ประโยชน์ของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ (ฉบับย่อ)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ประโยชน์ของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์
(โครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎก)
พร้อมด้วยโปรแกรมเรียกค้นข้อมูลจากคัมภีร์ (BUDSIR)

พระพุทธศาสนา คือ ศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นและทรงประทานคำสั่งสอนไว้เป็นหลัก ถ้าแปลอย่างง่ายที่สุด พระพุทธศาสนา ก็คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ตรัสว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว ธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงและบัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาของชาวพุทธทั้งปวง ธรรมวินัย ก็รวมอยู่ในพุทธพจน์คือพระดำรัสของ พระพุทธเจ้า ที่นำสืบกันมาในพระไตรปิฎก พุทธพจน์เท่าที่เราจะรู้ถึงได้ ก็คือคำสั่งสอนที่มีใน พระไตรปิฎก ธรรมวินัยที่เป็นศาสดาของชาวพุทธทั้งหมดจึงอยู่ในพระไตรปิฎก หมายความว่า พระไตรปิฎกเป็นที่ประมวลไว้ซึ่งพระธรรมวินัยที่เป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา

ด้วยเหตุดังกล่าวมา พระไตรปิฎกจึงเป็นคัมภีร์สูงสุดของพระพุทธศาสนา ถือว่า เป็นหลักหรือเป็นมาตรฐานของคำสอน ความเชื่อถือ และการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งที่มาต้นเดิมของคำสอนทั้งหมด เป็นมาตรฐานตรวจสอบความเชื่อถือและการปฏิบัติทุกอย่าง และเป็นหลักฐานอ้างอิงในการแสดงหรือยืนยันหลักการที่กล่าวว่าเป็นพระพุทธศาสนา ดังนั้น การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงเป็นกิจสำคัญยิ่งของชาวพุทธ ถือว่าเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา หรือ เป็นความดำรงอยู่ของ พระพุทธศาสนา กล่าวคือ ถ้ายังมีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่ แต่ถ้าไม่มีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกแม้จะมีการปฏิบัติ ก็จะไม่เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็ไม่ดำรงอยู่ คือ เสื่อมสูญไป

นอกจากพระธรรมวินัยแล้ว พระไตรปิฎกยังเป็นที่บันทึกลัทธิ ความเชื่อถือ ศาสนา ปรัชญา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม เรื่องราวเหตุการณ์ และถิ่นฐานแว่นแคว้นต่างๆ ในยุคอดีตไว้เป็นอันมาก แม้คำสั่งสอนในพระธรรมวินัยเอง ก็เกี่ยวข้องกับวิชาการหลายสาขา เช่น จิตวิทยา กฎหมาย การปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การแสวงหา และจัดการเกี่ยวกับโภคทรัพย์ เป็นต้น นอกจากนี้ เนื่องจากภาษาบาลีเป็นรากฐานสำคัญส่วนหนึ่งของภาษาไทย คำศัพท์จำนวนมากในภาษาไทยมาจากภาษาบาลี ในฐานะที่พระไตรปิฎกจารึกไว้เป็นภาษาบาลี และเป็นแหล่งเดิมแห่งคำศัพท์ภาษาบาลีที่นำมาใช้ในภาษาไทย การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงมีอุปการะเป็นพิเศษแก่การศึกษาภาษาไทย กล่าวโดยย่อ การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกมีคุณค่าสำคัญไม่เฉพาะแต่ในการศึกษาพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อำนวยประโยชน์ในทางวิชาการด้านต่างๆ มากมาย เช่น ภาษาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา โบราณคดี รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา และจิตวิทยา เป็นต้นด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่มีขนาดใหญ่โตมาก มีเนื้อหามากมายอย่างที่ท่านบรรยายไว้ว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ฉบับพิมพ์อักษรไทยมีจำนวนถึง ๔๕ เล่ม นับได้เกือบ ๒๒,๐๐๐ หน้า หรือ เป็นอักษรประมาณ ๒๔,๓๐๐,๐๐๐ ตัว การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงเป็นเรื่องใหญ่และยากมาก มีแต่เพียงนักปราชญ์และผู้ศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะเข้าถึงพระไตรปิฎก ทำให้การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจำกัดอยู่ในวงแคบอย่างยิ่ง ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากระบบที่ช่วยการค้นคว้า เช่น ดัชนี ในพระไตรปิฎกที่ใช้กันอยู่ ยังบกพร่องมาก แม้แต่นักปราชญ์และนักค้นคว้าทั้งหลาย ก็ทำงานเกี่ยวกับพระไตรปิฎกอย่างไม่สะดวก สิ้นเปลืองเวลาและแรงงานเกินกว่าที่ควร โดยที่พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนาและเป็นแหล่งแห่งคำสอนดังกล่าวมาแล้ว ความจำกัดวงแคบและความไม่สะดวกในการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนา กับทั้งเปิดช่องให้ความเชื่อถือและการปฏิบัติต่างๆ ที่ผิดจากธรรมวินัยเกิดขึ้นและขยายตัวกว้างขวางออกไปโดยง่าย พร้อมกันนั้นก็ไม่เกื้อกูลต่อวงวิชาการด้านต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น

เป็นที่น่ายินดีว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดตั้ง “โครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์” ขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๐ และ สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ได้บรรจุข้อมูลพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ลงในคอมพิวเตอร์เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้สร้างโปรแกรมสำหรับใช้ในการค้นข้อมูลนั้น เรียกว่า BUDSIR (BUDdhist Scripture Information Retrieval) สำเร็จแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๑ จึงจะทำให้การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น เป็นไปได้โดยสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ได้ผลดี อีกทั้งเกื้อกูลต่อการทำงานอื่นๆ เกี่ยวกับพระไตรปิฎกที่ยิ่งกว่าการศึกษาค้นคว้าได้อีกหลายอย่าง

ประโยชน์ของการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกด้วยคอมพิวเตอร์ ที่มีมากมายหลายประการนั้น อาจประมวลสรุปได้ดังนี้

ก. งานสืบค้น

งานสืบค้นสำหรับพระไตรปิฎก ที่สามัญที่สุดคือ การค้นหาว่าพระสูตรชื่อนั้นๆ เช่น มหาสติปัฏฐานสูตร จักกวัตติสูตร องคุลิมาลสูตร เป็นต้น หรือชาดกชื่อนั้นๆ เช่น โสมทัตตชาดก วานรชาดก มโหสถชาดก มหาเวสสันดรชาดก เป็นต้น มาในพระไตรปิฎก เล่มใด ข้อไหน หน้าเท่าไร การค้นในลักษณะเช่นนี้เป็นของง่ายเกินไปสำหรับการค้นพระไตรปิฎกด้วยคอมพิวเตอร์หรือ BUDSIR เพราะ BUDSIR ค้นรายละเอียดได้ทุกอย่าง แม้แต่คำทุกคำ โดยสรุป การสืบค้นโดยทั่วไปจะมีดังนี้

๑. ค้นคำ หรือศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ทั่วไป หรือ ศัพท์ธรรม

  • ผู้ศึกษาธรรมวินัย อาจค้นหาศัพท์ทางธรรมวินัย เช่น ปัญญา กรุณา สติ สมาธิ สีลอุโปสถ ธรรมกาย ปริยัตติ ปรมัตถ์ สามัคคี กุศล อกุศล บุญ บาป ธุดงค์ วัตร สมาทาน สังฆกรรม สังฆทาน อติเรกจีวร ปวารณา กาลิก สันนิธิ จีวร เสนาสนะ ฯลฯ
  • ผู้ศึกษาภาษาไทย ก็อาจค้นหาถ้อยคำที่นำมาใช้ในภาษาไทย เช่น อนุโลม ปฏิโลม ปฏิวัติ ปฏิรูป ปฏิภาค สังหาริมะ บัณฑิต สุจริต อุปมา ปริญญา ชาติ ชีวิต อาวุธ ทายาท ทารก ธุระ สภา อดีต อนาคต ปัจจุบัน ธาตุ ราชทูต ราชทัณฑ์ สันติ ราชูปโภค ราชกกุธภัณฑ์ ราชบุตร ราชินี มเหสี ชายา ภคินี โอรส รมณีย์ จตุจักร ฯลฯ

๒. ค้นชื่อ หรืออสาธารณนาม ไม่ว่าจะเป็นชื่อบุคคล ชื่อสถานที่ ชื่อพระสูตร ชื่อชาดก และชื่อหมวดตอนต่างๆ ของคัมภีร์ หรือชื่อเฉพาะใดๆ ก็ตาม เช่น อานนฺท ลุมฺพินี สาริปุตฺต อนุรุทฺธ ยโสธรา ปฏาจารา อาภสฺสรา มคธ คนฺธาร อุชฺเชนี อจิรวตี กปิลวตฺถุ คิชฺฌกูฏ พาราณสี ชีวก เทวทตฺต เวสาลี สุวณฺณภูมิ สิริมา เวฬุวน เชตวน ลิจฺฉวี สุมนา กปิชาตก เตวิชฺชสุตฺต ราชวคฺค ฯลฯ

๓. ค้นวลี และประโยคสำนวนแบบ อันเป็นกลุ่มคำสั้นๆ อาจจะเป็นคำหรือศัพท์ที่มาด้วยกันเป็นชุด ซึ่งเป็นประโยชน์มากทั้งสำหรับนักศึกษาธรรมวินัยและสำหรับนักไวยากรณ์ หรือนักภาษาศาสตร์ทั่วไป ในการหาหลักฐาน ตัวอย่างเทียบเคียง วิเคราะห์หาความหมายที่แท้จริง ตลอดจน ความเป็นมา และศึกษาวิธีใช้เป็นต้น เช่น อิธ วา หุรํ วา, ปริมุขํ สติ ปกฺขเปติ, อจฺเฉจฺฉิ ตณฺหํ วิวตฺตยิ สญฺโญชนํ, อาตุ มาริ มาตุ มาริ, มาโร ปาปิมา, กจฺจิ ภิกฺขเว ขมนียํ กจฺจิ ยาปนียํ, กายนุตฺถ ภิกขเว เอตรหิ กถาย สนฺนิสินฺนา สนฺนิปติตา ฯลฯ

๔. ค้นข้อความ ซึ่งอาจเป็นข้อความยาวๆ หลายประโยค หลายบรรทัด หรือคาถาภาษิตต่างๆ ที่นำมาอ้างในการเทศนาสั่งสอน เป็นต้น เช่น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ, สพฺพปาปสฺส อกรณํ, นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา, ปมาโท มจฺจุโน ปทํ, วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ, สจฺจํ เว อมตา วาจา, ธมฺมจารี สุขํ เสติ, อวิชฺชา ปรมํ มลํ, ฯลฯ

๕. ค้นบทสวด หลักธรรม หลักวินัยต่างๆ นักศึกษาหรือพุทธศาสนิกชนทั่วไป อาจต้องการทราบว่า บทสวดมนต์บทนั้นบทนี้ แม้แต่บทที่ง่ายที่สุดและใช้กันอยู่เป็นประจำ เช่น นโม ตสฺส..., พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ, อิติปิ โสภควา... มีมาในพระไตรปิฎกหรือไม่ ถ้ามี อยู่ ณ ที่ใด เกิดขึ้นมาอย่างไร ใครกล่าวขึ้น ถ้าถูกตัดตอนออกมา ความเต็มว่าอย่างไร หลักธรรมต่างๆ ที่เรียน - สอน - ปฏิบัติกันอยู่ในหมู่ชาวพุทธหรือในทางจริยธรรมทั่วไป เช่น กตัญญูกตเวที เบญจศีล อบายมุข พรหมวิหาร ๔ สติปัฏฐาน ๔ มีมาในพระไตรปิฎกที่ไหนบ้าง ท่านสอนไว้อย่างไร หลักวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ที่เรียกว่าสิกขาบทต่างๆ เช่น ภิกษุดื่มสุรา ฉันอาหารกลางคืน เอาโต๊ะเก้าอี้ของส่วนรวมออกไปใช้แล้วไม่เก็บงำ ฯลฯ เป็นความผิดสถานใด ข้อไหน เหตุใดจึงบัญญัติให้เป็นความผิด มีรายละเอียดว่าอย่างไร การบวชนาค (บรรพชา อุปสมบท) การทอดกฐิน มีความเป็นมาอย่างไร ฯลฯ (ข้อนี้อาศัยการค้นตามหลักข้อ ๑-๒-๓ นั่นเอง แต่มักซับซ้อนกว่าและอาจต้องใช้ผสมกันทั้ง ๓ ข้อ)

การค้นคำ ศัพท์ วลี หรือข้อความ ด้วย BUDSIR จะให้ได้รายละเอียดที่เกี่ยวข้องทุกอย่าง เกินวิสัยที่การสืบค้นตามปกติจะทำได้ และสำหรับสิ่งที่การค้นตามปกติใช้เวลามากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งอาจเกินเดือน เกินปี BUDSIR ก็บอกได้ภายในเวลารวดเร็วชั่ววินาที รายละเอียดที่ BUDSIR บอกตามปกติ ได้แก่

    ก. แสดงจำนวนครั้งทั้งหมดที่คำหรือข้อความนั้นปรากฏในพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม เช่น ค้น “อานนฺท” จะบอกทันทีในวินาทีเดียวว่า ปรากฏในพระไตรปิฎก ๑,๙๖๖ ครั้ง
    ข. แสดงบัญชีพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ตามลำดับว่า เล่มใดมีคำหรือข้อความนั้นปรากฏกี่ครั้ง
    ค. แสดงบัญชีเฉพาะในเล่มหนึ่งๆ ว่า ในเล่มนั้น คำหรือข้อความนั้น ปรากฏที่ข้อไหน หน้าใดบ้าง ตามลำดับ จนจบเล่ม
    ง. แสดงคำหรือข้อความนั้น ให้เห็นตามที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือจริงๆ สุดแต่จะเลือกให้แสดงที่หน้าใด โดยมีแถบไฟสีเขียวส่องคำหรือข้อความนั้นให้เด่นชัดขึ้นเป็นพิเศษด้วย

ในประเทศอังกฤษ สมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) ได้เพียรพยายามทำหนังสือสำคัญสำหรับใช้ค้นถ้อยคำและเรื่องราวในพระไตรปิฎก ที่เรียกว่า Tipitakam Concordance มาเป็นเวลานาน เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึงบัดนี้ เป็นเวลา ๓๖ ปี เสร็จไปแล้วเป็นหนังสือขนาดใหญ่ประมาณ ๑,๓๐๐ หน้า ก็ยังไม่จบ ถึงเพียงอักษร แต่เมื่อมีพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์นี้ ก็เท่ากับมีหนังสือค้นเล่มนั้นอยู่ในตัวอย่างจบสิ้นสมบูรณ์แล้วในทันที

ข. งานตรวจสอบ

๑. ตรวจสอบการอ้างอิงภายนอก

    ก) ตรวจสอบคำหรือข้อความที่มีผู้ยกขึ้นอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ หรือมีมาในพระไตรปิฎก ว่ามีจริงอย่างที่อ้างหรือไม่
    ข) ตรวจสอบหลักฐานที่มาที่อ้างนั้นว่า ถูกต้องตรงตามตำแหน่งที่เป็นจริงหรือไม่ เพื่อยืนยันหรือเพื่อจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง
    ค) ตรวจสอบคำและข้อความที่อ้างนั้นว่า ถูกต้องครบถ้วนบริบูรณ์หรือไม่ เพื่อยืนยันหรือเพื่อจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง

๒. ตรวจสอบเนื้อหาภายใน

    ก) ตรวจสอบคำหรือศัพท์เดียวกัน ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง ต่างเล่ม ต่างที่กันว่า ลงตัวเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ เช่น ในพระไตรปิฎกบางเล่มพบคำว่า จาตุมหาราชิกา แต่คำเดียวกันนี้ ในเล่มอื่นเป็น จาตุมฺมหาราชิกา, ในพระไตรปิฎก บางเล่ม พบคำว่า เวสฺสวโณ แต่คำเดียวกันนี้ ในเล่มอื่นเป็น เวสฺสวณฺโณ
    ข) ตรวจสอบข้อความเดียวกัน ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกต่างเล่ม ต่างที่กันว่า ลงกันสอดคล้องเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ การตรวจสอบในข้อนี้ มีความสำคัญมาก เพราะเนื้อความในพระไตรปิฎกมีซ้ำกันมากมายหลายแห่ง พระสูตรเดียวกันมาในพระไตรปิฎกต่างแห่งกันก็หลายสูตร ข้อความเดียวกัน ทั้งตอนบ้าง ทั้งข้อบ้าง อาจมาในพระไตรปิฎกต่างแห่งกันหลายๆ ที่ และในหลายกรณี จะมีรายละเอียดผิดแผกกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งอาจเกิดจากการทรงจำหรือคัดลอกต่อกันมาผิดเพี้ยนไป

การตรวจสอบหลักฐานในข้อ ๒. นี้ ให้ครบถ้วน จะช่วยให้มีการพิจารณาเทียบเคียงและวิเคราะห์ด้วยความรอบคอบ ทำให้วินิจฉัยด้วยความมั่นใจมากขึ้นว่า ที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร การตรวจสอบในกรณีเช่นนี้ มีประโยชน์มากเป็นพิเศษในงานสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎก ทำให้การตรวจสอบหลักฐานครบถ้วนบริบูรณ์ทั่วทุกแห่งที่มีคำหรือข้อความ หรือเนื้อหาอย่างนั้นไม่ตกหล่น ต่างจากการตรวจสอบด้วยตา - มือ - และความจำ ซึ่งจะมีการตกหล่น ไม่ครบถ้วนไม่ทั่วถึงอยู่เสมอ

๓. ตรวจสอบความหมาย

ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาธรรมวินัย นักศึกษาภาษาบาลี หรือ นักศึกษาภาษาไทยก็ตาม จะพบปัญหาเกี่ยวกับความหมายของถ้อยคำอยู่เสมอ ในกรณีอย่างนี้ BUDSIR ของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ จะช่วยงานเกี่ยวกับการตรวจสอบความหมายได้ทุกแง่ทุกมุม โดยไม่มีการตกหล่นเลย เช่น

ก) ตรวจสอบว่า ความหมายที่เข้าใจหรือที่ใช้อยู่ (และแม้แต่ความหมายที่แสดงไว้ในพจนานุกรม) ถูกต้องตรงตามความหมายที่แท้จริงที่ท่านใช้อยู่แต่เดิมหรือไม่

ข) ตรวจสอบว่า ความหมายของถ้อยคำหนึ่งๆ ซึ่งมักมีได้หลายนัยนั้น ได้นำมาแสดงครบถ้วนแล้วทุกนัยหรือไม่ มีนัยอื่นอีกหรือไม่ ซึ่งต่างจากที่เรารู้หรือเข้าใจอยู่แล้วหรือว่า ความหมายนัยหนึ่งที่คนอื่นอ้างขึ้นมา มีจริงหรือไม่

ค) ตรวจสอบว่าความหมายนัยต่างๆ ของถ้อยคำนั้นๆ แต่ละอย่างๆ ใช้ในข้อความแวดล้อม หรือบริบทที่ทั่วไปหรือเฉพาะอย่างไร เช่น ฉันทะ ในคำว่ามอบฉันทะ ฉันทะ อย่างในอิทธิบาท ฉันทะ อย่างในกามฉันทะ, วร (พร) ที่แปลว่า ประเสริฐหรือดีเลิศบ้าง สิ่งที่อำนวยให้บ้าง เป็นต้น

ง) ตรวจสอบว่า ความหมายของศัพท์บางศัพท์หรือถ้อยคำบางคำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาษาไทย ได้เพี้ยนหรือคลาดเคลื่อนไปจากความหมายเดิมอย่างไร มีเค้าหรือร่องรอยเดิมอย่างไร หรือเป็นการเน้นเอียงหนักไปข้างไหน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการศึกษาวิวัฒนาการของภาษา ความคิด ความเชื่อถือ วัฒนธรรม และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คำว่า มานะ วาสนา บารมี สมมติ จุติ สัญญา เวทนา วิญญาณ อิจฉา อธิฏฐาน ภาวนา บริกรรม นิทาน เป็นต้น

จ) สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาค้นคว้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป การตรวจสอบความหมายในพระไตรปิฎกได้สะดวก ก็ทำให้สามารถตรวจสอบค้นคว้า คำอธิบายขยายความในคัมภีร์ชั้นรองลงไป เริ่มแต่อรรถกถา พลอยสะดวกไปด้วย เพราะเมื่อทราบตำแหน่งของคำนั้นๆ ในพระไตรปิฎกแล้ว ก็ย่อมทราบด้วยว่า จะค้นหามติของอรรถกถาได้ ณ ที่ใด ดังนั้น การตรวจสอบความหมายด้วย BUDSIR จึงเป็นการเข้าถึงจุดเริ่มต้น หรือแหล่งเดิมที่ตรงแท้ ซึ่งจะช่วยโยงสู่แหล่งตรวจสอบระดับต่อๆ ไป อย่างถูกต้องตลอดสาย

๔. ตรวจสอบความเชื่อถือและข้อปฏิบัติต่างๆ ที่อ้างว่าเป็นหลักในพระพุทธศาสนา ว่าเป็นจริงตามที่อ้างหรือไม่

การตรวจสอบในข้อนี้มีความซับซ้อนกว่าในสองข้อก่อน เพราะในหลายกรณีไม่อาจตรวจสอบด้วยข้อความในพระไตรปิฎกเฉพาะแห่งเฉพาะที่ หรือแม้แต่เฉพาะเรื่อง โดยตรง ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญที่จะสัมพันธ์เชื่อมโยงข้อมูลและหลักการต่างๆ ด้วย การตรวจสอบในข้อนี้จึงเป็นงานในระดับของผู้รู้ ผู้ชำนาญ หรือนักปราชญ์ ซึ่งท่านเหล่านั้นจะอาศัยความชำนาญของตนเป็นพื้นฐานในการที่จะใช้ BUDSIR เป็นเครื่องช่วยให้งานตรวจสอบมีความสะดวก สมบูรณ์และแม่นยำชัดเจนยิ่งขึ้น

ค. งานประมวล โดยเฉพาะการจัดทำพจนานุกรม และสารานุกรม

๑. คำศัพท์ภาษาบาลี ศัพท์วิชาการพระพุทธศาสนา และชื่อเฉพาะต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกมีจำนวนมากมายอย่างยิ่ง ไม่เคยมีผู้ใดได้เก็บรวบรวมไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ หนังสืออภิธานศัพท์ พจนานุกรม และสารานุกรม เท่าที่เคยมีผู้จัดทำกันมา ก็ยังไม่มีฉบับใดครบถ้วนสมบูรณ์ ถ้าจะใช้แรงคนเก็บรวบรวมคำศัพท์เหล่านี้ แม้จะใช้เวลาแรมปี ก็ยากที่จะทำได้สำเร็จ และคาดหมายได้ว่า จะต้องมีความผิดพลาดตกหล่นมิใช่น้อย แต่พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์สามารถประมวลคำศัพท์เหล่านั้นทั้งหมด ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ให้ตกหล่นเลย พร้อมที่จะนำไปใช้เป็นบทตั้ง และคำประกอบในการจัดทำพจนานุกรม และสารานุกรม เป็นต้น ได้ตามต้องการในทันที

๒. การจัดทำหนังสือประเภทพจนานุกรม และสารานุกรม จะต้องเรียงลำดับคำศัพท์ทั้งหมดตามลำดับอักษร ซึ่งเป็นงานใหญ่และหนักมาก ยิ่งเมื่อมาจัดทำกับพระไตรปิฎกที่เป็นคัมภีร์ใหญ่โตอย่างยิ่ง ก็ยากที่จะทำได้ครบถ้วน และโอกาสที่จะผิดพลาดตกหล่น เช่น เรียงลำดับสับกัน ก็มีได้บ่อย ๆ แต่พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ได้ประมวลคำศัพท์ทั้งหมดในพระไตรปิฎก มาเรียงลำดับเป็นดัชนีไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีคำศัพท์ครบถ้วนไม่ตกหล่น และจัดลำดับอักษรไว้อย่างถูกต้องแม่นยำไม่มีการผิดพลาด จึงทำให้ผู้ที่จะจัดทำพจนานุกรมหรือสารานุกรม ตัดภาระและความยุ่งยากวุ่นวายของงานในขั้นตอนสำคัญนี้ไปได้ทั้งหมด สามารถทำงานขั้นเนื้อหาสาระต่อไปได้ทันที

๓. งานจัดทำหนังสือประเภทพจนานุกรมในขั้นต่อไป มีทั้งการสืบค้นและการตรวจสอบ ซึ่งสามารถใช้ BUDSIR ของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์นี้ ทำงานให้อย่างสะดวกและได้ผลดีดังกล่าวไว้แล้วใน ข้อ ก. และ ข.

กล่าวโดยสรุป นอกจากความสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ โดยทั่วไปแล้ว การใช้ BUDSIR ช่วยงานจัดทำพจนานุกรม มีประโยชน์ที่เป็นข้อพิเศษซึ่งควรเน้นไว้ดังนี้

  • เก็บรวบรวมคำศัพท์ในพระไตรปิฎกได้ครบถ้วนสมบูรณ์
  • เก็บความหมายนัยต่างๆ ได้ครบถ้วนสมบูรณ์
  • หาตัวอย่างมาแสดงได้ง่ายเท่าที่มีตามต้องการ
  • แสดงหลักฐานที่มาได้บริบูรณ์
  • แสดงการใช้จริงในคัมภีร์ให้เห็นได้ในทุกกรณีว่าศัพท์นั้นๆ จะมีความหมายนัยนั้นๆ ในบริบทเช่นใด
  • ถ้าจะรวมคำศัพท์ที่มีความหมายพ้อง (synonym หรือไวพจน์) และความหมายตรงข้าม (antonym) มาแสดงไว้ด้วย ก็ทำได้ง่ายขึ้น

การใช้งานในข้อ ค. นี้ เกื้อกูลอย่างมากต่อการจัดทำพจนานุกรมภาษาไทย หรือปรับปรุงพจนานุกรมไทยที่มีอยู่แล้ว

ง. งานวิจัย และงานนิพนธ์

งานวิจัยและงานนิพนธ์ทั้งหลายที่เกี่ยวโยงหรือพาดพิงถึงพระพุทธศาสนา จะต้องยึดเอาพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอ้างอิงขั้นต้น เพราะพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนาดังได้กล่าวแล้ว

การใช้ประโยชน์ในข้อนี้ ต้องอาศัยการรวบรวมวิเคราะห์และประสานเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เป็นอันมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะสำเร็จได้ด้วยการใช้ BUDSIR ทำงานสืบค้น และงานตรวจสอบที่กล่าวแล้ว ในข้อ ก. และ ข. จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำในที่นี้อีก

๑. งานวิจัย และงานนิพนธ์โดยทั่วไป อาจเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาโดยตรง กล่าวคือวิจัยเกี่ยวกับหลักธรรมหลักวินัย ก็ได้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของชีวิตและสังคมในปัจจุบันก็ได้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิชาการด้านต่างๆ ก็ได้ เช่น หลักการเจริญสติปัฏฐาน วิปัสสนาตามพุทธประสงค์ ปัญหาเกี่ยวกับความดี-ความชั่วสุขทุกข์ตามนัยแห่งพุทธปรัชญา พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจ พุทธศาสนากับประชาธิปไตย พระพุทธศาสนากับจิตวิเคราะห์ เสรีภาพในทัศนะของพระพุทธศาสนา ศึกษาเปรียบเทียบพระพุทธศาสนากับปรัชญาภวนิยม อุดมรัฐตามแนวพุทธมติ ครูในอุดมคติ วรรณคดีบาลีในภาษาไทย วัด วินัยและชีวิตไทย ฯลฯ งานวิจัยทำนองนี้ ได้มีผู้ทำกันมากในระดับบัณฑิตศึกษา ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งผู้ทำวิจัยมักต้องประสบปัญหาและความเหนื่อยยากลำบากเป็นอันมากในการค้นคว้า รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล เพราะเข้าถึงพระไตรปิฎกที่เป็นแหล่งเดิมได้ยาก แต่เมื่อมีพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์แล้ว การทำงานวิจัยอย่างนี้จะสะดวกและง่ายขึ้นอย่างมากมาย

๒. งานนิพนธ์อีกอย่างหนึ่งที่มีคุณค่ามาก และได้มีนักปราชญ์บางท่านทำไว้บ้าง ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ แต่ยังมีจำนวนน้อย เพราะในเวลาที่ผ่านมางานประเภทนี้ไม่มีอุปกรณ์ช่วย จึงต้องใช้ความรอบรู้ในพระไตรปิฎกอย่างกว้างขวางทั่วถึงและใช้ความเพียรพยายามมาก ได้แก่ การเก็บรวบรวมพุทธพจน์ และเรื่องราวในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวกับบุคคล เรื่องราวหรือเนื้อหาสาระอย่างเดียวกัน นำมาจัดเรียงโยงต่อเข้าด้วยกัน โดยมีประเด็นความหรือสารัตถะหรือแนวโครงเรื่องอันหนึ่งอันเดียวเป็นแกนร้อยตรึงไว้ เช่น พุทธประวัติจากพระโอษฐ์, อริยสัจจากพระโอษฐ์, ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ (ของ พุทธทาสภิกขุ); "The Word of the Buddha (ของท่าน Nyanatiloka ชาวเยอรมัน); Some Sayings of the Buddha (ของ F.L. Woodward), The Life of the Buddha (ของท่าน Ñānamolī ชาวอังกฤษ) เป็นต้น เมื่อมีพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ ก็จะสามารถใช้ BUDSIR ทำงานประเภทนี้ได้ด้วยความสะดวกและรวดเร็วเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่การจัดทำพระไตรปิฎกฉบับเล็ก ซึ่งมีผู้คิดทำกันมานานแล้ว ก็มีทางที่จะสำเร็จเป็นจริงได้ง่ายขึ้นอีกมากมาย

จ. งานสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎก

งานที่พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ช่วยได้มากที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือ การสังคายนาพระไตรปิฎก การสังคายนาในแง่ของการตรวจชำระคัมภีร์พระไตรปิฎกนี้ ก็มีงานพื้นฐานอยู่ ๒ ประการ เหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ งานสืบค้น และงานตรวจสอบ ซึ่งได้บรรยายไว้ในข้อ ก. และ ข.

ข้อดีเด่นพิเศษของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ ในการช่วยงานตรวจชำระพระไตรปิฎก ก็คือ ในการตรวจชำระพระไตรปิฎกนั้น ความถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้อง รอบคอบทั่วถึง และครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นหัวใจของงาน ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ในการตรวจชำระที่ทำด้วยตาและมือคน แม้ว่าผู้รู้ที่ทำการสังคายนาจะมีความชำนาญและสามารถในการวินิจฉัย แต่ก็แทบเป็นการเหลือวิสัยที่จะตามหาตามแก้ถ้อยคำและข้อความต่างๆ ให้ลงตัวเป็นอันเดียวกันได้อย่างครบถ้วนทั่วถึง โดยไม่ตกหล่นเลย พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ซึ่งใช้ BUDSIR เป็นอุปกรณ์ นอกจากมีความรวดเร็วที่ประมาณไม่ได้แล้ว ยังมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการทำงานให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์ข้อนี้ ดังจะยกตัวอย่างงานที่ตามปกติทำได้ยากและสมบูรณ์ได้ยาก แต่กลายเป็นของง่ายและสมบูรณ์ได้ง่าย เมื่อทำด้วยพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ เช่น

  • ทำดัชนีทุกประเภท ทั้งดัชนีเฉพาะแต่ละเล่ม และดัชนีรวมชุด ๔๕ เล่ม ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่ตกหล่นเลย และทุกคำตรงตามลำดับอย่างแม่นยำ
  • นำเอา คำศัพท์ ข้อความ และเรื่องราวคล้ายกันซึ่งปรากฏในที่หลายแห่ง มาให้พิจารณาเทียบเคียงได้ทันทีทันใด และอย่างครบถ้วนทุกแห่ง ช่วยให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างรอบคอบ
  • เมื่อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำหรือความใด เป็นการแน่นอนแล้ว แก้เพียงคำเดียวที่เดียว แล้วสั่งให้เครื่องตามไปแก้เองในทุกแห่ง เท่าที่มีคำหรือความนั้นในพระไตรปิฎก ก็จะแก้ให้ลงเป็นอย่างเดียวกันทั่วทั้งหมด โดยไม่มีการตกหล่นเลยอย่างแน่นอนเด็ดขาด และภายในเวลานับเป็นวินาที ซึ่งถ้าทำด้วยตาและมือ แม้จะใช้เวลานานมากก็แทบเป็นการเหลือวิสัยที่จะเป็นไปได้
  • การแก้ไข เปลี่ยนแปลง แทรกเพิ่ม ตัดทอน จัดวรรคตอน ขึ้นหัวข้อ ย่อหน้า เป็นต้น ทำได้ง่ายสะดวกดาย ไม่มีปัญหาที่เนื่องจากความตายตัวของหน้ากระดาษที่ใช้เขียน

ฯลฯ

โดยสรุป งานตรวจชำระพระไตรปิฎก จะประหยัดทั้งเวลา ทั้งทุน และทั้งแรงงาน ให้สิ้นเปลืองน้อยลงกว่าการทำด้วยตาและมืออย่างประมาณมิได้

ฉ. งานศึกษาค้นคว้า วิจัย และนิพนธ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ

ในยุคปัจจุบัน ชาวตะวันตกได้หันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนากันมากขึ้น มีทั้งการศึกษาวิจัยและนิพนธ์เกี่ยวกับหลักธรรมต่างๆ โดยตรง การบำเพ็ญสมาธิหรือเจริญจิตภาวนา และการนำแนวความคิดทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ในวิชาการอื่นๆ ตลอดจนการศึกษาภาษาบาลีในฐานะที่เป็นกุญแจไขสู่พระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ ที่เป็นแหล่งต้นเดิมแห่งความรู้ในพระพุทธศาสนา มีทั้งการศึกษาวิจัยอย่างอิสระ การศึกษาวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ และงานของสถาบันหรือองค์กรทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือทางภาษาในบางประเทศ พระไตรปิฎกบาลีที่ชาวตะวันตกใช้เป็นหลักในการศึกษานั้น จัดพิมพ์ด้วยอักษรโรมัน (Romanized Pali) แหล่งใหญ่ที่จัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีอักษรโรมันนี้ ได้แก่ สมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) ในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ตีพิมพ์พระไตรปิฎกเกือบครบทั้งหมดมานานแล้ว พจนานุกรมภาษาบาลี และหนังสือค้นพระไตรปิฎกที่ใช้กันเป็นหลักอยู่ในปัจจุบัน แม้แต่โดยนักปราชญ์ในประเทศไทย ก็เป็นงานที่จัดทำและจัดพิมพ์โดยสมาคมบาลีปกรณ์นี้ ปัจจุบันนี้ได้มีบางบุคคลและบางสถาบัน คิดถึงการที่จะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกด้วยคอมพิวเตอร์กันบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระยะดำริหรือ ตระเตรียมการ ยังไม่มีประเทศอื่นใดทำงานก้าวนี้ได้สำเร็จ

พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์นี้ สามารถแปลงบาลีอักษรไทย เป็นบาลีอักษรโรมันได้ทุกแห่งทุกตอนตามปรารถนา ในเวลาอันรวดเร็ว เพียงด้วยการกดปุ่มอันเดียวเท่านั้น จึงนับว่าเป็นพระไตรปิฎกนานาชาติในคอมพิวเตอร์ฉบับแรก โครงการนี้จึงเกื้อกูลแก่การศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาบาลีในระดับสากล ซึ่งวงการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งในประเทศตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น ศรีลังกา พม่า อินเดีย และในประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน จะได้รับประโยชน์โดยทั่วไป การที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ขึ้นได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกนี้ เท่ากับเป็นการประกาศและรักษาเกียรติคุณของประเทศไทยเอาไว้ได้ส่วนหนึ่ง สมกับฐานะที่ได้รับการเพ่งมองว่าเป็นดินแดนที่มีพระพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดและเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา แต่ข้อสำคัญก็คือ ได้เป็นผู้อำนวยประโยชน์แก่วงการศึกษาพระพุทธศาสนา และความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ อย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๑

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง