เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์ (ฉบับย่อ-เพิ่มเติม)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เนื้อหาส่วนนี้ ได้รับการรวมพิมพ์เผยแพร่ใหม่ในเรื่อง "เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์ (รวมทั้งบทความพิเศษและบทพิสูจน์)"

ภาคผนวก

โพธิรักษ์ กับ การตีความพระธรรมวินัย

ความสับสนเกี่ยวกับปัญหาท่านโพธิรักษ์ ยังคงมีอยู่มาก มีเสียงพูดประปรายว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องของการตีความพระธรรมวินัย ไม่น่าจะเกิดเป็นเรื่องราวขึ้น พระโพธิรักษ์ก็น่าจะมีสิทธิตีความพระธรรมวินัย เช่นเดียวกับคนอื่นๆ บางท่านถึงกับเล่าความเป็นมาในประวัติศาสตร์ของศาสนาบางศาสนาที่มีการตีความคำสอนกันต่างๆ และแสดงเหตุผลที่ควรให้มีการตีความกันโดยอิสระ เรื่องที่ท่านเล่าและเหตุผลที่ท่านแสดงมีข้อควรพิจารณาในทางวิชาการ แต่น่าเสียดายที่ทั้งหมดนั้น ไม่เข้ากับกรณีปัญหาท่านโพธิรักษ์ที่กำลังพูดถึง

ความจริง ปัญหาท่านโพธิรักษ์นั้นมีหลายด้าน นอกจากการละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และการละเมิดพุทธบัญญัติ ทำผิดพระวินัย ที่เป็นการกระทำอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนแล้ว ก็มีเรื่องการสอนพระธรรมวินัยผิดเพี้ยน เป็นปัญหาอย่างหนึ่งด้วย แต่การสอนพระธรรมวินัยให้ผิดเพี้ยน ในกรณีของท่านโพธิรักษ์์นี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาในขั้นการตีความ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ให้โอกาสในการตีความ ด้วยความคิดอิสระอย่างกว้างขวางที่สุด ดังนั้น ถ้าท่านโพธิรักษ์เพียงแต่ตีความแปลกไปบ้าง ก็คงไม่น่าเป็นห่วงอะไรกันนัก แต่ปัญหาของท่านโพธิรักษ์์ในเรื่องนี้ เป็นปัญหาเบื้องต้นกว่านั้น คือเป็นการทำลายหลักฐานที่จะนำไปใช้ในการตีความ หรือเป็นการทำลายสิ่งที่จะถูกนำไปตีความ แม้ว่าการทำความเข้าใจในเรื่องนี้จะยากสักหน่อย เพราะเกี่ยวกับคำศัพท์ธรรมที่มาจากภาษาบาลี แต่ก็จะพยายามยกตัวอย่างที่ไม่ยากนักมาอธิบาย พอให้เห็นว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ในที่นี้ ขอยกมาเพียง ๒-๓ ตัวอย่าง

๑. มีศัพท์ธรรมจากภาษาบาลี ที่พบค่อนข้างบ่อยคู่หนึ่ง คือ คำว่า พหูสูต กับ พาหุสัจจะ พหูสูต เป็นคุณศัพท์ แปลว่า ผู้ได้สดับมาก หรือผู้ที่ได้เล่าเรียนได้อ่านได้ฟังมาก ส่วนพาหุสัจจะ เป็นคำนามที่มาจากคำว่าพหูสูตนั่นเอง แปลว่า ความเป็นพหูสูต หรือความเป็นผู้ได้สดับเล่าเรียนมาก

การที่พาหุสัจจะ มาจาก พหูสูต แต่เปลี่ยนรูปไปอย่างนี้ เป็นเรื่องของไวยากรณ์ ซึ่งจะเห็นได้ในภาษาอังกฤษ เป็นต้นที่มีหลักภาษาบางอย่างคล้ายกัน เช่น poor เป็นคุณศัพท์ แปลว่า ยากจน เมื่อเป็นคำนามอาจใช้เป็น poverty แปลว่า ความยากจน private เป็นคุณศัพท์ แปลว่า ส่วนตัว เมื่อเป็นคำนามอาจใช้เป็น privacy แปลว่า ความเป็นส่วนตัว wise แปลว่า ฉลาด เมื่อเป็นคำนามใช้ว่า wisdom แปลว่า ความฉลาด capacious เป็นคุณศัพท์ แปลว่า จุมาก เป็นคำนามรูปหนึ่งว่า capacity แปลว่า ความจุ friend แปลว่า เพื่อน ถ้าให้เป็นภาวนามก็ใช้ว่า friendship แปลว่า ความเป็นเพื่อน หรือมิตรภาพ ดังนี้เป็นต้น

คำที่คล้ายกับพหูสูต และพาหุสัจจะ ยังมีอีกมาก เช่น ปัณฑิต (บัณฑิต) เป็น ปัณฑิจจะ (ความเป็นบัณฑิต) อธิปติ (อธิบดี หรือผู้เป็นใหญ่) เป็น อาธิปัจจะ (ความเป็นผู้ยิ่งใหญ่) ปุโรหิต (ที่ปรึกษาของพระราชา) เป็น โปโรหิจจะ (ความเป็นปุโรหิต หรือตำแหน่งปุโรหิต) มุฏฐสติ (หลงลืมสติ) เป็น มุฏฐสัจจะ (ความเป็นผู้หลงลืมสติ) เป็นต้น

เมื่อท่านโพธิรักษ์อธิบายธรรม จะเห็นได้ว่า ท่านไม่รู้หลักภาษานี้เลย และความไม่รู้นี้ก็ทำให้ท่านเข้าใจผิดและอธิบายผิด คำอธิบายของท่านโพธิรักษ์เกี่ยวกับ พหูสูต และพาหุสัจจะ แสดงให้เห็นว่าท่านเข้าใจกลับตรงข้ามว่าคำทั้งสองนี้เป็นคำประเภทคุณศัพท์เหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน ท่านว่า พหูสูต คือ รู้มาก ฟังมาก แต่ยังไม่ถึงสัจจะ เช่นอย่างพระอานนท์ ส่วน พาหุสัจจะ หมายถึง รู้ในสัจจะมากขึ้น แทงทะลุในสัจธรรม เช่นอย่างพระสารีบุตร

สาเหตุคือ ท่านโพธิรักษ์ เห็นคำว่า "สัจจะ" ในคำว่า พาหุสัจจะ ก็เข้าใจผิดว่าเป็นคำว่า สัจจะ ที่แปลว่าสัจธรรม เหมือนคนไทยที่ไปเห็นคำว่า "ship" ท้ายคำว่า friendship ก็นึกว่าเป็น ship ที่แปลว่า เรือ เลยแปล friendship ว่าเรือของเพื่อน หรือไปเห็น "city" ท้ายคำว่า capacity ก็นึกว่าเป็น city ที่แปลว่า เมือง เลยแยก capacity เป็น cap + a + city แล้วแปลอย่างไม่มีหลักมีเกณฑ์ว่า เมืองหนึ่งที่ทำหมวกขาย เห็นคำว่า announcement (announce+ment = การประกาศ) ก็ไปแยกศัพท์เอาเองว่าเป็น an + noun + cement เลยแปลว่า ซีเมนต์มีชื่อหนึ่งยี่ห้อ อะไรทำนองนี้

เมื่อเข้าใจถ้อยคำผิด ถ้อยคำนั้นก็ไม่สื่อถึงสิ่งที่ต้องการหรือสิ่งที่ผู้กล่าวถ้อยคำนั้นประสงค์ กลายเป็นพูดกันคนละเรื่อง ผู้พูดพูดถึงสิ่งหนึ่ง แต่ผู้ฟังไปจับเอาอีกสิ่งหนึ่ง เตลิดออกไปนอกเรื่องเสีย ก่อนที่จะมีโอกาสตีความเรื่องที่เขาพูดนั้น และคำที่ถูกดึงเข้ามาด้วยความเข้าใจผิด ก็พาให้เกิดความสับสนกับเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีก เมื่อท่านโพธิรักษ์เข้าใจ สัจจะ ในที่นี้เป็นสัจธรรม ท่านก็ย่อมเตลิดต่อไปจนกู่ไม่กลับ การกระทำของท่านโพธิรักษ์ในกรณีเช่นนี้ ก่อให้เกิดปัญหาเป็นผลเสียหายพ่วงกันมา ๒ ชั้น

๑) ทำให้เกิดความผิดพลาดทางภาษา คือ พาให้คนฟังคนอ่าน เข้าใจความหมายของถ้อยคำผิดพลาดคลาดเคลื่อน (ในระดับความหมายสามัญ ไม่ใช่ในระดับตีความ) จับเรื่องราวผิดพลาดไปเป็นคนละเรื่องละราว

๒) ทำให้เกิดความผิดพลาดทางหลักธรรม เพราะเมื่อภาษาผิดไปแล้ว สิ่งที่พูดถึงกลายเป็นคนละเรื่องไปแล้ว คำอธิบายก็สับสน ในกรณีที่คำศัพท์นั้นโยงไปหาหลักธรรม เมื่อคำศัพท์ถูกเข้าใจสับสน หลักธรรมต่างๆ ที่ถูกโยงเอามาอธิบายก็ตีกันยุ่งเหยิงสับสนไปด้วย

คำว่า พาหุสัจจะ ก็คือ ความเป็นพหูสูต หรือความเป็นผู้ได้สดับเล่าเรียนมากเท่านั้น ไม่ใช่การมีสัจจะมาก หรือว่าจะเข้าถึงสัจจะหรือไม่ การได้เล่าเรียนวิชาความรู้ทั่วๆ ไป แม้แต่ของชาวบ้าน ก็เรียกว่า พาหุสัจจะ ดังที่จัดเป็นมงคลอย่างหนึ่งคู่กับศิลปะในมงคล ๓๘ ประการ หรือดังคำสอนในพุทธพจน์แห่งหนึ่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษเป็นพหูสูต . . . เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วยพาหุสัจจะ(ความเป็นพหูสูต)นั้น" (ม.อุ.๑๔/๑๘๓/๑๓๖)

๒. มุทิตา แปลกันมาว่า ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี หมายถึง ความยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นประสบความสุขหรือความสำเร็จ เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ประการ คือ เป็นธรรมประจำใจของผู้ประเสริฐซึ่งมีจิตใจกว้างขวางยิ่งใหญ่ แสดงถึงความปราศจากริษยา พระพุทธเจ้าก็ทรงประกอบด้วยมุทิตาจิต และทรงบำเพ็ญมุทิตาธรรม

ท่านโพธิรักษ์ เมื่ออธิบายหลักธรรมข้อมุทิตานี้ ก็แสดงรากศัพท์ขึ้นมาว่า มุทิตา มาจาก มุท ซึ่งแปลว่า ยินดี หรือมาจาก มท อีกที อันแปลว่า ความมัวเมา หรือความหลงที่เหลืออยู่ หรือความติด มุทิตาจึงหมายถึงการที่ยังมีความหลงใน“ดี” หรือมีความติด“ดี” นั้นๆ อยู่ เมื่อได้เห็นได้ยินได้สัมผัส“ดี” จึงมีอาการชื่นชอบใจ ลิงโลดฟูใจ ดีใจ

การแสดงรากศัพท์ของท่านโพธิรักษ์ในกรณีนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไขว้เขว เหมือนกับว่า เมื่อเขากำลังพูดถึงเรื่องโลกปัจจุบัน กลับไพล่ไปพูดเรื่องโรคปัจจุบัน เขากำลังพูดเรื่องเสื้อเก่า กลับไพล่ไปพูดเรื่องเสือเก่า เขากำลังพูดเรื่องจีนแคะ กลับไพล่ไปพูดเรื่องคนแคระ ยิ่งเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมที่เป็นนามธรรม ความเข้าใจผิดพลาดก็ทำให้เกิดความเสียหายที่ลึกซึ้งกว้างไกล

เมื่อท่านโพธิรักษ์อธิบาย มุทิตา ให้มาจากรากศัพท์ว่า “มท” แล้ว ในแง่ภาษา ความหมายของมุทิตาก็ผิดไปกลายเป็นภาวะที่ประกอบด้วยความหลงหรือมัวเมา และในแง่หลักธรรม ก็เกิดความฟั่นเฟือน กลายเป็นว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังมีกิเลสคือความหลงใหลมัวเมาอยู่

๓. การแยกศัพท์และแสดงรากศัพท์ต่างๆ ของท่านโพธิรักษ์นี้ มองได้ว่าเป็นการกระทำอย่างขาดความรับผิดชอบ และไม่มีหลักมีเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น สุดแต่จะมองเห็นตัวอักษรที่พอจะดึงเข้าหาคำอธิบายที่ตนต้องการได้ ก็นึกเอาพูดเอา แม้แต่ในกรณีที่รากศัพท์อย่างนั้นไม่มี ก็ว่าเอาเอง แปลเอาเอง แล้วก็อธิบายไปอธิบายมาให้ได้ความหมายที่ตนต้องการ ซึ่งผู้ที่รู้ภาษาย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า คำอธิบายอย่างนั้นเป็นการกระทำที่เหลวไหลเป็นไปไม่ได้น่าขบขัน เพราะนอกจากจะผิดความหมายแล้ว ยังเกิดความขัดกันเองในทางภาษาจนสับสนวุ่นวายไปหมด แต่ท่านโพธิรักษ์อาศัยการที่คนฟังบางพวกไม่รู้เรื่องภาษา และไม่ติดตามสืบค้นต่อไป จึงสั่งสอนอธิบายไปตามพอใจ เช่นท่านโพธิรักษ์ เห็นคำว่า "นิรุทฺธา" ซึ่งแปลว่า ดับแล้ว ก็แยกศัพท์ว่ามาจาก นิร (ไม่มี) + อุทธ (อยู่เหนือ หรือเบื้องบน) จึงแปลว่า ไม่มีอะไรจะอยู่เหนือ การแปลอย่างนี้ นอกจากความหมายจะผิดแล้ว ก็จะเกิดความขัดแย้งในตัวภาษาเองอย่างมากมาย เพราะ นิรุทฺธ ที่แท้จริง เป็นคำที่มีรากศัพท์เดียวกับนิโรธ และนิรุชฺฌติ เป็นต้น แต่เปลี่ยนรูปไปตามหน้าที่ในประโยค เมื่อแยกศัพท์และแปลอย่างท่านโพธิรักษ์ คำเหล่านี้ซึ่งอาจจะมาในข้อความเดียวกัน ก็กลายเป็นคนละเรื่องคนละราวกันไป ไม่ต่างกับคนไม่รู้ภาษาอังกฤษที่ไปพบคำว่า demonstration แล้วก็แยกศัพท์เองว่า มาจาก demon (ผี) + stration (เข้าใจเอาเองว่า stration คือ station ที่แปลว่า สถานี) แล้วก็แปล demonstration ว่า สถานีผี แล้วคำว่า demonstration นั้นก็เลยขัดกันกับคำว่า demonstrate, demonstrable, demonstrative เป็นต้น ซึ่งเป็นคำชุดเดียวกัน มาจากรากศัพท์เดียวกัน ยุ่งไปหมด

ท่านที่อ่านดูตัวอย่างการแยกศัพท์และแปลคำภาษาอังกฤษ ซึ่งยกมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบในที่นี้ คงจะเห็นได้ว่า การกระทำอย่างนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลน่าขบขันเหลือเกินอย่างแทบไม่น่าเป็นไปได้ แต่สิ่งที่ท่านโพธิรักษ์กระทำต่อศัพท์ธรรมต่างๆ ยังเหลวไหลเลื่อนลอยยิ่งกว่านั้นไปอีก

ถ้อยคำที่ยกมาให้ดูนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่ยกมาจากหนังสือ "ทางเอก" ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญ ที่เรียกได้ว่าเป็นแบบหรือเป็นตำราของท่านโพธิรักษ์ เป็นหนังสือชุดปกแข็ง แบ่งเป็น ๓ เล่ม รวมจำนวนหน้าหนากว่า ๑,๕๐๐ หน้า (ตัวอย่างที่ยกมาอยู่ในภาค ๒ หน้า ๓, ๑๔๔ และ ๕๖๔ ตามลำดับ) ในหนังสือชุดนี้เต็มไปด้วยการอธิบายคำศัพท์และหลักธรรม อย่างผิดเพี้ยนสับสนในทำนองที่กล่าวมาแล้วนี้ คำศัพท์สำคัญๆ ทั้งหลายในทางธรรม เช่น อรหันต์ อรหัตตผล สันติ อริยะ สัญญา อุเบกขา อุโบสถ ถูกนำมาแยกให้วิปริตอย่างไร้ความรับผิดชอบเหมือนเล่นสนุก การกระทำของท่านโพธิรักษ์จึงมิใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่จะปล่อยผ่านไปได้ เพราะจะมีผลกระทบกระเทือนต่อพระศาสนา และความรู้ความเข้าใจของประชาชนได้อย่างมาก

ข้อสงสัยที่ยังไม่อาจเฉลยได้แจ่มแจ้ง คือ ทำไมท่านโพธิรักษ์จึงทำเช่นนี้ อาจจะเป็นการแสดงเพื่อให้เห็นว่า ท่านรู้ศัพท์ธรรมลึกซึ้ง สามารถแยกแยะคำบาลีออกไปได้จนถึงรากศัพท์ จะได้ทำให้คำสอนของท่านดูขลังน่าเชื่อถือสำหรับคนบางพวก หรือว่าท่านหลงตัวไป ทำไปด้วยจิตฟุ้งซ่านประกอบกับความไม่รู้ หรือว่าท่านจะมีเจตนาทำคำสอนในพระพุทธศาสนาให้เลอะเลือนสับสน ซึ่งทั้งนี้คงจะทิ้งไว้ให้วิญญูชนพิจารณากันต่อไป

หลักฐานที่ท่านโพธิรักษ์ใช้อ้างในขั้นสุดท้าย เพื่อยืนยันคำสอนของท่าน และคงเป็นสิ่งเลื่อนลอยอันเดียวที่ท่านจะอ้างได้ ในเมื่อท่านไม่มีหลักเกณฑ์อย่างอื่น คืออ้างว่าท่านรู้เองด้วยญาณ แต่เมื่อพิสูจน์ในแง่ภาษาก็เห็นได้ชัดว่าญาณของท่านนั้นเป็นญาณที่ผิด และในแง่หลักธรรม ญาณของท่านก็ไม่ตรงกับญาณของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม ที่พูดว่าญาณนั้น ก็เป็นการพูดไปตามคำอ้างของท่านโพธิรักษ์เท่านั้น ความจริง สิ่งที่ท่านโพธิรักษ์อ้างนั้นไม่ใช่เป็นญาณอะไรที่ไหนเลย แต่เป็นเพียงความผิดเพี้ยนและความไม่รู้ในเรื่องถ้อยคำธรรมดาสามัญ ซึ่งส่วนมากแม้แต่ชาวบ้านทั่วไปถ้าพูดภาษานั้นก็รู้เข้าใจกัน ดังนั้น จึงเป็นการอ้างญาณในเรื่องสามัญที่ไม่ต้องรู้ด้วยญาณ ครั้นอ้างแล้วก็ปรากฏว่าความรู้แม้แต่ในเรื่องสามัญที่อ้างนั้นผิด ก็เลยกลับเป็นเครื่องยืนยันว่าความรู้ของท่านนั้นไม่ใช่ญาณ และท่านก็ไม่มีญาณ แล้วความก็ส่อต่อไปอีกว่า คำอวดอ้างของท่านโพธิรักษ์ นอกจากจะไม่เป็นจริงแล้ว ยังเป็นเครื่องฟ้องถึงเจตนาให้ต้องตั้งข้อสงสัยว่า ท่านอวดอ้างสิ่งที่ไม่ใช่ญาณ ว่าเป็นญาณ และอวดอ้างญาณที่ท่านไม่มีขึ้นมาสร้างความวิปริตผิดเพี้ยนเพื่ออะไร

เมื่อเป็นเช่นนี้ ขบวนการที่ถือวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่ท่านถือว่าเคร่งว่าดีนั้น จะเป็นเพียงการกระทำบังหน้าเพื่อใช้ชื่อของพระพุทธศาสนาหรือไม่ ว่าที่จริง วัตรปฏิบัติเหล่านั้นสามารถถือได้ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับหลักธรรมในระดับลึกซึ้งอะไร ดังนั้น ในเมื่อหลักธรรมของท่านไม่ตรงกับพระพุทธศาสนาแล้ว ถ้าท่านมีความสุจริตใจ ก็น่าจะดำเนินขบวนการถือวัตรปฏิบัติของท่านเองต่างหากออกไป โดยไม่ต้องใช้ชื่อว่าพระพุทธศาสนา และในเมื่อญาณที่ท่านอ้างไม่ตรงกับญาณของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็น่าจะแสดงความซื่อตรงโดยแยกไปตั้งลัทธิของท่านเองขึ้นมาใหม่ โดยไม่ต้องอาศัยรูปแบบของพระพุทธศาสนาแต่อย่างใดเลย

ตามที่กล่าวมานี้ ย่อมเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ปัญหาท่านโพธิรักษ์ หาใช่เป็นปัญหาในระดับการตีความพระธรรมวินัยแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นการทำให้เกิดความสับสนไขว้เขวหลงทางไปเสียก่อนที่จะมีการตีความ เมื่อสิ่งที่จะนำมาตีความถูกทำให้เคลื่อนคลาดวิบัติไปเสียก่อนแล้ว ถ้าหากจะมีการตีความกันต่อไป การตีความซึ่งตั้งอยู่บนฐานที่คลาดเคลื่อนไปแล้ว ย่อมมีแต่จะวิปริตผิดพลาดยิ่งขึ้นไปอีก ไม่มีทางจะเป็นการตีความที่ถูกต้องได้ เมื่อท่านโพธิรักษ์อธิบายถ้อยคำคลาดเคลื่อนไปหมดแล้ว หลักธรรมที่ท่านอธิบายก็พลอยผิดพลาดไปด้วยทั้งหมด

ปัญหาท่านโพธิรักษ์ในกรณีนี้ มิใช่เป็นเพียงปัญหาการกระทำผิดต่อพระธรรมวินัยหรือต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในขั้นจริยธรรมพื้นฐานทีเดียว เพราะว่า เมื่อท่านโพธิรักษ์กระทำการแยกแยะแปลคำศัพท์ทางธรรมอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น หากท่านมีสติสัมปชัญญะเป็นปกติ ท่านย่อมแจ้งแก่ใจอยู่ว่า ท่านไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ท่านกำลังกระทำ การที่ท่านทำตามอำเภอใจอย่างเต็มที่ในสิ่งที่รู้อยู่ว่าไม่เป็นจริงอย่างนั้น ย่อมเป็นความไม่ซื่อตรงเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาท่านโพธิรักษ์ในกรณีนี้ จึงมิใช่เป็นปัญหาการตีความพระธรรมวินัย แต่เป็นปัญหาความไม่จริงใจในการกระทำของตน เป็นปัญหาความไม่ซื่อตรงทั้งต่อพระศาสนาและต่อประชาชน จึงได้เคยกล่าวไว้ว่า ปัญหาท่านโพธิรักษ์ ไม่ใช่เป็นกรณีระหว่างท่านโพธิรักษ์กับมหาเถรสมาคม หรือกับผู้รักษากฎหมายของบ้านเมือง แต่เป็นกรณีระหว่างท่านโพธิรักษ์์กับผู้รักความจริงทุกคน

จึงต้องวิงวอนขอร้องว่า หากท่านโพธิรักษ์ยังมีคุณธรรมความดีงามอยู่ในจิตใจ หรือท่านได้กระทำการที่ผ่านมาด้วยความเห็นผิดเป็นชอบ ก็ขอได้โปรดเห็นแก่พระพุทธศาสนา เห็นแก่ประชาชน และเห็นแก่ความดำรงอยู่ตามเป็นจริงของพระธรรมวินัย โปรดยอมรับความผิดพลาดที่ได้กระทำไปแล้ว การพูดเลี่ยงหลบไปได้ต่างๆ นั้น แม้จะเป็นความเก่งกาจในด้านหนึ่งก็จริง แต่หาใช่เป็นความดีงามอย่างใดไม่ ในทางตรงข้าม มีแต่จะแสดงถึงความไม่ซื่อตรงและการขาดความจริงยิ่งขึ้นไปทุกที

หมายเหตุ: กรณีสันติอโศก หรือปัญหาโพธิรักษ์นี้มีแง่พิจารณาหลายด้าน เช่น ด้านสังคม จิตวิทยา การเมือง และ เศรษฐกิจ เป็นต้น ถ้ามีเวลาก็อาจจะได้วิเคราะห์กันต่อไป แต่การพิจารณาทุกด้านทั้งหมดนั้นจะไม่ไขว้เขวผิดพลาด ก็ต่อเมื่อได้ทำประเด็นแกนของเรื่องให้ชัดเจนเสียก่อน

คำโปรยปกหลัง

เสรีภาพที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ ไม่ใช่เสรีภาพที่จะทำกับศาสนาอย่างไรก็ได้ ถ้าจะทำกับศาสนาตามที่ตนชอบใจ ก็ไม่ใช่นับถือศาสนานั้นแล้ว

สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พึงเป็นไปเพื่อส่งเสริมการกระทำที่ซื่อตรงและชอบธรรม ไม่พึงถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการที่จะทำอะไรได้ตามชอบใจ หรือการอาศัยรูปแบบของพระพุทธศาสนา แอบแฝงเข้ามาทำลายเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา

จึงต้องวิงวอนขอร้องว่า หากท่านโพธิรักษ์ยังมีคุณธรรมความดีงามอยู่ในจิตใจ หรือท่านได้กระทำการที่ผ่านมาด้วยความเห็นผิดเป็นชอบ ก็ขอได้โปรดเห็นแก่พระพุทธศาสนา เห็นแก่ประชาชน และเห็นแก่ความดำรงอยู่ตามเป็นจริงของพระธรรมวินัย โปรดยอมรับความผิดพลาดที่ได้กระทำไปแล้ว การพูดเลี่ยงหลบไปได้ต่างๆ นั้น แม้จะเป็นความเก่งกาจในด้านหนึ่งก็จริง แต่หาใช่เป็นความดีงามอย่างใดไม่ ในทางตรงข้าม มีแต่จะแสดงถึงความไม่ซื่อตรงและการขาดความจริงยิ่งขึ้นไปทุกที

พระไตรปิฎกแม้แต่ที่เป็นของเดิมแท้ นอกจากบรรจุพุทธพจน์แล้ว ยังมีคำกล่าว คำอธิบาย และคำเล่าของพระสาวก ตลอดจนบุคคลอื่นๆ ในสมัยพุทธกาลอีกเป็นจำนวนมาก ต่อมาก็ยังนำเอาพระสูตรที่พระสาวกผู้ใหญ่บางท่านแสดงหลังพุทธกาลรวมเข้าด้วยอีก รวมทั้งคัมภีร์กถาวัตถุในพระอภิธรรมปิฎก ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเรียบเรียงขึ้นในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ ท่านผู้รู้จึงไม่กล่าวว่าข้อความทั้งหมดในพระไตรปิฏกเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ท่านกล่าวว่า คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าเรารู้ได้จากพระไตรปิฎก หรือว่าพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานแสดงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่าที่มีมาถึงเรา หรือเท่าที่เราจะรู้ได้ (มีพุทธพจน์บางแห่ง ที่สันนิษฐานว่าหลุดหายจากพระไตรปิฎก และยังปรากฏอยู่ในอรรถกถา แต่ก็น้อยอย่างยิ่ง) เมื่อพูดสั้นๆ จึงกล่าวว่า พระไตรปิฎกเป็นที่บรรจุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งโดยทั่วไปก็รู้ได้ว่าส่วนไหนเป็นคำพูดของใคร

แต่เมื่อใดเนื้อเดิมของพระไตรปิฎกหมดไปแล้ว เหลืออยู่แต่สิ่งที่คลาดเคลื่อนแปลกปลอม ก็เรียกได้ว่าพระพุทธศาสนาหมดสิ้นแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่เห็นอยู่ไม่อาจยืนยันว่าเป็นพระพุทธศาสนาอีกต่อไป ดังนั้น เนื้อเดิมของพระไตรปิฎกเหลืออยู่เท่าใด เราก็รู้จักพระพุทธศาสนาเท่านั้น

ท่านโพธิรักษ์อ้างว่าท่านรู้ด้วยญาณ ในเรื่องธรรมดาสามัญที่คนอื่นเขารู้กันได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้ญาณ และความรู้ของท่านโพธิรักษ์ ที่ท่านอ้างว่าเป็นญาณของท่านนั้น ก็ผิดแม้แต่ในเรื่องธรรมดา ที่คนสามัญเขารู้กันโดยไม่ต้องใช้ญาณ ญาณของท่านจึงมิใช่เป็นเพียงญาณที่ผิดเท่านั้น แต่เป็นการอ้างว่าเป็นญาณ หรือความหลงเอาสิ่งที่มิใช่ญาณว่าเป็นญาณ หาใช่เป็นญาณอะไรแต่อย่างใดไม่

อย่างไรก็ตาม ที่พูดว่าญาณนั้น ก็เป็นการพูดไปตามคำอ้างของท่านโพธิรักษ์เท่านั้น ความจริง สิ่งที่ท่านโพธิรักษ์อ้างนั้นไม่ใช่เป็นญาณอะไรที่ไหนเลย แต่เป็นเพียงความผิดเพี้ยนและความไม่รู้ในเรื่องถ้อยคำธรรมดาสามัญ ซึ่งส่วนมากแม้แต่ชาวบ้านทั่วไปถ้าพูดภาษานั้นก็รู้เข้าใจกัน ดังนั้น จึงเป็นการอ้างญาณในเรื่องสามัญที่ไม่ต้องรู้ด้วยญาณ ครั้นอ้างแล้วก็ปรากฏว่าความรู้แม้แต่ในเรื่องสามัญที่อ้างนั้นผิด ก็เลยกลับเป็นเครื่องยืนยันว่าความรู้ของท่านนั้นไม่ใช่ญาณ และท่านก็ไม่มีญาณ แล้วความก็ส่อต่อไปอีกว่า คำอวดอ้างของท่านโพธิรักษ์ นอกจากจะไม่เป็นจริงแล้ว ยังเป็นเครื่องฟ้องถึงเจตนาให้ต้องตั้งข้อสงสัยว่า ท่านอวดอ้างสิ่งที่ไม่ใช่ญาณ ว่าเป็นญาณ และอวดอ้างญาณที่ท่านไม่มีขึ้นมาสร้างความวิปริตผิดเพี้ยนเพื่ออะไร

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง