พุทธศาสน์กับการแนะแนว

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พุทธศาสน์กับการแนะแนว

ท่านอาจารย์แห่งภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว พร้อมทั้งนักศึกษาทุกท่าน

วันนี้ อาตมาได้รับนิมนต์มาบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง “พุทธศาสน์กับการแนะแนว” ในแง่ของพุทธศาสนา ถ้าพิจารณากันดู ก็เห็นว่า ไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องมาพูดกันมากมาย เพราะพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการแนะแนวอยู่แล้ว

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า เรื่องการแนะแนวนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณนานนักหนาแล้ว เพราะว่ามนุษย์ทุกยุคทุกสมัยก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น จะเกิดมาในถิ่นฐานใดดินแดนใด ในยุคใดสมัยใด ชีวิตก็ล้วนแต่มีปัญหา คนที่มีปัญญาก็แสวงหาหนทางที่จะช่วยเหลือกัน ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายที่หาทางช่วยเหลือกันนั้น ต่อมาก็เกิดมีกลุ่มชนที่เราเรียกว่าเป็นนักบวชบ้าง ครูอาจารย์บ้าง ตลอดจนกระทั่งมีพ่อมดหมอผี หรือแม้แต่หมอดูผู้ทำนายโชคชะตาต่างๆ บุคคลเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนวไม่มากก็น้อย

โดยเฉพาะในวงการการศึกษาสมัยใหม่นี้ ได้มีประสบการณ์ในการแนะแนว สั่งสมสืบทอดกันมาเป็นอันมาก เพราะการดำเนินกิจกรรมในด้านการศึกษาแบบสมัยใหม่ที่เป็นของตะวันตกนี้ ได้รับความนิยมแพร่หลายออกไป อย่างที่เรียกได้ว่าทั่วโลก จึงได้มีบุคคลผู้มีสติปัญญาช่วยกันคิดค้นปรับปรุง พัฒนาการแนะแนวนี้ให้ได้ผลดี ทำให้การแนะแนวในวงการการศึกษาและวิทยาการสมัยใหม่เป็นระบบที่มีระเบียบ มีเนื้อหามีเทคนิคอะไรต่างๆ ในการปฏิบัติเป็นอันมาก ต้องยอมรับว่า การแนะแนวของการศึกษาสมัยใหม่นี้ ได้ผลดีไม่ใช่น้อยทีเดียว เพราะได้ผ่านการปฏิบัติ การทดสอบ การทดลอง การค้นคว้าปรับปรุงมาเป็นเวลานาน

เมื่อพูดในแง่ของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็เป็นศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนว อย่างน้อยมองในแง่พื้นฐานที่ว่า เป็นศาสนาที่ต้องการช่วยเหลือคน เริ่มตั้งแต่ทางด้านจิตใจ ก็ต้องให้คำแนะนำ ชี้แนะ ให้คำสั่งสอน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการแนะแนว แต่ในสมัยปัจจุบัน กิจกรรมด้านนี้ผู้ที่เรานับว่าเชี่ยวชาญพิเศษก็คือวงการการศึกษาสมัยใหม่

อาจพูดได้ว่า หลักการหลายอย่างในด้านการแนะแนว จะเป็นของในพระพุทธศาสนาก็ดี ในวงการการศึกษาสมัยใหม่ก็ดี ก็คล้ายๆ กัน แต่ในแง่ของรายละเอียด ในยุคปัจจุบันนี้ วงการการศึกษาสมัยใหม่ได้มีการพัฒนาไปมาก ส่วนในวงการศาสนานั้น เรามีหลักการดั้งเดิมเป็นแนวความคิดใหญ่ๆ ส่วนรายละเอียดในทางปฏิบัติ เช่น เทคนิคต่างๆ ที่ประยุกต์ให้เหมาะกับกาลสมัยอาจจะหาได้น้อย เพราะกิจการพระพุทธศาสนาในด้านการศึกษาในระยะที่ผ่านมา ค่อนข้างชะงักงัน แต่ถ้ามาศึกษากันดู เราก็อาจจะได้ความคิดอะไรที่ช่วยขยายสติปัญญา ในการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการแนะแนวให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไป

การแนะแนวคือการช่วยให้เขาพึ่งตนเองได้

ในแง่ของพุทธศาสนานั้น เรามีหลักการที่ทุกคนคงจะได้ยินได้ฟังมาแล้วจากพุทธภาษิตที่ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ แปลว่าตนแลเป็นที่พึ่งของตน ในสังคมไทยได้ยินกันทั้งนั้น พุทธภาษิตข้อนี้แสดงว่า พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งการพึ่งตนเอง

เมื่อพึ่งตนเองแล้ว เวลามีปัญหา คนอื่นจะมาช่วยอะไรอีกล่ะ ในเมื่อตนต้องเป็นที่พึ่งของตน แต่ทีนี้มีปัญหาว่าบางทีคนพึ่งตนเองไม่ได้ ตามหลักการก็ควรจะเป็นอย่างที่ท่านว่าคือ ตนต้องเป็นที่พึ่งของตน แต่ในเมื่อมีคนที่พึ่งตนเองไม่ได้เราจะทำอย่างไร ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราจะต้องยอมรับหลักการเบื้องต้นเสียก่อนว่า ชีวิตที่ดีนั้นต้องเป็นชีวิตที่พึ่งตนเองได้ ถ้าเป็นชีวิตที่พึ่งตนเองไม่ได้ ก็จะมีปัญหา

อย่างเราเดินทางร่วมกันหลายๆ คน ถ้าเกิดมีใครคนหนึ่งเดินไม่ได้เพราะหมดแรงก็ดี เพราะเกิดบาดเจ็บ หรือเพราะสาเหตุอะไรอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ก็จะเป็นภาระขึ้นมาทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ตนเองเดือดร้อนก่อน ต่อมาถ้าคนอื่นมีมนุษยธรรม มีความห่วงใย มีความรักใคร่ ก็ต้องหาทางช่วยเหลือกัน เมื่อช่วยเหลือก็ต้องทำให้คนอื่นพลอยลำบากลำบนไปด้วย ทำให้การเดินทางขลุกขลักไปหมด เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าทุกคนพึ่งตนได้ ต่างคนต่างเดินทางได้ดี มีกำลังแข็งแรง การเดินทางนั้นก็เป็นไปด้วยดีโดยสะดวก

ตัวอย่างที่จะเห็นได้ง่ายๆ ก็คือ ทุกคนควรจะหาเลี้ยงชีวิตด้วยตนเอง จะต้องแสวงหาอาหารหาปัจจัยสี่มา แต่ถ้าบุคคลบางคนในหมู่ ในคณะหรือในชุมชนนั้นไม่มีความสามารถที่จะหาเลี้ยงชีวิตได้ ก็จะเกิดเป็นภาระแก่หมู่คณะนั้น

แต่คนที่ว่าเลี้ยงชีวิตตนเองได้ พึ่งตนเองได้นั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปแสวงหาปัจจัยสี่ หรือทำอาหารนั้นด้วยตนเอง การที่เขาทำหน้าที่ของตนเองอย่างใดอย่างหนึ่ง ทดแทน ชดเชย หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความสะดวก แล้วคนอื่นนั้นไปแสวงหาปัจจัยสี่มาเลี้ยงดูเขา ก็ชื่อว่าเขาพึ่งตนเองเหมือนกัน แต่ถ้าให้คนอื่นมาเลี้ยงดูเขาอย่างเดียวก็แสดงว่าพึ่งตนเองไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นอันว่าเขาจะเป็นภาระแก่สังคม และเกิดความทุกข์เกิดปัญหาแก่ตัวเอง

อย่างไรก็ตาม แม้แต่คนที่หากินเองไม่ได้ คนอื่นต้องเลี้ยงนั้น เขาก็ยังต้องพึ่งตนเอง เมื่อถึงเวลารับประทาน เขาก็ยังต้องตักอาหารรับประทานใส่ปากตัวเอง แต่ต่อมาถ้าหากเขาเกิดพิการ แม้แต่ตักอาหารใส่ปากตัวเองก็ไม่ได้ การพึ่งตัวเองก็ลดลงไปอีก คนอื่นก็ต้องมาช่วย โดยตักอาหารใส่ปากเขาคือป้อน เช่น ป้อนข้าวให้เขา การพึ่งตนเองก็ลดลงไปอีก แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังพึ่งตนเอง คือเคี้ยวเอง

ต่อมาถ้าเขาพึ่งตัวเองด้วยการเคี้ยวไม่ได้อีก ก็ต้องใส่อาหารทางสายยาง ใส่อาหารลงไปในกระเพาะให้เขาอีก ถึงขั้นนี้แล้ว เขาก็ยังต้องพึ่งตัวเอง คือเขาต้องย่อยเอง ถ้าหากว่าเขาไม่ย่อย ก็ต้องฉีดโปรตีนและกลูโคส เป็นต้น เข้าทางเส้นเลือด แต่เขาก็ยังต้องพึ่งตนเองอีก คือหัวใจต้องสูบฉีดโลหิตให้พาอาหารไปบำรุงอวัยวะต่างๆ ถ้าหัวใจไม่ทำงานอีก ตอนนี้เขาพึ่งตนเองไม่ได้เลย ก็แตกดับ คือ ตาย

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหนก็แล้วแต่ คนต้องพึ่งตัวเอง ในระดับใดระดับหนึ่ง ชีวิตจึงดำรงอยู่ได้ ทีนี้ถ้าชีวิตพึ่งตัวเองได้มากเต็มที่ของมัน ชีวิตนั้นก็เป็นชีวิตที่ดีงาม เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ นอกจากพึ่งตนเองได้แล้วก็ยังขยายออกไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย

ในทางพระพุทธศาสนานั้น ถือหลักการพึ่งตนเองนี้เป็นสำคัญ คุณค่าของพระพุทธศาสนา ก็อยู่ที่การช่วยให้มนุษย์พึ่งตัวเองได้ อย่างพระรัตนตรัยนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่าเป็นหลักของการพึ่งตนเอง

ท่านอาจจะแย้งว่า เอ๊ะ เวลาเราสมาทานศีล ตอนเริ่มต้น เขาเรียกว่าไตรสรณคมน์ คือ ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ต่อไปก็มี ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ และ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ คำว่าสรณะ เราแปลกันว่าเป็นที่พึ่ง เอ ก็ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ก็เป็นที่พึ่งซิ จะพึ่งตัวเองอย่างไร อันนี้ก็อยู่ที่ความเข้าใจให้ถูกต้อง

ความจริง ที่ว่าเป็นที่พึ่งนั้น ก็หมายความว่า ท่านมาช่วยแนะแนวนั้นเอง คือช่วยแนะนำบอกกล่าวให้เรารู้จักพึ่งตนเอง เวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษ คำว่าสรณะนี้ยังแย้งกันอยู่ บางพวกก็แปลว่า refuge แปลว่า ที่พึ่ง อีกพวกหนึ่งแปลว่า guide แปลว่า ผู้นำทาง หรือผู้ทำการแนะแนวนั้นเอง คือผู้ชี้แนะแนวทาง หมายถึง แนวทางชีวิตหรือดำเนินชีวิต

พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นั้น เป็นผู้แนะแนวที่สำคัญ หลักการของพระพุทธศาสนาสนับสนุนทัศนะที่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นการแนะแนว เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบทาง ท่านบอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เมื่อพบแล้วก็นำเอามาเปิดเผย มาชี้แนะแนว บอกทางให้แก่ผู้อื่น ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า อกฺขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก คือชี้ทางให้ ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ ส่วนตัวการกระทำนั้น เป็นเรื่องที่ท่านต้องเพียรพยายามเอาเอง พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง เป็นผู้ค้นพบธรรมแล้วเอามาเปิดเผยให้แก่เรา

เมื่อท่านชี้แนวทางให้แล้ว การที่จะปฏิบัติให้สำเร็จผล ก็ต้องทำด้วยตนเอง คือนำเอาธรรมนั้นมาปฏิบัติ ธรรมนั้นเป็นเรื่องของการที่ต้องเข้าใจด้วยปัญญา เมื่อรู้เข้าใจแล้วก็ปฏิบัติไปตามนั้น ธรรมเป็นตัวชี้แนวทาง เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ก็มีธรรมไว้เป็นหลัก แต่ถ้าไม่มีใครช่วยอธิบายชี้แจง ไม่มีผู้ที่จะมาถ่ายทอด ธรรมก็จะเงียบหายไป ไม่มาถึงเรา จึงต้องมีพระสงฆ์ทำหน้าที่ถ่ายทอดชี้แนะแนวทางต่อมา

ตกลงว่า พระรัตนตรัยนั้นมีหน้าที่หลักคือ การชี้แนะแนวทาง จึงเป็นเรื่องที่เข้ากับวิชาการแนะแนว ซึ่งโดยหลักการก็คือ ช่วยให้คนพึ่งตนเองได้ ดังนั้น หลักการที่สำคัญ ก็คือ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนต้องเป็นที่พึ่งของตน

โดยทั่วไป คนทั้งหลายยังช่วยตัวเองไม่ได้เต็มที่ หรือมีระดับแห่งการพึ่งตนเองที่ยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องการผู้มาช่วยแนะแนวเพื่อให้ช่วยตัวเองได้ในระดับสูงยิ่งขึ้นไป แต่ในระดับพื้นฐานทีเดียว คนจำนวนมากก็ยังพึ่งตนเองไม่ได้ เมื่อพึ่งตนเองไม่ได้ก็ต้องมีผู้ช่วยให้พึ่งตนเองได้ โดยใช้ภาษา และกิจกรรมเป็นต้นเข้ามาช่วย การช่วยคนให้พึ่งตัวเองได้ ก็คือ หน้าที่ของการแนะแนว การแนะแนวก็เข้ามาที่ตรงนี้เอง

เมื่อพูดถึงการที่จะพึ่งตนเองนั้น ก็ย่อมรวมไปถึงอะไรอื่นอีกหลายอย่าง ซึ่งอาจจะเรียกว่าองค์ประกอบ หรือคุณสมบัติที่จะทำให้พึ่งตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่น การรู้จักตัวเองตามที่เป็นจริง

รู้จักตัวเองก็ยังไม่พอ ต้องรู้จักสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัวตามเป็นจริง สิ่งที่อยู่รอบตัวนี้ก็มีทั้งสังคม และธรรมชาติแวดล้อม ตลอดจนสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์สร้างสรรค์ ประดิษฐ์ขึ้นเป็นเทคโนโลยี เป็นต้น

นอกจากรู้จักเข้าใจตามที่เป็นจริงแล้ว ก็ต้องรู้จักคิดเองได้ ถ้าคิดด้วยตนเองไม่ได้ก็ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ คิดด้วยตัวเองนี้กินความรวมไปถึงการที่รู้จักเลือกรู้จักตัดสินใจด้วยตัวเอง คิดเองเป็นแล้วก็ตัดสินใจด้วยตนเองเป็น

เมื่อตัดสินใจเองได้ดีก็เป็นหลักสำคัญ ที่จะนำทางชีวิตของตนเองไปได้ ส่วนสำคัญของการคิดตัดสินใจ และการดำเนินชีวิตของตนเองได้นั้น แสดงออกที่การรู้จักแก้ปัญหาชีวิตของตัวเอง จึงต้องรู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเองเป็น

ในการที่จะแก้ปัญหานั้น ปัญหามีหลายขั้นหลายระดับ ยากมาก ยากน้อย เราจะต้องพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถในการแก้ปัญหามากขึ้น จึงกินความรวมถึงการที่ต้องรู้จักปรับปรุงตัวเอง พัฒนาตัวเองได้ วันนี้จึงจะต้องพูดถึงเรื่องต่างๆ ที่เป็นคุณสมบัติเกี่ยวกับการพึ่งตัวเอง ซึ่งมีมากมายหลายอย่าง

ธรรมชาติของมนุษย์ และกระบวนการของการศึกษา

ทีนี้ จะให้มองเห็นเรื่องนี้ชัดเจนก็ควรพูดถึงสาระในทางความเข้าใจขั้นพื้นฐานลงไปอีก ซึ่งตั้งต้นที่ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ การที่จะมองเห็นการแนะแนวนี้ว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร จำเป็นอย่างไร มีแนวทางปฏิบัติอย่างไรนี้ ต้องเกิดจากความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ก่อนเป็นเบื้องต้น เป็นพื้นฐาน

ความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์นี้ รวมไปถึงความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการศึกษาด้วย เพราะกระบวนการของการศึกษาที่แท้จริงนั้น เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าเป็นกระบวนการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ก็จะเกิดความติดขัดแล้วไม่ได้ผลจริง เพราะฉะนั้น จึงต้องย้อนกลับไปหาความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์

ทีนี้ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ก็ไปเกี่ยวกับธรรมชาติทั่วไปของโลกและชีวิตทั้งหมด ดังนั้น เมื่อพูดในแง่ของพุทธศาสน์ จึงต้องดูว่าพุทธศาสนามองเรื่องความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิตอย่างไร

พระพุทธศาสนามองความจริงว่า คือความเป็นไปตามธรรมดาของธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นไปตามธรรมดาของมันนั้นเป็นอย่างไร ก็คือความเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ความเป็นไปอย่างมีกฎเกณฑ์ เป็นไปโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล อันนี้เรียกว่า เป็นธรรมดาของธรรมชาติ หรือกฎแห่งธรรมชาติ

พระพุทธเจ้าตรัสแสดงถึงหลักการของพระพุทธศาสนา ที่มองสัจธรรมด้วยท่าทีที่ว่า ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นความจริง เป็นกฎธรรมดาอยู่ว่าดังนี้ๆ เช่นตรัสถึงเรื่องไตรลักษณ์ว่า ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นธรรมดาว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดจากเหตุปัจจัยล้วนไม่เที่ยงไม่คงที่ เรียกว่าเป็น อนิจจัง สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากเหตุปัจจัยถูกปัจจัยปรุงแต่งนั้น ล้วนคงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เรียกว่าเป็น ทุกข์ และสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ไม่เป็นตัวของมันเอง ตั้งอยู่โดยอาการที่สัมพันธ์กับสิ่งอื่น มีความเป็นไปของมันโดยสัมพันธ์กับสิ่งเหล่าอื่น เป็นไปตามเหตุปัจจัย เรียกว่าเป็น อนัตตา ไม่เป็นตัวตนของมันเอง อันนี้เป็นความจริงที่เป็นธรรมดา ไม่เกี่ยวกับว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่

หรืออย่างกฎอีกกฎหนึ่งที่เรารู้จักกันดี คือ กฎปฏิจฺจสมุปบาท ก็ตรัสแบบเดียวกันว่า พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นกฎธรรมดาว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นจึงเกิด เมื่อสิ่งนั้นดับ สิ่งนี้จึงดับ อะไรทำนองนี้ ยกตัวอย่าง เช่น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงเกิดวิญญาณ ดังนี้เป็นต้น นี่เรียกว่าการมองความจริง หรือมองสัจธรรมตามแนวทางของพระพุทธศาสนา

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนให้มนุษย์เรารู้จักความเป็นจริง ซึ่งเป็นธรรมดาของธรรมชาติด้วยปัญญาของตน สถานะของพระศาสดาเป็นเพียงผู้ค้นพบสัจธรรมแล้ว ด้วยสติปัญญาความสามารถ ก็เอาความจริงมาเปิดเผย เอามาอธิบายชี้แจงให้เกิดความเข้าใจง่าย แต่พระศาสดาจะช่วยเราได้อย่างไร ช่วยไม่ได้ในแง่ของการที่จะดลบันดาล แต่ช่วยได้ในแง่ที่มาชี้แนะแนวทางให้เราเกิดปัญญาด้วยตนเอง

สิ่งที่เราต้องทำคืออะไร ก็คือต้องรู้ต้องเข้าใจความจริงที่เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น เมื่อรู้แล้วก็เอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ โดยทำเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์นั้น เมื่อต้องการสิ่งใด ก็เรียนรู้เหตุปัจจัยแล้วทำเหตุปัจจัยนั้นขึ้น กระบวนการของกฎธรรมชาติก็ดำเนินไปให้เกิดผลตามที่เราต้องการ แต่ถ้าเราไม่รู้กฎเกณฑ์ตามความเป็นจริงของธรรมชาติแล้ว ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้น มันก็ไม่เกิดผลที่เราต้องการ ก็แก้ปัญหาไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญก็คือ ต้องรู้ความจริงแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุปัจจัย หรือความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล ตามกฎธรรมชาตินั้น อันนี้เป็นหลักการทั่วไป

ทีนี้ย้อนมาถึงชีวิตมนุษย์ มนุษย์เรานี้เกิดมาเบื้องต้นทีเดียวก็มาพร้อมด้วยความไม่รู้ คือเมื่อแรกเกิดมานั้นเรามีความไม่รู้ ความไร้เดียงสา ความไม่เข้าใจต่อสิ่งทั้งหลาย ไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักชีวิต ความไม่รู้ ไม่เข้าใจนี้ เรียกว่า อวิชชา เมื่อไม่รู้เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เกิดความติดขัด เกิดความบีบคั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามที่ต้องการ หรือไม่เกิดผลตามที่ต้องการ เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้อง คือไม่เป็นไปตามความจริงแล้วเกิดความติดขัดบีบคั้นขึ้น เราเรียกว่าเกิดปัญหา ซึ่งทางพระท่านเรียกว่า ความทุกข์ รวมความว่าเพราะชีวิตเกิดมาพร้อมด้วยอวิชชา เมื่อปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง เพราะมีอวิชชาก็เกิดความติดขัดบีบคั้นเป็นปัญหา เกิดความทุกข์ขึ้นมา

เมื่อเรามีปัญหา เกิดการติดขัด แต่ชีวิตของเราก็จะต้องดำเนินต่อไป เราจะทำอย่างไร เมื่อมนุษย์ยังไม่รู้วิธีแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง หรือวิธีดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งต้องมีความรู้ แต่จะดำเนินชีวิตไปให้ได้ เพราะต้องการจะอยู่รอด เมื่อไม่สามารถทำด้วยความรู้จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ทะยานดิ้นรนไป

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์อยู่ก็คือความอยาก และความอยากที่เป็นพื้นฐานก็คือความอยากให้ชีวิตรอด ความอยากให้ชีวิตรอดนี้โยงกันอยู่กับความอยากสนองความต้องการของประสาทสัมผัส ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า ความเสพ เมื่อมนุษย์ไม่รู้ไม่เข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและสภาพแวดล้อม และไม่รู้วิธีที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องต่อชีวิตและสภาพแวดล้อมนั้น มนุษย์ก็ทะยานดิ้นรนไปตามความอยากเหล่านี้ คือทะยานดิ้นรนไปแล้วแต่ความอยากจะพาไป เพื่อให้ได้เสพสนองความต้องการและให้ชีวิตอยู่รอด

เมื่อไม่มีความรู้ และเอาความอยากเป็นตัวนำดิ้นรนไป ทะยานไปตามอยาก แล้วแต่ความอยากจะพาให้ดิ้นรนพล่านไป ก็ไม่เกิดผลดีตามที่ต้องการ เพราะว่าเมื่อดิ้นรนทำไปแล้ว ถ้าไม่ถูกต้องตามกฎความจริงของธรรมชาติ ก็ไม่ได้รับผลสำเร็จ แต่ถ้าบังเอิญถูกต้องตรงเข้า ก็ได้ผล

แต่ในกรณีส่วนใหญ่ จะไม่เกิดผลตามที่ต้องการ เพราะปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของความเป็นจริงนั้น ก็จึงแก้ปัญหาไม่สำเร็จ แต่กลับทำให้เกิดปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามาอีก

เพราะฉะนั้น เมื่อดิ้นรนทะยานไปด้วยความอยาก เอาความอยากเป็นตัวนำชีวิต ปัญหาก็เกิดขึ้นมาซับซ้อนมากขึ้น ชีวิตก็มีความทุกข์มากขึ้น

ความอยากที่เป็นตัวนำนี้ท่านเรียกว่าตัณหา อยากแล้วก็ยึดมั่นว่าสิ่งทั้งหลายจะต้องเป็นอย่างที่อยาก สิ่งนี้จะต้องเป็นอย่างนี้ สิ่งนั้นจะต้องเป็นอย่างนั้น ตามที่ตัวอยาก จะต้องทำให้ได้ให้เป็นอย่างที่ตัวอยาก ความยึดถือสำคัญมั่นหมายนั้นเรียกว่า อุปาทาน

เมื่อเอาตัณหาคือตัวอยาก และอุปาทานคือการยึดมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มาเป็นตัวนำ ปัญหาก็ยิ่งหนักมากยิ่งขึ้น เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ใช่เป็นไปตามที่ใจตัวอยาก เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ใช้วิธีของความรู้ ยิ่งจะให้เป็นอย่างที่ตัวอยาก ก็ยิ่งติดขัด ไม่เป็นไปอย่างที่อยาก

โดยนัยนี้ จากอวิชชาคือความไม่รู้ ก็นำไปสู่การทะยานดิ้นรนพล่านไปตามความอยาก คือ ตัณหา พร้อมทั้งอุปาทาน ที่ยึดถือมั่นหมายว่าจะต้องเป็นไปอย่างที่ตัวอยาก แล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่กลับยิ่งติดขัดคับข้องถูกบีบคั้นเป็นปัญหามากขึ้น คือ ตกอยู่ในทุกข์

ทีนี้จะทำอย่างไร ก็ต้องแก้ปัญหาให้ถูก เพราะถ้าใช้ความอยากเป็นตัวนำแล้วยิ่งทำไปก็ยิ่งทุกข์ยิ่งเพิ่มปัญหา ก็ต้องกลับไปสู่หลักการใหญ่เมื่อกี้นี้ คือจะต้องมีความรู้ และต้องปฏิบัติการด้วยความรู้

เพราะฉะนั้น วิธีที่ถูกต้องก็คือ ต้องสร้างความรู้ขึ้นมา ต้องพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า ปัญญา เมื่อเราสร้างปัญญาขึ้นมา มีความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริง โดยรู้เข้าใจ

๑. ชีวิตของตัวเราเอง

๒. สิ่งทั้งหลายที่อยู่แวดล้อม ทั้งสังคมและธรรมชาติภายนอก

แล้วเราก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง ก็แก้ปัญหาได้ เรียกว่า แก้ปัญหาเป็น หรือดับทุกข์เป็น เพราะฉะนั้น วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องก็คือ ต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา

ทีนี้ปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัญญาคือความรู้นี้มีหลายระดับ การที่คนจะมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นก็จะต้องมีการพัฒนาตัวเอง ซึ่งรวมไปถึงการที่จะต้องมีความอดทน มีความขยันหมั่นเพียร มีจิตใจสงบมั่นคง รู้จักแสวงหาข้อมูล รู้จักคิด มีระเบียบในการคิด ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ต้องพัฒนาให้เป็นคุณสมบัติขึ้นมา จึงจะมีปัญญาที่จะมาแก้ปัญหาได้ ก็เลยเกิดกิจกรรมใหม่ที่จำเป็นขึ้นมา คือ การพัฒนาตนเองของมนุษย์ ซึ่งเราเรียกว่า การศึกษา การศึกษาก็คือการพัฒนาตัวเอง ในกระบวนการที่จะให้เกิดปัญญา

ทีนี้ มีปัญหาขึ้นมาว่า มนุษย์นั้นจะมีปัญญาสามารถรู้เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้จริงหรือไม่ ทางพระพุทธศาสนาก็ตอบว่า ได้ มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พัฒนาได้ จนกระทั่งเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งสมบูรณ์ ซึ่งท่านเรียกว่าเป็นพระพุทธเจ้า เป็นปัญญาที่เรียกว่าโพธิญาณ ซึ่งทำให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกตรงตามความจริงแท้ แก้ปัญหาได้หมดสิ้น ปลอดพ้นจากความทุกข์

คำตอบนี้บอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ ซึ่งเรียกว่า มีศักยภาพ เมื่อมนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ เราก็สามารถวางหลักการในทางการศึกษา เพื่อให้คนพัฒนาตนเองได้ เราสามารถตั้งระบบ จัดเป็นกระบวนการศึกษาหรือพัฒนาคนขึ้นมา

เมื่อมนุษย์ได้พัฒนาตนแล้ว มีปัญญาแล้ว รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริง รู้กฎเกณฑ์ความเป็นไปของธรรมชาติดีแล้ว ก็ดำเนินชีวิตถูกต้อง ก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง เมื่อดำเนินชีวิตถูกต้อง และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง ก็แก้ปัญหาได้ ดับทุกข์ได้ ก็ถึงภาวะไร้ปัญหา ไร้ทุกข์

นี่คือหลักการทั่วไป เป็นเรื่องของความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ที่สัมพันธ์กับกระบวนการการศึกษาตามทัศนะของพระพุทธศาสนา ซึ่งพูดแบบง่ายๆ และรวบรัด

แนะแนวได้เพราะมนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้จนสูงสุด

จากที่พูดมานี้ก็สรุปได้ว่า การที่จะมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยดีนั้น ก็คือรู้จักแก้ปัญหาได้ ดับทุกข์ได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าสามารถทำไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ให้เกิดทุกข์ ซึ่งการที่จะทำอย่างนี้ได้ก็โยงไปหาสิ่งที่จำเป็นอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น เราอาจพูดเป็นลำดับว่า เราจะแก้ปัญหาได้ก็ต้องปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย ที่ว่าปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายก็คือ ปฏิบัติถูกต้องต่อชีวิตของตน ต่อสังคม ต่อธรรมชาติที่แวดล้อมตัว ทีนี้จะปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น ก็ต้องรู้สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นถูกต้องตามเป็นจริง ต้องรู้เข้าใจตามที่มันเป็นตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

ทีนี้ จะรู้เข้าใจตามเป็นจริง คือมีปัญญา ก็ต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง ปรับปรุงตนเอง ปรับตัวให้ดีขึ้น การที่จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นไป ก็ต้องมีจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาตน หรือจิตสำนึกในการศึกษา จึงจะทำให้มีความเอาจริงเอาจัง หรือมีความคิดริเริ่มในการที่จะพัฒนาตัวเอง

ที่เป็นพื้นฐานลงไปอีก การที่คนจะเกิดจิตสำนึกที่จะพัฒนาตนเองได้ เขาจะต้องมีความมั่นใจในศักยภาพของตน ต้องเชื่อว่าตนเองนั้นเป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ และเป็นสัตว์ที่จะต้องพัฒนาจึงจะดีได้ อันนี้เป็นหลักสำคัญเป็นพื้นฐานทีเดียว ต้องมีแต่เบื้องต้น คือความมั่นใจในความเป็นมนุษย์ของตน ที่เป็นสัตว์ซึ่งพัฒนาได้ ฝึกฝนได้ พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า มั่นใจในความเป็นมนุษย์ของตน ซึ่งเป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก

พระพุทธศาสนา ให้ความสำคัญแก่หลักการนี้มาก จะเห็นว่ามีคำพูดประเภทที่บอกว่า มนุษย์นั้นพัฒนาตนเองได้ ฝึกฝนตนเองได้จนกระทั่งเป็นผู้ประเสริฐสุด ท่านบอกว่า เมื่อมนุษย์พัฒนาตนเองแล้วนั้น แม้แต่เทพและพรหมก็น้อมนมัสการ นี่ก็เป็นหลักที่ทำให้เกิดความมั่นใจแก่มนุษย์ สร้างความมั่นใจแก่ตนเอง พระพุทธเจ้าตรัสพุทธภาษิตแบบนี้มากมาย

ธรรมดาแต่ก่อนนั้น มนุษย์เชื่อและเคารพบูชาเทพเจ้า เชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของมนุษย์และบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง เทพเจ้าทั้งหลายก็มีอำนาจพิเศษ ที่มนุษย์ทั้งหลายจะต้องบวงสรวงอ้อนวอน เพื่อให้ช่วยตนให้พ้นจากภัยพิบัติ และให้ได้รับสิ่งที่ต้องการ นี้เป็นสภาพที่มีมาก่อนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น

เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ทันที พระพุทธเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นตัวแทนของมนุษย์ (ที่พัฒนาตนดีแล้ว) ได้ทรงประกาศว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก เราคือผู้เป็นใหญ่ของโลก

คำประกาศนี้เรียกว่า อาสภิวาจา เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าในเวลาประสูติ การประสูติของพระพุทธเจ้า หมายถึง การที่มนุษย์จะพูดได้ว่าเราเป็นเลิศแห่งโลก คำว่า โลก หมายถึงทั้งจักรวาล

คำว่าเราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลกนี้ เป็นการประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ คือเดิมนั้นเชื่อกันว่าพระพรหมเป็นผู้ประเสริฐสุด เพราะว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ พระองค์ก็ประกาศอิสรภาพให้มนุษย์เชื่อใหม่ว่า มนุษย์นั้นมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ และเมื่อพัฒนาสูงสุดแล้วก็ประเสริฐยิ่งกว่าพรหม ยิ่งกว่าเทพทั้งหลาย

ถ้ามนุษย์เชื่อตามคำประกาศของพระพุทธเจ้านี้ มนุษย์ก็จะเปลี่ยนแนวความสนใจจากการไปหวังพึ่ง ไปคอยบวงสรวง ไปอ้อนวอนให้เทพเจ้าบันดาล เปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาตนเอง ทำให้มีการศึกษา คือฝึกฝนปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเมื่อพัฒนาสูงสุดแล้ว แม้แต่เทพ พรหม ก็ยังมานอบน้อมนมัสการ มาบูชา ดังมีคำกล่าวทำนองนี้มากมาย เช่นว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ แปลว่าในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วหรือพัฒนาตนแล้ว คือมีการศึกษานั้นเอง เป็นผู้ประเสริฐที่สุด

นี้เป็นหลักการสำคัญที่แสดงว่าพระพุทธศาสนาเน้นเรื่องการพัฒนาตนเอง โดยให้มั่นใจในศักยภาพของมนุษย์

องค์ประกอบในการศึกษาหรือพัฒนาศักยภาพ

ในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น หลักการที่หนึ่งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น คือศรัทธา แต่ศรัทธานี้ไม่ใช่ศรัทธาที่ไปฝากความหวัง ฝากความเชื่อไว้วางใจปลงใจให้กับผู้อื่น

ศรัทธาของพระพุทธศาสนา คือ โพธิศรัทธา เราเรียกเต็มว่า ตถาคตโพธิสัทธา ได้แก่ ศรัทธา หรือความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธะได้

หลักโพธิศรัทธานั้นแสดงว่ามนุษย์นี้มีปัญญาอยู่ มีเชื้อแห่งปัญญาที่พัฒนาได้ ฉะนั้น ในประเพณีของพระพุทธศาสนาจึงมีความเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าได้ ใครก็ตาม เมื่อพร้อมแล้วก็สามารถตั้งความปรารถนา เรียกว่า อธิษฐานจิต คือการตั้งใจแน่วแน่ว่า เราจะเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งจะเป็นได้ด้วยการบำเพ็ญบารมี คือพัฒนาตัวเองขึ้นไปตามลำดับ ให้มีคุณสมบัติข้อนั้นๆ อย่างพร้อมบริบูรณ์ จนทำให้เกิดปัญญาตรัสรู้สัจธรรมทั่วรอบ

ตกลงว่า ในทางพุทธศาสนาให้มนุษย์มีความเชื่อในปัญญา ที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธได้ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง เมื่อเราเห็นพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง เราเชื่อว่านี้คือมนุษย์ตัวอย่าง ซึ่งเป็นผู้ได้พัฒนาตนอย่างสูงสุดแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากขอบเขตความบีบคั้นจำกัดแล้ว มีคุณสมบัติอย่างนี้ๆ มีปัญญาดีอย่างนี้ๆ แล้วเราก็เกิดความมั่นใจในตัวเอง ที่จะพัฒนาตนโดยดำเนินตามแนวทางที่พระองค์ได้ชี้ให้ นี้เป็นหลักเบื้องต้น

ในการศึกษา เราจะต้องสร้างความมั่นใจในศักยภาพนี้ เมื่อมีศักยภาพนี้ มีความสำนึกในการที่จะพัฒนาตนแล้ว ก็ดำเนินกิจกรรมการศึกษาต่อไป

นอกจากมีความมั่นใจในศักยภาพของตนแล้ว เราจะลงมือพัฒนาตนได้ ยังต้องมีอะไรอีก จะลงมือพัฒนาตนได้ก็ต้องมีแรงจูงใจที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเองนั้น แรงจูงใจอะไรที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเอง ก็ได้แก่ความใฝ่รู้ความจริง เพราะท่านบอกไว้แล้วว่าความจริงมันเป็นไปตามธรรมดาของมัน เราจะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง จะดำเนินชีวิตถูกต้องได้ก็ต้องรู้ความจริง เราจึงต้องใฝ่รู้ความจริงนั้น

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีแรงจูงใจนี้ คือใฝ่ความจริง ซึ่งเมื่อพูดในเชิงการกระทำก็ได้แก่ความใฝ่รู้ เมื่อใฝ่รู้แล้ว พร้อมกันนั้น ก็มีความใฝ่ปรารถนาที่เป็นคู่กันด้วย คือต้องการให้ชีวิตของเรานี้พัฒนาไปสู่ความดีงาม ที่จะเป็นผู้สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นผู้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้องและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง เรียกสั้นๆ ว่า ใฝ่ความดีงาม ใฝ่ความดีงามนั้น พูดในเชิงการกระทำเรียกว่า ใฝ่สร้างสรรค์

ขอให้มองดู ใฝ่ความจริง ความจริงนี้เป็นตัวกรรม ใฝ่ความจริง ออกมาเป็นการกระทำก็คือ ใฝ่รู้ ใฝ่ความดีงาม ออกเป็นการกระทำก็คือ ใฝ่สร้างสรรค์ หรือ ใฝ่ทำ คืออยากทำให้เกิดความดีงามนั่นเอง ดังนั้นจึงต้องมีใฝ่รู้และใฝ่ทำ หรือใฝ่สร้างสรรค์ นี้เป็นแรงจูงใจที่ทางพระเรียกว่า ฉันทะ

พอถึงตอนนี้เรากำลังจะเปลี่ยนแปลงแล้ว เมื่อกี้นี้เรามีแรงจูงใจที่เรียกว่าตัณหาเป็นตัวนำชีวิต ตอนนี้เราจะเปลี่ยนมาเป็นแรงจูงใจที่เรียกว่าฉันทะ คือความใฝ่รู้ และใฝ่สร้างสรรค์ และจะให้ฉันทะนี้เป็นตัวนำชีวิตแทน

ทีนี้ แรงจูงใจที่ว่านี้จะได้ผล ก็ต้องรู้จักคิดรู้จักพิจารณา เรียกว่า คิดเป็น ถ้าไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักพิจารณา คิดไม่เป็นแล้ว ถึงมีแรงจูงใจก็พัฒนาปัญญาไม่ได้ จึงต้องรู้จักคิด หรือคิดเป็นด้วย

ทีนี้การรู้จักคิด หรือคิดเป็นนี้ จะต้องมีจุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่การมีท่าที หรือมีเจตคติที่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายทุกอย่าง ท่าทีที่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายนี้เป็นจุดเริ่มต้น เพราะเป็นจุดที่เราเพิ่งพบกับประสบการณ์ต่างๆ มนุษย์เรานี้เริ่มต้นจะมีความรู้ได้หรือจะทำอะไรได้ก็ด้วยการมีประสบการณ์

ปัญหาและปัญญาของมนุษย์ เริ่มจากประสบการณ์ เมื่อเราพบประสบการณ์หรือสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเราไม่มีความรู้จึงปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เกิดปัญหา แต่ถ้าเราเริ่มด้วยปัญญามีความรู้ ก็ปฏิบัติได้ถูก ไม่เกิดปัญหาหรือแก้ปัญหาได้ จุดเริ่มต้นจึงอยู่ที่การพบกับประสบการณ์ ว่าจะพบกับมันอย่างไร

การพบประสบการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นจุดแยกหรือเป็นต้นทางสองแพร่งด้วย คือจะเป็นการพบกับประสบการณ์ด้วยท่าทีที่ผิดพลาด หรือด้วยท่าทีที่ถูกต้อง ถ้าเริ่มต้นจากการมีท่าทีหรือการมีเจตคติที่มองสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่การปฏิบัติถูกต้องต่อชีวิตของตน แล้วก็นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ

ดังนั้น วนไปเวียนมา ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเรานี้เอง เมื่อต้องการจะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้อง จุดเริ่มต้นก็ต้องมีท่าทีที่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายที่ได้พบเห็น เพื่อให้เป็นท่าทีที่ถูกต้องในการที่จะทำให้เกิดความรู้และพัฒนาปัญญาขึ้นมา

ตอนนี้เราพูดมาจบกระบวนการแล้ว ก็ขอย้อนกลับมาอีกทีหนึ่งว่า จุดเริ่มต้นของการแนะแนวอยู่ที่ว่ามนุษย์ต้องการการแนะแนว เพราะมนุษย์นั้นยังช่วยตัวเองไม่ได้ เราจึงต้องช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้ ทีนี้คนนั้นช่วยตัวเองไม่ได้เพราะอะไร เราต้องหาเหตุแล้วไปแก้ที่เหตุนั้น การที่จะวิเคราะห์หาเหตุก็ดูจากที่พูดมาเมื่อกี้นี้ ซึ่งก็จะมองเห็นว่า ถ้ามนุษย์ขาดคุณสมบัติหรือองค์ประกอบต่างๆ ที่พูดมาเมื่อกี้แล้ว มนุษย์ก็จะตกอยู่ในสภาพของการพึ่งตัวเองไม่ได้

องค์ประกอบต่างๆ ที่ขาดแล้วพึ่งตัวเองไม่ได้ มีอะไรบ้าง เริ่มด้วยขาดความรู้ความเข้าใจ คือขาดปัญญา อันนี้มองเห็นได้ง่าย แล้วขาดอะไรอีก อาจขาดจิตสำนึกในการพัฒนาตน ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกฝนปรับปรุงตนเอง ก็จึงไม่นำไปสู่การเพียรพยายาม หรือเอาใจใส่ในการพัฒนาตนเอง

ต่อจากนั้นขาดอะไรอีก ลึกลงไปกว่านั้น ก็คือขาดความมั่นใจในศักยภาพของตน ไม่เชื่อมั่นในตนเอง ไม่มองตนเองในฐานะเป็นสัตว์ที่ฝึกฝนและพัฒนาตนเองได้ ว่าเรามีความสามารถในการที่จะพัฒนาตนจนถึงขั้นสูงสุด แล้วขาดอะไรอีก

พูดให้ครบสิ่งที่พูดมาแล้ว คือขาดแรงจูงใจที่ถูกต้อง หรือขาดแรงจูงใจที่เอื้อต่อการพัฒนาตนหรือพัฒนาศักยภาพ ขาดความรู้จักคิด คิดไม่เป็น แล้วสุดท้ายมีท่าทีไม่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย คือต่อประสบการณ์ทั้งหลายที่รับเข้ามา

องค์ประกอบอีก ๒ อย่าง ก็สำคัญมาก ถึงจะไม่ใช่เนื้อในของเรื่อง แต่ก็ขาดไม่ได้เหมือนกัน เพราะเป็นตัวเร่ง และเป็นตัวจัดสรรควบคุม

ตัวเร่ง ก็คือ ความกระตือรือร้นขวนขวาย ความเร่งรัดตัวเองให้ลงมือทำ ไม่เฉื่อยชา ไม่ปล่อยปละละเลย คุณสมบัติข้อนี้ เกิดจากการมีจิตสำนึกในความเปลี่ยนแปลง เห็นความไม่คงที่ถาวร หรือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วมองเห็นความสำคัญของกาลเวลา จึงไม่ยอมปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า และเร่งทำการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อให้กระแสของความเปลี่ยนแปลงดำเนินไปในทางที่ดีงามเป็นประโยชน์อย่างทันเวลา องค์ประกอบข้อนี้เรียกว่า ความไม่ประมาท

ตัวจัดสรรและควบคุม ก็คือ ความมีวินัย วินัยนั้นเป็นการจัดระเบียบชีวิตของตน และระเบียบการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ในด้านหนึ่ง มันเป็นการจัดสรรลำดับและจังหวะเป็นต้น ซึ่งทำให้มีช่องมีโอกาสที่จะทำอะไรๆ ได้สะดวกและมากขึ้น และอีกด้านหนึ่ง มันเป็นการรู้จักบังคับควบคุมกายวาจาหรือพฤติกรรมการเคลื่อนไหวทำการต่างๆ ของตนให้สอดคล้องกับลำดับ จังหวะ หรือช่องโอกาสที่จัดสรรไว้

คนที่ไม่มีวินัย คือ คนที่จัดสรรบังคับควบคุมพฤติกรรมของตน หรือการเคลื่อนไหวใช้กายวาจาของตนไม่ได้ นอกจากจะทำให้ชีวิตของตนเองสับสนไม่เป็นระเบียบแล้ว ก็พาให้ชุมชนและสังคมวุ่นวายระส่ำระสายด้วย เพราะต้องเกิดความขัดแย้ง และการล่วงละเมิดต่อกัน กลายเป็นการรุกราน เบียดเบียน ข่มเหง เอาเปรียบ และความไม่เป็นธรรมต่างๆ แล้วก็ทำให้ทุกคนสูญเสียโอกาสในการพัฒนาตนและสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆ

ความมีวินัยจึงมีความจำเป็นมาก เพราะจะช่วยจัดสรรควบคุมให้องค์ประกอบอื่นๆ มีโอกาสทำหน้าที่และออกผลในการพัฒนาบุคคลได้เต็มที่ คนที่รักษาวินัยหรือประพฤติตนตามวินัย เรียกว่าคนมีศีล ความมีวินัย จึงเรียกง่ายๆ ว่าศีลนั่นเอง

สรุปท้ายตอนนี้ว่า เราได้ทราบแล้ว ทั้งวงจรปัญหา และกระบวนการแก้ปัญหา

วงจรปัญหา หรือวังวนแห่งทุกข์ เริ่มด้วยอวิชชา คือเมื่อไม่รู้ และไม่ปฏิบัติการในวิถีทางของความรู้ ก็ทะยานพล่านไปตามความอยาก คือตัณหา ได้แต่ดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดและได้เสพสนองประสาทสัมผัส โดยไม่ได้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้อง ก็ติดตันเกิดความบีบคั้น เป็นปัญหา ตกลงไปในทุกข์ แล้วก็ดิ้นรนทะยานไปในวิถีทางของอวิชชาและตัณหาอย่างเดิม จึงสะสมปัญหาและว่ายวนอยู่ในทุกข์เรื่อยไป

ในทางตรงข้าม กระบวนการแก้ปัญหา มีแกนกลางอยู่ที่ปัญญา เริ่มด้วยบุคคลมีความใฝ่ปัญญาที่เรียกว่า ฉันทะ คือใฝ่รู้ความจริงและปรารถนาจะทำชีวิตให้ดีงาม จึงสืบสาวหาความรู้ในเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายที่สัมพันธ์อิงอาศัยกัน แล้วดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้องตามความจริงนั้น ก็แก้ปัญหาได้ และปลอดพ้นจากทุกข์

ท่าทีต่อประสบการณ์: จุดเริ่มของ ปัญญา หรือ ปัญหา

ประสบการณ์ทั้งหลายที่รับเข้ามานั้น เรามีท่าทีต่อการรับอย่างไร ประสบการณ์เข้ามาทางทวารหรืออายตนะ หรืออินทรีย์ที่ทำการรับรู้ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และพอรับเข้าไปแล้วก็มาอยู่ในใจ ระลึกขึ้นมาเป็นความจำ เป็นประสบการณ์เก่า ตลอดจนประสบการณ์ทางใจในเวลานั้นๆ เช่น ความรู้สึกรัก ความรู้สึกชัง ความรู้สึกเกลียด ความรู้สึกเครียด นี้เป็นประสบการณ์ที่เป็นความรู้สึกทางจิตใจ ซึ่งไม่มีทางตา หู จมูก ลิ้น

ประสบการณ์ต่างๆ นี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องรับอยู่เสมอ ท่านเรียกว่ากระทบ มนุษย์ต้องกระทบกับสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ หรือประสบการณ์เหล่านี้ ในเมื่อมนุษย์กระทบกับประสบการณ์เหล่านี้แล้ว มนุษย์เราจะมีท่าทีในการตอบรับอย่างไร

ประสบการณ์ที่เข้ามา หรือสิ่งที่ถูกรับรู้ หรือที่เรียกว่าอารมณ์นี้ เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และปรากฏในใจ เรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ หรือสิ่งที่ได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ โดยมากจะมีเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ประเภทที่ทำให้รู้สึกสบายใจ ถูกใจ

๒. ประเภทที่ไม่สบายใจ ไม่ถูกใจ

ถ้าอยู่กึ่งกลางระหว่างสองประเภทนี้ ก็เรียกว่าเฉยๆ อยู่ในประเภทเพลินๆ ก็อยู่ในพวกสบายนั้นแหละ แต่โดยปกติแล้วจะมีสบายกับไม่สบาย ถูกใจกับไม่ถูกใจ พอมีประสบการณ์เข้ามา มันจะปรากฏแก่มนุษย์โดยมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ติดมาด้วย

พอรับประสบการณ์เข้ามา พร้อมทั้งคุณสมบัติที่ปรากฏแก่มนุษย์ มนุษย์ก็จะมีท่าทีตอบสนอง ถ้าถูกใจสบายใจ ก็ชอบใจ ถ้าไม่ถูกใจ ไม่สบายใจ ก็เกิดปฏิกิริยา คือไม่ชอบหรือเกลียด ทางพระเรียกว่าถูกใจก็ยินดี ไม่ถูกใจก็ยินร้าย หรือชอบกับชัง นี่เป็นท่าทีของมนุษย์ธรรมดาตั้งแต่เกิดมา ซึ่งเกิดจากเอาความอยากเป็นตัวนำ ปฏิกิริยาชนิดนี้จะหนาแน่นยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างสอดคล้องไปด้วยกันว่า ถ้าถูกกับความอยากก็ชอบใจ ถ้าไม่ถูกกับความอยากก็ชัง เกิดความยินดียินร้าย อันนี้เป็นธรรมดา

จากความยินดี ชอบใจ หรือจากความยินร้าย ไม่ชอบใจ ก็คิดไปต่างๆ ตามอิทธิพลของความชอบชัง หรือยินดียินร้ายนั้น เรียกว่าเป็นความคิดปรุงแต่ง ต่อจากความคิดปรุงแต่ง ก็แสดงออกมาเป็นการพูดการทำต่างๆ ซึ่งไม่เป็นไปด้วยความรู้ เอาแต่ความอยากเข้าว่า เข้ากับกระบวนการเมื่อกี้ คือทำให้เกิดปัญหา เพราะไม่รู้ความจริง แล้วปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎของความจริง เรียกว่าเป็นท่าทีการมองสิ่งทั้งหลายตามแบบของมนุษย์ที่ยังไม่มีการศึกษา

พอมีการศึกษา ท่าทีแบบยินดียินร้ายนี้เปลี่ยนไปเป็นท่าทีของการเรียนรู้ เราเริ่มพัฒนาปัญญาตั้งแต่การเริ่มเปลี่ยนท่าทีต่อประสบการณ์นี้แหละ จะเริ่มเปลี่ยนอย่างไร ตอบว่า พอคนเรามีจิตสำนึกในการศึกษาพัฒนาตน ท่าทีต่อประสบการณ์ก็เปลี่ยนไป สิ่งทั้งหลายที่เข้ามา ไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาชอบชัง แต่กลายเป็นข้อมูลของความรู้ไปทั้งหมด

ตอนแรกนั้น ประสบการณ์เข้ามาในลักษณะของสิ่งที่ถูกใจไม่ถูกใจ แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนเป็นข้อมูลของความรู้ เราจะมองเห็นสิ่งทั้งหลายในแง่ที่เป็นสิ่งซึ่งเราจะได้เรียนรู้ เป็นข้อมูลที่เราจะนำมาใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตน หรือทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ในเวลาที่ได้รับประสบการณ์ เราจะมองว่าจากสิ่งนี้หรือประสบการณ์นี้ เราได้ความรู้หรือได้ประโยชน์อะไรบ้างที่จะนำไปใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตน เราได้ข้อมูลอะไรที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหา ตอนนี้การมองสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนไป นี่คือจุดเริ่มต้นของการศึกษา คือ การที่ท่าทีต่อประสบการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป

มนุษย์ที่จะศึกษานั้น แทนที่จะมองสิ่งทั้งหลายด้วยความชอบใจไม่ชอบใจ หรือยินดียินร้าย ก็เปลี่ยนเป็นมองสิ่งทั้งหลายเป็นการได้เรียนรู้ทั้งหมด เห็นคนหน้าบึ้งมาก็มองในทางเรียนรู้ว่านี่เขาเป็นอย่างไร เขามีทุกข์อะไร หรือเขามีปัญหาอะไร แล้วสืบสาวค้นหาเหตุปัจจัยแห่งพฤติกรรมของเขาต่อไป ไม่มองแบบเอาตัวตนเข้าไปรับกระทบ ว่าเขาชอบใจเราหรือไม่ชอบใจเรา หรือว่าเขาอย่างนั้นอย่างนี้กะเรา ไม่มองอย่างนั้น แต่มองเป็นข้อมูลของการเรียนรู้ แล้วก็คิดในแนวทางของการแก้ปัญหา

การมองตามความเป็นจริง ก็คือมองตามเหตุปัจจัยว่าสภาพที่ประสบพบเห็นนั้นเป็นมาอย่างไร มีเหตุปัจจัยส่งทอดมาอย่างไร และมองถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งทั้งหลาย พอปฏิบัติอย่างนี้ปัญญาก็เดินหน้า

แต่ถ้ามีท่าทีของการชอบชัง ปัญญาจะไม่เกิดเลย ปัญญาหยุดทันที ไม่มีปัญญาตั้งแต่เริ่มต้น แล้วอะไรจะเกิดขึ้นแทน ก็คืออารมณ์ แต่เป็นอารมณ์ในภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาบาลี (อารมณ์ในภาษาบาลีคือสิ่งที่เป็นประสบการณ์ อารมณ์ในภาษาไทยคือ ความรู้สึก โดยเฉพาะพวกกิเลส) กิเลสก็เกิดขึ้น มีความรู้สึกชอบชัง ความโกรธ เกลียด ความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ตามมา ไม่เกิดความรู้ ไม่เกิดปัญญา แต่เกิดปัญหา

แต่ถ้ามองเป็นการเรียนรู้แล้ว เราจะได้ปัญญา ได้ความรู้ ได้ข้อมูลไปหมด นั้นคือการมองตามความเป็นจริง อันนี้คือท่าทีต่อประสบการณ์อันเป็นพื้นฐานเบื้องต้น เป็นจุดนำไปสู่การศึกษาและพัฒนาตนเอง

การแนะแนว : หน้าที่ของปัจจัยภายนอก

ได้พูดถึงตัวประกอบต่างๆ ในกระบวนการพัฒนาตน หรือการศึกษาของมนุษย์ ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์มาแล้วข้างต้น ถ้าขาดองค์ประกอบเหล่านี้ไป กระบวนการศึกษาหรือพัฒนาตน หรือการดำเนินชีวิตถูกต้องก็ไม่เกิดขึ้น

เมื่อปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งเรียกว่าเป็นปัจจัยภายในตัวมนุษย์ไม่ทำงาน เช่น ความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ก็ไม่มี จิตสำนึกในการพัฒนาตนก็ไม่มี ความรู้จักคิด คิดเป็นก็ไม่มี ถ้าปัจจัยภายในเหล่านี้ไม่ทำงาน ก็ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมาช่วยกระตุ้น

พอถึงตอนนี้ ก็มาถึงจุดเริ่มของการแนะแนว คือ เมื่อปัจจัยภายในไม่ทำงาน จึงต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมาช่วยกระตุ้น ตรงนี้คือตำแหน่งหน้าที่ของการแนะแนว และบุคคลผู้ทำหน้าที่แนะแนว คือ ให้ปัจจัยภายนอกมาช่วยกระตุ้นปัจจัยภายในเหล่านั้นให้ทำงาน หรือให้เกิดขึ้น

ตัวปัจจัยภายนอกที่มาช่วยกระตุ้นนี้ เรียกตามศัพท์ทางพุทธศาสนาว่า กัลยาณมิตร อันนี้เป็นศัพท์ธรรมดาที่เราก็ใช้กันมากแล้ว แต่ความหมายจะเป็นอย่างไร ก็ต้องมาชี้แจงกันอีกทีหนึ่ง ในความหมายของพุทธศาสนา กัลยาณมิตร ก็คือปัจจัยภายนอก ที่มาช่วยกระตุ้นให้ปัจจัยภายในเกิดขึ้นและทำงาน

ทีนี้ ปัจจัยภายในที่พูดมานั้นก็มีมากมายหลายอย่าง คงประมาณ ๖ อย่าง แต่ตัวที่ท่านเน้นที่สุด เป็นตัวที่โยงไปสู่การแก้ปัญหาโดยตรงก็คือ ตัวที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำในใจโดยแยบคาย คือ การรู้จักคิดหรือคิดเป็น อันนี้เป็นตัวเด่น ซึ่งท่านจัดเป็นคู่กันกับกัลยาณมิตร บอกว่าเป็นปัจจัยสองอย่างในกระบวนการพัฒนาปัญญาของมนุษย์ คือปัจจัยภายนอก หรือองค์ประกอบภายนอก ได้แก่ กัลยาณมิตร คู่กับปัจจัยภายในเมื่อกี้นี้ คือ โยนิโสมนสิการ การรู้จักคิดหรือคิดเป็น

ปัจจัยภายนอก คือกัลยาณมิตรนี้ ควรจะช่วยกระตุ้นโยนิโสมนสิการให้เกิดขึ้น เมื่อคนรู้จักคิด หรือคิดเป็นแล้ว ก็จะเกิดปัญญา และแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ในตอนแรกก็จะเกิดความเข้าใจถูกต้องก่อน เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ก็คือองค์ประกอบข้อแรกในระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ซึ่งแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ที่เราเรียกว่า อริยมรรค ซึ่งมีองค์แปดประการ

เป็นอันว่า เมื่อมีกัลยาณมิตรมากระตุ้นปัจจัยภายในให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะทำให้รู้จักคิดขึ้นแล้ว ก็เกิดความรู้เข้าใจถูกต้อง ทำให้แสดงออกโดยรู้จักปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ปฏิบัติถูกต้องต่อชีวิตของตน จึงแก้ปัญหาได้

เมื่อเราจับกระบวนการอันนี้ได้แล้ว ก็ออกมาสู่ภาคปฏิบัติว่า ในการกระตุ้นให้ปัจจัยภายในทำงานหรือให้เกิดขึ้นนั้น กัลยาณมิตรหรือผู้แนะแนวจะต้องทำอะไรบ้าง หมายถึงสิ่งที่เราจะต้องทำ หรือสิ่งที่ควรจะกำหนดไว้ในใจ เวลาคนหรือเด็กนักเรียน นักศึกษา เกิดปัญหาขึ้นมา ซึ่งเราควรจะมีจุดพิจารณาหรือมีสิ่งที่คำนึงไว้ โดยเฉพาะควรตรวจสอบว่าเขาขาดอะไรไป เพื่อเราจะได้ช่วยแนะแนวนำทางเขา ให้พัฒนาสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้น

ตรวจสอบก่อน เพื่อทำงานให้ตรงเป้า

สิ่งที่เป็นจุดเน้นอย่างสำคัญที่เราควรจะช่วยให้เขาสร้างขึ้น ซึ่งเราควรพิจารณาตรวจตราว่าเขาขาดอะไรหรือไม่ ก็คือสิ่งที่พูดมาแล้วนั้น ซึ่งเป็นจุดพื้นฐาน คือองค์ประกอบในการพัฒนาตน หรือองค์ประกอบในการดำเนินชีวิตที่ดีงามข้างต้นนั้น เราเอาเป็นตัวตรวจสอบ เมื่อขาดอันไหนก็พยายามที่จะให้เขาพัฒนาสร้างอันนั้นขึ้นมา

องค์ประกอบในการพัฒนาตน ที่จะต้องตรวจตรา ที่ว่ามาแล้วข้างต้น จะขอทวนอีกทีหนึ่ง คือ

๑. ท่าทีที่ถูกต้องต่อประสบการณ์ทั้งหลาย ได้แก่การมองสิ่งทั้งหลายเป็นการเรียนรู้ ไม่ใช่มองตามความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจ มองตามที่มันเป็น ไม่ใช่มองตามที่เราอยากให้มันเป็น หรือตามที่คิดให้มันเป็น คนเรานี้จะมีปัญหามากก็ที่จุดเริ่มต้นนี้แหละ เมื่อพบกับประสบการณ์ต่างๆ คนจะมองในแง่ชอบชัง แล้วก็มองให้มันเป็นตามที่เราคิดให้มันเป็น ไม่ใช่มองตามที่มันเป็นของมัน เราจะต้องเปลี่ยนท่าทีนี้ให้ได้ พระพุทธศาสนาเน้นมาก

เมื่อมองตามที่มันเป็น ก็นำไปสู่ ยถาภูตญาณ คือ ความรู้ตามที่มันเป็น ไม่ใช่รู้ตามที่เราคิดอยากให้มันเป็น แต่มนุษย์ส่วนมาก ซึ่งมองตามที่คิดให้มันเป็นหรือตามที่อยากให้มันเป็น ก็จะรู้ตามที่คิดให้มันเป็น และรู้ตามที่อยากให้มันเป็น ก็จึงแก้ปัญหาไม่ได้ และยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ดังนั้น ในการพัฒนาการศึกษา และพัฒนาปัญญา จึงต้องเปลี่ยนเป็นว่ารู้ตามที่มันเป็น ซึ่งจะเป็นการรู้ความเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัยต่างๆ นี่คือการมีท่าทีหรือมีเจตคติที่ถูกต้อง

๒. ความมั่นใจในศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตน ดูว่า เขามีความมั่นใจในตัวเอง เขาเชื่อว่าพัฒนาตนได้ และเห็นว่าจะต้องพัฒนาตนนั้นหรือไม่

๓. จิตสำนึกในการพัฒนาปรับปรุงตนเอง ถ้าเขามีจิตสำนึกนี้อยู่ ก็จะทำให้เอาใจใส่ในการที่จะพัฒนาตน เริ่มตั้งแต่เอาใจใส่ในการที่จะเรียนรู้ แต่ถ้าไม่มีจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาตน หรือไม่มีจิตสำนึกในการศึกษาแล้ว เขาก็จะไม่เอาใจใส่ในการที่จะพัฒนาตนเองขึ้นไป จึงต้องสำรวจดูด้วย

๔. แรงจูงใจที่เอื้อต่อการพัฒนาตน ต้องตรวจสอบดูว่า เขามีความใฝ่ความจริง ใฝ่ความดีงาม หรือใฝ่จริงใฝ่ดี คือมีความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ หรือพูดง่ายๆ ว่า ใฝ่ปัญญาหรือไม่

. จิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เกิดความกระตือรือร้น เร่งรัดตัวเองในการทำหน้าที่การงาน ไม่นิ่งเฉยเฉื่อยชา รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ และเอาจริงเอาจังในการที่จะเรียนรู้และพัฒนาตน อย่างที่เรียกสั้นๆ ว่าไม่ประมาท

๖. ความรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ที่เรียกง่ายๆ ว่าคิดเป็น เช่น คิดตามแนวทางความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือตามแนวทางของความเป็นเหตุเป็นผล ดูว่า เมื่อมีประสบการณ์ หรือตกอยู่ในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเขามองและคิดอย่างไร เขาคิดก่อนว่าอันนี้คืออะไร อันนี้มีคุณมีโทษอย่างไร คิดสืบสาวค้นไปหาเหตุของมันว่าเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร หรือว่าคิดไม่เป็นกระบวนหรือไม่คิดเลย ปล่อยตัวให้ประสบการณ์ที่เข้ามานั้นนำพาไปเลย

ที่ว่าคิดเป็นนั้นมีหลายอย่าง คิดสืบสาวตามเหตุปัจจัยก็มี คิดในแง่รู้จักคุณรู้จักโทษของมันตามเป็นจริงก็มี มองและคิดในแง่ที่จะให้สิ่งนั้นเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนก็ได้

ของอย่างเดียว แต่ความคิดของคนต่อของนั้นไม่เหมือนกัน คนมองสิ่งของนั้นต่างกันไป ตามพื้นฐานภูมิหลังประสบการณ์ที่สะสมมา ทั้งนี้ตัวกำหนดอันสำคัญที่จะหักเหได้ ก็คือการคิดหรือกระบวนการคิดของเขา

แม้แต่คนคนเดียว ต่างเวลาต่างโอกาสก็ยังคิดไม่เหมือนกัน พบประสบการณ์หรือสิ่งหนึ่งในเวลาหนึ่ง คิดนึกและรู้สึกไปอย่างหนึ่ง พอผ่านไปอีกระยะหนึ่งเห็นสิ่งเดียวกันนั้น กลับคิดนึกรู้สึกไปอีกอย่างหนึ่ง สมัยหนึ่งชอบสมัยหนึ่งชัง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นมันก็เป็นของมันอย่างนั้นเอง แต่คนเรามีกระบวนการคิด มีตัวกำหนด มีปัจจัยในการคิดนั้นต่างกันไป

ในกรณีอย่างนี้ ถ้ามีโยนิโสมนสิการ ก็จะเริ่มจากท่าทีการมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นของมัน มีการสืบสาวหาเหตุปัจจัย หรือไม่ก็มองในแง่ที่จะทำให้เกื้อกูลต่อจิตใจ และเกิดประโยชน์ เช่น ไปพบเห็นคนยากจนนอนเจ็บป่วย คนหนึ่งมองด้วยพื้นจิตใจอย่างหนึ่งก็เกิดความรังเกียจ แต่อีกคนหนึ่งมองด้วยพื้นจิตใจอีกอย่างหนึ่ง หรือรู้จักคิด มองไปแล้วกลับเกิดความรู้สึกสงสาร ไม่เหมือนกัน ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ นี่ก็เป็นเรื่องของการรู้จักคิด

การแนะแนวนี้จะทำให้คนรู้จักคิด คิดในทางที่ให้เกิดความรู้และผลดี รวมเป็น ๒ อย่างใหญ่ๆ คือ

๑. มองในแง่ของความรู้ และคิดในทางที่ทำให้เห็นความจริง ให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง แล้วจะได้ปฏิบัติถูกต้อง และ

๒. อีกแง่หนึ่งคือ ถ้าไม่ใช่เรื่องที่ต้องการความรู้หรือความจริง ก็คิดในทางที่จะทำให้เกิดผลดีแก่ชีวิต ทั้งผลดีแก่ชีวิตของตนเอง และผลดีต่อสังคมในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์

การคิดแบบที่หนึ่ง ก็คือ การค้นหาความจริง โดยมองและคิดตามที่มันเป็น เช่น การสืบสาวหาเหตุปัจจัย ส่วนการคิดแบบที่สอง ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ เช่นเรามองเห็นคนๆ หนึ่งอดโซอยู่ เนื้อตัวมอมแมม ถ้าคิดไปในทางหนึ่งแล้วเกิดความรู้สึกรังเกียจเหยียดหยาม อย่างนี้เป็นผลดีแก่ชีวิตของเราไหม ก็ไม่ดี เป็นผลดีแก่จิตใจของเราไหม ก็ไม่ดี เป็นผลดีแก่สังคมไหม ก็ไม่ดี มีแต่ก่อให้เกิดโทษ ดังนั้นการคิดอย่างนี้ไม่ดี ไม่ควรคิด ต้องพัฒนาวิธีคิดใหม่ โดยใช้โยนิโสมนสิการ คือคิดในทางที่ให้เกิดความรู้สึกสงสาร อยากจะช่วยเหลือ เกิดความเมตตากรุณา จิตใจตัวเองก็สบาย พร้อมกันนั้นก็เป็นไปในทางที่จะแก้ปัญหา เกื้อกูลต่อกัน ทำให้อยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม

ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่การรู้จักคิด หรือคิดเป็นทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวกันนี้ปรากฏแก่คนที่รู้จักคิด และคิดเป็นแล้ว ก็จะมีความหมายไปในทางที่ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามที่มันเป็นจริง และทำให้เกิดความดีงาม

รอยต่อ : จุดตรวจที่มองเห็นง่าย

อีกด้านหนึ่งของชีวิตของเขา ที่จะต้องตรวจดูด้วย ซึ่งมักจะปรากฏให้เห็นได้ง่ายกว่า เป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างองค์ประกอบภายในกับความเป็นไปภายนอก มักเป็นพฤติกรรมที่ปรากฏให้คนอื่นเห็นได้ คือ ความมีวินัยในชีวิต และในการอยู่ร่วมสังคม

วินัย คือการจัดระเบียบชีวิตของตนให้มีลำดับ ให้มีจังหวะในความเป็นอยู่และทำการต่างๆ โดยเฉพาะในกิจกรรมประจำวัน เช่น การจัดลำดับเวลาและทำเป็นเวลา เป็นต้น ทำให้การดำเนินชีวิตไม่สับสน และมีช่องมีจังหวะมีโอกาสที่จะทำอะไรต่างๆ ได้มากขึ้น

กว้างออกไป วินัย คือการจัดสรรและรักษาระเบียบในการอยู่ร่วมในสังคม โดยจัดวางและรักษากฎเกณฑ์และกติกาของหมู่คณะและแบบแผนของสังคมส่วนรวม ทำให้ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ล่วงละเมิด ไม่เอาเปรียบกัน ทำให้การอยู่ร่วมกันไม่วุ่นวาย ไม่สับสน แล้วแต่ละคนก็จะมีโอกาสดำเนินชีวิตของตน และทำกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวก คล่องตัว ตามวัตถุประสงค์ ภายในกฎเกณฑ์และกติกานั้น โดยไม่ต้องหวั่นหวาดระแวงการขัดขวางบีบคั้นกลั่นแกล้งกัน

คนที่มีวินัยตามความหมายที่ถูกต้อง ก็จะมีโอกาสดำเนินชีวิตที่ดีงาม และทำการพัฒนาตนได้สะดวก และได้มากที่สุด เพราะสภาพชีวิตของตนและสภาพสังคมที่เป็นระเบียบเรียบร้อยช่วยเอื้ออำนวย เป็นผู้รักษาประโยชน์ของตน และช่วยรักษาประโยชน์ร่วมกันของสังคมพร้อมไปด้วย

ถ้าไม่มีวินัย ชีวิตก็จะสับสนยุ่งเหยิง และสังคมก็จะวุ่นวาย ระส่ำระสาย ทำลายโอกาสในการที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงามและโอกาสในการพัฒนาตนของทุกคน จึงต้องดูความมีวินัยเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งด้วย

ความขาดวินัย หรือความไม่มีศีล แสดงถึงการขาดความสามารถที่จะบังคับควบคุมกายวาจา หรือพฤติกรรมเคลื่อนไหว การแสดงออกต่างๆ ของตน พูดสั้นๆ ว่า ไม่สามารถบังคับควบคุมตนเอง จึงเป็นความบกพร่องที่ควรเอาใจใส่ตรวจดูแต่เบื้องต้น เพราะว่าในด้านภายใน เขาก็จะไม่สามารถจัดสรรควบคุมให้องค์ประกอบต่างๆ ที่กล่าวถึงแล้วทำงานให้ได้ผลดี และด้านภายนอก พฤติกรรมของเขาก็จะเป็นภัยอันตราย หรือก่อผลเสียหายต่อสังคม

ความขาดวินัย อาจจะแสดงออกชัดเจน เป็นพฤติกรรมที่ทำลายความเป็นระเบียบและสงบเรียบร้อยของสังคม การละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องฟ้องถึงความคลาดเขวออกจากวิถีชีวิตที่ดีงาม และจากแนวทางของการศึกษาพัฒนาตน ความมีวินัยจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเอาใจใส่ในระดับพื้นฐาน

เป็นอันว่า เท่าที่พูดมานี้ เป็นจุดพื้นฐานที่จะต้องพิจารณา เมื่อฟังคนมาปรับทุกข์ มาระบายปัญหา หรือออกไปมองและออกไปช่วยแก้ปัญหา ถ้าเรามีหลักเหล่านี้อยู่ เราก็ใช้เป็นตัวตรวจสอบได้ว่าเขาขาดอะไรหรือเปล่า แล้วก็พยายามที่จะช่วยให้เขาสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เพราะว่าองค์ประกอบเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐาน ในการดำรงชีวิตอยู่ด้วยดีของมนุษย์ เป็นปัจจัยพื้นฐานในการศึกษาพัฒนาตนของมนุษย์ และเป็นปัจจัยพื้นฐานในการแก้ปัญหา ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วจะแก้ปัญหาได้ยาก ส่วนข้อพิจารณาอื่นๆ เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมากมายก็ค่อยๆ ว่ากันไป แต่อันนี้ต้องวางเป็นพื้นฐานไว้ก่อน

สามด่านที่ควรผ่านการตรวจ

ทีนี้แคบเข้ามาอีก ก็คือกระบวนการในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งแยกได้เป็นสามช่วง เราจะให้คนรู้จักสำรวจตัวเอง และเราก็ช่วยสำรวจ จะโดยเขารู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ให้เขาดูตัวเองหรือดูตัวเขาให้ถูกต้อง

ในการที่จะให้ชีวิตงอกงาม จะมีการปฏิบัติในสามช่วงของกระบวนการ คือ

๑. ช่วงรับเข้ามา อันนี้ก็คล้ายๆ กับที่พูดมาแล้ว แต่ในที่นี้นำเสนออีกแบบหนึ่ง เป็นการนำเสนอในช่วงของชีวิตประจำวัน

๒. ช่วงแสดงออก หรือช่วงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสภาพแวดล้อม

๓. ช่วงสร้างสรรค์พัฒนาตนเองขึ้นไป หรือช่วงเจริญงอกงาม

สองช่วงต้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ช่วงที่สามสุดท้ายนี้บางคนก็มีบางคนก็ไม่มี การดำเนินชีวิตที่ดีงามจะต้องครบสามช่วง ทั้งช่วงรับเข้า ช่วงแสดงออกไป และช่วงที่สามคือ ช่วงเจริญงอกงามยิ่งขึ้น

อธิบายประกอบ

ช่วงที่หนึ่ง คือในช่วงที่รับประสบการณ์เข้ามา ซึ่งจะต้องมีท่าทีต่อประสบการณ์ทั้งหลาย และท่าทีต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างที่บอกแล้วว่าเมื่อรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ ก็ให้รับรู้ในลักษณะที่เป็นการเรียนรู้ ให้ได้ข้อมูลของความรู้ ให้รับรู้โดยมองตามที่มันเป็นของมัน ไม่ใช่มองตามที่เราอยากให้มันเป็นหรือคิดให้มันเป็น ไม่คิดปรุงแต่งไปตามอิทธิพลของความยินดียินร้ายชอบชัง ไม่ให้อคติ ไม่ให้ความโลภ ไม่ให้ความโกรธ และไม่ให้ความหลงมาครอบงำจิตใจของเราได้ เมื่อรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ ก็ให้รับรู้ในลักษณะที่เป็นการเรียนรู้ นั้นคือช่วงที่หนึ่ง

ช่วงที่สอง คือช่วงแสดงออก ได้แก่การที่เรากระทำกิจกรรมที่เป็นการตอบสนองออกไป โดยมีปฏิกิริยาออกไปต่อบุคคล ต่อสภาพแวดล้อม ต่อสถาบัน ต่อสังคมส่วนรวม

เราจะแสดงออกอย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นการแสดงออกอย่างถูกต้องและเหมาะสม คือมีการแสดงออกไปข้างนอก ที่ทำให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของตนเอง แก่สิ่งแวดล้อม แก่สังคม คำตอบก็คือการแสดงออกที่ไม่เป็นการเบียดเบียน ไม่เป็นภัยอันตราย หรือก่อผลเสียหายแก่ผู้อื่น แต่เป็นการกระทำ ที่ทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลต่อการพัฒนาตนเอง หรือพัฒนาสังคมและสภาพแวดล้อม

ในการแสดงออกของคนเรา เมื่อคำนึงถึงการที่จะพัฒนาตนเองให้มีชีวิตที่เจริญงอกงามยิ่งขึ้น เราก็จะทำการแสดงออกที่มีลักษณะของความมุ่งหมายในทางที่ดีงาม ไม่กระทำในลักษณะของการที่มีกิเลสเข้ามาครอบงำ

เราจะต้องชัดในความมุ่งหมายว่า การแสดงออกนี้ ที่เป็นการกระทำถูกต้องดีงามเกื้อกูลต่อผู้อื่น หรือต่อสังคม หรืออย่างน้อยไม่เป็นการเบียดเบียนก่อความเสียหายนั้น ย่อมมีความหมายเป็นการพัฒนาตนเอง หรือทำให้เกิดการพัฒนาตนของตัวเราเองด้วย เมื่อคำนึงว่า เราจะแสดงออกต่อบุคคลนั้น ต่อสิ่งนั้น ต่อกิจกรรมนั้นอย่างไรจึงจะเกิดผลดี ด้วยวิธีนี้ก็จะมีความมุ่งหมายเกิดขึ้น การแสดงออกก็จะมีลักษณะที่ว่าเรามีการควบคุมตนเองได้ มีสติสัมปชัญญะ

มีสติ คือ การระลึกได้ ที่จะควบคุมตนเองให้อยู่กับความมุ่งหมายนั้น มีสัมปชัญญะ คือรู้ตระหนักว่าความมุ่งหมายนี้มีคุณค่าที่สัมพันธ์และเกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตของเราได้อย่างไร นี้คือการแสดงออกที่มีผลดี เพราะฉะนั้น การแสดงออกของคนที่มีการศึกษา หรือกำลังพัฒนาตนเองนี้ ก็จะเป็นการแสดงที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต จะทำให้ชีวิตของตนเองเป็นชีวิตที่ดีงาม แล้วก็เป็นชีวิตที่ดีของสังคม และเป็นชีวิตที่เกื้อกูลต่อโลกด้วย อันนี้เป็นช่วงที่สองที่พูดมาพอคร่าวๆ

ช่วงที่สาม คือช่วงเจริญงอกงาม เป็นช่วงที่ว่าชีวิตที่ดีงามนี้มีความสัมพันธ์ในช่วงก่อนๆ ดีมาแล้ว ถ้าเป็นท่าที ก็เป็นท่าทีของการเรียนรู้อยู่แล้ว เป็นท่าทีของการมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอยู่แล้ว พร้อมทั้งมีการแสดงออกในลักษณะที่เป็นการเกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตที่ดีงามอยู่แล้ว พอถึงตอนนี้ก็มีความพร้อม ในการที่จะเอาข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ต่างๆ ที่เรารับเข้ามาอย่างดีนั้น เอามาใช้ในการพัฒนาชีวิตของตนเอง ทำการแก้ไขปรับปรุงให้ชีวิตเจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป นี้เป็นช่วงที่สาม

เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่ดีหรือในกระบวนการที่จะให้เกิดชีวิตที่ดีงามด้วยการศึกษานั้น ก็ต้องทำให้ครบกระบวนการทั้งสามช่วง ต้องดูว่าคนที่มีปัญหานั้นเขาเป็นอย่างไร ในช่วงที่หนึ่งเขามีท่าทีในการรับประสบการณ์เข้ามาอย่างไร เป็นท่าทีที่ถูกต้องเกื้อกูลต่อชีวิตหรือไม่ ในช่วงที่สองเขามีการแสดงออกอย่างไร เป็นพฤติกรรมที่เกื้อกูลหรือไม่ และในช่วงที่สาม มีการนำเอาข้อมูลความรู้จากประสบการณ์ต่างๆ มาใช้พัฒนาชีวิตของตนให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปหรือไม่ อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง ถือว่าเป็นหลักที่จะพิจารณาตรวจสอบ

แกนกลางของปฏิบัติการในการแนะแนว

ข้อต่อไปในการแก้ปัญหาของบุคคล ก็คือดูเจาะลึกลงไปในการคิดเป็นว่า ที่ว่าเขาคิดเป็นหรือไม่นั้น เขารู้จักแก้ปัญหาตามแนวทางของเหตุผล หรือตามแนวทางของกฎแห่งเหตุปัจจัยหรือไม่ เรียกตามศัพท์ทางพุทธศาสนาว่า “การแก้ปัญหาตามแนวอริยสัจจ์” คือ รู้ความเป็นเหตุ รู้ความเป็นผล แล้วแก้ปัญหาตามแนวทางของเหตุและผลนั้น อันนี้จะเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ ในการนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดมาใช้ประโยชน์ ในชีวิตและการทำงานอีกทีหนึ่ง และดูว่าจะแก้ปัญหาได้สำเร็จหรือไม่

การแก้ปัญหา ตามกระบวนการแห่งเหตุและผล หรือตามวิธีการแห่งความเข้าใจกฎแห่งเหตุปัจจัยนี้ เป็นขั้นตอนของการใช้ปัญญาเป็นตัวนำชีวิต ไม่ใช่เอาตัณหาคือความอยากเป็นตัวนำชีวิต

นอกจากความรู้คือปัญญาที่เข้าใจความจริง เข้าใจเหตุปัจจัยแล้วก็ต้องมีความเข้มแข็งเป็นพื้นฐาน เพราะในระหว่างการพัฒนาที่ปัญญายังไม่เจริญเต็มที่ หากจิตใจไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ ก็จะเป็นช่องทางให้ตัณหากับอวิชชาเข้ามามีอิทธิพล ขัดขวางการพัฒนาปัญญา ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการพัฒนาจิตใจ โดยเฉพาะการสร้างสมาธิควบคู่กันไป และเป็นพื้นฐานแก่การพัฒนาปัญญา

เป็นอันว่า คนเราจะพัฒนาตนได้ จะต้องมีความเข้มแข็ง ที่จะให้ปัญญาอยู่เหนือตัณหา ไม่เช่นนั้นก็จะกลับไปหาอวิชชา กลับไปหาตัณหา กลับไปเอาความอยากเป็นตัวนำชีวิต เพราะขาดความเข้มแข็ง คล้ายๆ กับเป็นลักษณะเบื้องต้นที่ว่าเมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร ก็จะเอาอย่างนี้ละ คือปล่อยพฤติกรรม แล้วแต่ความไม่รู้และความอยากจะพาไป ว่าไปตามที่เราอยากจะคิดให้มันเป็น แล้วก็เลยฝากความหวังไว้กับปัจจัยภายนอก ที่จะมาช่วยเหลือทำแทนให้

เหมือนอย่างแต่ก่อนนี้ ที่เคยฝากโชคชะตาไว้กับเทพเจ้า ฝากชะตากรรมให้กับเทพเจ้า แล้วแต่พระพรหมจะบันดาล แล้วแต่เทพเจ้าจะกำหนด อันนี้เรียกว่าฝากความหวังไว้กับสิ่งภายนอก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากความอยากและความหลงผิด คือ ตัณหาและอวิชชา และส่งเสริมตัณหาและอวิชชายิ่งขึ้นไป เพราะเมื่อเราฝากความหวังไว้กับเทพเจ้าแล้ว ปัญญาย่อมไม่เกิด เพราะไม่ต้องคิดอะไร ได้แต่รอให้เทพเจ้าช่วย

ต่อจากการอ้อนวอนเทพเจ้า ก็มีวิธีทางไสยศาสตร์ วิธีการนี้ทำให้เกิดความกล้าขึ้น แต่ก็ไม่ได้กล้าด้วยตนเอง ยังพึ่งตนเองไม่ได้ มนุษย์ได้แต่ฝากความหวังไว้กับสิ่งเหล่านี้ อย่างนี้ก็เรียกว่าฝากความหวังไว้กับปัจจัยภายนอก หรือไม่ก็ฝากโชคชะตาไว้กับหมอดู เมื่อฝากความหวังไว้กับหมอดูก็สุดแล้วแต่หมอจะว่า แล้วก็รอไป

หากเราฝากความหวังไว้กับสิ่งภายนอกแล้ว เราก็ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ เพราะต้องพึ่งและรอความช่วยเหลือของผู้อื่นเรื่อยๆ ไป ในเมื่อมนุษย์ฝากชะตากรรมไว้กับเทพเจ้าบ้าง ไสยศาสตร์บ้าง หมอดูอะไรต่างๆ บ้าง การศึกษาเพื่อจะให้มนุษย์พึ่งตนเองก็สำเร็จไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องหัดให้คนแก้ปัญหาตามแนวทางของเหตุผล ตามแนวทางของอริยสัจจ์ เริ่มตั้งแต่มีปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องสืบสาวค้นหาเหตุที่เรียกว่าสมุทัย เหตุแห่งปัญหานั้นอยู่ที่ไหน เมื่อสืบหาพบเราจะได้กำจัดให้ตรงเหตุนั้น พร้อมนั้นก็มองดูจุดหมาย ดูความต้องการของเราว่าคืออะไร วางจุดหมายนั้นแล้วจึงกำหนดวิธีปฏิบัติขึ้นมา เพื่อหาทางทำลายเหตุของปัญหา แล้วก็ทำให้เข้าถึงจุดหมาย วิธีปฏิบัตินี้เรียกว่า “มรรค” เมื่อได้วิธีปฏิบัติแล้วก็ลงมือปฏิบัติดำเนินการ การที่คนเราจะพัฒนาตนเองก็ต้องพัฒนาตามวิธีการดังกล่าวมานี้ จึงจะแก้ปัญหาได้

ทีนี้ การที่จะให้คนเราแก้ปัญหาด้วยปัญญาของตนเองได้ ก็ต้องมีกระบวนการที่จะสร้างปัญญา พร้อมกันไปกับการสร้างความเข้มแข็งในตัวของบุคคล หากเข้มแข็งไม่พอก็จะหวนกลับไปหาสิ่งภายนอก มนุษย์โดยทั่วไปมักมีความเข้มแข็งไม่พอ เราอาจจะต้องประนีประนอมบ้าง แต่ก็ต้องไม่ให้เสียกระบวนการ ไม่ยอมให้เสียผล หรือยอมให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นกับกระบวนการพัฒนาตนเองของมนุษย์ให้น้อยที่สุด อันนี้น่าห่วง

อาจารย์แนะแนวจะต้องระวัง ไม่ให้ตัวเองกลายไปเป็นเหมือนดังเทพเจ้า หรือหมอไสยศาสตร์ หรือหมอดูเสียเอง จนกลายเป็นว่าเด็กฝากความหวังไว้กับอาจารย์แนะแนวแล้ว เลยไม่รู้จักคิดเอง ไม่รู้จักพึ่งตนเอง คิดไม่เป็น

บางทีตัวอาจารย์แนะแนว และหรือบางทีตัวเด็กเองก็มีความเข้มแข็งไม่เพียงพอ จึงหวังพึ่งสิ่งภายนอก หวังพึ่งหมอดู ถ้าจะมีการยืดหยุ่นบ้างก็ต้องดูว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่เสียหลักในการพัฒนาตนเอง ในขณะที่เรายังช่วยให้เขาก้าวไปเองไม่ได้ หลักทั่วไปก็คือ สิ่งที่เอาเข้ามาเสริม จะต้องไม่ใช่เป็นเหตุให้หยุดรอหวัง แต่จะต้องเป็นตัวที่ช่วยหนุนให้เข้มแข็งที่จะทำต่อไป โดยถูกทาง

ในขั้นสุดท้าย เมื่อมนุษย์มีความเข้มแข็งพอ มีสติปัญญาพอ ก็สามารถช่วยตนเองด้วยตัวของเขาเองได้ จนกระทั่งพึ่งตัวเองได้อย่างเต็มที่ นี้เป็นหลักในแง่ของพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนว สำหรับใช้ตรวจสอบบุคคลที่มีความทุกข์และมีปัญหา เพื่อช่วยให้เขาพัฒนาตนเองได้ต่อไป

คุณสมบัติของครูผู้แนะแนว

คุณสมบัติของครูแนะแนว ควรจะเป็นคุณสมบัติของครูและผู้แนะแนวทั่วไปนั้นเอง โดยบริการแนะแนว จะเป็นบริการจาก “กัลยาณมิตร” ซึ่งมีหลัก หรือองค์ความประพฤติ ๗ ประการ เรียกว่าธรรม ๗ ประการของกัลยาณมิตร คือ

๑. น่ารัก

๒. น่าวางใจ

๓. น่าเจริญใจ

๔. รู้จักพูดหรือพูดเป็น

๕. รู้จักฟังหรือฟังเก่ง

๖. แถลงเรื่องลึกซึ้งได้

๗. ไม่ชักจูงไปนอกเรื่อง

อธิบายประกอบ

๑. น่ารัก คำว่าน่ารักในที่นี้หมายความว่า เป็นบุคลิกภาพที่ชวนให้เข้าหา ผู้แนะแนวควรต้องมีลักษณะที่ว่า เมื่อเด็กมีปัญหาเกิดความทุกข์ ก็อยากเข้าไปหาหรือเข้าไปปรึกษา เพราะว่าผู้ที่มีปัญหาก็คิดหาที่ปรึกษา เมื่อเห็นผู้แนะแนวที่มีคุณสมบัติดีแล้วก็อยากจะเข้าไปปรึกษาด้วย คำว่าน่ารักในภาษาบาลีเรียกว่า “ปิโย”

๒. น่าวางใจ ครูแนะแนวต้องมีลักษณะที่น่าไว้วางใจได้ หนักแน่น น่าเคารพนับถือ น่าเชื่อถือ ทำให้รู้สึกว่าไม่มีภัยอันตราย อบอุ่นมั่นคงปลอดภัย ควรเข้าไปขอคำปรึกษาได้ ถ้ามีลักษณะท่าทางไม่น่าไว้วางใจ ก็ไม่ไหว ลักษณะที่น่าเคารพน่าไว้วางใจนี้ภาษาบาลีเรียกว่า “ครุ”

๓. น่าเจริญใจ คือบุคลิกท่าทางต่างๆ ที่แสดงออกดูแล้วทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นผู้มีภูมิรู้ มีภูมิธรรมภูมิปัญญาสูง เป็นคนมีการศึกษาพัฒนาตนดีแล้ว ซึ่งผู้เข้าหานั้นรู้สึกภูมิใจที่ได้เข้าใกล้ชิดและเห็นว่าน่าเอาอย่าง คือชวนให้อยากปฏิบัติตาม ในทางภาษาบาลีเรียกว่า “ภาวนีโย”

๔. รู้จักพูดหรือพูดเป็น ข้อนี้เป็นลักษณะสำคัญมาก สามข้อแรกนั้นเป็นบุคลิกภาพที่จะทำให้เกิดการปรึกษาและการแนะแนวขึ้น โดยนำมาสู่การพบปะและการทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป แต่ข้อ ๔ และข้อต่อจากนี้เป็นส่วนประกอบต่างๆ ในการทำหน้าที่

การเป็นนักพูดที่ดีไม่ใช่หมายความว่า จะต้องพูดเองไปหมด ผู้ที่มีความทุกข์ หรือต้องการคำปรึกษา เขาก็จะพูดไปตามทางของเขา ชัดเจนบ้าง สับสนบ้าง บางทีก็ไม่กล้าพูด หรือพูดแล้วพูดไม่ถูก พูดไม่แจ่มกระจ่าง ผู้แนะแนวต้องรู้จักพูดให้เขากล้าที่จะแสดงออกมา กล้าระบายความทุกข์ออกมา หรือสามารถที่จะแสดงออกซึ่งปัญหาอย่างชัดเจน โดยผู้แนะแนวจะต้องช่วยให้เขารู้จัก และเข้าใจปัญหาของเขาเองไปทีละด้านสองด้าน ตามลำดับ

ตัวอย่าง เมื่อมีบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามาหาพระพุทธเจ้า จะมาถามหาคำตอบจากพระองค์ บางทีพระองค์ก็ทรงช่วยให้เขาตอบปัญหาของเขาเอง โดยที่พระองค์ทรงใช้วิธีที่ทรงกลายเป็นผู้ถาม ซึ่งบุคคลนั้นก็จะพบคำตอบได้ด้วยตนเอง นักแนะแนวควรนำวิธีนี้ไปใช้ในการเป็นนักพูด โดยเป็นผู้ช่วยให้เขาพูด จนกระทั่งทำให้เขาตอบปัญหาของตนเองได้ หากเขาหาคำตอบไม่ได้จริงๆ เราก็มีวิธีการที่จะเสนอแนะให้เขาพบคำตอบได้ ให้เห็นทางออกในการแก้ปัญหา ลักษณะที่เป็นนักพูดอย่างได้ผลนี้ ภาษาบาลีเรียกว่า “วตฺตา”

๕. รู้จักฟังหรือฟังเก่ง หมายถึง ความเก่งในการฟัง นอกจากหมายถึงจับเรื่องได้ไว และชัดเจนแล้ว ก็รวมถึงการมีความอดทนในการฟังด้วย อดทนต่อการรับฟังปัญหา อดทนต่อการระบายความทุกข์ เพื่อจะได้รู้เหตุปัจจัย และคิดค้นวิธีการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการรู้จักตัวเขาและปัญหาของเขาอย่างแท้จริง เช่น รู้ว่าเขาทำอะไร บกพร่องอย่างไร จุดที่จะแก้ไขอยู่ตรงไหน เรียกในภาษาบาลีว่า “วจนกฺขโม”

๖. แถลงเรื่องลึกซึ้งได้ คือ เมื่อมีปัญหาที่ยากหรือลึกซึ้งก็สามารถคลี่คลายให้เข้าใจได้ ในการศึกษาและในการแก้ปัญหา จะต้องพบกับปมและเรื่องที่ยากหรือลึกซึ้งอยู่เรื่อยๆ ผู้ที่ทำหน้าที่แนะแนวต้องสามารถอธิบายเนื้อหาเรื่องราวและคลี่คลายปมประเด็นต่างๆ ให้เห็นชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย อะไรที่ซับซ้อนก็ต้องจับเอามาหรือหยิบยกออกมาพูดให้เห็น และอธิบายให้กระจ่าง อันนี้เป็นความสามารถในการปฏิบัติที่เรียกว่า “คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา”

๗. ไม่ชักจูงไปในทางที่ผิดหรือนอกเรื่อง คือจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจนในการแนะแนว โดยมีเป้าหมายและนำไปสู่จุดหมายซึ่งจะแก้ปัญหาได้ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง หากผู้แนะแนวปฏิบัติไม่ถูกต้องออกนอกเรื่องราว หรือชักจูงไปในทางเสียหาย โดยแนะนำผิดๆ หรือแนะนำวิธีการที่ไม่ถูกต้อง แนะแนวไปแทนที่เขาจะแก้ปัญหาได้ ก็กลับกลายเป็นสร้างปัญหา อันนี้เรียกว่า “โน จฏฺฐาเน นิโยชเย”

รวมเป็น ๗ ประการ เรียกว่า คุณธรรมหรือองค์คุณของกัลยาณมิตร ซึ่งเราใช้เป็นคุณสมบัติของครูโดยทั่วไป ซึ่งผู้ทำหน้าที่แนะแนวควรมีคุณสมบัติเช่นนี้เป็นพิเศษ

คุณสมบัติที่ควรให้มีในผู้รับการแนะแนว

ต่อไปนี้ จะพูดถึงคุณสมบัติของคนที่ได้รับการแนะแนว ผู้ให้การแนะแนวควรมองว่า มนุษย์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อเราจะได้นำมาใช้กับคนที่มีปัญหาด้วย หลักเกณฑ์คุณสมบัติที่ดีของมนุษย์ ก็คือหลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการนั้นเอง ซึ่งจะพูดย่อๆ คือ

๑. รู้จักเหตุ  ๒. รู้จักผล

๓. รู้จักตน ๔. รู้จักประมาณ

๕. รู้จักกาล ๖. รู้จักชุมชน๗. รู้จักบุคคล

อธิบายประกอบ

๑. รู้จักเหตุ คือรู้หลักการ หมายถึงหลักการที่จะปฏิบัติให้เกิดผลที่มุ่งหมาย เช่น เมื่อเราเข้ามาศึกษาในวิทยาลัยแห่งนี้ ก็ต้องรู้จักหลักเกณฑ์ของการศึกษาในวิทยาลัย ทำอาชีพอะไรก็ต้องรู้หลักและกฎเกณฑ์ของอาชีพนั้นๆ ว่าจะต้องปฏิบัติต้องกระทำอย่างนั้นๆ จึงจะได้ผลของอาชีพ ข้อนี้เรียกว่า “ธัมมัญญุตา”

๒. รู้จักผล คือรู้ความมุ่งหมาย รู้ผลที่ต้องการในการปฏิบัติ รู้จักจุดหมายว่า หลักการหรือกฎเกณฑ์นี้เพื่อจุดหมายอะไร จะให้เกิดผลอะไรขึ้น อันนี้เรียกว่ารู้จักความมุ่งหมาย ทำให้รู้ทิศทางในการปฏิบัติ ซึ่งถ้าไม่รู้ก็อาจทำให้เกิดผลเสียหายได้ ข้อนี้เรียกว่า “อัตถัญญุตา”

๓. รู้จักตน คือ รู้จักว่าตนเองมีภาวะ ฐานะ ความสามารถ ความถนัดอย่างไร มีภูมิธรรม ภูมิปัญญาต่างๆ แค่ไหน มีพื้นฐานมาอย่างไร เป็นต้น เมื่อรู้จักตนเองตามความเป็นจริง ก็สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาตนเอง หากเราไม่รู้จักตนเองตามความจริง เราก็ปรับปรุงตนเองไม่ถูก หรืออาจไม่คิดที่จะพัฒนาตนเองเลย ข้อนี้เรียกว่า “อัตตัญญุตา”

๔. รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดี ในการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ถ้าต้องการให้เกิดผลดีก็ต้องรู้จักความพอดีในการปฏิบัติ มิฉะนั้น มันจะไม่ลงตัว เมื่อไม่ลงตัวก็ไม่เกิดผลดีตามที่ต้องการ ถ้าเรารู้จักความพอดีในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าเป็นการกิน การนอน การเล่น การทำงาน รู้ว่าแค่ไหนพอดี แล้วทำแค่พอดีที่จะให้ผลดีมันก็จะสำเร็จและไม่เกิดโทษ ข้อนี้เรียกว่า “มัตตัญญุตา”

๕. รู้จักกาล คือ จะทำอะไรก็ต้องรู้จักกาลเวลา เช่น รู้เวลาเริ่ม ระยะเวลาที่ทำ เวลาสิ้นสุด จังหวะที่ดีของการกระทำเป็นต้น อาตมามาพูดนี้ก็ต้องรู้จักเวลาเหมือนกัน ว่าขณะนี้จะหมดเวลาแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องของ “กาลัญญุตา”

๖. รู้จักชุมชน เช่น รู้จักว่านี้เป็นชุมชนประเภทไหน พูดเรื่องอะไรจึงจะเหมาะสมและพอดี หากไม่รู้จักชุมชน ไม่เข้าใจชุมชน ก็ปฏิบัติต่อชุมชนนั้นไม่ถูก เช่น ไม่ถูกต้องตามวัฒนธรรมประเพณี ไม่ถูกมารยาท ไม่ถูกกับแนวความสนใจหรือระดับความรู้ความสามารถ การปฏิบัตินั้นก็ไม่ได้ผลดี การรู้จักชุมชนนี้เรียกว่า “ปริสัญญุตา”

๗. รู้จักบุคคล เช่น รู้จักว่าบุคคลนี้เป็นอย่างไร มีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร มีภูมิธรรม ภูมิปัญญาแค่ไหน มีความสามารถถนัดจัดเจนอย่างไร สนใจเรื่องอะไร อยู่ในฐานะ หรือภาวะอย่างไร มีภูมิหลังมาอย่างไร ควรคบหาหรือไม่ จะได้ประโยชน์ในแง่ใด ควรใช้งานหรือไม่ จะช่วยเหลือหรือขอความช่วยเหลือเขาได้อย่างไร เมื่อรู้จักบุคคลแล้ว รู้จักความแตกต่างของบุคคลแล้ว การดำเนินชีวิตและการทำงานก็ได้ผลดี อันนี้เรียกว่า “ปุคคลัญญุตา” เป็นคุณธรรมข้อสุดท้าย

หลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้

ต่อไปนี้มีอีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะพูด จึงต้องขอเวลาอีกหน่อย คือ เรื่องพึ่งตนเองได้ มีลักษณะอย่างไร คนที่จะพึ่งตนเองต้องมีหลักธรรมคือคุณสมบัติที่ทำให้พึ่งตนได้ คือ

๑. ประพฤติดีมีวินัย ไม่ก่อความเดือดร้อนต่อตนเองและสังคม ไม่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายในการอยู่ร่วมกัน ทำให้มีระเบียบวินัยในสังคมประเทศชาติ คนเรานี้หากเป็นผู้มีความประพฤติดี มีระเบียบวินัย ก็เป็นอันว่าหมดปัญหาขั้นพื้นฐานไปทีเดียว เท่ากับเปิดทางสะดวกให้มีโอกาสทำอะไรต่างๆ เพื่อก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยดีในกระบวนการศึกษาพัฒนาตน

๒. ได้ศึกษาสดับมาก การฟัง การอ่าน เล่าเรียน การแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ทำให้ได้ข้อมูลมาก จึงช่วยให้แก้ไขปัญหาได้มาก เพราะการแก้ปัญหาต่างๆ ต้องอาศัยข้อมูลความรู้ จึงควรจะศึกษาเล่าเรียน อ่าน ฟัง ให้มาก

๓. รู้จักคบคนดี คือ รู้จักคบเพื่อน รู้จักคบมิตร ซึ่งชักจูงไปในทางที่ดีงาม รู้จักคบครูอาจารย์ หาแหล่งวิชา รู้จักแสวงหาแหล่งความรู้ ซึ่งจะทำให้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนอ่านสดับฟัง เพิ่มพูนและชัดเจนช่ำชองยิ่งขึ้น ข้อนี้เป็นลักษณะสำคัญของคนที่พัฒนาตนเอง เรียกว่ารู้จักคบหากัลยาณมิตร

๔. เป็นคนที่พูดกันง่าย คือ เป็นผู้ที่รับฟังผู้อื่น เมื่อคบหาผู้รู้และคนดีแล้ว ก็พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำเป็นต้นของท่านเหล่านั้น เพราะอยากได้ข้อมูลในการพัฒนาตนเอง โบราณว่า “ว่านอนสอนง่าย” ในสมัยนี้กลัวว่าคนจะเข้าใจความหมายผิด ก็เรียกว่า “เป็นคนที่พูดกันง่าย”

๕. ขวนขวายกิจของหมู่ คือ เป็นผู้พร้อมที่จะร่วมมือช่วยเหลือ เอาใจใส่ขวนขวายกิจของเพื่อนร่วมชุมชนและงานของส่วนรวม คนที่พึ่งตนเองได้นี้จะมีลักษณะไม่คิดเรียกร้องจากผู้อื่น หรือคิดเรียกร้องเอาจากชุมชนหรือสังคม คนจำนวนมากมักเรียกร้องจากสังคม หากเป็นเช่นนี้ เราจะพึ่งตนเองไม่ได้ จะต้องรอรับความช่วยเหลือจากคนอื่นอยู่ร่ำไป หากเป็นประเทศก็เป็นประเทศที่พึ่งตนเองไม่ได้ ควรเปลี่ยนท่าทีใหม่ว่าเราจะทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้บ้างหรือแก่ชาติได้บ้าง อันนี้ก็เป็นหลักหนึ่งในการพึ่งตนเองได้

๖. เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ธรรม ได้แก่ ชอบแสวงหาความจริง ใฝ่ศึกษาเล่าเรียน ชอบสนทนาถกเถียงหาความรู้ความเข้าใจ โดยมีสภาพจิตใจและลักษณะของการแสดงออก ที่ชวนให้คนอื่นอยากปรึกษาหารือร่วมสนทนาด้วย ส่งเสริมบรรยากาศแห่งการแสวงหาความรู้

๗. มีความเพียรขยัน คือ มีจิตใจเข้มแข็ง ก้าวหน้าไม่ท้อถอย สู้กิจสู้งาน รับผิดชอบ ปฏิบัติตามหลักทุกอย่างในข้อก่อนๆ ด้วยความจริงจัง

๘. มีสันโดษรู้พอดี สันโดษในที่นี้คือ การไม่แสวงหาความบำรุงบำเรอฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่าย ไม่ฟุ่มเฟือย แต่เป็นอยู่ง่าย รู้จักพอในเรื่องวัตถุ แล้วใช้เวลามุ่งหน้าทำกิจของตน คนปัจจุบันมีปัญหาจากความฟุ้งเฟ้อมาก ปล่อยเวลาและแรงงานสูญเสียไปกับเรื่องของการบริโภคเสียมาก อันนี้จะต้องเปลี่ยนใหม่มาเป็นแนวทางของการที่จะเป็นผู้บริโภคแต่พอดี แล้วนำเอาเวลาและแรงงานไปใช้ในการทำหน้าที่ และทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาชีวิตและพัฒนาสังคม

๙. มีสติคงมั่น คือ ควบคุมตนเองได้ มีสำนึกในการกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรอบคอบ ไม่ประมาท และเท่าทันเหตุการณ์ รู้เท่าทันว่าอะไรอย่างไหนจะทำให้เกิดความเสื่อมความเสียหายก็ไม่ทำ อันไหนจะทำให้เกิดความเจริญดีงามก็ทำ ทำกิจกรรมต่างๆ โดยมีความรอบคอบระมัดระวัง

๑๐. มีปัญญาเหนืออารมณ์ คนจำนวนมากมักเอาอารมณ์ความรู้สึกมานำหน้าในการแสดงออก หรือแสดงออกทางด้านอารมณ์ ควรเปลี่ยนเป็นว่าเอาวิจารณญาณมาเป็นตัวนำในการกระทำ นี้คือปัญญาของคนที่พึ่งตนเองได้

สิบประการนี้ ทางพระเรียกว่า “นาถกรณธรรม” บาลีจะไม่พูดเพราะค้นหาเองได้

จุดหมายของชีวิตที่ผู้แนะแนวควรชี้นำ

ต่อไปนี้เป็นหมวดสุดท้าย จะจบแล้ว ขอพูดไว้ว่า คนที่พัฒนาตนเองได้ มีปัญญา มีชีวิตที่ดี ควรรู้จุดหมายของชีวิต การที่เรารู้จุดหมายของชีวิตนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร

๑. เพื่อจะได้มีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม

๒. เพื่อใช้สำรวจตนด้วยตนเอง และเพื่อจะได้มีความมั่นใจในตนเอง ในการที่จะพัฒนาตนให้ยิ่งขึ้นไป

พุทธศาสนาสอนว่า ชีวิตที่ดีงามจะต้องดำเนินให้บรรลุถึงจุดหมาย ๓ ชั้น คือ

๑. ประโยชน์ปัจจุบัน หรือจุดมุ่งหมายที่มองเห็นของชีวิตนี้คือ ประโยชน์ทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เช่น มีทรัพย์สินที่จะพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ ทางสังคมก็มีเพื่อนฝูงรักใคร่ มีบริวาร มีสถานะเป็นที่ยอมรับของคนทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า เป็นประโยชน์เบื้องต้น

๒. ประโยชน์เบื้องหน้า คือ มีชีวิตที่ดีงาม มีคุณค่า มีคุณธรรมความดี เป็นประโยชน์ ทำให้มีความมั่นใจในคุณค่าของชีวิตของตน เริ่มตั้งแต่เป็นผู้มีความประพฤติดีงาม มีปัญญารู้เข้าใจโลกและชีวิตพอสมควร ได้ทำความดีงามบำเพ็ญประโยชน์ไว้ เป็นความมั่นใจในคุณค่าของชีวิตของตนเอง ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงโลกหน้าด้วย คือทำให้มีความมั่นใจในชีวิตเบื้องหน้า ไม่ต้องกลัวปรโลก จึงเป็นประโยชน์ระยะยาว ต่างจากข้อแรกที่เป็นประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้น

๓. ประโยชน์สูงสุด คือ การมีจิตใจเป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต หลุดพ้นจากความครอบงำของกิเลสและความทุกข์ สามารถทำจิตให้ปลอดโปร่งผ่องใสได้ทุกเวลา แม้จะมีอารมณ์เข้ามากระทบก็ไม่หวั่นไหว ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง แต่โปร่งโล่ง ปราศจากทุกข์ เป็นประโยชน์สูงสุด เรียกว่า ปรมัตถะ

รวมเป็นประโยชน์หรือจุดมุ่งหมาย ๓ ขั้น คือ

๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน ต่อหน้า ตาเห็นได้

๒. สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์เบื้องหน้า ลึกล้ำ ระยะยาว

๓. ปรมัตถะ ประโยชน์สูงสุด หลุดพ้น เหนือกาล

อนึ่ง ถ้าแบ่งตามแนวราบ ประโยชน์นั้นจะแยกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. อัตตัตถะ ประโยชน์ตน

๒. ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น

๓. อุภยัตถะ ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ประโยชน์ตนเองก็ต้องทำให้ได้ ๓ ขั้น ทั้งปัจจุบัน เบื้องหน้า และสูงสุด ส่วนประโยชน์ผู้อื่นก็ต้องช่วยให้เขาบรรลุทั้ง ๓ ขั้นนั้น และประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันทั้งสองฝ่าย ก็ต้องส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมทั้งรูปธรรม นามธรรม ซึ่งจะช่วยให้ทั้งตนและผู้อื่นก้าวหน้าไปในการบรรลุประโยชน์ทั้งสามขั้นข้างต้น เช่น กิจกรรมดีงาม และวัฒนธรรมประเพณี ที่ส่งเสริมปัญญาและกุศลธรรมของชุมชนทั้งหมด

นี้คือคุณค่าที่เป็นจุดหมายของการดำเนินชีวิต ซึ่งในการพัฒนาตนให้เข้าถึง ควรรู้ตระหนักไว้เพื่อให้เกิดความมั่นใจในแนวทางสู่จุดหมาย ที่จะทำการพัฒนาตนขึ้นไป จึงเป็นอุปกรณ์ในการแนะแนว

ส่วนวิธีปฏิบัติในการแนะแนวนั้น วงการศึกษาปัจจุบันได้พัฒนารายละเอียดและกลวิธีต่างๆ ไปมากแล้ว อาตมาจะไม่นำมาพูด

ตกลงว่า การพัฒนาตนเองโดยแนวทางและหลักการนี้ เป็นสาระสำคัญของการที่จะช่วยให้บุคคลที่ประสบปัญหา มีความทุกข์ ได้พัฒนาตนจนพึ่งตนเองได้ การพึ่งตนเองได้ก็คือ การปฏิบัติตามหลักที่ว่ามีปัญญาเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิต ไม่มีอวิชชาหรือตัณหาเป็นเครื่องดำเนินชีวิต

เมื่อถึงขั้นนี้ก็จะเป็นการบรรลุจุดมุ่งหมายของการดำเนินชีวิตที่ดี ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา เรากล่าวว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ” ซึ่งเป็นชีวิตที่พึ่งตนได้ อันเป็นสาระสำคัญของปาฐกถาที่ได้แสดงมา

วันนี้ก็ได้พูดมาเป็นเวลามากมายแล้ว ถึงเวลา ๑๘.๐๐ น.เศษ จึงขอยุติก่อนที่จะค่ำมืดลงไปเพียงเท่านี้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง