุจะฉันอะไรได้ จะฉันอะไรไม่ได้ ฉันได้ในเวลาไหน จะหาอาหารได้อย่างไร จะขอจากใครได้หรือไม่ได้ ฯลฯ เป็นข้อบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจมากมาย ถ้าวิเคราะห์พระวินัยของพระภิกษุแล้ว ก็จะเห็นว่า วินัยที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจนี้ อาจจะมากถึง ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์เข้าไปก็ได้ นอกจากวินัยหลักที่เรียกว่าศีล ๒๒๗ แล้ว พระยังมีศีลที่เรียกว่านอกปาติโมกข์อีกด้วย ศีลนอกปาติโมกข์นั้นท่านจัดเป็นหมวดๆ มาในคัมภีร์พระไตรปิฎก ในส่วนวินัยนอกพระปาติโมกข์นี้ บางหมวดก็ว่าด้วยเรื่องจีวร คือเครื่องนุ่งห่มของพระโดยเฉพาะ เรียกว่า จีวรขันธกะ แปลว่าหมวดว่าด้วยจีวร กำหนดว่าพระจะใช้จีวรอย่างไร จีวรของพระรูปร่างอย่างไร สีอะไร ย้อม ด้วยอะไร จะตัดจะเย็บอย่างไร เสนาสนขันธกะ ก็ว่าด้วยที่อยู่อาศัยของพระ เภสัชชขันธกะ ก็ว่าด้วยยา พร้อมด้วยเรื่องอาหาร ของขบฉันต่างๆ แสดงว่าในวินัยมีเรื่องราวและกระบวนการทางเศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญ

แม้แต่ในวิธีที่แบ่งศีลของพระเป็นสี่อย่าง เรียกว่า ปาริสุทธิศีลสี่ ก็มีเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจอยู่มาก ปาริสุทธิศีลสี่แบ่งเป็น หนึ่ง ปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในปาฏิโมกข์ ได้แก่ศีล ๒๒๗ ข้อที่พูดถึงมาแล้ว ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า มีเรื่องของปัจจัยสี่ หรือเรื่องของเศรษฐกิจเข้าไปอยู่มาก ข้อต่อไป อินทรียสังวรศีล เกี่ยวกับการสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้ดูเป็น ฟังเป็น เป็นต้น ก็มีผลต่อเศรษฐกิจ เช่น ทำให้ประหยัด ข้อต่อไป อาชีวปาริสุทธิศีล ความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ ข้อนี้โดยตรงอีกแล้ว คือบอกว่า การที่ภิกษุจะมีอาชีวะบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นอยู่อย่างไร เช่น ไม่ให้หากินด้วยการหลอกลวง ไม่ให้หาปัจจัยสี่ด้วยการเลียบเคียง ด้วยการประจบเขา ด้วยการขู่กรรโชก ด้วยการแบลคเมล์ ไม่ให้หาปัจจัยสี่ด้วยวิธีใช้ลาภต่อลาภ เป็นต้น ซึ่งแสดงว่าท่านถือเรื่องอาชีวะเป็นสำคัญอย่างยิ่ง ข้อสุดท้ายคือศีลที่เรียกว่า ปัจจัยสันนิสิตศีล ได้แก่ศีลที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ ว่าด้วยการใช้ปัจจัยสี่ในทางที่จะให้เกิดคุณค่าที่แท้จริง อันนี้เป็นข้อปฏิบัติในขั้นที่ศีลไปต่อกับหลักการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้ว คือเราได้พูดมาแล้วถึงวิธีการที่จะหามาได้ซึ่งปัจจัยสี่ เมื่อเรามีปัจจัยสี่ หาปัจจัยสี่มาได้แล้ว ต่อไปก็จะต้องพูดถึงวิธีปฏิบัติต่อปัจจัยสี่ หรือวิธีใช้ปัจจัยสี่ว่า ในการบริโภคปัจจัยสี่นั้น เราควรจะบริโภคอย่างไร ควรมีความมุ่งหมายในการบริโภคอย่างไร เรียกว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้องต่อปัจจัยสี่ ข้อนี้เป็นศีลในหมวดสุดท้าย ว่าด้วยการใช้ปัจจัยสี่ให้เกิดผลเป็นคุณภาพชีวิตขึ้น

พุทธจริยธรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ

ที่พูดมานี้ก็เพื่อให้เห็นว่า คำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจนั้นมีความสำคัญ ตอนนี้อาตมาอยากจะขอให้เสียเวลานิดหน่อยในเรื่องคำสอนของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ เพื่อว่าเราจะได้เอาคำสอนเหล่านี้มาวิเคราะห์หาสาระสำคัญว่ามีความหมายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร อย่างที่อาตมาได้พูดมาแล้วว่า คำสอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจจำนวนมากนี้ ส่วนที่สอนแก่ชาวบ้านทั่วไปจะอยู่ในพระสูตร ในลักษณะที่เป็นพระธรรมเทศนา หรือคำสนทนากับบุคคลหรือกลุ่มชนในกาละและเทศะต่างๆ คำสอนในแบบนี้ที่เราพบเห็นกันบ่อยๆ ก็เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนคฤหัสถ์ถึงวิธีการที่จะให้บรรลุประโยชน์สุขในปัจจุบัน หรือประโยชน์ที่เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ ซึ่งเป็นเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การมีทรัพย์สินเงินทอง ตลอดจนความมั่นคงทางสังคม การมีเพื่อนพ้องมิตรสหายบริวารอะไรต่างๆ แต่เริ่มแรกก็คือทางเศรษฐกิจ พระพุทธเจ้าตรัสสอนข้อปฏิบัติสำคัญที่จะทำให้เกิดผล คือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้ เรียกว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบันหรือ ธรรมที่เป็นไปเพื่อ ทิฏฐธัมมิกัตถะ มีสี่ข้อด้วยกัน ซึ่งเราได้ยินกันบ่อยๆ

๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร รู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาหาวิธีการที่แยบคายในการทำงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักจัด รู้จักทำ รู้จักดำเนินการด้านเศรษฐกิจ ทำการงานประกอบอาชีพให้ได้ผลดี

๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา สามารถปกป้องคุ้มครองรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ ไม่ให้สูญหายพินาศไปด้วยภัยต่าง ๆ

๓. กัลยาณมิตตตา รู้จักคบคนดีหรือมีกัลยาณมิตร ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยให้เจริญก้าวหน้าในวงการอาชีพนั้นๆ ทำให้รู้เห็นช่องทางและโอกาสต่างๆ ในการงานทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนรู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ของตนอย่างถูกต้อง ไม่ถูกปาปมิตรชักจูงไปในทางอบายมุข ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินไม่เพิ่มพูน หรือมีแต่จะหดหายลงไป

๔. สมชีวิตา ความเป็นอยู่พอดี หรือความเป็นอยู่สมดุล คือ เลี้ยงชีพแต่พอดี ไม่ให้ฟุ่มเฟือย ไม่ให้ฝืดเคือง ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีเหลือเก็บไว้

หลักธรรมอีกหมวดหนึ่งที่ตรัสไว้ปนๆ อยู่กับธรรมหมวดอื่น เรียกว่า โภควิภาค ๔ แสดงถึงวิธีการจัดสรรทรัพย์ในการใช้จ่าย บอกให้จัดสรรทรัพย์เป็นสี่ส่วน ส่วนหนึ่งใช้บริโภค เลี้ยงตนเองให้เป็นสุข เลี้ยงดูครอบครัว และคนที่อยู่ในความรับผิดชอบให้เป็นสุข และใช้ในการทำความดี บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่างๆ ทรัพย์สองส่วนต่อไป จัดสรรไว้สำหรับลงทุนประกอบการงาน ส่วนที่สี่ ให้เก็บไว้ใช้เป็นหลักประกันในยามจำเป็น เพราะอาจจะมีเภทภัย อุบัติเหตุ หรือเหตุสะดุดในการทำงานประกอบอาชีพขึ้นมา เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย หรืออาจจะตกงานทันทีทันใด เป็นต้น

ในการจัดสรรทรัพย์ใช้จ่ายนี้ บางครั้งก็มีรายละเอียดแยกย่อยออกไปอย่างที่เรียกว่า โภคาทิยะ ๕ ประการ หลักโภคาทิยะ หรือ โภคอาทิยะ สอนว่า ควรจะถือเอาประโยชน์จากการมีโภคะหรือทรัพย์สิน ไม่ใช่มีทรัพย์สมบัติเก็บไว้เฉยๆ การมีทรัพย์ย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ จะใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างไร ท่านก็ยกมาให้ดูว่าใช้ในทาง ๕ ประการ เรียกว่า ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคะ เป็นแนวทางของการใช้โภคทรัพย์ ๕ ประการ คือ

๑. ใช้จ่ายทรัพย์นั้นเลี้ยงตนเอง เลี้ยงดูครอบครัวมารดา บิดา ให้เป็นสุข

๒. ใช้ทรัพย์นั้นบำรุงเลี้ยงมิตรสหาย ผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข

๓. ใช้ป้องกันภยันตรายต่างๆ

๔. ทำพลี คือการสละบำรุงสงเคราะห์ ๕ อย่าง ได้แก่
ก) อติถิพลี ใช้ต้อนรับแขก คนที่ไปมาหาสู่ เป็นเรื่องของการปฏิสันถาร
ข) ญาติพลี ใช้สงเคราะห์ญาติ
ค) ราชพลี ใช้บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น
ง) เทวดาพลี บำรุงเทวดา คือสิ่งที่เคารพนับถือตามลัทธิ ความเชื่อ หรือตามขนบธรรมเนียมของสังคม
จ) ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้แก่บุพการีชนท่านที่ล่วงลับไปแล้ว

๕. บำรุงสมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ผู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ไม่ประมาทมัวเมา

ต่อไปก็ยังมีหลักธรรมที่ตรัสไว้ในที่อื่นอีก ขอยกมาเป็นตัวอย่าง เช่น ท่านแบ่งกามโภคี หรือคนครองเรือนเป็น ๑๐ ประเภทด้วยกัน คนครองเรือน ๑๐ ประเภทนี้ แบ่งตามลักษณะการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ แยกประเภทคนครองเรือนตามลักษณะเด่น

ด้านที่หนึ่ง ดูจากการแสวงหาทรัพย์ว่าได้มาอย่างไร ด้วยวิธีอย่างไร คือดูว่า คนนั้นแสวงหาทรัพย์มาโดยทางชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม โดยการกดขี่ข่มเหงผู้อื่นหรือไม่

ด้านที่สอง พิจารณาในแง่การใช้จ่ายทรัพย์ว่าใช้ให้เป็นประโยชน์ และทำให้เกิดคุณประโยชน์ต่างๆ หรือไม่ เช่น ใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัวให้เป็นสุข เผื่อแผ่แบ่งปัน ทำสิ่งดีงามมีคุณค่า บำเพ็ญประโยชน์

ด้านที่สาม ดูที่สภาพจิตใจของเขาว่าเป็นอย่างไร คือ ดูว่าในการเกี่ยวข้อง ครอบครอง ใช้จ่าย ปฏิบัติต่อทรัพย์สินนั้น เขามีจิตใจที่หมกมุ่น มัวเมา กระวนกระวาย เป็นห่วง กังวล มีความทุกข์จากการมีทรัพย์ ที่เรียกว่าเป็นทาสของทรัพย์ หรือมีจิตใจที่เป็นอิสระ เป็นนายของทรัพย์ เป็นอยู่โดยมีจิตใจเป็นสุข ใช้ทรัพย์ทำประโยชน์ที่ควรจะใช้ และไม่ต้องเป็นทุกข์ทรมานเพราะทรัพย์นั้น

ลักษณะเหล่านี้เป็นเครื่องแบ่งคนครองเรือน ออกเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องสัมพันธ์กับเศรษฐกิจทั้งนั้น นอกจากนี้ ยังตรัสถึง สุขของคฤหัสถ์ ๔ ประการว่า คฤหัสถ์คือ ผู้ครองเรือน หรือ ชาวบ้าน ควรจะมีความสุขสี่ประการ ซึ่งถือว่าเป็นความสุขที่ควรพยายามเข้าถึงให้ได้ คือ

๑. อัตถิสุข สุขเกิดจากการมีทรัพย์ เป็นหลักประกันของชีวิต โดยเฉพาะความอุ่นใจปลาบปลื้มภูมิใจว่าเรามีทรัพย์ ที่หามาได้ด้วยเรี่ยวแรงกำลังความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม

๒. โภคสุข สุขเกิดจากการบริโภคหรือใช้จ่ายทรัพย์คือ ไม่ใช่ว่ามีทรัพย์แล้ว เอามาเก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้จ่ายอะไร อย่างที่ว่ามีเงินทองมากมายเหมือนน้ำทะเลที่มากแต่ดื่มกินไม่ได้ หรือเป็นทุกข์เพราะการมีทรัพย์นั้น แต่รู้จักใช้จ่ายทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตน ตนเองก็เป็นสุข และเลี้ยงดูคนที่อยู่ในความรับผิดชอบ แล้วก็ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น บำเพ็ญสิ่งที่มีคุณค่าแก่สังคม แก่เพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือสงเคราะห์กัน

๓. อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ไม่ต้องทุกข์ใจ เป็นกังวล เพราะมีหนี้สินติดค้างใคร

๔. อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติที่ไม่มีโทษ หมายความว่า มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่สุจริต ที่ใครติเตียนไม่ได้ บริสุทธิ์สะอาด มีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตของตน

จะเห็นว่า พระพุทธศาสนานั้น มีลักษณะที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ จะมองเรื่องเศรษฐกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ซึ่งนอกจากจะมีความเป็นอยู่ดีทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ก็ต้องมีคุณค่าของชีวิตด้านอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะจะมองดูว่า ความเป็นอยู่ดีทางเศรษฐกิจนั้นไปสัมพันธ์กับชีวิตด้านอื่น รวมทั้งด้านจิตใจอย่างไร ส่งเสริมเกื้อกูลกันอย่างไร จะต้องพูดรวมถึงกันหมด ตามหลักการที่กล่าวมาแล้ว คือเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน นอกจากนั้น ก็มีคำสอนเป็นส่วนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ บางแง่บางมุม แทรกอยู่เป็นแห่งๆ กระจายไป เช่นหลักที่เรียกว่า ปาปณิกธรรม กล่าวถึงนักการค้า หรือคนที่ประกอบธุรกิจ ว่าจะต้องมีลักษณะอย่างไร จึงจะประกอบธุรกิจได้ผลดี บางที่ก็ตรัสถึงเรื่อง อบายมุข ว่าเป็นทางที่จะทำให้โภคทรัพย์สูญหายเสื่อมสลายไป แล้วก็มีสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นพุทธภาษิต ซึ่งเป็นคำสอน คำแนะนำให้ขยันหมั่นเพียร ให้รู้จักประกอบสัมมาชีพ รู้จักทำงาน รู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ เช่นว่า ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ แปลว่า ขยัน เอาธุระ ทำเหมาะจังหวะ ย่อมหาทรัพย์ได้ ธมฺเมน วิตฺตเมเสยฺย พึงหาเลี้ยงชีพโดยทางชอบธรรม ปโยชเย ธมฺมิกํ โส วณิชฺชํ พึงประกอบการค้าที่ชอบธรรม ฯลฯ คำสอนที่เป็นภาษิตอย่างนี้มีมากแห่ง กระจัดกระจายกันไป

อีกด้านหนึ่งก็คือคำสอนเกี่ยวกับนักปกครอง ซึ่งแนะว่าผู้บริหารประเทศ หรือผู้รับผิดชอบสังคมโดยส่วนรวม ควรจะจัดการเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจในสังคมของตนอย่างไร เรื่องนี้ถ้ามีเวลาก็จะได้พูดถึงต่างหากโดยเฉพาะต่อไป

แนวคิดแบบพุทธเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

กล่าวโดยสรุป คำสอนในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจนี้ มีจุดสนใจเบื้องแรกอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนทุกคนหรือคนทั่วไปมีปัจจัยสี่พอเพียงที่จะเป็นอยู่ได้ สภาพเช่นนี้จะต้องมีเป็นพื้นฐานเบื้องต้นไว้ก่อน เพราะว่า ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตอะไรต่อไป เพื่อความมีชีวิตที่ดีงาม มีสังคมที่เป็นสุขนั้น ถ้าขาดแคลนปัจจัยสี่เป็นฐานเบื้องต้นเสียแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ไม่ว่าในชีวิตส่วนบุคคลหรือในสังคม เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงยอมรับความจำเป็นเบื้องแรกนี้ไว้เป็นขั้นต้นก่อน และจึงมีการเน้นมาก แม้แต่การจัดระบบเศรษฐกิจในวัดที่เรียกว่าวินัย อย่างที่กล่าวมาแล้ว ก็ได้ย้ำเกี่ยวกับเรื่องปัจจัยสี่ไว้มาก แต่สำหรับพระสงฆ์นั้น ชีวิตทางด้านเศรษฐกิจมีลักษณะพิเศษออกไปในแง่ที่ว่า พระสงฆ์นั้นควรมีชีวิตที่ดีงาม แม้แต่มีปัจจัยสี่น้อยที่สุด ก็มีความสุขได้ เป็นสุขที่ไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุ เป็นตัวอย่างของคนที่แม้จะมีปัจจัยสี่น้อยที่สุด ก็มีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขได้ แต่สำหรับคนทั่วไป ท่านมุ่งให้มีปัจจัยสี่เป็นฐานเบื้องต้นก่อนที่จะมีทรัพย์สินอื่นๆ เมื่อมีปัจจัยสี่สำหรับความจำเป็นพื้นฐานแล้ว ก็ควรแสวงหาทรัพย์สินให้เพิ่มพูนขึ้น เพื่อให้พร้อมที่จะใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เพราะผู้ครองเรือนนั้น นอกจากรับผิดชอบตัวเองให้เป็นอยู่ได้แล้ว ก็ยังมีความต้องการในทางวัตถุ ที่อาจจะมากสักหน่อย เพราะยังมีการพัฒนาทางจิตใจไม่มาก ยังหาความสุขทางจิตใจได้น้อย จึงยังต้องพึ่งพาวัตถุมาก นอกจากนั้น ยังมีภาระอื่นๆ ที่ต้องอาศัยวัตถุและทรัพย์สินเงินทองอีก เช่น การเลี้ยงดูคนที่เกี่ยวข้อง คนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป ตลอดถึงการช่วยเหลือสงเคราะห์กันในสังคมนี้ และการช่วยสนับสนุนการประกาศธรรม เผยแพร่ชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์จึงมีภาระทางเศรษฐกิจในการที่จะแสวงหาทรัพย์สินมากขึ้น แต่ก็เริ่มต้นจากปัจจัยสี่นี้เหมือนกัน และสำหรับผู้ปกครองประเทศ หรือผู้รับผิดชอบต่อสังคม ก็มีภารกิจทางเศรษฐกิจต่อไปอีกว่า ทำอย่างไรจะจัดสรรให้คนทั่วไป มีปัจจัยสี่พอที่จะเป็นอยู่ได้ มีสัมมาชีพที่จะเลี้ยงตนเอง และช่วยส่งเสริม จัดสภาพสังคม ให้เอื้อต่อการที่กิจกรรมในทางเศรษฐกิจของสังคมนั้นจะดำเนินไปได้ด้วยดี โดยราบรื่น ไม่เกิดปัญหาการแย่งชิงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และไม่ให้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น นำมาซึ่งความไม่สงบสุข ความเดือดร้อนในสังคม แต่จัดสรรให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ในสังคมและความเป็นอยู่ดีทางเศรษฐกิจในสังคมนั้น เป็นปัจจัยส่งเสริมเกื้อกูลแก่การพัฒนาศักยภาพของบุคคล ให้ทุกคนมีโอกาสพัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา เพื่อความมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป อันนี้ก็เป็นภาระของนักปกครองในการที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ

หลักปฏิบัติเกี่ยวกับเศรษฐกิจนั้น โดยทั่วไปจะเป็นหลักปฏิบัติต่อปัจจัยสี่และต่อทรัพย์สินเป็นสำคัญ ตามที่กล่าวมานี้ ขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า ข้อปฏิบัติต่อปัจจัยสี่ก็ดี ต่อทรัพย์สินสมบัติต่างๆ ก็ดี เมื่อว่าตามหลักการของพระพุทธศาสนาจะรวมได้เป็นสี่ข้อด้วยกัน คือ

๑. การแสวงหาทรัพย์ ต้องคำนึงถึงว่าจะได้ทรัพย์มาอย่างไร ซึ่งรวมไปถึงกระบวนการผลิตด้วย โดยมีหลักการที่เน้นว่า ให้การแสวงหาทรัพย์นั้นเป็นไปโดยทางชอบธรรม ไม่กดขี่ข่มเหง ส่วนในทางบวกก็คือ ให้เป็นไปด้วยความขยันหมั่นเพียร และความฉลาดในการจัดสรรดำเนินการ อย่างที่ท่านชอบใช้คำบรรยายว่า ด้วยความขยันหมั่นเพียร อาบเหงื่อต่างน้ำได้มา อะไรทำนองนี้ โดยย่อก็คือ การแสวงหาทรัพย์ที่เป็นไปโดยชอบธรรมหรือเป็นธรรม

๒. การเก็บออม หรือการรักษาทรัพย์ ตลอดจนการสะสมทุน เป็นด้านที่สองที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือการปฏิบัติต่อทรัพย์ การเก็บออมรักษานี้ ด้านหนึ่งเป็นการเก็บออมไว้เป็นทุนทำงานหรือเป็นทุนในการประกอบการ คือ ใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพของตนต่อไป และอีกด้านหนึ่งคือการเก็บออมไว้เป็นหลักประกันชีวิตในยามจำเป็น เช่น เมื่อเจ็บไข้ หรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการสะดุดในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตอย่างที่ว่ามา นอกจากนั้นเมื่อกำลังการออมเกินจำเป็นสำหรับการใช้จ่ายสองด้านนั้น ก็กลายเป็นทุนสำหรับการสงเคราะห์บำเพ็ญประโยชน์ จรรโลงธรรม และเกื้อหนุนสังคมต่อไป

๓. การใช้จ่าย แยกได้เป็นด้านที่หนึ่ง การใช้จ่ายเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว รวมทั้งบิดามารดา และคนในความรับผิดชอบให้มีความสุข ด้านที่สอง คือ การเผื่อแผ่แบ่งปันเพื่อไมตรีจิตมิตรภาพ ความอยู่ดีในสังคม และการอยู่ร่วมกันด้วยความสุขในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ เช่น การปฏิสันถาร การต้อนรับ การสังสรรค์ในหมู่ญาติมิตร ด้านที่สาม คือ การใช้จ่ายทรัพย์นั้นทำความดี บำเพ็ญคุณประโยชน์ แม้แต่การเก็บรักษาหรือออมทรัพย์ในข้อที่ ๒. ก็อาจจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์นี้ด้วย ดังกล่าวแล้วในข้อก่อน

๔. การสัมพันธ์กับชีวิตด้านอื่น โดยเฉพาะด้านจิตใจ เช่น ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ห่วงกังวลเป็นทุกข์ กินใช้อย่างรู้เท่าทันความจริง ทำให้ทรัพย์สมบัตินั้นเป็นปัจจัยหรือเป็นฐานให้เกิดความพร้อมในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ยิ่งขึ้นไป หรือใช้เป็นเครื่องช่วยทำให้เกิดความพร้อมในการที่จะพัฒนาศักยภาพของตน ในการที่จะฝึกฝนอบรมจิตใจ พัฒนาจิต พัฒนาปัญญา

หลักการเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทรัพย์ ในทางพระพุทธศาสนา เท่าที่สรุปได้จากคำสอนทั่วๆ ไป จะเห็นว่ามีสี่ประการอย่างที่ว่ามานี้ และมีข้อสังเกตซึ่งได้เคยพูดไปแล้ว แต่ขอเอามาย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า จะเห็นว่า ในทางพุทธศาสนานี้ พฤติกรรมหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่แยกต่างหากจากกิจกรรมด้านอื่นๆ ของชีวิต ทัศนะนี้สอดคล้องกับการปฏิบัติในชีวิตที่เป็นจริง เพราะว่าในชีวิตที่เป็นจริงนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ไม่สามารถจะแยกออกจากกิจกรรมด้านอื่นๆ ของชีวิตได้ คือ การมีชีวิตที่ดี ก็จะต้องมีกิจกรรมที่ดีในด้านต่างๆ สอดคล้องกลมกลืนปะปนกันไป แม้ว่าเราจะเอาวิชาเศรษฐศาสตร์มาเป็นวิชาชำนาญเฉพาะด้าน และเราก็สามารถที่จะศึกษาลึกซึ้งเฉพาะด้าน แต่เราก็จะต้องไม่ลืมหลักการใหญ่ที่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว จะต้องเอากิจกรรมทางเศรษฐกิจมาโยงเข้ากับสภาพความเป็นจริงที่ว่า สิ่งทั้งหลายอิงอาศัยซึ่งกันและกัน สัมพันธ์กันไปหมด การสอนวิธีประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องในทางเศรษฐกิจ ก็เป็นการสอนเกี่ยวกับพฤติกรรมและกิจกรรมส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้น คำสอนในทางเศรษฐกิจของพระพุทธศาสนา จึงประสานโยงและปะปนกันไปกับคำสอนด้านอื่นๆ โดยรวมอยู่ในหมวดเดียวกัน ในการสอนครั้งหนึ่งจึงอาจจะมีคำสอนทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านจิตใจไปด้วยพร้อมๆ กัน เพราะเป็นเรื่องที่อิงอาศัยซึ่งกันและกันอย่างที่ว่ามาแล้ว และเราก็ต้องการผล คือ เพื่อชีวิตที่ดีงาม ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่ดีงามหลายๆ ด้านมาประสานเข้าด้วยกัน ถ้าเราต้องการจะเอาคำสอนทางเศรษฐศาสตร์ในพระพุทธศาสนา เราก็ต้องมาสกัดออกไปเองจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่บูรณาการอยู่กับคำสอนด้านอื่นๆ เหล่านี้

ความสำคัญและความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจ ในระบบของพุทธธรรม

มีข้อพิจารณาสืบเนื่องต่อไปว่า พฤติกรรมหรือกิจกรรมและผลได้ทางเศรษฐกิจมีความหมายสำคัญในแง่ของพุทธธรรมอย่างไรบ้าง ตอบโดยสรุปคือ

๑. เป็นปัจจัย หรือเป็นฐานที่จะช่วยให้มีความสุขในระดับหนึ่ง เราต้องยอมรับความจริงว่า ความพรั่งพร้อมทางวัตถุนี้ ทำให้เราเกิดความสุขได้เหมือนกัน ทางพุทธศาสนาก็ยอมรับความจริงนี้ว่า ความอยู่ดีมีพอทางเศรษฐกิจนี้ก็เป็นฐานอันหนึ่ง ที่จะทำให้เราพร้อมที่จะมีความสุข

๒. เป็นปัจจัย หรือเป็นฐาน ซึ่งทำให้เกิดความพร้อมในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้ยิ่งขึ้นไป

๓. เป็นข้อสังเกตพิเศษว่า เราไม่ได้มองเฉพาะว่าผลได้จากเศรษฐกิจ คือ ทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น จะเป็นฐานที่ทำให้เรามีความพร้อมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือพัฒนาศักยภาพของเราเท่านั้น แต่มองว่า ตัวกิจกรรมหรือพฤติกรรมในทางเศรษฐกิจนั่นเอง แต่ละครั้ง สามารถเป็นกิจกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือพัฒนาศักยภาพของตนได้ทุกครั้งเลยทีเดียว เราสามารถที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกครั้ง กลายเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือพัฒนาศักยภาพของตนเองไปด้วย อันนี้ลึกเข้าไปอีก

พุทธศาสตร์มองชีวิตอย่างที่บอกเมื่อกี้ คือ ถือว่าเศรษฐศาสตร์เป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง หรือเป็นกิจกรรมเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ชีวิตเป็นองค์รวมของปัจจัยและกิจกรรมหลายด้าน เพราะฉะนั้น เราจึงมีความมุ่งหมายรวมของชีวิตและสังคม พุทธศาสตร์มองชีวิตโดยสัมพันธ์กับจุดหมายรวมนี้ว่า เป็นการก้าวไปสู่ความหลุดพ้นเป็นอิสระ การดำเนินชีวิตในทุกเวลาทุกขณะนี้ เมื่อดำเนินอย่างถูกต้องก็เป็นการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนคุณภาพชีวิต เราจึงควรทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกครั้ง เป็นส่วนร่วมในแผนการหรือกระบวนการพัฒนาศักยภาพ เพื่อเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตนี้ด้วย การปฏิบัติดังนี้ก็เหมือนอย่างที่ท่านพุทธทาสใช้คำว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม การทำอย่างนี้ก็คือ การนำเอากิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้ามาอยู่ในแผนรวมหรือโครงการใหญ่ของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เพราะฉะนั้น การทำกิจกรรมเศรษฐกิจก็มีความหมายเป็นการปฏิบัติธรรมได้โดยนัยฉะนี้ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ทุกด้านของชีวิตหรือกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ มีความสัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน

กิจกรรมที่ทำอย่างถูกต้อง ในการดำเนินชีวิตหรือการมีพฤติกรรมที่ถูกต้องทางเศรษฐกิจ ก็เรียกชื่อว่าเป็นสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะก็คือการเลี้ยงชีพชอบ หรือเป็นอยู่โดยชอบ การเป็นอยู่โดยชอบ หรือปฏิบัติการในทางเศรษฐกิจโดยถูกต้องนี้ ก็ไปเป็นองค์หนึ่งหรือเป็นส่วนประกอบอันหนึ่งในวิถีชีวิต หรือระบบการดำเนินชีวิตที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ประการ ถึงตอนนี้ เราก็จะมองเห็นฐานะของเศรษฐกิจว่าอยู่ที่ไหน ในคำสอนที่เรียกว่าพุทธศาสตร์ เรามองหาจุดบรรจบนี้ได้แล้ว กล่าวคือ การปฏิบัติที่ถูกต้องในทางเศรษฐกิจ เป็นสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของระบบการดำเนินชีวิต หรือวิถีชีวิตแบบพุทธศาสนาที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นทางที่นำไปสู่จุดหมายรวมของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ฉะนั้น ในตอนนี้ เราก็มองเห็นฐานะและความสำคัญของเศรษฐกิจชัดขึ้นมา จากฐานะของสัมมาอาชีวะนั่นเอง และเราจะเห็นความหมายนี้ในสองแง่ด้วยกัน คือ

ประการที่หนึ่ง กิจกรรมในทางเศรษฐกิจที่เรียกว่าสัมมาอาชีวะนี้ เป็นส่วนหนึ่งในระบบการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ หรือการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตไปสู่ความเป็นอิสระและสันติสุข เพราะว่ามรรคมีความมุ่งหมายนี้ เมื่อมรรคมีความมุ่งหมายอย่างไร สัมมาอาชีวะในฐานะที่เป็นองค์ประกอบอันหนึ่ง ก็ย่อมมีความมุ่งหมายอย่างนั้นด้วย

ประการที่สอง มรรคนั้นเป็นระบบปฏิบัติที่มีองค์ประกอบแปดประการ องค์ประกอบแปดประการนี้จะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ร่วมประสานบรรจบกันในการที่จะเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา คือชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น เป็นองค์ประกอบที่อิงอาศัยกันกับองค์ประกอบอย่างอื่นในระบบชีวิตที่ดีงามด้วย ต้องอิงอาศัยกัน ไม่สามารถแยกโดดเดี่ยว

นี้เป็นข้อสังเกตสองประการที่เกี่ยวเนื่องกับสัมมาอาชีวะ และขอทวนอีกครั้งหนึ่งว่า นัยความหมายที่ว่าเศรษฐกิจที่ถูกต้องเป็นสัมมาอาชีวะ เป็นองค์ประกอบอันหนึ่งของมรรค ก็คือมันเป็นองค์ประกอบในระบบการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ไปสู่จุดหมายแห่งความเป็นอิสระและสันติสุข และประการที่สอง ก็จะต้องตระหนักถึงการที่มันเป็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันกับองค์ประกอบอย่างอื่นของระบบชีวิตที่ดีงาม

เท่าที่กล่าวมาในตอนนี้ก็เป็นการพูดถึงคำสอนทั่วๆ ไปของพระพุทธศาสนา จากการที่ได้มองดูคร่าวๆ ในพระไตรปิฎกแล้ว ก็สรุปเป็นหลักทั่วไปพร้อมทั้งข้อสังเกตกว้างๆ ต่อนี้ไป ก็จะเอาพุทธศาสตร์นั้นกับเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่นี้มาบรรจบประสานกัน โดยจะเอาเรื่องที่กล่าวแล้วนั้นมาวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวิเคราะห์ไปโดยใช้กรอบความคิดและถ้อยคำของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ มันก็จะกลายเป็นเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ขึ้น

ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์

ข้อที่จะพึงพูดในเบื้องต้นก็คือ เศรษฐกิจนี้เป็นกิจกรรมของมนุษย์ เป็นเรื่องของมนุษย์แท้ๆ เลยทีเดียว และวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นก็เป็นความพยายามด้านหนึ่ง ที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ อันนี้เป็นข้อสังเกตที่สำคัญ จะต้องย้ำว่า เศรษฐกิจเป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นกิจกรรมของมนุษย์ การที่เราจะแก้ปัญหาของมนุษย์ ซึ่งเป็นการเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างหนึ่งนั้น เราจะต้องมีความเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ตลอดจนจุดหมายของชีวิตมนุษย์ด้วย คนที่ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องของมนุษย์ จะต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ในเมื่อเศรษฐศาสตร์นี้มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เป็นกิจกรรมของมนุษย์ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ และในทางปฏิบัติเท่าที่เป็นอยู่ เศรษฐศาสตร์เองก็จับเอาบางชิ้นบางส่วนบางประเด็นของธรรมชาติของมนุษย์มาใช้อย่างที่ว่ามาแล้ว เช่น จับเอาความต้องการของมนุษย์ ความพอใจของมนุษย์ การตัดสินใจของมนุษย์ มาเป็นฐานความคิดและการพิจารณาปัญหาทางเศรษฐกิจ

ความต้องการ ความพึงพอใจ และการคิดตัดสินใจ เป็นต้น ที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่อเราเกี่ยวข้องกับมัน เราย่อมมีความเข้าใจต่อมันอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามและนั่นละคือความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ทีนี้นักเศรษฐศาสตร์ที่จับเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ มีความเข้าใจต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร คนในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์อาจจะถือตามสืบกันมาจากพื้นฐานความเข้าใจของคนบางคนที่วางวิชาเศรษฐศาสตร์นี้ขึ้นมา หมายความว่า คนที่วางหลักการเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น ย่อมมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในแบบของเขา แต่เขาไม่พูดให้ชัด ไม่ได้อธิบายทรรศนะของเขา หรือเขาอาจจะถือว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยไม่รู้ตัวตระหนักด้วยซ้ำ แล้วเขาก็หยิบยกเอาประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ในความเข้าใจแบบของเขานั้น ขึ้นมาวางเป็นปัจจัยร่วมในการพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ทางเศรษฐกิจ แล้วนักเศรษฐศาสตร์ที่สืบต่อมาก็ยอมรับเอาความเข้าใจต่อธรรมชาติเหล่านี้ ในลักษณะที่เหมือนเป็นความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ โดยไม่ได้ทบทวนตรวจสอบ เราไม่เคยทบทวนตรวจสอบเลยว่า คนที่วางแนวความคิดนี้ หรือคนที่หยิบยกเอาประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ขึ้นมากำหนดวางในการพิจารณาปัญหาเศรษฐกิจนั้น เขามีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในเรื่องเหล่านี้อย่างไร ไม่ได้ทบทวน ไม่ได้ตรวจสอบ หรืออาจจะถึงกับไม่ได้สนใจ ไม่ได้ศึกษาเลยด้วยซ้ำในเรื่องธรรมชาติเหล่านี้ว่าเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ต้องยกขึ้นพิจารณาเป็นเบื้องต้น ซึ่งลึกเข้าไปถึงฐานเลยทีเดียว

ในการที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ก็จะต้องเกิดความสับสน เพราะว่า ตัวนักเศรษฐศาสตร์เองคนหนึ่งหรือพวกหนึ่ง ก็จะมีความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในแบบของตนเองอยู่อย่างหนึ่ง แล้วอีกคนหรืออีกพวกหนึ่งก็อาจจะมีความเข้าใจอีกแบบหนึ่ง เมื่อไม่ได้หยิบยกขึ้นมาตรวจสอบตกลงกัน มันก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว แล้วอันนี้ก็จะโยงมาถึงความเป็นวิทยาศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์ด้วย ในเมื่อเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของมนุษย์ เศรษฐกิจเป็นกิจกรรมของมนุษย์ แต่วิทยาศาสตร์ในสภาพปัจจุบันเท่าที่เป็นมานี้ เป็นศาสตร์ที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับมนุษย์ แม้จะศึกษามนุษย์ก็ศึกษาเฉพาะในด้านชีววิทยา เรื่องของมนุษย์ที่นักวิทยาศาสตร์เอาใจใส่ คือ ชีววิทยา ซึ่งไม่ใช่ตัวมนุษย์โดยตรง แต่เป็นร่างกาย ที่เป็นวัตถุเป็นรูปธรรม ส่วนตัวมนุษย์โดยตรงนั้น เป็นเรื่องของวิชาการอื่น ทีนี้เมื่อเศรษฐศาสตร์มาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ แต่จะพยายามทำตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์ ก็มีทางที่จะผิดพลาดได้มาก จึงควรจะต้องยอมรับความจริงดีกว่า อย่าไปมัวยุ่งอยู่กับการที่จะพยายามเป็นวิทยาศาสตร์ หรือมิฉะนั้นก็ต้องให้วิทยาศาสตร์ขยายความหมายออกมา วิทยาศาสตร์ที่แท้ต่อไปก็คงจะต้องเป็นอย่างนั้น คือ จะต้องขยายขอบเขตความสนใจออกมา โดยพิจารณาเรื่องต่างๆ ไม่เฉพาะทางด้านวัตถุเท่านั้น เป็นอันว่า เศรษฐศาสตร์จะจำกัดตัวอยู่แต่ในแง่ที่เป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้นไม่ได้ เพราะวิทยาศาสตร์นั้นไปสนใจศึกษาวิเคราะห์ในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีความหมายสำคัญต่อเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐศาสตร์โดยตรง เศรษฐศาสตร์นั้นเกี่ยวข้องเศรษฐกิจซึ่งเป็นกิจกรรมของมนุษย์ เพราะฉะนั้น เศรษฐศาสตร์จะต้องเอาใจใส่สนใจปัญหาของมนุษย์ หรือเรื่องตัวของมนุษย์เอง จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ และธรรมชาติของมนุษย์พอสมควร จึงจะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้

ความจริง เศรษฐกิจนี่ไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติเลย แต่เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เป็นฝีมือของมนุษย์โดยแท้ จึงเป็นไปตามวิทยาศาสตร์แบบปัจจุบันได้ยากมาก ทีนี้อย่างที่ว่ามาแล้ว ในเมื่อจะแก้ปัญหาของมนุษย์ แล้วยังแถมเอาประเด็นในธรรมชาติของมนุษย์มาใช้ในการพิจารณาปัญหาอีกด้วย ก็จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อย่างที่ว่ามาแล้ว เป็นอันว่า ขณะนี้เศรษฐศาสตร์ได้ละเลยการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ และก็ไม่รู้ตัวว่าในการที่ตนได้ใช้ประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์มาคิดพิจารณานั้น ที่แท้แล้วมันมีความเป็นจริงอย่างไร กล่าวคือในขณะที่พิจารณาปัญหาเศรษฐกิจนั้น เรามีความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในแบบของเรา ที่เราเองก็ไม่รู้ตัวตระหนัก และไม่สามารถบรรยายออกมาได้ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องใหญ่ ในที่นี้พูดเข้ามาเป็นเรื่องแทรกเท่านั้น การที่จะพูดมากนักจึงไม่สมควร แต่ที่ต้องพูดถึงบ้างก็เพราะว่า เมื่อจะพูดถึงเศรษฐศาสตร์ตามแนวของพุทธศาสตร์ ก็จะต้องพิจารณาเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในแง่ของพุทธศาสตร์ว่าเป็นอย่างไร จึงลองมามองดูกันว่า พุทธศาสตร์เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์อย่างไร

ธรรมชาติของมนุษย์ตามทรรศนะของพุทธศาสตร์

ว่าโดยรวบรัด พุทธศาสตร์มองว่า มนุษย์เกิดมามีอวิชชา อวิชชา คือ ความไม่รู้และยังไม่รู้ ทำให้มนุษย์มีความจำกัดขัดข้องในการที่จะดำเนินชีวิตให้อยู่รอดด้วยดี ซึ่งเราจะเห็นได้ง่ายๆ พอมนุษย์เกิดมาก็มีความไม่รู้ และประสบปัญหาจากความไม่รู้ คือ เกิดความขัดข้องในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ในทันที แม้แต่จะเดินก็ไม่เป็น หาอาหารก็ไม่เป็น ขับถ่ายก็ไม่เป็น การที่ไม่รู้นั้นเป็นข้อจำกัดขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถที่จะปฏิบัติต่อชีวิตของตน และต่อสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง จึงกลายเป็นสิ่งที่บีบคั้นมนุษย์ ทำให้เกิดปัญหา สิ่งบีบคั้นขัดข้องหรือปัญหานี้ในภาษาพระเรียกว่า ทุกข์ ในเมื่อมนุษย์เกิดมาพร้อมด้วยตัวอวิชชา คือการที่ยังไม่รู้จักอะไรเลย ไม่รู้ที่จะทำตัวหรือดำเนินชีวิตอย่างไรเพื่อจะให้อยู่รอดได้ด้วยดี แล้วมนุษย์จะเป็นอยู่ได้อย่างไร ย้ำอีกทีว่า เมื่อไม่มีความรู้ที่จะช่วยให้เป็นอยู่ หรือเมื่อไม่สามารถเป็นอยู่ด้วยความรู้ แล้วมนุษย์จะเป็นอยู่ด้วยอะไร คำตอบก็คือ เมื่อไม่มีความรู้ที่จะช่วยให้เป็นอยู่ หรือไม่สามารถเป็นอยู่ด้วยความรู้ ก็เป็นอยู่ไปตามความอยาก หรืออยู่ด้วยความอยาก ให้ความอยากที่จะมีชีวิตอยู่นั้นแหละชักจูงให้ดิ้นรนไป ดังนั้น จากการที่มนุษย์มีความไม่รู้หรืออวิชชานี้ สิ่งที่พ่วงมาก็คือความดิ้นรนทะยานอยากอย่างมืดบอด คือเมื่อไม่รู้ก็ต้องดิ้นรนทะยานไปเพื่อจะให้ชีวิตอยู่รอด ความทะยานอยากไปอย่างมืดบอดนี้เรียกว่า ตัณหา ตัณหาหรือความทะยานอยากที่เห็นกันทั่วไปก็คือ ความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน

เมื่อมนุษย์ดิ้นรนทะยานไปเพื่อสนองความต้องการแบบมืดบอดนี้ ก็ไม่รู้ชัดว่าอะไรเป็นคุณประโยชน์แก่ชีวิตของตน อะไรเป็นโทษ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตนี้ในสมัยปัจจุบันเรียกว่า คุณภาพชีวิต ถ้าใช้ภาษาสมัยนี้ ก็คงจะต้องพูดว่า ไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณภาพชีวิตหรือไม่ อะไรช่วยให้เกิดคุณภาพชีวิตหรือไม่ มนุษย์ผู้ไม่รู้ก็ได้แต่พยายามดิ้นรนสนองความทะยานอยากอย่างมืดบอดนี้เรื่อยไป และในการสนองนั้น มนุษย์ก็จะได้ทั้งสิ่งที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต ทั้งสิ่งที่ทำลายทำให้เสียคุณภาพชีวิต แต่ถ้าจะได้สิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิตบ้าง ก็ได้เพียงอย่างเป็นผลพลอยได้ หรือโดยบังเอิญ แต่มีทางที่จะได้สิ่งที่ทำลายคุณภาพชีวิตหรือทำให้เกิดโทษมากกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ ในขั้นพื้นฐานของมนุษย์ก็คือการกินอาหาร หรือการบริโภคอาหาร มนุษย์มีความทะยานอยากต้องการกินอาหาร แต่ในความต้องการที่จะกินอาหารนั้น มนุษย์โดยทั่วไปจะนึกคิดแต่เพียงว่าเอามากินแล้วก็ได้เสพรสอร่อย เราก็กินเข้าไปกินเข้าไปจนอิ่ม แต่ไม่รู้ตระหนักว่า ความต้องการที่แท้จริงนั้นอยู่ที่การได้คุณภาพของชีวิต คุณภาพชีวิตที่เกิดจากอาหารก็คือ การที่มันได้ไปบำรุงเลี้ยงร่างกาย ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ ให้ชีวิตเป็นอยู่แข็งแรงเจริญเติบโตต่อไปได้ เมื่อเรากินอาหารเข้าไปเพื่อเสพรสอร่อย แม้จะไม่ตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริง แต่ในด้านหนึ่งร่างกายก็พลอยได้คุณภาพชีวิตนี้ไปด้วย แต่ถ้าเราพัฒนาจิตนิสัยที่ต้องการสนองความอยากเสพรสอย่างเดียวนี้มากขึ้นๆ มันก็จะทำให้เกิดโทษแก่ร่างกาย มีผลเป็นการทำลายคุณภาพชีวิตมากขึ้นๆ เพราะว่าความต้องการเสพรสนั้น ไม่มีจุดมุ่งหมายที่มาบรรจบกับการได้คุณภาพชีวิต ซึ่งมีขอบเขตอยู่ที่ความเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย แต่การได้เสพรสนั้นเป็นจุดหมายที่วนอยู่ในตัวของมันเอง คือการได้เสพรส เสพรสอร่อยไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบ จนกว่าจะเบื่อไปเองหรือกินไม่เข้า เมื่อเสพรสไปไม่รู้จักจบ ก็เกิดปัญหา เกิดโทษแก่ชีวิต กลายเป็นการทำลายคุณภาพชีวิต อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คืออาจจะกินอร่อย แต่เกิดปัญหาแก่ท้อง ทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ทำให้ท้องเสีย หรือทำให้อ้วนเกินไป แล้วพาลเกิดโรคอย่างอื่นๆ ต่อไปอีก

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมนุษย์เจริญในด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น การสนองความต้องการแบบนี้ ก็นำไปสู่การพัฒนาวิธีปรุงแต่งอาหารให้มีสีสันและกลิ่นรสที่ชวนให้เอร็ดอร่อย สนองความอยากเสพรสมากยิ่งขึ้น ทำให้กระบวนการผลิตซับซ้อนยิ่งขึ้น และราคาแพงยิ่งขึ้น แต่รับประทานเข้าไปแล้ว นอกจากไม่ได้คุณภาพชีวิตแล้ว ยังกลับยิ่งทำลายคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดพิษภัยแก่ร่างกาย เป็นทางมาของโรค สิ้นเปลืองทั้งในราคาที่แพง และในการที่จะต้องแก้ไขปัญหาสุขภาพ ก่อปัญหาทางเศรษฐกิจยิ่งๆ ขึ้นไป นี้เป็นตัวอย่างเพียงด้านหนึ่งคือเรื่องอาหาร แม้กิจกรรมด้านอื่นๆ ของมนุษย์ก็มีปัญหาทำนองนี้เช่นเดียวกัน เมื่อมนุษย์ดำเนินชีวิตไปอย่างนี้ มันก็วนเวียนอยู่ในวงจรของการที่ว่า มีความไม่รู้แล้วก็ดิ้นรนสนองความทะยานอยากที่มืดบอด ไม่รู้ชัดในเรื่องคุณภาพของชีวิตนี้ แล้วก็เกิดโทษแก่ชีวิต เกิดปัญหาแก่สังคมเรื่อยไป เป็นวงจรไม่รู้จักจบสิ้น ถ้าธรรมชาติของมนุษย์มีเพียงเท่านี้ และทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความหมาย เพียงเท่านี้ มนุษย์ก็จะไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าสัตว์ประเภทอื่น บางทีจะเลวร้ายกว่าเสียด้วย เพราะมีความสามารถพิเศษในการปรุงแต่งกิจกรรมที่นำไปสู่การทำลายคุณภาพชีวิตอย่างได้ผลยิ่ง

ธรรมชาติของมนุษย์เอื้อต่อการพัฒนาสู่ความสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของมนุษย์ไม่จบเพียงเท่านี้ พุทธศาสตร์บอกต่อไปว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ ในเมื่อปัญหาเกิดจากความไม่รู้ แล้วเป็นอยู่ด้วยอวิชชาและตัณหา เมื่อจะแก้ปัญหา ก็ต้องทำให้มีความรู้ แล้วเป็นอยู่หรือดำเนินชีวิตด้วยความรู้ เพราะฉะนั้น การที่จะพัฒนาตนเอง ก็คือพัฒนาให้มีความรู้ ความรู้นี้เรียกว่า ปัญญา ดังนั้นสาระของการที่จะพัฒนาศักยภาพนี้ก็คือ การพัฒนาปัญญา ปัญญาก็คือตัวความรู้ที่ตรงข้ามกับอวิชชา เมื่อมนุษย์มีความรู้ขึ้นมาทำลายอวิชชา ปัญญาก็ทำให้เขารู้จักว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต อะไรทำให้เกิดโทษ เมื่อเขาเกิดความรู้ว่าอะไรเป็นคุณภาพชีวิตหรือเป็นคุณแก่ชีวิตแล้ว เขาก็จะมีความต้องการในสิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิต หรือมีความต้องการตรงไปที่สิ่งที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตนั้น ความต้องการในสิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิตนี้ เรียกชื่อว่า ฉันทะ หรือ ธรรมฉันทะ บางที่ก็เรียกว่า กุศลฉันทะ แต่เรียกง่ายๆ ว่า ฉันทะ เมื่อมนุษย์มีปัญญาทำลายอวิชชาลงไปเรื่อยๆ มีความรู้เข้าใจในสิ่งที่เป็นคุณค่า เป็นคุณภาพชีวิตมากขึ้น ความต้องการคุณภาพชีวิตที่เรียกว่า ฉันทะ นี้ ก็จะปรากฏตัวชัดเจนมากขึ้น และความทะยานอยากอย่างมืดบอดแบบตัณหา ก็ถูกแทนที่ไป หรืออ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ คนที่พัฒนาหรือมีการศึกษาแล้วมีความรู้ถูกต้องมากขึ้น ก็เป็นอยู่ด้วยอวิชชาและตัณหาน้อยลง และดำเนินชีวิตด้วยปัญญาและฉันทะมากขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตได้ถูกต้องยิ่งขึ้น ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องได้ผลดียิ่งขึ้น การดำเนินชีวิตอย่างเปะปะเสี่ยงสุ่มสี่สุ่มห้า ได้อันตรายได้ปัญหาบ้าง ได้คุณได้ประโยชน์บ้าง ก็จะน้อยลงไปตามลำดับ การที่ได้แต่สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ มีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนี้ ก็เป็นการพัฒนาตนของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มนุษย์ก็จะมีการพัฒนาตนหรือพัฒนาปัญญายิ่งขึ้นเรื่อยไป ในเมื่อมนุษย์ดำเนินชีวิตเป็นอยู่อย่างถูกต้อง เขาก็จะมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนองฉันทะซึ่งเกิดจากปัญญา และฉันทะที่มาคู่กับปัญญานี้ก็จะทำให้เขาได้รับสิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิตโดยตรง เพราะปัญญาก็คือ ความรู้ว่าอะไรเป็นคุณภาพชีวิต และฉันทะก็คือความต้องการในสิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิตนั้น เมื่อเขาได้รับสิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิตแล้ว เขาก็ไม่ต้องไปว่ายวนอยู่ในความเปะปะ ที่เสี่ยงกับการได้รับผลเสียผลร้ายหรือโทษภัยต่างๆ และเขาก็สามารถใช้คุณภาพชีวิตซึ่งเขาสร้างขึ้น โดยตรงนั้นเป็นพื้นฐานในการพัฒนาศักยภาพทางจิตปัญญาให้ก้าวหน้าต่อไปสู่ชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น ให้ประสบอิสรภาพและสันติสุข กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความหมายสัมพันธ์กับธรรมชาติของมนุษย์อย่างนี้ พุทธศาสนามีความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์อย่างนี้

เท่าที่กล่าวมานี้ ก็จะมองเห็นถึงธรรมชาติของความต้องการว่าเป็นอย่างไร ในที่นี้จะเห็นว่า พุทธศาสนาแบ่งความต้องการเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. ความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน เรียกว่า ตัณหา และ

๒. ความต้องการสิ่งที่อำนวยคุณภาพชีวิต เรียกว่า ฉันทะ

ความต้องการอย่างนี้ก็ไปสัมพันธ์กับพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่มาของมัน คือ ความต้องการด้านหนึ่งไปสัมพันธ์กับอวิชชา ซึ่งอยู่ในกระบวนการก่อปัญหา ส่วนความต้องการอีกด้านหนึ่งก็ไปสัมพันธ์กับปัญญา ซึ่งอยู่ในระบบการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหา จากความต้องการที่ต่างกันนี้ ก็จะมีผลต่อความพึงพอใจของมนุษย์ ทำให้ธรรมชาติของความพึงพอใจนั้น ต่างกันไปตามตัวกำหนดนี้ด้วย เช่น ในการบริโภคอาหารอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เหล่ามนุษย์ที่ยังมีอวิชชามาก ก็ดิ้นรนสนองความทะยานอยากอันมืดบอดที่เรียกว่าตัณหา ซึ่งแสดงออกในรูปของการเสพรสเพื่อความเอร็ดอร่อย ในการสนองตัณหาอย่างนี้ เมื่อกินอาหาร เขาได้รับความพึงพอใจเมื่อไร จุดของความพึงพอใจอยู่ที่ไหน การสนองความต้องการแบบตัณหาก็คือ การได้เสพรส ความพึงพอใจก็อยู่ที่การได้เสพรสนั้น แต่ทีนี้เมื่อเขามีปัญญาขึ้น รู้ว่าเขาควรจะต้องการคุณภาพชีวิต และเขาก็ต้องการคุณภาพชีวิต ตอนนี้ความพึงพอใจของเขาอยู่ที่จุดไหน ความพึงพอใจก็อยู่ที่การสนองฉันทะ คือการที่ได้เกิดคุณภาพชีวิตขึ้น ในความต้องการแบบที่หนึ่ง ความพึงพอใจอยู่ที่การได้เสพรส แต่ในความต้องการแบบที่สอง ความพึงพอใจอยู่ที่การได้คุณภาพชีวิต

ในการบริโภคอาหาร ถ้าคนมีความต้องการต่างกันเป็นสองอย่างเช่นนี้ พฤติกรรมในการบริโภคก็ย่อมต่างกัน ผลในการบริโภคก็ต่างกัน และกิจกรรมต่างๆ ในทางเศรษฐกิจก็จะพลอยต่างกัน ทยอยกว้างออกไปตามลำดับ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คิดว่าน่าจะชัดเจนทีเดียว แต่ตามปกติ สำหรับคนทั่วไป จะมีความต้องการสองอย่างนี้ปนกัน คือ ธรรมดาปุถุชนย่อมจะมีความต้องการเสพรสแบบตัณหาอยู่ด้วย แต่ในกระบวนการการศึกษา เมื่อเขาพัฒนาตัวขึ้นมา เขาก็จะมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วความต้องการสนองฉันทะ หรือความต้องการคุณภาพชีวิตก็จะเพิ่มขึ้น ตอนแรกผลก็อาจจะออกมาในรูปของการประนีประนอม คือมีการบริโภคโดยให้เกิดความพึงพอใจที่สมดุลกันระหว่างการสนองความต้องการ ๒ แบบนั้น ซึ่งก็จะทำให้ความเป็นอยู่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีลักษณะที่ประณีตขึ้น เช่น มีการยับยั้งชั่งใจหรือควบคุมตนเองมากขึ้น ในการบริโภคเพื่อสนองความต้องการแบบเสพรส เพราะกลัวเสื่อมเสียคุณภาพชีวิต หรือมีการพยายามจัดสรรปรุงอาหารให้มีคุณค่าที่เสริมคุณภาพชีวิตมากขึ้น หรือบางคนก็อาจจะถึงกับบริโภคอาหาร เพื่อสนองความต้องการคุณภาพชีวิตอย่างเดียวเลย โดยไม่คำนึงว่าความต้องการเสพรสจะได้รับการสนองหรือไม่ แต่พูดอย่างกว้างๆ เมื่อคนมีความรู้เข้าใจมากขึ้น ปัญญาพัฒนามากขึ้น หรือความเจริญทางจิตปัญญามากขึ้น ความต้องการก็มาอยู่ที่ตัวคุณภาพชีวิตมากขึ้น และความพึงพอใจก็มาอยู่ที่การได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตนั้น คือการที่ได้สนองฉันทะนั่นเอง เพราะฉะนั้น ธรรมชาติของมนุษย์จึงเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม และกิจกรรมในทางเศรษฐกิจ

รวมความ ในเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ก็เป็นอันว่า มนุษย์มีศักยภาพที่ต้องการการพัฒนา หลักพระพุทธศาสนาที่เราสอนกันต่างๆ ก็เพื่อให้มนุษย์พัฒนาตน พัฒนาศักยภาพยิ่งๆ ขึ้นไป ในการพัฒนาศักยภาพนั้นสาระสำคัญก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าอยู่ที่ตัวปัญญา และกิจกรรมที่ทำให้เกิดการพัฒนาปัญญา ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่าการเรียนรู้ เมื่อมนุษย์เรียนรู้ รู้เข้าใจความจริง รู้เข้าใจว่าอะไรเป็นคุณภาพชีวิตของตนมากขึ้นแล้ว เขาก็จะมีความพึงพอใจที่เพิ่มเข้ามาอีกด้านหนึ่ง คือ นอกจากความพึงพอใจจากการสนองความต้องการทางด้านตัณหา ก็จะมีความพึงพอใจจากการสนองความต้องการคุณภาพชีวิต หรือสนองฉันทะมากขึ้น เมื่อการสนองฉันทะมากขึ้น มันก็จะควบคุมการสนองตัณหาให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่เป็นโทษ คือแม้จะยังมีอยู่ แต่ไม่ให้เป็นโทษ แล้วก็จะเป็นฐานในการที่จะพัฒนาคนเข้าสู่ชีวิตที่ดีงาม หรือสิ่งที่ดีงามที่มนุษย์พึงได้จากชีวิตของตนนี้ยิ่งขึ้นไป โดยไม่ต้องมาเสียเวลาว่ายวนเปะปะอยู่ในความทะยานอยาก ดิ้นรนไปอย่างมืดบอดของอวิชชาตัณหา เพราะฉะนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพระพุทธศาสนา จึงเป็นการทำให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพไปด้วยในตัว โดยที่ว่าผลได้ทางเศรษฐกิจจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์นั้น และทำให้เกิดความพร้อมที่จะประสบผลดีของชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป

ความต้องการ
ในทรรศนะของเศรษฐศาสตร์และพุทธศาสตร์

เมื่อได้พูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ ในความเข้าใจทางพระพุทธศาสนาทั่วไป และได้โยงเข้ามาสู่แง่ที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจแล้ว ก็มีหัวข้อที่ควรยกออกมาพูดแยกเป็นประเด็นๆ สักสองสามอย่าง ฉะนั้น ในที่นี้ก็อยากจะพูดเรื่องเฉพาะสักนิดหน่อย แต่พอดีเวลาล่วงไปมากแล้ว ก็คงจะพูดเท่าที่ได้ ประเด็นที่อยากจะพูดเพื่อย้ำเน้นเรื่องที่พูดไปแล้ว ก็คือเรื่อง ความต้องการ แต่คราวนี้จะเอามาพูดโดยเปรียบเทียบกับเรื่องความต้องการในทางเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน ความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของมนุษย์ ก็คือความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่ง อย่างที่ว่ามาแล้ว ความเข้าใจในเรื่องความต้องการของพุทธศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันนี้ มีทั้งข้อเหมือนและไม่เหมือน ตอนแรกนี้จะพูดถึงแง่ที่เหมือนเสียก่อน แง่ที่เหมือนก็คือ เศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน มีความเข้าใจตรงกับพุทธศาสตร์ที่ว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด หรือไม่จำกัด ซึ่งเราจะเห็นว่า พุทธศาสนาได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้มากมาย เช่นที่บอกว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี แม่น้ำเต็มได้ แต่ตัณหาไม่มีเต็ม หรือว่า ถึงแม้เงินทองจะตกจากฟากฟ้าเป็นห่าฝน ก็ไม่สามารถสนองความต้องการของคนให้เต็มได้ หรือแม้จะเนรมิตภูเขาทั้งลูกให้เป็นทองคำ ก็ไม่สามารถทำความต้องการของคนๆ เดียว ให้เต็มอิ่มได้ดังนี้เป็นต้น จะเห็นว่า เรื่องความต้องการของคนที่ไม่มีสิ้นสุดนี้ พระพุทธศาสนาพูดไว้มากมาย ในทางเศรษฐศาสตร์ก็มีความเข้าใจคล้ายกันว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่จำกัด แต่มีข้อต่าง ข้อต่างก็คือ เศรษฐศาสตร์ถือว่า ความต้องการที่ไม่จำกัดหรือไม่สิ้นสุดนี้ตายตัว แก้ไม่ได้ มีอยู่อย่างเดียว แต่พุทธศาสตร์บอกว่า ความต้องการของมนุษย์แยกได้เป็นสองอย่าง หนึ่ง ความต้องการเสพสิ่งปรนเปรอตน อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่จำกัด เป็นความต้องการแบบที่เรียกว่า ตัณหา แล้วก็สอง ความต้องการคุณภาพชีวิต อันนี้มีเครื่องวัดได้ ร่างกายของเราต้องการคุณภาพชีวิต ทำอย่างไรจะให้เจริญเติบโต ให้มีสุขภาพดี อันนี้มีขอบเขต ความต้องการคุณภาพชีวิตนี้มีขอบเขตจำกัด เพราะฉะนั้นจึงมีความสิ้นสุดได้ ความต้องการคุณภาพชีวิตนี้เรียกว่า ฉันทะ ถึงตอนนี้ความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการนี้เริ่มไม่เหมือนกันแล้ว

นอกจากนี้ พุทธศาสนามีความเชื่อพื้นฐานต่อไปอีกที่แถมเข้ามา ดังได้พูดไปแล้วว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ หมายความว่า ฝึกฝนพัฒนาตนขึ้นไปให้มีปัญญา รู้จักดำเนินชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นได้ ลักษณะหนึ่งของการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพนี้ก็คือ การหันเหหรือเปลี่ยนจากความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน มาเป็นความต้องการคุณภาพชีวิตให้มากขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กันไปกับการพัฒนาปัญญา หมายความว่า เมื่อมนุษย์มีปัญญามากขึ้น อวิชชาน้อยลง ความต้องการคุณภาพชีวิตก็จะมากขึ้น และตรงจุดมากยิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในชีวิตของปุถุชน ความต้องการสองอย่างนี้ขัดกันบ่อยๆ เมื่อเริ่มพัฒนา หรือยังอยู่ในระหว่างพัฒนาไปได้ไม่มาก ก็จะมีการกินอาหารเพื่อเสพรส เพื่อเอร็ดอร่อยด้วย โดยที่พร้อมกันนั้น ก็อาจจะต้องการคุณภาพชีวิตด้วย ตรงข้ามกับคนที่ไร้การศึกษา ยังไม่พัฒนา ซึ่งจะมุ่งเสพรสอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตเลย คนที่มีความต้องการต่างกันนี้ก็จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันไป เช่น ผู้ที่กินอาหารโดยอยากเสพรสอร่อย หนึ่ง ก็ย่อมมีทางที่จะใช้จ่ายเปลืองเงินทองมาก เพราะของที่จะให้เสพรสอร่อยก็อาจจะต้องทำให้แพงมาก เพราะต้องปรุงแต่งสีสันกลิ่นรส และทำให้โก้เก๋สวยงาม ต้องยั่วยุความต้องการ ซึ่งอาจจะต้องมีการโฆษณา ก็เอาเงินค่าโฆษณาไปรวมในต้นทุน สอง สิ่งที่เสพเพื่อสนองตัณหาหรือความอยากเสพรส มักจะมีพิษเป็นโทษต่อร่างกายโดยไม่รู้ เช่น มีสารที่ปรุงแต่งสี ปรุงแต่งรส ปรุงแต่งกลิ่น ซึ่งเดี๋ยวนี้ใช้กันมาก และ สาม เมื่อกินโดยมุ่งแต่จะเสพรส ก็มักทำให้กินเกินประมาณ ก็กลายเป็นโทษต่อร่างกายของตัวเองอีก เพราะฉะนั้น พฤติกรรมหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มาจากการสนองความต้องการแบบนี้ ก็จะเป็นไปอย่างหนึ่ง ทีนี้ พอมนุษย์มีปัญญา รู้จักกินโดยสนองความต้องการคุณภาพชีวิต พฤติกรรมการกินก็จะต่างออกไปเลย เขาอาจจะไม่ซื้อของบางอย่าง ทั้งที่อร่อยแต่แพงและไม่ค่อยมีคุณค่าอาหาร หรือรู้จักปรับตัวเองให้ได้ความอร่อยพอสมควร แต่มุ่งที่คุณภาพชีวิต ฉะนั้น การใช้จ่ายของเขาจะมีความหมายทางเศรษฐกิจต่างออกไปมาก ไม่ว่าในด้านการสิ้นเปลืองเงินทองก็ตาม ในด้านเป็นโทษเป็นคุณแก่ร่างกายก็ตาม และในด้านการกินเกินประมาณ หรือไม่เกินประมาณก็ตาม

จากคุณค่าแท้/คุณค่าเทียม สู่พฤติกรรมในการบริโภค

จากหลักความต้องการสองแบบ ก็นำไปสู่หลักที่เรียกว่า คุณค่าแท้และคุณค่าเทียม เพราะฉะนั้นในตอนนี้ เราจึงหันมาพิจารณาเรื่องคุณค่าของสิ่งทั้งหลาย การที่มนุษย์ต้องการสิ่งทั้งหลายนั้น ก็เพราะสิ่งเหล่านั้นมีคุณค่าแก่เขา หรือเพราะเขามองเห็นคุณค่าในสิ่งเหล่านั้น แต่ว่าที่จริงแล้ว ความต้องการของมนุษย์นั่นแหละเป็นตัวกำหนดคุณค่า เมื่อเราต้องการสิ่งใดสิ่งนั้นก็มีคุณค่าขึ้น ทีนี้ในเมื่อความต้องการของเรามีสองแบบ คุณค่าก็เกิดเป็นสองแบบด้วย ถ้าเราต้องการคุณภาพชีวิต คุณค่าที่เราจะมองหาหรือมองเห็นในสิ่งนั้น ก็จะเป็นแบบหนึ่งซึ่งขอเรียกว่า คุณค่าแท้ เช่น อาหารมีคุณค่าที่หล่อเลี้ยงร่างกาย ทำให้เจริญเติบโตแข็งแรง มีสุขภาพดี ทำให้มีชีวิตอยู่ผาสุกเป็นต้น อย่างที่เคยพูดมาแล้ว แต่อีกด้านหนึ่ง ถ้าเราต้องการเสพรสหรือบำรุงบำเรอปรนเปรอตน เราก็จะมองหาและมองเห็นคุณค่าในสิ่งทั้งหลายไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า คุณค่าเทียม เป็นคุณค่าที่สนองความต้องการแบบเสพรสหรือปรนเปรอตน เช่น อาหารมีคุณค่านี้ ก็คือการที่มันมีรสเอร็ดอร่อย ตลอดจนกระทั่งโก้หรู แสดงฐานะให้เห็นว่าเรานี้มีรสนิยมสูง กินของชั้นดี เป็นผู้นำสังคม อะไรต่างๆ ทำนองนี้

จากหลักความต้องการและคุณค่า ก็นำไปสู่หลักเรื่องการบริโภคอย่างที่ว่ามาแล้ว กล่าวคือ การบริโภคก็แบ่งออกเป็น ๒ แบบ ได้แก่

๑. การบริโภคเพื่อสนองความต้องการเสพคุณค่าเทียม ซึ่งเป็นการบริโภคแบบที่ไม่มีจุดหมายต่อไป มีแต่เพียงการเสพรสให้เกิดความพึงพอใจ แล้วก็ขาดลอยอยู่แค่นั้น ไม่มีจุดหมายส่งทอด มีแต่การเสพรสเรื่อยไปไม่รู้จบไม่รู้อิ่ม เป็นวงเวียนอยู่นั่นเอง

๒. การบริโภคเพื่อสนองความต้องการคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นการบริโภคที่มีจุดหมายต่อไป เพราะการได้คุณภาพชีวิตเป็นจุดหมายที่ชัดเจนของการบริโภค และยังเป็นฐานของการฝึกฝนศักยภาพของตนเองต่อไปอีกด้วย

ตกลงว่า มีการบริโภคแบบปลายเปิดกับแบบปลายปิด หรือการบริโภคที่มีจุดหมายต่อกับไม่มีจุดหมายต่อ ฉะนั้นปัญหาเศรษฐกิจในเศรษฐศาสตร์กับในพุทธศาสตร์ จึงไม่เหมือนกัน ในทางเศรษฐศาสตร์ข้อพิจารณาจะเป็นว่า เกิดความต้องการขึ้นแล้ว ทำอย่างไรจะได้สนองความต้องการ แต่ในพุทธศาสตร์ข้อพิจารณายังมีต่อไปว่า ถ้าเป็นความต้องการที่เป็นโทษทำลายคุณภาพชีวิต เบียดเบียนตนและเบียดเบียนผู้อื่น ก็ให้สามารถระงับความต้องการนั้นได้ด้วย หลักของเศรษฐศาสตร์ คือการสนองความต้องการ แต่ในพุทธศาสตร์จะมีการพิจารณาว่า ความต้องการนั้นให้เกิดคุณภาพชีวิตหรือทำลายคุณภาพชีวิต แล้วจึงจะสนองหรือระงับ ไม่เหมือนกัน

เรื่องอื่นก็ยังมีที่ควรจะพูดต่อไป แม้แต่เรื่องที่พูดไปแล้วที่นึกอยากจะยกมาพูดแยกเป็นประเด็นๆ ต่างหากก็มี ได้แก่เรื่องความพอใจ แล้วต่อไปก็เรื่องธรรมชาติของงานว่า พุทธศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน เข้าใจต่างกันอย่างไร ก็พอดีเวลาหมดไปแล้ว ไม่สามารถจะพูดต่อไปอีก

ลักษณะสำคัญของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

เพื่อรวบรัดตัดตอน จะขอข้ามไปพูดเรื่องลักษณะสำคัญของเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์มีลักษณะที่สำคัญคือ

๑. เป็นเศรษฐศาสตร์สายกลาง หรือเศรษฐศาสตร์มัชฌิมาปฏิปทา เศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์ มุ่งที่ความพอดีหรือความสมดุล สมดุลนี้ในแง่หนึ่งก็อย่างที่พูดมาแล้ว คือ การบริโภคเพื่อสนองหรือบำบัดความต้องการ จะทำให้เกิดความพอดีได้อย่างไร ถ้าเป็นแบบเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน การบริโภคก็เป็นการสนองความต้องการที่ไม่รู้จบ เพราะความต้องการไม่จำกัด แต่ในทางพุทธศาสนา จะมีหลักของความพอดี คือมีปัญญาและฉันทะเข้ามาเกี่ยวข้องในพฤติกรรมทางเศรษฐกิจนั้น แล้วทำให้เกิดความพึงพอใจขึ้นมา โดยมีความพอดีเกิดขึ้น เพราะความต้องการมาบรรจบกับจุดหมายที่สิ้นสุดของมัน ความพอใจที่มีความพอดี ก็คือการที่ได้สนองความต้องการคุณภาพชีวิต หรือทำให้เกิดคุณภาพชีวิตขึ้นมา เพราะฉะนั้น จุดที่ทำให้เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ เป็นเศรษฐศาสตร์แห่งความพอดีหรือมัชฌิมาปฏิปทา ก็คือการที่บริโภคแล้วทำให้ได้คุณภาพชีวิต แล้วเกิดความพึงพอใจที่จุดนี้ ซึ่งมันจะเป็นตัวทำให้เกิดความพอดีในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าเป็นเศรษฐศาสตร์แบบปัจจุบันแล้ว การสนองความต้องการซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด จะทำให้ไม่มีความพอดีเกิดขึ้น และก็จะต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน อันนี้เป็นจุดของความพอดีอันหนึ่ง

จุดของความพอดีอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ หลักการไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวพุทธศาสตร์ จะต้องพิจารณาถึงการไม่เบียดเบียนตนไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วย ไม่เบียดเบียนตนก็คือ ไม่ทำลายคุณภาพชีวิตของตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็คือ ไม่เบียดเบียนสังคมและสภาพแวดล้อมที่ปัจจุบันเขาเรียกว่าระบบนิเวศ การไม่เบียดเบียนนี้ก็ทำให้เกิดความประสานกลมกลืนหรือความสมดุล ซึ่งเป็นความเกื้อกูลกันระหว่างองค์ประกอบทั้งหลาย ในระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ นี้ก็เป็นความพอดีอีกด้านหนึ่ง และจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งทำให้มนุษย์ทั้งกายและใจพร้อมทั้งธรรมชาติแวดล้อมและสังคม สามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลต่อกัน นี่ก็เป็นความพอดีอีกด้านหนึ่ง

๒. เศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์มีลักษณะสำคัญที่พูดมาแล้วเช่นกัน คือ การที่ถือว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่จบสิ้นในตัว แต่เป็นกิจกรรมที่เป็นฐานของการที่จะได้พัฒนาศักยภาพยิ่งๆ ขึ้นไป รวมทั้งถือว่า ผลได้ทางเศรษฐกิจก็ไม่ใช่จบที่การได้เสพ ได้บำบัดความต้องการ แต่ผลได้ทางเศรษฐกิจนั้นจะกลายมาเป็นความพร้อม เป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือพัฒนาศักยภาพยิ่งๆ ขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น ยังถือว่า กิจกรรมในทางเศรษฐกิจทุกอย่าง เป็นกิจกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือเป็นกิจกรรมในการพัฒนาศักยภาพของตนไปด้วยในตัว

นอกเหนือจากนี้ที่ไม่มีเวลาพูดเพียงพอ แต่ขอเท้าความอิงไปนิดหน่อยคือ เศรษฐศาสตร์ปัจจุบันนี้ มักจะมองในแง่ของสิ่งที่นำมาซื้อขายได้เท่านั้น คือมองในแง่การตลาด พิจารณาเฉพาะสิ่งที่เข้าสู่ตลาด ซึ่งมีค่าในการซื้อขายเป็นเงินเป็นทอง ฉะนั้น ในแง่การผลิต ก็จะไม่มองถึงการผลิตที่ไม่มีคุณค่าที่จะมาเป็นสินค้าซื้อขายแลกเปลี่ยน ในการวิภาค (distrilution) ก็จะไม่มองถึงการวิภาค (distrilution) ในรูปที่เรียกว่า ทาน ซึ่งเป็นการให้โดยไม่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่ในทางพุทธศาสตร์จะไม่มองอย่างนั้น ในแง่การผลิตก็จะมองทั้งการผลิตเพื่อขาย และการผลิตเพื่อบริโภคเองด้วย ความจริงการผลิต จำนวนมากทีเดียว เป็นการผลิตเพื่อบริโภคเอง แต่เศรษฐศาสตร์ ปัจจุบันนี้เจริญเติบโตขึ้นมาในยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นยุคที่การตลาดเฟื่องฟู ก็เลยมีลักษณะเป็นเศรษฐศาสตร์แห่งการซื้อขายในตลาด ซึ่งเป็นลักษณะที่ทำให้มองเห็นได้ว่า ทำไมเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันจึงมองอะไรต่ออะไรในขอบเขตอย่างนี้ คือ เพราะเขาเจริญมาในยุคอุตสาหกรรม ต่างจากยุคเกษตรกรรมที่มนุษย์มีการผลิตเพื่อบริโภคเอง หรือเพื่อบริโภคในชุมชนของตัวเองมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงจากยุคอุตสาหกรรม ไปเป็นยุคใหม่ ที่บางคนเรียกว่ายุคหลังอุตสาหกรรม บางคนเรียกว่ายุค Information คือยุคข่าวสารข้อมูลหรือสารวิทยา ในยุคต่อไปนี้ วิถีชีวิตของคนตามที่นักเก็งอนาคต และนักวิจารณ์สังคมคาดหมาย จะหวนกลับไปคล้ายกับชีวิตในยุคเกษตรกรรมมากขึ้น มนุษย์จะทำการผลิตเพื่อการบริโภคเอง โดยตนเองและครอบครัว หรือในชุมชนของตนเองมากขึ้น ฉะนั้น ความหมายและขอบเขตของเศรษฐศาสตร์ ก็จะต้องขยายกว้างออกไปด้วย ดังเช่นที่มีผู้ตั้งศัพท์ใหม่ขึ้นมาสำหรับผู้บริโภค ปัจจุบันนี้เรามีผู้บริโภคเรียกว่า consumer แต่เวลานี้พวกฝรั่งบางคนได้คิดคำใหม่ขึ้นมาคำหนึ่งเรียกว่า prosumer เขาบอกว่าในยุคต่อไปนี้ ซึ่งพ้นจากยุคอุตสาหกรรมแล้ว มนุษย์ก็จะมีลักษณะเป็น prosumer prosumer มาจาก producer บวกกับ consumer รวมความหมายเข้าด้วยกัน คือ เป็นผู้ที่ทั้งผลิตและบริโภคเอง ในสภาพเช่นนี้ การตลาดก็จะเปลี่ยนไปด้วย เพราะฉะนั้น เศรษฐศาสตร์จะต้องขยับขยายตัวเอง ถ้าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอนาคต เศรษฐศาสตร์จะจำกัดตัวเองอยู่ในขอบเขตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้แล้ว ส่วนพุทธศาสนานั้นมองเรื่องการผลิต การบริโภค และการวิภาค (distrilution) แจกจ่าย โดยไม่จำกัดเฉพาะกิจกรรมที่มาซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราได้ หรืออยู่ในการตลาด แต่มองไปถึงกิจกรรมทุกอย่างในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในด้านวัตถุที่จะส่งเสริมความเป็นอยู่ดี และเป็นฐานแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือพัฒนาศักยภาพของตนต่อไป

นี้เป็นการพูดโดยสรุป เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ ความจริงยังมีหัวข้อที่ยังไม่ได้พูดอีก เช่น หน้าที่ของรัฐ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกันในเรื่องของเศรษฐศาสตร์ แต่เวลาได้ล่วงเลยไปมากแล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้อาตมาคิดว่า ได้เสนอแนวความคิด ความเข้าใจทั่วๆ ไป กว้างๆ ว่าพุทธศาสนานี้ มองเศรษฐศาสตร์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไร อย่างน้อยให้เห็นว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกได้จากชีวิตด้านอื่นๆ ของมนุษย์ และมันก็ควรเป็นตัวส่งเสริมการมีชีวิตที่ดีงาม อย่างที่ว่ามาแล้ว คือเป็นส่วนที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพื่อจุดมุ่งหมายในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ได้มีโอกาสมีความพร้อมยิ่งขึ้น ในการที่จะเข้าถึงสิ่งที่ดีงาม สิ่งประเสริฐ ที่ชีวิตจะพึงได้รับยิ่งๆ ขึ้นไป

ในที่สุดนี้ อาตมภาพขออนุโมทนาต่อทาง ส.ว.ช. โดยเฉพาะคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิชาการตามแนวพุทธศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ร่วมมือกันจัดการประชุมบรรยาย และเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ขึ้น หวังว่าความคิดเห็นที่มีในครั้งนี้ อาจจะเป็นส่วนร่วมที่จะช่วยเกื้อหนุน ในการพัฒนาแนวความคิดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ให้มีความมั่นคงและชัดเจนยิ่งๆ ขึ้นไป ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ทุกท่าน ผู้เข้าร่วมประชุม จงได้เจริญด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา และคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ที่จะเป็นพื้นฐานในการเข้าถึงสิ่งที่ดีงาม คือ อิสรภาพ สันติ และความสุขโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

1เดิมชื่อ “เศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์” ปาฐกถา จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๑
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง